“ราวกับเสียงยังคงก้องอยู่ในแกนกลางของโลก” เสียงในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

หากว่ากันตามจริง เสียงในภาพยนตร์สักหนึ่งเรื่อง อาจถูกไม่ได้ให้ความสนใจต่อคนดูเทียบเท่ากับความตื่นตาของภาพที่ฉายขึ้นบนจอ เสียงอาจเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบที่ส่งเสริมความน่าตื่นเต้นของภาพ ความฉูดฉาดล่อตาล่อใจ หรือแสงสีสันอันสวยงามของภาพมักจะดึงดูดให้เราเข้าไปอยู่ในมิติของหนัง แต่กลับกลายเป็นว่าหนังของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ทำให้ผู้ชมต่างแบ่งความสนใจไปที่เสียงของหนังเรื่องนั้นๆ มากขึ้น จากภาพและเสียงที่เกื้อหนุนต่อกัน ก่อนที่ Memoria จะปรากฎตัวขึ้นพร้อมกับปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจของเสียง ผู้ที่ได้รับชมหรือผู้ที่เห็นแม้แต่เพียงแค่ตัวอย่าง ก็ถึงกับสนใจถึงเรื่องเสียงของหนัง การดีไซน์เสียง “ปัง” ของหนัง เสียงกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ดึงดูดคนให้เข้าไปรับชมเป็นประสบการณ์ทางภาพยนตร์โดยทันที ในช่วงที่บทความนี้ออก หนังนั้นเริ่มฉายไประยะหนึ่งแล้ว แต่อย่างน้อยบทความนี้อาจพาไปทำความเข้าใจความสำคัญของเสียง และองค์ประกอบของเสียงที่มีในหนังของ “พี่เจ้ย” ในเรื่องก่อนหน้านี้ได้มากขึ้น

Metaphors: Selected Soundworks from the cinema of Apichatpong Weerasethakul

เมื่อเปิดฟังอัลบั้ม Metaphors: Selected Soundworks from the cinema of Apichatpong Weerasethakul จะมีเสียงที่เป็น ambient ที่ไม่ใช่เพลงแนวใดก็ตามอยู่เต็มๆ ถึง 2 แทร็ก ซึ่งก็คือ Dawn of Boonmee ที่อยู่ในเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ และ Roar ที่อยู่ในเรื่องสัตว์ประหลาด! ศิลปินที่ถือเครดิตในการสร้างแทร็กทั้งสองนี้ชื่อ อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร ผู้ที่เราเคยเห็นในฐานะของนักออกแบบเสียงคู่บุญคนหนึ่งของอภิชาติพงศ์ แต่ละแทร็คที่มีความยาวประมาณ 8 นาที นั้นเป็นเพียงแค่การอัดเสียงบรรยากาศประกอบการวางดีไซน์เสียงเข้าไป อาจจะเป็นการให้เราฟังแล้วนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องน้้นๆ เป็นการแสดงถึงการให้ความสำคัญกับเสียงบรรยากาศเหมือนเป็นเสียงซาวด์แทร็กประกอบ ซึ่งเท่าที่เห็นในอัลบั้มซาวด์แทร็กนั้นมีน้อยมากที่จะมีการนำเสียง ambient ล้วนๆ เข้ามาอยู่ในอัลบั้มให้ฟังอย่างจริงจัง โดยที่ไม่มีเสียงเพลงอื่นมาคลอ ปูทับ หรือผสมลงไปด้วย ทำไมเสียง ambient นั้นจึงมีความสำคัญต่อหนังอภิชาติพงศ์ขนาดนั้น แทนที่เสียงเหล่านั้นจะมีหน้าที่แค่เติมมิติบรรยากาศเข้าไปให้เหมือนสถานที่จริงมากขึ้นแค่นั้นเอง

