Japanese Film Festival 2023 (1) : ผ่านชีวิตในวันขม

ผู้ชมหลายคนอาจสังเกตเห็นเหมือนกันว่า หนังชีวิตติดขมทั้งสามเรื่องใน เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2566 มีจุดร่วมเดียวกันอยู่ข้อหนึ่งคือ การเล่าเรื่องซึ่งเน้นให้คนดูค่อย ๆ ร่วมรับรู้ถึงแรงสะเทือนที่ขยายวงจากจุดศูนย์กลางของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์รุนแรงเปลี่ยนชีวิต หรือแค่การดำรงอยู่ของคนคนหนึ่ง แล้วแตกรายละเอียดไปยังตัวละครรายล้อมอย่างหนังหลากชีวิต

สองในสามเรื่องคือผลงานของ Keisuke Yoshida ผู้กำกับที่ทำหนังยาวมาตั้งแต่ปี 2005 แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในไทยมากนัก เพราะผลงานส่วนใหญ่ของเขาเป็นหนังตลกเบา ๆ ไม่มีลุคแบบขาประจำเทศกาลหรือเวทีรางวัล (Café Isobe, 2008) เคยมาฉายในเทศกาลภาพยนตร์ตลกโลกที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2009 ส่วนหนังดังสุดคงหนีไม่พ้นเวอร์ชั่นคนแสดงของ Silver Spoon (2014) แตกต่างสุดขั้วกับทั้งสองเรื่องนี้ที่ถึงจะยังหยอดมุกตลกไว้ระหว่างทาง แต่ก็เป็นหนังดราม่าขายการแสดงที่เล่าเรื่องขม ๆ หนัก ๆ เศร้า ๆ อย่างเต็มตัว

©2021 “Intolerance” Film Partners

Intolerance (2021) หนืดข้นด้วยแรงเสียดทานของความไม่รู้ ความเจ็บปวด และความรู้สึกผิดที่กัดกินทุกตัวละครล้อมรอบอุบัติเหตุในเมืองชายทะเล เด็กหญิงอมทุกข์ถูกผู้จัดการซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นลากข้อมือเข้าหลังร้านเพราะสงสัยว่าขโมยยาทาเล็บ ได้จังหวะวิ่งกระชากหนีออกไป ผู้จัดการหนุ่มไล่กวดไม่ยอมปล่อย พอจวนตัวเด็กสาวหักเลี้ยวลงถนน จังหวะตัดหน้ารถเก๋งที่คนขับเป็นสาววัยรุ่นพอดี ตัวเด็กสาวกระเด็นไปตกที่อีกเลนถนน พยายามยันตัวยืนขึ้นขณะที่ทุกคนตรงนั้นกำลังช็อก แล้วรถบรรทุกสินค้าก็พุ่งเข้าชน ลากร่างเธอไปไกลหลายสิบเมตร ทิ้งรอยเลือดไว้เป็นทางยาว
ตำบลกระสุนตกหลังความตายกลายเป็นข่าวดราม่า (สื่อญี่ปุ่นในเรื่องสภาพดีกว่าสื่อไทยกระแสหลักไม่เท่าไหร่) คือผู้จัดการหนุ่ม (Tori Matsuzaka) ที่เพิ่งกลับมารับช่วงกิจการครอบครัว เด็กนักเรียนต้องมาตายสังเวยยาทาเล็บ ลูกค้าที่น้อยอยู่แล้วก็ยิ่งน้อยหนัก ในขณะที่พ่อชาวประมง (Arata Furuta) ก็ใช้ความสูญเสียเป็นแรงพุ่งชน พยายามพิสูจน์ล้างบาปอย่างไร้ทิศทางว่าลูกสาวไม่ใช่พวกขี้ขโมย ไอ้เจ้าของร้านมีประวัติมันต้องคิดไม่ซื่อกับเด็กแน่ แล้วต่อให้ขโมยจริงก็คงเพราะพวกบุลลี่ที่โรงเรียนบังคับมา ผสมจนยากจะแยกกับความรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่เคยฟังลูก แต่ก็ไม่ฟังเมียเก่าที่เพิ่งเจอลูกสาวไม่กี่วันก่อนตาย และยังไม่รู้ตัวหรือไม่รู้วิธีถอดทิ้งหน้ากากยักษ์มารที่คอยคุกคามแยกเขี้ยวใส่คนรอบตัวมาตลอดชีวิต

ฉากตำรวจสอบปากคำรถทั้งสองคันหลังอุบัติเหตุ สรุปก้อนความคิดว่าด้วย “ความรู้สึกผิด” ของหนังไว้ได้ดีที่สุด –คนขับรถบรรทุกเถียงตำรวจว่าเห็นเด็กก็จริง แต่รถมันเบรกทันทีไม่ได้ ในขณะที่เด็กสาวคนขับรถเก๋งตัวสั่นจะร้องไห้อยู่ตลอด– เพราะสิ่งที่หนังเล่าให้เห็นเป็นภาพหลังจากนั้นคือ มีแค่คนที่ยังรู้สึกรู้สาเท่านั้นที่เจ็บปวดไม่จบสิ้น ผู้จัดการที่ไม่อยากคิดแต่อดคิดไม่ได้ว่าตัวเองคือต้นเหตุ พ่อที่รู้สึกผิดแต่ไม่กล้ายอมรับว่าละเลยลูกสาว คนขับรถเก๋งที่เพียรพยายามกราบขอโทษพ่อแต่ไม่ได้รับการให้อภัย ไปจนถึงครูในโรงเรียนที่เคยทักพฤติกรรมช่วงก่อนตายของเด็กหญิง

จากรูปลักษณ์และเนื้อเรื่องที่ชวนให้คิดว่าเป็นหนังขายประเด็น (ซึ่งหนังก็เล่าผลกระทบของสื่อหิวข่าวต่อคนในข่าวได้หนักแน่น ตีตรงจุด แสบเอาเรื่อง) Intolerance กลับคลี่คลายด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์เป็นหัวใจหลัก (อีกตัวละครสมทบที่เขียนบทและแสดงได้น่าจดจำคือ แคชเชียร์รุ่นแม่ที่แอบชอบผู้จัดการหนุ่ม) ความจริงเบื้องหลังที่เคยเป็นน้ำหนักถ่วงพ่อกับผู้จัดการหนุ่มคลายความสำคัญลง สื่อที่กินข่าวนี้จนเบื่อก็หาข่าวใหม่ขาย เหลือแค่คนเจ็บกับคนสูญเสียที่ยังต้องมีชีวิตต่อไป ไม่ใช่ความจริง (ซึ่งตัวละครได้ค้นพบในจังหวะที่แทบไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว) ที่ช่วยปลดปล่อย แต่คือการเริ่มต้นสะสางความรู้สึกระหว่างกันโดยไม่มีปัจจัยอื่นเป็นคลื่นรบกวน

©2021 “Blue” Film Partners

Yoshida มาเล่าเรื่องชีวิตแบบเต็มๆ กับ Blue (2021) หนังนักมวยที่พาคนดูเข้าไปทำความรู้จักทุกตัวละครอย่างลึกซึ้งและใจเย็น มีนักแสดงชื่อคุ้นที่ไว้ใจฝีมือได้ทั้ง Ken’ichi Matsuyama และ Masahiro Higashide กับเซอร์ไพรส์อย่างกิ้งก่าเปลี่ยนสีฝ่ายหญิงคนใหม่ของวงการหนังญี่ปุ่น Fumino Kimura และบทดราม่าเต็มตัวของ Tokio Emoto ที่อาจเคยเห็นเขาผ่านตาในบทสมทบหรือบทตลกเล่นใหญ่มานาน

หนังเปิดเรื่องด้วยสถานการณ์จับพลัดจับผลู เกือบจะเป็นหนังตลกล้อสูตรมังงะต่อยมวย เมื่อนาราซากิ (Emoto) พนักงานพาร์ทไทม์หน้าจ๋อยเดินมาขอเรียนมวยที่ค่ายเพราะอยากเอาวิชาไปแอ็กท่าเท่โชว์หญิง กว่าจะขมวดปมแล้วเฉลยจุดศูนย์กลางของเรื่องก็อีกพักใหญ่ – ความหมายของ “มุมน้ำเงิน” สำหรับมวยคู่เอกคือฝั่งผู้ท้าชิงเข็มขัด หนังเรื่องนี้มีชีวิตของคนที่ทุ่มเทเพื่อบรรลุเป้าหมายในการชกมวยอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ แต่ก็ไม่เคยได้ยืนมุมแดง ไม่ว่าจะบนเวทีหรือชีวิตจริง

เซียนมวยคงเรียกอุริตะ (Matsuyama) ว่ามวยส้วม นักมวยอายุสามสิบกว่าที่แม่นพื้นฐานตั้งการ์ดฟุตเวิร์ก มองคู่ต่อสู้ขาดจนแกะกลยุทธ์ได้ แต่ขึ้นเวทีแล้วแพ้มากกว่าชนะ ไม่ว่าเฮียเจ้าของค่ายจะหามวยอ่อนแค่ไหนมาประกบ เป็นครูมวยที่ต่อยแพ้แม้กระทั่งเด็กใหม่ในค่ายที่สอบใบเทิร์นโปรไม่ผ่าน แต่เขาเป็นมนุษย์ยิ้มรับ ต่อให้แพ้เป็นสิบไฟต์ วงการมวยไม่จำ รุ่นน้องหยามเอาว่าทำไมต้องให้ขี้แพ้มาสอน ก็ดูเหมือนว่าเข็มทิศชีวิตเดียวที่เหลืออยู่คือความลุ่มหลงที่มีให้การต่อยมวยสอนมวย – ไม่ใช่ด้วยความยึดติดดื้อด้านหรือปฏิเสธความจริง แต่ยอมรับสภาพด้วยซ้ำว่าก็มาได้แค่นี้

อุริตะไม่แสดงท่าทีขมขื่นหรือทดท้อใจให้ใครเห็นตรง ๆ มวลความเศร้าของหนังจึงตกอยู่ที่คนดู เราได้เห็นแพชชั่นกับความพยายามที่ไม่สัมฤทธิ์ผลในระดับชะตาฟ้าแกล้ง เห็นนักมวยอายุน้อยวิ่งแซงเขาไปทีละคน ต่อให้จะทัศนคติย่ำแย่ ไม่เคร่งวินัย หรือไม่ได้รักมวยล้นใจเท่าเขา เห็นตัวเปรียบเทียบตำตาอย่างโอกาวะ (Masahiro) นักมวยดาวรุ่งพรสวรรค์ที่กำลังเปล่งประกาย เป็นความหวังแชมป์ระดับประเทศคนแรกในรอบหลายสิบปีของค่าย หน้าตาดี ชีวิตดูดี ใกล้ได้แต่งงานกับจิกะ (Kimura) รุ่นน้องคนสนิทสมัยเรียนของอุริตะ แต่ตรงข้ามกับรุ่นพี่ที่ไม่มีปัญหาทางกาย แรงสะเทือนใต้กะโหลกตรงเยื่อหุ้มสมองที่สะสมใกล้เกินขีดจำกัดก็เริ่มกำเริบออกอาการ concussion ขั้นน่าเป็นห่วง จนไม่รู้จะได้คาดเข็มขัดแชมป์หรือต้องแขวนนวมทิ้งเวทีไปรักษาชีวิตก่อนกัน

แล้วเมื่อถึงจังหวะคนดูเริ่มการ์ดตก หนังก็โจมตีด้วยข้อมูลเล็ก ๆ ที่ดูไม่สลักสำคัญแต่สั่นสะเทือน บทสนทนาในห้องว่างที่เฉลยแรงกระเพื่อมของทุกชีวิต อุริตะไม่ได้เป็นแค่ไอ้ขี้แพ้ตลอดศกที่ต้องทนเห็นปลายทางฝันของตัวเองผ่านชีวิตคนอื่น หากยังเป็นผู้ส่งต่อแรงบันดาลใจคนสำคัญ อย่างน้อยก็กับคนธรรมดาไม่กี่คนบนโลกนี้ นาราซากิที่หวังแค่ทำเท่เริ่มอินกับมวยเป็นจริงเป็นจังเพราะความมุ่งมั่นของอุริตะ โอกาวะเริ่มต่อยมวยจนเป็นความหวังแชมป์เพราะอุริตะเป็นคนจุดประกาย และไม่ใช่แค่การชกมวยที่เขาส่งต่อให้รุ่นน้องดาวรุ่ง หญิงสาวที่เขารักและไม่อาจครอบครองก็เช่นกัน – ต่อให้เจ้าตัวจะไม่เคยมองเห็น หรือไม่กล้าตระหนัก เพราะถ่อมตัวเกินจะยอมรับหรือคิดว่าตัวเองเป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนได้

©2022 “Love Life” Film Partners

Fumino Kimura ปล่อยพลังทางการแสดงอย่างน่าทึ่ง ในฐานะจุดศูนย์กลางของหนังสายประกวดเวนิซปีล่าสุดเรื่อง Love Life (2022) “หนังรัก” ของ Koji Fukada ที่ผู้ชมหลายเสียงลงมติว่าใจร้ายเลือดเย็นต่อตัวละคร แต่ก็ขุดลึกถึงก้นบึ้งความซับซ้อนของความรักได้หนักหน่วง เข้มข้น และเข้าอกเข้าใจ ปอกเปลือกมนุษย์ได้หมดจดด้วยชั้นเชิงคล้ายบทละครเวทีคลาสสิก

อุบัติเหตุร้ายแรงในวันแห่งความสุข สะเทือนชีวิตคู่ของทาเอโกะ (Kimura) กับจิโร่ (Kento Nagayama) อย่างถึงราก ทั้งสองใช้ชีวิตร่วมกันค่อนข้างราบรื่นแม้พ่อฝ่ายชายจะเห็นค้าน ไม่ใช่เพราะฝ่ายหญิงเป็นแม่ม่ายลูกติด แต่เพราะความสัมพันธ์นี้เริ่มต้นด้วยการนอกใจ จนทำให้งานแต่งระหว่างจิโร่กับคนรักเก่า (Hirona Yamazaki) ที่ครอบครัวรับรองต้องเป็นหมัน – เหตุสลดผ่านไปเพียงไม่นาน ยังไม่ทันให้ใครทำใจสงบ เรื่องก็ยิ่งผูกปมแน่น เมื่อพ่อแท้ ๆ ของลูกชายทาเอโกะที่ทิ้งลูกเมียหายไปหลายปีกลับเข้ามาในชีวิตอีกครั้ง ในฐานะคนเกาหลีหูหนวกเป็นใบ้ที่อาศัยข้างถนนเป็นที่หลับนอน
หนังเฝ้าจับสังเกตแรงกระทบของความสัมพันธ์และความรู้สึกทั้งหมดอย่างเงียบเชียบเยียบเย็น ให้คนดูรับสัมผัสของคลื่นใต้น้ำที่ค่อย ๆ ถูกกวนให้ขุ่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป – สถานะคนเคยรักกับเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมผสมกันในความคิดทาเอโกะ ส่งแรงให้เธอเข้าไปพูดคุยคลุกคลีช่วยเหลือสามีเก่า ในขณะที่จิโร่กับคนรักเก่าก็มีบางอย่างยังไม่ได้เคลียร์กันให้หายคาใจ และเมื่อตะกอนทั้งหมดเริ่มฟุ้งกระจายได้ที่ หนังก็เผยตัวตนว่าแท้จริงแล้วกำลังเล่าเรื่องมนุษย์ที่ยึดโยงตัวตนไว้กับความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่ง และตอนนี้คำอธิบายเงียบ ๆ ที่แต่ละคนใช้ตอบตัวเองเสมอมาเมื่อหัวจิตหัวใจยังสงบมั่นคงอยู่ก็กำลังถูกสั่นคลอน

ทาเอโกะเลือกอาชีพนี้ในวันที่สามีเก่าหายสาบสูญไป ยึดโยงตัวตนกับการเป็นที่พึ่งของมนุษย์ที่คงอยู่ในสถานะเดียวกับเขา หวังจนเลิกหวังว่าจะได้พบกันอีกครั้ง เมื่อเขากลับมาจึงเดินหน้าเป็นที่พึ่งให้เขาอย่างเต็มที่ ส่วนจิโร่ก็ยึดโยงตัวตนกับการเป็นที่พึ่งทางใจให้ทาเอโกะ ผู้หญิงลูกติดผัวทิ้งที่พยายามตามหาเขาทุกวิถีทาง หรือกระทั่งพ่อแม่ฝ่ายชายที่ยกห้องเก่าให้ครอบครัวลูก ส่วนตัวเองก็ยังเลือกอยู่เฝ้าดูแลลูกหลานที่ห้องใหม่ในตึกข้าง ๆ แล้ววางฝันเล็ก ๆ แบบคุณปู่คุณย่าทิ้งไว้จนฝุ่นจับ โดยมีความคาดหวังบางอย่างซ่อนไว้ในใจ ซ่อนลึกถึงขนาดว่าถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ก็คงไม่มีใครรู้

ภาพยนตร์ของ Fukada ที่คนส่วนใหญ่คุ้นชื่อหลังปักธงในเทศกาลใหญ่อย่างคานส์ ไม่ว่าจะเป็น Harmonium (2016) หรือ A Girl Missing (2019) ล้วนขับเคลื่อนด้วยพล็อตที่จับความสนใจได้ตั้งแต่แวบแรก แต่สำหรับ Love Life เขาปล่อยให้ธรรมชาติและสัญชาตญาณของตัวละครได้เป็นผู้ควบคุมทิศทาง – รายละเอียดที่ค่อย ๆ ร่วงหล่นลงทีละน้อยในนามของ Love และ Life จึงเป็นทั้งความร้าวรานกระทบใจที่ยิ่งใหญ่จนฝังลึก และรสขมที่กำลังค่อย ๆ จางไปแต่ยังไม่วายทิ้ง aftertaste ไว้อีกนาน


ชญานิน เตียงพิทยากร
เขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ Starpics, Bioscope (อดีต), The Momentum, a day, Film Club และแหล่งอื่นตามแต่จังหวะโอกาส / รางวัลชมเชยกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือฯ ประจำปี 2018 และ 2020 / สภาพ: ไล่ดูหนังใกล้หมดอายุใน Netflix และ MUBI

RELATED ARTICLES