Home Article Cinema Nostalgia Remembering Varda : 2. To Doc., or Not to Doc.

Remembering Varda : 2. To Doc., or Not to Doc.

Remembering Varda : 2. To Doc., or Not to Doc.

(อ่านตอนแรก
Remembering Varda : 1. Pursuit of Unlimited Happiness)

Daguerréotypes (1976)

Along the Coast (1958)

The Beaches of Agnès (2015)


Daguerréotypes (1976) : ถ้าจะมีหนัง (โดยเฉพาะในกลุ่มหนัง doc) ของป้าวาร์ดาเข้ามาฉายโรงในไทยช่วงเวลาเดียวกับที่สร้างเสร็จหมาดๆ ซักเรื่อง ก็น่าจะเป็นเรื่องนี้ (ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ได้เข้าอยู่ดี) อย่างน้อยๆ ไม่ว่าจะหน้าหนัง ทางของหนัง ยิ่งในเรื่องของสไตล์ ป้าวาร์ดาทำ Daguerréotypes ออกมาในรูปสารคดีแบบ semi-candid อย่างน้อยคนยุคนั้นคงคุ้นเคยกับรายการโทรทัศน์ Candid Camera (‘กล้องจำลองชีวิต’) เป็นตัวนำร่อง ก่อนจะมีระลอกสองเมื่อ Jamie Uys นักทำสารคดีชาวแอฟริกาใต้ ก็เข้ามาต่อยอดด้วย ‘Funny People’ (‘สัตว์โลกผู้น่าขัน’, 1977)

เหตุที่ชื่อไทยออกมารูปนั้นเกิดจากลายเซ็น (trademark) ในหนังสารคดีที่ Uys เคยทำเอาไว้สวยงามก่อนหน้า ‘สัตว์โลกผู้น่ารัก’ นั่นคือ (Animals Are) Beautiful Peoples (1974) โดยวิธีตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ทะเลทรายน้อยใหญ่ราวกับจะเป็นนายพราน แล้ว Uys ก็เอามุขเดียวกันมาเล่นกับคนในเมืองบ้าง ด้วยหวังผลให้เป้าหมายทำอะไรเปิ่นๆ รั่วๆ ใส่กล้อง (จนกระทั่งเกิดเป็นทายาทในไทย ‘ถึงคิวฆ่าดาราจำเป็น’ ที่รับรูปแบบมาใช้เป็นเรฟกันเห็นๆ)

ตามจริงแล้วสไตล์ที่ป้าวาร์ดาใช้ในงาน Daguerréotypes อาจไม่โฉ่งฉ่าง-vulgarism เหมือนกับที่ Uys เคยใช้ (ถึงต้องใช้คำเรียกเป็น semi-candid ธรรมดา) แต่วิธีที่คุณป้าสลับฉาก เวลากำลังจะขึ้นเรื่องใหม่ (ก็คือย้ายไปเป็นอีกซับเจกต์) ในแบบคัทชนคัทจะมีความคล้าย ซึ่งก็มิใช่ Funny People ซึ่งเป็นเรื่องของคนล้วนๆ ทว่าค่อนไปทางสารคดีพวก ‘สัตว์โลกผู้น่ารัก’ ‘สัตว์โลกหฤโหด’ มากกว่า (ซึ่งเรื่องหลังนี่แม้จะมาทางคล้ายกัน แต่ Jamie Uys ไม่เกี่ยว)

แม้แนวทางของสารคดี Daguerréotypes อาจดูเหมือนสร้างขึ้นมาไม่มีคอนเซ็ปท์ แต่จริงๆ แล้วมี โดยอาจเป็นเพราะโชคหรือฟลุ๊คก็สุดแท้แต่ที่บังเอิญว่าละแวกบ้านของคุณป้า (ที่เราๆ จะได้เห็นในเวลาต่อมาในสารคดี The Gleaners and I, 1998) ตั้งอยู่บนถนน Daguerre อันเป็นจุดเริ่มต้นของคำที่ใช้เรียกสกุลช่างของงานถ่ายรูปยุคบุกเบิก

นั่นคือจากเดิมที่เคยเป็นชื่อถนน ก็ได้ลุกลามกลายเป็นคำสามัญที่ใช้เรียกทั้งกล้อง ทั้งรูปถ่ายที่ล้างอัดขยายโดยนาย Louis Daguerre ศิลปิน-นายช่างซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่บนถนนเส้นนี้ ซึ่งนั่นคือตำนานที่มีมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ครั้นล่วงเลยจนถึงปลายศตวรรษที่ยี่สิบ ในเมื่อชื่อถนนตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่นาย Deguerre ได้ ทำไมคุณป้า (ซึ่งมีนิวาสถานบ้านช่องตั้งอยู่บนถนนนี้ทั้งคน) จะนำมันมาใช้เป็นเทรดมาร์กให้กับชื่อหนังสารคดีของตัวเธอเองบ้างไม่ได้ แม้ทั้งเรื่องจะไม่มีส่วนไหนเลยที่ใช้สไตล์ภาพในรูปแบบของ daguereotype ตามตำรับเดิม เท่าๆ กับที่ตอนถ่าย (ต้นปี 1975) บนถนนทั้งสาย ไม่มีบ้านศิลปินนักถ่ายรูปอีกต่อไปแล้ว สารคดีของคุณป้าวาร์ดาจึงเปรียบเหมือนเป็นการสานต่อในสิ่งประดิษฐ์ที่นาย Daguerre ได้เคยฝากไว้ กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่เชื่อมต่อให้เข้ากับชุมชนระลอกที่สอง

