อานเญส วาร์ดา: ห้องทดลองแห่งเสียงของวาร์ดา

โลกภาพยนตร์นั้นไม่ควรจดจำอานเญส วาร์ดา เป็นเพียงแค่หนึ่งในผู้กำกับของกลุ่ม French New Wave กลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์ฝรั่งเศสที่เติบโตมาจากการเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ (ถึงแม้ตัววาร์ดาเองจะไม่ได้มาจากการเป็นนักวิจารณ์ก็ตาม เธอตามมาทีหลัง พร้อมกับคริส มาร์แกร์, อแล็ง เรแน, ฌากส์ เดมี ในนามกลุ่ม Left Bank) ถึงพวกเขาเปลี่ยนแปลงความเป็นภาพยนตร์ของโลกไปตลอดกาล แต่ว่าแต่ละคนนั้นก็ยังมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าคนที่ขึ้นชื่ออย่าง ฌอง-ลุค โกดาร์ด หรือ ฟร็องซัว ทรูว์โฟ ก็ตาม และวาร์ดาก็เป็นคนที่โดดเด่นอย่างมากในกลุ่มเช่นเดียวกับกลุ่มคนที่บอกไว้ก่อนหน้า และภายหลังเธอมีความโดดเด่นนำหน้าผู้กำกับร่วมรุ่นหลายๆ คน ด้วยผลงานที่สร้างอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นที่รักของคนรักหนังทั่วโลก

ความโดดเด่นของอานเญส วาร์ดา ที่นอกจากจะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างละมุนละม่อมและน่ารัก ให้พลังบวกแก่ทุกคนที่ได้ดู เธอสังเกตและใส่ใจรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ที่คนมองข้าม และเธอเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของขบวนการเฟมินิสต์ในโลกภาพยนตร์ เธอแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและพลังของสตรีที่ทัดเทียมไม่แพ้ผู้ชายทั้งในจอและนอกจอภาพยนตร์ แต่สิ่งสำคัญที่เราจะเล่าก็คือเธอยังเป็นคนใช้เสียงและภาพได้มีประสิทธิภาพมากที่สุดคนหนึ่ง อย่างคำพูดที่จะได้เห็นในคลิปที่ว่า “ภาพยนตร์เป็นสื่อที่ขึ้นอยู่กับภาพ แต่แค่ภาพนั้นเล่าเรื่องราวได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น” หากจะถามว่าการใช้เสียงในภาพยนตร์ของเธอนั้นโดดเด่นขนาดไหน ก่อนอื่นขอให้ลองดูตัวอย่างจากคลิปนี้ของ fandor ก่อน

ก่อนจะเข้าเนื้อหาของบทความนั้นต้องอธิบายคำศัพท์ที่จะได้เห็นในบทความนี้เป็นหลัก ซึ่งเกี่ยวกับการใช้เสียงในภาพยนตร์ การใช้เสียงโดยพื้นฐานแยกออกเป็น 2 แบบ คือ การใช้เสียงที่ปรากฏแหล่งเสียงในเฟรม (diegetic) เช่น เสียงพูดจากตัวละคร เสียงเพลงที่เปิดจากวิทยุ กับการใช้เสียงที่ไม่ปรากฏแหล่งเสียงในเฟรม (non-diegetic) เช่น เสียงความคิดในใจของตัวละคร เสียงสกอร์ประกอบฉาก เป็นต้น จากคลิปที่ได้ชมไปข้างต้นจะได้ยินชัดว่าเธอค่อนข้างปล่อยในการใช้เสียงของการปรากฏแหล่งเสียงในเฟรมค่อนข้างชัด ถึงแม้ว่าจะเป็นเสียงที่ปกติในภาพยนตร์จะใช้เป็นเสียง ambient คือเสียงประกอบฉาก จะไม่โดดเด่นเท่าเสียงพูดคุยของตัวละครที่พูดคุยกัน หรือเสียงของสกอร์ที่ต้องการขับเน้นอารมณ์ บ่อยครั้งการไม่มีเสียงสกอร์เข้ามาประกอบฉากนั้นเพราะว่าจะเป็นการขับเน้นบรรยากาศมากกว่า แต่วาร์ดานั้นใช้เสียงเพลงและเสียงอื่นๆ เสมือนว่านี่คือห้องทดลองของเธอ ดั่งคลิปที่ได้แสดงให้เห็น เพราะการไม่ใช้เสียงเพลงของเธอนั้นไม่ใช่ความเงียบของจริง มันยังมีเสียงต่างๆ ที่สามารถประกอบกับเป็นสกอร์ของหนังได้

เพื่อขยายความยอดเยี่ยมในการใช้เสียงของเธอได้อย่างชัดเจนขึ้น เราได้เจอบทความหนึ่งที่ได้วิเคราะห์การใช้เสียงของวาร์ดา จาก Claudia Gorbman ศาสตราจารย์ที่ศึกษาภาพยนตร์จาก University of Washington Tacoma เธอเขียนหนังสือ Unheard Melodies: Narrative Film Music เกี่ยวกับหน้าที่ของการใช้เพลงในภาพยนตร์ตั้งแต่เป็นยุคเงียบจนมีเสียงพูดในปัจจุบัน เธอสังเกตว่าวาร์ดานั้นเป็นคนรักเสียงเพลงอย่างมาก เธอใช้เพลงในหนังเป็นส่วนหนึ่งการออกแบบภาพของเธอ วาร์ดามีคนทำสกอร์เพลงคู่บุญอย่าง Joanna Bruzdowicz คอมโพสเซอร์ชาวโปแลนด์ที่ร่วมงานกันตั้งแต่ Vagabond ไปจนถึง The Gleaners and I นอกจากนั้นเธอยังมีการใช้แนวเพลงที่หลากหลายตั้งแต่เพลงป๊อบร่วมสมัยไปจนถึงฮิปฮอป ซึ่งในเรื่อง Cléo de 5 à 7 นั้นเธอได้ใช้งาน Michel Legrand คอมโพสเซอร์ระดับตำนานชาวฝรั่งเศส ซึ่งเขาได้เล่นเป็นมือเปียโนที่แต่งเพลงให้กับ Cléo ด้วย

Joanna Bruzdowicz (จากคลิป Joanna Bruzdowicz à propos de “Les Glaneurs et la glaneuse” d’Agnès Varda)

บทความนี้จะโฟกัสไปที่หนังของวาร์ดาชั้นครูหลักๆ สองเรื่อง คือ Cléo de 5 à 7 (1962) และ Vagabond (1985) หนังทั้งสองนั้นโฟกัสไปที่ชีวิตของตัวเอกที่เป็นผู้หญิง หนึ่งคนที่กำลังจะมีชะตาชีวิตกำลังจะตาย และอีกหนึ่งคนที่เร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ เหมือนวันพรุ่งนี้ไม่มีอยู่จริง และความเหมือนของตัวเอกหญิงทั้งสองคนนั้นชื่นชอบเสียงเพลงเหมือนกัน และเพลงในเรื่องนั้นต่างก็มีส่วนช่วยในการรับรู้แรงขับเคลื่อนและเรื่องราวของตัวละครไปพร้อมกัน

Cléo de 5 à 7 ว่าด้วยเรื่องของ Cléo หญิงสาวนักร้องที่กำลังรอผลตรวจที่เธอไปตรวจมาก่อนหน้า เธอกังวลว่าเธออาจจะเป็นโรคที่ร้ายแรงจนถึงชีวิต จึงได้ไปหาหมอดูเพื่อทำนายถึงอนาคตที่เธอกำลังจะได้เจอว่าจะดีหรือไม่ แต่สุดท้ายเธอก็เหมือนจะรู้ชะตาตัวเองในทางอ้อม จึงเกิดความหวั่นวิตกว่าเธอจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ความโดดเด่นของหนังเรื่องนี้คือการที่หนังทั้งเรื่องใช้เวลาเล่าเรื่องเกือบตามจริง ตั้งแต่เวลาห้าโมงเย็นไปจนถึงหนึ่งทุ่ม ซึ่งคือเวลาที่เธอจะไปรู้ผลตรวจนั้น ภาพจากตอนแรกที่เคยเป็นสีจะกลับกลายเป็นขาวดำด้วยความวิตกและหม่นหมองของเธอ และหนังจะแบ่งบทเป็น chapter ตามช่วงระยะเวลาต่างๆ

Cléo de 5 à 7

ใน Cléo de 5 à 7 นั้นเราจะได้ยินทั้งเสียงที่ปรากฏแหล่งเสียงและไม่ปรากฏแหล่งเสียงอย่างชัดเจน และเชื่อมโยงกันค่อนข้างชัดด้วย ซึ่งเพลงหัวใจสำคัญของเรื่องนี้นั้นจะมีอยู่สองเพลง หนึ่งคือ “La Belle P.” และเพลง “Cri d’amour” ซึ่งเพลงแรกนั้นบ่งบอกบุคลิกความหลงตัวเองของตัวเอกหญิง ความเป็นป๊อบสตาร์ที่ต้องแสดงถึงความงามให้คนอื่นเห็นอยู่ตลอด ซึ่งจะครอบคลุมอารมณ์ของตัวละครในช่วงแรกของหนัง ส่วนอีกเพลงนั้นเป็นเพลงที่เราจะได้ยินครั้งแรกเมื่อตอนซ้อมร้องเพลงระหว่าง Cléo กับคู่หูนักแต่งเพลง ซึ่งเป็นเพลงที่ให้อารมณ์เศร้าหมอง และเนื้อเพลงที่น่ากลัว จึงเป็นเพลงที่ถ้าได้ยินเมื่อไหร่ มันอาจบ่งบอกว่าเธอกำลังคิดถึงเรื่องความตาย ซึ่งทั้งสองเพลงนี้เกื้อหนุนมุมองที่เป็นทั้งการเล่าเรื่องและบ่งบอกอารมณ์ของเธอ

เพลงธีมแรกนั้นปรากฏตัวออกมาแบบไม่ปรากฏแหล่งเสียงเป็นส่วนใหญ่ เราจะได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกตั้งแต่ฉากแรกที่ Cléo ได้เข้าไปพบกับหมอดูไพ่ และเพลงจะเริ่มต้นหลังจากที่เธออกจากห้องนั้นไป น่าแปลกที่เพลงนั้นมีจังหวะประสานไปกับเสียงรองเท้าเดิน และผ่อนความเร็วของเพลงตามความเร็วในการเดินของเธอ ซึ่งเราจะรับรู้ในภายหลังว่านี่คือเพลงเวอร์ชั่นออร์เคสตร้าของเพลง “La Belle P.” จังหวะเพลงที่มีการยืดหยุ่นเคลื่อนไหวอยู่ตลอดทำให้ซีนนี้มีความเป็นมิวสิคัลอย่างมาก ซึ่งโดยปกติของหนังแล้ว การวางสกอร์ของหนังที่ถูกที่ถูกเวลา จะเป็นการส่งเสริมเพลงธีมของหนัง ที่จะทำให้คนดูนั้นเข้าใจตัวละครได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้น แต่วาร์ดานั้นใช้เพลงสกอร์ในจุดประสงค์อื่น เพราะมันยังไม่ได้มีเพลงนี้ที่เป็นเวอร์ชั่นหลักปล่อยขึ้นมาให้เราได้ยินก่อน เธอฮัมเพลงนี้ในช็อตแรกๆ ของหนังขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นใจในความงามและความมีชีวิตชีวาของตัวเอง หลังจากนั้นกล้องก็จะเริ่มตามตัว Cléo โดยจัดตำแหน่งให้เธออยู่ศูนย์กลางของเฟรม และเพลงก็ได้สร้างความซับซ้อนของการมองและการใช้เสียงที่เธอมองตัวของตัวเอง

ส่วนเพลง “Cri d’amour” ที่เราได้ยินนั้น เป็นการใส่เพลงเข้ามาในตอนที่พวกเขากำลังซ้อมเล่นเพลงนี้ไปด้วยกัน ซึ่งในฉากนั้นตัว Cléo เองเพิ่งเคยได้รับชีทเพลงเป็นครั้งแรก แต่เธอกลับร้องได้อย่างครบถ้วนเหมือนเคยซ้อมเพลงนี้มาก่อน นี่คือเพลงที่สะท้อนความเป็นตัวเองได้อย่างแนบเนียน ราวกับว่าเธอเป็นเจ้าของเพลง หรือเธอคือตัวเพลงนี้เอง มันคือข้อความที่บ่งบอกความเป็นตัวเธออย่างครบถ้วน ซึ่งวาร์ดาใช้เพลงนี้และซีนนี้เป็นจุดเปลี่ยนของหนัง เป็นเจตนาที่ทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าของเนื้อเรื่องอย่างชัดเจนในขณะที่เวลาภายในหนังนั้นยังคงเดินหน้าต่อไป กล้องในเรื่องนั้นเคลื่อนไหวราวกับละครเวที ทั้งฉากนั้นเป็นลองเทคเคลื่อนไหวยาว กล้องคอยเปลี่ยนระยะของเธอ หลังจากร้องจบแล้วเธอได้เปลี่ยนตัวตนของตัวเอง ถอดวิกบลอนด์ออกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหญิงแบบดั้งเดิม ใส่ชุดดำและเดินหนีออกจากห้องนั้นไป และหลังจากนั้นเมื่อเธอได้เจอเด็กคนหนึ่งที่กำลังเล่นเปียโนของเล่น ซึ่งกลายเป็นเพลงนี้เช่นกัน กลายเป็นว่าเพลงนี้ได้กลายเป็นตัวแทนความคิดของ Cléo ที่ได้แสดงความรู้สึกผ่านเสียงเพลง

Michel Legrand จากเรื่อง Cléo de 5 à 7

ในคำนำของบทภาพยนตร์ที่วาร์ดาได้ตีพิมพ์ เธอได้ใช้การเปรียบเปรยของเพลงอธิบายเป้าหมายของเธอที่ทำให้คนดูได้รู้สึกถึงความแปรผกผันของอารมณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาที่จำกัด “ฉันอยากให้คนได้ฟังในเวลาเดียวกันในระหว่างที่เสียงของไวโอลินและเครื่องเคาะจังหวะดังขึ้น ซึ่งในกลไกของเวลาที่ยังเคลื่อนไหวไม่มีวันหยุด Cléo ก็เดินทางผ่านประสบการณ์ที่เธอเป็นเจ้าของเส้นทางเพียงคนเดียว” เพลงในเรื่องนั้นเป็นตัวแทนของเวลาที่สามารถนับได้ซึ่งก็คือเป็นเสียงของเครื่องนับจังหวะ และการรับรู้อารมณ์ผ่านเสียงไวโอลิน ควบคู่ไปกับการเรียบเรียงตัดต่อของภาพเพื่อควบคุมเวลาให้เดินทางกันไปตามจริง

ส่วนเรื่องของ Vagabond นั้นเริ่มด้วยภาพแห่งความตายของหญิงสาวคนหนึ่ง ผู้ที่ไม่มีใครรู้ที่มาที่ไปว่าเธอเป็นใคร และตายจากสาเหตุอะไร แล้วหลังจากนั้นเรื่องจะเริ่มต้นขึ้น ว่าด้วยการเดินทางของ Mona หญิงสาวคนนั้น เธอไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีเพื่อน ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีอาชีพที่ทำอย่างชัดเจน เราแทบจะไม่รู้จักเรื่องราวเบื้องหลังของผู้หญิงคนนี้ แต่เราจะติดตามชีวิตของเธอที่โบกรถเดินทางไปตามที่ต่างๆ พบเจอกับผู้คนมากมายหลายหน้าทั้งผู้คนที่ใจดี หรือใจร้ายกับตัวเธอ ในโลกที่มีแต่ผู้ชายแห้งแล้ง ป่าเถื่อน เธอเข้มแข็ง เกรี้ยวกราด หวาดกลัว ต่อสู้กับภัยอันตรายทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว เธอไม่ต้องการให้ใครยุ่งเกี่ยวกับเธอ และนี่เป็นการเดินทางที่ไม่มีจุดหมายปลายทาง เพราะฉะนั้นอย่าคาดหวังเรื่องราวการเดินทางที่ทำให้เราได้อะไรจากการเดินทางครั้งนั้น สลับกับผู้ทำหนังที่สืบสาวราวเรื่องถึงที่มาของหญิงคนนี้ว่าเธอคือใคร ด้วยการสอบถามจากคนที่เคยพบเจอกับเธอ แต่ต่างคนนั้นก็ต่างพบกับตัวเธอในแต่ละแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง ว่ากันว่านี่คือเรื่องราวที่หนักหน่วงที่สุดของวาร์ดา

Vagabond

ถึงแม้ Vagabond จะดูเหมือนเป็นหนังที่ไม่มีเสียงเพลงเลย ทั้งเรื่องมีแต่เสียงของความเงียบและความสงบเสงี่ยมอยู่เต็มไปหมด เสียงเพลงที่ไม่ปรากฏแหล่งเสียงหนึ่งเดียวของหนังเรื่องนี้ เป็นเพลงสกอร์ที่มาพร้อมกับลองเทคที่แทร็กตัวละครจากขวาไปซ้ายอันเป็นที่จดจำ เสียงเพลงของ Joanna Bruzdowicz มีความร่วมสมัยมาขึ้นจากเสียงเครื่องสาย ไดนามิคของเพลงที่ค่อนข้างกลางๆ โทนของเพลงที่ให้ความรู้สึกคลุมเครือ ทุกการเดินทางที่ควบคู่ไปกับการถ่ายช็อตแบบแทร็กกิ้งนั้นเห็นชัดว่ามาจากเพลงที่บรรเลงในแบบที่ใกล้เคียงกัน เพลงที่เข้ามาแต่ละครั้งจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ในเพลงสกอร์เหล่านี้จะสะท้อนถึงสิ่งสำคัญบางอย่างในช็อตการเดินทางทั้ง 12 ครั้งของเธอ ซึ่งในทำนองที่ซ้ำกันไปมานี้ บางครั้งประโยคเพลงจะกลายเป็นท่วงทำนองที่ชัดเจน แต่บ่อยครั้ง คิวเพลงจะหยุดหายไปอย่างดื้อๆ หายไปในอากาศ โดยไม่มีการเชื่อมโยงทางดนตรีใดๆ

ซึ่งการเลือกใช้เพลงสมัยใหม่ของ Bruzdowicz และ วาร์ดาในซีนการเดินเท้าของ Mona นั้นสอดคล้องกับบทความ Composing for the Films ที่ Hanns Eisler นักแต่งเพลงชาวออสเตรียได้เขียนไว้ เขาเขียนว่าวิธีการใช้เพลงดั้งเดิมนั้นให้ความรู้สึกที่ “สะดวกสบายและเป็นความไพเราะที่ถูกตกแต่งมาอย่างดีแล้ว” ซึ่งเพลงเหล่านั้นจะทำให้พลังของภาพนั้นลดน้อยถอยลงไปจากเดิม และในทางกลับกัน เขาเขียนว่า “การพัฒนาการใช้เพลง avant-garde นั้นเปิดแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ และความเป็นไปได้ที่ไม่ได้ที่สิ้นสุด มันไม่มีเหตุผลเลยที่ภาพยนตร์จะไม่ลองใช้เพลงประเภทนี้” ซึ่งวิธีการใช้เพลงที่ให้ความรู้สึกคลุมเครือของวาร์ดานั้นฉีกธรรมเนียมความโรแมนติกและความรู้สึกแบบเดิมๆ ด้วยการใช้เครื่องดนตรีแบบน้อยชิ้นนั้นไม่ได้อธิบายความรู้สึกภายในของ Mona แต่อธิบายภาวะความโดดเดี่ยวของตัวละคร การคาบเกี่ยวระหว่างความเป็นความตาย และความหนาวเหน็บของชนบทในเรื่อง

แต่มีเพลงอีกประเภทหนึ่งที่วาร์ดาเลือกใช้ในหนังก็คือเพลงป๊อบและเพลงร็อคโดยทั่วไป ซึ่งไม่ได้เป็นเพลงซาวด์แทร็กที่ลอยขึ้นมาอย่างไม่มีแหล่งเสียง เพลงเหล่านี้ถูกเปิดภายในซีนทั้งหมด ด้วยความที่ Mona ก็เป็นคนรักเสียงเพลงเช่นเดียวกับ Cléo เธอจะเปิดเพลงฟังให้เราเห็นบ่อยๆ ในหนัง แต่เพลงที่เปิดนั้นก็ยากที่จะบอกว่ามันเป็นอุบัติเหตุมากกว่าจงใจ อย่างเพลง A Contre Courant ของศิลปินเพลงป๊อบชาวฝรั่งเศส Valérie Lagrange ในช่วงแรกๆ ของหนังที่เธอหยอดเหรียญเปิดตู้เพลง ซึ่งเพลงนี้เป็นที่มีทำนองสไตล์เร็กเก้ เรื่องราวของเพลงนั้นก็ซ้อนทับกับเรื่องราวของ Mona ที่เป็นนักเดินทางโบกรถที่แหกคอกกว่าคนทั่วไป กลายเป็นการร่วมเรื่องราวของผู้หญิงทั้งสองคนที่ถูกปฏิเสธจากค่านิยมของสังคม เมื่อเพลงนี้เล่นขึ้น เราจะเห็น Mona ในมุมขนาดใกล้ กำลังกินขนมปังอยู่ สายตาที่ว่างเปล่าของเธอจะไม่แสดงให้เห็นความรู้สึกภายใน แต่ตัวเพลงนั้นจะเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ เหมือนเป็นการเข้าใจและล้อเลียนไปกับตัวภาพเอง

ด้วยเพลงทั้งสองรูปแบบที่ใช้ใน Vagabond ได้ดึงเอาความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่าเสียงเพลงที่ปรากฏแหล่งเสียงและไม่ปรากฏแหล่งเสียงมาใช้ ส่วนของเพลงสกอร์ที่ใช้เครื่องสายนั้นเห็นได้ชัดว่าจะไม่สามารถขยายความโลกของตัวเอกได้ ในขณะที่เพลงป๊อบและร็อคนั้นทำหน้าที่แทนเสียงของเธอ สกอร์ของ Bruzdowicz เป็นเหมือนเสียง voice-over ที่เล่าเรื่องราว ผสมไปกับเสียงพูดของวาร์ดาเองที่เราได้ยินในช่วงต้นเรื่องเพียงแค่ครั้งเดียว เสียงเหล่านี้เปรียบเทียบได้กับการเล่าเรื่องที่เป็นกลาง (objective narration) ที่เป็นเสียงที่เชื่อถือได้มากกว่าคำบอกเล่าของตัวละครที่ได้ถูกสัมภาษณ์ในหนังเรื่องนี้ ด้วยความซับซ้อนของตัวละคร Mona เพลงสกอร์นั้นจะขับเน้นการตีความตัวละครอย่างเป็นกลางมากขึ้น มันจะช่วยสร้างระยะห่างอย่างที่มีคนเขียนไว้ว่า “ความอวดดีของคนที่ชอบเก็บตัวแบบ Mona นั้นจะกีดกันวิธีการวิเคราะห์ Projective Identification (กลไกการป้องกันทางจิตเพื่อหลีกหนีความรู้สึกที่เจ็บปวดจากการแยกจากคนหรือสิ่งของที่รัก) แบบดั้งเดิมของตัวละครทิ้งไป”

สิ่งที่ Gorbman พยายามอธิบายก็คือการใช้เพลงของวาร์ดาในหนังนั้นเหมือนเป็นการนำทางให้คนดูได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งภาพและเสียงในการพิจารณาถึงตัวละคร Cléo de 5 à 7 นั้นพาไปรู้จักสภาวะจิตใจของผู้หญิงที่หวาดกลัวกับความป่วยไข้และความตาย เสียงที่ไม่ปรากฏแหล่งเสียงของ Michel Legrand นั้นขยายความเสียงเพลงที่ปรากฏแหล่งเสียงให้กลายเป็นเพลงสกอร์ที่พาคนดูอย่างเราไปอยู่ในกระแสสำนึกของตัวละคร ส่วน Vagabond นั้นจะเป็นเหมือนการทดลองใช้เสียงอีกแบบ เป็นการนำเสนอตัวละครที่ทำความเข้าใจได้ยาก คนดูนั้นต้องประกอบสร้างตัวละครของเธอ จากปากคำของพยานคนอื่นที่หลากหลายมุมมอง ซึ่งเชื่อมโยงกันโดยเสียงเพลงไร้แหล่งเสียงที่ให้ความรู้สึกคลุมเครือ เป็นมุมมองที่ตัดสินด้วยสายตาจากคนภายนอก มากกว่ามุมมองของคนภายในหรือตัวละครเอง ด้วยการอธิบายอย่างคร่าวๆ ที่พาให้เห็นวิธีการใช้เสียงเพลงของวาร์ดานี้ เป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงความรุ่มรวย หลากหลาย และความละเอียดลออในการใช้งานที่สนับสนุนความเป็น cinecriture (คำศัพท์ที่วาร์ดานิยามวิธีการทำหนังของตัวเอง แปลอย่างหยาบๆ ว่าการร้อยเรียงภาพยนตร์) ของเธอ

RELATED ARTICLES