INTERVIEW

‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ หรือว่าทำซีรีส์วัยรุ่นยุคนี้..ต้องทะลุเพดาน !? (แบบแตะการเมืองนิดๆ)

ในฐานะคนคุ้นเคยกันดี ตั้งแต่สมัยผู้เขียนทำงานที่นิตยสาร BIOSCOPE จึงรู้สึกตื่นเต้นมากๆ ที่ได้เห็นผลงานซีรีส์เรื่องแรกของ อ้วน – นคร โพธิ์ไพโรจน์ และ ตั๊ก – ฉันทนา ทิพย์ประชาติ อย่าง ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ ซึ่งถูกต่อยอดจากเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ‘หน่าฮ่าน’ เมื่อปี 2019 ให้เราได้เห็นกลุ่มแก๊งวัยรุ่นอีสานที่หลงใหลในการเต้นหน้าเวทีหมอลำ กลับมาโลดแล่นมีชีวิตอีกครั้ง

แต่วัยรุ่นใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ น่าจะเป็นเวอร์ชั่นที่ผ่านการอัพเดตเฟิร์มแวร์ใหม่ เมื่อเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองใหญ่หลายครั้ง ในช่วงปี 2020 ได้เปลี่ยนทัศนคติความคิดของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นในปัจจุบัน ไปแบบหน้ามาเป็นหลังมือ

จึงเป็นเรื่องท้าทายแบบสุดๆ ของทั้งสองคน ที่จะสร้างโลกของ ‘หน่าฮ่าน’ ขึ้นมาใหม่อีกครั้งในบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และเมื่อต้องทำตัวเข้าใจวัยรุ่นยุคนี้ จึงยิ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงการไม่เอ่ยถึงประเด็นทางการเมือง ซึ่งในสื่อบันเทิงกระแสหลักไทย ทั้งหนังและซีรีส์ต่างหลีกหนีมาโดยตลอด

และนี่คือกระบวนคิดและวิธีการทำงานจนกลายเป็นซีรีส์ (ที่เรารัก) เรื่องนี้

Film Club : วิธีการทำงานบทใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ ของพี่อ้วนกับตั๊กเป็นยังไง

นคร : ของเรามันเป็นลักษณะแบบนี้ เรามีประเด็นเยอะ แล้วเราไม่ได้จับประเด็นอันใดอันหนึ่ง แต่ในภาพรวมทั้งหมดเรามี Message คลุมเอาไว้อยู่ ไม่ใช่ว่าจะเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่นเรื่องท้องไม่พร้อม แล้วจะเล่ามันไปทั้งอีพีนั้นก็ไม่ใช่ แต่เมื่อดูไปเรื่อยๆ ก็จะรู้ว่าเรื่องทั้งหมดมันอยู่ในร่มของอะไร

ฉันทนา :​ คือพี่อ้วนอาจจะไม่ได้คิดหรอก แต่พี่อ้วนเขาก็เป็นคนทำงานสไตล์นี้อยู่แล้ว ก็คือเขียนอะไรไปเรื่อยๆ แล้วเราก็เป็นคนชอบดูงานแบบนี้ เฉลยเลยว่าเรา…เรียกว่า inspire ละกัน คือเราชอบงานกำกับซีรีส์ของ ชินวอนโฮ มากๆ ไปดู Hospital Playlist มัน Slice of Life มากๆ เลยนะ คือแมสส์ไหมเราก็ไม่รู้ แต่มันก็ประสบความสำเร็จจนมีซีซั่นสองไง ทั้งที่มันเป็นซีรีส์แบบยาวตอนนึงชั่วโมงกว่า ตัวละครหลักเยอะมาก 5-6 คน ซีซั่นนึงมีตั้ง 12 ตอน

สำหรับเรา ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ ก็เป็นแบบนั้น คือพอมีคนบอกว่า ทำไมซีรีส์แตะประเด็นนั้นประเด็นนี้ แต่ไม่ได้ลงลึก ก็ลองดู Hospital Playlist ก็เหมือนกัน แค่เรื่องนั้นเล่าเรื่องของอาจารย์หมอวัย 40 แล้วทุกคนก็มีประเด็นกระจายไปเป็นของตัวเอง

เราเป็นคนที่เป้าหมายเราเปลี่ยนไปทุกๆ ปีนะ ไม่มีเป้าหมายระยะยาว ถ้ามีคนมาถามว่า 10 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง ก็คงไม่ตอบเพราะตอบไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร..อันเนี่ยตอบได้ (พี่อ้วน : บางทีก็ตอบไม่ได้) คือความฝันเราก็เปลี่ยนไปตามช่วงวัย เป็นคนมี coming of age ตลอดเวลา เราเลยรู้สึกว่าเราถนัดที่จะทำงานแบบนี้มากกว่า เหมือนอย่างที่พี่อ้วนบอก มันมีร่มเงาของอะไรบางอย่างครอบไว้อยู่

นคร : คือพอตั๊กพูด เราก็นึกตัวเองว่าลักษณะการทำงานเรามันเป็นยังไงนะ อะไรคือจุดเด่นในการทำงานของเรา หรือว่าการที่เราเป็นคนที่ทำงานสัมภาษณ์แบบนี้มาก่อนหรือเปล่า ? อย่างเราเป็นคนชอบฟัง แล้วก็ฟังเขาพูดโดยที่ไม่ได้โฟกัสอะไรเป็นพิเศษ

ฉันทนา : ตอนที่เริ่มทำบท ก็เหมือนพี่อ้วนนั่งสัมภาษณ์น้องเหมือนกัน

นคร : เออ..ใช่ๆ พอมานั่งถึงวิธีการทำงาน ตอนทำบทเราก็ชวนตั๊กพูด ตอนประชุมบทกับทีมทีวี ธันเดอร์ เราก็จะไม่พูดอะไรเลย ฟังเอาอินพุตอย่างเดียวเลย แล้วค่อยเอาตัวเองไปจัดการกับมัน

ฉันทนา : ตอนประชุมบท พี่อ้วนเขาจะไม่ดีเฟนด์อะไรเลย เป็นเราเองเสียอีกที่ไปดีเฟนด์ เหมือนพี่อ้วนเขาจะแน่วแน่มาก เขียนทุกอย่างที่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีวัตถุดิบอะไรบ้าง แต่บางครั้งฝั่งทีมทีวี ธันเดอร์เขาอาจจะยังไม่เห็นร่วมกันกับเรา แต่เราก็จะพยายามเล่าประสบการณ์ร่วมที่ไปเจอให้ฟัง

นคร : คือตอนแรกเขาอาจจะกลัวว่ามันจะเหมือนเวอร์ชั่นหนังไปหรือเปล่า เพราะอันนั้นมันดูจริงเกินไป

ฉันทนา : พี่นุ้ย (จารุพร กำธรนพคุณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการผลิต ของ ทีวี ธันเดอร์) ก็พูดมาคำนึงว่า ยุพิน ในเวอร์ชั่นหนังมันดูจริงเกินไป จริงเกินจนน่ากลัว คือเป็นคนที่อ่านไม่ออก ว่าเป็นคิดอะไร รู้สึกอย่างไร

โปสเตอร์หนัง ‘หน่าฮ่าน’ (2019)

Film Club : ย้อนไปตั้งแต่ตอนทำหนัง ‘หน่าฮ่าน’ มาร่วมงานกันได้อย่างไร

ฉันทนา : พี่อ้วน inbox มาชวนในเฟซบุ๊ค ว่าช่วงนี้ทำอะไร มีโปรเจกต์หนังอีสานเรื่องนึง ตั๊กสนใจมาทำไหม

นคร : คือตอนนั้นเราคุยกับทาง MVP ไว้แล้วว่า จะโปรเจกต์ ‘หน่าฮ่าน’ กัน ตอนนั้นพี่หมู (สุภาพ หริมเทพาธิป) ก็ยังอยู่ในโปรเจกต์ ก็เจอกันสามคน เรา พี่หมู ตั๊ก ที่สตาร์บัค เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ 

โปรเจ็กต์มันเริ่มมาหลังจากที่ MVP เขาทำให้ ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ ประสบความสำเร็จแล้ว เขาก็เลยนึกขึ้นได้ว่ามันมีเรื่องนี้ที่เคยคุยกับทางเราไว้เมื่อนานมาแล้ว คือเราไม่อยากเป็น ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ อีกเรื่องนึง ก็เลยนึกถึงการเล่าเรื่องในมุมมองของผู้หญิง ก็เลยชวนตั๊กมาร่วมโปรเจกต์นี้


Film Club : ตอนนั้น ถ้านึกถึงผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ที่เป็นคนอีสาน ก็จะมีฉันทนา กับ ฐาปณี หลูสุวรรณ (ผกก. Blue Again) หลังนี้คือก็ต้องไปรุ่นพี่กอล์ฟ – ธัญญ์วาริน แล้ว

นคร : อย่างนึงที่เรามองเห็นคือ ศักยภาพความแมสส์ของผู้กำกับอินดี้ เราว่ามันทำได้ แต่จากความเป็นคนทำหนังอินดี้ จะถูกสตูดิโอจำกัดในการแสดงความสามารถค่อนข้างมาก คือสากลเขายังทำกันได้ อย่างมาร์เวลทำหนัง เขาก็ไปช็อปผกก.หนังอินดี้มาเต็มไปหมด คือคนทำหนังอินดี้เขามีความละเอียดอ่อนในดีเทลบางอย่าง ที่มามอบให้หนังแมสส์ไม่ดูแข็งจนเกินไป ก็เลยเมื่อเราจะทำอะไรแบบนี้ ก็เลยเล็งไปที่ผู้กำกับหนังอิสระก่อน

Film Club : อย่างตั๊กเอง ตอนนั้นที่ถูกชวนก็ทำงานออฟฟิศอยู่ ตอนนั้นเราตอบรับยังไง

ฉันทนา : ก็ตอบรับทันที เพราะเราไม่อยากทำงานออฟฟิศแล้ว 


Film Club : อยากรู้ตอนที่ไปรีเสิร์ชหาข้อมูล ด้วยการไปตามเวทีหมอลำที่ต่างๆ เป็นยังไงบ้าง

นคร : มันก็เริ่มจากไปบุรีรัมย์ก่อน แล้วก็ไปตามจังหวัดใกล้เคียง เช่น ศรีสะเกษ คือเราอยากเห็นชีวิตของวัยรุ่นที่เขามางานว่ามันเป็นยังไง ไปดูร้านเหล้า ไปดูหน้าเวที มีแวะไปกองถ่าย ‘ไทบ้านฯ 2’ ด้วย แล้วก็เปิดตารางทัวร์หมอลำเลย ที่อุดรธานี ปรากฏรถยางแตก (หัวเราะ)

