ครบรอบ 1 ปีแรงงานนักเรียนหนัง : เรามีสิทธิ์ที่จะไม่ยอม


เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สมาคมผู้กำกับได้ออกประกาศแถลงการณ์ว่าด้วย ‘ปัญหาสวัสดิภาพแรงงานอุตสาหกรรมบันเทิงไทย’ เนื้อหาในแถลงการณ์นั้นนอกเหนือจากการชี้แจงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุคลากรในสมาคมแล้ว ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกที่สมาคมผู้กำกับออกมาพูดถึงปัญหาสวัสดิภาพแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเป็นทางการ พร้อมกันนั้นทางสมาคมยังประกาศอย่างชัดเจนว่าพร้อมที่จะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้แรงงานทุกภาคส่วนได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและมีสวัสดิการที่ดีในการทำงาน ปัญหาความอยุติธรรมของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ (เพียงแต่ยังไม่ถูกพูดถึงวงกว้าง) หากเราจำกันได้ปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในห้อง Clubhouse ของ ‘กลุ่มแรงงานนักเรียนหนัง’ แล้วพวกเขาคือใคร?

ย้อนกลับไปเมื่อราวหนึ่งปีก่อน ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วทุกหย่อมหญ้า นอกเหนือจากความเดือดร้อนที่กระทบประชาชนทุกภาคส่วน วิกฤติโควิด-19 นี้เองได้เผยให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างสังคมภายในประเทศที่ถูกเพิกเฉยมาเป็นเวลานาน พร้อมกันนั้นผลพวงจากโควิด-19 ยังสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจให้หลายประเทศอย่างหนักรวมถึงประเทศไทยด้วย จวบจนตอนนี้เศรษฐกิจไทยก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก

ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดในปี 63 ไทยยังเผชิญกับปัญหาการบริหารของรัฐบาลที่ไม่โปร่งใสและด้อยประสิทธิภาพ บรรดากลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษาต่างพากันลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาลพร้อมกับเรียกร้องประชาธิปไตยและความเสมอภาคแก่ประชาชน ปัญหาโครงสร้างสังคมต่างๆ ที่เคยถูกละเลยได้รับการพูดในหมู่ผู้ประท้วงทั้งช่องทางออนไลน์และพื้นที่ชุมนุม นอกเหนือจากกลุ่มเยาวชน-นิสิตนักศึกษา คนวัยทำงานจำนวนมากต่างลุกขึ้นมาเปิดเผยถึงความไม่เป็นธรรมในที่ทำงาน ‘ปัญหาแรงงาน’ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในหลายๆ วงการ รวมถึงปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วย 

ณ ช่วงเวลานั้นเอง Clubhouse กลายเป็นแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ใหม่ที่ได้รับความนิยมจากคนไทย แล้วในคลับเฮ้าส์นั้นเองนิสิตนักศึกษากลุ่มหนึ่งรวมตัวกันตั้งวงเสวนาว่าด้วยสหภาพแรงงานหนัง ปัจจุบันพวกเขารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องในนาม ‘กลุ่มแรงงานนักเรียนหนัง’ เพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ ที่แรงงานภาพยนตร์ควรได้รับในฐานะคนทำงาน

Film Club ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ตัวแทนกลุ่มแรงงานนักเรียนหนัง ประกอบด้วย มนธิการ์ คำออน (เอิร์น) คณิศร สันติไชยกุล (โจ้) และ อนรรฆมนต์ อังศธรรมรัตน์ (ครีม) ตลอดการสัมภาษณ์ถัดจากนี้ Film Club ขอเรียกแทนทั้งสามท่านด้วยชื่อเล่นตลอดบทความ 

*หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ทำในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 65 ที่ผ่านมา


Film Club : จากการรวมกลุ่มแรงงานนักเรียนหนังในคลับเฮาส์ ผ่านมา 1 ปีแล้วรอบตัวพวกคุณมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

เอิร์น : คือถ้าเกิดพูดถึงว่ามันมีอะไรที่มันเปลี่ยนแปลงไป เอาจริงมันยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเป็นรูปธรรมขนาดนั้นเนาะ แต่ว่าเรารู้สึกถึงบรรยากาศและบทสนทนาที่มันเริ่มมีการพูดถึงสิ่งนี้มากขึ้นนะ อันนี้เอิร์นไม่รู้ว่าในกองอื่นๆ เป็นไง แต่ว่าจากบรรยากาศจากคนรอบตัวที่เอิร์นทำงาน เอิร์นเห็นชัดว่ามันเปลี่ยนเราคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น 

มนธิการ์ คำออน (เอิร์น)

เอิร์น : ตอนนี้เอิร์นทำงานเป็นผู้กำกับอิสระ เป็นผู้กำกับฟรีแลนซ์กำกับ MV ค่ะ เราก็เลยจะเห็นใน Line Production ที่ชัดว่าบรรยากาศในกองในทีมของเราเองมันเป็นยังไงบ้าง เราทำงานใกล้ชิดกับโปรดิวเซอร์เรา เราคุยกัน เราแชร์กันเลยว่าเราอยากให้คนที่อยู่ในทีมเราอยู่ในกองเราได้เงินที่สมเหตุสมผล แล้วก็ชั่วโมงทำงานที่เหมาะก็คือ 12 ชั่วโมง คือเราพยายามเวิร์กกับโปรดิวซ์ฯ ซึ่งโปรดิวซ์ฯ ก็คือคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารเรื่องเงินและเวลาใช่ไหมคะ 

