Remembering Varda : 1. Pursuit of Unlimited Happiness

Black Panthers (1968)

Le Bonheur (1965)

Cléo from 5 to 7 (1962)


ผังโปรแกรมของสมาคมฝรั่งเศส (ในสมัยที่ยังอยู่ที่ทำการเดิม, ถ.สาทรใต้) ขณะนั้นมีโปรแกรมฉายเกือบทุกวันครับ (จะเว้นบ้างก็แค่วันพุธซึ่งน่าจะเป็นการตกลงกันในระดับ ‘gentleman’s agreement’ ในแวดวงการทูตสายวัฒนธรรม โดยเผื่อไว้หนึ่งวันเป็นของสถาบันเกอเธ่) จะมีอยู่ชื่อหนึ่งที่แวะเวียนจนรู้สึกคุ้นกันไปเลย ก็คือผู้กำกับหญิงของฝรั่งเศส Agnès Varda ที่เดี๋ยวๆ ก็มีหนังมาเข้า

จนกระทั่งราวปี 1984 ที่มากันยกชุดเลย (คือเรียกว่าหนังสือแจกรายเดือนนี่พลิกไปพลิกมาจนซึมเข้าหัวไปเอง) จะเจอชื่อหนังอย่าง Cléo de 5 à 7, Le Bonheur, Les Creatures (เชื่อว่าคงไม่ใหม่ไปกว่านี้ล่ะครับ เพราะตอนนั้นเพิ่งยุค 80’s เอง) ขณะที่หนังชื่อ L’ Un Chante, L’ Autre Pas ซึ่งเวียนมาบ่อยมาก คือมาแบบเดี๋ยวจรเดี๋ยวเวียนจนแทบไม่รู้สึกว่ามีความพิเศษอะไร คือมีทั้งที่อยู่ในโปรแกรม retrospective แล้วก็มาแบบเดี่ยวๆ

ขนาดผมขึ้นไปเชียงใหม่ ก็มีแวะไปเยี่ยมชมสมาคมฝรั่งเศสสาขาของที่นู่นกะเขาถึงได้รู้ว่าวันไหนมีฉายหนัง ก็ตั้งเครื่อง(สิบหก)กันในห้องสมุดนั่นแหละ ทีนี้เมอร์สิเออร์บรรณารักษ์ก็ใจดีมากกกก มีแนะเสร็จว่า ช่วงที่ผมขึ้นไปตอนนั้น (พฤษภา 2527) หนังที่กำลังจะมีโปรแกรมฉายในช่วงใกล้ๆ ก็คือเรื่องนี้ (L’ Un Chante, L’ Autre Pas) พอดี เสร็จแล้วเป็นไง ทายดิครับพวกเรา… อดสิครับ! สุดท้ายก็ไม่ไปดู (โฮวววว)

ป๊อก!-ป๊อก!-ป๊อก! เขกหัวตัวเองสามทีซิครับ ตรงที่มีเกลือวางข้างหน้าก็ดันไม่กินทั้งด่างทั้งเกลือทั้งๆ ที่ตอนนั้นก็ไม่เด็กล่ะนะ สุดท้ายเป็นไง พอกูตาเริ่มเปิดกว้าง ค้นคว้า+ทำความรู้จักหนังฝรั่งเศสให้มากขึ้น ถึงได้รู้ว่าเวลาที่มีค่าที่สุดได้หลุดมือหายไปแล้ว อะไรที่ทำหลุดทำหล่น คราวนี้ก็ถึงเวลาหลบเลียแผลซะที

คงต้องเรียกว่า การระลึกชาติผลงานหนัง Agnès Varda ในหนนี้ถือเสียว่าเป็นการไถ่บาปทั้งให้ตัวเอง แล้วก็เป็นการขอขมา (ดวงวิญญาณทิพย์ของ)คุณป้า ถ้าท่านหยั่งรู้ได้ด้วยญาณวิถี คงต้องกล่าวไว้ตรงนี้ว่าหนังอย่าง Cléo de 5 à 7, Le Bonheur หลังจากที่เคยพลาด ตอนนี้ไม่ใช่หนังลับแลที่เวลาฉาย จะมีเฉพาะคนฝรั่งเศสมาดู (ซึ่งทั้งโรงนั่งกระจายๆ กัน 8 คน – 15 คน ก็หรูแล้ว) พอมาถึงยุคที่หนังคุณป้ามีช่องทางให้คนอื่นๆ มีโอกาสดูได้อย่างทั่วถึง คราวนี้จะไม่พลาดล่ะ

หนนี้ก็ยกเอาหนังที่ควรจะได้ดูในยุคนั้นล้วนๆ (แต่วืดด) อย่าง Le Bonheur, Cléo de 5 à 7 มาเขียนถึง (โดยโมเมไปก่อนพลางๆ ว่าเป็นหนังในกลุ่มดราม่า) ส่วนที่เหลือก็จะเป็นงานในกลุ่มสารคดีล่ะ (อ่านได้ในตอนที่สอง) มีข้อแตกต่างกันก็คือ คราวนี้จะไม่ยอมพลาดแล้ว อย่าง Du Côté de la Côte (ซึ่งหนที่มาฉายเป็นฟิล์ม 35 ก็ได้ดู โดยตัวโปรดิวเซอร์ Anatole Dauman, เจ้าสำนัก Argos Films หนีบมาเอง แต่ก็ยังเป็นหนังเข้าควบอยู่ คือฉายก่อน Paris, Texas ซึ่งเป็นตัวเมนโปรแกรม โดยทาง Alliance จัดต้อนรับปีใหม่ 2 มกรา 1988 เลย), ส่วน Daguerréotypes นั่นดูครั้งแรกสุดก็คงเป็นตอนทัวร์เทศกาลหนังที่ฮ่องกง (น่าจะ 1996) ทีนี้เหลือเรื่องปิดท้าย Les Plages d’ Agnes ซึ่งจริงๆ น่าจะมีค่าเป็นงาน genesis ของคุณป้า คือจะเป็นการพาย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นของทุกอย่างที่เป็น Varda ทั้งในแง่ชีวิต, ผลงาน, ความทรงจำ, ความรัก และชีวิตส่วนตัว ซึ่งเป็นอนุสนธิสืบเนื่องมาจากการได้เยี่ยมชมนิทรรศการ L’île et elle ของป้าวาร์ดากันที่ปารีส, กันยายน 2006 (ซึ่งคุณป้าใส่ฟุตบรรยากาศในพิธีเปิดไว้ในตัวสารคดีด้วย) พร้อมกับมิตรสหายร่วมคณะทัวร์ โดยคำ่วันหนึ่งก็ได้ไปเยือนถนน Rue Daguerre จริงๆ แต่ไม่มีบรรยากาศแบบในสารคดีอีกต่อไป

นับถึงวันนี้ ผลงานของ Agnès Varda จะไม่เป็นที่รู้จักเฉพาะบนตารางฉายหนังของสมาคมฝรั่งเศสหรือเทศกาลหนังอีกต่อไป เมื่อวันหนึ่งผลงานของ Varda ก็ได้ฉายขึ้นจอโรงมัลติเพล็กซ์ไปทั่วประเทศ ผ่านหนัง Judas and the Black Messiah (US., 2020, Shaka King) ที่ถึงแม้จะถูกนำมาใช้เฉพาะฟุตเตจเพียงบางส่วนของหนัง Black Panthers (1968) ซึ่งเป็นผลงานหนังเพียงไม่กี่เรื่องที่ใช้ภาษาอังกฤษ โดย Varda ได้ทำขึ้นระหว่างพักอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ด้วยช่วงเวลาเพียงสั้นๆ


Black Panthers (1968)

Black Panthers อาจเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ไฮบริดตัวเองออกนอกผลงานหนังเรื่องอื่นๆ ของ Varda เอง เท่าๆ กับที่แทบจะไม่มีใครมองว่าเป็นผลงานขึ้นหิ้ง แต่สำหรับกลุ่มเคลื่อนไหว ‘แบล็คแพนเธอร์’ ผลงานจากนักทำหนังจากฝรั่งเศสกลับได้รับการยอมรับในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์เส้นทางการต่อสู้ แม้สารคดีของ Varda อาจไปไม่ถึงสุด (ขณะนั้น Huey Newton ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวตามข้อเรียกร้อง) แม้สารคดีของ Varda จะเป็นแค่การสังเกตการณ์ด้วยสายตานักท่องเที่ยว แต่ถึงกระนั้น Black Panthers ก็ยังถูกจัดอยู่ในข่ายสารคดีที่นำเสนอแง่มุมจุดยืนทางการเมืองของตัวเจ้าของผลงาน

น่าสงสัยว่ามีอะไรในขบวนการเคลื่อนไหว ‘แบล็คแพนเธอร์’ ถึงได้เตะตาต้องใจคุณป้า Varda ถึงได้ยอมลงทุนนั่งรถข้ามเมืองจากแอลเอ.ไปถึง Oakland ในช่วงเวลาที่การชุมนุมประท้วงกำลังไต่ระดับความรุนแรง แม้จะยังไม่เข้มข้น แต่นั่นก็เท่ากับเป็นการสังเกตและบันทึกในช่วงรุ่งอรุณ ก่อนที่จะพุ่งขึ้นสู่จุดของการนองเลือดและล้อมปราบในอีกเกือบสองปีต่อมาอย่างที่ทราบกัน

อย่างน้อยใจ สารคดีทำให้คนดูพอเข้าใจถึงรูปแบบการจัดองค์กรภายในของขบวนการ’แบล็คแพนเธอร์’ว่าจำลองมาจากการปฏิวัติคิวบาบวกกับแนวทางสู่การปฏิวัติโดยอาศัยโรดแม็ปจากประธานเหมาเจ๋อต่งเป็นคัมภีร์ที่ทุกคนจะต้องอ่าน (ในสารคดีจะเห็นแต่ละคนจะพกสมุดเล่มแดงๆ ติดตัวไว้เสมอ) จุดเริ่มต้นที่สำคัญของการรวมตัวมาจากการไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลสหรัฐมักเกณฑ์เด็กหนุ่มเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันไปรบเวียดนาม ถึงต้องมารวมกลุ่มสร้างสังคมใหม่ร่วมกันต่อต้านนโยบายรัฐบาลกลาง จุดมุ่งหมายถัดมาก็คือการสร้างสังคมที่บริหารจัดการโดยคนดำในรูปแบบของการพึ่งตนเองและคัดค้านอำนาจสั่งการจากส่วนกลาง (แม้แต่ตำแหน่งสำคัญภายในพรรคยังใช้ชื่อเรียกเป็น ‘รมต.ประจำกระทรวง’ นั่นนู่นนี่ไปตามหน้าที่ คล้ายมีรูปแบบของรัฐอิสระซ้อนทับอยู่ภายในการบริหารจัดการภายในที่เป็นของสหรัฐเอง 

หลักการของ ‘แบล็คแพนเธอร์’ ถูกมองว่าไม่ต่างไปจากสังคมในอุดมคติตามหลักการสังคมนิยมมาร์กซิสต์ กลุ่มแบล็คแพนเธอร์จึงถูกนำไปผูกโยงกับขบวนการก่อการร้าย อย่างแรกสุดน่าจะเป็นเรื่องของการไม่เห็นด้วยกับการส่งคนผิวสีไปรบในเวียดนาม ที่ถึงแม้จะไม่เป็นคนละหลักการกับการต่อต้านการทำสงคราม ทว่าสุดท้ายแล้วก็เป็นความพยายามที่จะยับยั้งนโยบายที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตรงกัน และยังอาจโยงใยไปได้ถึงความพยายามที่จะรักษาเวียดนามไม่ให้บอบช้ำกว่าที่เป็นอยู่ ในฐานะของอดีตอาณานิคมเก่าของฝรั่งเศส

ตัวสารคดี Black Panther ได้กลายเป็นข้ออ้างที่ฟังขึ้นของการที่ป้า Varda มิได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 1968 (ซึ่งสุดท้ายก็เจ๊ากัน เพราะที่คานส์เองก็งดจัด เนื่องจากกระแสการชุมนุมประท้วงได้ลุกลามไปทั่วประเทศ) ถ้าเช่นนั้นเหตุผลของการอยู่ฮอลลีวูดตามสามี – Jacques Demy จนได้สารคดีติดมือเรื่องนี้กลับมา ย่อมทำให้คุณป้ารู้สึกเหมือนแทบจะไม่ต่างกับอยู่ในฝรั่งเศส และยิ่งเมื่อหลักการ Maoism ในกลุ่มแบล็คแพนเธอร์ ดูใกล้เคียงกับกระแสคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในฝรั่งเศสซึ่งเพื่อนรักเพื่อนชัง Jean-Luc Godard เองก็เพิ่งจะมีหนัง La Chinoise ออกฉาย (และถ้าจะคลำต่อไปอีกซึ่งก็ไม่เป็นที่ยืนยันว่าตัวสัญญะเครื่องหมาย emblem ของกลุ่มขบวนการมีส่วนตอบสนองนิสัยรักแมว นิยมแมวเหมียวของคุณป้าเองหรือเปล่า)