ส่วนใหญ่แล้วหนังของอภิชาติพงศ์จะเต็มไปด้วยเสียงบรรยากาศของหนัง ไม่มีเสียงเพลงของหนังมากเท่าที่จำเป็น หรืออาจจะมีเพียงแค่สกอร์ของหนังที่คลอเคลียไปกับหนังมากกว่าจะโดดเด่นขึ้นมาจนแย่งความสนใจของเสียงอื่นๆ ที่มีอยู่ในหนังไปเสียหมด กล่าวว่าถ้าในเฟรมภาพเราเห็นสิ่งใด เราก็จะต้องได้ยินเสียงนั้นๆ แต่ว่าเสียงบรรยากาศในหนังของอภิชาติพงศ์จะถูกเร่งขึ้นมาเป็นพิเศษ บางทีอาจกลืนเสียงเพลง กลืนบทสนทนา จนทำให้เราฟังไม่ได้ศัพท์ หรือฟังไม่ชัด ไม่ใช่ว่าหนังไม่ได้ทำการมิกซ์เสียงอย่างไม่ดี แต่มันคือการจงใจกลบฝัง เพราะบทสนทนาต่อหน้าอาจมีความสำคัญต่อคู่สนทนาที่อยู่ในเฟรมเท่านั้น เราในฐานะผู้สังเกตการณ์จึงมีอภิสิทธิ์เพียงแค่การรับฟังอยู่ห่างๆ เมื่อเฟรมภาพอยู่ใกล้เราอาจจะได้ยินเสียงบทสนทนาชัดขึ้น แต่ถ้าเป็นเฟรมภาพขนาดกว้าง เราอาจจะได้ยินเสียงบทสนทนาน้อยลง หนังค่อยๆ ทอนความสำคัญของเสียงพูดลงไป ผู้ชมจะต้องจับจดในการฟังและค่อยๆ ถอดความของมันออกมา เสียงบรรยากาศต่างๆ คอยรบกวนผู้ชมอยู่เสมอ คล้ายกับว่าเราอยู่ในนั้น ในป่าแห่งนั้น ในเมืองแห่งนั้น อยู่อย่างใกล้ชิด แม้จะไม่ได้เห็นภาพของจิ้งหรีด แมลง สิงสาราสัตว์ หรือโรงงานอยู่ในเฟรมภาพก็ตาม

ฟังก์ชั่นของเสียง ambient หรือเสียงธรรมชาติในหนังของอภิชาติพงศ์นั้นจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เสียงที่เพิ่มมิติของเฟรมภาพให้สมบูรณ์ แต่มันกลับมีพลังมากกว่านั้น ในบทความทางภาพยนตร์ของ Phillippa Lovatt เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่างานทางด้านเสียงในหนังของอภิชาติพงศ์นั้นสามารถดึงเอาความรู้สึกในการจำนั้นกลับมา โดยปกติแล้วเราจะคุ้นชินกับการใช้ภาพดึงความทรงจำเรากลับไปยังสิ่งที่เราเคยผ่านมา เช่น รูปถ่าย หรือภาพย้อนอดีตในหนังเรื่องต่างๆ ที่เวลาเราเห็นเราจะนึกออกทันทีว่า นี่คือภาพที่อยู่ในสมัยต่างๆ ในช่วงที่เรายังเป็นเด็ก หรือก่อนที่เราจะเกิด ภาพนั้นจะกระตุ้นความทรงจำที่เราได้ประสบมาหรือพบผ่านเห็นตามที่ตางๆ ถึงแม้เราจะไม่ใช่ผู้สัมผัสประสบการณ์โดยตรงเอง เหมือนที่เราได้ยินเสียงจิงเกิ้ลตามรถขายไอศกรีมแล้วเราจะนึกถึงช่วงวัยเด็กที่เราเคยซื้อมัน และเราจะไม่ได้นึกถึงวัยปัจจุบันสักเท่าไหร่ อย่างที่เคยได้ยินผลการทดลองกันว่า เสียงเพลงช่วยดึงความทรงจำของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้กลับมาจดจำเรื่องราวบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเสียงเพลงนั้นๆ เมื่อเทียบกันแล้วเสียงในหนังของอภิชาติพงศ์สามารถดึงเอาความรู้สึกต่างๆ ที่เคยรู้สึกแต่ก่อนหน้านั้นกลับมาได้

อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร

ผู้ที่มีส่วนร่วมในการออกแบบเสียงในหนังของอภิชาติพงศ์นั้นมีอยู่สองคนด้วยกัน หนึ่งคืออัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร นักออกแบบเสียงให้กับหนังหลายเรื่องในประเทศไทย สองคือโคอิชิ ชิมิซึ (Koichi Shimizu) ศิลปินผู้ทำเพลงแนวทดลองแนวหน้าของประเทศไทย ผู้ก่อตั้งค่าย SO:ON Dry Flower สามคือ Richard Hocks ผู้ที่มิกซ์เสียงในหนังของอภิชาติพงศ์ตั้งแต่เรื่องลุงบุญมีระลึกชาติเป็นต้นมา อัคริคเฉลิมได้ผสมผสานเสียงระหว่างภาพบนจอ สกอร์เพลงแบบอิเลคทรอนิคส์ และเสียงบรรยากาศที่อัดอยู่ในบริเวณนั้น และเร่งเสียงบรรยากาศนั้นให้ดังขึ้นกว่าเดิม ทำให้ประสาทสัมผัสในการรับเสียงนั้นมีความคลุมเครือมากขึ้น เกิดการหลอมรวมเข้าระหว่างผู้ชมกับเสียงธรรมชาติที่ได้ยินตามทั่วไป ถ่ายทอดเสียงเหล่านั้นให้กลายเป็นประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่ดูดเราเข้าไปกับบรรยากาศของหนังอย่างชัดเจน ดังนั้นจงอย่าแปลกใจเมื่อเราจะรู้สึกง่วงนอนกับหนังของเขา