คือพอมันเซ็ต priority ใหม่การทำงานมันก็จะต่างไปเลย แต่ก่อนเราเคยแบบจะเอาๆ อยากได้แบบนั้นอยากได้แบบนี้ เราก็จะถูกเบรกว่า เห้ย ถ้าเอาแบบนี้คนมันเกินคิวนะ เราจะยอมลดค่าตัวไปจ่ายไหม หรือว่าเราจะยอมปรับเรื่องของเราเพื่อให้ทุกคนทำงานกันแบบมีสุขภาพที่ดี มันเห็นได้ชัดเลยว่าทุกคนน่ะมันมี awareness เรื่องนี้กันในกองมากขึ้น มันต่างกันมากนะคะตั้งแต่ตอนที่เราเริ่มทำกันเอง ในตอนที่เรายังเป็นนิสิตนักศึกษาอยู่กับตอนที่เราเริ่มจบมาทำงาน อันนี้เอิร์นไม่รู้ว่าในกองอื่นๆ เป็นไง แต่ว่าจากบรรยากาศจากคนรอบตัวที่เอิร์นทำงาน เอิร์นเห็นชัดว่ามันเปลี่ยนเราคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น คือเราก็คุยกันเองก่อนว่าเราไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมแบบมันมีการพูดถึงเพิ่มขึ้น เราก็เลยได้แต่คุยกันว่าหรือมันเป็นเพราะว่าเราเริ่มจุดประเด็นตั้งคำถาม (ในคลับเฮ้าส์) หรือเปล่า คือถ้ามันเป็นเพราะคลับเฮ้าส์วันนั้นจริงๆ เราก็จะดีใจมากค่ะ

โจ้ : ความรู้สึกอย่างหนึ่งก็คืออย่างที่เอิร์นพูดเนาะว่าตอนนั้นที่เรายังทำอยู่ เรามีการจัดคลับเฮ้าส์ขึ้น พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาอะไรงี้ ซึ่งก็คิดว่าถือว่าได้รับความสนใจประมาณนึงสำหรับคนในวงการ ซึ่งมันก็แคบประมาณนึง ส่วนคนนอกวงการสารไม่ถึงตรงนั้นแน่นอน แต่มันก็รู้สึกอะไรบางอย่างได้ …มันเหมือนมีคนโยนอะไรเข้าไปในกล่องที่มันมืดๆ ตลอดเวลา แล้วคนมันก็เลยแบบ ‘เอ้ย นี่มันอะไรกัน’ ก็เริ่มมีเสียงในการพูดคุยประเด็นอะไรพวกนี้ตามมาประมาณนึงที่ผมรู้สึกนะครับ 

เหมือนล่าสุดผมเห็นโพสต์ในฟีดผมสักอันนึง จำไม่ได้ว่าใครแชร์ แต่มันเป็นเรื่องแบบชั่วโมงทำงานของ(คนทำ)ภาพยนตร์ พูดถึงเรื่องความปลอดภัยในการถ่ายทำอะไรแบบนี้ ซึ่งถ้าย้อนไปแบบ 5 ปีก่อน เราจะไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ ไม่เห็นเลย (พูดเน้น) แบบ No แบบ 0 ซึ่งก็นับว่านี่ก็น่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนนะ

ครีม : ตอนนี้ครีมอยู่ปี 4 นะคะ ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเทศกาลการถ่ายธีสิสเลยแบบว่ากองครีมก็กำลังจะถ่ายอีก 2 วัน เท่าที่ครีมเห็นการเปลี่ยนแปลงมากๆ ในกองถ่ายธีสิสจากเพื่อนๆ กันเองอะค่ะ สิ่งที่ครีมประทับใจก็คือเราเห็นจากเพื่อนๆ และก็รุ่นน้องรอบๆ ตัวที่ตระหนักเรื่องนี้กันมากขึ้นมากๆ แบบว่าเรื่องสวัสดิภาพ-สวัสดิการคนกอง อาหารแต่ละมื้อควรจะครบ 

มันไม่เหมือนตอนสมัยครีมอยู่ปี 1 ที่ครีมไปออกกองรุ่นพี่แล้วมีคิว 24 ชั่วโมง แล้วครีมไม่มีสิทธิ์บ่นด้วยซ้ำว่า เฮ้ย มันเกินไปหรือเปล่า ตอนนั้นกลายเป็นว่าเรามาพูดกับเพื่อนด้วยความพราวด์ด้วยซ้ำ มันแปลกมากเลย มันกลายเป็นวาทกรรมประมาณ ‘เฮ้ย อีเหี้ยกอง 24 ชั่วโมงกูก็เคยออกมาแล้วแม่งเจ๋งว่ะ’ หรือแบบ… ‘เฮ้ย มึงกองนี้แม่งแบบอีดอก กูแบบว่าลองทำทั้งที่ไม่มีอุปกรณ์เซฟตี้ด้วย’ อะไรอย่างงี้ (หัวเราะ) 
มันเศร้าอ่ะใช่ แต่ว่าที่เราพูดตอนนั้นน่ะเรามีความสนุกเฉยเลย มันน่าเศร้าตรงนั้นพอเรา(คิด)ย้อนกลับไป ซึ่งตอนนี้ครีมได้คุยกับรุ่นน้องมากขึ้น พอเห็นว่าบางกองข้าวไม่ครบหรือว่าชั่วโมงทำงานมีชั่วโมง breakdown เกิน 12 ชั่วโมง ประโยคแบบนี้มันเริ่มไม่เกิดขึ้นแล้วค่ะพี่ มันกลายเป็นการไปคุยต่อรองกัน มันไม่เงียบอีกต่อไป รุ่นน้องไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องเงียบกับสิ่งนี้ มันมีการคุยกันมันมีการบอกโปรดิวเซอร์ว่ายังไงก็ต้องมีข้าวนะ หรือว่าไปบอก AD (ผู้ช่วยผู้กำกับ) ว่าเราสามารถขยับเบรกดาวน์ได้ไหม มันดีมากๆ กับการที่เราจะไม่เงียบกับสิ่งนี้ค่ะ คนในกองมีสิทธิ์ที่จะคุยกับคนที่จัดการเรื่องนี้ได้

Film Club : นักศึกษาฟิล์มหลายคนก็พิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่าการเป็นนักศึกษาก็สามารถทำหนังที่มีคุณภาพได้ ในสายตาของครีมๆ คิดว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญในการทำหนังเพราะ ‘ยังเป็นนักศึกษา’

