ฟื้นฟูหนังไทย ฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวของไทย สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ แต่พอเกิดโรคระบาดขึ้นทั่วโลก ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวซบเซาตามกัน ถึงขนาดว่าในปี พ.ศ.2563 รายได้จากการท่องเที่ยวทั้งจากนอกประเทศและในประเทศเอง พลาดเป้าไปถึง 2.35 ล้านล้านบาท จากที่ตั้งไว้ 3.18 ล้านล้านบาท หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ธุรกิจท่องเที่ยวปีที่แล้วทำรายได้ไปไม่ถึง 1 ล้านล้านบาทเลยด้วยซ้ำ (ข้อมูลจาก ‘ประชาชาติธุรกิจ’)

อีกความจริงหนึ่งคือปัจจัยที่กระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว โดยมากมักเกิดจากความนิยมในตัวหนังนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงก่อนที่จะเกิดโรคระบาดนั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน มันคึกคักอย่างยิ่งหลังความนิยมของหนัง Lost in Thailand ซึ่งเข้าฉายไปตั้งแต่ปี 2012 โดยมีรายงานว่าปีแรกหลังการออกฉาย นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยมากขึ้นกว่า 13% และเพิ่มขึ้นเรื่อยมา

ดังนั้นหากมองในระยะยาว สิ่งที่ต้องฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนหลังจากหมดโรคระบาดแล้วย่อมคือธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อเร่งให้รายได้กลับมาสะพัดอีกครั้ง และตัวช่วยสำคัญที่จะดึงนักท่องเที่ยวกลับมาจึงอาจต้องพึ่งพา “หนัง” ดังนั้นจึงเป็นไปได้หรือไม่ที่หนังไทยซึ่งกำลังบอบช้ำจากโควิดรอบนี้จะกลับมามีบทบาทที่สำคัญอีกครั้ง

แต่จะต้องเป็นหนังแบบไหนล่ะ ถึงจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้?

อันดับแรก หนังต้องได้รับความนิยมในต่างประเทศก่อน! นี่คือปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเว็บไซต์ championtraveller.com ระบุว่าหนังที่ได้รับความนิยมในระดับโลกสามารถสร้างรายได้ให้ธุรกิจท่องเที่ยวถึง 25-300% เลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น Frozen ที่แม้จะเป็นแอนิเมชั่นแต่ก็ทำให้การท่องเที่ยวนอร์เวย์คึกคักขึ้น 37% ขณะที่ The Beach ก็ทำให้อ่าวมาหยาในหมู่เกาะพีพี มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากขึ้น 22% ส่วน Notting Hill ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสถานที่ถ่ายทำในลอนดอนเพิ่มขึ้น 10% ภายในเดือนเดียว และที่สุดขีดคลั่งคือ Mission Impossible 2 ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางไป Sydney National Park มากขึ้น 200% ในปี 2000 และ Braveheart ทำให้อนุสาวรีย์วอลเลซมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมถึงสกอตต์แลนด์มากขึ้น 300% ภายในปีเดียว

หนังชุด The Lord of the Rings ของ ปีเตอร์ แจ๊คสัน คือตัวอย่างอันดีของการฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ด้วยหนังที่ได้รับความนิยม ซึ่งหนังชุดนี้เริ่มออกฉายตั้งแต่ปี 2001 หลังจากนั้นมาอีก 20 ปี หนังชุดนี้ก็ยังมีอิทธิพลให้นักท่องเที่ยวเดินทางตามรอยหนังไปยังนิวซีแลนด์อยู่นั่นเอง และธุรกิจท่องเที่ยวทำรายได้ให้นิวซีแลนด์ถึงปีละ 39.1 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือราว 8 แสนล้านบาท

“ถึงแม้ว่าภาคแรกของ The Lord of the Rings จะออกฉายมายี่สิบปีแล้วก็ตาม แต่หนึ่งในห้าของนักท่องเที่ยวก็ยังบอกว่าหนังคือส่วนที่ทำให้ตัดสินใจเดินทางมาที่นี่” รีเบ็คกา อิงก์แรม ผู้ว่าการท่องเที่ยวนิวซีแลนด์กล่าว

การจะบอกว่าความสำเร็จของหนังคือปัจจัยสำคัญให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางตามรอยหนัง อาจเป็นคำกล่าวที่กว้างเกินไปและอาจทำให้เข้าใจว่าหนังที่ประสบความสำเร็จต้องเป็นหนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์เท่านั้น หากจำกัดให้แคบลงอีกนิด หนังเรื่องนั้นๆ อาจต้องแสดงให้เห็น “แลนด์มาร์ค” ที่สำคัญ และสร้างการจดจำเชิงบวกของสถานที่นั้นๆ ด้วย

