Home Article FILM CLUB List : Queer Cinema (Part 3)

FILM CLUB List : Queer Cinema (Part 3)

0
FILM CLUB List : Queer Cinema (Part 3)

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง)

ในโอกาส​ Pride Month นี้ Film Club ได้ชักชวนผู้คน ทั้งนักวิจารณ์ คนทำหนัง และคนดูหนังจำนวนหนึ่งมาร่วมกันเลือกภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศของผู้คน โดยแต่ละท่านมีอิสระในการเลือก ภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด ทั้งภาพยนตร์ หนังสั้น หนังทดลอง สารคดี ไปจนถึงมิวสิควิดีโอ โฆษณา หรือแม้แต่ คลิปไวรัล 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่สาม


วิโรจน์ สุทธิสีมา : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ชมรมวิจารณ์บันเทิง / STARPICS

Beautiful Thing (1996, Hettie Macdonald, UK)

ถ้าจำไม่ผิด ในช่วงปี 2001-2002 ผมได้รู้จักหนังที่ทำให้ครุ่นคิดถึงประเด็น “ความเป็นเกย์” อย่างน้อยสามเรื่อง สองเรื่องแรกผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า “วีซีดี” เริ่มจาก A Long Time Companion (1990) ซึ่งแม้จะอบอวลไปด้วยมิตรภาพของตัวละคร แต่เนื้อหานั้นขึงขังและชวนวิตกหดหู่ เมื่อมันกล่าวถึงการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และการตายจากกันทีละคนของเหล่าชายรักชาย ในภาพรวมจึงเป็นหนังดีที่หลายครั้งเราก็อยากจะลืมเลือน ส่วนเรื่องถัดมาคือ Beautiful Thing (1996) ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า ซาวด์แทร็คของหนังจะอยู่ใน song list ของผม มาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนหนังอีกเรื่องในช่วงนั้นที่ได้ดูทั้งจากแผ่นวีซีดี และในโรงภาพยนตร์ ก็เป็นหนังในดวงใจซึ่งพร้อมจะบอกใครต่อใครว่าเป็นหนังผจญภัยที่ดีที่สุด แต่ก็มักจะเอาไปตั้งข้อสังเกตกับเหล่านักเรียนหนัง ในฐานะที่มีตัวละครชายร่างเล็กสองคน ซึ่งมักสบตากันอย่างมีความหมาย-ระหว่างพยายามเอาแหวนวงหนึ่งไปทิ้ง

กล่าวสำหรับ Beautiful Thing หนังอังกฤษเรื่องนี้ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนนัก มันอยู่ในร่องรอยแบบหนังแนวก้าวข้ามพ้นวัย ค้นพบความเป็นเกย์ในตัวคุณ และแสวงหาพื้นที่ปลอดภัย คนดูจะพบว่า เจ้าหนุ่มสองคนต้องทนทุกข์กับความดุร้ายป่าเถื่อนและอคติของคนรอบข้าง ก่อนจะได้เจอกับ “สิ่งสวยงาม” ซึ่งแม้จะถูกนักวิจารณ์บางส่วนกระแนะกระแหน ว่าคล้ายเป็นเทพนิยายไปเสียหน่อย แต่อย่างน้อย หนังที่มีศิลปะในการนำเสนอและให้แสงสว่างแก่ตัวละคร ก็หาใช่เรื่องสะเหล่อทะเล่อทะล่า หากยังให้ความอิ่มเอมทางอารมณ์แก่คนดูได้ด้วยซ้ำ

อีกสิ่งที่ติดตรึงใจ-ซึ่งเริ่มตั้งแต่ฉากแรกของหนัง คือ เสียงดนตรี ตัวละครในเรื่องวนเวียนอยู่กับเพลงและประเด็นพูดคุยเกี่ยวกับ “แคส เอลเลียต” (Cass Elliot) หรือที่เรียกกันในวงการเพลงว่า “มาม่า แคส” (Mama Cass) เธอคือสมาชิกของ The Mama and The Papas และยังมีผลงานเดี่ยวออกมาด้วย กล่าวได้ว่า เหล่าซีเนไฟล์ที่คลุ้มคลั่งกับเพลง California Dreamin’ ในหนังเรื่อง Chungking Express ของหว่องกาไว ก็น่าจะคุ้นเคยกับอารมณ์เพลงแบบ Sunshine Pop อันเป็นเอกลักษณ์ของนักดนตรีกลุ่มนี้ ซึ่งมันก็สร้างความสว่างไสวให้แก่ Beautiful Thing ได้อย่างยิ่งยวดเช่นเดียวกัน

