INTERVIEW

‘โปรดิวเซอร์คือสะพานระหว่างความฝันและความจริง’ สนทนากับ ดีอานา บุสตามานเต หัวหน้าทีมโปรดิวเซอร์แห่ง Memoria (2021)

Memoria (2021) หนังยาวลำดับล่าสุดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เพิ่งคว้ารางวัล Jury Prize และส่งเขาเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์อีกครั้ง จับจ้องไปยัง เจสสิกา (ทิลดา สวินตัน) หญิงชาวสก็อตแลนด์ที่ใช้ชีวิตในโคลอมเบีย และเกิดเรื่องประหลาดขึ้นในชีวิตเมื่อเธอได้ยินเสียงดัง ‘ปัง’ ในหัว

นี่ไม่เพียงแต่เป็นหนังเรื่องของแรกอภิชาติพงศ์ที่ขยับขยายจักรวาลการเล่าเรื่องออกไปนอกประเทศไทย ด้วยการยกกองไปถ่ายทำที่โคลอมเบีย หากแต่มันยังเป็นครั้งแรกที่เขาร่วมงานกับทีมโปรดิวเซอร์จากโคลอมเบียเต็มตัว และหนึ่งในหัวเรือใหญ่ที่มีส่วนอย่างยิ่งในการผลักดันให้ Memoria ประสบความสำเร็จคือ ดีอานา บุสตามานเต หัวหน้าทีมโปรดิวเซอร์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 อภิชาติพงศ์ได้เจอบุสตามันเตเป็นครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์การ์ตาเฮนา เธอเปรยถึงโคลอมเบีย บ้านเกิดของเธอให้อภิชาติพงศ์ฟังคร่าวๆ ว่าช่างเป็นสถานที่ซึ่ง “เพี้ยนประหลาด” หากแต่ก็เป็นความ “เพี้ยนประหลาด” ในความหมายที่ดี และนั่นเองที่เป็นต้นธารของการโหยหาอยากทำหนังที่ไปไกลกว่าพรมแดนประเทศไทยและความคุ้นเคยของอภิชาติพงศ์ ก่อนจะขยับขยายมาเป็นเรื่องราวของหญิงผู้ล่องลอยอยู่ในดินแดนแปลกหน้าพร้อมเสียงกระหึ่มในหัวของเธอ

และหนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้คือบุสตามานเต ภายหลังจากเธอร่วมพูดคุยในหัวข้อ A World Apart, But Same Boat: Independent Film Industry in Thailand and Colombia ที่หอภาพยนตร์ฯ Film Club มีโอกาสได้สนทนาเป็นการส่วนตัวกับเธอ ถึงบทบาทของการเป็นโปรดิวเซอร์ ที่สำหรับเธอแล้ว คาบเกี่ยวระหว่างการเป็นเพื่อน เป็นแม่ และเป็นสะพานของโลกภาพยนตร์

ที่ผ่านมาคุณให้การสนับสนุนคนทำหนังหน้าใหม่มากมาย ไม่ว่าจะ ออสการ์ รุยซ์ นาเบีย (Crab Trap, 2009) หรือ ฆวน อันเดรส อารังโก การ์เซีย (La Playa D.C., 2012) เวลาคุณเลือกโปรดิวซ์ให้หนังของผู้กำกับหน้าใหม่สักเรื่อง คุณมองหาอะไรในเรื่องเล่าหรือในคนทำหนังเหล่านั้น

อย่างแรกเลย กับออสการ์นี่เราเป็นเพื่อนกันมาก่อนอยู่แล้ว เจอกันตั้งแต่มหาวิทยาลัยโน่นแน่ะค่ะ เราก็ติดต่อกันทางอีเมลตลอดแล้วก็ค่อยๆ ขยับขยายกลายเป็นกลุ่มคนที่แบ่งปัน พูดคุยกันเรื่องภาพยนตร์ตลอดเวลา แต่ที่สำคัญที่สุดคือเรารักหนังแบบเดียวกัน มีรสนิยมเรื่องหนังแบบเดียวกัน มีหัวใจในการดูหนังเช่นเดียวกัน และสำหรับฉันแล้วนี่เป็นสิ่งสำคัญมาก

ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ฉันอยากร่วมงานกับคนทำหนังเหล่านี้คือ การที่พวกเขาล้วนเป็นคนที่ตระหนักรู้ถึงพลังของภาพยนตร์ ลุ่มหลงต่อภาพยนตร์ และเป็นนักดูหนังที่ยอดเยี่ยมเหลือเกิน ดังนั้น สำหรับฉันแล้ว การได้ร่วมงานกับการที่คนที่รักภาพยนตร์หมดทั้งหัวใจและรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับภาพยนตร์จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ภาพยนตร์คือเรื่องของการมีหัวใจต่อกัน คุณต้องใช้เวลาร่วมกันกับผู้คนเหล่านี้ บางครั้งก็ต้องกินนอนด้วยกันหลายต่อหลายเดือนในป่าบ้าง กลางทะเลทรายบ้าง เพราะงั้นเราถึงต้องใช้เวลาร่วมกันกับคนที่คุณรัก เวลาคนเรามันสั้นจะตายไป สมมติฉันต้องตายวันพรุ่งนี้ ฉันก็อยากใช้เวลาอยู่กับคนที่ฉันรักนะคะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดของการทำหนังคือตอนเรา ‘กำลัง’ ทำหนังนั่นแหละ ระหว่างการถ่ายทำมันเต็มไปด้วยเลือดเนื้อ เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์ของพวกเรา นี่แหละที่แสนจะมหัศจรรย์ นึกออกใช่ไหมคะ มันคือกระบวนการระหว่างนั้น คือผู้คนที่คุณร่วมออกเดินทางด้วย คือประสบการณ์ที่คุณได้รับ คือห้วงเวลาดีๆ ที่ได้อยู่กับผู้คน ทั้งหมดมันคือกระบวนการทำหนัง และนี่เองที่เป็นสิ่งซึ่งเปี่ยมความหมายต่อฉันเหลือเกิน

ถ้าอย่างนั้นแล้วคุณมองหาอะไรจากหนังของคนทำหนังเหล่านี้ ความสดใหม่หรือเอกลักษณ์แบบไหน

พูดไปแล้วอาจจะฟังดูประหลาดนะคะ แต่ฉันคิดว่าหนังเรื่องนั้นต้องทำให้ฉันรู้สึกบางอย่าง มันไม่ได้สำคัญว่าต้องสดใหม่ ไม่ได้ต้องแปลกว่าหนังเรื่องไหนๆ หรือไม่ได้ต้องจำเพาะเจาะจงอะไรทั้งสิ้น (คิด) มันเหมือนแค่ต้องตกหลุมรักมันน่ะ คุณไม่รู้หรอกใช่ไหมว่าทำไมคุณถึงรักคนเหล่านี้ คุณแค่รู้ว่าคุณรัก มันแค่เป็นสิ่งที่คุณรู้สึกได้ ที่จริงก็มีหนังบางประเภทที่ฉันไม่สนใจเอาเสียเลย ยกตัวอย่างคือหนังโฆษณาสินค้า หนังซูเปอร์ฮีโร่ เป็นต้น

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ฉันคิดว่ามันแค่เรื่องของความจริงใจ ไอเดียบางอย่างของหนังที่มันสัตย์จริงต่อตัวเอง พยายามเล่าบางสิ่งที่อยากเล่า หากแต่นี่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจำเป็นจะต้องเป็นหนังที่เล่าเรื่องส่วนตัวด้วยนะ สมมติว่ามีคนเหยียดผิวสักคนอยากทำหนัง ก็คงทำหนังว่าด้วยคนดำไม่ได้หรอกใช่ไหม เพราะมันไม่สมเหตุสมผลเลย ดังนั้นแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ ตัวตนคุณเป็นใคร มีอะไรอยู่ในหัวใจ คิดอะไรบ้าง มีไอเดียอะไรที่อยากบอกเล่า แล้วหลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของความรู้สึกแล้วล่ะว่าคุณรู้สึกอะไร ได้กลิ่นแบบไหน

Photo by Withit Chanthamarit

บางคนคิดว่างานของโปรดิวเซอร์คือการหาเงินมาทำหนัง แต่จริงๆ มันมีมากกว่านั้น ซึ่งสำหรับคุณแล้วมันมีอะไรอีกบ้างที่คนนอกอาจไม่รู้หรือไม่เห็น

เอาเข้าจริงๆ ตอนเริ่มเป็นโปรดิวเซอร์นี่ฉันก็ไม่รู้เรื่องตัวเลขอะไรเลยนะคะ เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ฉันสนใจเอาเลยจริงๆ (ยิ้ม) จนวันหนึ่ง ฉันก็ตระหนักได้ว่า การคิดเลข หาเงินมันก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ที่ฉันต้องทำเพื่อหนัง

สมมติว่าตอนนี้เราอยู่บนชั้นสี่ของตึกนี้และเราอยากไปตึกข้างๆ ทางขวามือ เราก็จะรู้ได้เองว่าหน้าที่ของเราคือการเดินลงบันไดไปชั้นหนึ่ง ข้ามถนนไปทางขวามือแล้วเดินขึ้นตึกนั้น เรารู้ได้เองแม้ไม่มีใครมาบอก การทำหนังก็เหมือนกันค่ะ มันก็ไม่ได้มีขั้นตอนบอกอย่างชัดแจ้งนะ เหมือนฉันแค่ต้องใช้ความรู้สึกตัวเองเข้าไปด้วย เช่นว่า เอาล่ะ อยากให้หนังเรื่องนี้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เราอาจต้องลองหาทางทำแบบนั้น แบบนี้เสียก่อน

เพราะงั้น สำหรับฉันแล้ว การงานของโปรดิวเซอร์คือการจัดการให้หนังมันออกมาเป็นหนังให้ได้ ฉันชอบจินตนาการว่าเรากำลังสร้างความฝันให้เป็นความจริง ชอบจินตนาการว่าตัวเองเป็นสะพานเชื่อมระหว่างไอเดียกับความเป็นจริง และฉันว่านี่แหละคือสิ่งที่โปรดิวเซอร์ควรจะเป็น นั่นคือการเป็นสะพาน ซึ่งมันเปี่ยมความหมายมากๆ มันไม่ได้มีแค่เรื่องเงินอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องเลือกทีมงาน เลือกคน เลือกดูว่าคนไหนเหมาะกับงานนี้ กับหนังเรื่องนี้ อีกทั้งโดยทั่วไปแล้ว ฉันมักเขียนบทร่วมกับผู้กำกับด้วย -คือก็ไม่ได้มีเครดิตในฐานะคนเขียนบทร่วมหรอกนะคะ- แต่การเป็นโปรดิวเซอร์สำหรับฉันแล้วนี่มันเหมือนเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว นั่นคือหาทางทำให้หนังมันออกมาดีที่สุดเท่าที่จะดีให้ได้ จะต้องทำอย่างอื่นที่ดูไม่เกี่ยวกับงานโปรดิวซ์อย่างการเขียนบทร่วมกันกับผู้กำกับก็ต้องทำ มันไม่มีอะไรจำเพาะเจาะจงขนาดนั้น

พูดคร่าวๆ คือมันเหมือนเราเป็นแม่คนน่ะค่ะ ต้องดูแลลูกๆ ต้องเล่นกับลูก ต้องทำอาหารให้ มันคือการต้องทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันเพราะคุณอยากให้พวกเขาได้เติบโตอย่างดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะเป็นได้ เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์ การเป็นโปรดิวเซอร์คือการเป็นสะพานระหว่างความฝันกับความจริง เราจึงต้องดูทั้งผู้คน ทีมงาน เงิน ไอเดียหนัง ฉันจึงต้องดูแลทุกกระบวนการในหนังของตัวเองอย่างใกล้ชิด

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณจึงโปรดิวซ์หนังทีละน้อยเรื่องหรือเปล่า มันจะเป็นไปได้ไหมหากในอนาคตคุณจะโปรดิวซ์หนังหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน

ใช่ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมฉันจึงทำหนังไม่กี่เรื่องในเวลาเดียวกัน เพราะฉันต้องการทุ่มเทความใส่ใจทั้งหมดแก่หนังที่ฉันโปรดิวซ์

แต่ถ้าฉันลองโปรดิวซ์หนังหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กันน่ะหรือคะ มันก็อาจจะเกิดปัญหาอย่างการที่หนังบางเรื่องไม่ได้รับการใส่ใจจากฉันมากเท่าที่ควร ฉันต้องการดูแล ต้องการใส่ใจรายละเอียดต่างๆ ของภาพยนตร์เหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และนั่นแปลว่าคุณต้องทุ่มเททั้งเวลา ทั้งสมาธิ แล้วทำอะไรซ้ำเดิมกับหนังเรื่องอื่นๆ ไม่ได้ด้วย คุณดูแลหนังเรื่องใหม่ที่คุณโปรดิวซ์ด้วยวิธีเดียวกันกับหนังเรื่องก่อนไม่ได้หรอก ไม่ได้เลย หนังแต่ละเรื่องมันก็มีเอกลักษณ์และต้องการการดูแลที่แตกต่างออกไป ฉันจึงต้องทุ่มเทความใส่ใจต่อหนังหนึ่งเรื่อง นี่เป็นเรื่องสำคัญมากเลย

Land and Shade (2015)

จากเวทีในงาน คุณเล่าว่าตอนโปรดิวซ์ Land and Shade (2015) ซึ่งเป็นหนังที่มีความเป็นส่วนตัวมากของผู้กำกับ ซีซาร์ ออกุสโต อาเซเบโด คุณหาทางจัดการกองถ่ายให้อาเซเบโดทำงานได้อย่างปลอดโปร่งใจที่สุด คุณลักษณะเห็นสิ่งที่ผู้กำกับต้องการแม้ไม่ได้เอ่ยปากพูดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนเป็นโปรดิวเซอร์หรือมันติดตัวคุณมาแต่แรกอยู่แล้ว

อันที่จริง บางครั้งฉันก็อ่านสถานการณ์ผิดไปก็มีนะคะ (ยิ้ม) มีอยู่บ้างที่สัญชาตญาณไม่ทำงาน แต่โดยทั่วไปแล้วฉันเชื่อใจในสัญชาตญาณตัวเองมากๆ อย่างเรื่อง Land and Shade ที่ยกตัวอย่าง ตอนแรกเริ่มการถ่ายทำ เราวางแผนไว้ละเอียดลออมากว่าจะทำนั่นก่อนแล้วทำนี่ทีหลัง แล้วค่อยๆ รู้ว่าทำแบบนั้นมันไม่ได้ผล ฉันจึงคิดว่าโปรดิวเซอร์กับผู้กำกับต้องได้กลิ่นเร็วกว่าใครเพื่อนว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากลในการถ่ายทำครั้งนี้ และต้องสามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานได้ด้วย หาทางทำงานแบบอื่น ซึ่งต้องเร็วด้วยนะ เราไม่สามารถเสียเวลาไปได้เรื่อยๆ ไม่มีคำว่าอาจจะ ไม่มีคำว่าบางที เราแค่ต้องตัดสินใจและเสี่ยงดู บางทีมันก็ได้ผล บางทีก็ไม่ แต่ที่แน่ๆ คือหากคุณไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง มันต้องออกมาแย่อย่างแน่นอน

ดังนั้น ในกรณีพิเศษเช่นนี้ ฉันรู้แค่ว่าขืนถ่ายทำตามขั้นตอนที่เราวางแผนไว้แต่แรกคงกันต่อไม่ได้ คำถามคือเราจะทำอย่างไรนับจากนี้ และฉันคิดว่าฉันเจอทางออกดีๆ ได้ก็เพราะฉันรู้จักซีซาร์เป็นการส่วนตัว และรู้จักเขาดีด้วย ถึงขั้นที่บางทีฉันก็รู้สิ่งที่เขาต้องการโดยที่เขายังไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำไป เช่น ฉันว่าคุณกำลังรู้สึกแบบนี้อยู่นะคะ เพราะเหตุการณ์เช่นนี้มันส่งผลแบบนี้ต่อคุณ เป็นต้น

ด้านหนึ่ง งานโปรดิวเซอร์จึงเหมือนนักบำบัดด้วย (ยิ้ม) นี่พูดจริงนะ หลายต่อหลายครั้งคุณต้องรับมือกับแรงกดดันมั่ง อีโก้ของคนมั่ง แต่เราทำงานกับมนุษย์น่ะ นี่คือทรัพยากรที่เรามี เราจึงต้องพยายามเข้าใจพวกเขาให้มากที่สุดเพื่อจะได้ช่วยเหลือเขาได้

ในไทย บางครั้งเวลาเราต้องการเงินเพื่อทำหนัง เราอาจต้องไปติดต่อกับบริษัทหรือนักลงทุนเพื่อให้ได้เงินมาสักก้อน แลกกับการถ่ายทำสินค้าหรือโปรดักส์ของพวกเขาในหนังของเราซึ่งบางครั้งมันออกมาคล้ายโฆษณาขนาดยักษ์บนจอภาพยนตร์ คุณจัดการเรื่องพวกนี้ยังไง

อันที่จริงแล้ว ตัวฉันไม่จำเป็นต้องใช้เงินจากนายทุนหรือบริษัทต่างๆ ขนาดนั้นนะคะ โชคดีเนอะ (หัวเราะ) แต่ก็มีบ้างเหมือนกัน อย่างเรื่อง The Wind Journeys มันเป็นหนังยาวซึ่งมีบริษัทยักษ์แห่งหนึ่งให้การสนับสนุน เป็นบริษัทขนส่ง คุณลองไปดูได้เลย หนังจากโคลอมเบียมักจะมีฉากรถบรรทุกขนาดใหญ่กับชื่อบริษัทนี้อยู่เสมอ และกับเรื่อง The Wind Journeys นี้ฉันบอกพวกเขาไปว่า ใส่ฉากรถบรรทุกไปไม่ได้หรอกนะ เพราะเรื่องราวในหนังมันเกิดขึ้นในยุค 40s แถมยังว่าด้วยคนกับลาเดินข้ามภูเขาเท่านั้นเอง เพราะงั้นมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะยัดฉากรถบรรทุกเข้ามาด้วย

ดังนั้น ฉันจึงเสนอความเป็นไปได้อื่นๆ ให้แก่พวกเขา แล้วก็ได้ผล กล่าวโดยสรุปแล้ว มันเป็นเรื่องของการปฏิเสธกฎเก่าๆ ที่เคยทำกันมา มองหาช่องทางหรือเงื่อนไขใหม่ๆ แล้วเสนอออกไป อย่างน้อยแค่ลองดูก็ได้

Memoria (2021)

กับเรื่อง Memoria มีฉากอุโมงค์ขนาดยักษ์ที่ตราตรึงมาก คุณเคยเล่าถึงอุโมงค์นี้ไว้ในบทสัมภาษณ์อื่น รบกวนคุณเล่าถึงมันอย่างละเอียดอีกทีได้ไหม

บอกเลยว่าความหายนะมันก่อตัวขึ้นมานับตั้งแต่นาทีที่อภิชาติพงศ์เห็นอุโมงค์นี้แล้วบอกว่าอยากถ่ายทำในนี้แล้วล่ะ (หัวเราะ) มันเป็นอุโมงค์ขนาดยักษ์ที่เคยมีการก่อสร้างเมื่อสักร้อยปีก่อนได้มั้ง แล้วตรงส่วนกลางของอุโมงค์มันมีตำนานลึกลับมากมาย มีคนเล่าว่าเจอผี เจอศพ ซึ่งอาจจะจริงก็ได้นะเพราะมันเป็นสถานที่ที่ประหลาดสุดๆ ไปเลย

อย่างไรก็ตาม การจะถ่ายทำหนังในอุโมงค์นั่นมันยากเอามากๆ เพราะการก่อสร้างอุโมงค์ในครั้งนั้นเต็มไปด้วยการคอรัปชั่นมากมาย จึงไม่เคยมีใครได้เยื้องกรายเข้าไปในอุโมงค์แห่งนั้นได้  เราต้องทุ่มเททำทุกทางเพื่อให้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำ (ถอนหายใจ) แล้วคงเพราะหนังเรื่องนี้มีแต้มบุญอยู่ละมั้งคะ ฉันได้เจอเพื่อนคนนึงและเปรยๆ กับเธอว่าพอจะมีคนรู้จักที่ช่วยให้เราเข้าไปถ่ายทำในอุโมงค์นี้ได้บ้างไหม เพื่อนฉันก็บอกว่า ไม่มีหรอกนะคนแบบนั้นน่ะ แต่มีเพื่อนอยู่คนหนึ่งที่ทำงานอยู่แถวๆ นั้น จะลองติดต่อไปคุยกับเขาดู แล้วเธอก็ช่วยจัดการโทรศัพท์ติดต่อไปให้ นัดให้ฉันได้เจอกับเพื่อนคนนั้นซึ่งน่ารักมากๆ ฉันก็เลยเล่าโปรเจกต์หนังเรื่องนี้ให้เธอฟังไปว่ามีทิลดา สวินตัน บลาๆ ร่วมแสดง และเธอจะมาเข้าฉากในอุโมงค์นั้นด้วยนะถ้าเราได้ถ่ายทำในนั้นจริงๆ แล้วนั่นแหละ ที่อยู่ดีๆ ทุกคนก็พยายามหาทางให้หนังเรื่องนี้ได้ถ่ายทำในอุโมงค์นั้นให้ได้

แต่ขั้นตอนยังไม่ได้จบแค่นั้นนะคะ เพราะมันยังไม่เรียบร้อยดี ฉันยังต้องพยายามหาทางทำให้พวกเราได้เข้าไปถ่ายในอุโมงค์นั้นให้ได้ เลยบอกอภิชาติพงศ์ไปว่า ‘คุณต้องมากับฉันนะ’ แล้วเขาบอกว่า ‘ไม่เอาหรอก จะให้ผมไปกับคุณทำไม ผมจำเป็นกับการคุยเรื่องอุโมงค์ตรงไหน’ ฉันเลยตอบกลับไปว่า ‘จำเป็นสิ! แล้วพูดแค่ภาษาไทยก็พอนะ ห้ามพูดภาษาอังกฤษเด็ดขาด’ (หัวเราะ) ฉันย้ำอภิชาตพงศ์ไปหลายรอบมากๆ ว่าพูดแค่เฮลโหลก็พอ เพราะคนโคลอมเบียชอบชาวต่างชาติ พวกเขามักคิดว่าถ้าเป็นความต้องการของชาวต่างชาติละก็เป็นดีทั้งนั้น แม้จะไม่รู้จักอภิชาติพงศ์หรือเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับเขาเลย แล้วรู้อะไรไหมคะ (ตบเข่าฉาด) พอพวกเขาเจออภิชาติพงศ์ พวกเขาก็บอกฉันว่า เอาเลย อยากทำอะไร อยากได้อะไรในอุโมงค์นี้ จะใช้รถ ใช้เครื่องมืออะไรก็ได้

มันหลุดโลกเอามากๆ แต่ฉันว่าเรื่องของเรื่องคือเราต้องมีแต้มบุญกับการลงไม้ลงมือทำอะไรสักหน่อย แค่ลองดูน่ะ ลองโทรศัพท์หาเพื่อนก่อนก็ได้ แล้วจากนั้นก็จะมีหนทางไปยังเพื่อนของเพื่อนของเพื่อนอีกที คือเราแค่ต้องหาทางเอาจนได้น่ะ แต่สำคัญที่สุดคือต้องลองลงมือทำอะไรสักอย่างเสียก่อน

สุดท้าย โคลอมเบียขึ้นชื่อเรื่องงานสัจนิยมมหัศจรรย์ คุณคิดว่าสิ่งนี้ปรากฏในหนังของอภิชาติพงศ์ไหม มีความเชื่อมกันอะไรบ้างหรือเปล่า

สมัยเด็กๆ ฉันเคยเจอกับ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (นักเขียนชาวโคลอมเบีย ผู้เขียนหนังสือ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนงานด้านสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20) เขาบอกว่า ‘รู้ไหม ผมไม่ได้สร้างอะไรใหม่ขึ้นมาเลย ผมแค่บันทึกไว้ เขียนความจริงซึ่งปรากฏตรงหน้าไว้เท่านั้น ผมทำอยู่แค่นี้เอง’ นี่คือสิ่งที่กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซบอกไว้ แล้วนั่นน่ะจริงเหลือเกิน เพราะในประเทศฉัน ไอ้สิ่งที่ดูเหลือจะเชื่อนั้นเกิดขึ้นอยู่จริงเสมอ ดังนั้นฉันว่าความจริงบางอย่าง มันก็มีอยู่ของมันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ตอนเจออภิชาติพงศ์ครั้งแรกเมื่อปี 2017 ที่เขาเป็นแขกในงานเทศกาล ฉันบอกเขาว่า ‘รู้อะไรไหม โคลอมเบียน่ะเต็มไปด้วยคนเพี้ยนๆ แต่ไม่ได้เพี้ยนแบบบ้าบอนะ เราเพี้ยนไปอีกแบบนึง เพราะงั้นตั้งใจดูแล้วก็ค่อยๆ สังเกตไป’ แต่ตอนนั้นฉันไม่ได้คิดว่าจะได้ทำหนังร่วมกันกับเขานะคะ แค่เล่าให้เขาฟังเฉยๆ แล้วเขาก็ออกเที่ยวไปโคลอมเบียของเขาเองขณะที่ฉันก็ส่งข้อความถามไถ่เขาเป็นระยะว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทุกอย่างโอเคไหมต่างๆ นานา

จนเมื่อเขาจะกลับ เราจัดงานปาร์ตี้ร่วมกันกับเพื่อนคนอื่นๆ เขาบอกฉันว่า ‘คุณพูดถูกแฮะ ดีอานา คนที่นี่เพี้ยนชะมัด แต่เป็นความเพี้ยนที่ไม่เหมือนใครเลย’ ฉันยังบอกเขาอยู่เลยว่าเห็นไหมล่ะ! แล้วเขาก็ถามเรื่องอุโมงค์ เล่าว่ามีคนเจอผีในนั้น เจอเรื่องลึกลับประดามี (ยิ้ม) แล้วนั่นแหละที่เหมือนเป็นจุดตั้งต้นของการทำหนัง เราคุยเรื่องผู้คน ว่าทำไมชาวโคลอมเบียจึงดูเปี่ยมสุขไปพร้อมกันกับที่ดูสะเทือนใจด้วย เหมือนที่คุณเห็นในหนังน่ะ ซึ่งว่ากันตามตรงแล้ว หนัง Memoria ก็เหมือนบันทึกความจริงในโคลอมเบียไว้ เป็นความจริงที่แสนจะเหนือจริงเหลือเกิน


Memoria เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคมนี้

LATEST