Blog Page 8

Memoria (ขอให้) คนทำหนังไทยจงเจริญ

“Long live cinema” หรือว่า “ภาพยนตร์จงเจริญ” คือคำพูดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กล่าวหลังได้รับเสียงปรบมือกึกก้องยาวนานถึง 14 นาที ในรอบปฐมทัศน์โลกของ Memoria ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ 2021 

“ภาพยนตร์” ในความหมายของอภิชาติพงศ์คงไม่ได้จำกัดความหมายไว้แค่ตัวหนัง แต่น่าจะครอบคลุมถึงโรงหนัง วัฒนธรรมการดูหนัง และศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ ซึ่งมันคงทรงพลังเหลือเกินเมื่อการฉายของ Memoria สิ้นสุดลง เพราะนี่เป็นหนังที่สดุดี cinema ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด 

Memoria ไม่ต่างอะไรกับหนังเรื่องก่อนหน้าของอภิชาติพงศ์ที่เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเนื้อหาข้างในนั้นกำลังเล่าอะไรอยู่ เพราะความน่าค้นหาของหนังเหล่านี้ไม่ใช่การคลี่คลายของเรื่องเล่า แต่มันคือประสบการณ์การดูหนังรูปแบบใหม่ที่อภิชาติพงศ์พาเราเข้าไปสำรวจให้เห็นว่า ศิลปะภาพยนตร์นั้นน่าพิศวงเพียงใด 

ทิลด้า สวิสตัน รับบท เจสสิก้า หญิงสาวที่เดินทางมาโคลอมเบียแล้วได้ยินเสียงประหลาด ซึ่งยิ่งเมื่อเธอพยายามค้นหาที่มาของเสียงนั้น ก็ยิ่งตอกย้ำว่ามีเพียงเธอเท่านั้นที่ได้ยิน 

อภิชาติพงศ์กำหนดให้เจสสิก้าเป็นตัวละครที่พาคนดูไปร่วมค้นหาที่มาของเสียงดังกล่าว โดยการใช้วิทยาการทางภาพยนตร์อย่างเต็มศักยภาพสะกดคนดูจนต้องจับจ้อง ‘รูปลักษณ์’ ของเสียงอย่างมีสมาธิ ทุกความเงียบงันและสรรพเสียงที่ถูกใส่เข้ามา เมื่อรวมเข้ากับบรรยากาศอันน่าค้นหาของเมืองและชนบทในโคลอมเบีย มันร่วมกันสร้างประสบการณ์การดูหนังที่น่าตื่นตะลึง 

© Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF/Arte and Piano, 2021.

ไม่แปลกใจที่สื่อมวลชนในรอบปฐมทัศน์ต่างสนใจ ‘การออกแบบเสียง’ ในหนังเรื่องนี้อย่างพร้อมเพรียง มันเป็นผลงานของ อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร และ ริชาร์ด ฮอคส์ เพราะทุกองค์ประกอบในหนังเรื่องนี้ทั้งการกำกับ การแสดง การถ่ายภาพ (สยมภู มุกดีพร้อม) การตัดต่อ (ลี ชาตะเมธีกุล) ฯลฯ ล้วนสร้างขึ้นมาเพื่อโอบอุ้ม ‘เสียง’ ของหนังเอาไว้ 

หาก คริสโตเฟอร์ โนแลน คือคนทำหนังที่เทิดทูนวิทยาการภาพยนตร์ผ่านผลงานสตูดิโอใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อเติมเต็มประสบการณ์การดูหนังในโรงเท่านั้น ก็ต้องนับอภิชาติพงศ์เอาไว้ในทำเนียบดังกล่าวด้วยอีกคน ต่างกันที่ประสบการณ์การรับชมต่างกัน มันไม่ใช่ความตื่นตาตื่นใจจากความหวือหวาครึกโครม แต่มันคือความเงียบสงบเพื่อสำรวจและค้นพบอะไรบางอย่างในนั้น 

น่าเสียดายที่หนังทุกเรื่องของอภิชาติพงศ์ไม่ได้รับการรับรองอย่างสมเกียรติจากโรงหนังนัก มันมักถูกจัดที่ทางเพื่อการเข้าถึง ‘ยาก’ ในคำจำกัดความของ ‘หนังเฉพาะทาง’ ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับท่าทีเทิดทูนการดูหนังที่อภิชาติพงศ์มอบให้โรงหนังด้วยความรัก 

Memoria เป็นตัวอย่างที่ดีและอาจใช้ ‘วัดใจ’ โรงหนังได้ระดับหนึ่งเมื่อถึงวันที่หนังเรื่องนี้เดินทางมาฉายในเมืองไทย ว่ามันจะได้อยู่ในที่ทางที่ควรจะเป็นหรือไม่ ที่ทางที่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์การดูหนังในโรงอย่างเต็มศักยภาพเนื่องจากหนังมิกซ์เสียงมาในระบบ Dolby Atmos ซึ่งโรงหนังที่รองรับมักปูพรมไว้ให้หนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์อยู่เสมอ 

เป็นเรื่องบังเอิญที่ก่อนหน้าวันฉายรอบปฐมทัศน์ของ Memoria เพียง 1 วัน วงการหนังไทยตื่นตัวกับการเปิดตัวอันดับ 1 แบบถล่มบ็อกซ์ออฟฟิศเกาหลีของ ‘ร่างทรง’ โดย บรรจง ปิสัญธนะกูล ผ่านการปลุกปั้นของโปรดิวเซอร์ นาฮงจิน ขณะเดียวกัน Memoria ก็ได้สิทธิจัดจำหน่ายในอเมริกาโดย Neon ค่ายผู้ผลักดัน Parasite จนคว้าออสการ์และประสบความสำเร็จในอเมริกามาแล้ว และปีนี้ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รางวัลจากเทศกาลหนังซันแดนซ์ด้วย One for the Road ซึ่งอำนวยการสร้างโดย หว่องกาไว 

ทั้งหมดนี้ล้วนมีแนวทางเป็นของตัวเอง และต่างได้รับการโอบอุ้มจากผู้สนับสนุนที่โลกให้การยอมรับ แต่ละเรื่องมีโอกาสเดินทางอีกยาวไกลในตลาดโลก เพียงแค่ใครสักคนที่บ้านเกิดของคนทำหนังเหล่านั้นเล็งเห็นมูลค่าที่จะได้รับกลับมา มีบทบาทกำหนดกลยุทธ์ให้กับการรุกตลาดโลกของหนังไทยเสียใหม่ และหาทางต่อยอดมันออกไป ไม่ต่างจากช่วงต้นศตวรรษที่ 21 หนังไทยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีในตลาดโลกทั้งหนังเทศกาลและหนังบันเทิงอย่าง ‘องค์บาก’ กับ ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ จนสร้างมูลค่าทางวัฒนธรรมกลับมาให้ประเทศได้มหาศาล แต่แล้วเรากลับปล่อยให้คลื่นลูกนั้นสลายไปต่อหน้าต่อตาอย่างน่าเสียดาย 

ไม่แน่ว่าหากเราจับตาคลื่นระลอกใหม่ของหนังไทยในตลาดโลกอย่างจริงจังและไม่ปล่อยให้มันกระทบฝั่งไปโดยไม่ทำอะไร ด้วยโครงสร้างธุรกิจภาพยนตร์ที่ไม่เหมือนในอดีต มันอาจสร้างมูลค่าเหลือคณาในฐานะ soft power ที่หลายหน่วยงานนิยมนำมาพูดเป็นนโยบายช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งกลไกที่จะช่วยกอบกู้ความเสียหายจากสถานการณ์ปัจจุบันก็เป็นได้

เด็ดยอดสถิติ Box Office เกาหลี ‘ร่างทรง’

วันที่ 14 ก.ค. เฟซบุคของ บรรจง ปิสัญธนะกูล ผกก. ‘ร่างทรง’ หนังสัญชาติไทย-เกาหลี โพสต์ว่าหนังเปิดตัวอันดับ 1 ในเกาหลี โดยเอาชนะสัปดาห์ที่ 2 บอง Black Widow ได้สำเร็จ มีจำนวนคนดูเป็น 51.99% จาก 1,326 จอ ซึ่งน้อยกว่า Black Widow ที่ฉายอยู่ 1,537 จอ

อย่างไรก็ดี สถิติที่ ‘ร่างทรง’ ทำไว้ยังน่าตื่นเต้นยิ่งกว่า เมื่อวานนี้ซึ่งเป็นวันเปิดตัววันแรก The Korean Herald รายงานจากข้อมูลของ Korean Film Council ว่า หนังทำสถิติขายตั๋วล่วงหน้านับถึง 9 โมงเช้า (ก่อนโรงหนังเปิด) ก็ขายตั๋วไปได้กว่า 110,000 ใบแล้ว ซึ่งเมื่อจบวัน ตั๋วหนังขายได้กว่า 129,000 ใบ นั่นหมายความว่าเหือบทั้งหมดของตั๋วที่ขายได้ มาจากการซื้อล่วงหน้าแทบทั้งสิ้น

จากสถิติการขายตั๋วล่วงหน้าของ ‘ร่างทรง’ ทำให้หนังครองอันดับยอดขายล่วงหน้ามากเป็นอันดับ 3 ของปีนี้ โดยตามหลัง Black Widow ที่ขายได้กว่า 200,000 ในใบวันเปิดตัว 6 ก.ค. และ F9 ที่ขายได้กว่า 160,000 ใบ

อย่างไรก็ดี The Korean Herald ยังมองว่าสถานการณ์ของ ‘ร่างทรง’ ยังต้องติดตามต่ออย่างใกล้ชิด แม้จะไปได้สวย แต่ในตอนนี้โรงหนังเกาหลีกำลังเข้าสู่การเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยโรงหนังจะปิดก่อนสี่ทุ่มและเว้นระยะห่าง 2 ที่นั่งทุกโรง


ที่มา
http://m.koreaherald.com/view.php?ud=20210714000350

Serial Experiments Lain (1998): ใต้เงามีรอยเลือด บนท้องฟ้ามีสายไฟ

***บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของอนิเมชั่น***

เรื่องราวเริ่มต้นด้วยความตายปริศนาของโยโมดะ ชิสะ นักเรียนคนหนึ่งที่โดดลงมาจากตึก หลังจากที่เกิดเหตุการณ์วันนั้น ทุกคนที่อยู่ในชั้นเรียนเดียวกับเธอ ได้รับอีเมลปริศนาที่ส่งมาจากคนที่ตายไปแล้ว สร้างความแตกตื่นให้กับนักเรียนและเพื่อนของเธอเป็นอย่างมาก ยกเว้นอิวาคุระ เลน (Iwakura Lain) เด็กนักเรียนอายุ 14 ผู้เขินอาย ไม่กล้าเข้าสังคมจึงไม่มีเพื่อนในชั้นเรียน ไม่สันทัดเรื่องเทคโนโลยีเท่าคนอื่น เธอไม่รู้เรื่องว่ามีใครส่งอีเมลเข้ามา เธอนึกขึ้นได้ว่าเคยเจอกับชิสะคนนั้นหนึ่งครั้งจากการเดินกลับบ้านด้วยกัน ทำให้เธอเริ่มสนใจจนเข้าไปดูอีเมลอันนั้น เนื้อหาเกี่ยวกับการละทิ้งร่างกายของตัวเองเพื่อเข้าไปอยู่ในโลกของ The Wired โลกออนไลน์ที่เหมือนกับอินเทอร์เน็ต เพราะพระเจ้าของเธออยู่ที่นั่น นั่นคือจุดเริ่มต้นของการผจญภัยของเลนในโลกใบใหม่ที่แสนกว้างใหญ่และชวนสับสนจนสิ้นหวัง

Serial Experiments Lain เป็นอนิเมชั่นแนวไซไฟ – จิตวิทยา ที่เริ่มฉายในปี 1998 ที่กำกับโดย Ryutaro Nakamura เขียนบทโดย Chiaki J. Konaka โปรดิวซ์โดย Yasuyuki Ueda และออกแบบคาแรคเตอร์โดย Yoshitoshi ABe ถือว่าเป็นอนิเมชั่นที่พูดถึงเรื่องสังคมแห่งโลกเสมือนที่มาก่อนใครเพื่อน ในตอนแรกนั้นแม้กระทั่งผู้สร้างเองก็ยังไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะประสบความสำเร็จ เพราะการทำอนิเมชั่นที่เต็มไปด้วยเรื่องปรัชญาเช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูง แต่กลับได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากตัวละครที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ และคอนเซปต์ของเรื่องที่แปลกประหลาดจนเป็นที่จดจำ จนสร้างกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบในอนิเมชั่นเรื่องนี้ และมีการขยายเรื่องราวโลกของเลนไปในเกมส์ Playstation 1 และมีโดจินออกมาหนึ่งตอน

หากได้ดูในยุคที่อนิเมชั่นเรื่องนี้กำลังออกฉายพอดีนั้นอาจจะทำความเข้าใจกับเรื่องราวของมันได้ยากเสียหน่อย เพราะถือว่า Serial Experiments Lain เป็นอนิเมชั่นที่มาก่อนกาล ในวันที่โลกอินเทอร์เน็ตหรือโลกเสมือนยังเป็นสิ่งใหม่ ความแตกต่างระหว่างตัวตนของเราในโลกแห่งความเป็นจริงและในโลกอินเทอร์เน็ตยังพร่ามัว และแนวคิดต่างๆ ที่พาเรามองเข้าไปถึงคุณและโทษของมันยังไม่แพร่หลาย การกลับมามองมันอีกครั้งด้วยสายตาของปัจจุบันกลับทำให้มันเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้นในการขยายขอบเขตการรับรู้ความเป็นไปได้ของโลกที่เรากำลังรู้จักมันเป็นอย่างดี และด้วยวิธีการเล่าแบบเซอร์เรียลที่ผสมระหว่างสองโลกด้วยเส้นแบ่งที่พร่ามัว ทำให้เราถึงแม้เราอาจจะเก็ตคอนเซ็ปต์ แต่ก็ต้องบอกว่าการเข้าใจเนื้อเรื่องเต็มๆ นั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ยากอยู่ดี บทความนี้จึงเป็นการขยายความตามความเข้าใจของผู้เขียนเช่นกัน

จุดศูนย์กลางของอนิเมคือการตั้งคำถามกับตัวตนกับความจริงแท้ เลนตั้งคำถามอยู่กับการมีตัวตนตลอดเวลาว่าแท้จริงแล้วเราเป็นใคร เรามีตัวตนในสายตาของคนอื่นเป็นอย่างไร ทำไมตัวเราที่เป็นอยู่ถึงไม่เหมือนกับที่คนอื่นรับรู้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวตนที่เราเป็นอยู่ตอนนี้คือตัวตนของเราจริงๆ มันอาจสอดพ้องกับความคิดแนว “Existentialism” หรือแนวความคิดอัตถิภาวนิยมที่สำรวจภาวะการมีอยู่ของมนุษย์ ว่าไม่ได้มีใครกำหนดชีวิตเส้นทางให้เรา ทุกคนเดินไปตามที่เขาเองเป็นคนกำหนด แต่มนุษย์ทุกคนล้วนมีอิสระเสรีในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง สิ่งนั้นอาจทำให้เกิดการหลงทาง และการสร้างความหมายของการมีอยู่ในแต่ละคนว่าสิ่งที่พวกเขาทำลงไปนั้นมีความหมายจริงๆ หรือไม่

เลนตั้งคำถามอยู่กับการมีตัวตนตลอดเวลาว่าแท้จริงแล้วเราเป็นใคร เรามีตัวตนในสายตาของคนอื่นเป็นอย่างไร ทำไมตัวเราที่เป็นอยู่ถึงไม่เหมือนกับที่คนอื่นรับรู้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวตนที่เราเป็นอยู่ตอนนี้คือตัวตนของเราจริงๆ

ทุกตอนจะเริ่มต้นด้วยภาพของเมืองในตอนกลางคืนที่ยังมีผู้คนพลุกพล่าน เหมือนทุกคนยังไม่เคยหลับไหล ความคิดของพวกเขายังตื่นอยู่ตลอดเวลา เราจะได้ยินเสียงของความคิดของคนแปลกหน้าคนหนึ่งที่มักจะไม่ค่อยซ้ำกัน พวกเขาทิ้งความคิดอะไรสักอย่างไว้กับเรา ความคิดเกี่ยวกับการมีตัวตนของตนเอง การตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีชีวิต เหมือนกับการพิมพ์กระทู้แล้วทิ้งไว้ในเว็บบอร์ด เหมือนกับการพิมพ์สเตตัสปลดปล่อยอารมณ์และความรู้สึกทิ้งไว้ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก การที่มีใครได้ยินซึ่งนั่นอาจเป็นคนที่ดูเอง อาจถือว่าพวกเขาได้รับการรับรู้และมีตัวตนจริง นี่อาจะเป็นสิ่งที่อนิเมชั่นย้ำเตือนอยู่ตลอด เกี่ยวกับการมีตัวตน แต่ความสำคัญของการมีตัวตนนั้นสำคัญขนาดไหน ทั้งในโลกแห่งความจริง หรือในโลกแห่ง The Wired

The Wired นั้นเรียกได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับโลกอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน ทุกคนสามารถเชื่อมต่อเพื่อสร้างบทสนทนา หาข้อมูลข่าวสาร สร้างความสัมพันธ์ เล่นเกมเพื่อความสนุกสนาน หรือเข้ามาเพื่อสร้างตัวตนเพื่อหาที่ที่เป็นตัวเองได้อย่างเหมาะสม ตัวตนที่เขาอยากเป็นและคิดว่าเหมาะสมที่จะเป็น บางคนอาจมองว่า The Wired นั้นเป็นสิ่งที่เลวร้าย การที่เราได้อยู่กับที่นั่นมากเกินไปจะทำให้เราไม่สามารถแยกตัวตนในโลกของ The Wired กับโลกแห่งความเป็นจริงออกจากกันได้ แต่บางคนก็กลับมองว่าโลกของ The Wired กับโลกแห่งความเป็นจริงนั้นเป็นโลกใบเดียวกัน การที่พวกเขาได้อยู่กับโลกใบนี้มันทำให้ค้นหาคำตอบในสิ่งที่ตัวเองสงสัยมาโดยตลอด คำตอบนั้นอาจตอบคำถามที่ว่า “ความจริงที่แท้จริงคืออะไรกันแน่”

หลังจากที่เลนได้เข้าโลกของ The Wired เธอก็เริ่มที่จะถลำลึกเข้าไปในโลกนี้มากขึ้น เธอรู้ว่าเธออยากทำอะไรในที่แห่งนั้น แต่เธอไม่เข้าใจว่าทำไมทุกคนถึงรู้จักและจับจ้องเธอในฐานะที่เป็นคนพิเศษ กลายเป็นว่าเธอเริ่มเกิดความสงสัยในตัวเองมากขึ้นว่าเธอเป็นใครกันแน่ ทำไมเธอเหมือนรู้สึกว่าเธอไม่รู้จักตัวเองมาก่อนเลย เลนเริ่มแยกไม่ออกว่าตัวตนไหนคือตัวตนจริงๆ ของเธอ หรือทั้งหมดไม่เคยเกิดขึ้นจริง อย่างที่พ่อของเธอเตือนตลอดมา ถ้าถลำเข้าไปในโลกแห่ง The Wired นั้นต้องอย่าเข้าไปลึกเกินไป ไม่เช่นนั้นเธอจะแยกระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนนั้นไม่ออก แต่เลนกลับคิดว่าทุกอย่างนั้นเชื่อมโยงเข้าถึงกัน โลกสองใบนี้ไม่มีเส้นกั้นระหว่างกัน นั่นจึงเริ่มเกิดความขัดแย้งขึ้นมา เพราะเธอเป็นคนเดียวที่สามารถผ่านโลกของ The Wired ได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งเครื่องมือ การมีตัวตนของเธอทำให้ความจริงของทั้งสองโลกเริ่ม และทำให้ฝ่ายที่ต้องการตัวเธอนั้นใช้ความสับสนนี้ของเธอเข้าโจมตีเพื่อให้เธอเปลี่ยนสภาพตัวเองเข้ามาที่โลกของ The Wired อย่างเต็มตัว โดยการทำให้เลนผูกติดตัวเองอยู่กับโลกอีกใบให้ได้มากที่สุด

เมื่อเราได้ติดตามเรื่องราวไปเรื่อยๆ จะพบว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่ชิสะค้นพบในโลกแห่ง The Wired นั้นไม่ใช่พระเจ้า แต่เป็นผู้สร้างปรากฏการณ์การเชื่อมต่อระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกของ The Wired ด้วยวิธีแบบใหม่ซึ่งเรียกว่า “Protocol 7” ที่ถือกำเนิดขึ้นภายในเรื่องจากการผสานทฤษฎีของ จอห์น ซี. ลิลลี่ (John C. Lilly) นักประสาทวิทยาชาวอเมริกันผู้คิดค้นภาวะของการลอยตัวเพื่อปิดโสตประสาทสัมผัสทั้งหมดของร่างกาย, วินฟรีด ออตโต ชูมาน์น (Winfried Otto Schumann) นักฟิสิกส์ผู้ที่ค้นพบทฤษฎีค่าความถี่สนามแม่เหล็กโลก หรือชูมาน์นเรโซแนนซ์ (Schumann Resonances) และ ดั๊กลาส รุชคอฟฟ์ (Douglas Rushkoff) นักทฤษฎีสื่อที่มีแนวคิดว่าการรับรู้ของโลกจะตื่นขึ้นก็ต่อเมื่อมนุษย์ทุกคนบนโลกได้เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งทั้งสามคนนั้นมีตัวตนอยู่จริงบนโลกใบนี้ แต่ผู้ที่นำทฤษฎีขึ้นมาต่อยอดคือ เอริ มาซามิ (Eiri Masami) นักวิทยาศาสตร์ภายในเรื่องที่สามารถทำการถ่ายทอดข้อมูลทุกอย่างของตัวเองลงไปในโลกของ The Wired

ในขณะที่คนทั่วไปนั้นยังมีขีดจำกัดระหว่างการเชื่อมโลกของโลกทั้งสองใบด้วยร่างกาย เอรินั้นเลิกยึดติดกับร่างกายของตัวเอง จุดประสงค์ของเขาคือทำให้ทุกคนสามารถเชื่อมต่อระหว่างโลกของ The Wired และโลกแห่งความจริงได้โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ คือการทำให้ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกัน เพราะทุกคนได้เชื่อมต่อกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพื่อการวิวัฒนาการมนุษย์ขึ้นไปสู่อีกจุดหนึ่ง การหาคำตอบเพียงหนึ่งเดียว ใครที่สมควรจะเป็นพระเจ้า และสิ่งที่จะทำให้เขาทลายขีดจำกัดจากความเป็นมนุษย์ไปสู่สิ่งที่เหนือกว่าคือ เลน เขาจึงคอยควบคุมเลนอยู่ห่างๆ และขนานนามตัวเองว่าเป็นพระเจ้าในโลกนั้น ทำให้เธอสับสนและไขว้เขวว่าร่างกายที่เธอมีนั้นไม่ใช่ของจริง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงแค่การรั้งตัวเธอไว้ให้เจ็บปวด เพื่อ ซึ่งนั่นทำให้เกิดการร่วมมือกับ The Knights หรือ The Knights of The Eastern Calculus กลุ่มแฮกเกอร์ที่รวมตัวกันโดยที่ไม่มีใครรู้ตัวตนที่แท้จริง พวกเขาปะปนอยู่กับคนในโลก The Wired ดำเนินปฏิบัติการอย่างลับๆ กระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ดำเนินการทุกอย่างเพื่อเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้เลนนั้นย้ายร่างกายเข้ามาสู่โลกแห่ง The Wired ให้ได้เร็วที่สุดโดยไม่สนใจวิธีการ เพื่อเป้าหมายเดียวกับเอริ

เมื่อศาสนาใหม่ในโลกใบนี้คือเทคโนโลยี ผู้คนล้วนต่างนับถือและศรัทธาพร้อมที่จะหนีจากโลกแห่งความจริงมากขึ้น ก็อาจจะมีคำถามที่ว่าใครที่จะเป็นพระเจ้าในโลกเสมือนนั้น หน้าที่ของพระเจ้าในโลกเสมือนนั้นคืออะไร พระเจ้าคือผู้เฝ้ามองอยู่เฉยๆ ตามความเป็นจริง หรือพระเจ้าควรเป็นผู้นำที่จะพาให้โลกไปสู่สิ่งที่ดีกว่ากันแน่ และสำหรับเอริ The Wired คือโลกที่ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด ด้วยการละทิ้งร่างกายและเชื่อมโยงผู้คนด้วยเครือข่ายเพียงหนึ่งเดียว และปัจจัยสำคัญในการไปถึงเป้าหมายของ เอริ และ The Knights คือทำให้เลนต้องตกอยู่ในเส้นทางของการเสียสละร่างกายของตัวเองเพื่อกลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมทุกอย่างในโลกของ The Wired มากขึ้น ด้วยการพรากปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ร่างกายของเลนผูกมัดอยู่บนโลกแห่งความจริงหายไป ทั้งเพื่อน ครอบครัว หรือทุกคนบนโลกมนุษย์ ทำให้พี่ของเธอกลายเป็นคนเสียสติจากการปั่นประสาท ทำให้พ่อแม่ของเลนตัดขาดจากเธอ ทำให้อาริสุไม่เชื่อใจและตัดขาดความเป็นเพื่อนจากเธอ และทำให้เลนเชื่อว่าเธอมีเป้าหมายเช่นเดียวกับเขา ด้วยการทำให้เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่าแท้จริงแล้วเธอเป็นอะไรกันแน่ เอริบอกว่าเธอมีหน้าที่เป็นแค่ซอฟท์แวร์ที่เชื่อมโยงระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกของ The Wired และเขาเป็นคนสร้างเลนขึ้นมาเอง และหลังจากนั้นเขาจะได้ควบคุมความจริงอย่างแท้จริง

สองภาพบรรยากาศที่โผล่มาบ่อยครั้งในอนิเมชั่นเรื่องนี้คือรอยเลือดและเสาไฟฟ้า รอยเลือดมักปรากฏอยู่ใต้เงา อยู่ใกล้บ้านของเลน รอยเลือดนั้นปรากฏเพื่อบอกว่าโลกแห่งความจริงนั้นถูกหลบซ่อนภายในเงาที่เกิดขึ้นอยู่ทุกหนทุกแห่ง The Wired นั้นเป็นโลกที่อยู่เหนือกว่าที่กำลังแสดงความจริงบางอย่างให้คนดูเห็น การละทิ้งร่างกายอาจไม่ใช่การฆ่าตัวตาย แต่มันคือการตามหาที่อยู่แห่งใหม่ ที่อยู่ที่เหมาะสม และหลักฐานพวกนั้นคือรอยเลือดที่ปรากฏให้เห็นในโลกแห่งความจริง โลกแห่งร่างกายที่ถูกทิ้งไว้ให้เหลือแต่คราบของความเจ็บปวด ส่วนเสาไฟฟ้านั้นมักถูกพบเห็นด้วยมุมที่เงยหน้าขึ้นไป เราจะมองเห็นเครือข่ายของสายไฟระโยงระยางเต็มไปหมดภายใต้ท้องฟ้า พร้อมกับเสียงคลื่นไฟฟ้าที่คอยรบกวนและขับเน้นบรรยากาศของความอึมครึมบางอย่าง โลกเสมือนก็อาจซับซ้อนเช่นเดียวกันกับสายไฟที่พันกัน แต่พื้นที่ในการใช้งานมันรับส่งข้อมูลข่าวสารนั้นอาจเล็กเพียงแค่นั้น โลกของข้อมูลที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดเดินทางด้วยแค่วัตถุขนาดนิดเดียว เปรียบเป็นการเชื่อมต่อของผู้คนทั้งโลกให้กลายเป็นหนึ่งเดียว

ตัวละครที่สำคัญเช่นกัน คือตัวละครอื่นๆ ในโลก The Wired ที่คอยเข้ามาพูดคุยกับเลน ซึ่งไม่มีหน้าตาที่แท้จริงให้ได้เห็น พวกเขาคือเหล่าคนนิรนามที่ไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงในโลกแห่งความจริงได้ บ้างก็เป็นแค่สิ่งของ หรือมีรูปร่างเป็นแค่เงาลึกลับ บ้างก็ปรากฏออกมาแค่อวัยวะหนึ่งของร่างกาย บ้างก็กลายเป็นคนที่เลนรู้จัก ซึ่งไม่มีทางรู้ได้ว่าเขาคือพ่อกับแม่ของเลนที่มาพูดคุยจริงหรือไม่ ราวกับว่าเป็นการย้ำเตือนว่าบุคลิกระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกใน The Wired นั้นไม่สามารถรวมตัวกันเป็นหนึ่งได้ ยกเว้นเพียงแค่ไม่กี่คนที่มีชื่อในวงการวิทยาศาสตร์ภายในเรื่อง และเลนที่มีหน้าตาที่เหมือนเดิมทั้งหมด เพียงแค่บุคลิกที่เปลี่ยนไปเท่านั้น ตัวละครของเลนที่มีต่อโลกแห่งความจริง และโลกเสมือนใน The Wired นั้นไม่เหมือนกันตามที่เราได้เห็น แต่สำหรับตัวละครอื่นในเรื่องที่ไม่ใช่เพื่อนของเธอกลับเข้าใจว่านี่คือเลนที่พวกเขารู้จัก 

การปะทะกันของความจริงในโลกแห่งความจริงและ The Wired ทำให้บางครั้งบุคลิกของเลนก็เปลี่ยนไปเหมือนเป็นคนละคน เลนนั้นไม่ได้มีบุคลิกแบบเดียวตามความเข้าใจ ตามการวิเคราะห์ตามผู้ชมที่ดูและทางผู้สร้างเอง เลนนั้นมี 3 บุคลิกด้วยกัน แบ่งตามโดยง่ายด้วย id, ego และ superego ของตน บุคลิกแรกของเลนนั้นเป็นบุคลิกที่เราได้เห็นในส่วนใหญ่ บุคลิกของความเป็นเด็ก ความไร้เดียงสา ไม่กล้าเข้าสังคม มีแต่คำถามต่อโลกทั้งสองใบ อาจจะมองว่านี่คือเลนของโลกแห่งความเป็นจริงก็ได้ บุคลิกที่สองคือหลังจากที่เธอเริ่มได้เข้า The Wired และเริ่มสร้างโลกแห่งปัญญาประดิษฐ์ของเธอ เลนเริ่มเปลี่ยนไป มีบุคลิกที่ก้าวร้าวมากขึ้น มั่นใจในตัวเองมากขึ้น และทำทุกอย่างเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย อาจเรียกได้ว่านั่นคือ “เลนจาก The Wired” และบุคลิกที่สามที่เริ่มปรากฎตัวหลังจากที่การปรากฎตัวของ The Knights มีความเป็นเด็กน้อย คอยยุยงปลุกปั่นสร้างความขัดแย้งกับคนอื่น นี่อาจจะเป็นบุคลิกที่ The Knights สร้างขึ้นให้กลายเป็นเลนที่ทุกคนเกลียดชัง ทำลายความคาดหวังคนอื่น เพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมายของตน ในการทำให้เลนละทิ้งร่างกายของตัวเองและอยู่ใน The Wired อย่างเต็มตัว และเลนสองบุคลิกแรกนั้นจะไม่มีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน

หากเป้าหมายของ The Knights คือการค้นหาความจริงเพียงหนึ่งเดียว สำหรับเลนแล้วเป้าหมายของเธอไม่ได้ต้องการสิ่งใดอื่นนอกจากความรัก ความรักที่คนอื่นมีมอบให้กับเธอ และความรักของเธอที่ต้องการมอบให้กับคนอื่น เธอแค่อยากรู้สึกว่าสิ่งที่ได้นั้นเป็นความจริง เลนต้องการครอบครัวที่ปกติ พูดคุยกันได้อย่างเข้าอกเข้าใจ เพื่อนที่คอยใช้ชีวิตและพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวด้วยกัน ว่าง่ายๆ คือเลนแค่อยากใช้ชีวิตเพียงเท่านั้น แต่การเข้ามาของ The Knights ที่ทำให้ทุกอย่างของเธอเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เธอมีความหมายเป็นอย่างอื่น ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ และเริ่มเข้าหา The Wired มากขึ้น และสิ่งที่ดึงตัวเธอให้อยู่ในโลกแห่งความจริง ไม่ละทิ้งร่างกายของตัวเองออกไปคือความสัมพันธ์ที่อาริสุยังมีให้กับเลน จนทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ทำให้เธอเป็นตัวตนที่ยิ่งกว่า The Knights และเอริ แต่เลนนั้นไม่ใช่พระเจ้าในโลกแห่ง The Wired เธอกลายเป็นอะไรที่ไม่มีใครสามารถนิยามความหมายให้ได้

เป้าหมายของอาริสุนั้นไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แต่มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้เลนดึงตัวเองออกมาจากโลกแห่ง The Wired ได้ คืออาริสุอยากเป็นเพื่อนกับเลน เธอพยายามทำความรู้จักและชักชวนในสิ่งที่เพื่อนควรจะทำ การไปเที่ยว ช็อปปิ้ง พูดคุยกัน ระบายสิ่งต่างๆ ให้แก่กันและกัน ทำให้เลนกลับมาสดใสพูดคุยกับเธออย่างมีความสุขอีกครั้ง และหวั่นใจทุกครั้งเมื่อเห็นเลนกำลังติดอยู่กับโลกใน The Wired เหมือนกำลังเห็นเพื่อนทำในสิ่งที่จะทำให้ตัวเองเลวร้ายลง เพราะเธอไม่อยากให้เลนต้องอยู่ตัวคนเดียวกับเพื่อนที่ไม่สามารถแตะต้องได้ในชีวิตจริง นี่คือตัวตนที่ The Wired ไม่สามารถแทรกแซงได้ เพราะเธอไม่ได้เป็นคนที่เชื่อมต่อมากเท่ากับคนอื่นๆ การสัมผัสตัวตนจริงๆ บนโลกแห่งความจริงยังเป็นอะไรที่สำคัญสำหรับอาริสุ และนั่นเป็นการที่ทำให้เลนมีตัวตน เพราะเธอเป็นคนเดียวที่เชื่อมต่อกับเลนได้โดยไม่ต้องพึ่ง The Wired

สุดท้ายแล้วเลนจึงไม่ยอมที่จะสละร่างกายของตัวเองเพื่อไปอยู่ในโลกของ The Wired แต่ยอมลบตัวตนของตัวเองทิ้ง และรีเซ็ตเหตุการณ์ทุกอย่างกลับไปสู่ตั้งแต่เริ่มแรก การทำแบบนี้สำหรับเธอกลายเป็นการแยกโลกทั้งสองใบออกจากกัน The Wired นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ความจริงหนึ่งเดียวกันกับโลกแห่งความจริง เพราะการมีเลนอยู่ทำให้ความจริงของโลกทั้งสองใบนั้นทับซ้อนกันและเกิดแต่ความเจ็บปวด เลนสละตัวเองเพื่อแก้ไขความผิดพลาดทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัวของเธอ ทั้งพี่สาวของเธอ ครอบครัวของเธอ และเพื่อแลกกับความสุขของอาริสุ เพื่อนที่เหลือเพียงหนึ่งเดียวของเธอโดยที่จะไม่ทำให้เธอต้องเจ็บปวดจากการที่มีเธออยู่ การกระทำครั้งนี้ทำให้เลนจมอยู่กับความทุกข์ เพราะไม่มีใครรับรู้ว่าเธอมีตัวตนอยู่โดยสมบูรณ์ ก่อนจะค้นพบว่ามันทำให้เธอสามารถเฝ้ามองทุกคนได้ทุกหนทุกแห่งอย่างที่เคยเป็นไปตามกลไกธรรมชาติของมัน และกลายเป็นว่ามีคนที่สามารถทักทายเลนด้วยอาการเดจาวู ที่คลับคล้ายคลับคลาว่ารู้จักเธอมาก่อน แต่จำไม่ได้ว่ารู้จักกันได้อย่างไร คำถามที่ว่าแล้วสุดท้ายเลนได้กลายเป็นใคร เลนเป็นเพียงแค่โปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้น หรือได้กลายเป็นพระเจ้าของโลกแห่งความจริง The Wired หรือเป็นตัวแปรที่ควบคุมโลกทั้งสองใบ เธอกลายเป็นตัวตนที่มีอยู่จริง หรือไม่มีอยู่จริงกันแน่ ไม่มีใครสามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับคนที่ได้ชมเรื่องนี้ถึงจะบอกได้ว่าเธอได้กลายเป็นใคร หรือเธอไม่ได้กลายเป็นอะไรเลย

ในทุกวันนี้ผู้คนนั้นถูกตัดความเข้าใจในชีวิตจริง พวกเขาล้วนโหยหาการติดต่อกันและกันตลอดเวลา ชีวิตจริงอาจทำให้เราเหินห่าง แต่การได้มาของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้เราสามารถติดต่อกันได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น และสามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนได้มากขึ้นเช่นกัน หากต้องเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ในโลกแห่งความจริงแล้ว ที่นี่อาจเป็นที่อยู่อย่างเหมาะสมสำหรับพวกเขา แต่บางคนที่เหมือนดวงวิญญาณที่สูญสลายในโลกแห่งความเป็นจริง บางครั้งอาจไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่างโลกทั้งสองใบได้ ถลำลึกจนยอมละทิ้งทุกอย่างของตัวเองเพื่อหลงไปตามในสิ่งที่อาจจับต้องไม่ได้ในโลกแห่ง The Wired ก็อาจเป็นเพราะว่าพวกเขาและเธอกลายเป็นผู้แพ้ในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้ที่ยอมทำทุกสิ่งเพื่อให้ได้เข้าไปอยู่ที่นั่น เพื่อค้นหาตัวตนของตัวเอง ค้นหาความจริงหรือในสิ่งที่เขาเชื่อและศรัทธาอย่างสุดใจ แต่การเสียสละร่างกายนั้นอาจกลายเป็นความพ่ายแพ้ เขาอาจค้นพบว่านั่นอาจไม่ใช่ดินแดนที่พวกเขาเฝ้าใฝ่ฝันถึง แต่กลับกลายเป็นความว่างเปล่าที่ซ่อนอยู่ รอยเลือดเหล่านั้นอาจเป็นจุดจบของตัวตนภายใต้เงา และกลายเป็นแค่กระแสข้อมูลที่ไหลไปพร้อมกับสายไฟฟ้าที่พันกันอย่างซับซ้อนจนไม่รู้ความจริงแล้วว่าเราเองเป็นใครกันแน่

Upload ควรบริโภคหลังหมดอายุ?

ผมกับพี่ชายถกกันยกใหญ่ระหว่างทางไปลอยอังคารพ่อที่พิษณุโลก

เราเถียงกันว่าจะจะลอยอัฐิของพ่อลงแม่น้ำทั้งหมดหรือจะเหลือบางส่วนเอาไว้ใส่โกศ ผมสนับสนุนให้ลอยทั้งหมดไป เพราะคงเป็นเรื่องเศร้าไม่น้อย หากวันใดวันหนึ่งเราพวกเรายุ่งจนลืมใส่ใจดูแล หรือทิ้งให้กระดูกของพ่อเป็นวัตถุหลงเหลือของผู้เฒ่าที่ไหนก็ไม่รู้ในวันที่พวกเราไม่อยู่แล้ว ส่วนพี่ชายของผมคัดค้าน เขาต้องการเหลือบางสิ่งไว้ดูต่างหน้าเวลาที่พ่อไม่อยู่แล้ว พ่อกับพี่ชายผมมีความทรงจำดีๆ ร่วมกันมากมาย เถ้าอัฐิของพ่อสำคัญเกินกว่าจะปล่อยให้ไหลไปตามแม่น้ำทั้งหมด เราเถียงกันยืดยาวโดยที่ไม่มีใครห้าม นี่คือสิ่งที่เราถนัดที่สุด เราหาเรื่องมาเถียงกันจนกว่าจะมีฝ่ายหนึ่งหมดแรงและเงียบไปเอง

แนวคิดการรักษาเศษเสี้ยวของคนที่จากไปแล้วดำรงอยู่คู่กับอารยธรรมมนุษย์มาอย่างเนิ่นนาน และนับวันจะยิ่งพัฒนารูปแบบไปเรื่อย มีหลายครั้งที่ผมทึ่งในความพยายามจะเก็บรักษาผู้วายชนม์ไว้ในรูปแบบล้ำๆ อย่างการนำอัฐิไปอัดเป็นดินปลูกต้นไม้ เอาไปอัดเป็นเพชร หรือแม้กระทั่งเขียนปัญญาประดิษฐ์ที่มีลักษณะนิสัยแบบเดียวกับผู้ตายเอาไว้แชทโต้ตอบกัน แต่ไม่มีอันไหนเลยที่ชวนทึ่งได้เท่ากับบริการอัปโหลด

“อัปโหลด” คือบริการจัดเก็บข้อมูลในสมองของคนที่ใกล้เสียชีวิตขึ้นไปจัดเก็บบนคลาวด์ ข้อมูลที่เก็บมาได้ทั้งความจำและบุคลิกจะถูกนำไปสร้างเป็นอวาตาร์ในโลกเสมือนจริง เหล่ามนุษย์อัปโหลดพวกนี้สามารถพูดคุยโต้ตอบกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ผ่านวิดีโอคอลได้ตามปกติ อีกทั้งยังสามารถใช้ชีวิตแบบผ่อนคลายได้บนโลกเสมือน เราอาจพูดได้ว่าอัปโหลด คือสวรรค์ดิจิทัล 

…หากว่ามันไม่ได้มีอยู่จริงแค่ในซีรีส์ 10 ตอนจบของ Prime Video

Upload ดำเนินเรื่องผ่านความสัมพันธ์ของนอร่า (แอนดี้ อัลโล) พนักงานศูนย์ช่วยเหลือลูกค้าอัปโหลดและเนธาน (ร็อบบี้ อาเมลล์) โปรแกรมเมอร์หนุ่มหล่ออารมณ์ดี ทั้งสองคนถูกชะตากันตั้งแต่แรกเจอ และเรื่องราวทั้งหมดคงไม่ซับซ้อนนัก หากกับพบพานครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการที่เนธานเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์จนต้องถูกส่งต่อมาให้เป็นลูกค้าที่นอร่าต้องคอยช่วยเหลือ เรื่องราวความรักระหว่างคนเป็นและวิญญาณไม่เคยง่าย การคบหากับลูกค้าอัปโหลดอาจทำให้นอร่าเสียสิทธิในการใช้ส่วนลดบริการอัปโหลดให้กับพ่อที่กำลังป่วยหนัก และการคบหานอร่าอาจทำให้แฟนสาวของเนธานที่กุมอำนาจเหนือบัญชีของเขา สั่งลบให้เขาหายไปตลอดกาล

นี่คือผลงานใหม่ของเกร็ก แดเนียลส์ ผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์ซิทคอมเลื่องชื่ออย่าง The Office และ Park and Recreation จริงอยู่ที่ผลงานสร้างชื่อของแดเนียลส์ล้วนเอาความตลกโปกฮาเป็นที่ตั้ง แต่หากมันไม่เคยเบาสมอง เรื่องตลกของเขามักจะวนเวียนอยู่กับการวิพากษ์วัฒนธรรมองค์กรและความเย็นชาจนน่าขันของทุนนิยมในอเมริกา เพียงแต่คราวนี้มันไม่ใช่เรื่องราวของสำนักงานแห่งหนึ่ง หรือแผนกสวนและสันทนาการของเทศมนฑลเล็กๆ ไกลปืนเที่ยง แต่มันคือยักษ์ใหญ่ในวงการไอทีที่ครอบครองโลกหลังความตายในอนาคตอันใกล้

เนธานรู้ได้ทันทีที่รู้สึกตัวในฐานะ “สแกน” ว่าที่ที่เขายืนอยู่ไม่ใช่สวรรค์ อย่างน้อยมันก็ไม่ใช่สำหรับคนที่ถูกจำกัดค่าใช้จ่าย เงินทุกเซนต์ที่เขาจับจ่ายในโลกอัปโหลดต้องได้รับการอนุญาตจากแฟนสาวผู้ถือบัญชี แม้จะมีเครื่องดื่มเสมือนมากมายในตู้เย็นเขาก็ทำอะไรกับมันไม่ได้ กิจกรรมบันเทิงใดๆ สำหรับชาวสแกนล้วนมีค่าใช้จ่าย ความบันเทิงรายวันของเขามีเพียงอาหารเช้าที่ต้องตื่นไปให้ทันกินก่อนสิบโมง ผู้คนในสุขาวดีดิจิทัลต้องบริโภค เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่ายังมีชีวิตอยู่ ความรู้สึกนี้แยกพวกเขาออกจากความตายแบบเดิม เป็นเหตุผลมีน้ำหนักมากพอที่จะรั้งพวกเขาไว้ ไม่ให้กระโดดลงไปในกระแสธารข้อมูลเพื่อให้ตัวเองดับสูญไปตลอดกาลแบบ “วิถีเก่า” 

ส่วนความใฝ่ฝันของนอร่าคือการหาเงินมาให้พอและรักษาสถานะพนักงานชั้นดีเอาไว้เพื่อให้พ่อได้เข้าใช้บริการ เธอรู้ดีกว่าใครว่าฮอไรเซ็นทำเงินได้มากมายเพียงใดจากการเปลี่ยนความตายให้เป็นบริการ แต่มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่หนักแน่นพอจะให้ปฏิเสธโอกาสที่จะได้อยู่กับสมาชิกที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสินค้าของทุนนิยมจอมตะกละนี่แหละที่เปิดโอกาสให้เธอได้สานสัมพันธ์กับคนตายอย่างเนธาน

หากเทียบกับผลงานก่อนหน้าของแดเนียลส์ Upload นับว่าเป็นงานชิ้นที่พูดถึงทุนนิยมและบริโภคนิยมในอเมริกาอย่างเข้มข้นและตรงไปตรงมาที่สุด หากไม่นับความตายอันเป็นเงื่อนไขของรักระยะไกลของตัวละครทั้งสอง อุปสรรคที่กีดขวางทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงจากการแปรความรัก ความรู้สึกให้กลายเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนธุรกิจอย่างไร้ขอบเขต นับตั้งแต่ระดับผิวเผินอย่างบริการอาหารและงานอดิเรกแก่วิญญาณดิจิทัล ระดับกลไกอย่างการเร่งยอดโดยมีส่วนลดพนักงานเป็นรางวัล เพื่อให้ญาติพนักงานกลับมาบริโภคอย่างไม่จบสิ้นอีกที ไปจนถึงระดับหลักการอย่างการการสร้าง “ความปกติใหม่” ให้กับความตาย

แน่นอนว่าผู้สร้างไม่ได้ต่อต้านทุนนิยมอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู แม้ทุนนิยมเสรีจะสร้างยูโทเปียปลอมๆ ขึ้นมาเพื่อหากิน แต่มันก็ยังเป็นเครื่องจักรสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน (และชีวิตหลังความตาย) ให้เดินไปยังจุดที่เปี่ยมความหวังที่สุด มอบโอกาสให้คนที่จากไปแล้วได้สะสางเรื่องราวค้างคากับคนที่ยังมีชีวิตบนโลกคนเป็น เป็นเรื่องตลกร้ายกาจที่ทุนนิยมเองนี่แหละที่ทำให้คนยอมรับว่าความตายเป็นเพียงการเดินทางอีกครั้งหนึ่งในชีวิตได้ราบรื่นกว่าคำสอนทางศาสนาใด

แต่สวรรค์ของกลุ่มธุรกิจก็คงไม่ใช่สวรรค์แบบเดียวกันกับสวรรค์ของผู้บริโภค จุดพลิกผันสำคัญของเรื่องชี้ให้เห็นความจริงข้อนี้อย่างเจ็บปวด เมื่อเนธานถูกพาไปให้รู้จักกับ “พวกสองกิ๊ก” กลุ่มผู้บริโภคชั้นล่างสุดของฮอไรเซ็น ผู้ใช้บริการแบบเติมเงินที่ถูกจำกัดให้รับส่งข้อมูลฟรีได้แค่เดือนละสองกิ๊กกะไบต์ ใช้ชีวิตอยู่กับสินค้าบริการทดลองใช้ฟรี และต้องอยู่นิ่งๆ ไปทั้งเดือนหากจำนวนการรับส่งข้อมูลถึงขีดจำกัด หรือจนกว่าญาติจะหาเงินมาเติมเดต้าให้ สำหรับคนเป็นมันคงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาจะทำได้เพื่อคนที่รัก แต่สำหรับเนธานและสแกนคนอื่นๆ นี่คือสิ่งที่เลวร้ายน้อยกว่านรกเพียงนิดเดียวเท่านั้น เพียงแค่ใช้ความคิดหรือรู้สึกอะไรอย่างรุนแรงก็บริโภคปริมาณข้อมูลไปเกือบครึ่ง ชั่วขณะที่ร่างกลายเป็นสีเทาเพราะถึงขีดจำกัดก็ไม่ต่างอะไรกับความตายที่ซ้อนอยู่ในความตายอีกทีหนึ่ง น้ำตาหนึ่งหยดที่ไหลออกมาจากดวงตาไร้สีสันของพวกสองกิ๊กคือคำถามสำคัญจากผู้สร้าง ว่าเราควรปล่อยให้นายทุนใหญ่ครอบครองพื้นที่ในชีวิตของเราเสรีจริงหรือ หรือการดำรงอยู่ไม่ว่าจะในกายเนื้อหรือวิญญาณดิจิทัลควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี

หรืออาจจะดีกว่า หากเราไม่ถูกกล่อมให้เนี่ยวรั้งพวกเขาเอาไว้ในรูปข้อมูลเช่นนี้ 

“ขอคิดอีกหน่อยนะ” พี่ชายพูดขึ้นมาหลังจากที่ผมหยุดเถียงไปแล้ว หนึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น เราตัดสินใจกันว่าจะลอยอัฐิทั้งหมดลงแม่น้ำน่าน ผมไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรที่ทำให้พี่ชายคล้อยตาม ค่าเก็บรักษาหลายพันบาทที่เราประหยัดลงไปได้ ภาระทางใจที่เราอาจหลงลืมพ่อไว้ที่ไหนสักที่ หรือความรู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจที่ได้ส่งพ่อเดินทางอย่างหมดจดในตอนสุดท้าย ผมไม่แน่ใจว่านี่เป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือเปล่า แต่ก็ดีใจเหลือเกินที่เราหาข้อสรุปกันเองได้

โดยที่ไม่ต้องเดือดร้อนขอความเห็นจากพ่อ

A Quiet Place Part II : แดนอาถรรพ์ อวยยศเยาวรุ่น

0

ดินแดนไร้เสียงสอง ก็คือเป็นดินแดนที่ต้องพูดเสียงหนึ่งตลอดเวลา เป็นแดนอาถรรพ์ที่กะเทยอยู่ไม่ได้ #ผิดค่ะ ไม่ใช่นะคะ นี่ไงคนอ่านชื่อเรื่องเข้าใจผิด จริงๆ ก็คือ ภาคต่อของ ดินแดนไร้เสียงหนึ่ง หนังสัตว์ประหลาดหูดี ขี้วีนที่มาบุกโลกแบบไร้สติไม่มีที่มาที่ไปเมื่อปี 2019 ซึ่งพอสัตว์ประหลาดบุก แล้วซวยใครคะ มนุษย์ไงคะ เวรกรรมมาก ใช้ชีวิตกันไม่ได้เลย อยู่กันอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เวรแท้ ซึ่งคำเตือนเดียวสำหรับเรื่องนี้คืออย่าเสียเงินซื้อป๊อบคอร์นเข้าไปกิน เพราะจะไม่ได้กินค่ะ ป๊อบคอร์นจะยม จะเหี่ยว จะ food waste เราจะเสียเงินฟรี เพราะตลอดทั้งเรื่องแค่ขยับยังไม่กล้า ลุ้นจิกเบาะ จิกขา ตลอดเวลา ขนาดนั่งเฉยๆ ยังเกร็ง แล้วถ้ามีใครสักคนลืมปิดเสียงโทรศัพท์จะโดนสาปจากที่โดนหนักอยู่แล้วจะโดนขึ้นไปอีก!!! 

เข้าเรื่องค่ะ ตอนแรกเราเห็นว่า มีการโปรโมตว่า จอห์น คาซินสกี้ ในบทสามีในจอ และ นอกจอของ แม่เอมิลี่ จะกลับมา เราก็ไหว้สาแล้ว หลังจากพ่อม่องเท่งตุยเย่ไปในภาคที่แล้วจะกลับมายังไง จะมาแบบแฟนตาซี อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์แบบวอนเดอร์วูแม่นมั้ย หรือจะแกงคนดูแบบ The Penthouse หรืองานนี้มุนินทร์มา มุตตาเกิด ลุ้นมากว่าพ่อจะมีแฝดหรือไม่ สรุปก็คือ พอค่ะ กะเทยหยุดมะโน คุณพ่อจอห์น คาซินสกี้ จะกลับมาในรูปแบบที่คลาสสิกที่สุดในฮอลลีวูด แบบที่กะเทยอยากจะด่าตัวเองว่า หล่อนคาดหวังอะไร!!!! แต่จะคิดอะไร ไม่บอกเดี๋ยวสปอย

เข้าเรื่อง จริงๆ เสียที หลังจากที่ภาคที่แล้วแม่เอมิลี่ บลันท์ไปคลอดลูกในอ่างอาบน้ำ และ ผัวของแม่ ก็คือพ่อจอห์น ได้ล่อสัตว์ประหลาดไปจนขิต ทิ้งบทพูดผ่านภาษามือสุดขยี้หัวใจไว้ให้ลูกสาวแล้วว่า พ่อรักลูก และทั้งบ้านจะรวมตัวเผด็จศึกสัตว์ประหลาด ตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่ สี่แม่ลูก ต้องออกเดินทาง เพราะสู้กันจนบ้านเละเทะไฟไหม้น้ำท่วมแล้ว จะอยู่ต่อยังไงละคะ!!! โดยน้องเด็กหญิงลูกสาวแกะรอยสิ่งที่พ่อคิดคำนวณไว้ว่าน่าจะปลอดภัย แล้วจะเดินทาง ซึ่งกะเทยยังไม่แน่ใจว่าเดินไปไหน แต่ดูทรงแล้วมันต้องไปก่อนค่ะ ไม่งั้นเรื่องไม่เดิน จุดนี้ สงสารน้องเบบี๋มาก กลัวชีจะขิต น้องจะไหวมั้ย ถ้าสัตว์ประหลาด เอเลี่ยนมา เราสี่คนจะไหวหรอ และก็เดินๆ ไปสักพักก็เจอตัวละครที่รับบทโดยคิลเลียน เมอร์ฟี่ แล้วก็ตามสูตร คือมันต้องมีอะไรสักอย่างบ้งๆ พังๆ ให้เราต้องเอาใจช่วย ช่วยไปก็ด่าไป ช่วยไปก็ลุ้นไป

ดูจบแล้ว ฉันร้องกรี๊ดเลยยย ฉันบอกเพื่อนเลย ว่าปกติเวลาเราดูหนังเราจะบอกเพื่อนว่ามึงงงง กูจอง กูจองเป็นตัวนี้ แต่ในเรื่องนี้ ไม่ค่ะ ฉันไม่ขอเป็นใครในเรื่องนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะคนหรือสิ่งของ ปกติขอเป็นถังขยะก็ได้ แต่เรื่องนี้คือบายเด้อออออ หลังคาบ้านยังไม่อยากเป็นเลย ไม่ว่าแม่เอมิลี่ หรือชีน้องเด็กลูกสาว จะปัง จะเปรี้ยวขนาดไหน ฉันก็ไม่ขออยู่ค่ะ!!!! แค่คิดว่าต้องวิ่งหนีไอ้ตัวนี้ ก็คือไม่น่ารอดค่ะ เอาใหม่ อย่าว่าแต่ให้วิ่ง แค่คิดว่าบอกกะเทยให้เงียบ เธอทำได้หรอ ทุกวันนี้แค่หายใจยังเสียงดัง เหมือนบอกบียองเซ่ให้เดินเบา เหมือนบอกอาริอาน่าให้เลิกแซ่บ เหมือนบอกแม่ค้าส้มตำว่าไม่ใส่พริกอ่ะค่ะ มันได้หรอ ไม่ได้ค่ะ ทำไม่ได้จริงๆ ดังนั้นไม่ขออยู่นะเรื่องนี้ ไม่ขอเล่น

ในส่วนของหนัง ความดีงามยังมีอยู่ครบ ดูไปใจเต้นรัวๆ ภาคนี้วัดใจหลายอย่าง โดยเฉพาะลูกๆ จำได้ว่าภาคที่แล้ว ลำไยน้องลูกสาวมาก คือวีนแล้วหนึ่ง จากความหยิ่งผยอง ทระนง วีนเหวี่ยงไม่รักพ่อ หลายสิ่งอย่างที่มันน่ารำคาญ จนกระทั่งพ่อตายนั้นแหละ ชีถึงตระหนักรู้ และก็สิ่งประดิษฐ์ของพ่อนั้นแหละที่ช่วยชีไว้ ภาคนี้ทั้งน้องหญิง และน้องเด็กชาย มีซีนเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะน้องหญิง ภาคนี้ชีเติบโตขึ้น โตมาดี มีความเป็นผู้นำ ยิ่งกว่าแม่ ยิ่งกว่าอีลุง กะเทยยอมใจ ถ้าเป็นฉัน ฉันไม่ทำ ฉันขอหลบอยู่ในบ้าน แล้วเปิดเพลงบริทนี่ย์ให้ดังที่สุดแล้วยอมตายไปดีกว่า ดังนั้นน้องเด็กหญิงคนนี้ สอบผ่านแล้ว ปกติคาแรกเตอร์แบบนี้จะน่าลำไย แต่ชีผ่านชีทำให้เราเอาใจช่วย ไม่สาปส่งให้ชีขิตตายไปแบบภาคก่อน

สิ่งหนึ่งที่กรี๊ดมากก คือ ถึงแม้เนื้อหาจะหนักแน่น จริงจัง ลุ้นระทึก ซ่องสัตว์ประหลาดแตก แต่ก็ไม่พลาดที่จะมีซีนอลังการเสิร์ฟให้กะเทยได้สบายใจ ฉากที่สวยและกะเทยให้ผ่านคือฉากการปะทะกลางสายฝน หลังจากที่แม่เอมิลี่ เผชิญหน้ากับสัตว์ประหลาดในโกดังร้าง แม่มีแค่ปืน กับถังแก๊สเดาว่าคือ ออกซิเจน อาวุธลับคลื่นเสียงที่จะเอาชนะก็ไม่มี จุดนี้ลุ้นใจหาย แม่เอาถังไปล่อ ใจกะเทยลุ้นระทึก จุดนี้จะจุดจบ หรือจุติ หรือจุดสิ้นสุด แบบเล่นภาคสุดท้ายแล้วหรือเปล่า แม่เตรียมขิตแล้ว ฝากให้ลูกลุยต่อหรือไม่!!! อาวุธก็ไม่มี พออีสัตว์ประหลาดติดกับ แม่รับบทอีสาวแม่นปืน ยิงถังแก๊สระเบิดไฟลุก จุดนี้สวยหนึ่ง แม่รับบทหญิงสาวผู้มากับไฟ แต่ถ้าใครคิดว่าพอแล้ว….ไม่ค่ะ แม่บอกเลยฉันไม่ได้มาเล่นๆ ฉันบอกผัวแล้วถ้าจะให้มาวิ่งอุ้มลูกไปมาเขียนบทให้ตายไปเลยดีกว่า ถ้าจะมาต้องมีซีน #เอมิลี่ไม่ได้พูด แต่เราคิด เพราะหลังจากไฟลุกท่วมสัตว์ประหลาด จุดนี้เครื่องพ่นน้ำในโกดัง ที่ตอนแรกคิดว่ามีแกล้งๆ มีเหมือนใส่งั้น ก็คือพ่นน้ำลงมา งานนี้ Rain On me แม่ก้ามาแล้วหนึ่ง กลายเป็นฉากหลังที่สวยให้กะเทยได้กรี๊ด แล้วด้วยความที่หูดี แต่ตาบอด อีสัตว์ประหลาดคือไปไม่ถูกแล้วหนึ่ง แม่ใช้จุดนี้ในการหนี!! แต่ถ้านี่เป็นซีนของกะเทยเห็นน้ำคือกรี๊ด สมรภูมิรบเอลนีโญ่ แม่ทามาแล้วสอง เพลงมาเลย You got my temperature rising like El Nin-YO! แล้วสรุปปีศาจได้ยินเสียง กะเทยตาย #อ้าว บอกแล้วฉันอยู่ในเรื่องนี้ไม่ได้ แค่ก้าวขาก็พร้อมบ้งแล้ว แล้วอีเรื่องนี้ชอบมากกกก ชอบมีคนวางของทิ้งไว้ ชอบไปจัด setting กันในที่ที่มีเหล็ก มีแก้ว ที่พร้อมกระแทกกัน พร้อมจะหล่นลงมาแตก อีเวร!!!!! โกรธจนต้องบอกตัวเอง อย่าอินเกิน #เสียงพี่มาช่า

กะเทยดูจบแล้วรู้สึกว่า ดินแดนไร้เสียงสอง คือผลงานยกย่องเยาวรุ่น กับการเคารพซึ่งสิทธิ์เสียงและการตัดสินใจของเด็กๆ ในเรื่อง กับการกระทำอันกล้าหาญ แม้จะมีการลองผิด ลองเลือก มีผลลัพธ์ที่มันบ้งตามมาบ้าง บ้งแบบ มึงคะ!!!! เค้าก็ทราบกันอยู่ ว่าห้ามสงเสียง ห้ามออกไปไหน ทุกคนรู้โลกรู้ คนดูรู้ ตัวหล่อนก็รู้ อีเด็ก แต่หล่อนก็จะทำ!!!! ไหว้สาแล้ว ทำ…ทำไม แต่มันก็เห็นแล้วว่าในท้ายที่สุดน้องเด็กสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ดี กะเทยคิดว่าน้องเด็กเยาวรุ่นสองท่านนี้สมควรถูกอวยยศในยุคผู้ใหญ่กำลังไร้หวัง และต่างหวาดกลัวในเสียงและการกระทำของตัวเองว่าจะล่อผี เรียกสัตว์ มาหรือไม่ เด็กสาวเดินหน้าเพื่อช่วยเหลือโลกใบนี้ โดยที่ผู้ใหญ่ยังไม่กล้าคิดกล้าฝัน โดยเฉพาะสองซีนสำคัญสุดท้าย มันสวยงาม ยิ่งใหญ่ และ ทรงพลัง จุดนี้ กะเทยร้องไห้ แม่เอมิลี่ ส่งไม้ต่อให้กับลูกสาวในเรื่องของแม่ได้อย่างสวยงาม ถ้ามีภาคสาม ซึ่งจุดนี้ รู้สึกได้ว่าต้องมี เพราะหนึ่งดัง สองดัง สามจะไม่ตามมาหรอคะ นี่ฮอลลีวูดกลิ่นเงินมันหอมหวาน แล้วพ่อจอห์นก็กำกับแม่เอมิลี่ ผัวกำกับ เมียแสดง เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหน ไปเข้ากระเป๋าไงคะ!!! กะเทยเชื่อว่าภาคสาม น้องเด็กลูกสาวจะต้องฟาดๆๆๆๆ ฟาดจนไฟลุก อยากดูฉากแอ็กชั่น อลังการ ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น นี่เชื่อแล้วว่าภาคสามต้องมีเรื่องของรัฐบาลมาเกี่ยว ขอแทงหวยไว้เลยว่า จะต้องมีอะไรบ้งๆ จากตัวละครผู้ใหญ่ โดยมีอีสัตว์ประหลาดเป็นตัวเร่งปฎิกิริยา โดยที่เราจะได้รู้กันสักทีว่า อีนังหูดีพวกนี้ มันจะมาทำอะไร นี่พูดถึงหนังนะคะ #จริงจริงนะ โดยมีอีสัตว์ประหลาดเป็นตัวเร่งปฎิกิริยา และเราอาจจะได้รู้กันสักทีว่า อีนังหูดีพวกนี้ มันจะมาทำอะไร

ส่วนใครที่ยังลังเลว่า เอ๊ะ ฉันควรจะไปดูเรื่องนี้ในโรงหนังมั้ย ใดๆ ก็ตามสำหรับซิสแล้ว เรื่องนี้มันควรดูในโรงหนัง เราควรจะได้เปิดประสบการณ์การกลั้นหายใจไปพร้อมนักแสดง รู้สึกเหมือนเหมือนวิ่งแข่งทั้งๆ ที่นั่งนิ่งๆ สิ่งเหล่านี้คืออรรถรสที่เกิดขึ้นในโรงหนังค่ะ ดูที่บ้านตอนออกแผ่นอาจจะไม่เหนื่อยเท่าที่ควร ดังนั้นแล้วไปดูในโรงค่ะ โรงหนังเปิดเมื่อไหร่ พร้อมเมื่อไหร่ สบายใจเมื่อไหร่ ปลอดภัยเมื่อไหร่ ไปจัดกันนะคะซิส

FILM CLUB List : Queer Cinema (Part 5)

0

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง)

(รายชื่อรอบสาม) | (รายชื่อรอบสี่)

ในโอกาส​ Pride Month นี้ Film Club ได้ชักชวนผู้คน ทั้งนักวิจารณ์ คนทำหนัง และคนดูหนังจำนวนหนึ่งมาร่วมกันเลือกภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศของผู้คน โดยแต่ละท่านมีอิสระในการเลือก ภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด ทั้งภาพยนตร์ หนังสั้น หนังทดลอง สารคดี ไปจนถึงมิวสิควิดีโอ โฆษณา หรือแม้แต่ คลิปไวรัล 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่ห้า รอบสุดท้าย


ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์ : นักแสดง

Je t’aime moi non plus (1976, Serge Gainsbourg, France) 

เหมือนเป็นหนังประกอบเพลงขนาดยาวที่สนองความ pervert และ sex fantasy ของ Serge Gainsbourg ที่ชวนขมวดคิ้วเวลาดูและก็บ่นกับตัวเองเบาๆ ว่า อะไรของมึงวะ

เรื่องราว sexual fantasy แบบ heterosexual ที่หยิบเอาเงื่อนไขแบบ homosexual มาประกอบร่างเป็นเรื่องราวแบบที่เลอะเทอะ, น่าขันปนเศร้า ในทางหนึ่งมันให้ความรู้สึกกับเราว่า สิ่งนี้มัน non-binary 

ภายใต้บรรยากาศที่ sensual อันแปลกประหลาดชวนฝัน หยิบหยอดความลามก การยั่วล้อทางฟิโรโมน และกลิ่นไอความโรแมนติกที่น่าขบขัน มวลลมพัดโกรกผมและใบหน้า (เป็นลักษณะบรรยากาศที่พบได้ในงานเพลงของ Serge Gainsbourg) ในขณะที่หนังเหมือนจะถอดความเป็นเพศออกในดินแดนขอบเขตแห่งความรัก, กระสันความใคร่ ก็ยังคงทิ้งไว้ซึ่งปมขัดแย้งในเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศไว้ ตัวเอกผู้ชายที่เป็นเกย์จะสามารถร่วมเพศกับหญิงสาวกำพร้ารักที่ยินยอมพร้อมใจคนนี้ได้ไหม แม้เขาจะต้องตาเธอจากภายนอกที่ดูเหมือนเด็กผู้ชาย แต่ในทางกายวิภาคก็ยังเป็นผู้หญิงอยู่ดี

หนังเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นส่วนผสมที่แปลกประหลาด สำหรับเรา และยุคสมัยที่มันได้เกิดขึ้นมาเลย

เรารู้มาตลอดว่า Serge เป็น straight, เป็นคนลามกและใช้สัญชาตญาณดิบของตัวเองสูง แต่ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขาได้เคยผลิตผลงานแบบนี้มาก่อน เรากดดูเรื่องนี้เพราะชอบเพลงนี้มาก และอยากจะรู้ว่าเขาจะเล่าเรื่องราวอะไรภายใต้บรรยากาศของเพลงนี้ 

เราพบว่า limit ทางความลามก และความบ้าที่จะท้าทายขนบศีลธรรมของ Serge นั้นแทบจะไม่มี (ถึงชื่อเสียงทางด้านพฤติกรรมชอบทำอะไรข้ามเส้นและความกักขฬะของเขาโดดเด่นมากกว่า) และในขณะเดียวกันที่ตัวเขาเองก็ยังคงเอกลักษณ์ความ sensual และ open-minded บางอย่างที่จะมัดตัวเราให้หนีจากอากาศที่เขาสร้างไม่ได้เลย


วาสุเทพ เกตุเพ็ชร : ผู้กำกับซีรี่ส์ The Gifted Graduation / ผู้เขียนบท มะลิลา, อนธการ

The Way He Looks (2014, Daniel Ribeiro, Brazil)

ในช่วงเวลาที่มีคำถามกันอยู่เนืองๆ ว่าตกลงงานวายต่างๆ มันควรถูกนับหรือควรทำให้เป็น LGBTQ+ Media หรือไม่ แล้วจะให้ไปแคร์การส่งสารผลักดันอะไรใดๆ ให้กับคอมมูนิตี้ได้อย่างไร ในเมื่อความบันเทิงของคนดูเค้าก็แค่อยากเห็นเด็กผู้ชายหน้าตาดีสองคนจูบปากกัน การยกหนังเรื่องนี้เป็นตัวอย่างก็ประหยัดเวลาอธิบายได้ดี


ทิชากร ภูเขาทอง : Trasher Bangkok / ผู้กำกับซีรี่ส์ 3 Will Be Free, Friend Zone, Gay OK Bangkok

Keep the Lights On (2012, Ira Sachs, USA)

เหมือนเป็น Marriage Story ของคู่รักเกย์ หนังพาเราไปสำรวจความสัมพันธ์ตลอด 10 ปีตั้งแต่ปี 1998 – 2006 ของ Erik ผู้กำกับหนังสารคดีอินดี้ไส้แห้งกับ Paul ทนายความหนุ่มที่เจอกันผ่านทาง Hotline Sex ความสัมพันธ์เริ่มต้นจากการเป็น one night stand สู่การเป็นคู่รักคบๆ เลิกๆ ที่อีกคนถึงแม้จะมีหน้าที่การงานดีแต่ก็ติดยาจนทำให้ชีวิตรักพัง ส่วนอีกคนก็ตามหาฝันลมๆ แล้งๆ ไปเรื่อย หนังไม่ได้จุดพีคหรือเร้าอารมณ์อะไรนอกจากจะพาเราไปดูคนนึงที่พยายามเหลือเกินในการจะพยุงความสัมพันธ์กับอีกคนที่พร้อมจะทำลายตัวเองอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนไปคบใครพยายามมูฟออนไปไหน ก็วนกลับมาพยายามทำให้ความสัมพันธ์มันเวิร์คให้ได้อีก มีฉากที่ชอบมากๆ คือตอนสองคนทะเลาะกัน อีกคนนึงเลยจะไปนอนข้างนอก อีกคนนึงไม่ยอมเพราะบอกว่าเราไม่ควรเข้านอนทั้งที่ยังโกรธกันอยู่ อีกคนก็เลยดึงให้อีกคนไปนอนให้ได้ อีกคนก็รำคาญเลยเออกูไปนอนก็ได้ แล้วตัดมาก็เห็นสองคนนี้มันดีกันแล้วหยอกกันบนเตียงแล้ว เออแล้วมันยังมีฉากเอาๆ กันอยู่แล้วอีกคนแจกทองด้วย มันเป็นอินไซด์คู่รักเกย์ที่เรียลที่สุดแล้ว 


มัทนา จาตุรแสงไพโรจน์ : นักแปล

Farewell Song (2019, Akihiko Shiota, Japan) 

ถ้าคุณรักใครสักคน คุณจะบอกรักเขาอย่างไร

Farewell Song หรือ Sayonara Kuchibiru (ลาก่อน ริมฝีปากคู่นี้) เป็นบทเพลงที่ถูกแต่งขึ้นวันหนึ่งในฤดูร้อนท่ามกลางต้นไม้ที่พลิ้วไหวตามลม วันที่เราได้ยินเสียงเลโอพูดกับฮารุครั้งแรกว่า “เพลงเพราะจัง เล่นต่อเถอะ” จากวันนั้นเพลงนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในสามเพลงที่ตัวละครเอกสองสาวขับร้องตลอดเรื่องตามลำดับเพลงที่เล่นเหมือนเดิมทุกครั้งจนวันสุดท้าย

หนังเริ่มต้นจากการออกเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของวงดูโอ้อินดี้โฟล์ค ‘ฮารุ เลโอ’ ก่อนที่จะแยกวง สมาชิกวงประกอบด้วยสองสาว ฮารุ (รับบทโดย มุกิ คาโดวากิ) และ เลโอ (รับบทโดย นานะ โคะมัตสึ) มีชิมะ (รับบทโดย เรียว นาริตะ) เป็นทั้งผู้จัดการวง เด็กยกของ และมือกีตาร์

หนังเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของหญิงสาวคู่หนึ่งและชายอีกหนึ่งคนในช่วงวัยที่กำลังสร้างตัวตน และค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ การออกเดินทางของทั้งสามในรถจิ๊ปสีดำเริ่มต้นด้วยเสียงทะเลาะโต้เถียงกันระหว่างฮารุกับ เลโอ เพราะต่างฝ่ายก็ฝ่าฝืนกฎที่ตั้งไว้คือห้ามกิน ห้ามสูบบุหรี่ในรถ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครมีท่าทีจะทำตามกฎที่ว่า ในขณะที่ชิมะขอให้ทั้งคู่รักษาสัญญาว่าจะร้องเพลงไปให้ตลอดรอดฝั่งจนวันสุดท้ายของทัวร์การแสดงครั้งนี้

ระหว่างเดินทางไปแสดงยังไลฟ์เฮาส์ในเมืองต่างๆ ที่ไม่ใช่เมืองศูนย์กลางขนาดใหญ่อย่างโตเกียว แต่เป็นเมืองเล็กๆ ที่ดูมีความหมายส่วนตัวสำหรับพวกเขา อย่างที่ตัวละครพูดตอนต้นเรื่องว่า เริ่มต้นทัวร์ที่เมืองฮามะมัตสึเพราะพวกเขาแสดงบนเวทีครั้งแรกที่นี่ ระหว่างทางเราแทบไม่เห็นทิวทัศน์รอบข้าง ส่วนใหญ่กล้องโฟกัสพื้นที่ภายในรถที่ทั้งสามคนใช้เวลาด้วยกัน ในรถมีเสียงทะเลาะกัน หลายครั้งความเงียบเข้าครอบคลุม และบางครั้งกลายเป็นพื้นที่จินตนาการสร้างบทเพลงท่ามกลางความเงียบงันนั้น แล้วเราก็เห็นภาพการแสดงบนเวทีในไลฟ์เฮาส์ และภาพด้านหลังเวทีที่เผยให้เห็นเรื่องราวต่างๆ ของตัวละคร

บทเพลงหรือดนตรี เป็นหัวใจ เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงตัวละครทั้งสามให้มาสร้างพื้นที่ (community) ใหม่ร่วมกัน ฮารุเป็นคนแต่งเพลง เป็นคนที่ชักชวนเลโอให้มาร้องเพลงด้วยกัน สอนให้เล่นกีตาร์ เปิดทางใหม่ในชีวิตให้กับเลโอที่เดิมทำงานไปวันๆ ในโรงงาน เลโอรู้ว่าดนตรีมีความหมายกับฮารุแค่ไหนและพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อฮารุ ส่วนชิมะ อดีตหนุ่มบาร์โฮสต์และอดีตนักดนตรีตระหนักว่าตัวเองอยากทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้างในชีวิตนี้ เพื่อแก้ไขสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาดไปในอดีต

สำหรับฮารุแล้ว บทเพลงที่แต่งขึ้นคงเป็นเสียงบอกความรู้สึกที่แท้จริง เป็นเสียงที่สามารถปลดปล่อยออกมาได้ผ่านบทเพลงเท่านั้น บทเพลงจึงเป็นตัวตนของเธอ ความรักของเธอที่มีต่อผู้หญิงที่เธอรักไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน เธอบอกรักนั้นผ่านบทเพลงที่เธอแต่ง เลโอรับรู้เสียงนั้นด้วยการร้องเพลงไปด้วยกัน ชิมะรับรู้เสียงนั้นด้วยการเล่นดนตรีไปด้วยกัน และในคอนเสิร์ตครั้งสุดท้าย เป็นครั้งแรกที่เราได้ยินเสียงคนดูร้องคลอตามไปด้วย อาจเป็นไปได้ว่าห้วงเวลานั้นทำให้ทั้งสามคนรับรู้ว่าเสียงที่ถูกกดทับอยู่ในใจดังไปถึงผู้คนรอบข้าง รับรู้ว่าการเดินทางของพวกเขามีความหมายต่อตัวเองและคนอื่น การคลี่คลายทางอารมณ์ที่ไม่ใช่ด้วยคำพูดนั้นนำพาทั้งสามไปสู่จุดเริ่มต้นของการเดินทางอีกครั้ง


ชญานิน เตียงพิทยากร : นักวิจารณ์

The Daughters of Fire (2018, Albertina Carri, Argentina)

ตอนที่เราเลือกลงรูปโปสเตอร์เวอร์ชั่นที่ดูถูกต้องกว่าของหนังแล้วผิดมาตรฐานของเฟซบุค (ข้อหา nudity) คือข้อพิสูจน์จริงๆ ว่าหนังเรื่องนี้ก้าวข้ามทุกสิ่งทุกอย่างไปแล้ว – เพราะโปสเตอร์หลักของหนังที่คงโพสต์ได้แน่นอน (และผมเกลียดมาก) คือรูปหอยแมลงภู่เผยอเปลือกที่พยายามดึงดูดสายตาด้วยความแรงแบบเดียวกับหนังของ Lars von Trier… ซึ่ง mislead ให้คนกลับไปติดกับดักของ norm เรื่องเพศแบบเดิม ทั้งที่ตัวหนังหลุดและท้าทาย norm เหล่านั้นได้อย่างหมดจดงดงามที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ก็ว่าได้ คำสำคัญที่หนังใช้อธิบายตัวเอง (หรือคนอื่นช่วยอธิบายให้) ในเรื่องย่อหรือ director’s statement ก็คือ female gaze บ้าง queer gaze บ้าง political porn บ้าง ซึ่งถูกต้องหมดเลย แต่สายตาที่เป็นจุดเด่นของหนัง และเป็นสายตาที่เราอิจฉามากๆ คือสายตาของมนุษย์ที่ embrace ความผิดแปลกของตัวเองได้อย่างเต็มที่ มองเห็นความงามทั้งของตัวเองและของคนอื่นรอบตัวโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ และมันเข้มข้นชัดเจนมากจนสะท้อนออกมาบนจอ

ขั้นแรกสุด มันต่างจากสายตาของผู้ชายที่ชื่นชมเรือนร่างหรือความเป็นเพศหญิง (หรือในทางกลับกัน หรือเควียร์ที่ชื่นชมเรือนร่างและความเป็นเพศเดียวกัน) ขั้นต่อมา มันต่างจากหนังจำนวนมากที่พยายามพูดถึงความงามนอกกรอบอันหลากหลาย หรือพูดเรื่องเพศอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้ง ที่สำหรับกลุ่มหลังมักมาพร้อมความวาบหวามตื่นเต้นกระตุ้นเร้า (เช่น Shortbus) และสำหรับกลุ่มแรกที่อาจยังมีความไม่มั่นใจหรือสั่นกลัว ทั้งต่อตัวเองหรือสิ่งที่ตัวเองกำลังชื่นชมยกย่องหรือเป็นตัวแทนกระบอกเสียง

สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องผิด โดยเฉพาะกลุ่มที่แสดงออกให้เห็นถึงความสั่นกลัวหรือไม่มั่นใจ เพราะการจะ embrace ตัวเองหรือยืนอยู่ให้ได้ในสังคมที่กดให้แปลกแตกต่างต้องอาศัยพลังใจอย่างสูง แต่เมื่อ The Daughters of Fire ทำได้ มันจึงสดชื่นและ empowering อย่างถึงที่สุด และมันทำได้ในฐานะของหนังโป๊ที่ไม่ใช่แค่งานอีโรติกปัญญาชนเรตอาร์หรือ NC-17 ขายเทศกาล แต่เป็นหนังโป๊จริงๆ ที่กิจกรรมทางเพศเกิดขึ้นมากมายในเรื่อง อย่าง explicit ที่สุด

ทุกสัมผัสคือความสวยงามในสายตาของหนังเรื่องนี้ (และหนังทำให้เรารู้สึกตามนั้นได้จริงๆ) ทั้งด้วยมือ ด้วยลิ้น ด้วยปาก ด้วยจมูก ลมหายใจ การสัมผัสตัวเอง สัมผัสคนรัก สัมผัสคนรู้จักผิวเผิน กับทอม กับดี้ กับคนอ้วน กับคนสวย กับคนแต่งตัวข้ามเพศเพื่อความสนุก กับหญิงข้ามเพศชนพื้นเมือง กับคนอีกคนหนึ่ง กับคนอีกหลายคน หรือกับสิ่งของเครื่องช่วยทางเพศ มีทุกอย่างที่เป็นเรื่องฉาวคาวโลกีย์อยู่บนจอ แต่หนังพาเราไปพ้นจากสายตาหื่นกระหายความแปลกต่างทำนองว่า “นี่ไง ดูซะ เลสเบียนอ้วนมีเซ็กซ์กัน” “นี่ไง เซ็กซ์หมู่เลสเบียนที่มีทรานส์ด้วย” “นี่ไง นิ้วกับจู๋ปลอมที่สอดเสียบเข้าไปและน้ำรักที่ทะลักหลั่งออกมา” ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ


เพียงดาว จริยะพันธุ์ : นักแสดง นักจัดการศิลปะ นักกิจกรรม

ปรากฏการณ์ม็อบออนไลน์ #กูจะเป็นเพศอะไรก็เรื่องของกู

ปรากฏการณ์ม็อบออนไลน์ #กูจะเป็นเพศอะไรก็เรื่องของกู จัดโดยกลุ่มนักเรียนเลว เพื่อทวงสัญญาจากกระทรวงศึกษาธิการให้แก้ไขปัญหาการเหยียดเพศในโรงเรียน โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ที่นำเสนอไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ได้แก่ 1. แก้ระเบียบทรงผมให้นักเรียนเลือกไว้ทรงผมตามเพศวิถี 2. แก้ระเบียบชุดนักเรียนให้นักเรียนเลือกสวมใส่ตามที่ตนต้องการ 3. ให้กระทรวงฯ ตรวจสอบและยุติการใช้แบบเรียนที่มีอคติทางเพศ 4. กำชับให้ครูไม่เลือกปฏิบัติกับนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ

กิจกรรมจัดหลากหลายพื้นที่ทั้งหน้ากระทรวงฯ บริเวณลานสนามหญ้า และหน้าทางเข้าอาคาร ในไลฟ์จะไม่เห็นกิจกรรมทุกอัน แต่สามารถติดตามได้ผ่านภาพนิ่งจากสื่อต่างๆ กิจกรรมมีทั้งการแสดงละครที่่ตอบรับทั้ง 4 ข้อเรียกร้อง การเคลื่อนไหวประกอบเพลง This is Me ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเพลงชาติใหม่ของกลุ่มเพศหลากหลาย การจุดพลุหลากสี สาดสีรุ้งที่ตราสัญลักษณ์กระทรวง รวมไปถึงการคลุมธง Pride ที่พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 

ในฐานะนักกิจกรรมคนหนึ่งที่เฝ้าดู เข้าร่วม และร่วมขับเคลื่อนกับหลากหลายขบวนมาโดยตลอด นักเรียนเลวเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่ทำให้เรายิ้มปนทึ่งทุกครั้งที่จัดกิจกรรม บทสนทนาที่พูดอย่างใจปรารถนา เสียงที่แผดจนสุดพลัง วิธีการกดดันคนที่เรามักเรียกว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอย่างแสบสัน หรือแม้แต่ความไม่พอดิบพอดีการของการนำเสนอในบางที ล้วนมาจากความกล้าอันบริสุทธิ์ เพราะผู้ใหญ่อย่างเรามักจะคิดล่วงหน้ากันไปก่อน แล้วเรียกมันว่า ‘plan B’ หรือบางทีก็มาในนาม ‘การประเมินความเสี่ยง’ ม็อบนักเรียนเลวไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ความตรงไปตรงมาที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราโกรธ เราก็บอกว่าเราโกรธได้ไหม เราไม่พอใจ เราก็บอกว่าเราไม่พอใจ ง่ายๆ แบบนั้นเลยได้หรือไม่

“ขอโทษที่พวกเราปล่อยให้มันมาถึงตรงนี้” เป็นคอมเมนต์ที่ปรากฎขึ้นในช่วงที่ไลฟ์อยู่ 

การเฉลิมฉลองในเดือน PRIDE เกิดมาได้เพราะคนหาญกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางมาตรการรับมือกับโควิด การใช้กฎหมายปิดประตูทุกช่องทาง การที่รัฐเพิกเฉยข้อเรียกร้องของประชาชนไปเรื่อยๆ ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ามันบั่นทอนกำลังกายและใจ การปรากฎขึ้นของม็อบออนไลน์ #กูจะเป็นเพศอะไรก็เรื่องของกู ทำให้เราหายใจออกอีกครั้ง เราคงไม่สามารถพูดได้ว่ามันเหมือนยกภูเขาออกจากอก เพราะมันไม่ใช่ แต่มันตอกย้ำว่าเขาไม่ได้กำลังต่อสู้กับเรา ศัตรูของเขาคือกาลเวลา


แก้วตา เกษบึงกาฬ : คนดูหนัง​ / ชมรมวิจารณ์​ศิลปะ​การแสดง​

หัวใจทรนง: The Adventure of Iron Pussy (2003, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ร่วมกับไมเคิล เชาวนาศัย)

Hedwig and the Angry Inch (2001, John Cameron Mitchell)

สำหรับภาพยนตร์ที่พาไปสำรวจความสัมพันธ์ที่หลากหลายของผู้คนซึ่งติดอันดับท็อปในใจก็คือ ‘หัวใจทรนง: The Adventure of Iron Pussy’ และ ‘Hedwig and the Angry Inch’ ภาพยนตร์ 2 สัญชาติ ต่างบริบท แต่ก็มีจุดเชื่อมโยงกันหลายอย่าง ทั้งการเป็นภาพยนตร์เพลง และการมีตัวละครนำแสนแซ่บผู้กำลังค้นหาความรักที่แท้จริง

‘หัวใจทรนง’ พาเราตามติดภารกิจระดับชาติของสายลับสาว ‘พุซซี่’ ที่แฝงตัวไปเป็นสาวใช้ในคฤหาสน์ของเศรษฐินี และไปตกหลุมรักกับลูกชายเจ้าของบ้าน จนต้องเลือกระหว่างหน้าที่กับความรัก ซึ่งพล็อตเรื่องแนวนี้อาจดูธรรมดา แต่ผู้กำกับซึ่งควบตำแหน่งเขียนบทด้วยทั้งคู่ก็ทำออกมาได้อย่างจัดจ้านผ่านการเล่าเรื่องในสไตล์ภาพยนตร์ไทยย้อนยุค ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหน้าผม การพากย์เสียงทั้งเรื่อง การใช้ขนบภาพยนตร์เงียบเมื่อเล่าย้อนอดีต การระเบิดภูเขาเข้าป่า เพลงช้าละมุนที่สื่อถึงความในใจของตัวละคร แต่ยังบันทึกและเสียดสีความเป็นไทยและสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนั้นได้อย่างแสบๆ คันๆ โดยคาแรกเตอร์ของ ‘พุซซี่’ นั้นมีความลื่นไหลทางเพศสูง จากที่เปิดตัวมาเป็นซูเปอร์ฮีโร่สาวนักบู๊คอยปราบเหล่าร้าย ก็กลายร่างมาเป็นชายที่ทำงานในร้านสะดวกซื้อเพื่อหาเลี้ยงชีพ ก่อนจะปลอมตัวมาเป็นสาวรับใช้ผู้เรียบร้อย และได้เรียนรู้ว่าที่จริงแล้วเธอเป็นผู้หญิง! ซึ่งน่าสนใจว่าผู้คนรอบตัวก็ปฏิบัติกับเธอในฐานะผู้หญิง(ที่สวยมากๆ) และสุดท้ายเธอก็ได้พบกับรักแท้ที่เข้าใจและยอมรับเธออย่างแท้จริง

ในขณะที่เส้นทางความรักของ ‘พุซซี่’ ดูจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่สำหรับ ‘เฮดวิก’ ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Hedwig and the Angry Inch’ ซึ่งสร้างมาจากละครมิวสิคัล ก็ดูจะใช้ชีวิตมาอย่างสะบักสะบอมตั้งแต่เกิดจากการต้องอยู่ตรงกลางระหว่างการแบ่งแยกเยอรมนีตะวันออกและตะวันตก ความเป็นหญิงและชาย แม้ว่าจะได้ย้ายมาอยู่ในดินแดนที่เชื่อกันว่าเสรีอย่างอเมริกา แต่เฮดวิกก็ยังรู้สึกว่างเปล่า โดยเฉพาะเมื่อคนรักไม่ยอมรับตัวตนที่แท้จริง ซึ่งตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นได้ว่าเฮดวิกพยายามไขว่คว้าหาความรักจากคนอื่นเพื่อมาเติมเต็มชีวิตตัวเอง จนไปทำร้ายคนอื่นและทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว แต่สุดท้ายเฮดวิกก็ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการยอมรับและรักตัวเองให้ได้ก่อน ไม่ว่าตัวตนเราจะเป็นอย่างไร ชอบแบบไหน เราก็สามารถรู้สึกดีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร โดย ‘Hedwig and the Angry Inch’ ยังนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับเพศได้อย่างน่าสนใจด้วยการให้นักแสดงมารับบทที่ตรงกับเพศวิถีของตัวละคร (นักแสดงหญิงมารับบทเป็นสามีของเฮดวิก) ซึ่งทำให้ผู้ชมได้เห็นตัวตนของเธออย่างแท้จริง


ษาณฑ์ อุตมโชติ : filmmaker, curator, founder of “un.thai.tled”, based in Berlin

The Sea Runs Thru My Veins (2018, Zara Zandieh, Germany, 20m)

ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Imagining Queer Bandung ณ Sinema Transtopia/bi’bak, กรุงเบอร์ลินที่ข้าพเจ้าได้คิวเรต) The Sea Runs Thru My Veins เป็นหนังสั้นทำมือของช่างกล้อง/ผู้กำกับภาพยนตร์เควียร์ เชื้อสายแอฟโฟร-อิหร่าน/เยอรมัน Zara Zandieh ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “Queer Diaspora Berlin” (ถ้าผมจะขอตั้งชื่อคลื่นลูกใหม่ของคนทำหนังในเบอร์ลิน/เยอรมัน) ที่เติบโตขึ้นท่ามกลางของการสนทนาเรื่องประวัติศาสตร์อาณานิคมเยอรมัน ลัทธิการเหยียดสีผิว เหยียดเพศวิถี/สภาพ และความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ทำให้ต่างได้พยายามมองหา “วิธี” แก้ปัญหาทางสังคมเหล่านี้ ผ่านภาษาหนังของตัวเอง ภาษาหนังพวกนี้มักก้าวพ้นไปจาก Identity Politics และการถกเถียงว่า ใครเป็นใคร ใครมาจากไหน ใครมองเห็นตัว (identify) ในเพศสภาพแบบไหน เป็นภาษาหนังที่พยายามเอาชนะภาวะทุนนิยามทางร่างกาย (Commercialization of bodies) และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการ “รวบรวม” (Include) มากกว่าการ “เลือก” (Exclude) 

หนังสั้นเรื่องนี้ได้ “ถักทอ” เรื่องราวของตัวละครสี่ตัว ซึ่งนอกจากมีพื้นหลังทางวัฒนธรรม การเมือง และเพศวิถีต่างกัน (จากละครทรานส์*อาหรับ เติบโตในเยอรมนี, ผู้อพยพชาวอิหร่าน, นักกิจกรรมชาวมาปูเช่ จากชิลี และเฟมินิสต์จากอิสราเอล) ยังมีแนวคิด ปรัชญา และนิยามของคำว่า “ความสุขนอกขนบ” (Queer Joy) ต่างกัน ผ่านฟอร์แมต Essay Film โดยอาศัย Found Footage (ทั้งจากพิพิธภัณฑ์ Home-Movie ฯลฯ) และ Produced Footage (ถ่ายทำเอง) ในหลากหลายฟอร์ม (ทั้ง 8 มิลลิเมตร) ที่เกิดจากเทคนิคการประติดประต่อระหว่างภาพและเสียง (Creative Association) ซึ่งเป็นเทคนิคที่พบได้บ่อยในคนทำหนังที่มีพื้นหลังการย้ายถิ่นฐาน (Diaspora Background)

นี่เป็นหนังสั้นไม่กี่เรื่อง ที่นอกจากจะสะท้อนสภาพกรุงเบอร์ลินในฐานะสังคมผู้อพยพ(Einwanderungsgesellschaft) ก็ยังละเว้นการเปิดเผยเพศวิถี/สภาพของตัวละครผ่านฉากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการเกี้ยวพาราสี และนำแสดงพวกเขาผ่านความสุข ความรู้ ความภูมิใจ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ – “ความสุขนอกขนบ” – มากกว่าเรื่องราวอันเจ็บปวด ที่ส่วนมากถูกนำเสนอในสื่อกระแสหลัก (อาทิ ความรักที่ไม่ถูกเติมเต็ม สังคมที่ไม่เคยยอมรับ) ตามชื่อของหนังสั้นเรื่องนี้ The Sea Runs Thru My Veins คือการถักทอองค์ความรู้ ประวัติศาสตร์ สภาพอันยิ่งใหญ่ดังมหาสมุทร ที่ยังวิ่งผ่านเลือด ร่างกายของตัวละคร “ผู้อพยพ” เหล่านี้ ตราบใดที่พวกเขายังยิ้มได้


Derek Jarman, Filmmaker, artist and stage designer at Prospect Cottage in Dungeness CREDIT Photographer Geraint Lewis

ปราโมทย์ แสงศร : ผู้กำกับหนังสั้น นักแสดง

The Garden (1990, Derek Jarman, UK/Germany/Japan)

งานของ Derek Jarman ส่วนใหญ่จะมีสีแดงแห่งเพลิงของการเผาไหม้แทรกเข้ามาอยู่ตลอดเวลาเหมือนเขาต้องการจะทำลายล้างสิ่งที่ฉุดรั้งเพื่อให้ความเป็นคนและเพศสภาพของเขาได้มีโอกาสเดินไปข้างหน้าแล้วสร้างสิ่งที่เคยถูกทอดทิ้งนั้นขึ้นมาใหม่ 

ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะถ่ายทำติดทะเลแต่ก็ยังมีสิ่งเหล่านั้นอยู่ใน The Garden 

Derek Jarman อยู่ในยุคของนาง Margaret Thatcher ซึ่งขวาจัด และในยุคนั้นยังไม่ยอมรับเพศสภาพที่แตกต่างจากคนทั่วไปมากนัก แต่ตัวเขาเริ่มที่จะแสดเสรีภาพทางสภาวะเพศสภาพมากขึ้น 

Derek Jarman ทำเรื่อง The Garden ในขณะที่เขาทราบแล้วว่า มีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างของตนเอง เขาถ่ายหนังเรื่องนี้ที่บ้านไม้หลังหนึ่งริมทะเล ด้วยฟิล์ม 8 มม. ซึ่งเป็นกล้องที่เขาชื่นชอบและบ้านหลังนี้ก็เคยเป็นของชาวประมงมาก่อน ก่อนที่ Derek จะเข้ามาซื้อไว้ บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ห่างจากโรงผลิตพลังงานนิวเคลียร์ไม่ไกลนัก 

เขาเริ่มสร้างสวนเล็กๆ และเริ่มลงต้นไม้ดอกนานาพันธุ์ โดยบริเวณรอบๆ บ้านของเขาใน The Garden นั้นเกือบจะดูว่าการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ใกล้ทะเลแบบนี้ไม่น่าจะขึ้นหรือเติบโตได้

เหมือน Derek จะสิ้นหวังในโลกของความจริงแต่ในโลกของตัวเขาเองก็ยังมีความหวัง และฝันที่จะทำลายขนบโลกเก่า และเข้าไปอยู่ในโลกใหม่แทน

แต่ไม่วายยังโดนเจ้าหน้าที่รัฐกลั่นแกล้ง 

ส่วนใหญ่หนังของ Derek ไม่สามารถแยกความเป็นส่วนตัว เพศสภาพ ราชาธิปไตย ศาสนา และ การเมืองออกจากกันได้ 

The Garden ก็เช่นกัน ถึงแม้จะเป็นหนังที่ค่อนข้างส่วนตัว แต่ก็สะท้อนประเด็นเหล่านั้นในสิ่งที่เขาคิด

ไม่รู้ว่าควรจะเรียกหนัง Derek ว่าเป็นแนวไหน 

ใน The Garden ตัว Derek เองก็ปรากฏตัวด้วยและภาพในฝันของ Derek เสมือน Tilda Swinton คือตัวตนของเขาอีกหนึ่งคนซ้อนทับเข้าไปในโลกภาพยนตร์  เขาได้ระบายตะโกน ปลดปล่อย สิ่งที่อยู่ในจิตใจของเขาผ่านจากตัวของ Tilda ออกมาสู่โลกความจริง

The Garden ทำให้ผมรู้สึกว่า ความเป็นปัจเจกก็อาจจะเป็นอีกสิ่งที่เราแบกไว้เพื่อสร้างความไม่เท่าเทียม แต่ถ้ามีใครคนหนึ่งสามารถเชื่อมต่อ เชื่อมโยง เข้าใจและรับรู้กับสิ่งที่เป็นส่วนตัวมากมากที่ได้สื่อสารออกมา ถึงแม้จะไม่ทั้งหมดแต่ความเป็นปัจเจกแห่งตัวตนเรานั้นจะซีดจางลงและเริ่มหายไปเพราะเพียงเราลำพังคงไม่พอเพียงที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่ถูกปลูกฝังพร้อมสั่งสอนมายาวนานและหยั่งรากลึก 

ความเป็นปัจเจกไม่มีอยู่จริง 

หลังจากพลังเพลิงแห่งการทำลายล้างได้มอดไหม้ลง พลังจากดอกไม้จะยังคงผลิบานได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง


ทินฉาย มงคลมนต์ ​: ผู้กำกับหนังสั้น

The Fish Child (2009, Lucía Puenzo, Argentina/France/Spain)

หนังของ Lucia Puenzo ผู้กำกับเดียวกับ XXY จากปี 2017 The Fish Child ดัดแปลงจากนิยายเรื่องแรกของตัวผู้กำกับเอง ว่าด้วยเรื่องของเด็กวัยรุ่นผู้หญิงจากครอบครัวมีฐานะที่เป็นคนขาวละตินอเมริกา หลงรักคนใช้สาวชาวปารากวัยในบ้านของเธอเอง ทั้งสองอยากจะหนีไปอยู่ด้วยกันที่ปารากวัย จึงได้วางแผนขโมยของมีค่าจากบ้านตัวเองไปขายเพื่อที่จะได้ไปสร้างชีวิตใหม่ด้วยกัน ทว่ามันกลับไม่เป็นตามแผน และนำไปสู่การเปิดแผลในอดีต

หนังเล่าแบบ non-linear และผสมผสานหลาย genres ปกคลุมด้วยบรรยากาศหลอกหลอนเศร้าสลดของอดีตอันขมขื่น​ สิ่งที่ตัวละครเผชิญอย่างเจ็บปวด ถูกทิ้งไว้เพียงตำนานและเรื่องเล่าของ The Fish Child ซึ่งเป็นความหนักหนาสาหัสเท่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะประสบได้

หนังไม่ได้พูดถึงการถูกยอมรับในเชิงสังคมหรือการต่อสู้ทางชนชนโดยตรง แต่พูดถึงการยอมรับตัวตนอันเปลือยเปล่า แบ่งปันความทุกข์ยาก ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรค และเยียวยาแผลแห่งความทรงจำ


พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู : นักวิชาการอิสระ โปรแกรมเมอร์หอภาพยนตร์

Forbidden Games: The Justin Fashanu Story (2017, Jon Carey/Adam Darke, UK)

Pride Month ปีนี้ มาพร้อมกับฟุตบอลยูโร ซึ่งมีกระแสรณรงค์เรื่องความหลากหลายทางเพศในทัวร์นาเมนต์ให้เห็นบ้างประปราย ทำให้นึกถึง จัสติน ฟาชานู นักฟุตบอลอาชีพคนแรกที่เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ และฆ่าตัวตายเมื่อปี 1998 โดยส่วนตัวแล้ว เคยจดจำถึงกรณีการเสียชีวิตของเขาว่าเป็นเรื่องลึกลับ น่ากลัว เพราะเห็นข่าวตอนตัวเองยังเด็ก และเพิ่งเริ่มติดตามเรื่องฟุตบอลอย่างจริงจังได้ไม่นาน

จนเมื่อได้มาดูสารคดีนี้ทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อราว 3 ปีก่อน จึงทำให้เข้าใจเรื่องราวและปัญหาของฟาชานู เริ่มตั้งแต่ปมในใจอย่างแรกจากการเป็นเด็กผิวดำที่ถูกคนผิวขาวรับมาอุปการะจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า พร้อมกับ จอห์น น้องชาย แม้จะได้รับความรักจากพ่อแม่บุญธรรมอย่างเต็มที่ แต่ในทางหนึ่ง เขาก็รู้สึกแปลกแยกจากสังคม และโหยหาพ่อแม่ที่แท้จริง ต่อมาเมื่อได้กลายเป็นนักฟุตบอลดาวรุ่งระดับท็อปของประเทศ ฟาชานูก็ยิ่งถูกกดดันจากการเป็นนักเตะผิวดำค่าตัว 1 ล้านปอนด์คนแรกในประวัติศาสตร์ จนทำให้ฟอร์มตก ก่อนจะยิ่งแย่ลงเมื่อถูกจับได้ว่าแอบไปเที่ยวบาร์เกย์ 

แม้จะปฏิเสธข่าวเรื่องการเป็นเกย์ แต่ข่าวลือก็ทำให้ฟาชานูถูกกีดกันจากสังคมฟุตบอลโดยปริยาย เขาตกลงจากจุดสูงสุดและตระเวนย้ายทีมไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายจึงยอมรับกับสื่อในปี 1990 ว่ากันว่า เขาต้องการขายข่าวเพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ตนเอง แม้ จอห์น ฟาชานู น้องชายที่โตมาด้วยกัน และเป็นนักเตะชื่อดังเหมือนกัน จะพยายามจ่ายเงินเพื่อให้เขาไม่เปิดเผยตัวเรื่องการเป็นเกย์ เพราะกลัวจะต้องกระทบตัวเองก็ตาม 

การประกาศตัวยิ่งทำให้ชีวิตฟาชานูถูกสื่อละเลงจากการพัวพันกับข่าวฉาวต่างๆ และที่สุดคือการถูกตั้งข้อหาข่มขืนเด็กอายุ 17 ปี ที่อเมริกา ด้วยความกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมจากการเป็นทั้งคนผิวดำและเป็นเกย์ ฟาชานูจึงหนีมาอังกฤษ ก่อนจะตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงที่ประเทศบ้านเกิด

ถ้าเป็นโลกในตอนนี้ การที่นักกีฬาคนหนึ่งออกมาประกาศตัวว่าเป็นเกย์ นั้นถือเป็นชัยชนะที่น่ายกย่องและกล้าหาญ แต่ในกรณีของฟาชานูมันกลับเกิดจากการถูกสังคมบีบให้จนตรอก และเมื่อประกาศตัวแล้ว ชีวิตของเขากลับยิ่งประสบต่อความพ่ายแพ้ แม้จะไม่ใช่สารคดีที่ดีเลิศ แต่ในแง่หนึ่ง Forbidden Games ก็ถือเป็นบทบันทึกอุทาหรณ์ของยุคที่การเหยียดผิวและเหยียดเพศยังไม่ได้กลายเป็นเรื่องต้องห้าม โดยเฉพาะในสังคมฟุตบอล ที่แม้แต่ทุกวันนี้ ก็ยังมีนักฟุตบอลจำนวนน้อยมากที่กล้าประกาศตัวอย่างฟาชานู ในขณะเดียวกัน หนังยังทำให้เราได้มองเห็นถึงความเป็นมนุษย์ในตัวตนอันซับซ้อนของคนคนหนึ่ง มากกว่าแค่การถูกประทับตราว่าเป็นนักฟุตบอลอาชีพคนแรกที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นเกย์และตัดสินใจฆ่าตัวตาย


ธนพนธ์ อัคควทัญญู : cinephile กองบรรณาธิการ Film Club

Muscle (1989, Hisayasu Satô, Japan)

ชายหนุ่มบก. ประจำนิตยสาร Muscle หลงเข้าไปในโรงละครใต้ดินแห่งหนึ่ง เขาพบชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่าเล่นอยู่บนเวที อวดมัดกล้ามและเริงระบำอยู่กลางแสงไฟ ทั้งคู่สบตากัน พบกันและร่วมเพศกัน ไม่นานความสัมพันธ์ของทั้งสองกลายเป็นแบบ BDSM ที่รุนแรงขึ้นทุกครั้งที่ขึ้นเตียงบก. หนุ่มหวาดผวาและตัดแขนของคนรักทิ้ง

หนึ่งปีถัดมาชายหนุ่มออกจากคุก พร่ำบ่นใคร่ครวญอยากดู Salò ของ Pasolini ที่ถูกแบน ดองแขนของอดีตคนรักไว้ในห้องเพื่อสร้างจินตนภาพยามเขาสำเร็จความใคร่ ไม่นานเมื่อเขาไม่สามารถเสร็จสมอารมณ์หมายได้อย่างที่ใจคิด บก. หนุ่มตัดสินใจออกตามหาเจ้าของแขนในขวดโหลที่หายตัวไปเพื่อทำให้ฝันร้ายของเขาครั้งนี้เป็นจริง

ท่ามกลางผลงานหนังพิงค์ฟิล์มกว่า 60 เรื่องของ Hisayasu Satô มีอยู่สามเรื่องที่เล่าความสัมพันธ์ชาย-ชาย คือ Bandage Ecstasy (ดัดแปลงจาก Metamorphosis ของ Kafka), The Fetish และ Muscle ทั้งสามเรื่องหมกมุ่นอยู่กับการสำรวจความสัมพันธ์แปลกประหลาดจากบรรทัดฐานสังคมของกลุ่มตัวละครเอก

Muscle เต็มไปด้วยฉากการร่วมเพศที่ยืดยาวที่บางครั้งสมจริงเหมือนสารคดี บางทีก็เหนือจริงจนคาดเดาอะไรไม่ค่อยได้ และบางครั้งกล้องก็ใกล้ชิดกับตัวละคร เหมือนเรากำลังถ้ำมองชีวิตส่วนตัวของคนสองคนที่เราไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว หนังตั้งคำถามถึงเส้นแบ่งระหว่างความสุขและความเจ็บปวดผ่านฉากการร่วมเพศเหล่านี้ที่เป็นเหมือนการเดินทางของตัวละครเอกสู่การยอมรับความต้องการในใจของตน หนังไม่ได้ตัดสินใครว่าถูกหรือผิด เป็นแค่เรื่องของชีวิตคนสองคนที่มีความปรารถนาที่แตกต่างออกไป และเลือกที่จะอยู่กับมันด้วยกันให้ได้

นี่แหละความรัก

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 28 มิ.ย. 64

รายได้หนังเฉพาะที่เชียงใหม่ หลังกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปิดร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นวันแรก (28 มิ.ย. 64)

1. A Quiet Place Part II – 0.03 (4.54) ล้านบาท
2. Those Who Wish Me Dead – 0.01 (0.24) ล้านบาท
3. The Lord of the Rings: The Fellowship of the Rings – 0.003 (0.16) ล้านบาท
4. The Rescue – 690 บาท (0.17) ล้านบาท
5. Seobok – 636 บาท (4.09) ล้านบาท
6. The Conjuring 2 – 440 บาท (0.20) ล้านบาท
7. Nobody – 230 บาท (3.66) ล้านบาท

Ghost Lab สุญญตากับต้มข่าไก่

กว่าคนเขียนจะหลุดพ้นจากความร่ำไร ผู้อ่านที่สิงสถิตอยู่ในโลกออนไลน์ (เช่นเดียวกับตัวหนัง) ก็คงได้เห็นทะลุแล้วซึ่งความแพรวพราวสุดแสนของสรรพสิ่งที่หนังซุกซ่อนไว้ ตั้งแต่รอยเปื้อนรูป Batman กับหว่างขา Buzz Lightyear ที่ตั้งใจสะท้อนไดนามิคแบบ cinematic duo ของหมอกล้าหมอวี เงายอดไม้ที่เปลี่ยนตู้กดสินค้าเป็นต้นไม้ต้องห้ามตามพระคัมภีร์ ตัวละครเจ้าของเสื้อยืดนาซ่าในวัยเยาว์บนทางเดินวูบไหวคล้ายกำลังมุ่งหน้าสู่ยานอวกาศ ภาพถ่ายสองยอดนักจิตวิเคราะห์ที่เคยเป็นมิตรก่อนตีกันยับ ไปจนถึงการให้ตัวละครถนัดขวายื่นมือซ้ายหาเพื่อนตอนเริ่มภารกิจเพื่อ “แทนความหมายของการเริ่มต้นที่ผิดธรรมชาติของมนุษย์ คือการร่วมมือกันฝืนธรรมชาติ โดยทำการทดลองเรื่องผี”

ไม่แน่ใจว่าพอเฉลยหมดเปลือกแล้วคนปลาบปลื้มในความลึกล้ำหรือนั่งขำในความพยายามกันแน่ แต่เท่าที่ผมเห็นคงเป็นอย่างหลัง โดยเฉพาะสำหรับผู้ชมกลุ่มที่ชีวิตเคยได้พัวพันเรียนรู้กระบวนการของการทดลอง เขียนเปเปอร์วิชาการ หรือทำวิจัย ที่แซะหนังในประเด็นความไม่สมจริงของสนามวิชาการในเรื่องอย่างสามัคคี

ตอนอ่านผมก็นั่งขำเหมือนที่คนเขียนหลายๆ คนดูแล้วขำ (ให้คะแนนพิเศษเรื่องตัวละครไม่ยอมทบทวนวรรณกรรม) แต่ความสมจริงข้อนี้ยังถือเป็นกำแพงใหญ่สำหรับหนังหรือซีรี่ส์ไทยกระแสหลักตอนนี้ -App War (2018) ต้องเฉือนประเด็นสตาร์ทอัพให้เส้นเรื่องรัก Mother Gamer (2020) ขยายเรื่องแม่ลูกจนแทบกลบเรื่องอีสปอร์ต และความเนิร์ดวิชาการแสดงใน I Promised You the Moon (2021) ยังถูกรุมฟาดว่าแปลรักฉันให้ใครดู- แต่ว่ากันตามตรง ความล้มเหลวของ Ghost Lab ปรากฏชัดและเกิดขึ้นก่อนที่เราจะได้คุยกันมาถึงหัวข้อนี้เสียอีก

ถ้าหนังตั้งใจเริ่มฉีกกฎทดลองผีด้วยมือซ้ายเพื่อแทนค่าการเริ่มต้นที่ผิดธรรมชาติ ก็ต้องนับว่าสื่อความได้สำเร็จดีทีเดียว ไม่ใช่เพราะเห็นกระจ่างว่าตัวละครฝืนวิทยาศาสตร์หรือสัจธรรมอะไร แต่หนังทั้งเรื่องนี่แหละเริ่มต้นอย่างผิดธรรมชาติ และฉากมือซ้ายที่จบด้วยชื่อเรื่องคือกระดุมเม็ดแรกที่กลัดผิดแล้วไม่ยอมแก้

ตอนนายแพทย์ชีวีตอบนายแพทย์อาจองว่า “กูเอาด้วย” ผมก็แวบสงสัยขึ้นมาทันทีว่าใครเอาด้วยกับมึง เพราะนอกจากมหกรรม vlog ล่าท้าผีอาจองแชนเนลกับผีไฟไหม้ที่ปรากฏตัวกลางห้องโถงโรงพยาบาล ทุกอย่างก็รวบรัดตัดความเข้าเรื่องโดยละทิ้งคำอธิบายในรายละเอียด (ไม่ว่าจะด้วยน้ำเสียงสมจริง เหนือจริงเป็นการ์ตูน หรือเยาะหยัน) เหมือนหวังให้คนดูคิดช่วยเติมช่องเอาเองตามคลิเช่ที่คุ้นชิน ทำนองว่ายังไงไอ้พวกนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องสปาร์คลุ่มหลงกับการทดลองวิจัยอะไรสักอย่างขึ้นมาเอง เพื่อให้เรื่องเดินต่อได้

ผมให้เครดิตการเขียนตัวละครหมอกล้าหมอวีให้ไม่กลัวผีตั้งแต่ต้นจนจบ (ทั้งผีไฟไหม้ ผีวีลแชร์ ผีร่วมทดลอง) เพราะช่วยผลักหนังออกจากคลิเช่เก่าเชยแบบหนังผีที่สุดท้ายพวกลองดีสายวิทย์หรือสายลบหลู่ต้องกลัวสิ่งเหนือธรรมชาติเสมอ และพอจะช่วยยืนพื้นให้ความลุ่มหลงเรื่องพิสูจน์ผีที่เลยเถิดเตลิดเปิดเปิงไปเรื่อยๆ ได้บ้าง แต่เมื่อหนังเลือกวิ่งตะลุยแบบจะเอาแต่เส้นเรื่องอย่างเดียว ทิ้งคำอธิบายที่จะช่วยเสริมรายละเอียด แล้วบอกคนดูแบบแตะแค่ผิวๆ ว่าเจ้ากล้าเชื่อมาตลอดเลยนะเพราะผีพ่อ ส่วนเจ้าวีก็ยึดมั่นวิทยาศาสตร์จนไม่เชื่อผีแล้วค่อยถูกหักล้างเมื่อเห็นเองกับตา หนังจึงล้มเหลวด้านความน่าเชื่อถืออย่างสิ้นเชิง

แทนที่จะได้ลุ้นตามว่าตัวละครจะล้ำเส้นธรรมชาติมนุษย์ไปถึงขั้นไหน กลายเป็นต้องมานั่งขำจนทอดถอนใจว่ามันอินเอาเป็นเอาตายอะไรขนาดนั้น ยิ่งขำก็ยิ่งมีแต่คำถามที่ทำให้ความหนักแน่นของหนังล้มละลาย เพราะยิ่งเล่าไปเรื่อยๆ การทดลองที่ดูแสนยิ่งใหญ่ท้าทายสะเทือนโลก (ถึงขั้นใช้ชื่อไททันที่ท้าทายขโมยไฟจากเทพเจ้าให้มนุษย์อย่าง Prometheus เป็นนามสกุลภาษาอังกฤษของวี) เอาเข้าจริงแล้วกลับทำงานแค่ระดับเดียวกับรายการผีท้าพิสูจน์

ลองคิดช่วยจากสิ่งที่หนังโปรยทิ้งไว้มากมายแต่สุดท้ายไม่ได้เน้นย้ำให้สำคัญ (อาจเคยอยู่ในบทแล้วถูกเฉือนทิ้งจนสิ้นความหมายไประหว่างทาง) นอกจากได้เห็นผีซึ่งหน้าด้วยตาเนื้อแล้ว อีกจุดเชื่อมโยงอาจคือการที่วีใช้ความ “วิทย์” เปิดช่องให้กล้า (ซึ่ง “ไสย” กว่า) มองเห็นตรรกะ สมมติฐาน และออกแบบการทดลองเหนือธรรมชาตินี้ได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น (วีถึงรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของการทดลองมากกว่าแค่ช่วยเพื่อนสนิท) ก่อนที่ตรรกะวิทย์จะค่อยๆ บิดเบี้ยวกลายเป็นเรื่องส่วนตัวหลังเสียแม่ ซึ่งอธิบายต่อได้เช่นกันว่าภาวะซึมเศร้าหลังการสูญเสียมีอิทธิพลกับความลุ่มหลงในการพิสูจน์ผีเพื่อที่จะได้เจอผีแม่อีกครั้ง – ห้วงจังหวะสั้นๆ ที่น่าสนใจมากคือตอนที่วีพยายามยืนยันกับคนรอบตัวว่าเขาปกติด้วยผลสแกนสมองกับตรวจปัสสาวะ ซึ่งถ้าหนังไม่ใส่มาแค่ผ่านๆ แล้วโยนทิ้ง ก็คงใช้อธิบายได้แหลมคมว่าตัวละครกำลังบิดเบือนวิทยาศาสตร์เพื่อรับใช้เป้าหมายส่วนตัว หรืออาจถึงขั้นใช้วิทยาศาสตร์เพื่อหลอกตัวเอง

ปัญหาคือหนังไม่ได้ลดทอนคำอธิบายเหล่านี้ (ถ้าเคยมีอยู่จริงแต่แรก) เพื่อเปิดทางให้ปริศนากับความคลุมเครือซับซ้อนของมนุษย์ หรือทิ้งเชื้อให้คิดต่อจากมุมกลับของวิทยาศาสตร์ที่หนังทำทีว่าถือหางอยู่พร้อมตัวละครตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่เพื่อสยบยอมให้ชุดคำสำเร็จรูปที่แทบไม่ต้องย่อยคิดใคร่ครวญ ตระกูลหนัง (genre) มักเขียนให้วิทยาศาสตร์สติเฟื่องเลยเถิดกัดกินทำลายตัวเอง ก็เล่าไปโดยไม่ลงลึกว่ากัดกินอย่างไร ความเชื่อแบบไทยๆ ที่ผูกโยงกับวิธีคิดแบบพุทธมองโลกหลังความตายอย่างไร ก็โกยทั้งก้อนมาโยนใส่ไว้ในหนัง เพื่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับผีที่สุดท้ายไม่นำไปสู่อะไร นอกจากทำซ้ำเรื่องหลุดพ้นที่เคยฟังเทศน์กันมา (ถึงขนาดให้ความว่างเปล่าไม่มีตัวตน “สุญญตา”  เป็นนามสกุลของกล้า)

Ghost Lab โยนทฤษฎีเกี่ยวกับผีแบบวิทย์ๆ ที่ไม่ใช่แนวตรวจวัดความร้อนจับคลื่นพลังงานใส่หนังไว้ตั้งมากมาย (ฟังขึ้นหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่อง) แต่ดันไม่ยอมเล่าโลกหลังความตายของตัวเองให้เห็นภาพ นอกจากแวบสั้นๆ ที่พูดเรื่องโลกสีขาวไร้ภาพกับพลังงานผีที่ยึดโยงวิญญาณกับคนที่ยังมีห่วง (ยอมนับข้อความที่พิมพ์ได้แค่เป็นคำด้วยก็ได้) แล้วคาดหวังให้คนดูเชื่อเอาตามคติแบบไทยๆ ว่าสุดท้ายแล้วมันก็แค่เรื่องมีห่วง มีแค้น มีครอบครัว มีคนรัก มีสุคติ มีที่ชอบที่ชอบ

ความเกรี้ยวกราดของผี (ที่คนดูมากมายตั้งคำถามว่าเป็นอะไรของมึง) กลายเป็นแค่เครื่องมือในเชิงบทภาพยนตร์ ทั้งที่โครงเรื่องเปิดโอกาสให้หนังได้จินตนาการหรือนำเสนอทฤษฎี (ไม่ว่าจะด้วยตรรกะอย่างมนุษย์หรือวิญญาณสมมติ) ว่าโลกหลังความตายในจักรวาลนี้ทำงานอย่างไร เหตุผลของที่นี่สั่นคลอนความมุ่งมั่นของคนที่ยอมตายถวายชีวิตให้วิทยาศาสตร์อย่างไร ตัวตนของเขาสลายกลายเป็นความไม่มีในโลกสีขาวนั้นแบบใด หรือกระทั่งว่าคนที่ไม่เคยกลัวตายพอเจอความตายจริงๆ แล้ววิญญาณเขาคิดอะไรหรือถูกหักล้างความเชื่อแบบใด

สรุปแบบรวบรัดก็คือ Ghost Lab แค่ขยับตัวเองจากคู่ตรงข้าม วิทยาศาสตร์-ไสยศาสตร์ ไปสู่สิ่งที่ใหม่ขึ้นนิดหน่อยคือ วิทยาศาสตร์-ศาสนา (ในนามของสัจธรรมหรือ “ธรรมชาติของมนุษย์”) ซึ่งสะท้อนผ่านการจัดวางเพศของตัวละครเป็นคู่ตรงข้ามชายหญิงอย่างชัดเจน สอดคล้องกับโครงสร้างที่ปรากฏในหนังที่เล่าเรื่องพุทธศาสนาหลายเรื่อง อาจกล่าวได้ว่าหมอกล้าหมอวีคล้ายพระสงฆ์ที่พยายามเคี่ยวเข็ญบรรลุธรรมที่กำลังเผชิญสิ่งเร้ายั่วยวน เพียงแต่อยู่ในสถานะตัวแทนของวิทยาศาสตร์กับความมุ่งมั่นแบบเพศชาย ในขณะที่เพศหญิงเป็นตัวแทนของความรู้สึก ห่วงยึด และบ้านของใจในเชิงศาสนา (บทพูดเกือบทั้งหมดของแม่กล้าคือเรื่องการหลุดพ้นและสุคติ)

หากหนังละเอียดรอบคอบกว่าที่เป็นอยู่ ก็คงใช้ความลุ่มหลงในเป้าหมายของสองหมอเป็นเครื่องมือวิพากษ์ความเป็นชายอันล้นเกินได้น่าสนใจไม่น้อย เพราะระหว่างทางมีตัวละครหญิงได้รับแรงสั่นสะเทือนจากการทดลองนี้อยู่ตลอด และพวกเขาแสดงออกชัดว่าพร้อมจะหลอกลวง ฉวยใช้ประโยชน์ หรือละทิ้งเมินเฉยพวกเธอในขณะที่ตัวเองกำลังไขว่คว้าหาความสำเร็จ ก่อนที่ความตายจะดึงทั้งกล้ากับวีให้กลับมาพิจารณาตำแหน่งแห่งที่ของครอบครัวกับคนรักอีกครั้ง แล้วได้บทเรียนจากความลุ่มหลงที่ข้ามเส้นจริยธรรมของตัวเองในที่สุด (ฉากที่วีได้พบครอบครัวของกล้าอาจยิ่งน่าสนใจ ถ้าเราได้เห็นว่าเขากระอักกระอ่วนหรือคิดอย่างไรกับคำพูด “สายบุญ” ของแม่ ที่อาจส่งผลขัดขวางการทดลองจนล้มเหลว)

น่าเสียดายที่หนังไม่ได้มองจุดนี้อย่างซีเรียส เพราะในขณะที่ผลักความลุ่มหลงของตัวละครให้เลยเถิดไปถึงขั้นก่อความรุนแรงทางเพศ (ตั้งแต่ระดับคิดเฉยๆ อย่างผู้ป่วยมะเร็งวัยรุ่นหญิงในวอร์ด กับที่เริ่มลงมือทำจริงในเชิงข่มขู่เพื่อท้าทายผีตอนท้ายเรื่อง) ตัวละครที่หนังสื่อความในทำนองว่าท้ายที่สุดแล้วก็ได้รับบทเรียนหลังเหตุการณ์ทั้งหมด กลับไม่ได้เรียนรู้หรือตระหนักถึงความรุนแรงเหล่านี้ – จริงอยู่ที่เขาเอ่ยปากขอโทษ แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ยกโทษให้ง่ายดาย เสมือนว่าเรื่องหนักใจที่สุดในชีวิตคือการที่เธอไม่รู้พาสเวิร์ดคอมพิวเตอร์ของคนรัก

หนังที่วางตัวว่ากำลังเล่าเรื่องสุญญตา สุดท้ายก็กลายเป็นแค่ต้มข่าไก่กับบอกลาแฟน ด้วยประการฉะนี้


ดู Ghost Lab ได้ที่ Netflix

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 17-23 และ 24 มิ.ย. 64

รายได้สัปดาห์แรกของ A Quiet Place Part II จากการเข้าฉายในบางจังหวัดที่โรงหนังเปิดให้บริการ ถือว่าไม่แย่ โดยคว้าไป 3.41 ล้านบาท ส่วน The Rescue หนังอีกเรื่องที่เปิดชนกัน ทำเงินไป 0.12 ล้านบาท


พฤหัสบดีที่ 24 มิ.ย. มีหนังเข้าฉายใหม่แค่เรื่องเดียว คือ Those Who Wish Me Dead ของ เทย์เลอร์ เชอริแดน และนำแสดงโดย แองเจลินา โจลี่ หนังทำรายได้ไป 0.50 ล้านบาท

(*นับรายได้เฉพาะ ปทุมธานี, สมุทรปราการ และเชียงใหม่)

Ride or Die : คนนอกคอกของสถาบันครอบครัว

ในท่ามกลางกระแสหนัง LGBTQ+ ในช่วงนี้ หนังเรื่องหนึ่งที่น่าจับตาอย่างมากคือ Ride or Die ซึ่งดัดแปลงจากมังงะแบบ 3 เล่มจบ กับธีมความรักของหญิงสาวอันไร้ทิศทาง รุนแรง ทรงพลัง และทำให้คนตาย ด้วยฝีมือการแสดงระดับเทพของกิโกะ มิซุฮาระ นักแสดง นางแบบ แฟชันไอคอน และอินฟลูเอนเซอร์สาวชาวญี่ปุ่น และโฮนามิ ซาโตะ นักแสดงมากฝีมือ กำกับโดยริวอิจิ ฮิโรกิ ที่เคยฝากผลงานไว้กับเรื่อง Strobe Edge (2015)

Ride or Die เป็นเรื่องราวของเรย์ แพทย์หญิงที่ดูชีวิตจะเพียบพร้อมทุกอย่าง ติดแค่ที่เธอเป็นเลสเบี้ยนที่ทางบ้านไม่ยอมรับ วันหนึ่งเธอได้รับสายจากนานาเอะ เพื่อนที่เธอหลงรักในวัยมัธยมปลาย ขอให้ไปพบ เธอจึงได้รู้ว่านานาเอะถูกสามีทุบตีอย่างรุนแรง และนานาเอะก็ถามแบบทีเล่นทีจริงว่าเธอจะฆ่าเขาให้ได้หรือไม่ เรย์ลงมือฆ่าสามีของนานาเอะ และทั้งสองก็ขับรถหนีไปด้วยกันยังซอกมุมห่างไกลของญี่ปุ่น ทั้งเพื่อหนีความจริงว่าจะต้องถูกพบตัวในวันใดวันหนึ่ง และความจริงที่ว่าทั้งสองต่างไม่เคย “เป็นคนของ (belong)” ที่ไหนเลย การอยู่ด้วยกันสองคนในสถานการณ์ที่ทุกอย่างตึงเครียดขึ้นทุกขณะทำให้ทั้งสองได้เห็นธาตุแท้ของกันและกัน ได้ทั้งทะเลาะกัน ร่วมรักกัน ไว้ใจกัน และผละจากกัน

“ลายเซ็นของฮิโรกิคือการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิงผู้เจ็บช้ำ แปลกแยกกับคนรอบข้าง สังคม และโลกทั้งใบ ซึ่งธีมที่ว่ายังปรากฏใน Ride or Die (2021) ผลงานล่าสุดของเขา” – คันฉัตร รังสีกาญจน์ส่องhttps://adaymagazine.com/ride-or-die/

ด้วยสถานภาพของการเป็นเลสเบี้ยน เรย์ไม่เคยรู้สึกว่าเธอมีครอบครัวจริงๆ เพราะคนในครอบครัวไม่เคยมารู้สุขทุกข์ของเธอในแง่มุมที่ลึกซึ้ง พวกเขาไม่เคยรู้ว่าเธอรักใคร และไม่เคยอนุญาตให้เธอรักคนที่เธออยากจะรัก เรย์ถึงกับขอให้เพื่อนผู้ชายแกล้งเป็นแฟนของเธอ แม่ของเธอจึงบอกว่าดีใจที่เธอเลิกชอบเพศเดียวกันเสียที การปกปิดและซ่อนตัวเองจากครอบครัวของเรย์ส่งผลให้เธอมีระยะห่างทางความรู้สึก (emotional distance) กับคนรอบตัวที่เธอมีปฏิสัมพันธ์ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นพี่ชาย หรือแม้กระทั่งแฟนสาวที่เธอคบมานานหลายปี มีเพียงนานาเอะคนเดียวที่เธอมีความรู้สึกผูกพันทางอารมณ์มากเป็นพิเศษ ถึงขั้นยอมฆ่าคนเพื่อนานาเอะ อาจเป็นเพราะในขวบวัยที่เธอเริ่มตกหลุมรักนานาเอะนั้น กำแพงของเธอยังไม่ได้ประสานกันดีก็เป็นได้

รอยยิ้มเพียงครั้งเดียวของนานาเอะอาจทำลายชีวิตทั้งชีวิตของเรย์ไปเลยก็จริง และทำให้เรย์โหยหาที่จะอยู่เคียงข้างนานาเอะเสมอ แต่คนที่มีกำแพงไม่ใช่แค่เรย์คนเดียว นานาเอะเองก็มีชีวิตวัยเด็กที่เต็มไปด้วยมรสุม เมื่อแม่ทิ้งเธอไป และพ่อหันมาซ้อมเธอเหมือนกับว่าเธอเป็นตัวแทนของแม่ เธอมีฐานะยากจนจนถึงขั้นต้องขโมยรองเท้าวิ่งจากร้านขายของ ถ้าไม่ได้เรย์มาช่วยไว้เธอก็คงโดนจับ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ฝันของเธอที่จะได้ทุนเรียนต่อในโควต้านักกีฬาพังทลายลง นานาเอะคิดจะขายตัวให้กับผู้ชาย ส่วนเรย์พยายามจะรั้งเธอไว้ด้วยการขอซื้อตัวเธอด้วยเงิน แต่กลับถูกนานาเอะปฏิเสธด้วยประโยคอันเจ็บปวด “ฉันคงจะไปอยู่ในที่ที่เธอไม่ได้อยู่ล่ะมั้ง” และนั่นก็คือกำแพงของนานาเอะ ความรู้สึกที่เธอมีต่อเรย์ซับซ้อนเกินกว่าจะเรียกว่ารักหรือเกลียดแบบใดแบบหนึ่ง แต่ที่แน่ๆ เธอไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเท่าเทียมกับเรย์ และรู้สึกว่าตัวเองถูกสมเพชอยู่เสมอ นั่นเป็นความรู้สึกที่ทำให้เธออยากหนีไปจากเรย์ให้ไกล

ไม่มีใครรู้ได้ว่าทำไมนานาเอะถึงติดต่อเรย์กลับมาอีกหลังจากเธอถูกสามีซ้อม สิ่งหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ เธอตั้งใจที่จะไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว (นั่นทำให้ความหมายของการ “ไปในที่ที่เธอไม่ได้อยู่” เด่นชัดขึ้นหรือไม่?) และเธอก็อยากจะเจอเรย์เป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้นเอง สำหรับตัวเรย์ เห็นได้ชัดว่าเธอเจ็บปวดจากการถูกปฏิบัติราวกับตนเองเป็นสิ่งน่าขยะแขยง แต่เธอก็ยังคงรักนานาเอะ ความรู้สึกตอนเป็นวัยรุ่นย้อนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นความรู้สึกแบบไหนกันที่ทำให้คนเราฆ่าคนเพื่อคนที่เรารักได้?

สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดเกี่ยวกับเรย์ก็คือ เธอรู้สึกราวกับว่าเธอไม่มีครอบครัวเลย ฉากที่เธอเจอพี่ชาย และเขาบอกให้เธอไปมอบตัวเสีย ดูเป็นฉากที่เธอพูดความคิดและความรู้สึกของตัวเองน้อยมาก ราวกับครอบครัวในทางชีววิทยาลากเธอกลับลงไปยังร่องน้ำเดิมที่เธอหนีจากมา – ครอบครัวนี้บังคับให้เธอเป็นในสิ่งที่เธอไม่เคยเป็นเสมอ และเธอก็ชินกับการยอมทำตามครอบครัวแบบนี้ เป็นคำพูดของนานาเอะที่ทำให้เธอฉุกคิดได้ว่าเธอต้องการจะทำอะไร เพราะนานาเอะชี้ให้เห็นว่า เพียงแค่เธอได้พบกับครอบครัวของตัวเอง เธอก็กลายเป็นคนว่าง่าย ทั้งที่ผ่านมาเธอถึงกับลงมือฆ่าคนแล้วหนีมาเอง

คำพูดของพี่ชายเรย์สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของการจำกัดให้ผู้หญิง “เข้ารูปเข้ารอย” ผ่านสถาบันครอบครัวได้ดี เขาไล่ให้นานาเอะไปหาผู้ชายดีๆ แต่งงานด้วย แล้วมีลูกเสีย และหลังจากนั้นเธอจะได้พบกับความสุข เรย์บอกให้พี่ชายของเธอหุบปาก แต่นานาเอะรู้ถึงฝันร้ายนี้ดีกว่าใคร ดีเสียจนกระทั่งเธอรู้ว่าป่วยการที่จะโต้ตอบกับค่านิยมแบบนี้ เธอจึงทำได้เพียงก้มขอบคุณเขา ทั้งนานาเอะและเรย์ต่างนิ่งอึ้งไปกับความคิดเกี่ยวกับครัวของพี่ชายเรย์ แต่คนที่โต้ตอบความคิดนี้กลับกลายเป็นพี่สะใภ้ของเรย์ เธอบอกว่ามีสิ่งอื่นที่มีค่ายิ่งกว่าการมีชีวิต และหลายครั้ง ผู้หญิงสามารถทำสิ่งที่ไม่คาดฝันที่จะทำให้ชีวิตของเราจมดิ่งลงได้มากกว่าที่คิดเพื่อคนที่เรารัก ในแง่หนึ่ง นี่เป็นการสวนกลับคติชายเป็นใหญ่ที่ต้องการจะกดให้ผู้หญิงอยู่ในกรอบของการว่านอนสอนง่าย ต้องเป็นเมียและแม่ที่ดีเท่านั้น ซึ่งผู้หญิงเป็นอะไรที่มากกว่านั้นมาก ผู้หญิงอาจยอมเป็นฆาตกร และยอมทำลายชีวิตตนเองด้วยเป้าหมายที่เธอเห็นว่าสำคัญ ผู้หญิงไม่ได้เป็นแค่คนรับคำสั่ง แต่เธอมีอัตตาณัติที่จะบงการตัวเองและทำให้คนอื่นกลัวเกรงด้วยพายุของอารมณ์และความเสน่หาได้

ในแง่หนึ่ง นี่เป็นการสวนกลับคติชายเป็นใหญ่ที่ต้องการจะกดให้ผู้หญิงอยู่ในกรอบของการว่านอนสอนง่าย ต้องเป็นเมียและแม่ที่ดีเท่านั้น ซึ่งผู้หญิงเป็นอะไรที่มากกว่านั้นมาก

ทั้งเรย์และนานาเอะล้วนเป็นคนนอกของสถาบันครอบครัว เรย์เป็นเช่นนั้นเพราะเธอเป็นเลสเบี้ยนที่ทางบ้านไม่ยอมรับ ส่วนนานาเอะเห็นแล้วว่าสถาบันครอบครัวไม่ได้หมายถึงความสุข แต่อาจหมายถึงบาดแผล ความฝืนทน และความเจ็บปวด หรือเป็นคุกดีๆ นี่เอง ผู้หญิงทั้งสองที่แหกคอกออกมาได้มาพบกันในช่วงเวลาที่สังคมกีดกันพวกเธอไปอีกระดับจากสถานภาพฆาตกร นั่นทำให้พวกเธอได้เรียนรู้ที่จะวางมือไว้บนมือของอีกฝ่าย และเผยความรู้สึกที่ถูกเก็บไว้มานาน พวกเธอไม่ใช่ทั้งเพื่อน ทั้งคนรัก แต่อาจเป็นครอบครัวให้กันได้ในยามที่ทุกฝ่ายหันหลังให้พวกเธอ

หากจะกล่าวภาพรวมว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องอะไร อาจกล่าวได้ว่า มันเป็นเรื่องของการหนีจากครอบครัวเพื่อสร้างอีกครอบครัวขึ้นมาด้วยตนเอง จะว่าไป เราทุกคนก็อาจเคยพบเหตุการณ์เช่นนี้ คนที่เรานับเป็นครอบครัวอาจไม่ใช่เพียงแค่ครอบครัวทางชีววิทยาเพียงเท่านั้น แต่เป็นคนที่เรารู้สึกไว้ใจ วางใจ รู้สึกว่าเราสามารถเปิดเผยความลับกับใครคนนั้นได้ อันที่จริง มนุษย์ก็สร้างครอบครัวใหม่ของตนเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สิ่งที่ทั้งเรย์และนานาเอะเผชิญจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และการที่พวกเธอเป็นคนนอกของสถาบันครอบครัวตามขนบ กลับทำให้พวกเธอมีสิ่งที่ผูกพันกันไว้มากกว่าเรื่องความรักความใคร่ พูดอีกแง่ มันคือเรื่องราวของคนที่ชีวิตถูกทำลายสองคนที่โคจรมาพบกัน โดยรู้ซึ้งดีถึงความเจ็บปวดและบาดแผลที่รักษาไม่หายจากเหตุการณ์เหล่านั้นนั่นเอง


ดู Ride or Die ได้ที่ Netflix

FILM CLUB List : Queer Cinema (Part 4)

0

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง) | (รายชื่อรอบสาม)

ในโอกาส​ Pride Month นี้ Film Club ได้ชักชวนผู้คน ทั้งนักวิจารณ์ คนทำหนัง และคนดูหนังจำนวนหนึ่งมาร่วมกันเลือกภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศของผู้คน โดยแต่ละท่านมีอิสระในการเลือก ภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด ทั้งภาพยนตร์ หนังสั้น หนังทดลอง สารคดี ไปจนถึงมิวสิควิดีโอ โฆษณา หรือแม้แต่ คลิปไวรัล 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่สี่


สัณห์ชัย โชติรสเศรณี : รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

The Boys in the Band (2020, Joe Mantello, USA/Canada)

มันคือบทละครคลาสสิคเรื่องสำคัญของประวัติศาสตร์เกย์ในอเมริกา (และประเทศไทยด้วย) เราชอบที่จะติดตามการตีความบทละครเรื่องนี้ ผ่านกาลเวลา และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

The Boys in the Band เป็นบทละครเวทีของ Mart Crowley ซึ่งเขาเขียนบทละครเรื่องนี้ ตั้งแต่ในยุคก่อนที่การเรียกร้องสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ จะกลายเป็นกระแสในสังคม 

ละครเวที The Boys in the Band ซึ่งแสดงในปี 2511 (1968) จึงกลายเป็นจุดหมายของวงการละครเวที และประวัติศาสตร์ของเกย์ในอเมริกา ที่จะมีละครเวทีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์หลากหลายคน และนำแสดงโดยนักแสดงที่เป็นเกย์ (ในยุคที่ไม่มีหนังอเมริกันเกี่ยวกับเกย์ ถ้าในหนังจะมีตัวละครเกย์ ก็จะเป็นตัวละครที่ต้องแอบ เป็นความลับ เป็นตัวประหลาด ที่ไม่สามารถออกชื่อได้ หรือเป็นตัวสีสัน) ทำให้ความเป็นเกย์ถูกนำเสนอให้สังคมได้เห็น

ความสำเร็จของละครเวที Off-Boardway เรื่องนี้ ทำให้เกิดการสร้างเวอร์ชั่นหนังขึ้นมาฉายในปี 2513 (1970) ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ Stonewall และแนวคิดการเรียกร้องสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนพูดถึง เนื้อหาของหนังที่แทบจะก็อบทุกอย่างมาจากบทละครเวที จึงถูกวิจารณ์ว่าเนื้อหาหนังที่เกี่ยวกับเกย์ที่เกลียดตัวเอง มีปัญหากับการยอมรับตัวเอง จิตซึมเศร้า เหล่านี้ ล้าหลังตกยุคสมัยไปเสียแล้ว

เกือบ 20 ปีต่อมา ปี 2529 (1986) ดร.เสรี วงษ์มณฑา เกย์ชื่อดังในสังคมไทยตอนนั้น ก็แปลงบทละครนี้ เป็น ฉันผู้ชายนะยะ ซึ่งดร.เสรียังคงบทพูด ตัวละครทุกอย่าง และ ตัวเองก็รับบท Harold ใน ฉบับไทย คือ เต้ย ซึ่ง เป็นตัวละครที่มาพร้อมกับคำสั่งสอน แบบเดียวกับบทบาทของ ดร.เสรี ในสังคมไทย การพยายามสร้างบรรทัดฐานความประพฤติของเกย์ที่ควรจะเป็น 

ละครเวทีฉันผู้ชายนะยะ ประสบความสำเร็จอย่างสูง (ประกอบกับความสำเร็จของ เพลงสุดท้าย หนังที่พูดถึงโศกนาฎกรรมความรักของคนหลากหลายทางเพศ) จึงมีการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ในปีต่อมา โดยยังคงทุกอย่างรวมไปถึง cast หลักเกือบทั้งหมดไว้เหมือนเดิม 

ฉันผู้ชายนะยะ ถูกทำเป็นหนังอีกครั้งปลายยุค 2540s (1990s) ซึ่งเป็นยุคหนังเทเลมูฟวี่ (คือหนังออกแผ่นขายเลย ไม่เข้าโรง) และ ก็เป็นละครเวทีอีกครั้งในปี 2553 (2010) โดย ไม่เวลาจะกี่การดัดแปลง และมีการเปลี่ยนนักแสงไปมา แต่ดร.เสรี ก็ยังคงรับบทเป็น เต้ย ตัวละครที่มาพร้อมกับคำสั่งสอนเช่นเคย พร้อมทั้งความพยายามจะเอาประเด็นร่วมสมัยมาสั่งสอนด้วย (ละครเวทีมีภาค 2 ใส่ประเด็นเรื่อง HIV เข้าไปด้วย)

ฝั่งฮอลลีวู้ดเอง เมื่อปี 2561 (2018) Ryan Murphy โปรดิวเซอร์คนสำคัญของวงการบันเทิงอเมริกา ที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างสรรค์งงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ นำ The Boys in the Band บทละครมาขึ้นเวทีอีกครั้ง หลังจากครบรอบ 50 ปี บนเวที Boardway โดยมาพร้อมกับกลุ่มนักแสดงเกย์ที่มีชื่อเสียง ที่คุ้นหน้าคุ้นตา (ต่างจากนักแสดงชุดเดิม ที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง) อย่าง Matt Bomer (จาก White Collar), Jim Parson (The Big Bang Theory), Zachary Quinto (Star Trek) ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งรายได้และคำวิจารณ์ และนั่นก็ทำให้เกิดเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ใน Netflix ที่จะออกฉายในปี ที่แล้ว 2563 ซึ่งครบรอบ 50 ปี ของเวอร์ชั่นภาพยนตร์ พอดี มันแสดงสถานะของคนหลากหลายทางเพศที่มีที่ทางในวงการบันเทิงในอเมริกามากขึ้นอย่างมาก (ซึ่งใช้เวลา 50 ปี ในการพิสูจน์)

ความที่หนังจงใจยังคงเซ็ตทุกอย่างแบบเดียวกับ 2511 รวมทั้งนักแสดงที่จะต้องมารับบทบาท เหมือนกับเล่นเป็นตัวละครที่ต้นฉบับเคยเล่น สุดท้าย The Boys in the Band ฉบับ 2563 (2020) (และสารคดีสั้นๆ ที่ The Boys in the Band: Something Personal) ก็ทำหน้าที่เป็นบทบันทึกของชีวิตและความคิดของเกย์ ในช่วงก่อน Stonewall และการเชิดชูให้คนรุ่นหลังได้เห็นงานที่เคยสร้างปรากฏการณ์สังคมเมื่อ 50 ปีที่แล้ว รวมทำให้ชื่อ Mart Crowley ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ได้เป็นที่รู้จักอีกครั้ง


ธนพัฒน์ วงษ์วิสิทธิ์ : นักวิจารณ์ แอดมินเพจ Movies Can Talk 

Sarazanmai (2019, Kunihiko Ikuhara, Japan) (TV Anime 11 EP)

เสน่ห์ของงานผู้กำกับคุนิฮิโกะ อิคุฮาระ อยู่ที่หน้าฉากเป็นแอนิเมชั่นเด็กวัยรุ่นแอคชั่นวัยใส แต่เนื้อหามีการจิกกัดและแหกขนบรุนแรง หลายชิ้นแทบเป็นแรงบันดาลใจแด่คนทำหนังหรืออนิเมชั่นอีกต่างหากโดยเฉพาะ Sailor Moon และ Revolutionary Girl Utena งานของอิคุฮาระจึงไม่ใช่แค่สิ่งที่เสิร์ฟให้เด็กดูเพียวๆ แต่เราสามารถรับรู้นัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ จิตวิทยา และงานชูความแฟนตาซีแทนการเมืองเรื่องเพศถูกภายใต้รูปลักษณ์อนิเมชั่นตลาดอย่างดิบดี ฉะนั้นอย่าแปลกใจหากอนิเมชั่นของเฮียจะครองใจชาว LGBT ไม่มากก็น้อย

Sarazanma เป็นผลงานล่าสุดของ คุนิฮิโกะ โดยโครงเรื่องจะเล่าถึง เทพกัปปะทำสัญญากับเด็กหนุ่มม.ต้นชายขอบ 3 คน (แต่งหญิง ชอบผู้ชาย และก่ออาชญากรรม) เพื่อพิทักษ์โลกโดยแลกกับจานขอพรอะไรก็ได้เป็นการตอบแทน ฟังดูเหมือนพล็อต ”ชายหนุ่มแปลงเป็นฮีโร่” แต่เนื้อแท้มันคือการนำความเป็นศาสนาชินโตผ่านนิทานปีศาจพื้นบ้านเรื่องกัปปะเรื่องกัปปะ(และนาก) พาสำรวจสังคมญี่ปุ่นในเรื่องความชายขอบของเพศชายในโลกทุนนิยม

สังคมญี่ปุ่น ”รัฐผู้ชาย” ถูกผูกขาดด้วยความเป็น ”ลูกผู้ชาย” และ ”ความแมน” อยู่ในทุกสถานบันตั้งแต่ครอบครัว การศึกษา เศรษฐกิจ ยันการเมือง หากคุณทำหน้าที่ด้านเพศชายไม่สมบูรณ์จะถูกตัดสินในฐานะขายขอบทันที การปลอบโยนก็เป็นเรื่องยากเพราะโดยบรรทัดฐานสังคมญี่ปุ่นเป็นคนเก็บความรู้สึกไว้ข้างใน ประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นเซียนเรื่องการผลิตของทดแทนอารมณ์หรืออำนวยความสะดวกอยู่แล้ว การผูกติดจิตใจคนกับวัตถุจึงเป็นเรื่องง่ายเหมือนขนมหวานเพื่อระบายความกดทับทางสังคมอย่างรูปธรรม

เทพในเรื่อง(ผ่านเจ้าชายกัปปะและนาก)ทำหน้าที่เติมเต็มความแฟนตาซีและแรงปรารถนาเพื่อให้ตัวละครชายรู้สึกมีคุณค่า มีตัวตนในสังคมที่แข็งแรงเรื่องเพศชาย เราชอบฟังก์ชั่นของตัวละครเรื่องนี้มาก ฝั่งพระเอกไม่ได้มีอุดมการณ์ฮีโร่ปราบปีศาจ แต่ต่างทำหน้าที่เพื่อแย่งจานขอพร (ซึ่งไร้ความเป็นฮีโร่มาก) แถมปีศาจแต่ละตนที่ปราบเดิมเป็นอาชญากรขี้แพ้แต่โดนตัวร้ายฆ่าเพื่อเอาแรงปรารถนาในวัตถุมาปั้นเป็นปีศาจ และเมื่อตาย ตัวตนของอาชญากรเหล่านั้นจะถูกลบจากโลกนี้ไปราวกับพวกเขาไม่เคยเกิดบนโลกนี้ ขณะเดียวกันฝั่งนากตัวร้ายมีลักษณะเป็นฝั่งนายทุน ผ่านตัวละครนากในชุดนักวิทยาศาสตร์ มีโรงงานผลิตปีศาจแบบอุตสาหกรรมอยู่ชั้นใต้ดิน (ปีศาจทำหน้าที่ดั่งผลผลิตโดยมีลูกน้องนากเป็นตำรวจชายรักชายทำหน้าที่ฆาตกรรมอาชญากรจับคนมาทำปีศาจ)


ดาวุธ ศาสนพิทักษ์ : นักเขียนประจำ Film Club

The Gay and Wondrous Life of Caleb Gallo (2016, Brian Jordan Alvarez, USA) Series

ค่ำคืนเงียบงันเปลี่ยวเหงา วิดีโอในยูทูบเล่นต่อไปเรื่อยๆ ด้วยฟังก์ชั่นออโต้เพลย์ และด้วยการทำงานอันแสนมหัศจรรย์ของอัลกอริธึ่ม ผมได้มาพบกับเว็บซีรีส์ความยาว 5 ตอน (ตอนละไม่เกิน 20 นาที) เรื่องนี้ มองผ่านๆ มันดูเหมือนวิดีโอสเก็ตช์ตลกโปกฮาทั่วไป แต่ผมกลับค่อยๆ ถูกดึงดูดเข้าไปในความวายป่วงสุดฮาในเรื่องราวชีวิตในแอลเอของเหล่าผองเพื่อนผู้มีความหลากสีสันทางเพศกลุ่มนี้

ซีรีส์ติดตามเคเล็บ กัลโล (ไบรอัน จอร์แดน อัลวาเรซ ที่ไม่ใช่แค่นำแสดง แต่ยังกำกับ เขียนบท และตัดต่อเองด้วย) ที่สำรวจความซับซ้อนของความสัมพันธ์อันแสนยุ่งเหยิงซึ่งเกี่ยวพันทับซ้อนไปกับเพื่อนๆ (ที่ล้วนอยู่ในแวดวงการแสดง) ของเขาเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสเตรทที่เคเล็บแอบปิ๊ง เพื่อนสาวที่แอบชอบหนุ่มสเตรทของเขา กิ๊กทางไกลที่ได้แต่คุยกันผ่านเฟซไทม์ หนุ่มสเตรทอีกคนชื่อ ‘เล็น’ (ที่ไม่ได้ย่อมาจาก ‘เล็นนี’ แต่เป็น ‘เล็นจามิน’) ผู้ประกาศอยากลองเป็นไบ ไปเจอถึงเพื่อนชาวเจ็นเดอร์ฟลูอิดจริตปังผู้มุ่งหมายมาขโมยซีนทุกผู้ทุกนาง!

ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้เศร้าซึ้งชวนประทับใจ ไม่ได้ถึงกับคมคายด้วยประเด็นล้ำนำสมัย ไม่ได้กระทั่งต้องการเรียกร้องอะไรมากไปกว่าความเพลิดเพลินของคนดู การที่มันถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้มีความหลากหลายทางเพศเองก็ไม่ได้ทำให้มันสะท้อน ‘ชีวิตจริง’ ของการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มากไปกว่าหนังหรือซีรีส์เรื่องอื่นแต่อย่างใด (ผมรู้สึกว่ามัน ‘เหนือจริง’ พอๆ กับ ‘สมจริง’ เลยด้วยซ้ำ) แต่มันโดดเด่นด้วยการเล่าเรื่องและเล่นมุกอย่างถูกจังหวะ รวมไปถึงบทที่ลื่นไหลราวกับปล่อยให้นักแสดงด้นสดไปเรื่อย เหนือสิ่งอื่นใด ซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนเสน่ห์ มุกตลก และไหวพริบในการเล่าเรื่องแบบเควียร์ๆ ได้สนุกและน่าจดจำเสียจนอยากนำมาแบ่งปันให้ทุกคนได้ลองไปสัมผัสกัน


วิกานดา พรหมขุนทอง : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

Close-up (1990, Abbas Kiarostami, Iran)

ฉากท้ายๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ติดตรึงเรามาก เป็นฉากที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งและขั้วตรงข้ามทางเพศสภาพ สถานะทางสังคม ความจริง มายา สารคดีและเรื่องเล่า และนำไปสู่สิ่งที่อาจจะเรียกว่า queer intimacy หรือจะเฉพาะเจาะจงไปอีกคือ queer intimacy in the global south? ฉากที่เราพูดถึงคือฉากผู้ชายสองคนซ้อนมอเตอร์ไซต์ ที่ไม่ใช่การนั่งเกร็งจนห่างแต่เลือกที่จะเกาะเอวเพื่อให้นั่งถนัด แวะซื้อเบญจมาศสีชมพู ไปตามถนนในเมืองเตหะราน ประเทศอิหร่าน ในจอทั้งสองเป็นนักแสดงให้กับ Kiarostami แต่การแสดงและภาวะ close-up นี้ หนังบอกว่าเราว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง 

คนซ้อนท้ายคือ Sabzian ที่เพิ่งจะได้ออกจากศาลจากข้อหาพยายามปลอมเป็นผู้กำกับชื่อดัง Mohsen Makhmalbaf (คนขับ) เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ Sabzian ได้พบกับคุณป้าคนหนึ่งบนรถเมล์ที่ทักเรื่องหนังสือที่เขาอ่าน จนนำไปสู่บทสนทนาเกี่ยวกับภาพยนตร์และบทเรื่อง The Cyclist (1987) ที่เขาถืออยู่ การมีคนถามในสิ่งที่เขาชื่นชอบแต่ไม่มีใครสนใจและภาวะท่วมท้นต่างๆ ที่เรารู้ในศาลทำให้ Sabzian เออออว่าเขาคือผู้เขียนบท และผู้กำกับ — เมื่อคนรักหนังมาเจอกันคุณป้าก็เล่ายาวเรื่องครอบครัวของเธอ ลูกชายสองคนรักศิลปะแม้ว่าจะเรียนจบวิศวะ และยังไม่ได้งานที่ตรงสาย หนังพูดถึงเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองสำหรับชนชั้นล่างที่ก็ส่งผลกระทบไปสู่ครอบครัวที่ฐานะดีด้วย บรรยากาศเหล่านี้ทำให้เราไม่ได้มองว่าคดีของ Sabzian ประหลาดหรือไกลตัว (แม้ว่าคดีจะได้รับการติดตามโดยนักข่าวและตีพิมพ์ใหญ่โตว่าประหลาด จน Kiarostami สนใจพักสิ่งที่ทำอยู่มาตามถ่ายเหตุการณ์นี้) เราเห็น Sabzian ไปรับจ๊อบเรียงเอกสาร และรู้ว่าเขาไม่มีเงินเลี้ยงลูก ภรรยาทิ้งไป และเขาอยู่บ้านแม่ สิ่งที่ดูเหมือนจะช่วยให้เขาเข้าใจสถานภาพทางสังคม ตัวตน และจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ คือ โลกภาพยนตร์ ทั้งซื้อหนังสือมาอ่าน ทั้งไปดูหนัง จนเล่นบทผู้กำกับที่ชื่นชอบให้กับครอบครัวคุณป้าได้อย่างน่าเชื่อถือ นอกจากสุนทรียศาสตร์ในฉากสุดท้ายของหนัง queer intimacy ในที่นี้จึงอาจโยงไปถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างตัวละครทั้งหลายกับภาพยนตร์ด้วย

นอกเหนือจากความรู้สึกตั้งต้นของเราว่าหนังเรื่องนี้มี queer moment ที่ทรงพลัง สิ่งที่ยืนยันความคิดเราให้ลองเขียนออกมาคืองานของ Karl Schoonover และ Rosalind Galt ที่ชื่อว่า Queer Cinema in the World (2016) ในบท Speaking Otherwise. Allegory, Narrative, and Queer Public Space ผู้เขียนกล่าวถึง Taste of Cherry (1997) ว่าเป็น ‘a non- queer film’ ที่ใช้ ‘queer cinematic intimacy’ ผ่านรูปแบบการจัดวางองค์ประกอบ การถ่ายทำภาพยนตร์ที่สร้างกรอบการมองข้ามมิติชาติ การข้ามกรอบชาติพบได้ตั้งแต่บทสนทนานอกจอของนักวิจารณ์กลุ่มหนึ่งว่าการขับ taxi หาชายหนุ่มของตัวละครเอกเรื่องนี้มีความละม้ายการขับหาคู่ จนไปถึงการถกเถียงว่าแท้จริงคือการหาความเห็นอกเห็นใจของเพื่อนมนุษย์ ‘queer bond’ จึงอาจจะเป็นไปได้ทั้งความ specific ของคู่รัก และความห่วงใยในโลกแห่งการแบ่งแยก นอกจากหนังสือวิชาการ Veronica Esposito เขียนบทความลง The Guardian เมื่อปี 2019 ถึงการที่หนังเรื่อง Close-up ทำให้เขารู้สึกถึงภาวะ transgender ของตนเอง เธอกล่าวไว้ได้อย่างงดงามว่าหนังของ Kiarostami หลายเรื่อง เดินทางข้ามเส้นบางๆ ที่แยกคนงานกับผู้กำกับ คนรักกับคนแปลกหน้า ความจริงกับความปลอม หนังเหล่านี้แสดงให้เห็นแก่นแท้ที่แฝงอยู่ เผยให้เห็นตัวตนที่ปกปิดมากกว่าใบหน้าที่เปิดเผย ผู้กำกับบอกเราว่าหากสถานการณ์อำนวยเราจะเห็นตัวตนเหล่านี้ได้เบ่งบานอย่างที่ไม่พบมาก่อน 

(ภาพยนตร์ของ Kiarostami หลายเรื่องอยู่ใน Mubi ตอนนี้ และ Asian Film Archive จัด retrospective งาน 34 ชิ้น (thirty-four works—eighteen feature films, four short features and twelve short films) จากเดือนนี้ไปถึงส.ค. ส่วนหนังของ Makhmalbaf หาดูได้ในช่องทางธรรมชาติ ซึ่งก็อาจมองได้ว่าเป็น transnational queer space อย่างหนึ่งเหมือนกัน)


ชลิดา เอื้อบำรุงจิต : ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

Orlando (1992, Sally Potter)

เป็นหนังเบิกเนตรทั้งในเรื่องความเป็นไปได้อย่างไร้ขีดจำกัดในเรื่องเพศและความเป็นไปได้ในการทำหนัง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักเวอจิเนีย วูล์ฟและนักเขียนกลุ่มบลูมสเบอรี่ และที่สำคัญคือทำให้กลายเป็นติ่ง ทิลด้า สวินตัน 

ขอสปอยล์เรื่องย่อนิดนึง ทิลด้า สวินตันแสดงเป็นออร์แลนโด เป็นขุนนางหนุ่มในยุคเอลิซาเบธ ก่อนการสิ้นพระชนม์ของควีนเอลิซาเบธที่แสดงโดยเควนติน คริพส์ ควีนยกที่ดินผืนใหญ่พร้อมปราสาท พร้อมบอกกับออร์แลนโดว่า Do not fade. Do not wither. Do not grow old. ซึ่งไม่รู้ว่ามันเป็นพรหรือคำสาป เพราะออร์แลนโดก็มีชีวิตอยู่มาอีกหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบัน ในร่างของผู้ชาย ผู้หญิง ผู้ชายที่เหมือนผู้หญิง หรือผู้หญิงที่เหมือนผู้ชาย เพื่อท้าทายว่าอะไรคือความหมายของคำว่าเพศ

มหัศจรรย์อย่างหนึ่งของหนังซึ่งตอนดูแรกๆ ตกใจคือในบางฉาก จู่ๆ ทิลด้าจะหันมาคุยกับคนดู มันเหมือนเราไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ลูฟ ดูภาพเขียนอยู่เพลินๆ แล้วภาพเขียนก็ดันหันมาพูดกับเรา มันก็จะหลอนๆ หน่อยแบบนั้น

เมื่อก่อนเราก็รู้จักเควนติน คริส์พแบบผิวเผินว่าเป็นนักเขียนที่แต่งหญิงมานาน แต่ล่าสุดได้ไปฟังพอดแคสอันนึงที่มีบทสัมภาษณ์เขาในยุค 70 ฟังแล้วน้ำตารื้นว่าการที่คนเราแค่จะเป็นตัวของเองในสมัยหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง

หนังเรื่องนี้ออกมาในยุคที่ไม่มีใครอธิบายอะไรให้เราเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศมากนัก มหัศจรรย์ที่พอมาคิดตอนนี้ว่า เวอจิเนีย วูล์ฟเขียนเรื่อง Orlando: A Biography ในปี 1928 เขียนจากชีวิตของเพื่อนนักเขียน(หรือกิ๊ก) ของเวอร์จิเนีย วูลฟ ชื่อ วิต้า แซควิลล์-เวสท์ ส่วนแซลลี่ พอตเตอร์ก็ทำออกมาเป็นหนังจนได้เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วถึงจะบ่นว่าหาทุนยากก็ตาม ทิลด้า สวิสตันเคยบอกว่าตอนที่ออกฉายก็เข้าโรงปกติ ถ้าเป็นสมัยนี้คงต้องเป็นหนังอินดี้หรือฉายตามซีเนมาเทค ก็ไม่รู้คนดูตอนนี้จะบ่นว่าหนังมันเร็วไปจนดูไม่รู้เรื่องเพราะย่อเวลา 400 ปีมาไว้แค่ 2 ชั่วโมง หรือที่ ไม่อธิบายว่าตกลงออร์แลนโดเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายกันแน่….อืมมมม


กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ : แพทย์ นักเขียนประจำ Film Club

Beau Travail (1999, Claire Denis)

Beau Travail มาจากภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า good work หรืองานที่ดี ภาพยนตร์ขนาดยาวกำกับโดย Claire Denis ผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศสที่มักเล่าถึงสภาวะหลังอาณานิคมในแอฟริกาตะวันตก ยังรวมไปถึงวัฒนธรรมฝรั่งเศสร่วมสมัย เธอเกิดที่ปารีส แต่ติดตามพ่อของเธอที่เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน และเติบโตที่อาณานิคมฝรั่งเศสอันได้แก่ บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูน โซมาเลีย ไปจนถึงเซเนกัล

Beau Travail ได้รับแรงบันดาลใจบางส่วนจาก Billy Budd (ค.ศ. 1888) นวนิยายที่เขียนไม่เสร็จของ เฮอร์แมน เมลวิลล์ เล่าถึงชีวิตของเหล่าทหารภายในกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศสที่ตั้งรกรากอยู่สาธารณรัฐจิบูตีริมทะเลแดง แหล่งติดต่อค้าขายระหว่างเอเชียกับยุโรปสมัยโบราณ หนังเปรียบเทียบชีวิตของจ่าสิบเอก Galoup (ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลหลังจากมีนายทหาร Sentain เข้ามาประจำการ) กับผลกระทบจากการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส

Galoup หลงรัก Sentain นายทหารหนุ่ม แต่พยายามไม่แสดงออก เก็บงำความรู้สึกนั้นไว้ แล้วขับออกมาในรูปของความเกลียดชัง อิจฉาริษยาในความเก่งกาจของ Sentain ผู้เปรียบเสมือนดาวดวงใหม่ในค่าย ซึ่ง Galoup เคยเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด 

ฉากที่ปวดร้าวเศร้าสร้อยเป็นที่น่าจดจำคือเหตุการณ์หลังจากที่ Galoup ลงโทษ Sentain และในที่สุดเขาไม่ได้พบกับนายทหารหนุ่มคนนั้นอีก ความทุกข์ระทมภายในจิตใจของ Galoup ถูกปลดปล่อยออกมาผ่านการร่ายรำในไนท์คลับที่จิบูตีตามจังหวะเพลง The Rhythm of the Night ของวง Corona


ณัฐวุฒิ นิมิตชัยโกศล : นักเขียนประจำ/กองบรรณาธิการ Film Club

Yuri!!! On Ice (ユーリ!!! on ICE) (2016, Sayo Yamamoto, 2016, Japan) (TV Anime 12 EP)

เราไม่แน่ใจว่าในโลกของอนิเมะแนว BL (Boy’s Love) จะเป็นโลกที่สังคมภายในเรื่องต้อนรับการรักกันของชาย-ชาย มากขนาดไหน เพราะเราไม่ได้ติดตามสักเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้สำหรับเราแล้ว มันไหลลื่น เป็นไปอย่างธรรมชาติ และเป็นสังคมภาพแทนของการเปิดรับความรักของผู้คนในเพศเดียวกันอย่างมาก เมื่อมีตัวละครตะโกนบอกทุกคนในร้านอาหารว่าวิคเตอร์กับยูริหมั้นกันแล้วและจะแต่งงานกันด้วย คนในร้านอาหารก็ปรบมือแสดงความยินดีกับทั้งสองคน แต่ถึงแม้จะไม่เคยได้บอกรักกันตรงๆ แต่เชื่อว่าพอดูแล้วก็จะรู้สึกว่ามันมีการบอกรักกันอยู่เสมอทุกอิริยาบถจริงๆ และมันสามารถละลายความคิดของภาพที่ติดอยู่กับว่ากีฬาฟิกเกอร์สเก็ตเหมาะสำหรับผู้ที่มีสรีระร่างกายหรือนิสัยที่นุ่มนวล อ่อนไหว หรือชื่นชอบในเครื่องแต่งกายที่แพรวพราว เป็นแฟชั่นจ๋าๆ อย่างเดียว อนิเมะแสดงความเป็นไปได้ของผู้คนหลากหลายรูปแบบที่กระโดดเข้ามาในวงการฟิกเกอร์สเก็ต และเราชอบการเปิดโลกของเราแบบนั้นมากๆ

แต่ถ้าตัดเรื่องราวเหล่านั้นออกไป เราจะเห็นเหมือนกับอนิเมะโดยทั่วไป การเติบโตเพื่อให้ได้ความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น การค้นหาตัวเอง และการต่อสู้เพื่อให้ได้รับชัยชนะ ยูริเป็นเพียงนักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตที่แบกความหวังของญี่ปุ่นเพื่อไปแข่งขันระดับโลก แต่กลับพ่ายแพ้อย่างหมดท่า ทำให้เขาหมดไฟและหมดหวัง แต่พอได้เจอวิคเตอร์ที่ยอมมาเป็นโค้ชให้กับเขาโดยที่ตัวเองถึงแม้จะเป็นนักกีฬาระดับโลก คว้าแชมป์ที่ใหญ่ที่สุดมาห้าสมัยซ้อน แต่ก็ยังไม่เคยทำงานในฐานะโค้ชมาก่อน ทั้งคู่จึงได้เดินทางตามหาแรงบันดาลใจผ่านเส้นทางอาชีพของตัวเอง และสนับสนุนความสัมพันธ์ผ่านเส้นทางความรักไปด้วย เรื่องนี้ค่อนข้างได้รับเสียงตอบรับที่ดีสำหรับคนดูอนิเมะเอง และทำให้เริ่มมีคนหันมาสนใจกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตมากขึ้นด้วยตัวเนื้อเรื่องที่น่าติดตาม แถมยังมีตัวละครนักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตจากประเทศไทยอย่าง พิชิต จุฬานนท์อีก (ถึงแม้นามสกุลจะชวนให้นึกถึงคนในตระกูลทหารก็ตาม) เรียกความฮือฮาในช่วงนั้นได้พอสมควร

ความสัมพันธ์ของผู้คนภายในเรื่องก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเรา กลายเป็นว่าฟิกเกอร์สเก็ตสร้างความเป็นไปได้หลายๆ อย่าง และมันสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมกันอยู่เสมอ เพียงแค่หาวิธีการที่เหมาะสมได้กับตัวเองเพียงเท่านั้น ความเป็นไปได้ในการที่เป็น โค้ช-นักกีฬา นั้นก็มีหลากหลายรูปแบบ โค้ชบางคนอาจจะมาจากครอบครัวของตัวเอง หรือมาจากโค้ชมืออาชีพ หรืออย่างวิคเตอร์-ยูริที่มีความเปลี่ยนแปลงจาก โค้ช-นักกีฬา กลายมาเป็นเพื่อน และคนรัก แม้กระทั่งความสัมพันธ์ของเพื่อน ก็ดู healthy เป็นอย่างมาก ไม่มีความขัดแย้งกันอย่างใด ไม่ต้องเจอการตบตีแย่งชิงกันอย่างที่เห็นใน I, Tonya อย่างมากก็ไม่สุงสิงกับใครเพียงเท่านั้น ดูเป็นโลกในอุดมคติที่นอกจากจะเปิดกว้างทั้งความสัมพันธ์ความรักและมิตรภาพ ยังไม่มีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น มีแค่การแข่งขันที่ทุกคนมุ่งหวังจะไปเป็นที่หนึ่งของเวที และพอจบการแข่ง ทุกคนก็พร้อมจะกลับมาเป็นเพื่อนกันได้เสมอ


ปฏิกาล ภาคกาย : บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Salmon Books 

Beginners (2010, Mike Mills, USA)

ผมไม่แน่ใจนักว่าหนังเรื่องนี้เข้ากับธีม pride month หรือเปล่า แต่หลังจากลองนึกๆ ถึงหนังหลายเรื่องที่เคยดูแล้ว ‘Beginners’ ก็ยังเป็นหนังที่ผมอยากหยิบมาพูดถึงอยู่ดี

เรื่องราวของ โอลิเวอร์ (Ewan McGregor) ที่การพยายามเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับ แอนนา (Melanie Laurent) ทำให้เขานึกย้อนกลับไปถึงชีวิตช่วงบั้นปลายของ ฮาล (Christopher Plummer) พ่อของเขา ที่นอกจากจะเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว ในช่วงท้ายของชีวิต เขายังมาเผยความจริงกับโอลิเวอร์ด้วยว่า เขาเป็นเกย์

Beginners อาจไม่ใช่หนังที่พูดเรื่องเพศได้หนักแน่นเท่าหนังเรื่องอื่นๆ แต่ด้วยวิธีการเล่าเรื่องของ ไมค์ มิลส์ ที่ค่อยๆ พาเราไปสำรวจเรื่องราวกึ่งจริงกึ่งแต่งจากประสบการณ์ส่วนตนที่มีต่อพ่อของเขา ก็ทำให้เราได้เห็นสถานะของ LGBT ในยุคที่ฮาล (หรือพ่อของมิลส์) เติบโตมา ไม่ว่าจะเป็นการต้องหลบซ่อน การถูกมองว่าเป็นโรค หรือการต้องปกปิดและเลือกที่จะซุกมันเก็บไว้ เพื่อที่ไปจะไปลองใช้ชีวิตตามขนบอย่างที่ควรจะเป็น

สิ่งที่ผมชอบในหนังของไมค์ มิลส์ ไม่ว่าจะจากเรื่องนี้หรือเรื่องไหนๆ ก็คือการเล่าเรื่องที่เรียบง่าย ซึ่งผมไม่ได้หมายถึงเทคนิคการถ่ายทำแต่อย่างใด หากหมายถึงประเด็นที่เขาหยิบยกขึ้นมาเล่า อย่างการที่อยู่ดีๆ พ่อวัย 75 ปีมาเปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ และขอใช้ชีวิตต่อไปกับคู่รักหนุ่ม ฟังเผินๆ มันอาจดูเป็นพล็อตที่มีสีสัน แต่พอมันเป็นเรื่องเล่าของผู้กำกับคนนี้ การดูเรื่องราวของพ่อลูก โอลิเวอร์กับฮาล ก็ทำให้เราเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกแต่อย่างใด เพราะนี่คือชีวิต ความรัก และความสัมพันธ์ ที่ไม่ว่าใคร ไม่ว่าเพศไหน ก็เผชิญกันในความเป็นจริง


ฐิติมน มงคลสวัสดิ์ : เพจ “ผู้ชายคนนั้นจากหนังเรื่องนี้”

Cherry Magic (2020, Yuasa Hiroaki/Kazama Hiroki, Japan) Series

ซีรีส์ที่ดัดแปลงจากมังงะของ อ.โทโยตะ ยู เล่าเรื่องของชายที่เวอร์จินถึงอายุ 30 ปีแล้วดันมีมนต์วิเศษอ่านใจคนรอบข้างขึ้นมา แล้วทำให้รู้ว่าชายหนุ่มสุดหล่อที่ทำงานที่เดียวกันแอบปิ๊งเขาอยู่ 

ซีรีส์ทำออกมาได้ดีมาก สอดแทรกเรื่องการทำงาน มาตรฐานสังคม และลงลึกระดับความสัมพันธ์ของตัวละครผ่านเรื่องราวที่น่าสนใจ แม้ว่าเรื่องจะเกี่ยวกับทางเพศ (ความซิง) โดยตรง แต่กลับทำออกมาได้น่ารักอบอุ่นโดยพูดถึงระยะห่างในการเข้าถึงจิตใจของอีกฝ่าย รวมถึง consent ได้อย่างน่ารัก ดูแล้วอบอุ่นหัวใจ เยียวยาชีวิต และอยากมีผัวชื่อคุโรซาว่ามากค่ะ!!


ณิชมน มงคลสวัสดิ์ : เพจ “ผู้ชายคนนั้นจากหนังเรื่องนี้”

Given (2020, Hikaru Yamaguchi, Japan)

การ์ตูน​แอนิเมชั่นเรื่อง​ Given สร้างจากมังงะของ นัตซึกิ คิซุ – การ์ตูน​บอยส์เลิฟที่ได้รับรางวัล BL AWARD 2021 สาขา Best BL Series นำเสนอความรักวัยรุ่นกับการทำวงดนตรี​ มิตรภาพ​ และปัญหาสุขภาพ​จิต​ ทั้งเรื่องความซึมเศร้า​, toxic relationship และการฆ่าตัวตายได้อย่างมีชั้นเชิง

เนื้อหา​มีความลึกกว่า ​BL ​ทั่วๆ ไป เล่าถึงการค้นหาตัวเอง ​การแสวงหาการยอมรับ ​และจุดที่​สามารถเป็นตัวเองได้ แสดงภาพวัยรุ่นวัยว้าวุ่น​ที่ต้องก้าวข้ามผ่านสิ่งต่างๆ ที่เป็นประสบการณ์​ครั้งแรกได้อย่างน่าสนใจ


​ภาส พัฒนกำจร : ผู้กำกับซีรี่ส์ The Change Company, The Underclass / นักเขียนประจำ Film Club 

Revolutionary Girl Utena (1997, Kunihiko Ikuhara/Chiho Saitô, Japan) (TV Anime 39 EP)

น่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ทำให้วัยเด็กเราเกิด awareness เรื่องความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง คือจากเซเลอร์มูนมันก็ทำให้เราตะหงิดๆ มาบ้างแต่ด้วยความที่ narrative ของคู่หลักมันก็ยังเป็น straight อยู่ดี แต่พอมาเป็นอูเทน่าแล้วเราในตอนเด็กจะงงว่า “อ้าว ไหนล่ะ พระเอกนางเอกแบบปกติทั่วไป” เพราะความสัมพันธ์ของตัวเอกในเรื่องนั้นกลับเป็นหญิงรักหญิง โดยอาศัยล้อกับ narrative นิทานดั้งเดิมว่าเจ้าชายมาช่วยเจ้าหญิง แต่เจ้าชายในเรื่องกลับเป็นอูเทน่าเสียเอง ซึ่งไม่ใช่ว่าจะหยิบเอาความเป็นชายมาสวมทับในตัวอูเทน่า เพราะตัวอนิเมะไม่ได้ทรีตอูเทน่าเป็นทอมบอย ดูยังไงเธอก็เป็นผู้หญิง ถึงจะสร้างความสับสนต่อคนดูวัยเด็กบ้างเนื่องจากการ์ตูนหรืออนิเมะโดยมากมักจะจำลอง norm สังคมที่ simple ที่สุดให้เด็กได้ดู แต่ “สาวน้อยนักปฏิวัติอูเทน่า” นั้นได้ขยายการรับรู้ของเราออกไป เป็นอีกเรื่องที่แนะนำให้กลับมาดูใหม่ในตอนโตมากๆ เพราะมันทั้ง surreal และใช้ symbolic narrative เป็นหลัก คือมันล้ำมากจนไม่อยากจะเชื่อว่าครั้งหนึ่งมันเคยฉายในช่อง 9 การ์ตูน


อาทิชา ตันธนวิกรัย : ผู้กำกับซีรี่ส์ The Shipper, อังคารคลุมโปง ตอน มือที่สาม

Farewell My Concubine (1993, Chen Kaige, China/Hong Kong)

“เราทำร้ายกันเท่าไหร่ก็ไม่เจ็บปวดเท่าสังคมที่ทำร้ายเรา” Farewell My Concubine ของเฉิน ข่ายเกอเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เข้ามาในความทรงจำ เพราะตราตรึงเราจนถึงทุกวันนี้ เพราะนอกจากจะมีทั้งทางความสัมพันธ์รักสามเส้าระหว่างชายที่เป็น queer กับชายแท้ที่รักผู้หญิงโสเภณีแล้ว ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับอิทธิพลของศิลปะ ไปถึงสังคมและรัฐในช่วงสงครามและการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกด้วย

Farewell My Concubine พูดถึงตัวละคร Douzi ลูกชายโสเภณีที่อ้างว้าง เพราะแม่ทิ้งให้อยู่ในคณะงิ้ว เขามีคนที่ยืนเคียงข้างเขาหนึ่งคนมาโดยตลอดนั่นคือ Shitou เพื่อนในคณะงิ้วซึ่งเป็นคณะชายล้วน ความสัมพันธ์ของทั้งสองคนเติบโตขึ้นท่ามกลางการฝึกงิ้วที่สุดทรหด จนกระทั่งทั้งสองได้ขึ้นมาเป็นนักแสดงงิ้วชื่อดังได้สำเร็จ แต่วันหนึ่ง Shitou ก็พบรักกับ Juxian โสเภณีคนหนึ่ง ทำให้ความสัมพันธ์รักสามเส้าได้อุบัติขึ้น อย่างไรก็ดีแม้รักสามเส้าจะเป็นเรื่องใหญ่ของความสัมพันธ์ที่กระทบกับงานและชีวิตของทุกฝ่าย ทว่าก็ไม่ใหญ่เท่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเรื่อง ศิลปะอย่างงิ้วถูกตั้งคำถามเรื่องการรับใช้การเมือง เฉกเช่นเดียวกับนักแสดงที่รักงิ้ว และแน่นอนว่าเมื่อความสัมพันธ์ของคนในเรื่องผิดแผกไปจากสังคมสมัยนั้น สังคมก็สามารถหยิบประเด็นไหนมาค่อนแคะทำลาย หรือเสียบประจานเพื่อบรรลุความมุ่งหมายทางการเมืองก็ได้

ตัวละครทั้งสามถึงแม้จะชิงชังและไม่พอใจกันอยู่ในที แต่ก็ต้องตกอยู่ในคำถามเดียวกันว่าสังคมให้การต้อนรับกับความผิดแผกของตัวตนพวกเขามากเพียงไหน ในบางครั้งแม้ตัวละครจะไม่พอใจกัน แต่ในบางครั้งก็ปลอบประโลมกันเช่นกัน ความสัมพันธ์ที่น่าสนใจที่สุดสำหรับเราเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง queer และเพศหญิง ที่ต้องตกอยู่ในภาวะที่สังคมตั้งคำถามกับความผิดถูกและอำนาจของปิตาธิปไตย ซึ่งฉากที่น่าสะเทือนใจมากที่สุดก็คือ การที่สุดท้ายตัวละครตัวหนึ่งต้องเอาตัวรอดจากสังคม จนต้องละทิ้งความรู้สึกที่แท้จริงของเขาเองซึ่งนั่นเป็นสัญลักษณ์อันชัดเจนมากที่สุดของอิทธิพลของรัฐและสังคมที่เข้ามามีอำนาจเหนืออิสระของตัวตนของเรา Farewell My Concubine ต่อให้เป็นหนังเก่าแต่มันก็ยังมีคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบจนถึงปัจจุบัน และทุกครั้งที่ก้าวเข้าไปดูเราก็จะพบความงดงามและอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ

ฉากจบอันแสนเศร้าของตัวละครยังคงสะเทือนใจผู้คนอยู่เสมอและเช่นเดียวกันมันก็ตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้วเราต้องทำอะไรมากแค่ไหนผู้คนถึงจะพึงพอใจ ตัวเราจะถูกรักและถูกยอมรับไม่ได้จริงใช่ไหม


(โปรดติดตามต่อในพาร์ตที่ 5)

Nobody speaks the lover. (Culture is the rule, and lover is the exception.) หลอกกันทำไม ไอ้คนไม่มีหัวใจ (เป็นคนรักใครก็หวงก็ห่วงจริงไหม)

หากพูดถึงการนอกใจ มักเป็นความสัมพันธ์ที่ทุกคนมักพบเจอ หรือมักจินตนาการถึงอยู่เสมอ นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคู่ว่าจะจบลงที่ตรงนี้ หรือจะเป็นการให้อภัยกันครั้งใหญ่ในที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต เรามักจะได้พบเห็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเช่นนี้ตามสื่อในโทรทัศน์ตั้งแต่เรายังเป็นเด็กมาจนถึงปัจจุบัน และเราจดจำถึงจุดจบของคนนอกใจที่ไม่สวยทุกครั้งไป ประเด็นของการนอกใจยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่เสมอในปัจจุบัน ตั้งแต่ประเด็นเรื่องการทำผิดศีลธรรม ค่านิยม ”ชายเป็นใหญ่” (patriarchy) ที่ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนาน ไปจนถึงวัฒนธรรมที่ถูกกดทับจากการเป็น “ผัวเดียวเมียเดียว” (monogamy) แม้จะยังหาข้อสรุปไม่ได้ในปัจจุบันว่าการนอกใจนั้นเกิดมาจากสาเหตุใดกันแน่ มันอาจเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ จริยธรรม หรือการเมือง แม้ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่มองว่าการนอกใจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับได้และสมควรที่จะมีการวางโทษทัณฑ์ แต่เมื่อตัดภาพมาในชีวิตจริงก็ใช่ว่าคนที่นอกใจจะเจอผลของการกระทำที่เลวร้ายเสมอไป

ในส่วนของภาพยนตร์ เรามักจะได้เห็นการนอกใจของตัวละครอยู่บ่อยครั้งเช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ มันอาจเป็นการสร้างบททดสอบความของความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ในหนังโรแมนติกหรือดราม่าความสัมพันธ์ หรืออาจจะเป็นแบบทดสอบที่เอาไว้ท้าทายจารีต ประเพณีต่างๆ การนอกใจนั้นไม่ได้เป็นแค่เรื่องปกติในโลกภาพยนตร์ หากมันยังเกิดขึ้นจริงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ถึงแม้เราจะยังเห็นการนอกใจยังคงฉายภาพอยู่ตามจอเงิน แต่ภาพยนตร์เป็นเพียงแค่ภาพวาดหนึ่งบนผืนผ้าใบที่ผู้สร้างต้องการจะสรรค์สร้างมันอย่างไรก็ได้ มันอาจจะเป็นสิ่งที่ดีงามตามครรลอง หรือชั่วร้ายหักล้างความถูกต้องทั้งหมดก็ได้

ภาพยนตร์จึงสร้างเพื่อมองความเป็นไปได้ และสาเหตุที่เกิดการนอกใจที่นอกเหนือเสียจากปัญหาแค่เรื่องความใคร่ ที่เป็นภาพฝังหัวในละครเวลาเรานึกถึงละครผัวเมีย แต่เราสามารถมองออกไปนอกเหนือจากนั้นได้ เป็นการแสดงความเป็นไปได้มากกว่าการเลิกกัน อาจเกิดความสัมพันธ์อันแปลกประหลาดที่สร้างความชวนเวียนเศียรเกล้า หรือการเล่นเกมสนุกสนานกับความสัมพันธ์ที่สร้างความยุ่งเหยิงมากขึ้น ซึ่งคนที่ดูเหล่านั้นจะเป็นผู้ตัดสินว่าความสัมพันธ์ที่ได้เห็นผ่านตากันไปนั้น เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ควรทำหรือไม่ควรทำ หรือมองมันเป็นเพียงแค่ภาพจำลองของเหตุการณ์หนึ่งเพียงเท่านั้น

Film Club ขอเสนอ 10 เรื่องที่ขยายปัญหาที่แตกต่างกันออกไปของการนอกใจว่ามันอาจไม่ใช่เพียงแค่เรื่องความต้องการทางเพศ แต่หากยังมีบางสิ่งซ่อนเร้นอยู่ภายใต้การกระทำของความหลงใหลและอำนาจ หนังบางเรื่องอาจเป็นภาพทับซ้อนของชีวิตจริงของคนสร้าง แต่การบอกว่าการทำหนังเหล่านั้นเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการนอกใจของตนเองก็อาจจะดูใจร้ายเกินไป มันอาจเป็นภาพสะท้อนของชีวิต การไถ่บาป หรือมันอาจเป็นทุกอย่างที่ว่ามาก็ได้


Asako I & II (2018, Ryūsuke Hamaguchi)

Asako (Erika Karata) หญิงสาวที่ได้ตกหลุมรักกับ Baku (Masahiro Higashide) ชายหนุ่มปริศนาไร้ที่มาตั้งแต่แรกเห็น พวกเขาใช้ชีวิตร่วมกัน อยู่ด้วยกันจนมากระทั่งวันหนึ่ง Baku หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยและไม่มีการบอกกล่าวใดๆ Asako จึงตกอยู่ภายใต้ความทุกข์ เวลาผ่านไปสองปี เธอใช้ชีวิตใหม่ ทำงานเปิดร้านกาแฟเล็กๆ อยู่ในโตเกียว อาซาโกะได้พบกับ Ryohei หนุ่มนักธุรกิจที่เพิ่งเรียนจบมหาลัยมาหมาดๆ แต่สิ่งที่ทำให้เธอประหลาดใจคือ เขาหน้าเหมือน Baku ทุกประการ Asako ตกหลุมรัก Ryohei อีกครั้ง ทั้งคู่เริ่มใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ภาพเก่าๆ เริ่มย้อนกลับมาอีกครั้ง ทำให้เกิดความสงสัยกับตัวเองว่า เธอชอบเขาที่เป็น Ryohei จริงๆ หรือเป็นแค่ภาพแทนของ Baku กันแน่

นอกจากจะเป็นผลงานที่น่าจับตามองของ ริวสุเกะ ฮามากุชิ ผู้กำกับญี่ปุ่นที่ทำหนังครองใจและชวนทึ่ง(ด้วยความยาว) ใน Happy Hour หลังจากที่เขาหายไปสามปีพร้อมกับผลงานชิ้นนี้ ข่าวคราวเบื้องหลังหนังเรื่องนี้ก็แซ่บไม่แพ้กัน เมื่อนักแสดงหลักทั้ง มาซาฮิโระ ฮิกาชิเดะ และ เอริกะ คาราตะ ได้คบหากันอย่างลับๆ จากภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เรื่องจะไม่เกิดถ้ามาซาฮิโระนั้นไม่ได้เป็นสามีของวาตานาเบะ แอน นักแสดงชาวญี่ปุ่น ทำให้เธอกลายเป็นมือที่สามที่ทำลายความสัมพันธ์ของทั้งสองคน จนกลายเป็นข่าวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นช่วงนั้น ผลลัพธ์ที่ได้คือทั้งเอริกะและมาซาฮิโระถูกแบนจากคนดูในญี่ปุ่น ถูกยกเลิกสัญญาโฆษณาที่ได้ถ่ายทำในช่วงนั้น โดยเฉพาะฝ่ายชายที่หย่ากับภรรยาเป็นที่เรียบร้อย ทั้งคู่ออกมาขอโทษสื่อออย่างเป็นทางการ และพักจากการทำงานในวงการบันเทิงสักระยะ


Phoenix (2014, Christian Petzold)

Nelly (Nina Hoss) อดีตนักร้องสาวชาวเยอรมันเชื้อสายยิวผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันแต่โชคไม่ดีที่เธอต้องเข้ารับการศัลยกรรมใบหน้าเพื่อรักษาบาดแผลที่เธอได้รับจากช่วงสงครามอยู่เป็นเวลานานกว่าจะสามารถกลับมามีใบหน้าคล้ายกับใบหน้าเดิมของเธอ ในขณะที่สามีของเธอ Johnny (Ronald Zehrfeld) กลับไม่สามารถจำเธอได้และเชื่อว่า Nelly ผู้เป็นภรรยาตัวจริงของเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงตัดสินใจได้ขอให้เธอซึ่งเป็นเพียงหญิงสาวที่ใบหน้าคล้ายกับ Nelly ช่วยสวมรอยเป็นภรรยาของเขาเพื่อไปรับมรดกจากทางบ้านของเธอเพื่อนำมาแบ่งกัน โดยไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วเธอคือภรรยาตัวจริงของเขา นั้นจึงทำให้ Nelly จึงเริ่มตั้งคำถามและแคลงใจในความรักและความซื่อสัตย์ที่ Johnny เคยมีให้กับเธอตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

ความซับซ้อนของความสัมพันธ์ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่พวกเขากำลังมีความสัมพันธ์ของการนอกใจไปมีคนรักใหม่ แต่มันคือการนอกใจไปหาคนใหม่โดยที่ไม่รู้ว่าเธอคือคนเดิม ถึงแม้ Johnny กำลังสร้างความสัมพันธ์กับ Nelly คนใหม่ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เหมือนว่า Nelly คนเดิมได้หายไปจากเขาแล้ว เธอกลายเป็นความทรงจำที่เหมือนเพียงแค่การหยิบใครมาแทนที่สมการเหล่านี้ได้ แต่สุดท้ายแล้วเธอก็ยังยอมรับในข้อเสนอเหล่านี้ จึงเป็นการตั้งคำถามแล้วว่าความรักที่แท้จริงแล้ว คุณยอมที่จะมีความรักจนต้องทิ้งตัวตนของตัวเอง เพื่อสวมเข้าไปในตัวตนที่เขาได้วางเอาไว้ให้หรือไม่ และสำหรับ Johnny แล้ว Nelly เป็นใครในสายตาของเขา


The Day After (2017, Hong Sang-soo)

ชีวิตสมรสของ Bongwan เจ้าของสำนักพิมพ์เล็กๆ ในเกาหลีกำลังจะเริ่มสั่นคลอนเมื่อภรรยาของเขาพบว่า ตัวเขาเองกำลังคบหากันผู้ช่วยของเขาอย่างลับๆ แต่หลังจากเหตุการณ์นั้นจบลงด้วยการออกของผู้ช่วยคนเดิม Areum ผู้ช่วยคนใหม่ก็ได้เข้ามาทำงานแทน แต่ในการทำงานวันแรกของเธอนั้นกลับถูกดึงไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชีวิต Bongwan เมื่อภรรยาของเขาเข้าใจผิดว่าเธอเป็นผู้ช่วยที่สามีของเขาแอบมีความสัมพันธ์ด้วย

หากคุณรับรู้ว่าเจ้านายที่คุณกำลังทำงานและชื่นชมนั้นอยากสร้างความสัมพันธ์กับคุณในขณะที่เขาก็มีคู่รักของเขาอยู่แล้ว แล้วจะทำอย่างไร หนังที่เล่าอย่างเรียบง่ายแต่เจ็บจุกและชวนกระอักกระอ่วนเป็นอย่างดีของผู้กำกับเกาหลีชั้น auteur อีกหนึ่งนักทำหนังจ้าวแห่งความสัมพันธ์ชวนล้ำเส้นที่คนรักหนังล้วนจับตามองอย่างฮงซังซู ที่ในช่วงนั้นก็มีข่าวสะเทือนวงการหนังเกาหลีเช่นกัน เมื่อเขานั้นสารภาพความลับว่าได้เริ่มความสัมพันธ์อย่างลับๆ กับคิมมินฮี นักแสดงสาวคู่บุญของเขาที่ร่วมงานกันตั้งแต่เรื่อง Right Now, Wrong Then ปี 2015 และยังคงเล่นหนังเรื่องล่าสุดให้กับเขาอยู่ ซึ่ง The Day After นั้นอาจต้องดูคู่กับ On the Beach at Night Alone ที่เสมือนเป็นด้านกลับการเล่าเรื่องของทางฝั่งหญิงที่ถูกเปิดเผยว่าเธอนั้นเป็นชู้กับผู้กำกับคนหนึ่งที่แต่งงานไปแล้ว ราวกับว่าการทำหนังทั้งสองเรื่องนี้เพื่อเปิดบาดแผลแห่งความสัมพันธ์เหล่านี้จะเป็นการไถ่บาปของเขาที่มีต่อผู้หญิงทั้งสองคน ทั้งภรรยาของเขา และตัวคิมมินฮีเอง


Friday Night (2002, Claire Denis)

เรื่องเริ่มต้นเมื่อ Laure (Valerie Lemercier) แพ็คของจากห้องในอพาร์ตเมนต์ของเธอเพื่อจะย้ายไปอยู่กับแฟนหนุ่ม สถานการณ์ความวุ่นวายทั้งหลายก็ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ Laure ขับรถเข้าเมืองเพื่อไปทานข้าวดินเนอร์กับเพื่อนๆ แต่ก็ไปไม่ถึงสักทีเพราะรถติดหนักมาก ข่าวจากวิทยุรายงานสาเหตุว่าเป็นเพราะการประท้วงหยุดงานที่ทำให้เกิดการรถติดครั้งใหญ่ พายุฝนที่ตกยิ่งทำให้เธอขุ่นมัว แต่เมื่อเธอได้เห็นชายหนุ่มแปลกหน้าคนหนึ่ง (Vincent Lindon) เดินทางด้วยเท้า เธอกลับเสนอที่จะขับรถไปส่งเขา แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาไม่ได้เดินทางไปที่ไหนไกล แค่สูบบุหรี่ กินพิซซ่า พูดคุยกันเล็กน้อย และยกเลิกแผนการไปดินเนอร์กับเพื่อนๆ กัน พวกเขาใช้เวลาในคืนวันศุกร์ด้วยการอยู่ด้วยกัน และคืนวันศุกร์ของ Laure ก็เปิดกว้างมากขึ้นจนพวกเขาจะทำอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ

Claire Denis ผู้กำกับที่ชอบถ่ายทอดเรื่องราวของมนุษย์ ความเปลี่ยวเหงาและบรรยากาศได้อย่างละเมียดละไม ทำเรื่องราวของการพบเจอกันของคนแปลกหน้าสองคนในสถานการณ์ที่เป็นใจ ในบทสนทนาที่มีอยู่น้อยนิดแต่พวกเขากลับมีเคมีที่เข้ากันกว่าที่คิด หนังไม่ได้เล่าเหตุการณ์ในอดีต โฟกัสอยู่กับเหตุการณ์ในปัจจุบันเพียงแค่ระยะเวลาหนึ่งคืนสั้นๆ เท่านั้น บางครั้งเราอาจรู้สึกว่ามันไม่สมเหตุสมผล แต่เราก็ไม่สามารถไปตัดสินความรู้สึกของพวกเขาในขณะนั้นได้ ได้แต่คอยสำรวจการพัฒนาความรู้สึกเป็นระยะสั้นๆ อยู่ห่างๆ ของพวกเขาผ่านแค่สิ่งที่เห็นเพียงอย่างเดียว


Scenes from a Marriage (1973, Ingmar Bergman)

Johan (Erland Josephson) และ Marianne (Liv Ullmann) ดูจะเป็นคู่ชีวิตที่ดีถ้าเทียบกับชีวิตรักของคนอื่นโดยทั่วไป พวกเขามีบ้านสองหลัง รถสองคัน ลูกสาวสองคน มีอาชีพกันทั้งสองคน จนมากระทั่งวันหนึ่ง มันดูไม่เป็นอย่างนั้น พวกเขาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า พวกเขาพลาดอะไรสำคัญในชีวิตไป Scenes from a Marriage เล่าเรื่องราวในช่วงเวลาสิบปีแห่งความรักและความวุ่นวายที่คอยผูกมัด Marianne และ Johan เอาไว้ ผ่านความสัมพันธ์ที่ค่อยๆ คืบหน้าขึ้นในทางที่ดีและเลวร้าย ตั้งแต่การแต่งงาน การนอกใจ หย่าร้าง และการเป็นหุ้นส่วนชีวิตในภายหลัง นี่คือสำรวจเรื่องราวของความรักอย่างละเอียดลออที่สุดของคู่รักคู่หนึ่ง

Scenes from a Marriage นั้นเริ่มต้นจากการเป็นมินิซีรี่ส์ขนาด 6 ตอน ที่ฉายในทีวีเยอรมัน ความยาวร่วม 5 ชั่วโมง ก่อนจะถูกตัดในเวอร์ชั่นฉายโรงความยาว 2 ชั่วโมง 47 นาที อ้างอิงมาจากส่วนหนึ่งในชีวิตของเบิร์กแมนเอง ทั้งความสัมพันธ์ของเขากับอุลล์มานน์ รวมไปจนถึงการแต่งงานระหว่างเขากับคู่รักคนก่อน และความสัมพันธ์ของพ่อแม่เขาที่เต็มไปด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง เป็นมินิซีรี่ส์ที่นำไปดัดแปลงเป็นละครเวทีอยู่หลายครั้ง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้กำกับหนังอีกหลายคน เช่น Rob Reiner, Woody Allen, Asghar Farhadi หรือแม้กระทั่ง Marriage Story ของ Noah Baumbach ที่ดูได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน ล่าสุดกำลังจะกลับมาทำใหม่อีกครั้งโดย HBO นำแสดงโดย Oscar Isaac และ Jessica Chastain


Cesar and Rosalie (1972, Claude Sautet)

Rosalie (Romy Schneider) แม่ม่ายลูกหนึ่งที่ในตอนนี้เธอกำลังคบกับ César (Yves Montand) พ่อค้าขายเศษโลหะ ทั้งคู่เดินทางไปที่งานแต่งงานใหม่ของแม่เธอ ในงานแต่ง Rosalie ได้พบกับแฟนเก่าของเธอ David (Sami Frey) นักวาดการ์ตูนที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากอเมริกา และในงานนั้น David ได้บอกกับ César ไปตรงๆ ว่าเขายังรัก Rosalie อยู่ และ César ก็สัมผัสได้ว่านี่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความรักฝ่ายเดียว เขาจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ว่า Rosalie นั้นยังรักเขาอยู่ ไม่ใช่ David ความสัมพันธ์ของคนทั้งสามก็ค่อยๆ ผันผวนไปตามการกระทำของความรัก

ถึงแม้ว่าพล็อตเรื่องแบบนี้จะเป็นพล็อตหนังรักสามเส้าที่เราน่าจะพอคุ้นชินกันอยู่บ้าง แต่เรื่องนี้กลับเป็นรักสามเส้าที่ทุกคนมีน้ำหนักเท่ากัน ไม่มีใครที่ได้เปรียบ เสียเปรียบ และต่างมีการตัดสินใจที่เป็นอิสระเพื่อตัวเอง และเป็นหนังที่ไม่ได้บอกว่าที่สุดแล้วใครนั้นเหมาะสมกับใคร แต่เป็นการหาความเป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์แบบใดที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดในความรักของทั้งสามคนครั้งนี้ หรือกลายเป็นว่าปัญหาของทุกอย่างก็คือความรักที่ทำให้เกิดสมการอันซับซ้อนที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย


Hannah and Her Sisters (1986, Woody Allen)

เรื่องราวที่มีศูนย์กลางของเรื่องเป็น Hannah (Mia Farrow) ที่มีน้องสาวอีกสองคนคือ Lee (Barbara Hershey) และ Holly (Dianne Wiest) Hannah นั้นแต่งงานอยู่กับ Elliot (Michael Caine) พนักงานบัญชีและนักวางแผนการเงินที่กำลังตกหลุมรัก Lee น้องสาวของเธอที่กำลังอาศัยอยู่กับ Frederick (Max Von Sydow) ศิลปินที่มีชีวิตค่อนข้างอยู่ดีกินดีในย่าน Soho ในขณะเดียวกัน Holly ที่ปัจจุบันเป็นนักแสดงที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จในเส้นทางของตัวเองเท่าไหร่ ได้เดตกับ Mickey (Woody Allen) โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ที่เคยเป็นอดีตสามีของ Hannah และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการครุ่นคิดว่าเขากำลังจะตายในอีกไม่นาน เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในระยะเวลา 24 เดือน หรือ 2 ปี ตั้งแต่ช่วงระยะเวลา Thanksgiving

วู้ดดี้ อัลเลน เป็นผู้กำกับที่มีข่าวกับเรื่องความสัมพันธ์อยู่บ่อยครั้ง ทั้งการมีความสัมพันธ์กับนักแสดงในกองถ่าย การล่วงละเมิดทางเพศ หรือว่าการมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า บางคนก็ยังไม่บรรลุนิติภาวะเสียด้วยซ้ำ ซึ่งความสัมพันธ์ปัจจุบันที่เขาได้แต่งงานกับลูกเลี้ยงของตนเองที่กลายมาเป็นภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากเป็นทางศีลธรรมมันอาจดูน่าขัดเคือง สร้างความฉงนงงงวยให้กับคนที่ติดตามอยู่ตลอด และหนังของเขาในช่วงหนึ่งก็ถูกนำไปเปรียบเทียบว่าเป็นภาพสะท้อนของตัวเองอยู่บ่อยๆ ยิ่งถ้าเป็นบทที่ตัวเขาเองเล่นมันยิ่งดูใช่ ซึ่งแม้ตัววู้ดดี้จะให้การปฏิเสธอยู่ตลอด แต่สำหรับคนที่ดูหนังของเขาหลายๆ เรื่อง ก็คงเชื่อเรื่องการแก้ตัวนี้ได้ยากอยู่ดี ขนาดเรื่องของเขากับมีอา ฟาร์โรว์ที่เลิกกันไปแล้วก็ยังตรงตามเรื่องนี้เลย


The Lovers (1958, Louis Malle)

Jeanne Tournier (Jeanne Moreau) เป็นภรรยาของเจ้าของสำนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่แก้ความเบื่อหน่ายของตัวเองด้วยการใช้เวลาอยู่ในปารีสกับ Maggy (Judith Magre) เพื่อนผู้มั่งคั่งของเธอและคนรักลับๆ ของเธออย่าง Raoul (Jose Luis de Villalonga) วันหนึ่งรถของ Jeanne เกิดเสียกลางทาง และทำให้เธอได้พบกับสถาปนิกหนุ่ม Bernard (Jean-Marc Bory) ที่ขออาสามาส่งเธอที่บ้าน ในคืนนั้นระหว่างที่ทั้งสองคนได้เดินกลับบ้านและพูดคุยกัน Jeanne ได้ค้นพบว่าตัวเองกำลังตกหลุมรักกับชายแปลกหน้าคนนี้ และคิดว่ามันถึงเวลาที่เธอจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่ออนาคตและความรักของเธอ

ถึงแม้ The Lovers จะเหมือนเน้นไปที่การมีความรักต้องห้าม แต่มันก็ให้อารมณ์ของการเสียดสีความเป็นขนบมากกว่าเรื่องเพศและกามารมณ์ หนังพุ่งเป้าไปที่ชีวิตคู่ที่น่าเบื่อ และการเป็นชู้ที่เล่นกันตามขนบธรรมเนียมของกลุ่มคนชนชั้นสูงที่พากันหลงไหลในทรงผมสุดหรูหรา หรือเกมโปโลของผู้มีจะกิน Louis Malle พยายามสร้างความแตกต่างชีวิตอันแห้งแล้งของคนรวย และความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติจาก Jeanne และ Bernard จนไปถึงตอนจบที่เหน็บแนมความสัมพันธ์ของเธอ สามี และคนรักลับๆ ก่อนหน้าของเธอ และหนังเรื่องนี้ก็ไปสร้างเรื่องไกลที่อเมริกา ในปี ค.ศ. 1964 หลังจากที่โรงหนัง Heights Art Theatre ที่เมือง Cleveland Heights รัฐ Ohio ผู้จัดการของโรงหนังที่ชื่อ Nico Jacobellis ก็ถูกตำรวจเข้าจับกุมในข้อหาครอบครองและจัดฉายสื่ออนาจาร แต่สุดท้ายแล้วเมื่อได้ขึ้นศาลสูงสุดของสหรัฐ คดีนี้ก็ถูกปัดตกไป เนื่องจากมีการพิจารณาแล้วหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นสื่อลามกอนาจารอย่างที่เข้าใจ


Lady Chatterley’s Lover (1955, Marc Allégret)

Constance Chatterley ภรรยาของ Sir Clifford นายทหารที่ได้รับบาดเจ็บในสงครามจนร่างกายท่อนล่างเป็นอัมพาต ซึ่ง Constance ก็ยังคงพอใจที่ยังได้รักษาพรหมจรรย์ของเธอ และได้ทำหน้าที่เป็นภรรยาที่ดีคอยรักษาสามีเสมือนพยาบาลส่วนตัว แต่อีกด้านหนึ่งเธอกลับรู้สึกไม่เติมเต็ม เพราะสามีของเธอไม่สาสมารถให้ความสุขทางเพศได้ และความรู้สึกของ Constance ก็ได้เปลี่ยนไปเมื่อเธอกลับไปตกหลุมรักกับ Mellors คนสวนประจำบ้านของเธอ ซึ่งทำให้แรงปรารถนาทางเพศของเธอถูกกระตุ้นขึ้นมา

สร้างมาจากนิยายของ D. H. Lawrence เมื่อปี 1928 หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 ในฐานะนวนิยายอีโรติกเรื่องแรก ซึ่งในตอนนั้นถูกห้ามเผยแพร่ในประเทศอังกฤษเนื่องจากเป็นหนังสือโป๊ จนกระทั่งถึงปี 1960 จึงได้รับการยอมรับให้เผยแพร่ ส่วนในเวอร์ชั่นหนังก็สร้างความฮือฮาได้ไม่แพ้กัน เมื่อถูกแบนในอเมริกาในปีที่ออกฉาย เพราะมันถูกตัดสินว่าเป็นสื่อที่ส่งเสริมในการคบชู้ จนกระทั่งได้ออกฉายอีกครั้งในปี 1959 ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ยังถูกดัดแปลงไปเป็นหนังและทีวีซีรี่ส์อีกหลายเวอร์ชั่น ถึงแม้ว่าเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศและความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดเหล่านี้อาจจะเป็นแนวคิดที่ในสมัยนี้ถือว่าจะเป็นเรื่องที่ธรรมดาไปเสียหน่อย แต่ถ้าเปรียบเทียบในยุคนั้นแล้ว ถือว่าเป็นการท้าทายศีลธรรมและชุดความคิดของผู้อ่านมากอยู่ทีเดียว


My Life Without Me (2003, Isabel Coixet)

โปรดิวซ์โดยบริษัทของ Pedro Almodóvar ชื่อว่า El Deseo หนังเล่าเรื่อง Ann (Sarah Polley) ผู้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและมีความสุขกับ Don (Scott Speedman) สามีของเธอและลูกๆ อีกสองคน Penny และ Patsy แต่เมื่อเธอได้ไปหาหมอเพื่อตรวจความพร้อมในการตั้งครรภ์ Ann กลับพบว่าเธอกำลังเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และมีเวลาอยู่ได้อีกแค่ 2 เดือน เธอเก็บความลับนี้ไว้ไม่ให้คนในครอบครัวรู้ และได้เตรียมใจที่จะตายโดยการทำลิสท์สิ่งที่เธอควรทำก่อนตาย รวมไปถึงการเตรียมเทปอวยพรวันเกิดให้กับลูกๆ ทั้งสองจนถึงอายุ 18 ปี จะกินจะดื่มอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ บอกทุกอย่างเป็นความจริงเท่านั้น ไปเยี่ยมพ่อของเธอในคุก หรือแม้กระทั่งการมีเพศสัมพันธ์กับชายคนอื่นที่ไม่ใช่สามีของเธอ (Mark Ruffalo)

ถึงแม้ประเด็นหลักของหนังก็คือการใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด แต่ในส่วนเรื่องความรักและความสัมพันธ์ก็เป็นอีกประเด็นที่ Ann ให้ความสนใจ เพราะเธอไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกเติมเต็มในเรื่องนี้เลย ในเมื่อสามีของเธอก็ไม่ได้ให้ความสนใจในตัวเธอมากขนาดนั้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการได้เรียนรู้ที่จะรักใครสักคนอีกครั้งอาจจะทำให้เธอรู้สึกได้กลับมาเรียนรู้ในการมีชีวิตอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่อยากจะทอดทิ้งทุกอย่างไปโดยที่ไม่ได้ทำอะไร ไม่เช่นนั้นชีวิตของลูกๆ เธออาจจะเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง เธอจึงมีอีกหนึ่งเป้าหมายคือการหาภรรยาใหม่ให้กับ Don และเป็นแม่คนใหม่ให้กับลูกๆ ถึงจะเป็นการทดแทนส่วนที่ขาดหายเมื่อเธอจากไป แต่อีกคำถามที่ถูกตั้งก็คือว่า ถ้าเธอไม่ได้กำลังจะตายในอีกไม่นาน เธอจะกล้าพอที่ลองใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงแบบนี้อยู่หรือเปล่า

ฟื้นฟูหนังไทย ฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวของไทย สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ แต่พอเกิดโรคระบาดขึ้นทั่วโลก ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวซบเซาตามกัน ถึงขนาดว่าในปี พ.ศ.2563 รายได้จากการท่องเที่ยวทั้งจากนอกประเทศและในประเทศเอง พลาดเป้าไปถึง 2.35 ล้านล้านบาท จากที่ตั้งไว้ 3.18 ล้านล้านบาท หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ธุรกิจท่องเที่ยวปีที่แล้วทำรายได้ไปไม่ถึง 1 ล้านล้านบาทเลยด้วยซ้ำ (ข้อมูลจาก ‘ประชาชาติธุรกิจ’)

อีกความจริงหนึ่งคือปัจจัยที่กระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว โดยมากมักเกิดจากความนิยมในตัวหนังนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงก่อนที่จะเกิดโรคระบาดนั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน มันคึกคักอย่างยิ่งหลังความนิยมของหนัง Lost in Thailand ซึ่งเข้าฉายไปตั้งแต่ปี 2012 โดยมีรายงานว่าปีแรกหลังการออกฉาย นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยมากขึ้นกว่า 13% และเพิ่มขึ้นเรื่อยมา

ดังนั้นหากมองในระยะยาว สิ่งที่ต้องฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนหลังจากหมดโรคระบาดแล้วย่อมคือธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อเร่งให้รายได้กลับมาสะพัดอีกครั้ง และตัวช่วยสำคัญที่จะดึงนักท่องเที่ยวกลับมาจึงอาจต้องพึ่งพา “หนัง” ดังนั้นจึงเป็นไปได้หรือไม่ที่หนังไทยซึ่งกำลังบอบช้ำจากโควิดรอบนี้จะกลับมามีบทบาทที่สำคัญอีกครั้ง

แต่จะต้องเป็นหนังแบบไหนล่ะ ถึงจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้?