Mobile Men

ประสบการณ์ที่ทำให้คนที่ดูนั้นรู้สึกใกล้ชิด หรือเป็นหนึ่งเดียวกับหนังมากขึ้น มีการยกตัวอย่างให้เห็นในหนังสั้นของอภิชาติพงศ์เรื่อง Mobile Men ในปี 2008 ที่เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ “Art for the World: Stories on Human Rights” เกี่ยวกับการจับช่วงเวลาหนึ่งของแรงงานเด็กหนุ่มจากพม่าและไทย ทั้งสองคนได้นั่งอยู่บนหลังรถกระบะ หนังสั้นเพียงแค่ประมาณสามนาทีได้แสดงถึงความเยาว์วัย และมีชีวิตชีวาของคนทั้งสอง เหมือนกับเป็นพื้นที่ที่ได้ปลดปล่อยความเป็นอิสระของทั้งสองคน งานภาพนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนกล้องกันระหว่างทีมงาน และซับเจกต์ทั้งสองคน คนหนึ่งนั้นไม่ได้พูดอะไรแต่ถอดเสื้อเบ่งกล้ามแสดงความมั่นใจออกมา ส่วนอีกคนนั้นโชว์รอยสักตามร่างกายของตัวเองพร้อมบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองได้ไปสักโชว์สาวมา และกรีดร้องบอกความเจ็บปวดของตอนสักออกมาในตอนท้าย แต่เสียงพูดนั้นเราอาจได้ยินไม่ชัดเจน เนื่องจากตัวไมโครโฟนนั้นตีกับลมอยู่ตลอดเวลา ทำให้ได้ยินแต่เสียงลมแรงที่เหมือนเวลาเรานั่งหลังรถกระบะจริงๆ และนั่นเป็นการสร้างบรรยากาศของความหวีดหวิว รุนแรง และเสียงของพวกเขานั้นถูกกลืนหายไปกับลมจริงๆ และนั่นอาจเป็นช่วงเวลาไม่กี่ครั้งที่เราอาจจะได้นั่งคุยกับเขาอย่างจริงจัง

สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่อง Mobile Men คือการเกิดขึ้นของ haptic sound แปลได้หยาบๆ คือ เสียงที่มีการจับต้องได้ มันอาจเป็นเสียงที่ฟังแล้วเรารู้สึกถึงพื้นผิวของมัน เช่น เสียงของการสั่น ซึ่งเป็นเสียงที่ทำให้เรารู้สึกถึงความใกล้ชิดกับตัวเสียงจนรู้สึกอะไรบางอย่าง อธิบายเสียงที่เกิดขึ้นที่เราจะรู้สึกใกล้ชิดกับมันมากคือเสียงแบบ ASMR ที่เหมือนมีคนกำลังกระทำอะไรสักอย่างใกล้ๆ หูของเรา หรือเหมือนกับเวลาที่เราไปยืนใกล้ลำโพงมากๆ เสียงเบสที่เราได้ยินนั้นมันอาจจะรุนแรงจนทำให้ร่างกายเราสั่น เหมือนจะกระแทกข้างในร่างกายให้หลุดออกมาข้างนอก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้คนที่ดูหนังเหมือนหลุดเข้าไปในบรรยากาศของหนังมากขึ้น

สุดเสน่หา

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจในการใช้เพลงป๊อบของอภิชาติพงศ์คือการเป็นเครื่องมือในการ “เชื่อมฉาก” เพื่อนำไปสู่ส่วนที่สองของหนัง เป็นสัญญาณในการเตรียมพร้อมก่อนที่หนังจะเปลี่ยนเซ็ตติ้งและเรื่องเล่าไปสู่อีกจุดหนึ่ง อย่างในเรื่องสุดเสน่หาที่ใช้เพลงหวานฉ่ำของนาเดียในฉากที่รุ่งกับมินขับรถขึ้นเขาเพื่อเดินทางเข้าไปสู่ในป่า เดินทางเข้าไปยังดินแดนที่แสวงหาความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่หรือสามารถเพลิดเพลินได้ หนังใช้เวลากับซีนนี้เป็นเวลานานจนสามารถเล่นเพลงนี้จนจบโดยที่ไม่ได้ยินเสียงสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เสียงของการสนทนาภายในรถ หรือเสียงลมที่รถปะทะแต่อย่างใด ก่อนที่จะเชื่อมเข้าสู่ส่วนที่สองที่เป็นการพาตัวละครเข้าไปอยู่ในป่า

สัตว์ประหลาด!