ครีม : การที่ยังเป็นนิสิตทำให้งบประมาณของพวกเราค่อนข้างจำกัดในการที่จะมีสวัสดิการให้ทุกคนได้อย่างครบถ้วนค่ะ อย่างหนังที่มีซีนขับรถหลายๆ ซีนเราก็ยังไม่มี budget พอในการ offer อุปกรณ์เซฟตี้ในการถ่าย ทำให้มันเคยมีเหตุการณ์ตอนปี 1 รถ (ที่ถ่ายทำ) มันตกถนนแล้วเราก็ต้องตามคนรับลากรถมาช่วย ถ้าเป็นหนังใหญ่ๆ ทุนสูง เขาจะมีทีมเซฟตี้แยก มีเบาะมีอุปกรณ์รองรับหากเกิดอุบัติเหตุ หรือทีมพยาบาลหากใครบาดเจ็บ แต่หนังนักศึกษามันยังไม่มีใครมีทุนสูงที่จะจัดหาสิ่งเหล่านั้นมาได้ ตรงนี้ก็ยังเป็นปัญหากันอยู่มากๆ ทำให้พวกหนูก็ต้องออกไปทำงานกัน ออกไปเจอปัญหาข้างนอกกันเร็วขึ้น 

Film Club : คิดว่าถ้าเรามีสหภาพแรงงานคนทำหนัง ปัญหาของแรงงานนักเรียนหนังจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่มั้ย


เอิร์น : เตะคำถามไปต่อดีกว่าว่าทำไมมันถึงยังไม่มี คือแน่นอนถ้ามันมี มันช่วย(เรา)แต่ตอนนี้มันไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งมันก็เลยเกิดมาเป็นแบบกลุ่มคลับเฮ้าส์กลุ่มนั้นด้วยแหละ ที่ถามทุกคนว่าปัญหาตอนนี้คืออะไร แน่ๆ มันมีทั้งเรื่องกฎหมาย แล้วก็ถ้าเกิดว่าเราจะเป็นเหมือนองค์กรที่ไม่ได้ขึ้นกับรัฐล่ะ ทำไมตอนนี้มันยังทำไม่ได้ เอิร์นว่าน่าจะเริ่มถามจากตรงนั้นมากกว่า

โจ้ : แน่นอนว่ามันดีอยู่แล้ว ผมคิดว่าถ้าเรามองประวัติศาสตร์การทำงานน่ะการที่(กว่า)เราได้อะไรมาแต่ละอย่างในที่ทำงาน ไม่ใช่แค่(เฉพาะวงการ)ภาพยนตร์ มันไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ มันเกิดจากการต่อสู้ของแรงงานหมด ดังนั้นการรวมตัวที่เรียกสหภาพ มันจึงสำคัญ มันเชื่อมโยงกันหมดนะ ว่าการทำงานของเราในมิติต่างๆ เนี่ย มันไม่ใช่ว่าเราจะเรียกร้องแค่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่การมีสิ่งนี้มันสามารถเรียกร้องได้ในทุกมิติเลยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ถ้าเรามองกันดีๆ มันมากกว่าที่เราเห็นด้วยซ้ำ หลายๆ อย่างผมว่ามันก็สามารถรวมกันได้ เหมือนอย่างที่พูดว่าถ้าแรงงานรวมตัวกันในแต่ละวิชาชีพ เมื่อมันรวมกันได้มันก็สามารถสะท้อนภาพใหญ่ในสังคมได้เหมือนกัน

แต่ทีนี้คำถามว่า ทำไมเราไม่มีใช่ไหม อันนี้มันน่าเป็นคำถามสำคัญที่เราควรจะถามกัน แล้วก็เรามาคิดตรงนี้ดีไหม ว่าทำไมเราไม่มี เราติดขัดอะไร คือถ้าเราบอกว่าเราติดขัดกฎหมายอย่างงี้ ผมว่าแน่นอนมันต้องติดขัดกฎหมายอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่ติดขัดกฎหมายก็คงมีไปนานแล้ว แต่คือในความคิดเห็นผมอะ ถ้าเราทำอะไรแล้วมันติดขัดกฎหมายหรือติดขัดอะไรเหล่านี้มันเปลี่ยนได้ สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือกฎหมายมันเปลี่ยนได้

ตอนนี้มันมีสหภาพคนทำงานสร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งเหมือนกับเป็นตัวจักรสำคัญอย่างหนึ่งขึ้นมาให้แก่คนทำงานสร้างสรรค์ในไทย ไม่ใช่แค่คนทำงานภาพยนตร์ซึ่งก็นับว่าดีมากในการเกิดบทสนทนาตรงนี้เพิ่มขึ้นมารวมถึงมันได้เกิด สหภาพคนทำงาน ใช่ไหมครับ แต่ผมว่ามันก็เป็นสิ่งที่เห็นชัดขึ้นอย่างชัดเจน ที่มันเกิดขึ้นในโครงการของภาพยนตร์ไทย และก็หวังว่ามันน่าจะน่าจะต่อยอดไปได้มากกว่านี้

Film Club : ขอย้อนกลับไปถามตอนพวกคุณรวมกลุ่มกันเมื่อ 1 ปีก่อน อะไรคือความตั้งใจแรกที่ทำให้พวกคุณพยายามจัดตั้งกลุ่มแรงงานนักเรียนหนังนี้ขึ้นมา 

เอิร์น : ก็จริงๆ มันเกิดขึ้นด้วยความที่ว่าตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่ประมาณปี 3 ตอนนี้คือเพิ่งเรียนจบและเราก็ได้เริ่มเข้าไปทำงานมิวสิกวีดีโอ ซึ่งทีมงานก็ไม่ได้เป็นใครที่ไหนไกลก็จะเป็นน้องๆ นี่แหละที่เราทำงานด้วยกันเป็นประจำ 

ทีนี้พอเราเริ่มทำไปประมาณ 2 ตัว 3 ตัว 4 ตัว ก็เริ่มเห็นแล้วว่ามันเริ่มพอจะมีค่ายเข้ามา เราก็เห็นปัญหาที่ว่าทำไมค่าแรงมันน้อยจัง เราเริ่มตั้งคำถามว่ามันเป็นเพราะเรายังเป็นนักศึกษาอยู่หรือเปล่า เหมือนกับว่าเรายังไม่ได้ถูก qualify ว่าเป็นคนที่ทำงานจบแล้วเราเลยอาจใช้คำว่า ‘ถูกกดค่าแรง’ ใช่ไหม 

