ฝันของคนทำ “พื้นที่ฉายหนังอิสระ” : รู้จัก a.e.y.space กับภารกิจพาหนังหลากหลายสู่สายตาคนสงขลา

“ปกติเป็นคนรักการดูหนังอยู่แล้วตั้งแต่เด็กๆ ดูมันทุกประเภท โตมาพอต้องกลับมาอยู่สงขลา มันก็ไม่มีทางเลือกการดูหนังบนจอใหญ่เท่าไหร่ อยากให้คนได้ดูหนังที่หลากหลาย ไม่โดนจำกัดโดยสายหนัง”

เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล ผู้ก่อตั้ง a.e.y.space อีกหนึ่งใน “พื้นที่ฉายหนังอิสระ” ในจังหวัดสงขลา เล่าให้เราฟังถึงความรักที่มีต่อหนัง ความฝันอยากเป็นเจ้าของโรงหนัง จนมาถึงการเริ่มฉายหนังครั้งแรกในสเปซของเขาเมื่อปี 2015 และยังกลายมาเป็นพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันของผู้ชมหลังฉายหนังจบอีกด้วย

มาทำความรู้จัก a.e.y.space กัน

“a.e.y.space ก่อตั้งเมื่อปี 2012 เกิดจากการไปซื้อบ้านเก่าโบราณบนถนนนางงาม ใจกลางย่านเมืองเก่าสงขลา แล้วลองทำเป็น art space เพื่อชวนพี่ๆ เพื่อนๆ หลากหลายแขนงมาแสดงงานศิลปะกัน ในยุคนั้นถือว่ายังใหม่มากสำหรับการทำอะไรแบบนี้

ด้วยความที่โลเคชันอยู่บนถนนเส้นที่ค่อนข้างจะคึกคักด้วยผู้คนและยังคงมีวิถีชีวิตดั้งเดิมของสงขลาอยู่ตลอดทั้งสาย ทำให้เวลาจัดงานแสดง จึงได้รับความสนใจจากคนในท้องถิ่น มีการค้นคว้าข้อมูลที่น่าสนใจในชุมชนเอามาทำเป็นนิทรรศการในหลายครั้ง เช่น พวกภาพถ่ายเก่าในชุมชนที่ไปขอมาจากบ้านคน เพื่อให้พวกเขาออกมาเล่าเรื่องราวของตัวเอง หรือแม้กระทั่ง Portrait of Songkhla ที่ได้บันทึกภาพถ่ายครอบครัวและเรื่องราวย่านเมืองเก่าได้แบบเจาะลึก นอกเหนือจากนั้นเราก็มีการฉายหนังสั้น หนังทดลอง หลายครั้งหลายคราวในช่วงเวลา 10 ปีที่เปิดมา”

“ปกติเป็นคนรักการดูหนังอยู่แล้วตั้งแต่เด็กๆ ดูมันทุกประเภท โตมาพอต้องกลับมาอยู่สงขลา มันก็ไม่มีทางเลือกการดูหนังบนจอใหญ่เท่าไหร่ จนมาวันหนึ่งได้เจอกับต้น จากเพจเรื่องนี้ฉายเถอะคนหาดใหญ่อยากดู เพราะได้ตามไปดูหนังที่ต้นนำมาฉายตามสถานที่ต่างๆ ในเมืองหาดใหญ่ วันนึงจึงมีโอกาสคุยกับโก้ dot ที่ย้ายร้านมาอยู่สงขลา ว่าน่าจะร่วมจัดฉายหนังกันที่ a.e.y.space ได้ เพราะเตรียมพื้นที่ไว้เรียบร้อยแล้ว ทางต้นก็ได้ช่วยจัดโปรแกรมพร้อมๆ ไปกับหาดใหญ่ให้ ถือเป็น community การฉายหนัง 2 ที่ในจังหวัดเดียวกันที่แรกๆ เลย”

“ตัวผมเองก็ฝันมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าอยากมีโรงหนังของตัวเอง จากหนังที่ประทับใจที่สุดเรื่อง Cinema Paradiso พอได้มาทำอะไรแบบนี้ก็ยิ่งคิดอยากทำให้มันดี อยากให้คนได้ดูหนังที่หลากหลาย ไม่โดนจำกัดโดยสายหนัง ยิ่งมีการพูดคุยเสวนาหลังการฉาย มันเป็นสิ่งที่เติมเต็มการดูหนังมากๆ เพราะบางทีดูเองคนเดียวก็มีความค้างคา ในหลายประเด็นของหนัง จึงอยากจะแชร์และพูดคุย ซึ่งที่นี่เราก็ทำมาตลอดตั้งแต่ Day 1 ที่ทำมา”

