อะไรคือ ‘หนังภาษาไต้หวัน’

หมายเหตุ : เรียบเรียงจาก Taiwanese-Language Cinema: A Short Introduction

เล่าแบบรวบรัด ‘หนังภาษาไต้หวัน’ เป็นหนึ่งในหนังกระแสหลักของไต้หวันยุคตั้งแต่หลังสงครามโลก ยืนหยัดข้ามเวลาตลอดช่วงของกฎอัยการศึกและจบสิ้นลงในปลายทศวรษ 1970

ว่ากันว่าในช่วงเวลานั้นมีหนังถูกสร้างออกมาราวหนึ่งพันเรื่อง หนังเหล่านี้มีทุกขนบ ต้ังแต่หนังสายลับ สืบสวนสอบสวน หนังเด็ก หนังดราม่า ไปจนถึงหนังแอ็กชั่น เรียกว่าเป็นอุตสาหกรรมย่อม ๆ ในประเทศเลยก็ว่าได้ โดยไม่ใช่หนังที่ถูกสนับสนุนจากรัฐ

หนังกลุ่มนี้มีชื่อในภาษาจีนว่า Taiyupian (台語片) คำว่า pian แปลว่า หนัง ส่วน Taiyu นั้นอาจแปลคร่าว ๆ ได้ว่า สำเนียงไต้หวัน แต่การเรียกหนังกลุ่มนี้ว่า ‘หนังภาษาไต้หวัน’ หรือ ‘หนังจีนสำเนียงไต้หวัน’ ก็เป็นเรื่องซับซ้อน เพราะสองสำเนียงนี้อ่านไม่เหมือนกันจนไม่อาจเรียกว่าเป็น ‘สำเนียง’ และไม่สามารถจะฟังกันรู้เรื่อง มันจึงเหมาะกว่าที่จะเรียกว่า หนัง ‘ภาษา’ ไต้หวัน

เดิมทีในยุคที่ไต้หวันเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น (1885-1945) นั้น ไต้หวันเองเป็นทั้งโลเคชั่นถ่ายทำและเป็นตลาดของหนังญี่ปุ่น แต่ยังไม่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นของตนเอง จนกระทั่งก๊กมินตั๋งเข้ามาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นหลังแพ้เหมาเจ๋อตุงในปี 1949 นี่เองที่เริ่มมีการผลิตภาพยนตร์ขึ้นในไต้หวัน แต่ตอนนั้น รัฐก็มุ่งมั่นกับการทำหนังข่าวเพื่อจะสื่อสารกับคนพื้นเมืองเสียมากกว่า อย่างไรก็ดี คนพื้นเมืองในตอนนั้นก็ไม่เข้าใจภาษาจีนกลาง หนังที่สร้างโดยรัฐเลยไม่ประสบความสำเร็จนัก

กลับกลายเป็นว่า หนังจำนวนหนึ่งจากฮ่องกงที่เป็นหนังสำเนียง Amoy (หรืออีกชื่อคือ เซี่ยเหมิน-Xiamen คือเมืองในมณฑลฝูเจี้ยนที่เป็นชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ที่ตรงกับไต้หวันเอง และสำเนียง Amoy นั้นคล้ายคลึงกับภาษาไต้หวันมาก ๆ) ซึ่งส่วนใหญ่เล่นโดยดารางิ้วและถูกนำมาฉายในไต้หวัน กลับประสบความสำเร็จมากกว่าเพราะคนดูรู้เรื่องโดยไม่ต้องแปล และนั่นเองทำให้คณะงิ้วในไต้หวันเริ่มคิดจะสร้างหนังขึ้นมาบ้าง นำมาซึ่งจุดกำเนิดหนังภาษาไต้หวันก่อนที่หนังภาษาไต้หวันจะลงหลักปักฐาน เมื่อมีหนังที่ไม่ใช่หนังงิ้วอย่าง Xu Pinggui and Wang Baochuan (1956) ถูกสร้างขึ้น

เราอาจบอกได้ว่า มีความซับซ้อนหลายประการในการอธิบายตำแหน่งแห่งที่ทางประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ภาษาไต้หวัน ซึ่งอาจต้องย้อนไปยังความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลก และช่วงเวลาที่ไต้หวันกลับคืนสู่จีนชาตินิยมหลังสงครามในปี 1945 จวบจนรัฐบาลก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ให้แก่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ในปี 1949

ในช่วงเวลานั้น งิ้วที่เคยโดนแบนจากญี่ปุ่นในยุคอาณานิคมเริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ทัศนคติของรัฐบาลใหม่ที่มีต่อรูปแบบความบันเทิงแบบพื้นถิ่นนี้คือ เพื่อกำหนดวาระชาตินิยมในประเทศ คณะงิ้วขยายตัวด้วยการผลิตที่ต่ำและคุณภาพต่ำ ค่อย ๆ สูญเสียความนิยมไปสู่ความบันเทิงรูปแบบอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์นำเข้า เมื่อถึงเวลาที่การผลิตภาพยนตร์ในประเทศเริ่มต้นขึ้น หนังจากงิ้วก็กลายเป็นหนังภาษาไต้หวันกลุ่มแรกๆ

เราอาจแบ่งยุคทองของหนังภาษาไต้หวันได้เป็นสองระลอก ระลอกแรกมาถึงในช่วงปลายทศวรรษ 1950 เริ่มจากบรรดาหนังงิ้ว หนังดัดแปลงจากบทละครของ Taiwan New Drama Movement*1 ที่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมญี่ปุ่น หนังสร้างง่าย ๆ ใช้ทุนน้อย แต่ประสบความสำเร็จสูง น่าเสียดายที่หนังเหล่านี้มีเหลือรอดมาถึงปัจจุบันไม่มากนัก

ระลอกที่สองมาถึง เมื่อคนทำหนังภาษาไต้หวันเริ่มส่งหนังออกนอกประเทศ เป้าหมายคือบรรดาคนจีนอพยพที่พูดภาษา Minnan Hua ซึ่งคือเหล่าประชากรจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมายังเอเชียอาคเนย์ อาจจะบอกได้ว่านี่คือยุคทองของแท้ เพราะมีหนังหลากหลายแบบ ตั้งแต่หนังสายลับอย่าง The Best Secret Agent หนังเด็กที่เอาคนมาแต่งป็นสัตว์อย่าง The Fantasy of The Deer Warrior หนังกังฟูอย่าง Vengeance of Phoenix Sisters หนังดราม่า Early Train from Taipei ไปจนถึงการดัดแปลงบทประพันธ์ฝรั่ง อย่าง The Bride Who Has Returned from Hell (ที่ดัดแปลงจากนิยาย Mistress of Mellyn ของ Victoria Holt) ก่อนที่ในที่สุดหนังเหล่านี้จะเสื่อมความนิยมไปในยุคทศวรรษที่ 1970

มีหลายสาเหตุที่ทำให้หนังภาษาไต้หวันเสื่อมความนิยมลง หนึ่งคือ การที่สตูดิโอหนังภาษาไต้หวันโดยมากเป็นเอกชนที่สายป่านสั้น ขณะที่สตูดิโอหนังภาษาจีนกลางอย่าง Central Motion Picture นั้นมีรัฐเป็นเจ้าของ ประกอบกับการที่การศึกษาในไต้หวันมุ่งเ้นให้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาหลัก หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ฟังจีนกลางรู้เรื่องจึงสามารถดูหนังได้โดยไม่ต้องแปล ในขณะที่กลุ่มผู้ชมดั้งเดิมของหนังภาษาไต้หวันแก่ตัวลง ร่วมกับการมาถึงของทีวี ทำให้ผู้ชมกลุ่มเดิมไปดูละครทีวีแทนจะมาดูหนังเหล่านี้

แล้วหนังภาษาไต้หวันก็ถูกลืมไป ไม่ต่างจากบรรดาหนังไทยยุค 16 มม. ที่เกินกว่าครึ่งหายสาบสูญ เพราะมันถูกมองเป็นเพียงความบันเทิงฉาบฉวยที่ไม่มีคุณค่ามากพอ จากภาพยนตร์ราวหนึ่งพันเรื่อง มีเพียงราวสองร้อยเรื่องเท่านั้นที่ยังเหลือรอดอยู่

อย่างไรก็ดี การก่อตั้งหอภาพยนตร์ไต้หวันในปี 1979 ทำให้ทัศนคติที่มีต่อภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงไปทีละนิด ประกอบกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มวรรณกรรมชาตินิยมในทศวรรษ 1970 ทำให้อัตลักษณ์ของการเป็น ‘ไต้หวัน’ ค่อย ๆ เข้มข้นขึ้นทีละน้อย ต้านทานกับรัฐบาลก๊กมินตั๋งที่ต้องการให้คนไต้หวันตระหนักตัวเองในฐานะ ‘คนจีน’ จวบจนการยกเลิกกฎอัยการศึกในปี 1987 ก็เริ่มมีการรื้อฟื้นหนังกลุ่มนี้ออกมา มีการทำดีวีดีขาย และในที่สุดในปี 1989 หอภาพยนตร์ไต้หวันก็เริ่มโครงการอนุรักษ์ภาพยนตร์กลุ่มนี้ขึ้น ทั้งจัดหาจัดเก็บ จัดพิมพ์หนังสือ ทำบทสัมภาษณ์ผู้กำกับ จัดโปรแกรมฉาย และรีมาสเตอร์หนังกลุ่มนี้

จนอาจกล่าวได้ว่า การศึกษาภาพยนตร์ภาษาไต้หวันถึงที่สุดก็ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่ไต้หวันเริ่มต้นเป็นประชาธิปไตย หลังกฎอัยการศึกอันยาวนาน



*1 จาก Movement of the Western Modern Drama in Taiwan and Its Modernity

Filmsick
Filmvirus . เม่นวรรณกรรม . documentary club

RELATED ARTICLES