ซึ่งจริงๆ เรื่องข้อนี้เราก็เข้าใจดีว่า เออ มันก็อาจจะมีบางส่วนที่เมคเซนส์นะเพราะว่าเราก็ยังเรียนอยู่ เลยยังไม่ได้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์เนาะ เพราะว่าโอเคถ้าพูดตามตรงวงการนี้เขาก็ไม่ได้ดูว่าคนจะจบที่ไหนยังไง แต่ว่าดูที่ผลงาน เราก็พอเข้าใจได้ ดังนั้นเราเลยคิดว่าอย่างน้อยถ้าเราไม่มีพอร์ตไม่เป็นไร แต่เราอยากให้มันมีค่าแรงขั้นต่ำอะค่ะ คือไม่ว่าใครจะมาทำอย่างน้อยขอให้มันมีเส้นที่เป็นขั้นต่ำไว้ซึ่งตอนนี้มันไม่มี มันทำให้หลายๆ คนที่โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เพิ่งเข้ามาทำงานแล้วนึกว่า อ๋อ มันก็คงเท่านี้มั้ง เคยแชร์กับน้องกลุ่มเชียงใหม่คือแบบคนทำกราฟเฟอร์แค่ 900 คือมันแบบ impossible มากเว้ย ก็เพราะว่าเขาไม่รู้เพราะเขาไม่มี Rate Card เราก็เลยคิดว่างั้นเรามารวมกลุ่มกัน ในฐานะที่พวกเรามีจำนวนคนเราสามารถจะสร้างการต่อรองอะไรได้บ้าง

Film Club : ครีมในฐานะที่คุณยังเป็นนักศึกษาอยู่ คุณบอกว่าความคิดของคนรอบตัวคุณเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก แล้วพวกคุณยังต้องเผชิญกับปัญหาการถูกกดค่าแรงเพราะยังเป็นนักศึกษาอยู่ไหม

อนรรฆมนต์ อังศธรรมรัตน์ (ครีม)

ครีม : คือครีมมีโอกาสได้ร่วมงานกับ OTT Platform OTT แพลตฟอร์มคือพวก Streaming Platform (แพลตฟอร์มดูหนังออนไลน์) ซึ่งได้ลองร่วมงาน 2 ที่ ถึงแม้ว่าทั้ง 2 ที่จะถูกแคนเซิลไปแล้วนะคะแต่ว่าอย่างน้อยก็เคยได้มีการคุยงานแล้วประชุมกัน คือเราเห็นความต่าง มีที่หนึ่งที่เขามีกฎค่อนข้างแบบชัดเจนมากๆ ว่าคิวถ่ายของเขาจะต้องเป็น 12 ชั่วโมง Turn Around 10 ชั่วโมง มีการคุ้มครองว่าจะต้องมีเอกสารนู่นนี่นั่นเพื่อยืนยันว่าคนออกจากเซ็ตสุดท้ายคือใคร มีข้อกำหนดที่ชัดเจนมาก แล้วการเบิกจ่าย 10% 20% ตอนก่อนทำงาน ตอน Pre-Production

คือสมมติอย่างครีมน่ะค่ะ ทำงาน pre-pro ไปแล้วแต่ว่ามีการเปลี่ยนตัวแล้วโดนบอกเลิกสัญญา ครีมก็ได้เงินชดเชยในส่วน pre-pro ในขณะที่อีกทีมนึงอ่ะค่ะ ครีมร่วมงานไปแล้วอีก 10 วันจะถ่ายแล้ว เขามาขอยกเลิกสัญญา เราไม่ได้รับเงินชดเชยอะไรเลยแบบ 0 แถมเขามาร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเพราะว่าตั้งใจจะไม่ให้ค่าตัวนิสิตอยู่แล้ว มันเป็นอะไรที่… (หัวเราะเบาๆ ในลำคอ) ทั้งๆ ที่ช่วงนี้มันกำลังมาแล้วก็แบบส่งผลมากๆ กับอุตสาหกรรมเราอะค่ะ 

หนูก็เลยรู้สึกว่ามันน่าจะดีนะถ้าซักวันหนึ่งถ้าอุตสาหกรรมไทย ที่อาจจะไม่ต้องเป็น(บริษัทในเครือ)ของต่างประเทศด้วยซ้ำมันสามารถทำแบบนี้ได้ มีการกำหนดที่ชัดเจนมากๆ และบีบบังคับให้ทำกันทุกภาคส่วน ตอนนั้นโปรดิวเซอร์ที่ทำก็เป็นโปรดิวเซอร์ไทยที่ไม่เคยทำงานกับแพลตฟอร์มฯ นอกมาก่อน เขาก็มาทำได้ เอาตรงๆ ถ้าตัวนายทุนเขามีกฎเกณฑ์และบังคับมา สุดท้ายคนก็พยายามทำมันได้

Film Club : เอิร์น ในฐานะที่คุณทำงานเป็นผู้กำกับมืออาชีพแล้ว คุณมีวิธีต่อรองกับโปรดิวเซอร์ยังไงเรื่องการให้ค่าแรงที่ยุติธรรมต่อทุกฝ่าย

เอิร์น : คืออันนี้โปรดิวเซอร์เอิร์นน่ะค่ะแก่กว่าเอิร์นแค่ 1-2 ปี เพราะว่าพวกเราส่วนใหญ่ทีมก็จะมีแต่เด็กๆ เพราะว่าเราเข้าใจกัน แล้วเราเชื่อใจกันด้วย วิธีการที่เราดีลกับลูกค้า คือการที่เราเปิด budget ชี้เลยค่ะ ว่าทั้งหมดนี้เราใช้ตามนี้จริงๆ เราไม่ได้หมกเม็ดอะไร 

จริงๆ เราอยากจะรณรงค์เรื่องการแชร์ค่าแรงของตัวเองกับทุกคนด้วยนะคะ คือเราไม่เห็นด้วยกับการที่ต้องปกปิดเป็นความลับอะไรเงี้ย คือการแชร์เพื่อให้เห็นว่าที่เราได้อยู่มันแฟร์ไหม เราสามารถแชร์กับทีมงานทุกคนได้เลยว่าใครได้อะไรเท่าไหร่ ซึ่งเราก็ทำแบบนี้กับลูกค้าเหมือนกันว่า เอ้ย เนี่ยพี่ ถ้าพี่จะเอาเท่าเนี้ย ทีมหนูอะเขาจะได้กันเท่านี้นะ