ในฉากหนึ่งของหนัง ตัวละครพูดคุยกันถึงหนึ่งในทอล์คออฟเดอะทาวน์ ซึ่งก็คือ การตายของมาม่า แคส ซึ่งถือเป็นไอดอลของชาวสีรุ้ง เรื่องเล่าแบบผิดๆ ถูกผลิตซ้ำอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งจากตัวละครและคนทั่วไปในโลกจริง เพราะที่ทราบกันก็คือ มาม่าเป็นคนร่างใหญ่และอวบอ้วน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะแปลกใจ หากความตายของเธอจะเกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน และการถูกเผยแพร่ไปทั่วว่า “สำลักแซนด์วิชตาย” ก็ให้อารมณ์ทั้งน่าโศกเศร้าและสมเพชเวทนาไปพร้อมๆ กัน แต่นั่นคือความอยุติธรรมอย่างหนึ่งที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะความเป็นจริงที่ผ่านการรับรองโดยผู้ชันสูตรศพอย่างเป็นทางการ ก็คือ เธอตายเพราะหัวใจล้มเหลว หาใช่ตะกละตะกลามกินจนสำลักตายแต่อย่างใด


ปัณณวิชญ์ เตชะเกรียงไกร : นักวิจารณ์ภาพยนตร์, แอดมินเพจ ชมรมวิจารณ์บันเทิง

ภาพติดตา (2015, พัฒนะ จิรวงศ์)

จุดเด่นของภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ คือ การนำเสนอตัวละครชายรักชาย ในวัย 70 !!! และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถ่ายทอดความรู้สึกคิดถึง ผูกพัน ห่วงหา และเฝ้าคอยการได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง ผ่านบทบาทการแสดงของ “ภัควรรธ์ วานิชธิติพันธ์”

หนังเปิดเรื่องที่ตัวละคร “พร้อม” (ภัควรรธ์ วานิชธิติพันธ์) โทรศัพท์ไปหา “ถนอม” (วันชัย ธนะวังน้อย) เพื่อนชายที่เขาหลงรักตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษาร่วมสถาบัน เขาทวงสัญญาที่เคยให้ไว้แก่กัน ว่าเมื่อถึงวันที่มีอายุครบ 70 ปี และยังไม่ตาย ถนอมจะพาเขาไปเที่ยว… ซึ่งวันนี้ ได้มาถึงแล้ว!!!

การพบกันในวัยชรา บทสนทนารำลึกความหลัง ไถ่ถามความรู้สึกต่อการมีชีวิตอยู่ และการจากไปของคนรัก ทำให้หนังเรื่องนี้เปี่ยมอารมณ์ถวิลหา อ้อยอิ่ง ไม่พยายามบีบคั้นให้รู้สึกหดหู่ในชะตากรรมของคนรักเพศเดียวกัน-แบบที่หนังไทยส่วนใหญ่มักนำเสนอ

ที่สำคัญ บุคลิก-จริตจะก้านของพร้อม (ที่ถนอมเรียกว่า “ป้า” ตั้งแต่แรกเจอ หรือถูกนิยามว่า “ตุ๊ด” เมื่อพร้อมถามว่า ทำไมไม่พาเขาไปเที่ยวตั้งแต่ตอนเรียน) ไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาในเชิงขบขัน หรือแปลกประหลาด-ในแบบภาพลักษณ์สำเร็จรูป (Stereotype) ของตัวละครกะเทยในหนังไทย.. ผู้กำกับและนักแสดง ถ่ายทอดตัวละคร “พร้อม” ให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึง “มนุษย์ผู้มีความทรงจำอันดีต่อคนรัก ฉายชัดอยู่ในห้วงความคิด มิเสื่อมคลาย”

