วิบากกรรมอุตสาหกรรมหนังฮ่องกงกับกฎหมายเซ็นเซอร์ใหม่

หลังจากเมื่อปีที่แล้ว ฮ่องกงได้ผ่านเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยที่ประชาชนจำนวนมากได้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลจนนำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง (national security law) โดยรัฐบาลจีน ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ส่งผลให้สิทธิ์การแสดงออกใดๆ ที่ถูกตีความว่าเป็นการแบ่งแยกประเทศ บ่อนทำลายอำนาจของรัฐบาลกลาง ก่อการร้าย และสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ ถือว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรง1https://www.bbc.com/news/world-asia-china-52765838 มาในปีนี้ รัฐบาลฮ่องกงได้เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายด้วยการป้องปรามการแสดงออกผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต รวมถึงสื่อภาพยนตร์ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงได้ประกาศปรับแก้ระเบียบการเซ็นเซอร์หนังด้วยการระบุลงในแนวทางการพิจารณาภาพยนตร์ของกองเซ็นเซอร์ว่าหนังเรื่องใด ไม่ว่าจะเป็นหนังท้องถิ่นและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นหนังเล่าเรื่อง (feature film) หรือหนังสารคดี (documentary film) หากมีเนื้อหาที่ขัดต่อความมั่นคง หรือก่อให้เกิดการขัดขืนต่อกฎระเบียบด้วยรูปแบบใดๆ ก็ตาม จนนำไปสู่การเลียนแบบ หนังเหล่านั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในที่สาธารณะโดยเด็ดขาด2https://www.reuters.com/world/asia-pacific/hong-kong-censor-films-under-national-security-law-2021-06-11/

แม้ว่ารัฐบาลฮ่องกงจะไม่ได้พูดถึงมูลเหตุที่ทำให้มีการปรับแก้ระเบียบเซ็นเซอร์หนังที่เพิ่งปรับแก้ล่าสุดในปี 2011 แต่ก็เป็นไปได้ว่าเกี่ยวข้องกับหนังสองเรื่องที่ฉายในตอนต้นปีนี้ ได้แก่ Inside the Red Brick Wall หนังสารคดีที่นำเสนอเหตุการณ์การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2019 ซึ่งเมื่อแรกเริ่มเข้าฉายในเดือนมีนาคมก็ประสบความสำเร็จถึงขั้นตั๋วเข้าชมเต็มในหลายรอบ ส่งผลให้สื่อที่สนับสนุนรัฐบาลปักกิ่งต้องออกมาประท้วงและกดดันให้ทางการต้องบีบให้โรงหนังที่ฉายต้องยุติการฉายหนังเรื่องนี้ในเวลาอันรวดเร็ว3https://variety.com/2021/film/asia/pro-democracy-film-red-brick-wall-pulled-hong-kong-cinema-1234930715/ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเป็นหนังแนวอาชญากรรมระทึกขวัญเรื่อง Where the Wind Blows ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับตีแผ่ความฉ้อฉลในแวดวงตำรวจฮ่องกงในทศวรรษที่ 1960 หนังมีกำหนดเปิดตัวในเทศกาลหนังนานาชาติฮ่องกงในเดือนเมษายน แต่ก็ถูกถอนออกจากโปรแกรมด้วยเหตุผลว่า “มีปัญหาทางด้านเทคนิค” และจนถึงบัดนี้หนังก็ยังไม่ได้ออกฉายอย่างเป็นทางการ4https://variety.com/2021/film/asia/hong-kong-festival-cancels-opening-film-where-the-wind-blows-1234939989/

แม้ว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่มีหนังฮ่องกงเรื่องใดถูกพิจารณาด้วยกฎเซ็นเซอร์ใหม่เนื่องจากเพิ่งถูกประกาศใช้สดๆ ร้อนๆ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหนังฮ่องกงอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนจะวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อวงการหนังจากการที่กฎหมายเซ็นเซอร์ใหม่ถูกบังคับใช้ เราควรมาทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของระบบเซ็นเซอร์หนังของฮ่องกงกันก่อนว่ามีลักษณะอย่างไร และมีผลต่อพัฒนาการของหนังฮ่องกงแค่ไหน


