ย้อนฟังสุนทรพจน์ส่งท้ายปี 65 : การเดินทางของนักทำหนังที่ชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ เราเห็นชื่ออภิชาติพงศ์ปรากฏเป็นข่าวบ่อยขึ้นเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ จะคว้ารางวัลปาล์มทองจากคานส์มาครอง เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะผลงานภาพยนตร์ล่าสุดของเขาอย่าง Memoria ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่วงการภาพยนตร์โลกพร้อมเสียงชื่นชมในหมู่นักวิจารณ์และยังคว้ารางวัลใหญ่จากเทศกาลคานส์มาครองได้อีกครั้ง และทุกครั้งที่อภิชาติพงศ์มีโอกาสขึ้นพูดบนเวที สุนทรพจน์ของเขาก็สร้างกระแสความสนใจจากมวลชนได้เสมอ จึงไม่ไกลเกินไปนักหากเราจะกล่าวว่า การพูดสุนทรพจน์ของอภิชาติพงศ์นับเป็นการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งในฐานะ ‘นักทำหนัง(ไทย)’ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก

บทความนี้ Film Club ขอพาผู้อ่านย้อนรอยชมสุนทรพจน์ของอภิชาติพงศ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ว่าเขาแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างไรในฐานะนักทำหนังที่เป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก

1) Long Live Cinema! : ภาพยนตร์จงเจริญ

สุนทรพจน์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 หลังการฉายภาพยนตร์เรื่อง Memoria รอบปฐมทัศน์โลกในเทศกาลภาพยนตร์คานส์ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนังฟอร์มยักษ์ที่มีการร่วมทุนหลายประเทศทั้งโคลอมเบีย ฝรั่งเศส อังกฤษ เม็กซิโก และไทย พร้อมได้นักแสดงระดับโลกอย่าง Tilda Swinton มาร่วมแสดงกับเหล่าดาราชั้นนำของโคลอมเบีย และหลังจากฉายจบผู้ชมในคานส์ก็ปรบมือด้วยความประทับใจนานถึง 14 นาที โดยผู้ชมในเทศกาลนี้ล้วนเป็นบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลกทั้งสิ้น ใจความของสุนทรพจน์มีดังนี้

“ขอบคุณมากครับ ภาพยนตร์เรื่องนี้เปี่ยมไปด้วยอารมณ์แห่งการเดินทางอันยาวนาน หลังจากการล็อกดาวน์นี่ก็เป็นภาพยนตร์แรกของผมที่ได้ฉายอย่างเป็นทางการ โปรดิวเซอร์และทุกคนที่ร่วมกันทำหนังเรื่องนี้ต่างได้มาอยู่ที่นี่ มันเหมือนกับการกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง สำหรับทิลด้า ผมขอขอบคุณสำหรับความเชื่อมั่นและทุกอย่าง ทั้งผมคุณ (หัวเราะ) และผมขอขอบคุณ Juan สำหรับช่วงเวลาอันสวยงาม และขอบคุณทุก ๆ คนอีกครั้ง ผมพูดอะไรไม่ออก ขอบคุณทุกคนที่ออกมาร่วมแชร์ (ประสบการณ์) แสงและเสียงด้วยกัน ดังนั้น Longlive Cinema! (ขอให้ภาพยนตร์จงเจริญ!)”


2) โปรดตื่นและทำงานเพื่อประชาชนเดี๋ยวนี้

วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 หลังจาก Memoria ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม เมื่อถึงวันประกาศผลรางวัลขณะเดินพรมแดงก่อนเข้างาน อภิชาติพงศ์และนักแสดงนำพร้อมใจกันถือธงชาติโคลอมเบียที่เขียนตัวอักษรว่า S.O.S ซึ่งเขาเผยในภายหลังว่านี่เป็นไอเดียการ call out จากหนึ่งในนักแสดงนำชาย Juan Pablo Urrego

และในที่สุดภาพยนตร์เรื่องนี้ก็สามารถคว้ารางวัล Jury Prize มาครอบครองได้ รางวัลนี้นับเป็นรางวัลลำดับที่ 3 ของอภิชาติพงศ์ที่ได้รับจากเทศกาลคานส์ โดยหลังจากรับรางวัล Jury Prize เขาได้ call out ผ่านสุนทรพจน์บนเวทีถึงรัฐบาลไทยและรัฐบาลโคลอมเบียว่า

“ผมโชคดีเหลือเกินที่ได้มายืนอยู่ที่นี่ ในขณะที่เพื่อนร่วมชาติจำนวนมากไม่อาจเดินทางไปไหนได้ หลายคนต้องทนทุกข์ทรมานอย่างสาหัสจากโรคระบาด เป็นเพราะการจัดทรัพยากรที่ผิดพลาด ระบบสาธารณสุข และการเข้าถึงวัคซีน ผมอยากเรียกร้องให้รัฐบาลไทย รัฐบาลโคลอมเบีย และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันโปรดตื่นขึ้นและทำงานเพื่อประชาชนของพวกคุณเดี๋ยวนี้”


3) ไม่ต้องสนแม่ง!

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2565 ในพิธีประกาศปิดงานเทศกาลภาพยนตร์โลกกรุงเทพฯ ครั้งที่15 (World Film Festival of Bangkok 15th) มีการมอบ รางวัลเกรียงศักดิ์ ศิลากอง (Lifetime Acheivement Award) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติแก่บุคลากรในวงการภาพยนตร์ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่วงการหนังทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยชื่อรางวัลเป็นการแสดงความรำลึกถึงการจากไปของ วิคเตอร์-เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้อำนวยการเทศกาลที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการพัฒนาศักยภาพวงการภาพยนตร์เสมอมา

ผู้ได้รับรางวัลปีนี้เป็นคนแรกคือ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล โดยเขากล่าวสุนทรพจน์บนเวทีหลังได้รับรางวัลว่า

“ขอบคุณมากครับ ยินดีมากที่ได้มีโอกาสกลับมายืนในโรงหนังอีกครั้งหนึ่ง และขอบคุณดร (ดรสะรณ โกวิทวณิชชา- ผู้อำนวยการเทศกาล World Film ครั้งนี้) และคณะกรรมการทุกท่านที่ให้เกียรติผมในการมอบรางวัลนี้ ผมขอเรียกรางวัลนี้ว่า รางวัลวิคเตอร์ Victor Award เพราะตั้งแต่ได้รับการติดต่อจากเทศกาลมาผมก็คิดมาเลยว่ามันไม่ใช่รางวัลของผม แต่ผมมาเพื่อที่จะเป็นตัวแทนของพี่วิคเตอร์เพื่อมารับรางวัลนี้ เพราะฉะนั้นการมารับแทนพี่นี่เป็นเกียรติมาก ๆ

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในที่นี้น่าจะรู้จักพี่วิคเตอร์คนที่ทำให้เทศกาลนี้เกิดขึ้น พี่วิคเตอร์หลงใหลในทุกอย่าง ภาพยนตร์ ละคร การเดินทาง ศิลปะ เซ็กส์ …เซ็กส์นี่สำคัญมาก อาหาร และหลาย ๆ อย่าง ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวไปที่ผสมปนเปมันออกมา และในที่แห่งนี้ในโรงหนังนี่น่าจะเป็นที่ที่พี่เขาชอบมากระดับต้น ๆ เลย โดยเฉพาะจุดนี้ (ชี้ป้ายไฟบนเวที) เพราะเขาชอบแสง เขาชอบเวที ผมอยากรบกวนทุกท่านใช้เวลานิดหนึ่งเพื่อเงี่ยหูฟังพี่วิคเตอร์ หรือมองภาพเขาในความทรงจำในความเงียบนี้…

ไม่รู้มีใครได้ยินเสียงพี่วิคเตอร์เหมือนเราหรือเปล่า เพราะผมรู้สึกว่าความเงียบนี้มันไม่ใช่ความเงียบ เสียงของพี่วิคเตอร์ยังดังอยู่เสมอ ยังเป็นเสียงที่เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเรา ให้ผม และก็ได้ยินเสียงเขาพูดเลยว่า ‘ให้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่นะครับ’ คือไม่ต้องต่อต้านอะไร ก็คือใช้ชีวิต

สำหรับตัวผม ผมทำหนังมา 25 ปี ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นเพียงเวลาแค่เสี้ยวเดียวของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของไทยหรือของโลกก็ตาม แต่ว่าเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันนี้ ผมยังไม่เข้าใจเลยว่าผมทำหนังไปเพื่ออะไร ผมอยากจะบอกหรือถามคำถามคนทำหนังในที่นี้ว่า คุณทำหนังไปเพื่ออะไร? คือที่แน่นอนสำหรับผมนั้น ผมทำหนังโดยไม่ต้องการเล่าเรื่องราวอะไร จริง ๆ แล้วภาพยนตร์มันอาจเป็นตัวเชื่อมตัวเรากับคน หรือมันอาจจะเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการใช้ชีวิต หรือว่าเป็นตัวแทนของอิสรภาพ หรือว่าอำนาจ…อะไรก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่ารางวัลนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้ผมได้ต่อยอดคำถามนี้ต่อไปและได้ชื่นชมความลึกลับของอาชีพนี้ของผมต่อการเดินทางนี้ต่อไป

เมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังวัฒนธรรม… มีศูนย์นี้จริง ๆ นะในกระทรวงวัฒนธรรม ผู้อำนวยการบอกนักข่าวว่าไม่มีใครอยากดูหนังของผมหรอก ไม่มีใครอยากดูหนังของอภิชาติพงศ์ และการที่ผมยืนอยู่ตรงนี้มันเป็นข้อพิสูจน์ในสิ่งที่ผมอยากจะบอกคนทำหนังทุกคนว่า ไม่ต้องสนแม่ง! หรือภาษาอังกฤษก็คือ Don’t give a damn คือนี่ไม่ได้พูดจากความเกลียดชังนะ แต่อยากจะบอกว่าเราไม่ควรตกเป็นทาสของสิ่งที่เกิดจากความกลัวหรือจากเผด็จการของความคิด ผมคิดว่าพวกเราทุกคนมีส่วนร่วมในการต่อยอดบทสนทนานี้ สิ่งที่คนทำหนังจะทำได้ดีและทำต่อไปก็คือ บันทึก …บันทึกต่อไป Keep Recording และก็รักต่อไป Keep Loving

สุดท้ายนี้ เมื่อพูดถึงความรัก ผมอยากจะแสดงความขอบคุณคุณโดม (โดม สุขวงศ์- ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์) และทุก ๆ ท่านที่เป็นเพื่อนกันมาตลอดทั้งในและนอกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ทำให้ผมมายืนและหายใจอยู่ที่นี่ และขอบคุณผู้ชมทุกคนที่รักและสนับสนุนภาพยนตร์เสมอมาเพราะว่ามันเป็นสื่อที่เป็นกระจกสะท้อนพวกเราและเชื่อมพวกเรา ผมคิดว่ารางวัลนี้คือรางวัลแห่งความรักของพี่วิคเตอร์ครับ ผมก็ขอให้เสียงของพี่ยังคงอยู่กับเราตลอดเวลา และก็ขับเคลื่อนเทศกาลนี้ให้อยู่ไปอีกนานเท่านาน ขอบคุณครับ”


4) พวกเรามีคนทำหนังระดับมาสเตอร์แล้ว… แล้วไงต่อ

นอกเหนือจากคำพูดสุนทรพจน์บนเวที ชื่อของอภิชาติพงศ์ยังเป็นที่เอ่ยถึงเสมอเมื่อมีการพูดถึงวงการภาพยนตร์ไทย จากบทความ Variety ที่สัมภาษณ์ คัทลียา เผ่าศรีเจริญ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ในงานเทศกาลภาพยนตร์ Locarno ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (เป็นการสัมภาษณ์เนื่องในโอกาสที่ภาพยนตร์เรื่อง ผีใช้ได้ค่ะ(A Useful Ghost) ของ รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ได้รับรางวัลสาขา Open Doors ซึ่งเป็นรางวัลที่มีวัตถุประสงค์สนับสนุนนักทำหนังหน้าใหม่ โดยคัทลียาเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์จาก 185 Films ที่ดูแลภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว) คัทลียามีบทบาทในการดูแลหนังของอภิชาติพงศ์และภาพยนตร์อิสระตลอดมา เธอให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาของนักทำหนังรุ่นใหม่ในไทยว่า

“ตอนนี้รัฐบาลเราไม่มีการสนับสนุนหรือให้ทุนมากเท่าไหร่นัก มันเลยเป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักทำหนังรุ่นใหม่ เรามีคนทำหนังระดับมาสเตอร์แบบอภิชาติพงศ์ก็จริง…แต่แล้วไงต่อ? ฉันไม่ได้บอกว่าการมีคนทำหนังระดับมาสเตอร์ไม่สำคัญ แต่เราจำเป็นที่จะต้องมองไปอนาคตข้างหน้าเหมือนกัน

“ในตอนนี้ประเทศของเรามีคนประท้วงอยู่จำนวนมาก เราจำเป็นต้องทำหนังเรื่องนี้* ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มันเป็นเหมือนความเดือดดาล (ของคนรุ่นใหม่) เพราะคนรุ่นฉันทิ้งปัญหามากมายไว้ข้างหลัง และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้เรามีคนรุ่นหนึ่งที่หลงทางอยู่ (A Lost Generation) แต่เราก็หวังว่าคนรุ่นใหม่นี่แหละที่จะสามารถสะสางปัญหาพวกนี้ได้”

(*หมายถึงภาพยนตร์เรื่อง Useful Ghost ผีใช้ได้ค่ะ โดย รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค)


ที่มา :

MEMORIA (ขอให้) คนทำหนังไทยจงเจริญ
Long Live Cinema!
“Long Live Cinema!” (ภาพยนตร์จงเจริญ!)
เจ้ย อภิชาติพงศ์ ฟาดปมสถานการณ์วิกฤตโควิดในประเทศไทยกลางเมืองเวทีหนังคานส์
“Memoria” ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รางวัลขวัญใจกรรมการจากคานส์, “Titane” ได้ปาล์มทองคำ
Locarno Open Doors Winner ‘A Useful Ghost’ Uses Dust and a Ghostly Vacuum Cleaner to Comment on Thai Politics

RELATED ARTICLES