Happiest Season : ราคาของความคาดหวัง

(2020, Clea DuVall)

“ฉันบอกที่บ้านไม่ได้ว่าเราเป็นแฟนกัน เพราะพวกเขาต้องรับไม่ได้แน่” – นีคือหนึ่งในซีนสุดคุ้นเคยจากหนัง Queer หรือ LGBT หลายเรื่อง กับปัญหา “การอยู่ใน Closet” หรือการยังไม่เปิดเผยตัวตนของชาวสีรุ้ง ซึ่งทำให้คู่รัก LGBT หลายคู่ต่างต้องทะเลาะหรือเลิกรากันไป แต่ก็มีบางคู่ที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคร่วมกันจนสร้างอนาคตด้วยกันขึ้นมาได้ เพียงแต่ภาพจำอย่างหลังมักไม่ถูกพูดถึงในหนังฮอลลีวูดกระแสหลัก แต่แล้ววันนี้ ภาพอนาคตที่เป็นไปได้ของชาว LGBT ก็ได้ออกมาเฉิดฉายในหนังโรแมนติก คอมิดีช่วงเทศกาล อย่าง Happiest Season

หากจะมีอะไรที่เป็นการแผ้วถางเส้นทางใหม่ให้กับวงการหนัง LGBT คงเป็นการที่หนังเรื่องนี้ถูกฉายในฐานะหนังช่วงเทศกาลวันหยุดคริสต์มาส ซึ่งมักจะเต็มไปด้วยหนังรักของคู่รักชายหญิง หรือหนังที่เชิดชูอุดมการณ์ครอบครัวแบบรักต่างเพศ แค่พูดถึง genre ของโรแมนติก คอมิดีเอง เราก็อดไม่ได้จริงๆ ที่จะนึกถึงหนังรักตามแบบฉบับชาย-หญิง ที่ทั้งคู่ได้ลงเอยกันในช่วงเทศกาลอันอบอุ่น แต่ครั้งนี้ ชาว LGBT จะขอเฉลิมฉลองให้กับความรักของพวกเขาบ้าง และมันก็กลายมาเป็นการสร้างหนทางใหม่ๆ ที่ดูใจกล้ามากพอสมควรเลยทีเดียว

Happiest Season เป็นเรื่องราวของคู่รักเลสเบียน แอบบี และฮาร์เปอร์ ที่กำลังจะเดินทางไปฉลองคริสต์มาสกับครอบครัวของฝ่ายหลัง แอบบีตั้งใจจะขอฮาร์เปอร์แต่งงาน โดยขอกับพ่อของเธอ แต่ในระหว่างทาง ฮาร์เปอร์ก็สารภาพว่าเธอยังไม่ได้บอกที่บ้านว่าทั้งคู่เป็นคนรักกัน และบอกเพียงว่าแอบบีเป็นรูมเมทของตัวเอง ด้วยความที่ฮาร์เปอร์สัญญาว่าจะเปิดเผยกับพ่อแม่หลังเทศกาล เพราะในช่วงนี้พ่อของเธอกำลังทำแคมเปญลงเลือกตั้งนายกเทศมนตรี แอบบีจึงยอมตามน้ำไปด้วย จนกลายเป็นโมเมนต์สุดอึดอัดในระหว่างที่ทั้งสองอยู่กับครอบครัวของฮาร์เปอร์ ซึ่งทำให้แอบบีเริ่มคิดว่าเธออาจจะต้องการอยู่กับคนที่พร้อมกว่านี้

ภาพของครอบครัวฮาร์เปอร์ดูเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างสมบูรณ์แบบ และดูท่าว่าจะเป็นรีพับลีกันอีกด้วย เมื่อพวกเขาพูดถึง LGBT ว่าเป็น “ตัวเลือกวิถีชีวิต​ (Lifestyle Choice)” ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้อยากจะยุ่งเกี่ยวมากนัก พ่อของฮาร์เปอร์เป็นนักการเมืองที่ต้องรักษาหน้าตา ส่วนแม่ก็เป็นกุลสตรีที่เพียบพร้อมที่ช่วยผลักดันสามีจากหลังบ้าน ดูแล้วครอบครัวนี้ไม่ใกล้เคียงกับคำว่าเปิดกว้างทางเพศเอาเสียเลย และนั่นทำให้แอบบีรู้สึกเหมือนอยากจะหนีไปให้ไกล ซึ่งตัวเลือกของนักแสดงก็ลงตัวที่คริสเตน สจ๊วต ในบทแอบบี และแม็คเคนซี เดวิส ในบทฮาร์เปอร์