พระราชกฤษฎีกาเซ็นเซอร์ปี 1947 : เมื่อความมั่นคงคือการรักษาสมดุลอุดมการณ์การเมือง

กฎหมายเซ็นเซอร์หนังของฮ่องกงที่ได้สร้างรากฐานสำคัญจนถูกต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้ ถูกประกาศใช้ครั้งแรกในปี 1947 โดยรัฐบาลอาณานิคมสหราชอาณาจักร มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมสื่อภาพยนตร์ทุกประเภททั้งภาพยนตร์ฉายโรงหรือในสโมสรภาพยนตร์ โดยในระยะแรกผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมเนื้อหาภาพยนตร์คือกรมตำรวจ ก่อนที่ต่อมาจะถูกโอนไปเป็นของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ (Panel of Censor) ที่จะทำหน้าที่พิจารณาภาพยนตร์ในเบื้องต้นว่ามีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมของสังคมหรือนำเสนอความรุนแรงหรือไม่ หากไม่มีปัญหา ก็จะถูกพิจารณาให้ฉายได้ แต่ถ้าในกรณีที่หนังเรื่องใดไม่ผ่านการพิจารณา ผู้สร้างก็สามารถอุทธรณ์ได้โดยหน่วยงานที่จะทำการพิจารณาอุทธรณ์คือคณะกรรมการทบทวนเนื้อหา (Board of Review) ซึ่งผลการตัดสินโดยคณะกรรมการทบทวนให้ถือเป็นเด็ดขาด5https://www.jstor.org/stable/44160411 p.118-119

ในช่วงระหว่างปี 1947 ถึงปี 1965 บทบาทหน้าที่ของกองเซ็นเซอร์นอกจากควบคุมเนื้อหาภาพยนตร์ไม่ให้ขัดต่อศีลธรรมของสังคมโดยเฉพาะความรุนแรงและเพศ ยังต้องพิจารณาว่าเนื้อหาของภาพยนตร์แต่ละเรื่องขัดต่อ “ความมั่นคง” หรือไม่ โดยความมั่นคงในช่วงเวลานั้น มีความสอดคล้องกับสภาพทางการเมืองโลกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และสภาพทางภูมิศาสตร์ที่อ่อนไหวของเกาะฮ่องกงเป็นหลัก โดยในแง่ของสภาพทางการเมืองโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจสองฝ่ายได้แก่ฝ่ายประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐและฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต ส่วนในแง่สภาพทางภูมิศาสตร์ ฮ่องกงตั้งอยู่ระหว่างสองประเทศที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน ได้แก่ เกาะไต้หวันที่ปกครองโดยรัฐบาลก๊กมินตั๋ง และสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ปกครองโดยระบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งทั้งสองประเทศมักส่งออกหนังที่เผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละฝ่ายมาจัดจำหน่ายในฮ่องกงอยู่เสมอ6https://www.jstor.org/stable/44160411 p. 143-144

แม้ว่าฮ่องกงในช่วงเวลานั้นเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม แต่การที่ประเทศตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ละเอียดอ่อนทางภูมิศาสตร์ จึงทำให้ฮ่องกงดำเนินนโนบายเป็นกลางทั้งมิติทางการเมืองและวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้หลักสำคัญในการพิจารณาภาพยนตร์ของกองเซ็นเซอร์ คือการทำให้หนังไม่ว่าจะมาจากโลกอุดมการณ์ฝั่งไหนปราศจากความเป็นการเมืองมากที่สุด ดังนั้นหนังที่มาจากทั้งฝั่งจีนแดงและไต้หวัน รวมถึงหนังที่ผลิตโดยหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอย่าง USIS หากถูกพิจารณาว่านำเสนออุดมการณ์ทางการเมืองมากเกินไป อาจถูกสั่งห้ามฉายหรือต้องปรับแก้ใหม่7https://www.jstor.org/stable/44160411 p. 143-144

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มคลี่คลายในช่วงหลังปี 1965 ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายกฎเซ็นเซอร์ลง เปิดโอกาสให้หนังจากทั้งฝั่งจีนแดงและไต้หวันที่นำเสนอแนวคิดทางการสามารถฉายในโรงหนังมากขึ้น สาเหตุสำคัญเป็นเพราะความอ่อนไหวทางการเมืองในฮ่องกงเริ่มลดลง ประกอบกับข่าวในแง่ลบของการปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีนที่ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวความคิดของฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตงค่อยๆ เสื่อมความนิยมในหมู่คนฮ่องกง นอกจากนี้ ช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มปฏิเสธแนวคิดทางการเมืองของทั้งจีนคอมมิวนิสต์และไต้หวัน แล้วหันไปยึดเกาะอัตลักษณ์ความเป็นอาณานิคม (colonial identity) ที่ผสานระหว่างความโหยหาในวัฒนธรรมจีนแบบดั้งเดิมกับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก8https://www.jstor.org/stable/44160411 p.145

