ALI: FEAR EATS THE SOUL : เท่าที่ฟ้าให้เรารักกัน

*หมายเหตุ :
– ชื่อบทความมาจากชื่อ All That Heaven Allows และชื่อเพลง “เท่าที่ฟ้าเพิ่นให้” โดยต่าย อรทัย และไผ่ พงศธร
– บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

คืนนั้นฝนตก เอมมี่สงสัยเรื่องผับนั้นมานานแล้ว ผับที่เธอได้ยินเสียงเพลงต่างชาติลอดออกมาจากประตู ที่จริงเธอแค่ตั้งใจแค่จะเข้าไปหลบฝน ในผับเต็มไปด้วยคนอาหรับ มีแต่หญิงเจ้าของผับเท่านั้นที่เป็นคนเยอรมัน เอมมี่นั่งลงที่โต๊ะแรกสุดติดประตู โดดเดี่ยวแปลกแยกจากทุกคนที่รวมกันอยู่ตรงเคาน์เตอร์บาร์ เธอสั่งโค้กขวดหนึ่ง บอกหญิงเจ้าของร้านว่าเธอแค่ขอมาหลบฝนเดี๋ยวก็จะไป

ที่บาร์พวกนั้นยุยงอาลี อาลีเป็นคนหนุ่มแข็งแรงล่ำสันหนวดเครารกครึ้ม อาลีของสาว ๆ วันนี้ถูกยุยงให้ไปขอป้าแก่คนนั้นเต้นรำสิ แล้วอาลีก็ไปขอจริง ๆ ทั้งคู่เต้นรำกันกลางสายตาของผู้คน เอมมี่คุยกับอาลีขณะเต้นรำ เธอไม่รังเกียจเขาที่เป็นคนต่างชาติ เขาไม่รังเกียจที่เธอเป็นคนแก่ พวกเขาคุยกัน เธอเป็นไม่กี่คนที่พูดดีกับอาลี ส่วนอาลีเป็นคนแปลกหน้าไม่กี่คนที่คุยกับเธอจริง ๆ

หลังจบเพลง อาลีอาสาไปส่งเธอที่บ้าน เธอเช่าห้องอยู่ในตึกโดยลำพัง สามีเธอตายไปนานแล้ว ลูก ๆ ก็แยกออกไปมีครอบครัว เธอทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาด มีด้วยกันสี่คน ตึกแปดชั้นทำคนละสองชั้น เวลาพักเที่ยงต้องนั่งกินมื้อเที่ยงตรงบันไดหนีไฟ เธอโดดเดี่ยวอยากคุยกับใครสักคน เขาก็โดดเดี่ยวทำงานเป็นช่างในอู่ ห้องคับแคบอยู่กันหกคน ทำงานเช้าจรดค่ำ ดื่มนิดหน่อย ถ้าไม่ไปกับสาวสักคนในบาร์ก็กลับไปนอนเพื่อตื่นมาสู้งานหนัก 

เธอชวนอาลีไปบนห้องเพื่อคุยกันต่อ พอรู้ว่าชีวิตแรงงานอพยพของอาลีลำบากขนาดไหน และมันดีแค่ไหนที่มีคนคุยด้วย เธอก็ขอให้เขาอยู่ค้าง เธอจัดเตียงให้ หาเสื้่อผ้าแปรงสีฟัน บอกอาลีว่าจะได้ตื่นมากินอาหารเช้าด้วยกัน และออกไปทำงานพร้อมกัน มันง่ายดายถึงเพียงนั้น วิธีที่แม่ม่ายใกล้เกษียณพบรักกับหนุ่มอาหรับที่เป็นแรงงานอพยพ รักคือความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับสังคมที่ปฏิเสธความต่าง แต่ความกลัว-อันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จะกัดกินวิญญาณของเราทีละเล็กละน้อย

หนังดัดแปลงอย่างหลวม ๆ จากภาพยนตร์เมโลดรามาอเมริกัน เรื่อง All That Heaven Allows (1955) ของ ดักลาส เซิร์ค (Douglas Sirk) คนทำหนังชาวเยอรมันที่ไปโด่งดังในอเมริกาจากการทำหนังผู้หญิง หนังของดักลาส เซิร์คอาจจะประสบความสำเร็จตอนที่มันออกฉาย แต่นักวิจารณ์ในขณะนั้นก็ไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนทำหนังที่มีความเฉพาะตัว และหนังเรียกน้ำตาของเขาอธิบายภาพชนชั้นกลางอเมริกันในห้วงเวลานั้นได้ดีเพียงไร อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาผู้คนก็ยกย่องหนังของเขาและกลายเป็นหนึ่งในหนังสำคัญของโลก 

All That Heaven Allows เล่าเรื่องของ แครี่ แม่ม่ายวัยกลางคนที่สามีตายไปหลายปี เธออาศัยในบ้านหรูหราของสามี เป็นที่นับหน้าถือตาของคนในชุมชน ลูกสาวลูกชายไปเรียนหนังสือในเมืองหมดแล้ว เธอใช้ชีวิตเงียบเหงาโดยลำพัง ไปงานปาร์ตี้คอกเทลบ้างตามสมควร มีชายหลายคนมาติดพันเธอ โดยมากเป็นนักธุรกิจที่แก่กว่าและอยากมีเพื่อนรู้ใจในช่วงปลายของชีวิต แต่เธอไม่ได้สนใจใครเป็นพิเศษ จนวันหนึ่งเธอเพิ่งสังเกตว่าคนที่มาทำสวนในบ้านของเธอเปลี่ยนจากชายชราเป็นชายหนุ่มหน้าตาดี เขาคือรอน ลูกชายของคนสวนคนเก่าที่เสียชีวิตไปแล้ว เธอเริ่มชวนชายหนุ่มที่กำลังจะไปจากเมืองเพื่อไปเรียนเกี่ยวกับการเกษตรคุยเรื่องต้นไม้ เขาพาเธอไปที่เรือนเพาะชำของเขา พบกับเพื่อน ๆ ของเขาที่เป็นชุมชนของคนผู้รักอิสระเสรี สร้างชีวิตเล็ก ๆ อย่างเรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อ พวกเขาทั้งคู่ตกหลุมรักกันชนิดที่วัยไม่ใช่อุปสรรค รอนถึงขั้นรื้อโรงนาเก่าทำให้มันเป็นบ้านสวยตามที่แครี่แนะนำ จนเมื่อรอนขอแครี่แต่งงาน เธอลังเลใจ แต่ก็รักเขา เธอพาเขาไปแนะนำกับครอบครัวและเพื่อนฝูงเพื่อที่จะพบว่าชีวิตของพวกเขาแตกต่างกันมาก เธอกลายเป็นขี้ปากของชุมชนกระฎุมพีขี้นินทา ขณะที่ลูก ๆ ก็รับไม่ได้ที่เธอจะแต่งงานใหม่กับคนหนุ่มอายุน้อยราวกับเป็นยายแก่ตัณหากลับ ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาต้องแยกทางกัน เธอได้ชีวิตเดิมคืน แต่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกแล้วเพราะเธอเพิ่งตระหนักรู้ว่า กับลูก ๆ เธอเพียงต้องทำหน้าที่เป็นแม่ที่ดี แม่ที่โดดเดี่ยว ขณะเดียวกันเมื่อชาวบ้านหมดเรื่องนินทา ก็ไม่ได้มีใครใส่ใจเธอจริง ๆ แบบที่รอนใส่ใจเธอสักคน

All That Heaven Allows (1955)

ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์ (Reiner Werner Fassbinder) คือคนทำหนังสำคัญคนหนึ่งในทศวรรษที่ 1970’s-80’s ทั้งในเยอรมันและโลก เขาเป็นหนึ่งในรุ่นถัดมาของกลุ่ม New German Cinema อันประกอบขึ้นจากคนทำหนังรุ่นใหม่ในขณะนั้นที่ทำหนังเพื่อต่อต้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพื่อการค้าของเยอรมันในยุคหลังสงคราม ภาพยนตร์ของฟาสบินเดอร์เป็นหนึ่งในแนวหน้าของเลือดใหม่ เขาเป็นคนทำหนังและละครเวทีที่บ้าบิ่น ตลอดช่วงเวลา 20 ปีเขาทำหนังไปร่วมสี่สิบเรื่อง โดยบางปีเขาทำหนังปีละสามเรื่อง หนังของเขามักใช้ทีมงานและนักแสดงชุดเดิม ๆ ซึ่งโดยมากก็เป็นคนใกล้ชิด งานของเขาเต็มไปด้วยความบ้าคลั่ง ความตรงไปตรงมาทั้งทรรศนะทางการเมือง เพศ และชีวิต หนังของเขามักเล่าเรื่องตัวละครแตกหักเสียหายและวังวนบ้าคลั่งของความปรารถนาและการกดขี่ เมื่อรักใครก็รักหมดหัวใจอย่างบ้าคลั่ง ยอมให้ถูกทำลาย และถ้ามีใครมารัก ก็จะทำลายล้างคนที่รักอย่างไม่เหลือเยื่อใย งานของเขามักขุดลึกลงในมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์แบบเขาเองที่เป็นเกย์เปิดเผย และนักแสดงส่วนหนึ่งคือชายคนรักของเขา แต่เขาก็แต่งงานกับผู้หญิงซึ่งก็เป็นนักแสดงในแก๊งของเขา แม้หนังของเขาโลดโผนและทุกข์ระทมแบบขึ้นสุดลงสุด แต่ชีวิตของเขาโลดโผนกว่าหลายเท่า 

งานยุคแรกของฟาสบินเดอร์นั้นเป็นหนังที่ผสมระหว่างละครเวทีและหนังทดลอง บรรดานักแสดงของเขาสลับกันเล่นบทบาทพิลึกพิลั่น บ่อยคร้ังจอกลายเป็นเวทีที่ตัวละครมาสบถด่ากันอย่างไม่บันยะบันยัง และไม่รีรอที่จะแสดงทรรศนะทางการเมือง ในยุคต่อมา เขาหันมาทำหนังเมโลดรามา หลายเรื่องได้รับแรงบันดาลใจจากหนังดรามาอเมริกัน Ali: Fears Eats the Soul เป็นหนึ่งในหนังเรื่องสำคัญของเขาในยุคนี้ หนังในยุคนี้มีความเป็นหนังเล่าเรื่องมากขึ้น ร้าวรานหัวใจสลาย ในขณะเดียวกันเขาก็เปิดเปลือยความทุกข์ ความเห็นแก่ตัว ความขาดรักของบรรดาตัวละครอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ ในยุคต่อมาหลังจากเขาเริ่มเป็นที่รู้จักจากนานาชาติ (แต่ยังคงไม่ได้รับการยอมรับในบ้านเกิด) เขาก็ทำหนังใหญ่ขึ้น หนังที่เป็นเหมือนการหยิบเอาธีมเมโลดรามามาทบทวนประวัติศาสตร์ของเยอรมันเอง เขาเสียชีวิตในปี 1982 บางคนบอกว่าเขาตายเพราะติดยา บางคนบอกว่าเป็นการฆ่าตัวตายเพราะชีวิตรักที่ชอกช้ำและการรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถผลิตงานที่ยิ่งใหญ่ได้อีกแล้ว เขาตายขณะกำลังเขียนบทหนังเรื่องใหม่ด้วยวัยเพียง 37 ปี

เราอาจบอกได้ว่า All That Heaven Allows วิพากษ์ความเป็นผู้หญิงที่ดีในสายตาของชนชั้นกลางอเมริกัน และสิ่งที่พวกเธอต้องสูญเสียไป หัวใจที่ว่างเปล่าและการเสียสละเพื่อคนที่รัก แลกมาด้วยความเงียบเหงาเศร้าสร้อยและทีวีเครื่องหนึ่งที่ลูกซื้อให้เพื่อจะได้ไม่ต้องอยู่ด้วย แต่ ฟาสบินเดอร์พาเรื่องเล่าเดิมไปไกลกว่าด้วยการเติมมิติการเมืองอย่างตรงไปตรงมาผ่านการเปลี่ยนตำแหน่งทางสังคมของตัวละครหลัก จากคุณนายผู้ร่ำรวยกลายเป็นแม่บ้านชาวเยอรมันที่เป็นคนงานระดับล่าง อาศัยลำพังในห้องแบ่งเช่ากับเหล่าเพื่อนบ้านสอดรู้ และเปลี่ยนหนุ่มคนสวนสุดหล่อรักอิสระให้เป็นแรงงานอพยพ คนอาหรับจากโมร็อกโกที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ก็เท่ากับว่า ‘เท่าที่ฟ้าให้เรารักกัน’ ของฟาสบินเดอร์นั้นฟ้าได้มอบข้อจำกัดของชีวิตมาให้เป็นพื้นฐาน ความรักอันบริสุทธิ์จึงกลายเป็นเรื่องทางการเมืองเสียตั้งแต่ก่อนที่เราจะได้รักกัน

ชีวิตของแครี่กับรอนนั้นถูกกำกับโดยหน้าที่ทางสังคมของแครี่ ขณะที่รอนเป็นชายหนุ่มอิสระผู้มาสอนให้แครี่รู้จักชีวิตใหม่นอกกรงทองของสังคม แต่สำหรับอาลีกับเอมมี่ พวกเขาต่างต้องดิ้นรนอย่างยากลำบากอยู่ในข้อจำกัดของตน การมีกันและกันของพวกเขาไม่ใช่รักทำให้พวกเขามีเสรีภาพ แต่รักทำให้พวกเขาได้เงยหน้าขึ้นมาหายใจเอาอากาศสดใหม่ของชีวิตสักเฮือกหนึ่ง

เรื่องรักของเอมมี่และอาลีถูกกำหนดโดยการเมืองของการเป็นแม่เช่นเดียวกับแครี่ เมื่อลูก ๆ ของเธอไม่พอใจที่แม่ไปคว้าหนุ่มแรงงานข้ามชาติมาเป็นแฟน พวกเขาไม่ประสงค์ให้แม่เป็นอย่างอื่นนอกจากแม่ จงเสียสละ จงทุกข์ระทม จงมีชีวิตที่ถูกทำนองคลองธรรม เพื่อที่จะได้เป็นเครื่องประดับทางจริยธรรมของลูกชายลูกสาว แต่สิ่งที่ลึกลงไปกว่านั้นคือการเหยียดเชื้อชาติที่ฝังรากลึกอยู่ในผู้คน ลูก ลูกเขย (ที่เล่นเป็นไอ้คนเหยียดเชื้อชาติโดยฟาสบินเดอร์เอง) เพื่อนร่วมตึกที่บอกว่าเธอทำให้พื้นเป็นคราบเพราะรับพวกสกปรกมาอยู่ด้วย ร้านชำที่บอกว่าจะไม่ขายของให้คนที่พูดเยอรมันไม่ได้ ร้านอาหารที่ไม่ยินดีบริการ ไปจนถึงเพื่อนร่วมงานที่เลิกคุยกับเธอเพราะเธอไปเป็นแฟนกับพวกที่จะมาแย่งงาน

ถ้าจะรักก็ต้องกล้าหาญ ความกล้าหาญของเอมมี่และอาลีที่จะไม่ยอมให้ความกลัวกัดกินวิญญาณ อยู่ในเนื้อของหนัง และอยู่ในผิวหนังของหนังผ่านทางการถ่ายภาพที่เสมือนลอบมองตัวละครตลอดเวลา เมื่อทั้งคู่อยู่ด้วยกัน กล้องแทบไม่เคยเป็นอิสระ สายตาของกล้องเป็นสายตาของการลอบมอง ถูกบังด้วยเสา ผนัง กรอบประตู ราวบันได ราวกับพวกเขาถูกจับตามองจากสังคมที่ไม่เข้าใจตลอดเวลา สายตาเช่นนี้ในเวลาต่อมาปรากฏอยู่ในหนังที่ใช้สไตล์จัดจ้านพอ ๆ กันอย่าง In The Mood For Love (2000, Wong Kar Wai) หนังที่พูดเรื่องรักต้องห้ามเหมือน ๆ กันผ่านทางชายหญิงคู่หนึ่งที่อาศัยในห้องแบ่งเช่าติดกันและต่างคนต่างพบว่าสามีกับภรรยาของอีกฝ่ายลักลอบเป็นชู้กัน 

รักต้องห้ามของคุณโจวกับคุณนายฉั่น ถูกจับตามองจากสังคมห้องแบ่งเช่าสำหรับคนจีนที่อพยพมายังฮ่องกง หนังพูดถึงวันชื่นคืนสุขที่เริ่มในปี 1962 ไปจบที่ปี 1966 อันเป็นปีที่เกิดการจลาจลใหญ่ในฮ่องกงต้านอาณาจักรอังกฤษ สิงคโปร์แยกออกจากมาเลเซีย บัลลังก์ของสีหนุเริ่มสั่นสะเทือนหลังการเลือกตั้งใหญ่ที่ในเวลาต่อมาค่อย ๆ นำไปสู่การรัฐประหารและการครองอำนาจของเขมรแดง เวลาเร้นรักนั้นกลายเป็นวันชื่นคืนสุขสุดท้ายของจีนอพยพทั้งในฮ่องกงและทั่วภาคพื้นอุษาคเนย์ คนอพยพแบบเดียวกับอาลีและแบบเดียวกันกับสามีชาวโปแลนด์ผู้ล่วงลับของเอมมี่ ซึ่งทำให้เอมมี่กลายเป็นคนอพยพในสายตาเพื่อนบ้านเพราะไม่ได้มีนามสกุลเป็นเยอรมัน

In The Mood For Love (2000)

ในเชิงสถาปัตยกรรม In The Mood for Love ยังพูดถึงอาการไร้บ้านของคนอพยพในฮ่องกงที่ถูกกำกับโดยศีลธรรมแห่งการสอดส่องจากเพื่อนบ้านที่ใช้ครัวรวม จากเจ้าของห้องเช่า ความไม่มีบ้านที่แท้ทำให้ไม่มีช่วงเวลา ‘ที่ฟ้าให้เรารักกัน’ สองคนจึงได้แต่เตร็ดเตร่ไปตามถนน ห้องเช่าในโรงแรม ซ่อนอยู่ในเงามืดที่เบาะหลังรถแท็กซี่ สถาปัตยกรรมแบบเดียวกันถูกนำมาใช้บีบอัดชีวิตของอาลีและเอมมี่ ทั้งจากบันไดวนที่เป็นเหมือนคุก หรือผนังคอนกรีตในกรอบประตูของร้านอาหารที่ฮิตเลอร์เคยไป สวนอาหารที่เก้าอี้สีเหลืองว่างเปล่าตีวงล้อมคู่รัก โดยมีสายตาของเจ้าของร้านและเหล่าคนงานจับจ้องอยู่ พวกเขาถูกบีบในกรอบแคบ ๆ ของสถาปัตยกรรมเยือกเย็นแบบเยอรมัน หนังทั้งสองเรื่องล้วนจงใจวางตำแหน่งของตัวละคร ในแต่ละฉาก ตำแหน่งถูกจัดวาง เรียงลำดับลึกตื้น ตัวละครยืนในตำแหน่งหนึ่ง พูดและเดินไปยังอีกตำแหน่งจนแทบเป็นละครเวที 

การถูกจับตากลายเป็นสายตาของหนังทั้งสองเรื่อง สถาปัตยกรรมบันไดวนในบ้านของเอมมี่กลายเป็นเครื่องมือที่เพื่อนบ้านใช้จับตามอง เช่นเดียวกับครัวรวมบ้านคุณนายฉั่น และบันไดยังกลายเป็นกรงขังอีกด้วยเมื่อเอมมี่ในฐานะแรงงานชั้นล่างต้องมากินข้าวกับเพื่อนร่วมงานตรงซอกบันไดตึก เมื่อเพื่อนร่วมงานแบนเธอ กล้องถ่ายภาพเธอผ่านซี่กรงของบันไดขณะกินข้าวเที่ยงลำพัง จนในเวลาต่อมาเมื่อทุกอย่างคืนสู่ปกติ เธอถูกรับเข้ากลุ่มเพื่อผลประโยชน์จากการรวมพลังในการต่อต้านแรงงานอพยพรายใหม่ โยลันดา แม่บ้านคนใหม่ที่เป็น ‘คนนอก’ ก็เข้าแทนที่เธอผ่านซี่กรงของบันได ขณะแรงงานในประเทศสุมหัวกันกังวลว่าจะโดนแย่งงาน 

ความรักของเอมมี่และอาลีที่ถูกจับตาและขีดกั้นโดยสวรรค์และทุนจึงเป็นไปได้ยากยิ่ง แต่หนังไปไกลกว่าแค่อคติจากผู้คนรอบข้างที่มีต่อคู่รัก เพราะสิ่งที่กัดกินวิญญาณของคนทั้งคู่คืออคติในใจตนเอง หลังจากทั้งคู่หนีโลกไปพักร้อนและกลับมา เอมมี่ค่อย ๆ ได้สถานะคืนจากคนรอบข้างเพราะเธอต้องช่วยเลี้ยงหลานให้ลูก และเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานพื้นถิ่นที่ต้องรวมตัวกัน โดยไม่ได้ตั้งใจเธอเริ่มแสดงตนเป็นเจ้านายของอาลี ขอให้เขาทำนั่นนี่ให้ หรือให้เขาเบ่งกล้ามโชว์เพื่อนของเธอ เอมมี่กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเดิมที่กดให้อาลีเป็นเพียงคนนอกที่ต้องตระหนักรู้ที่ของตน อาลีจึงออกจากบ้านกลับไปยังที่ที่ตนจากมา กลับไปยังบาร์ของแรงงานอพยพ กลับไปหาหญิงสาวเจ้าของบาร์ที่ทำคูสคูสเป็น กลับไปกินคูสคูสอันคุ้นเคยที่คนยุโรปอย่างเอมมี่ทำไม่เป็น

สุดท้ายความกลัวที่กัดกินวิญญาณของทั้งคู่ไม่ได้มาจากความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง ความรักทำให้คนกล้าหาญที่จะมีแต่กันและกันโดยดำเนินชีวิตต่อไปได้แม้ปฏิเสธโลก แต่การกลับเป็นส่วนหนึ่งต่างหากที่กัดกินวิญญาณของพวกเขา เพราะพวกเขาต่างต้องคืนสู่ตำแหน่งแห่งที่ที่จากมา ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมดำเนินอยู่ได้ด้วยการกีดกันคนนอกออกไป ทั้งจากที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว รักข้ามชนชั้น ลำดับของสังคมจึงไม่ได้อยู่ร่วมกับการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเดิม ถึงที่สุดการได้รับการยอมรับทำให้พวกเขาต้องเปิดเผยตัวตน ที่ตรงนั้นเองความแปลกแยกต่อกันและกันปรากฏขึ้น

ฉากจบของหนังนั้นทะลุกลางปล้องอย่างยิ่ง แต่ก็เจ็บปวดอย่างยิ่ง เพราะดูเหมือนหลังจากฝ่าฟันทุกอย่างสวรรค์ก็ยังไม่ให้พวกเขาสมหวัง ในต้นฉบับนั้น รอนพลัดตกลงจากเนินหน้าบ้านขณะวิ่งลงมาหาแครี่ที่กลับมาหาเขา แต่ในตอนจบของหนังเรื่องนี้ เอมมี่กลับมาตามอาลีกลับบ้าน หลังจากโดนอาลีหักหน้าตอนเธอไปตามเขาที่อู่ เธอบอกกับเขาว่าเธอรับได้ทุกอย่างไม่ว่าเขาจะไปทำอะไรมา ขอเพียงเราอยู่ด้วยกันก็พอ อาลีเต้นรำกับเธอ แล้วเขาก็ล้มลง และหมอพบว่าเขาป่วยหนัก  แต่อาการป่วยของเขาไม่ได้จู่ ๆ ก็มา เพราะมันคือโรคกระเพาะทะลุที่เกิดกับแรงงานอพยพอด ๆ อยาก ๆ

Ali: Fear Eats The Soul จึงเป็นหนังรัก หนังของผู้ยากไร้ที่เป็นหนึ่งในขนบสามัญของหนังรัก ยังคงทรงพลังจนถึงทุกวันนี้ แบบที่เรายังคงพบเห็นได้ในเอ็มวีเพลงลูกทุ่งของบ้านเราเอง คู่รักที่ยากจนพอ ๆ กันกัดฟันสู้ชีวิตไปด้วยกัน ขายก๋วยเตี๋ยวทำงานโรงงาน เหน็ดเหนื่อยลำบากแต่มีกันและกัน*1 ในเรื่องเล่าโรแมนติกเชิงปัจเจกเช่นนั้น ฟาสบินเดอร์ได้ทำให้เราเห็นความเป็นการเมืองของมัน การเมืองที่กลายเป็นขอบฟ้าของความรัก ถึงที่สุดขอบฟ้าที่กำหนดชะตาชีวิตรักของคนสองคนไม่ใช่สวรรค์หรือพรมลิขิต แต่คือการเมืองเรื่องการเหยียดผิว เรื่องของแรงงานอพยพ และอคติที่ฝังอยู่ในปัจเจกทุกคน ความกลัวที่กัดกินวิญญาณเราที่แท้จริง สิ่งที่ทำลายได้ทุกอย่างแม้แต่ความรัก


*1 ตัวอย่างของมิวสิกวิดีโอ ‘เท่าที่ฟ้าเพิ่นให้’ โดยต่าย อรทัย และไผ่ พงศธร ชื่อที่พอเหมาะพอเจาะกับ All That Heaven Allows 

Filmsick
Filmvirus . เม่นวรรณกรรม . documentary club

LATEST REVIEWS