FILM CLUB List : Queer Cinema (Part 2)

(รายชื่อรอบแรก)

ในโอกาส​ Pride Month นี้ Film Club ได้ชักชวนผู้คน ทั้งนักวิจารณ์ คนทำหนัง และคนดูหนังจำนวนหนึ่งมาร่วมกันเลือกภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศของผู้คน โดยแต่ละท่านมีอิสระในการเลือก ภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด ทั้งภาพยนตร์ หนังสั้น หนังทดลอง สารคดี ไปจนถึงมิวสิควิดีโอ โฆษณา หรือแม้แต่ คลิปไวรัล 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่สอง


ดูหนังทุกวัน : ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์

The Wedding Banquet (1993, Ang Lee, Taiwan/US)

ได้มีโอกาสกลับมาดูหนังเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งในช่วงปีนี้และอยากเขียนถึงมากกว่าเรื่องไหนๆ แม้ว่าหนังจะเก่ามากแล้ว และแม้ว่าเอามาดูตอนนี้ ประเด็นของหนังอาจจะเชยนิดๆ แล้วก็ได้ แต่โดยส่วนตัว The Wedding Banquet จะยังคงอยู่บน “top list หนังเกย์เปิดโลก” สำหรับเราต่อไปเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยน ..เพราะเราดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกทางช่อง 7 ในช่วงเช้าวันเสาร์ตอนม.ต้น (ใครรับผิดชอบการจัดโปรแกรมหนังเช้าวันเสาร์ช่อง 7 ตอนนั้นเราขอขอบคุณ) ในช่วงเวลาที่ก็ต้องบอกว่ายังไม่ได้เข้าใจตัวเอง 100% ยังไม่ได้รู้ว่าเกย์คืออะไร ไม่รู้ว่าคนเพศเดียวกันรักกันได้ไม่ได้อย่างไร หรืออะไรทั้งนั้น 

พล็อตเรื่องเริ่มจากหนุ่มไต้หวันที่มีชีวิตคู่อยู่ด้วยกันแฮปปี้ดีกับอีกหนึ่งหนุ่มฝรั่งผมทองในอเมริกา แต่เรื่องมันยุ่งตรงที่พ่อแม่คนจีนของนางย่อมอยากให้ลูกชายแต่งงานมีลูกหลานสืบสกุล นางก็เลยจัดบริการหาคู่ให้ลูกชาย วุ่นวายมากเข้า เอาวะ ลูกชายกับแฟนเลยคิดกันว่าหาผู้หญิงมาหลอกว่าเป็นแฟนซักคนละกัน นางก็เลยไปจ้างผู้หญิงจีนที่ยังไม่มีกรีนการ์ดมาแต่งงานด้วยในนามเพื่อให้พ่อแม่สบายใจ แต่เรื่องก็เลยเถิดไปอีกเมื่อในคืนวันแต่งงาน ทั้งเพื่อนแกล้งด้วยและความเมาเป็นเหตุด้วย พาไปให้ทั้งสองคนได้กันจนฝ่ายหญิงท้อง เรื่องวุ่นๆ นี้จะจบยังไงอยากให้ไปหาดูกัน (ตอนนี้ปรากฏว่ามีให้เช่า/ซื้อได้ใน iTunes นะ)

กลับมาที่ประเด็นความเป็นหนังเกย์เปิดโลก คงต้องอธิบายว่า เพราะฉาก love scene ที่ไม่ได้มีอะไรหวือหวา แต่ก็คือผู้ชายสองคนกอดจูบนัวกัน แล้วก็พากันเดินขึ้นบันไดไปต่อแบบกางเกงหลุดลงมากองที่ตาตุ่มแล้วนั้น เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นในหนังเรื่องไหนมาก่อนในวัยม.ต้น เราอาจจะชี้ชัดไม่ได้หรอกว่า The Wedding Banquet เป็นหนังที่ทำให้เราเข้าใจตัวเอง แต่เราชี้ชัดได้แน่ๆ ว่าหนัง “สะกิดใจ” เรามากในตอนนั้น และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ passion ในการสำรวจและเสาะหาหนัง queer มาดูเพิ่มเมื่อโตขึ้น ยาวมาจนปัจจุบัน

ในการดูซ้ำใหม่ The Wedding Banquet อาจจะไม่ได้เป็นหนังที่ perfect ขนาดนั้นทั้งในแง่ของงานสร้างหรือว่าการแสดง แต่เราคิดว่าประเด็นของหนุ่มเควียร์ที่ต้องมีชีวิตคู่แบบแอบซ่อน ต้องต่อสู้กับ tradition และความเชื่อของคนรุ่นพ่อแม่ ต้องพยายามเยอะกว่า straight people เพียงเพื่อให้ได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียม อะไรต่างๆ เหล่านี้น่าจะมีส่วนทำให้หนังยังคงเป็น example ที่ดีให้ชาว LGBT ได้ดูแล้วขบคิดกันต่อ แล้วก็ทำให้หนังเลอค่าพอที่จะอวดสรรพคุณได้ว่า นี่คือหนังเรื่องแรกจากไต้หวันที่ได้เข้าชิง Best Foreign Language Film ที่งานออสการ์ปีนั้น แถมยังชนะรางวัลหมีทองคำที่เทศกาลหนังเบอร์ลินมาแล้วอีกต่างหาก


ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล : อาจารย์มหาวิทยาลัย, ประธานคณะกรรมการ Amnesty International Thailand

I want you to be (2015, บัณฑิต สินธนภารดี)

หนังที่พูดถึงการรักข้างเดียวที่จมจ่อมไปกับความสับสนและความจัดการตัวเองไม่ได้ของวัยเยาว์ อัดแน่นไปด้วยอารมณ์เศร้าที่พลุ่งพล่านแต่บ้างครั้งก็กลับอ่อนหวาน หนังงดงามมากตรงที่พาเราทะลุกรอบคิดเรื่องเพศไป แต่ก็ยังพาเราสำรวจการไปไม่พ้นเส้นแบ่งความเป็นเพศทั้งของตัวละครและของตัวคนดูเองด้วย มันทำให้เราตระหนักอีกครั้งว่ากรอบคิดเรื่องเพศคือสิ่งกอปรสร้างโดยสังคมและกรอบนั้นก็ก่อร่างเป็นตัวเราอีกทีด้วยเช่นกัน


กฤตนัย ธีรธรรมธาดา : แพทย์ นักเขียนประจำ Film Club

A Single Man (2009, Tom Ford, US)

พูดถึงหนัง LGBTQ ส่วนมากจะทำให้เรานึกถึงหนังอันว่าด้วยความคับข้องใจของการต้องก้าวผ่านม่านประเพณี หรือความรักอันต้องห้ามอันเป็นบ่อเกิดของความซับซ้อนในเนื้อเรื่อง แต่สิ่งที่เราชอบใน A Single Man คือมันเป็นหนังที่ไม่ได้ address ตรงนี้มากเท่าที่กับทำให้เราเห็นว่าการเป็น LGBTQ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของความรักที่เรามีต่อใครสักคน หรือทำให้เราแสดงออกเมื่อสูญเสียเขาไปแตกต่างจากคู่รักต่างเพศทั่วไป

A Single Man เป็นงานกำกับแรกของ Tom Ford ดีไซน์เนอร์เจ้าของแบรนด์ชื่อดังชื่อเดียวกัน ซึ่งสร้างจากนิยายของนักเขียนเกย์ Christopher Isherwood ที่สร้างสรรค์ผลงานนี้ทิ้งไว้ในช่วงปี 1960 (ซึ่งคือครึ่งศตวรรษมาแล้ว!)

หนังฉายครั้งแรกเมื่อปี 2009 ในเทศกาลหนังเวนิซก่อนได้รับชื่อเสียงอันโด่งดังทั้งจากสไตล์การกำกับ งานศิลป์ที่มีคนพูดบ่อยๆ ว่าเหมือนดูโฆษณาสินค้าแฟชั่นต่อกันชั่วโมงครึ่ง (ก็อาจจะเพราะยกโหลนักแสดงสมทบมาจากรันเวย์จนเกือบหมดทั้งเรื่องได้ รวมถึง Ford เองก็คงไม่อยากน้อยหน้าเนื่องจากสถานะในวงการแฟชั่นเองประกอบกัน) รวมถึงนักแสดงนำที่ได้ Colin Firth ที่เล่นได้เรียบง่ายแต่ลุ่มลึกในทุกรายละเอียด และ Nicholas Hoult ที่ตอนนั้นอาจไม่ดังเป็นพลุแตกเท่าหลังๆ นี้มาสมทบ (รวมถึง Julianne Moore)

หนังว่าด้วยชีวิตวันธรรมดาที่ไม่ธรรมดาวันหนึ่งของศาสตราจารย์วัยกลางคน George (Colin Firth) ซึ่งสูญเสีย Jim (Mathew Goode) คู่รักที่คบและอยู่กินกันมาได้เกือบจะยี่สิบปีไปกับอุบัติเหตุรถยนต์ เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาได้เกือบจะครบปี แต่ความหดหู่ที่ต้องตื่นมาเผชิญกับภาพเก่าๆ ซ้ำๆ ก็ยังซ้ำเติม จึงทำให้เขาตัดสินใจอยากจะจบชีวิตลงในวันนี้ 

สิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับ A Single Man คือมันพูดถึงการสูญเสียคนรัก รวมถึงความรู้สึกซึมเศร้าได้อย่างเป็นสากลมากๆ ถ้าเราเอาเพศสภาพออกจากหนัง และเพ่งพิจารณาด้วยใจที่เป็นกลางก็จะพบได้ว่า นี่ไม่ใช่หนังเกย์ หากแต่เป็นหนังที่พูดถึงความสูญเสียอันเกินจะรับไหวซึ่งไม่ว่าเพศไหนๆ ก็น่าจะเข้าถึงได้ไม่ต่างกัน

หากแต่ถึงกระนั้น หนังก็แสดงให้เห็นความเจ็บปวดเพิ่มเติมที่ถูกกดทับและกีดกันด้วยเพศสภาพในยุคสงครามเย็นด้วย ในฉากที่ตัวละครญาติของ Jim โทรหา George แล้วแจ้งว่าไม่อนุญาตให้เขามาร่วมงานศพ (แม้การเสียชีวิตในครั้งนี้จะเกิดขึ้นเนื่องจาก Jim ขับรถกลับไปเยี่ยมบ้านด้วยตัวคนเดียว เพราะครอบครัวไม่เห็นด้วยกับการคบกันของสองคนนี้) หรือแม้กระทั่งฉากที่ Charley (Julianne Moore) เพื่อนสนิทที่เคยเป็นคนรักเก่าของ George ก่อนจะ come out แซวอย่างขาดความยับยั้งชั่งใจในนัดอาหารมื้อเย็นในวันที่เขาตัดสินใจจะปลิดชีวิตตัวเองว่า ทุกอย่างคงไม่เป็นแบบนี้ เธอกับเขาคงควงรักกันชื่นมื่น “ถ้าเขาไม่เป็นเกย์ไปซะก่อน” 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวล เราจึงคิดว่านี่เป็นหนังอีกเรื่องที่พูดถึงการสูญเสียคนที่เรารักซึ่งเป็นประเด็นสากล โดยมีคาแรคเตอร์ของ LGBTQ เป็น protagonist ได้อย่างสวยงามและมีมิติ ประกอบกับงานภาพศิลป์ที่หรูระยับ ทำให้ A Single Man เป็นหนึ่งในหนังที่เราคิดว่าสมควรได้รับการกล่าวถึงและชื่นชมเนื่องใน Pride Month เดือนนี้ครับ


สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี : นักเขียนประจำ Film Club

Hating Peter Tatchell (2021, Christopher Amos, Australia)

ตอนแรกลังเลว่าจะเลือกอะไรดีระหว่างเรื่องนี้กับ The Death and Life of Marsha P.Johnson (2017) ซึ่งเป็นหนังของแอคทิวิสต์ที่ขับเคลื่อนขบวนการไพรด์เหมือนกัน เลือกยากจริงๆ นักขับเคลื่อนไพรด์หลายคนน่าสนใจและพลังงานล้นเหลือมาก สุดท้ายก็เลือกเรื่องนี้เพราะว่าตัวซับเจกต์มันบ้ากว่า มันชวนตั้งคำถามมากกว่า และเขายังไม่ตาย ตรงนี้แหละที่มันคอยกระตุ้นเตือนว่าบนโลกแบบนี้มันยังมีคนที่สู้อยู่อย่างไม่หวาดกลัว แม้หมอจะเตือนว่า “คุณโดนตีหัวอีกไม่ได้แล้วนะ”

เวลามองปีเตอร์ แทตเชลล์ เราจะรู้สึกเหมือนเรากำลังมองนักขับเคลื่อนอีกพวกในบ้านเราด้วยเหมือนกัน พวกเขากัดไม่ปล่อย แถมชอบทำอะไรบ้าบิ่นจนต้องตั้งคำถามว่ามันจำเป็นต้องทำขนาดนั้นจริงๆ เหรอ แล้วทุกครั้งเราก็ได้คำตอบให้ตัวเองเหมือนเดิมว่ามันจำเป็นแหละ สำหรับพวกเขา ถ้าไม่ได้ “แสง” มันก็อันตรายถึงชีวิตจริงๆ

อีกจุดที่สำคัญมากในเรื่องคือการระวัง Moral High Ground เพราะมันง่ายมากเลยที่ขบวนการขับเคลื่อนใดๆ จะโดนเบี่ยงจนเป๋เพราะคิดว่าตัวเองดีกว่าชาวบ้านเขา ตรงนี้แหละที่เราพยายามจะขีดเส้นเตือนตัวเองไว้ตลอด


ชลนที พิมพ์นาม : นักเขียนประจำ Film Club

Living Single (ひとり暮らし / series 10 ep, 1996) ผกก. จิโร่ โชโนะ

สำหรับวัยรุ่นยุค 90’s น่าจะยังพอจำได้ว่า ช่อง 3 เคยเอาซีรีส์ญี่ปุ่นมาฉายตอนช่วงบ่าย จนกระทั่งมีเรื่องอื้อฉาวโดนด่าจากฉากข่มขืนในโรงเรียนจากซีรีส์ Miseinen ‘เพื่อนรักนักฝัน’ (Under Age, 1995) ก็เลยเป็นเรื่องสุดท้ายที่ได้ฉายตอนบ่าย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคนเลือกซีรีส์ญี่ปุ่นมาฉายของช่อง 3 ตอนนั้นคิดอะไรอยู่ ถึงได้เลือกเรื่องที่มีฉากเซ็กซ์มาฉายตอนบ่ายแบบนั้น ทั้งที่ก่อนหน้า ยังเป็นดราม่ารักวัยรุ่นวัยทำงานล้วนๆ จนกระทั่งช่องเอาซีรีส์ญี่ปุ่นกลับมาฉายอีกรอบ ก็ยัดเวลาไปเที่ยงคืนวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งก็ยังดีที่เป็นคืนวันหยุด ซึ่งเรื่องแรกที่ประเดิมเวลาใหม่ ก็คือซีรีส์เรื่องนี้

Living Single มันว่าด้วยสาววัย first jobber อย่าง มิโฮะ (ทาคาโกะ โทคิวะ) ที่ตัดสินใจอยากออกมาใช้ชีวิตตามลำพังในอพาร์ทเม็นต์ โดยเธอมีเพื่อนสาวคนสนิทอย่าง เคียวโกะ (ฮิโรมิ นางาซากุ หรือคนที่รับบทคุณแม่ใน True Mothers ของ นาโอมิ คาวาเซะ ที่เพิ่งเข้าโรงบ้านเรา) ที่พยายามโน้มน้าวขอมาอยู่ด้วยแต่ก็ถูกปฏิเสธตลอด โดยเนื้อหาหลักๆ มันก็ว่าด้วยการแสวงหาความสุขของหนุ่มสาว ที่มักวนเวียนอยู่กับความสัมพันธ์รักๆ ใคร่ๆ ที่ชุลมุนวุ่นวายไปหมด แต่ความลับสำคัญของเรื่องที่ซ่อนไว้ มันคือ…เคียวโกะ เป็นเลสเบี้ยน ที่หลงรักเพื่อนเธออย่าง มิโฮะ มานานแล้ว

เอาเข้าจริง เมื่อได้กลับมาย้อนดูในอีก 20 ปีให้หลัง (โชคดีที่ได้ไฟล์จากเว็บแปลกๆ มาแบบงงๆ) ก็ค้นพบว่า ระหว่างทางมันที่ใบ้ให้ผู้ชมรู้สึกว่า 2 สาวเพื่อนซี้คู่นี้มักจะทำอะไรแปลกๆ ที่ดูจะเกินเลยกว่าสิ่งที่เพื่อนสาวทำกัน เช่นการป้อนป๊อกกี้ด้วยปากจนแทบปากจะชนกัน หรือความห่วงเพื่อนที่ดูดีๆ มันคือความหึงหวง แต่ขณะเดียวกัน ตัวของเคียวโกะเองก็ดันไปมีเซ็กซ์กับ ทาคิฮิโระ (คัตซึโนริ ทาคทฮาชิ) ชายหนุ่มที่กำลังมีความสัมพันธ์มิโฮะเพื่อนของเธอเองแบบที่คนดูก็งง ซึ่งเราอาจจะตีความไปได้ว่า เคียวโกะทำเพื่อลองใจทาคิฮิโระให้ไขว้เขวต่อตัวมิโฮะ หรือไม่ก็อาจกำลังลองใจตนและค้นหาเพศสภาพของตัวเองอยู่ก็เป็นได้

ท้ายสุด ฉากที่ทำให้เราในตอนวัยมัธยมต้นช็อกมากๆ คือฉากที่เคียวโกะแอบวางยาเพื่อมีเซ็กซ์กับมิโฮะ และเปิดเผยความรู้สึกของตัวเอง คือในช่วงวัยประมาณนั้น เราแทบจะยังไม่เข้าใจเรื่องของ LGBTQ เลยแม้แต่น้อย แถมในสื่อกระแสหลักก็ไม่เคยเห็นเรื่องไหนเอามาเล่นในโทนจริงจังขนาดนี้ สำหรับเราซีรีส์เรื่องนี้มันเลยเป็นคอนเท็นต์ LGBTQ เรื่องแรกๆ ในชีวิตที่มันเล่าอย่างไม่ make fun กับสิ่งนี้ แม้ว่ามันจะไม่พ้นจากการให้ภาพในแง่ลบก็ตาม แต่ในแง่บทสรุปของซีรีส์ มันก็ยังประนีประนอมพอ และหาทางออกให้ทุกตัวละครมีความสุขตามหนทางของตัวเอง


ก้อง ฤทธิ์ดี : รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ 

You and I (2020, Fanny Chotimah, Indonesia)

หนังสารคดีอินโดนีเซียปี 2020 โดยแฟนนี่ โชติมาห์ ติดตามหญิงสูงวัยสองคนที่ใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ด้วยกันในหมู่บ้านในเกาะชวา ทั้งสองเจอกันในคุก หลังถูกจับข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงการกวาดล้างปี 1965 หลังจากถูกปล่อยออกมาก็ใช้ขีวิตอยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า หนังมันซึ้งและจริงใจ เป็นหนังรัก หนังมิตรภาพ หนังแห่งความเจ็บป่วยและชราภาพ และหนังแห่งความหวังว่าโลกนี้ไม่ได้โหดร้ายเกินไปสำหรับทุกคน


ประวิทย์ แต่งอักษร : นักวิจารณ์ อ.สอนภาพยนตร์ 

Tea and Sympathy (1956, Vincente Minnelli, US)

เอากลับมาดูตอนนี้ หนังเรื่อง Tea and Sympathy ของวินเซนต์ มินเนลลี่ ซึ่งดัดแปลงจากบทละครบรอดเวย์เรื่องอื้อฉาวของโรเบิร์ต แอนเดอร์สัน ก็แทบจะไม่หลงเหลือความแหลมคมของเขี้ยวเล็บเหมือนกับเมื่อตอนที่มันออกฉายครั้งแรกในปี 1956 หมายความว่าประเด็นรักร่วมเพศและความสัมพันธ์นอกชีวิตสมรสไม่ได้เรื่องร้อนแรงหรือเปราะบางอ่อนไหวอีกต่อไป แถมบทสรุปตอนท้ายของหนังก็ดูประหนึ่งผู้สร้างสมาทานวิถีแบบ heterosexuality หรือความสัมพันธ์แบบชายจริงหญิงแท้ หรืออย่างน้อย คนทำหนังก็แสดงออกในทำนอง ‘เออๆ คะๆ’ ไปตามค่านิยมของสังคมตอนนั้น ซึ่งหวาดกลัวพฤติกรรมโฮโมเซกฌ่วลยิ่งกว่าภูตผีปิศาจร้าย

แต่ก็นั่นแหละ ในความเป็น ‘อิฐก้อนแรกๆ’ ของหนังเมดอินฮอลลีวู้ดในช่วงที่กำแพงศีลธรรมสูงตระหง่านและกรอบคิดแบบอนุรักษ์นิยมกำหนดจริตและวัตรปฏิบัติของคนหมู่มาก มันก็มีความกล้าหาญชาญชัยในแบบของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งคำถามในเชิงเพศสภาพกับ ‘ความเป็นชาย(ชาตรี)’ และ ‘ความเป็นหญิง’ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว กลายเป็นทั้งเครื่องมือแบ่งแยกและพันธนาการผู้คนให้อยู่ในร่องรอยตามความคาดหวังของสังคม กระทั่งมาพร้อมกับข้อกำหนดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้, ‘ที่ทาง’ ของผู้ชายและผู้หญิงอยู่ตรงไหน, ประเภทกีฬาหรือสันทนาการที่ผู้ชายผู้หญิงควรจะเกี่ยวข้องด้วยคืออะไร ไปจนถึงการใช้ถ้อยคำในลักษณะตีตรา

ส่วนที่สะเทือนความรู้สึกมากๆก็คือ ราคาที่ต้องจ่ายซึ่งสูงลิบลิ่วของคนที่แคร์ ‘เสียงเพรียกจากข้างใน’ ของตัวเอง และไม่ยอมปฏิบัติตามขนบ กฎเกณฑ์ ตลอดจนข้อเรียกร้องของคนหมู่มาก ในกรณีของเด็กหนุ่ม (จอห์น เคอร์) ตามท้องเรื่อง ปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกิดขึ้นกลายเป็นบาดแผลฝังลึก แต่คนที่น่าเห็นใจจริงๆ ก็คือสาวใหญ่ (เดบอร่าห์ คาร์) ผู้ซึ่งอยู่ในสถานะ lost soul ไม่แตกต่างกัน และบั้นปลายของตัวละครนี้ ก็ไม่เพียงตอกย้ำถึงการปิดกั้นและความคับแคบของสังคม แต่คนทำหนังก็ใจร้ายกับคนดูซะเหลือเกิน

ข้อมูลบอกว่าองค์กรด้านคาธอลิกในฐานะหน่วยงานผดุงศีลธรรมและรักษาความสะอาดสะอ้านของสังคม พยายามขัดขวางทั้งการสร้างและออกฉายของหนังเรื่องนี้ (รวมถึงกดดันให้ดัดแปลงเนื้อหา) แต่วันเวลาที่ผ่านพ้นไปสะท้อนข้อเท็จจริงอย่างน้อยสองอย่าง หนึ่งก็คือ องค์กรความเชื่อหลายต่อหลายแห่งของหลากหลายศาสนากลายเป็นแหล่งซ่องสุมบุคคลที่เก็บกดทางเพศ และแอบซ่อนตัวตนที่แท้จริงภายใต้เครื่องแบบนักบวชหลากรูปแบบและหลายสีสัน และอีกหนึ่ง บุคคลที่สวมบทนักเทศนาสั่งสอนเหล่านั้นไม่ได้เลอเลิศหรือวิเศษวิโสมากไปกว่าคนธรรมดาสามัญที่กินขี้ปี้นอนอย่างเราๆ ท่านๆ แต่อย่างใด


อภิโชค จันทรเสน : หนึ่งในทีมเขียนบทภาพยนตร์ Homestay และ นศ.ปริญญาโทภาพยนตร์ นักเขียนรับเชิญของ Film Club

Bronski Beat – Small-town Boy

ผมไปเจอเอ็มวีเพลงนี้โดยบังเอิญขณะไล่ฟังเพลงยุค 80s บนยูทูป (ขอบคุณอัลกอริธึ่มที่พาเรามาเจอของดีแบบนี้) ถ้าดูเผินๆ เอ็มวีโดย Bernard Rose (ที่ต่อมาเป็นผู้กำกับผลงานขึ้นหิ้งอย่าง Candyman หรือ Immortal Beloved) เล่าเรื่องราวของพระเอก (รับบทโดย Jimmy Somerville นักร้องนำของวง) ที่นึกย้อนถึงชีวิตวัยเด็กของที่ตัวเอง ตอนที่แอบดูนักว่ายน้ำที่ตัวเองชอบแล้วเพื่อนยุให้ลองจีบ แต่ผู้ชายไม่เล่นด้วย ยกแก๊งเพื่อนมาทำร้าย จนความแตกกับครอบครัว โดนไล่ออกจากบ้าน

อ่านเผินๆ แล้วเหมือนอ่านพล็อตซีรีส์วายคลิเช่ๆ 90% ของโลก แต่ถ้าเราลองคิดว่าเพลงนี้ออกมาในประเทศอังกฤษในปี 1984 ในขวบปีที่ Elton John, George Michael หรือแม้แต่ Freddie Mercury เองยังไม่กล้าเปิดตัว เราแทบจะนับได้ว่าเอ็มวีนี้เป็นเอ็มวีแรกๆ ที่กล้าเล่าเรื่องราวของผู้ชายที่ชอบผู้ชายอย่างเป็นมนุษย์แบบนี้ ผ่านเรื่องราวของความรุนแรงและการกีดกันทางเพศที่ชาว LGBTQ+ ช่วงนั้นพบเจอกันแทบทุกคน เล่าด้วยดีเทลที่เล็กแต่เจ็บลึกอย่างพ่อที่ไม่ยอมเชคแฮนด์กับลูกหลังรู้ความจริง หรือสายตาของ Jimmy Somerville ที่เบิกโพลงขณะนึกย้อนไปถึงอดีต ในยุคที่การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องต้องห้ามสุดขั้ว เอ็มวีนี้เป็นการพูดกับสังคมอังกฤษว่าชาว LGBTQ+ ไม่ใช่ตัวประหลาด แต่เป็นมนุษย์ที่เจ็บเป็น และต้องการความรักจากคนอื่นๆ เช่นเดียวกับทุกคนเหมือนกัน


พิมพ์ชนก พุกสุข : นักเขียนประจำ Film Club

Tangerine (2015, Sean Baker, US)

หนังโฉ่งฉ่างอย่างฉูดฉาดของนาย ฌอน เบเกอร์ กับทุนสร้างหนึ่งแสนเหรียญฯ และการควงไอโฟน 5S ถ่ายหนังทั้งเรื่อง เล่าถึงวันคริสมาสต์อีฟนรกแตกของ ซินดี (คิตานา กีกี ร็อดริเกวซ) โสเภณีข้ามเพศผิวดำที่เพิ่งพ้นโทษจำคุก 28 วันและต้องออกตามล่าผัวหลังมีเสียงลือเล่าอ้างว่านางผัวแอบไปแซ่บกับสาวแท้ ขณะที่ อล็กซานดรา (มายา เทย์เลอร์) เพื่อนสาวก็คอยปรามๆ เพื่อนว่าอะไรเบาได้ก็เบาน้าอีดอกอย่าไปบุ่มบ่ามทำอะไรจนวอนเข้าคุกอีกรอบ แต่ความกราดเกรี้ยวขั้นสุดของซินดีก็ทำให้เธอระเบิดแอลเอราบเป็นหน้ากลองด้วยปฏิบัติการตามล่าหาผัวกับนังเมียน้อยหอยสังข์! หื้มมมมม!

หากว่าด้านหนึ่งของ Tangerine คือความฉูดฉาดของเรื่องราวและบรรยากาศยามตะวันกำลังตกดินของลอสแองเจลิส อีกด้านของมันก็พาคนดูไปสำรวจโลกของความเจ็บช้ำและความอยุติธรรมที่เหล่าคนข้ามเพศต้องเผชิญมาโดยตลอด ผ่านเสียงโห่ด่าทอที่ซินดีกับอเล็กซานดราต้องเผชิญ และลัดเลาะไปยังเรื่องราวของ ราซมิก (คาร์เร็น คารากูเลียน) คนขับแท็กซี่ชาวอาร์เมเนียนที่ใช้ชีวิตกับลูกเมียเคร่งศาสนา และต้องหาทางปลดปล่อยระบายความต้องการทางเพศอย่างลับๆ กับโสเภณีข้ามเพศผิวดำที่เขารู้จัก 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ขณะที่หนังค่อยๆ เผยให้เห็นความบอบช้ำของตัวละครที่เผชิญหน้ากับความเฮี้ยนแตกของคืนคริสมาสต์อีฟกันอย่างเสมอภาค ในด้านงานสร้าง ป๋าเบเกอร์ก็เลือกใช้นักแสดงที่เป็นคนข้ามเพศจริงๆ ขณะที่ตัวละครชู้รักสาวที่ตาผัวไปติดจนซินดีต้องไปกระชากลากถูออกมาจากบ้านนั้น ก็เป็นบทผู้หญิงที่ได้สาวข้ามเพศมาแสดง (รับบทโดย มิกกีย์ โอเฮเกน) 

Tangerine มันจึงซอกซอนสำรวจความเหลื่อมล้ำที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศต้องเผชิญด้วยท่าทีโฉ่งฉ่างและฉูดฉาด กับฉาก ‘รวมดาว’ ท้ายเรื่องที่ตัวละครระเบิดความเฮี้ยนใส่กันจนตาพร่า และตราตรึงอยู่ในความทรงจำจนทุกวันนี้


นนทวัฒน์ นำเบญจพล : ผู้กำกับภาพยนตร์

Midnight Cowboy (1969, John Schlesinger, US)

ในขณะที่กำลังปั่นบทภาพยนตร์เรื่องใหม่ อันว่าด้วยเรื่องราวของคนพลัดถิ่นจากในป่าในดอย ที่พกพาความฝันอันยิ่งใหญ่เพื่อจะมีชีวิตที่ดีจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อนำพาตนเองมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ท่ามกลางแสงสี แต่หารู้ไหมว่า ชีวิตใหม่ที่รออยู่นั้นกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ไม่คาดฝันและพาชีวิตไปสู่จุดที่ไม่มีทางออก และทางออกเดียวที่พอมีนั้นคือการได้จินตาการร่วมฝันกับใครสักคนถึงแม้ว่าจะเป็นฝันลมๆ แล้งๆ แต่มันก็ช่วยเยียวยาจิตใจให้ผ่านวันแย่ๆ ไปได้ 

เมื่อฟิล์มคลับทักมาให้เลือกหนังสักเรื่อง ก็ทำนึกถึงหนังเรื่องหนึ่งที่ดูตั้งแต่เด็กๆ แต่ยังจำได้ถึงทุกวันนี้และเรื่องนั้นคือ Midnight Cowboy (1969) อันว่าด้วยความสัมพันธ์ของคาวบอยหนุ่มบ้านนอก กับ นักต้มตุ๋นกิ๊กก๊อก กับความสัมพันธ์ของชายหนุ่ม straight สองคนที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นหวานขมปนเศร้า 

จนนึกอยากที่จะหยิบกลับมาดูอีกสักรอบหลังจากที่ไม่ได้ดูมากว่าสองทศวรรษ


พงศ์สันต์ อรุณสินทวีพร : cinephile นักเขียนรับเชิญ Film Club

Dear Tenant (2020, Cheng Yu-Chieh, Taiwan)

เมื่อหลี่เว่ย-ชายคนรักของหลินตายจาก หลินยังคงอาศัยอยู่ในบ้านของหลี่เว่ยในฐานะผู้เช่าบ้านต่อไปอีกห้าปี คอยเลี้ยงดูลูกชายวัยเก้าขวบและแม่ชราของหลี่เว่ยราวกับเป็นญาติของตน ต่อมาเมื่อแม่ของหลี่เว่ยตายจากไปอีกคน หลี่กัง-น้องชายของหลี่เว่ยก็ปรากฏตัว เขาตกใจที่หลินผู้ไม่ได้เกี่ยวดองใดๆ กับครอบครัวตนด้วยสายเลือดรับลูกชายของหลี่เว่ยป็นบุตรบุญธรรม ซ้ำแม่ของเขายังยกบ้านหลังนี้ให้หลานชาย ซึ่งก็เท่ากับว่าบ้านได้กลายเป็นของหลินไปโดยปริยายด้วย

แม้กฎหมายการสมรสเท่าเทียมในไต้หวันจะออกมาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้พาเราไปดู คือรายละเอียดอย่างอื่นในชีวิตที่แท้ของ LGBTQ ที่กฎหมายดังกล่าวไม่อาจช่วยให้ข้ามพ้นไปได้ – หลี่กังฟ้องหลินข้อหาฆาตกรรมมารดาตนเพื่อฮุบบ้าน ตำรวจเริ่มกระบวนการสอบสวนทุกคนที่เกี่ยวข้องกับหลิน ความสัมพันธ์ของหลินกับหลี่เว่ยในอดีตถูกขุดคุ้ยตั้งคำถาม หลี่กังพาหลานชายไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจสอบว่าถูกหลินล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่ เพศสภาพของหลินถูกเปิดเผยในที่ทำงานเมื่อตำรวจไปสืบสวนเรื่องของเขากับคนที่นั่น

“ถ้าผมเป็นผู้หญิง และสามีของผมตาย และผมยังอยู่ดูแลครอบครัวของเขาต่อไป คุณจะถามคำถามแบบนี้กับผมไหม” หลินพูดกับเจ้าหน้าที่ที่สอบสวนเขาในฉากหนึ่ง

อคติเหมารวม แนวคิดอนุรักษนิยมตามจารีต และการปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ ที่แตกต่างยังคงมีปรากฏแทรกซึม และเป็นสิ่งที่อยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเข้าไปจัดการได้ อาจมีเพียงการเปิดใจกว้าง ความกล้าหาญที่จะก้าวข้าม และการจับจูงมือเติบโตไปด้วยกันของคนในสังคมเท่านั้น ที่จะนำพาชีวิตของชาว LGBTQ ไปสู่ความเท่าเทียมกับทุกคนในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้อย่างแท้จริง


‘กัลปพฤกษ์’ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์

A Good Man (2020, Marie-Castille Mention-Schaar)

Cher ‘แบงยาแม็ง’,

รู้อยู่ว่านายคงไม่พอใจที่เรื่องราวชีวิตของนายต้องกลายมาเป็นผลงานแนะนำในกลุ่ม Queer Cinema ในวาระเวลาแห่ง Pride Month เดือนมิถุนายน แต่ในเมื่อทั้งโลกควรได้รู้จักคนอย่างนาย ไม่ว่าจะด้วยจังหวะหรือโอกาสไหนๆ เส้นทางชีวิตของนายจึงควรต้องกลายเป็นที่รับรู้ของผู้คนในทุกๆ วิถีเพศให้กว้างที่สุด ผู้ชายธรรมดาๆ ที่ปรารถนาเพียงแค่ได้ใช้ชีวิตในแบบผู้ชายธรรมดาๆ ไม่ว่าเพศกำเนิดของนายจะย้ายฝั่งไปด้วยความผิดพลาดใดๆ หัวจิตหัวใจของนายก็ยังคงเป็น ‘ชายอกสามศอก’ อยู่เสมอมา ศัพท์บัญญัติทางสังคมวิทยา ‘label’ ผู้ชายอย่างนายเอาไว้ว่าเป็น transgender สังกัดไว้ในกลุ่ม LGBT ที่มีทั้ง Lesbian, Gay และ Bisexual สดุดีพวกนายว่าช่วยสร้างความหลากหลายทลายกรอบขนบเพศและส่งเสริมอิสระเสรีแห่งการใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองเป็นในโลกยุคปัจจุบัน . . . ซึ่งมันเป็นสิ่งที่พวกนายงุนงง เพราะสำหรับตัวนายเองแล้ว นายคือ ‘ผู้ชาย’ ที่มีภรรยา และอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างเรียบง่ายตามอัตภาพ ณ เมืองริมทะเล เมื่อต่อมท่อและอวัยวะบางอย่างขาดหาย นายก็หา hormone มาเติมเต็มร่างกาย และเมื่อภรรยาสุดที่รักมีปัญหาไม่สามารถตั้งครรภ์เพื่อมีลูกด้วยกันได้ นายก็อาศัยมดลูกที่ยังหลบฝังอยู่ในร่างกายรับหน้าที่ตั้งครรภ์อุ้มท้องแทนภรรยา แบงยาแม็ง นายทำให้ทั้งโลกได้รับรู้ว่า ‘ผู้ชาย’ ก็สามารถทำหน้าที่เป็นคุณพ่อผู้ตั้งท้องแทนภรรยาโดยไม่จำเป็นต้องมาเรียกว่า ‘แม่’ นี่ละสิ คือความเปิดกว้างทางเพศที่แท้ โดยไม่เห็นจะต้องมาแยแสคำนึงถึงลึงค์ถึงโยนีที่สุดท้ายก็ไม่อาจใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ได้เลยว่าเจ้าของอวัยวะเหล่านั้นควรจัดอยู่ในกลุ่มเพศใด

Pride Month จึงมิใช่ห้วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจใดๆ ของนาย และถึงแม้ว่าหลายๆ คนจะ label นายให้เป็น transman อยู่กลุ่มเดียวกับชาว LGBT เหมือนที่เทศกาลคานส์ label หนังชีวิตของนายเรื่อง A Good Man เอาไว้ในสาย Newcomers 2020 แต่สำหรับตัวนายเองแล้ว นายก็เป็นผู้ชาย ‘รักต่างเพศ’ คนหนึ่งที่ควรได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นชายรักต่างเพศทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้สรรพนามฝรั่งเศสว่า ‘il’ หรือการใช้คำคุณศัพท์เพศชายโดยไม่ต้องเติม -e ตัวอักษรย่อ ‘T’ ใน ‘LGBT’ ที่แท้แล้วก็ไม่ได้มีรูปแบบชีวิตที่ต่างอะไรกับชายหญิงรักต่างเพศโดยทั่วไป โปรดอย่าได้มาใส่ใจสรีระเพศกำเนิดของพวกเราให้มากมาย มาวัดใจกันดีกว่าว่าคนอย่าง ‘แบงยาแม็ง’ จะ ‘man’ พอไหมสำหรับการได้ชื่อว่าเป็น ‘ลูกผู้ชาย’ ผู้หยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีคนหนึ่ง

เอาเถิด ใครจะจัดฉายหนังเรื่อง A Good Man ในเทศกาลภาพยนตร์ LGBT จะจับลงเข่ง Queer Cinema ใดๆ ก็ตามแต่ใจ แต่โปรดอย่าลืมว่า A Good Man ก็ยังเป็นหนัง drama ที่เล่าเรื่องราวปัญหาในชีวิตของผู้ชายธรรมดาๆ คนหนึ่ง ซึ่งสามารถร่วมจัดฉายได้ไม่ว่าจะเทศกาลไหนๆ และควรค่าแก่การกล่าวขวัญถึงไม่ว่าจะในเดือนใดๆ หวังว่าสักวันคำ acronym ช่างแบ่งช่างจำแนกอย่าง LGBT นี้จะกลายเป็นเรื่องเชยและพ้นสมัย ไม่ต้องมาหาจังหวะเฉลิมฉลองให้มากความใดๆ เพราะสุดท้ายแล้ว เราทั้งผองก็ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ผู้มีหัวจิตหัวใจเสรีเหมือนๆ กันนั่นแหละ!


(โปรดติดตามต่อในพาร์ตที่ 3)

(โปรดติดตามต่อในพาร์ตที่ 4)

(โปรดติดตามต่อในพาร์ตที่ 5)

filmclub
กอง Film Club

RELATED ARTICLES