หรือในเรื่องสัตว์ประหลาด! ที่ใช้เพลงคำในใจของวง Fashion Show เพื่อพาอารมณ์ของเก่งที่กำลังลิงโลดอยู่กับรักที่แสนหวานและประหลาดในคราวเดียวกันหลังจากที่เกิดฉากโรแมนติคของโต้งกับเก่งหลังจากการเดตนั้น เก่งได้ขับมอเตอร์ไซค์กลับมายังที่พัก ระหว่างนั้นเสียง ambient รอบข้างที่มีนั้นเริ่มจางลงไป มีแต่เสียงของเพลงที่ดังขึ้นอยู่ตลอดจนไม่มีเสียงอื่น เราไม่ได้ยินเสียงของสิ่งแวดล้อมข้างทางแม้กระทั่งเสียงทุบตีที่อยู่ริมถนนหรือเสียงการขว้างสิ่งของไล่หลังมอเตอร์ไซค์เองก็ตาม (บทความเขียนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เปรียบเสมือนสถานะเหมือนฝันของตัวละครที่กำลังอยู่ในโลกแห่งความสุข) ก่อนที่จะตัดเข้าไปซีนถัดไปที่เป็นเวลาตอนเช้า เก่งนั่งอยู่บนรถกระบะที่มีทหารนั่งรายล้อมอยู่เต็มไปหมด ภาพคอลลาจปะปนที่เหมือนไม่ได้ใช้เวลาในโลกของหนังที่เคลื่อนไหวไปอย่างแช่มช้า และกลับมาที่เวลาปัจจุบันที่ค่อยๆ เดินอย่างปกติอีกครั้ง

The Anthem

สำหรับผู้ที่ติดตามหนังของอภิชาติพงศ์จะรับทราบดีว่าเขาได้ซ่อนนัยยะทางการเมืองแฝงเอาไว้อยู่ในหนังตลอด ทั้งผีทหารที่อยู่ในผืนดินจากรักที่ขอนแก่น หรือการถูกกดทับของคนชายขอบจากสถาบันทางสังคมในเรื่องสุดเสน่หา แต่การทำหนังสั้นเรื่อง The Anthem เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่เหมือนเป็นการยั่วล้อไปกับการเมืองและภาพยนตร์ The Anthem เป็นหนังสั้นที่สร้างขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลองการดำรงอยู่ของภาพยนตร์ ยั่วล้อไปกับพิธีกรรมของไทยที่ต้องมีการยืนถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ก่อนที่จะมีการฉายภาพยนตร์ในโรง ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่ควรเชิดชูมากกว่าคือภาพยนตร์ที่กำลังจะฉายลงบนผืนผ้าใบต่อไปนี้ เป็นพิธีกรรมที่ทำให้ทุกคนได้อยู่ในโรงร่วมกันมากกว่าที่จะเป็นบุคคลที่เราต้องยืนทำความเคารพ ซึ่งสิ่งที่เชื่อมต่อระหว่างสองซีนที่เด่นชัดที่สุดคือ ”เสียงเพลง” เดียวกันที่เปิดกันในวิทยุ กับที่เปิดอยู่ในคอร์ทแบดมินตันคือเสียงเดียวกัน มันคือเพลงสรรเสริญที่หญิงคนหนึ่งจะนำไปเปิดในโรงภาพยนตร์ของเธอ และเหมือนเดิม เราจะไม่ได้ยินเสียงเพลงที่อยู่นอกบรรยากาศของสถานที่แบบ non-diegetic (เสียงที่ไม่ปรากฎแหล่งที่มา) เพลงที่เปิดจะอยู่ในสถานที่แต่เราไม่รู้แหล่งเสียงของเพลงว่ามาจากไหน เสียงเพลงจะถูกกลบด้วยเสียงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในเฟรมนั้น เสียงเท้าที่วิ่งอยู่ในคอร์ทแบดมินตัน เสียงการขยับตัว เสียงของผู้คนในกองถ่ายที่เดินสวนกล้องไปมา การที่ไม่มีเสียงใดที่หลุดรอดออกมาข้างนอกอย่างชัดเจนทำให้ทุกอย่างถูกประกอบเป็นเนื้อเดียวกัน อาจทำให้เรานึกถึงความรื่นเริงของกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในสนามกีฬาเหล่านั้น เสียงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในหนังเหมือนเป็นความรื่นเริงที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่บนจอภาพยนตร์

