Memoria (ขอให้) คนทำหนังไทยจงเจริญ

“Long live cinema” หรือว่า “ภาพยนตร์จงเจริญ” คือคำพูดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กล่าวหลังได้รับเสียงปรบมือกึกก้องยาวนานถึง 14 นาที ในรอบปฐมทัศน์โลกของ Memoria ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ 2021 

“ภาพยนตร์” ในความหมายของอภิชาติพงศ์คงไม่ได้จำกัดความหมายไว้แค่ตัวหนัง แต่น่าจะครอบคลุมถึงโรงหนัง วัฒนธรรมการดูหนัง และศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ ซึ่งมันคงทรงพลังเหลือเกินเมื่อการฉายของ Memoria สิ้นสุดลง เพราะนี่เป็นหนังที่สดุดี cinema ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด 

Memoria ไม่ต่างอะไรกับหนังเรื่องก่อนหน้าของอภิชาติพงศ์ที่เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเนื้อหาข้างในนั้นกำลังเล่าอะไรอยู่ เพราะความน่าค้นหาของหนังเหล่านี้ไม่ใช่การคลี่คลายของเรื่องเล่า แต่มันคือประสบการณ์การดูหนังรูปแบบใหม่ที่อภิชาติพงศ์พาเราเข้าไปสำรวจให้เห็นว่า ศิลปะภาพยนตร์นั้นน่าพิศวงเพียงใด 

ทิลด้า สวิสตัน รับบท เจสสิก้า หญิงสาวที่เดินทางมาโคลอมเบียแล้วได้ยินเสียงประหลาด ซึ่งยิ่งเมื่อเธอพยายามค้นหาที่มาของเสียงนั้น ก็ยิ่งตอกย้ำว่ามีเพียงเธอเท่านั้นที่ได้ยิน 

อภิชาติพงศ์กำหนดให้เจสสิก้าเป็นตัวละครที่พาคนดูไปร่วมค้นหาที่มาของเสียงดังกล่าว โดยการใช้วิทยาการทางภาพยนตร์อย่างเต็มศักยภาพสะกดคนดูจนต้องจับจ้อง ‘รูปลักษณ์’ ของเสียงอย่างมีสมาธิ ทุกความเงียบงันและสรรพเสียงที่ถูกใส่เข้ามา เมื่อรวมเข้ากับบรรยากาศอันน่าค้นหาของเมืองและชนบทในโคลอมเบีย มันร่วมกันสร้างประสบการณ์การดูหนังที่น่าตื่นตะลึง 

© Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF/Arte and Piano, 2021.

ไม่แปลกใจที่สื่อมวลชนในรอบปฐมทัศน์ต่างสนใจ ‘การออกแบบเสียง’ ในหนังเรื่องนี้อย่างพร้อมเพรียง มันเป็นผลงานของ อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร และ ริชาร์ด ฮอคส์ เพราะทุกองค์ประกอบในหนังเรื่องนี้ทั้งการกำกับ การแสดง การถ่ายภาพ (สยมภู มุกดีพร้อม) การตัดต่อ (ลี ชาตะเมธีกุล) ฯลฯ ล้วนสร้างขึ้นมาเพื่อโอบอุ้ม ‘เสียง’ ของหนังเอาไว้ 

หาก คริสโตเฟอร์ โนแลน คือคนทำหนังที่เทิดทูนวิทยาการภาพยนตร์ผ่านผลงานสตูดิโอใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อเติมเต็มประสบการณ์การดูหนังในโรงเท่านั้น ก็ต้องนับอภิชาติพงศ์เอาไว้ในทำเนียบดังกล่าวด้วยอีกคน ต่างกันที่ประสบการณ์การรับชมต่างกัน มันไม่ใช่ความตื่นตาตื่นใจจากความหวือหวาครึกโครม แต่มันคือความเงียบสงบเพื่อสำรวจและค้นพบอะไรบางอย่างในนั้น 

น่าเสียดายที่หนังทุกเรื่องของอภิชาติพงศ์ไม่ได้รับการรับรองอย่างสมเกียรติจากโรงหนังนัก มันมักถูกจัดที่ทางเพื่อการเข้าถึง ‘ยาก’ ในคำจำกัดความของ ‘หนังเฉพาะทาง’ ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับท่าทีเทิดทูนการดูหนังที่อภิชาติพงศ์มอบให้โรงหนังด้วยความรัก 

Memoria เป็นตัวอย่างที่ดีและอาจใช้ ‘วัดใจ’ โรงหนังได้ระดับหนึ่งเมื่อถึงวันที่หนังเรื่องนี้เดินทางมาฉายในเมืองไทย ว่ามันจะได้อยู่ในที่ทางที่ควรจะเป็นหรือไม่ ที่ทางที่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์การดูหนังในโรงอย่างเต็มศักยภาพเนื่องจากหนังมิกซ์เสียงมาในระบบ Dolby Atmos ซึ่งโรงหนังที่รองรับมักปูพรมไว้ให้หนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์อยู่เสมอ 

เป็นเรื่องบังเอิญที่ก่อนหน้าวันฉายรอบปฐมทัศน์ของ Memoria เพียง 1 วัน วงการหนังไทยตื่นตัวกับการเปิดตัวอันดับ 1 แบบถล่มบ็อกซ์ออฟฟิศเกาหลีของ ‘ร่างทรง’ โดย บรรจง ปิสัญธนะกูล ผ่านการปลุกปั้นของโปรดิวเซอร์ นาฮงจิน ขณะเดียวกัน Memoria ก็ได้สิทธิจัดจำหน่ายในอเมริกาโดย Neon ค่ายผู้ผลักดัน Parasite จนคว้าออสการ์และประสบความสำเร็จในอเมริกามาแล้ว และปีนี้ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รางวัลจากเทศกาลหนังซันแดนซ์ด้วย One for the Road ซึ่งอำนวยการสร้างโดย หว่องกาไว 

ทั้งหมดนี้ล้วนมีแนวทางเป็นของตัวเอง และต่างได้รับการโอบอุ้มจากผู้สนับสนุนที่โลกให้การยอมรับ แต่ละเรื่องมีโอกาสเดินทางอีกยาวไกลในตลาดโลก เพียงแค่ใครสักคนที่บ้านเกิดของคนทำหนังเหล่านั้นเล็งเห็นมูลค่าที่จะได้รับกลับมา มีบทบาทกำหนดกลยุทธ์ให้กับการรุกตลาดโลกของหนังไทยเสียใหม่ และหาทางต่อยอดมันออกไป ไม่ต่างจากช่วงต้นศตวรรษที่ 21 หนังไทยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีในตลาดโลกทั้งหนังเทศกาลและหนังบันเทิงอย่าง ‘องค์บาก’ กับ ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ จนสร้างมูลค่าทางวัฒนธรรมกลับมาให้ประเทศได้มหาศาล แต่แล้วเรากลับปล่อยให้คลื่นลูกนั้นสลายไปต่อหน้าต่อตาอย่างน่าเสียดาย 

ไม่แน่ว่าหากเราจับตาคลื่นระลอกใหม่ของหนังไทยในตลาดโลกอย่างจริงจังและไม่ปล่อยให้มันกระทบฝั่งไปโดยไม่ทำอะไร ด้วยโครงสร้างธุรกิจภาพยนตร์ที่ไม่เหมือนในอดีต มันอาจสร้างมูลค่าเหลือคณาในฐานะ soft power ที่หลายหน่วยงานนิยมนำมาพูดเป็นนโยบายช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งกลไกที่จะช่วยกอบกู้ความเสียหายจากสถานการณ์ปัจจุบันก็เป็นได้

นคร โพธิ์ไพโรจน์
ริจะเบนเส้นทางไปเป็นไลฟ์โค้ชด้านการลดน้ำหนัก แต่เฟลเลยกลับมาเขียนบทความหนังไทยเหมือนเดิม

RELATED ARTICLES