อันดับแรก หนังต้องได้รับความนิยมในต่างประเทศก่อน! นี่คือปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเว็บไซต์ championtraveller.com ระบุว่าหนังที่ได้รับความนิยมในระดับโลกสามารถสร้างรายได้ให้ธุรกิจท่องเที่ยวถึง 25-300% เลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น Frozen ที่แม้จะเป็นแอนิเมชั่นแต่ก็ทำให้การท่องเที่ยวนอร์เวย์คึกคักขึ้น 37% ขณะที่ The Beach ก็ทำให้อ่าวมาหยาในหมู่เกาะพีพี มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากขึ้น 22% ส่วน Notting Hill ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสถานที่ถ่ายทำในลอนดอนเพิ่มขึ้น 10% ภายในเดือนเดียว และที่สุดขีดคลั่งคือ Mission Impossible 2 ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางไป Sydney National Park มากขึ้น 200% ในปี 2000 และ Braveheart ทำให้อนุสาวรีย์วอลเลซมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมถึงสกอตต์แลนด์มากขึ้น 300% ภายในปีเดียว

หนังชุด The Lord of the Rings ของ ปีเตอร์ แจ๊คสัน คือตัวอย่างอันดีของการฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ด้วยหนังที่ได้รับความนิยม ซึ่งหนังชุดนี้เริ่มออกฉายตั้งแต่ปี 2001 หลังจากนั้นมาอีก 20 ปี หนังชุดนี้ก็ยังมีอิทธิพลให้นักท่องเที่ยวเดินทางตามรอยหนังไปยังนิวซีแลนด์อยู่นั่นเอง และธุรกิจท่องเที่ยวทำรายได้ให้นิวซีแลนด์ถึงปีละ 39.1 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือราว 8 แสนล้านบาท

“ถึงแม้ว่าภาคแรกของ The Lord of the Rings จะออกฉายมายี่สิบปีแล้วก็ตาม แต่หนึ่งในห้าของนักท่องเที่ยวก็ยังบอกว่าหนังคือส่วนที่ทำให้ตัดสินใจเดินทางมาที่นี่” รีเบ็คกา อิงก์แรม ผู้ว่าการท่องเที่ยวนิวซีแลนด์กล่าว

การจะบอกว่าความสำเร็จของหนังคือปัจจัยสำคัญให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางตามรอยหนัง อาจเป็นคำกล่าวที่กว้างเกินไปและอาจทำให้เข้าใจว่าหนังที่ประสบความสำเร็จต้องเป็นหนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์เท่านั้น หากจำกัดให้แคบลงอีกนิด หนังเรื่องนั้นๆ อาจต้องแสดงให้เห็น “แลนด์มาร์ค” ที่สำคัญ และสร้างการจดจำเชิงบวกของสถานที่นั้นๆ ด้วย

Emily in Paris คือตัวอย่างที่ชัดเจน มันเป็นซีรีส์ชวนฝันที่ออกฉายทาง Netflix ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีกลาย อย่างไรก็ดีบรรยากาศอันงดงามของปารีสในซีรีส์เรื่องนี้ก็ทำให้ชาวอังกฤษอยากไปเยือนปารีสมากขึ้นถึง 50% แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในปารีสต้องเร่งตอบรับความต้องการของโลก ด้วยการดึงบรรยากาศจากซีรีส์มาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวเป็นการด่วน เช่น โรงแรมหลายแห่งหันมาตกแต่งห้องพักให้ใกล้เคียงบรรยากาศในซีรีส์เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ซึมซับบรรยากาศเดียวกับตัวละคร เป็นต้น

Emily in Paris

ตัวอย่างของ Emily in Paris คือการพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ใช่เพียงแค่หนังที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เมืองท่องเที่ยวเพียงฝ่ายเดียว แต่ภาคการท่องเที่ยวในภูมิภาคต้องรับลูกจากหนังมาต่อยอดด้วย ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของ Harry Potter หนังแฟนตาซีในโลกเวทมนตร์ที่แทบไม่ได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมอะไรอย่างเป็นรูปธรรม แต่การท่องเที่ยวในอังกฤษก็สร้างจุดขายให้นักท่องเที่ยวได้ตามรอยโลกเวทมนตร์ในลอนดอนจนสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากกว่า 50% และบางเมืองมากถึง 200% เลยด้วยซ้ำ

ภาคการท่องเที่ยวของหลายประเทศกล่าวตรงกันว่า “หนัง” มีอิทธิพลต่อการท่องเที่ยวมากเสียยิ่งกว่าสื่อประชาสัมพันธ์ใด และมักสัมฤทธิ์ผลได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงปีเดียว แต่หากเราจะคาดหวังให้หนังเป็น “ทางลัด” ในการช่วยฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยว อาจต้องผลักดันเป็นภาพใหญ่

ลำดับแรกคือการกระตุ้นให้กองถ่ายหนังต่างประเทศมาใช้เมืองไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำให้มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะกระตุ้นการท่องเที่ยวแล้วยังกระตุ้นการจ้างงานในประเทศด้วย อันเป็นกลยุทธ์ที่ภาครัฐไทยพยายามทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่นอกเหนือไปกว่านั้นคือการผลักดันหนังในประเทศออกสู่ต่างประเทศด้วยผลงานที่สากลให้การยอมรับให้มากที่สุด

หากวางเป้าหมายว่าปี 2022 ประเทศไทยจะกลับมาเดินเกมเพื่อให้เกิดความคึกคักด้านการท่องเที่ยว คงยังไม่สายหากในวันนี้เราจะเริ่มวางกลยุทธ์ผลักดันหนังไทยให้สามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเยือนได้อีกครั้งด้วยหนังที่ส่งออกทางวัฒนธรรมโดยไม่จำเป็นต้องสวยงามตามแนวทางของกระทรวงวัฒนธรรม แต่เป็นการรับรู้เชิงบวกให้ผู้ชมรู้สึกอยากค้นหาหรือมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมไปด้วยกัน และในตอนนี้ก็มีหนังไทยที่ร่วมทุนกับต่างชาติรอทำหน้าที่นั้นไว้แล้วอย่างน้อย 1 เรื่องคือ ‘ร่างทรง’ ของผู้กำกับ บรรจง ปิสัญธนะกูล และอำนวยการสร้างโดย นาฮงจิน ซึ่งแม้คงไม่ได้ถ่ายทอดบรรยากาศชวนฝันแบบ Emily in Paris แต่ก็ถ่ายทอดความเชื่อและวัฒนธรรมอีสานออกสู่สากล รอเพียงให้ภาคการท่องเที่ยวรับช่วงต่อตกแต่งแพ็คเกจเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อไป

แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น รัฐควรเร่งปัจจัยแวดล้อมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านการผลิตและการท่องเที่ยวโดยเร็วที่สุด


ข้อมูลประกอบ

https://championtraveler.com/news/popular-movies-can-increase-tourism-to-the-films-location-between-25-300/

https://www.prachachat.net/tourism/news-588126

https://discovery.cathaypacific.com/middle-earth-film-tourism-changed-new-zealand/

https://e-journal.unair.ac.id/AJIM/article/download/20392/12438

https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/epaper/jan_june2009/pdf/Walaiporn.pdf

https://pubosphere.fr/destination-placement-is-emily-in-paris-an-ad-for-the-city-of-paris/

Happiest Season : ราคาของความคาดหวัง

“ฉันบอกที่บ้านไม่ได้ว่าเราเป็นแฟนกัน เพราะพวกเขาต้องรับไม่ได้แน่” – นีคือหนึ่งในซีนสุดคุ้นเคยจากหนัง Queer หรือ LGBT หลายเรื่อง กับปัญหา “การอยู่ใน Closet” หรือการยังไม่เปิดเผยตัวตนของชาวสีรุ้ง ซึ่งทำให้คู่รัก LGBT หลายคู่ต่างต้องทะเลาะหรือเลิกรากันไป แต่ก็มีบางคู่ที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคร่วมกันจนสร้างอนาคตด้วยกันขึ้นมาได้ เพียงแต่ภาพจำอย่างหลังมักไม่ถูกพูดถึงในหนังฮอลลีวูดกระแสหลัก แต่แล้ววันนี้ ภาพอนาคตที่เป็นไปได้ของชาว LGBT ก็ได้ออกมาเฉิดฉายในหนังโรแมนติก คอมิดีช่วงเทศกาล อย่าง Happiest Season

หากจะมีอะไรที่เป็นการแผ้วถางเส้นทางใหม่ให้กับวงการหนัง LGBT คงเป็นการที่หนังเรื่องนี้ถูกฉายในฐานะหนังช่วงเทศกาลวันหยุดคริสต์มาส ซึ่งมักจะเต็มไปด้วยหนังรักของคู่รักชายหญิง หรือหนังที่เชิดชูอุดมการณ์ครอบครัวแบบรักต่างเพศ แค่พูดถึง genre ของโรแมนติก คอมิดีเอง เราก็อดไม่ได้จริงๆ ที่จะนึกถึงหนังรักตามแบบฉบับชาย-หญิง ที่ทั้งคู่ได้ลงเอยกันในช่วงเทศกาลอันอบอุ่น แต่ครั้งนี้ ชาว LGBT จะขอเฉลิมฉลองให้กับความรักของพวกเขาบ้าง และมันก็กลายมาเป็นการสร้างหนทางใหม่ๆ ที่ดูใจกล้ามากพอสมควรเลยทีเดียว

Happiest Season เป็นเรื่องราวของคู่รักเลสเบียน แอบบี และฮาร์เปอร์ ที่กำลังจะเดินทางไปฉลองคริสต์มาสกับครอบครัวของฝ่ายหลัง แอบบีตั้งใจจะขอฮาร์เปอร์แต่งงาน โดยขอกับพ่อของเธอ แต่ในระหว่างทาง ฮาร์เปอร์ก็สารภาพว่าเธอยังไม่ได้บอกที่บ้านว่าทั้งคู่เป็นคนรักกัน และบอกเพียงว่าแอบบีเป็นรูมเมทของตัวเอง ด้วยความที่ฮาร์เปอร์สัญญาว่าจะเปิดเผยกับพ่อแม่หลังเทศกาล เพราะในช่วงนี้พ่อของเธอกำลังทำแคมเปญลงเลือกตั้งนายกเทศมนตรี แอบบีจึงยอมตามน้ำไปด้วย จนกลายเป็นโมเมนต์สุดอึดอัดในระหว่างที่ทั้งสองอยู่กับครอบครัวของฮาร์เปอร์ ซึ่งทำให้แอบบีเริ่มคิดว่าเธออาจจะต้องการอยู่กับคนที่พร้อมกว่านี้

ภาพของครอบครัวฮาร์เปอร์ดูเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างสมบูรณ์แบบ และดูท่าว่าจะเป็นรีพับลีกันอีกด้วย เมื่อพวกเขาพูดถึง LGBT ว่าเป็น “ตัวเลือกวิถีชีวิต​ (Lifestyle Choice)” ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้อยากจะยุ่งเกี่ยวมากนัก พ่อของฮาร์เปอร์เป็นนักการเมืองที่ต้องรักษาหน้าตา ส่วนแม่ก็เป็นกุลสตรีที่เพียบพร้อมที่ช่วยผลักดันสามีจากหลังบ้าน ดูแล้วครอบครัวนี้ไม่ใกล้เคียงกับคำว่าเปิดกว้างทางเพศเอาเสียเลย และนั่นทำให้แอบบีรู้สึกเหมือนอยากจะหนีไปให้ไกล ซึ่งตัวเลือกของนักแสดงก็ลงตัวที่คริสเตน สจ๊วต ในบทแอบบี และแม็คเคนซี เดวิส ในบทฮาร์เปอร์

“คริสเตน สจ๊วตเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ยังมีชีวิตอยู่คนโปรดของฉัน และหนึ่งในสิ่งที่ฉันชอบมากที่สุดเกี่ยวกับเธอ คือความจริงที่ว่าบ่อยครั้งเธอดูเหมือนอยากหนีจากหนังที่เธอแสดงอยู่แล้วไปที่อื่น” – เอมิลี แวนเดอร์เวิร์ฟ จาก Voxhttps://www.vox.com/culture/2020/11/24/21570507/happiest-season-review-hulu-kristen-stewart-rom-com-lesbian

เหตุที่สจ๊วตแสดงบทนี้ได้ดีอาจเป็นเพราะเธอต้องทำหน้าอยากหายไปจากโลกนี้ตลอดเวลา ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว หนังโรแมนติกคอมิดี้อาจจะไม่ใช่ทางของเธอเท่าไหร่นัก เพียงแต่ในเรื่องนี้บทค่อนข้างจะส่งเข้ากับคาแรคเตอร์ของเธอ อย่างไรก็ตาม ผลงานของสจ๊วตในเรื่องนี้ไม่ได้น่าจดจำมากสักเท่าไหร่ บางครั้งคนดูอาจนึกถึงเธอในบทเบลลา จาก Twilight Saga ซึ่งตีหน้าเฉยตลอดเวลาเสียมากกว่า

หนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้ตัวเลือกนักแสดงถือว่าดีใช้ได้ทีเดียวสำหรับเรื่องนี้ ก็คือแม็คเคนซี เดวิส ซึ่งแสดงเป็นหญิงสาวจากครอบครัวอนุรักษ์นิยมได้อย่างน่าเชื่อ และฉากที่เธอออกมาป่าวประกาศว่าตัวเองเป็นเลสเบียนก็มีผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้ชมและทำให้สะเทือนใจได้อย่างดี เคมีของเธอกับสจ๊วตถือว่าเข้าทางเลยทีเดียว เมื่อสมทบด้วยการแสดงของแดน เลวี ในบทจอห์น เพื่อนเกย์ที่ให้คำแนะนำและช่วยแอบบีจากสถานการณ์น่าอึดอัด และอลิสัน บรี ในบทสโลน พี่สาวสุดเพอร์เฟกต์ที่แก่งแย่งแข่งขันกับฮาร์เปอร์ ก็ทำให้หนังเรื่องนี้มีติมากยิ่งขึ้น

ประเด็นที่จะไม่พูดถึงในหนังไม่ได้เลยก็คือเรื่องของความคาดหวัง ทุกคนในหนังถูกคาดหวังด้วยกันทั้งหมด ฮาร์เปอร์บอกว่า ความรักของคนในบ้านของเธอไม่ใช่ของที่ได้มาฟรีๆ แต่ลูกสาวทั้งสามคนของบ้านนี้ต้องทำตัวเป็นเด็กดีสุดเพอร์เฟกต์ พวกเธอจึงจะได้มันมา สโลน พี่สาวของฮาร์เปอร์กับสามีซึ่งเคยเป็นอัยการทั้งคู่ซ่อนความไม่เพอร์เฟกต์ในชีวิตคู่จากพ่อแม่เอาไว้ เธอไม่บอกใครว่าเธอกำลังจะหย่าจากสามี เพราะนั่นอาจทำให้พ่อแม่ใจสลายและเห็นว่าเธอไม่ควรค่าแก่ความรัก เจน ลูกสาวคนกลาง ดูจะเป็นคนเดียวที่ไม่ถูกคาดหวัง เพราะพ่อแม่ไม่ได้เห็นความสำคัญในตัวเธอ แต่ก็เห็นว่าเธอไม่มีตัวตนเช่นกัน ยิ่งกับฮาร์เปอร์ยิ่งแล้วใหญ่ การบอกกับพ่อแม่ว่าเธอเป็นเลสเบี้ยนอาจจะทำให้เธอเสียพวกเขาไป แต่ถ้าเธอไม่บอก เธอก็อาจจะเสียแอบบีไปได้เช่นกัน

เหล่า LGBT ต่างถูกท้าทายด้วยความคาดหวังจากครอบครัว ว่าพวกเขาหรือพวกเธอจะต้องเป็นเหมือนคนอื่นๆ และไม่ทำให้พ่อแม่ขายหน้า ซึ่งฉากที่จอห์นพูดเกี่ยวกับการ come out นั่นมันช่างจริงเอามากๆ วินาทีที่หัวใจเต้นระรัวก่อนจะพูดความจริงเกี่ยวกับตนเองออกไปนั้นเป็นวินาทีสุดสยอง และเมื่อพูดคำนั้นออกไปแล้ว พวกเขาก็ไม่สามารถย้อนกลับไปได้อีก เหมือนกับชีวิตบทใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น ถ้ามีความเสียหาย พวกเขาก็ย้อนกลับไปซ่อมมันไม่ได้อีกแล้ว

พ่อแม่ของฮาร์เปอร์อาจถูกมองเป็นตัวร้ายในเรื่องที่ให้ความรักแบบ “มีเงื่อนไข” กับลูกๆ ของพวกเขา แต่แล้ว หนังก็เผยอีกด้านของสองคนนี้ให้คนดูได้เห็น ทิปเปอร์ แม่ของฮาร์เปอร์อยากเรียนคาราเต้มาโดยตลอด แต่เธอไม่ทำ เพราะมันดูไม่สมหญิง และไม่ช่วยส่งเสริมหน้าที่การงานของสามี ในขณะที่เท็ด พ่อของฮาร์เปอร์นั้นคิดว่า ถ้าหากเขาได้เป็นนายกเทศมนตรีแล้วลูกๆ จะภูมิใจในตัวเขา เรียกได้ว่าทุกคนในเรื่องต่างเป็นเหยื่อของความคาดหวัง ซึ่งเกิดจากการที่แต่ละฝ่ายต่างคิดกันไปเองว่าตนเองจะไม่เป็นที่รักหากไม่ทำตามความหวังของคนอื่น

ตัวละครที่ถูกใส่เข้ามาและทำให้หนังดูกลมขึ้นอีกตัว ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือไรลีย์ แฟนเก่าของฮาร์เปอร์ที่เคยถูกฮาร์เปอร์หักหลังจนเธอโดนเกลียดจากคนทั้งโรงเรียน ไรลีย์เป็นตัวละครที่ทำให้เราได้รู้ว่าฮาร์เปอร์กลัวการถูกปฏิเสธจากครอบครัวมากเพียงใด ความกลัวนั้นมากพอที่เธอจะทำร้ายคนที่เธอรัก เพื่อที่จะยังคงเป็นเด็กดีของพ่อแม่

สิ่งที่เหล่า LGBT ต้องการคงไม่ใช่การที่พ่อแม่เลิกหวังในตัวพวกเขา แต่เป็นการที่พ่อแม่ไม่ “ยัดเยียด” ความหวังที่ไม่ตรงกับตัวตนจริงๆ ของพวกเขามาให้ และสนับสนุนพวกเขาในแบบที่พวกเขาเป็น เช่นพ่อแม่ของแอบบีที่คอยให้กำลังใจเธอมาตลอด แต่เรื่องราวการเปิดเผยตัวตนของ LGBT แต่ละคนนั้นมีรายละเอียดแตกต่างกันไป จอห์นบอกกับแอบบีว่า การที่ฮาร์เปอร์ไม่เปิดเผยความจริงนั้นไม่ได้เกี่ยวกับตัวแอบบี แต่เกี่ยวกับฮาร์เปอร์เองต่างหาก เธอไม่ได้ “ซ่อน” แอบบี แต่เธอกำลังซ่อนตัวเอง เขาพยายามพูดให้แอบบีเข้าใจว่าแต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตต่างกัน และเล่าถึงประสบการณ์การ come out ที่แสนเจ็บปวดของตัวเอง

หากจะมีอะไรที่ Happiest Season ทำได้ดีมากๆ มันก็คือการที่หนังพยายามเป็นตัวแทน (represent) ความยากลำบาก หรือการต่อสู้ของ LGBT ที่ไม่ได้เป็นเพียงมายาคติ แต่มีอยู่จริง และทำให้คนเข้าใจเรื่องราวของคนกลุ่มนี้มากขึ้น การเป็น LGBT ไม่ได้เป็นแค่ “ช่วงๆ หนึ่งที่สับสน (phase)” แต่เป็นโครงการประกอบสร้างตัวตนที่คนกลุ่มนี้ต้องรับมือทั้งชีวิต ซึ่งการที่หนังเอาประสบการณ์ตรงนี้มาเล่าได้นั้น ถือว่าหนังได้ประสบความสำเร็จในการเป็นกระบอกเสียงของชาว LGBT และน่าคาดหวังให้มีหนังแบบนี้ออกมาอีก


ดู Happiest Season ได้ที่ Netflix

วิบากกรรมอุตสาหกรรมหนังฮ่องกงกับกฎหมายเซ็นเซอร์ใหม่

หลังจากเมื่อปีที่แล้ว ฮ่องกงได้ผ่านเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยที่ประชาชนจำนวนมากได้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลจนนำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง (national security law) โดยรัฐบาลจีน ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ส่งผลให้สิทธิ์การแสดงออกใดๆ ที่ถูกตีความว่าเป็นการแบ่งแยกประเทศ บ่อนทำลายอำนาจของรัฐบาลกลาง ก่อการร้าย และสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ ถือว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงhttps://www.bbc.com/news/world-asia-china-52765838 มาในปีนี้ รัฐบาลฮ่องกงได้เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายด้วยการป้องปรามการแสดงออกผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต รวมถึงสื่อภาพยนตร์ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงได้ประกาศปรับแก้ระเบียบการเซ็นเซอร์หนังด้วยการระบุลงในแนวทางการพิจารณาภาพยนตร์ของกองเซ็นเซอร์ว่าหนังเรื่องใด ไม่ว่าจะเป็นหนังท้องถิ่นและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นหนังเล่าเรื่อง (feature film) หรือหนังสารคดี (documentary film) หากมีเนื้อหาที่ขัดต่อความมั่นคง หรือก่อให้เกิดการขัดขืนต่อกฎระเบียบด้วยรูปแบบใดๆ ก็ตาม จนนำไปสู่การเลียนแบบ หนังเหล่านั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในที่สาธารณะโดยเด็ดขาดhttps://www.reuters.com/world/asia-pacific/hong-kong-censor-films-under-national-security-law-2021-06-11/

แม้ว่ารัฐบาลฮ่องกงจะไม่ได้พูดถึงมูลเหตุที่ทำให้มีการปรับแก้ระเบียบเซ็นเซอร์หนังที่เพิ่งปรับแก้ล่าสุดในปี 2011 แต่ก็เป็นไปได้ว่าเกี่ยวข้องกับหนังสองเรื่องที่ฉายในตอนต้นปีนี้ ได้แก่ Inside the Red Brick Wall หนังสารคดีที่นำเสนอเหตุการณ์การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2019 ซึ่งเมื่อแรกเริ่มเข้าฉายในเดือนมีนาคมก็ประสบความสำเร็จถึงขั้นตั๋วเข้าชมเต็มในหลายรอบ ส่งผลให้สื่อที่สนับสนุนรัฐบาลปักกิ่งต้องออกมาประท้วงและกดดันให้ทางการต้องบีบให้โรงหนังที่ฉายต้องยุติการฉายหนังเรื่องนี้ในเวลาอันรวดเร็วhttps://variety.com/2021/film/asia/pro-democracy-film-red-brick-wall-pulled-hong-kong-cinema-1234930715/ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเป็นหนังแนวอาชญากรรมระทึกขวัญเรื่อง Where the Wind Blows ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับตีแผ่ความฉ้อฉลในแวดวงตำรวจฮ่องกงในทศวรรษที่ 1960 หนังมีกำหนดเปิดตัวในเทศกาลหนังนานาชาติฮ่องกงในเดือนเมษายน แต่ก็ถูกถอนออกจากโปรแกรมด้วยเหตุผลว่า “มีปัญหาทางด้านเทคนิค” และจนถึงบัดนี้หนังก็ยังไม่ได้ออกฉายอย่างเป็นทางการhttps://variety.com/2021/film/asia/hong-kong-festival-cancels-opening-film-where-the-wind-blows-1234939989/

แม้ว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่มีหนังฮ่องกงเรื่องใดถูกพิจารณาด้วยกฎเซ็นเซอร์ใหม่เนื่องจากเพิ่งถูกประกาศใช้สดๆ ร้อนๆ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหนังฮ่องกงอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนจะวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อวงการหนังจากการที่กฎหมายเซ็นเซอร์ใหม่ถูกบังคับใช้ เราควรมาทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของระบบเซ็นเซอร์หนังของฮ่องกงกันก่อนว่ามีลักษณะอย่างไร และมีผลต่อพัฒนาการของหนังฮ่องกงแค่ไหน


พระราชกฤษฎีกาเซ็นเซอร์ปี 1947 : เมื่อความมั่นคงคือการรักษาสมดุลอุดมการณ์การเมือง

กฎหมายเซ็นเซอร์หนังของฮ่องกงที่ได้สร้างรากฐานสำคัญจนถูกต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้ ถูกประกาศใช้ครั้งแรกในปี 1947 โดยรัฐบาลอาณานิคมสหราชอาณาจักร มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมสื่อภาพยนตร์ทุกประเภททั้งภาพยนตร์ฉายโรงหรือในสโมสรภาพยนตร์ โดยในระยะแรกผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมเนื้อหาภาพยนตร์คือกรมตำรวจ ก่อนที่ต่อมาจะถูกโอนไปเป็นของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ (Panel of Censor) ที่จะทำหน้าที่พิจารณาภาพยนตร์ในเบื้องต้นว่ามีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมของสังคมหรือนำเสนอความรุนแรงหรือไม่ หากไม่มีปัญหา ก็จะถูกพิจารณาให้ฉายได้ แต่ถ้าในกรณีที่หนังเรื่องใดไม่ผ่านการพิจารณา ผู้สร้างก็สามารถอุทธรณ์ได้โดยหน่วยงานที่จะทำการพิจารณาอุทธรณ์คือคณะกรรมการทบทวนเนื้อหา (Board of Review) ซึ่งผลการตัดสินโดยคณะกรรมการทบทวนให้ถือเป็นเด็ดขาดhttps://www.jstor.org/stable/44160411 p.118-119

ในช่วงระหว่างปี 1947 ถึงปี 1965 บทบาทหน้าที่ของกองเซ็นเซอร์นอกจากควบคุมเนื้อหาภาพยนตร์ไม่ให้ขัดต่อศีลธรรมของสังคมโดยเฉพาะความรุนแรงและเพศ ยังต้องพิจารณาว่าเนื้อหาของภาพยนตร์แต่ละเรื่องขัดต่อ “ความมั่นคง” หรือไม่ โดยความมั่นคงในช่วงเวลานั้น มีความสอดคล้องกับสภาพทางการเมืองโลกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และสภาพทางภูมิศาสตร์ที่อ่อนไหวของเกาะฮ่องกงเป็นหลัก โดยในแง่ของสภาพทางการเมืองโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจสองฝ่ายได้แก่ฝ่ายประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐและฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต ส่วนในแง่สภาพทางภูมิศาสตร์ ฮ่องกงตั้งอยู่ระหว่างสองประเทศที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน ได้แก่ เกาะไต้หวันที่ปกครองโดยรัฐบาลก๊กมินตั๋ง และสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ปกครองโดยระบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งทั้งสองประเทศมักส่งออกหนังที่เผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละฝ่ายมาจัดจำหน่ายในฮ่องกงอยู่เสมอhttps://www.jstor.org/stable/44160411 p. 143-144

แม้ว่าฮ่องกงในช่วงเวลานั้นเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม แต่การที่ประเทศตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ละเอียดอ่อนทางภูมิศาสตร์ จึงทำให้ฮ่องกงดำเนินนโนบายเป็นกลางทั้งมิติทางการเมืองและวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้หลักสำคัญในการพิจารณาภาพยนตร์ของกองเซ็นเซอร์ คือการทำให้หนังไม่ว่าจะมาจากโลกอุดมการณ์ฝั่งไหนปราศจากความเป็นการเมืองมากที่สุด ดังนั้นหนังที่มาจากทั้งฝั่งจีนแดงและไต้หวัน รวมถึงหนังที่ผลิตโดยหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอย่าง USIS หากถูกพิจารณาว่านำเสนออุดมการณ์ทางการเมืองมากเกินไป อาจถูกสั่งห้ามฉายหรือต้องปรับแก้ใหม่https://www.jstor.org/stable/44160411 p. 143-144

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มคลี่คลายในช่วงหลังปี 1965 ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายกฎเซ็นเซอร์ลง เปิดโอกาสให้หนังจากทั้งฝั่งจีนแดงและไต้หวันที่นำเสนอแนวคิดทางการสามารถฉายในโรงหนังมากขึ้น สาเหตุสำคัญเป็นเพราะความอ่อนไหวทางการเมืองในฮ่องกงเริ่มลดลง ประกอบกับข่าวในแง่ลบของการปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีนที่ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวความคิดของฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตงค่อยๆ เสื่อมความนิยมในหมู่คนฮ่องกง นอกจากนี้ ช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มปฏิเสธแนวคิดทางการเมืองของทั้งจีนคอมมิวนิสต์และไต้หวัน แล้วหันไปยึดเกาะอัตลักษณ์ความเป็นอาณานิคม (colonial identity) ที่ผสานระหว่างความโหยหาในวัฒนธรรมจีนแบบดั้งเดิมกับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกhttps://www.jstor.org/stable/44160411 p.145

และเป็นเพราะบรรยากาศผ่อนคลายของระบบเซ็นเซอร์ ในช่วงเวลานี้เอง ที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงเติบโตอย่างรวดเร็ว หนังหลายเรื่องหลายแนวถูกผลิตออกมาป้อนตลาดอย่างหลากหลาย ทั้งหนังแอ็คชั่น หนังชีวิต ไปจนถึงหนังสยองขวัญ ตลอดระยะทศวรรษที่ 1970 – 1990 อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากอเมริกา นอกจากนี้ฮ่องกงยังได้รับการบันทึกว่าเป็นประเทศที่ส่งออกหนังออกสู่ตลาดต่างประเทศมากอันสอบของโลกโรงจากฮอลลีวูดhttps://en.wikipedia.org/wiki/Cinema_of_Hong_Kong ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในลูกค้าสำคัญของหนังฮ่องกงในช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญของกฎหมายเซ็นเซอร์ฮ่องกงเกิดขึ้นในปี 1988 หลังจากทางการฮ่องกงได้รับการร้องเรียนเรื่อง ความรุนแรง และฉากโป๊เปลือยที่ปรากฏในหนังหลายๆ เรื่อง จึงได้ทำการปรับแก้กฎหมายเซ็นเซอร์ซึ่งตลอดมาไม่เคยจำกัดอายุผู้ชม ไปสู่การกำหนดอายุผู้ชม หรือเรียกว่าระบบเรตติ้ง โดยระบบเรตติ้งตามกฎหมายเซ็นเซอร์ฉบับแก้ไข แบ่งกลุ่มประเภทหนังตามกลุ่มผู้ชมออกเป็น 3 ประเภท ตามตัวเลขโรมันดังต่อไปนี้ เรต I หมายถึงหนังที่ผู้ชมทั่วไปรวมถึงเด็กสามารถดูได้ เรต IIA สำหรับหนังที่ไม่เหมาะกับเด็ก ส่วนใหญ่เป็นหนังที่มีการแสดงภาพรุนแรงเล็กน้อย รวมถึงการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม เรต IIB สำหรับหนังที่ไม่เหมาะกับเด็กและเยาวชนซึ่งมักเป็นหนังที่แสดงภาพความรุนแรง มีการใช้คำสบถ รวมถึงการนำเสนอภาพโป๊เปลือย และเรต III สำหรับหนังที่ผู้ชมที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่สามารถเข้าชมได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังประเภทอิโรติกโจ่งแจ้งหรือมีความรุนแรงสุดขั้วhttps://en.wikipedia.org/wiki/Hong_Kong_motion_picture_rating_system


ระบบเรตติ้งกับผลพลอยได้ของวงการหนัง

The Untold Story (1993) หรือ ซาลาเปาเนื้อคน

แม้ระบบการจัดอายุ จะทำให้หนังบางเรื่องต้องสูญเสียรายได้บ้าง เนื่องจากฐานอายุของผู้ชมไม่กว้างเหมือนเดิม แต่ได้ทำให้ผู้สร้างหนังบางรายมองเห็นลู่ทางของการใช้ประโยชน์จากระบบเซ็นเซอร์ใหม่ ด้วยการสร้างหนังที่จงใจให้ได้รับการพิจารณาเข้าเกณฑ์เรต III ซึ่งเป็นเรตสูงสุด ห้ามผู้ชมอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าชม หนังประเภทนี้รู้จักกันดีในชื่อ หนังเกรด 3 (Category III films) เนื้อหาของหนังเกรด 3 ส่วนใหญ่นำเสนอเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้ง รวมถึงความรุนแรงอย่างไม่บันยะบันยัง จนทำให้ได้รับเสียงวิจารณ์ในเชิงลบ อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการตอบรับ หนังเกรด 3 หลายเรื่องประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังอิโรติกอย่าง Pretty Woman (1991) ที่เป็นเรื่องของหญิงสาวที่ถูกว่าจ้างโดยชายหนุ่มให้ปลอมตัวเป็นผู้หญิงที่เขาได้ข่มขืนและฆาตกรรมโดยที่เธอไม่ล่วงรู้ความจริงมาก่อน หนังทำรายได้สูงถึง 30 ล้านเหรียญฮ่องกงเมื่อออกฉาย หรือหนังที่นำเสนอความรุนแรงสุดขั้วอย่าง The Untold Story (1993) ที่ผู้ชมชาวไทยคุ้นเคยกับชื่อ ซาลาเปาเนื้อคน ที่ประสบความสำเร็จไม่เพียงแค่ในฮ่องกงแต่ร่วมถึงในต่างประเทศด้วย กล่าวกันว่าในช่วงที่หนังเกรดสามได้รับความนิยมมากๆ สัดส่วนทางการตลาดของหนังประเภทนี้อยู่ระหว่าง 25 – 50 % ของหนังทั้งหมดที่ออกฉายhttps://www.scmp.com/magazines/style/celebrity/article/3081457/how-did-hong-kong-film-industry-get-so-big-and-why-did-it อย่างไรก็ดี ความนิยมในหนังเกรด 3 ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง เนื่องจากคุณภาพของหนังส่วนใหญ่มีลักษณะสุขเอาเผากิน และเน้นขายเรื่องเพศและความรุนแรงมากเกินไป จนทำให้ถูกปฏิเสธจากผู้ชมส่วนใหญ่


กฎหมายเซ็นเซอร์กับนโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ

ปี 1997 ฮ่องกงได้กลับไปสู่จีน ตามข้อตกลงการเช่าดินแดนระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศจีนที่ทำกันไว้ในปี 1898 ที่ระบุว่า ประเทศจีนยอมให้สหราชอาณาจักรปกครองเกาะแห่งนี้เป็นเวลา 99 ปี หลังจากนั้นแล้วจีนจะทำการผนวกฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขว่า ประเทศจีนจะยอมให้ฮ่องกงมีเสรีภาพในด้านการเมืองและการดำเนินชีวิตไปจนถึงปี 2047 นโยบายดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันชื่อ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”https://www.bbc.com/news/world-asia-china-52765838

สำหรับกฎเซ็นเซอร์ภายใต้นโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ ยังคงเนื้อหาเหมือนเดิม เพียงแต่มีการปรับแก้เล็กน้อยในรายละเอียดที่ไม่กระทบต่อเสรีภาพในการนำเสนอของผู้สร้างเท่าใดนัก ตรงกันข้าม กลับเป็นผู้สร้างหนังเสียอีกที่ต้องระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหา เนื่องจากหลังปี 1997 เป็นต้นมา จีนได้กลายเป็นตลาดสำคัญของหนังฮ่องกงทั้งในแง่ของพื้นที่การฉายและแหล่งเงินทุนในรูปแบบของการร่วมผลิตระหว่างผู้สร้างฮ่องกงและจีนhttps://www.screendaily.com/features/filmart-how-hong-kong-film-industry-is-adapting-to-challenging-times/5137634.article ดังนั้นการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่มีปัญหากับระบบเซ็นเซอร์ของฮ่องกง แต่มีปัญหากับระบบเซ็นเซอร์ของจีนโดยเฉพาะเรื่องเพศ ความรุนแรง หรือการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองของจีน อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการจัดจำหน่ายในประเทศจีนได้ ผู้สร้างหลายคนจึงเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการไม่เลือกทำหนังที่อาจส่งผลต่อการจัดจำหน่ายในประเทศจีนตั้งแต่ต้น

แม้ว่าผู้สร้างกระแสหลักจะเลือกเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตลาดจีน แต่ผู้สร้างหนังอิสระฮ่องกงกลับใช้ประโยชน์ของกฎหมายเซ็นเซอร์ที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากนโนยบายหนึ่งประเทศสองระบบ ด้วยการผลิตผลงานที่วิพากษ์การเมืองโดยเฉพาะอิทธิพลของรัฐบาลจีนต่อนโยบายที่มีต่อฮ่องกงหลายเรื่อง อาทิ หนังเรื่อง 10 Years (2015) ซึ่งประกอบด้วยหนังสั้นสี่เรื่องที่ตั้งคำถามถึงสถานะของฮ่องกงในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยตัวหนังวิพากษ์อิทธิพลของจีนที่มีต่อฮ่องกงในมิติทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม Lost in Fumes (2018) สารคดีที่นำเสนอชีวิตของนักการเมืองและนักกิจกรรมทางการเมืองของฮ่องกงชื่อ เอ็ดเวิร์ด เหลียง หรือ สารคดีเรื่อง Inside the Red Brick Wall (2020) ที่นำเสนอเรื่องราวการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวฮ่องกงปี 2019

แต่แล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก็เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ภายหลังจากรัฐบาลฮ่องกงได้แก้ไขกฤษฎีกาเซ็นเซอร์ด้วยการกำหนดแนวทางในการพิจารณาห้ามฉายภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ท่ามกลางความสับสนและคลุมเครือของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม


อนาคตอุตสาหกรรมหนังฮ่องกงใต้เงาระบบเซ็นเซอร์ใหม่

จนถึงขณะนี้ คงเป็นการเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าอุตสาหกรรมหนังฮ่องกงจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากกฎหมายใหม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ ความกังวลใจของบุคลากรที่อยู่ในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมหนังฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการผลิตและจัดจำหน่าย เพราะสิ่งที่บุคลากรในส่วนนี้ต้องเผชิญคือ การเลือกเนื้อหาที่จะนำมาถ่ายทอดเป็นหนัง ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่ที่ยังไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า เนื้อหาประเภทใดจัดอยู่ในข่ายขัดต่อต่อความมั่นคง อาจทำให้ผู้สร้างจำนวนไม่น้อยเลี่ยงที่จะไม่เลือกทำหนังที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงเพื่อตัดปัญหาตั้งแต่ต้น เช่นหนังที่นำเสนอภาพลักษณ์ในแง่ลบของระบบราชการแบบ Infernal Affair ที่นำเสนอภาพความฉ้อฉลในวงการตำรวจ หรือหนังที่สะท้อนปัญหาสังคมต่างๆ ไม่นับรวมถึงผู้สร้างหนังอิสระที่มักนำเสนอปัญหาทางการเมืองและสังคมผ่านหนังหลายๆ เรื่อง (ซึ่งหลังจากนี้คงไม่มีโอกาสทำแบบนั้นได้อีก)

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่ผู้จัดจำหน่ายหนังท้องถิ่นที่ต้องเผชิญกับความกังวลต่อใจระบบเซ็นเซอร์ใหม่นี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้จัดจำหน่ายหนังต่างประเทศอีกด้วย เพราะต่อจากนี้ไปพวกเขาต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกซื้อหนังมากขึ้น โดยเฉพาะหนังที่นำเสนอเนื้อหาการต่อสู้ระหว่างคนตัวเล็กกับคนที่มีอำนาจ หรือการต่อสู้ระหว่างคนกับระบบอย่างหนังเรื่อง Hunger Games หรือหนังตระกูล Dystopian (หนังที่พูดถึงอนาคตที่ไร้ความหวัง) ต่างๆ ที่คงไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อหนังที่ต้องซื้ออีกต่อไป หรือถ้าจำเป็นต้องซื้อด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ พวกเขาอาจต้องขอให้เจ้าของลิขสิทธิ์หนังต่างประเทศเพิ่มเงื่อนไขพิเศษที่เรียกว่า Censorship clause ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้จัดจำหน่ายหนังฮ่องกงสามารถเรียกคืนค่าลิขสิทธิ์ที่จ่ายไปได้ลงไปในสัญญา

กล่าวโดยสรุป สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวัน 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการก้าวสู่บทใหม่ของระบบเซ็นเซอร์ฮ่องกองที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการยอมรับว่ามีความยืดหยุ่นและให้อิสระคนทำหนังถึงขนาดมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงทศวรรษที่ 1980 -1990 ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมหนังฮ่องกงหลังจากนี้ แต่ที่แน่นอนและชัดเจนก็คือ วันชื่นคืนสุขของวงการหนังฮ่องกงที่ผู้คนทั่วโลกที่ผู้ชมฮ่องกงและทั่วโลกเคยเป็นพยานรับรู้ คงไม่หวนกลับมาอีกต่อไป

FILM CLUB List : Queer Cinema (Part 3)

0

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง)

ในโอกาส​ Pride Month นี้ Film Club ได้ชักชวนผู้คน ทั้งนักวิจารณ์ คนทำหนัง และคนดูหนังจำนวนหนึ่งมาร่วมกันเลือกภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศของผู้คน โดยแต่ละท่านมีอิสระในการเลือก ภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด ทั้งภาพยนตร์ หนังสั้น หนังทดลอง สารคดี ไปจนถึงมิวสิควิดีโอ โฆษณา หรือแม้แต่ คลิปไวรัล 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่สาม


วิโรจน์ สุทธิสีมา : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ชมรมวิจารณ์บันเทิง / STARPICS

Beautiful Thing (1996, Hettie Macdonald, UK)

ถ้าจำไม่ผิด ในช่วงปี 2001-2002 ผมได้รู้จักหนังที่ทำให้ครุ่นคิดถึงประเด็น “ความเป็นเกย์” อย่างน้อยสามเรื่อง สองเรื่องแรกผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า “วีซีดี” เริ่มจาก A Long Time Companion (1990) ซึ่งแม้จะอบอวลไปด้วยมิตรภาพของตัวละคร แต่เนื้อหานั้นขึงขังและชวนวิตกหดหู่ เมื่อมันกล่าวถึงการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และการตายจากกันทีละคนของเหล่าชายรักชาย ในภาพรวมจึงเป็นหนังดีที่หลายครั้งเราก็อยากจะลืมเลือน ส่วนเรื่องถัดมาคือ Beautiful Thing (1996) ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า ซาวด์แทร็คของหนังจะอยู่ใน song list ของผม มาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนหนังอีกเรื่องในช่วงนั้นที่ได้ดูทั้งจากแผ่นวีซีดี และในโรงภาพยนตร์ ก็เป็นหนังในดวงใจซึ่งพร้อมจะบอกใครต่อใครว่าเป็นหนังผจญภัยที่ดีที่สุด แต่ก็มักจะเอาไปตั้งข้อสังเกตกับเหล่านักเรียนหนัง ในฐานะที่มีตัวละครชายร่างเล็กสองคน ซึ่งมักสบตากันอย่างมีความหมาย-ระหว่างพยายามเอาแหวนวงหนึ่งไปทิ้ง

กล่าวสำหรับ Beautiful Thing หนังอังกฤษเรื่องนี้ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนนัก มันอยู่ในร่องรอยแบบหนังแนวก้าวข้ามพ้นวัย ค้นพบความเป็นเกย์ในตัวคุณ และแสวงหาพื้นที่ปลอดภัย คนดูจะพบว่า เจ้าหนุ่มสองคนต้องทนทุกข์กับความดุร้ายป่าเถื่อนและอคติของคนรอบข้าง ก่อนจะได้เจอกับ “สิ่งสวยงาม” ซึ่งแม้จะถูกนักวิจารณ์บางส่วนกระแนะกระแหน ว่าคล้ายเป็นเทพนิยายไปเสียหน่อย แต่อย่างน้อย หนังที่มีศิลปะในการนำเสนอและให้แสงสว่างแก่ตัวละคร ก็หาใช่เรื่องสะเหล่อทะเล่อทะล่า หากยังให้ความอิ่มเอมทางอารมณ์แก่คนดูได้ด้วยซ้ำ

อีกสิ่งที่ติดตรึงใจ-ซึ่งเริ่มตั้งแต่ฉากแรกของหนัง คือ เสียงดนตรี ตัวละครในเรื่องวนเวียนอยู่กับเพลงและประเด็นพูดคุยเกี่ยวกับ “แคส เอลเลียต” (Cass Elliot) หรือที่เรียกกันในวงการเพลงว่า “มาม่า แคส” (Mama Cass) เธอคือสมาชิกของ The Mama and The Papas และยังมีผลงานเดี่ยวออกมาด้วย กล่าวได้ว่า เหล่าซีเนไฟล์ที่คลุ้มคลั่งกับเพลง California Dreamin’ ในหนังเรื่อง Chungking Express ของหว่องกาไว ก็น่าจะคุ้นเคยกับอารมณ์เพลงแบบ Sunshine Pop อันเป็นเอกลักษณ์ของนักดนตรีกลุ่มนี้ ซึ่งมันก็สร้างความสว่างไสวให้แก่ Beautiful Thing ได้อย่างยิ่งยวดเช่นเดียวกัน

ในฉากหนึ่งของหนัง ตัวละครพูดคุยกันถึงหนึ่งในทอล์คออฟเดอะทาวน์ ซึ่งก็คือ การตายของมาม่า แคส ซึ่งถือเป็นไอดอลของชาวสีรุ้ง เรื่องเล่าแบบผิดๆ ถูกผลิตซ้ำอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งจากตัวละครและคนทั่วไปในโลกจริง เพราะที่ทราบกันก็คือ มาม่าเป็นคนร่างใหญ่และอวบอ้วน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะแปลกใจ หากความตายของเธอจะเกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน และการถูกเผยแพร่ไปทั่วว่า “สำลักแซนด์วิชตาย” ก็ให้อารมณ์ทั้งน่าโศกเศร้าและสมเพชเวทนาไปพร้อมๆ กัน แต่นั่นคือความอยุติธรรมอย่างหนึ่งที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะความเป็นจริงที่ผ่านการรับรองโดยผู้ชันสูตรศพอย่างเป็นทางการ ก็คือ เธอตายเพราะหัวใจล้มเหลว หาใช่ตะกละตะกลามกินจนสำลักตายแต่อย่างใด


ปัณณวิชญ์ เตชะเกรียงไกร : นักวิจารณ์ภาพยนตร์, แอดมินเพจ ชมรมวิจารณ์บันเทิง

ภาพติดตา (2015, พัฒนะ จิรวงศ์)

จุดเด่นของภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ คือ การนำเสนอตัวละครชายรักชาย ในวัย 70 !!! และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถ่ายทอดความรู้สึกคิดถึง ผูกพัน ห่วงหา และเฝ้าคอยการได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง ผ่านบทบาทการแสดงของ “ภัควรรธ์ วานิชธิติพันธ์”

หนังเปิดเรื่องที่ตัวละคร “พร้อม” (ภัควรรธ์ วานิชธิติพันธ์) โทรศัพท์ไปหา “ถนอม” (วันชัย ธนะวังน้อย) เพื่อนชายที่เขาหลงรักตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษาร่วมสถาบัน เขาทวงสัญญาที่เคยให้ไว้แก่กัน ว่าเมื่อถึงวันที่มีอายุครบ 70 ปี และยังไม่ตาย ถนอมจะพาเขาไปเที่ยว… ซึ่งวันนี้ ได้มาถึงแล้ว!!!

การพบกันในวัยชรา บทสนทนารำลึกความหลัง ไถ่ถามความรู้สึกต่อการมีชีวิตอยู่ และการจากไปของคนรัก ทำให้หนังเรื่องนี้เปี่ยมอารมณ์ถวิลหา อ้อยอิ่ง ไม่พยายามบีบคั้นให้รู้สึกหดหู่ในชะตากรรมของคนรักเพศเดียวกัน-แบบที่หนังไทยส่วนใหญ่มักนำเสนอ

ที่สำคัญ บุคลิก-จริตจะก้านของพร้อม (ที่ถนอมเรียกว่า “ป้า” ตั้งแต่แรกเจอ หรือถูกนิยามว่า “ตุ๊ด” เมื่อพร้อมถามว่า ทำไมไม่พาเขาไปเที่ยวตั้งแต่ตอนเรียน) ไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาในเชิงขบขัน หรือแปลกประหลาด-ในแบบภาพลักษณ์สำเร็จรูป (Stereotype) ของตัวละครกะเทยในหนังไทย.. ผู้กำกับและนักแสดง ถ่ายทอดตัวละคร “พร้อม” ให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึง “มนุษย์ผู้มีความทรงจำอันดีต่อคนรัก ฉายชัดอยู่ในห้วงความคิด มิเสื่อมคลาย”

ความทรงจำต่อคนรักที่วนเวียนอยู่ในหัวซ้ำๆ สอดคล้องอย่างลงตัวกับการเปรียบเปรยถึง “ภาพติดตา” (ภาพนิ่งที่ค้างคาในความทรงจำ ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว) ในฐานะ “คนรักหนัง” โดยส่วนตัวรู้สึกชื่นชอบเป็นพิเศษ ที่ผู้สร้างเชื่อมโยง “ภาพยนตร์/ภาพเคลื่อนไหว” สอดแทรกแฝงเร้นเข้ามาในหนัง-หลากหลายมิติ ทั้งการเป็นคนทำหนังของถนอม การเป็นคนชอบดูหนังของพร้อม หรือกระทั่งการถ่ายภาพนิ่งของดวงดาว ต่อเนื่อง จนกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวชวนตื่นตาตื่นใจตอนท้ายเรื่อง

และทันทีที่ภาพบนจอดับวูบลงพร้อมกับเพลง “ผีดวงดาว” โดย “ชูเกียรติ ฉาไธสง” หนังเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่ง “ภาพติดตา” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของคนรักเพศเดียวกัน ได้น่าประทับใจ.. มิรู้ลืม..


อุทิศ เหมะมูล : นักเขียน 

Suddenly, Last Winter (2008, Gustav Hofer/Luca Ragazzi, Italy)

Suddenly, Last Winter เป็นหนังสารคดีปี 2008 อีกเรื่องที่น่าสนใจ เป็นหนังขวัญใจเทศกาลภาพยนตร์ในปีนั้น แม้จะมีเนื้อหาและประเด็นค่อนข้างตึงเครียด เรียกร้องความเข้าอกเข้าใจ ที่เผยให้เห็นทัศนคติของคนส่วนใหญ่ในประเทศอิตาลีในทางลบ แต่ที่มันกลายเป็นหนังดูง่าย มีสีสันและชีวิตชีวาได้ก็เพราะว่า ทั้งตัวผู้สร้าง (และแสดงนำ) มีบุคลิกภาพและทัศนคติที่น่าเอาใจช่วย คือมองโลกในแง่ดี และร่ำรวยอารมณ์ขัน ทั้งขบขัน ขันร้าย และขันขื่นนั่นเอง

ในโลกปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่นี้ ทัศนคติและความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ แม้จะค่อยๆ เปิดทางให้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่ในหลายกรณี ในบางรายละเอียด ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ยังไม่เป็นที่ต้องการ ยังไม่ได้รับการยืนยันสิทธิ และยากจะแบ่งปันพื้นที่ให้กับกลุ่มหลากหลายทางเพศเสียทีเดียวนัก

เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคู่รักในเรื่องนี้ กุสตาฟกับลูก้า ชายหนุ่มน่ารักใคร่ทั้งสองคนซึ่งเป็นคู่รักกัน ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันฟันฝ่าสิ่งต่างๆ นานา ร่วมกันมาตั้ง 8 ปีแล้ว ทั้งสองกำลังรอด้วยใจหวั่นไหวระทึก เมื่อการเลือกตั้งที่มาถึงนี้พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของอิตาลีมีนโยบายจะให้ความรักของคนเพศเดียวกัน ได้รับสิทธิคุ้มครองทางกฎหมายเช่นเดียวกับคนรักต่างเพศ และแล้วกุสตาฟกับลูก้าและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศก็ได้ร่วมเฉลิมฉลองต่อชัยชะในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย

แต่เมื่อเรื่องนี้เข้าสู่สภา กลับไม่ได้รับความเห็นชอบ ทั้งยังถูกต่อต้านจากทุกทาง ทั้งจากประชาชนผู้มองว่ากลุ่มรักร่วมเพศจะทำลายความเป็นสถาบันครอบครัว และทั้งจากสำนักวาติกันที่คัดค้านไม่เห็นด้วยอย่างออกนอกหน้า ส่งผลให้กฎหมายนี้กลายเป็นประเด็นร้อนระดับประเทศ เกิดการเคลื่อนไหวทั้งจากกลุ่มอนุรักษนิยม และกลุ่มเสรีนิยม กฎหมายดังกล่าวชะงักงัน ส่งผลให้กุสตาฟกับลูก้า ต้องปล่อยร้างงานวิวาห์ของตนให้เป็นหมัน ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างที่คู่สมรสควรได้ อย่างที่คนรักกันควรจะเป็น 

การรอคอยของคนทั้งคู่มาถึงจุดที่ว่า ไม่อาจนิ่งดูดายได้อีกต่อไป กุสตาฟกับลูก้า ตัดสินใจสะพายกล้องออกไปตามสัมภาษณ์เหล่านักการเมือง สมาชิกวุฒิสภา ประชาชน กระทั่งกลุ่มต่อต้านรักร่วมเพศต่างๆ เพื่อเปิดเผยถึงความเข้าใจ ทัศนคติ ความหวาดกลัว และอะไรอันเป็นสาเหตุให้คนส่วนใหญ่เข้าใจไปว่า การมีชีวิตแบบรักร่วมเพศจึงบ่อนทำลายสถาบันครอบครัว บ่อนทำลายความเชื่อความศรัทธาในพระเจ้าและศาสนา และเข้ามาเบียดแทรกกัดกินสิทธิที่คนรักต่างเพศควรจะได้

ด้วยความบ้าบิ่นหาญกล้าของคนทั้งคู่ คนดูได้รับรู้ถึงความหวาดกลัว ความไม่เข้าใจ และมายาคติมากมายอันยากใจจะแก้ไข ซึ่งสืบรากเหง้ามาตั้งแต่ความเชื่อที่ว่า พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ชาย-หญิงให้ครองคู่กัน จนถึงการถูกมองว่าคนรักเพศเดียวกันนั้นวิปริตผิดครรลอง เป็นพวกจิตไม่ปกติที่ควรได้รับการรักษาเยียวยา คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า ความรักและการอยู่ร่วมกันอันยืนยงจะเกิดขึ้นได้ในกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน และยังมองอีกว่ากลุ่มนี้เป็นพาหะแห่งโรคร้าย และนำความสับสน เสื่อมทรามมาสู่สังคมที่ดีงาม 

ยิ่งกุสตาฟกับลูก้าตามสัมภาษณ์บุคคลเหล่านี้มากเท่าไร คนดูก็จะเห็นความหวั่นกลัวไปเองที่เลยเถิดร้ายแรงจากการสร้างมายาคติขึ้นมาบดบังของพวกเขาเอง ยิ่งได้รับรู้ความเห็นซึ่งรู้ๆ กันอยู่แล้วของคนทั่วไป กุสตาฟกับลูก้าก็ยิ่งปวดใจและขำขื่น กับเหล่าความเห็นที่ตอกย้ำ ให้ความปรารถนาของทั้งสองคนยิ่งเลือนรางและแทบไม่มีวันเป็นจริง

Suddenly, Last Winter เผยให้เห็นความรักอันมั่นคงและน่าซาบซึ้งใจของคนคู่หนึ่ง ทั้งสองมีความหวัง ความฝันร่วมกัน ปลงใจกันด้วยความรักในกันและกัน ในโลกและในพื้นที่อันเล็กจ้อยของพวกเขา อันเป็นจุดเล็กๆ บนพื้นที่แสนกว้างใหญ่ของมายาคติทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม เลือกที่รักมักที่ชัง และหัวใจนั้นก็เต็มด้วยความหวาดกลัวในเรื่องที่จิตใจสรรสร้างขึ้นเอง แต่หนังสารคดีก็เล่าด้วยทัศนคติถ้อยทีถ้อยอาศัย นำเสนอข้อเท็จจริงในเชิงสารคดี มิได้ตัดสินกล่าวโทษความคิด ความเชื่อของคนทั่วไปไม่ ความรักจักต้องได้รับความเข้าใจ แม้ผู้ที่ไม่เข้าใจก็ถูกปฏิบัติต่อด้วยความรักเช่นนั้นจากคนทั้งคู่


วาริน นิลศิริสุข : นักวิจารณ์

It’s a Sin (2021, Russell T Davies, UK)

เมื่อไม่กี่วันก่อนผู้ใช้ TikTok ในนาม @blackfluidpoet ได้โพสต์คลิปวิดีโอสั้นๆ ตอบโต้เกย์วัยรุ่นคนหนึ่งที่ออกมาแสดงความเห็นทำนองว่า “ฉันไม่เข้าใจทำไมเราจะต้องมาให้ความสำคัญกับ Pride Month อะไรพวกนี้ด้วย” ในคลิปเขาเริ่มต้นด้วยการจุดบุหรี่สูบ แล้วค่อยๆ หยิบหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่าเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของ LGBTQ+ ออกมาวาง ก่อนจะเอดูเคทเด็กหนุ่มว่าความสะดวกสบาย อิสระ และเสรีภาพที่พวกคุณ take for granted ในทุกวันนี้นั้นล้วนเกิดขึ้นมาจากหยาดเหงื่อ น้ำตา และเลือดเนื้อของคนรุ่นก่อน “นั่นเป็นเพราะเธอไม่รู้ประวัติศาสตร์ หรือเลือกที่จะปิดหูปิดตาตัวเอง”

หรือถ้าจะให้ง่ายกว่านั้นเขาอาจแนะนำให้เด็กหนุ่มไปเปิดดูซีรีส์ 5 ตอนจบเรื่อง It’s a Sin ผลงานสร้างและเขียนบทของ รัสเซลล์ ที เดวีส์ ที่เข้าฉายทางช่อง Channel 4 ของอังกฤษ และช่อง HBO Max ซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในอเมริกาเล่าถึงเรื่องราวการระบาดของโรคเอดส์ในประเทศอังกฤษผ่านกลุ่มเพื่อนเกย์ 4 คนกับหนึ่งพันธมิตรหญิงที่เช่าบ้านอยู่ด้วยกันในช่วงต้นทศวรรษ 1980 และต้องเผชิญหน้ากับความสยองของโรคร้าย รวมไปถึงความโหดเหี้ยมของสังคมและรัฐต่อสถานการณ์อันเลวร้าย บรรดาชาวเกย์ไม่เพียงจะถูกปล่อยให้ตายเป็นใบไม้ร่วงโดยไม่มีใครเหลียวแลเท่านั้น แต่ยังถูกกฎหมายบีบบังคับให้ต้องพลัดพรากจากครอบครัวแท้จริงของพวกเขา ครอบครัวที่พวกเขาเลือกเอง กลับไปสู่อ้อมอกของครอบครัวในสายเลือดซึ่งไม่เคยยอมรับตัวตนแท้จริงของพวกเขา

มองเผินๆ ซีรีส์ของ รัสเซลล์ ที เดวีส์ อาจเล่าเรื่องราวในมุมที่เป็นส่วนตัว เน้นย้ำการเดินทางของตัวละครแต่ละคนมากกว่าจะวิพากษ์การเมือง หรือสะท้อนภาพการต่อสู้ในวงกว้าง แต่โศกนาฏกรรมระดับปัจเจกบางครั้งก็สามารถกินความได้มากกว่าแค่เปลือกนอก เมื่อจิลต้องเสียเพื่อนรักให้กับโรคร้ายและยังถูกซ้ำเติมไม่ให้มีเวลาได้บอกลาเขาในห้วงยามสุดท้ายของชีวิต เธอจึงระเบิดความโกรธแค้นใส่แม่ของริทชี กล่าวหาหล่อนว่าเป็นต้นเหตุให้เขาเติบโตมาพร้อมกับความละอายในบ้านที่แล้งไร้ความรัก ความเข้าอกเข้าใจ วอร์ดโรคเอดส์ล้วนเต็มไปด้วยผู้ชายแบบริทชี “พวกเขาทุกคนต้องมาตายก็เพราะคุณ” แต่คำว่า “คุณ” ของจิลไม่ได้หมายถึงแค่คนคนเดียว แต่กินความไปถึงค่านิยม ความเชื่อที่กีดกันความแตกต่าง หลากหลาย โรคเอดส์นอกจากจะคร่าชีวิตชาวเกย์จำนวนมากแล้ว มันยังตีตราเควียร์ไลฟ์สไตล์ที่เริ่มสถาปนาผ่านการปลดแอกในยุคก่อนหน้าให้กลายเป็นสิ่งแปดเปื้อน เป็นอันตรายถึงชีวิต 

ซีรีส์ของ รัสเซลล์ ที เดวีส์ เป็นบทสดุดีแด่ผู้วายชนม์ เป็นบทบันทึกความทรงจำไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา พร้อมกันนั้นก็เป็นการเฉลิมฉลองและทวงคืนความงดงามของเควียร์ไลฟ์สไตล์…เพื่อยืนกรานว่า pride จักต้องมีชัยเหนือ shame


Filmsick : นักเขียน กองบรรณาธิการ Film Club 

The Ballad of Genesis and Lady Jaye (2011, Marie Losier, UK/US/France/Netherlands/Belgium/Germany)

เธอเคยชื่อเด็กชาย เธอเป็นศิลปิน กวี นักดนตรี และเป็นกึ่งๆ เจ้าลัทธิ เป็นหนึ่งในแนวหน้าผู้บุกเบิกดนตรีทดลอง เธอเป็นที่รู้จักในชื่อ Genesis Breyer P-Orridge เธอ ‘เคย’ เป็นผู้ชาย ส่วนอีกเธอเคยชื่อ Jacqueline Breyer เด็กสาวหนีออกจากบ้านตอนอายุสิบสี่ ตัวเล็กบาง ผิวเผือดผมทอง เธอพบ Genesis ในปี 1993 ในปีเดียวกันนั้น ทั้งสองแต่งงานกันและ Genesis เรียกเธอว่า Lady Jaye ในวันแต่งงาน Lady Jaye สวมชุดเจ้าบ่าวที่เป็นกางเกงหนังและเสื้อกั๊กหนังโดยไม่สวมเสื้ออื่น Genesis แต่งชุดเจ้าสาวผ้าลูกไม้สีขาว พวกเขาเหมือนตัวประหลาดจากดาวเคราะห์อันโพ้นไกลที่ความรักไม่ได้ถูกนิยามเพียงแบบเดียว

จากนั้นทั้งคู่ตระเวนไปด้วยกันในทุกแห่งหน Lady Jaye เป็นเหมือนผู้จัดการวง คอยดูแลคนอื่นๆ ใน Psychic TV ตลอดมา Genesis มักจะอัดเสียงเธอและใส่มันลงในดนตรีทดลองของเขา พวกเขารักกัน เป็นกันและกัน เป็นมากกว่าคู่รัก พวกเขาอยากจะเป็นกันและกันไปตลอดกาล 

คนทั้งคู่ทำโปรเจกต์ร่วมกันในนาม Pandrogeny Project แผนของพวกเขาคือไปศัลยกรรมพลาสติกเพื่อให้ใบหน้าและร่างกายของสองคนคล้ายกันที่สุดที่จะทำได้ Genesis เสริมหน้าอก แต่งตัวเป็นผู้หญิงอย่างจริงจังใบหน้าของทั้งคู่ถูกผ่าตัดให้คล้ายคลึงกัน พวกเขาเป็นมากกว่าเป็นคู่รักกัน พวกเขากลายเป็นกันและกัน เป็นสิ่งที่ชีวิตหนึ่งเดียวที่มาจากคนสองคน ชื่อใหม่ของพวกเขาคือ ‘Breyer P- Orridge’ คนสองคนเป็นคนคนเดียว กลืนกินกันและกัน และเป็นกันและกัน 

และนี่คือสารคดีของคนสองคนที่ต่างก็เชื่อว่า ร่างกายของตนคือ ‘กับดักชื่อ DNA’ คนที่ค้นพบกันและกัน ค้นพบคนอีกคนที่เชื่อว่าพวกเขาไม่ต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งเพียงแบบเดียว แต่พวกเขาคือนานารูปแบบของความเป็นไปได้ บนโลกที่ยังคงเชื่อใน ‘ความเป็นไปไม่ได้’ จนต้องควบคุม ‘ความเป็นไปได้’ แบบอื่นๆ และเรียกมันเป็นความผิดเพี้ยนเบี่ยงเบน

สารคดีไม่ได้เป็นบทสัมภาษณ์ ภาพเกือบทั้งหมดมาจากโฮมวิดีโอที่คนทั้งคู่ถ่ายไว้ ภาพคอนเสิร์ต การเดินเล่นไปด้วยกัน การแต่งตัวด้วยกัน ปาร์ตี้กับมิตรสหาย ทำกับข้าว เล่นดนตรี รื้อค้นข้าวของ หรือไปหาหมอ แต่งตัวเหมือนกันออกไปเที่ยวกัน จูบกันในที่สามธารณะ ในขณะที่เสียงของหนังคือการสนทนากับ Genesis ที่เล่าให้ฟังถึงชีวิตของเขาตอนที่ยังมี Lady Jaye ตัดสลับกับเพลงของพวกเขา หนังเป็นเหมือนการตัดปะเอาสิ่งละอันพันละน้อยร้อยเข้าด้วยกันด้วย cut-up technique อันเป็นเทคนิคที่ Burrough ใช้ในการเขียนงาน เทคนิคที่เขาได้มาจาก จิตรกร กวีและนักเขียนอย่าง Brion Gysin ซึ่ง Genesis ที่ได้รู้จัก Gysin ผ่านทาง Burrough และนับถือ Gysin ในฐานะอาจารย์ 

เทคนิค Cut up คือการเขียนขึ้นย่อหน้าหนึ่ง จากนั้นเอาข้อความมาตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วเรียบเรียงข้อความเหล่านั้นใหม่ให้ได้ความหมายใหม่ หนังสร้างขึ้นจากการหยิบเอาชีวิตของ Genesis และ Lady Jaye ผ่านทางชิ้นเล็กชิ้นน้อยของวิดีโอ และเสียงเล่า เรียบเรียงมันขึ้นใหม่ในความหมายใหม่ ซึ่งก็สอดรับพอดีกับโปรเจกต์ Pandrogeny ของคนทั้งคู่ เพราะมันคือโปรเจกต์ที่คิดขึ้นมาจาก Cut up Technique หากเปลี่ยนจากถ้อยคำและข้อความให้เป็นร่างกายของพวกเขาเอง 

“นี่คือสงครามครั้งสุดท้าย!”

“เราล้วนมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะเป็นใครก็ได้ที่เราอยากจะเป็น ฉันทั้งป่วยไข้และเหนื่อยหน่ายเหลือทนที่จะต้องถูกบอกว่าฉันควรดูเป็นอย่างไร นี่ไม่ใช่ร่างกายของฉัน นี่ไม่ใช่ชื่อฉัน นี่ไม่ใช่ตัวตนของฉัน!! บางคนมีหน้ามาบอกเธอควรจะดูเป็นแบบนี้ บางคนถึงกับกล้าดีมาบอกว่าฉันควรจะเป็นเหมือนคนแบบที่ฉันเคยเป็นก่อนหน้าซึ่งฉันไม่ได้เป็น ฉันขอปฏิเสธ! ที่จะเป็นเหมือนคนนั้น!” *

พวกเขาใช้ Cut up technique ในการประกอบร่างกายของตนขึ้นมาใหม่ เสริมหน้าอก ตัดกราม เสริมริมผีปาก คนสองคนพยายามที่สุดที่จะเดินทางมาบรรจบเป็นคนที่ใกล้กันที่สุด ร่างกายของพวกเขาเป็นทั้งถ้อยแถลงของมนุษย์ชนิดใหม่ ที่วิทยาศาสตร์ได้ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ สภาวะข้ามของมนุษย์แบบ transhuman ที่สร้างตัวตนในเวอร์ชั่นที่ดีกว่า ดีกว่าที่ไม่ได้หมายความแค่ในเชิงวิทยาศาสตร์ว่าสมบูรณ์กว่า หรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอจากการเป็นโรค หากหมายถึงดีกว่าในแง่ของความพึงพอใจที่มากกว่า เป็นอย่างที่ตัวเองอยากจะเป็น 

เราอาจนับการแปลงเพศ การฉีดสเตียรอยด์ไปจนถึงการทำเลสิกได้ในนามของสภาวะข้ามมนุษย์ ทั้งหมดยืนอยู่บนพื้นฐานเดียวกันกับการปรับแต่งร่างกายตนเองของคนคู่นี้ ในโลกที่เชิดชูความเป็นมนุษย์ สภาวะข้ามมนุษย์ที่เลยพ้นไปจากการรักษาโรคยังถูกมองในฐานะความเบี่ยงเบน ความผิดปกติและน่าอาย ความไม่พอใจและการเปลี่ยนตัวเองของ Genesis จึงเป็นแถลงการณ์ที่ท้าทายโดยตัวมันเอง ผ่านทางการข้ามขนบของรักต่างเพศ ที่อาจครอบคลุมแม้แต่ในวิถีของการรักเพศเดียวกันโดยให้สองฝ่ายมีบทบาทชัดเจนแบบหญิงชาย หรือยึดมั่นพันผูกในระบบผัวเดียวเมียเดียว สมาทานศีลธรรมแบบชนชั้นกลางเพื่อให้เป็นไปตามข้อความประเภท “จะเป็นตุ๊ดก็ได้ ขอให้เป็นคนดี” ก็พอ ซึ่งมันอาจไม่ผิดที่คู่รักร่วมเพศจะยึดขนบแบบเดียวกับรักต่างเพศ แต่วิธีคิดเช่นนี้ได้กีดกัน ตัดทอน ขับไสคู่รักร่วมเพศแบบอื่นๆ หรือแม้แต่คู่รักต่างเพศแบบอื่นๆ ให้ออกไปจากปริมณฑลของ status quo ของสังคม

*ข้อความตัวเอียง แปลจากเสียงเล่าของ Genesis ในหนังเรื่องนี้


นภัทร มะลิกุล : นักเขียนประจำ Film Club 

Carol (2015, Todd Haynes, US/UK/Australia)

ความรักที่ดูเป็นไปไม่ได้ของหญิงสาวคนหนึ่งต่อหญิงสาวที่มีอายุมากกว่า ที่สำคัญ เธอคนนั้นมีลูกและสามีแล้ว เป็นหนังที่ทำให้เห็นว่า ความ ‘หลงใหล’ ในรักนั้นมีอานุภาพมากเพียงใด และแสดงเจตจำนงของผู้หญิงที่ต้องการจะปกป้องทั้งชีวิตส่วนตัวและสาธารณะของเธอไปพร้อมๆกัน หนังเรื่องนี้สร้าง narrative ใหม่ของคู่รักเลสเบี้ยน นั่นคือ ความรักของหญิงสาวไม่จำเป็นต้องจบด้วยโศกนาฏกรรมเสมอไป


นัทธมน เปรมสำราญ : นักเขียนในนามปากกา ปอ เปรมสำราญ ผู้กำกับละครเวที 

Spider Lillies (2007, Zero Chou, Taiwan)

จำได้ว่าตอนมัธยมต้น บังเอิญได้ดูเรื่องนี้แบบพากย์ไทย (แน่นอนว่าให้เสียงโดยพันธมิตร) เป็นความรู้สึกประหลาดมากที่เห็นเรื่องนี้ฉายในโทรทัศน์ เพราะเราไม่เคยเห็นความรักรูปแบบนี้มาก่อน เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นความรักของคนเพศเดียวกัน 

Spider Lilies ชื่อไทยคือ “จูบแรก กอดสุดท้าย หัวใจไม่เคยลืม” เป็นภาพยนตร์ไต้หวันจากฝีมือผู้กำกับหญิง Zero Chou ออกฉายเมื่อปี 2007 และได้รางวัล Teddy Award ในหมวดภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับ LGBT จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินในปีเดียวกัน นำแสดงโดย เรนนี่ หยางและอิซาเบลล่า เหลียงที่เป็นดาราวัยรุ่นที่ฮอตที่สุดในยุคนั้น จริงๆ แล้วเป็นหนังที่ดูสนุกแบบแมสมากกว่าจะเป็นหนังอาร์ตเทศกาล

เราจำอะไรเกี่ยวกับหนังไม่ได้มาก ต้องไปหาเรื่องย่ออ่านถึงจะพอระลึกได้ แต่เราจำตัวละครหลักสองตัวได้แม่นเลย นั่นคือสาวที่หารายได้จากการเต้น ถอดวับๆ แวมๆ และพูดคุยกับลูกค้าผ่านเว็บแคมและสาวช่างสัก เราจำได้ว่ารอยสักดอกพลับพลึงในเรื่องสวยมาก (พอกลับมาดูอีกที มันไม่ได้สวยขนาดนั้น แต่ในความทรงจำ มันสวยมาก) มันติดอยู่ในใจมาตลอด และความสัมพันธ์ในเรื่องก็ไม่ได้ถูกกีดกันจากสังคมหรือนำเสนอความรู้สึกผิดของตัวละครที่ชอบเพศเดียวกัน สำหรับเราที่เป็นเด็กมัธยมต้นในโรงเรียนหญิงล้วนเมื่อสิบกว่าปีก่อน ความสัมพันธ์แบบคนรักชอบกันของผู้หญิงสองคนและรอยสักขนาดใหญ่บนเนื้อตัวหญิงสาวคงเป็นอะไรที่เย้ายวนมาก มันบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า เราก็อาจเป็นแบบนี้ได้นะ ผู้หญิงก็เป็นแบบนี้ได้นะ


บดินทร์ เทพรัตน์ : นักเขียนและผู้ก่อตั้งกลุ่มปันยามูฟวี่คลับ

Black Mirror ตอน San Junipero (2016, Owen Harris, UK)

San Junipero เป็นหนึ่งในเอพิโซดของซีรีส์ Black Mirror ซึ่งมีความโดดเด่นและได้รับการพูดถึงอย่างมาก สาเหตุจากเนื้อหาที่มีลักษณะมองโลกในแง่ดี เต็มไปด้วยแง่มุมความเป็นมนุษย์ ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยงและเข้าถึงได้ไม่ยาก (แม้จะอยู่ท่ามกลางฉากหลังและองค์ประกอบต่างๆ ที่แปลกประหลาด) รวมถึงตอนจบแบบ Happy Ending – ซึ่งถือเป็นความแตกต่างเมื่อเทียบกับเอพิโซดอื่นๆ 

หมายเหตุ – Black Mirror เป็นซีรีส์แนวไซไฟแบบจบในตอน ครีเอทโดยชาร์ลี บรู้คเกอร์ มีเนื้อหาสะท้อนถึงความน่ากลัวของเทคโนโลยี โทนเรื่องเป็นแนวทริลเลอร์/ตลกร้าย ปัจจุบันซีรีส์นี้มีทั้งหมด 5 ซีซั่นบวกกับภาพยนตร์เรื่องยาว 1 เรื่อง รับชมได้ทาง Netflix โดย San Junipero เป็นตอนที่ 4 ของซีซั่น 3

จุดเด่นของ San Junipero ยังอยู่ที่ตัวเอกของเรื่องซึ่งเป็นหญิงสาวสองคนที่ตกหลุมรักกัน (รับบทโดยกูกู เอ็มบาธา-รอว์, แมคเคนซี่ เดวิส ซึ่งทั้งคู่ถ่ายทอดบทบาทได้อย่างยอดเยี่ยม มีเสน่ห์ แสดงให้เห็นถึงแง่มุมทั้งแข็งแกร่งและเปราะบางได้อย่างลงตัว) โดยพวกเธอพยายามก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงความลังเลในจิตใจเพื่อให้ได้อยู่ร่วมกัน

สำหรับอุปสรรคความรักของทั้งคู่นั้น นอกเหนือจากกรอบในเรื่องเพศ (ซึ่งสังคมพยายามกีดกัน LGBTQ) แล้ว มันยังเกี่ยวข้องกับกรอบในเรื่องความเป็นมนุษย์ กล่าวคือตัวเอกจำเป็นต้องเลือกระหว่าง 1) ยอมปล่อยให้ร่างกายและจิตดับสูญตามอายุขัย แล้วถูกฝังร่วมกับคนในครอบครัวเดิม หรือ 2) อยู่ร่วมกับคนรักใหม่ในดินแดน San Junipero ซึ่งเป็นโลกหลังความตายในรูปแบบโลกเสมือนซึ่งใช้เทคโนโลยีบรรจุจิตของผู้ล่วงลับเอาไว้ 

ซึ่งนั่นทำให้เอพิโซด San Junipero ถือเป็น Queer Cinema ที่พาผู้ชมไปสำรวจความสัมพันธ์แบบใหม่ๆ ที่ก้าวข้ามมากกว่าเรื่องของเพศคู่ตรงข้าม แต่ยังก้าวข้ามกรอบของร่างกายและความเป็นมนุษย์แบบเดิมๆ ไปสู่ตัวตนแบบใหม่ ซึ่งได้แก่จิตที่ไร้ร่างกายในโลกเสมือน

ถึงแม้ประเด็นและองค์ประกอบต่างๆ ใน San Junipero จะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ชีวิตกับความตาย จิตกับร่างกาย รวมถึงปรัชญาแนวคิด Posthuman ที่ซับซ้อน แต่ถึงที่สุดแล้วหัวใจหลักของ Junipero ก็เรียบง่ายและมีความเป็นมนุษย์สูง นั่นคือ ความพยายามเอาชนะอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ได้อยู่กับคนรัก รวมถึงพยายามสร้างสวรรค์หรือยูโทเปียให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ (จากการใช้เทคโนโลยีล้ำยุค) ดังสะท้อนให้เห็นผ่านชื่อเพลงประกอบหลักอย่าง “Heaven Is A Place On Earth”


มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักเขียนประจำ Film Club

Der Kreis (The Circle) (2014, Stefan Haupt, Switzerland) 

จำได้ว่าสิ่งแรกที่ทำหลังดูเรื่องนี้จบ ก็เริ่มลงมือค้นข้อมูลเกี่ยวกับแม็กกาซีนในตำนาน Der Kreis ที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของหนังซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง docu. กับหนัง feature film เรื่องนี้ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ สาวต่อไปอีกว่าเล่มจริงยังมีเหลือให้สั่งกับเขาบ้างเปล่า และถ้ายังเหลือ ขั้นตอนจัดส่งจะมีการตรวจค้น จะโดนตรวจจับอะไรมั้ย หรือแม้แต่พอส่งถึงบ้าน สภาพจะยังเหมือนเดิมแค่ไหน เพราะขนาดในช่วงเวลาจริง ขนาดจัดส่งให้สมาชิกตามที่อยู่ ขนาดซองยังมีประโยชน์ เผื่อไว้ใช้บังสายตาสังคมได้อีกต่อ

ครั้นเมื่อถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่หนังต้องการนำเสนออันเป็นหัวใจสำคัญ ได้กลายเป็นสิ่งสิ่งเดียวกับสาเหตุที่ทำให้คนจำนวนมากรักหนังอย่าง Dead Poets Society (ที่ตอนนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไป กราฟคะแนนนิยมเริ่มดิ่งลงแล้ว ผิดกับตอนออกฉายใหม่ๆ) ก็คือความสุขของการได้อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ แล้วได้เจอคนที่คอเดียวกัน เขียนกวีนิพนธ์มาผลัดกันอ่านแบบลับๆ กับการค้นพบบ่อน้ำกลางทะเลทรายที่ไม่เคยมีใครรู้ นอกจากคนที่รู้ใจกัน ซึ่งเป็นธุรกิจแบบคู่ขนาน ระหว่างการทำหนังสือกับเปิดผับสำหรับรองรับชายรักชาย จนกระทั่งกลายเป็นสวรรค์ในสองรูปแบบ ระหว่างสรวงสวรรค์บนตัวอักษรควบคู่กับคำเชื้อเชิญว่า ถ้าคุณอยากมีประสบการณ์เหมือนได้ขึ้นวิมาน ก็จงมาเยือน(บาร์ของ)เรา ครั้นเมื่อถึงเวลา ‘สวรรค์’ ทั้งสองรูปแบบก็อำลาสาวกของตนเองไป

Stefan Haupt ทำ Der Kreis ออกมาในรูปแบบที่ก้ำกึ่งระหว่างการเป็นสารคดีกับหนังสร้าง ใช้คนแสดง เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ความเป็น docu. ก็เอาชนะได้อย่างราบคาบ ทีนี้ก็เหลือว่าบนความเป็น docu. น้ำหนักจะเทไปยังส่วนไหนมากกว่า ระหว่างการเป็น biopics ซึ่งมีทั้งรูปแบบสัมภาษณ์ตัวซับเจกต์ พร้อมเอาส่วนที่เป็นประสบการณ์ + ความทรงจำมา re-enact จนเกือบจะกลายเป็นหนัง drama ทั่วไป หรือเป็นการกล่าวคำอาเศียรวาท ต่อยุครุ่งเรืองที่ไม่มีวันหวลคืนของแม็กกาซีน (ที่ไม่เฉพาะแค่ Der Kreis) ซึ่งสร้างความสุขของการได้เฝ้ารอกำหนดวางฉบับล่าสุด 

การปิดตัวของหนังสือ Der Kreis ได้กลายเป็นเหยื่อรุ่นแรกๆ ของภาวะ media disruption (เมื่อการสิ้นสุดของมันได้มีส่วนสร้างแม็กฯ รุ่นใหม่ๆ ได้งอกเงยขึ้นมาเพื่อรองรับการคัมเอาท์ของกลุ่มรักทางเลือกที่ต้องการ ‘การเปิดเผย’ = เห็นหมด จนกลายเป็นการสร้างกระแสในวงที่กว้างขึ้น) และส่วนที่เป็นความงดงามของกลุ่มชาวสีรุ้งในยุโรปได้ถูกนำไปทาบทับไว้ด้วยเรื่องของเสรีภาพซึ่งการต่อสู้ที่ผ่านมาของคนรุ่นบุกเบิกที่ผ่านร้อนผ่านหนาวต้องฝ่าฟันกับกระแสกดทับทางสภาพสังคมมาตลอดศตวรรษที่แล้ว 