(ดู Black Panther ได้ที่ MUBI)


Le Bonheur (1965)

Le Bonheur (1965) : บทบทหนึ่งจากหนังสือแบบเรียนดรุณศึกษา เขาใช้ข้อความขึ้นเป็นชื่อบทว่า ‘ความสุขเป็นของไม่ถาวร’ แทบไม่น่าเชื่อว่าได้กลายเป็นวาทะที่ติดตัว + จำฝังหัวมาจนถึงทุกวันนี้ (คล้ายๆว่า รูปประกอบเขาใช้ภาพบรรยากาศประเพณีลอยกระทง) ทำให้พบว่าโมเมนท์ของความสุขจริงๆ เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ แค่เสี้ยวหนึ่งของลมหายใจก็ยังไม่รู้ว่าทันนับหรือเปล่า รู้แต่ว่าเหมือนกับมาแล้วก็ไป เก็บกักได้ไม่นาน

แค่แว้บหนึ่งของไฟเขียวของรถคันที่ติดอยู่หน้าสุด (ก็สุขได้) เพราะหลังจากนั้นคุณก็มีหน้าที่เคลื่อนรถไปข้างหน้า ความรู้สึกที่ได้จากโมงยามเมื่อครู่หายไป หลายคนมักเก็บเอาความสุขมาเป็นคำแทนค่าของการมีชีวิต (ซึ่งก็น่าจะได้) แต่มวลสารชีวิตก็ยังมิใช่ถังภาชนะเก็บกักความสุข แม้มายาคติและขนบของการอยู่ร่วมมักปลูกฝังให้เชื่อเช่นนั้น เท่ากับว่า นิยามของคำว่า ‘ความสุข’ มิอาจนำไปใช้แทนที่ด้วยคำว่า ‘ชีวิต’ ได้เช่นไร ทว่าคนส่วนมากมักนำคำสองคำมาใช้ในความหมายเดียวกันเสมอ อย่างคำกล่าว ‘สุขสันต์วันเกิด’ จะให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงว่ากระไร

ก. ความสุขจะเกิดได้ ก็เฉพาะโมงยามที่เราคลอดออกมาดูโลก (แล้วต่อจากนั้นก็ตรงกันข้าม)

ข. ‘สุข’ แท้จริง ที่เกิดขึ้น ณ วันคล้ายวันเกิด ถ้ามีอยู่ขึ้นจริง ควรอยู่ในช่วงเวลาใด: เป่าเทียน + ตัดเค้ก หรือทันทีที่กวาดสายตาอ่านข้อความคำอวยพร เมื่ออ่านจบ (ความสุขก็หมดไป)

ฉะนั้นการที่ Varda ใช้คำว่า ‘ความสุข’ มาตั้งเป็นชื่อหนัง (le bonheur ด้วยตัวพิมพ์เล็กเรียงกันธรรมดา เช่นเดียวกับที่ความหมายตามรูปคำ จะมีส่วนผสมของคำสองคำรวมกันระหว่าง bon = ดี บวกกับ heure ลดรูป e ตัวหลัง = ชั่วโมง / bon + heur ก็น่าที่จะเท่ากับ ‘โมงยามดีๆ’) ทว่าสำหรับ Varda อาจมิใช่ความหมายในเชิงบวกเสมอไปก็ได้ เพราะโดยทั่วไปสังคมมักให้ราคา, glorified ความสุข, ความสมหวัง ซึ่งจริงๆ อยู่กับเราไม่นาน แต่ป้า Varda อยากให้เราเชื่อว่าเรา prolong มันได้ นอกเสียจากว่า ถ้าอยากให้ความสุขอยู่กับเรานานๆ ก็น่าจะมีราคาที่จะต้องจ่าย แล้วราคาที่ว่านั้น บางทีก็มีชื่อเรียกว่า ‘ความทุกข์ ความโศกเศร้า’

นั่นคือเมื่อไม่รู้จักความทุกข์ ความโศกเศร้า ไฉนเลยความสุขจะมาเยือน Varda เล่าเรื่องราวของ le bonheur เหมือนทั้งชีวิต ตัวละครในเรื่องแทบจะไม่มีเรื่องทุกข์ร้อนใจ ด้วยรูปแบบที่เกือบจะเป็น home-movie เมื่อการใช้ชีวิตประจำวันมีการเลือกสรรแล้วว่าควรจะบันทึกเหตุการณ์อะไรในรูปของภาพเคลื่อนไหว ด้วยสีสันที่สดแจ่ม ตัวเอกแต่งงานมีครอบครัว (ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเป้าหมายสู่ความสำเร็จในการใช้ชีวิต), มีการไปปิคนิค, คนพี่เพิ่งได้สมาชิกใหม่เป็นทารกเพศหญิง 

Varda มิได้ดัดแปลงเนื้อเรื่องมาจากวัตถุดิบหรือแหล่งข้อมูลอื่นใด นอกจากเรื่องราวที่ใครๆ ก็เป็นกันได้ โดยยังไม่มีใครทันได้สำเหนียกว่า มีหลุมพรางดักรออยู่ข้างหน้า เมื่อใดที่ความเรียบง่ายที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ถ้าบ่มเพาะพอกพูนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ลองเหวี่ยงตัวสวิงไปฝั่งตรงข้ามเมื่อไหร่ รูปการณ์มีแต่จะพลิกผันได้ทุกเมื่อ

ในทางกลับกัน สมมติว่า Varda เกิดเปลี่ยนใจไม่อยากใช้คำว่า le bonheur มาเป็นชื่อเรื่อง ยังมีคำอื่นให้เลือกอย่าง Art, Musique, Picnique หรือแม้แต่ Cinéma หรือ Television ซึ่งถ้าเอาทุกสิ่งนี้มารวมเข้าไว้ด้วยกัน เชื่อแน่ว่าช่องทางสู่ความสุข (bonheur) คงไม่หนีหายไปไหน เพราะคุณป้าใส่ทุกอย่างที่ว่ามานี้เข้าไว้ในเรื่อง โดยเฉพาะอย่างแรกคือ Art ซึ่งรวมพวกภาพเขียนที่ระดมกันเข้ามาสร้างแรงบันดาลใจให้คุณป้า Varda นำมาใช้เป็นเรฟ ก็เลยทำให้การใช้ ‘สี’ ในเรื่องออกมาดูสด เหมือนดูภาพเพนท์ (เรฟที่สร้าง inspirarion ให้แบบแรงๆ จะมีด้วยกันอย่างน้อยสองคน โดยเฉพาะ Pierre-Auguste Renoir (1841-1919) กับ Vincent van Gogh (1853-1870) ถึงหายสงสัยว่าทำไมเดี๋ยวๆ ก็มีช่อดอกเบญจมาศปักแจกันโผล่ให้เห็นบ่อยๆ ภาพการปิคนิคภายในครอบครัวบนยอดหญ้าริมบึง หรือแม้แต่บรรยากาศการทานอาหารร่วมกัน (ที่บังเอิญตรงกับ)ช่วงเวลาของการรับขวัญทารกเพิ่งคลอดใหม่ที่ดูละม้ายภาพเขียน Le Dejeuner des Canotiers/Luncheon on Boating Party (1881) ซึ่งเป็นการบันทึกอิริยาบทของราษฎรในรูปแบบของภาพนิ่ง แต่ถ้าหากสื่อภาพยนตร์มีการคิดค้นเร็วกว่าที่เป็นอยู่ไม่กี่ปี ศิลปินเหล่านี้คงบันทึกด้วยกล้องถ่ายไปนานแล้วเช่นกัน ถึงได้เกิดกรณีเชื้อไม่ทิ้งแถว + ลูกไม้หล่นใต้ต้น เกิดเป็น Renoir คนลูก (Jean) ซึ่งคุณป้าได้ดึงเอาฟุตฯ จากหนังเรื่องหนึ่งที่ Jean Renoir เคยทำเอาไว้, Le Dejeuner sur L’ Herbe (1959) โดยเอามาใส่ไว้ในโทรทัศน์ สมมติว่าเป็นรายการภาพยนตร์เรื่องยาว(เมื่อสมควรแก่เวลาก็)มาเข้าทีวี

เหลือ music ที่คุณป้า (ซึ่งตอนทำเรื่องนี้ยังสาวพริ้ง) เน้นดนตรีคลาสสิคของ Mozart โดยใส่เข้าไว้ด้วยกันถึง 3 แทร็ค ประกอบไปด้วยท่อน Fugue en Ut Mineur K. 546, Quintet for Clarinet K. 581 และ Adagio en si Bemol K. 411 โดยมีปรากฏในเรื่องอยู่สามช่วงตามลำดับ ประกอบไปด้วยท่อนไตเติล (ใช้ชื่อแทร็ค le bonheur), ซีเควนซ์ปิคนิคกลางธรรมชาติ (Le Sentiment de la Nature) และท่อนสุดท้าย (บอกชื่อแทร็คปุ๊บ สปอยล์มาทันทีครับ)

คุณป้าเชื่อว่าเมื่อเอาทุกอย่างมารวมกัน สิ่งที่จะตามมาคือ bonheur (ความงามของภาพเขียน ความไพเราะของดนตรี และสุนทรียศาสตร์ในภาพยนตร์ ตลอดจนความรื่นรมย์จากธรรมชาติในยามปิคนิค) แต่ที่เหนืออื่นใด ยังคงมีตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของความสุขแห่งมนุษย์จนไม่มีใครกล้าปฏิเสธ โดยเฉพาะในแง่ของการสร้างแรงจูงใจและแรงขับตามธรรมชาติ – ‘เซ็กซ์’

Agnes Varda ทำ le bonheur ภายใต้เจตนาและฝีมือแรงงานที่เทียบเท่าผู้สร้างสรรค์งานศิลปะในแต่ละแขนงตามที่ว่ามา ผลลัพธ์ถึงได้ออกมาดูกลืนไปกับองค์ประกอบที่ถูกนำมาใช้เป็นเรฟสร้างแรงบันดาลใจ ถึงได้พบว่าในแต่ละช่วงเวลาหรือยุคสมัย ชีวิตและอิริยาบทของคนเป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดผลงาน ศิลปินเองก็มีหน้าที่บันทึกบรรยากาศไปตามที่สายตาเห็น (Renoir ถึงได้วาดภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในช่วงเวลาของตนเอง) ขณะที่ป้า Varda จับทุกสิ่งที่ว่ามา แล้วเอามาขยายขอบเขตให้เป็นเรื่องราว 

ขณะเดียวกัน หนังก็ไม่ปฏิเสธการอยู่รอดในโลกตามความเป็นจริง Varda สร้างตัวละครหลักๆ ให้อยู่ในภาคบริการด้วยกันทั้งหมด ตัวผัว Francois (Jean-Claude Drout) เป็นช่างเชื่อม ส่วนเมีย Therese (Claire Drouot เข้าใจว่าเป็นผัวเมียกันจริงๆ) ก็มีอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อ (จะเห็นได้ว่าเป็นชีวิตเล็กๆ ที่มักถูกใช้เป็นต้นแบบในภาพเขียนของทางฝรั่งเศสเอง) ที่ถึงแม้คนให้บริการอาจเป็นเรื่องของอาชีพ แต่เท่าที่ดูโดยตลอด คนที่รับบริการ (โดยเฉพาะจาก Therese) มักมีใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มแห่งความอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ด้วยกันทั้งรายที่เข้ามาสั่งตัดและรับชุด…ที่สำคัญ เขาให้ลูกค้ารายที่รับส่งมอบชิ้นงาน เป็นเจ้าสาวที่เตรียมจะเข้าพิธี นั่นคือถึง Francois กับ Therese อาจเป็นฝ่ายลงแรงกำลังผลิต แต่พอถึงผู้มือรับ ก็กลับเป็นอาชีพที่มอบความสุขเป็นการตอบแทน 

ในบางสังคมอาจนับทั้งสองอาชีพอยู่ในข่ายชนชั้น(ขาย)แรงงาน แต่ถ้าเป็นแรงงานที่สร้างความสุขให้กับผู้คน ก็ย่อมเป็นชีวิตที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี (โดยเฉพาะในความเป็นมนุษย์) แต่ยังมีอีกอาชีพหนึ่งที่มิใช่เฉพาะให้บริการแก่สังคม ทว่ายังมอบความรัก ความเป็นส่วนตัวบนเรือนร่าง เมื่อผู้ให้บริการอย่าง Francois สลับข้างมาเป็นฝ่ายรับบ้าง และในทันทีที่(เขาทำให้คนดูได้)รู้จักกับ Emilie (Marie-France Boyer) พนักงานที่ทำการไปรษณีย์สาวสวย

นอกจาก le bonheur จะเปี่ยมไปด้วยสุนทรียศาสตร์อันเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ทั้งบูรณาการและสัมประสิทธิ์ทั้งที่ปรากฏต่อสายตาและโสตสัมผัส ที่ล้วนมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน ขณะที่สุนทรียศิลปะอีกแขนงก็ได้กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นอันเกิดจากตัวมนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเองอย่างคลื่นสัมผัสที่มองไม่เห็น นอกจากแรงกระทำที่เกิดปฏิกิริยาแบบแสวงเป้าหมายแน่ชัดคือรับรู้ร่วมกันระหว่างคนเพียงสองคนมีคำเรียกว่า ‘ความรัก’ เราอาจไม่เห็นจุดเริ่มต้นระหว่างคู่ของพี่ชายกับเมีย (ถึงได้เกิดเป็นทารกน้อย Isabelle), เรื่องรักระหว่าง Francois กับ Therese ภรรยาสาวผู้แสนดี คนดูทราบเฉพาะคำบอกเล่าปากเปล่า แต่ไม่มีภาพให้ดู (รู้แค่ว่าเจอกัน ตอน Francois เข้าประจำการในค่ายทหาร พอแรกพบไม่นานก็ขอแต่ง จนมีลูกด้วยกันสองคนคือ Pierrot กับ Gisou โดยไม่เห็นภาพ) ขณะที่ในส่วนของภาพเรื่องราวกลับมีให้เห็นผ่านเรื่องราวความรักครั้งใหม่ระหว่าง Francois กับ Emilie

บริการ(สร้างความสุข)ของ Emilie เหมือนให้เรานั่งไทม์แมชชีนได้ย้อนกลับไปเห็นบริการโทรศัพท์ว่า ยุคหนึ่งคนทั่วไปหมุนเบอร์เองไม่ได้ ต้องใช้บริการผ่านโอเปอเรเตอร์ (ประกอบกับเลขหมายที่มีกันแค่สี่หลักในแต่ละเขต) ซึ่งสร้างทั้งขวัญและเรียกกำลังใจจากกองเชียร์ได้อย่างท่วมท้น คืออยากเห็นคนสองคนคู่นี้มีความรักกันจริงๆ ซะที เพื่อที่ว่าคนดูเองก็จะได้พลอยรับความสุข(ทางสายตา)ตามไปด้วย คราวเดทครั้งแรก (ดื่มกาแฟนอกที่ทำการไปรษณีย์) คนดูอาจมีโห่ เมื่อเจ้า Francois มีขอตัวกลับบ้าน (ทั้งๆ ที่สาวเจ้า Emilie บอกที่หย่ง-ที่อยู่ให้รู้ จนอยากสะกดรอยไปตามพิกัดด้วยคน) แต่พอถึงวันนัดย้ายของ + แต่งบ้าน คนดูก็เปลี่ยนเป็นเฮ เมื่อตัวละครสุขสม คนดูก็ถึงอารมณ์หมายไปพร้อมกัน

การเข้ามาของ Emilie นอกจากทำให้คนดูเกิดสัมผัสร่วมว่าสุขนั้นเกิดที่ใด หากแต่ยังทำให้เรื่องเดินไปข้างหน้า ด้วยพล็อตเส้นเรื่องประมาณนี้ คาดว่าคนดูบางส่วนน่าจะนึกไม่ถึงว่าคนทำก็เป็นผู้หญิง โดยเฉพาะในแง่ของความเป็น male fatasy ในเพศชาย ซึ่ง Varda เองก็ตอกย้ำความ fantasy (จนเกือบอุทาน fantastic!) ถึงการที่ผู้ชายอย่างเจ้า Francois ก็ยังอาจที่จะหาความสุขได้จากผู้หญิงทั้งสองคนและบ้านที่มีด้วยกันถึงสองแห่งเท่าๆ กัน มิหนำซ้ำบ้านหลังที่สองเองก็สามารถงอกเงยสู่ความเป็นครอบครัวได้สบายๆ

อย่าเพิ่งเข้าใจว่าคุณป้า Varda กำลังพาเรื่องราวก้าวข้ามเส้นศีลธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือความตั้งใจจริงอย่างเห็นได้ชัด ตลอดทั้งเรื่องแทบมองไม่เห็น dilemma ส่วนนี้เหมือนคนทำไม่ต้องการเข้าไปตัดสินความถูกผิดอะไร รู้แต่ถ้าทำแล้วมีความสุขก็ทำไป เราถึงมองไม่เห็นการลงโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบบเหมารวม นอกจากจะมีเสียงเฮ้ยฮ้ายแว่วๆ ในใจบ้าง ซึ่ง Varda เองก็ไม่ได้ให้คำเฉลยเอาไว้ด้วย

อ่ออออ ยังมีอีกเรื่องครับที่ไม่เกี่ยวอะไรกับหลักโกงหลักการอะไรแล้ว นอกจากขณะดู(ในทุกๆ รอบ)ก็อดสะท้านใจไม่ได้ ตรงที่ว่าเรื่องนี้ออกฉายปี 1965 (ข้อมูลไอเอ็มฯ บอกเพิ่มอีกว่าวันที่ 26 Jan. 1965 แปลว่าช่วงเวลาถ่ายน่าจะอยู่ภายในคาบปี 1964) ทำให้ย้อนกลับมามองตัวเองว่า ที่เห็นเด็กน้อยสามสี่คนในเรื่อง พวกนี้คงมีอายุสามปี ห้าปีระหว่างถ่าย (รวมทารก Isabelle ซึ่งเพิ่งคลอด) แล้วถ้าจะมีทารกที่อยู่ระหว่างการปฏิสนธิในครรภ์ของ Emilie บ้าง คนเหล่านี้ก็น่าที่จะอยู่ในวัยไล่เลี่ยกับผู้เขียนไปโดยอัตโนมัติ แม้หนัง(และคุณป้า)จะยังไปไม่ถึงตรงนี้ ทำให้พบสัจจะอย่างหนึ่งว่า ลงถ้าเป็นชีวิตที่เกิดมาด้วยความรัก อันเป็นมูลเหตุที่มาของความสุข + bonheurแล้ว ทุกชีวิตที่เกิดมาบนโลก ล้วนเป็นผลพวงของความรักมิได้น้อยไปกว่ากัน

(ดู Le Bonheur ได้ที่ MUBI)


Cléo de 5 à 7 (1962) : แม้รอบฉายที่หอภาพยนตร์ได้ถูกระงับภายใต้สถานการณ์จำยอม (ถึงสองครั้ง รวมกำหนดเดิมเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา) แต่ถ้าเมื่อไหร่กลับมาเปิดฉายอีก Cléo de 5 à 7 ก็ยังคงเป็นหนังของ Varda ที่ยังคงเต็มไปด้วยความน่าค้นหา ไม่ว่าจะให้ดูกี่รอบๆ ก็เติมเต็มอารมณ์ได้ทุกครั้ง จนรู้สึกว่าเวลาที่ให้กับหนัง แทบไม่รู้สึกถึงความสิ้นเปลือง เหมือนเข้าไปอยู่ในโลกที่ไร้ซึ่งกาลเวลาโดยแท้

Varda สร้างเส้นบางๆ ระหว่างการเซ็ต-อัพในแบบภาพยนตร์ทั่วไปกับการเป็น direct cinema จนแทบจะไม่เห็นความแตกต่าง โดยเฉพาะในมิติทางด้าน ‘เวลา’ ที่ได้ถูกนำมาใช้สร้างภาพมายาจนถึงขนาดที่น่าว่าน่าจะมีคนดูไม่น้อยเชื่อว่า ใช้เวลาในการถ่ายเท่ากับเวลาจริงตามเนื้อเรื่อง ซึ่งเดินเรื่องระหว่างห้าโมงเย็น แล้วจบลงก่อนหนึ่งทุ่ม

ขณะที่ ‘เวลา’ ได้กลายมาเป็นมายาที่เหนือมายา เพราะเวลาที่เดินไปพร้อมกับเนื้อเรื่อง เป็นเวลาที่เกิดขึ้นด้วยองค์ประกอบภาพยนตร์ล้วนๆ คงเป็นไปไม่ได้แน่กับการที่นางเอก Cléo จะใช้เวลาทำกิจกรรมสารพัด โดยเฉพาะบนท้องถนน (ซึ่งตลอดทั้งเรื่อง นางเอกนั่งรถไม่ตำ่กว่าสี่ครั้ง ทำกิจกรรม พบปะผู้คน เลือกซื้อหมวก โดยเฉพาะเวลาที่หมดไปกับการดื่มกิน สิ้นสุดจบลงภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมงครึ่ง) โดยกิจกรรมแต่ละอย่างถูกรวบให้สั้นลงด้วยกระบวนการตัดต่อ Cléo อยู่บนท้องถนน (ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่ถึงเจ็ดคัท ถึงที่หมาย ขณะที่ในความเป็นจริงจะต้องรอจังหวะ ติดไฟแดง สารพัด) จนเราปักใจเชื่อว่าเรื่องของ Cléo เวลาจะต้องถูกใช้ในจำนวนที่เท่ากับชื่อของหนัง (ห้าโมงถึงทุ่ม) ดูจะยากที่จะเป็นไปได้ในความเป็นจริง

นั่นคือความเป็น real time กลายเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เชื่อว่าเวลาที่หนังกำลัง consumerate คือสิ่งเดียวกับเวลาที่เดินไปข้างหน้าในความเป็นจริง คือความเป็นเมจิคขนานแท้ ขณะที่แกนกลางซึ่งคุมหนังทั้งเรื่องเอาไว้ก็ยังตั้งอยู่บนเรื่องของ ‘ความเชื่อ’ จนคาดไม่ถึงว่าคนในซีกโลกตะวันตกจะยังมีวิธีคิดแบบนี้ ไม่แพ้โซนเอเซีย

Cléo de 5 à 7 / Cléo from 5 to 7 (1962)

Vard วางหลุมพรางว่าที่ Cléo เข้าใจว่าเธอกำลังจะตายด้วยโรคมะเร็ง (และที่ยิ่งกว่านั้น ตัวเรื่องย่อทุกครั้งที่หนังมีโปรแกรม ตั้งแต่ฉายสมาคมฝรั่งเศสที่ทำการเดิม ถ.สาทร) คนดูมักถูกป้อนด้วยข้อมูลผ่านเรื่องย่อว่า นางเอก(รู้ตัวว่า)กำลังจะตายด้วยโรคมะเร็ง (ซึ่งแท้ที่จริงมิใช่การตรวจของแพทย์ แต่เป็นคำทำนายของแม่หมอดูไพ่ทาโรต์) ผลกระทบทางจิตวิทยา แยกคนดูออกได้เป็นสองกลุ่มระหว่าง

ก. เชื่อว่าเรื่องราวหลังเคลโอดูหมอเสร็จว่า เป็นช่วงเวลาของการปรับโหมดและสภาพจิตใจ และเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตที่ยังเหลืออยู่อีกไม่มาก (อย่างน้อยภายในชั่วโมงครึ่ง) ด้วยคาดหวังว่าคงได้เห็นบทสรุปที่สุดรันทดด้วยรสดรามา เมื่อนางเอกผู้แบบบางจะต้องเดินหน้าสู่โศกนาฏกรรมและความตาย

ข. เรื่องคำทำนายไพ่ยิปซีเป็นแค่ฉากฉากหนึ่งที่ผ่านมาแล้วก็จบกัน ไม่มีวกกลับมาซำ้ที่เดิม ก่อนจะมูฟออนต่อไปในอีกสิบสองบทที่เหลือ

ใครที่มองหนังด้วยกรอบการมองตามข้อก.ไก่อาจพบความรู้สึกเหมือนเห็นภาพไม่ตรงปก ในเมื่อ Varda ไม่ยอมให้ตัวละครเคลโอของเธอดำดิ่งลงสู่อะไรก็ไม่รู้ ความเป็นแฟนตาซี เชื่อโชคลาง ดวงชะตา (ซึ่งโดยมากมักมาจากคนอื่นรอบข้าง) สวนทางกับสไตล์หนังที่ Varda ใช้ในการนำเสนอ โดยเน้นให้รู้สึกเหมือนมิได้มาจากสคริปต์ ทว่าจงใจให้(คนดู)เชื่อว่ามาจากการ improvise กันสดๆ ในทุกแชปเตอร์ ซึ่งก็น่าสงสัยต่อว่าอิมโพรไวส์ภาษาอะไร ภาพถึงได้ออกมาเหมือนถูกดีไซน์ให้เกิดมิติที่น่าทึ่ง เกินกว่าที่จะเป็นเรื่องของหญิงสาวที่กำลังทำใจพร้อมรับกับความตายแบบโหลๆ

ความเหนือชั้นของ Cléo de 5 à 7 จึงอยู่ที่การเป็นหนังที่เขียนบรรยายด้วยตัวหนังสือไม่ได้เท่ากับให้ตาเห็น (ถึงกระนั้นก็ตาม พังการดูด้วยภาพนิ่งเอง ก็ยังช่วยอะไรไม่ได้เท่าไหร่ นอกจากให้ดูเป็นภาพเคลื่อนไหวกันจริงๆ ในหนัง)เนื่องจากคุณป้าต้องการให้เห็นความต่อเนื่องของการใช้ภาพมายามาสร้างเมจิคทางสายตาล้วนๆ

นอกจากจะมีเรื่องของความสมจริง (หรือความพยายามเข้าไปใกล้ความเป็นจริงให้มากที่สุด) จนเกือบจะนับรวมเข้ากลุ่ม direct cinema แต่แล้วก็เปล่า พยายามล่อลวงให้หลงเชื่อว่าเรื่องราวเดินหน้าตามลำดับเวลา ซึ่งสุดท้ายก็แอบโกง (ซึ่งที่ว่ามาทั้งหมดทั้งปวงคือคำชมล้วนๆ ครับ) เหลือด่านต่อไป ก็คงเป็นเรื่องของการสร้างภาพลวงตา

Varda ให้หนังของเธอสรุปจบลงด้วยบทที่สิบสาม (chapter XIII) ซึ่งเป็นจำนวนตัวเลขที่ว่ากันว่าจะนำมาซึ่งโชคร้ายและความซวย ขณะที่เส้นทางตลอดเวลาเกือบชั่วโมงครึ่ง (ซึ่งยากที่จะเชื่อว่าใช้เวลาไปเท่านั้นจริงๆ) แทบจะในทุกๆ แห่งที่เธอแวะ มักวนเวียนเกี่ยวข้องไปกับเรื่องของโชคลาง (จนทำให้ใครที่ไม่เคยรู้มาก่อน เผลอๆ มีเชื่อตาม เหมือนได้ข้อมูลใหม่ไปพร้อมๆ กัน) อย่างวันอังคารห้ามใส่สีดำ (สุดท้ายสั่งร้านให้เดลิเวอรี่ไปตามที่อยู่แทน) –>เห็นเบอร์ทะเบียนรถแท็กซีไม่เป็นมงคล –> เลือกคันใหม่ + รถทะเบียนเพิ่งออก –> (อ้าว) เจอรถคันสีดำ –>แต่คนขับเป็นผู้หญิง

ผมไม่ลังเลเลยสักนิดครับ ถ้าจะต้องให้กลับไปดูหนัง Cléo de 5 à 7 อีกซักรอบ (หนำซ้ำกลับจะยินดีด้วยความเต็มใจ) เพราะรู้ว่าสายตาย่อมที่จะได้พบสิ่งดีๆ ได้อยู่เรื่อยๆ ตลอดทางจนกว่าหนังจะจบ จนกระทั่งในที่ท้ายสุดถึงได้พบว่า แท้ที่จริงคุณป้า Varda ทำ Cléo de 5 à 7 ด้วยความมุ่งหวังของการแสดงมายากล ออกมาในรูปของภาพยนตร์เราดีๆ นี่เอง

Varda ให้ความสำคัญกับเรื่องของ foreground/background โดยการจับองค์ประกอบทั้งสองส่วนมาสัมประสิทธิ์เข้าไว้ด้วยกันอย่างแยบยล และที่เพิ่มเข้ามาอีกอย่างก็คือการนำ ‘กระจก’ เข้ามามีส่วนสำคัญ มีทั้งที่เป็น ‘กระจกใส’ แล้วก็ประเภท ‘กระจกเงา’ Varda นำคุณสมบัติของกระจกทั้งสองแบบมาใช้ประโยชน์แบบละเมิดบิดเบือน โดยเฉพาะการนำความโปร่งในตัวของกระจกใสมาทำลาย ฉะนั้นพอมาอยู่ในหนังตัวกระจกใส แทนที่จะเป็นตัวกลางโปร่งแสง ก็ถูกคุณป้านำมาแปลงซะจนเข้าไปใกล้ความเป็น(ตัวกลาง)ทึบ หรือไม่ก็นำความใสของมันมาสร้างอัตลักษณ์ใหม่ จนเกือบจะเข้าไปใกล้กับผ้าใบ canvas สำหรับภาพเขียนสีน้ำมัน อย่างซีนที่เคลโอเลือกหมวก ความเคลื่อนไหวนอกร้านก็พร้อมที่จะเบี่ยงเบนความสนใจเป็นระยะๆ (อย่างมีทหารควบม้าเดินผ่าน) ก่อนที่จะะนำอัตลักษณ์สมบัติของความเป็นกระจกเงามาใช้จนไม่เหลือความเป็นกระจกเงา (ซึ่งบอกไม่ได้เหมือนกันครับ เพราะบนพื้นผิวถูกระบายทับด้วยตัวหนังสือภาษาจีน ปรากฏเงาสะท้อนของ Cléo เป็น foreground) และช่วงท้ายๆ ที่เป็นภาพฝรั่งมุงเหมือนมีใครเอาก้อนหินมาขว้างกระจก แตกเป็นรอยใยแมงมุม เสร็จแล้วก็ให้ Cléo เดินผ่าน

อย่างแรกสุด คงหนีไม่พ้นคำถามเส้นผมบังภูเขาทางภาพยนตร์อย่าง เวลาถ่ายหนัง ทำไมถึงไม่เห็นกระจกในภาพ… ก็ยังอยู่ตามเดิม Varda ระวังมากไม่ให้เงาสะท้อนตามตู้โชว์ร้านค้า หลุดติดภาพกล้อง ทีมงานกองถ่าย (ซึ่งเป็นการพาตัวเองก้าวข้ามความเป็นสารคดี แบบเนียนๆ สมมติว่ากฎข้อที่หนึ่ง คนทำสารคดีมักไม่อำพรางการทำงานของกล้อง โดยจะทำตัวกลมกลืนเข้ากับบรรยากาศและซับเจ็กต์ไปพร้อมๆ กัน ขณะที่กองฯ Cléo de 5 à 7 กลับพรางสายตา ซึ่งจะต่างกับ Daguerréotypes จะมีหลุดเงาของกล้องมาเป็นระยะ ทว่าจงใจให้เห็นพอให้บริหารสายตา)

Varda นำคุณูปการของกระจกเงาเข้ามาแทนเทคนิค split ภาพ แทนที่จะทำในห้องตัดต่อหรือพึ่งซีจี (ซึ่งก็ยังไม่มี) ด้วยวิธีจับภาพจากเงาสะท้อนบนเสาติดกระจก โดยให้ภาพสะท้อนทำหน้าที่แบ่งเฟรมเองเสร็จในตัว แรกๆ อาจดูแล้วชวนให้เขวว่าเฟรม(แบ่ง)ข้างๆ Cleo กำลังสนทนาเรื่องที่ตัวนางเอกเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องใช่มั้ย (หรือโต๊ะข้างๆ พูดอะไรกระทบเรื่องของเคลโอหรือเปล่า) แต่แล้วก็ผิดหมด ตัวละครของสองฟากฝั่งของภาพแท้จริงต่างคนต่างอยู่ สำคัญก็แต่เพียงว่านางเอกจะ(ข้ามเฟรม)เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวพัน สร้างcontact กับอีกฝ่ายหรือเปล่า (ถ้าเผื่อเคลโอเข้าไปยุ่งย่ามด้วย เรื่องจะเป๋ออกนอกทิศทาง ธีม จุดมุ่งหมาย จนกระทั่งออกนอกเส้นเรื่อง จนกลายเป็นหนังอีกเรื่องมั้ย) คือถ้าไม่นับคู่ผู้ชายผู้หญิงที่ถูกจับให้มาร่วมเฟรมกับเคลโอ ตลอดทั้งเรื่องเรามักจะเห็นตัวละครใหม่ๆ แวะเวียนเข้ามาให้(คนดู)ทำความรู้จักตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

ครั้นจะถามใหม่ว่า ป้า Varda กำลังนำอัตตลักษณ์เฉพาะของความเป็นสารคดีเข้าไปจับงานในกลุ่มของดรามาใช่มั้ย… หรือถ้าจะถามอีกแบบ ป้า Varda ทำหนัง Cléo de 5 à 7 ด้วยลีลาแบบสารคดี ถูกหรือผิด: ตอบยากนะครับ ถ้าเช่นนั้น สไตล์ด้านภาพคงไม่ปล่อยลูกเล่น (เพื่อหวังผลในการมอง) ด้วยความโลดโผน ผิดธรรมเนียมของหนังที่อยู่ในยุคเดียวกันหรือเปล่า

ซีนในร้านอาหารที่ Cleo แวะเข้าไปสงบจิตใจหลังฟังคำทำนาย (ที่แม้จะค่อนไปทางกึ่งๆ สาปแช่ง) จากแม่หมอดูไพ่ นั่นเป็นการลูกเล่นแค่ชั้นเดียวของการนำเสนอ ก่อนจะเพิ่มความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นในร้านขายหมวกซึ่งจะมีกระจก(เงา)ให้เห็นมากขึ้น (จนไม่แน่ใจว่าร้านที่เข้านั้นขายหมวกผู้หญิงหรือขายกระจกกันแน่) ต่อจากนั้น Varda ก็พาคนดูไปพบกับด่านที่สาม คราวนี้ไม่ต้องมีกระจกอะไรมาสะท้อนหรือคั่นกลางกันแล้ว นอกจากใช้ ‘ตัวกลางทึบแสง’ ที่กระจายตัวอยู่อย่างเรียงรายไปทั่วพื้นที่ภายในสตูดิโอเพื่อพบ Dorothée (Dorothée Blanck) นางแบบเพื่อนซี้ที่ใช้เรือนกายตัวเองเป็นแบบกายวิภาคให้นศ.ประติมากรรมได้สร้างผลงาน

ตลอดเส้นทาง (ซึ่งเหมาะแก่การดูเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างยิ่ง) คนดูจะได้เห็นการ duplicate โครงสร้างร่างกายของ Dorothée เอาไว้หลากหลายรูปแบบ มีทั้งที่แกะสลักยังไม่เสร็จ เป็นแค่กองปูนมาก่อเป็นโครงๆ ทั้งแบบแนวนอนและแนวตั้ง ซึ่งพอเห็นเค้าโครงเสมือนของร่างกายมนุษย์แน่ครับ แต่มิใช่อย่างที่ยังมีชีวิต จนกระทั่งภาพค่อยๆ แทร็คดอลลีไปพบเจ้าของทรวดทรงต้นแบบ สลับกับศีรษะของนศ. + ศิลปินเจ้าของงานซึ่งสลับเป็นฟันปลา ผลัดกันเป็น foreground/ background พอเคลื่อนขยับเคลื่อนทีละจุด visuals ที่เห็นจะต่างกันออกไป แต่รับรองได้ว่าจะไม่มีโซนไหนเลยที่จะเปิดเผยสรีระเรือนกายของ Dorothée แบบเต็มๆ เพราะกว่ากล้องจะดอลลีจนครบ Dorothée ก็หมดหน้าที่เธอแล้ว

ยังมีส่วนที่เป็นมายาซ้อนมายา อยู่ในซีนที่เพื่อนนางแบบ Dorothée พาไปเยี่ยมชมห้องฉายหนังที่ Raoul เพื่อนชายและเจ้าของรถเปิดประทุนทำงานเป็นพนักงานอยู่ ในโรงกำลังฉายหนังเงียบ(ซึ่งทำขึ้นเอง) ขณะที่ทั้งเรื่องมีแต่นักแสดงที่มิใช่มืออาชีพ แต่ในหนังซ้อนหนังรีลนี้กลับพบแต่ all star cast ล้วนๆ คือถ้าไม่ใช่ดาราก็เป็นผกก.ดัง อย่างตัวนางเอก (Anna) ก็ Anna Karina, คนถือสายยางรดน้ำก็ Eddie Constantine, Jean-Clade Brially แสดงเป็นบุรุษพยาบาล, Samy Frey เล่นเป็นพนักงานติดท้ายรถขนย้ายศพ, Danielle Delhomme เป็นคนขายดอกไม้ ขณะที่ตัวเอก บทนำของเรื่องที่ใส่แว่นดำ (เจ้าของมุข ‘ยามที่ผมใส่แว่นกันแดด มองอะไรก็เห็นเป็นสีดำไปหมด’) ก็คือ Jean-Luc Godard ซึ่งเจ้าตัวใส่ติดตัวมาตลอดทั้งชีวิต และเป็นครั้งเดียวที่คุณป้าหลอกล่อให้ถอดได้สำเร็จ แล้วหลังจากนั้นเราก็ไม่เคยเห็น Godard ถอดมันอีกเลย จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายไม่ยอมคุยกัน แม้ว่าคุณป้าได้ด่วนตัดช่องน้อยทิ้งเราไป

(ดู Cléo de 5 à 7 ได้ที่ MUBI)


(อ่านตอนที่สอง
Remembering Varda : 2. To Doc., or Not to Doc.)

RELATED ARTICLES