Memoria

เช่นกันกับ Memoria ที่ได้เปลี่ยนจากเสียงที่ดึงเอาความทรงจำของผู้คน กลายเป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำที่ฝังอยู่ตามวัตถุต่างๆ ผ่านการได้ยินเสียงปังของเจสสิกาที่ดึงเรื่องราวที่ถูกกลบฝังไว้กลับขึ้นมามีเสียงและถูกรับฟัง อภิชาติพงศ์ได้นำเอาวิธีการใช้เสียงจนกลายเป็นจุดเด่นในการเล่าเรื่องราวของหนัง กลายเป็นจุดที่ผู้ชมเริ่มให้ความสนใจเป็นพิเศษ อภิชาติพงศ์ให้สัมภาษณ์ว่าเขาอยากให้ผู้ชมกลายเป็นเจสสิก้า “เมื่อเธอได้ยินเสียงนั้น คุณก็จะได้ยินเสียงนั้นเช่นกัน แต่คนอื่นที่อยู่ภายในฉากนั้นไม่ได้ยิน คุณกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดเหมือนกันกับเธอ เมื่อเธอได้ฟังเสียงเหล่านั้น และคุณก็รับรู้ถึงสิ่งนี้เช่นเดียวกัน คุณคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นสิ่งเหล่านี้ขึ้น” สิ่งที่อภิชาติพงศ์อยากให้คนดูนั้นรู้สึกถึงประสบการณ์การเป็นหนึ่งเดียวกับตัวละคร หรือการถูกดึงเข้าไปในภาพยนตร์เป็นสิ่งสำคัญต่อหนังของเขาจากคำสัมภาษณ์ “เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องผสมเสียงของความเป็นจริง กับเสียงทดลองทางจิตวิทยา การได้ยินเสียงปัง หรือเสียงรบกวนต่างๆ การมิกซ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทั้งหมดมันเกี่ยวกับการทำให้คุณกลายเป็นเจสสิก้า ทำให้คุณมีการรับรู้เหล่านั้นเช่นกันกับเธอ” และจะเหมือนกับเรื่องก่อนๆ หน้าของเขาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสุดเสน่หา จนถึงลุงบุญมีระลึกชาติก็ตาม

ความยอดเยี่ยมในการเล่าเรื่องผ่านเสียงของอภิชาติพงศ์นั้นมีมานาน และแนบเนียนไปกับธรรมชาติที่เขาสร้าง เสียงลม เสียงฝน เสียงธรรมชาติ หรือเสียงเมืองที่คอยกล่อมเกลาคนให้หลับไหลและแยกตัวเราออกจากหนังทำให้ไม่สามารถเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามเสียงในหนังนั้นจะคอยโอบอุ้มหนังและคนดูเอาไว้ จนกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญที่เมื่อทุกคนได้เห็นหนังอภิชาติพงศ์จะต้องพูดถึง ฉะนั้นสิ่งที่หลายคนบอกว่าการดูหนังของเขาอาจไม่สามารถทำความเข้าใจได้โดยตรง เฉกเช่นกับการเดินทางของตัวละครที่อาจไม่ได้ทำความเข้าใจได้โดยทันที แต่เป็นการใช้ประสาทสัมผัสในการรับรู้และสัมผัสถึงเสียงธรรมชาติรอบตัว กลายเป็นหนึ่งเดียวกับหนัง รำลึกถึงประสบการณ์บางอย่างต่อการสัมผัสเสียงเหล่านั้น 


อ้างอิง:

Lovatt, P. (2013). “Every drop of my blood sings our song. There, can you hear it?”: Haptic Sound and Embodied Memory in the films of Apichatpong Weerasethakul. The New Soundtrack, 3(1), 61-79.

‎Sound Obsession: Sharing Breath with Apichatpong • Journal • A Letterboxd Magazine • Letterboxd

https://lwlies.com/articles/sound-nature-apichatpong-weerasethakul/

https://mubi.com/notebook/posts/soundtrack-mix-23-sonic-memoria-apichatpong-weerasethakul

https://adaymagazine.com/memoria-sound

RELATED ARTICLES