ความทรงจำต่อคนรักที่วนเวียนอยู่ในหัวซ้ำๆ สอดคล้องอย่างลงตัวกับการเปรียบเปรยถึง “ภาพติดตา” (ภาพนิ่งที่ค้างคาในความทรงจำ ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว) ในฐานะ “คนรักหนัง” โดยส่วนตัวรู้สึกชื่นชอบเป็นพิเศษ ที่ผู้สร้างเชื่อมโยง “ภาพยนตร์/ภาพเคลื่อนไหว” สอดแทรกแฝงเร้นเข้ามาในหนัง-หลากหลายมิติ ทั้งการเป็นคนทำหนังของถนอม การเป็นคนชอบดูหนังของพร้อม หรือกระทั่งการถ่ายภาพนิ่งของดวงดาว ต่อเนื่อง จนกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวชวนตื่นตาตื่นใจตอนท้ายเรื่อง

และทันทีที่ภาพบนจอดับวูบลงพร้อมกับเพลง “ผีดวงดาว” โดย “ชูเกียรติ ฉาไธสง” หนังเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่ง “ภาพติดตา” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของคนรักเพศเดียวกัน ได้น่าประทับใจ.. มิรู้ลืม..


อุทิศ เหมะมูล : นักเขียน 

Suddenly, Last Winter (2008, Gustav Hofer/Luca Ragazzi, Italy)

Suddenly, Last Winter เป็นหนังสารคดีปี 2008 อีกเรื่องที่น่าสนใจ เป็นหนังขวัญใจเทศกาลภาพยนตร์ในปีนั้น แม้จะมีเนื้อหาและประเด็นค่อนข้างตึงเครียด เรียกร้องความเข้าอกเข้าใจ ที่เผยให้เห็นทัศนคติของคนส่วนใหญ่ในประเทศอิตาลีในทางลบ แต่ที่มันกลายเป็นหนังดูง่าย มีสีสันและชีวิตชีวาได้ก็เพราะว่า ทั้งตัวผู้สร้าง (และแสดงนำ) มีบุคลิกภาพและทัศนคติที่น่าเอาใจช่วย คือมองโลกในแง่ดี และร่ำรวยอารมณ์ขัน ทั้งขบขัน ขันร้าย และขันขื่นนั่นเอง

ในโลกปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่นี้ ทัศนคติและความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ แม้จะค่อยๆ เปิดทางให้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่ในหลายกรณี ในบางรายละเอียด ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ยังไม่เป็นที่ต้องการ ยังไม่ได้รับการยืนยันสิทธิ และยากจะแบ่งปันพื้นที่ให้กับกลุ่มหลากหลายทางเพศเสียทีเดียวนัก

เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคู่รักในเรื่องนี้ กุสตาฟกับลูก้า ชายหนุ่มน่ารักใคร่ทั้งสองคนซึ่งเป็นคู่รักกัน ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันฟันฝ่าสิ่งต่างๆ นานา ร่วมกันมาตั้ง 8 ปีแล้ว ทั้งสองกำลังรอด้วยใจหวั่นไหวระทึก เมื่อการเลือกตั้งที่มาถึงนี้พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของอิตาลีมีนโยบายจะให้ความรักของคนเพศเดียวกัน ได้รับสิทธิคุ้มครองทางกฎหมายเช่นเดียวกับคนรักต่างเพศ และแล้วกุสตาฟกับลูก้าและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศก็ได้ร่วมเฉลิมฉลองต่อชัยชะในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย

แต่เมื่อเรื่องนี้เข้าสู่สภา กลับไม่ได้รับความเห็นชอบ ทั้งยังถูกต่อต้านจากทุกทาง ทั้งจากประชาชนผู้มองว่ากลุ่มรักร่วมเพศจะทำลายความเป็นสถาบันครอบครัว และทั้งจากสำนักวาติกันที่คัดค้านไม่เห็นด้วยอย่างออกนอกหน้า ส่งผลให้กฎหมายนี้กลายเป็นประเด็นร้อนระดับประเทศ เกิดการเคลื่อนไหวทั้งจากกลุ่มอนุรักษนิยม และกลุ่มเสรีนิยม กฎหมายดังกล่าวชะงักงัน ส่งผลให้กุสตาฟกับลูก้า ต้องปล่อยร้างงานวิวาห์ของตนให้เป็นหมัน ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างที่คู่สมรสควรได้ อย่างที่คนรักกันควรจะเป็น 