“2015 คือครั้งแรกที่เราฉายหนังสั้น โปรเจกเตอร์ก็ไม่มี ใช้วิธียืมจากมหาวิทยาลัยที่พอจะรู้จักอาจารย์ในนั้น เอามาลองใช้ในการจัด หลังจากนั้นไฟในการทำก็มา เลยตัดสินใจซื้อโปรเจกเตอร์ แขวนบนเพดาน จัดพื้นที่ที่เหมาะสม หาเครื่องเสียงทำเป็นระบบการฉายที่เหมาะสมกับการชม โดยใช้พื้นที่ด้านหลังของ art space ที่เป็นห้องที่สามารถดัดแปลงทำกิจกรรมต่างๆ ได้หลากหลาย”

“อยากจะเล่าว่า ผู้ชมที่สงขลามีความหลากหลายทั้งวัย และอาชีพ อายุสูงสุดที่มาชมประจำ น่าจะเป็นอาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ นักแปลอิสระ และอีกหลายๆ ท่านในวัยปลาย 60 ที่สามารถมานั่งเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับรุ่นลูกรุ่นหลาน ทั้งเรื่องของหนังและประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการชม หลายๆ ครั้งที่เราสนทนากันยาวกว่าหนังอีก บางทีก้าวข้ามไปถึงเรื่องอื่นๆ รอบตัวทั้งเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งผมถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ในชุมชนจะได้มีสถานที่ที่เป็นมากกว่าโรงหนังอิสระ แต่เป็นพื้นที่กลางที่ทุกๆ คนสามารถมาพูดคุย แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ ถือเป็นกิจกรรมบำบัดจิตใจ และเปิดโลกได้ในเวลาเดียวกัน”

“เอาจริงๆ ผมได้รู้จักคนใหม่ๆ เยอะขึ้นมากๆ จากการทำสเปซแบบนี้ โลกมันกว้างขึ้นจากการดูหนังและการได้พบเจอผู้คน ในแง่ของธุรกิจบอกได้เลยว่า มันไม่ง่าย หลายๆ คนก็เปิดเป็นคาเฟ่หรือร้านอาหารไปด้วยกันเพื่อทำให้มันมีรายได้ประคองให้โรงหนังมันอยู่ได้ แต่สำหรับ a.e.y.space และโรงหนังอิสระอื่นๆ ผมมั่นใจว่าทุกคน ไม่ได้มุ่งหวังกำไรจากการฉาย แค่อยากให้หนังมันได้ออกไปสู่ผู้ชมในพื้นที่จังหวัดตัวเองอย่างที่ตั้งใจ สำหรับคนที่อยากทำในจังหวัดตัวเอง ข้อแนะนำเดียวคือหาเงินจากการทำงานปกติ แล้วแบ่งเงินออกมาทำกิจกรรมเหล่านี้ (หัวเราะ) แบบนั้นยั่งยืนสุด”

“แวดวงศิลปะในประเทศไทย ในมุมมองของผม เอาแค่ในจังหวัดสงขลาเอง ผมว่ายังแคบอยู่มาก ราชการเองไม่ได้มองว่าภาพยนตร์เป็นแขนงหนึ่งของศิลปะที่ควรจะสนับสนุนหรือผลักดันให้มีการได้รับชมเหมือนศิลปะในแขนงอื่นๆ เวลาเห็นการจัดงานต่างๆ ในเมือง ดูมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป คิดว่าเมื่อเขาไม่สนับสนุน พวกเราก็ต้องดิ้นรน และผลักดันกันเอง ผมเชื่อในพลังคนรุ่นใหม่ตามเมืองต่างๆ คิดดูสิ ถ้าทุกที่มีโรงหนังอิสระ ที่จะกลายเป็นเครือข่ายที่แข็งแรง สามารถต่อยอดไปทำกิจกรรมทางศิลปะอื่นๆ ได้อีกมากมาย”


ติดตามพวกเขาได้ที่ a.e.y.space

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
อดีตบก. BIOSCOPE และผู้ก่อตั้ง Documentary Club

RELATED ARTICLES