อย่างโปรดิวเซอร์เอิร์นน่ะเขาจะไม่ได้เป็นสายฟาดแข็งๆ น่ะค่ะ เขาจะเป็นสายค่อยๆ เอาน้ำลูบคุย ซึ่งมันก็เวิร์กเหมือนกัน การดีลกันการต่อรองกับผู้ใหญ่ถ้าให้พูดตรงๆ จากประสบการณ์เอิร์นอะนะมันต้องแบบต้องค่อยๆ อะค่ะ ซึ่งเราไม่ได้ยอม แต่เราก็พยายามหาวิธีการพูด ซึ่งโอเคบางคนเขาก็ใช้วิธีการแข็งสู้ ก็สู้ได้เหมือนกันนะ อันนี้เอิร์นก็เคยเห็นมาแต่ว่าจากประสบการณ์เอิร์นนะ เอิร์นรู้สึกว่าค่อยๆ คุยกับเขา เขาก็มีเหตุผลเหมือนกัน เราพยายามเข้าใจเขา ซึ่งก็เวิร์กค่ะ

Film Club : เราคิดว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญเวลาเราสื่อสารกับผู้ใหญ่ในวงการภาพยนตร์

ครีม : อันนี้เป็นมุมมองของครีมนะคะ ส่วนตัวมันอาจจะเพราะว่า Age Gap (ช่องว่างระหว่างวัย) นั่นแหละค่ะ พวกเราเห็นว่าการถูกเลี้ยงดูมาในช่วงเวลาที่ไม่เหมือนกัน โดยที่คนในสมัยก่อนอาจจะให้ค่าของความอดทนแต่ว่าคนในวงการจะต้องเหมือนแบบ… เนี่ยนะ พี่ไต่เต้ามาจากการเป็นเด็กขนไฟแล้วพี่ถึงจะมาเป็น DP (Director of Photography) ได้ เหมือนเขาให้ค่ากับความอดทนน่ะว่าการอดทนมันส่งผลแล้วมันตอบแทน เขาเลยมองว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีความอดทน จู่ๆ เข้าวงการมาก็อยากเป็นตำแหน่งใหญ่ๆ เลย หรือไอ้เด็กพวกนี้ทำกันแป๊บๆ ก็ออก ทำไมเราไม่มีความอดทนเลย 

แต่ว่าในมุมมองของเราก็คือแล้วทำไมมันต้องทนในเมื่อมันมีวิธีที่ดีกว่า หรือมีวิธีที่แบบ… มันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องทน เราสามารถทำงานแบบที่มันแฟร์กับคนทำงานได้มากกว่านี้ เราไม่จำเป็นจะต้องไปเริ่มต้นจากการทำงานโหดๆ แบบโอที Turn Around ให้ถึง 8 ชั่วโมงอะไรแบบนี้มาก่อน เหมือนเขาก็จะแบบ ‘โอ้ แค่นี้ทนไม่ได้หรอ’ ฟีลนั้นน่ะค่ะ

เอิร์น : จริงๆ เห็นด้วยกับครีมโดยเฉพาะว่ามันไม่ใช่แค่วงการภาพยนตร์แหละค่ะ แต่มันคือเป็นทุกวงการแหละ กับการตั้งคำถามว่า ‘ทำไมไม่ยอม’ กับ ‘ทำไมต้องยอม’ ซึ่งเอิร์นคิดว่าพอมันมีการ counter (โต้ตอบ) กันตรงนี้มันเลยทำให้เวลาเราจะคุยอะไรด้วยการเปิดใจหรือว่าการมองเห็นว่าเขาเป็นคนที่เขามีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่ากันกับเรา มันเลยเป็นไปได้ยากมากๆ เลย 

เอิร์นคิดว่าเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญคือมันน่าจะเป็นคำว่า empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) ทั้งสองฝ่ายนะ คือบางทีเราก็จะอาจจะคิดแบบทำไมเขาไม่เข้าใจเรา แต่ถ้าเกิดว่าเราพยายามเข้าไปทำความเข้าใจว่าพี่เขาจัดตั้งมานานแล้ว ผ่านเวลามานานน่ะค่ะ เขาเจออะไรมาเยอะเหมือนกัน มันเลยออกมาเป็นแบบนี้ในการโต้ตอบ คือถ้าเกิดว่าเราเข้าใจกันมันทุกอย่างมันจะง่ายมากเพราะว่าคีย์เวิร์ด empathy จริงๆ เราก็คุยกันในแบบในกองในทีมของเราเหมือนกันนะว่าจริงๆ แล้วจะไม่ได้ไม่มีปัญหาอะไรเลยถ้าเกิดว่าทุกคนคุยกันแบบเข้าใจคุยกันแบบเห็นความเป็นมนุษย์อะค่ะ

โจ้ : เพราะว่าคำว่า empathy มันมาปะฉะดะกับคำว่าอีโก้ของแต่ละคน ซึ่งวงการศิลปะไทยอีโก้เยอะมากครับ

เอิร์น : เอิร์นว่าอีโก้มันไม่ได้มาแบบไม่มีที่มาที่ไปอาชีพของเราน่ะ มันบิลด์ให้มันเกิดสิ่งนั้น เพราะเวลาคนจะเลือกงานมันก็เลือกจากความสามารถของแต่ละคนชัดๆ 

Film Club : แล้วอุปสรรคสำคัญเวลาเราสื่อสารกับคนดูล่ะ 

เอิร์น : เรามองว่าอาชีพของคนทำงานใน Production น่ะค่ะ มันเป็นอาชีพที่มีการทำงานที่พิเศษ ก็คือเวลาคนอื่นมองเข้ามามันจะไม่สามารถว่าตอกบัตรตอน 8 โมง เลิก 4-5 โมง ไม่ใช่ เราทำงานกันเป็นคิว ยังไม่นับว่าคิว(ละ) 12 ชั่วโมงหรือเปล่า หรือว่าคุณถ่ายซีรี่ย์ 16 ชั่วโมงอะไรงี้ คือมันเกินจากคนปกติไปเท่าตัวที่ทำงานแค่ 8 ชั่วโมงน่ะค่ะ 

พอมันเป็นคัลเจอร์ที่พิเศษแล้วมันเป็นคนทำงานเบื้องหลังหลายๆ ตำแหน่งมันไม่ได้มีโอกาส expose หรือทำให้เห็นอยู่แล้วว่าเขาทำงานกันยังไง ดังนั้นเวลาเราจะพูดเรื่องค่าแรงขึ้นมา มันค่อนข้างยาก บางทีมันเลยมีแบบดราม่าว่า เอ้ย ทำไมทำแค่นี้คิดแพงจัง จริงๆ มันไม่ได้แค่นั้น เพราะว่าบางค่าที่เราเห็นมาน่ะค่ะ มันไม่ใช่ one-production เนาะ มันยังมีแบบ Pre Production หรือ Post และ Pre ที่มันเน้น creative process มันไม่ได้เห็นเป็นรูปร่างว่ามันคืออะไร แต่มันก็ถือว่าเป็นชั่วโมงการทำงานเหมือนกัน

อันนี้ก็เลยคิดว่าเป็นเรื่องคอนดิชันนี้ที่ทำให้คิดว่ามันเป็นปัญหาในการพยายามจะสื่อสารหรือว่าเรียกร้องออกไป อีกทั้งแม้แต่ในแง่กฎหมายเองอ่ะค่ะ คนทำงานโปรดักชันส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์เนาะ ตรงนี้มันก็ยิ่งยากเข้าไปอีกเวลาเราอยากจะเรียกร้องอะไรออกมา 

โจ้ : ปัญหาอย่างที่เมื่อกี้เอิร์นพูดไปว่า ‘ความพิเศษ’ อะไรบางอย่างในวงการเรา แต่ความจริงก็ไม่อยากจะพูดว่ามันพิเศษขนาดนั้น มันก็เป็นแค่ ‘อีกแบบหนึ่ง’ แล้วกัน แค่มันไม่ได้ตรงกับงานทั่วไป ทีนี้มันมีผลก็คือมันทำให้คนไม่รู้ว่างานเรามันทำอะไรกันแน่ ในหลายๆ ครั้งและในหลายๆ แขนงมันเลยทำให้เรื่อง(การเรียกร้อง)ค่าแรงนี่มันก็ยากมากเลย สมมุติว่าคุณจะเรซเงินมาเท่านี้ คนที่ไม่เข้าใจ คนที่ไม่รู้ เขาก็ต้องงงว่าตำแหน่งนี้ทำไมต้องใช้เงินขนาดนี้เลยเหรอ เช่นตำแหน่งคนเขียนบทอะไรอย่างงี้

คณิศร สันติไชยกุล (โจ้)

โจ้ : คนทั่วไปเขาอาจจะไม่รู้ว่าคนเขียนบทในอุตสาหกรรมไทยตอนนี้มันขาดแคลนมาโดยตลอด บางคนอาจจะไม่รู้ แล้วความกดดันในการทำงานมันมากขนาดไหน การที่ต้องคิดจนหัวระเบิด แล้วเขาเรียกเงินมาแต่พอคนบางคนไม่เข้าใจ คนก็เลยบอกอาจจะมองว่าไม่สมเหตุสมผลรึเปล่าล่ะ มันก็เลยเป็นปัญหาในการสื่อสาร ในการที่จะยกประเด็นขึ้นมา อันนี้พูดแค่ตัวอย่างเดียว มันมีตัวอย่างอีกเยอะ คนตัดต่อ คนเกรดสี มันเป็นเหมือนแบบ miserable (ทุกข์ทรมาน) มากๆ แต่สำหรับคนทั่วไป(เขา)ไม่รู้เลยซึ่งมันไม่ได้ผิดนะฮะ แต่ผมรู้สึกถ้าเราจะเรียกร้องการทำงาน เราก็ต้องทำให้เขาเข้าใจ ซึ่งมันก็เป็นสเต็ปต่อไปเรื่อยๆ ในการที่จะทำให้เขาเข้าใจ ทำให้เขาเห็นอาจจะเป็นคุณค่าของมันให้มันมากขึ้น ให้เกิดการยอมรับอะไรประมาณนี้ 

Film Club : ก้าวถัดไปของกลุ่มแรงงานนักเรียนหนังคืออะไร

ครีม : แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงก้าวถัดไปที่คิดว่าทำได้ด้วยตัวเองอาจจะเป็นการคุยกับน้องๆ ในคณะแหละว่าสิ่งนี้มันสำคัญจริงๆ นะ อยากให้สืบสานต่อไป ถ้าต่อไปนี้เราเริ่มต้นจากงานในคณะ งานธีสิส งานส่งครูกันเองแล้วค่อยๆ ปลูกฝังไปเรื่อยๆ ก็เชื่อว่าในอนาคตทุกคนก็ต้องออกไปทำงานแล้วมันน่าจะดีขึ้นค่ะ 

แต่ว่า…ก็ไม่รู้ว่าการออกไปทำงานแล้วสุดท้ายเจอกับระบบเดิมๆ สุดท้ายมันจะทำร้ายทุกคนไหม มันก็คงเป็นไปตามฝันไม่ได้เพราะว่าถ้าเราไปแล้วยังไม่ได้เป็นตำแหน่งใหญ่โตที่นี่มีสิทธิ์ในการไปต่อรองอะไร แต่อย่างน้อยถ้าเรามีความกล้าที่จะพูดสิ่งนี้ เช่น กล้าถามว่าเออพี่ขาแบบค่าตัวเท่าไหร่คะ คือแรกๆ รับงานหนูไม่กล้าถาม budget ด้วยซ้ำ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ก็คือรู้สึกว่าทุกคนน่ะกล้าถามกันมากขึ้น กล้าถามกันเลยไปเลยว่าเออบัดเจ็ทเท่านี้คือคิวนึงใช่ไหมคะ มีโอทีไหมคะ คิว 12 ชั่วโมงใช่ไหมคะ อันนี้รวมขนของหรือเปล่าคะ สมมติหนูเป็นทีมที่ต้องขนของก่อน หรือมีวันบล็อกฯ แล้วนอกจากวันถ่ายมีคิวอะไรบ้างคะ คือเราสามารถคุยกับน้องๆ บอกน้องๆ ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญอะแล้วก็ให้ส่งต่อกันไป น่าจะเป็นสิ่งที่ตัวหนูทำได้ในตอนนี้ 