“คริสเตน สจ๊วตเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ยังมีชีวิตอยู่คนโปรดของฉัน และหนึ่งในสิ่งที่ฉันชอบมากที่สุดเกี่ยวกับเธอ คือความจริงที่ว่าบ่อยครั้งเธอดูเหมือนอยากหนีจากหนังที่เธอแสดงอยู่แล้วไปที่อื่น” – เอมิลี แวนเดอร์เวิร์ฟ จาก Vox1https://www.vox.com/culture/2020/11/24/21570507/happiest-season-review-hulu-kristen-stewart-rom-com-lesbian

เหตุที่สจ๊วตแสดงบทนี้ได้ดีอาจเป็นเพราะเธอต้องทำหน้าอยากหายไปจากโลกนี้ตลอดเวลา ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว หนังโรแมนติกคอมิดี้อาจจะไม่ใช่ทางของเธอเท่าไหร่นัก เพียงแต่ในเรื่องนี้บทค่อนข้างจะส่งเข้ากับคาแรคเตอร์ของเธอ อย่างไรก็ตาม ผลงานของสจ๊วตในเรื่องนี้ไม่ได้น่าจดจำมากสักเท่าไหร่ บางครั้งคนดูอาจนึกถึงเธอในบทเบลลา จาก Twilight Saga ซึ่งตีหน้าเฉยตลอดเวลาเสียมากกว่า

หนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้ตัวเลือกนักแสดงถือว่าดีใช้ได้ทีเดียวสำหรับเรื่องนี้ ก็คือแม็คเคนซี เดวิส ซึ่งแสดงเป็นหญิงสาวจากครอบครัวอนุรักษ์นิยมได้อย่างน่าเชื่อ และฉากที่เธอออกมาป่าวประกาศว่าตัวเองเป็นเลสเบียนก็มีผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้ชมและทำให้สะเทือนใจได้อย่างดี เคมีของเธอกับสจ๊วตถือว่าเข้าทางเลยทีเดียว เมื่อสมทบด้วยการแสดงของแดน เลวี ในบทจอห์น เพื่อนเกย์ที่ให้คำแนะนำและช่วยแอบบีจากสถานการณ์น่าอึดอัด และอลิสัน บรี ในบทสโลน พี่สาวสุดเพอร์เฟกต์ที่แก่งแย่งแข่งขันกับฮาร์เปอร์ ก็ทำให้หนังเรื่องนี้มีติมากยิ่งขึ้น

ประเด็นที่จะไม่พูดถึงในหนังไม่ได้เลยก็คือเรื่องของความคาดหวัง ทุกคนในหนังถูกคาดหวังด้วยกันทั้งหมด ฮาร์เปอร์บอกว่า ความรักของคนในบ้านของเธอไม่ใช่ของที่ได้มาฟรีๆ แต่ลูกสาวทั้งสามคนของบ้านนี้ต้องทำตัวเป็นเด็กดีสุดเพอร์เฟกต์ พวกเธอจึงจะได้มันมา สโลน พี่สาวของฮาร์เปอร์กับสามีซึ่งเคยเป็นอัยการทั้งคู่ซ่อนความไม่เพอร์เฟกต์ในชีวิตคู่จากพ่อแม่เอาไว้ เธอไม่บอกใครว่าเธอกำลังจะหย่าจากสามี เพราะนั่นอาจทำให้พ่อแม่ใจสลายและเห็นว่าเธอไม่ควรค่าแก่ความรัก เจน ลูกสาวคนกลาง ดูจะเป็นคนเดียวที่ไม่ถูกคาดหวัง เพราะพ่อแม่ไม่ได้เห็นความสำคัญในตัวเธอ แต่ก็เห็นว่าเธอไม่มีตัวตนเช่นกัน ยิ่งกับฮาร์เปอร์ยิ่งแล้วใหญ่ การบอกกับพ่อแม่ว่าเธอเป็นเลสเบี้ยนอาจจะทำให้เธอเสียพวกเขาไป แต่ถ้าเธอไม่บอก เธอก็อาจจะเสียแอบบีไปได้เช่นกัน