คือจำบรรยากาศตอนนั้นได้ แล้วได้เอามาใช้ทั้งในหนังและใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ ด้วย คือตอนรถยางแตก สองข้างทางแม่งไม่มีไฟเลย มืดสนิด แต่ได้ยินเสียงเวที เห็นไปเวทีหมอลำอยู่ไกลๆ แต่ทางที่ไปไม่มีไฟฟ้าไม่มีใครสัญจรเลย โทรหาตำรวจ ตำรวจก็ถามว่าตอนนี้อยู่ตรงไหนครับ แล้วกูจะรู้ไหม (หัวเราะ) แล้วพอมีมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านมา ก็ต่างคนต่างกลัวว่าใครเป็นใคร สรุปก็คือตำรวจก็มีขับโฉบๆ มาดูแต่เขาไม่รู้ไงว่าเป็นรถคันไหน แล้วสัญญาณมือถือก็ไม่มี จะแชร์โลเคชั่นก็ไม่ได้ จนเข้าไปถึงงานหมอลำ เจอคน 5-6 พันอยู่ในงานนั้น ตกใจมาก

ฉันทนา : อย่างเราเป็นคนใน เป็นเด็กเที่ยวตามงานหมอลำ เราก็จะไม่รู้หรอกว่าคนนอกเขาจะเข้ามาแบบไหน คือตอนมาก็มาพร้อมกัน งานจบก็ออกพร้อมกัน ไม่รู้ว่าต่างคนมาจากไหนกันบ้าง จนเราได้ไปวันนั้นกับพี่อ้วน เลยเห็นว่าคนแม่งเยอะสัส คือช็อคเลย

นคร : แล้วคนดูมันเยอะในงานทุกสเกลเลยนะ คือเราก็ตระเวนไปเวทีหมอลำทั้งใหญ่ทั้งเล็ก แม้แต่หมอลำข้างบ้าน แบบนี่บ้าน ข้างๆ เป็นเวทีหมอลำ ที่เขาจ้างมาเล่นตามงานบวชงานศพ แบบเต้นๆ อยู่มองไปเห็นนักร้องปอกมะม่วงอยู่ข้างเวที แบบนั้นคนก็ยังเยอะนะ

Film Club : อย่างตั๊กเอง หลังจากจบมัธยมปลาย ก็ออกมาจากถิ่นอีสาน มาเรียนนอกพื้นที่เลย พอได้กลับไปเจอวิถีชีวิตวัยรุ่น หลังจากผ่านไปหลายปี แตกต่างจากรุ่นเรามากไหม

ฉันทนา : (นิ่ง) คือกับรุ่นเราแต่ก่อนนั่งกินส้มตำ ก็จะนั่งคุยสัพเพเหระ มองผู้ชายที่ขี่มอไซค์ผ่านไปผ่านมา นินทาคนนั้นคนนี้ที แต่รุ่นนี้เขามีอินเตอร์เน็ต ก็ยังนั่งกินส้มตำอยู่ แต่ก้มหน้าเล่นมือถือคุยกับคนที่อยู่ที่อื่น นานๆ ก็เงยหน้ามาคุยกันที ไม่ก็คุยกันถึงเรื่องที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ความแตกต่างคือแต่ก่อนรุ่นเราอาจจะไม่รู้ว่าโลกภายนอกมันเป็นยังไง เพราะมันมีแค่ทีวี มีแต่คัลเจอร์ที่นิยมกันในประเทศ แดน-บีม ก็เลยดังมากในยุคเรา มี Kotic แต่ทุกวันนี้เชื่อมไทยเชื่อมโลก Blackpink, BTS ไหนจะซีรีส์เกาหลีอะไรดังรู้จักหมด รู้เท่าเด็กในเมือง รู้จักโลกเท่ากัน เรื่อง เกรต้า ธันเบิร์ก ก็ยังคุย..แบบอีนี่มันเป็นไผวะ

นคร : อย่างนึงที่เราสะท้อนทั้งในเวอร์ชั่นหนังและซีรีส์ คือวัยรุ่นอีสานก็รู้ทุกอย่างเท่ากัน แต่โอกาสที่เขาจะเข้าถึงสิ่งต่างๆ มันยังแตกต่างกันนะ 


Film Club : ใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ มีตัวละครนึงคือ “แคลเซียม” ที่ตั้งใจว่าจบ ม.6 ฉันจะไม่อยากอยู่ที่นี่แล้ว กับตัวตั๊กเอง ตอนนั้นตัดสินใจออกจากอีสานไปต่อมหาวิทยาลัยนอกพื้นที่เลย เรามีความรู้สึกคล้ายๆ กับตัวแคลเซียมไหม

ฉันทนา : อาจจะคล้ายๆ แคลเซียม (พิมพ์พิสุทธิ์ จันทรจำนงค์) แต่อาจจะไม่ได้คิดลึกขนาดนั้น แค่เราเบื่อที่นี่แล้ว เบื่อทุกอย่าง เบื่อการคมนาคม เบื่อสภาพแวดล้อม เบื่ออะไรเดิมๆ จะไปดูหนังก็ต้องไปห้างในเมือง ก็เลยอยากลองเอาตัวเองไปอยู่ในเมือง เพราะว่าที่นี่มันไม่ศิวิไลซ์

จนเมื่อตัวเองได้เข้ามาอยู่ในเมืองจริงๆ ก็คิดว่าได้ว่า การอยู่ที่นี่มันมีประตูหลายๆ บานให้เราได้เลือก แต่การอยู่ที่บ้านเกิดมันเหมือนมีประตูแค่บานเดียว เจอแต่สิ่งเดิมๆ การได้มาเรียนที่ ม.บูรพา ที่บางแสน การเข้าใกล้ในเมือง มันทำให้เราเข้าใกล้โอกาสอะไรหลายอย่างมากขึ้น

จริงๆ ตอนมาเรียนมหาวิทยาลัย เราเจอ culture shock ด้วยนะ แบบเราปอกมะม่วงเอง ปอกแตงโมเอง กินปลาไหล กินกบได้ แล้วมาเจอเพื่อนที่ตื่นเต้นกับการที่เราปอกมะม่วงเป็น ช็อคนะ เพราะเรานึกว่านี่คือสิ่งปกติที่ทุกคนทำได้ แบบไม่เคยรู้เลยว่ามีคนที่กลัวปลาไหล กลัวกบ มันมีในโลกนี้ด้วยเหรอ ? เรานาอีฟขนาดนั้นเลย

นคร : อาจจะเพราะความนาอีฟของคนต่างจังหวัด สื่อในยุคเราเลยให้ภาพของพวกเขาเป็นตัวตลกหรือเปล่า ซึ่งพอมาถึงตอนนี้มันทำแบบนั้นไม่ได้แล้วนะ

ฉันทนา : จำได้ว่าตอนเรียนมหาวิทยาลัย เฟซบุ๊กมันพึ่งเริ่มเป็นที่นิยมในไทย มันอาจจะประมาณ 10 ปี แต่เป็น 10 ปีที่ทุกอย่างก้าวกระโดดมาก ตอนนั้นเรายังใช้ Nokia แบบสไลด์อยู่เลย กว่าจะได้มี BB ก็ปีสองปีสาม ดังนั้นการเข้ามาตอนปี 1 ในมหาวิทยาลัยมันเลย culture shock มากๆ เจอ iPhone รุ่นแรกก็แบบมันมีมือถือแบบนี้ด้วยเหรอ คือนาอีฟมาก แต่โลกมันเปลี่ยนแล้ว ยังไงสายตาที่เรามองโลกมันก็ต้องเปลี่ยนตาม 

นคร : ตอนนั้นมันก็มีหนัง ‘ฮักนะ ‘สารคาม’ (2011, หนังยาวเรื่องแรกของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์) ที่มันพูดถึงความทันสมัย พูดถึงวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เข้าไปในอีสาน คนอีสานที่ไม่พูดอีสาน คือพอมองย้อนกลับไปมันกลายเป็นหนังที่พูดเรื่องที่ใหม่มากในเวลานั้น

Film Club : แล้วกับเพื่อนๆ รุ่นเดียวกับตั๊ก ที่เรียนมาด้วยกัน มีไหมที่เขาไม่อยากออกจากบ้านเกิด อยากจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ละ

ฉันทนา : มีเต็มเลย มันถึงได้มีเรื่องราวแบบ ‘หน่าฮ่าน’ ไง คือถ้าเลือกได้ไม่มีใครอยากออกจากบ้านไง แต่ชีวิตมันเลือกไม่ได้เลยต้องออกมา ในรุ่นเราก็มีแต่เรานี่ละ ที่เลือกออกมาจากพื้นที่เลย คือตัวเลือกที่เซฟที่สุดก็คือเรียนมหาวิทยาลัยในพื้นที่อีสาน แต่เราแบบไม่เอา ติดที่ม.ขอนแก่นด้วยนะ แต่ไม่เรียน เราไม่อยากอยู่อีสานแล้ว

จริงๆ มีอันนึงที่อยากแชร์ คือเราไปเรียนที่ ม.บูรพา ปีนึงจะได้กลับบ้านมาสักครั้ง จนมาปีที่สอง พอกลับบ้านไป น้าเราก็มองหน้า แล้วก็บอกว่านี่ไปทำดั้งมาเหรอหน้าเปลี่ยน ก็หยอกกลับไปว่าก็เพราะไม่ได้กินข้าวเหนียวไงหน้าเลยเปลี่ยน (หัวเราะ) แล้วน้าเขาแบบซีเรียสมาก คือเชื่อไปแล้ว มาจับดั้งใหญ่เลย ก็นึกในใจ กูจะเอาเงินที่ไหนไปทำวะดั้ง เงินจะเรียนหนังสือยังไม่มีเลย 

คือสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนหน้าตาเราได้จริงๆ เพราะอย่างนึงเราได้เห็นคนมากขึ้น มันก็เปลี่ยนมุมมองในความสวยที่มีต่อตัวเองด้วย พอเรากลับไปที่บ้านเกิด คนที่เราเคยคิดว่าสวยมากๆ สมัยมัธยม ความรู้สึกเราก็จะเปลี่ยนละ 


Film Club : หลังเรียนจบ จนได้มาทำงานอยู่เบื้องหลังทั้งวงการหนังอิสระ หรือซีรีส์ เรามีความหวังไหมว่า จะพาตัวเองให้ได้มาทำงานของตัวเราจริงๆ ก่อนที่พี่อ้วนจะมาชวนทำหนัง ‘หน่าฮ่าน’

ฉันทนา : ไม่นะ การที่พี่อ้วนชวนมาทำ ‘หน่าฮ่าน’ ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่เราได้มาทำงานอย่างทุกวันนี้ 

นคร : แล้วก่อนที่เราจะไปชวน ตอนนั้นตั๊กใช้อะไรหล่อเลี้ยงความฝันเอาไว้

ฉันทนา : ไม่มี มีคือการได้ทำงานประจำ (ตอนนั้นฉันทนาอยู่ในทีม “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของพี่ปุ๊ก – พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์)

Film Club : ซึ่งในช่วงเวลานั้น ตั๊กเองก็ทำหนังอิสระ ‘รักไม่ปรากฏ’ ของตัวเองเสร็จแล้ว เหลือแค่รอฉาย ตัวตั๊กก็ไม่คิดว่าจะได้ทำหนังต่อ

ฉันทนา : ไม่อะ

นคร : ทำไมละ

ฉันทนา : ไม่มีความหวังกับวงการ ไม่คิดว่าเราจะมีความหวังกับการทำหนังประมาณนั้น

นคร : เศร้านะ (หัวเราะ)

ฉันทนา : ก็ไม่เศร้านะ แค่เซ็งๆ ว่าการทำหนังแบบนั้นคงไม่ใช่ที่ทางของเรา ก็เลยหนีมาทำงานประจำ

Film Club : แล้วคิดไหมว่าเส้นทางในอนาคตเราก็คงจะได้ทำหนังหรือซีรีส์ ทำละครตามวิถีทางของมัน

ฉันทนา : พี่ปุ๊กก็บอกนะว่าจะให้ทำ แต่ก็จะประมาณว่าเธอยังไม่เก่ง เธอยังไม่มีวิชาความรู้ในทางนั้น แต่พี่ปุ๊กจะชอบให้อ่านบท ถามความคิดเห็นว่าบทยังไง คิดยังไงกับบท แล้วก็ให้เราลองทำดูไหม แต่มันก็ทำไม่ได้เพราะเรายังไม่พร้อมในตอนนั้น คือคิดว่าคงทำงานประจำในออฟฟิศไปเรื่อยๆ ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เขียนหรือกำกับอะไรนะ จนกระทั่งพี่อ้วนมาชวนนี่ละ เป็นช่วงกราฟชีวิตตกพอดี โดนโทรบ่นทุกวันเลย บ่ไหวแล้ว ขอไปตายเอาดาบหน้าละกันจะเจออะไรไม่รู้ละ


Film Club : ข้ามมาช่วงที่หนัง ‘หน่าฮ่าน’ เสร็จได้เข้าฉายในโรง ซึ่งตอนนั้นก็เจอสถานการณ์ไม่ดีเลย ตอนนั้นรู้สึกยังไง

ฉันทนา : ตอนนั้นก็เลือกที่จะกลับเข้าไปทำงานประจำ ตั้งแต่หนังยังทำโพสต์ไม่เสร็จ คือเหมือนชีวิตเข้าลูปเดิม คือรู้สึกถึงความเอาแน่เอานอนของชีวิตไม่ได้ ก็มีทั้งไปทำเป็นครีเอทีฟให้ทาง MVP ก็คือเขาอยากจะทำงานกับเราต่อนั่นละ ก็เป็นผลพลอยได้ที่ตอนเราทำโพสต์เรายังมีเงินเดือนหล่อเลี้ยงชีวิต จนพี่ปุ๊กเขาเห็นว่าเรายังเอาแน่เอานอนกับชีวิตไม่ได้ ก็เลยชวนกลับไปทำประจำที่ GMM TV อีกรอบ

Film Club : ในช่วงเวลาเดียวกัน ตอนที่ทำโพสต์หนัง ‘หน่าฮ่าน’ พี่อ้วนก็ยังทำงานประจำอยู่ ตอนนั้นตัดสินใจยังไงถึงลาออกมาทำเต็มตัว

นคร : เมื่อไม่นานมานี้ ทางบริษัทเก่าที่เราทำ เขายังเคยถามเราว่า ทำไมตอนนั้นถึงตัดสินใจออก เราก็ตอบว่า ก็ตอบตรงๆ ว่าถ้าทำต่อเราก็ไม่ได้ทำหนังเรื่องนี้ ก็เดิมพันสูงเหมือนกันนะสำหรับตัวเรา

Film Club : ซึ่งทั้งคู่ช่วงเวลานั้นก็เดิมพันสูงทั้งคู่ ด้วยสถานะที่ยังต้องพึ่งพารายได้ประจำอยู่

นคร : คือเราว่าถ้าทำงานประจำไปด้วย ทำหนังไปด้วย มันทำได้ละ แต่มันไม่แฟร์ เราเลยตัดสินใจออกมา

Film Club : แล้วพอหนัง ‘หน่าฮ่าน’ ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งสองคนคิดไหมว่าจะไปต่อในการทำโปรเจกต์ต่อไป หรือกลับไปทำงานประจำต่อดีกว่า

นคร : อย่างตั๊กก็คือกลับไปก่อนตั้งแต่หนังเสร็จแล้ว ส่วนเราก็มีนิดนึงนะ ด้วยความเฟลที่หนังมันเจ๊งจากปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้เยอะมาก แม้ว่ามันจะโอเคจากผลตอบรับที่ดีจากผู้ชม เลยไม่ได้เฟลไปเสียทั้งหมด

Film Club : ซึ่งปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ตอนที่ฉาย ‘หน่าฮ่าน’ ในขณะที่พี่อ้วนทำงานใน BIOSCOPE ก็เป็นสิ่งที่รับรู้และเห็นมาโดยตลอด มาเจอกับตัวเองรู้สึกยังไง

นคร : ก็เจอมาตลอด (หัวเราะ) กับหนังตอนที่เราทำงานในบริษัทดีสทริบิวเตอร์ภาพยนตร์ก็ยังเจอ ก็รู้สึกว่ามันเหนื่อยจัง การเป็นทำหนังอิสระในประเทศนี้ จนมาได้ทำ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า ทำไมตอนทำหนังอีสาน มันมีคนที่พร้อมรอจะกระทืบซ้ำเราเยอะจังวะ จะปล่อยทีเซอร์ ปล่อยเทรลเลอร์หนัง คนก็มาด่ามาเหยียดกันเต็มไปหมด

พอมาเป็นช่วงที่ทำ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ ท่าทีจากผู้ชมหรือเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว คือเราก็ไม่รู้ว่าเพราะเวลาเป็นหนังมันต้องเสียเงินดู พอเป็นซีรีส์มันดูฟรีหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ท่าทีคนดูเปลี่ยนไปจริงๆ 

ฉันทนา : กับตัวเราความรู้สึกอยากทำหนังไม่เคยหายไปไหนนะ ไม่เคยเฟลที่หนังจะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ

นคร : เราว่า เราอยู่ในยุคที่มีช่องทางอื่นๆ ตัวเลือกอื่นๆ โรงหนังไม่ใช่ของตายอีกต่อไป ต่อให้จะเก่งจะกร่างก็เรื่องของคุณ เรามีทางเลือกถ้าเราไม่พร้อมที่จะสนับสนุน หรือไม่พร้อมที่จะเข้าโรงหนังด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราก็มีช่องทางอื่นๆ ที่ดูหนังได้

ฉันทนา : อย่างตัวเราที่เข้าๆ ออกจากงานประจำมันไม่ใช่เรื่องการหมดไฟในการทำหนังหรืออะไร แต่มันเรื่องวงเวียนชีวิตนิดนึง คือเรื่องเศรษฐกิจของเรา คือเรามีความไม่มั่นใจไม่แน่นอนตลอดเวลา ว่าการทำหนังจะเลี้ยงชีพได้ เพราะประเทศนี้มันไม่ได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้ พอเรามาทำหนังที่มันไม่ได้มีดาราดังอะไรแบบนี้ มันก็ไม่มีรายได้ ก็ไม่รู้จะทำไปทำไมถ้ามันหล่อเลี้ยงชีพเราไม่ได้ การทำหนังมันเป็นอาชีพไม่ได้ 

นคร : แม้แต่อาชีพการเขียนบท ในวงการนี้มันก็อยู่ได้ยาก คือถ้าเราไม่ได้รักงานนี้จริงๆ ค่าตอบแทนในการเขียนบทมันน้อย เมื่อเทียบกับเวลาที่เราทุ่มเทไป เราให้เวลากับมันเป็นปี ถ้าหารมาเป็นเงินเดือนคือมันอยู่อย่างมั่นคงไม่ได้หรอกนะ

Film Club : กระบวนการทำ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ กับตัวตั๊กและพี่อ้วนที่ต่างก็ ทำงานในวงการทีวี ได้เห็นและรับรู้กระบวนการผลิตซีรีส์มาก่อน คิดว่าวงการซีรีส์ไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

นคร : เราไม่อยากเทียบกับทั้งวงการว่ะ คือเราไม่เคยเจอกระบวนการทำซีรีส์แบบนี้ที่เรารู้สึกภูมิใจ ในขณะที่สตูดิโอเองก็มีความสุข คือก่อนหน้านี้ที่เราได้เขียนบทซีรีส์กับที่อื่นมาก่อน หรือแม้แต่ตั๊กที่ทำงานในกระบวนการผลิตมา เราไม่รู้ว่าแต่ละที่มันแตกต่างกันยังไง แต่กับ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ เราว่าเป็นกระบวนการผลิตที่ดีต่อคนทำงาน

Film Club : ย้อนไปตอนที่ทาง ทีวี ธันเดอร์ มาชวนทำ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ เรารู้สึกยังไง

นคร : ใจฟู (หัวเราะ) อย่างที่บอกคือหนังมันไม่ประสบความสำเร็จ เราก็ไม่คิดว่าเขาจะเห็นคุณค่าว่ามันจะไปต่อได้ อย่างตอนนี้ เนรมิตรหนัง ฟิล์ม ก็จะมีคนพยายามขายโปรเจกต์โดยมีภาพฝันว่า เมื่อหนังประสบความสำเร็จจะต่อยอดไปเป็นซีรีส์ได้ คือมีโมเดลแบบนี้เยอะมาก ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แล้วสิ่งหนึ่งที่เราเกินคาดคือ ‘หน่าฮ่าน’ มันทำแบบนั้นได้ ทั้งที่มันไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งโมเดลแบบนี้มันควรจะเกิดขึ้นกับหนังที่ประสบความสำเร็จ แต่ทางทีวี ธันเดอร์เขากลับมองเห็นอะไรบางอย่าง ซึ่งเราก็ดีใจ

ฉันทนา : จำได้ว่าก่อนที่เขาจะชวน เขาได้ดูแค่เทรลเลอร์นะ ตอนนั้นเราไปสัมภาษณ์ที่ The People เขาก็เริ่มชวนเราตั้งแต่ได้เห็นวิดีโอสัมภาษณ์อันนั้น