เอิร์น : เอิร์นว่า(ความเคลื่อนไหวก้าวถัดไป)ของเอิร์นมันทำได้เว้ย เพราะเอิร์นว่าคลับเฮ้าส์ที่เราเล่าให้ฟังมันเป็นผู้กำกับมาเปิดน่ะ อันนี้เราเห็นในคลับเฮ้าส์นั้นน่ะมันมีค่ายเพลงที่เรารู้จัก คนที่เขาต้องมาดีลกับเรา เขาเข้ามาฟังด้วย แล้วคราวนั้นมันมีบางคนที่เขาโทรมาหาเราแล้วคุยกับเราเรื่อง budget ก่อนเป็นอันดับแรก มันเห็นได้ชัดเลยว่าเขาตระหนักนะ ถ้าถามว่าปีล่าสุดนี้กับปีก่อนน่ะมันต่างกันมากเลยอะ คนที่คุยเขาจะรู้ดีเลยว่าเออ เขามีเท่านี้เขารู้ว่ามันยาก เขาขอ requirement เท่านี้ เข้าใจมากอะไรขึ้นแบบนี้น่ะค่ะ 

ดังนั้นการ speak up หรือว่าการยืนยันเพื่อในสิ่งที่เราเชื่อสำคัญจริง การปฏิเสธงานหรือว่าปฏิเสธคนที่มี ideology ไม่ตรงกับเรามันไม่ใช่เรื่องแย่อ่ะ มันไม่ใช่ว่า อุ้ย ลูกค้าคนนี้หายไปแล้วเราจะจบ มันไม่จริงแบบนั้นน่ะ แต่หมายถึงว่ามันก็ต้องมาพร้อมกับทีมที่เขามีอุดมการณ์เดียวกับเราแล้วก็เข้าใจเราอะค่ะ อย่างเอิร์นก็โชคดีที่เจอทีมที่เราเข้าใจกัน เราเลยไม่รู้สึกว่าตอนนี้เราถูกหลอมไปกับวัฒนธรรมเก่าๆ ที่มันเป็นเหมือนเดิมน่ะค่ะ เพราะว่ามันมีคนที่คอยซัพพอร์ตเราอยู่ข้างหลัง ก็เลยคิดว่าเห้ย มันก็โอเคนะกับการที่ไปกับเพื่อน ปลูกฝังแนวคิดใหม่นี้ไปด้วยกัน แล้วถ้าเกิดว่ามันรวมตัวกันน่ะ เหมือน… (หัวเราะเบาๆ) พูดแล้วก็จะดูโรแมนติกเหมือนสหภาพอะไรงี้ แต่เราๆ เชื่อว่ามันมันต่อรองได้ มันเปลี่ยนแปลงได้น่ะ 

Film Club : อีก 10 ปีข้างหน้า เราจินตนาการว่าวงการหนังไทยว่ามันจะเป็นยังไง หรือเราอยากให้วงการหนังไทยมีอะไรในอนาคต

เอิร์น : เราก็ยังอยากมีความหวังนะ คือปีนี้มาปีที่แล้วก็เห็นว่ามันมีนักทำหนังไทยหลายๆ คนที่เขาส่งทุนขอทุนด้วยตัวเองไม่ได้พึ่งค่ายเจ้าไหนเลยอ่ะค่ะ เขาก็(ยัง)ไปได้รางวัลที่ต่างประเทศ เราก็รู้สึกยินดี คือมันก็คงดีนะถ้าเราได้เงินจาก(หน่วยงาน)อะไรแบบกระทรวงวัฒนธรรมมาสนับสนุนนะคะ เชื่อว่ามันมีอยู่แล้วแหละ อย่างเช่นปกติมันจะมีตัวแทนใช่ไหมคะ ที่เลือกหลักของคนไทยไปออสการ์ทุกปีเลยนะ แต่ว่ามันก็จำกัดจำเขี่ยมาก ทุนที่หมายถึงคือเราอยากให้มันมีทุนที่ไม่ต้องกำหนดธีม คือปกติก็จะมีองค์กรที่เขาชอบให้เงิน(เช่นธีม)ความดีอะไรแบบนี้ อยากให้มันโปร่งใสไปเลยไม่ต้องกำหนดธีม ไม่ต้องกำหนดตัวชี้วัดทั้งนั้น เราก็ให้ทุนนี้มันได้ Exercise แต่มันได้ให้คนในวงการได้สามารถใช้ได้จริงๆ น่ะค่ะ

แล้วก็คือถ้าเกิดว่าถามต่อไปอีก อย่างคำว่า ‘วงการนี้’ ก็สงสัยว่าอีก 10 ปีมันจะเปลี่ยนไปอีกไหม ตอนนี้คำว่า ‘วงการ’ มันหมายถึงว่าคนที่ specialized (เชี่ยวชาญ) ในการทำสิ่งหนึ่งๆ ใช่ไหมคะถึงเป็นวงการ แต่ว่าตอนนี้ทุกคนมีเครื่องมือในการถ่ายวีดีโอเป็น medium (สื่อ) ในชีวิตประจำวันก็คือในกล้องมือถือน่ะทุกคนทำหนังได้ในนั้น มันก็เรียกว่ามันเป็นหนังนะอย่างที่คานส์ก็มี Tiktok เข้าไปในเซคชั่นอะไรเงี้ย แต่ว่ามันก็บอกอะไรบางอย่างว่าในอนาคตโอกาสหรือน่านฟ้ามันน่าจะเปิดกว้างขึ้น 

โจ้ : โอเคผมปิดท้ายเลยละกันฮะ (หัวเราะ) อาจจะแบ่งเป็น 3 อย่างหลักๆ อย่างแรกก็คือที่เราคุยกันแทบจะตลอดทั้งบทสนทนาในวันนี้ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของแรงงานหนังน่ะครับ ความปลอดภัย สวัสดิการอะไรพวกนี้รวมทุกอย่าง ก็อยากให้มันพัฒนาขึ้น มีรูปแบบที่มันชัดเจนในการดูแล มีกฎเกณฑ์ที่มันชัดเจนกว่านี้ ไม่ใช่ล่องลอยแบบปัจจุบันที่ทำงานเกินเวลาก็ตามมีตามเกิดกันไปอะไรแบบนี้ (ควร)มีอะไรที่มันชัดเจนกว่านี้ในการมาควบคุมตรงนี้