ป้า Varda ทำ Daguerréotypes ออกมาด้วยคอนเซ็ปท์ ‘เราและเพื่อนบ้านของเรา’ ซึ่งในทางคาธอลิคมีคำสอนอยู่ว่า ‘จงรักเพื่อนบ้านของเจ้าให้เท่ากับที่เจ้ารักตัวของเจ้าเอง’

Daguerréotypes (1976)

โดยความหมายของ ‘เพื่อนบ้าน’ ที่ว่ามิใช่จำกัดความเพียงแค่คนอยู่บ้านข้างๆ หรือมีรั้วชิดติดกัน ทว่ายังครอบคลุมไปถึงคนในสังคมเดียวกันทั้งที่รู้จักแล้วก็ไม่รู้จัก ซึ่งก็คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั่วไป ถ้างั้นการที่ Varda แวะเวียน (ขอความร่วมมือ) จากบรรดาเพื่อนบ้าน + เจ้าของร้านรวงชนิดหัวซอยท้ายซอยเพื่อตั้งกล้อง แล้วนำเขาเหล่านั้นมาให้คนดูเราๆ ได้ทำความรู้จักก็เท่ากับเป็นการสานต่อความรักในเพื่อนมนุษย์ ที่ถึงแม้เป็นเพียงการทำความรู้จักผ่านสารคดี ด้วยคาดว่าเมื่อดูจบลุงๆ ป้าๆ เจ้าของร้านขายน้ำหอม, เบเกอรี + ขายขนมปัง, ร้านเสริมสวยที่แบ่งโซนกับร้านตัดผม, ร้านชำ, พ่อค้าเนื้อ, โรงเรียนสอนขับรถ และอื่นๆ จะเป็นที่รู้จักนอกละแวกถนน Daguerre แล้ว เขาเหล่านั้นก็จะมิใช่ ‘คนแปลกหน้า’ ทั้งซึ่งกันและกัน และต่อคนดูอีกต่อไป

จะเห็นได้ว่าผลงานในกลุ่มสารคดีของ Varda (ว่ากันตั้งแต่ Along the Coast จนถึง Faces/Places) มักให้คุณค่ากับคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม (มากบ้างน้อยบ้าง ตั้งใจบ้าง ออกจากตัวเองโดยไม่รู้ตัวบ้าง) โดยเริ่มจากการหาความเหมือนหรือจุดร่วมจากตัววาร์ดาเองก่อน อย่างแรกวาร์ดาให้ข้อมูลเราก่อนว่าเธอเข้ามามีบ้านในย่านถนน Daguerre นี่ราวยี่สิบห้าปี (นับจากช่วงถ่ายเมื่อต้นปี 1975 ก็น่าจะราว 1951) พอเข้าช่วงสารคดีจริงๆ กลับพบว่ามีหลายครอบครัวก็เข้ามาอยู่ในช่วงเวลาที่ตรงกันหรือไม่กี่ไล่เลี่ยกัน (โดยมีเจ้าของร้านน้ำหอมกับคุณปู่ทำขนมปังที่น่าจะย้ายเข้ามานานที่สุด คือตั้งแต่ 1933 จนถึงช่วงสงคราม) และถ้าจะเจาะลงไปอีก ตัวสารคดียังให้ข้อมูลด้านประชากรได้ทางอ้อม เมื่อพบว่าที่ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในย่าน ส่วนมากย้ายมาจากต่างเมืองกันเกือบหมด (มีคุณป้าร้านทำขนมปังอารมณ์ดีมากจากยุโรปตะวันออก และที่ไกลสุดก็น่าจะเป็นหนุ่มเชื้อสายอาหรับที่ไม่กล่าวประเทศบ้านเกิดซึ่งย้ายเข้ามาเมื่อปี 1973 = สองปีก่อนหน้าช่วงถ่ายนี่เอง)

ครั้นแล้ว คุณป้าวาร์ดาก็ทำเราๆ คนดูโป๊ะแตก ใน The Beaches of Agnes (2008) มีการเปิดเผยออกมาว่าที่ทำ Daguerréotypes ก็เพื่อต้องการทำหนังที่ไม่ต้องเดินทางไปไกลมาก คือกำหนดพิกัดรัศมีเอาไว้ไม่ให้เกิน 90 เมตรจากบ้าน เนื่องจากตอนนั้นคุณป้ายังมีลูกเล็กๆ (คาดว่าน่าจะเป็น Mathieu) เพิ่งคลอด โดยลากสายยางจำกัดระยะทางทางรั้วบ้านถึงที่หมายห้ามเกินกว่านั้น แต่สุดท้ายป้าก็ให้ลูกสาวคนโต Rosalie เข้ามาเป็นลูกค้าในร้านขายน้ำหอม สารคดีของคุณป้าทำให้รู้ว่าวิถีชุมชนคนฝรั่งเศสจริงๆ เขาอยู่กันอย่างไร ยิ่งร้านขายน้ำหอม ถึงได้รู้ว่าเวลานั้นคนของเขายังไม่มีพวกแบรนด์ดังๆ หรือร้านแฟรนไชส์ คนจะซื้อน้ำหอมทีก็แค่เดินเข้าร้าน เลือกกลิ่น (ลุง)คนขายก็จัดแจงตวงให้เอง เหมือนเราซื้อข้าวสาร คิวต่อมาก็ค่อยปรับโหมดไปเป็นครีมแต่งผมชาย 