ขณะที่ยุคพีคๆ ของตัวแม็กฯ Der Kreis เองก็บังเอิญพ้องรับกับระยะเริ่มต้นของกระแส existentialism ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเตรียมรับแสงเดือนแสงตะวัน แม้ในยุคแรกเริ่มยังต้องเผชิญกับอคติ ที่เกิดในระบบการศึกษา กลายเป็นว่า(ที่มิใช่แค่ตัวแม็กกาซีนเอง ทว่าความรักในเพศเดียวกัน)ได้ถูกผนวกเข้ากับกระแสอัตถภาวะนิยม คนเป็นครูสอนวรรณกรรมอย่าง Ernst Osentag (Matthias Hungerbühler) จึงเหมือนเจอศึกสองด้าน เมื่ออยู่ในโรงเรียน ต้องต้านหลักสูตร พออกนอกรั้ว ก็ยังเจอกระแสสังคม สุดท้ายก็ได้พบ circle เล็กๆ ที่มิใช่แค่ชื่อหนังสือ ทว่าเป็นยูโทเปียที่ต่อเติมการใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมที่(แม้ไม่ถึงกับไร้ ทว่ายัง)ต้องการหัวใจที่เปิดกว้าง พร้อมรับความแตกต่างหลากหลายซึ่ง Ernst เองก็มีส่วนขีบเคลื่อนให้ที่ตรงนั้นน่าเข้าไปมีส่วนร่วม ด้วยการรับจ็อบเป็นแดร็กควีนเอ็นเจอร์เทนเนอร์ไปพร้อมกัน

ลำพังการมีหมาป่าอยู่ท่ามกลางฝูงชนก็ดูเป็นความแปลกแยกพอแล้ว จะเป็นการดีกว่ามั้ย ถ้าบังเอิญเจอหมาป่าตัวอื่นที่หลงฝูงเหมือนๆ กัน ซึ่งก็ใช่ว่าจะบรรเทาความเหงาท่ามกลางฝูงชนลงไปได้ ในเมื่อครูใหญ่ของโรงเรียนเองก็ยังต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไม่แพ้กัน แต่สุดท้ายก็พบเจอส่วนที่หายไป Röbi Rapp (Sven Schelker) เป็นหนุ่มเข้าขั้นสวย ทำอาชีพหลากหลายมาก แต่ก็มีเวลาพอจะเจียดให้แม่ (แสดงโดย Marianne Sagebrecht ศิษย์เก่าจากหนังสาย LGBT ตัวแม่ Bagdad Cafe) และความรักที่ค่อยๆ ต่อเติมร่วมกับ Ernst ซึ่งผ่านวันเวลาและใช้ชีวิตอยู่รอดได้นานกว่าแม็กกาซีน Der Kreis จนทันเห็นวันเวลาที่สังคมเรื่มหันมาเหลียวมอง จนกระทั่งมีส่วนทำให้สังคมสวิสได้รู้จักกับชีวิตที่เดินทางเป็นรูปวงกลมในชีวิตจริง เมื่อมี docu. ชื่อDer Kreis เรื่องนี้จำลองเรื่องราวของสองชีวีออกมาเป็นหนัง

การมีอยู่ของ Der Kreis ถูกมองว่าต้านกระแสสังคมพออยู่แล้ว ในทางกลับกันตัวสังคม(ข้างนอก)เองต่างหากที่โต้กลับการอยู่รอดและ existence ของผับ กิจการเสริมของแม็กกาซีน ..เป็น ‘แหล่งนัดพบเพื่อนใหม่ใจเดียวกัน’ เมื่อเกิดคดีฆาตกรรมซ้อนกันสามราย สายตาสังคมก็เพ่งเล็งไปที่ชุมชนเล็กๆ ที่มีลมหายใจหล่อเลี้ยงด้วยการเป็นกึ่งๆ สมาคมลับ

ไม่เคยอ่านพาร์ตเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ลงในแม็กฯ Der Kreis (ของจริง) แต่เชื่อว่าแนวทางคงไม่ทิ้งคอลัมน์ ‘ชีวิตเศร้าชาวเกย์’ ในหนังสือนีออนไม่มากไม่น้อย และยังมีที่น่ากังขาเพิ่มเข้ามาอีกก็ยังมีเรื่องของเส้นชีวิตของตัวแม็กกาซีน Der Kreis เองที่มีจุดเริ่มต้นในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นอุตมรัฐทางเสรีภาพ ทว่าในอีกด้านก็ยังมีความเป็น ‘รัฐตำรวจ’ ก็ยังไม่เท่ากับปีที่ บก. Felix เริ่มทำหนังสือ 1932 (เทียบเท่า พ.ศ. 2475) และปิดตัวปี 1967 ซึ่งถ้ายังคงออกอย่างต่อเนื่อง ปีนี้ก็จะครบ 89 ซึ่งมีอายุเท่ากับบางอย่างแถวนี้พอดี


จิรัศยา วงษ์สุทิน : ผู้กำกับหนังสั้น วันนั้นของเดือน ซีรีส์ 365 วัน บ้านฉันบ้านเธอ 

Je te mangerais (2009, Sophie Laloy, France)

เรื่องราวของ Marie กับ Emma เพื่อนสาวที่สนิทกันมากๆ ที่อยู่ห้องอพาร์ตเมนต์เดียวกัน แล้ว Emma (แสดงโดย Isild Le Besco จอมโหด) ดันชอบ Marie (Judith Davis) มากกว่าเพื่อน ซึ่ง Marie เนี่ยไม่โอเคนะที่เพื่อนมาชอบ แต่เธอก็ยังรัก Emma ในฐานะเพื่อนมากๆ ถึง Emma จะคลั่งรักเธอแค่ไหน เอะอะขอจูบ เอะอะขอมีอะไรด้วย Marie ก็ทั้งด่า ทั้งย้ายออกแล้ว แต่สุดท้ายก็ย้ายกลับมาอยู่กับ Emma อยู่ดี ช่วงหลังๆ ของหนังเลยดีมากเลยสำหรับเรา เพราะความสัมพันธ์ของ 2 คนนี้มันจะซับซ้อนในเลเวลที่เราไม่เข้าใจอีกต่อไปแล้วว่าความรู้สึกที่ทั้งคู่มีให้กันมันคืออะไรกันแน่ หรือมันอาจไม่มีคำจำกัดความไหนสามารถอธิบายความสัมพันธ์ของหญิงสาวคู่นี้ได้เลยก็ได้ อีกอย่างคือนักแสดงหญิงทั้งคู่แสดงดีมากๆ เลย Judith Davis นี่จะดูสับสนลังเลตลอดเวลา ทั้งรักทั้งเกลียด Isild Le Besco ก็คือคลั่งรักแบบ literally คลั่งอ่ะค่ะ ไม่ใช่สำนวนเปรียบเทียบใดๆ สนุกที่ได้ดูมากๆ


นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ : ศิลปิน

Breakwater (Quebramar) (Cris Lyra, Brazil, 2019)

ทริปของกลุ่มเพื่อนเลสเบี้ยนห้าคน ประกอบไปด้วย Lana Lopes, Raíssa Lopes, Yakini Kalid, Nã Maranhãoc และ Elis Menezes พวกเธอเดินทางจาก São Paulo มุ่งหน้าสู่ชายทะเลที่อยู่ไกลออกไปเพื่อใช้เวลาในช่วงวันปีใหม่ด้วยกัน …นี่คือเส้นเรื่องของหนังสารคดีความยาว 27 นาทีเรื่องนี้

มีซีนที่สวยมากในช่วงต้นๆ ของหนัง เรามองเห็นพวกเธอนอนเปลือยอกอาบแดดจากมุมสูง เสียงจากนอกเฟรมหนังบอกให้เพื่อนที่นอนอยู่ขยับตัวสองสามครั้ง ซักพัก กล้องโคลสอัพให้เห็นร่างกายแบบไม่เต็มส่วนแต่ก็เต็มตากับรายละเอียดหนังเนื้อ สีผิว ขุมขน และอื่นๆ ถัดมาเราจึงเห็นว่าเจ้าของเสียงเมื่อครู่ เธอกำลัง sketch ภาพเพื่อนๆ ที่กำลังนอนขนานกับแนวเนินทิวเขา ฉากหลังที่โค้งรับรูปลักษณ์ร่างกายของพวกเธอ นี่อาจเป็นถ้อยแถลงของผู้กำกับ Cris Lyra ที่กำลังบอกเราว่า Breakwater นั้นเล่าเรื่องผ่าน place/พื้นที่ สองแบบ หนึ่งคือ place ที่เราเห็นใน landscape รอบๆ ไม่ว่าจะเป็น ทะเล/ชายหาด/โขดหิน/บ้าน เหล่านี้เป็นเหมือนเรือนพักของ “ร่างกาย” ซึ่งเป็น place อีกแบบหนึ่ง ร่างกายในฐานะพื้นที่ห่อหุ้ม ระบุเพศได้ เพียงแต่ภายในคือธรรมชาติและความปรารถนาแบบที่พวกเธอเป็นหรืออยากเป็น 

เราเข้าถึงชีวิตบางส่วนจากการพูดคุยของพวกเธอ เรื่องผมเผ้า สีผิว เพศสภาพ แบบแผนบางอย่างของสังคมต่อความเป็นผู้หญิงที่ชวนกระอักกระอ่วน ประสบการณ์ในการชุมนุมประท้วง ฯลฯ บทสนทนาเหล่านี้แทรกอยู่ในกิจกรรมประจำวัน พวกเธอยังช่วยกันแต่งเพลง ดื่มกินรอบกองไฟ ฉากที่เราชอบมาก คือ ฉากตัดผม ร้องเพลงและเต้นรำในคืนส่งท้ายปีเก่า เราเห็นการโอบอุ้มกันและกันด้วยสิ่งเหล่านี้ มิตรภาพของพวกเธอเปล่งประกายจนรู้สึกได้

ใครเคยตามข่าวสารจากบราซิลหรือเคยดูหนังสารคดี (ที่แจ๋วมาก) เรื่อง Your Turn / Espero Tua (re) Volta (2019, Eliza Capai, Brazil, Documentary, 93 min) คงรู้เรื่องความเคลื่อนไหวของเหล่านักเรียน (Brazilian student movement) ที่ลุกขึ้นประท้วงต่อรัฐ เริ่มจากกรณีขึ้นค่าโดยรถเมล์และรถไฟในปี 2013 ผลสำเร็จของมันของมันนำไปสู่อีกระลอกคลื่นความเคลื่อนไหว Occupation School ในปี 2015 เมื่อผู้ว่าการ São Paulo ประกาศ “ปรับโครงสร้างองค์กร” ที่หมายถึงการปิดโรงเรียนหลายโรงเพื่อยุบรวมกันครั้งใหญ่ นักเรียนจากโรงเรียน Fernao Dias ตัดสินใจเข้ายึดครองโรงเรียนของตน นับจากนั้น โรงเรียนมากกว่า 200 แห่งในเซาเปาโลก็ถูกยึดครอง และกระแสนี้ก็แพร่กระจายไปยังรัฐอื่นๆ ของบราซิล แน่นอนว่าทั้งหมดแลกและเผชิญหน้าความรุนแรงจากฝ่ายตำรวจที่มีทั้งการทุบตี ทำให้อับอาย และใช้อาวุธ 

นับจากปลายปี 2018 บราซิลอยู่ในเงื้อมเงาการปกครองของ Jair Bolsonaro นักการเมืองฝ่ายขวาจากพรรค Social Liberal Party (PSL) เขาชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีแต่ก็เต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาวและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจนได้รับฉายาว่า “Trump และ Duterte แห่งบราซิล” หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษเคยตีพิมพ์บทความที่ระบุว่า “..นาย Bolsonaro เป็นผู้นิยมขวาจัด เขาไม่เหมือนกับ Donald Trump ของสหรัฐฯ แต่เลวร้ายยิ่งกว่า..” Bolsonaro ยังมีชื่อเรื่องเหยียดเชื้อชาติ เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและผู้หญิง นี่ยังไม่นับรวมกับทัศนคติ ความรับผิดชอบ และวิธีการรับมือกรณีการระบาดของโควิด 19 ในช่วงปีที่ผ่านมา และนี่คือโลกของคนบราซิลนอกจอหนัง ที่ที่พวกเธอทั้งห้าต้องใช้ชีวิต

สี่ในห้าคนของกลุ่มเพื่อนใน Breakwater นั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ Occupation School ทุกคนมีความกลัวเป็นแผลใจและเรายังทันเห็นร่องรอยเหล่านี้ในบางโมเมนต์ของหนัง

ถ้า landscape ใน Breakwater เป็นเรือนพักกายใจแบบที่เราเห็นทุกคนผ่อนคลายท่ามกลางกรุ่นไอเสรี นั่นอาจเป็นเพราะมีเพียงที่นี่เท่านั้นที่เป็นที่หมาย นี่คือที่ที่ช่วยบรรเทาบาดแผลชีวิตอย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง พ้นไปจากนี้ก็คือ สำนึกร่วมในการมีอยู่ของพวกเธอที่มีกันและกัน มิตรที่คอยโอบกอดปลอบโยนท่ามกลางเสียงจุดพลุและดอกไม้ไฟในคืนส่งท้ายปีเก่า

..เราดูสามสี่รอบ ชอบ หนังไม่ได้มีบทสนทนาน่าเบื่อ ตรงกันข้าม เราคิดว่าความเป็น poetic ของงานภาพ รวมถึงเสียงดนตรีและเพลงในหนังน่าจะทำงานกับผู้คนได้ดีอยู่


บารมี ขวัญเมือง : Cinephile, นักวิจารณ์

I’m a Pornstar: Gay4Pay (2016, Charlie David, Canada/United States)

สารคดีของผู้กำกับเควียร์สายอินดี้ตัวแม่อย่าง “ชาร์ลี เดวิด” ที่พาไปสำรวจวัฒนธรรมของผู้ชายแท้ (straight guy) หันมาเล่นหนังโป๊เกย์เพื่อเงินในอุตสาหกรรมสื่อลามกของอเมริกา และยังเกริ่นเท้าความไปถึงยุคแรกๆ ที่นักแสดงชายรับบทเกย์นั้น กลายเป็นการกระทำที่น่ายกย่องและกล้าหาญ มีหลายคนอยากจะเป็นฮิธ เล็ดเจอร์ และเจค กิลเลนฮาล ในหนัง Brokeback Mountain หรือทอม แฮงก์ส ใน Philadelphia หรือบางคนก็มีตรรกะชวนสะเทือนใจประเภท “ฉันเคยเล่นเป็นฆาตกรต่อเนื่อง แล้วทำไมจะเล่นเป็นเกย์ไม่ได้?”

การนำเสนอของเดวิดที่นอกจากจะตอบสนองการเป็น queer gaze อันเต็มไปด้วยแรงปรารถนาจะดูและเปิดโอกาสให้เราได้ดูไปด้วย มันก็ควบคู่ไปกับเรื่องจริงที่หลบซ่อนอยู่ในหลืบมุมของสังคม lgbtq+ และส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนเส้นแบ่งระหว่างชาวรักต่างเพศและชาวรักร่วมเพศมาโดยตลอด ซึ่งมันตรงกับความสนใจของเรา ครั้งหนึ่งเราเคยคิดสรุปไปเองว่า “นักแสดงหนังโป๊เกย์ ย่อมต้องเป็นเกย์อยู่แล้ว” แต่เมื่อได้มาดูหนังสารคดีเรื่องนี้ ความเข้าใจที่มีต่อประเด็นดังกล่าวกลับกลายเป็นว่าเราไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย มันคือเรื่องที่ใหม่มากๆ แถมตีกลับไปถึงเรื่องเพศสภาพและก่อให้เกิดเป็นสถานการณ์ที่ดูซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

แต่ในความคิดเห็นส่วนตัว เราก็มองว่าสิ่งที่ไม่สามารถไขว่คว้ามาได้ในชีวิตจริง มันดูเหมือนจะใกล้เข้าไปมากกว่าเดิม ขณะเดียวกันนักแสดงหนังโป๊เกย์ที่เป็นเกย์จริงๆ ก็สารภาพว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้มีเซ็กซ์กับคนที่คุณไม่สามารถเจอได้ที่ไนท์คลับหรือสถานที่สำหรับเกย์โดยเฉพาะ ส่วนทางด้านชายแท้ก็มีความเห็นว่า “ตอนอยู่นอกจอ ผมไม่เคยคบแฟนผู้ชาย หรือมีอะไรกับผู้ชายเลย” ฉะนั้นเซ็กซ์กับผู้ชาย มันคือการทำงานล้วนๆ และเป็นงานที่ easy ในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตามถึงตัวหนังจะไม่ได้ให้คำตอบกับเราตรงๆ แต่สาระสำคัญที่มันทิ้งท้ายเอาไว้คือ อิสระในการได้เป็นตัวของตัวเอง และรสนิยมทางเพศมันคือเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคนอื่น มันเป็นการตัดสินใจที่มีความเป็นไปได้มากมาย ดังนั้นจึงไม่ควรถูกเอาอะไรไปตัดสินแทน เพราะท่ามกลางคนรุ่นใหม่ที่กล้าแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้นและสังคม(ชายแท้)เปิดรับความหลากหลายทางเพศมากกว่าในอดีต หรือตามมาตราของคินซีย์ที่ทำให้ค้นพบว่าโลกใบนี้ก็ยังมีพื้นที่สีเทาขนาดใหญ่อยู่ โลกที่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนและหยิบยกเรื่องเพศไปไว้ในอากาศ


(โปรดติดตามต่อในพาร์ตที่ 4)

(โปรดติดตามต่อในพาร์ตที่ 5)

Box Office Report : รายได้เปิดตัว A Quiet Place Part II และ Cruella ที่ถูกถอด

17 มิ.ย. 64 โรงหนังในกรุงเทพฯ นนทบุรี และอีกหลายจังหวัดยังไม่พร้อมให้บริการ แต่ค่าย UIP ผู้จัดจำหน่าย A Quiet Place Part II ก็ตัดสินใจเอาหนังเข้าฉายเลย โดยหนังทำเงินวันแรกไป 0.46 ล้านบาท จากโรงหนังใน ปทุมธานี, สมุทรปราการ และเชียงใหม่ เท่านั้น โดยวันเดียวกันนี้ยังมีหนังอีกเรื่องที่เข้าฉายคือ The Rescue หนังจีนจากค่าย โกลเด้นเอ ก็ทำเงินไปเพียง 0.01 ล้านบาท

ในขณะเดียวกัน ดิสนีย์ ก็ตัดสินใจถอด Cruella ออกจากโปรแกรมฉายในโรงหนังเรียบร้อย เพราะหากโรงหนังเปิดเร็วสุดคือ 1 ก.ค. ก็จะกระชั้นกับความหวังใหญ่ของค่ายอย่าง Black Widow ที่วางไว้ 8 ก.ค. รวมถึงจะชนกันพอดีกับจังหวะการเปิดตัว Disney+ Hotstar ในเมืองไทยด้วย

ส่วนหนังเก่าที่ค่ายวอร์เนอร์เอาเข้าฉายระหว่างรอโรงหนังเปิดเต็มตัว ก็ทำรายได้ไปพอหอมปากหอมคอ คือ The Lord of the Rings : The Fellowship of the Ring รวม 0.19 ล้านบาท, The Lord of the Rings : The Two Towers รวม 0.09 ล้านบาท, The Lord of the Rings : The Return of the King รวม 0.02 ล้านบาท, The Conjuring รวม 0.16 ล้านบาท และ The Conjuring 2 รวม 0.18 ล้านบาท

ปลดแอกอาณานิคมสยามและแรงปรารถนา ใน มะลิลา

มะลิลา ชวนให้ผู้เขียนนึกถึง การเกิดและแตกดับ ตามแนวคิดของ Arnika Fuhrmann ใน Ghostly Desires: Queer Sexuality and Vernacular Buddhism in Contemporary Thai Cinema ที่พูดเรื่อง Buddhist melancholia หรือ โศกาดูรแบบพุทธ โดยเฉพาะบทที่เธอวิเคราะห์นางนาก (1999) ของ นนทรีย์ นิมิบุตร ว่าในขณะที่สถาบันทางสังคม เช่น วัด มักใช้เรือนร่างของเพศหญิงในการสอนเรื่องความไม่จีรังยั่งยืน แต่หนังไทยร่วมสมัยหลายๆ เรื่องกลับปฏิเสธ และพูดถึงการหลอกหลอน และการเลื่อนโมงยามแห่งการระทมกับความสูญเสียออกไป เช่น แม่นาก (1997) ของ พิมพกา โตวีระ

ชัยรัตน์ พลมุข เขียนวิเคราะห์ มะลิลา ผ่านแนวคิด Buddhist melancholia ได้อย่างดีเยี่ยม จากแนวคิดของ Fuhrmann เสนอว่าหนังเรื่องนางนาก (1999) ของ นนทรีย์ นิมิบุตร เราจะพบว่ามีฉากที่เรือนร่างของแม่นากสลับสับเปลี่ยนระหว่างร่างที่สวยงาม กับร่างที่เป็นศพที่ผุสลาย การเปลี่ยนแปลงของร่างกายแบบนี้ตรงกับแนวคิดคำสอนของศาสนาพุทธเถรวาท ที่บอกว่าร่างกายของผู้หญิงไม่จีรังยั่งยืน ร่างสตรีที่เป็นวัตถุของความปรารถนาก็สามารถกลายเป็นร่างที่สิ้นสุดแรงปรารถนาได้เช่นกัน 

ในทางศาสนาพุทธ ความปรารถนาเป็นใจกลางของความทุกข์และการยึดติดผ่านแนวคิดปฏิจจสมุปบาท สำหรับชาวพุทธแล้วระหว่างความปรารถนาและการยึดติดจำเป็นที่จะต้องแยกขาดออกจากกัน พระและผู้ปฏิบัติธรรมจะแยกระหว่างความปรารถนา การยึดติด และความทุกข์ ออกจากกันได้ ด้วยการเผชิญหน้ากับซากศพ นั่นคือ อสุภกรรมฐาน เพื่อให้ค้นพบภาพลวงตาของความปรารถนาและความไร้ประโยชน์ของการยึดติดผ่านการใช้เรือนร่างเพศหญิง

แต่ใน แม่นาก ของ พิมพกา โตวีระ กลับพบว่าช่วงเวลาการปิดกั้นทางพุทธ (น่าจะหมายถึงการพยายามแยกปรารถนาออกจากความทุกข์) กับถูกปฏิเสธชั่วคราว แต่กลับถูกใช้เป็นช่วงเวลาเพื่อความอีโรติคถวิลหา การยืดเวลาออกไปของความพยายามแยกแรงปรารถนาออกจากความทุกข์ ได้สร้างพื้นที่ของความเป็นไปได้ใหม่ๆ ความปรารถนาที่ยังตกค้างในเขตขัณฑ์ของความสูญเสียได้สร้างจินตนาการใหม่ๆ ขึ้น การเผชิญหน้ากับความตาย และประสบการณ์ทางผัสสะของอนิจจัง ไม่ได้นำไปสู่การแยกขาดปรารถนากับความทุกข์ ในทางตรงกันข้าม กลับสร้างการเคลื่อนไหวของการโหยหาอาลัยต่อการสูญเสีย และได้จัดระเบียบทิศทางของการยึดติดแบบใหม่ขึ้น นี่จึงเป็นการสร้างการเพ่งพินิจด้วยความรื่นรมย์และโหยหารายรอบโศกาดูรแบบพุทธ 

สุนทรภู่และเชน กับการยึดโยงกับสภาวะเหนือโลก

คราวนี้เรากลับมาที่ มะลิลา ซึ่งหนังทั้งเรื่องแทบจะพูดถึงการเปลี่ยนผ่านระหว่างความเป็นและความตาย หนังแบ่งครึ่งเรื่องแบบในสัตว์ประหลาดและแสงศตวรรษ เป็นพื้นที่ในชุมชนและในป่า เป็นพื้นที่เมืองและบ้านนอก เป็นช่วงเวลายังมีชีวิตและตายไปแล้วของคนรัก หนังเริ่มต้นด้วยตอนหนึ่งใน รำพันพิลาป ของ สุนทรภู่ ถูกแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2385 สมัยรัชกาลที่ 3 

รำพันพิลาปมีเนื้อความเล่าเรื่องราวความหลังอันระทมทุกข์ของสุนทรภู่ นับตั้งแต่ออกจากราชการตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2367 จนได้มาอยู่วัดเทพธิดารามซึ่งขณะนั้นพระภู่ประสบกับความทุกข์ยากต่างๆ นานา รำพันพิลาปเป็นนิราศเชิงกำสรวลที่พรรณนาถึงชีวิตของตัวเอง เนื่องจากเกิดนิมิตเป็นฝันร้ายว่าจะต้องสิ้นชีวิต สุนทรภู่ตกใจตื่นจึงแต่งนิราศบรรยายความฝัน และเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของตนไว้ หลังจากนั้นก็ลาสิกขาบท 

ตรีศิลป บุญขจร วิเคราะห์ไว้ว่า รำพันพิลาปแสดงให้เห็นความไม่แน่นอนของชีวิตของสุนทรภู่เมื่อครั้งมีบุญวาสนา ผู้คนก็ยกย่อสรรเสริญ เชิดชูว่ามีคุณค่า มีประโยชน์ ครั้นเมื่อหมดบุญวาสนา ไม่เป็นประโยชน์ต่อเขาแล้ว ก็ถูกทอดทิ้ง ไร้คุณค่า ความเปรียบนี้ยังเตือนให้ตระหนักว่าสิ่งสมมติต่างๆ ล้วนไม่จีรัง เมื่อปราศจากสมมติก็กลับคืนสู่สภาพเดิม ใบตองเมื่อปรุงแต่งก็เป็นบายศรีในพิธีศักดิ์สิทธิ์ เมื่อจบพิธีก็ถูกทิ้งเป็นใบตองในสภาพเดิม

รำพันพิลาปของสุนทรภู่ถูกค้นพบหลังจากสุนทรภู่เสียชีวิตไปเกือบร้อยปี วรรณกรรมเรื่องนี้ เปรียบเสมือนอัตชีวประวัติของสุนทรภู่ เผยให้เห็น ชีวิตของสุนทรภู่ในหลายแง่มุมที่อาจแตกต่างจากที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ เช่น การออกบวชและต้องระเหเร่ร่อนไปอย่างยากลำบาก ภาวะทางอารมณ์ในยามที่ชีวิตตกต่ำ ความหวาดหวั่น ไร้เสถียรภาพ เพราะเจ้านายผู้อุปถัมภ์

ความน่าสนใจเบื้องหลัวของรำพันพิลาปก็คือเรื่องชีวิตของกวีที่ขึ้นกับเจ้านายผู้อุปถัมภ์ พอเปลี่ยนเจ้านายชีวิตเขาก็ตกอับ การมาบวชของเขาจึงชวนให้นึกถึงเรื่องเชน ที่เขาบวชให้กับพิช เพราะหวังว่าจะให้พิชมีอาการดีขึ้นจากมะเร็งปอดระยะสุดท้าย แต่การบวชก็ทำให้เขาไม่ได้อยู่กับพิชในวาระสุดท้าย เขามาพบพิชอีกทีก็สิ้นลมแล้ว เช่นเดียวกับที่เขามาพบศพลูกสาวหลังจากที่เขาเมา เป็นพ่อที่ไม่เอาไหน และเลิกกับเมียในที่สุด 

จะสังเกตว่าชีวิตของเชนและสุนทรภู่ต่างหวังเอาไปฝากกับสิ่งที่อยู่นอกพ้นไปจากตนเอง หรือในมโนทัศน์ของเดอเลิซเรียกว่า transcendence ซึ่งตรงข้ามกับสภาวะในโลกแบบ Plane of immanence สิ่งที่อยู่เหนือโลกแบบนี้ก็ได้แก่ ศาสนาพุทธ หรือระบบแนวคิดแบบชนชั้น หรือระบบกษัตริย์ที่สุนทรภู่ยึดชีวิตตัวเองไว้ มะลิลาทำให้เรากลับมามองถึงสภาวะในโลกแบบเดอเลิซ หรือมองถึงช่วงเวลาในการเพ่งซากศพที่ อนุชา บุญยวรรธนะ ได้นำโมงยามแบบโศกาดูรแบบพุทธ มาตีความให้กว้างไกลออกไปจาก Fuhrmann ที่พูดถึงเรือนร่างเพศหญิง 

มะลิลา ขยับขยายความหมายของพื้นที่และเวลาของความปรารถนาในการเพ่งพินิจซากศพ ความปรารถนาแบบชาย-หญิง ให้กลายเป็นความปรารถนาแบบเควียร์ที่ข้ามพ้นเพศสภาพ มะลิลาได้ท้าทายการมองมนุษย์แบบมีแก่นสาร (human essence) และเปิดพื้นที่แบบความหลากหลาย (multiplicity) ที่ปฏิเสธระบบวิธีคิดแบบรัฐและต้นไม้ใหญ่ที่เน้นความเป็นเอกภาพหรือองค์รวม การเพ่งศพได้ก่อให้เกิดพื้นที่และเวลาของความเป็นไปได้ โมงยามที่ถูกกดทับโดยศาสนาพุทธได้ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ เหมือนสภาวะจิตเภทและไรโซมที่ปฏิเสธเอกภาพและอัตลักษณ์ ท่ามกลางกระแสของการเมืองเชิงอัตลักษณ์ที่เน้นย้ำถึงการเมืองที่เรียกร้องให้คนอื่นยอมรับความแตกต่าง โดยเฉพาะขบวนการของ LGBTQ หลังทศวรรษที่ 1960

หันหลังเข้าป่า ความบ้าคลั่ง ป่าเถื่อน มึนงง และสับสน ในพื้นที่แห่งความเป็นไปได้

โมงยามแห่งความเป็นไปได้และศักยภาพอันไม่มีที่สิ้นสุดนี่เองที่โศกาดูรแบบพุทธถูกนำมาใช้ใน มะลิลา ทำให้ผู้เขียนไปถึงหนังสือเล่มใหม่ของ Jack Halberstam ชื่อ Wild Things: The Disorder of Desire ซึ่งเขาเสนอมโนทัศน์เรื่อง anarchy หรือสังคมไร้รัฐที่ต่อต้านกับแนวคิดยูโทเปียที่ผ่านมาที่เน้นย้ำเรื่องของการสร้างพัฒนาโลก (building creating worlding หรือ imagining) แต่เราต้องเรียนรู้ถึงการ unmaking the world หรือทำลายล้างโลก (แบบเดิม) เสียบ้าง

Halberstam เสนอให้เรามองถึง bewilderment หรือสภาวะมึนงงสงสัย ซึ่งหมายถึงการกลายเป็นความไม่เชื่อง ความวุ่นวายปั่นป่วน (way of becoming wild) และยังหมายถึงการหลุดหลงไปในพื้นที่และเวลาอีกแบบ (lost in space and time) และเป็นคนละเรื่องกับ rewilding หรือการปล่อยสัตว์กลับสู่ป่าแบบที่ชนชั้นกลางชอบสำเร็จความใครให้ตัวเอง สำหรับ Halberstam แล้ว bewilderment เป็นทิศทางอย่างถาวรของการไปสู่การไม่รู้จัก ไม่ทำลาย และการไม่ต้องเป็นอะไร (unknowing unmaking และ unbecoming)

Wild หรือความป่าเถื่อนไม่เพียงถูกเข้าใจว่าเป็นจินตกรรมที่ถูกสร้างโดยการล่าอาณานิคม wild คือคนนอกเมื่อเทียบกับความศิวิไลซ์ และ wild ยังพื้นที่ที่เราสามารถหันหลังกลับไปสู่สังคมหลังความศิวิไลซ์แล้ว (post-civilizational state) เขาใช้มโนทัศน์ของมิเชล ฟูโกต์ที่มองว่าผลผลิตของโลกสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 18 คือการแบ่งแยก (classification) แยกว่าประเภทของสัตว์ พืช และ (ประเภทของ) มนุษย์ออกจากกัน กล่าวคือการจัดประเภทของสิ่งต่างๆ Halberstam เสนอมุมมองของ disorder of things หรีอความสะเปะสะปะของสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเพื่อต่อต้านแนวคิดสมัยใหม่

ในหนังสือ The Order of Things: An Archaeology of the Human Sciences ของ Michel Foucault บอกว่ามันสิ่งที่เรียกว่า untamed ontology หรือภววิทยาที่ไม่เชื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการจัดระเบียบ การรับรู้ การถูกรู้ด้วยการใช้อำนาจของการศึกษา หรือไม่สามารถถูกจัดให้อยู่ในระเบียบการอ่านเขียน ซึ่ง Halberstam มองว่าภววิทยาแบบนี้ได้สร้างความหวังของความป่าเถื่อน ทำให้เราได้คิดถึงชีวิต อนาคตอีกแบบที่เป็นไปได้ นอกเหนือจากกรอบแบบอาณานิคมที่เราถูกส่งทอดให้คิดและเชื่อกันมา

เขามองว่าการมองในอนาคตอีกแบบก็คือการหันกลับไปมองซากปรักหักพัง แต่เราไม่ได้ทำเพียงการอาลัยโศกเศร้าแล้วผ่านไป แต่เรายังระลึกอาลัยถึงความฝันที่ผู้คนที่เคยฝันถึงอนาคตอีกแบบ อนาคตที่มากไปกว่าที่เราอยู่ในตอนนี้ เขาเสนอว่าการจะฝันได้ถึงโลกอีกแบบนั้นเรา เราต้อง unbuild unimagine unmake the current condition หรือต้องหยุดสร้าง เลิกลุ่มหลง และทำลายสภาพปัจจุบันได้แล้ว

Halberstam ยังขยายความของ bewilderment ไปสู่สถานะที่ไม่สามารถแทนด้วยภาพ หรือภาพแทน เขาบอกว่ามันคือ affective archive หรือจดหมายเหตุเชิงผัสสะ ที่เราจะเหลียวหันไปสู่พื้นที่ของการปลดเปลื้องมรดกอาณานิคม เขาหยิบยืมผลงานของ Kent Monkman ศิลปินเชื้อสายชาวครี ผู้เป็นชนพื้นเมืองบริเวณแคนาดา มาขยับขยายความหมายของ wild ในมุมของเควียร์

Kent Monkman วาดภาพ Seeing Red (2014) โดยมีสีแดงแทนถึงชนพื้นเมือง แต่ก็ยังแทนถึงความโกรธแค้น เกรี้ยวกราด และการปรับมโนทัศน์การมองผ่านการทำลายมรดกอาณานิคม เขาวาดภาพนี้ในงานครบรอบ 150 ปี การสถาปนารัฐแคนาดาเพื่อเป็นการประชดแดกดัน ภาพของเขาแสดงถึงความโกลาหล การฆ่าล้าง ฝูงกระทิงที่ล้อเลียนภาพชาวตะวันตกแบบปิกาซโซ่ การรักษาโดยชาวพื้นเมืองด้วยสมุนไพรล้อเลียนภาพของมาเนต์ และอัตตะที่สองของผู้เขียนที่แต่งตัวแบบแดรกในชุดมาธาดอร์ถือผ้าของนักล่าอาณานิคม 

ภาพของ Monkman ได้ย้ำเตือนถึงภาพจำที่ว่าศิลปะของชนพื้นเมืองคือความต่ำช้าเลวทราม ศิลปะสมัยใหม่ (modern art) เป็นตัวแทนของความซับซ้อนและสูงส่ง ภาพของเขาได้เผยให้เห็นการเผชิญหน้าและปลดปล่อยจินตนการของชนพื้นเมืองเพื่อทำลาย (unmake) ศิลปะสมัยใหม่ โปรเจกต์ของเขาจึงเต็มไปด้วยการอ้างถึงผลงานศิลปะสมัยใหม่มากมายที่ทำให้เรามึนงง สับสน ถึงมิติพื้นที่เวลาและอำนาจ ผลงานของเขาจึงเป็นการต่อกรกับโลกศิลปะสมัยใหม่ ประกอบสร้างอีกครั้ง ถอนทำลายพลังอำนาจ และจินตนการถึงโลกแบบอื่นๆ

มองย้อนกลับมาที่ มะลิลา การเพ่งศพแบบพุทธจึงได้เปิดเผยพื้นที่และเวลาอีกแบบ พระเชนได้มองศพของทหารไร้นาม เช่นเดียวกับพระลูกพี่อดีตทหารที่มองศพแล้วร้องไห้ ศพไร้นามกลายเป็นสิ่งอื่นๆ เป็นมากกว่าศพ ศพกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกยืดขยายออก เป็นพื้นที่แห่งความป่าเถื่อนไร้ระเบียบ เป็นพื้นที่แห่งเควียร์ที่ข้ามพ้นอัตลักษณ์และแก่นสารของมนุษย์ ศพได้กระตุ้นเร่งเร้าความปรารถนาที่ถูกกดทับจากคำสอนของศาสนาพุทธ ศพเร่งปฏิกิริยาของการเผยตัวของการยึดติดและอาลัยในคนรักที่จากไป

บายศรี การกลืนกลายและประกอบสร้างโดยอาณานิคม

หากเราลองทำความเข้าใจการบายศรีสู่ขวัญให้มากขึ้น จะพบว่านิยมทำกันในแทบทุกโอกาสทั้งในคราวประสบโชคและประสบเคราะห์ คราวที่ต้องพลัดพรากจากไกล คราวกลับมาสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด คราวที่เจ้านายหรือพระสงฆ์ผู้ใหญ่มาเยือน คราวที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิต เช่น การบวช การแต่งงาน การเข้ารับราชการทหาร การได้งานใหม่ การได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นตลอดทั้งคราวเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นต้น

นอกจากนี้ ขวัญเองเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนแต่เชื่อว่ามีอยู่ประจำตัวของคนและสัตว์มาแต่กำเนิด ถ้าขวัญของผู้ใดอยู่กับเนื้อกับตัว ผู้นั้นจะมีแต่ความสุขกายสบายใจ แต่ถ้าขวัญของผู้ใดหลบลี้หนีหาย ผู้นั้นจะมีลักษณะอาการตรงกันข้าม ขวัญจึงมีหน้าที่รักษาประคับประคองชีวิตและติดตามเจ้าตัวไปทุกหนทุกแห่งการทำพิธีสู่ขวัญจึงเป็นการเชิญขวัญให้อยู่กับเนื้อกับตัวซึ่งนอกจากจะทำให้อยู่ดีมีสุขแล้วยังจะส่งเสริมให้มีกำลังใจที่เข้มแข็ง มีสติไม่ประมาท

ชาวอีสานเองยังมีความเชื่อถือต่อผีมาก เพราะเชื่อว่าเหตุที่เกิดเภทภัยเจ็บไข้ได้ป่วย น้ำท่วม ฝนแล้งนาล่ม หรือพืชพันธุ์ ธัญญาหารเหี่ยวแห้ง เป็นสิ่งที่เกิดมาจากอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของผีสางเทวดาทั้งสิ้น พวกเขาจึงเซ่นไหว้บวงสรวงผีต่างๆ และมีสิ่งที่หน้าสังเกตคือ ทุกครั้งที่มีการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกๆ ฤดูกาล แล้วจะเกิดแต่ความสุขไปทั่ว ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็หาย ข้าวกล้าในนาก็อุดม สมบูรณ์ดี และการที่มีคติความเชื่อดังกล่าวนี้ ก็ทำให้เกิดประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีหลายลักษณะ และพีธีบูชา ผีฟ้า ก็เป็นอีกพิธีหนึ่ง 

ชาวอีสานมีความเชื่อว่า พญาแถน หรือผีฟ้า หรือผีแถนนั้น เป็นเทวดามากกว่าเป็นผี ผีฟ้าจึงเป็นผีที่อยู่ระดับสูงกว่าผีชนิดอื่นๆ ส่วนแถนนั้น มีความเชื่อว่าเป็นคำเรียกรวมถึงเทวดา และแถนที่ใหญ่ที่สุดคือ “แถนหลวง” ซึ่ง เชื่อว่าเป็นพระอินทร์ ผีฟ้าหรือผีแถนนั้นแต่ละพื้นที่มีการเรียกที่แตกต่างกันไป และมีความเชื่อว่าผีฟ้านั้นสามารถที่จะ ดับยุคเข็ญหรือทำลายล้างอุปสรรคทั้งปวงได้ และสามารถที่จะช่วยเหลือมนุษย์ที่เดือดร้อนได้ 

การที่มนุษย์เกิดการเจ็บป่วยนั้นเนื่องจากไปละเมิดต่อผี การละเมิดต่อบรรพบุรุษ ความเชื่อของชาวอีสานเชื่อว่าผีฟ้าสามารถที่จะกำหนดการเกิดการตายของมนุษย์ได้ การที่มนุษย์ตายไปขวัญจะออกจากร่างเพื่อไปพบบรรพชน แต่ขวัญจะไม่แตกดับเหมือนร่าง เป็นเพียงการจากไปของร่างแต่วิญญาณยังคงอยู่กับผู้มีชีวิต

ทอดน่องบนสายน้ำ ทลายมรดกอาณานิคม เพ่งซากศพ กลายเป็นอื่น และความเป็นไปได้อีกอนันต์

ย้อนกลับไปมองที่ฉากสุดท้ายพระเชนเปลื้องสบง แก้ผ้าเหมือนกับร่างของพีทที่เขามากอดอาลัยลา การเปลือยและลงไปในลำธารของสายน้ำกลางป่าในตอนท้าย ปลดเปลื้องสิ่งที่ปรุงแต่งภายในตนแบบสภาวะเหนือโลกของเดอเลิซ จึงเป็นการพาตัวตนของเชน (และพระพี่เลี้ยง) ให้ก้าวพ้นไปจากตัวตนเดิมที่ยึดติดกับการสูญเสียของลูกสาว คนรัก ศาสนาพุทธ และเครื่องแบบทหาร 

การนั่งบนลำธารจึงคล้ายกับการเข้าสู่สังคมแบบไร้รัฐ ไร้แก่นสาร และมุ่งสู่ความป่าเถื่อนแบบ Halberstam เหมือนกับป้าอร มิน และรุ่งใน สุดเสน่หา (2002) หรือเก่งและโต้ง ใน สัตว์ประหลาด (2004) เพราะการเข้าป่าของพระเชน และลงเล่นน้ำหลังจากที่บอกลาพีท นั่นเท่ากับได้ทลายอัตลักษณ์ และกลายป็นสิ่งอื่นๆ เขานั่งนิ่งทอดกายอย่างสงบบนลำธาร กระแสน้ำไหลผ่านตัวเขาไม่ต่างจากพานบายศรีที่ใช้รวบรวมขวัญหลังจากพิธีกรรมเสร็จสิ้นลง 

เมื่อพานผ่านเวลาไปก็แห้งเหี่ยว บายศรีก็ถูกเอามาลอย บายศรีเป็นแนวคิดดั้งเดิมของคนในแถบอีสานก่อนการเข้ามาของศาสนาพุทธในพุทธศตวรรษที่ 11-19 การนับถือผีบรรพบุรุษเป็นเรื่องปกติในพื้นที่นี้ (โปรดฟังเรื่องการบวชนาค การเข้ารีตของคนพื้นเมืองภายใต้ศาสนาพุทธโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ) ศาสนาพุทธเข้ามาในแถบอีสานราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 และมีอิทธิพลต่อระบอบการปกครองและธรรมเนียมประเพณีโดยผ่านมาทางเวียดนามและกัมพูชา ผ่านการอพยพของชาวมอญและเขมรมาในแถบนี้ในพุทธศตวรรษที่ 13 ก่อนที่ชาวลาวจะเข้ามาราวพุทธศตวรรษที่ 23 

ตามหลักฐานโบราณคดีที่ขุดพบตั้งแต่กาญจนบุรี บ้านเชียง จ.อุดรธานี และโนนชัย จ.ขอนแก่น ค้นพบว่ามีการฝังศพไว้ระยะหนึ่งแล้วจึงนำมาเผาและเก็บใส่ภาชนะดินเผา จึงนำไปสู่แนวคิดว่าคนเป็นและคนตายอาศัยอยู่ด้วยกัน ไม่ได้แยกขาดออกจากกันเช่นแนวคิดแบบพุทธที่ต้องแยกโลกคนเป็นและคนตาย หรือผีส่วนผีคนส่วนคน กระบวนการฝังศพสองรอบชวนให้นึกถึงคล้ายกับการทำอสุภกรรมฐานที่แสดงถึงความผูกพันธ์ระหว่างผีกับคนมากกว่าการปลงและละทิ้งความปรารถนา

พญาแถนที่แต่เดิมดูเหมือนจะเป็นจุดรวมของขวัญมากมายของมนุษย์และสัตว์บนท้องฟ้า ไม่ได้อยู่ไกลออกไปจากสภาวะในโลก เพราะแถนก็ประกอบด้วยขวัญจากสิ่งที่อยู่ข้างล่าง แถนเป็นเสมือนจุดรวมของขวัญของผู้ที่จากไปและปกปักรักษาผู้ที่ยังมีชีวิต แต่เมื่อศาสนาพุทธและพราหมณ์มาถึง แถนก็ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเทพ เทพที่ถูกแยกขาดออกจากสิ่งต่างๆ ที่อยู่เบื้องล่าง แถนถูกเปลี่ยนแปลงความหมายให้ห่างไกลและอยู่นอกพ้นจากโลกออกไป กลายเป็นสภาวะเหนือโลกแบบที่เดอเลิซเรียก 

และแน่นอนว่าแถนก็ถูกกดทับด้วยเทพอื่นๆ และระบบกษัตริย์จากส่วนกลางอีกที มะลิลา กลายเป็นหนังที่พูดลาวบ้างพูดไทยกลางบ้าง เชน ชนชั้นกลางเจ้าของไร่มะลิ ที่สื่อสารกับคนงานด้านภาษาพื้นถิ่น แต่พิช พูดไทยกลาง มีคนบอกว่าแม่เขาเป็นปอบ ถูกทำพิธิไล่ปอบก่อนจะเสียชีวิต พิชจึงถูกมองว่าเป็นลูกปอบ เป็นคนนอกของชุมชน เป็นตัวแปลกประหลาด น่าสนใจว่าครอบครัวของพิชอาจไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ เป็นคนแปลกหน้าที่เข้ามาในชุมชน ซึ่งกลุ่มคนที่เข้ามาใหม่ในชุมชนและมีพฤติกรรมแปลกแตกต่างก็อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบได้ง่ายๆ 

พิชผู้ใช้ชีวิตในช่วงท้ายไปกับการทำบายศรี เขาอาจมีเงินเก็บอยู่พอสมควรที่จะไม่ต้องทำอะไรนอกจากทำงานอดิเรก และรอคอยการกลับมาของเชน รอคอยการได้ไกล่เกลี่ย และพูดคุยหลังจากเชนทิ้งพิชไปเมืองใหญ่ ความเป็นเควียร์ของพิชก็อาจหมายถึงความเป็นปอป หรือลูกปอบ ความเชื่อเรื่องปอบในแถบอีสานได้แก่ ปอบเชื้อซึ่งมักสืบทอดทางสายเลือดและส่งต่อให้ลูกสาว ส่วนปอบมนต์เกิดจากการที่คนเล่นของอาคมและไม่สามารถรักษาของไว้ได้ 

นอกจากนี้ยังมีปอบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามเหตุการณ์ทางสังคมเช่น ปอปโลภ คือคนที่บุกรุกที่ดิน ไม่เห็นแก่ประโยชน์สาธารณะ คนที่ร่ำรวยไม่มีน้ำใจ หรือปอบคอมฯ หมายถึงกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อแผ่นดิน อาศัยอยู่ตามป่า ดังนั้นแล้วแนวคิดปอบจึงเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับศาสนาพุทธที่ยกย่องเชิดชูความเป็นเพศชาย โดยมองว่าปอบมักเข้าสิ่งผู้หญิงที่มีร่างกายอ่อนแอ ศาสนาพุทธที่มองว่าเดรัจฉานวิชาเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ ปอบจึงเป็นด้านกลับของผู้ที่ออกนอกลู่นอกทางศาสนาพุทธและอำนาจรัฐ

มะเร็งที่กัดกินเรือนร่างจากภายในตัวพิชไม่ต่างจากวิญญาณปอปที่กัดกินมนุษย์ เควียร์ ปอบ และมะเร็ง กลายเป็นสิ่งที่อยู่ในระนาบเดียวกันของการถูกกดทับ เป็นจำพวกป่าเถื่อน ล้าหลังที่ถูกจัดจำแนกโดยแนวคิดอาณานิคมไม่ว่าจะผ่านศาสนาพุทธ พราหมณ์ หรือผีที่มีลำดับชนชั้น (transcendent animism) และวิญญาณที่ไม่เท่าเทียม (unequal souls) ที่ปรากฏเด่นชัดในผู้คนแถบที่ราบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ตรงกันข้ามกับ immanent animism หรือวิญญาณนิยมแบบเท่าเทียม เช่นสังคมเข้าป่าล่าสัตว์ (Hunter-gatherer) ซึ่งพบน้อยในเขตนี้ Kaj Århem เสนอว่าวิญญาณนิยมแบบลำดับชั้นมีความหลายหลายเชิงสังคมและการเมือง นับตั้งแต่ระดับปานกลาง เช่นลำดับอำนาจในชนเผ่าบนภูเขา ไปจนถึงสังคมลำดับชั้นเช่นระบบอาณาจักร (kingdom)

ท้ายที่สุดมะลิลา ได้ทำในสิ่งที่คล้ายกับ Kent Monkman สำแดงให้เห็น คือการปลดเปลื้องและระเบิดความปรารถนาของสิ่งที่ถูกกดทับจากการล่าอาณานิคม และชี้ชวนให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ของพื้นที่ใหม่ๆ ศักยภาพอันไร้ขอบเขต และการเพ่งพินิจร่างไร้วิญญาณที่หนังได้ย้ำเตือนว่าเรานั้น เช่นเดียวกับแนวคิด “ขวัญ” เราต่างอยู่ในระนาบเดียวกัน 

สิ่งใดที่เสแสร้งแกล้งทำว่าอยู่เหนือพ้นบนเศียรเกล้า ขอให้จงรู้ว่า พวกเขานั้นหลอกลวง


ดู มะลิลา ได้ที่ Netflix

Sound of Metal ผัสสะไร้เสียง

*** บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์ ***

ในบรรดาภาพยนตร์อันน่าตื่นตาตื่นใจของออสการ์ปีล่าสุด Sound of Metal เป็นอีกเรื่องที่ถูกจับตามอง ไม่ใช่เพียงเพราะนักแสดงนำลูกครึ่งปากีสถานบริทิช Riz Ahmed เป็นหนึ่งในตัวเก็งในการชนะรางวัลแสดงนำชาย (ก่อนจะโดนตีตื้นมาโดย Chadwick Boseman และสุดท้ายพ่ายแพ้ให้กับ Sir Anthony Hopkins ไปในที่สุด) แต่เพราะหนังเองก็มีองค์ประกอบที่โดดเด่นจนเป็นที่พูดถึงและเป็นเสมือนตัวละครหนึ่งที่ทำหน้าที่ได้ไม่แพ้นักแสดงนำ สิ่งนั้นก็คือการผสมและตัดต่อเสียงนั่นเอง

Sound of Metal เล่าเรื่องถึงชายหนุ่ม Ruben (Riz Ahmed) มือกลองวงเมทัลผู้ซึ่งใช้ชีวิตบนรถตู้เพื่อทัวร์ดนตรีไปเรื่อยๆ กับแฟนสาว Lou (Olivia Cooke) ที่หนีตามกันมาจากบ้านเกิดที่ฝรั่งเศส ชีวิตทั้งคู่แลดูมีความสุขตามสภาพ และการทัวร์คอนเสิร์ตก็เป็นไปได้ด้วยดี จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อ Ruben ได้เกิดภาวะสูญเสียการได้ยินฉับพลัน (Sudden Sensorineural Hearing Loss – SSNHL) ถึงกระนั้น เขาก็ยังคงดื้อแพ่งไม่หยุดแสดง จนสุดท้ายไปพบแพทย์แล้วพบว่าสูญเสียการได้ยินไปแล้ว หนทางการรักษาคือต้องทำการผ่าตัดประสาทหูเทียมเพื่อให้กลับมาได้ยินใหม่ แต่การผ่าตัดนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ระหว่างในช่วงเวลาชุลมุน ทางแฟนสาวก็ได้ติดต่อกับญาติของเธอ และได้แนะนำสังคมผู้พิการทางได้ยินให้เขาได้รู้จัก ก่อนพระเอกจะย้ายไปและเริ่มเรียนรู้จักถึงการภาษามือ สังคมของผู้คนที่พิการทางการได้ยิน ได้พยายามปล่อยวางในดนตรี สิ่งที่ตนเองรักและยึดถือมาตลอดชีวิต

ข้อเด่นของหนังอยู่ตรงที่มันสามารถแสดงให้เห็นถึงภาวะการสูญเสียการได้ยินออกมาได้สมจริง ซึ่งทำให้เราเชื่อและนำไปสู่บทสรุปหรือประเด็นขัดแย้งอันว่าด้วยการการยอมรับในชะตา ปล่อยวางวิถีชีวิตเดิม เปลี่ยนมาใช้ชีวิตในสังคมผู้พิการทางการได้ยิน เทียบกับการต่อสู้โดยการเอาหาเงินมาผ่าตัดให้กลับมาได้ยินอีกครั้ง

จนสุดท้ายหนังก็มาถึงบทสรุป Ruben เลือกจะผ่าตัดเพื่อต้องการกลับมาใช้ชีวิตกับ Lou ก่อนจะพบในภายหลังว่าเมื่อเขาเลือกผ่าตัด สังคมผู้พิการทางการได้ยินก็ไม่ยอมรับเขาอีกต่อไป Lou เองก็กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านและเลิกเล่นดนตรีเมทัล ความรู้สึกที่เธอมีต่อเขาก็เปลี่ยนไปแล้ว รวมถึงประสาทหูเทียมที่ทำการผ่าตัดไปก็ทำให้เสียงที่เขาได้ยินกลับมากระท่อนกระแท่น ไม่ได้ดีในระดับดีดังใจ

ฉากจบของหนังจึงเหมือนเป็นการสรุปเหตุการณ์ที่ผ่านมา และขมวดปมให้เราได้พิจารณาเพิ่ม ในขณะที่พระเอกถอดชุดประสาทหูเทียมที่อยู่ด้านนอกที่ทำให้เขาได้ยินเสียงแวดล้อมเสียดแก้วหู และนั่งมองสรรพนิ่งรอบข้างด้วยความเงียบสงัด ชวนคิดว่าสุดท้ายแล้วการยึดติดในสิ่งเก่าอาจนำมาแต่ซึ่งความเจ็บปวด ถึงจุดที่เขาควรยอมรับในโชคชะตา และก้าวต่อไปในอนาคตด้วยสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้แล้วหรือยัง

ผู้ชมหลายท่านอาจรู้สึกกระแทกใจในฉากจบที่ทรงพลังนี้ หากแต่ประเด็นมีอยู่ว่า หนังอาจจะไม่ได้แฟร์มากนักในการพูดถึงภาวะการสูญเสียประสาทการได้ยินฉับพลัน ผลของการผ่าตัดประสาทหูเทียม รวมถึงความขัดแย้งระหว่างผู้พิการทางการได้ยินกับความเชื่อของการผ่าตัดดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคดังกล่าวและการรักษาในวงกว้างได้ เป็นที่มาที่ทำให้ผู้เขียนตั้งใจจะมาขยายความในบทความนี้

ภาวะสูญเสียประสาทการได้ยินฉับพลันเกิดขึ้นไม่บ่อย ราว 5 คนในหนึ่งแสนคนต่อปี และส่วนมากเป็นโดยหาสาเหตุไม่ได้ถึง 90% ซึ่ง 30-60% ของผู้ป่วยดังกล่าวสามารถกลับมาการได้ยินดีขึ้นได้เอง บางคนได้ยินเท่าเดิม บางคนดีขึ้นแต่ก็ไม่เท่าเดิม และบางคนสูญเสียการได้ยินถาวรแม้ทำการรักษาแล้วก็ตาม ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่สุดที่อาจส่งผลต่อการรักษาคือเวลาที่มาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ ซึ่งหมายถึงยิ่งมารักษาเร็ว โอกาสที่จะกลับมาได้ยินก็มีมากขึ้น

การรักษาภาวะประสาทหูเสื่อมฉับพลัน ประกอบด้วยการประเมินระดับการสูญเสียการได้ยิน การหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจจะเป็นไปได้ก่อน ซึ่งถ้าไม่พบสาเหตุเฉพาะ สุดท้ายแพทย์ก็จะรักษาด้วยการให้ยาสเตียรอยด์รับประทาน หรืออาจจะเป็นในรูปแบบของการฉีดยาผ่านแก้วหู และนัดมาตรวจการได้ยินเพื่อติดตามผล ซึ่งถ้าในระหว่างนี้อาการหายดี ก็จะสิ้นสุดการรักษา แต่ถ้าอาการได้ยินไม่ดีขึ้น ก็อาจเปลี่ยนมาเป็นการรักษาเพื่อประคับประคองคุณภาพชีวิต โดยการแนะนำให้ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยฟัง หรือผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมถ้ามีข้อบ่งชี้

หลายคนอาจเคยได้ยินแต่สงสัยว่าประสาทหูเทียม (Cochlear implant ต่อจากนี้ผู้เขียนขออนุญาตย่อสั้นๆ ว่า CI) นั้นคืออะไร อธิบายง่ายๆ คือเป็นการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์ที่ช่วยในการได้ยิน อุปกรณ์ดังกล่าวมีสองส่วน ส่วนแรกอยู่ด้านนอกผู้ป่วย ประกอบไปด้วยไมโครโฟนที่คอยเปลี่ยนเสียงผู้ป่วยเป็นสัญญาณไฟฟ้า และเปลี่ยนเป็นคลื่นวิทยุเพื่อส่งเข้าไปยังเครื่องมือภายใน โดยเครื่องมือภายนอกนี้จะวางอยู่บริเวณขมับ สามารถถอดออกและใส่ได้ เชื่อมกับเครื่องมือข้างในด้วยแม่เหล็ก (เช่นเดียวกับที่พระเอกถอดออกเมื่อตอนจบ)

Blausen.com staff (2014). “Medical gallery of Blausen Medical 2014“. WikiJournal of Medicine 1 (2). DOI:10.15347/wjm/2014.010. ISSN 2002-4436.

ส่วนเครื่องมือด้านในจะรับสัญญาณความถี่วิทยุที่ถูกส่งมาผ่านผิวหนังศีรษะเรา เปลี่ยนกลับเป็นสัญญาณไฟฟ้า แล้วส่งไปตามขั้วไฟฟ้าที่จะถูกสอดเข้าไปในอวัยวะรับเสียงในหูชั้นใน เพื่อไปกระตุ้นเส้นประสาทการได้ยิน ซึ่งอุปกรณ์ภายในทั้งหมดนี้ จะต้องมีการผ่าตัดบริเวณกระโหลกศีรษะ รวมถึงโพรงอากาศด้านหลังหูเพื่อฝังอุปกรณ์ไว้ อุปกรณ์ส่วนนี้จะอยู่ใต้แผล ถอดออกเองไม่ได้ยกเว้นต้องกลับมาผ่าตัดเพื่อเอาออกเท่านั้น

อนึ่งการผ่าตัดประสาทหูเทียมนั้นเป็นการผ่าตัดที่ปกติทำโดยแพทย์เฉพาะทางทางด้านโสตวิทยา (Otologist) โดยจะต้องมีการวางแผนร่วมกันกับนักโสตสัมผัส (Audiologist) ที่จะช่วยเหลือในการให้คำแนะนำกายภาพก่อนและหลังผ่าตัดเสร็จ เพื่อให้การได้ยินกลับมาเป็นปกติได้มากที่สุด และเป็นการผ่าตัดที่เสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ค่าประสาทหูเทียมในไทยนั้นราคาประมาณแปดแสนถึงล้านกว่าบาทขึ้นกับคุณสมบัติของเครื่อง (เครื่องสมัยใหม่อาจต่อกับมือถือได้โดยตรง หรือฟัง Bluetooth ได้เป็นต้น) ซึ่งเบิกได้เฉพาะสิทธิข้าราชการประมาณแปดแสนบาท ไม่รวมค่าผ่าตัดและการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงการ maintenance เครื่องต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ประสาทหูเทียมนับว่ามีประโยชน์มากในผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยิน ไม่ว่าจะตั้งแต่กำเนิด หรือมีการสูญเสียการได้ยินในภายหลังจากสาเหตุต่างๆ เช่น อุบัติเหตุทางศีรษะ ประสาทหูเสื่อมตามวัย สูญเสียประสาทการได้ยินโดยฉับพลัน หรือติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมองเป็นต้น ถือเป็นนวัตกรรมที่ทำให้หลายคนกลับมาได้ยินเสียงอีกครั้ง

แน่นอนว่าทันทีที่ภาพยนตร์ออกมา กลุ่ม American Cochlear Alliance (ACI) นำโดยประธานของพันธมิตร Donna Sorkin ผู้ซึ่งพิการทางการได้ยินและปัจจุบันได้ใช้ประสาทหูเทียมด้วยตัวเองอยู่ ก็ได้ออกมาตอบโต้แสดงความกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะตามมาจากที่หนังได้นำเสนอแง่มุมอันไม่เป็นจริง รวมถึงได้มีการจัดรายการวิทยุร่วมกันกับคณาจารย์แพทย์ทางด้านโสตประสาทและการได้ยินจาก New York University, Mayo Clinic, และ University of Minnesota เพื่อนำเสนอถึงความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นหลักๆ อันผู้เขียนรวบรวมเขียนเป็นประเด็นไว้ดังนี้

1) การทำงานในที่เสียงดัง (อาทิเช่นแบบพระเอกในหนังที่เป็นมือกลอง) อาจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “ภาวะประสาทหูเสื่อมจากเสียง” (Noise Induced Hearing Loss – NIHL) ซึ่งมักค่อยเป็นค่อยไป และมักจะสามารถกลับมาเป็นปกติได้ถ้าหยุดสัมผัสต่อเสียงกระตุ้น ไม่ใช่ดับฉับพลันแบบในหนัง เป็นคนละโรคกัน

2) เมื่อพระเอกมาพบเภสัชเพื่อซื้อยา โดยปกติคุณเภสัชจะทราบอยู่แล้วว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางการได้ยิน ต้องส่งตัวต่อเพื่อพบแพทย์เพื่อรีบหาสาเหตุและทำการรักษา ไม่ใช่ส่งพบนักตรวจการได้ยินซึ่งแนะนำการรักษาโดยการผ่าตัดไปเลยไม่ส่งพบแพทย์

3) การผ่าตัด CI จะต้องมีการให้คำปรึกษาวิธีการเตรียมตัวผ่าตัดอย่างละเอียด รวมถึงการลองใช้เครื่องช่วยฟังก่อนอย่างน้อยเป็นระยะเวลาสัปดาห์ ไม่ใช่รวดเร็วแบบในหนัง ซึ่งระหว่างนี้จะมีการพูดคุยถึงแนวโน้มความเป็นไปของโรค และปรับความคาดหวังของผู้ป่วยให้เหมาะสมก่อนจะผ่าตัดอยู่แล้ว

4) การผ่าตัด CI ในสหรัฐอเมริกาสามารถเบิกได้ผ่านกองทุนประกันเกือบทุกกองทุน ไม่จำเป็นต้องขายรถขายบ้านไปจำนำแบบในหนัง (อนึ่งในไทยยังได้แค่สิทธิ์การรักษาข้าราชการที่เบิกค่าเครื่องได้บางส่วนดังที่กล่าวข้างต้น ไม่ครอบคลุมสิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสามสิบบาทรักษาทุกโรค และสิทธิ์ประกันสังคม)

5) แผลผ่าตัดมักจะเล็กกว่าในหนังมาก รวมถึงหลังการผ่าตัดก็ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเดือนในการฟื้นการได้ยิน และมีนักกายภาพการได้ยินหลังจากเปิดเครื่องเช่นกัน ไม่ใช่ได้ยินเลย

6) ทางทีมเสวนาตั้งข้อสังเกตให้ว่าทางทีมผู้จัดทำภาพยนตร์ใช้เวลานานมากและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินมาได้ละเอียดมาก ไม่มีทางที่จะหลุดรายละเอียดเล็กน้อยเหล่านี้ไปได้ รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดที่เป็นปมใหญ่ของหนังด้วย

7) อย่างไรก็ตามทางทีมเสวนาก็ยังชื่นชมที่ Riz Ahmen สามารถแสดงให้เห็นถึงความหงุดหงิดสิ้นหวัง และอารมณ์ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักแสดงออกมาเมื่อสูญเสียการได้ยิน รวมถึงอาการที่เป็นได้สมจริงมาก

สุดท้ายประเด็นที่ทางทีมเสวนาได้คุยถึง ก็คือวัฒนธรรมการพิการทางการได้ยิน (Deaf culture) ที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจพอสมควร ผู้เขียนขออนุญาตอธิบายเพิ่มเติมไว้ตรงนี้

ในขณะที่สังคมปัจจุบันก้าวไปสู่การรักษาเพื่อฟื้นฟูการได้ยิน การใช้เครื่องช่วยฟัง หรือการผ่าตัดประสาทหูเทียม อย่างไรตามยังคงมีชนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่าสมาคมผู้พิการทางการได้ยินแห่งชาติ (The National Association for the Deaf – NAD) ซึ่งมีความเชื่อใน Deaf culture กล่าวคือ ผู้ที่เกิดมาหูหนวก ไม่ได้รู้สึกว่าหูหนวกคือความพิการ แต่เป็นเพียงอัตลักษณ์อย่างหนึ่งเท่านั้น พวกเขาชอบที่เกิดมาแบบนี้ อยากจะหูหนวก และภูมิใจที่เกิดมาหูหนวก รวมไปถึงการกำจัดภาวะนี้ อันได้แก่การทำให้พวกเขากลับมาได้ยินใหม่เป็นความพยายามลบล้างการมีตัวตน (identity) หรือกระทั่งถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ในรูปแบบหนึ่งด้วย

Deaf culture ส่วนมากจึงใช้การสื่อสารโดยผ่านภาษามือ (American Sign Language – ASL) ซึ่งถือเป็นภาษาประจำชนชาติ ในขณะการที่เด็กที่เกิดใหม่แล้วหูหนวก เขียนหรือพยายามอ่านภาษาอังกฤษนั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมชาติ รวมถึงการพยายามทำให้ได้ยินขึ้นมาเป็นการกำจัดสิทธิ์ของความพิการที่พวกเขามีมาตั้งแต่กำเนิดออกไปด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตามกลุ่มชนเหล่านี้ก็มักจะได้รับการโจมตีว่าแม้พวกเขาจะถือว่าการบกพร่องทางการได้ยินนั้นไม่ถือเป็นความพิการ แต่ก็รับการสนับสนุนจากมูลนิธิที่ดูแลกลุ่มชนพิการเป็นจำนวนเงินหลายล้านดอลลาร์ และข้อโต้งแย้งว่า การที่ปัจจุบันนั้นมีการค้นพบ CI แล้วจะทำให้การที่ไม่ยอมรักษา ถือว่าเป็นการเลือกที่จะพิการเพื่อรับผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ หรือไม่

หนึ่งในสิ่งที่ Deaf Culturalist ยืนยันอย่างหนักแน่นเสมออีกหนึ่งเรื่องคือการที่พ่อแม่เด็กไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจในการทำให้บุตรของตนกลับมาได้ยินอีกครั้ง บางคนถึงกับโจมตี CI ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการทารุณกรรมเด็ก (Child Abuse) ซึ่งก็ได้รับการโต้ตอบอย่างเผ็ดร้อนจากกลุ่มบุคลากรทางสาธารณสุขที่กล่าวว่า แนวคิดนี้ขัดแย้งในตัวมันเอง อาทิเช่นการที่ไม่ถือว่าตัวเองพิการแต่รับผลประโยชน์จากความพิการ หรือการบอกว่า CI ใช้งานไม่ได้จริง แต่ก็อ้างว่ามันได้ผลมากจนถือเป็นการล้มล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงอ้างถึงเจตจำนงเสรีและสิทธิส่วนบุคคลเหนือผลประโยชน์สูงสุดของคนไข้ (ความยากลำบากหนึ่งของประเด็นทางศีลธรรมในเรื่องนี้จึงเกี่ยวข้องกับเวลาด้วย เนื่องจากเวลาในการผ่าตัดที่เหมาะสมในเด็กที่เกิดมาพิการ คือก่อนจะได้เรียนรู้ภาษา เพื่อที่จะสื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด การรอให้เด็กโตพอที่จะตัดสินใจเองได้ อาจทำให้ผลลัพธ์การได้ยินแย่ลง รวมถึงบางคนก็ไม่ใช้เครื่องและกลับไปใช้ภาษามืออยู่ดี ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการผ่าตัดแต่แรก)

กลับมาที่เสวนาทางวิทยุที่กล่าวถึง Sound of Metal กล่าวว่า แม้ปัจจุบัน NAD และ Deaf Culture ยังคงมีอยู่ แต่ก็ค่อนข้างเปิดกว้างมากขึ้นกว่าในสมัยเก่าแล้ว ทางทีมแพทย์กล่าวว่าก็เคยพบทั้งคนที่ใช้ CI แล้วก็ภาษามือไปด้วยได้อย่างมีประโยชน์ ดังนั้นพล็อตในหนังอันว่าด้วยการที่ออกจากสังคม Deaf culture มาเพื่อทำ CI และล้มเหลวต้องกลับไปใน Deaf community ในตอนจบ จึงเป็นการเอนเอียงไปทางการสนับสนุน Deaf culture แบบ extreme โดยการลดทอนคุณค่าของการผ่าตัด CI โดยชัดเจน ซึ่งแม้จะเป็นภาพยนตร์ที่อาจต้องมีการเพิ่มเติมหรือลดบางส่วนเพื่อให้ได้อรรถรสในการรับชม ก็อาจส่งผลเสียต่อคนที่ลังเลต่อการรักษาได้

หลังทาง ACI ได้ออกมาโจมตี ทางผู้กำกับ Darius Marder ก็ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ โดยแจ้งว่า

1) หนังไม่ได้มีเจตนาลดทอนคุณค่าของการทำ CI (แต่ก็แซะในบทสัมภาษณ์ต่อมาว่าเสียงที่ออกมาหลังผ่าตัดจริงๆ นั้นแย่กว่าในหนังซะอีกนะ จากการที่เขาสัมภาษณ์มา)

2) หนังไม่สามารถเล่าถึงจุดทุกจุดได้ เนื่องจากมันไม่ใช่สารคดี ดังนั้นสิ่งที่เราไม่เห็นก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่เกิดขึ้น อย่างเช่นอยู่ดีๆ ก็ได้ผ่าตัด ไม่ได้หมายความในบริบทของหนังว่า ไม่มีการปรึกษากับแพทย์มาก่อนหน้านั้น

3) แต่ในส่วนบางส่วนเนื่องจากผู้กำกับได้รับข้อมูลมาตอนที่เขียนบทว่าการผ่าตัดไม่ครอบคลุมในประกัน แต่ต่อมาก็พบว่าเบิกได้ รวมถึงความเห็นเรื่องนี้ก็ขัดกันไปมา มองกลับไปก็ทำให้รู้สึกผิดอยู่เหมือนกัน

4) หนังไม่ได้สนับสนุน Deaf community หากแต่เป็นการนำเสนอถึงการรับมือกับการโศกเศร้าหลังการสูญเสีย ซึ่งน่าจะเป็นหลักการที่ทุกคนเข้าถึงและรู้สึกเข้าใจมันได้ ความเงียบตอนจบจึงไม่ได้เป็นการบอกว่า ถอดเครื่องแล้วดีกว่า แต่เป็นจังหวะชีวิตที่ทุกคนจะหยุดพักสงบนิ่งเพื่อพบกับความสงบภายในตัวท่ามกลางความว้าวุ่นมากกว่า

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน มุมของผู้ผลิตสื่อภาพยนตร์ หรือมุมของคนดูและกลุ่มผู้โดนพาดพิง ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย บทถกเถียงกันเรื่องถึงบทบาทหน้าที่ของหนังในการขับเคลื่อนส่งผลกระทบต่อสังคม เทียบกับการรับชมเพื่อประเด็นเฉพาะของผู้ส่งสาส์นรวมถึงความบันเทิง ก็ยังคงเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีหนังที่พูดถึงประเด็นอ่อนไหว เช่น ศาสนา การเมือง หรือการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งในขณะที่ข้อพิพาทดังกล่าวดูมีแนวโน้มไม่จบลงได้โดยง่าย และมีเหตุผลโต้แย้งที่ฟังขึ้นกันทั้งสองฝ่าย ก็คงขึ้นกับดุลยพินิจและวิจารณญาณของผู้ชมในการประเมินสื่อต่างๆ นั้นด้วยตัวเอง ไม่เพียงแค่หนัง แต่คงเป็นปรากฎการณ์เดียวกับสื่อทุกชนิดทั่วโลก

ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Sound of Metal เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ควรค่าแก่การรับชมอย่างยิ่ง ทั้งมีดีกรีเข้าชิงออสการ์ถึง 6 สาขาในปีที่ผ่านมา ได้แก่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม บทดั้งเดิมยอดเยี่ยม ตัดต่อยอดเยี่ยม และเสียงยอดเยี่ยม ซึ่งทางหนังเองได้ชนะถึงสองสาขาสุดท้ายที่กล่าวมา รวมถึงยังได้รับคำชมเรื่องการตัดต่อผสมเสียงและการแสดงอันเป็นเอกฉันท์จากทั้งทางฝั่งทีมแพทย์และ ACD เองอีกด้วย ปัจจุบัน Sound of Metal มีให้เข้าชมแล้วผ่าน Amazon Prime และสามารถซื้อหรือเช่าเพื่อรับชมได้ผ่าน iTunes Store


แหล่งอ้างอิง

https://cdn.ymaws.com/www.acialliance.org/resource/resmgr/ci2021/doctorradiotranscript.pdf

https://www.nidcd.nih.gov/about/nidcd-director-message/sound-spoken-language

https://www.acialliance.org/page/SoundofMetal

https://www.audiology-worldnews.com/awareness/4114-interview-with-sound-of-metal-director-darius-marder-this-film-doesn-t-have-an-opinion-about-cochlear-implants

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6913847/

Minor, L. B., & Poe, D. S. (2010). Glasscock-shambaugh’s surgery of the ear (6th ed.; A. J. Gulya, Ed.). Shelton, CT: PMPH-.

MIDNIGHT CINEMA 05 : Roh รูปทรงของวิญญาณ

0

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีสามแม่ลูกอาศัยอยู่ในป่า หาเลี้ยงชีพด้วยการเผาถ่านเลี้ยงไก่ เช้าวันนั้นแม่ใช้ให้ลูกสาวลูกชายออกไปดูกับดักสัตว์ที่วางเอาไว้รายรอบบ้าน ลูกสาวลูกชายที่ต่างหิวโหยหวังว่าจะได้อาหารมากิน ระหว่างทางพวกเขาพบศพกวางตัวหนึ่ง น่าประหลาด หัวของมันแขวนอยู่บนคาคบไม้ ร่างห้อยตกลงเหมือนแขวนคอตาย ด้วยความสะพรึงกลัวของคนพี่ เธอปฏิเสธไม่ให้น้องลากศพกวางลงมาผ่ากินกัน พวกเขาเร่งรีบกลับบ้านเพื่อจะพบว่า มีเด็กหญิงคนหนึ่งเดินตามกลับมาด้วย

เด็กหญิงตัวเล็กมอซอเปื้อนดินโคลนหิวโหย ได้รับการเชื้อเชิญให้ขึ้นมาพักบนบ้าน แม่คิดว่าเด็กคงมาจากอีกฝั่งของแม่น้ำไว้ค่อยพากลับไปถามหาว่าลูกใคร คืนนั้นหลังเข้านอน มีก้อนหินพรูพร่างลงมาบนหลังคาบ้านเหมือนฝนตก ครั้นพอตื่นเช้า ก็พบว่าเด็กหญิงนั่งอยู่ตรงปากประตูบ้าน กินไก่ที่เลี้ยงไว้ทั้งยังสดๆ เลือดนองแดงฉาน เด็กหญิงบอกว่า ไม่พ้นคืนเพ็ญนี้พวกแกจะตายทั้งบ้าน ว่าแล้วก็เชือดคอตัวเองตายไป

ท่ามกลางความหวาดผวาทั้งไม่รู้ที่มาและไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร มีบุคคลลึกลับสองคนปรากฏขึ้นที่บ้าน คนแรกเป็นชายตาบอดถือหอกโบราณ เขามาถามหาว่ามีเด็กหญิงพลัดหลงมาแถวนี้หรือไม่ แม่ตอบว่าไม่มีไม่เห็นแม้ว่าศพจะอยู่บนบ้าน 

คนที่สองเป็นหญิงชรา ท่าทางพิลึก ยายเฒ่าร้องเรียกแม่จากนอกบ้าน บอกว่าจากหินที่กองอยู่หน้าบ้านนี้ แสดงให้เห็นว่าจะมีภยันตรายใหญ่หลวงมาให้ระวังตัวให้จงหนัก อย่าไว้ใจใคร มีอะไรให้ไปเรียกแกที่อีกฝั่งของแม่น้ำ

ลูกสาวประจำเดือนมา ลูกชายหิวโหยตลอดเวลา แม่ที่ไม่กล้าออกจากป่า ทั้งเพราะไม่มีที่ให้ไปและเพราะไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกันแน่ ทั้งสามเริ่มถูกหลอกหลอนด้วยสิ่งลี้ลับอย่างไร้ทางสู้

หนังสยองขวัญจากมาเลเซียเรื่องนี้ประสบความสำเร็จพอสมควรในการฉายตามเทศกาลและได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศในการชิงออสการ์ในปีที่ผ่านมา ด้วยความโบร่ำโบราณของมัน การพาผู้ชมกลับไปยังยุคสมัยของตำนานเก่าแก่ นิทานพื้นบ้าน โลกที่ตรรกะเหตุผลเป็นอีกชุดหนึ่ง โลกที่เต็มไปด้วยความสยองขวัญของป่าเขาลำเนาไพร โลกที่มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเปราะบางที่ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ กับธรรมชาติทั้งสิ้น 

ด้วยพลอตเรื่องที่มีเพียงบางเบา คล้ายกับการล้อมวงฟังเรื่องผีจากปู่ย่าตาทวด หนังไม่พยายามวาดภาพการย้อนยุคแบบระบุเวลา ไม่มีฉากยิ่งใหญ่หรือเครื่องแต่งกายแบบอดีต เซตติ้งของหนังเป็นเพียงกระต๊อบหลังหนึ่ง หลุมศพ และป่า เซตติ้งซึ่งแยกตัวโดดเดี่ยวออกจากโลกและออกจากความตระการตาของภาพยนตร์ กระต๊อบไม่มีห้องเป็นเพียงความมืดที่กั้นด้วยไม้ระแนงต่อๆ กัน และยามกลางคืนก็มีเพียงแสงตะเกียงและภาพผ่านมุ้งหม่นมัว ป่าเป็นเหมือนป่าที่ไม่ได้รกทึบ เป็นป่าโปร่งแบบที่พอจะจินตนาการถึงการเข้าไปในนั้นเพื่อหาของป่ามาประทังชีวิต หนังมีเพียงบ้านและป่า ส่วนที่เหลือลอยอยู่ในอากาศของการสร้างความสยองขวัญ กองไฟ เงาสะท้อน ปลายมีด ดินเหนียวเขรอะ เลือดประจำเดือน ซากสัตว์ และเงา กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญกว่าตัวเรื่อง กลายเป็นบรรยากาศที่สร้างเรื่องเล่ามากกว่าเรื่องเล่าเอง

และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของหนัง ไม่ใช่งานซีจีผี ไม่ใช่การเล่นมุก jump scare ที่ทำให้คนดูตกใจมากกว่ากลัว แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของหนังคือ ‘ความไม่รู้’ ผู้ชมไม่รู้ทิศทาง หรือตำแหน่งแห่งที่ของบ้าน และของหมู่บ้าน ผู้ชมเหมือนอยู่ในห้องปิดตายที่ล้อมไปด้วยป่า อยู่ในความรู้สึกจนมุมแบบเดียวกับตัวละคร ในโลกของหนัง ตัวละครอยู่กันเพียงลำพัง โดยไม่มีที่มาที่ไป ความกลัวของพวกเขาทำให้นึกถึงความกลัวเก่าแก่ของมนุษย์ ความกลัวความมืด กลัวสิ่งที่มองไม่เห็น ความกลัวเสียงในยามกลางคืน ความกลัวที่รู้สึกว่าทุกย่างก้าวของชีวิตยืนอยู่บนความไม่มั่นคง ความกลัวว่าเสือจะมาคาบไปกินตอนไหนก็ได้ มันแตกต่างอย่างยิ่งกับความกลัวสูญเสียสถานะเดิมของตนแบบที่หนังสยองขวัญหลายเรื่องชอบเล่นกับการปกปิดความลับ หรือความกลัวว่าจะถูกมองว่าเป็นคนบ้า ความกลัวว่านี่คือเรื่องของการหลอนไปเอง ความกลัวใน Roh เก่าแก่กว่านั้น มันคือความกลัวเข้มข้นของจะตายเมื่อไหร่ก็ได้ จากทั้งสัตว์ร้าย ผู้คนและภูติผี มันคือความกลัวของความไม่รู้ ความไม่อาจคาดเดา ไม่ใช่ความกลัวของการคาดเดาได้ว่าจะสูญเสียอะไรไป และยึดกังวลกับความสูญเสียนั้น

ความกลัวของพวกเขาทำให้นึกถึงความกลัวเก่าแก่ของมนุษย์ ความกลัวความมืด กลัวสิ่งที่มองไม่เห็น ความกลัวเสียงในยามกลางคืน ความกลัวที่รู้สึกว่าทุกย่างก้าวของชีวิตยืนอยู่บนความไม่มั่นคง ความกลัวว่าเสือจะมาคาบไปกินตอนไหนก็ได้

หนังฉายภาพของคนแปลกหน้าที่ทั้งผู้ชมและตัวละครก็ไม่ทราบที่มาที่ไปเหมือนกัน มาที่บ้าน ให้คำทำนายทายทัก ขอความช่วยเหลือ และข่มขู่คุกคาม ตัวละครสามแม่ลูกในเรื่องเป็นมนุษย์ที่เปลือยเปล่าไร้เขี้ยวเล็บ เป็นคนที่สามารถถูกทำให้ตายได้ทุกเมื่อ พวกเขาฟังทุกคนและเกือบจะเชื่อทุกเรื่อง สามแม่ลูกเป็นตัวละครที่ขัดแย้งกับตัวละครในขนบหนังผีร่วมสมัยที่พยายามค้นหาเหตุผลเพื่อที่จะจัดการกับภัยคุกคามและคืนสู่ภาวะปกติ เพราะนี่คือตัวละครแบบที่ไม่มีภาวะปกติมาตั้งแต่ต้น พวกเขาจึงพยายามเอาตัวรอดจากการเก็บเล็กผสมน้อยของข้อมูลที่ได้มาอย่างจำกัด ว่ายวนในความมืดของความไม่รู้ และจมลงช้าๆ

หนังไม่ให้โอกาสตัวละครในการสู้กลับ หรือแม้แต่จะค้นหาว่าพวกเขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ในทางหนึ่งผู้ชมเหมือนถูกตรึงให้ดูความทุกข์ทรมานของมนุษย์ที่ค่อยๆ ถูกปีศาจกลืนกิน (ซึ่งในแง่นี้ก็ทำให้นึกถึงหนังสยองขวัญเสียงแตกอย่าง The Strangers (2008) ที่ว่าด้วยครอบครัวที่ถูกฆาตกรสวมหน้ากากคุกคามและค่อยไล่ฆ่าอย่างเหี้ยมโหด) ความไร้เหตุผลของโลกวิญญาณ ความไร้ที่มาที่ไปของเรื่องอาจถูกทำให้เชื่อว่ามันทำให้เรื่องเล่าไม่แข็งแรงไม่น่าเชื่อถือ แต่ความไร้ต้นสายปลายเหตุนี้เองที่น่ากลัวที่สุด มันผลักตัวเราไปอยู่ในโลกที่ห่างไกล โลกที่ทุกอย่างเป็นเพียงภาพร่างมีแต่ความสยองขวัญที่เข้มข้น โลกที่มนุษย์ไม่ได้เป็นสัตว์โลกแห่งเหตุและผลมากเท่าที่เราคิด 

วิญญาณในเรื่องจึงทำหน้าที่คล้ายกับซาตาน หรือปีศาจในหนังตะวันตก เข้าครอบงำจิตใจที่อ่อนแอ และล่อลวงมนุษย์ ในหนังเรื่องนี้เรามองเห็นตัวละครถูกปีศาจล่อลวง ถูกหลอกให้เลือกทางผิด อาศัยความไม่รู้ ความหิวโหย ความรักและความกลัว ในหนังสายซาตาน เราอาจพบเห็นฉากประเภทบาทหลวงบอกว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นห้ามขัดขวางพิธีกรรม แล้วตัวละครทำพลาดเพราะเป็นห่วงคนรักของตนที่กรีดร้องโหยหวน แต่ไม่มีกระทั่งบาทหลวงในหนังเรื่องนี้ ไม่มีศาสนา ไม่มีกฎหมาย ไม่มีผู้รู้ ตัวละครต้องตัดสินใจกันเอาเองเท่าทีตัวเองคิดได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์ลงมือกระทำอาชญากรรม ทำให้เลือกผิดไปเรื่อยๆ จากนั้นมนุษย์ที่ถูกทำลายจากข้างใน จากความรู้สึกผิด ความเคียดแค้น ความสำนึกบาป และความสูญเสีย จากนั้นมนุษย์ก็ยอมให้ปีศาจกลืนกิน

โดยไม่จำเป็นต้องเน้นย้ำ หนังจึงพูดถึงความอ่อนแอโดยธาตุกำเนิดของมนุษย์ เมื่อพวกเขาถูกตัดขาดจากความสัมพันธ์อื่นๆ ถูกทำให้หิวโหยและหวาดกลัว เฉกเช่นแม่ไม่รู้ว่าหมู่บ้านที่อีกฝั่งน้ำ อยู่ตรงไหน หรือเป็นอย่างไรบ้างแล้ว พ่อที่ไม่มีวันคืนมา ลูกชายลูกสาวที่หิวโหยและหวาดวิตก คุณธรรมหรือเหตุผลใดที่เรายึดถือ ความเป็นมนุษย์ที่เราคิดว่าเรามี ถึงที่สุดเป็นเพียงเรื่องเหลวไหลและเป็นภาพหลอนที่เราเข้าใจไปเอง เข้มข้นเสียยิ่งกว่าการเชื่อว่าวิญญาณคือภาพหลอนที่มนุษย์คิดไปเองหลายเท่านัก วิญญาณที่ไร้รูปจึงมีรูปทรงเช่นเดียวกับมนุษย์ เป็นมนุษย์เท่าๆ กับที่ไม่ได้เป็น จิตใจที่ไร้รูปในร่างกายของเราก็เป็นเช่นกัน


ดูหนังได้ที่ Netflix

FILM CLUB List : Queer Cinema (Part 2)

0

(รายชื่อรอบแรก)

ในโอกาส​ Pride Month นี้ Film Club ได้ชักชวนผู้คน ทั้งนักวิจารณ์ คนทำหนัง และคนดูหนังจำนวนหนึ่งมาร่วมกันเลือกภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศของผู้คน โดยแต่ละท่านมีอิสระในการเลือก ภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด ทั้งภาพยนตร์ หนังสั้น หนังทดลอง สารคดี ไปจนถึงมิวสิควิดีโอ โฆษณา หรือแม้แต่ คลิปไวรัล 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่สอง


ดูหนังทุกวัน : ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์

The Wedding Banquet (1993, Ang Lee, Taiwan/US)

ได้มีโอกาสกลับมาดูหนังเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งในช่วงปีนี้และอยากเขียนถึงมากกว่าเรื่องไหนๆ แม้ว่าหนังจะเก่ามากแล้ว และแม้ว่าเอามาดูตอนนี้ ประเด็นของหนังอาจจะเชยนิดๆ แล้วก็ได้ แต่โดยส่วนตัว The Wedding Banquet จะยังคงอยู่บน “top list หนังเกย์เปิดโลก” สำหรับเราต่อไปเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยน ..เพราะเราดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกทางช่อง 7 ในช่วงเช้าวันเสาร์ตอนม.ต้น (ใครรับผิดชอบการจัดโปรแกรมหนังเช้าวันเสาร์ช่อง 7 ตอนนั้นเราขอขอบคุณ) ในช่วงเวลาที่ก็ต้องบอกว่ายังไม่ได้เข้าใจตัวเอง 100% ยังไม่ได้รู้ว่าเกย์คืออะไร ไม่รู้ว่าคนเพศเดียวกันรักกันได้ไม่ได้อย่างไร หรืออะไรทั้งนั้น 

พล็อตเรื่องเริ่มจากหนุ่มไต้หวันที่มีชีวิตคู่อยู่ด้วยกันแฮปปี้ดีกับอีกหนึ่งหนุ่มฝรั่งผมทองในอเมริกา แต่เรื่องมันยุ่งตรงที่พ่อแม่คนจีนของนางย่อมอยากให้ลูกชายแต่งงานมีลูกหลานสืบสกุล นางก็เลยจัดบริการหาคู่ให้ลูกชาย วุ่นวายมากเข้า เอาวะ ลูกชายกับแฟนเลยคิดกันว่าหาผู้หญิงมาหลอกว่าเป็นแฟนซักคนละกัน นางก็เลยไปจ้างผู้หญิงจีนที่ยังไม่มีกรีนการ์ดมาแต่งงานด้วยในนามเพื่อให้พ่อแม่สบายใจ แต่เรื่องก็เลยเถิดไปอีกเมื่อในคืนวันแต่งงาน ทั้งเพื่อนแกล้งด้วยและความเมาเป็นเหตุด้วย พาไปให้ทั้งสองคนได้กันจนฝ่ายหญิงท้อง เรื่องวุ่นๆ นี้จะจบยังไงอยากให้ไปหาดูกัน (ตอนนี้ปรากฏว่ามีให้เช่า/ซื้อได้ใน iTunes นะ)

กลับมาที่ประเด็นความเป็นหนังเกย์เปิดโลก คงต้องอธิบายว่า เพราะฉาก love scene ที่ไม่ได้มีอะไรหวือหวา แต่ก็คือผู้ชายสองคนกอดจูบนัวกัน แล้วก็พากันเดินขึ้นบันไดไปต่อแบบกางเกงหลุดลงมากองที่ตาตุ่มแล้วนั้น เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นในหนังเรื่องไหนมาก่อนในวัยม.ต้น เราอาจจะชี้ชัดไม่ได้หรอกว่า The Wedding Banquet เป็นหนังที่ทำให้เราเข้าใจตัวเอง แต่เราชี้ชัดได้แน่ๆ ว่าหนัง “สะกิดใจ” เรามากในตอนนั้น และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ passion ในการสำรวจและเสาะหาหนัง queer มาดูเพิ่มเมื่อโตขึ้น ยาวมาจนปัจจุบัน

ในการดูซ้ำใหม่ The Wedding Banquet อาจจะไม่ได้เป็นหนังที่ perfect ขนาดนั้นทั้งในแง่ของงานสร้างหรือว่าการแสดง แต่เราคิดว่าประเด็นของหนุ่มเควียร์ที่ต้องมีชีวิตคู่แบบแอบซ่อน ต้องต่อสู้กับ tradition และความเชื่อของคนรุ่นพ่อแม่ ต้องพยายามเยอะกว่า straight people เพียงเพื่อให้ได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียม อะไรต่างๆ เหล่านี้น่าจะมีส่วนทำให้หนังยังคงเป็น example ที่ดีให้ชาว LGBT ได้ดูแล้วขบคิดกันต่อ แล้วก็ทำให้หนังเลอค่าพอที่จะอวดสรรพคุณได้ว่า นี่คือหนังเรื่องแรกจากไต้หวันที่ได้เข้าชิง Best Foreign Language Film ที่งานออสการ์ปีนั้น แถมยังชนะรางวัลหมีทองคำที่เทศกาลหนังเบอร์ลินมาแล้วอีกต่างหาก


ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล : อาจารย์มหาวิทยาลัย, ประธานคณะกรรมการ Amnesty International Thailand

I want you to be (2015, บัณฑิต สินธนภารดี)

หนังที่พูดถึงการรักข้างเดียวที่จมจ่อมไปกับความสับสนและความจัดการตัวเองไม่ได้ของวัยเยาว์ อัดแน่นไปด้วยอารมณ์เศร้าที่พลุ่งพล่านแต่บ้างครั้งก็กลับอ่อนหวาน หนังงดงามมากตรงที่พาเราทะลุกรอบคิดเรื่องเพศไป แต่ก็ยังพาเราสำรวจการไปไม่พ้นเส้นแบ่งความเป็นเพศทั้งของตัวละครและของตัวคนดูเองด้วย มันทำให้เราตระหนักอีกครั้งว่ากรอบคิดเรื่องเพศคือสิ่งกอปรสร้างโดยสังคมและกรอบนั้นก็ก่อร่างเป็นตัวเราอีกทีด้วยเช่นกัน


กฤตนัย ธีรธรรมธาดา : แพทย์ นักเขียนประจำ Film Club

A Single Man (2009, Tom Ford, US)

พูดถึงหนัง LGBTQ ส่วนมากจะทำให้เรานึกถึงหนังอันว่าด้วยความคับข้องใจของการต้องก้าวผ่านม่านประเพณี หรือความรักอันต้องห้ามอันเป็นบ่อเกิดของความซับซ้อนในเนื้อเรื่อง แต่สิ่งที่เราชอบใน A Single Man คือมันเป็นหนังที่ไม่ได้ address ตรงนี้มากเท่าที่กับทำให้เราเห็นว่าการเป็น LGBTQ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของความรักที่เรามีต่อใครสักคน หรือทำให้เราแสดงออกเมื่อสูญเสียเขาไปแตกต่างจากคู่รักต่างเพศทั่วไป

A Single Man เป็นงานกำกับแรกของ Tom Ford ดีไซน์เนอร์เจ้าของแบรนด์ชื่อดังชื่อเดียวกัน ซึ่งสร้างจากนิยายของนักเขียนเกย์ Christopher Isherwood ที่สร้างสรรค์ผลงานนี้ทิ้งไว้ในช่วงปี 1960 (ซึ่งคือครึ่งศตวรรษมาแล้ว!)

หนังฉายครั้งแรกเมื่อปี 2009 ในเทศกาลหนังเวนิซก่อนได้รับชื่อเสียงอันโด่งดังทั้งจากสไตล์การกำกับ งานศิลป์ที่มีคนพูดบ่อยๆ ว่าเหมือนดูโฆษณาสินค้าแฟชั่นต่อกันชั่วโมงครึ่ง (ก็อาจจะเพราะยกโหลนักแสดงสมทบมาจากรันเวย์จนเกือบหมดทั้งเรื่องได้ รวมถึง Ford เองก็คงไม่อยากน้อยหน้าเนื่องจากสถานะในวงการแฟชั่นเองประกอบกัน) รวมถึงนักแสดงนำที่ได้ Colin Firth ที่เล่นได้เรียบง่ายแต่ลุ่มลึกในทุกรายละเอียด และ Nicholas Hoult ที่ตอนนั้นอาจไม่ดังเป็นพลุแตกเท่าหลังๆ นี้มาสมทบ (รวมถึง Julianne Moore)

หนังว่าด้วยชีวิตวันธรรมดาที่ไม่ธรรมดาวันหนึ่งของศาสตราจารย์วัยกลางคน George (Colin Firth) ซึ่งสูญเสีย Jim (Mathew Goode) คู่รักที่คบและอยู่กินกันมาได้เกือบจะยี่สิบปีไปกับอุบัติเหตุรถยนต์ เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาได้เกือบจะครบปี แต่ความหดหู่ที่ต้องตื่นมาเผชิญกับภาพเก่าๆ ซ้ำๆ ก็ยังซ้ำเติม จึงทำให้เขาตัดสินใจอยากจะจบชีวิตลงในวันนี้ 

สิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับ A Single Man คือมันพูดถึงการสูญเสียคนรัก รวมถึงความรู้สึกซึมเศร้าได้อย่างเป็นสากลมากๆ ถ้าเราเอาเพศสภาพออกจากหนัง และเพ่งพิจารณาด้วยใจที่เป็นกลางก็จะพบได้ว่า นี่ไม่ใช่หนังเกย์ หากแต่เป็นหนังที่พูดถึงความสูญเสียอันเกินจะรับไหวซึ่งไม่ว่าเพศไหนๆ ก็น่าจะเข้าถึงได้ไม่ต่างกัน

หากแต่ถึงกระนั้น หนังก็แสดงให้เห็นความเจ็บปวดเพิ่มเติมที่ถูกกดทับและกีดกันด้วยเพศสภาพในยุคสงครามเย็นด้วย ในฉากที่ตัวละครญาติของ Jim โทรหา George แล้วแจ้งว่าไม่อนุญาตให้เขามาร่วมงานศพ (แม้การเสียชีวิตในครั้งนี้จะเกิดขึ้นเนื่องจาก Jim ขับรถกลับไปเยี่ยมบ้านด้วยตัวคนเดียว เพราะครอบครัวไม่เห็นด้วยกับการคบกันของสองคนนี้) หรือแม้กระทั่งฉากที่ Charley (Julianne Moore) เพื่อนสนิทที่เคยเป็นคนรักเก่าของ George ก่อนจะ come out แซวอย่างขาดความยับยั้งชั่งใจในนัดอาหารมื้อเย็นในวันที่เขาตัดสินใจจะปลิดชีวิตตัวเองว่า ทุกอย่างคงไม่เป็นแบบนี้ เธอกับเขาคงควงรักกันชื่นมื่น “ถ้าเขาไม่เป็นเกย์ไปซะก่อน” 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวล เราจึงคิดว่านี่เป็นหนังอีกเรื่องที่พูดถึงการสูญเสียคนที่เรารักซึ่งเป็นประเด็นสากล โดยมีคาแรคเตอร์ของ LGBTQ เป็น protagonist ได้อย่างสวยงามและมีมิติ ประกอบกับงานภาพศิลป์ที่หรูระยับ ทำให้ A Single Man เป็นหนึ่งในหนังที่เราคิดว่าสมควรได้รับการกล่าวถึงและชื่นชมเนื่องใน Pride Month เดือนนี้ครับ


สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี : นักเขียนประจำ Film Club

Hating Peter Tatchell (2021, Christopher Amos, Australia)

ตอนแรกลังเลว่าจะเลือกอะไรดีระหว่างเรื่องนี้กับ The Death and Life of Marsha P.Johnson (2017) ซึ่งเป็นหนังของแอคทิวิสต์ที่ขับเคลื่อนขบวนการไพรด์เหมือนกัน เลือกยากจริงๆ นักขับเคลื่อนไพรด์หลายคนน่าสนใจและพลังงานล้นเหลือมาก สุดท้ายก็เลือกเรื่องนี้เพราะว่าตัวซับเจกต์มันบ้ากว่า มันชวนตั้งคำถามมากกว่า และเขายังไม่ตาย ตรงนี้แหละที่มันคอยกระตุ้นเตือนว่าบนโลกแบบนี้มันยังมีคนที่สู้อยู่อย่างไม่หวาดกลัว แม้หมอจะเตือนว่า “คุณโดนตีหัวอีกไม่ได้แล้วนะ”

เวลามองปีเตอร์ แทตเชลล์ เราจะรู้สึกเหมือนเรากำลังมองนักขับเคลื่อนอีกพวกในบ้านเราด้วยเหมือนกัน พวกเขากัดไม่ปล่อย แถมชอบทำอะไรบ้าบิ่นจนต้องตั้งคำถามว่ามันจำเป็นต้องทำขนาดนั้นจริงๆ เหรอ แล้วทุกครั้งเราก็ได้คำตอบให้ตัวเองเหมือนเดิมว่ามันจำเป็นแหละ สำหรับพวกเขา ถ้าไม่ได้ “แสง” มันก็อันตรายถึงชีวิตจริงๆ

อีกจุดที่สำคัญมากในเรื่องคือการระวัง Moral High Ground เพราะมันง่ายมากเลยที่ขบวนการขับเคลื่อนใดๆ จะโดนเบี่ยงจนเป๋เพราะคิดว่าตัวเองดีกว่าชาวบ้านเขา ตรงนี้แหละที่เราพยายามจะขีดเส้นเตือนตัวเองไว้ตลอด


ชลนที พิมพ์นาม : นักเขียนประจำ Film Club

Living Single (ひとり暮らし / series 10 ep, 1996) ผกก. จิโร่ โชโนะ

สำหรับวัยรุ่นยุค 90’s น่าจะยังพอจำได้ว่า ช่อง 3 เคยเอาซีรีส์ญี่ปุ่นมาฉายตอนช่วงบ่าย จนกระทั่งมีเรื่องอื้อฉาวโดนด่าจากฉากข่มขืนในโรงเรียนจากซีรีส์ Miseinen ‘เพื่อนรักนักฝัน’ (Under Age, 1995) ก็เลยเป็นเรื่องสุดท้ายที่ได้ฉายตอนบ่าย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคนเลือกซีรีส์ญี่ปุ่นมาฉายของช่อง 3 ตอนนั้นคิดอะไรอยู่ ถึงได้เลือกเรื่องที่มีฉากเซ็กซ์มาฉายตอนบ่ายแบบนั้น ทั้งที่ก่อนหน้า ยังเป็นดราม่ารักวัยรุ่นวัยทำงานล้วนๆ จนกระทั่งช่องเอาซีรีส์ญี่ปุ่นกลับมาฉายอีกรอบ ก็ยัดเวลาไปเที่ยงคืนวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งก็ยังดีที่เป็นคืนวันหยุด ซึ่งเรื่องแรกที่ประเดิมเวลาใหม่ ก็คือซีรีส์เรื่องนี้

Living Single มันว่าด้วยสาววัย first jobber อย่าง มิโฮะ (ทาคาโกะ โทคิวะ) ที่ตัดสินใจอยากออกมาใช้ชีวิตตามลำพังในอพาร์ทเม็นต์ โดยเธอมีเพื่อนสาวคนสนิทอย่าง เคียวโกะ (ฮิโรมิ นางาซากุ หรือคนที่รับบทคุณแม่ใน True Mothers ของ นาโอมิ คาวาเซะ ที่เพิ่งเข้าโรงบ้านเรา) ที่พยายามโน้มน้าวขอมาอยู่ด้วยแต่ก็ถูกปฏิเสธตลอด โดยเนื้อหาหลักๆ มันก็ว่าด้วยการแสวงหาความสุขของหนุ่มสาว ที่มักวนเวียนอยู่กับความสัมพันธ์รักๆ ใคร่ๆ ที่ชุลมุนวุ่นวายไปหมด แต่ความลับสำคัญของเรื่องที่ซ่อนไว้ มันคือ…เคียวโกะ เป็นเลสเบี้ยน ที่หลงรักเพื่อนเธออย่าง มิโฮะ มานานแล้ว

เอาเข้าจริง เมื่อได้กลับมาย้อนดูในอีก 20 ปีให้หลัง (โชคดีที่ได้ไฟล์จากเว็บแปลกๆ มาแบบงงๆ) ก็ค้นพบว่า ระหว่างทางมันที่ใบ้ให้ผู้ชมรู้สึกว่า 2 สาวเพื่อนซี้คู่นี้มักจะทำอะไรแปลกๆ ที่ดูจะเกินเลยกว่าสิ่งที่เพื่อนสาวทำกัน เช่นการป้อนป๊อกกี้ด้วยปากจนแทบปากจะชนกัน หรือความห่วงเพื่อนที่ดูดีๆ มันคือความหึงหวง แต่ขณะเดียวกัน ตัวของเคียวโกะเองก็ดันไปมีเซ็กซ์กับ ทาคิฮิโระ (คัตซึโนริ ทาคทฮาชิ) ชายหนุ่มที่กำลังมีความสัมพันธ์มิโฮะเพื่อนของเธอเองแบบที่คนดูก็งง ซึ่งเราอาจจะตีความไปได้ว่า เคียวโกะทำเพื่อลองใจทาคิฮิโระให้ไขว้เขวต่อตัวมิโฮะ หรือไม่ก็อาจกำลังลองใจตนและค้นหาเพศสภาพของตัวเองอยู่ก็เป็นได้

ท้ายสุด ฉากที่ทำให้เราในตอนวัยมัธยมต้นช็อกมากๆ คือฉากที่เคียวโกะแอบวางยาเพื่อมีเซ็กซ์กับมิโฮะ และเปิดเผยความรู้สึกของตัวเอง คือในช่วงวัยประมาณนั้น เราแทบจะยังไม่เข้าใจเรื่องของ LGBTQ เลยแม้แต่น้อย แถมในสื่อกระแสหลักก็ไม่เคยเห็นเรื่องไหนเอามาเล่นในโทนจริงจังขนาดนี้ สำหรับเราซีรีส์เรื่องนี้มันเลยเป็นคอนเท็นต์ LGBTQ เรื่องแรกๆ ในชีวิตที่มันเล่าอย่างไม่ make fun กับสิ่งนี้ แม้ว่ามันจะไม่พ้นจากการให้ภาพในแง่ลบก็ตาม แต่ในแง่บทสรุปของซีรีส์ มันก็ยังประนีประนอมพอ และหาทางออกให้ทุกตัวละครมีความสุขตามหนทางของตัวเอง


ก้อง ฤทธิ์ดี : รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ 

You and I (2020, Fanny Chotimah, Indonesia)

หนังสารคดีอินโดนีเซียปี 2020 โดยแฟนนี่ โชติมาห์ ติดตามหญิงสูงวัยสองคนที่ใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ด้วยกันในหมู่บ้านในเกาะชวา ทั้งสองเจอกันในคุก หลังถูกจับข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงการกวาดล้างปี 1965 หลังจากถูกปล่อยออกมาก็ใช้ขีวิตอยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า หนังมันซึ้งและจริงใจ เป็นหนังรัก หนังมิตรภาพ หนังแห่งความเจ็บป่วยและชราภาพ และหนังแห่งความหวังว่าโลกนี้ไม่ได้โหดร้ายเกินไปสำหรับทุกคน


ประวิทย์ แต่งอักษร : นักวิจารณ์ อ.สอนภาพยนตร์ 

Tea and Sympathy (1956, Vincente Minnelli, US)

เอากลับมาดูตอนนี้ หนังเรื่อง Tea and Sympathy ของวินเซนต์ มินเนลลี่ ซึ่งดัดแปลงจากบทละครบรอดเวย์เรื่องอื้อฉาวของโรเบิร์ต แอนเดอร์สัน ก็แทบจะไม่หลงเหลือความแหลมคมของเขี้ยวเล็บเหมือนกับเมื่อตอนที่มันออกฉายครั้งแรกในปี 1956 หมายความว่าประเด็นรักร่วมเพศและความสัมพันธ์นอกชีวิตสมรสไม่ได้เรื่องร้อนแรงหรือเปราะบางอ่อนไหวอีกต่อไป แถมบทสรุปตอนท้ายของหนังก็ดูประหนึ่งผู้สร้างสมาทานวิถีแบบ heterosexuality หรือความสัมพันธ์แบบชายจริงหญิงแท้ หรืออย่างน้อย คนทำหนังก็แสดงออกในทำนอง ‘เออๆ คะๆ’ ไปตามค่านิยมของสังคมตอนนั้น ซึ่งหวาดกลัวพฤติกรรมโฮโมเซกฌ่วลยิ่งกว่าภูตผีปิศาจร้าย

แต่ก็นั่นแหละ ในความเป็น ‘อิฐก้อนแรกๆ’ ของหนังเมดอินฮอลลีวู้ดในช่วงที่กำแพงศีลธรรมสูงตระหง่านและกรอบคิดแบบอนุรักษ์นิยมกำหนดจริตและวัตรปฏิบัติของคนหมู่มาก มันก็มีความกล้าหาญชาญชัยในแบบของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งคำถามในเชิงเพศสภาพกับ ‘ความเป็นชาย(ชาตรี)’ และ ‘ความเป็นหญิง’ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว กลายเป็นทั้งเครื่องมือแบ่งแยกและพันธนาการผู้คนให้อยู่ในร่องรอยตามความคาดหวังของสังคม กระทั่งมาพร้อมกับข้อกำหนดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้, ‘ที่ทาง’ ของผู้ชายและผู้หญิงอยู่ตรงไหน, ประเภทกีฬาหรือสันทนาการที่ผู้ชายผู้หญิงควรจะเกี่ยวข้องด้วยคืออะไร ไปจนถึงการใช้ถ้อยคำในลักษณะตีตรา

ส่วนที่สะเทือนความรู้สึกมากๆก็คือ ราคาที่ต้องจ่ายซึ่งสูงลิบลิ่วของคนที่แคร์ ‘เสียงเพรียกจากข้างใน’ ของตัวเอง และไม่ยอมปฏิบัติตามขนบ กฎเกณฑ์ ตลอดจนข้อเรียกร้องของคนหมู่มาก ในกรณีของเด็กหนุ่ม (จอห์น เคอร์) ตามท้องเรื่อง ปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกิดขึ้นกลายเป็นบาดแผลฝังลึก แต่คนที่น่าเห็นใจจริงๆ ก็คือสาวใหญ่ (เดบอร่าห์ คาร์) ผู้ซึ่งอยู่ในสถานะ lost soul ไม่แตกต่างกัน และบั้นปลายของตัวละครนี้ ก็ไม่เพียงตอกย้ำถึงการปิดกั้นและความคับแคบของสังคม แต่คนทำหนังก็ใจร้ายกับคนดูซะเหลือเกิน

ข้อมูลบอกว่าองค์กรด้านคาธอลิกในฐานะหน่วยงานผดุงศีลธรรมและรักษาความสะอาดสะอ้านของสังคม พยายามขัดขวางทั้งการสร้างและออกฉายของหนังเรื่องนี้ (รวมถึงกดดันให้ดัดแปลงเนื้อหา) แต่วันเวลาที่ผ่านพ้นไปสะท้อนข้อเท็จจริงอย่างน้อยสองอย่าง หนึ่งก็คือ องค์กรความเชื่อหลายต่อหลายแห่งของหลากหลายศาสนากลายเป็นแหล่งซ่องสุมบุคคลที่เก็บกดทางเพศ และแอบซ่อนตัวตนที่แท้จริงภายใต้เครื่องแบบนักบวชหลากรูปแบบและหลายสีสัน และอีกหนึ่ง บุคคลที่สวมบทนักเทศนาสั่งสอนเหล่านั้นไม่ได้เลอเลิศหรือวิเศษวิโสมากไปกว่าคนธรรมดาสามัญที่กินขี้ปี้นอนอย่างเราๆ ท่านๆ แต่อย่างใด


อภิโชค จันทรเสน : หนึ่งในทีมเขียนบทภาพยนตร์ Homestay และ นศ.ปริญญาโทภาพยนตร์ นักเขียนรับเชิญของ Film Club

Bronski Beat – Small-town Boy

ผมไปเจอเอ็มวีเพลงนี้โดยบังเอิญขณะไล่ฟังเพลงยุค 80s บนยูทูป (ขอบคุณอัลกอริธึ่มที่พาเรามาเจอของดีแบบนี้) ถ้าดูเผินๆ เอ็มวีโดย Bernard Rose (ที่ต่อมาเป็นผู้กำกับผลงานขึ้นหิ้งอย่าง Candyman หรือ Immortal Beloved) เล่าเรื่องราวของพระเอก (รับบทโดย Jimmy Somerville นักร้องนำของวง) ที่นึกย้อนถึงชีวิตวัยเด็กของที่ตัวเอง ตอนที่แอบดูนักว่ายน้ำที่ตัวเองชอบแล้วเพื่อนยุให้ลองจีบ แต่ผู้ชายไม่เล่นด้วย ยกแก๊งเพื่อนมาทำร้าย จนความแตกกับครอบครัว โดนไล่ออกจากบ้าน

อ่านเผินๆ แล้วเหมือนอ่านพล็อตซีรีส์วายคลิเช่ๆ 90% ของโลก แต่ถ้าเราลองคิดว่าเพลงนี้ออกมาในประเทศอังกฤษในปี 1984 ในขวบปีที่ Elton John, George Michael หรือแม้แต่ Freddie Mercury เองยังไม่กล้าเปิดตัว เราแทบจะนับได้ว่าเอ็มวีนี้เป็นเอ็มวีแรกๆ ที่กล้าเล่าเรื่องราวของผู้ชายที่ชอบผู้ชายอย่างเป็นมนุษย์แบบนี้ ผ่านเรื่องราวของความรุนแรงและการกีดกันทางเพศที่ชาว LGBTQ+ ช่วงนั้นพบเจอกันแทบทุกคน เล่าด้วยดีเทลที่เล็กแต่เจ็บลึกอย่างพ่อที่ไม่ยอมเชคแฮนด์กับลูกหลังรู้ความจริง หรือสายตาของ Jimmy Somerville ที่เบิกโพลงขณะนึกย้อนไปถึงอดีต ในยุคที่การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องต้องห้ามสุดขั้ว เอ็มวีนี้เป็นการพูดกับสังคมอังกฤษว่าชาว LGBTQ+ ไม่ใช่ตัวประหลาด แต่เป็นมนุษย์ที่เจ็บเป็น และต้องการความรักจากคนอื่นๆ เช่นเดียวกับทุกคนเหมือนกัน


พิมพ์ชนก พุกสุข : นักเขียนประจำ Film Club

Tangerine (2015, Sean Baker, US)

หนังโฉ่งฉ่างอย่างฉูดฉาดของนาย ฌอน เบเกอร์ กับทุนสร้างหนึ่งแสนเหรียญฯ และการควงไอโฟน 5S ถ่ายหนังทั้งเรื่อง เล่าถึงวันคริสมาสต์อีฟนรกแตกของ ซินดี (คิตานา กีกี ร็อดริเกวซ) โสเภณีข้ามเพศผิวดำที่เพิ่งพ้นโทษจำคุก 28 วันและต้องออกตามล่าผัวหลังมีเสียงลือเล่าอ้างว่านางผัวแอบไปแซ่บกับสาวแท้ ขณะที่ อล็กซานดรา (มายา เทย์เลอร์) เพื่อนสาวก็คอยปรามๆ เพื่อนว่าอะไรเบาได้ก็เบาน้าอีดอกอย่าไปบุ่มบ่ามทำอะไรจนวอนเข้าคุกอีกรอบ แต่ความกราดเกรี้ยวขั้นสุดของซินดีก็ทำให้เธอระเบิดแอลเอราบเป็นหน้ากลองด้วยปฏิบัติการตามล่าหาผัวกับนังเมียน้อยหอยสังข์! หื้มมมมม!

หากว่าด้านหนึ่งของ Tangerine คือความฉูดฉาดของเรื่องราวและบรรยากาศยามตะวันกำลังตกดินของลอสแองเจลิส อีกด้านของมันก็พาคนดูไปสำรวจโลกของความเจ็บช้ำและความอยุติธรรมที่เหล่าคนข้ามเพศต้องเผชิญมาโดยตลอด ผ่านเสียงโห่ด่าทอที่ซินดีกับอเล็กซานดราต้องเผชิญ และลัดเลาะไปยังเรื่องราวของ ราซมิก (คาร์เร็น คารากูเลียน) คนขับแท็กซี่ชาวอาร์เมเนียนที่ใช้ชีวิตกับลูกเมียเคร่งศาสนา และต้องหาทางปลดปล่อยระบายความต้องการทางเพศอย่างลับๆ กับโสเภณีข้ามเพศผิวดำที่เขารู้จัก 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ขณะที่หนังค่อยๆ เผยให้เห็นความบอบช้ำของตัวละครที่เผชิญหน้ากับความเฮี้ยนแตกของคืนคริสมาสต์อีฟกันอย่างเสมอภาค ในด้านงานสร้าง ป๋าเบเกอร์ก็เลือกใช้นักแสดงที่เป็นคนข้ามเพศจริงๆ ขณะที่ตัวละครชู้รักสาวที่ตาผัวไปติดจนซินดีต้องไปกระชากลากถูออกมาจากบ้านนั้น ก็เป็นบทผู้หญิงที่ได้สาวข้ามเพศมาแสดง (รับบทโดย มิกกีย์ โอเฮเกน) 

Tangerine มันจึงซอกซอนสำรวจความเหลื่อมล้ำที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศต้องเผชิญด้วยท่าทีโฉ่งฉ่างและฉูดฉาด กับฉาก ‘รวมดาว’ ท้ายเรื่องที่ตัวละครระเบิดความเฮี้ยนใส่กันจนตาพร่า และตราตรึงอยู่ในความทรงจำจนทุกวันนี้


นนทวัฒน์ นำเบญจพล : ผู้กำกับภาพยนตร์

Midnight Cowboy (1969, John Schlesinger, US)

ในขณะที่กำลังปั่นบทภาพยนตร์เรื่องใหม่ อันว่าด้วยเรื่องราวของคนพลัดถิ่นจากในป่าในดอย ที่พกพาความฝันอันยิ่งใหญ่เพื่อจะมีชีวิตที่ดีจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อนำพาตนเองมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ท่ามกลางแสงสี แต่หารู้ไหมว่า ชีวิตใหม่ที่รออยู่นั้นกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ไม่คาดฝันและพาชีวิตไปสู่จุดที่ไม่มีทางออก และทางออกเดียวที่พอมีนั้นคือการได้จินตาการร่วมฝันกับใครสักคนถึงแม้ว่าจะเป็นฝันลมๆ แล้งๆ แต่มันก็ช่วยเยียวยาจิตใจให้ผ่านวันแย่ๆ ไปได้ 

เมื่อฟิล์มคลับทักมาให้เลือกหนังสักเรื่อง ก็ทำนึกถึงหนังเรื่องหนึ่งที่ดูตั้งแต่เด็กๆ แต่ยังจำได้ถึงทุกวันนี้และเรื่องนั้นคือ Midnight Cowboy (1969) อันว่าด้วยความสัมพันธ์ของคาวบอยหนุ่มบ้านนอก กับ นักต้มตุ๋นกิ๊กก๊อก กับความสัมพันธ์ของชายหนุ่ม straight สองคนที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นหวานขมปนเศร้า 

จนนึกอยากที่จะหยิบกลับมาดูอีกสักรอบหลังจากที่ไม่ได้ดูมากว่าสองทศวรรษ


พงศ์สันต์ อรุณสินทวีพร : cinephile นักเขียนรับเชิญ Film Club

Dear Tenant (2020, Cheng Yu-Chieh, Taiwan)

เมื่อหลี่เว่ย-ชายคนรักของหลินตายจาก หลินยังคงอาศัยอยู่ในบ้านของหลี่เว่ยในฐานะผู้เช่าบ้านต่อไปอีกห้าปี คอยเลี้ยงดูลูกชายวัยเก้าขวบและแม่ชราของหลี่เว่ยราวกับเป็นญาติของตน ต่อมาเมื่อแม่ของหลี่เว่ยตายจากไปอีกคน หลี่กัง-น้องชายของหลี่เว่ยก็ปรากฏตัว เขาตกใจที่หลินผู้ไม่ได้เกี่ยวดองใดๆ กับครอบครัวตนด้วยสายเลือดรับลูกชายของหลี่เว่ยป็นบุตรบุญธรรม ซ้ำแม่ของเขายังยกบ้านหลังนี้ให้หลานชาย ซึ่งก็เท่ากับว่าบ้านได้กลายเป็นของหลินไปโดยปริยายด้วย

แม้กฎหมายการสมรสเท่าเทียมในไต้หวันจะออกมาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้พาเราไปดู คือรายละเอียดอย่างอื่นในชีวิตที่แท้ของ LGBTQ ที่กฎหมายดังกล่าวไม่อาจช่วยให้ข้ามพ้นไปได้ – หลี่กังฟ้องหลินข้อหาฆาตกรรมมารดาตนเพื่อฮุบบ้าน ตำรวจเริ่มกระบวนการสอบสวนทุกคนที่เกี่ยวข้องกับหลิน ความสัมพันธ์ของหลินกับหลี่เว่ยในอดีตถูกขุดคุ้ยตั้งคำถาม หลี่กังพาหลานชายไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจสอบว่าถูกหลินล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่ เพศสภาพของหลินถูกเปิดเผยในที่ทำงานเมื่อตำรวจไปสืบสวนเรื่องของเขากับคนที่นั่น

“ถ้าผมเป็นผู้หญิง และสามีของผมตาย และผมยังอยู่ดูแลครอบครัวของเขาต่อไป คุณจะถามคำถามแบบนี้กับผมไหม” หลินพูดกับเจ้าหน้าที่ที่สอบสวนเขาในฉากหนึ่ง

อคติเหมารวม แนวคิดอนุรักษนิยมตามจารีต และการปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ ที่แตกต่างยังคงมีปรากฏแทรกซึม และเป็นสิ่งที่อยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเข้าไปจัดการได้ อาจมีเพียงการเปิดใจกว้าง ความกล้าหาญที่จะก้าวข้าม และการจับจูงมือเติบโตไปด้วยกันของคนในสังคมเท่านั้น ที่จะนำพาชีวิตของชาว LGBTQ ไปสู่ความเท่าเทียมกับทุกคนในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้อย่างแท้จริง


‘กัลปพฤกษ์’ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์

A Good Man (2020, Marie-Castille Mention-Schaar)

Cher ‘แบงยาแม็ง’,

รู้อยู่ว่านายคงไม่พอใจที่เรื่องราวชีวิตของนายต้องกลายมาเป็นผลงานแนะนำในกลุ่ม Queer Cinema ในวาระเวลาแห่ง Pride Month เดือนมิถุนายน แต่ในเมื่อทั้งโลกควรได้รู้จักคนอย่างนาย ไม่ว่าจะด้วยจังหวะหรือโอกาสไหนๆ เส้นทางชีวิตของนายจึงควรต้องกลายเป็นที่รับรู้ของผู้คนในทุกๆ วิถีเพศให้กว้างที่สุด ผู้ชายธรรมดาๆ ที่ปรารถนาเพียงแค่ได้ใช้ชีวิตในแบบผู้ชายธรรมดาๆ ไม่ว่าเพศกำเนิดของนายจะย้ายฝั่งไปด้วยความผิดพลาดใดๆ หัวจิตหัวใจของนายก็ยังคงเป็น ‘ชายอกสามศอก’ อยู่เสมอมา ศัพท์บัญญัติทางสังคมวิทยา ‘label’ ผู้ชายอย่างนายเอาไว้ว่าเป็น transgender สังกัดไว้ในกลุ่ม LGBT ที่มีทั้ง Lesbian, Gay และ Bisexual สดุดีพวกนายว่าช่วยสร้างความหลากหลายทลายกรอบขนบเพศและส่งเสริมอิสระเสรีแห่งการใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองเป็นในโลกยุคปัจจุบัน . . . ซึ่งมันเป็นสิ่งที่พวกนายงุนงง เพราะสำหรับตัวนายเองแล้ว นายคือ ‘ผู้ชาย’ ที่มีภรรยา และอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างเรียบง่ายตามอัตภาพ ณ เมืองริมทะเล เมื่อต่อมท่อและอวัยวะบางอย่างขาดหาย นายก็หา hormone มาเติมเต็มร่างกาย และเมื่อภรรยาสุดที่รักมีปัญหาไม่สามารถตั้งครรภ์เพื่อมีลูกด้วยกันได้ นายก็อาศัยมดลูกที่ยังหลบฝังอยู่ในร่างกายรับหน้าที่ตั้งครรภ์อุ้มท้องแทนภรรยา แบงยาแม็ง นายทำให้ทั้งโลกได้รับรู้ว่า ‘ผู้ชาย’ ก็สามารถทำหน้าที่เป็นคุณพ่อผู้ตั้งท้องแทนภรรยาโดยไม่จำเป็นต้องมาเรียกว่า ‘แม่’ นี่ละสิ คือความเปิดกว้างทางเพศที่แท้ โดยไม่เห็นจะต้องมาแยแสคำนึงถึงลึงค์ถึงโยนีที่สุดท้ายก็ไม่อาจใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ได้เลยว่าเจ้าของอวัยวะเหล่านั้นควรจัดอยู่ในกลุ่มเพศใด

Pride Month จึงมิใช่ห้วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจใดๆ ของนาย และถึงแม้ว่าหลายๆ คนจะ label นายให้เป็น transman อยู่กลุ่มเดียวกับชาว LGBT เหมือนที่เทศกาลคานส์ label หนังชีวิตของนายเรื่อง A Good Man เอาไว้ในสาย Newcomers 2020 แต่สำหรับตัวนายเองแล้ว นายก็เป็นผู้ชาย ‘รักต่างเพศ’ คนหนึ่งที่ควรได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นชายรักต่างเพศทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้สรรพนามฝรั่งเศสว่า ‘il’ หรือการใช้คำคุณศัพท์เพศชายโดยไม่ต้องเติม -e ตัวอักษรย่อ ‘T’ ใน ‘LGBT’ ที่แท้แล้วก็ไม่ได้มีรูปแบบชีวิตที่ต่างอะไรกับชายหญิงรักต่างเพศโดยทั่วไป โปรดอย่าได้มาใส่ใจสรีระเพศกำเนิดของพวกเราให้มากมาย มาวัดใจกันดีกว่าว่าคนอย่าง ‘แบงยาแม็ง’ จะ ‘man’ พอไหมสำหรับการได้ชื่อว่าเป็น ‘ลูกผู้ชาย’ ผู้หยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีคนหนึ่ง

เอาเถิด ใครจะจัดฉายหนังเรื่อง A Good Man ในเทศกาลภาพยนตร์ LGBT จะจับลงเข่ง Queer Cinema ใดๆ ก็ตามแต่ใจ แต่โปรดอย่าลืมว่า A Good Man ก็ยังเป็นหนัง drama ที่เล่าเรื่องราวปัญหาในชีวิตของผู้ชายธรรมดาๆ คนหนึ่ง ซึ่งสามารถร่วมจัดฉายได้ไม่ว่าจะเทศกาลไหนๆ และควรค่าแก่การกล่าวขวัญถึงไม่ว่าจะในเดือนใดๆ หวังว่าสักวันคำ acronym ช่างแบ่งช่างจำแนกอย่าง LGBT นี้จะกลายเป็นเรื่องเชยและพ้นสมัย ไม่ต้องมาหาจังหวะเฉลิมฉลองให้มากความใดๆ เพราะสุดท้ายแล้ว เราทั้งผองก็ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ผู้มีหัวจิตหัวใจเสรีเหมือนๆ กันนั่นแหละ!


(โปรดติดตามต่อในพาร์ตที่ 3)

(โปรดติดตามต่อในพาร์ตที่ 4)

(โปรดติดตามต่อในพาร์ตที่ 5)

FILM CLUB List : Queer Cinema (Part 1)

0

ในทศวรรษที่ 1950’s – 60’s การเป็นรักร่วมเพศในอเมริกานั้นยังถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย บรรดาคนหนุ่มสาวที่เปิดเผยตัวเองว่าเป็นรักร่วมเพศจะถูกตีตราจากสังคมและมีชีวิตยากลำบาก ในช่วงเวลานั้น เกย์และเลสเบี้ยนบาร์จำนวนหนึ่งซ่อนตัวอยู่ใน Greenwich Village ที่อยู่ในแมนฮัตตัน และหนึ่งในนั้นคือ Stonewall Inn 

คืนวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจบุกเข้าไปใน Stonewall Inn เพื่อตรวจค้นบรรดาผู้คนในบาร์ถูกกักตัว และขอให้แสดงบัตรประจำตัว คนที่แต่งเป็นหญิงจะถูกตำรวจหญิงเรียกเข้าไปตรวจในห้องน้ำเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย การต้องแสดงบัตรประจำตัวเท่ากับเป็นการต้องเปิดเผยรสนิยมทางเพศไปในตัว ความกลัวแผ่ไปทั่ว และก่อตัวเป็นความไม่พอใจ บรรดาลูกค้าในบาร์ขัดขืนเจ้าหน้าที่ บางคนที่ถูกปล่อยตัวก็ไม่ยอมกลับและออกมายืนดูเหตุการณ์จนเมื่อเริ่มมีตะโกนด่าไปมา และเจ้าหน้าที่เริ่มใช้กำลังกับผู้คน ความรุนแรงก็ย่อมๆ ก็เริ่มต้นขึ้น 

เหตุจลาจลที่ Stonewall จุดประกายการต่อสู้ของนักเคลื่อนไหว LGBT จำนวนมาก ผลิดอกออกผลไปสู่การต่อสู้หลากรูปแบบ ทั้งการรวมตัวประท้วง การจัดตั้งองค์กร การรณรงค์ให้แต่ละคนออกมาเปิดเผยตัว รวมไปถึงการเดินพาเหรดเพื่อแสดงตัวตนของตนเองในนาม Pride March ซึ่งในเวลาต่อมาก็ขยายตัวออกไปยังที่ต่างๆ ของโลก

คำว่า ‘Queer’ นั้น อาจแปลตรงตัวว่า ‘ประหลาด แปลก พิลึก’ หากมันถูกนำมาใช้ในการเป็นคำเหยียดหยามดูถูกรสนิยมรักร่วมเพศมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เราอาจบอกได้ว่าเดิมทีเดียวคำว่า Queer โดยตัวของมันเป็นคำที่มีความหมายในทางลบ จนกระทั่งในอีกนับร้อยปีต่อมาเหล่านักกิจกรรมสิทธิรักร่วมเพศเริ่มช่วงชิงความหมายของมันจากความหมายดั้งเดิม การฉกฉวยเรียกตัวเองว่า Queer เสียเองทำให้เกิดความหมายใหม่ที่ท้าทายและต่อต้านความหมายดั้งเดิมของมัน คำว่า Queer กลายเป็นความหมายของการไม่ยอมจำนน การต่อสู้ และความภาคภูมิใจ

ในตอนนี้ คำว่า Queer กลายเป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางครอบคลุม ว่าด้วยใครก็ตามที่ไม่ได้มีรสนิยมทางเพศที่ตรงกับเพศของตนหรือตรงกับขนบทางเพศแบบรักต่างเพศที่บอกว่าผู้ชายต้องคู่กับผู้หญิง Queer จึงเป็นความเป็นไปได้ของความหลากหลายที่มากกว่าแค่การเป็นเกย์ เลสเบี้ยนหรือการข้ามเพศ

New Queer Cinema เป็นคำศัพท์ที่เริ่มใช้กันในช่วงทศวรรษ 1990’s เพื่อเรียกการเคลื่อนไหวแวดวงคนทำหนังอิสระ ที่เริ่มพูดถึงการแสวงหาอัตลักษณ์ทางเพศที่ท้าทายทั้งต่อง ‘ขนบของรักต่างเพศ’ และในขณะเดียวกันก็ต่อต้านการพยายามสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกของขบวนการ gay liberation movement ในทศวรรษที่ 1980’s เมื่อตัวละครในหนังเหล่านี้ไม่ได้เป็นเกย์/เลสเบี้ยน/ทรานส์ตามขนบอีกต่อไป ไม่ได้เป็นแค่รักร่วมเพศที่ดีตามขนบสังคม พวกเธอและเขาเต็มไปด้วยความสับสนท่ามกลางความสัมพันธ์แบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน และต่อสู้เพื่อขยายพรมแดนของตน

New Queer Cinema มีคำว่า New เพราะ Queer Cinema มีมาก่อน อาจจะก่อนที่คำนี้ถูกบัญญัติขึ้น หลายเรื่องก็ไม่ได้เกิดจากคนทำหนังที่เป็น LGBT ในยุค 1960’s และ 1970’s คนทำหนังอย่าง Fassbinder หรือ Ulrike Ottinger คือภาพแทนที่งดงามของหนัง Queer ที่มาก่อนกาล และเป็นต้นธารของหนัง Queer มาจนปัจจุบัน

เดือนมิถุนายนจึงเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิ (Pride Month) เดือนแห่งการตระหนักรู้ถึงตัวตนที่หลากหลายของผู้คน ไม่ใช่แค่เกย์ เลสเบี้ยน หรือทรานส์ ใน Queer Cinema นี้เรายังหมายรวมไปถึงภาพยนตร์ที่สำรวจความสัมพันธ์แบบใหม่ๆ ของผู้คน การไปพ้นจากขนบแบบรักต่างเพศในแบบต่างๆ หนังที่ไม่ได้มีหน้าที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ แต่ขุดค้น ตั้งคำถาม ท้าทาย ทั้งต่อความเป็นรักต่างเพศและความเป็นรักร่วมเพศ Queer ได้พาเราให้พ้นไปจากการแบ่งแยกและหลอมรวม พ้นจากความเป็นไปไม่ได้สู่ความเป็นไปได้ 

และในโอกาส​ Pride Month นี้ Film Club ได้ชักชวนผู้คน ทั้งนักวิจารณ์ คนทำหนัง และคนดูหนังจำนวนหนึ่งมาร่วมกันเลือกภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศของผู้คน โดยแต่ละท่านมีอิสระในการเลือก ภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด ทั้งภาพยนตร์ หนังสั้น หนังทดลอง สารคดี ไปจนถึงมิวสิควิดีโอ โฆษณา หรือแม้แต่ คลิปไวรัล 

และนี่คือรายชื่อที่เราได้มาในรอบแรก


วรรษชล ศิริจันทนันท์ : นักเขียนประจำ Film Club

House of Tolerance (2011, Bertrand Bonello, France)

หนังของโบเนลโลมีความเควียร์เป็นส่วนประกอบอยู่เรื่อยๆ ใน Saint Laurent (2014) นั้นชัดเจนเพราะเขาตั้งใจนำเสนอภาพชีวิตอันฉูดฉาดของแซงต์ โลรองต์แบบเต็มๆ หรือใน Nocturama (2016, ชมได้ใน Netflix) ก็มีตัวละครวัยรุ่นชายแต่งแดร็กออกมาเดินกรีดกราย แต่ใน House of Tolerance (ในอีกชื่อว่า House of Pleasures) เป็นความเควียร์อีกแบบ นั่นคือถึงแม้จะเป็นเรื่องของกลุ่มโสเภณีในซ่องชั้นสูงที่รับแต่ลูกค้าอีลีทและร่ำรวย ชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมถึงชะตากรรมของพวกเธอที่ต้องก้มหน้ารับผลจากความรุนแรงและความปรารถนาของลูกค้าเพศชายมากหน้าหลายตา แต่ความเป็นเฟมินิสต์ดูเหมือนจะครอบคลุมเพียงแค่เนเรทีฟของหนังเท่านั้น วิธีการและตัวเลือกทางศิลปะของหนังกลับดูเควียร์ เพราะเรื่องเกิดขึ้นในที่ที่ครองโดยคนเพศเดียว เมื่อปรากฏคนหรือสิ่งที่ไม่ใช่ heterosexual female (ที่โบเนลโลนำเสนอด้วยสายตาของผู้สังเกตการณ์และเว้นระยะห่างจนแลดูเป็นธรรมชาติและสมจริง) มันจึงดูแปลกปลอมทันที 

หนึ่งในตัวละครหลักที่โดนกรีดปากตอนต้นเรื่องโดนทรีตเหมือนไม่ใช่คนในช่วงครึ่งหลังของเรื่อง และหนักกว่านั้นเมื่อถูกพูดถึงว่าเหมือนตุ๊กตาเก่าๆ, อีกตัวละครหนึ่งถูกลูกค้าขอให้เล่น role play เป็นตุ๊กตาที่ขยับแขนขาทีละสเต็ปเหมือนหุ่นยนต์, มีสองตัวละครที่ดูสนิทและหลงใหลกันเป็นพิเศษ นอนกอดจูบกัน ทำผมให้กัน อยู่ด้วยกันมากกว่าคนอื่น, มีฉากที่ตัวละคร 6-7 คนกอดจูบลูบคลำกัน ประกอบด้วยผู้หญิงสาวในร่างเปลือยสอง ผู้หญิงแก่สอง คนแคระหญิงหนึ่ง ผู้ชายหนึ่ง และโสเภณีคนที่โดนกรีดปาก นอกจากนั้นยังมีเสือดำตัวหนึ่งที่ลูกค้าจูงเข้ามานอนบนโซฟากำมะหยี่ในซ่องในฐานะสัตว์เลี้ยง — เป็นความเควียร์ในฐานะความเป็นอื่น อื่นไปจากเพศสองขั้ว จากคนกับสัตว์สิ่งของ จากความปกติกับความไม่ปกติ แล้วทุกอย่างก็เลือนไปจนดูไม่ออกอีกแล้วว่าอะไรที่ปกติธรรมดาในโลกของหนังเรื่องนี้


ธีรพันธ์ ​เงาจีนานันต์ : ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี ไกลบ้าน 

Laurence Anyways (2012, Xavier Dolan, France/Canada)

ที่ประทับใจเรื่องนี้เพราะว่ามันเป็นประสบการณ์แรกๆ ที่ได้สัมผัสบทสนทนาเรื่องเพศอย่างจัดจ้านในภาพยนตร์ ย้อนไปเมื่อเกือบสิบปีก่อนเท่าที่จำได้คือบทสนทนาเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศยังไม่ถูกพูดคุยในวงกว้างแบบปัจจุบัน 

หนังเรื่องนี้พาผมในฐานะผู้ชมให้แหกขนบของหลักคิดเรื่องเพศแบบ binary แบบพาไปไกลแสนไกล หนังพูดถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่เลื่อนไหลไม่หยุดนิ่งอยู่กับข้อจำกัดและขนบของความคิดในเรื่องเพศ และตัวละครก็มีท่าทีท้าทายความสะดวกสบายใจของสังคมอยู่หน่อยๆ

หลังจากดูจบมันทำให้ผมได้มีบทสนทนากับตัวเองเยอะมากๆ และมองอัตลักษณ์ของเรากับโลกใบนี้เปลี่ยนไปเลย


สรยศ ประภาพันธ์ : ผู้กำกับหนังสั้น Death of A Soundman, ดาวอินดี้, บุญเริ่ม

Stranger by the Lake (2013, Alain Guiraudie, France)

ว่ายน้ำ/อาบแดด/เพศสัมพันธ์/ฆาตกรรม


วรุต พรชัยประสาทกุล : cinephile

Entre Nous (1983, Diane Kurys, France)

หนึ่งในหนังความสัมพันธ์ที่เราชอบที่สุด มันเล่าเรื่องราวของหญิงสองคนที่คนหนึ่งหลบรอดออกมาจากค่ายกักกันในช่วงสงครามโลกได้จากการยอมแกล้งแต่งงานกับนายทหาร ขณะที่หญิงอีกคนเคยสูญเสียสามีข้าวใหม่ปลามันระหว่างเหตุบ้านการเมือง แต่แทนที่หนังจะถ่ายทอดการต้องระหกระเหินหรือผลกระทบที่รุนแรงจากความเป็นไปของโลก เวลาเกือบทั้งหมดของหนังหันไปจับจ้องช่วงเวลากว่าสิบปีจากนั้นหลังทั้งคู่มาเจอกัน เล่าชีวิตอันสามัญของครอบครัวธรรมดาๆ กับความสัมพันธ์ของผู้หญิงสองคน ราวกับพยายามจะรื้อถอนว่าอะไรคือ ’เรื่องสำคัญ’ ในสายตาของภาพยนตร์เสียใหม่ หรือบอกอ้อมๆ ว่าเรื่องแบบใดก็อาจเป็นภาพยนตร์ได้ไม่น้อยไปกว่าเรื่องอีกแบบที่ดูจะใหญ่โตกว่า หรืออาจเพราะจริงๆ มันก็หนักหนาสาหัสหรือรับมือได้ยากไม่แพ้กันเลย

เราประทับใจที่หนังชวนให้เราตั้งคำถามต่อคำว่าคู่ชีวิตว่ามันจำเป็นหรือที่ต้องเป็นผัวเมียเท่านั้นถึงจะเป็นคู่ชีวิตกันได้ และให้เราเห็นความเป็นไปได้อื่นทางความสัมพันธ์ หนังแสดงความง่อนแง่นและน่าอึดอัดของความสัมพันธ์ผัวเมียชายหญิงดั้งเดิมที่ผูกมากับความรู้สึกของการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ความเย้ายวนอื่นที่เข้ามาและความเบื่อหน่ายอันเป็นธรรมชาตินิรันดร์ของมนุษย์ที่ขนบดังกล่าวพยายามกดไว้ ไหนจะบทบาทของคนเป็นแม่ที่ถูกคาดหวัง หากชีวิตอีกแบบบนความสัมพันธ์เฉพาะระหว่างหญิงสองคนไม่ได้กำหนดให้เธอและเธอต้องเป็นอะไรเลย แต่ความสัมพันธ์แบบนี้กลับดูจะมั่นคงเสียกว่า เราจะเห็นว่าทั้งคู่วางแผนจะมีกิจการด้วยกันได้ พวกเธอดูมีความสุข สบายใจ เป็นตัวเอง มีคนเข้าใจและได้ลิ้มรสของชีวิตเวลาพวกเธออยู่ด้วยกันมากกว่าตอนที่อยู่กับผัวหรือกระทั่งลูกๆ

เราชอบที่หนังทำให้เรายิ่งเชื่อว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ความสัมพันธ์เพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเดียวตายตัวจะเข้ากันพอดีกับทุกคนบนโลกที่แตกต่างหลากหลายขนาดนี้ ความสนิทแนบแน่นระหว่างพวกเธอจึงอาจไม่ได้บ่อนทำลายความสัมพันธ์เก่าลงแต่เพราะมันตอบโจทย์ชีวิตของพวกเธอมากกว่า ซึ่งที่น่าสนใจสุดๆ ก็คือแม้มันจะมีความลึกซึ้ง มีความรู้สึกซับซ้อนบางอย่างที่วูบไหวและใกล้ชิดกว่าเพื่อนผ่านคำพูด น้ำเสียง สายตาที่พวกเธอมองกัน สัมผัส หรือท่าทีบางอย่างที่ให้บรรยากาศ แต่หนังก็ไม่ได้เผยให้เห็นเลยว่าพวกเธอปลดปล่อยความปรารถนาทางเพศต่อกันและกัน หรือมีรสนิยมทางเพศแบบหญิงรักหญิง ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จึงดูจะท้าทายความเชื่อที่ว่าคู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุข ประคับประคองกัน ควรเป็นคู่เดียวกันกับคู่เซ็กซ์ การที่พวกเธออาจไม่ได้มีซัมติงกันเลยก็ได้ ยิ่งทำให้เธอหลบซ่อนหรือปิดบังกันน้อยกว่า เปิดกว้างและจริงใจทั้งต่อตัวเองและอีกคนกว่าเมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ผัวเมียดั้งเดิม

เราอยากให้ทุกคนได้ดูหนังเรื่องนี้มากๆ เพราะหนังมันงดงามมากๆ จริงๆ ถ่ายภาพก็สวย หนังยังเต็มไปด้วยเหตุการณ์ไม่สลักสำคัญในชีวิตแต่น่าสนใจในตัวมันเอง นักแสดงก็เล่นกันละเอียดมาก เคมีดีมาก และไม่ใช่แค่กับนางเอกทั้งสองคนเท่านั้น เรายังชอบตัวละครชายกับอาการแหลกสลายของเขา และการที่หนังให้ฝ่ายหญิงเย็นชา หรือดูจะไร้หัวใจมากๆ ในตอนท้ายๆ แต่หนังก็ไม่ตัดสิน มันเป็นเพียงเรื่องน่าเศร้าแต่ก็จริงที่สุดแล้วที่หลายๆ ครั้งเรื่องอันเกี่ยวกับความสัมพันธ์มักเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ไม่ว่าจะตอนที่มันงอกเงยหรือสูญสิ้นลง และหนังยังมีการขึ้นประโยคปิดท้ายที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เราเคยเห็นมา


ภาณุ อารี : ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล, นักเขียนประจำ Film Club

สัตว์ประหลาด (2004, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)

พิจารณาจากช่วงปีที่ฉาย ถือว่าหนังไปไกลก้าวข้ามขนบหนัง LGBT ในช่วงเวลานั้น สังคมที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้เป็นยูโทเปียที่มีความ realistic มากๆ


กิตติกา บุญมาไชย : cinephile

เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน (2012, จิรัศยา วงษ์สุทิน)

ภาพยนตร์สั้นยุคต้นของ จิรัศยา (ผู้กำกับซี่รีส์ 365 วัน บ้านฉันบ้านเธอ) บอกเล่าโมงยามของสองสาวเพื่อนสนิทที่จะต้องจากลาผ่านการตีแบดมินตัน ความใกล้ชิด บรรยากาศของความโหยหา ความพร่าเลือนของมิตรภาพหรือความสัมพันธ์ที่มากไปกว่านั้น 

จิรัศยาขึ้นชื่อว่าเป็นคนทำหนังที่เข้าใจโลกอันละเอียดอ่อนของผู้หญิงเสมอ ภาพยนตร์สั้นเรื่องดังของเธออย่าง วันนั้นของเดือน อาจจะเป็นที่รักของใครหลายคน แต่เราขอเลือกงานชิ้นนี้เพราะความน้อยนิดของมันช่างมหาศาลเหลือเกิน


จิตร โพธิ์แก้ว : cinephile, ที่ปรึกษา Film Club 

Thirty Years of Adonis (2017, Scud, Hong Kong/China)

สาเหตุที่เลือกหนังเรื่องนี้ เพราะมันเป็นหนังที่ตอบสนอง sexual fantasy ของเราได้ตรงที่สุดเท่าที่เคยดูมาเรื่องนึงในชีวิต ก็เลยจัดให้มันเป็นหนึ่งในหนังเกย์ในดวงใจของเรา

เหมือนจริงๆ แล้วเราโหยหาหนังแบบนี้น่ะ หนังที่สามารถตอบสนองแฟนตาซีทางเพศของผู้ชมได้ในแบบคล้ายๆ หนังอีโรติก แต่ไม่ได้เล่าเรื่องน่าเบื่อแบบหนังอีโรติก คือเหมือนตอนที่เราอายุน้อย ๆ เราก็เคยชอบดูหนังอีโรติกนะ โดยเฉพาะหนังที่นำแสดงโดย Lukas Ridgeston ซึ่งเป็นหนึ่งในดาราภาพยนตร์ที่เราปรารถนามากที่สุดในชีวิต แต่เวลาเราดูหนังอีโรติก บางทีเราก็รู้สึกว่ามันเล่าเรื่องน่าเบื่อน่ะ เราต้อง fast forward ไปดูฉากสำคัญ แทนที่จะนั่งดู “เนื้อเรื่อง” ตั้งแต่ต้นจนจบ คือเหมือนหนังอีโรติกหลายเรื่องมันให้แค่ sexual pleasure แต่มันไม่ได้ให้ความเพลิดเพลินกับเราในทาง “เนื้อเรื่อง” ด้วย

เราก็เลยโหยหามาตั้งแต่เด็ก ว่าอยากให้มีคนสร้างหนังเกย์ที่ตอบสนองแฟนตาซีทางเพศของเราด้วย และให้ความเพลิดเพลินกับเราในทางเนื้อเรื่องด้วย แต่ก็ดูเหมือนเราจะไม่ค่อยได้เจอหนังกลุ่มนี้มากนัก คือจริงๆ แล้วมันก็คงมีการผลิตหนังแบบนี้ออกมาหลายเรื่องแหละ แต่สเปคผู้ชายในหนังอาจจะไม่ตรงกับสเปคของเรา เพราะจริงๆ แล้วเกย์แต่ละคนก็ชอบผู้ชายแตกต่างกันไป ผู้ชายที่ “หล่อ เซ็กซี่” สำหรับเกย์คนนึง ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะกระตุ้นอารมณ์ของเกย์อีกคนนึงได้ เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีการผลิตหนังเกย์ที่นำแสดงโดยผู้ชายหล่อๆ ออกมามากมาย มันก็ไม่ได้หมายความว่าหนังเหล่านี้จะตอบสนอง sexual fantasy ของเราได้ตรงซะทีเดียว

นอกจาก THIRTY YEARS OF ADONIS แล้ว หนังเรื่องอื่นๆ ที่เข้าทางเราในแบบที่คล้ายๆ กัน ก็มีอย่างเช่น EROTIC FRAGMENT NO. 1, 2, 3 (2011, Anucha Boonyawatana), STRANGER BY THE LAKE (2013, Alain Guiraudie, France), FATHER & SON (พ่อและลูกชาย) (2015, Sarawut Intaraprom), TAEKWONDO (2016, Marco Berger, Martín Farina, Argentina) และอาจจะรวมไปถึง FLESH (1968, Paul Morrissey) กับ TRASH (1970, Paul Morrissey) ด้วย


Inertiatic Groovfie Viaquez : cinephile คนหนึ่ง

AVOP-432 (2019, Miwa Kiyoshi)

มองผ่านๆ มันคือหนัง AV แนวเลสเบี้ยน (ที่อาจจะมีฉาก ช-ญ ผสมอยู่เล็กน้อย) 

แต่ถ้าได้ดูเต็มๆ มันก็ยิ่งตัวเองว่าจะควรเรียกเลสเบี้ยนได้อย่างเต็มปากหรือไม่ เพราะแม้รูปลักษณ์ที่ปรากฏในหนังจะเป็นผู้หญิง แต่เนื้อแท้ในพลอตหลักของหนัง AV เรื่องนี้ มันคือหนังแนวโจรกรรม ฉกชิงเนื้อหนังผู้หญิงมาสวมใส่ โดยผู้สวมมันคือ “ผู้ชาย” ฉะนั้น ผู้ชายที่สวมเนื้อหนังผู้หญิงแล้วกลายสภาพเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ชายสวมเนื้อหนังผู้หญิงแล้วมีเซ็กซ์กับอีกฝ่ายแบบตีฉิ่งกัน มันจะยังคงเป็นหนังเลสเบี้ยนจริงๆ อยู่หรือไม่ 

ความบันเทิงอีกอย่างทำให้รู้สึกสนุกและตลกไปกับมันแบบที่หนัง AV เป็นก็คือ จังหวะการฉกชิงเนื้อหนังอีกฝ่ายนี่แหละ ยิงเข็มเข้าเป้าหมาย ผู้หญิงคนนั้นก็หมดสติและร่างกายฟีบเหลือแต่ผิวหนัง ทีนี้ผู้ชายคนที่ต้องการเนื้อหนังก็จะมาเอาสวมใส่แล้วก็กลายเป็นผู้หญิงคนนั้นๆ ไป 

สำหรับเรื่องย่อน่ะเหรอ ช่างมันเหอะ เนอะ..


ปราบต์ : นักเขียน

Antonio’s Secret (2008, Joselito Altarejos, Philippines)

หนังเกย์ปินอยว่าด้วยอันโตนิโอหลานเกย์วัยเริ่มเงี่ยน​ กับน้าชายสุดแซ่บที่มาขออาศัยอยู่ในบ้าน​ ​หลานกลัดมันคอยแอบมองกิจวัตรต่างๆ​ ของน้าแล้วเอาไปจินตนาการเซ็กซี่​ ขณะเดียวกัน​ ตัวเรื่องก็แถลงปัญหาเกี่ยวกับชนชั้น​ เศรษฐกิจ​ และชีวิตรากหญ้า​ต่างๆ​ ควบคู่กันไปด้วย​ นึกดูแล้วน่าจะเป็นหนัง​ LGBTQ​ เรื่องแรกๆ​ ในชีวิตที่ได้ดู​ แล้วก็เปิดโลกไปสู่หนังสายไม่แมสในประเทศไทย​ จำได้ว่าตอนได้ดูครั้งแรกตื่นเต้นตื่นตาตลอดเวลา​ (กลัวคนในบ้านเปิดมาเห็น​ 555) ช่วงต้นแอบดูด้วยความรู้สึกเหมือนมันเป็นหนังโป๊​ แต่ไปๆ​ มาๆ​ ก็ตามติดตัวละครต่างๆ​ จนประทับใจมากๆ​ ในจุดจบ​ ที่จริงเราค่อนข้างลืมเรื่องนี้ไปแล้ว​ จนไม่นานนี้ได้มาทำงานของตัวเองชิ้นใหม่​ แล้วก็พบว่าตะกอนหลายอย่างของมันยังตกเต็มในตัวเอง​อยู่เลย​ เหมือนเป็นส่วนที่สร้างตัวเองในวันนี้ขึ้นมาด้วยเหมือนกัน


พัลลภัทร น้อยธิ : จิตแพทย์ / คนดูหนัง / เขียนวิจารณ์ประปราย

Hannah Gadsby: Nanette (2018, Jon Olb/Madeleine Parry, Australia)

ฮันน่าห์ แก๊ดสบี เป็นคอมเมเดียนชาวออสเตรเลียนซึ่งเราไม่เคยรู้จักมาก่อนจนกระทั่งมาเห็นโชว์นี้ใน Netflix ซึ่งโดยส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นหนึ่งในโชว์สแตนอัพที่ดีที่สุดที่เคยดูมาเลย แล้วก็เป็นโชว์ที่เข้ากับ Pride month พอดี

ฮันน่าห์เป็นเลสเบี้ยนและโชว์นี้ก็เล่าเรื่องราวการเป็น “เลสเบี้ยน” ของเขา ซึ่งไล่ตั้งแต่ความรู้สึกไม่เข้าพวกกับเลสเบี้ยนหรือเกย์คนอื่นๆ (ฮันน่าห์สงสัยว่าพื้นที่ของ “เกย์เงียบๆ” อยู่ตรงไหน หรือการที่มีคนมาบอกว่าโชว์ของฮันน่าห์ “เลสเบี้ยนไม่พอ”) การ come out กับแม่ รวมไปถึงประสบการณ์ในอดีตที่เขาเกือบจะถูกทำร้ายเพราะเข้าใจผิดคิดว่าฮันน่าห์เป็นผู้ชาย โดยระหว่างทางก็ขยับไปพูดเรื่อง Patriarchy ซึ่งมีประเด็นคาบเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะอะไรก็ว่าไป (ฮันน่าห์พูดถึงความระยำของปิกัสโซ่ 😱) ก่อนที่ฮันน่าห์จะทำอะไรบางอย่างที่ทำให้โชว์นี้ไม่เหมือนกับสแตนอัพคอมเมดี้โชว์ทั่วๆไป โดยการวกกลับมาเล่าเรื่องที่เขาเล่าไปแล้วทั้งเรื่องการ come out ทั้งประสบการณ์แย่ๆที่เล่าแบบขำๆไปตอนต้น เอามาเล่าใหม่ว่าเรื่องราวจริงๆมันจบอย่างไรหรือมันมีเรื่องราวอะไรต่อจากนั้น และอธิบายต่อว่าทำไมต้องเล่าแบบนี้

ซึ่งช่วงหลังนี้มันทั้งจริงจัง ทั้งอ่อนไหว ทั้งหนักหน่วง แต่ในขณะเดียวกันมันก็โอบอุ้มเราด้วย  (และเป็นสิ่งที่มีคนวิจารณ์ว่ามันไม่ตลก ไม่ใช่สแตนอัพคอมมิดี้ หรือไม่ก็เหมือน Ted Talk มากกว่า แต่เราไม่แคร์)

โดยส่วนตัวมองว่าสิ่งที่ฮันน่าห์ทำในโชว์นี้สำคัญมากๆ มันทำให้เราเห็นเนื้อแท้ของโชว์ประเภทนี้ ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากโชว์หรืองานศิลปะอื่นๆ (พูดถึงศิลปะ นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้ฟังการ “ฟาด” งานศิลปะคลาสสิกอย่างเละเทะ) เพราะมันก็เป็นส่วนหนึ่งของโลก และโลกที่เราอยู่นี้ก็เป็นโลกที่มีอำนาจบางอย่างครอบงำ ควบคุมเรื่องเล่าต่างๆ และอำนาจที่ว่านั้นตกอยู่ในมือเพศชายมาโดยตลอด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่คนเราโดยเฉพาะคนที่ไร้อำนาจจะต้อง “เล่า” เรื่องของตนเองให้ดี ให้ชัดเจน ให้เรื่องเล่ามันมีชีวิตต่อไปในจิตใจคนอื่น เพราะนี้คือหนทางเดียวที่จะปลดล็อกอำนาจดั้งเดิมในสังคมได้

มีประโยคหนึ่งที่ฮันน่าห์บอก (อย่างเสียดสี) คือ งานศิลปะคลาสสิกเป็นงานที่ทำให้จิตใจสูงขึ้น ส่วนคอมเมดีมันเป็นศิลปะชั้นต่ำ คนที่มาดูโชว์คงไม่มีอะไรดีขึ้นหลังจากดูจบ แต่ในความเป็นจริงเรารู้สึกว่าโชว์นี้อาจจะช่วยขัดเกลาจิตใจคนได้มากกว่างานศิลปะสูงส่งชิ้นไหนๆด้วยซ้ำ

ของแถม: ถ้าดูแล้วชอบ แนะนำให้ต่อด้วย Douglas โชว์ในปี 2020 (มีใน Netflix เช่นกัน) ซึ่งเป็นโชว์ที่ฮันน่าห์แสดงศักยภาพของการเป็นคอมมิเดี้ยนที่สุดยอดมาก เป็นโชว์ที่บอกคนที่รู้จักฮันน่าห์จาก Nanette มาว่าให้ตลกจริงจังก็ได้นะไม่ใช่จะดึงเครียดเป็นอย่างเดียว


นพธีรา พ่วงเขียว : แอดมินหลักในเพจ “คนวิจารณ์หนังไม่เป็น”, นักเขียนรับเชิญ Film Club

Spiral (2019, Kurtis David Harder, Canada) 

ปี 1995 มาริค และ แอรอน คู่รักเกย์หนุ่มย้ายมาอยู่ในชุมชนหนึ่งพร้อมลูกสาวของพวกเขา แม้เรื่องคู่รักในเพศเดียวกันถือว่าเปิดเผยในระดับหนึ่งแล้ว แต่ทั้งสองไม่มั่นใจและเริ่มสงสัยในพฤติกรรมประหลาดของเพื่อนบ้านที่ชอบรวมกลุ่มกันทุกๆ คืน 

แถมสืบประวัติไปมาพบว่าในชุมชนแห่งนี้เคยมีคู่รักเลสเบี้ยนเสียชีวิตอย่างปริศนา! 

นอกจากที่มันจะทำหน้าที่เป็นหนังสยองขวัญที่เสิร์ฟความสยดสยองทางกายภาพ การสร้างสถานการณ์หลอกปั่นหัวไปมา ความหวาดระแวงจากตัวละครต่างๆ หนังยังนำเสนอภาพบริบทเรื่องของ LGBTQ ที่นำเสนอในรูปแบบของหนังลัทธิได้อย่างโหดร้ายและไม่ปราณีคนดูกันเลย

หนังมีสัญลักษณ์หลักของลัทธิอย่างตัว “spiral” (รูปวงกลมแบบเกลียว) ที่น่าจะสื่อตรงกับหนังได้ดีอย่างสุดๆ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ความเกลียดชังจากคนหัวโบราณที่ยังอยู่ในกรอบเดิม และมองว่าคนคบเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่นอกคอก และมันก็เหมารวมถึงการแบ่งแยกสีผิว เชื้อชาติเข้าไปอีก

และความเกลียดชังยังคงมีให้เห็น เป็นวัฏจักร วนเวียน เป็นวนลูป และไม่มีวันสิ้นสุด


คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง : อาจารย์สอนภาพยนตร์ คอลัมนิสต์ นักวิจารณ์

The Trouble with Being Born (2020, Sandra Wollner, Austria/Germany)

จริงๆ แล้วหนังที่เราเลือกอาจจะไม่ตรงโจทย์ pride month นัก แต่มันพูดเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องเพศได้น่าสนใจดี หนังชื่อ The Trouble with Being Born ว่าด้วยพ่อคนหนึ่งที่เอาหุ่นแอนดรอยด์มาเลี้ยงแทนลูกสาวที่หายตัวไป แต่ว่านี่ไม่ใช่หนังซาบซึ้งแบบ A.I. Artificial Intelligence (2001) ของสปีลเบิร์กหรอก เพราะมันเป็นหนังจากประเทศออสเตรีย 5555 

หนังเรื่องนี้อื้อฉาวพอควร เพราะมีฉากพ่อนอนเปลือยกับลูกสาว หรือทำความสะอาดจิ๋มให้หุ่นยนต์ลูก ตอนฉายที่เบอร์ลินมีคนเดินออก เทศกาลหนังที่ออสเตรเลียตัดสินใจถอดหนัง บอกว่ามันเข้าข่าย pedophile ซึ่งแน่นอนว่าพวกนักวิจารณ์ออกมาด่ากลับ

แต่พ้นจากความดราม่านั่นนี่ ช่วงกลางของหนังน่าสนใจมากที่อยู่ดีๆ แอนดรอยด์ตัวนี้เปลี่ยนเจ้าของ แล้วก็ถูกเปลี่ยนเพศเป็นเด็กผู้ชาย เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนตัวตน เปลี่ยนบริบททั้งหมด นำมาซึ่งคำถามน่าสนใจว่าแอนดรอยด์มีตัวตน ความทรงจำ หรือเพศสภาพหรือไม่

ป.ล. นักแสดงเด็กในเรื่องใส่บิกินี แล้วค่อยใช้ซีจีทำให้เปลือย น้องไม่ได้แก้ผ้าจริงๆ


(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 2)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 3)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 4)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 5)

Collective

หนังสารคดียอดเยี่ยมจากหลายเวทีประจำปีนี้ เข้าชิงออสการ์หนังสารคดีและหนังสาขาหนังต่างประเทศด้วย 

หลังจากที่เคยดูหนังโรมาเนียเรื่อง The Death of Mr. Lazarescu เมื่อปี 2005 ซึ่งเล่าเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลต่างๆ ตลอดทั้งคืนในกรุงบูคาเรสต์จนถึงเช้า ตอนนั้นรู้สึกได้ว่าใช่เลย บ้านเราก็แบบนี้แหละ แม้ว่าเราจะมีการแพทย์ทันสมัยและระบบสาธารณสุขที่ดีพอสมควร แต่เรื่องระบบส่งต่อยังมีเรื่องต้องพูดคุยกันอีกมาก

ครั้นมาดู Collective ปีนี้ ดูจบพบว่าเกิดความรู้สึกเหนือจริง เป็นไปได้หรือ เป็นความจริงหรือ นี่เป็นหนังที่ถ่ายทำภายหลังแล้วควรเขียนว่า based on the true story หรือว่าเป็นเรื่องจริงและถ่ายทำจากเหตุการณ์จริง ตัวบุคคลจริง และหนอนในบาดแผลจริงๆ เหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะทราบว่าหนังชิงออสการ์ “หนัง” สาขาต่างประเทศด้วย

อีกเหตุหนึ่งเพราะไม่อยากจะเชื่อว่าบางเรื่องยังมีอยู่บนโลก

เรื่องที่ไม่อยากเชื่อว่าจะมีอยู่บนโลกคือเรื่องการเจือความเข้มข้นของน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ใช้ในโรงพยาบาล ด้วยความร่วมมือของบุคคลหลายระดับตั้งแต่ระดับสูงไปจนถึงระดับโรงพยาบาล เรื่องซื้อของใช้หรืออุปกรณ์การแพทย์คุณภาพไม่ดีนักในราคาสูงกว่าท้องตลาดนี้มีให้ได้ยินเสมอๆ ในบ้านเรา มีแท็คติกด้านการจัดซื้อจัดจ้างมากมายในโรงพยาบาลทั้งที่มีเจตนาดีและเจตนาไม่ดีตั้งแต่แรก แต่เรื่องเจือจางน้ำยาฆ่าเชื้อนี้สารภาพว่าไม่ยอมเชื่อง่ายๆ ว่าจะมีใครบนโลกกล้าทำและทำเป็นขบวนการขนาดใหญ่

ถึงนาทีนี้ก็ยังมั่นใจว่าประเทศไทยไม่มี เราไม่น่าจะตกต่ำถึงเพียงนั้น

แต่ถ้ารัฐยังบริหารประเทศแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่แน่นัก เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ “เพราะมันทำได้” แล้วถ้าเราเชื่อว่าทุกวันนี้อะไรๆ ก็ทำได้ทั้งนั้นโดยเอาผิดใครไม่ได้เลย เรื่องที่เกิดขึ้นที่โรมาเนียจะเป็นคำเตือนที่ดี

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือฉากที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขโรมาเนียคุยโทรศัพท์กับผู้อำนวยการสถาบันอะไรสักแห่งที่ยินยอมให้มีการผ่านการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลทั้งที่โรงพยาบาลนั้นไม่ควรผ่านการรับรอง ฉากนี้ชวนให้ระแวงตอนนั่งดูอีกเช่นกันว่านี่เป็นฉากถ่ายทำ เซ็ตอัพขึ้นเพื่อการถ่ายทำ หรือเป็นฟุตเตจจริงๆ ในวันที่รัฐมนตรียกหูโทรศัพท์คุยจริงๆ เสียงโทรศัพท์ฝ่ายตรงข้ามเป็นเสียงของเขาจริงๆ เมื่อตรวจสอบข้อมูลดูแล้วพบว่าทั้งหมดที่เห็นนั้นเกิดขึ้นจริงๆ ตามนั้น มิใช่การถ่ายทำ

ซึ่งก็งงมากขึ้นไปอีกว่าทีมผู้สร้างทำได้อย่างไร ขออนุญาตรัฐมนตรีฯ ได้อย่างไร แน่นอนเราตั้งคำถามได้ด้วยว่ารัฐมนตรีฯ รู้อยู่ว่ามีกล้องจับและจะทำหนังสารคดี ท่านสร้างภาพรึเปล่า

เรื่องนี้ไม่เหมือนเรื่องน้ำยาฆ่าเชื้อ การตรวจเพื่อพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลของบ้านเราวันนี้มีปัญหา เราเริ่มต้นงานนี้ยี่สิบปีก่อนด้วยการทำงานแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ในยุคแรกๆ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เพราะตอนที่การพัฒนาและตรวจคุณภาพโรงพยาบาลเริ่มต้นใหม่ๆ มีแรงต่อต้านอย่างหนักจากทุกโรงพยาบาลและบุคลากรเกือบทุกคน ยุทธศาสตร์การเอาทุกคนมาเป็นพวกโดยตั้งหมุด “เพื่อนช่วยเพื่อน” เป็นเรื่องถูกต้อง และอาจจะเป็นเรื่องจำเป็น

ไม่ทราบว่าวันนี้การพัฒนาและตรวจคุณภาพโรงพยาบาลในประเทศไทยยังตั้งอยู่บนฐานคิดนี้หรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าจะมีโรงพยาบาลที่เสกสรรปั้นแต่งหน้าตาเพื่อให้ผ่านการรับรองมากขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นเพราะเพื่อนช่วยเพื่อน ผมเคยพูดเสมอว่าการพัฒนาและคุณภาพโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประเทศไทย และวันนี้ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น แต่น่าเป็นห่วงมากว่าเรื่องที่ดีที่สุดนั้นจะหนีไม่พ้นวัฒนธรรมการทำงานแบบราชการและวัฒนธรรมการทำงานแบบไทยๆ

หนังสารคดีเรื่องนี้อาจจะมิได้ตั้งใจให้ภาพของระบบสาธารณสุขโรมาเนียที่เน่าเฟะเท่านั้น แต่ต้องการสื่อเรื่องการทำงานของสื่อมวลชนและระบอบประชาธิปไตยด้วย

เป็นที่ชัดเจนว่าสื่อมิได้มีหน้าที่เพียงนำเสนอข่าว สื่อมีหน้าที่สอบสวนด้วย ซึ่งสื่อกระแสหลักในประเทศไทยเวลานี้ไม่ทำ นอกจากนี้เมื่อทำแล้วต้องกล้าที่จะนำเสนอสู่สาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้นต้องกล้าที่จะนำเสนอผู้กำกับนโยบายของชาติผ่านช่องทางการเมือง แต่สื่อกระแสหลักของบ้านเราไม่ทำอะไรเลยสักข้อเดียว 

เราทำงานแค่ถ่ายทอดข่าวสารของรัฐ และนำเสนอข่าวชาวบ้านด้วยรูปจำลองดิจิตอลที่คิดว่าเท่

เรื่องยากสุดคือเรื่องการนำเสนอต่อรัฐ ซึ่งไม่เพียงต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ต้องการความกล้าหาญทางจริยธรรมของสื่อ กล่าวเฉพาะหนังเรื่องนี้ต้องการความกล้าหาญทางจริยธรรมของแพทย์ในโรงพยาบาลที่เห็นเหตุการณ์ด้วย จากนั้นคือความกล้าหาญทางจริยธรรมของนักการเมือง ซึ่งทั้งหมดนี้โรมาเนียกำลังพยายามพัฒนา

แม้ว่าโรมาเนียจะยังพัฒนาได้ไม่ดีที่สุด พวกเขาเพิ่งพ้นจากโซเวียตได้ไม่นานเลย ระบอบประชาธิปไตยกำลังเริ่มต้นและต้องการเวลา ชาวบ้านโรมาเนียอาจจะถูกกล่าวหาเหมือนชาวบ้านไทยว่าช่างไม่ประสาอะไรเสียจริงๆ แต่นั่นมิใช่เรื่องใหญ่ตราบเท่าที่เราไม่ใช้ทางลัดเป่านกหวีดเพื่อยับยั้งการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไปเสียก่อน

เลือกตั้งแพ้ก็เลือกตั้งใหม่ ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าทุกคนจะเติบโต

รู้จัก Chapter 11 กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ผู้ชุบชีวิตโรงหนัง Alamo Drafthouse

Alamo Drafthouse เป็นโรงหนังในอเมริกาที่เราเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ เพราะมันเป็นโรงทางเลือกที่มาพร้อมไอเดียแตกต่างจากโรงหนังทั่วไป กล่าวคือมันผสมผสานแนวคิดของร้านอาหารและพื้นที่กิจกรรมเข้าไปด้วย ต่อยอดเป็นอีเวนต์การดูหนังที่น่าตื่นเต้นมากมาย ไม่ว่าจะรอบซิงอะลอง รอบดนตรีสด รอบสำหรับเด็ก และอีกมากมาย จนกระทั่งเมื่อเดือนมีนาคม 2021 ภายใต้สถานการณ์โรคระบาด Alamo Drafthouse ก็ส่อแววล้มละลายจนต้องขายกิจการ และเข้าสู่แผน Chapter 11 จนล่าสุดสามารถกู้ชีวิตโรงหนังได้สำเร็จ แถมกางแผนขยายอีก 5 สาขาภายในปีนี้ถึงปีหน้าด้วย

Chaptre 11 คืออะไร? แล้วทำไมจึงสามารถชุบชีวิตโรงหนังที่น่ารักให้กลับฟื้นคืนมาได้ เราไปค่อยๆ ทำความเข้าใจไปด้วยกัน

Chapter 11 คือกฎหมายล้มละลายประเภทหนึ่งที่ใช้ในอเมริกามาตั้งแต่ปี 1987 ซึ่งในช่วงโควิดนี้ มีหลายกิจการเข้าสู่ Chapter 11 เพราะมันคือกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองกิจการที่ประสบปัญหาทางการเงิน โดยกิจการนั้นต้องมีความประสงค์ที่จะดำเนินกิจการต่อและมีแผนที่จะปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ให้ได้ ดังนั้นเมื่อกิจการไหนเข้าสู่ Chapter 11 ก็จะได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินระหว่างปรับโครงสร้างองค์กรจนสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ใหม่อีกครั้ง

นั่นหมายความว่าในช่วงโควิดที่ Alamo Drafthouse ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ สิ่งที่พวกเขาทำก็คือการยื่นล้มละลายแล้วขอเข้า Chapter 11 เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร โดยการขายกิจการให้กับนายทุนใหม่ที่เข้าใจในธุรกิจที่มีความเฉพาะตัวมากๆ แบบ Alamo Drafthouse

แววหายนะของ Alamo Drafthouse เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2020 หลังจากโรงหนังทั่วอเมริกา (และเกือบทั้งโลก) ต้องปิดชั่วคราว ซึ่งโรงหนังที่มีจุดขายเป็นประสบการณ์การดูหนังที่เฉพาะตัวมากๆ อย่าง Alamo เลยพลิกแพลงช่องทางหารายได้ลำบาก จนต่อมาผู้ก่อตั้ง ทิม ลีก ต้องยอมถอยออกจากตำแหน่ง CEO ไปเป็นประธานกรรมการบริหาร ทั้งอัญเชิญ CEO คนใหม่ เชลลี เทย์เลอร์ อดีตผู้บริหาร Starbucks มากอบกู้สถานการณ์ และเริ่มเห็นความพยายามปรับตัวด้วยการเปิด Alamo on Demand เป็นผู้ให้บริการสตรีมมิงหนังที่สร้างโดย Alamo Drafthouse ในนาม Drafthouse Films (เช่น The Act of Killing และ The Look of Silence) รวมถึงพยายามปลุกกระแสโรงหนังไดรฟ์อินขึ้นมาชดเชยรายได้และกิจกรรมที่หายไป

Alamo Drafthouse พยายามประคับประคองกิจการเรื่อยมาจนกระทั่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เองที่ทำท่าจะไม่รอดจริงๆ จึงตัดสินใจยื่นเข้ากระบวนการ Chapter 11 และใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้นก็สามารถกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง โดยการโอบอุ้มของ Altamont Capital Partners กองทุนที่บริหารโดย Fortress Investment Group LLC ในจังหวะเดียวกันกับที่อเมริกาบริหารการฉีดวัคซีนเชิงรุกจนกิจการโรงหนังทั่วประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้พอดี

การกลับมาของ Alamo Drafthouse ครั้งนี้ ประเดิมด้วย A Quiet Place Part II และการนำ 101 Dalmatians กลับมาฉายใหม่อีกครั้งเพื่ออุ่นเครื่องไปสู่ Cruella ผลคือตั๋วขายหมดในสุดสัปดาห์แรกทันที

“นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ Alamo Drafthouse ที่หนังทุกเรื่อง ทุกรอบ และทุกโรงที่เรามี ขายตั๋วหมดเกลี้ยงตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันจันทร์” ทิม ลีก เผย “มันเลยเป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดีว่าผู้ชมมีความโหยหาที่จะร่วมสัมผัสประสบการณ์อันสุดพิเศษของหนังบนจอใหญ่อยู่เสมอ”

Alamo Drafthouse วางแผนเปิดโรงใหม่อีก 5 แห่งที่ แมนฮัตตัน, วอชิงตัน ดีซี และเซ็นต์หลุยส์ โดยหนึ่งในนั้นจะเป็นโรงในธีมมาร์เชียลอาร์ท ซึ่งพัฒนาร่วมกับแร็พเปอร์ RZA ด้วย


ข้อมูลประกอบ

https://variety.com/2021/film/news/alamo-drafthouse-bankruptcy-end-1234985368/

https://variety.com/2021/film/news/alamo-drafthouse-bankruptcy-chapter-11-sale-1234920558

https://www.dailynews.co.th/regional/775406

https://deadline.com/2021/06/alamo-drafthouse-completes-sale-out-of-bankruptcy-five-new-theaters-box-office-revives-1234767261

Money, Explained เงินทองเป็นของมายา?

เป็นเวลาราวสองสัปดาห์แล้วที่ผมตื่นมาในตอนเช้าพร้อมกับคำอธิษฐานเล็กๆ ว่าวันนี้ขอไม่ต้องเห็นหน้าอีลอน มัสก์ ในหน้าฟีด ไม่หรอก… ผมไม่ได้ลงทุนในเงินคริปโต สองสาเหตุใหญ่ที่ผมไม่ทำแบบนั้นเพราะเงินเก็บของผมไม่ “เย็น” พอ และการลงทุนทำนองนี้ยากเกินความเข้าใจผมไปมาก ความเหม็นหน้าอีลอน มัสก์ของผมเป็นผลมาจากความไม่เข้าใจด้วยเช่นกัน ผมไม่เข้าใจว่าอะไรทำให้เขามีอำนาจในการพลิกสถานการณ์ตลาดเงินดิจิตัลปั่นหัวคนได้ถึงเพียงนั้น ทำไมการลงทุนจึงดูยากเย็นซับซ้อน และทำไมเราจึงไม่อาจทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าเงินได้ง่ายนัก

เงิน เป็นสิ่งประดิษฐ์สำคัญในอารยธรรมมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้งในชั่วเวลาห้าพันปีนับแต่การถือกำเนิด มันพัฒนาจากการใช้งานง่ายๆ อย่างการใช้เปลือกหอยหรือโลหะแลกสิ่งของ ไปสู่การซื้อสิ่งที่ไร้รูปร่างเช่น บริการ ประกันภัย กรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน ส่วนแบ่งทางธุรกิจ ไปสู่การสมมติเรียกใช้เงินที่ยังไม่มีอยู่จริง เช่น หนี้และเครดิต จนถึงตอนนี้ “เงิน” แทบไม่ต้องมีรูปร่างแล้วด้วยซ้ำ แนวคิดล่าสุดของโลกอินเทอร์เน็ตทำให้เงินล่องลอยไปมาอยู่ในรูปรหัสดิจิตัล และยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้นไปอีกไม่รู้จบสิ้น 

การทำความเข้าใจการเงินในเวลาอันสั้นอาจไม่ง่าย Money, Explained สารคดีชุดใหม่ของ Vox Entertainment จึงเป็นงานที่ตั้งอยู่บนความท้าทายที่ว่าจะหยิบจับประเด็นร่วมสมัยทางการเงินมาเล่าอย่างไรให้สนุกและได้น้ำได้เนื้อในเวลาเพียงตอนละ 20 นาที ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม ความแม่นยำในการเลือกจับประเด็นของ Vox ยังคงจัดได้ว่าอยู่ในระดับร้ายกาจ ทั้ง 5 ตอนของสารคดีชุดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารสมองชั้นดี ไม่ว่าคุณจะเปิดดูในยามที่ภาวะทำมาหากินได้ตามปกติ หรือตกอยู่ในความขัดเคืองใจกับความถดถอยทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากภาวะการระบาดของโรคและรัฐบาลที่ดูจะไม่สำเร็จสัมฤทธิ์ผลอะไรนักในการดูแลสวัสดิภาพของเรา

เนื้อหาของ Money, Explained ประกอบไปด้วยหัวข้อดังนี้

รวยทางลัด (Get Rich Quick)

ใครบ้างจะไม่อยากรวย ความใฝ่ฝันถึงความร่ำรวยถือกำเนิดขึ้นมาแทบจะพร้อมๆ ระบบเงินตรา ไม่มีใครรู้สูตรสำเร็จสำหรับความฝันนั้น แต่คนบางจำพวกเข้าใจวิธีการฉวยเอาประโยชน์จากบรรดาคนที่อยากรวยได้มากมายหลายวิธี น่าประหลาดที่รูปแบบการโกงในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานั้นมีรูปแบบไม่ต่างกันมากนัก แต่จำนวนผู้เคราะห์ร้ายจากกลโกงเหล่านี้กลับไม่มีทีท่าว่าจะลดจำนวนลงเลย หนำซ้ำยังมีตัวอย่างหลายชิ้นที่พิสูจน์ว่า ไม่ว่าคุณจะรอบรู้เท่าทันคนเพียงใดก็ยังมีโอกาสจะถูกโกงอยู่ดี หรือแท้จริงแล้ว มนุษย์นั้นถูกสร้างมาเพื่อโดนหลอก 

บัตรเครดิต (Credit Cards)

แม้หนี้สินจะถือเป็นความชั่วร้ายในอารยธรรมมนุษย์มาอย่างเนิ่นนาน แต่การถือกำเนิดของบัตรเครดิตก็เปลี่ยนแนวคิดเรื่องหนี้ของผู้คนไปตลอดกาล เพียงแค่ช่วงทดลองใช้ในอเมริกาปี 1958 มันก็ทำให้เศรษฐกิจในแคลิฟอร์เนียเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีข้อสนับสนุนมากมายบ่งชี้ว่าการจับจ่ายด้วยบัตรเครดิตคุ้มค่ากว่าการใช้จ่ายเงินสด มีคนมากมายได้ผลประโยชน์จากการจับจ่ายด้วยแผ่นพลาสติก แต่ก็มีผู้คนอีกไม่น้อยที่ตกอยู่ในบ่วงหนี้บัตรเครดิต อะไรที่ทำให้เครื่องยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจชั้นดีกลายร่างเป็นกับดักสุดโหดของสถาบันการเงิน คำตอบของคำถามอาจอยู่ไม่ไกลเกินใบแจ้งหนี้ของคุณ

กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (Student Loans)

หนี้ กยศ. คือรูปธรรมคำพูดที่ว่า “การศึกษาคือการลงทุน” แต่การลงทุนที่ว่านั้นคุ้มค่าจริงหรือ เมื่อคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตกต่ำลง ตลาดแรงงานสำหรับคนจบปริญญาตรีให้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาด และดอกเบี้ยหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษากลับย้อนมาฉุดรั้งไม่ให้ผู้กู้ไปถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าโดยง่าย หนี้ กยศ. คือปัญหาใหญ่ที่อเมริกาและหลายประเทศในโลกที่ความเหลื่อมล้ำส่งผลรุนแรง เรื่องตลกร้ายที่ตามมาก็คือ แม้เราจะเลี่ยงการเป็นหนี้ กยศ. ด้วยการไม่เรียน บทลงโทษของคนที่ไม่จบอุดมศึกษาในตลาดงานอาจร้ายแรงยิ่งกว่า

การพนัน (Gambling)

หนักหนากว่าหนี้ โหดร้ายกว่าไฟไหม้บ้าน แต่การพนันไม่เคยห่างหายไปจากอารยธรรมมนุษย์ “เกมพนันโซเชียล” การพนันที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ถูกยกขึ้นมาใช้อธิบายว่าแท้จริงแล้วคนเราอาจไม่ได้เล่นพนันเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ องค์ประกอบด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยามีส่วนอย่างมากในการก่อความหิวกระหายชัยชนะ เจ้ามือเกมพนันทั้งนายทุนเจ้าของกาสิโน เจ้ามือหวย บริษัทเกมและขาใหญ่ในตลาดหุ้นและเงินคริปโตต่างใช้ประโยชน์จากธรรมชาติข้อนี้ทั้งสิ้น ทว่ากลุ่มคนที่หาประโยชน์จากการพนันได้อาจไม่ได้มีแค่เจ้ามือแต่เพียงผู้เดียว

การเกษียณ (Retirement)

ตรากตรำทำงานจนแก่เฒ่าอาจไม่ใช่วิถีชีวิตในฝันของใครหลายคน แต่หนึ่งในสี่ของชาวอเมริกันไม่มีเงินเก็บไว้สำหรับใช้หลังเกษียณ ส่วนคนที่มีเงินเก็บก็น้อยนักที่จะเก็บได้เยอะตามเป้าที่วางไว้ ตัวเลขอัตราส่วนนี้ยิ่งแย่หนักขึ้นอีกในประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 

แปลกแต่จริงที่มนุษย์จัดวางความใกล้ชิดระหว่างตัวเองในปัจจุบันกับตัวเองในอนาคตให้อยู่ในระดับเดียวกับคนแปลกหน้าอย่างไม่รู้ตัว นี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดผู้คนจึงไร้แรงจูงใจตามธรรมชาติที่จะออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ ทางออกจากวิกฤตินี้อาจง่ายดายกว่าที่คิดด้วยนโยบายรัฐ โครงสร้างภาษี และการ “เริ่มต้นที่ตัวเอง” อีกเล็กน้อย

แน่นอนว่าเนื้อหาและความเข้าใจจาก Money, Explained นั้นยังอยู่ในจุดที่ห่างไกลกับความเข้าใจการเงินอย่างถี่ถ้วน และข้อมูลจากประเทศทุนนิยมเสรีอย่างอเมริกาคงไม่อาจเชื่อมโยงกับรัฐนายทุนกึ่งผูกขาดอย่างบ้านเราได้แนบสนิท แต่ก็นับเป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของเราในฐานะปัจเจกกับกระแสการเงินสมัยใหม่ เมื่อเราสามารถทำความเข้าใจได้แล้วว่าทุกมิติทางการเงินนั้นส่งผลกับสังคมทั้งระบบ และแม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวมากๆ อย่างเงินลงทุนสำหรับอนาคตนั้นไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ด้วยการ “เริ่มจากตัวเอง” เพียงอย่างเดียว เราก็จะเห็นได้ว่าทุกเสียงที่เราส่งออกไปในการเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรสักอย่างนั้นสำคัญกับตัวเราเองมากเพียงใด

สำหรับผม เรื่องที่ยังต้องเอามาขบคิดต่อหลังดูสารคดีจบนั้นสนุกกว่าตัวมันเองเสียอีก แม้ว่ามันจะไม่ช่วยให้ผมชอบขี้หน้าอีลอน มัสก์มากขึ้นเลยก็ตาม

ยี่สิบนาทีคงน้อยเกินไปจริงๆ


ดูได้ที่ Netflix

MGM / AMAZON : ดีลสะท้านโลกกับผลกระทบที่อาจจะตามมา

สำหรับธุรกิจบันเทิงโลกในเวลานี้ คงไม่มีข่าวไหนที่สร้างความฮือฮาได้เท่ากับข่าว Amazon ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมอร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเองชื่อ Amazon Prime ได้บรรลุข้อตกลงซื้อสิทธิ์หนังทั้งหมดของบริษัท MGM หนึ่งในสตูดิโอขนาดใหญ่ของอเมริกาที่มีจำนวนมากกว่าสี่พันเรื่องด้วยจำนวนเงินทั้งหมด 8,450 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทย 253,500 ล้านบาท ไปเมื่อวันพุธที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ต่อจากนี้ไป Amazon Prime จะเป็นผู้บริหารสิทธิ์หนังทั้งหมดของค่าย MGM รวมถึงรายการทางโทรทัศน์ที่มีความยาวรวมกันมากกว่า 17,000 ชั่วโมง ไม่เพียงเท่านั้น Amazon Prime ยังมีสิทธิ์ในการบริหารสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property / IP) ของบริษัท MGM ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาคต่อ ภาคแยก หรือ คาแรคเตอร์ตัวละครของหนังดังๆ อย่าง Rocky, Legally Blond หรือ Tomb Raiderhttps://variety.com/2021/digital/news/amazon-buys-mgm-studio-behind-james-bond-for-8-45-billion-1234980526/

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดีลนี้จะปิดไปแล้ว แต่ก็ยังมีบางจุดที่ยังมีความคลุมเครืออยู่ โดยเฉพาะกับหนังชุดเจมส์ บอนด์ ที่ทายาทตระกูลบรอคโคลี ผู้ปลุกปั้นหนังสายลับชุดนี้มาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 60 และยังมีสิทธิ์ในการควบคุมเนื้อหารวมถึงการคัดเลือกนักแสดง ตลอดจนกำหนดทิศทางการจัดจำหน่าย ออกมาประกาศว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร หนังเรื่อง No Time to Die ซึ่งเป็นภาคล่าสุดของหนังตระกูลบอนด์จะยังคงฉายในโรงหนังในเดือน ตุลาคมนี้https://www.nytimes.com/2021/05/26/business/amazon-MGM.html อยู่ดี

แต่กระนั้น นั่นอาจไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป ตราบใดที่ดีลขนาดยักษ์ดีลนี้ได้ถูกปิดอย่างเป็นทางการแล้ว ที่เหลือคงเป็นการตกลงกันระหว่าง ตระกูลบรอคโคลีกับค่าย MGM ที่เป็นผู้ร่วมสร้างหนังเจมส์ บอนด์ ว่าจะหาจุดลงตัวอย่างไรเพื่อที่จะได้ทำงานกับ Amazon อย่างราบรื่น

ทีนี้คำถามสำคัญที่ดูเหมือนจะยังไม่ถูกตั้งขึ้นในช่วงเวลานี้ก็คืออภิมหาดีลที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจบันเทิงโลก โดยเฉพาะกับธุรกิจบันเทิงที่มีผู้บริโภคมากที่สุดในโลกอย่างธุรกิจหนัง ผู้เขียนขอนำเสนอความเป็นไปได้ดังนี้              

1. ภูมิทัศน์ของการจัดจำหน่ายจะเปลี่ยนไป : แม้ว่าการเข้ามาสมาทานธุรกิจภาพยนตร์ของบรรดาค่ายแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Netflix HBO หรือ Disney Plus จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในธุรกิจภาพยนตร์ ใครๆ ก็รู้ว่า ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มเหล่านี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านการจัดจำหน่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วงชิงฐานผู้ชมที่ไม่สามารถเข้าโรงหนังในช่วงที่โรงหนังเกือบทั่วโลกปิดตัวได้ หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดจำหน่ายที่แต่เดิม โรงหนังต้องเป็นสถานที่แรกที่หนังต้องเปิดตัว จากนั้นคล้อยหลังไป 3 -6 เดือน ถึงไปฉายในช่องทางสตรีมมิ่ง กลายเป็น โรงหนังต้องเปิดตัวหนังพร้อมกับช่องทางสตรีมมิ่ง หรือไม่ต้องรอให้หนังเปิดตัวทางช่องทางสตรีมมิ่งก่อนถึงจะฉายโรงได้ ดังนั้นการเกิดอภิมหาดีลระหว่าง Amazon กับ MGM จึงเป็นการตอกย้ำว่า บทบาทแต่นมนามของโรงหนังในฐานะช่องทางการจัดจำหน่ายแรกและเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสำคัญของเจ้าของหนังค่อยๆ หมดความสำคัญลงอย่างช้าๆ

2. คำว่า IP (Intellectual property) หรือ ทรัพย์สินทางปัญญา จะกลายเป็นตัวแปรในการสร้างความแข็งแกร่งของ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าต่างๆ เพราะการที่พวกเขาได้ครอบครองคอนเทนท์ที่มีต้นทุนแห่งความนิยม จากการที่มันเคยประสบความสำเร็จจากการฉายในโรงภาพยนตร์มาก่อน นอกจากจะทำให้พวกได้ประโยชน์จากการดึงผู้บริโภคเข้ามาเป็นสมาชิกแล้ว ยังทำให้พวกเขาสามารถต่อยอดความนิยมของหนังเรื่องนั้นๆ ด้วยการนำ IP ของหนังเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่อง หรือตัวละคร มาสร้างเป็นหนังหรือซีรีส์ที่มีความเกี่ยวช้องกับเนื้อเรื่องดั้งเดิมได้อีก เช่นกรณีของ Disney Plus ที่สามารถสร้างภาคแยกของหนังมาร์เวลที่พวกเขาถือสิทธิ์ได้หลายเรื่อง ดังนั้นการที่ Amazon Prime มีหนังในคลังของ MGM อยู่ในมือถึงสี่พันเรื่อง จึงเท่ากับว่าพวกเขามีสิทธิ์ที่จะใช้ประโยชน์จาก IP ที่มาพร้อมกับหนังเหล่านั้นอย่างไม่มีขีดจำกัด ดังนั้นอย่าแปลกใจที่เราอาจได้เห็นตัวละครตัวหนึ่งในหนังเรื่อง Rocky กลายเป็นมาเป็นตัวละครหลักในหนังเรื่องต่อไปของ Amazon Prime ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่ IP มีค่าดั่งทอง ดูเหมือนผู้ที่จะตกอยู่ในสถานการณ์เสียเปรียบคงหนีไม่พ้น Netflix เพราะต้องสูญเสียหนังของ MGM ที่พวกเขาเคยซื้อสิทธิ์มาฉายอย่าง James Bond หรือ Rocky หลังจากที่สัญญาหมดลงแล้ว ไม่นับรวมหนังของค่ายมาร์เวลหลายๆ เรื่องที่ต้องคืนกลับไปยังเจ้าของสิทธิ์เดิมเพื่อให้บริการใน Disney Plushttps://www.hollywoodreporter.com/tv/tv-news/netflixs-loss-marvel-movies-may-cause-subscriber-drop-poll-finds-1210236/ การสูญเสียหนังใหญ่ๆ เหล่านี้ไปทำให้ Netflix ต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง IP ของตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการผลิตผลงานที่เรียกว่า original content ในรูปแบบของหนังหรือซีรีส์

3. เกิดภาวะทำตามแบบ : ผู้เขียนมีความเชื่อว่า นอกจากผู้คนในแวดวงธุรกิจบันเทิงจะจับตาดีลนี้อย่างไม่กะพริบแล้ว ผู้บริหารสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Netflix HBO Disney Plus หรือ แม้แต่ตัว เจฟฟ์ เบซอส เจ้าของ Amazon เองก็คงเฝ้าสังเกตเหมือนกันว่าสุดท้ายนี้ ดีลนี้มันจะลงเอยด้วยการสร้างความมั่งคั่ง หรือ ความล้มเหลวให้กับแพลตฟอร์ม Amazon Prime ถ้าผลลงเอยเป็นบวก ผู้เขียนเชื่อว่า ต่อไปผู้บริหารเหล่านี้ คงสรรหาบริษัทภาพยนตร์ขนาดใหญ่ หรือขนาดกลางที่มีหนังในคลังมูลค่าสูงเพื่อทำการเจรจาซื้ออย่างแน่นอน เพราะการทุ่มทุนซื้อบริษัทเหล่านี้มาได้เท่ากับเป็นการการันตีว่า พวกเขาจะมี IP ที่มีต้นทุนความสำเร็จอยู่ในมือ ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้า บริษัทที่มี IP แข็งแรงอย่าง Lionsgate ที่มีหนัง Hunger Games หรือ John Wick อยู่ในแคทตาล็อก หรือ บริษัท Millennium Media ที่มีหนังอย่าง Expendable หรือหนังตระกูล Olympus Has Fallen อยู่ในคลัง จะอยู่ในโฟกัสของผู้บริหารสตรีมมิ่งเหล่านี้

4. การแข่งขันที่เข้มข้นของตลาดสตรีมมิ่ง : ด้วยจำนวนเงินกว่า 8,500 ล้านเหรียญที่ Amazon ลงทุนไป ทำให้พวกเขามีแรงกดดันที่จะต้องหาทางคืนทุนให้ได้ ซึ่งหนึ่งในวิธีที่พวกเขาต้องทำคือการขยายฐานสมาชิกของ Amazon Prime ให้เพิ่มมากขึ้นจากที่มีอยู่ 200 ล้านคนทั่วโลกในขณะนี้https://observer.com/2021/04/amazon-prime-subscribers-netflix-disneyplus/ (ขณะที่ Netflix มีสมาชิกทั่วโลก 207 ล้านคนhttps://www.statista.com/statistics/250934/quarterly-number-of-netflix-streaming-subscribers-worldwide/ และ Disney Plus 100 ล้านคนhttps://www.theverge.com/2021/3/9/22320332/disney-plus-100-million-subscribers-marvel-star-wars-wandavision) ดังนั้นการแข่งขันในตลาดสตรีมมิ่งที่มีความเข้มข้นอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด 19 จะเพิ่มดีกรีความร้อนแรงในปีนี้และปีต่อๆ ไปอย่างเลี่ยงไม่พ้น จงเตรียมใจที่จะได้เห็นโฆษณาเชิญชวนให้สมัครเป็นสมาชิกของ Amazon Prime ในบ้านเราอีกไม่นานจากนี้

กล่าวโดยสรุป การปิดดีลระหว่าง Amazon และ ค่ายหนัง MGM ไม่เพียงแค่สร้างความตกตะลึงแก่ผู้สนใจทั้งในและนอกธุรกิจบันเทิงในแง่ของตัวเงินที่ถูกประกาศออกมาเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวเร่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมบันเทิงโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัง แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร คนที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดก็คือ ผู้บริโภคอย่างเราๆ นั่นเอง

Oxygen : ความน่ารักและน่าพรั่นพรึงของเทคโนโลยี

คุณติดอยู่ในแคปซูลทางการแพทย์ ขนาดของมันไม่ใหญ่กว่าโลงศพมากนัก คุณอยู่คนเดียว และออกซิเจนของคุณกำลังจะหมด คุณไม่มีความทรงจำ ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร และมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร ตัวช่วยเดียวที่คุณมีคือเอไอล้ำสมัยที่พูดด้วยเสียงผู้ชายอันปราศจากอารมณ์ คุณจะทำอย่างไร?

เพียงแค่คอนเซปต์เท่านี้ของ Oxygen ก็ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ที่หนังจะพัฒนาไปเป็นหนังแนวเอาตัวรอด ประกอบกับหนังสืบสวนชั้นดี ตัวละครจะต้องดิ้นรนในพื้นที่ปิดตายพร้อมกับสืบหาประวัติของตัวเองไปพร้อมๆ กัน กับเวลาที่มีจำกัดและความช่วยเหลือที่ห่างออกไปแสนไกล อันที่จริง หนังค่อนข้างทำงานกับคนดูได้ดีเลยทีเดียวในเรื่องของความรู้สึกกระวนกระวายและไร้ทางสู้ และการแสดงของเมลานี โลรองต์ ก็เข้าตาดี มันทำให้เราเชื่อว่าเธออยู่ในภาวะกดดันสุดๆ แม้มันจะออกมาล้นๆ หน่อยในบางครั้ง

Oxygen เล่าเรื่องด้วยโทนของความเป็นทริลเลอร์ ลำพังอาการกลัวที่แคบและการติดอยู่ที่เดิมแบบไปไหนไม่ได้ ก็เพียงพอจะทำให้มนุษย์คนหนึ่งเสียสติ และเป็นภัยคุกคามต่ออัตตาณัติอย่างยิ่งยวด กระนั้นมันยังใส่ฉากน่าหวาดเสียวบางฉากเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเลือดและเข็ม หรือหนูที่ติดอยู่ในกล่อง การต่อสู้กับภาวะจิตหลอนและการเล่นกับความจริงและความลวง

นางเอกถูกขึ้นทะเบียนเป็นไบโอฟอร์มชนิดหนึ่งที่ไม่มีชื่อ ทันทีที่เธอถามว่าเธอชื่ออะไร เจ้าเอไอนามว่า ‘มิโล’ ก็ตอบกลับมาเป็นรหัสยาวเหยียด เธอต้องสืบค้นหาดีเอ็นเอที่ตรงกันแทน และค้นพบว่าเธอคือเอลิซาเบธ แฮนเซน นักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีการแช่แข็งมนุษย์ พลันภาพแฟลชแบ็คก็ผุดขึ้นมา เธออยู่ในโรงพยาบาล และเป็นไปได้ว่าเธออนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีนี้กับตัวเอง แต่ทำไมเธอจำอะไรไม่ได้?

ความคิดอีกอย่างผุดขึ้นมา เธอต้องโทรหาตำรวจ และเบอร์แรกที่มิโลค้นเจอก็คือเบอร์ต่อตรงถึงชายผู้หนึ่ง เขาสอบถามรายละเอียดและบอกว่าจะต่อสายให้เธอหาเจ้านาย เพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ต้องรอและกลัวว่าสายจะหลุดไป ก็ทำให้เอลิซาเบธกลัวจนลนลานแล้ว แต่เธอกลับพบว่าในน้ำเสียงของชายอีกคนที่พยายามปลอบเธอให้ใจเย็น และบอกว่าเขากำลังจะส่งคนมาช่วยนั้น มันมีสิ่งที่ไม่น่าไว้ใจ ทำไมชายผู้นี้ถึงต้องโกหกเธอ?

หนังซ้อนปมเกี่ยวกับตัวละครไว้หลายชั้น และเล่นกับ “ความไม่รู้” และความเข้าถึงข้อมูลได้จำกัดของตัวละคร แต่แม้หนังจะพลิกล็อคอยู่ถึง 2 ครั้ง ผู้ชมบางคนอาจเดาทางได้ตั้งแต่ต้น การพลิกเรื่องครั้งที่สองนำเราไปสู่คำถามทางจริยศาสตร์และศีลธรรม ซึ่งคงจะดีหากหนังค้นลึกลงไปในประเด็นนี้เพิ่มอีก แต่ดูเหมือนว่าเวลา 100 นาทีที่ตัวละครเหลือก่อนอ็อกซิเจนจะหมด จะกลายเป็นข้อจำกัดของหนังที่ต้องพยายามเดินเรื่องไปในแนวสืบสวนเพื่อค้นหาความจริง ทั้งที่จริง ถ้ามีการเฉออกจากประเด็นเอาตัวรอดไปบ้าง หนังน่าจะมีมิติมากกว่านี้ ดูเหมือนว่าพื้นที่ในแคปซูลจะมีไม่เพียงพอสำหรับพัฒนาการของตัวละคร

สิ่งเดียวที่ทำให้ตัวละครยังง่วนอยู่กับการมีอะไรทำเพื่อรักษาชีวิตตัวเอง ก็คือการควบคุมและสั่งการเจ้ามิโล เอไอที่ในครั้งแรกที่มันปรากฏตัว ทำให้เรารู้สึกถึงความคุกคามและความห่างเหิน การเป็นหุ่นยนต์ที่เย็นชาและถามคำตอบคำ อีกทั้งยอมตอบเฉพาะคำถามที่ถูกกับตรรกะของมัน ทำให้ผู้ชมโหยหาปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ อย่างที่นางเอกอาจจะรู้สึก มันน่าอึดอัดมากทีเดียวที่ต้องติดอยู่กับผู้ดูแลที่ไม่มีชีวิตจิตใจ พร้อมๆ กับที่เป็นเรื่องน่ากลัวว่าเจ้าเอไอจะตัดสินใจอะไรที่เป็นภัยคุกคามต่อเธออีกหรือเปล่า และมันก็ทำเช่นนั้นจริงๆ เพราะเมื่อออกซิเจนลดลงถึงระดับวิกฤต มันพยายามจะการุณยฆาตตัวละครให้ตายไปเสียดื้อๆ

ความเป็นวัตถุวิสัย (objective) หรือ “เป็นกลาง” ในการกระทำของเอไอในเรื่องนี้น่าตั้งคำถามเป็นอย่างมาก ว่าถ้ามันทำให้ใครสักคนตายขึ้นมาจริงๆ โดยที่เธอหรือเขาไม่สมควรตาย ใครจะเป็นคนรับผิดชอบการกระทำนี้ มิโลไม่อาจตัดสินใจในสิ่งที่ซับซ้อนเกินกว่าตรรกะแบบเลข 0 และ 1 (ใช่/ไม่ใช่) และนั่นทำให้การพึ่งพามัน 100% เป็นไอเดียที่ไม่ฉลาดนัก อันที่จริง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเอไอในเรื่องนี้ นำไปสู่ประเด็นที่ทำให้คนเห็นคุณค่าของการทำงานกับมนุษย์ได้เลยทีเดียว แม้เอไอจะฉลาดขนาดไหน มันก็ไม่สามารถตัดสินใจทางจริยศาสตร์ที่มีความกำกวมของเหตุผลได้เหมือนมนุษย์ นั่นคือเหตุผลที่มนุษย์ต้องควบคุมมัน ไม่ใช่ให้มันควบคุม

ช่วงกลางเรื่องเป็นต้นมา จะเห็นพัฒนาการของตัวละครได้เล็กน้อยว่า นางเอกเริ่มกลับมาเป็นผู้ควบคุมเอไอ ทั้งจากการที่เธอขอให้มันขยายเสียงเพื่อดักฟังตำรวจ หรือการตรวจสอบเข้าไปในระบบของแคปซูล ซึ่งเธอคงทำเองไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมนุษย์อีกคน สายปริศนาของผู้หญิงที่โทรเข้ามาช่วยชีวิตเธอได้หวุดหวิด และเธอเกือบจะไม่รอดถ้าไม่ทำตามคำแนะนำของสายนั้น ดูเหมือนในแง่หนึ่ง หนังพยายามจะให้นางเอกได้มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์บ้าง แต่มันก็ซับซ้อนกว่าที่คิด เพราะมนุษย์หลอกเธอได้ ขณะที่เอไอไม่ทำเช่นนั้น เธอต้องเล่นเกมจิตวิทยากับผู้ชายปลายสายที่บอกว่าตนเองเป็นตำรวจ และเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อใครคนใดคนหนึ่ง ในแง่หนึ่ง ความสัมพันธ์กับมนุษย์ก็มีความเสี่ยง แต่ถ้าไม่มีมัน เธอจะไม่รู้ความจริงอะไรเพิ่มขึ้นเลย

ในทางปรัชญามีสิ่งที่เรียกว่าการให้เหตุผลแบบ A priori เช่น การบอกว่า 1+1=2 จะเห็นว่าประโยคด้านหน้าเครื่องหมายเท่ากับ และหลังเครื่องหมายเท่ากับ มีค่าเท่ากัน และไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรใหม่ การตัดสินใจของเอไอก็เป็นเช่นนั้น มันเกิดขึ้นในระบบปิด ที่ไม่ได้มีข้อมูลใหม่ การตัดสินใจทุกอย่างถูกวางเอาไว้แล้วโดยไม่พิจารณาตัวเลือกเพิ่ม เช่น เมื่อออกซิเจนเหลือเท่านี้เปอร์เซ็นต์ จะต้องทำการการุณยฆาต แม้ว่าคนที่อยู่ในแคปซูลจะขอร้องให้มันอย่าทำ แต่การที่พวกเขาขอร้องเป็นการให้ข้อมูลใหม่ซึ่งระบบของเอไอไม่รับ และนั่นทำให้มันมีความน่าพรั่นพรึง

อย่างไรก็ดี มิโลกลับเป็นตัวช่วยนางเอกเอาไว้ได้ในนาทีสุดท้าย หนังทำให้เห็นว่า ถ้ามนุษย์เป็นผู้ควบคุมเอไอโดยใช้การตัดสินใจของตนเอง เจ้าหุ่นยนต์ที่อยู่ในระบบปิดนี้ก็สามารถกลายเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพ มิโลทำการคำนวณเล็กๆ น้อยๆ เพื่อหาโอกาสที่นางเอกจะอยู่ต่อไปได้ อันที่จริงมันไม่ได้คิดหรอกว่านางเอกควรจะอยู่ต่อไป แค่ความจริงที่ว่าเธอป้อนคำสั่งให้มัน “หาทาง” ทำเช่นนั้นต่างหาก ที่ช่วยชีวิตเธอเอาไว้

ในภาพรวม หนังให้ตัวละครมีปฏิสัมพันธ์กับเอไอเสียเป็นส่วนใหญ่ของเรื่อง และเราก็ไม่อาจหลีกหนีอาการหัวเสียจากการที่สั่งมันไม่ได้ดั่งใจได้เลย หนังทำให้เราตั้งคำถามว่าเราสามารถพึ่งพาเทคโนโลยีล้ำยุคเช่นนี้ได้หรือไม่ และถ้าได้ เราควรมีท่าทีต่อมันอย่างไร ดูเหมือนหนังจะมีแนวทางที่ยกชูมนุษย์อยู่ในที ถ้ามนุษย์เป็นผู้ควบคุม และไม่ถูกควบคุมเสียเอง เราย่อมจะหาทางรอดต่อไปได้ แม้ว่าเส้นทางจะถูกจำกัดไว้มากแค่ไหน โดยมีเทคโนโลยีเป็นแขนขา เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เรา “อยู่ต่อไปได้” แต่จะอยู่ต่อไปได้ดีหรือไม่ คงต้องพึ่งพาการตัดสิน (judgement) ของเราที่ละเอียดอ่อน ในฐานะมนุษย์ที่มีความซับซ้อนมากกว่าเอไอ และอาจเป็นความซับซ้อนนี้นี่เองกระมังที่ทำให้ชีวิตมนุษย์มีค่า


ดูได้ที่ Netflix

Remembering Varda : 1. Pursuit of Unlimited Happiness

Black Panthers (1968)

Le Bonheur (1965)

Cléo from 5 to 7 (1962)


ผังโปรแกรมของสมาคมฝรั่งเศส (ในสมัยที่ยังอยู่ที่ทำการเดิม, ถ.สาทรใต้) ขณะนั้นมีโปรแกรมฉายเกือบทุกวันครับ (จะเว้นบ้างก็แค่วันพุธซึ่งน่าจะเป็นการตกลงกันในระดับ ‘gentleman’s agreement’ ในแวดวงการทูตสายวัฒนธรรม โดยเผื่อไว้หนึ่งวันเป็นของสถาบันเกอเธ่) จะมีอยู่ชื่อหนึ่งที่แวะเวียนจนรู้สึกคุ้นกันไปเลย ก็คือผู้กำกับหญิงของฝรั่งเศส Agnès Varda ที่เดี๋ยวๆ ก็มีหนังมาเข้า

จนกระทั่งราวปี 1984 ที่มากันยกชุดเลย (คือเรียกว่าหนังสือแจกรายเดือนนี่พลิกไปพลิกมาจนซึมเข้าหัวไปเอง) จะเจอชื่อหนังอย่าง Cléo de 5 à 7, Le Bonheur, Les Creatures (เชื่อว่าคงไม่ใหม่ไปกว่านี้ล่ะครับ เพราะตอนนั้นเพิ่งยุค 80’s เอง) ขณะที่หนังชื่อ L’ Un Chante, L’ Autre Pas ซึ่งเวียนมาบ่อยมาก คือมาแบบเดี๋ยวจรเดี๋ยวเวียนจนแทบไม่รู้สึกว่ามีความพิเศษอะไร คือมีทั้งที่อยู่ในโปรแกรม retrospective แล้วก็มาแบบเดี่ยวๆ

ขนาดผมขึ้นไปเชียงใหม่ ก็มีแวะไปเยี่ยมชมสมาคมฝรั่งเศสสาขาของที่นู่นกะเขาถึงได้รู้ว่าวันไหนมีฉายหนัง ก็ตั้งเครื่อง(สิบหก)กันในห้องสมุดนั่นแหละ ทีนี้เมอร์สิเออร์บรรณารักษ์ก็ใจดีมากกกก มีแนะเสร็จว่า ช่วงที่ผมขึ้นไปตอนนั้น (พฤษภา 2527) หนังที่กำลังจะมีโปรแกรมฉายในช่วงใกล้ๆ ก็คือเรื่องนี้ (L’ Un Chante, L’ Autre Pas) พอดี เสร็จแล้วเป็นไง ทายดิครับพวกเรา… อดสิครับ! สุดท้ายก็ไม่ไปดู (โฮวววว)

ป๊อก!-ป๊อก!-ป๊อก! เขกหัวตัวเองสามทีซิครับ ตรงที่มีเกลือวางข้างหน้าก็ดันไม่กินทั้งด่างทั้งเกลือทั้งๆ ที่ตอนนั้นก็ไม่เด็กล่ะนะ สุดท้ายเป็นไง พอกูตาเริ่มเปิดกว้าง ค้นคว้า+ทำความรู้จักหนังฝรั่งเศสให้มากขึ้น ถึงได้รู้ว่าเวลาที่มีค่าที่สุดได้หลุดมือหายไปแล้ว อะไรที่ทำหลุดทำหล่น คราวนี้ก็ถึงเวลาหลบเลียแผลซะที

คงต้องเรียกว่า การระลึกชาติผลงานหนัง Agnès Varda ในหนนี้ถือเสียว่าเป็นการไถ่บาปทั้งให้ตัวเอง แล้วก็เป็นการขอขมา (ดวงวิญญาณทิพย์ของ)คุณป้า ถ้าท่านหยั่งรู้ได้ด้วยญาณวิถี คงต้องกล่าวไว้ตรงนี้ว่าหนังอย่าง Cléo de 5 à 7, Le Bonheur หลังจากที่เคยพลาด ตอนนี้ไม่ใช่หนังลับแลที่เวลาฉาย จะมีเฉพาะคนฝรั่งเศสมาดู (ซึ่งทั้งโรงนั่งกระจายๆ กัน 8 คน – 15 คน ก็หรูแล้ว) พอมาถึงยุคที่หนังคุณป้ามีช่องทางให้คนอื่นๆ มีโอกาสดูได้อย่างทั่วถึง คราวนี้จะไม่พลาดล่ะ

หนนี้ก็ยกเอาหนังที่ควรจะได้ดูในยุคนั้นล้วนๆ (แต่วืดด) อย่าง Le Bonheur, Cléo de 5 à 7 มาเขียนถึง (โดยโมเมไปก่อนพลางๆ ว่าเป็นหนังในกลุ่มดราม่า) ส่วนที่เหลือก็จะเป็นงานในกลุ่มสารคดีล่ะ (อ่านได้ในตอนที่สอง) มีข้อแตกต่างกันก็คือ คราวนี้จะไม่ยอมพลาดแล้ว อย่าง Du Côté de la Côte (ซึ่งหนที่มาฉายเป็นฟิล์ม 35 ก็ได้ดู โดยตัวโปรดิวเซอร์ Anatole Dauman, เจ้าสำนัก Argos Films หนีบมาเอง แต่ก็ยังเป็นหนังเข้าควบอยู่ คือฉายก่อน Paris, Texas ซึ่งเป็นตัวเมนโปรแกรม โดยทาง Alliance จัดต้อนรับปีใหม่ 2 มกรา 1988 เลย), ส่วน Daguerréotypes นั่นดูครั้งแรกสุดก็คงเป็นตอนทัวร์เทศกาลหนังที่ฮ่องกง (น่าจะ 1996) ทีนี้เหลือเรื่องปิดท้าย Les Plages d’ Agnes ซึ่งจริงๆ น่าจะมีค่าเป็นงาน genesis ของคุณป้า คือจะเป็นการพาย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นของทุกอย่างที่เป็น Varda ทั้งในแง่ชีวิต, ผลงาน, ความทรงจำ, ความรัก และชีวิตส่วนตัว ซึ่งเป็นอนุสนธิสืบเนื่องมาจากการได้เยี่ยมชมนิทรรศการ L’île et elle ของป้าวาร์ดากันที่ปารีส, กันยายน 2006 (ซึ่งคุณป้าใส่ฟุตบรรยากาศในพิธีเปิดไว้ในตัวสารคดีด้วย) พร้อมกับมิตรสหายร่วมคณะทัวร์ โดยคำ่วันหนึ่งก็ได้ไปเยือนถนน Rue Daguerre จริงๆ แต่ไม่มีบรรยากาศแบบในสารคดีอีกต่อไป

นับถึงวันนี้ ผลงานของ Agnès Varda จะไม่เป็นที่รู้จักเฉพาะบนตารางฉายหนังของสมาคมฝรั่งเศสหรือเทศกาลหนังอีกต่อไป เมื่อวันหนึ่งผลงานของ Varda ก็ได้ฉายขึ้นจอโรงมัลติเพล็กซ์ไปทั่วประเทศ ผ่านหนัง Judas and the Black Messiah (US., 2020, Shaka King) ที่ถึงแม้จะถูกนำมาใช้เฉพาะฟุตเตจเพียงบางส่วนของหนัง Black Panthers (1968) ซึ่งเป็นผลงานหนังเพียงไม่กี่เรื่องที่ใช้ภาษาอังกฤษ โดย Varda ได้ทำขึ้นระหว่างพักอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ด้วยช่วงเวลาเพียงสั้นๆ


Black Panthers (1968)

Black Panthers อาจเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ไฮบริดตัวเองออกนอกผลงานหนังเรื่องอื่นๆ ของ Varda เอง เท่าๆ กับที่แทบจะไม่มีใครมองว่าเป็นผลงานขึ้นหิ้ง แต่สำหรับกลุ่มเคลื่อนไหว ‘แบล็คแพนเธอร์’ ผลงานจากนักทำหนังจากฝรั่งเศสกลับได้รับการยอมรับในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์เส้นทางการต่อสู้ แม้สารคดีของ Varda อาจไปไม่ถึงสุด (ขณะนั้น Huey Newton ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวตามข้อเรียกร้อง) แม้สารคดีของ Varda จะเป็นแค่การสังเกตการณ์ด้วยสายตานักท่องเที่ยว แต่ถึงกระนั้น Black Panthers ก็ยังถูกจัดอยู่ในข่ายสารคดีที่นำเสนอแง่มุมจุดยืนทางการเมืองของตัวเจ้าของผลงาน

น่าสงสัยว่ามีอะไรในขบวนการเคลื่อนไหว ‘แบล็คแพนเธอร์’ ถึงได้เตะตาต้องใจคุณป้า Varda ถึงได้ยอมลงทุนนั่งรถข้ามเมืองจากแอลเอ.ไปถึง Oakland ในช่วงเวลาที่การชุมนุมประท้วงกำลังไต่ระดับความรุนแรง แม้จะยังไม่เข้มข้น แต่นั่นก็เท่ากับเป็นการสังเกตและบันทึกในช่วงรุ่งอรุณ ก่อนที่จะพุ่งขึ้นสู่จุดของการนองเลือดและล้อมปราบในอีกเกือบสองปีต่อมาอย่างที่ทราบกัน

อย่างน้อยใจ สารคดีทำให้คนดูพอเข้าใจถึงรูปแบบการจัดองค์กรภายในของขบวนการ’แบล็คแพนเธอร์’ว่าจำลองมาจากการปฏิวัติคิวบาบวกกับแนวทางสู่การปฏิวัติโดยอาศัยโรดแม็ปจากประธานเหมาเจ๋อต่งเป็นคัมภีร์ที่ทุกคนจะต้องอ่าน (ในสารคดีจะเห็นแต่ละคนจะพกสมุดเล่มแดงๆ ติดตัวไว้เสมอ) จุดเริ่มต้นที่สำคัญของการรวมตัวมาจากการไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลสหรัฐมักเกณฑ์เด็กหนุ่มเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันไปรบเวียดนาม ถึงต้องมารวมกลุ่มสร้างสังคมใหม่ร่วมกันต่อต้านนโยบายรัฐบาลกลาง จุดมุ่งหมายถัดมาก็คือการสร้างสังคมที่บริหารจัดการโดยคนดำในรูปแบบของการพึ่งตนเองและคัดค้านอำนาจสั่งการจากส่วนกลาง (แม้แต่ตำแหน่งสำคัญภายในพรรคยังใช้ชื่อเรียกเป็น ‘รมต.ประจำกระทรวง’ นั่นนู่นนี่ไปตามหน้าที่ คล้ายมีรูปแบบของรัฐอิสระซ้อนทับอยู่ภายในการบริหารจัดการภายในที่เป็นของสหรัฐเอง 

หลักการของ ‘แบล็คแพนเธอร์’ ถูกมองว่าไม่ต่างไปจากสังคมในอุดมคติตามหลักการสังคมนิยมมาร์กซิสต์ กลุ่มแบล็คแพนเธอร์จึงถูกนำไปผูกโยงกับขบวนการก่อการร้าย อย่างแรกสุดน่าจะเป็นเรื่องของการไม่เห็นด้วยกับการส่งคนผิวสีไปรบในเวียดนาม ที่ถึงแม้จะไม่เป็นคนละหลักการกับการต่อต้านการทำสงคราม ทว่าสุดท้ายแล้วก็เป็นความพยายามที่จะยับยั้งนโยบายที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตรงกัน และยังอาจโยงใยไปได้ถึงความพยายามที่จะรักษาเวียดนามไม่ให้บอบช้ำกว่าที่เป็นอยู่ ในฐานะของอดีตอาณานิคมเก่าของฝรั่งเศส

ตัวสารคดี Black Panther ได้กลายเป็นข้ออ้างที่ฟังขึ้นของการที่ป้า Varda มิได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 1968 (ซึ่งสุดท้ายก็เจ๊ากัน เพราะที่คานส์เองก็งดจัด เนื่องจากกระแสการชุมนุมประท้วงได้ลุกลามไปทั่วประเทศ) ถ้าเช่นนั้นเหตุผลของการอยู่ฮอลลีวูดตามสามี – Jacques Demy จนได้สารคดีติดมือเรื่องนี้กลับมา ย่อมทำให้คุณป้ารู้สึกเหมือนแทบจะไม่ต่างกับอยู่ในฝรั่งเศส และยิ่งเมื่อหลักการ Maoism ในกลุ่มแบล็คแพนเธอร์ ดูใกล้เคียงกับกระแสคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในฝรั่งเศสซึ่งเพื่อนรักเพื่อนชัง Jean-Luc Godard เองก็เพิ่งจะมีหนัง La Chinoise ออกฉาย (และถ้าจะคลำต่อไปอีกซึ่งก็ไม่เป็นที่ยืนยันว่าตัวสัญญะเครื่องหมาย emblem ของกลุ่มขบวนการมีส่วนตอบสนองนิสัยรักแมว นิยมแมวเหมียวของคุณป้าเองหรือเปล่า)