และเป็นเพราะบรรยากาศผ่อนคลายของระบบเซ็นเซอร์ ในช่วงเวลานี้เอง ที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงเติบโตอย่างรวดเร็ว หนังหลายเรื่องหลายแนวถูกผลิตออกมาป้อนตลาดอย่างหลากหลาย ทั้งหนังแอ็คชั่น หนังชีวิต ไปจนถึงหนังสยองขวัญ ตลอดระยะทศวรรษที่ 1970 – 1990 อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากอเมริกา นอกจากนี้ฮ่องกงยังได้รับการบันทึกว่าเป็นประเทศที่ส่งออกหนังออกสู่ตลาดต่างประเทศมากอันสอบของโลกโรงจากฮอลลีวูด9https://en.wikipedia.org/wiki/Cinema_of_Hong_Kong ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในลูกค้าสำคัญของหนังฮ่องกงในช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญของกฎหมายเซ็นเซอร์ฮ่องกงเกิดขึ้นในปี 1988 หลังจากทางการฮ่องกงได้รับการร้องเรียนเรื่อง ความรุนแรง และฉากโป๊เปลือยที่ปรากฏในหนังหลายๆ เรื่อง จึงได้ทำการปรับแก้กฎหมายเซ็นเซอร์ซึ่งตลอดมาไม่เคยจำกัดอายุผู้ชม ไปสู่การกำหนดอายุผู้ชม หรือเรียกว่าระบบเรตติ้ง โดยระบบเรตติ้งตามกฎหมายเซ็นเซอร์ฉบับแก้ไข แบ่งกลุ่มประเภทหนังตามกลุ่มผู้ชมออกเป็น 3 ประเภท ตามตัวเลขโรมันดังต่อไปนี้ เรต I หมายถึงหนังที่ผู้ชมทั่วไปรวมถึงเด็กสามารถดูได้ เรต IIA สำหรับหนังที่ไม่เหมาะกับเด็ก ส่วนใหญ่เป็นหนังที่มีการแสดงภาพรุนแรงเล็กน้อย รวมถึงการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม เรต IIB สำหรับหนังที่ไม่เหมาะกับเด็กและเยาวชนซึ่งมักเป็นหนังที่แสดงภาพความรุนแรง มีการใช้คำสบถ รวมถึงการนำเสนอภาพโป๊เปลือย และเรต III สำหรับหนังที่ผู้ชมที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่สามารถเข้าชมได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังประเภทอิโรติกโจ่งแจ้งหรือมีความรุนแรงสุดขั้ว10https://en.wikipedia.org/wiki/Hong_Kong_motion_picture_rating_system