มีกฎเหล็ก (ไม่ว่าจะสารคดีหรือหนังสร้าง รวมไปจนถึงงานภาพนิ่ง ไม่ว่าจะภาพเซลฟี่ถ่ายเล่นหรือรีวิวสินค้า) อยู่ข้อคือ ห้ามเห็นคนนอกหลุดเข้ามาในเฟรม หรือแม้แต่ตัวประกอบหันมามองกล้อง แต่ถ้าเป็นหนังคุณป้าเธอปล่อยโลด แถมจะยินดีต้อนรับเอาเสียด้วยซ้ำ มีอยู่หลายช่วงที่ถ่ายๆ อยู่บังเอญมีคนเดินเท้าแว้บผ่านเข้าทางกล้อง แถมรู้ตัวด้วยว่ากำลังถ่ายหนัง ก็รีบเดินจ้ำๆๆ พลางหันมามองกล้องอีก คุณป้าไม่สั่งคัต แถมยังเก็บฟุตเอาไว้ใช้จริง ซึ่งแขกรับเชิญพวกนี้ก็กลายเป็น ‘ดาราจำเป็น’ ไปโดยไม่ตั้งใจ แล้วไหนยังมีประเภท ‘แอบส่อง’ แบบคงระแวงว่าจะมาทำอะไรหรือวางของล้ำแนวเข้ามาบ้านชั้นรึเปล่า ด้วยสายตาบอกความเป็นมิตรก็ขนาดนั้น พอกล้องเคลื่อนตามซับเจกต์จริง (เป็นลุงร้านขายแก๊สหุงต้ม) ป้าบ้านข้างๆ ยังมองต่อ พอย้ายของเสร็จ ป้าวาร์ดามีการ shift focus หันไปหยุดกึ้กกกที่ป้าบ้านข้างๆ ต่อ เหมือนกับเขยิบจากเอ็กซ์ตรามาเป็น main จากแบ็คกราวด์ก็เปลี่ยนมาเป็นโฟกัส และถ้ายังจำกันได้ ซีนเปิดเรื่องที่กล้องตั้งใจจะถ่ายป้ายชื่อถนน แต่เหนือขึ้นไปบนๆ มีสตรีคนหนึ่งโผล่มามองทางหน้าต่าง (คาดว่าคงเพิ่งตื่นนอนหรืออย่างไรก็สุดจะเดา) ซึ่งไม่มั่นใจว่าคุณผญ.ท่านนี้อยู่ในชุดอะไร รู้แต่รูดม่านหน้าต่างปิดฟรึ้ดดดด

Daguerréotypes (1976)

ทีนี้ก็มาถึงแง่มุมที่ค่อยๆ ไต่ระดับ (สู่ความไม่มั่นใจ) ว่าเป็นเรื่องของความเป็นส่วนตัวหรือเปล่า 1. คุณผู้หญิงในห้องนอนนั่นเป็นใคร (คนในละแวกน่าจะรู้จัก แต่ก็ไม่ทราบแน่ชัด) 2.มีอยู่พาร์ตหนึ่ง ตั้งกล้องไว้ฝั่งตรงข้าม แต่พอดีไมค์บันทึกเสียงคุณภาพดีเกินไป จับใจความเม้ามอยของป้าฝรั่งเศสคู่หนึ่งได้ทัน หรือ 3. บนถนน Dagurre สายเดียวกันนี้ เคยเป็นฉากเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง (ซึ่งป้าวาร์ดา-ผู้บรรยาย ไม่ได้บอกเอาไว้https://second.wiki/wiki/rue_daguerre)

เมื่อค้นข้อมูลคร่าวๆ ถึงได้พบว่า ถ.Rue Daguere ทุกวันนี้ ไม่เหลือเค้าเดิมที่มีให้เห็นในสารคดีอีกต่อไป (อย่างน้อยๆ หัวถนนปากทางเข้า เมื่อปี 2006 ก็เปิดเป็นผับ) ซึ่งดูเหมือนว่าคุณป้าเองก็คงมองตรงนี้ไว้แล้วซึ่งพอดีพ้องรับกับตัวซับเจกต์ที่จริงๆ เป็นคนนอก ทว่าเข้ามามีบทบาทสำคัญมากต่อท้องถิ่นและชุมชน (ตรงนี้น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่วาร์ดา ‘ไม่ทิ้ง’ ตัวละครคนนอกที่ทั้งหลุดแล้วก็เดินแว้บผ่านกล้องแบบไม่มีเจตนา) เป็นนักมายากลซึ่งเข้ามาเปิดแสดงประกอบเทศกาลมายากลในคาเฟ่ประจำย่าน ผู้ใช้นามแฝงว่า Mystag

ทีนี้เริ่มไม่สู้จะมั่นใจแล้วครับว่าลุง Mystag นี่เป็นนักมายากลเดินสาย walk in เข้ามาเอง หรือเกิดจากการเซ็ตอัพโดย Varda ไปเชิญเขามาร่วมเพราะขนาดทั้งไตเติล ทั้งช็อตเปิดเรื่อง มีการใช้ลุง Mystag นี่ตั้งแต่แรก และพอมาอยู่ในหนังปุ๊บ ป้าวาร์ดาก็ใช้ลุง Mystag จนคุ้ม ไม่ว่าจะเชิญตัวออกมากล่าวไตเติล แต่ที่ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพก็น่าจะอยู่ในช่วงการ inter-cut กับสารพัดวิชาชีพที่มีส่วนเสริมสร้างให้ชาวถนน Daguerre มีชีวิตขึ้นมา แม้โดยการผลิตขนมปังในอาจมิใช่การแสดงมายากล แต่ลำพังการได้เห็นแป้งนวดแล้วนำไปใส่ตะกร้าหวาย ก่อนนำเข้าเตาอบ เมื่อนำออกมาแป้งนวดเปลี่ยนรูปกลายเป็นขนมปังสดใหม่ที่ทั้งน่าทานด้วยเนื้อและสีที่ชุมฉ่ำ ตามกระบวนการ before และ after

