ตื่นเพื่อที่จะฝัน: การตั้งคำถามท้องฟ้าและปมอิดิปัสใน Bodo (1993) และ รักที่ขอนแก่น (2015)

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการกลุ่มชุด “Shadow Dancing: Where Can We Find a Silver Lining in Challenging Times?” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม – 5 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ซอยเกษมสันต์ 2 (รายละเอียดนิทรรศการอยู่ท้ายบทความ)

คำเตือน บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์

Apichatpong Weerasethakul, Cemetery of Splendour; photograph by Chai Siris, courtesy of Kick the Machine Films

“มันจะมีภูเขาอิฐแตกยอดขึ้นมา เหมือนกับต้นไม้ ใบไม้ผลิใบ สูงทะลุเสียดฟ้า ขึ้นรับแสงแดด เห็นอยู่ไกลลิบมากเลย ดูน่ากลัว น่ายำเกรง ดูเหมือนว่าเป็นมวลชีวิตที่ไร้มลทินอะ ดูเหมือนว่าเป็นมืออ่อนของเด็กวัยเยาว์ ก่อนจากไป กำแพงก็บวมปรับรูปร่าง เหมือนรู้ว่าถ้ามันล้มลงจะได้ภาพที่อัศจรรย์มากๆ เลย” 

– โต้ง (ศักดิ์ดา แก้วบัวดี), รักที่ขอนแก่น (2015)

“รักที่ขอนแก่น” เริ่มด้วย รุ่งเช้าวันหนึ่ง เสียงของรถบรรทุกทหารสีเขียวขนาดใหญ่แล่นเข้ามาในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่จังหวัดขอนแก่น ที่ตอนนี้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นโรงพยาบาลรักษาเหล่าทหารชั้นผู้น้อยที่ล้มป่วยด้วยโรคเหงาหลับ เพราะพวกทหารนอนหลับฝันร้ายจึงต้องมีการนำเข้าเครื่องช่วยให้หลับฝันดีซึ่งเคยถูกนำไปใช้ให้กับทหารอเมริกันที่ทำสงครามที่ประเทศอัฟกานิสถานมาแล้ว

ป้าเจน ศิษย์เก่าโรงเรียนประถมฯ แห่งนี้ เธอก้าวย่างด้วยไม้ช่วยเดินเพื่อไปหาเพื่อนในวัยเด็กที่ในวันนี้กลายมาเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ป้าเจนเอาตุ๊กตาผ้าที่เธอถักมาขายให้ญาติของทหารที่กำลังหลับอย่างสบาย เธอจับพลัดจับผลูกลายเป็นอาสาสมัครดูแล อิฐ นายทหารที่นอนตรงตำแหน่งที่เธอเคยนั่งเรียน พร้อมๆ กัน เก่ง สาวโสดผู้มีอาชีพหลักเป็นพนักงานขายครีมยางพารา และผู้รับอาชีพเสริมเป็นร่างทรงให้กับรัฐบาล เธอยังได้อาสามาติดต่อกับวิญญาณทหารให้กับญาติด้วย

วันหนึ่งขณะป้าเจนนั่งกินลองกองที่ศาลาในสวนไดโนเสาร์ล้านปีข้างห้องสมุด ก่อนจะพบว่ามีวิญญาณเจ้าแม่สองนางมานั่งด้วย ทั้งสองเตือนเธอว่าใต้โรงเรียนแห่งนั้นเป็นหลุมพระศพของพระราชาที่กำลังดูดพลังของทหาร (ในปัจจุบัน) ไปใช้ในการสู้รบที่ไม่มีวันจบสิ้น

“รักที่ขอนแก่น” พยายามตั้งคำถามแนวคิด อำนาจอธิปัตย์ (หมายถึงสิทธิในการสร้างความรุนแรงได้โดยพ้นผิด) ซึ่งเป็นการส่งความเหนือมนุษย์ไปสู่มนุษย์ซึ่งพบในหลายๆ สังคมชนเผ่า แต่อำนาจเบ็ดเสร็จในสังคมชนเผ่าจะถูกส่งเพียงแค่ช่วงทำพิธีกรรมที่มนุษย์จะสื่อสารกับพระเจ้า คนที่ออกอำนาจมิใช่พระเจ้า เขาเป็นเพียงเป็นตัวแทนอำนาจจากสวรรค์ ผู้ที่รับเอาอำนาจจากสวรรค์ในช่วงพิธีกรรมก็มิได้ต่างจากคนอื่นๆ ในเผ่า ในขณะที่ความเป็นเจ้า/กษัตริย์ กลับครอบครองอำนาจอธิปัตย์ด้วยตำแหน่ง ซึ่งมีอำนาจทั้งปวงเหนือชีวิตผู้ที่อยู่ใต้ปกครองเมื่อเขาปรากฏตัว นี่จึงทำให้เกิดการสร้างกฎระเบียบ/มณเฑียรบาลที่ทำให้กษัตริย์ต้องอยู่กับที่เสมอ กฏข้อห้ามทั้งหลายแม้จะตรึงกษัตริย์ไว้แต่ก็ส่งเสริมให้กษัตริย์เป็นสิ่งมีชีวิตเหนือโลก (transcendent)1David Graeber. Marshall Sahlins (2017). On Kings

อำนาจอธิปัตย์ใน “รักที่ขอนแก่น” ถูกนำเสนอผ่านท้องฟ้า สีฟ้า และวิญญาณกษัตริย์ที่ดูดพลังของทหารไปใช้ในการต่อสู้กับศัตรู เป็นที่รู้กันดีว่า สถาบันกษัตริย์ไทยถูกฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งหลังการอภิวัฒน์สยาม (ค.ศ. 1932) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหารในปี ค.ศ. 1957 ซึ่งเป็นผลจากการร่วมมือกันระหว่างสหรัฐฯ สถาบันกษัตริย์ และกองทัพนำโดยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (รูปภาพในโรงอาหารในโรงเรียน) ชนชั้นนำไทยมองว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์ไม่อาจไปได้กับวิถีไทย พวกเขามองว่าสังคมไทยมีธรรมเนียมที่ยึดติดกับสถาบันกษัตริย์และศาสนาพุทธ2Sutayut Osornprasop (2007). Amidst the Heat of the Cold War in Asia: Thailand and the American Secret War in Indochina (1960 –74) รัฐบาลอเมริกาภายใต้การนำโดยประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์อนุมัติแผนงานต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ด้วยสงครามจิตวิทยาโดยการสร้างภาพลักษณ์ให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็น “สัญลักษณ์แห่งชาติ” อีกทั้งรัฐไทยกลายเป็นฐานทัพให้รัฐบาลอเมริกันแทรกแซงกิจการภายในของประเทศแถบอินโดจีน3ณัฐพล ใจจริง (2552). การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500)

ตลอดช่วงที่สฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ความด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจของอีสานถูกมองว่าเป็นปัญหาซึ่งความไม่พอใจของประชาชนอาจนำไปสู่การซ่องสุมกำลังคอมมิวนิสต์ แผนพัฒนาอีสานจึงถูกแยกออกมาเฉพาะในแผนการพัฒนาชาติไทยระยะห้าปีซึ่งได้รับคำแนะนำจากธนาคารโลกในปี ค.ศ. 19624Maurizio Peleggi (2016). Excavating Southeast Asia’s prehistory in the Cold War: American archaeology in neocolonial Thailand โดยที่แผนพัฒนาอีสานถูกร่างครั้งแรกที่จังหวัดขอนแก่น5เสนาะ อูนากูล (2564). งานสัมมนาเรื่องระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC – Bioeconomy) : ศักยภาพโอกาสและความท้าทาย ดังนั้นแล้วจังหวัดขอนแก่นนอกจากจะเป็นพื้นที่ที่อภิชาติพงศ์เติบโตขึ้นมาและความทรงจำของเขาค่อยๆ ก่อร่างสร้างขึ้นมา ขอนแก่นยังเป็นพื้นของความขัดแย้ง ช่วงชิงและการยึดครองจากรัฐไทย

ท้องฟ้าเป็นสิ่งที่อภิชาติพงศ์หันมาตั้งคำถาม ในภาพยนตร์เราเห็นตัวละครหลายตัวสวมเสื้อผ้าสีฟ้า ไปจนถึงฉากพารามีเซียมลอยเด่นบนท้องฟ้า การตั้งคำถามกับฟ้าดูจะเป็นสิ่งที่น่าถกเถียง เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดตระกูลภาษาขร้า-ไทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บรรพบุรุษคนสยามและลาวต่างมีความเชื่อเรื่องผีฟ้าผีแถนซึ่งมีมาก่อนการรับเอาศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธจากอินเดียผ่านชาวเขมรและมอญ6Pattana Kitiarsa (2005). Beyond Syncretism: Hybridization of Popular Religion in Contemporary Thailand. Journal of Southeast Asian Studies / Volume 36 / Issue 03 / October 2005, pp 461 – 487 DOI: 10.1017/S0022463405000251, Published online: 08 September 2005 ต่างจากผู้ใช้ภาษาตระกูลออสโตรนีเชียน (ได้แก่ ชาวเล ชาวมอแกนทางใต้ของไทย) ซึ่งเดินทางมาจากไต้หวันราว 4,000 ปีที่แล้ว พวกเขายังคงบูชาผีบรรพบุรุษเป็นสำคัญ แม้ว่าปัจจุบันบางส่วนจะหันไปนับถือศาสนาอิสลาม

ผีแถน (อาจมาจาก Ti’en แปลว่าท้องฟ้าในภาษาจีน7ยุกติ มุกดาวิจิตร (2557). ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ของคนไทดำอาจเป็นจุดเริ่มต้นของเทวราชาหรือไม่ แต่ผีแถนที่มีลักษณะคล้ายกับอำนาจอธิปัตย์ นั้นก็ไม่ได้สถิตย์ถาวรตามตำแหน่ง เพราะอำนาจจากฟ้าจะถูกส่งผ่านมายังคนทรงเพียงบางช่วงเวลาเท่านั้น และคนทรงก็มิได้มีอำนาจในการออกกฎหรือคำสั่งนอกเสียจากว่าเวลาที่เข้าทรง อำนาจอธิปัตย์ถูกส่งผ่านจึงถูกจำกัดด้วยเวลา อำนาจอธิปัตย์จึงขึ้นกับเวลา มิได้ขึ้นกับสถานที่หรือตำแหน่ง แล้วอำนาจอธิปัตย์ของกลุ่มคนพูดตระกูลภาษาขร้า-ไทถูกทำให้หลุดพ้นจากโลก (transcendent) อย่างถาวรเมื่อใด ไม่มีใครทราบได้

การท้าทายอำนาจอธิปัตย์พบได้ทั่วไปใน “รักที่ขอนแก่น” โลกกึ่งจริงกึ่งฝันที่มีสัตว์ประหลาดหน้าตาคล้ายอวัยวะเพศชายที่ถูกตอนหรือหดเหี่ยวไร้สมรรถภาพ สถานะเพศชายถูกเยาะเย้ยผ่านฉากที่เก่ง ป้าเจน และเพื่อนพยาบาลล้อเลียนอวัยวะเพศของทหารหนุ่มกำลังแข็งตัว ขอนแก่นในจินตนาการจึงเป็นโลกของการต่อต้านปมอีดิปัส/อีเล็คตร้า เป็นโลกที่หันหลังและตั้งคำถามกับการยกย่องการขาดอวัยวะเพศชาย เพศชายที่เป็นเหมือนต้นไม้ขนาดใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านและแตกรากแก้วออกไปเรื่อยๆ 

นี่จึงชี้ให้เห็นสถานะของป้าเจนที่ดูเหมือนว่าจะเป็น “ทาส” ในระบบเจ้า/ทาส5 ของรัฐไทย เช่น เธอชื่นชมทหารว่ารักชาติ เธออดทนกับการขายของเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง เธอดำรงชีวิตอย่างลำบากและต้องไขว่คว้าหาโอกาสด้วยตนเองโดยมิได้ตั้งคำถามถึงอำนาจอธิปัตย์ ในจักรวาลของ “รักที่ขอนแก่น” แสดงให้เราเห็นการเปลี่ยนผ่านของสถานะการเป็น “ทาส” ของป้าเจนไปสู่องค์ประธานของการเปลี่ยนแปลง เช่น การใช้สมุนไพรที่ต่อต้านมโนทัศน์ของการแพทย์สมัยใหม่ ป้าเจนพยายามตั้งคำถามกับอำนาจอธิปัตย์ด้วยการที่เธอพยายามถ่างตาให้สว่างเพื่อจะตื่นจากวงจรความฝันร้ายนี้เสียทีในตอนท้ายของภาพยนตร์

“รักที่ขอนแก่น” ชี้ให้เราเห็นโลกที่อำนาจของชายเป็นใหญ่และอำนาจอธิปัตย์ที่ซ่อนภายใต้โวหารของความใสซื่อบริสุทธิ์ ดูอยู่เหนือพ้นการเมือง (อันสกปรก) แต่จริงๆ แล้วกลับเปราะบางแตกหักง่ายและอ่อนไหวกับการวิพากษ์วิจารณ์ “รักที่ขอนแก่น” ย้ำเตือนว่าในจิตไร้สำนึก/โลกของความฝัน และการสัมผัสโลกอีกแบบผ่านภาพยนตร์ ทำให้เราเห็นเหมือนกับที่ป้าเจนกล่าวกับอิฐหลังจากที่อิฐพาชมพระราชวังล่องหน ว่า “ตอนนี้ ป้ามองเห็นหมดแล้วว่าใจกลางของอาณาจักร นอกจากทุ่งนา ก็ไม่มีอะไรอีกแล้ว”

“รักที่ขอนแก่น” เสนอให้เราเห็นถึงความรักแบบอื่นๆ ที่มิใช่รักรัฐประชาชาติหรือรักอำนาจอธิปัตย์ ที่เป็นการรักเพราะรู้สึกขาด เสมือนว่าเป็นรักที่เราถูกสาปให้เป็นพลเมืองที่ต้องพึ่งพิงรัฐตั้งแต่เกิดจนตาย ราวกับเราขาดรัฐมิได้ ราวกับว่าเรากลัวถูกตอนอวัยวะเพศ (ในเพศชาย) และอิจฉาอวัยวะเพศชาย (ในเพศหญิง) ในทางตรงกันข้าม “รักที่ขอนแก่น” เสนอให้เราเห็นถึงรักและปรารถนาที่ตัดข้ามพ้นสัญชาติ เพศ อายุ ชนชั้น มนุษย์และอมนุษย์ “รักที่ขอนแก่น” เสนอให้เรารักผีของคนตัวเล็กตัวน้อย ผีของสรรพสิ่งในระนาบเดียวกัน เพราะความรักที่มิใช่การคลั่งและการจัดแบ่งประเภทของสรรพสิ่งแบบอนุกรมวิธาน

อิฐกล่าวกับป้าเจนว่าจริงๆ แล้วเขาอยากขายขนมเปี๊ยะสไตล์ไต้หวันมากกว่าจะใช้ชีวิตเป็นคนใช้ให้นายพล ก่อนที่เขาจะม่อยหลับลงอีกครั้ง นี่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของสถานะทาส (object) ของอิฐในฐานะพลทหารที่ชินชา เขาฝันที่จะมีชีวิตแบบอื่นๆ การพยายามตั้งคำถามของอิฐต่อระบอบอำนาจนิยมทหารก็คือการกลายเป็นองค์ประธานของการเปลี่ยนแปลง (Subject) การเป็นองค์ประธานของทั้งอิฐและป้าเจนคือการอยู่ในสภาวะของความไม่แน่นอน คือการอยู่ในสภาวะของการกึ่งหลับกึ่งตื่นมากกว่าจะหยุดนิ่งในสถานะใดสถานะหนึ่ง ที่เป็นเพียงแค่การตื่นหรือการหลับ นั่นเพราะองค์ประธานคือศักยภาพในการกลายเป็นสิ่งอื่นๆ องค์ประธานจึงเหมือนการถูกผีอำ ซึ่งเป็นการตื่นขณะที่เรากำลังหลับและอนุญาตให้ร่างกายเปิดรับผัสสารมณ์แบบอื่นๆ 

นี่อาจเป็นการอธิบายสภาวะกึ่งกลับกึ่งตื่นใน “รักที่ขอนแก่น” และการพยายามอยากจะตื่นของอิฐและป้าเจน แม้ว่าสุดท้ายทั้งคู่จะถูกทำให้ม่อยหลับลงอีกครั้ง แต่อย่างน้อยการหลับก็ทำให้เราได้จินตนาการถึงความเป็นไปได้บนพื้นที่และเวลาแบบอื่นๆ และเป็นการเผชิญหน้ากับจิตไร้สำนึกอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ 

“รักที่ขอนแก่น” ย้ำเตือนว่า การฝันร้ายมิใช่เรื่องผิดหรือต้องห้าม ฝันร้ายต่างหากที่เป็นการพยายามปลดแอกตนเองจากปม (ที่ไม่มีอยู่) ปัญหาของทั้งปัจเจกและชุมชน ภายใต้อำนาจอธิปัตย์ที่แสร้งว่ายิ่งใหญ่สถาพร ฝันร้ายจึงเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญหน้า มิใช่หลบหลีกด้วยการใช้เครื่องให้ฝันดี แม้ว่าจะมีบางสิ่งพยายามให้เราลุ่มหลงกับความฝันตลอดกาลก็ตาม

Huang Ming-Chuan, Bodo (寶島大夢), 1993.

“ตอนที่ฉันยังมีชีวิต ฉันมักฝันกลางวันว่าได้ล่องเรือไปในทะเล ทิ้งเครื่องแบบทหารไว้บนฝั่ง ปล่อยให้คลื่นกลืนร่างกายจนเป็นส่วนหนึ่งของทะเล จนกระทั่งมีคลื่นสีขาวมหาศาลที่พยายามจะดึงตัวฉันกลับไปที่ฝั่ง คุณต้องฟังนะ คลื่นทุกลูกที่ถูกซัดเข้าฝั่งเต็มไปด้วยเสียงร่ำไห้คนผู้คนที่ตายในสงครามที่ไม่เคยเกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ”

– เสียงของผีตนหนึ่งบนเกาะโบโด

การอยากหนีจากการเป็นทหารของอิฐ และการอยากตื่นจากฝันร้ายของป้าเจนดูจะเป็นสิ่งเดียวกันกับเรื่องราวที่ อากิ อดีตนายทหารหัวหน้ากองเล่าถึงความทรงจำ Bodo (1993) ภาพยนตร์ขนาดยาวโดย Huang Ming-Chuan ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่าสะเปะสะปะกึ่งจริงกึ่งฝันคล้ายความทรงจำบนสมุดบันทึกของอิฐที่ป้าเจนแอบอ่าน บางทีมันก็เล่าถึงการได้ไปเที่ยวแก่งกระจาน บางทีก็เล่าถึงความเจ็บปวดของคนเสื้อแดงและการติดคุกของอากง 

เช่นเดียวกับ Bodo ที่ในบางครั้งก็เล่าเรื่องรักสามเส้าระหว่างอากิ ยิซาน นายทหารที่หนีออกจากค่าย และกังฮัว หญิงสาวที่ยอมแลกเรือนร่างเพื่อที่จะได้เจอพ่อผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และถูกทหารก๊กมินตั๋งจับตัวไปขังตั้งแต่กังฮัวยังเด็ก บางครั้ง Bodo ก็ฉายให้เห็นภาพบ้านเรือนของชนพื้นเมืองผู้ใช้ภาษาตระกูลออสโตรนีเชียน บ้านร้างที่ว่างเปล่าผุพัง บ้านของชนพื้นเมืองที่ถูกไล่ที่และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเหี้ยมโหดในช่วงความน่าสะพรึงสีขาว (White Terror)

ภาพยนตร์ Bodo ดูจะเป็นปฏิกิริยาตอบโต้หลังสิ้นสุดกฎอัยการศึกที่ควบคุมไต้หวันตั้งแต่ ค.ศ. 1949 – 1987 กฎอัยการศึกเริ่มต้นไม่นานหลังจากที่เจียง ไคเชกหนีถอยร่นมาอยู่ที่ไต้หวัน ซึ่งส่งผลให้เกิดแรงปะทะระหว่างคนไต้หวันและทหารพรรคก๊กมินตั๋ง โดยการสังหารหมู่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947 ถือเป็นจุดกำเนิดของความน่าสะพรึงสีขาว เหตุการณ์วันนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตซึ่งมีการคาดการประมาณว่าอยู่ระหว่าง 5,000 ถึง 28,000 คน8Andrew Alan Johnson (2020). Mekong Dreaming: Life and Death Along a Changing River

เป็นที่ทราบกันดีว่าภายใต้ช่วงความน่าสะพรึงสีขาวและการดำรงตำแหน่งประธานของพรรคกั๋วหมินตั่งได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐบาลสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ 1950 ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน (Harry S. Truman) ประกาศว่ารัฐบาลสหรัฐจะไม่ให้ความช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำทางทหารแก่จีนในการรุกรานไต้หวัน ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เกาหลีเหนือรุกรานเกาหลีใต้ในเดือนมิถุนายน 1950 รัฐบาลสหรัฐจึงถือว่าเป็นก้าวแรกที่ภัยคอมมิวนิสต์คุกคามโลก ประธานาธิบดีทรูแมนจึงออกคำสั่งให้กองเรือเข้าคุ้มครองช่องแคบไต้หวัน ซึ่งโดยนัยคือการสนับสนุนระบอบการปกครองของพรรคก๊กมินตั๋ง สหรัฐได้ให้การ ช่วยเหลือทางทหารแก่ก๊กมินตั๋ง ผ่านทางสำนักข่าวกรองกลางหรือ CIA (Central Intelligence Agency) จากปี ค.ศ.1951 – 1978 สหรัฐให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ไต้หวันในหลายด้าน รวมทั้งผ่านหน่วยงานที่ปรึกษาทางทหารคือ “Military Advisory Assistance Group” (MAAG) ที่มีสำนักงานใหญ่ในไทเป9Forsythe, Michael (July 14, 2015). “Taiwan Turns Light on 1947 Slaughter by Chiang Kai-shek’s Troops”. The New York Times.

Bodo ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองของเกาะไต้หวันที่แปลว่าเกาะแห่งขุมทรัพย์ อีกชื่อหนึ่งคือเกาะฟอร์โมซาซึ่งถูกตั้งโดยชาวโปรตุเกสตั้งแต่ทศวรรษ 1500 เกาะไต้หวันกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อำนาจโลกตะวันตกและตะวันออกแย่งมาราวๆ 400 ปี ซึ่งคนพื้นเมืองดั้งเดิมได้แก่ กลุ่มคนที่พูดตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนซึ่งอาจเดินทางถึงทางเหนือของเกาะไต้หวันราว 6,000 ปีที่แล้ว ก่อนจะกระจายไปทั่วเกาะถึงตอนใต้ และออกจากไต้หวันเมื่อราว 4,000 ปีที่แล้ว ต่อมาจึงเดินทางมาถึงหมู่เกาะทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้10Albert Min-Shan Ko (2014). Early Austronesians: Into and Out Of Taiwan. The American Journal of Human Genetics 94, 426–436, March 6, 2014 ได้แก่ ทางตอนใต้ของรัฐไทย

Bodo ยังเป็นชื่อของตัวละครชายผู้ร่อนเร่ (และเป็นผู้ที่สื่อสารกับผีได้) ทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน เขาเป็นเพื่อนกับพ่อของยิซาน ผู้พลัดพรากลูกมาสิบปีและต้องการพบกับยิซานก่อนจะทราบว่าเขาหลบหนีจากค่ายทหารพร้อมๆ กับการเสียชีวิตอย่างปริศนาของร้อยเอกฮวง (ซึ่งต่อมาทราบว่าร้อยเอกฮวงซ้อมยิงปืนเล่นแล้วพลาดกับยิซานด้วยการยิงกระป๋องที่วางไว้บนหัวของร้อยเอกฮวง) อากิเป็นผู้ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในการสืบสวนและพบกับสมุดบันทึกของร้อยเอกฮวงซึ่งเต็มไปด้วยภาพลามกอนาจาร หลังจากนั้นอากิก็เริ่มฝันร้าย ภาพและเสียงจากสมุดบันทึกก้องในหัว เหมือนว่าแรงปรารถนาทางเพศถูกปลดปล่อยออกมาอย่างไม่อาจควบคุมได้

Huang Ming-Chuan, Bodo (寶島大夢), 1993.

ถ้าหาก “รักที่ขอนแก่น” มีท่าทีของการพยายามทำลายอำนาจเผด็จการทหารและชายเป็นใหญ่ Bodo ก็เช่นกัน ผ่านตัวละครเพศชายจำนวนมากที่ไม่เป็นการเป็นงาน เพราะไม่มีการสู้รบจริงๆ กองทัพจึงเป็นการป้องกันศึกภายในมากกว่าศึกภายนอก เกาะไต้หวันจึงปกคลุมด้วยความเฉื่อยชาและน่าเบื่อ ชีวิตที่ดำเนินอย่างเชื่องช้าเปิดเผยให้เห็นแรงปรารถนาทางเพศภายใต้เครื่องแบบทหาร ความฝันและสมุดบันทึกจึงเป็นพื้นที่ของการปลดปล่อยอารมณ์ ชายร่อนเร่พบกับพ่อของยิซานครั้งแรกที่แท่งหินสูงยาวคล้ายอวัยวะเพศชาย พ่อที่ต้องการพบลูกที่พลัดพราก อากิที่ต้องการล้วงความลับชีวิตร้อยเอกฮวงผ่านสมุดบันทึก นั่นเพราะร้อยเอกฮวงมีความสัมพันธ์กับกังฮัว สาวที่อากิแอบชอบ อากิจึงอยากเป็นชายชาติทหารและนักรักแบบที่ร้อยเอกฮวงเป็น การอยากเป็นชายในฝันของอากิจึงมีท่าทีแบบปมอิดิปัส แต่สุดท้ายเขาก็ล้มเหลวเมื่อพบว่ากังฮัวชอบยิซาน และตรงกันข้ามพ่อที่ตามหาลูกชายจึงเป็นเหมือนด้านกลับของปมอิดิปัส

Bodo จึงเป็นเรื่องของการต่อต้านปมอิดิปัส เป็นการเสนอให้เห็นซากปรักหักพังและการล่มสลายของระบอบชายเป็นใหญ่ ด้านกลับของปมอิดิปัสจึงเสนอให้เราสำรวจสถาปัตยกรรมของป้อมปราการร้างและฝันร้าย พ่อตามหาลูกจึงเป็นการกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง การละเล่นและร้องเพลงของพ่อยิซานจึงการกลับไปเป็นเด็กและเชื่อมโยงกับคนไร้บ้าน นี่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบแนวระนาบที่เป็นการพบกันเพื่อแยกจากกัน (มิใช่การเจอกันเพราะการขาด) เป็นการพบกันของพ่อยิซานกับคนไร้บ้านซึ่งท้ายที่สุดก็จากกัน (เพราะเสียชีวิตจากอากิยิง) เป็นการพบกันของพ่อและยิซานที่ต่างฝ่ายต่างเผชิญหน้ากันและแยกจากกัน และเป็นการพบกันของยิซานและกังฮัว ที่พลัดพรากจากกันหลังจากนั้น รัฐ (เช่นเดียวกับความสัมพันธ์) ไม่ได้มีอยู่จริง รัฐเป็นการรวมกันของความแตกต่างหลากหลายของสิ่งต่างๆ ที่มีที่มาแตกต่างกันและต้องมาเจอกันในเวลาและสถานที่หนึ่งๆ และปัจจุบันกำลังเข้าสู่กระบวนการของการแยกจากกัน1 รัฐจึงเป็นเรื่องของการประกอบและพังทลายมากกว่าสถานะที่หยุดนิ่งตายตัว เช่นเดียวกับอำนาจอธิปัตย์ที่สร้างได้และถูกทำลายได้

ด้านกลับของปมอิดิปัสจึงเป็นการเสนอให้เราเห็นถึงอัตลักษณ์ที่แตกสลายของเกาะไต้หวัน เป็นคนร่อนเร่ที่ล่วงรู้ความลับของอากิ เป็นหนุ่มสาวที่หนีอิทธิพลของทหาร เป็นซากบ้านเรือนของชนพื้นเมืองและปราการที่รกร้าง เป็นผีที่เข้าสิงโบโดและความฝันของอากิ เกาะไต้หวันจึงเป็นพื้นที่ของการต่อต้านอัตลักษณ์ที่หยุดนิ่ง เป็นดินแดนที่ปฏิเสธแก่นสารหรือสารัตถะ เป็นเรือนร่างที่ดิ้นหนีจาการควบคุมบงการแบบลำดับชั้น 

แม้ว่าเกาะไต้หวันจะผ่านพ้นกฎอัยการศึกมาสามสิบกว่าปีแล้ว แต่ฝันร้ายจากเหตุการณ์ฆ่าล้างคอมมิวนิสต์ยังไม่เลือนหาย ประวัติศาสตร์ไต้หวันกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเป็นเรื่องที่ซับซ้อน การพยายามอย่างไม่เต็มใจของพรรคกั๋วหมินตั่งผ่านการ “ซื้อความสงบ” ด้วยการเยียวยาให้เงินเหยื่อของผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะพวกเขาต้องการมากกว่าเพียงแค่ประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนได้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนและเงินชดเชย พวกเขาต้องการได้รับการยอมรับผิดและการดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างจริงจัง รวมไปถึงการยุติการรวบอำนาจของพรรคก๊กมินตั๋ง คนไต้หวันสนใจถึงปัจจุบัน (นึกถึงฉากใน “รักที่ขอนแก่น” เมื่อเก่งพยายามจะดูอดีตชาติของทหารที่นอนหลับ แต่ภรรยาของเขาบอกกับเก่งว่า “ไปดูอดีตทำไม ดูปัจจุบันสิ”) พวกเขาเป็นห่วงครอบครัว การมีงานทำและมีเงินใช้จ่าย อดีตคืออดีต และที่ผ่านมาผู้นำของพรรคก๊กมินตั๋งก็ทำเพียงแค่ออกมาขอโทษอดีตและให้เงินเยียวยาซึ่งนั่นไม่เพียงพอเพราะเป็นเพียงแค่การเลื่อนเวลาความออกไปเท่านั้น ไต้หวันจะไม่อาจเดินหน้า การกระทำของพรรคก๊กมินตั๋งจะยังหลอกหลอน11Albert Min-Shan Ko (2014). Early Austronesians: Into and Out Of Taiwan. The American Journal of Human Genetics 94, 426–436, March 6, 2014 หากไม่ทบทวนอดีตอย่างจริงจังผ่านความพยายามทางกฎหมายในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

อย่างถึงที่สุด ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องแม้จะต่างภูมิภาคหากแต่มีจุดเชื่อมโยงคือการเสนอให้ใคร่ครวญถึงประวัติศาสตร์บาดแผลอย่างจริงจัง บาดแผลหรือฝันร้ายมิใช่สิ่งที่ง่ายในการเผชิญหน้า บาดแผลและภูติผีจะยังคงเป็นสิ่งที่หลอกหลอนโลกสมัยใหม่ โลกที่เน้นย้ำถึงการก้าวผ่านไปข้างหน้า แต่เราจะก้าวย่างอย่างไร เพราะอดีตก็มีพลังอำนาจทั้งในเชิงฉุดรั้งปัจจุบัน และในทางที่อดีตชวนให้ปัจจุบันกลับไปเพิ่งพินิจ อดีต/ผีที่มีอำนาจแบบลำดับชั้น ผีแบบเทวราชาที่กลายร่างไปเป็นรัฐประชาชาติ การศรัทธากษัตริย์เปลี่ยนไปเป็นศรัทธาผู้นำรัฐบาล/คณะรัฐประหาร หรือรักชาติบ้านเกิดเมืองนอน ผีที่มีลำดับชั้นและหลุดพ้นจากโลกแบบนี้ดูจะเป็นสิ่งภาพยนตร์สองเรื่องตั้งคำถามและท้าทาย พร้อมๆ กัน ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องก็เสนอให้เราหันกลับไปมองผีอีกแบบ ผีของชนเผ่า ผีของคนธรรมดาสามัญ ผีของบรรพบุรุษที่ถูกบังคับสูญหาย และผีของพี่น้องที่ถูกรัฐพรากไป ภาพยนตร์ทั้งสองชวนให้เราคิดถึงการสร้างเครือข่ายในแนวระนาบ เครือข่ายของผู้กระทำการในฐานะผู้ปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลง การได้เข้าให้ห้วงภวังค์ของความฝัน (ร้าย) ของภาพยนตร์ทั้งสองจึงเป็นเพื่อการตื่นขึ้นอีกครั้ง หากแต่เป็นการตื่นเพื่อที่จะฝัน และเป็นการฝันเพื่อที่จะตื่น


เกี่ยวกับนิทรรศการ Shadow Dancing: Where Can We Find a Silver Lining in Challenging Times?

Shadow Dancing เปิดเผยเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์กระแสรองที่ทำให้เราครุ่นคิดพิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์ของชีวิตความเป็นอยู่ในโลกที่ซับซ้อนและมีหลากหลายแง่มุม โดยหยิบยืมมโนทัศน์ของการเคลื่อนไหวในความมืด อันเป็นพลวัตที่ตรงข้ามกับความชัดแจ้งและความชอบธรรม ในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน และเมื่อเราต้องจมอยู่กับความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ เราจะมองหาแสงสว่างในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้ได้จากที่ไหน? วิถีการดำเนินชีวิตของเราถูกรบกวนและเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ยังไม่นับความจริงที่ว่าเราต่างดำเนินชีวิตภายใต้การควบคุมจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกมาโดยตลอด ในทำนองเดียวกัน Shadow Dancing ยังพาดพิงถึงประวัติศาสตร์อันซับซ้อนและตำแหน่งทางภูมิศาสตร์การเมืองของไต้หวัน ตลอดจนสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองที่ปั่นป่วนในประเทศไทยที่คล้ายกับถูกม่านหมอกสีดำปกคลุมไปทั่ว ด้วยเหตุนี้ ผลลัพธ์จากการพบปะพูดคุยและการวิจัยออนไลน์ตลอดระยะเวลาสี่เดือน โดยศิลปินชาวไต้หวันและชาวไทยทั้ง 8 คน ประกอบด้วยผลงานศิลปะสหสาขา ที่เน้นประสบการณ์และการมีส่วนร่วม รวมถึงศิลปะวิดีโอการแสดงและศิลปะจัดวางเสียง ซึ่งผลงานของแต่ละศิลปินต่างสะท้อนมุมมองอันหลากหลายและเสนอการอภิปรายอันล้ำลึกหลายชั้นและต่อเนื่องจากทั้งสองฝั่ง

ศิลปินที่ร่วมจัดแสดง: กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, ปณชัย ชัยจิรรัตน์, ศรภัทร ภัทราคร, หลิน อี๋-จวิน, เอนคาริอน อัง, เจิง เยี่ยน-อวี๋ และ เจิ้ง ถิงถิง

กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ
ทำงานด้านสาธารณสุขอยู่แถบอีสานใต้ งานอดิเรกคือเขียนถึงงานศิลปะและภาพยนตร์

RELATED ARTICLES