Emily in Paris คือตัวอย่างที่ชัดเจน มันเป็นซีรีส์ชวนฝันที่ออกฉายทาง Netflix ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีกลาย อย่างไรก็ดีบรรยากาศอันงดงามของปารีสในซีรีส์เรื่องนี้ก็ทำให้ชาวอังกฤษอยากไปเยือนปารีสมากขึ้นถึง 50% แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในปารีสต้องเร่งตอบรับความต้องการของโลก ด้วยการดึงบรรยากาศจากซีรีส์มาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวเป็นการด่วน เช่น โรงแรมหลายแห่งหันมาตกแต่งห้องพักให้ใกล้เคียงบรรยากาศในซีรีส์เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ซึมซับบรรยากาศเดียวกับตัวละคร เป็นต้น

Emily in Paris

ตัวอย่างของ Emily in Paris คือการพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ใช่เพียงแค่หนังที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เมืองท่องเที่ยวเพียงฝ่ายเดียว แต่ภาคการท่องเที่ยวในภูมิภาคต้องรับลูกจากหนังมาต่อยอดด้วย ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของ Harry Potter หนังแฟนตาซีในโลกเวทมนตร์ที่แทบไม่ได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมอะไรอย่างเป็นรูปธรรม แต่การท่องเที่ยวในอังกฤษก็สร้างจุดขายให้นักท่องเที่ยวได้ตามรอยโลกเวทมนตร์ในลอนดอนจนสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากกว่า 50% และบางเมืองมากถึง 200% เลยด้วยซ้ำ

ภาคการท่องเที่ยวของหลายประเทศกล่าวตรงกันว่า “หนัง” มีอิทธิพลต่อการท่องเที่ยวมากเสียยิ่งกว่าสื่อประชาสัมพันธ์ใด และมักสัมฤทธิ์ผลได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงปีเดียว แต่หากเราจะคาดหวังให้หนังเป็น “ทางลัด” ในการช่วยฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยว อาจต้องผลักดันเป็นภาพใหญ่

ลำดับแรกคือการกระตุ้นให้กองถ่ายหนังต่างประเทศมาใช้เมืองไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำให้มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะกระตุ้นการท่องเที่ยวแล้วยังกระตุ้นการจ้างงานในประเทศด้วย อันเป็นกลยุทธ์ที่ภาครัฐไทยพยายามทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่นอกเหนือไปกว่านั้นคือการผลักดันหนังในประเทศออกสู่ต่างประเทศด้วยผลงานที่สากลให้การยอมรับให้มากที่สุด

หากวางเป้าหมายว่าปี 2022 ประเทศไทยจะกลับมาเดินเกมเพื่อให้เกิดความคึกคักด้านการท่องเที่ยว คงยังไม่สายหากในวันนี้เราจะเริ่มวางกลยุทธ์ผลักดันหนังไทยให้สามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเยือนได้อีกครั้งด้วยหนังที่ส่งออกทางวัฒนธรรมโดยไม่จำเป็นต้องสวยงามตามแนวทางของกระทรวงวัฒนธรรม แต่เป็นการรับรู้เชิงบวกให้ผู้ชมรู้สึกอยากค้นหาหรือมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมไปด้วยกัน และในตอนนี้ก็มีหนังไทยที่ร่วมทุนกับต่างชาติรอทำหน้าที่นั้นไว้แล้วอย่างน้อย 1 เรื่องคือ ‘ร่างทรง’ ของผู้กำกับ บรรจง ปิสัญธนะกูล และอำนวยการสร้างโดย นาฮงจิน ซึ่งแม้คงไม่ได้ถ่ายทอดบรรยากาศชวนฝันแบบ Emily in Paris แต่ก็ถ่ายทอดความเชื่อและวัฒนธรรมอีสานออกสู่สากล รอเพียงให้ภาคการท่องเที่ยวรับช่วงต่อตกแต่งแพ็คเกจเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อไป

แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น รัฐควรเร่งปัจจัยแวดล้อมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านการผลิตและการท่องเที่ยวโดยเร็วที่สุด


ข้อมูลประกอบ

https://championtraveler.com/news/popular-movies-can-increase-tourism-to-the-films-location-between-25-300/

https://www.prachachat.net/tourism/news-588126

https://discovery.cathaypacific.com/middle-earth-film-tourism-changed-new-zealand/

https://e-journal.unair.ac.id/AJIM/article/download/20392/12438

https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/epaper/jan_june2009/pdf/Walaiporn.pdf

https://pubosphere.fr/destination-placement-is-emily-in-paris-an-ad-for-the-city-of-paris/

นคร โพธิ์ไพโรจน์
ริจะเบนเส้นทางไปเป็นไลฟ์โค้ชด้านการลดน้ำหนัก แต่เฟลเลยกลับมาเขียนบทความหนังไทยเหมือนเดิม

RELATED ARTICLES