Daguerréotypes (1976)

มายากลของลุง Mystag ยังเล่นกับเรื่องของ ‘เดี๋ยวเห็น-เดี๋ยวหาย’ ตอนนี้มี-หลังจากนั้นก็ไม่มีแล้ว หรือไม่ก็ (ก่อน) เคยมีเท่านี้ (หลัง) ของอย่างเดียวกัน เพิ่มจำนวนแบบน่าอัศจรรย์ (แบงก์วิเศษที่มีเพิ่มได้อีกสาม ทีแรกเป็นหนังสือนิยายอยู่ดีๆ พอใส่เข้าหนังสือพิมพ์ แป็บเดียวก็คลี่ออกมาเป็นกระดานชนวน และอื่นๆ) แต่ที่สนใจคือมายากลชุดสะกดจิตหมู่ซึ่งรวมเอาชาวบ้านแทบจะทุกร้านเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงกันถ้วนหน้า

เปล่าหรอกครับ ลุง Mystag มิได้เสกให้ลุงๆ ป้าๆ หลับสลบไสล (ขณะที่ก่อนหน้า ป้าวาร์ดาเพิ่งชงประเด็นเรื่องช่วงกลางวัน แต่ละคนมีงีบนอนกลางวัน siesta/nap หรือเปล่า) แล้วค่อยเข้าช่วงสะกดจิต ซึ่งสารคดีไม่มีการให้เราเห็นว่ากลคุณลุง ‘ทำงาน’ หรือเปล่า ประกอบกับหนังมีการใช้ภาพเหยื่อ (เอ๊ย! ‘ชาวบ้าน’) แต่ละครอบครัวๆๆ ในรูปของภาพถ่ายพอร์เทรตคู่ใครคู่มันมา insert จนครบทุกบ้าน 

รวมๆ แล้วการแสดงโชว์ชุดนี้ มิได้จบลงด้วยทุกคนสลบไสลไม่ได้สติ แต่สิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือคนเหล่านี้ได้ ‘หาย’ ไปแล้วเรียบร้อย ในความเป็นจริงครับ เพราะมิใช่แต่ผู้คน ถ้าไปดูของจริงสภาพถนนทั้งสายบนเส้น Daguere ในเวลานี้ ทั้งผู้คน ทั้งบ้าน ทั้งร้านค้าที่เราได้ดูกันในหนัง ไม่มีให้เห็นกันอีกต่อไปแล้ว และตัวถนน Daguere ก็ยกระดับเป็นแหล่งชอปปิงระดับเกือบไฮเอนด์ของปารีสไปเรียบร้อย

ฤาว่าเวทย์มนตร์เมจิคของลุง Mystag จะมีอยู่จริง (ขนาดทำหัวผู้ช่วยสาวหายไปภายในกล่องมายากลที่มีมีดปักอยู่รอบ) แต่อีกเดี๋ยวศีรษะของผู้ช่วยก็กลับมาอย่างเก่า แต่สำหรับชาวบ้านในละแวก ที่นอกจาก(เสกคาถา)ให้หลับ แม้ไม่(เห็นว่า)หลับ ป่านนี้เขาเหล่านั้น ‘หาย’ ไปอยู่ไหนแล้วก็ไม่รู้ เพราะหนังจบพอดี

(ดู Daguerréotypes ได้ที่ MUBI)

แม้จะไม่มีการนับอย่างเป็นทางการ ผลงานในสาย docu. ของ Varda กลุ่มหนึ่งมักมุ่งเน้นไปที่เรื่องราวของผู้คนจริงๆ ที่ทำให้ต้องมีการนำ Daguerréotypes มาอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับ Du Côté de la Côte (Along the Coast) ซึ่งทำไว้ตั้งแต่ปี 1958 ในช่วงเวลาที่งานสารคดียังแยกไม่ออก-ตัดไม่ขาดจากหนัง educational film ซึ่งค่อนไปทางสื่อการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์ โดยมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้เท่าๆ กับส่งเสริมการท่องเที่ยว มากกว่าที่จะทำหน้าที่ในส่วนของการนำเสนอเนื้อหาแบบสารคดีในยุคต่อมา


Along the Coast / Du Côté de la Côte (1958)

ไม่มั่นใจว่าเป็นเรื่องโชคดีหรือโชคร้ายที่ Du Côté de la Côte (1958) ถูกสร้างในยุคที่เทคนิคหรือวิธีนำเสนอยังถูกจำกัดกรอบว่าควรนำเสนอองค์ความรู้ ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ยังอยู่เหนือแง่มุมในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ การเข้าไป approach ยังไม่เปิดพื้นที่ซึ่งมีความกว้างพอที่นำเสนอแง่มุมซึ่งมีมากกว่าสิ่งที่มองเห็นด้วยตา นั่นคือสายตาเห็นอย่างไหน ก็ถ่ายทอดออกมาอย่างนั้น สุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้ก็ย่อมไม่ต่างอะไรกับการพาทัวร์นำเที่ยวทัศนศึกษานอกห้องเรียน

วาร์ดา (ซึ่งอยู่ในวัยสามสิบขณะทำเรื่องนี้, เกิด 1928) ทำ Du Côté de la Côte ด้วยสายตาคนต่างถิ่น + นักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง (ซึ่งจะตรงกันข้ามกับที่เธอทำ Daguerréotypes ซึ่งสไตล์การนำเสนอจะออกมาทางเจ้าถิ่น คนพื้นที่มากกว่า) ฉะนั้นฟุตที่เธอเลือก scenario ที่เธอเลือกบันทึกจะมีลักษณะของ culture clash และ exotique อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการเข้าไปเสาะแสวงหาแหล่งซึ่งสร้างความแปลกตา ทว่านักท่องเที่ยวทั่วไปมักมองข้าม (ที่เด่นมากคือประติมากรรมรูปพระแม่มารีขนาดมหึมา Giant Virgin โดยเธอใช้เทคนิคแบบภาพยนตร์เข้าไปจับ คือจับภาพแบบมีโฟร์กราวด์ เพื่อจะได้เกิดการเปรียบเทียบทางสายตา) ก่อนจะเข้าสู่องก์สุดท้ายซึ่งเป็นการพาทัวร์สวน Eden ซึ่งมีความสงบวิเวก และดูเหมือนจะยังไม่ถูก explore ในฐานะแหล่งท่องเที่ยว

แม้ Du Côté de la Côte อาจไม่ต่างจากการดูภาพโปสการ์ด ของการเป็นภาพเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันตัวสารคดีเองก็ยังต้องการให้มีอะไรสักอย่างมารองรับความ spectacle ของภาพ แต่ยังมีอย่างหนึ่งที่จะต้องสยบความพ้นเวลาของวิธีนำเสนอ กลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งแทบจะดูเหมือนข้ามกาลเวลาจากยุคสมัยของเราแทนที่จะเป็นยุค 1950’s ตอนปลาย อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ตัวสารคดีเพิ่มความน่าดูขึ้นหลายระดับ

บทบรรยายช่วงต้นๆ มีใจความว่า ‘คนพื้นที่ มิใช่เป้าหมายในสารคดีของเรา’ (เป็นภาพชาวไร่กำลังเอนหลังชิลๆ อยู่ท้ายเกวียน) ดูจะสวนทางกับงานสารคดียุคต่อๆ มา ขณะที่บรรดาบุคคลสำคัญ คนใหญ่ๆ โตๆ ที่ถูกอ้างชื่ออย่างนักท่องเที่ยวต่างถิ่นคนแรก (Cardinal Maurice de Savoy) ที่ลงทุนปลงเครื่องบาทหลวงแล้วแอบพาคนรักซึ่งก็คือหลานแท้ๆ -เจ้าหญิง Marie-Louise มาทำพิธีแต่งงานซึ่งขณะนั้นมีอายุได้สิบสี่ปี หรือถ้าย้อนไปได้ถึงยุคโรมันก็ยังมีเกร็ดเพิ่มเข้ามาอีกว่า ที่เมืองนีซมีบ่อน้ำร้อน (ซึ่งเหลือแค่โครงหิน) ที่เชื่อกันว่าไว้สำหรับรักษาอาการโรคจิตเภท โดยสันนิษฐานว่าคนไข้คนแรกคือจักรพรรดินี Carolia Salolina หรืออย่างคนซึ่งทำให้ชายหาดแนว French Rivierra เป็นที่รู้จักโด่งดังในหมู่ผู้ลากมากดี กลายเป็นนายทหารอังกฤษ Lord Brougham ซึ่งพอดีเดินทางเข้ามาช่วงกาฬโรคระบาดกลางศตวรรษสิบเก้า จนกองเรือต้องโดนคำสั่งกักตัวสี่สิบวัน แต่ที่ไหนได้ พอพ้นระยะ quarantine อีตาหลอดๆ นี่ก็ปักหลักอยู่ซะที่แนวหาด Azur ยาวๆ ไป ถึงสี่สิบปี ยิ่งกว่านั้นยังมีการพาญาติๆ ทางฝั่งอังกฤษอย่างควีนวิคตอเรียเข้ามาพำนัก หนำซ้ำยังวางโครงข่ายผลประโยชน์ของคนอังกฤษเอาไว้ตามเขต ตามย่านต่างๆ เป็นต้นว่าห้างขายยาของอังกฤษ (British Dispensary) โบสถ์ก็ British Church

Along the Coast / Du Côté de la Côte (1958)

ความน่าสนใจที่อยู่นอกเหนือความใหญ่ๆ โตๆ โดยตำแหน่ง ยังคงมีเรื่องราวประสาไพร่เจือปนไม่เว้นแต่ละรายครับ เคสแรก (คาร์ดินาลปลงชุดมาแต่งงานกับหลานวัยกำดัด) นี่ก็สามัญโลก | เคสสอง บ่อน้ำร้อนที่มีตั้งแต่ยุคโรมัน แล้วคนไข้เป็นถึงจักรพรรดินี (สมมติว่าเกิดทันยุคที่ว่า ป่านนี้ชาวเมืองคงสงสัยว่าองค์เอ็มเพรสทำไมถึงไม่ค่อยอยู่กะร่องกะรอย องค์ราณีหายไปไหน รวมไปถึงข่าวปล่อยอีกนานาสารพัด) จนกระทั่งความจริงก็ค่อยมาเผยในอีกสองพันกว่าปีต่อมา อย่างน้อยๆ ก็ผ่านสารคดีป้าวาร์ดาเรื่องนี้ | มาถึงเคสที่สามซึ่งใกล้ตัวเราอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างแรกเรื่องโรคระบาดที่ทำให้นายพลเรือต้องกักบริเวณเป็นเวลาถึงสี่สิบ (‘quarante = 40’) วัน อันเป็นที่มาของคำว่า quarantine ซึ่งใช้กันทั่วไปแล้ว ยังมีเรื่องของการสร้างโครงข่ายอิทธิพล โดยเฉพาะสินค้ายารักษาโรคได้ถูกแทรกแซง (เผลอๆ อาจถึงขั้นผูกขาด) โดยอำนาจจักรวรรดินิยมทางการค้า (เอออ คุ้นๆ แฮะ)

แม้โดยรูปแบบการนำเสนอยังคงรัดรึงอยู่กับสไตล์ที่ดูเหมือนว่าอยู่ในช่วงกำลังหาทิศทางใหม่ๆ (อย่างน้อยๆ วาร์ดาทำสารคดีเรื่องนี้ในช่วงยุคทองของสตูดิโอ, อุตสาหกรรมมุ่งเน้นไปที่ความโอฬารตระการตาทางด้านภาพและฉาก ไม่ว่าจะด้วยระบบการฉายที่ล่อตาล่อใจ, เนื้อหาโฟกัสไปที่เรื่องราวมหากาพย์ ด้วยตัวละครเป็นคนใหญ่ๆ โตๆ, ภาพมายาคติของภาพยนตร์มุ่งเน้นไปที่ความ larger than life) ป้าวาร์ดาถึงใช้ scenery pictorial เข้าปราบ และที่น่าสนใจน่าจะเป็นเรื่องที่ว่าเวลาจะทำ docu. ทำไมคุณป้าถึงเจาะจงทำเนื้อหาที่เกี่ยวกับชายหาดๆ (เชื่อว่าเวลานั้นถ้าไปถามป้าๆ วาร์ดาเองก็คงยังไม่รู้ตอบ นอกจากทำๆ ไปตามโจทย์ ก็เท่านั้น)

(ดู Along the Coast ได้ที่ MUBI)


จนกระทั่งวาร์ดาทำ Les Plages d’Agnès (The Beaches of Agnes, 2008) ก็เท่ากับให้ภาพต่อบนจิ๊กซอว์มีความชัดเจนขึ้น คือมีทั้งกระจก (ซึ่งมีการใช้อย่างหนักหน่วงใน Cléo de 5 à 7), มีชายหาด (Du Côté de la Côte), มีเพื่อนบ้าน (Daguerréotypes), มีความน่ารักของเจ้าเหมียว Zgougou ซึ่งคุณป้านำมาใช้เป็นมัสก็อตขึ้นเป็นโลโกค่ายหนัง Cine-Tamaris ของคุณป้าเอง ที่เหนืออื่นใด เห็นจะไม่เกินความรักอันงดงามที่คุณป้ามีให้กับ Jacques Demy สามีและคู่ชีวิตที่มีให้กันและกันซึ่งกินเวลาอันยาวนานร่วมสี่สิบปี (ถ้าลุงไม่ด่วนจากไปก่อนเมื่อปี 1990 ด้วยโรคที่ไม่น่ามาเกิดกับใครทั้งนั้น-ภูมิคุ้มกันตัวเองบกพร่อง)

ถ้างั้นการที่คุณป้ามี Les Plages d’Agnès ก็เท่ากับเป็นการทบทวนชีวิต ด้วยการใช้ผลงานตัวเอง-ฟุตที่มีอยู่ บวกกับความทรงจำอีกเป็นตันเข้ามาประกอบเป็นข้อมูล เหมือนใช้ตัวเองเป็นเรฟเพื่อสร้างงานชิ้นใหม่ ในเมื่อผลงานหนังคุณป้าผ่านการ ‘อ่าน’ วิเคราะห์ ตีความทั้งในทางสื่อสารมวลชนและแวดวงวิชาการมาแล้วนับไม่ถ้วน คราวนี้เห็นทีเจ้าตัวคงต้องออกมาเฉลยข้อสอบ เมื่อตัวงานถูกปล่อยออกสู่ผู้ชมคราวนี้คนดูเกิดความคุ้นเคยแล้วว่าซีนๆ นี้เคยผ่านการตีความไว้อย่างไร, ใบหน้าที่เคยเห็นจาก Daguerréotypes ถ้าโผล่อีกครั้งในหนังเรื่องอื่น เจ้าของใบหน้าก็มิใช่คนอื่นไกลอีกต่อไป (ลุงบ้านทำขนมปังสด เอื้อเฟื้อให้ยืมแป้งเป็นกระสอบๆๆ สำหรับถ่ายฉากโจ๊กที่มี Jane Birkin แต่งคอสเพลย์เป็น Stan Laurel ตลกร่างผอมคู่กับ Laura Betti ใน Jane B. par Agnes V., 1988) กลายเป็นการสร้างปฏิกิริยาในเชิง interactive ระหว่างกันไป-มาระหว่างชีวิตจริง/ประสบการณ์จริงไปลงผลงาน แล้วจากตัวผลงานส่องสะท้อนกลับมาเป็น ref. ให้กับงานสารคดีที่ถูกทำในยุคหลังๆ (อย่างน้อยๆ ก็ให้กับ Les Plages d’Agnès) อีกต่อ พอมีคนเพิ่งได้ดูจากตัว Les Plages d’Agnès เป็นครั้งแรก ก็อาจนำเรื่องเล่า-สิ่งที่เห็นไปใช้ approach ประกอบการดูหนังเรื่องอื่นๆๆ ในลักษณะย้อนหลัง-retro คือมีเรื่องของการสะท้อนย้อนกลับไปมาคล้ายตัว ‘กระจกเงา’ (mirror effect) ซึ่งคุณป้าใช้เป็นฉากเปิดเรื่องจนไม่แน่ใจว่าเป็นกองถ่ายหนังหรือเป็นการเซ็ตเพื่อถ่ายแฟชัน

Les Plages d’Agnès / The Beaches of Agnes (2008)

Les Plages d’Agnès จึงมีความหมายใกล้เคียงกับบานกระจกสำหรับคุณป้าไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม ฟุตเตจแรกที่ใส่เข้ามาใน Les Plages d’Agnèsก็มาจาก Jane B. par Agnes V. ซึ่งทำเมื่อปี 1988 ในเรื่องมี Jane Birkin แสดงเป็นนักพนันที่ยอมทุ่มเล่นจนหมดตัว เป็นผลงานที่วาร์ดาทำไว้ในยุค 80’s แต่โดยลำดับ timeline ชีวิตป้าวาร์ดาหยิบมาจากความทรงจำที่เกี่ยวกับพ่อ (Eugène-Jean Varda) ซึ่งหมดลมหายใจคาคาสิโน

ป้า Varda เล่าประวัติชีวิตผ่านหนัง (Les Plages d’Agnès) ถ้าเช่นนั้น ใครที่เคยดูหนังที่ถูกเอาฟุตฯ มาใช้มาก่อนจะรู้สึกจูนติดได้ง่ายขึ้น และในทางกลับกันใครที่ยังไม่เคยดูก็เริ่มเข้าลิสต์ในใจอยากหามาดูเต็มๆ เรื่องให้ได้สักครั้ง (ว่าแล้วก็รู้สึกอยากย้อนกลับไปดู Les Plages d’Agnès ซ้ำอีกรอบวนๆ ไป) ทำให้ตัวหนังมีความคงกระพัน เมื่อยิ่งดูก็ยิ่งได้

Les Plages d’Agnès กลายเป็นจุดเชื่อมต่อไปทั้งหนังและผู้คนที่เคยเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่ผ่านเข้ามาก็คงเป็นเรื่องที่ว่าใครที่เคยอยู่ในหนังคุณป้า คนนั้นถ้าไม่เป็นสตาร์ ก็จะกลายเป็นที่รู้จัก นับตั้งแต่หนังเรื่องแรก La Pointe Courte (1954) โดยเฉพาะแว้บแรกที่เห็นตัวนำคงแทบไม่เชื่อสายตาว่านั่นคือ Phillip Noiret ส่วนใครที่ไม่ใช่ คุณป้าจะไปสาวประวัติ เจอทายาทก็ใช้ทายาท ว่าแล้วก็เอาเครื่องฉายหนังยกขึ้นรถเข็นลากไปทั่วเมืองบนจอก็ฉายซีนที่คนพ่อเคยร่วมแสดงประมาณขบวนแห่รำลึกในพิธีศพ ในผลงานหนังยาวอีกเรื่อง Nausicaa (1970) คนดูก็จะได้เห็น Gérard Depardieu ส่วนใครที่เป็นดาราอยู่แล้วก็จะถูกดึงให้เห็นแง่มุมแบบคนทั่วไป เป็นต้นว่า Harrison Ford เด็กหนุ่มที่คุณป้าพบระหว่างช่วงที่พำนักในแอลเอ ช่วงปี 1968 เจ้าตัวบอกเองว่ามีคนบอกให้เลิกคิดที่จะเป็นนักแสดงเหอะ อย่างนายเป็นนักแสดงไม่ได้แน่, Zalman King ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะมหาเทพแห่งหนังอีโรติค (ขณะที่การปรากฏตัวในสารคดีกลับมีภาพของแฟมิลีแมนแสนอบอุ่นคู่กับภรรยา) เมื่อกลับมาเจอกันอีกครั้ง คุณป้ากลับไม่ refer แง่มุมตรงนี้ออกมาเลยด้วยซ้ำ, ส่วนสหายเก่า Jimmy McBride ในข้อมูลเกือบทุกแหล่งอ้างว่าเป็นคนทำหนังอเมริกันอินดี้ แต่คนทำหนังอินดี้ของอเมริกาคนนี้แทบไม่ค่อยมีใครรู้จักหนังเรื่องอื่น นอกจาก Breathless ซึ่งเป็นการเอา À bout de souffle ไปรีเมคเมื่อปี 1983 และยิ่งมารู้ทีหลังว่ามีปมไม่เข้าใจกันระหว่างป้าวาร์ดากับคนทำตัวต้นตำรับ-Jean-Luc Godard ช่องว่างก็จะเพิ่มความห่าง กลายเป็นพื้นที่ว่างบนภาพจิ๊กซอว์ และรอว่าจะมีใครมาเติมในวันข้างหน้าอีกที

สำหรับดาวที่ดังอยู่แล้วของฝรั่งเศส ก็จะถูกคุณป้าเชิญให้มาร่วมแสดง Les cent et une nuits de Simon Cinéma (1994) ซึ่งคุณป้าทำร่วมเฉลิมฉลองครบรอบร้อยปีภาพยนตร์ ไม่ว่าด้วยการตอกย้ำภาพลักษณ์ไอคอนของวงการหนังของฝรั่งเศส ยิ่งถ้าเคยเล่นหนังป้ามาก่อน ก็จะถูกนำมาโรลเพลย์บทเดิมของตัวเอง (Sandrine Bonnaire กลับมารับบท ‘โมนา’ ตัวละครจาก Sans toit ni loi/Vegabond, 1985) ขณะที่ก่อนหน้า Les Plages d’ Agnes จะออกฉาย (หรือไม่ก็อยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมการ) มี Fondation Cartier ให้การสนับสนุนนิทรรศการ L’île et elle (Jun. 18 – Oct. 8, 2006 โดยผู้เขียนเดินทางเข้าร่วมชมวันที่ 22 กันยายน ปีเดียวกัน) ซึ่งมีการแบ่งไซท์โชว์เอาไว้หลักๆ ห้าหรือหกจุดแต่หัวใจหลัก เท่าที่นึกออกจะมีด้วยกันสาม อาทิ Ma Cabane de l’Échec ซึ่งก่อเป็นกระท่อม ทว่าใช้ฟุตจากฟิล์ม 35 เรื่อง Les Creatures d’ Agnes Varda (pour Jacques, 1966) โดยตัวชื่อ attraction site เป็นการเสียดสีสัพยอกหยอกล้อตัวเอง (‘กระท่อมพาเจ๊งของฉัน’) ซึ่งก็ได้แต่กล่าวตำหนิตัวเองที่ไม่ยอมดูเมื่อคราวมีโปรแกรมฉายที่ทำการเดิมของสมาคมฝรั่งเศส, ถ.สาธร แต่จะให้เวลากับ video installation ใช้ชื่อธีม Les Veuves de Noirmoutier ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์ของหญิงชาวเกาะผู้ซึ่งมีประสบการณ์สูญเสียสามีจำนวนหกสิบคน ด้วยขณะนั้นคุณป้ายังอยู่ระหว่างพักฟื้นจิตใจ ภายหลังการสูญเสียสามี Jacques

ส่วนหนึ่งจากนิทรรศการ L’île et elle (2006)

ตัวนิทรรศการ L’île et elle เองก็แทบจะเทียบได้กับหนังอีกเรื่องของคุณป้า (ประกอบกับการเล่นคำพ้องเสียงในชื่องานโดยคำว่า île = ‘เกาะ’ จะออกเสียงพ้องกับคำว่า il หรือ ‘เขาคนนั้น’) ขณะเดียวกันยังมีหนังอีกบางเรื่องที่พอตัวละครพอเข้าตาจนหาทางออกไม่ได้ มักออกเดินทางโดงมุ่งเข้าหาเกาะเป็นพื้นที่ safe zone, เป็นต้นว่า Kung-fu Master! (1988) หรือแม้แต่ในตัว docu. Les Plages d’Agnès เองก็ตามที่มักมีการกล่าวถึงการเดินทางไปยัง ‘เกาะ’ ความปรารถนาที่จะเข้าไปพักพิงในท้องวาฬประหนึ่งพื้นที่เซฟโซน โดยเฉพาะทะเล-ชายหาดซึ่งมีบทบาทในชีวิตคุณป้าซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกันกับความทรงจำที่มีต่อครอบครัว ซึ่งอาจย้อนกลับไปมองงานเก่าๆ ว่าทำไมคุณป้าถึงได้ผูกพันกับชายหาด ทั้งที่เป็นหนังยาวเรื่องแรก (La Pointe Courte) หรืองานสารคดี (Du Côté de la Côte)

คลับคล้ายคลับคลาว่าระหว่างเดินชมนิทรรศการหนนั้น นอกจากจะเป็นการฉลองวันเกิดให้ตัวเองด้วยระยะทางที่ไกลที่สุดชนิดที่ว่าชาตินี้คงไม่มีปัญญาไปได้ไกลเท่านี้อีกแล้ว แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกละอายตัวเองที่ในเวลาขณะนั้น ผลงานซึ่งถูกนำมาอ้างอิงไว้กับชิ้นงาน installation ‘กระท่อมพาเจ๊งของฉัน’ (Ma Cabane de l’ Echec) อย่าง Les Creatues d’ Agnes Varda (pour Jacques) ก็ยังไม่ได้ดู แต่พอเดินไปจนสุดห้องที่จัดที่นั่งไว้สำหรับดูวิดีโออาร์ตชุด Les Veuves de Noirmoutier ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นใบหน้าสตรีซึ่งสามีได้เสียชีวิตไปแล้ว ถึงได้พบว่าแม่ๆ ป้าๆ ที่เห็นใน VTR นั่นคือคนซึ่งมีชีวิตอยู่จริง และผ่านประสบการณ์เศร้าโศกของการที่สามีจากไปเหมือนไปกัน กลายเป็นนาฏกรรมที่สัมผัสได้ในชีวิตจริง (เผลอๆ วิดีโออาร์ตชุด Les Veuves de Noirmoutier ที่ว่า อาจนับเป็นผลงานของคุณป้าไปอีกเรื่องได้สบายๆ เท่าๆ กับที่สตรีผู้เป็นทั้งนักสร้างสรรค์และทำการบันทึก (ก็คือตัวป้า Varda) ได้เอาความผูกพันที่เธอมีกับ Demy ถ่ายทอดปะปนอยู่ในนั้น ทำให้พบว่าเรื่องราวของป้า Varda กับ (ลุง) Demy ซึ่งเกือบจะมีความเป็นเรื่องเล่ากึ่งเทพนิยายของความรัก (พอๆ กับหนังที่ Demy เคยทำอย่าง Peau d ‘Ane, Les Parapluies de Cherbourg) จะกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาทันที ต่อให้ไม่ต้องดูหนัง (หรือแม้แต่ทั้งชีวิตไม่เคยเข้าโรงหนังเลยก็ตาม) สิ่งที่คุณป้าได้สร้างไว้ทั้งที่เป็นหนังเรื่อง หรือบันทึกไว้ในรูปของสารคดี ล้วนเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ในความเป็นจริง

(ดู The Beaches of Agnès ได้ที่ MUBI)


สามารถดูหนังทั้ง 6 เรื่องในบทความ และเรื่องอื่นๆ ของ Agnès Varda ได้ที่ MUBI

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here