แล้วก็ประเด็นต่อมาก็คือเรื่องอยากให้วงการหนังไทย ภาพยนตร์ไทยมีความเป็น ‘อุตสาหกรรม’ ซะที เหมือนที่ทั้งสองคนก็มีพูดมาแล้วแหละว่า หลายๆ ครั้งเราจะได้ยินคำว่าอุตสาหกรรมหนังแต่ผมว่าไทยตอนนี้มันยังไม่ใช่ ‘อุตสาหกรรม’ ในความหมายที่ว่ามันมีกลไกของมันหมุนวนกันอยู่ตลอดเวลา(อย่างสมบูรณ์) 

(ยกตัวอย่าง)ที่เกาหลี เกาหลีเขามีสิ่งนั้น เขาทำได้ แล้วเกาหลีก็ได้รับแบบพัฒนามาจากรูปแบบของฝรั่งเศส ซึ่งเราก็ไม่ต้องสงสัยว่าฝรั่งเศสนี่ภาพยนตร์นี่มันเฟื่องฟูเป็นอันดับต้นๆ ของโลกใช่ไหม ผมเคยฟังเหมือนเป็นตัวแทนจาก Unifrance ที่มาพูดงานหนึ่งจัดที่ Neilson Hays เขามาพูดเรื่องว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฝรั่งเศสมันเป็นยังไง ทำไมอุตสาหกรรมหนังฝรั่งเศสเขาถึงประสบความสำเร็จระดับโลก 

ซึ่งไม่ได้จะเล่าละเอียดทั้งหมดแต่คร่าวๆ ว่ามันมีประเด็นหนึ่งที่ผมจำได้ พอฟังแล้วเรารู้สึกเลยว่า โอ้ย สิ่งนี้เรียกว่าอุตสาหกรรม คือมันมีเงินหมุนแบบเป็นระบบมาก แล้วมีเงินสำหรับคนทำหนังแบบให้ไปเลยคนทำหนังประมาณนี้ต่อปี รายละเอียดอาจจะไม่ได้เป๊ะมาก คือคนทำหนังไม่อดตายถึงแม้เขาจะไม่มีงานแต่เขาก็จะมีเงินให้ประทังชีวิต แล้วสมมติคุณทำหนังขึ้นมาเรื่องนึงแล้วหนังคุณได้กำไรคืนทุนแล้วแล้วที่เหลือมันยังฉายอยู่ในโรง เงินเหล่านั้นก็จะเป็นของคุณ แต่ถ้าเกิดคุณทำหนังแล้วมันล้มหน้าคว่ำคุณก็จะไม่เสียอะไร คือมันเซฟให้เราด้วยในการที่จะกล้าที่จะเล่นกล้าที่จะลองอะไรใหม่ๆ รวมถึงการมีภาษีเหมือนเป็นภาษีตั๋วภาพยนตร์ที่เก็บเข้ามาส่วนหนึ่งจากรายได้ที่ได้จากการขายตัวมาไว้ในกองทุนหลักอันนี้ ชื่อ CBC มั้ง ไอ้องค์กรนี้เวลาดูหนังฝรั่งเศสมันจะอยู่ตอนท้ายเครดิตทุกเรื่องนะ 

ซึ่งมันก็ทำให้เห็นว่ามันเป็นระบบจริงๆ เราก็อยากเห็นไทยเป็นอย่างนั้นในอนาคต ในความว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ซักที เรียกกันมาว่าอุตสาหกรรมหนังๆ แต่คนทำหนังก็ยังต้องไปทำอีกอย่างอื่น ไปทำ mv ทำโฆษณาโน่นนี่ประทังชีวิต 

อีกอย่างนึง อันนี้มองในความเป็นคนนอกหน่อยๆ แล้วกันว่าเราเห็นพื้นที่ เราเห็นทุนในการให้ทำหนังมันน้อยเกินไป แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าทุนคือ เคยได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์ ถนอม ชาภักดี เขาจะใช้คำว่า เราต้องต่อสู้กับ ‘Aesthetics ของรัฐ’ ซึ่งถามว่าทำไมเราต้องสู้ เพราะว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จำกัดการให้ทุนของรัฐอยู่ มันสำคัญมากในการที่จะต่อสู้ในมิติทางนี้ด้วย ไม่งั้นเราก็จะก้าวหน้าไปลำบากมากๆ ถ้าเราติดหล่มตรงนี้

คำที่คนอาจจะพูดกันอีกคำหนึ่งคือ ‘แบบไทยๆ’ อะ คือ จุดๆๆ แล้วก็ลงท้ายด้วยคำว่าแบบไทยๆ ซึ่งเราควรจะเปลี่ยนตรงนี้ ถามว่าอันนี้เป็นการต่อสู้ของคนทำหนังแค่นี้ไหม มันก็ไม่ใช่ อันนี้มันเป็นเรื่องของคนทุกคนแล้ว มันเป็นเรื่องของจิตสำนึกร่วมสมัยใหม่น่ะของคน(ใน)องค์รวม ซึ่งอันนี้เราก็ต้องสู้กันในเวทีใหญ่ แต่ผมแค่อยากจะพูดในเชิงว่าสิ่งเหล่านี้มันมีความสำคัญต่อคนในวงการหนัง ด้วยในความที่ว่าคนให้ทุนในฐานะที่เป็นรัฐเนี่ย ก็ยังมีกรอบอำนาจนำที่เขาครอบครองอยู่ในตอนนี้ ในความหมายต่างๆ ดังนั้นการที่เขาให้ทุนน่ะมันก็เหมือนกับการที่เขาสามารถกำกับกรอบนั้นได้อยู่ดี เพราะว่าถ้าเขาไม่อยากให้อะไรเกิดขึ้นเขาก็ไม่ให้ทุนใช่ไหมฮะ ก็จบ สิ่งนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เราต้องทำให้เห็นพลังตรงนี้ให้มากขึ้น แล้วเราก็อยากเห็นสิ่งนี้มันทลายลงมากยิ่งขึ้น ก็ประมาณนี้

RELATED ARTICLES