Collective

(2019, Alexander Nanau)

หนังสารคดียอดเยี่ยมจากหลายเวทีประจำปีนี้ เข้าชิงออสการ์หนังสารคดีและหนังสาขาหนังต่างประเทศด้วย 

หลังจากที่เคยดูหนังโรมาเนียเรื่อง The Death of Mr. Lazarescu เมื่อปี 2005 ซึ่งเล่าเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลต่างๆ ตลอดทั้งคืนในกรุงบูคาเรสต์จนถึงเช้า ตอนนั้นรู้สึกได้ว่าใช่เลย บ้านเราก็แบบนี้แหละ แม้ว่าเราจะมีการแพทย์ทันสมัยและระบบสาธารณสุขที่ดีพอสมควร แต่เรื่องระบบส่งต่อยังมีเรื่องต้องพูดคุยกันอีกมาก

ครั้นมาดู Collective ปีนี้ ดูจบพบว่าเกิดความรู้สึกเหนือจริง เป็นไปได้หรือ เป็นความจริงหรือ นี่เป็นหนังที่ถ่ายทำภายหลังแล้วควรเขียนว่า based on the true story หรือว่าเป็นเรื่องจริงและถ่ายทำจากเหตุการณ์จริง ตัวบุคคลจริง และหนอนในบาดแผลจริงๆ เหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะทราบว่าหนังชิงออสการ์ “หนัง” สาขาต่างประเทศด้วย

อีกเหตุหนึ่งเพราะไม่อยากจะเชื่อว่าบางเรื่องยังมีอยู่บนโลก

เรื่องที่ไม่อยากเชื่อว่าจะมีอยู่บนโลกคือเรื่องการเจือความเข้มข้นของน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ใช้ในโรงพยาบาล ด้วยความร่วมมือของบุคคลหลายระดับตั้งแต่ระดับสูงไปจนถึงระดับโรงพยาบาล เรื่องซื้อของใช้หรืออุปกรณ์การแพทย์คุณภาพไม่ดีนักในราคาสูงกว่าท้องตลาดนี้มีให้ได้ยินเสมอๆ ในบ้านเรา มีแท็คติกด้านการจัดซื้อจัดจ้างมากมายในโรงพยาบาลทั้งที่มีเจตนาดีและเจตนาไม่ดีตั้งแต่แรก แต่เรื่องเจือจางน้ำยาฆ่าเชื้อนี้สารภาพว่าไม่ยอมเชื่อง่ายๆ ว่าจะมีใครบนโลกกล้าทำและทำเป็นขบวนการขนาดใหญ่

ถึงนาทีนี้ก็ยังมั่นใจว่าประเทศไทยไม่มี เราไม่น่าจะตกต่ำถึงเพียงนั้น

แต่ถ้ารัฐยังบริหารประเทศแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่แน่นัก เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ “เพราะมันทำได้” แล้วถ้าเราเชื่อว่าทุกวันนี้อะไรๆ ก็ทำได้ทั้งนั้นโดยเอาผิดใครไม่ได้เลย เรื่องที่เกิดขึ้นที่โรมาเนียจะเป็นคำเตือนที่ดี

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือฉากที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขโรมาเนียคุยโทรศัพท์กับผู้อำนวยการสถาบันอะไรสักแห่งที่ยินยอมให้มีการผ่านการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลทั้งที่โรงพยาบาลนั้นไม่ควรผ่านการรับรอง ฉากนี้ชวนให้ระแวงตอนนั่งดูอีกเช่นกันว่านี่เป็นฉากถ่ายทำ เซ็ตอัพขึ้นเพื่อการถ่ายทำ หรือเป็นฟุตเตจจริงๆ ในวันที่รัฐมนตรียกหูโทรศัพท์คุยจริงๆ เสียงโทรศัพท์ฝ่ายตรงข้ามเป็นเสียงของเขาจริงๆ เมื่อตรวจสอบข้อมูลดูแล้วพบว่าทั้งหมดที่เห็นนั้นเกิดขึ้นจริงๆ ตามนั้น มิใช่การถ่ายทำ

ซึ่งก็งงมากขึ้นไปอีกว่าทีมผู้สร้างทำได้อย่างไร ขออนุญาตรัฐมนตรีฯ ได้อย่างไร แน่นอนเราตั้งคำถามได้ด้วยว่ารัฐมนตรีฯ รู้อยู่ว่ามีกล้องจับและจะทำหนังสารคดี ท่านสร้างภาพรึเปล่า

เรื่องนี้ไม่เหมือนเรื่องน้ำยาฆ่าเชื้อ การตรวจเพื่อพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลของบ้านเราวันนี้มีปัญหา เราเริ่มต้นงานนี้ยี่สิบปีก่อนด้วยการทำงานแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ในยุคแรกๆ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เพราะตอนที่การพัฒนาและตรวจคุณภาพโรงพยาบาลเริ่มต้นใหม่ๆ มีแรงต่อต้านอย่างหนักจากทุกโรงพยาบาลและบุคลากรเกือบทุกคน ยุทธศาสตร์การเอาทุกคนมาเป็นพวกโดยตั้งหมุด “เพื่อนช่วยเพื่อน” เป็นเรื่องถูกต้อง และอาจจะเป็นเรื่องจำเป็น

ไม่ทราบว่าวันนี้การพัฒนาและตรวจคุณภาพโรงพยาบาลในประเทศไทยยังตั้งอยู่บนฐานคิดนี้หรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าจะมีโรงพยาบาลที่เสกสรรปั้นแต่งหน้าตาเพื่อให้ผ่านการรับรองมากขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นเพราะเพื่อนช่วยเพื่อน ผมเคยพูดเสมอว่าการพัฒนาและคุณภาพโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประเทศไทย และวันนี้ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น แต่น่าเป็นห่วงมากว่าเรื่องที่ดีที่สุดนั้นจะหนีไม่พ้นวัฒนธรรมการทำงานแบบราชการและวัฒนธรรมการทำงานแบบไทยๆ

หนังสารคดีเรื่องนี้อาจจะมิได้ตั้งใจให้ภาพของระบบสาธารณสุขโรมาเนียที่เน่าเฟะเท่านั้น แต่ต้องการสื่อเรื่องการทำงานของสื่อมวลชนและระบอบประชาธิปไตยด้วย

เป็นที่ชัดเจนว่าสื่อมิได้มีหน้าที่เพียงนำเสนอข่าว สื่อมีหน้าที่สอบสวนด้วย ซึ่งสื่อกระแสหลักในประเทศไทยเวลานี้ไม่ทำ นอกจากนี้เมื่อทำแล้วต้องกล้าที่จะนำเสนอสู่สาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้นต้องกล้าที่จะนำเสนอผู้กำกับนโยบายของชาติผ่านช่องทางการเมือง แต่สื่อกระแสหลักของบ้านเราไม่ทำอะไรเลยสักข้อเดียว 

เราทำงานแค่ถ่ายทอดข่าวสารของรัฐ และนำเสนอข่าวชาวบ้านด้วยรูปจำลองดิจิตอลที่คิดว่าเท่

เรื่องยากสุดคือเรื่องการนำเสนอต่อรัฐ ซึ่งไม่เพียงต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ต้องการความกล้าหาญทางจริยธรรมของสื่อ กล่าวเฉพาะหนังเรื่องนี้ต้องการความกล้าหาญทางจริยธรรมของแพทย์ในโรงพยาบาลที่เห็นเหตุการณ์ด้วย จากนั้นคือความกล้าหาญทางจริยธรรมของนักการเมือง ซึ่งทั้งหมดนี้โรมาเนียกำลังพยายามพัฒนา

แม้ว่าโรมาเนียจะยังพัฒนาได้ไม่ดีที่สุด พวกเขาเพิ่งพ้นจากโซเวียตได้ไม่นานเลย ระบอบประชาธิปไตยกำลังเริ่มต้นและต้องการเวลา ชาวบ้านโรมาเนียอาจจะถูกกล่าวหาเหมือนชาวบ้านไทยว่าช่างไม่ประสาอะไรเสียจริงๆ แต่นั่นมิใช่เรื่องใหญ่ตราบเท่าที่เราไม่ใช้ทางลัดเป่านกหวีดเพื่อยับยั้งการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไปเสียก่อน

เลือกตั้งแพ้ก็เลือกตั้งใหม่ ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าทุกคนจะเติบโต

LATEST REVIEWS