การรอคอยของคนทั้งคู่มาถึงจุดที่ว่า ไม่อาจนิ่งดูดายได้อีกต่อไป กุสตาฟกับลูก้า ตัดสินใจสะพายกล้องออกไปตามสัมภาษณ์เหล่านักการเมือง สมาชิกวุฒิสภา ประชาชน กระทั่งกลุ่มต่อต้านรักร่วมเพศต่างๆ เพื่อเปิดเผยถึงความเข้าใจ ทัศนคติ ความหวาดกลัว และอะไรอันเป็นสาเหตุให้คนส่วนใหญ่เข้าใจไปว่า การมีชีวิตแบบรักร่วมเพศจึงบ่อนทำลายสถาบันครอบครัว บ่อนทำลายความเชื่อความศรัทธาในพระเจ้าและศาสนา และเข้ามาเบียดแทรกกัดกินสิทธิที่คนรักต่างเพศควรจะได้

ด้วยความบ้าบิ่นหาญกล้าของคนทั้งคู่ คนดูได้รับรู้ถึงความหวาดกลัว ความไม่เข้าใจ และมายาคติมากมายอันยากใจจะแก้ไข ซึ่งสืบรากเหง้ามาตั้งแต่ความเชื่อที่ว่า พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ชาย-หญิงให้ครองคู่กัน จนถึงการถูกมองว่าคนรักเพศเดียวกันนั้นวิปริตผิดครรลอง เป็นพวกจิตไม่ปกติที่ควรได้รับการรักษาเยียวยา คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า ความรักและการอยู่ร่วมกันอันยืนยงจะเกิดขึ้นได้ในกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน และยังมองอีกว่ากลุ่มนี้เป็นพาหะแห่งโรคร้าย และนำความสับสน เสื่อมทรามมาสู่สังคมที่ดีงาม 

ยิ่งกุสตาฟกับลูก้าตามสัมภาษณ์บุคคลเหล่านี้มากเท่าไร คนดูก็จะเห็นความหวั่นกลัวไปเองที่เลยเถิดร้ายแรงจากการสร้างมายาคติขึ้นมาบดบังของพวกเขาเอง ยิ่งได้รับรู้ความเห็นซึ่งรู้ๆ กันอยู่แล้วของคนทั่วไป กุสตาฟกับลูก้าก็ยิ่งปวดใจและขำขื่น กับเหล่าความเห็นที่ตอกย้ำ ให้ความปรารถนาของทั้งสองคนยิ่งเลือนรางและแทบไม่มีวันเป็นจริง

Suddenly, Last Winter เผยให้เห็นความรักอันมั่นคงและน่าซาบซึ้งใจของคนคู่หนึ่ง ทั้งสองมีความหวัง ความฝันร่วมกัน ปลงใจกันด้วยความรักในกันและกัน ในโลกและในพื้นที่อันเล็กจ้อยของพวกเขา อันเป็นจุดเล็กๆ บนพื้นที่แสนกว้างใหญ่ของมายาคติทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม เลือกที่รักมักที่ชัง และหัวใจนั้นก็เต็มด้วยความหวาดกลัวในเรื่องที่จิตใจสรรสร้างขึ้นเอง แต่หนังสารคดีก็เล่าด้วยทัศนคติถ้อยทีถ้อยอาศัย นำเสนอข้อเท็จจริงในเชิงสารคดี มิได้ตัดสินกล่าวโทษความคิด ความเชื่อของคนทั่วไปไม่ ความรักจักต้องได้รับความเข้าใจ แม้ผู้ที่ไม่เข้าใจก็ถูกปฏิบัติต่อด้วยความรักเช่นนั้นจากคนทั้งคู่


วาริน นิลศิริสุข : นักวิจารณ์

It’s a Sin (2021, Russell T Davies, UK)