(ดู Black Panther ได้ที่ MUBI)


Le Bonheur (1965)

Le Bonheur (1965) : บทบทหนึ่งจากหนังสือแบบเรียนดรุณศึกษา เขาใช้ข้อความขึ้นเป็นชื่อบทว่า ‘ความสุขเป็นของไม่ถาวร’ แทบไม่น่าเชื่อว่าได้กลายเป็นวาทะที่ติดตัว + จำฝังหัวมาจนถึงทุกวันนี้ (คล้ายๆว่า รูปประกอบเขาใช้ภาพบรรยากาศประเพณีลอยกระทง) ทำให้พบว่าโมเมนท์ของความสุขจริงๆ เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ แค่เสี้ยวหนึ่งของลมหายใจก็ยังไม่รู้ว่าทันนับหรือเปล่า รู้แต่ว่าเหมือนกับมาแล้วก็ไป เก็บกักได้ไม่นาน

แค่แว้บหนึ่งของไฟเขียวของรถคันที่ติดอยู่หน้าสุด (ก็สุขได้) เพราะหลังจากนั้นคุณก็มีหน้าที่เคลื่อนรถไปข้างหน้า ความรู้สึกที่ได้จากโมงยามเมื่อครู่หายไป หลายคนมักเก็บเอาความสุขมาเป็นคำแทนค่าของการมีชีวิต (ซึ่งก็น่าจะได้) แต่มวลสารชีวิตก็ยังมิใช่ถังภาชนะเก็บกักความสุข แม้มายาคติและขนบของการอยู่ร่วมมักปลูกฝังให้เชื่อเช่นนั้น เท่ากับว่า นิยามของคำว่า ‘ความสุข’ มิอาจนำไปใช้แทนที่ด้วยคำว่า ‘ชีวิต’ ได้เช่นไร ทว่าคนส่วนมากมักนำคำสองคำมาใช้ในความหมายเดียวกันเสมอ อย่างคำกล่าว ‘สุขสันต์วันเกิด’ จะให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงว่ากระไร

ก. ความสุขจะเกิดได้ ก็เฉพาะโมงยามที่เราคลอดออกมาดูโลก (แล้วต่อจากนั้นก็ตรงกันข้าม)

ข. ‘สุข’ แท้จริง ที่เกิดขึ้น ณ วันคล้ายวันเกิด ถ้ามีอยู่ขึ้นจริง ควรอยู่ในช่วงเวลาใด: เป่าเทียน + ตัดเค้ก หรือทันทีที่กวาดสายตาอ่านข้อความคำอวยพร เมื่ออ่านจบ (ความสุขก็หมดไป)

ฉะนั้นการที่ Varda ใช้คำว่า ‘ความสุข’ มาตั้งเป็นชื่อหนัง (le bonheur ด้วยตัวพิมพ์เล็กเรียงกันธรรมดา เช่นเดียวกับที่ความหมายตามรูปคำ จะมีส่วนผสมของคำสองคำรวมกันระหว่าง bon = ดี บวกกับ heure ลดรูป e ตัวหลัง = ชั่วโมง / bon + heur ก็น่าที่จะเท่ากับ ‘โมงยามดีๆ’) ทว่าสำหรับ Varda อาจมิใช่ความหมายในเชิงบวกเสมอไปก็ได้ เพราะโดยทั่วไปสังคมมักให้ราคา, glorified ความสุข, ความสมหวัง ซึ่งจริงๆ อยู่กับเราไม่นาน แต่ป้า Varda อยากให้เราเชื่อว่าเรา prolong มันได้ นอกเสียจากว่า ถ้าอยากให้ความสุขอยู่กับเรานานๆ ก็น่าจะมีราคาที่จะต้องจ่าย แล้วราคาที่ว่านั้น บางทีก็มีชื่อเรียกว่า ‘ความทุกข์ ความโศกเศร้า’

นั่นคือเมื่อไม่รู้จักความทุกข์ ความโศกเศร้า ไฉนเลยความสุขจะมาเยือน Varda เล่าเรื่องราวของ le bonheur เหมือนทั้งชีวิต ตัวละครในเรื่องแทบจะไม่มีเรื่องทุกข์ร้อนใจ ด้วยรูปแบบที่เกือบจะเป็น home-movie เมื่อการใช้ชีวิตประจำวันมีการเลือกสรรแล้วว่าควรจะบันทึกเหตุการณ์อะไรในรูปของภาพเคลื่อนไหว ด้วยสีสันที่สดแจ่ม ตัวเอกแต่งงานมีครอบครัว (ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเป้าหมายสู่ความสำเร็จในการใช้ชีวิต), มีการไปปิคนิค, คนพี่เพิ่งได้สมาชิกใหม่เป็นทารกเพศหญิง 

Varda มิได้ดัดแปลงเนื้อเรื่องมาจากวัตถุดิบหรือแหล่งข้อมูลอื่นใด นอกจากเรื่องราวที่ใครๆ ก็เป็นกันได้ โดยยังไม่มีใครทันได้สำเหนียกว่า มีหลุมพรางดักรออยู่ข้างหน้า เมื่อใดที่ความเรียบง่ายที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ถ้าบ่มเพาะพอกพูนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ลองเหวี่ยงตัวสวิงไปฝั่งตรงข้ามเมื่อไหร่ รูปการณ์มีแต่จะพลิกผันได้ทุกเมื่อ

ในทางกลับกัน สมมติว่า Varda เกิดเปลี่ยนใจไม่อยากใช้คำว่า le bonheur มาเป็นชื่อเรื่อง ยังมีคำอื่นให้เลือกอย่าง Art, Musique, Picnique หรือแม้แต่ Cinéma หรือ Television ซึ่งถ้าเอาทุกสิ่งนี้มารวมเข้าไว้ด้วยกัน เชื่อแน่ว่าช่องทางสู่ความสุข (bonheur) คงไม่หนีหายไปไหน เพราะคุณป้าใส่ทุกอย่างที่ว่ามานี้เข้าไว้ในเรื่อง โดยเฉพาะอย่างแรกคือ Art ซึ่งรวมพวกภาพเขียนที่ระดมกันเข้ามาสร้างแรงบันดาลใจให้คุณป้า Varda นำมาใช้เป็นเรฟ ก็เลยทำให้การใช้ ‘สี’ ในเรื่องออกมาดูสด เหมือนดูภาพเพนท์ (เรฟที่สร้าง inspirarion ให้แบบแรงๆ จะมีด้วยกันอย่างน้อยสองคน โดยเฉพาะ Pierre-Auguste Renoir (1841-1919) กับ Vincent van Gogh (1853-1870) ถึงหายสงสัยว่าทำไมเดี๋ยวๆ ก็มีช่อดอกเบญจมาศปักแจกันโผล่ให้เห็นบ่อยๆ ภาพการปิคนิคภายในครอบครัวบนยอดหญ้าริมบึง หรือแม้แต่บรรยากาศการทานอาหารร่วมกัน (ที่บังเอิญตรงกับ)ช่วงเวลาของการรับขวัญทารกเพิ่งคลอดใหม่ที่ดูละม้ายภาพเขียน Le Dejeuner des Canotiers/Luncheon on Boating Party (1881) ซึ่งเป็นการบันทึกอิริยาบทของราษฎรในรูปแบบของภาพนิ่ง แต่ถ้าหากสื่อภาพยนตร์มีการคิดค้นเร็วกว่าที่เป็นอยู่ไม่กี่ปี ศิลปินเหล่านี้คงบันทึกด้วยกล้องถ่ายไปนานแล้วเช่นกัน ถึงได้เกิดกรณีเชื้อไม่ทิ้งแถว + ลูกไม้หล่นใต้ต้น เกิดเป็น Renoir คนลูก (Jean) ซึ่งคุณป้าได้ดึงเอาฟุตฯ จากหนังเรื่องหนึ่งที่ Jean Renoir เคยทำเอาไว้, Le Dejeuner sur L’ Herbe (1959) โดยเอามาใส่ไว้ในโทรทัศน์ สมมติว่าเป็นรายการภาพยนตร์เรื่องยาว(เมื่อสมควรแก่เวลาก็)มาเข้าทีวี

เหลือ music ที่คุณป้า (ซึ่งตอนทำเรื่องนี้ยังสาวพริ้ง) เน้นดนตรีคลาสสิคของ Mozart โดยใส่เข้าไว้ด้วยกันถึง 3 แทร็ค ประกอบไปด้วยท่อน Fugue en Ut Mineur K. 546, Quintet for Clarinet K. 581 และ Adagio en si Bemol K. 411 โดยมีปรากฏในเรื่องอยู่สามช่วงตามลำดับ ประกอบไปด้วยท่อนไตเติล (ใช้ชื่อแทร็ค le bonheur), ซีเควนซ์ปิคนิคกลางธรรมชาติ (Le Sentiment de la Nature) และท่อนสุดท้าย (บอกชื่อแทร็คปุ๊บ สปอยล์มาทันทีครับ)

คุณป้าเชื่อว่าเมื่อเอาทุกอย่างมารวมกัน สิ่งที่จะตามมาคือ bonheur (ความงามของภาพเขียน ความไพเราะของดนตรี และสุนทรียศาสตร์ในภาพยนตร์ ตลอดจนความรื่นรมย์จากธรรมชาติในยามปิคนิค) แต่ที่เหนืออื่นใด ยังคงมีตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของความสุขแห่งมนุษย์จนไม่มีใครกล้าปฏิเสธ โดยเฉพาะในแง่ของการสร้างแรงจูงใจและแรงขับตามธรรมชาติ – ‘เซ็กซ์’

Agnes Varda ทำ le bonheur ภายใต้เจตนาและฝีมือแรงงานที่เทียบเท่าผู้สร้างสรรค์งานศิลปะในแต่ละแขนงตามที่ว่ามา ผลลัพธ์ถึงได้ออกมาดูกลืนไปกับองค์ประกอบที่ถูกนำมาใช้เป็นเรฟสร้างแรงบันดาลใจ ถึงได้พบว่าในแต่ละช่วงเวลาหรือยุคสมัย ชีวิตและอิริยาบทของคนเป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดผลงาน ศิลปินเองก็มีหน้าที่บันทึกบรรยากาศไปตามที่สายตาเห็น (Renoir ถึงได้วาดภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในช่วงเวลาของตนเอง) ขณะที่ป้า Varda จับทุกสิ่งที่ว่ามา แล้วเอามาขยายขอบเขตให้เป็นเรื่องราว 

ขณะเดียวกัน หนังก็ไม่ปฏิเสธการอยู่รอดในโลกตามความเป็นจริง Varda สร้างตัวละครหลักๆ ให้อยู่ในภาคบริการด้วยกันทั้งหมด ตัวผัว Francois (Jean-Claude Drout) เป็นช่างเชื่อม ส่วนเมีย Therese (Claire Drouot เข้าใจว่าเป็นผัวเมียกันจริงๆ) ก็มีอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อ (จะเห็นได้ว่าเป็นชีวิตเล็กๆ ที่มักถูกใช้เป็นต้นแบบในภาพเขียนของทางฝรั่งเศสเอง) ที่ถึงแม้คนให้บริการอาจเป็นเรื่องของอาชีพ แต่เท่าที่ดูโดยตลอด คนที่รับบริการ (โดยเฉพาะจาก Therese) มักมีใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มแห่งความอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ด้วยกันทั้งรายที่เข้ามาสั่งตัดและรับชุด…ที่สำคัญ เขาให้ลูกค้ารายที่รับส่งมอบชิ้นงาน เป็นเจ้าสาวที่เตรียมจะเข้าพิธี นั่นคือถึง Francois กับ Therese อาจเป็นฝ่ายลงแรงกำลังผลิต แต่พอถึงผู้มือรับ ก็กลับเป็นอาชีพที่มอบความสุขเป็นการตอบแทน 

ในบางสังคมอาจนับทั้งสองอาชีพอยู่ในข่ายชนชั้น(ขาย)แรงงาน แต่ถ้าเป็นแรงงานที่สร้างความสุขให้กับผู้คน ก็ย่อมเป็นชีวิตที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี (โดยเฉพาะในความเป็นมนุษย์) แต่ยังมีอีกอาชีพหนึ่งที่มิใช่เฉพาะให้บริการแก่สังคม ทว่ายังมอบความรัก ความเป็นส่วนตัวบนเรือนร่าง เมื่อผู้ให้บริการอย่าง Francois สลับข้างมาเป็นฝ่ายรับบ้าง และในทันทีที่(เขาทำให้คนดูได้)รู้จักกับ Emilie (Marie-France Boyer) พนักงานที่ทำการไปรษณีย์สาวสวย

นอกจาก le bonheur จะเปี่ยมไปด้วยสุนทรียศาสตร์อันเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ทั้งบูรณาการและสัมประสิทธิ์ทั้งที่ปรากฏต่อสายตาและโสตสัมผัส ที่ล้วนมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน ขณะที่สุนทรียศิลปะอีกแขนงก็ได้กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นอันเกิดจากตัวมนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเองอย่างคลื่นสัมผัสที่มองไม่เห็น นอกจากแรงกระทำที่เกิดปฏิกิริยาแบบแสวงเป้าหมายแน่ชัดคือรับรู้ร่วมกันระหว่างคนเพียงสองคนมีคำเรียกว่า ‘ความรัก’ เราอาจไม่เห็นจุดเริ่มต้นระหว่างคู่ของพี่ชายกับเมีย (ถึงได้เกิดเป็นทารกน้อย Isabelle), เรื่องรักระหว่าง Francois กับ Therese ภรรยาสาวผู้แสนดี คนดูทราบเฉพาะคำบอกเล่าปากเปล่า แต่ไม่มีภาพให้ดู (รู้แค่ว่าเจอกัน ตอน Francois เข้าประจำการในค่ายทหาร พอแรกพบไม่นานก็ขอแต่ง จนมีลูกด้วยกันสองคนคือ Pierrot กับ Gisou โดยไม่เห็นภาพ) ขณะที่ในส่วนของภาพเรื่องราวกลับมีให้เห็นผ่านเรื่องราวความรักครั้งใหม่ระหว่าง Francois กับ Emilie

บริการ(สร้างความสุข)ของ Emilie เหมือนให้เรานั่งไทม์แมชชีนได้ย้อนกลับไปเห็นบริการโทรศัพท์ว่า ยุคหนึ่งคนทั่วไปหมุนเบอร์เองไม่ได้ ต้องใช้บริการผ่านโอเปอเรเตอร์ (ประกอบกับเลขหมายที่มีกันแค่สี่หลักในแต่ละเขต) ซึ่งสร้างทั้งขวัญและเรียกกำลังใจจากกองเชียร์ได้อย่างท่วมท้น คืออยากเห็นคนสองคนคู่นี้มีความรักกันจริงๆ ซะที เพื่อที่ว่าคนดูเองก็จะได้พลอยรับความสุข(ทางสายตา)ตามไปด้วย คราวเดทครั้งแรก (ดื่มกาแฟนอกที่ทำการไปรษณีย์) คนดูอาจมีโห่ เมื่อเจ้า Francois มีขอตัวกลับบ้าน (ทั้งๆ ที่สาวเจ้า Emilie บอกที่หย่ง-ที่อยู่ให้รู้ จนอยากสะกดรอยไปตามพิกัดด้วยคน) แต่พอถึงวันนัดย้ายของ + แต่งบ้าน คนดูก็เปลี่ยนเป็นเฮ เมื่อตัวละครสุขสม คนดูก็ถึงอารมณ์หมายไปพร้อมกัน

การเข้ามาของ Emilie นอกจากทำให้คนดูเกิดสัมผัสร่วมว่าสุขนั้นเกิดที่ใด หากแต่ยังทำให้เรื่องเดินไปข้างหน้า ด้วยพล็อตเส้นเรื่องประมาณนี้ คาดว่าคนดูบางส่วนน่าจะนึกไม่ถึงว่าคนทำก็เป็นผู้หญิง โดยเฉพาะในแง่ของความเป็น male fatasy ในเพศชาย ซึ่ง Varda เองก็ตอกย้ำความ fantasy (จนเกือบอุทาน fantastic!) ถึงการที่ผู้ชายอย่างเจ้า Francois ก็ยังอาจที่จะหาความสุขได้จากผู้หญิงทั้งสองคนและบ้านที่มีด้วยกันถึงสองแห่งเท่าๆ กัน มิหนำซ้ำบ้านหลังที่สองเองก็สามารถงอกเงยสู่ความเป็นครอบครัวได้สบายๆ

อย่าเพิ่งเข้าใจว่าคุณป้า Varda กำลังพาเรื่องราวก้าวข้ามเส้นศีลธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือความตั้งใจจริงอย่างเห็นได้ชัด ตลอดทั้งเรื่องแทบมองไม่เห็น dilemma ส่วนนี้เหมือนคนทำไม่ต้องการเข้าไปตัดสินความถูกผิดอะไร รู้แต่ถ้าทำแล้วมีความสุขก็ทำไป เราถึงมองไม่เห็นการลงโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบบเหมารวม นอกจากจะมีเสียงเฮ้ยฮ้ายแว่วๆ ในใจบ้าง ซึ่ง Varda เองก็ไม่ได้ให้คำเฉลยเอาไว้ด้วย

อ่ออออ ยังมีอีกเรื่องครับที่ไม่เกี่ยวอะไรกับหลักโกงหลักการอะไรแล้ว นอกจากขณะดู(ในทุกๆ รอบ)ก็อดสะท้านใจไม่ได้ ตรงที่ว่าเรื่องนี้ออกฉายปี 1965 (ข้อมูลไอเอ็มฯ บอกเพิ่มอีกว่าวันที่ 26 Jan. 1965 แปลว่าช่วงเวลาถ่ายน่าจะอยู่ภายในคาบปี 1964) ทำให้ย้อนกลับมามองตัวเองว่า ที่เห็นเด็กน้อยสามสี่คนในเรื่อง พวกนี้คงมีอายุสามปี ห้าปีระหว่างถ่าย (รวมทารก Isabelle ซึ่งเพิ่งคลอด) แล้วถ้าจะมีทารกที่อยู่ระหว่างการปฏิสนธิในครรภ์ของ Emilie บ้าง คนเหล่านี้ก็น่าที่จะอยู่ในวัยไล่เลี่ยกับผู้เขียนไปโดยอัตโนมัติ แม้หนัง(และคุณป้า)จะยังไปไม่ถึงตรงนี้ ทำให้พบสัจจะอย่างหนึ่งว่า ลงถ้าเป็นชีวิตที่เกิดมาด้วยความรัก อันเป็นมูลเหตุที่มาของความสุข + bonheurแล้ว ทุกชีวิตที่เกิดมาบนโลก ล้วนเป็นผลพวงของความรักมิได้น้อยไปกว่ากัน

(ดู Le Bonheur ได้ที่ MUBI)


Cléo de 5 à 7 (1962) : แม้รอบฉายที่หอภาพยนตร์ได้ถูกระงับภายใต้สถานการณ์จำยอม (ถึงสองครั้ง รวมกำหนดเดิมเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา) แต่ถ้าเมื่อไหร่กลับมาเปิดฉายอีก Cléo de 5 à 7 ก็ยังคงเป็นหนังของ Varda ที่ยังคงเต็มไปด้วยความน่าค้นหา ไม่ว่าจะให้ดูกี่รอบๆ ก็เติมเต็มอารมณ์ได้ทุกครั้ง จนรู้สึกว่าเวลาที่ให้กับหนัง แทบไม่รู้สึกถึงความสิ้นเปลือง เหมือนเข้าไปอยู่ในโลกที่ไร้ซึ่งกาลเวลาโดยแท้

Varda สร้างเส้นบางๆ ระหว่างการเซ็ต-อัพในแบบภาพยนตร์ทั่วไปกับการเป็น direct cinema จนแทบจะไม่เห็นความแตกต่าง โดยเฉพาะในมิติทางด้าน ‘เวลา’ ที่ได้ถูกนำมาใช้สร้างภาพมายาจนถึงขนาดที่น่าว่าน่าจะมีคนดูไม่น้อยเชื่อว่า ใช้เวลาในการถ่ายเท่ากับเวลาจริงตามเนื้อเรื่อง ซึ่งเดินเรื่องระหว่างห้าโมงเย็น แล้วจบลงก่อนหนึ่งทุ่ม

ขณะที่ ‘เวลา’ ได้กลายมาเป็นมายาที่เหนือมายา เพราะเวลาที่เดินไปพร้อมกับเนื้อเรื่อง เป็นเวลาที่เกิดขึ้นด้วยองค์ประกอบภาพยนตร์ล้วนๆ คงเป็นไปไม่ได้แน่กับการที่นางเอก Cléo จะใช้เวลาทำกิจกรรมสารพัด โดยเฉพาะบนท้องถนน (ซึ่งตลอดทั้งเรื่อง นางเอกนั่งรถไม่ตำ่กว่าสี่ครั้ง ทำกิจกรรม พบปะผู้คน เลือกซื้อหมวก โดยเฉพาะเวลาที่หมดไปกับการดื่มกิน สิ้นสุดจบลงภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมงครึ่ง) โดยกิจกรรมแต่ละอย่างถูกรวบให้สั้นลงด้วยกระบวนการตัดต่อ Cléo อยู่บนท้องถนน (ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่ถึงเจ็ดคัท ถึงที่หมาย ขณะที่ในความเป็นจริงจะต้องรอจังหวะ ติดไฟแดง สารพัด) จนเราปักใจเชื่อว่าเรื่องของ Cléo เวลาจะต้องถูกใช้ในจำนวนที่เท่ากับชื่อของหนัง (ห้าโมงถึงทุ่ม) ดูจะยากที่จะเป็นไปได้ในความเป็นจริง

นั่นคือความเป็น real time กลายเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เชื่อว่าเวลาที่หนังกำลัง consumerate คือสิ่งเดียวกับเวลาที่เดินไปข้างหน้าในความเป็นจริง คือความเป็นเมจิคขนานแท้ ขณะที่แกนกลางซึ่งคุมหนังทั้งเรื่องเอาไว้ก็ยังตั้งอยู่บนเรื่องของ ‘ความเชื่อ’ จนคาดไม่ถึงว่าคนในซีกโลกตะวันตกจะยังมีวิธีคิดแบบนี้ ไม่แพ้โซนเอเซีย

Cléo de 5 à 7 / Cléo from 5 to 7 (1962)

Vard วางหลุมพรางว่าที่ Cléo เข้าใจว่าเธอกำลังจะตายด้วยโรคมะเร็ง (และที่ยิ่งกว่านั้น ตัวเรื่องย่อทุกครั้งที่หนังมีโปรแกรม ตั้งแต่ฉายสมาคมฝรั่งเศสที่ทำการเดิม ถ.สาทร) คนดูมักถูกป้อนด้วยข้อมูลผ่านเรื่องย่อว่า นางเอก(รู้ตัวว่า)กำลังจะตายด้วยโรคมะเร็ง (ซึ่งแท้ที่จริงมิใช่การตรวจของแพทย์ แต่เป็นคำทำนายของแม่หมอดูไพ่ทาโรต์) ผลกระทบทางจิตวิทยา แยกคนดูออกได้เป็นสองกลุ่มระหว่าง

ก. เชื่อว่าเรื่องราวหลังเคลโอดูหมอเสร็จว่า เป็นช่วงเวลาของการปรับโหมดและสภาพจิตใจ และเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตที่ยังเหลืออยู่อีกไม่มาก (อย่างน้อยภายในชั่วโมงครึ่ง) ด้วยคาดหวังว่าคงได้เห็นบทสรุปที่สุดรันทดด้วยรสดรามา เมื่อนางเอกผู้แบบบางจะต้องเดินหน้าสู่โศกนาฏกรรมและความตาย

ข. เรื่องคำทำนายไพ่ยิปซีเป็นแค่ฉากฉากหนึ่งที่ผ่านมาแล้วก็จบกัน ไม่มีวกกลับมาซำ้ที่เดิม ก่อนจะมูฟออนต่อไปในอีกสิบสองบทที่เหลือ

ใครที่มองหนังด้วยกรอบการมองตามข้อก.ไก่อาจพบความรู้สึกเหมือนเห็นภาพไม่ตรงปก ในเมื่อ Varda ไม่ยอมให้ตัวละครเคลโอของเธอดำดิ่งลงสู่อะไรก็ไม่รู้ ความเป็นแฟนตาซี เชื่อโชคลาง ดวงชะตา (ซึ่งโดยมากมักมาจากคนอื่นรอบข้าง) สวนทางกับสไตล์หนังที่ Varda ใช้ในการนำเสนอ โดยเน้นให้รู้สึกเหมือนมิได้มาจากสคริปต์ ทว่าจงใจให้(คนดู)เชื่อว่ามาจากการ improvise กันสดๆ ในทุกแชปเตอร์ ซึ่งก็น่าสงสัยต่อว่าอิมโพรไวส์ภาษาอะไร ภาพถึงได้ออกมาเหมือนถูกดีไซน์ให้เกิดมิติที่น่าทึ่ง เกินกว่าที่จะเป็นเรื่องของหญิงสาวที่กำลังทำใจพร้อมรับกับความตายแบบโหลๆ

ความเหนือชั้นของ Cléo de 5 à 7 จึงอยู่ที่การเป็นหนังที่เขียนบรรยายด้วยตัวหนังสือไม่ได้เท่ากับให้ตาเห็น (ถึงกระนั้นก็ตาม พังการดูด้วยภาพนิ่งเอง ก็ยังช่วยอะไรไม่ได้เท่าไหร่ นอกจากให้ดูเป็นภาพเคลื่อนไหวกันจริงๆ ในหนัง)เนื่องจากคุณป้าต้องการให้เห็นความต่อเนื่องของการใช้ภาพมายามาสร้างเมจิคทางสายตาล้วนๆ

นอกจากจะมีเรื่องของความสมจริง (หรือความพยายามเข้าไปใกล้ความเป็นจริงให้มากที่สุด) จนเกือบจะนับรวมเข้ากลุ่ม direct cinema แต่แล้วก็เปล่า พยายามล่อลวงให้หลงเชื่อว่าเรื่องราวเดินหน้าตามลำดับเวลา ซึ่งสุดท้ายก็แอบโกง (ซึ่งที่ว่ามาทั้งหมดทั้งปวงคือคำชมล้วนๆ ครับ) เหลือด่านต่อไป ก็คงเป็นเรื่องของการสร้างภาพลวงตา

Varda ให้หนังของเธอสรุปจบลงด้วยบทที่สิบสาม (chapter XIII) ซึ่งเป็นจำนวนตัวเลขที่ว่ากันว่าจะนำมาซึ่งโชคร้ายและความซวย ขณะที่เส้นทางตลอดเวลาเกือบชั่วโมงครึ่ง (ซึ่งยากที่จะเชื่อว่าใช้เวลาไปเท่านั้นจริงๆ) แทบจะในทุกๆ แห่งที่เธอแวะ มักวนเวียนเกี่ยวข้องไปกับเรื่องของโชคลาง (จนทำให้ใครที่ไม่เคยรู้มาก่อน เผลอๆ มีเชื่อตาม เหมือนได้ข้อมูลใหม่ไปพร้อมๆ กัน) อย่างวันอังคารห้ามใส่สีดำ (สุดท้ายสั่งร้านให้เดลิเวอรี่ไปตามที่อยู่แทน) –>เห็นเบอร์ทะเบียนรถแท็กซีไม่เป็นมงคล –> เลือกคันใหม่ + รถทะเบียนเพิ่งออก –> (อ้าว) เจอรถคันสีดำ –>แต่คนขับเป็นผู้หญิง

ผมไม่ลังเลเลยสักนิดครับ ถ้าจะต้องให้กลับไปดูหนัง Cléo de 5 à 7 อีกซักรอบ (หนำซ้ำกลับจะยินดีด้วยความเต็มใจ) เพราะรู้ว่าสายตาย่อมที่จะได้พบสิ่งดีๆ ได้อยู่เรื่อยๆ ตลอดทางจนกว่าหนังจะจบ จนกระทั่งในที่ท้ายสุดถึงได้พบว่า แท้ที่จริงคุณป้า Varda ทำ Cléo de 5 à 7 ด้วยความมุ่งหวังของการแสดงมายากล ออกมาในรูปของภาพยนตร์เราดีๆ นี่เอง

Varda ให้ความสำคัญกับเรื่องของ foreground/background โดยการจับองค์ประกอบทั้งสองส่วนมาสัมประสิทธิ์เข้าไว้ด้วยกันอย่างแยบยล และที่เพิ่มเข้ามาอีกอย่างก็คือการนำ ‘กระจก’ เข้ามามีส่วนสำคัญ มีทั้งที่เป็น ‘กระจกใส’ แล้วก็ประเภท ‘กระจกเงา’ Varda นำคุณสมบัติของกระจกทั้งสองแบบมาใช้ประโยชน์แบบละเมิดบิดเบือน โดยเฉพาะการนำความโปร่งในตัวของกระจกใสมาทำลาย ฉะนั้นพอมาอยู่ในหนังตัวกระจกใส แทนที่จะเป็นตัวกลางโปร่งแสง ก็ถูกคุณป้านำมาแปลงซะจนเข้าไปใกล้ความเป็น(ตัวกลาง)ทึบ หรือไม่ก็นำความใสของมันมาสร้างอัตลักษณ์ใหม่ จนเกือบจะเข้าไปใกล้กับผ้าใบ canvas สำหรับภาพเขียนสีน้ำมัน อย่างซีนที่เคลโอเลือกหมวก ความเคลื่อนไหวนอกร้านก็พร้อมที่จะเบี่ยงเบนความสนใจเป็นระยะๆ (อย่างมีทหารควบม้าเดินผ่าน) ก่อนที่จะะนำอัตลักษณ์สมบัติของความเป็นกระจกเงามาใช้จนไม่เหลือความเป็นกระจกเงา (ซึ่งบอกไม่ได้เหมือนกันครับ เพราะบนพื้นผิวถูกระบายทับด้วยตัวหนังสือภาษาจีน ปรากฏเงาสะท้อนของ Cléo เป็น foreground) และช่วงท้ายๆ ที่เป็นภาพฝรั่งมุงเหมือนมีใครเอาก้อนหินมาขว้างกระจก แตกเป็นรอยใยแมงมุม เสร็จแล้วก็ให้ Cléo เดินผ่าน

อย่างแรกสุด คงหนีไม่พ้นคำถามเส้นผมบังภูเขาทางภาพยนตร์อย่าง เวลาถ่ายหนัง ทำไมถึงไม่เห็นกระจกในภาพ… ก็ยังอยู่ตามเดิม Varda ระวังมากไม่ให้เงาสะท้อนตามตู้โชว์ร้านค้า หลุดติดภาพกล้อง ทีมงานกองถ่าย (ซึ่งเป็นการพาตัวเองก้าวข้ามความเป็นสารคดี แบบเนียนๆ สมมติว่ากฎข้อที่หนึ่ง คนทำสารคดีมักไม่อำพรางการทำงานของกล้อง โดยจะทำตัวกลมกลืนเข้ากับบรรยากาศและซับเจ็กต์ไปพร้อมๆ กัน ขณะที่กองฯ Cléo de 5 à 7 กลับพรางสายตา ซึ่งจะต่างกับ Daguerréotypes จะมีหลุดเงาของกล้องมาเป็นระยะ ทว่าจงใจให้เห็นพอให้บริหารสายตา)

Varda นำคุณูปการของกระจกเงาเข้ามาแทนเทคนิค split ภาพ แทนที่จะทำในห้องตัดต่อหรือพึ่งซีจี (ซึ่งก็ยังไม่มี) ด้วยวิธีจับภาพจากเงาสะท้อนบนเสาติดกระจก โดยให้ภาพสะท้อนทำหน้าที่แบ่งเฟรมเองเสร็จในตัว แรกๆ อาจดูแล้วชวนให้เขวว่าเฟรม(แบ่ง)ข้างๆ Cleo กำลังสนทนาเรื่องที่ตัวนางเอกเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องใช่มั้ย (หรือโต๊ะข้างๆ พูดอะไรกระทบเรื่องของเคลโอหรือเปล่า) แต่แล้วก็ผิดหมด ตัวละครของสองฟากฝั่งของภาพแท้จริงต่างคนต่างอยู่ สำคัญก็แต่เพียงว่านางเอกจะ(ข้ามเฟรม)เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวพัน สร้างcontact กับอีกฝ่ายหรือเปล่า (ถ้าเผื่อเคลโอเข้าไปยุ่งย่ามด้วย เรื่องจะเป๋ออกนอกทิศทาง ธีม จุดมุ่งหมาย จนกระทั่งออกนอกเส้นเรื่อง จนกลายเป็นหนังอีกเรื่องมั้ย) คือถ้าไม่นับคู่ผู้ชายผู้หญิงที่ถูกจับให้มาร่วมเฟรมกับเคลโอ ตลอดทั้งเรื่องเรามักจะเห็นตัวละครใหม่ๆ แวะเวียนเข้ามาให้(คนดู)ทำความรู้จักตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

ครั้นจะถามใหม่ว่า ป้า Varda กำลังนำอัตตลักษณ์เฉพาะของความเป็นสารคดีเข้าไปจับงานในกลุ่มของดรามาใช่มั้ย… หรือถ้าจะถามอีกแบบ ป้า Varda ทำหนัง Cléo de 5 à 7 ด้วยลีลาแบบสารคดี ถูกหรือผิด: ตอบยากนะครับ ถ้าเช่นนั้น สไตล์ด้านภาพคงไม่ปล่อยลูกเล่น (เพื่อหวังผลในการมอง) ด้วยความโลดโผน ผิดธรรมเนียมของหนังที่อยู่ในยุคเดียวกันหรือเปล่า

ซีนในร้านอาหารที่ Cleo แวะเข้าไปสงบจิตใจหลังฟังคำทำนาย (ที่แม้จะค่อนไปทางกึ่งๆ สาปแช่ง) จากแม่หมอดูไพ่ นั่นเป็นการลูกเล่นแค่ชั้นเดียวของการนำเสนอ ก่อนจะเพิ่มความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นในร้านขายหมวกซึ่งจะมีกระจก(เงา)ให้เห็นมากขึ้น (จนไม่แน่ใจว่าร้านที่เข้านั้นขายหมวกผู้หญิงหรือขายกระจกกันแน่) ต่อจากนั้น Varda ก็พาคนดูไปพบกับด่านที่สาม คราวนี้ไม่ต้องมีกระจกอะไรมาสะท้อนหรือคั่นกลางกันแล้ว นอกจากใช้ ‘ตัวกลางทึบแสง’ ที่กระจายตัวอยู่อย่างเรียงรายไปทั่วพื้นที่ภายในสตูดิโอเพื่อพบ Dorothée (Dorothée Blanck) นางแบบเพื่อนซี้ที่ใช้เรือนกายตัวเองเป็นแบบกายวิภาคให้นศ.ประติมากรรมได้สร้างผลงาน

ตลอดเส้นทาง (ซึ่งเหมาะแก่การดูเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างยิ่ง) คนดูจะได้เห็นการ duplicate โครงสร้างร่างกายของ Dorothée เอาไว้หลากหลายรูปแบบ มีทั้งที่แกะสลักยังไม่เสร็จ เป็นแค่กองปูนมาก่อเป็นโครงๆ ทั้งแบบแนวนอนและแนวตั้ง ซึ่งพอเห็นเค้าโครงเสมือนของร่างกายมนุษย์แน่ครับ แต่มิใช่อย่างที่ยังมีชีวิต จนกระทั่งภาพค่อยๆ แทร็คดอลลีไปพบเจ้าของทรวดทรงต้นแบบ สลับกับศีรษะของนศ. + ศิลปินเจ้าของงานซึ่งสลับเป็นฟันปลา ผลัดกันเป็น foreground/ background พอเคลื่อนขยับเคลื่อนทีละจุด visuals ที่เห็นจะต่างกันออกไป แต่รับรองได้ว่าจะไม่มีโซนไหนเลยที่จะเปิดเผยสรีระเรือนกายของ Dorothée แบบเต็มๆ เพราะกว่ากล้องจะดอลลีจนครบ Dorothée ก็หมดหน้าที่เธอแล้ว

ยังมีส่วนที่เป็นมายาซ้อนมายา อยู่ในซีนที่เพื่อนนางแบบ Dorothée พาไปเยี่ยมชมห้องฉายหนังที่ Raoul เพื่อนชายและเจ้าของรถเปิดประทุนทำงานเป็นพนักงานอยู่ ในโรงกำลังฉายหนังเงียบ(ซึ่งทำขึ้นเอง) ขณะที่ทั้งเรื่องมีแต่นักแสดงที่มิใช่มืออาชีพ แต่ในหนังซ้อนหนังรีลนี้กลับพบแต่ all star cast ล้วนๆ คือถ้าไม่ใช่ดาราก็เป็นผกก.ดัง อย่างตัวนางเอก (Anna) ก็ Anna Karina, คนถือสายยางรดน้ำก็ Eddie Constantine, Jean-Clade Brially แสดงเป็นบุรุษพยาบาล, Samy Frey เล่นเป็นพนักงานติดท้ายรถขนย้ายศพ, Danielle Delhomme เป็นคนขายดอกไม้ ขณะที่ตัวเอก บทนำของเรื่องที่ใส่แว่นดำ (เจ้าของมุข ‘ยามที่ผมใส่แว่นกันแดด มองอะไรก็เห็นเป็นสีดำไปหมด’) ก็คือ Jean-Luc Godard ซึ่งเจ้าตัวใส่ติดตัวมาตลอดทั้งชีวิต และเป็นครั้งเดียวที่คุณป้าหลอกล่อให้ถอดได้สำเร็จ แล้วหลังจากนั้นเราก็ไม่เคยเห็น Godard ถอดมันอีกเลย จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายไม่ยอมคุยกัน แม้ว่าคุณป้าได้ด่วนตัดช่องน้อยทิ้งเราไป

(ดู Cléo de 5 à 7 ได้ที่ MUBI)


(อ่านตอนที่สอง
Remembering Varda : 2. To Doc., or Not to Doc.)

The Way of the Househusband : เมื่ออาชีพแบบฉากหลังกลายเป็นมิชชันของชายแท้

ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา อนิเมะญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งที่ขึ้นชาร์ตอันดับต้นๆ ของ Netflix ก็คือ พ่อบ้านสุดเก๋า หรือ The Way of the Househusband ซึ่งเป็นการ์ตูนแนวคอมิดี้ขนาดตอนละ 10 กว่านาที โดยในหนึ่งตอนจะแบ่งเป็นการ์ตูนแก๊กตอนสั้นๆ จบในตัว น่าเชื่อว่ารูปแบบของการ์ตูนที่สั้น ดูง่าย เรียกเสียงหัวเราะได้เช่นนี้ถูกใจคนสมัยใหม่ที่ชีวิตเร่งรีบ ไม่ค่อยมีเวลาเสพอะไรยาวๆ มากนัก

The Way of the Househusband เล่าเรื่องของเทตสึ อดีตยากูซ่า ผู้ได้รับขนานนามว่า “เท็ตสึคนอมตะ” ด้วยแสนยานุภาพระดับถล่มรังแก๊งคู่ต่อสู้หลายแห่งด้วยตัวคนเดียว จนคู่ต่อสู้ถึงกับเข่าอ่อนแค่ได้เห็นเขา แต่แล้ว เขาก็กลับลำเสียดื้อๆ ด้วยการหลีกเร้นจากชีวิตยากูซ่า มาแต่งงานกับมิกุ พนักงานออฟฟิศสาวสุดแอ็คทีฟ ที่เป็นคนทำงานหารายได้เข้าบ้าน เทตสึต้องกลายมาเป็นพ่อบ้าน คอยทำความสะอาด ทำอาหาร จ่ายตลาดให้กับภรรยา เป็น househusband ที่ไม่ค่อยเห็นกันนักในสังคมที่ยังคงโครงสร้างชายเป็นใหญ่แบบญี่ปุ่น

เนื้อเรื่องของอนิเมะมีความน่าสนใจ ตรงที่จับเอา “ชายแท้” ที่ “แมนๆ” แบบเทตสึ ที่มีความเป็นนักเลงหัวไม้และควรจะแสดงทุกอย่างที่มีความเป็นชายตามขนบ มาใส่ผ้ากันเปื้อนรูปสัตว์ ขับจักรยานไปแย่งของลดราคาในห้าง อีกทั้งยังรู้เรื่องงานปัดกวาดเช็ดถูมากกว่าผู้หญิงหลายๆ คน ความตลกขบขันที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจาก “ความไม่เข้ากัน” ของบุคลิกของเทตสึ กับงานบ้านหวานแหววที่สังคมยังคงปัดให้เป็นความรับผิดชอบของผู้หญิง เราขำ เพราะเห็นว่า ความเป็นชาย และงานบ้านของผู้หญิงเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวเนื่องกัน แต่ถูกจับเข้ามาไว้ด้วยกันอย่างประดักประเดิด ผู้ชายมีรอยสักทั้งตัวที่ใส่ผ้ากันเปื้อนรูปหมี ดูแล้วอย่างไรก็ไม่ใช่ภาพจำธรรมดา

หากคิดจากมุมนี้ ในเสียงหัวเราะของเรา ย่อมมี “การเมือง” แทรกอยู่ คือการเมืองว่าด้วยบทบาทของความเป็นชายและความเป็นหญิง  เราจะไม่สามารถขำได้เลยหากในโลกนี้ งานบ้านถูกจัดเป็นของสองเพศอย่างเท่าเทียมกัน เรายังคงมี “ภาพจำ” ว่างานเช่นการใช้เครื่องดูดฝุ่น การทำอาหารหน้าตาน่ากิน และการแย่งของลดราคาในห้างอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น เป็นหน้าที่ของ “แม่บ้าน” หาใช่ “พ่อบ้าน” อย่างที่อนิเมะเรื่องนี้นำเสนอ ความ hypermasculine ของเทตสึ เช่น การที่คู่ปรับเก่าเห็นเขายื่นอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านให้แล้วเข่าอ่อน เพราะคิดว่าเขาโหดมากถึงขั้นจะถอดเล็บตนเอง ถูกใส่เข้ามา เพื่อขับเน้นช่องว่างระหว่างภาพจำของสองบทบาทนี้

แต่แล้ว เราพอจะมองได้หรือไม่ ว่าการนำเสนอภาพของ “พ่อบ้าน” สุดแมน นี้ เป็นการสร้างภาพจำใหม่ๆ ให้กับความเป็นพ่อบ้าน และสนับสนุนให้ผู้ชายรู้สึกอิงแอบกับความเป็นพ่อบ้านง่ายขึ้นโดยไม่ต้องรู้สึกฝืนจนเกินไป?

หากมองจากมุมของทุนนิยม การที่งานบ้านและงานนอกบ้านถูกแบ่งแยกออกจากกัน เป็นการแบ่งงานกันทำ เพื่อให้เกิด “ผลิตภาพ (productivity)” ที่สูงสุด กล่าวคือ เป็นการใช้ทรัพยากรทุกอย่างอย่างคุ้มค่า การที่สองงานนี้มีฟังก์ชันไม่เหมือนกัน ทำให้การแยกมันขาดออกจากกัน และฝึกความชำนาญในงานใดงานหนึ่งเพียงอย่างเดียว ดูสมเหตุสมผลมากที่สุด เพราะ “ผู้เชี่ยวชาญ” จะทำให้งานสำเร็จได้ไวกว่า การที่เทตสึออกมาเป็นพ่อบ้าน ในขณะที่ภรรยาเป็นคนออกไปทำงานหาเงิน จึงเป็นการสร้างระบบการทำงานเพื่อให้บริหารเวลาและเงินได้ดีที่สุด หากมองในมุมนี้ เราอาจตัดความเป็นชายหรือหญิงออกไปก็ได้ เพราะทุกคนมีค่าเท่ากันในฐานะ “ผู้บริหารทรัพยากร”

หากคิดจากมุมมองสตรีนิยมมาร์กซิสต์ งานบ้านถูกใส่เข้ามาผูกติดกับความเป็นหญิง เพราะผู้หญิงถูกมองเป็นทรัพยากรหรือวัตถุ ที่จะถูกรีดเค้นเอาแรงงานและเวลาของเธอเพื่อธำรงโครงสร้างของการสืบสกุลแบบมีฝ่ายชายเป็นต้นสกุล ผู้ชายที่เป็นต้นสกุลเป็นผู้บริหารทรัพยากร และผู้หญิงก็เป็นทรัพยากรหนึ่งในนั้นที่ไม่มีอัตตาณัติ (autonomy) ในการจะออกสิทธิ์ออกเสียง เป็นเพียงผู้ผลิตทายาทสืบสกุลและทำให้ฝ่ายชายสามารถใช้อภิสิทธิ์ของตนได้เต็มที่ในพื้นที่สาธารณะ (public sphere) มองในแง่นี้ การกลับหัวกลับหางให้ผู้ชายกลายมาเป็นพ่อบ้านก็ดูเข้าทีอยู่เหมือนกัน เพราะเป็นเหมือนการตัดช่วงความคิดที่ให้ฝ่ายชายเป็นผู้ควบคุมทรัพยากรเสีย และให้ฝ่ายหญิงมีหน้าที่นั้นแทน นับได้ว่าเป็นการสร้างภาพจำใหม่ๆ เกี่ยวกับบทบาททางเพศ ซึ่งนักสตรีนิยมบางคนอาจเห็นได้ว่า การสร้างภาพ “ผู้ชายแมนๆ” ในคราบพ่อบ้านนี้เป็นการท้าทายบทบาททางเพศ (gender role) อย่างหนึ่ง

แต่แล้วเราก็เดินมาถึงทางตันหนึ่งซึ่งบทความนี้จะชี้ให้เห็น และเป็นที่มาของชื่อบทความ “เมื่ออาชีพแบบฉากหลังกลายเป็นมิชชันของชายแท้” ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า งานบ้านที่เป็นงานของผู้หญิงนั้น มันไม่เคยเป็นการ “แบ่งงานอย่างเท่าเทียม” แบบที่ความหมายในเชิงทุนนิยมพยายามปั้นแต่งขึ้นมา งานบ้านของผู้หญิงเป็นงานที่ “เป็นฉากหลัง (background)” อยู่เสมอ คำนี้มีความหมายว่าอะไร? ลองคิดถึงการที่ผู้หญิงไม่เคยได้รับการจ่ายค่าจ้างจากงานบ้าน หรือแม้เธอจะทำมันเป็นอาชีพ ในรูปแบบของการรับจ้างทำความสะอาด เธอก็ได้รับเงินค่าจ้างเพียงน้อยนิด งานบ้านไม่เคยกลายเป็นงานที่ “มีความสลักสำคัญ” ในเชิงเศรษฐกิจ ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่พยุงเศรษฐกิจแบบแบ่งงานกันทำ มันถูกทำให้กลายเป็นงานคล้ายกับ “การอาสา” หรือ “งานง่ายๆ แบบไม่ต้องใช้สมอง” และทำให้ผู้หญิงจำนวนมากถูกเอาเปรียบจากแรงงานของตัวเอง การที่มันมีลักษณะเป็นการทำซ้ำ ทำให้นายทุนมองว่า มันเป็นงานทักษะต่ำที่ไม่ได้มีภูมิปัญญา (sophisticate) หรือหลักการเบื้องหลังที่สร้างมูลค่าได้อย่างงานนอกบ้าน

การเป็นแม่บ้าน จึงหมายถึงการเป็นแรงงานไร้ฝีมือ และโดนดูถูกจากสังคม และผู้ทำอาชีพแม่บ้านหรือพ่อบ้านก็ไม่ได้ออกมาเรียกร้องอะไร อาจเคยมีการเรียกร้องให้ผู้หญิงได้ค่าจ้างจากการทำงานบ้านบ้างในยุคหนึ่ง แต่ในยุคนี้ น่าคิดว่าเหล่ากระบอกเสียงล้วนล้มหายตายจาก และปล่อยให้เกิดการกดขี่อย่างแนบเนียนด้วยวาทกรรมสวยหรูอย่าง “การแบ่งงานกันทำ” ที่ลัทธิทุนนิยมตัดขาดเพศออกจากบริบทของงาน

คราวนี้ มันเกิดอะไรขึ้นเมื่องานนี้มันมาอยู่ในมือของผู้ชาย “แมนๆ” ที่ไม่เคยเป็นภาพจำของ “ความเป็นแม่บ้าน” เลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันกลายร่างเป็น “ภารกิจ” หรือ “มิชชัน (Mission)” ขึ้นมา – เทตสึมีลูกน้องคนหนึ่งที่ชื่นชมเขาตั้งแต่อยู่ในแก๊งนักเลง ซึ่งลูกน้องคนนี้พยายามจะ “หาความหมาย” ในงานบ้านของเทตสึ ว่า มันเป็น “วิถีลูกผู้ชาย” แบบหนึ่ง ที่ไม่ต่างจากการเป็นยากูซ่าเลย และเทตสึก็ปฏิบัติต่องานทุกอย่างเหมือนมันเป็น “วิถี” จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้นิยามว่าซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นสนามรบ คราบที่ต้องกำจัดคือศัตรู แมลงสาบคือคู่ปรับที่ทำให้เสียแรงกาย การทำงานบ้านผิดพลาดมีโทษมหันต์ถึงขั้นตัดนิ้ว หรือในตอนหนึ่งที่เทตสึได้พบกับคู่ปรับเก่า โทราจิโร่ ที่เคยเป็นหัวหน้าแก๊งคนสำคัญเพียงคนเดียวที่ประมือกับเขาได้ ทั้งสองก็ลงเอยด้วยการแข่งกันทำอาหารเรียกยอดไลค์ในอินสตาแกรม โดยมีศักดิ์ศรีลูกผู้ชายเป็นเดิมพัน

ความเป็น “วิถี” นี้ทำให้งานบ้านหลุดออกจากการเป็นฉากหลังได้อย่างแนบเนียน และมันคงจะไม่เกิดขึ้นหากมันเป็นงานที่ตัวละครผู้หญิงทำ ในทำนองเดียวกับที่การทำอาหารดูเป็นงานแม่บ้านที่ไม่ได้มีศักดิ์ศรี แต่แปรสภาพเป็น “ความเป็นมืออาชีพ” เมื่อมันอยู่ในมือของเชฟที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้ชาย งาน “แม่บ้าน” ก็กลายเป็นงาน “มืออาชีพ” เมื่อมันอยู่ในมือของผู้ชายแมนๆ อย่างเทตสึ และถูกให้ความหมายในฐานะภารกิจที่สลักสำคัญขึ้นมาในทันที

The Way of the Househusband พ่อบ้านสุดเก๋า จึงอาจเรียกได้ว่า จัดอยู่ในซีรีส์ “สายอาชีพ” แบบญี่ปุ่น ซึ่งตัวละครเอกส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และผู้ชายเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนโดยความทะเยอทะยานที่จะบรรลุเป้าหมายบางอย่าง และเป็นเป้าหมายที่คนดูเห็นพ้องว่าสำคัญเสียด้วย ในขณะที่กับผู้หญิงนั้น งานบ้านเป็นแค่งานที่ต้องทำให้เสร็จไปวันๆ และไม่ได้รับการให้ค่ามากนัก เท่ากับว่า มันอาจไม่ได้ลดทอนการผลิตซ้ำความ “ไร้ฝึมือ” ของอาชีพแม่บ้านของผู้หญิงแต่อย่างใด


ดูได้ที่ Netflix

A World Not Our Own : โลกไม่ใช่ของเรา 10 ภาพยนตร์เพื่อทำความเข้าใจความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล – ปาเลสไตน์

เหตุการณ์ของการสู้รบต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศปาเลสไตน์ – อิสราเอล ที่สร้างบาดแผลความเสียหายครั้งใหญ่ในวงกว้างตอนนี้ ในช่วงระยะปัจจุบันนั้นอาจเกิดขึ้นเพียงแค่ 11 วัน และผู้เสียชีวิตนั้นมีจำนวนมากกว่า 240 คน แต่ระยะเวลาของสงครามที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงสงครามโลก และภาพทางออกในการสมานฉันท์ของทั้งสองประเทศ ยังคงเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความจริงในปัจจุบันเหลือเกิน หากจะต้องทำความเข้าใจบริบทถึงประวัติศาสตร์ที่มาของความขัดแย้งครั้งสำคัญที่ทั่วโลกต่างจับตามอง อาจจะต้องทำการศึกษากันพอสมควร เพราะปัจจัยแห่งการก่อสงครามนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาจากแค่ปัจจัยเดียว และมันซับซ้อนเกินกว่าที่จะสามารถทำความเข้าใจทุกบริบทในสงครามครั้งนี้

แต่สิ่งที่น่ากลัวอย่างไม่เปลี่ยนแปลงคือผลกระทบและความสูญเสียที่เกิดขึ้นระหว่างในช่วงสงคราม ที่ผู้ชนะเขียนอนาคตขึ้นมาใหม่ได้ด้วยมือของตัวเอง ผู้แพ้อาจถูกลบหายไปจากประวัติศาสตร์ แต่ในขณะที่ชีวิตของผู้ที่ตกอยู่ในศูนย์กลางของสงครามนั้นต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล และสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่จะทำความเข้าใจสถานการณ์คือการทำความเข้าใจผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องดิ้นรนอยู่ภายในสภาวะสงคราม จากผลกระทบทุกอย่างที่เกิดขึ้น ภาวะของความเครียด ความกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจและสังคม จากสถาบันครอบครัว วัฒนธรรม การเมือง และศาสนา มีทั้งคนที่ได้ และเสียประโยชน์อยู่ภายใต้สถานการณ์เหล่านั้น หากคนที่สามารถตักตวงผลประโยชน์จากสถานการณ์เหล่านั้นได้ อาจได้มีชีวิตที่สุขสบายในระยะยาว แต่สำหรับคนที่ถูกลิดรอนผลประโยชน์ จากความเป็นอยู่ พวกเขาต้องใช้แรงที่มีทั้งหมดในการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด หรือเพื่อมีชีวิตใหม่ คือการไปจากที่แห่งนี้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า หรือไม่ก็ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงในสิ่งที่พวกเขาควรจะได้ หรือมีอยู่แล้วตั้งแต่แรก

เราอาจจะไม่รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ในประเทศนั้นๆ แต่การได้ดูหนังในประเทศนั้นเพียงสักหนึ่งเรื่อง ที่สะท้อนถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของตัวละครใดตัวละครหนึ่งในที่แห่งนั้น เราอาจได้รับรู้ถึงความยากลำบากและชะตากรรมอันแสนน่าเศร้าของผู้คนที่ต้องดิ้นรนอยู่ภายใต้สถานการณ์อันเลวร้าย ซึ่งภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการสะท้อนความเจ็บปวดของผู้คนในนั้น นี่คือ 10 ภาพยนตร์ที่จะฉายภาพของคนที่ตกอยู่ท่ามกลางสงครามระหว่างเขตแดนทั้งสองประเทศ เราจะได้พบเห็นเรื่องราวที่คนภายนอกไม่ได้รับรู้ และพบเห็นในสิ่งที่ไม่เคยได้เห็น เสียงของพวกเขาถูกได้ยินขึ้นมาแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ได้ยินจะทำอย่างไรกับสิ่งที่พวกเขาสื่อสารต่อไป


The Lab (2013, Yotam Feldman)

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 9/11 อุตสาหกรรมเกี่ยวกับอาวุธในอิสราเอลก็เริ่มวางแผนที่จะทำการใหญ่ขึ้น บริษัทขนาดใหญ่หลายที่ในอิสราเอลเริ่มพัฒนาและทดสอบอาวุธเพื่อใช้ในสงครามที่ยังคงเกิดขึ้นต่อไป อาวุธเหล่านั้นถูกขายไปทั่วโลกผ่านนายหน้าบริษัทอิสราเอล ที่มีเครือข่ายสามารถติดต่อกับนักการเมืองในประเทศผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพได้ ในขณะที่นักทฤษฎีของอิสราเอลเองก็ได้พยายามอธิบายต่างประเทศให้รู้ถึงวิธีการกำจัดพลเมืองและกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐ ซึ่งทั้งหมดนั้นมาจากประสบการณ์การทำสงครามของประเทศตัวเอง

สารคดีติดตามอดีตทหารเก่าทั้งสามคน ปัจจุบันพวกเขาผันตัวเป็นนายหน้าค้าอาวุธและเทคโนโลยีการสู้รบต่างๆ ให้กับ “The Lab” เพื่อใช้ในการต่อสู้ยึดครองพื้นที่ตัวเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก หนังจะเล่าถึงเรื่องราวทำไมอิสราเอลได้กลายเป็นประเทศที่ส่งออกอาวุธระดับต้นๆ ของโลก และตั้งคำถามต่อไปว่าใครกันที่ได้ประโยชน์จากการก่อสงครามครั้งนี้

ดูหนังได้ที่ Vimeo


5 Broken Cameras (2011, Emad Burnat + Guy Davidi)

เมื่อ จิบรีล ลูกชายคนที่สี่ของ เอหมัด ถือกำเนิดขึ้น หนุ่มชาวบ้านเมืองบิลินในปาเลสไตน์อย่างเอหมัด ก็ตัดสินใจใช้กล้องวิดีโอเก่าๆ ของเขา เริ่มต้นบันทึกสภาพความเปลี่ยนแปลง และความล่มสลายของวิถีชีวิตผู้คนแวดล้อม หลังจากอิสราเอลใช้นโยบายรุกไล่ และสร้างกำแพงขึ้นบนที่ดินของพวกเขา ตลอดระยะเวลาห้าปีหลังจากนั้น กล้องห้าตัวของเอหมัดได้บันทึกทั้งการเติบโตท่ามกลางความสับสนและกังขาของจิบรีล การล้มหายตายจากของเพื่อนรัก และบาดแผลที่พุพองขึ้นเรื่อยๆ ในจิตใจของเขาเอง


Divine Intervention (2002, Elia Suleiman)

ในเมืองนาซาเรธ ประเทศอิสราเอล ที่ถูกฉาบหน้าไปด้วยความธรรมดาสามัญน่าเบื่อ แต่ก็เคลือบไปด้วยความเบาปัญญาในนั้น ชายคนหนึ่งล้มป่วยจากความกดดันจากธุรกิจที่ล้มเหลว ลูกชายของเขาที่เป็นชาวปาเลสไตน์ที่มาจากเยรูซาเลม (เล่นโดย Elia Suleiman เอง) ได้ตกหลุมรักกับสาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในเมืองรามาลาห์ เขาต้องพยายามสร้างความสมดุลชีวิตรักของเขากับการดูแลพ่อที่ป่วยไปพร้อมๆ กัน

ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้ง ฝ่ายหญิงจึงไม่สามารถไปหาเขาที่เมืองได้เนื่องจากเธอไม่สามารถข้ามจุดตรวจของกองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล พวกเขาจึงได้แค่นัดเจอกันตรงที่จอดรถร้างแถวจุดตรวจนั้น ทั้งเขาและเธอไม่สามารถปล่อยตัวเองเป็นอิสระจากหน้าที่การงานได้ ความสัมพันธ์ของพวกเขานั้นก็ถูกเพ่งเล็งจากทหาร ความโดดเดี่ยวและความปรารถนากำลังจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นการตอบโต้อันรุนแรง และหัวใจก็กำลังเต้นด้วยความโกรธพร้อมกับการหาทางหลบหนีออกจากที่แห่งนี้

ถึงแม้พล็อตหนังจะดูเข้มข้น แต่หนังนั้นอัดแน่นไปด้วยอารมณ์ขันและมุกตลกแบบเซอร์เรียล ความยอดเยี่ยมของหนังได้พา Elia Suleiman คว้ารางวัล Jury Prize และ FIPRESCI จากเวทีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ในปีนั้น


3000 Nights (2015, Mai Masri)

Layal ครูสาวชาวปาเลสไตน์ ถูกจำคุกในอิสราเอล 8 ปี ด้วยความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ เธอถูกส่งไปอยู่ในเรือนจำหญิงที่มีการป้องกันแน่นหนาสูงสุด หลังจากที่ Layal รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ พัศดีนั้นพยายามกดดันให้เธอทำแท้งและเป็นสายลับคอยสอดส่องนักโทษหญิงร่วมชาติ แต่สุดท้ายเธอก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายในเรือนจำนั้น

หลังจากผ่านความยากลำบากในการเลี้ยงดูลูกชายของเธอ Layal ก็ได้เริ่มเห็นความหวังและความหมายของชีวิตเธอมากขึ้น เมื่อสภาของเรือนจำนั้นเริ่มทรุดโทรม และนักโทษชาวปาเลสไตน์เริ่มทำการประท้วง พัศดีได้ทำการข่มขู่ไม่ให้เธอเข้าร่วมการต่อต้านครั้งนี้ ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะพรากลูกของเธอไป Layal จึงทำการตัดสินใจที่จะส่งผลต่อชีวิตของเธอไปทั้งชีวิต

ดูหนังที่ Vimeo


Omar (2013, Hany Abu-Assad)

Omar นั้นคุ้นเคยดีกับการหลบหนีดงกระสุนการเฝ้าระวังเพื่อข้ามกำแพงแห่งความแบ่งแยกไปเจอกับ Nadia คนรักของเขาอยู่แล้ว แต่พื้นที่ปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองทำให้เรารู้ว่านั่นไม่ได้เป็นความรักที่เรียบง่ายหรือเป็นเพียงสงครามที่เราจะเข้าใจได้โดยง่าย ในอีกด้านหนึ่งของกำแพง Omar ผู้ใช้ชีวิตเป็นนักทำขนมปังผู้อ่อนไหว ต้องไปเข้ากองกำลังปลดแอกอิสรภาพของประเทศ ทำให้เขาต้องเผชิญกับการตัดสินใจเลือกระหว่างชีวิตกับความเป็นลูกผู้ชายของเขาเอง

เมื่อ Omar ถูกจับหลังจากบุกจับกุมกองกำลังต่อต้าน ทำให้เขาต้องตกยู่ในการเล่นเกมไล่จับกับตำรวจ เมื่อเขาต้องทรยศต่อเพื่อนสมัยเด็กของเขา และสหายร่วมกองกำลังอย่าง Amjad และ Tarek ซึ่งคนหลังมีศักดิ์เป็นพี่ชายของ Nadia ความรู้สึกทั้งหมดของ Omar ก็ได้ถูกทำลายอย่างรวดเร็วท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองในปาเลสไตน์ แต่ทุกคนจะได้รู้ว่าทุกอย่างที่เขาทำลงไปนั้น เป็นเพราะความรักที่เขามีต่อ Nadia

กำกับโดย Hany Abu-Assad ที่สร้างชื่อจาก Paradise Now ในปี 2005 หนังเรื่องนี้ได้รางวัล Special Jury Prize ในเทศภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ และเป็นตัวแทนของประเทศปาเลสไตน์ที่ส่งเข้าชิงในสาขารางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมของออสการ์ และได้ติดในรายชื่อ finalist 5 รายชื่อสุดท้ายที่ได้เข้าชิงด้วย


The Red Army / PFLP: Declaration of World War (1971, Masao Adachi + Koji Wakamatsu)

ผลงานที่หาชมได้ยากเรื่องนี้เป็นหมุดหมายสำคัญของการทำหนังเกี่ยวกับสงครามและเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของยุคสมัยเริ่มต้นการปฏิวัติครั้งสำคัญของโลก นักทำหนังสายแอคติวิสต์คนสำคัญในญี่ปุ่นอย่าง Masao Adachi และผู้กำกับ pink film คนสำคัญที่เป็นมิตรสหายกันอย่าง Koji Wakamatsu ได้ไปถ่ายทำที่เบรุต เมืองหลวงเลบานอนหลังจากเดินทางมาจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 1971

ที่นั่นกลุ่มคนทำหนังได้เข้าร่วมกับกลุ่มกองทัพแดงญี่ปุ่น (Japanese Red Army หรือ JRA) กลุ่มกองกำลังข้ามชาติที่ต้องการโค่นล้มราชวงศ์ญี่ปุ่นที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น และ กลุ่มผู้นำแนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Popular Front for the Liberation of Palestine หรือ PFLP) กลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่มีจุดประสงค์ตามชื่อ นำโดย Ghassan Kanafani และ Leila Khaled พวกเขาทำหนังฉายภาพให้เห็นถึงกิจวัตรประจำวันของกองกำลังปาเลสไตน์เพื่อเรียกหาการปฏิวัติวัฒนธรรมแบบเหมาไปทั่วโลก

The Red Army / PFLP Declaration of World War อาจเป็นผลงานที่ดูดิบหยาบมากกว่าผลงานอื่นๆ ของผู้กำกับทั้งสอง แต่นี่เป็นหนังที่สร้างขึ้นได้อย่างรวดเร็วและสำคัญจนเป็นผลงานโดดเด่นที่แตกต่างจากหนังที่ขึ้นชื่อของพวกเขา จนทำให้ทั้งสองต้องข้ามโลกมาเผชิญกับการเซ็นเซอร์ของประเทศญี่ปุ่น หนังเรื่องนี้เสนอให้เห็นภาพล้ำค่าอันเป็นกุญแจสำคัญที่ให้เห็นการร่วมมือกันระหว่างกองกำลังปาเลสไตน์ กองกำลังญี่ปุ่น กลุ่มคนทำหนังเอง และกลายเป็นหลักฐานที่โดดเด่นในการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความเป็นมนุษย์ของกลุ่มนักปฏิวัติเหล่านี้


A World Not Ours (2012, Mahdi Fleifel)

การสืบทอดความบ้ากล้องตั้งแต่รุ่นพ่อลงมา ทำให้ Mahdi Fleifel ผู้กำกับได้ใช้วัตถุดิบเหล่านี้ในการทำหนังสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเขา และผู้คนรอบกายในค่ายผู้ลี้ภัย Ain al-Hilweh ในเลบานอน เขาได้ผสมผสานฟุตเตจโฮมวิดีโอของพ่อ และวิดีโอไดอารี่จากกล้องของเขาเป็นเวลาหลายปีในค่ายที่เขาเกิดและเติบโต จนถึงก่อนที่จะหลบหนีไปที่ดูไบและยุโรปในภายหลัง

ในวิดีโอไดอารี่ที่ดูสนุกสนานและน่าประทับใจเรื่องนี้ ผู้กำกับได้พาเราไปรู้จักกับสถานที่ที่เขาเกิด เติบโต และพาไปรู้จักกับคนรอบตัวที่เขารู้จัก หนึ่งในนั้นคือคุณปู่อายุ 82 ปี และญาติของเขาที่เริ่มตาสว่างไปพร้อมกับโอกาสอันริบหรี่ของปาเลสไตน์ ความฝันที่จะได้กลับไปที่บ้านเกิดอาจจะถูกเลือนหายไปตามกาลเวลา นอกเสียจากในช่วงบอลโลกทุกสี่ปีที่เขาจะได้เชียร์ทีมที่พวกเขาชื่นชอบในปีนั้นๆ แต่ก็ไม่มีประเทศไหนที่พวกเขาจะเชียร์ได้อย่างเต็มที่เพราะพวกเขาไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นของประเทศไหนเลย

อีกหนึ่งศูนย์กลางของเรื่องราวอันหวานขมของผู้กำกับนั้นคือความสัมพันธ์กับ Abu Iyad เพื่อนสนิทตั้งแต่สมัยเด็กที่พูดคุยกันได้ตั้งแต่เรื่องฟุตบอลไปจนถึงเรื่องการเมือง แต่สิ่งเหล่านั้นก็แยกพวกเขาออกจากกันด้วย เป็นความจริงที่ทำให้ผู้กำกับออกจากประเทศได้ แต่ Abu Iyad นั้นไม่สามารถทำได้

หนังได้ฉาย World Premiere ในเทศภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโตเมื่อปี 2012 และได้ฉายในไทยในเทศกาล Salaya Doc ที่จัดขึ้นโดยหอภาพยนตร์ เมื่อปี 2017 อีกด้วย

ดูหนังได้ที่ Vimeo


The First 54 Years – An Abbreviated Manual for Military Occupation (2021, Avi Mograbi)

ถ้าอยากสำเร็จในหน้าที่การยึดประเทศภายในเวลาอย่างน้อย 54 ปีต้องทำยังไงบ้าง Avi Mograbi ที่ทั้งรับบทผู้กำกับและผู้บรรยาย ได้สร้างคู่มือวิธีการทำงานอันสมบูรณ์แบบที่อ้างอิงมาจากคำให้การของทหารอิสราเอลและฟุตเทจ ผลลัพธ์ที่เห็นก็คือชาวปาเลสไตน์นับ 5 ล้านคนที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหารอิสราเอล ซึ่งคนที่อาศัยในฉนวนกาซ่าอยู่ถึง 2 ล้านคนจากทั้งหมด และพวกเขาถูกล้อมด้วยกองกำลังทหารมาเป็นเวลาหลายปีมานี้

คำกล่าวที่ว่า “อิสเราเอลนั้นยึดครองพื้นที่เวสต์แบงก์และฉนวนกาซ่ามาแล้วถึง 54 ปี” มันอาจจะยังไม่รู้ถึงรายละเอียดเบื้องลึกมากนัก คำว่า “การยึดครอง” ของพวกเขานั้นบ่งบอกถึงอะไรบ้าง สารคดีเรื่องนี้พุ่งเป้าไปที่การหาข้อมูลเชิงลึกของการยึดครองประเทศปาเลสไตน์ที่ยังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ผ่านคำสั่ง เป้าหมาย ภารกิจ และการทำงานของพวกเขา เหล่าทหารอิสราเอลได้พบเห็นรายงานขั้นตอนของการเข้าบุกปาเลสไตน์ตั้งแต่ปี 1967 จนถึงปัจจุบัน และด้วยประจักษ์พยานเหล่านี้จะเปิดเผยโฉมหน้าของเครื่องจักรแห่งการยึดครอง

ผลงานล่าสุดของ Avi Mograbi นักทำหนังชาวอิสราเอลที่ตีแผ่ประเด็นความขัดแย้งของอิสราเอล-ปาเลสไตน์มาโดยตลอด คราวนี้เขาจะมานั่งเล่าบนเก้าอี้โซฟาทำตัวเป็นคู่มือการปกครองโดยทหารด้วยน้ำเสียงเสียดสีและชวนหดหู่ เขาได้ตรวจสอบและตีแผ่เรื่องราวประวัติศาสตร์ของการกดทับมา 54 ปีจากทหารผ่านศึกผู้รับใช้ประเทศ ด้วยความโกรธที่ถูกกักเก็บไว้ในหนังเรื่องนี้ จะทำให้ทุกคนที่ได้ดูไม่เพิกเฉยต่อประเด็นนี้

หนังเรื่องนี้ยังไม่มีให้ดู แต่สามารถหาดูหนังเรื่องอื่นๆ ของ Avi Mograbi ได้ที่นี่


Fertile Memory (1980, Michel Khleifi)

หนังปาเลสไตน์ขนาดยาวเรื่องแรกที่ได้ถ่ายทำใน Green Line เส้นแบ่งเขตพักรบเขตแดนระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงสองคน หนึ่งคือ Roumia Farah Hatoum แม่ม่ายผู้เฒ่าชราที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ กับเมืองนาซาเรธของอิสราเอล อีกหนึ่งคือ Sahar Khalifeh นักเขียนสาวปัญญาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองรอมัลลอฮ์ของปาเลสไตน์

หนังเล่าเรื่องชีวิตการต่อสู้ของผู้หญิงทั้งสองคนในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน Roumia ต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ที่ดินของเธอที่ถือครองกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษต้องถูกเวนคืน จากการปกครองของอิสราเอลในปี 1947 ซึ่งไม่รู้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และเธอจะชนะหรือไม่ ส่วน Sahar ที่กลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ยึดถือในหลักการของเฟมินิสต์ ต้องเข้าร่วมขบวนการนักศึกษาใน Birzeit University เธอต้องประคับประคองบทบาทหน้าที่ของความเป็นแม่ และความเป็นนักเคลื่อนไหว ในสังคมที่ความเป็นชายยังปกครองอยู่ทุกพื้นที่


They Do Not Exist (1974, Mustafa Abu Ali)

นี่คือผลงานยุคแรกๆ ของ  Mustafa Abu Ali อีกหนึ่งผู้กำกับชาวปาเลสไตน์ที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศที่ได้เรียนจบจาก London Film School และได้ร่วมงานกับ Jean-Luc Godard ในเรื่อง Here and Elsewhere เมื่อปี 1976 และหนังเรื่องนี้โปรดิวซ์โดยแผนกภาพยนตร์ขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization หรือ PLO)

สารคดีเรื่องนี้ถ่ายภายใต้สถานการณ์ที่เสี่ยงอันตราย เต็มไปด้วยภาพของสภาวะของค่ายผู้ลี้ภัยในเลบานอน ผลกระทบของการวางระเบิดจากอิสราเอล และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกองกำลังติดอาวุธในค่ายฝึกรบ They Do Not Exist นั้นผสมผสานทั้งทางด้านศิลปะทางการเล่าเรื่องและเนื้อหาความเป็นการเมืองอยู่ในเรื่องเดียว จนกลายเป็นอีกหนึ่งหลักสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของปาเลสไตน์