INTERVIEW

นนทวัฒน์ นำเบญจพล : ‘ดินแดง’ ม็อบเติบโต สังคมถดถอย

ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ เอื้อให้นักทำสารคดีไทยออกสำรวจได้หลากหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้สวมปลอกแขนสื่อมวลชน คว้ากล้อง และตะลุยเข้าไปกลางสมรภูมิแยกดินแดง จนเกิดเป็นโปรเจกต์สารคดี Sound of ‘Din’ Daeng

การทำงานเช่นนี้ของนนทวัฒน์ มันทำให้เรานึกย้อนไปเมื่อกว่าสิบปีก่อนหน้านี้ ที่เขาเดินดุ่มพร้อมกล้องเข้าไปกลางการชุมนุมเสื้อแดง แยกราชประสงค์ แต่เวลาและประสบการณ์มันทำให้การทำงานแบบเดิมแต่ได้มุมมองที่ต่างไป 

นนทวัฒน์ นำเบญจพล

ถ้าเทียบกับตอน ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ การทำสารคดีครั้งนี้เหมือนหรือต่างจากวันนั้นอย่างไร? 

ตอน ‘ฟ้าต่ำฯ’ เราน่าจะเหมือนเด็กที่ชุมนุมตอนนี้ แต่ตอนนั้นเราก็ไม่ได้สนใจการเมืองอะไรมาก รู้แค่ว่ามันส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเรา ทั้งการมีผู้ชุมนุมบนถนน มีการถกเถียงกันในโลกออนไลน์ต่างๆ ทีนี้พอเวลามันผ่านไป สิ่งที่พูดใน ‘ฟ้าต่ำฯ’ มันก็ยังเป็นสิ่งที่พูดอยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เด็กๆ สมัยนี้เขาเห็นด้วยกับมัน ซึ่งเมื่อสิบปีที่แล้วมันไม่ใช่แบบนี้ไง 

ที่ดินแดงก็เช่นกัน ตอนแรกที่เราสนใจคือมันเป็นผลลัพธ์ของทุกสิ่งทุกอย่างในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เป็นการเคลื่อนไหวที่ใหม่ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเราเพิ่งเคยเห็นการเคลื่อนไหวที่มันเป็นแบบนี้ ไม่มีการปราศรัย ไม่มีแกนนำที่ชัดเจน และมันก็ออแกนิกมาก มันไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย ไม่สามารถเอาตรรกะการชุมนุมมาจับได้เลย ไม่มีการนัดหมายกันบนโลกออนไลน์อะไรทั้งนั้น และที่สำคัญที่สุดคือความสุดขอบของสิ่งที่เรียกว่าสันติวิธี 

วันแรกที่เราไปก็ไม่ได้อินอะไรกับเด็กๆ กลุ่มนี้ขนาดนั้น มันจะทำแบบนี้กันไปทำไม มันจะส่งผลกับม็อบใหญ่ที่เขาปราศรัยที่ดูสันติวิธีมากๆ ทำให้ม็อบดูแย่รึเปล่า พอได้เข้าไปพูดคุย ทำความรู้จัก และหาคำตอบ เราก็รู้สึกเห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาทำเป็นอย่างมาก และเราก็คิดว่ามันเป็นผลลัพธ์ของการเมืองไทย และสภาพสังคม โครงสร้างต่างๆ นานา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่มันก่อให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมา

การชุมนุมที่ดินแดงเป็นผลลัพธ์ของการเมืองไทยช่วงสิบปีนี้ได้เลยมั้ย? 

เราว่าใช่ เอาง่ายๆ เลยอย่างเด็กหลายคน ช่วงก่อนมาถึงยุคประยุทธ์ ถึงพวกเขาจะจนก็จริง แต่ว่ามันก็ไม่ได้จนกันขนาดนี้ หลายคนเริ่มไม่มีจะกินกันตั้งแต่ประยุทธ์เข้ามา เริ่มค้าขายไม่ได้ ต้องออกจากโรงเรียน ที่บ้านจนหนักกว่าเดิม เด็กบางคนอายุแค่สิบขวบเองในวันที่ประยุทธ์เข้ามา เขาก็เห็นชัดเลยว่าในช่วงเจ็ดปีของเขาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กจนเข้าสู่วัยรุ่น คุณภาพชีวิตของเขามันแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด แย่ลงขนาดที่ว่าไม่มีการศึกษา นอกจากไม่มีโอกาสทางการศึกษาแล้วยังไม่มีโอกาสทางสังคมต่างๆ งานที่พอมีให้ทำบ้างก็หายากขึ้นเรื่อยๆ เงินที่พอมีก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ พอมาช่วงโควิดมันก็พีคสุดของเขาเลย ไหนจะเรื่องการเข้าถึงวัคซีน การไม่ได้รับการเยียวยาจากการล็อกดาวน์ ทุกสิ่งทุกอย่างมันกระทบจนเขาไม่สามารถที่จะมีชีวิตตามมาตรฐานของคนที่จะอยู่รอดในสังคมเมืองได้เลย เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนเขาไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ถ้ายังอยู่แบบนี้ต่อไปอีกสักสิบปีแล้วลูกหลานจะอยู่กันยังไง แล้วพอเขามาชุมนุมตามปกติมันก็เกิดการกระทำของ คฝ. เพื่อที่จะสลายการชุมนุม การแสดงออกของพวกเขามันก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งความน่าสนใจมันก็จะต่างกับม็อบเด็กจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เพราะโตมาในสังคมคนละแบบกัน ให้เขาขึ้นไปปราศรัยบนเวทีก็อาจจะไม่ใช่ทาง ซึ่งการแสดงออกอย่างที่เขาเป็นอยู่มันคือผลการกดทับเชิงโครงสร้าง 

ถ้าเกิดเรามองการเคลื่อนไหว ณ ตอนนี้เป็นภาพใหญ่ ที่ดินแดงก็คือพื้นที่การแสดงออกของเด็กกลุ่มนี้ 

ใช่ เขารู้สึกฟิตอินกว่า ม็อบอื่นก็ไปบ้างนะแต่อาจจะไม่ขนาดนี้ เริ่มเห็นว่าที่นั่นกลายเป็นที่แฮงเอาท์ไปแล้วนะ พอเราได้คุยกับหลายคน บางคนก็งานไม่มี บางทีก็มีปัญหากับที่บ้าน เห็นชัดเลยว่าโครงสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมมันบีบให้มันกลายเป็นแบบนี้

สมมติงานชิ้นนี้ออกไปแล้วมีคนตั้งคำถามว่าเรากำลังสนับสนุนความรุนแรงรึเปล่า เราจะตอบเขาว่าอย่างไร? 

ถามว่าสิ่งที่เด็กๆ ทำ เขาตั้งใจจะเอาชีวิตฝ่ายตรงข้ามรึเปล่า ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยคือไม่ เพราะไอ้สิ่งที่เขาใช้มันไม่ได้อันตรายถึงชีวิต มันเป็นสุดขอบสันติวิธีไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ไฟก็ตาม ก็ไม่ได้ยิงไปใกล้ๆ มันก็แค่ทำให้อีกฝั่งต้องถอยออกไป ไอ้ระเบิดมือที่ทำกันเอง ก็ไม่ได้เขวี้ยงเข้าไปกลาง คฝ. ซึ่งในระหว่างนั้นมันก็อาจจะมีมือที่สามแว้บๆ มาบ้าง ซึ่งเราก็พูดไม่ได้ว่ามาจากฝั่งไหน แต่ด้วยความที่ตอนนี้มีโซเชียลมันก็เลยทำให้ไม่ค่อยมีมือที่สามโผล่มาแล้ว คนที่ได้รับอันตรายจริงๆ ส่วนใหญ่มันก็คือฝั่งเด็กๆ ต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นจากกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตาก็ตาม มันเป็นการถูกยิงในระยะประชิด แล้วก็เกิดการบาดเจ็บทีละหลายคน และยังมีการปราบปรามอีกหลายแบบที่มันแปลกเช่นเอาค้อนไปทุบหัว หรือเขวี้ยงโล่ใส่มอเตอร์ไซค์ หรือขับรถชนมอเตอร์ไซค์ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมันก็ก่อให้เกิดอันตรายกับฝั่งผู้ชุมนุมมากกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งจากที่คุยมาถ้าเขาไม่ทำอะไรเลยเขาก็จะโดนกระทำมากกว่านี้อีก 

มองเห็นปลายทางรึยังว่าน่าจะใช้เวลาทำงานเท่าไหร่?

ทีแรกแพลนไว้สามเดือนแต่อาจจะแลบไปหกเดือน ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าเราจะใช้เวลามากกว่านี้มั้ย ก็หวังว่ามันจะเป็นหนังยาวได้เพราะมันมีฟุตเตจที่น่าสนใจอีกเยอะ ซึ่งหลายๆ ฟุตเตจที่เก็บไว้เราก็ลงในชีวิตส่วนตัวบ้างแล้วไง และเราไม่รู้ว่าถ้ามันเอาออกมาฉายในช่วงนี้แบบที่มันเห็นหน้าคนชัดๆ มันจะเป็นสิ่งที่เหมาะรึเปล่า แต่มันเอาออกฉายได้แหละในเมืองนอกหรือในช่วงที่เมืองไทยมันเปลี่ยนผ่านแล้ว และระหว่างทางถ้ามันมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจหรือช่วยทำความเข้าใจกับสังคมหรือช่วยขับเคลื่อนอะไรบางอย่างเพื่อให้สถานการณ์มันดีขึ้นได้เราก็จะทำคลิปสั้นๆ แบบนี้ออกมาเรื่อยๆ 

ก็มองเป็นโปรเจกต์ที่ไม่ได้มองปลายทางเป็นหนังยาวอย่างเดียว

การทำปลายทางเป็นหนังยาวฉายเทศกาลคือสิ่งที่เราคุ้นชินอยู่แล้วเพราะเราทำแบบนี้มาทั้งชีวิต แต่เรากลับรู้สึกสนุกกับการปล่อยคลิปในออนไลน์มากกว่าด้วยซ้ำสำหรับในช่วงโควิดนี้นะ เป็นเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิดจะทำมาก่อนในชีวิต ไอ้ความสดของมัน การที่ยังอยู่ในช่วงเหตุการณ์ ก็จะมีฟีดแบ็คอะไรบางอย่างที่มันอิงกับเหตุการณ์สดๆ เลยรู้สึกสนุกกับเรื่องพวกนี้ และมันเป็นการปรับตัวในภาษาหนังของเราด้วยที่มันเหมาะกับการทำให้ดูบนโลกออนไลน์ สังเกตว่าคัตติ้งมันจะฉับไวกว่าปกติ ก็พยายามทำให้มันเหมาะกับโลกออนไลน์ ก็ฝึกอยู่

และก่อนหน้านี้เวลาทำหนัง ตรงเครดิตท้ายเรื่องเราจะเขียนว่า all right reserved เป็นลิขสิทธิ์ของเรา แต่ว่าตัวนี้ตรงท้ายเรื่องเราใช้ creative commons แทน ก็คือคุณเอาไปใช้ได้เลย ขอแค่ขึ้นเครดิตที่มาหน่อยเท่านั้นเอง อันนี้คือสิ่งที่เรารู้สึกว่าในยุคโควิดซึ่งเราไม่รู้ว่าพอผ่านไปแล้วจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมมั้ยในเรื่องแอ็กทิวิตี้ของคนดูหนัง หรือการเสพสื่อวิดีโออะไรแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่าช่วงนี้มันเป็นโลกแบบนี้ หนังหลายเรื่องอย่าง ‘ร่างทรง’ เองก็ตาม ที่ฉายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ มันก็หลุดกันออกมาหมดแล้ว และเราก็รู้สึกว่าไม่อยากจะไปโทษผู้ชมด้วย เรามองว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไป และสภาพสังคมหรือผู้คนที่เราไปถ่ายหนังด้วยตั้งแต่สมัย ‘ดินไร้แดน’ สำหรับพวกเขาการเข้าไปดูหนังถูกลิขสิทธิ์มันเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งนี่คือคนส่วนใหญ่ของประเทศ มันเป็นความฟุ่มเฟือยเพราะค่าตั๋วหนังมันไม่สอดคล้องกับรายได้ เราก็เลยสนใจ creative commons ก็คือการปล่อยให้เป็นสาธารณะแล้วเราก็ไปหารายได้ในรูปแบบอื่นแทน 


ติดตามชม Sound of ‘Din’ Daeng Prologue ความยาว 10 นาที และรายละเอียดเพื่อสนับสนุนการผลิตสารคดี ที่นี่

LATEST