ระบบเรตติ้งกับผลพลอยได้ของวงการหนัง

The Untold Story (1993) หรือ ซาลาเปาเนื้อคน

แม้ระบบการจัดอายุ จะทำให้หนังบางเรื่องต้องสูญเสียรายได้บ้าง เนื่องจากฐานอายุของผู้ชมไม่กว้างเหมือนเดิม แต่ได้ทำให้ผู้สร้างหนังบางรายมองเห็นลู่ทางของการใช้ประโยชน์จากระบบเซ็นเซอร์ใหม่ ด้วยการสร้างหนังที่จงใจให้ได้รับการพิจารณาเข้าเกณฑ์เรต III ซึ่งเป็นเรตสูงสุด ห้ามผู้ชมอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าชม หนังประเภทนี้รู้จักกันดีในชื่อ หนังเกรด 3 (Category III films) เนื้อหาของหนังเกรด 3 ส่วนใหญ่นำเสนอเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้ง รวมถึงความรุนแรงอย่างไม่บันยะบันยัง จนทำให้ได้รับเสียงวิจารณ์ในเชิงลบ อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการตอบรับ หนังเกรด 3 หลายเรื่องประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังอิโรติกอย่าง Pretty Woman (1991) ที่เป็นเรื่องของหญิงสาวที่ถูกว่าจ้างโดยชายหนุ่มให้ปลอมตัวเป็นผู้หญิงที่เขาได้ข่มขืนและฆาตกรรมโดยที่เธอไม่ล่วงรู้ความจริงมาก่อน หนังทำรายได้สูงถึง 30 ล้านเหรียญฮ่องกงเมื่อออกฉาย หรือหนังที่นำเสนอความรุนแรงสุดขั้วอย่าง The Untold Story (1993) ที่ผู้ชมชาวไทยคุ้นเคยกับชื่อ ซาลาเปาเนื้อคน ที่ประสบความสำเร็จไม่เพียงแค่ในฮ่องกงแต่ร่วมถึงในต่างประเทศด้วย กล่าวกันว่าในช่วงที่หนังเกรดสามได้รับความนิยมมากๆ สัดส่วนทางการตลาดของหนังประเภทนี้อยู่ระหว่าง 25 – 50 % ของหนังทั้งหมดที่ออกฉาย11https://www.scmp.com/magazines/style/celebrity/article/3081457/how-did-hong-kong-film-industry-get-so-big-and-why-did-it อย่างไรก็ดี ความนิยมในหนังเกรด 3 ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง เนื่องจากคุณภาพของหนังส่วนใหญ่มีลักษณะสุขเอาเผากิน และเน้นขายเรื่องเพศและความรุนแรงมากเกินไป จนทำให้ถูกปฏิเสธจากผู้ชมส่วนใหญ่


กฎหมายเซ็นเซอร์กับนโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ

ปี 1997 ฮ่องกงได้กลับไปสู่จีน ตามข้อตกลงการเช่าดินแดนระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศจีนที่ทำกันไว้ในปี 1898 ที่ระบุว่า ประเทศจีนยอมให้สหราชอาณาจักรปกครองเกาะแห่งนี้เป็นเวลา 99 ปี หลังจากนั้นแล้วจีนจะทำการผนวกฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขว่า ประเทศจีนจะยอมให้ฮ่องกงมีเสรีภาพในด้านการเมืองและการดำเนินชีวิตไปจนถึงปี 2047 นโยบายดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันชื่อ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”12https://www.bbc.com/news/world-asia-china-52765838

สำหรับกฎเซ็นเซอร์ภายใต้นโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ ยังคงเนื้อหาเหมือนเดิม เพียงแต่มีการปรับแก้เล็กน้อยในรายละเอียดที่ไม่กระทบต่อเสรีภาพในการนำเสนอของผู้สร้างเท่าใดนัก ตรงกันข้าม กลับเป็นผู้สร้างหนังเสียอีกที่ต้องระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหา เนื่องจากหลังปี 1997 เป็นต้นมา จีนได้กลายเป็นตลาดสำคัญของหนังฮ่องกงทั้งในแง่ของพื้นที่การฉายและแหล่งเงินทุนในรูปแบบของการร่วมผลิตระหว่างผู้สร้างฮ่องกงและจีน13https://www.screendaily.com/features/filmart-how-hong-kong-film-industry-is-adapting-to-challenging-times/5137634.article ดังนั้นการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่มีปัญหากับระบบเซ็นเซอร์ของฮ่องกง แต่มีปัญหากับระบบเซ็นเซอร์ของจีนโดยเฉพาะเรื่องเพศ ความรุนแรง หรือการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองของจีน อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการจัดจำหน่ายในประเทศจีนได้ ผู้สร้างหลายคนจึงเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการไม่เลือกทำหนังที่อาจส่งผลต่อการจัดจำหน่ายในประเทศจีนตั้งแต่ต้น

แม้ว่าผู้สร้างกระแสหลักจะเลือกเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตลาดจีน แต่ผู้สร้างหนังอิสระฮ่องกงกลับใช้ประโยชน์ของกฎหมายเซ็นเซอร์ที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากนโนยบายหนึ่งประเทศสองระบบ ด้วยการผลิตผลงานที่วิพากษ์การเมืองโดยเฉพาะอิทธิพลของรัฐบาลจีนต่อนโยบายที่มีต่อฮ่องกงหลายเรื่อง อาทิ หนังเรื่อง 10 Years (2015) ซึ่งประกอบด้วยหนังสั้นสี่เรื่องที่ตั้งคำถามถึงสถานะของฮ่องกงในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยตัวหนังวิพากษ์อิทธิพลของจีนที่มีต่อฮ่องกงในมิติทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม Lost in Fumes (2018) สารคดีที่นำเสนอชีวิตของนักการเมืองและนักกิจกรรมทางการเมืองของฮ่องกงชื่อ เอ็ดเวิร์ด เหลียง หรือ สารคดีเรื่อง Inside the Red Brick Wall (2020) ที่นำเสนอเรื่องราวการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวฮ่องกงปี 2019

แต่แล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก็เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ภายหลังจากรัฐบาลฮ่องกงได้แก้ไขกฤษฎีกาเซ็นเซอร์ด้วยการกำหนดแนวทางในการพิจารณาห้ามฉายภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ท่ามกลางความสับสนและคลุมเครือของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม


อนาคตอุตสาหกรรมหนังฮ่องกงใต้เงาระบบเซ็นเซอร์ใหม่

จนถึงขณะนี้ คงเป็นการเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าอุตสาหกรรมหนังฮ่องกงจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากกฎหมายใหม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ ความกังวลใจของบุคลากรที่อยู่ในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมหนังฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการผลิตและจัดจำหน่าย เพราะสิ่งที่บุคลากรในส่วนนี้ต้องเผชิญคือ การเลือกเนื้อหาที่จะนำมาถ่ายทอดเป็นหนัง ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่ที่ยังไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า เนื้อหาประเภทใดจัดอยู่ในข่ายขัดต่อต่อความมั่นคง อาจทำให้ผู้สร้างจำนวนไม่น้อยเลี่ยงที่จะไม่เลือกทำหนังที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงเพื่อตัดปัญหาตั้งแต่ต้น เช่นหนังที่นำเสนอภาพลักษณ์ในแง่ลบของระบบราชการแบบ Infernal Affair ที่นำเสนอภาพความฉ้อฉลในวงการตำรวจ หรือหนังที่สะท้อนปัญหาสังคมต่างๆ ไม่นับรวมถึงผู้สร้างหนังอิสระที่มักนำเสนอปัญหาทางการเมืองและสังคมผ่านหนังหลายๆ เรื่อง (ซึ่งหลังจากนี้คงไม่มีโอกาสทำแบบนั้นได้อีก)

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่ผู้จัดจำหน่ายหนังท้องถิ่นที่ต้องเผชิญกับความกังวลต่อใจระบบเซ็นเซอร์ใหม่นี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้จัดจำหน่ายหนังต่างประเทศอีกด้วย เพราะต่อจากนี้ไปพวกเขาต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกซื้อหนังมากขึ้น โดยเฉพาะหนังที่นำเสนอเนื้อหาการต่อสู้ระหว่างคนตัวเล็กกับคนที่มีอำนาจ หรือการต่อสู้ระหว่างคนกับระบบอย่างหนังเรื่อง Hunger Games หรือหนังตระกูล Dystopian (หนังที่พูดถึงอนาคตที่ไร้ความหวัง) ต่างๆ ที่คงไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อหนังที่ต้องซื้ออีกต่อไป หรือถ้าจำเป็นต้องซื้อด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ พวกเขาอาจต้องขอให้เจ้าของลิขสิทธิ์หนังต่างประเทศเพิ่มเงื่อนไขพิเศษที่เรียกว่า Censorship clause ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้จัดจำหน่ายหนังฮ่องกงสามารถเรียกคืนค่าลิขสิทธิ์ที่จ่ายไปได้ลงไปในสัญญา

กล่าวโดยสรุป สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวัน 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการก้าวสู่บทใหม่ของระบบเซ็นเซอร์ฮ่องกองที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการยอมรับว่ามีความยืดหยุ่นและให้อิสระคนทำหนังถึงขนาดมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงทศวรรษที่ 1980 -1990 ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมหนังฮ่องกงหลังจากนี้ แต่ที่แน่นอนและชัดเจนก็คือ วันชื่นคืนสุขของวงการหนังฮ่องกงที่ผู้คนทั่วโลกที่ผู้ชมฮ่องกงและทั่วโลกเคยเป็นพยานรับรู้ คงไม่หวนกลับมาอีกต่อไป

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES