Aftersun : พ่อในภาพสะท้อน

*หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

อันที่จริงมันก็คือการไปเที่ยวธรรมดาครั้งหนึ่ง พ่อพาเธอมาเที่ยวตุรกี จองผ่านเอเยนต์เอาไว้ นั่งรถทัวร์จากสนามบินมาโรงแรมที่ค่อนข้างหรูหรา จากนั้นก็ไม่ได้ไปไหน โรงแรมอยู่ใกล้ชายหาด ชีวิตวนเวียนอยู่ที่ห้องพัก สระน้ำ ตู้เกม บาร์และห้องอาหารในสวนของโรงแรม คืนวันหนืดเนือยของการถ่ายวิดีโอเล่นกันจากกล้องที่พ่อเพิ่งแกะกล่อง นอนฟังเพลง เล่นพูลกับเด็กที่โตกว่า เล่นเกมตู้ขี่มอเตอร์ไซค์กับเด็กวัยไล่เลี่ยกัน กินอาหาร คุยกับพ่อ พ่อทากันแดดให้ เดินเล่นในโรงแรม บางทีพ่อก็พานั่งรถทัวร์ไปวันเดย์ทริป ไปดูเมืองเก่า ไปหมักโคลนที่บ่อโคลนเดียวกันกับคลีโอพัตรา พอหมดเวลาพ่อก็พากลับบ้าน ส่งเธอที่สนามบิน ต่างคนต่างแยกย้ายกันไป ไม่มีอะไรพิเศษ ไม่มีดราม่าพ่อลูก การลาจากกันไปมันเรียบง่ายแบบนั้นแหละ

อันที่จริงมันเป็นเทปวิดีโอธรรมดาที่พ่อกับเธอผลัดกันถ่ายตอนไปเที่ยวด้วยกันในครั้งนั้น ภาพเธอ เธอถ่ายพ่อตอนกำลังเต้น พ่อชอบเต้นรำแต่เธอคิดว่ามันน่าอาย และพ่อถ่ายเธอ อ้อยอิ่งตรงประตูทางออกสนามบิน แอบมองหาพ่อที่รอจนเธอลับตาไปครั้งแล้วครั้งเล่า ภาพของพ่อเรืองขึ้นในจอทีวี เงาของเธอที่ตอนนี้โตเท่าพ่อแล้วสะท้อนทับลงไปบนจอ ด้วยภาพเช่นนั้น เธอได้เห็นพ่ออีก อาจจะเห็นพ่อแบบที่เธอไม่เคยเห็นมาก่อน

อันที่จริงมันเป็นหนังเรื่องหนึ่ง หนังเล่าเรื่องที่ถูกเขียนขึ้นใหม่ ภาพยนตร์โดย Chorlotte Wells ที่มีที่มาจากความทรงจำของการไปเที่ยวกับพ่อเมื่อครั้งเธอยังเด็ก ภาพยนตร์ถูกทำขึ้นคล้ายการกลับไปจำลองโมงยามเหล่านั้น โดยไม่พยายามทำอะไรมากไปกว่าเหตุการณ์สามัญของการไปเที่ยววันหยุด ไม่มีดราม่า ไม่มีเรื่องเล่าซาบซึ้งใจ หรือน่าตื่นเต้น จากต้นจนจบ ที่เหลือผู้ชมต้องปะติดปะต่อความสัมพันธ์ อดีต และอนาคตของพ่อลูกคู่นี้เอาเองจากข้อมูลแวดล้อมต่าง ๆ ที่หนังทิ้งไว้ให้ผ่านบทสนทนาหรือการไม่สนทนา

ความทรงจำเปลี่ยนรูปไปเป็นเรื่องแต่ง ในเรื่องแต่งมีสารคดีของการบันทึกการเดินทาง สายตาของหนังจึงเป็นสายตาน่าตื่นเต้นของการมองกลับไปกลับมา โดยไม่มองกันตรงหน้า ผ่านการบันทึกลงในสื่ออย่างกล้องวิดีโอ และกล้องถ่ายหนัง และผ่านเวลา เมื่อตัวละครเป็นผู้ย้อนมองวีดีโอนี้และผู้กำกับหนังย้อนมองตัวเองผ่านการสร้างมันขึ้นมาใหม่

หนังจึงไม่ได้เป็นภาพยนตร์แห่งการมองหน้าตรง แต่เป็นภาพยนตร์แห่งการลอบมองและย้อนมอง เพราะตรงหน้าเป็นเพียงเหตุการณ์เปลือยเปล่าของการไปเที่ยวที่ไม่ได้ค้นพบอะไรใหม่ โดยมากว่ายวนอยู่ในพื้นที่ของโรงแรม และถ้าออกไปข้างนอกก็ไปกับการซื้อทัวร์ตามหมุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยว เราอาจแบ่งภาพของหนังได้เป็นสามสายตา สายตาแรกคือสายตาของหนังที่จับจ้องพ่อลูก – สนิทชิดใกล้จนแนบไปกับเนื้อหนังและสรีระ สายตาที่สองคือสายตาที่คนทั้งสองมองกันและกันผ่านกล้องถ่ายวิดีโอที่ทั้งคู่ใช้ร่วมกัน ฉากหนึ่งโซฟีถ่ายพ่อของเธอและถามว่าเขาคิดว่าตัวเองตอนอายุเท่าเธอคิดถึงตัวเองตอนอายุเท่าเขาตอนนี้ว่าอย่างไร และเขาไม่ตอบ กับสายตาของพ่อที่สั่งลาเธอผ่านทางการถ่ายเธอเอาไว้ตรงปากทางสนามบิน สายตาหวนไห้แห่งการรำลึก เพราะวิดีโอเป็นสิ่งที่จะอยู่ไปตลอด เหตุการณ์จบลง ความทรงจำนั้นไม่แน่นอน แต่ในวิดีโอเวลาที่ถูกแช่แข็งเอาไว้เล่นซ้ำได้ไม่รู้จบ และตัวละครทั้งพ่อและลูกในเวลาต่อมา สารภาพ หวนรำลึก และจดจำผ่านวิดีโอนั้นทั้งกับพ่อในห้องมืดทึมของโรงแรม หรือโซฟี, หลายปีต่อมา, ในบ้านของเธอเอง

แต่สายตาที่สำคัญที่สุดของหนังคือสายตาของภาพสะท้อนและการลอบมอง ตลอดเวลาหนังมักเสจากใบหน้าของตัวละครไปถ่ายภาพสะท้อน จากจอนูนของทีวีในห้องโรงแรม จากกระจกปูโต๊ะ จากรูปถ่ายโพลารอยด์ จากกระจกบนโต๊ะเครื่องแป้ง เงาสะท้อนของน้ำในสระ เงาของบ่อโคลนหมักตัว ภาพสะท้อนกลายเป็นการลอบมอง ภาพสะท้อนสะท้อนความจริงทุกข์เศร้าที่ถูกซ่อนไว้ภายใน เราเห็นก็ต่อเมื่อเรามองจากระยะที่เหมาะสม ที่ไกลออกไป และไม่เผชิญหน้า

โซฟีจึงเห็นจากภาพสะท้อนนั้นว่าพ่อเป็นคนหนุ่มอายุ 31 ที่เศร้าสร้อย เขาพาเธอมาเที่ยวอาจจะด้วยเงินทั้งหมดที่เหลืออยู่ พยายามทุกอย่างที่จะสร้างโมงยามดี ๆ ให้เธอจดจำ แต่ดูเหมือนพ่อนั้นเศร้า พ่อที่เจ็บปวดอย่างรุนแรงด้วยคำพูดไม่กี่คำของเธอ แต่ซ่อนมันไว้จากเธอ ซ่อนมันไว้ในร่างกายที่เคลื่อนขยับไปตามเสียงดนตรี แต่เธอไม่ชอบการเต้น การเต้นพรากพ่อไปจากเธอ พ่อเต้นรำออกไปจากชีวิตของเธอ เพราะสำหรับพ่อ การเต้นคือความร่าเริงที่ถูกขุดขึ้นมาเพื่อห่อหุ้มความแตกสลายข้างในเอาไว้