นคร : คือตอนนั้นหนังก็ฉายไปแล้ว และก็ไม่ประสบความสำเร็จไปแล้ว เราก็แบบเขาเรียกถูกคนใช่ไหมวะ ไม่ใช่เรียกกลุ่ม ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ นะ

ฉันทนา : เขาก็ตามไปดูหนังที่ลิโด้ ที่ Doc Club เขาก็บอกเรียกพวกหนูนี่ละค่าาา

นคร : คือเขาก็อยากไปเช็คฟีดแบ็คผู้ชมในโรงนั่นละ แต่ก็แบบคนก็ไม่เยอะอยู่ดี (หัวเราะ)

ฉันทนา : แต่คนที่ดูผลักดันโปรเจกต์นี้มากๆ ก็คือพี่นุ้ยนี่ละ ต้องคอนเทนต์นี้มาขยายต่อนะ

นคร : จริงๆ ก่อนที่จะมาทำเป็น ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ ที่เอาหนังมาดัดแปลง เขาให้เราไปคิดเรื่องใหม่ๆ ที่ยังเกี่ยวกับเรื่องการเต้นหน่าฮ่านมาก่อน ซึ่งก็ดูเขาชอบๆ นะ จนสุดท้ายแล้วเขาก็ถามเราว่า -จะเป็นไรไหม ถ้าจะเอา ‘หน่าฮ่าน’ มาทำเลย- ตอนนั้นคือในใจกรี๊ดไปแล้ว เพราะเรามีไอเดียอยู่แล้วว่าถ้าได้เอามาทำใหม่เราจะทำอะไรกับมัน เอาสิ ได้ดิ (หัวเราะ) คือเรานึกไม่ออกเลยว่าทำไมเขาเลือกหนังเจ๊งมาทำละ พี่รู้ไหมว่าหนังได้ Box Office เท่าไหร่ ซึ่งเราก็จะไม่บอกเขาจนกว่าจะได้เซ็นสัญญาจริงๆ ว่าหนังเรื่องนี้ มันได้ Box Office แค่ 5 แสนบาทเองนะ (หัวเราะ)

Film Club : ที่พี่อ้วนบอกว่า มีความสุขในกระบวนการทำซีรีส์เรื่องนี้มาก พอจะอธิบายการทำงานกับทางทีมทีวี ธันเดอร์ได้ไหมครับ

นคร : เขาให้ความสำคัญกับบทมาก เป็นการที่เราไม่ได้รู้สึกว่าตัวคนเดียว อย่างปกติที่เคยทำบทมา เธอก็เอาไปเขียนสิ เสร็จแล้วก็มาส่ง ชอบไม่ชอบอะไรเดี๋ยวคอมเมนต์ไป แต่กับทีมนี้คือมีประชุมทุกอาทิตย์ กับตั๊กคือก็เจอกันถี่แล้วนะ แล้วก็ต้องไปนั่งคุยกับทีมเขา แบบเจาะทุกบรรทัด ทุกตัวอักษรละเอียดยิบ จนเรารู้สึกว่า ไม่ใช่แค่เรากับตั๊กที่เข้าใจว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่กับสตูดิโอเขาก็รับรู้หมดว่าเราจะทำอะไร ดังนั้นการตีซื่อทำหน้ามึนพูดเรื่องการเมืองไม่ใช่ว่าเราหลอกเขานะ เขารู้ทุกอย่าง ซึ่งพอมันมีกระบวนการแบบนี้ที่ให้ความสำคัญกับคนเขียนบทจริงๆ เขาเลยยอมเรา เพราะเขารู้ว่าเรากำลังทำอะไร ซึ่งถ้ามันไม่มีกระบวนการทำงานแบบนี้ เขาอาจจะไม่ให้เราทำ ไม่ให้ผ่านมาก็ได้

Film Club : ยกตัวอย่าง ซีนที่เล่าเรื่อง “พ่อยุพินไปชุมนุมเสื้อแดง” ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง

นคร : พี่แก๊ป (วิสุทธิชัย บุณยะกาญจน Script Advisor ของซีรีส์เรื่องนี้) ก็ถามแค่ว่า -เอาจริงๆ ใช่ไหมซีนนี้ ?- คือตอนแรกเราเขียนกัน คือไม่รู้ไปเจออะไรกันมา แต่ก็คิดว่าจะเป็นไปได้ไหม ที่พ่อของ ยุพิน (ปฏิมา ฉ่ำฟ้า) จะเป็นเสื้อแดง (ฉันทนา : มันเป็นไปได้อยู่แล้ว) คือด้วยวัยประมาณยุพินตอนนี้ พ่อแม่นี่คือรุ่นเสื้อแดงเลยนะ

ฉันทนา : เราว่าอย่างนึงที่ทำให้เราเล่าเรื่องนี้ได้ คือช่วงเวลาที่เราทำนี่ละ

นคร : อย่างเราก็ไม่แน่ใจนะ ถ้าสมมติซีรีส์เรื่องนี้ทำให้ช่วงปี 2559 มันจะเล่าเรื่องคนเสื้อแดงได้ไหมวะ

Film Club : ตอนนั้นเรารู้หรือยังว่า ซีรีส์จะได้ออกอากาศในช่อง 3HD

นคร : รู้! แต่พอไอเดียมันแตกออกมาแล้วว่า แบ็คสตอรี่ของ ยุพิน จะมีพ่อเป็นเสื้อแดง แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ยังไงหรือเล่าตอนไหน คือรับรู้กันเองว่าพ่อยุพินหายไปไหน แต่ยังไม่ได้ใส่ลงไปในบท

จนมาถึงฉากใน EP.4 อันนั้นคือใส่ไปบางๆ ก่อน จนมันได้ออกอากาศ ความฟินเล็กๆ ของคนเขียนบท คือการได้เห็นมันอยู่บนหน้าจอที่มีโลโก้ช่อง 3HD เป็นชัยชนะลึกๆ ส่วนตัวของเรา แต่ตั๊กเองก็จะมีอินพุทอีกแบบหนึ่งที่อยากจะเล่าอะไร ซึ่งพอมานั่งปรับกัน เราก็คิดได้ว่าเรื่องราวของพวกเขาไม่เคยถูกเล่าผ่านสื่อบันเทิงกระแสหลัก และเรารู้สึกว่าตัวยุพินมันพาเรื่องราวนี้ไปได้ ซึ่งก็สงสัยว่าทำไมมันถึงเล่าไม่ได้ โอเคเรื่องมันละเอียดอ่อนก็จริง แต่มันคือเรื่องความเป็นความตายของคนเลยนะ

ฉันทนา : ตอนที่เริ่มมาแชร์ไอเดียกันว่าจะเล่าประเด็นนี้ เราก็รู้สึกว่าต้องเล่ามันให้ได้ เพราะมันคือจุดเริ่มต้นของทั้งมวลในตอนนี้ มันเหมือน big bang theory ของสังคมไทยเลยนะ ถ้าสมมติว่าพวกเขาสู้แล้วชนะ มันก็จะเป็น ‘หน่าฮ่าน’ ในอีกรูปแบบนึง 

ซึ่งเรื่องของพ่อแม่ของตัวละครทั้งหมดใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ เราคุยกันเยอะมากเลยนะ เช่นตัวละคร แคลเซียม เป็นใคร ชอบอะไร ต่อมาคือแคลเซียมอยู่กับใคร อยู่กับแม่ แล้วพ่อไปไหน 

หรือเติ้ลไม้ เรื่องพ่อแม่นี่เศร้าสัส เติ้ลไม้อยู่กับแม่ แล้วพ่อละไปไหน แล้วมันเป็นเรื่องที่จริงมากๆ คือตอนที่แชร์ไอเดียกันก็ไม่คิดว่าพี่อ้วนจะพาเรื่องราวไปได้ไกลขนาดนี้ จนถึงตอนที่นักแสดงเล่นก็ไม่คิดว่า แฟรงค์ (ธนัตถ์ศรันย์ ซำทองไหล) จะเล่นไปได้ขนาดนั้น ดูมอนิเตอร์ก็ได้แต่พยักหน้าไป แม้แต่น้องคนตัดยังหันมาบอกเราเลยว่า มันดีนะพี่ตอนนี้ คือถ้าพี่อ้วนดูแล้วร้องไห้ เราว่าก็คงมาถูกทางแล้วละ (หัวเราะ)

Film Club : รู้สึกยังไงที่เมื่อเราสร้างตัวละคร ยุพิน ให้เป็นลูกหลานของคนเสื้อแดง แล้วกลายเป็นว่าผ่านไปสิบกว่าปี ทำไมชีวิตยุพินมันยังเหมือนเดิม เหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

ฉันทนา : นั่นละ สิ่งนี้มันพูดใน EP.7 นะ แม้ว่าคนดูอาจจะคิดว่าเราแค่แตะเรื่องนี้แบบผิวๆ แต่สิ่งที่ยุพินพูด มันคือความรู้สึกแบบนั้นจริงๆ ก็เหมือนกับความรู้สึกของตัวละครในหนังเรื่อง ‘Snap แค่…ได้คิดถึง’ (2015, คงเดช จาตุรันต์รัศมี) ที่รู้สึกว่าผ่านไป 8 ปีแล้วทุกอย่างยังเหมือนเดิม

นคร : เรื่องเวลาผ่านไปแล้วทุกอย่างยังเหมือนเดิมก็อันนึง อีกอันนึงคือความกลัว คือพอได้สู้แล้วก็ตายไง

ฉันทนา : พอได้สู้แล้วก็ตายไง ดังนั้นยุพินเลยรู้สึกว่าจะสู้เหมือนพ่อทำไม ก็สู้ใช้ชีวิตอยู่โนนหินแห่ต่อไปดีกว่าไหม จริงๆ ความรู้สึกนี้มันเกิดขึ้นกับทุกตัวละครเลยนะ ยกเว้น เป๊กกี้ (เจษฎา จำปาบุญ) กับ หอยกี้ (อัจฉราภรณ์ สินธุสนธิ์)

นคร : จำได้ว่าตอนที่เราเขียนบทเรื่องนี้ มันคือช่วงที่เกิดกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” คือตอนนั้นความรู้สึกของผู้คนมันไม่ไหวแล้ว กับสภาพความเป็นอยู่ในเวลานี้ มันก็เลยเกิดบรรยากาศในเรื่องว่า จะทำยังไงก็ได้ให้ออกไปเจอชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งกับตัวละคร ยุพิน ทำไมผ่านมาหลายปีแล้วตัวละครมันเหมือนเดิม ซึ่งสิ่งที่เราจะสื่อสารกับผู้ชมก็คือ ก็เพราะว่ามันอยู่กับที่ไง มันถึงต้องทำอะไรสักอย่าง ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวละครเท่านั้น แต่หมายถึงกับตัวเรานี่ละ ต้องพูดอะไรออกไปสักอย่าง ผ่านซีรีส์เรื่องนี้

ฉันทนา : เราว่าคนดูคงอยากรู้ว่าคนร้ายคือใคร แต่เมื่อเราทำซีรีส์ในพ.ศ.นี้ ในห้วงเวลานี้ ทุกคนน่าจะรู้อยู่แล้วว่าคนร้ายตัวจริงคือใคร คือยุคสมัย หรือคนกลุ่มไหน โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปชี้ตัวร้ายก็ได้

นคร : อย่างในเรื่อง โยเย (ศิริกาญจน์ วงศ์สิทธิ์) ก็ถูกเซ็ตอัพให้เหมือนเป็นตัวละครร้าย แต่เมื่อดูไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าโยเยก็เป็นตัวละครที่น่าสงสาร มีตัวร้ายจริงๆ ที่กระทำต่อโยเยอีกทีนึง

ฉันทนา : คือในมุมเรา สมมติเราทำซีรีส์เรื่องนี้แล้วชี้ตัวคนร้ายให้ผู้ชมรู้ เสร็จแล้วเราจะทำยังไงกันต่อละ คือทุกคนรู้ร่วมกันโดยที่ไม่ต้องบอก แล้วเราจะบอกซ้ำมันทำไม แต่สิ่งที่คนยังไม่รู้คือ ทางเลือกในชีวิตของคนเหล่านี้ต่างหาก เราก็เลยกับพี่อ้วน ก็เลยพยายามสำรวจทางออกของแต่ละตัวละครมากว่า สามารถมีหนทางอย่างไรได้บ้าง

นคร : การเขียนบทเรื่องนี้ เหมือนการเราได้รู้จักกับกลุ่มคนเหล่านี้ แล้วพยายามจะหาทางออกให้กับพวกเขาได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

ฉันทนา : อย่างตอนที่เราไปสำรวจโลเคชั่น บ้านพี่ศักดิ์ มันเป็นบ้านที่ใครเดินผ่านไปผ่านมา ถ้าถึงเวลากินข้าว เขาก็จะมากินร่วมกันโดยบังเอิญ เราก็เลยได้ชวนคุย ก็ถามเรื่องการเมืองว่าเลือกพรรคอะไรกัน ทุกคนก็พูดเหมือนกันว่าจะเลือกพรรคอะไร ก็เลือกแล้วได้ถนน แล้วก็ได้จริงๆ ตอนที่เราไปสำรวจยังเป็นถนนลูกรังพังๆ แต่พอก่อนจะไปถ่ายทำจริง กลายเป็นถนนคอนกรีตอย่างดีไปแล้ว ประทับใจมาก ก็เลือกได้ถนน เลือกแล้วได้ไฟฟ้า เขาก็เลือก ก็เป็นพรรคที่เรารู้ๆ กันอยู่ เขาไม่ได้เลือกพรรคการเมือง แต่เขาเลือกชีวิตที่ดีกว่า

Film Club : ทั้งที่ตามหลักการแล้ว สาธารณูปโภคพวกนี้เป็นสิ่งพื้นฐานที่รัฐต้องมอบให้อยู่แล้ว แต่ทำไมมันต้องมีเงื่อนไขไปผูกโยงกับการเลือกผู้แทนจากพรรคใดๆ ด้วยละ

นคร : เราว่าเพราะเขาตระหนักถึงสิ่งนี้ไง ว่าเป็นสิ่งที่เขาควรจะได้ ที่เขาเลือกเวย์นี้เพราะมันทำให้เขาได้รับในสิ่งที่ควรจะได้ พวกเขาต้องการชีวิตที่ควรจะเป็น 

ฉันทนา : แล้วถ้าเขาตั้งคำถามแบบที่ถาม แล้วเขาต้องทำอะไรต่อ สู้เหรอ? ก็สู้แล้วก็ตายไง ดังนั้นวิธีการสู้ที่ดีที่สุดของพวกเขาก็คือการออกไปเลือกตั้ง ไม่ใช่ว่าเขาไม่ตระหนักหรอกนะ แบบ -พี่ๆ ค่ะ พี่ๆ ต้องออกไปสู้เพื่อสิ่งที่พี่ๆ ควรจะได้นะคะ (เสียงสอง)- กูสู้แล้ว กูตายมาแล้ว กูขอเลือกตั้งละกัน อืม

Film Club : แล้วเรื่องที่คนในทวิตเตอร์ กล่าวหาว่า เราเล่าเรื่องการเมืองในซีรีส์แบบแตะแค่เพียงผิวเผินละ เรามีอะไรจะอธิบายไหม

นคร : ในมุมเรา มันเป็นชีวิตคนอะ เราเขียนบทเรื่องนี้ด้วยการเล่าชีวิตคนไปเรื่อยๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นส่วนนึงของชีวิตเขาอยู่แล้ว ซึ่งจากฟีดแบ็ค การที่เราเล่าแบบหน้าซื่อตาใส เล่ามันไปเหมือนแบบผ่านๆ แต่จริงๆ ไม่ผ่าน มันกลับยิงแรงกับผู้ชมมากกว่า เหมือนเราเดินๆ อยู่แล้วมีคนมาสะกิด คนดูรับฟังกว่าเราตั้งหน้าตั้งตาแบบ พี่ๆ ไปยืนตะโกนใส่เขา อาจจะใช้คำว่า เล่ามันอย่างเป็นมิตรกับทุกคน มันกลับทำหน้าที่สื่อสารได้ดีกว่าพอสมควรเลย

ฉันทนา : สำหรับเราอาจจะต้องย้อนถามไปถึงคนที่สงสัยว่า อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าเราแตะประเด็นการเมืองเพียงผิวเผิน ซีนไหนฉากไหนหรือ แบบยุพินบอกว่าพ่อไปชุมนุมแล้วให้คนตีความว่าพ่อเป็นเสื้อแดง หรือเล่าเรื่องเสื้อแต่ไม่เล่าต่อว่าทำไมพ่อถึงไป ทำไมพ่อถึงตาย พ่อไปทำอะไรในม็อบเหรอ

คือต้องย้อนกลับไปว่า ยุพินเป็นเพียงเด็กม.6 เด็กอายุ 18 ที่กำลังนั่งคุยจีบกับผู้ชาย เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ยังโตไม่ทันจะรู้ตัวว่าตนเองฝักใฝ่ทางการเมืองฝั่งไหนด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่ได้สนใจว่า ใครจะสนใจหรือฝักใฝ่พรรคไหนด้วย มันคือ mindset แบบเด็กมัธยม ดังนั้นเราจะไปยัดคำพูดเหล่านั้นใส่ปากตัวละครไปทำไม

นคร : คือการเขียนซีรีส์เรื่องนี้ เราไม่ได้ตั้งหน้าตั้งหน้าว่าจะทำเรื่องการเมืองนะ ตอนเขียนบท เราก็พยายามวางตัวเองให้เป็นเด็กวัยรุ่น เพราะเราก็ roll-play ไปเป็นตัวละครอยู่ตลอด 

ฉันทนา : มันก็มีบางอย่างที่พี่อ้วนเขียนมา เราก็ทักพี่อ้วนกลับไปว่า พี่..เด็กไม่พูดหรอก ซึ่งพี่อ้วนก็จะแก้เลย อย่างเวลาเราลงพื้นที่ ก็ไปนั่งคุยกับเด็ก หลายประโยคที่เด็กพูดเราก็จดใส่สมุดมาใช้เลยนะ เช่น -ถึงเวลาสืบพันธ์ุ มันก็ต้องสืบพันธ์ุ- ประโยคนี้เราก็เอาจากเด็กจริงๆ ซึ่งมันก็จริงนะ ดังนั้นเราจะไปยัดเยียดคำพูดในสิ่งที่เด็กไม่มีทางพูดทำไม ถ้าเด็กมันยังไม่รู้เรื่อง เราต้องซื่อสัตย์ว่ามันไม่รู้เรื่อง

นคร : สมมติว่ายุพินไม่ได้เป็นเด็กวัยรุ่นอีสาน แต่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ยุพินก็จะพูดอีกแบบไปเลยก็ได้ หรืออาจจะหนักจะเดิม เป็นสลิ่มไปเลย

หรืออย่างตัวละครบางตัวเช่น แม่ของเติ้ลไม้ ถ้ามันได้ออกอากาศไป คนจะก็อาจจะมีฟีดแบ็คกลับมาว่า ยุคนี้แล้วยังมีคนคิดแบบนี้อยู่อีกหรือ ซึ่งก็อาจจะเป็นคนเดียวกับที่ด่าช่อง 3HD อยู่ว่าเอาซีรีส์มาลงช่วงหลัง 2 ทุ่มทำไม ใช่…มันยุคนี้สมัยนี้แล้ว แต่คนที่มีความคิดแบบเดิมมันก็ยังมีอยู่ไง

ฉันทนา : คือคนชอบคิดว่าโลกเปลี่ยนไปแบบที่ตัวเองคิดแล้วตลอดเวลา แต่จริงๆ แล้วมันก็ยังมีคนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงนะ ซึ่งเราก็ต้องให้เกียรติเขาด้วย จะให้เราไปฆ่าความคิดเขา ให้เขาไม่มีตัวตนในสังคมอย่างนั้นหรือ เขามีตัวตนนะ ให้เราได้ตระหนักรู้ว่า ยังมีคนที่ไม่หมุนตามโลกนะ

นคร : อย่างแม่เติ้ลไม้ อาจจะเป็นตัวละครที่ดู้ร้าย แต่เราก็รักเขานะ เรารักตัวละครทุกตัวในซีรีส์เรื่องนี้

ฉันทนา : แม้แต่ ผอ.โรงเรียนเราก็รัก จนพี่แก๊ปยังพูดเลย ว่าเรื่องนี้ไม่มีตัวร้ายเลยนะ มีสิคะพี่ตัวร้าย แค่มันไม่ปรากฏตัวอยู่ในเรื่องเท่านั้นเอง

นคร : ซึ่งตัวร้ายก็คือคนเขียนบทอย่างเราสองคนนั่นเอง (หัวเราะ) อย่าง มั่นคง เราก็รัก..รักมากด้วย หรือแม้แต่ แม็กซ์-ตุลย์ (แม็กซ์-ณัฐพล ดิลกนวฤทธิ์ กับ ตุลย์-ภากร ธนศรีวนิชชัย นักแสดงคู่จิ้นที่โด่งดังมาจากซีรีส์ของ ทีวี ธันเดอร์) เราก็รัก เขาไม่ได้ยัดเยียดมาให้นะ เราขอมาเล่นเอง เพราะเราก็มีบางอย่างที่จะฝากแม็กซ์-ตุลย์พูดเหมือนกัน ก็คุยกับทางทีวี ธันเดอร์ว่าเราเอามาใช้ในฟังก์ชั่นแบบนี้นะ เขาแฮปปี้ไหม? เขาก็ให้มา