เหล่า LGBT ต่างถูกท้าทายด้วยความคาดหวังจากครอบครัว ว่าพวกเขาหรือพวกเธอจะต้องเป็นเหมือนคนอื่นๆ และไม่ทำให้พ่อแม่ขายหน้า ซึ่งฉากที่จอห์นพูดเกี่ยวกับการ come out นั่นมันช่างจริงเอามากๆ วินาทีที่หัวใจเต้นระรัวก่อนจะพูดความจริงเกี่ยวกับตนเองออกไปนั้นเป็นวินาทีสุดสยอง และเมื่อพูดคำนั้นออกไปแล้ว พวกเขาก็ไม่สามารถย้อนกลับไปได้อีก เหมือนกับชีวิตบทใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น ถ้ามีความเสียหาย พวกเขาก็ย้อนกลับไปซ่อมมันไม่ได้อีกแล้ว

พ่อแม่ของฮาร์เปอร์อาจถูกมองเป็นตัวร้ายในเรื่องที่ให้ความรักแบบ “มีเงื่อนไข” กับลูกๆ ของพวกเขา แต่แล้ว หนังก็เผยอีกด้านของสองคนนี้ให้คนดูได้เห็น ทิปเปอร์ แม่ของฮาร์เปอร์อยากเรียนคาราเต้มาโดยตลอด แต่เธอไม่ทำ เพราะมันดูไม่สมหญิง และไม่ช่วยส่งเสริมหน้าที่การงานของสามี ในขณะที่เท็ด พ่อของฮาร์เปอร์นั้นคิดว่า ถ้าหากเขาได้เป็นนายกเทศมนตรีแล้วลูกๆ จะภูมิใจในตัวเขา เรียกได้ว่าทุกคนในเรื่องต่างเป็นเหยื่อของความคาดหวัง ซึ่งเกิดจากการที่แต่ละฝ่ายต่างคิดกันไปเองว่าตนเองจะไม่เป็นที่รักหากไม่ทำตามความหวังของคนอื่น

ตัวละครที่ถูกใส่เข้ามาและทำให้หนังดูกลมขึ้นอีกตัว ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือไรลีย์ แฟนเก่าของฮาร์เปอร์ที่เคยถูกฮาร์เปอร์หักหลังจนเธอโดนเกลียดจากคนทั้งโรงเรียน ไรลีย์เป็นตัวละครที่ทำให้เราได้รู้ว่าฮาร์เปอร์กลัวการถูกปฏิเสธจากครอบครัวมากเพียงใด ความกลัวนั้นมากพอที่เธอจะทำร้ายคนที่เธอรัก เพื่อที่จะยังคงเป็นเด็กดีของพ่อแม่

สิ่งที่เหล่า LGBT ต้องการคงไม่ใช่การที่พ่อแม่เลิกหวังในตัวพวกเขา แต่เป็นการที่พ่อแม่ไม่ “ยัดเยียด” ความหวังที่ไม่ตรงกับตัวตนจริงๆ ของพวกเขามาให้ และสนับสนุนพวกเขาในแบบที่พวกเขาเป็น เช่นพ่อแม่ของแอบบีที่คอยให้กำลังใจเธอมาตลอด แต่เรื่องราวการเปิดเผยตัวตนของ LGBT แต่ละคนนั้นมีรายละเอียดแตกต่างกันไป จอห์นบอกกับแอบบีว่า การที่ฮาร์เปอร์ไม่เปิดเผยความจริงนั้นไม่ได้เกี่ยวกับตัวแอบบี แต่เกี่ยวกับฮาร์เปอร์เองต่างหาก เธอไม่ได้ “ซ่อน” แอบบี แต่เธอกำลังซ่อนตัวเอง เขาพยายามพูดให้แอบบีเข้าใจว่าแต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตต่างกัน และเล่าถึงประสบการณ์การ come out ที่แสนเจ็บปวดของตัวเอง

หากจะมีอะไรที่ Happiest Season ทำได้ดีมากๆ มันก็คือการที่หนังพยายามเป็นตัวแทน (represent) ความยากลำบาก หรือการต่อสู้ของ LGBT ที่ไม่ได้เป็นเพียงมายาคติ แต่มีอยู่จริง และทำให้คนเข้าใจเรื่องราวของคนกลุ่มนี้มากขึ้น การเป็น LGBT ไม่ได้เป็นแค่ “ช่วงๆ หนึ่งที่สับสน (phase)” แต่เป็นโครงการประกอบสร้างตัวตนที่คนกลุ่มนี้ต้องรับมือทั้งชีวิต ซึ่งการที่หนังเอาประสบการณ์ตรงนี้มาเล่าได้นั้น ถือว่าหนังได้ประสบความสำเร็จในการเป็นกระบอกเสียงของชาว LGBT และน่าคาดหวังให้มีหนังแบบนี้ออกมาอีก


ดู Happiest Season ได้ที่ Netflix

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS