โหยหานักขุด : เสียงสะท้อนจากโปรแกรมประกวด Asian Vision ในเทศกาล TIDF

ในวิกฤติที่เราอาศัยอยู่

คำเชิญให้ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัลของ เทศกาลสารคดีนานาชาติไต้หวันครั้งที่ 13 (TIDF) เดินทางมาถึงในขณะที่เรากำลังอยู่ในสภาวะที่อาจจะเป็นช่วงวิกฤติที่สุดในศตวรรษนี้ แม้แต่แค่เฉพาะสถานการณ์ในเอเชียเพียงอย่างเดียว การระบาดใหญ่ทั่วโลกไม่เพียงทำลายเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน หากยังจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและสิทธิ์ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของเราอย่างรุนแรง

แรงปรารถนาในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนถูกทำลายล้างจากการรัฐประหารของทหารในเมียนมาร์ และเจตจำนงของประชาชนในการปกป้องวิถีประชาธิปไตยถูกบดบังด้วยการจับกุมและคุมขังนักเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านสื่ออย่างไร้ความปราณีหลายครั้งในฮ่องกง ไม่เพียงในประเทศเหล่านี้ ความรู้สึกสิ้นหวังในหมู่คนหนุ่มสาวยังสะท้อนไปทั่วทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะในมาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินเดีย หรือศรีลังกา โดยตระหนักว่าการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงของพวกเขาไม่ได้รับการตอบรับจากชนชั้นสูงทางการเมือง และตอนนี้ที่สงครามได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในยุโรป ความกังวลเกี่ยวกับสงครามเย็นครั้งใหม่ กระทั่งความเป็นไปได้ของสงครามโลกครั้งที่สามหรือการขาดแคลนอาหารอย่างหายนะได้คืบคลานเข้ามาในจิตใจของพวกเราทุกคน


การตามหาความจริงในยุคหลังความจริง

อย่างไรก็ตาม วิกฤตที่ใหญ่กว่านั้นอาจเกี่ยวข้องกับ ความสัมพันธ์ของเรากับความจริง เมื่อทั้งในรายการข่าว เว็บไซต์ ไปจนถึงโพสต์บนโซเชียลมีเดียทำให้เราอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าความจริงกำลังเล็ดลอดผ่านนิ้วมือของเราไป และนี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่กำลังตกอยู่ในอันตราย แม้แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นรากฐานในการค้นหาความจริงก็กลับกลายไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป เพราะมันถูกแทนที่อย่างช้า ๆ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ข้อเท็จจริงทางเลือก” และ “การปลอมแปลงอย่างลึกซึ้ง” ดังที่เราเห็นได้ในสงครามยูเครนที่ราวกับจะพิสูจน์ว่าเป็นสงครามแห่งยุค “หลังความจริง” และ “ข้อเท็จจริงทางเลือก” เมื่อคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จ, ข้อเท็จจริงทางเลือกที่ใช้เทคโนโลยี deep fake และการเปลี่ยนไปมาระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องเล่า ด้วยเหตุนี้ ภายใต้การมาถึงของอาณาจักร “หลังความจริง” ผู้คนจึงแตกแยกอย่างลึกซึ้งยิ่ง

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงเหล่านี้ ใครบ้างที่ไม่รู้สึกหลงทาง? จะมีใครเชื่อในอะไรอีก? มนุษยชาติได้สูญเสียกระดูกสันหลังด้านศีลธรรมและจริยธรรมไปแล้วหรือยัง? จากนี้ไป ใช่หรือไม่ที่คนที่เสแสร้งเก่งกว่าจะชนะในทุกสถานการณ์แทนที่จะเป็นคนที่พูดความจริง?

ฉันคงต้องบอกว่า สิ่งนี้คือวิกฤตการณ์ร้ายแรงสำหรับมนุษยชาติ ความรู้สึกของการสูญเสียรากฐานของความไว้วางใจจะกระทบเราอย่างหนักและจะกลายเป็นภาระทางจิตที่ยิ่งใหญ่ ในไม่ช้าพวกเราหลายคนอาจยิ่งเศร้าโศก สูญเสียแรงจูงใจหรือเริ่มมองหาใครก็ตามที่ดูเหมือนจะสามารถนำทางเราได้ในช่วงเวลาที่ไม่มั่นคงนี้ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นนักปราชญ์ ผู้นำทางการเมือง นักสอนศาสนา หรือกลุ่มลัทธิก็ตาม

แล้วกับวัฒนธรรม ศิลปะ วรรณกรรม ภาพยนตร์ ฯลฯ เล่า? มันจะยังสามารถทำงานเป็นเครื่องชำระล้างจิตใจได้อยู่อีกหรือไม่? มันจะยังคงมอบความรู้สึกถึงคุณธรรม ความซื่อสัตย์ และความถูกต้องแก่ผู้คนเมื่อพวกเขาต้องการมากที่สุดได้หรือเปล่า?

ฉันเชื่อว่าผู้ชมจำนวนมากก็หวังอยากเห็นว่า ผู้สร้างภาพยนตร์จะควบคุมศิลปะของสารคดีอย่างไร เพื่อทำให้มันเป็นอิสระและสร้างสรรค์มากขึ้นทั้งในการเข้าหาความจริง หากก็ทำให้มันเป็นมากกว่าแค่การรายงานข่าว เพื่อที่จะชุบชูและเฉลิมฉลองแก่นแท้ของความจริงของสิ่งที่ศิลปินเรียกว่าจินตนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเช่นนี้


TIDF เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญเช่นนี้ แม้เราไม่อาจคาดหวังอะได้มากไปกว่านี้ หากฉันหวัง และฉันเชื่อว่าผู้ชมจำนวนมากก็หวังอยากเห็นว่า ผู้สร้างภาพยนตร์จะควบคุมศิลปะของสารคดีอย่างไร เพื่อทำให้มันเป็นอิสระและสร้างสรรค์มากขึ้นทั้งในการเข้าหาความจริง หากก็ทำให้มันเป็นมากกว่าแค่การรายงานข่าว เพื่อที่จะชุบชูและเฉลิมฉลองแก่นแท้ของความจริงของสิ่งที่ศิลปินเรียกว่าจินตนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเช่นนี้ เราไม่ต้องการที่จะเดินจากไปโดยรู้สึกถึงการสูญสิ้นศรัทธาต่อความสามารถในการจินตนาการของเรา และการนำจินตนาการนั้นไปใช้อย่างสร้างสรรค์และมีคุณค่า

ดังนั้น เมื่อฉันได้ดูภาพยนตร์สองเรื่องแรกในเทศกาลคือ A Night of Knowing Nothing และ Blue Island ฉันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หนังทั้งสองได้พิสูจน์ว่า เวทีภาพยนตร์ยังคงเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้าน และการต่อต้านไม่ได้เป็นเพียงการต่อต้านสถานการณ์ทางการเมือง แต่ยังต่อต้านบรรดาการจงใจเสียดเย้ยหยามเหยียดทีเพื่อที่จะฆ่าความเชื่อในความจริงของเราทิ้งเสีย 

Blue Island

บางทีสิ่งที่ฉันรู้สึกอาจจะคือความโล่งใจ หากมันก็มักตามมาด้วยความเศร้า เศร้าเพราะสำหรับทั้งสองกรณีนี้ทั้งในอินเดียและฮ่องกง สถานการณ์นับจากช่วงเวลาที่หนังถูกสร้างขึ้นจนถึงตอนนี้มันยังไม่ได้ดีขึ้นเลย บางทีอาจจะแย่ลงด้วยซ้ำ ฉันเศร้าเพราะประเด็นของสิ่งที่หนังทั้งสองเรื่องนี้เล่า เช่น การเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ การล่าอาณานิคม การปราบปรามผู้เห็นต่าง ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลกกระทั่งในตอนนี้โดยแทบไม่เคยจะกระเตื้องขึ้น

การได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของเทศกาลภาพยนตร์สารคดีครั้งนี้ผูกพ่วงมาพร้อมกับความยุ่งยากใจบางอย่าง ความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของการยินดีที่ได้เห็นภาพยนตร์คุณภาพหลายเรื่อง ในขณะเดียวกันก็ตระหนักว่ามีปัญหามากมายในโลกนี้ นอกจากนี้ยังมีอีกความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่เราอาจต้องเลือกจัดลำดับความสำคัญของปัญหาหนึ่งมากกว่าเรื่องอื่น ๆ แม้ว่าเราจะพูดถึงแค่เรื่องคุณภาพของภาพยนตร์แต่ละเรื่องเท่านั้น

ความรู้สึกเป็นสุข ความโล่งอก ความเศร้าโศก และภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเหล่านี้อยู่กับฉันตลอดการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ มันเป็นวังวนของอารมณ์ที่ฉันได้ผ่านพ้นไป และฉันต้องบอกว่ามันคุ้มค่าอย่างยิ่ง


A Night of Knowing Nothing

ตัวตนและความเป็นตัวของตัวเอง

เริ่มต้นด้วย A Night of Knowing Nothing ภาพยนตร์ที่น่าทึ่งเกี่ยวกับการแสวงหาความจริงของเราในช่วงเวลาหลังความจริง หนังใช้ภาพทุกประเภทที่อยู่รอบตัวเราทุกวันนี้ ตั้งแต่ภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ไปจนถึงโฮมวิดีโอ ฟุตเทจจากสมาร์ตโฟน ภาพจากกล้องวงจรปิด ภาพซ้อน ไปจนถึงกราฟิตีและคลิปข่าว และแทนที่หนังจะฟาดเราแล้วทำให้พวกเราสับสนกับภาพเหล่านี้ หนังกลับเปลี่ยนมันให้กลายเป็นถ้อยแถลงถึงความเปลี่ยนแปลงที่ทั้งทรงพลังและเป็นส่วนตัว โลกที่เปลี่ยนไปนั้นไม่ต้องการความฉาบฉวยและหลอกลวงของสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะการสื่อสาร” หรือ “เครือข่ายสังคม” อีกต่อไป หากมันกลับนำเสนอช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญอย่างจริงจังต่อกัน – เธอกับฉัน การปะทะกันของงภาพและเสียงที่เหมือนความฝันจะเผยให้เห็นความจริงของโลกนี้ ด้วยความรู้สึกที่แข็งกร้าวจนเกือบจะเป็นความรู้สึกของการประกาศชัยชนะ ซึ่งเป็นความจริงในตัวตนของศิลปินเอง

ความปรารถนาอย่างสุดใจที่จะใคร่ครวญตนเองและผู้อื่นนั้น ยังรู้สึกได้จากหนังอย่าง Children of the Mist และ Transparent, I Am ด้วย โดย Children of the Mist เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กสาวชาวม้งในหมู่บ้านบนภูเขาที่ห่างไกลในเวียดนาม คนที่กำลังมองหาอนาคตและความสัมพันธ์ที่ดีกว่าตอนนี้ อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ยังสามารถตีความได้ว่าเป็นความพยายามของคนทำในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างตัวเธอเองกับตัวเอก

ในทางกลับกัน Transparent, I Am เป็นหนังทดลองขนาดสั้นที่แสดงถึงความพยายามของคนทำที่จะมองดูสภาพจิตใจของเธอเองผ่านภาพคาไลโดสโคป

Children of the Mist
Transparent, I Am

การได้ค้นพบตัวเอง – ช่างเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และทรงพลังอะไรเช่นนี้! และเจ้าความยิ่งใหญ่นี้แหละที่เราสามารถใช้มันในการต่อต้านเผด็จการที่มีทั้งเป้าหมายและกลยุทธ์ที่แม่นยำในการทำให้เราสงสัยในตัวเอง Blue Island คือสิ่งนี้ คนทำหนังเรื่องนี้ชักชวนบรรดานักเคลื่อนไหวจากการประท้วงในปี 2019 มารับบทเป็นบรรดาคนฮ่องกงที่เคยประสบกับความโกลาหลในช่วงเวลาต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์ของเกาะ และด้วยการรับบทนั้นเหล่านักเคลื่อนไหวปี 2019 –ซึ่งบางคนยังคงรอการพิจารณาคดีอยู่ในขณะที่ทำหนังเรื่องนี้– ได้ค้นพบประวัติศาสตร์ ผู้คน และที่สำคัญที่สุดคือตัวพวกเขาเอง ในตอนท้ายของหนังยังมีการแนะนำบรรดานักเคลื่อนไหวในการประท้วงปี 2019 ทีละคน ราวกับว่ากำลังท้าทายอำนาจ ด้วยการเน้นย้ำถึงความเป็นปัจเจกของพวกเขาซึ่งผู้มีอำนาจถือว่าเป็นเพียงตัวเลข

ในอีกแง่ ความตายอันชวนสยองขวัญของปัจเจกบุคคุลก็ถูกถ่ายเก็บไว้ใน Little Palestine, Diary of a Siege ซึ่งเล่าถึงชีวิตประจำวันของชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเมืองที่ถูกปิดล้อมในซีเรีย เราเห็นผู้คนเดินเตร่อยู่ตามท้องถนนราวกับฝูงผี “ภายใต้การปิดล้อม ผู้คนออกเดินอย่างไม่รู้จบ ในเขตที่มีการแบ่งเส้นพรมแดน พวกเขาทำได้เพียงหยิบฉวยรอยยิ้มที่ความตายไม่สะดุดมันในคืนก่อนมาไว้กับตัวเท่านั้นเอง” คนทำหนัง/ผู้เล่าเรื่องอธิบายไว้เช่นนี้ ตัวคนทำหนังซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยเช่นกันคว้าจับภาพเศษเสี้ยวรอยยิ้มเหล่านั้นเอาไว้ได้ แต่ในไม่ช้ารอยยิ้มจาง ๆ เหล่านั้นก็รวมเป็นมวลหมู่ของการต่อสู้เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากสหประชาชาติ และสุดท้าย พวกเขากลายเป็นตัวหนังสือ บางคนกลายเป็นชื่อของผู้ตาย และบางคนเป็นชื่อที่ต้องลี้ภัยในที่อื่นชั่วคราว

Little Palestine, Diary of a Siege

โรคระบาดในฐานะอุปมา

สำหรับผู้ชมจำนวนมากที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือการล็อกดาวน์ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ประสบการณ์การชมภาพยนตร์จะไม่เหมือนกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดอีกต่อไป อาจเป็นเพราะประสบการณ์การชมภาพยนตร์ในโรงตอนนี้ได้กลายเป็นเหมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งอิสรภาพ หรืออาจเป็นเพราะพวกเราบางคนเริ่มมองหาคำอุปมาเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ในภาพยนตร์ หรือเพื่อให้การระบาดใหญ่เป็นการอุปมาของปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมายในโลก เช่นเดียวกับที่เราทำกับโรคเอดส์ในทศวรรษที่ 80 ในแง่นี้ Little Palestine, Diary of a Siege จึงกลายเป็นมากกว่าเรื่องราวที่น่าสลดใจของชาวปาเลสไตน์ ในเขตผู้ลี้ภัยเล็ก ๆ ในซีเรีย เราอาจเห็นภาพสะท้อนของคนในเซี่ยงไฮ้หรือแรงงานอพยพที่ถูกคุมขังในอาคารในสิงคโปร์ได้เช่นกัน

โดยทั่วไปแล้ว เอเชียไม่มีชื่อเสียงในการจัดลำดับความสำคัญของสิทธิส่วนบุคคลอยู่เหนือผลประโยชน์ของหน่วยงานที่มีอำนาจกว่า โรคระบาดได้ช่วยขยายความจริงข้อนี้ให้ชัดขึ้น เมื่อหน้ากากกลายเป็นอุปมาที่เปิดเผย เพราะด้วยหน้ากาก คุณได้กลายเป็นสมาชิกที่ “เหมาะสม” ของสังคม เมื่อสวมหน้ากาก คุณอยู่ภายใต้และควรทำตามคำสั่ง ผู้ที่ไม่มีหน้ากากจะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่อผู้มีอำนาจตัดสินใจระบุตัวคุณโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น หน้ากากที่อาจเป็นสัญญาณของความสุภาพและการดูแลผู้อื่นในเวลาปกติได้กลายเป็นธงเล็ก ๆ ที่คุณพกติดตัวตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าคุณดูแลตัวเองอย่างไรจากอันตรายต่าง ๆ ทั้งจากไวรัสและ PM 2.5

The Burrows

และนั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมภาพยนตร์เรื่อง The Burrows ให้ความรู้สึกสดใหม่ ที่เมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจีน ครอบครัวหนึ่งกำลังสร้างสุสานของตน พวกเขาเป็นญาติของคนทำหนังและได้รับการแนะนำทีละคนโดยคนทำหนังเองจากภายในหลุมฝังศพ ในช่วงเวลานั้นผู้คนยังคงหวาดกลัวต่อไวรัสที่เพิ่งค้นพบในอู่ฮั่นมาก เสียงที่สะท้อนในอากาศคือเสียงประกาศของหมู่บ้าน : ห้ามออกไปเที่ยวข้างนอก ห้ามพูดคุย ห้ามถอดหน้ากาก นี่กล้าดียังไงถึงได้ออกมารื่นรมย์รับแดด!

ทว่าในดินแดนเล็ก ๆ แห่งนี้ เราเห็นครอบครัวนี้ทำตรงกันข้าม พวกเขาออกไปเที่ยวกันอย่างอิสระโดยไม่สวมหน้ากาก พูดคุยกันเสียงดัง และไม่ว่าพวกเขาจะเพลิดเพลินกับแสงแดดหรือไม่ พวกเขาก็ได้ใช้สิทธิ์ (ของตัวเอง) ในการแสดงความคิดเห็นแน่นอน แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในหัวข้อต่าง ๆ ตั้งแต่การออกแบบสถาปัตยกรรม ข้อสังเกตเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไปจนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ราวกับว่าพวกเขาไม่กลัวอะไรเลย

ครอบครัวที่ดูไม่สนใจอะไรนี้เองได้มอบแรงบันดาลใจอันพิลึกพิลั่นนี้แก่เราว่า ในที่ดินเล็ก ๆ แบบนี้ –ซึ่งยังถือว่าค่อนข้างใหญ่กว่าหลุมฝังศพทั่วไปที่เราเห็นในประเทศอื่น ๆ– พื้นที่ที่คนทำหนังเรียกมันว่า “โพรง” ได้กลายเป็นอุปมาของหลายต่อหลายอย่าง ตั้งแต่เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพ เป็นไฮด์ปาร์ก หรือจะเป็นสนามวาทกรรมว่าด้วยศิลปะก็ยังได้ ด้วยการเล่าเรื่องต่าง ๆ จากวัยเด็กของคนทำ (ที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นเรื่องแต่งหรือเรื่องจริง) หรือการพูดถึงความฝันแปลก ๆ ที่คนทำหนังได้เห็นว่าโพรงกลายเป็นจักรวาลของตัวเอง (ครอบครัวเขาถึงกับเรียกมันว่า “สวรรค์บนดิน”) หากนอกจักรวาลนี้ยังคงมีโลกจริงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ซ่อนอยู่ในน้ำเสียงเหยียดหยามของประกาศสาธารณะที่แผ่ความเยือกเย็นของข้อความแบบราชการออกไป ทว่าสิ่งนี้กลับถูกเอ่ยออกมาโดยตรงกันข้ามกับน้ำเสียงที่มีลักษณะเฉพาะ เซื่องซึมและน่าขนลุก ซึ่งช่วยเสริมความมหัศจรรย์ของเรื่องราวของเขา เซตติ้งของหนังที่คล้ายคลึงกับงานของ Ionesco*1  ช่วยให้เราตีความไปได้อีกว่า ครอบครัวนี้ดูว่างมากเพราะกำลังขุดหลุมฝังศพของตัวเองหรือไม่? หรือพวกเขามองว่าที่นี่เป็นพระราชวังของตัวเองพอ ๆ กับที่พวกเขาเห็นว่าเป็นสุสานหรือเปล่า? พวกเขาไม่ได้บอกว่าพวกเขาเป็นเหมือนวัดด้วยหรือ? ความจริงที่ว่าชื่อ “โพรง”ใช้รูปพหูพจน์ก็น่าสนใจเช่นกัน มันทำให้เราจินตนาการว่าโพรงที่แปลกประหลาดนี้นั้นเพิ่มจำนวนขึ้นมาได้อย่างไร


สรุป

หลังจากได้ดูหนังเหล่านี้ทั้งหมด หนึ่งในความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุด -หรือจะเรียกว่าความโล่งใจก็ได้- สำหรับฉัน คือความจริงที่ว่าไม่มีภาพยนตร์เรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับข่าวปลอม คลิกเบท โพสต์เกลียดชัง แคนเซิลคัลเจอร์และสิ่งต่าง ๆ ที่ไหลท่วมท้นอยู่ในโทรศัพท์, คอมพิวเตอร์ และชีวิตของเรา ในช่วงเวลาของการเหยียดหยามต่อความจริง, ต่อคุณงามความดีของความจริงนี้ และการค้นหาตัวเองในสารคดีฉายแสงผ่านภาพยนตร์ทุกเรื่อง และความจริงใจของคนทำนั้นรู้สึกได้ชัดเจนผ่านวิธีที่พวกเขาใช้การรักษาวัฒนธรรมไว้

ลองนึกถึง 12 ปีที่ HUANG Hsin-yao คนทำหนัง A Silent Gaze ใช้ไปในการถ่ายทำชีวิตประจำวันของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล นึกถึงความมุ่งมั่นของ HEO Chul-nyung ผู้สร้างภาพยนตร์ 206: Unearthed ที่จะติดตามผลงานอันประณีตที่อาสาสมัครทำเพื่อขุดศพผู้เสียชีวิตระหว่างสงครามเกาหลี คิดถึง HYUGA Fumiari คนทำ Tokyo Kurds ผู้ซึ่งอยู่เคียงข้างผู้ลี้ภัยชาวเคิร์ดรุ่นเยาว์ไม่ว่าจะกี่ร้อนกี่หนาว อธิษฐานให้พวกเขาและหวังว่าในที่สุดพวกเขาจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยที่เหมาะสมและพ้นจากลิมโบที่แสนทรมานนี้

A Silent Gaze

นท้ายที่สุด การกระทำที่ดูเหมือนสามัญดาษดื่นที่สุดกลับได้ติดอยู่ในใจของฉัน และนั่นคือ “การขุด” ซึ่งการขุดในหนังต่างเรื่องกันก็แสดงความหมายที่ต่างกันไปตามสถาณการณ์ และการขุดได้กลายเป็นอุปมาที่แตกต่างกันออกไป เด็กสาวขุดดินเพื่อ “เก็บเกี่ยว” หญ้าเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในเมืองที่ถูกปิดล้อมใน Little Palestine, Diary of a Siege อาจเป็นสัญลักษณ์ที่น่าเศร้าของการพลัดถิ่น หากมันก็อาจตีความได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของปรับตัวได้เช่นกัน ในปี 206: Unearthed การขุดเป็นการกระทำที่ท้าทายเพื่อค้นหาความจริง หากในเรื่อง A Silent Gaze ซึ่งดำเนินเรื่องตามชีวิตประจำวันและพิธีกรรมของเมืองเล็ก ๆ ได้เสนอคำอุปมาเรื่องการขุดครั้งใหญ่ให้เราเห็นว่า “เพื่อให้เมล็ดพืชเติบโต เราต้องเพาะปลูกต่อไป” และใน The Burrows การขุดอาจเปรียบเสมือนการเปิดประตูสู่จักรวาลใต้ดิน สิ่งที่รอคอยคืออิสรภาพหรือนรกขั้นสุดท้ายที่เราไม่รู้ และชะตากรรมของนักสำรวจไม่เป็นที่รู้จัก

สุดท้ายนี้ บรรดาภูมิปัญญาและเหล่าความคิดที่เกิดขึ้นนี้ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากเหล่าสามัญชนคนธรรมดา ซึ่งหากว่าสิ่งนี้ไม่ได้มอบความหวังให้เราสำหรับยุค “หลัง-ความจริง” นี้แล้วล่ะก็ ฉันก็ไม่รู้แล้วว่าจะมีอะไรที่ช่วยได้อีก


*Ionesco : Eugene Ionesco นักเขียนบทละครชาวฝรั่งเศสที่เป็นที่รู้จักจากบทละครแนวแอบเสิร์ด

Keiko Sei
Keiko Sei is a Japanese writer and curator. She teaches media art and media activism worldwide for independent organizations/groups as well as for universities. In 2002 she started film education in Myanmar and helped founding Wathann Film Festival/Institute.

RELATED ARTICLES