Film Club : ย้อนไปช่วงที่พัฒนาบทกับทางทีมทีวี ธันเดอร์ พอมันมีเรื่องการการเมืองอยู่ในบท มันมีปัญหาแบบทัศนคติทางการเมืองไม่ตรงกันไหม

นคร : เราไม่เคยคุยเรื่องทัศนคติทางการเมืองกันโดยตรงนะ

ฉันทนา : แล้วก็ไม่เคยถามทัศนคติทางการเมืองกันเลยนะ เรามองว่าเป็นเรื่องมารยาทในการทำงาน

นคร : คือเราคุยกันว่า ทั้งหมดโดยรวมของซีรีส์ เรากำลังจะสื่อสารเรื่องอะไรมากกว่า ซึ่งต้องดูจนจบถึงจะรู้ว่าแมสเสจใหญ่ของเรื่องมันคืออะไร ซึ่งในระหว่างการทำงานเมื่อเข้าใจภาพรวมร่วมกันแล้ว ถึงค่อยมาลงในรายละเอียดกันอีกที ในแต่ละตัวละคร

ฉันทนา : ทุกอาทิตย์ที่เจอกัน คือคุยยาวตั้งแต่ 10 โมงเช้า จนถึงสามทุ่มตลอด

นคร : แล้วเราก็คุยกันบนพื้นฐานความเป็นตัวละคร บนพื้นฐานของเรื่องความรัก ตัวละครจะมารักกันได้ยังไง อะไรเป็น turning point ให้กับตัวละครคู่นี้ คือเล่าบนพื้นฐานของความรัก แต่ในขณะเดียวกัน เราก็พูดถึงชีวิตของพวกเขาด้วย ว่าจะเจออะไร พ่อแม่เป็นยังไง เพื่อทั้งหมดมันคือการตอบคำถามของปลายทางในแต่ละตัวละครไง

ซึ่งพอซีรีส์มันได้ถ่ายทอดมิติต่างๆ ของตัวละครหนึ่ง เราคุยกันเยอะมากเรื่อง ถึงข้อแม้ของชีวิตในแต่ละตัว ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่านี่จะเรียกว่าการเมืองหรือเปล่า แต่ถ้าเฉพาะเจาะจงไปที่ว่าการพูดถึงเรื่องคนเสื้อแดง เราก็เขียนไป ซึ่งทางเขาไม่ได้มาซักไซ้เอาความว่า ทำไมต้องเขียนละ เขียนไปทำไม เราก็เล่าดีเทลไปตามความเป็นจริงของตัวละคร ซึ่งเขาก็ไม่ได้มาก้าวก่ายแนวความคิดของเราเลยนะ

ฉันทนา  : ซึ่งเป็นเรื่องที่โคตรรรรจะดีสำหรับเรามากๆ เซอร์ไพรซ์มาก ไม่คิดว่าเขาจะเปิดโอกาสทางความคิดเราขนาดนี้

Film Club : พอพี่อ้วนกับตั๊กก็เคยทำงานในวงการทีวีมาก่อน มันเหมือนจะมีโหมดการเซ็นเซอร์ตัวเองโดยอัตโนมัติอยู่ พอเราเขียนไปเราบลุ้นไหมว่า สุดท้ายมันจะโดนตัดออกหรือเซ็นเซอร์ก่อนออกอากาศไหม

นคร : เราแค่ลุ้นเฉยๆ เพราะความสำคัญอันดับแรกของเรา มันคือ AIS Play ในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมันมีอิสระในการที่จะเล่ากว่า แต่ช่อง 3HD คืออีกช่องเลือกในการรับชมมากกว่า เลยไม่ได้คิดถึงการเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่เราคิดในมุมว่า ถ้าอันนี้หรือตรงนี้ขึ้นไปอยู่บนจอของช่อง 3HD มันจะเป็นยังไงนะ

ฉันทนา : แต่กับเราไม่เคยคิดเลยว่ามันจะไปอยู่ในแพลตฟอร์มไหน เราคิดแค่ว่าถ้าพี่นุ้ยเห็นด้วยก็พอแล้ว ทุกครั้งที่พี่อ้วนเขียนมา เราคิดแค่ว่าจะดีเฟนด์ไอเดียต่างๆ ให้มันอยู่รอดครบถ้วนได้อย่างไรมากกว่า แต่พี่นุ้ยเขาเป็นคนเชื่อเรื่องประสบการณ์จริง เขาจะจับไปเลยว่าสิ่งที่เขียนไปมันจริงหรือมโนขึ้นมา ซึ่งกับเราสิ่งที่ถ่ายทอดไปมันคือประสบการณ์ทั้งหมด ไม่มีอะไรที่มโนขึ้นมาเลย เขาก็เลยไว้ใจสิ่งที่เราเขียน แค่นั้นเราก็พอใจแล้ว

จนกระทั่งตอนที่มันกำลังจะออกอากาศนั่นละ ถึงเริ่มนึกได้ว่า..อ้าว นี่มันจะขึ้นไปอยู่บนช่อง 3HD นี่

นคร : ตอนออกอากาศเราก็นั่งรอลุ้นเลยนะว่าจะอยู่ไหม เพราะสุดท้ายคนที่เซ็นเซอร์ก่อนออกอากาศอีกทีก็คือทางฝ่ายช่อง 3HD เอง พอเห็นว่ามันยังอยู่เราก็แบบดีใจมาก

ฉันทนา : มันอาจจะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปตัดด้วยละมั้ง

นคร : ก็มันผิวๆ ไง (หัวเราะ)

ฉันทนา : มันก็เป็นความต่างของผู้ชมจากทั้งสองที่ด้วย อย่าง AIS Play ก็จะเป็นคนที่เข้าถึงสมาร์ตโฟน เป็นคนรุ่นใหม่หน่อย กับทางช่อง 3HD ก็จะเป็นแม่บ้าน แม่ค้าส้มตำ หมออยู่เวรแล้วเปิดทีวีค้างไว้

นคร : แล้วฟีดแบ็คคนที่ดูทางทีวี มันจะมาจากนอกโซเชียลไปเลย เป็นฟีดแบ็คแบบ on-site เช่นเพื่อนไปกินส้มตำแล้วได้ยินโต๊ะข้างๆ พูดเรื่องยุพิน หรือว่าเพื่อนแม่โทรมาว่าดูซีรีส์เรื่องนี้ แล้วอยากเจอเราจังเลยทั้งที่ร้อยวันพันปีไม่เคยโทรมา คือฟีดแบ็คจากคนที่ดูทางช่อง 3HD ก็จะเป็นอีกแบบที่ไม่ซับซ้อน เช่น อียุพินแรดจัง รักความร่านของอียุพินมากลูก สนุกมากเลยลูก เชียร์ให้ยุพินตบกับมั่นคง อะไรแบบนี้

แต่พอมาทาง AIS Play มันเป็นฟีดแบ็คแบบคนที่เข้าย้อนกลับไปดูได้ ไหนเมื่อกี้พูดอะไรฟังใหม่สิ ใช่อย่างที่กูคิดไหม คือลงลึกไปอีก

Film Club : แล้วอย่างที่บ้านของตั๊ก เขาได้ดูแล้วมีฟีดแบ็คอะไรไหม

ฉันทนา : ได้ดูๆ น้องเปิดให้แม่ดู แม่ก็ตกใจ แบบแม่ไม่คิดว่าจะมีเสียงแม่ไปใส่ในซีรีส์จริงๆ แบบ EP.6 จะมีเสียงแม่กับเสียงยายเราที่คุยผ่านโทรศัพท์ใส่เข้าไปด้วย หรือตกใจว่าทำไมเล่าเรื่องนี้ นี่มันชีวิตตัวเองหรือเปล่า คือเขาเซอร์ไพรซ์แบบไม่คิดว่าเราจะเอาเรื่องในครอบครัวไปเล่าในซีรีส์ แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร แววตาเขาแอบดูภูมิใจด้วย

นคร : ของเราก็มีฟีดแบ็คจากทางบ้าน คือเราจะไม่ได้นั่งดูกับที่บ้านนะ แต่ก็จะมีฟีดแบ็คถึงตอนที่หอยกี้พูดบนหน้าผา แบบนึกถึงตอนนั้นเลยนะ เราก็คิดในใจว่า ก็ใช่นะสิ (หัวเราะ)

คือเรามี reference จากคนรอบตัวหมดเลย พอซีรีส์มันได้ฉายเราก็อยากรู้ฟีดแบ็คจากคนที่เราใช้เป็น ref ว่าเขารู้สึกยังไงเหมือนกัน แต่เราจะไม่ดูกับเขานะ (หัวเราะ) คือถ้าเขาสัมผัสได้ว่านี่คือเรื่องราวของเขา เดี๋ยวเขาจะมาบอกเราเอง

ฉันทนา : จริงๆ เราอยากได้รับฟีดแบ็คจากทั้งหมดนะ ไม่ว่าคุณจะดูจากช่องทางอะไร แม้แต่ด่าเราก็อยากอ่าน

นคร : นี่ไง ล่าสุดที่เราเจอ ก็จะแบบ..เห็นไหม สุดท้ายก็ให้คนอีสานท้องไม่พร้อม ผลิตซ้ำภาพคนอีสานเดิมๆ อยู่ดี

ฉันทนา : ก็ชอบอ่าน คนชมอะมีอยู่ ซึ่งเราก็ซาบซึ้งกับคำชมเสมอ แต่เราก็อยากรู้ข้อบกพร่องไง ทั้งข้อบกพร่องในเรื่องวิธีคิด หรือในแง่การถ่ายทำต่างๆ เราอยากรู้ทั้งหมดละ

นคร : อย่างนึงคือ น้ำเสียงหรือท่าทีที่เราใช้ในการเล่าเรื่องของซีรีส์เรื่องนี้ มันค่อนข้างเป็นมิตรกับผู้ชมนะ ก็เลยคิดว่าเขาจะรับฟังเรา คือไม่รู้ละว่าเขารู้สึกอย่างไรเมื่อได้ดู แต่ก็ไม่เคยเจอขนาดที่ว่าโกรธเกรี้ยวในสิ่งที่เราเล่าในซีรีส์นะ

ฉันทนา : กับคอมเมนต์อย่าง “สุดท้ายก็ให้คนอีสานท้องไม่พร้อม ผลิตซ้ำภาพคนอีสานเดิมๆ อยู่ดี” เราก็ดึงมาคุยกับพี่อ้วนนะ ว่าอะไรคือการผลิตซ้ำวะ 

นคร : แล้วเราจะโดนถามประเด็นนี้เยอะมากเลยนะตอนไปสัมภาษณ์

ฉันทนา : งั้นเราถามกลับได้ไหมว่า ผลิตซ้ำแปลว่าอะไร 

Film Club : เราว่าผลิตซ้ำ มันมีความรู้สึกคล้ายๆ กับคำว่า “สเตอริโอไทป์” หมายถึงเป็นสิ่งที่สังคมเชื่อว่ามันเป็นแบบนี้ แล้วการผลิตซ้ำ มันคือการไปเสริมความคิดที่มีอยู่เดิมของสังคม แบบสังคมหรือสื่อเองก็เคยมองคนอีสานเป็นแบบนี้ในอดีต แต่สุดท้ายซีรีส์ที่เหมือนจะทำตัวก้าวหน้า ก็ยังให้ภาพคนอีสานไม่ได้ต่างจากสิ่งที่สื่อในอดีตเคยทำ เราว่ามันคือ sense แบบนั้น ซึ่งเราไม่เห็นด้วยนะ

นคร : เหมือนแบบเราทำเรื่องอีสาน เราห้ามทำเรื่องตัวละครท้องเหรอ เขาคิดว่าเรื่องท้องไม่พร้อมมันเป็นปัญหาของสังคม

ฉันทนา : คือมันดันมีคำว่า “คนอีสาน” มาพ่วงกับคำว่า “ท้องไม่พร้อม” ซึ่งนี่เรากำลังเล่าเรื่องของวัยรุ่นอีสาน ในพื้นที่อีสาน แต่เราคิดว่านี่เป็นปัญหาที่วัยรุ่นทั่วๆ ไป ก็มีสิทธิ์ที่จะเจอ แม้แต่ในซีรีส์ Sex Education ก็เจอ เราเลยมีคำถามว่าเราห้ามทำเรื่องวัยรุ่นท้องไม่พร้อมเหรอ ไม่ว่าจะภาษาไหน มันมีปัญหาอะไรเหรอ คือเราจะไม่พอคำถาม แต่จะถามกลับแบบนี้มากกว่า


Film Club : พูดถึงการดัดแปลงจากเวอร์ชั่นภาพยนตร์ มาเป็น ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ 

นคร : เราพยายามจะคงคอนฟลิกซ์เดิมที่ตัวละครเดิมเจอเอาไว้ให้ได้มากที่สุด อย่างตัว หอยกี้ เรื่องท้องไม่พร้อมเราก็คงประเด็นเดิมเอาไว้ โดยลงไปที่ความรู้สึกของตัวละครมากขึ้น

Film Club : แล้วการเข้ามาฮิตของวัฒนธรรมอีสานในสื่อกระแสหลัก เรามีความรู้สึกอย่างไร

นคร : อย่างนึงคือตอนที่เรามาทำ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ เฉพาะตัวเวอร์ชั่นซีรีส์เลยนะ คือภาษาอีสานมันมี vibe บางอย่างที่ไปคล้ายภาษาเกาหลี เรารู้สึกว่ามันมีความเป็นสากล แล้วพอเรามองภาษาอีสานเป็นสากล มันเลยเกิดความรู้สึกที่ว่า ภาษาอีสานมันดิ้นได้ในการใช้งานมากกว่า ซึ่งในซีรีส์มันชัดเจนมาก คือมันไม่มีกรอบเหมือนภาษากลาง แอบพูดหยาบยังได้เลย คือลื่นไหลกว่าภาษากลางมากๆ

ฉันทนา : อีสาน ฟีเวอร์ นะเหรอ? คือเราก็ปลื้มปิตินะ แต่กระนั้นก็อย่า hype แห่แหนทำๆ คอนเทนต์อีสานตามๆ กันจนเกินไป คือในขณะเดียวกันเราก็อยากให้ภูมิภาคอื่น ถูกเล่าด้วยสำเนียงด้วยมุมมองของตัวเองเหมือนกัน โดยที่ไม่ต้องรอให้มันเกิดกระแสมาก่อน

นคร : คือถ้าเราพยายามจะให้วัฒนธรรมเป็นสินค้าส่งออก อย่างซีรีส์เรื่องนี้เราว่าถ้าให้เพื่อญี่ปุ่นหรือเกาหลีดู เราว่าเขาเก็ต เพราะสิ่งที่เราเล่าในเรื่องมันคือเรื่องสากลที่สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้บนโลก เพราะงั้นมันสามารถเปลี่ยนฟอร์มของมันไปได้อีก

Film Club : อย่างภาพที่ออกมาในซีรีส์ มันดูสวยงามมาก เราสงสัยว่า มันจะทำให้คนดูลืมไปหรือเปล่าว่า ชีวติของพวกเขาจริงๆ มันยากลำบากไม่สะดวกสบายนะ

ฉันทนา : มันเป็นเรื่องของเทคนิคทางภาพยนตร์มากกว่า คือมันกำหนด gerne มาแล้วว่าเป็น โรแมนติก-คอมิดี้

นคร : เราว่าสถานที่ถ่ายทำก็มีผลกับ mood & tone ในซีรีส์ที่เราเล่าเหมือนกัน คือก็กำหนดกันมาก่อนว่าจะไปที่จ.อุบลราชธานี ตอนแรกก็มองไว้สองที่คือ วารินชำราบ กับที่ เดชอุดม แต่สุดท้ายพอมาเป็นที่ โขงเจียม ที่อยู่ติดแม่น้ำโขง แล้วอีกฝั่งนึงคือลาวเลย แล้วตัวละครก็ชอบมาวนเวียนอยู่ริมน้ำตลอด คือสถานที่มันกำหนดเรื่องที่จะพูดประมาณนึงเลย

Film Club : แล้วใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ มีปัญหาเรื่องสำเนียงการพูดว่าเป็นคนละถิ่นไหม

ฉันทนา : โดนเหมือนกัน มีหนักเลย อย่างคนตัดซีรีส์ก็เป็นคนอีสาน ดังนั้นเขาจะมีปัญหาตลอด คือจับได้ว่าคนละถิ่น พูดไม่ถูก พูดไม่ชัด แต่ในเรื่องนักแสดงเป็นคนอีสานหมด ยกเว้น พัตเตอร์ (เดชพิสิษฐ์ จารุกรอภิวัฒิ รับบท สวรรค์) กับ กุ๊งกิ๊ง (ปฏิมา ฉ่ำฟ้า รับบท ยุพิน) ที่ไม่ใช่คนอีสาน เป็นคนโคราช

อย่าง แฟรงค์ เนี่ยเป็นคนจังหวัดเลย เป็นคนวังสะพุง ซึ่งบ้านนอกสัสๆ แบบเดียวกับตั๊กเลย แบบวันหยุดก็ไปขนมันขนอ้อย ได้เป็นดาราเพราะมีคนไปเจอตอนมันขายล็อตเตอรี่ ซึ่งเลยสำเนียงอีสานมันก็คนละแบบเลย ดังนั้นเวลากำกับแฟรงค์คือถ้าน้องเล่นได้ก็จะปล่อยให้น้องมันแสดงเลย เพราะจะมีปัญหาคือไดอะล็อกถูก แต่สำเนียงผิด ซึ่งพอมันอารมณ์มันสนุก เราก็ไม่เป็นไรในหลายๆ ซีน แต่พอเป็นซีนดราม่า เราจะซีเรียสขึ้นมากับในบางวรรณยุกต์บางคำ ก็จะมีการแก้ให้มันถูกต้อง

Film Club : ในเวอร์ชั่นซีรีส์ สิ่งที่ถูกขยายมากขึ้นอย่างชัดเจน คือชีวิตในรั้วโรงเรียน

ฉันทนา : แต่เราแอบบอกพี่อ้วนว่า อย่าเขียนซีนโรงเรียนเยอะ เพราะมันไม่สวย แล้วคิวกลางวันมันเยอะไง ก็เป็นเรื่องเชิงกังวลในการถ่ายทำไป อยากบาลานซ์ให้มีซีนกลางคืนด้วย

นคร : คือมันจำเป็นต้องเล่าไง ด้วยช่วงชีวิตวัยนี้ จริงๆ เราไปคุยกับอ.ฮูก (ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก่อนจะมาทำด้วย เรื่องเด็กยุคนี้กับการสอบ จนไปเจอประเด็นหลายอย่างที่น่าสนใจ จากตอนแรกที่จะเน้นไปที่ชีวิตนอกโรงเรียนมากกว่า ซึ่งใน 2 EP. สุดท้ายเดี๋ยวจะได้เห็นว่ามันพูดเรื่องการศึกษาเยอะแค่ไหน

คือเรื่องสำคัญที่จะพูดในพื้นที่โรงเรียนได้ คือเรื่องโอกาส อย่างเด็กทั่วๆ ไปโอกาสเรียนปริญญาตรีก็คงเป็นเรื่องปกติ แต่กับเด็กโนนหินแห่นี่คือเรื่องใหญ่นะ ซึ่งมันคือเรื่องที่ควรจะพูดไง กับคนที่เข้าถึง AIS Play ส่วนใหญ่คงเข้าถึงการศึกษาระดับนี้ได้ไม่ยาก แต่กับเด็กอีสานมันกลายเป็นเรื่องเกินตัว ฟุมเฟือยไม่จำเป็นด้วยซ้ำ ซึ่งพอได้ทำเรื่องนี้ก็อยากจะพูดประเด็นนี้เหมือนกัน

ฉันทนา : กับตัวเราเองก็ถือเป็นคนที่บาดแผลจากระบบการศึกษาไทย คือแม้แต่เราเองยังเคยตั้งข้อสังเกตว่า ซีรีส์ไทยมันพูดถึงวงการอื่นไม่ได้ นอกจากอาชีพนักเรียน แต่พอเป็นงานตัวเองก็ดันพูด ทำไมไม่ไปวิจารณ์อาชีพหรือวงการอื่นละ แต่ภาพของเด็กอีสานเรียนหนังสือ หรือพูดเรื่องเป้าหมายในชีวิตของเด็กนักเรียนอีสาน มันก็ยังไม่มีจริงๆ เพราะในสื่อกระแสหลัก ภาพที่คุ้นชินของเด็กอีสานคืออาชีพชาวนา สาวโรงงาน อยู่วงหมอลำ แต่เขายังไม่เคยเล่าถึงชีวิตนักเรียน แบบรายวัน ชีวิตนักเรียนอีสานที่ทั้งมีเป้าหมาย และไม่มีเป้าหมายในชีวิต สิ่งเหล่านี้ผู้ชมยังไม่เคยเห็น ทำไมเราจะไม่เล่าละ

อีกประเด็นที่อยากเล่าคือเรื่อง ครู มันถึงได้มีตัวละครอย่าง ไพโรจน์ กับ วีรชัย และ มะลิวรรณ สุดท้ายแล้วไม่มีใครเป็นตัวร้ายเลย เพราะเขาก็มีเหตุผลของเขาเหมือนกัน การจะเขียนถึงตัวละครเหล่านี้ เราก็ต้องสืบหาข้อมูลจริงๆ มาใช้ เราก็โทรถามเพื่อนถามคนนู้นคนนี้ อย่างตัวละครไพโรจน์ ก็มาจากการโทรคุยกับครูของเรา ที่ปัจจุบันเลื่อนขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการ ก็ชวนคุยตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตเป็นครู จนเลื่อนขึ้นมาเป็นข้าราชการครู ซี-3 คุยอยู่หลายชั่วโมงเพื่อเอามาใช้เขียนเหตุการณ์ไม่กี่เหตุการณ์ ประโยคพูดไม่กี่ประโยค คือเหมือนมันต้องรู้จริงถึงเขียนขึ้นมาได้

หรือแม้แต่ วีรชัย ที่เป็นรอง ผอ. พ่อของสวรรค์ พี่เขียนก็สร้างมาว่า หรือเขาเป็นรองผอ.ที่ไม่ยอมย้ายไปไหน เราก็ต้องไปรีเสิร์ชความเป็นจริงในการเลื่อนขั้นย้ายตำแหน่งของครูจริงๆ หรือมันจะเป็นเพื่อนกับอีผึ้ง แม่ของแคลเซียม หรือรำไพ แม่ของเติ้ลไม้ด้วย ซึ่งพอพี่อ้วนเขียนดีเทลพวกนี้มา เราก็ชอบมากๆ

นคร : คืออย่าง วีรชัย ยิ่งเป็นคนที่อยู่ในตำแหน่งนี้มานาน มันยิ่งต้องสนิทและรู้จักคนในหมู่บ้านเป็นอย่างดี ต้องไปเคยเมาที่ร้านผึ้งแน่เลย 

ฉันทนา : อย่าง EP.6 ที่เป็นซีน วีรชัย มาตามสวรรค์ที่เมาอยู่ร้านผึ้ง อันนั้นก็คือเทคเดียวผ่านเลย แล้วเราชอบมาก ดูแล้วแบบร้องไห้ รู้สึกว่านี่แบบโคตรครูบ้านนอกเลย แต่ดันต้องมาเป็นรอง ผอ. หรืออย่างครูมะลิวรรณ ก็ดันเป็นครูที่ช่วยเลี้ยงลูกเด็กนักเรียนคนนึงที่เอาลูกมาโรงเรียน 

นคร : คือเราเคยมีเพื่อนแบบนั้นจริงๆ คือครูเลี้ยงลูกของนักเรียนจนสนิทกันไปเลย คืออยากใส่ตั้งแต่ฉบับหนังแล้วแต่หาที่ลงไม่ได้

ฉันทนา : คือสุดท้ายทุกคนก็ต้องดิ้นรนในระบบนี้ไม่ต่างกัน แม้แต่ครูสามคนนี้

Film Club : จุดเด่นอีกอย่างของซีรีส์คือ จากเริ่มต้นที่เล่าเรื่องสนุกสนานรื่นเริง มันกลับค่อยๆ เผยให้เห็นความเจ็บปวดของตัวละครในอีพีหลักๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

นคร : อันนี้ต้องชมพี่แก๊ป Script Advisor ของเรื่องนะ เหมือนเราทำมา แล้วเขามาช่วยจัดระเบียบในเรื่องว่า แต่ละอีพีควรมีท่าทียังไง EP.1-4 ประมาณนี้พอละ จนทุกอย่างมาขมวดที่ EP4. หลังจากนี้จะมีท่าทียังไงต่อในแต่ละอีพี

Film Club : แล้วพวกไดอะล็อกภาษาอีสาน หรือคำแอบหยาบต่างๆ ที่เห็นในเรื่อง เราเขียนยังไง

นคร : ตอนแรกเราเขียนไปเป็นภาษากลางก่อน เพราะต้องให้ทีมทีวี ธันเดอร์อ่านด้วยไง ซึ่งก็หยาบกันตั้งแต่ภาษากลางแล้วจ๊ะ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าพอเป็นภาษาอีสานมันจะดิ้นได้ มันจะหาทางออกได้หมด แต่ก็มีทั้งที่หยาบตั้งแต่ในบท ไปด้นเอาหน้ากองเพิ่ม บางทีด้นไปแล้วดูหยาบกว่าเดิมก็มี (หัวเราะ)

Film Club : เราดูที่พี่อ้วนไปสัมภาษณ์กับพร้อม ที่ The Matter มีพูดเรื่องโปสเตอร์หลัก ที่แบบเห็นครั้งแรกแล้วร้องไห้เลย สำหรับทั้งสองคนคิดว่าเราได้ถ่ายทอดความเจ็บปวดของวัยรุ่นอีสานไปสู่ผู้ชมได้สำเร็จไหม

นคร : คือสำเร็จไหมไม่รู้หรอก แต่ถ้าให้พูดถึงแต่ละตัวละครคือพูดได้เป็นวันๆ เลย ว่าแต่ละคนไปเจออะไรมาบ้าง แต่ละคนมันน่าสงสารนะ กับคนอื่นเราไม่รู้ แต่มันทำงานกับเราไปแล้ว โดยเฉพาะตอนเห็นโปสเตอร์ที่เป็นตัวละครยืนเรียงกันริมหน้าผา คือไม่คิดว่าเขาจะมาเวย์นี้ เพราะนึกว่าจะขายแบบหน่าฮ่านเทิดเทิงกันไป พอมาเวย์นี้แล้วแบบ ทุกคนที่ดูถึง EP.6 ก็เห็นอยู่ว่าตัวละครเจออะไรมาบ้าง ยิ่งไปสองตอนสุดท้ายคือหนักเข้าไปใหญ่ พอความรู้สึกนั้นมันมาอยู่ในโปสเตอร์ ก็เซอร์ไพรซ์ทางทีวี ธันเดอร์มากๆ ที่เลือกมาทางนี้

ฉันทนา : คือมันคือความโชคดี ที่ได้เจอคนทำงานบนความเข้าใจในสิ่งที่เราทำ มันคือสำเร็จไปแล้ว เกินครึ่ง ซึ่งมันเป็นเรื่องหายากเสียยิ่งกว่าฟีดแบ็คจากผู้ชมอีก

นคร : ด้วยความสัตย์จริง คือเราไม่ได้ตั้งใจจะเมโลฯ มันนะ เราตั้งใจจะเล่ามันบนพื้นฐานของโรแมนติก-คอมิดี้ แต่ชีวิตของคนเหล่านี้มันไม่ได้งดงามขนาดนั้น และจะทำเป็นไม่เห็นก็คงไม่ได้ ดังนั้นพออันไหนที่มันเมโลฯ มากๆ เราก็จะพยายามบาลานซ์มันเอาไว้

โปสเตอร์ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’

Film Club : ‘หน่าฮ่าน’ ฉบับหนังมันถูกสร้างขึ้นมาในปี 2019 ถ้าเราจะแบ่งหนังไทยเป็นก่อนกลางปี 2020 และหลังปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์การระเบิดทางความคิดของสังคม ซึ่ง ‘หน่าฮ่าน’ เองก็เป็นเหมือนสัญญาณแรก ที่พูดกับวัยรุ่นว่าชีวิตมันต้องมีทางเลือกอื่น ไม่ประนีประนอมอีกแล้ว ก่อนที่เราจะได้เห็นเหตุแห่งการจุดระเบิดในกลางปี 2020 เลยอยากรู้ว่าใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ อยากจะพูดอะไรกับวัยรุ่นหลังปี 2020 บ้าง

นคร : จะบอกว่าจริงๆ ตอนเราเขียนบทซีรีส์ เราก็แบ่งแบบนั้นนะ เพราะว่าเคยมีคนมาถามว่า การทำซีรีส์เรื่องนี้น่าจะง่ายขึ้น เพราะมีสารตั้งต้นมาหมดแล้ว แต่พอถึงเวลาจริงๆ เราก็ได้รับอนุมัติในการทำงานก็หลังปี 2020 มันเลยยิ่งทำให้รู้สึกว่า เราจะมองมันเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นเราต้องอัพเดตตัวละครใหม่หมดเลย ว่าตัวละครแต่ละตัวจะมีท่าทียังไงหลังเหตุการณ์ในปี 2020

ฉันทนา : อะไรที่คิดว่าไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น เราว่า ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ มันจะส่งแรงกระเพื่อมไปสู่คนที่ทำงานซีรีส์หลังจากนี้แน่ๆ คือไม่ได้ว่าตัวเองเก๋านะ เราแค่ขอลองเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะพูดเรื่องเหล่านี้

นคร : ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่เราคุยกับทางทีวี ธันเดอร์นะว่า ถ้าเราจะทำคอนเท็นต์ให้วัยรุ่น เราจะวางตัวแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เราก็ต้องเป็นพวกเดียวกับเขา ซึ่งเขาเองก็อยากจะเป็นเพื่อนกับวัยรุ่นเหมือน ซึ่งถ้าจะเป็นเพื่อนกับเขา เราต้องฟังเขา ซึ่งการฟังเราไม่ได้ไฟฟังพวก activist ด้วยนะ เราฟังเสียงจากวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตปกตินี่ละ เช่นหลานที่อายุ 20 แล้วยังไม่จบ ม.6 หรือเด็กผู้หญิงที่เพิ่งรู้ว่าชอบผู้หญิงด้วยกัน

หรือหลานเราที่พยายามจะสร้างครอบครัวที่ดีมีสุข แต่กลายเป็นว่ายิ่งทำยิ่งเหี้ยลงไปเรื่อยๆ ปากหนักที่ยืมเงิน แต่ก็ไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องขอยืม ยิ่งลงทุนยิ่งเป็นหนี้ ทั้งที่มึงพึ่งอายุแค่ 21 ปีเอง ซึ่งสิ่งที่มันเจอมันปัญหาคนอายุสามสิบเลยนี่

ฉันทนา : ทั้งหมดคือเราพยายามที่จะเป็นคนทำงานที่รับฟังวัยรุ่น อยู่ในชีวิตหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นอนาคตของชาติ ซึ่งถ้าเราไม่ปรับตัวเข้าหาพวกเขา มันก็ยากที่จะสื่อสารกับพวกเขา

นคร : คือเราไม่ได้ถึงขนาดที่ว่าทุกคนจะต้องมาทำเรื่องราวแบบนี้ แต่แค่อยากให้ตระหนักรู้ว่า ถ้าเราคิดว่าเป้าหมายคนดูของเราคือวัยรุ่น เราสามารถเป็นเพื่อนกับเขาได้หรือยังมากกว่า

LATEST