ไกลไปกว่านั้นสายตาของหนังยังลอบมองสายตาของโซฟี และความรู้สึกทางเพศของเธอ โซฟีในตอนนั้นยังเด็กเกินกว่าจะเป็นวัยรุ่นตามก๊วนพี่ ๆที่เธอเจอที่โต๊ะพูล แต่ก็โตเกินกว่าจะเล่นกับเด็ก ๆ ด้วยกัน แม้แต่ไอ้หนุ่มตู้เกมก็เด็กไปสำหรับเธอ และความโดดเดี่ยวของการติดอยู่ตรงกลางนั้นทำให้เธอใช้สายตาจ้องมองหญิงสาวที่โตเต็มวัยด้วยความปรารถนาและความอยากเอาอย่าง ในทุกครั้งที่โซฟีหลุดเดี่ยว เธอมักจะเป็นแค่พยานรู้เห็นเหตุการณ์ หนังมักแพนจากใบหน้าไปเป็นสายตาที่เธอจ้องมองสิ่งต่าง ๆ หนังบันทึกความตื่นรู้ทางเพศของเธอผ่านสายตา ขณะที่จูบแรกของเธอเป็นการเล่นสนุกมากกว่าความรู้สึกทางเพศจริง ๆ และถูกลอบมองผ่านสายตาของคนอื่นอีกทอดหนึ่ง

พ่อลูกจึงไม่ได้เปิดเผยอะไรต่อกัน จากกันแล้วไม่อาจรู้ว่าได้พบกันอีกไหม ห่างเหินกันไปตลอดกาลหรือเปล่า หนังขึ้นและลงอยู่ตรงจุดที่ดีที่สุดในชีวิต แต่เรารู้ว่าโซฟียังคงเก็บพ่อไว้ในส่วนหนึ่งของชีวิต พรมที่พ่อหลงใหลจนต้องซื้อกลับมายังอยู่กับเธอ วิดีโอของพ่อก็ยังอยู่กับเธอ และเธอยังคงฝันเห็นพ่อ ในความมืด กลางแสงไฟวิบวับ ยังคงเต้นรำเพื่อให้ลืม และเธอพยายามจะดึงพ่อออกมาจากการเต้นรำอันเป็นนิรันดร์นั้น

Aftersun อาจจะเป็นหนังที่ประหลาด เพราะดูเหมือนเรื่องราวจะอยู่ในอากาศและในหัวของผู้ชมมากกว่าบนจอ มันเป็นหนังแห่งการจ้องมองและการสืบสวนสอบสวนจากหลักฐานที่มีอยู่ จากนั้นจินตนาการปะติดปะต่อเรื่องราว หลายต่อหลายครั้งก็อาศัยปูมหลังส่วนตัวของนักสืบ/ผู้ชม เพื่อที่จะเข้าใจตัวละครพ่อลูกที่กำลังเที่ยวเล่นนี้ ด้วยวิธีการนั้นเองผู้ชมจึง ‘จ้องมองจากระยะไกล’ เพราะมีแต่การมองกันและกันจากระยะที่ไกลพอเท่านั้น เราจึงจะเห็นตัวตนของอีกคนหนึ่ง ทั้งที่เราเคยมองเห็นและมองไม่เห็น อยากมองและไม่อยากมอง ตัวละครมองเห็นอีกคนผ่านการมองจากระยะที่ไกลและเวลาที่ไกล ขณะที่ผู้ชมค่อย ๆ ถูกดึงดูดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวเหล่านี้ ให้ภาพยนตร์เป็นการประกอบสร้างความทรงจำขึ้นมาใหม่ สร้างความอมพะนำของการจากลา ลูกที่ฉีกขาดออกจากพ่อเพราะกำลังโต พ่อที่ฉีกขาดออกจากลูกเพราะไม่ยอมโต อาศัยอยู่ในทางเดินของสนามบินไปตลอดกาล

Filmsick
Filmvirus . เม่นวรรณกรรม . documentary club

LATEST REVIEWS