เมื่อไม่กี่วันก่อนผู้ใช้ TikTok ในนาม @blackfluidpoet ได้โพสต์คลิปวิดีโอสั้นๆ ตอบโต้เกย์วัยรุ่นคนหนึ่งที่ออกมาแสดงความเห็นทำนองว่า “ฉันไม่เข้าใจทำไมเราจะต้องมาให้ความสำคัญกับ Pride Month อะไรพวกนี้ด้วย” ในคลิปเขาเริ่มต้นด้วยการจุดบุหรี่สูบ แล้วค่อยๆ หยิบหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่าเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของ LGBTQ+ ออกมาวาง ก่อนจะเอดูเคทเด็กหนุ่มว่าความสะดวกสบาย อิสระ และเสรีภาพที่พวกคุณ take for granted ในทุกวันนี้นั้นล้วนเกิดขึ้นมาจากหยาดเหงื่อ น้ำตา และเลือดเนื้อของคนรุ่นก่อน “นั่นเป็นเพราะเธอไม่รู้ประวัติศาสตร์ หรือเลือกที่จะปิดหูปิดตาตัวเอง”

หรือถ้าจะให้ง่ายกว่านั้นเขาอาจแนะนำให้เด็กหนุ่มไปเปิดดูซีรีส์ 5 ตอนจบเรื่อง It’s a Sin ผลงานสร้างและเขียนบทของ รัสเซลล์ ที เดวีส์ ที่เข้าฉายทางช่อง Channel 4 ของอังกฤษ และช่อง HBO Max ซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในอเมริกาเล่าถึงเรื่องราวการระบาดของโรคเอดส์ในประเทศอังกฤษผ่านกลุ่มเพื่อนเกย์ 4 คนกับหนึ่งพันธมิตรหญิงที่เช่าบ้านอยู่ด้วยกันในช่วงต้นทศวรรษ 1980 และต้องเผชิญหน้ากับความสยองของโรคร้าย รวมไปถึงความโหดเหี้ยมของสังคมและรัฐต่อสถานการณ์อันเลวร้าย บรรดาชาวเกย์ไม่เพียงจะถูกปล่อยให้ตายเป็นใบไม้ร่วงโดยไม่มีใครเหลียวแลเท่านั้น แต่ยังถูกกฎหมายบีบบังคับให้ต้องพลัดพรากจากครอบครัวแท้จริงของพวกเขา ครอบครัวที่พวกเขาเลือกเอง กลับไปสู่อ้อมอกของครอบครัวในสายเลือดซึ่งไม่เคยยอมรับตัวตนแท้จริงของพวกเขา

มองเผินๆ ซีรีส์ของ รัสเซลล์ ที เดวีส์ อาจเล่าเรื่องราวในมุมที่เป็นส่วนตัว เน้นย้ำการเดินทางของตัวละครแต่ละคนมากกว่าจะวิพากษ์การเมือง หรือสะท้อนภาพการต่อสู้ในวงกว้าง แต่โศกนาฏกรรมระดับปัจเจกบางครั้งก็สามารถกินความได้มากกว่าแค่เปลือกนอก เมื่อจิลต้องเสียเพื่อนรักให้กับโรคร้ายและยังถูกซ้ำเติมไม่ให้มีเวลาได้บอกลาเขาในห้วงยามสุดท้ายของชีวิต เธอจึงระเบิดความโกรธแค้นใส่แม่ของริทชี กล่าวหาหล่อนว่าเป็นต้นเหตุให้เขาเติบโตมาพร้อมกับความละอายในบ้านที่แล้งไร้ความรัก ความเข้าอกเข้าใจ วอร์ดโรคเอดส์ล้วนเต็มไปด้วยผู้ชายแบบริทชี “พวกเขาทุกคนต้องมาตายก็เพราะคุณ” แต่คำว่า “คุณ” ของจิลไม่ได้หมายถึงแค่คนคนเดียว แต่กินความไปถึงค่านิยม ความเชื่อที่กีดกันความแตกต่าง หลากหลาย โรคเอดส์นอกจากจะคร่าชีวิตชาวเกย์จำนวนมากแล้ว มันยังตีตราเควียร์ไลฟ์สไตล์ที่เริ่มสถาปนาผ่านการปลดแอกในยุคก่อนหน้าให้กลายเป็นสิ่งแปดเปื้อน เป็นอันตรายถึงชีวิต 

ซีรีส์ของ รัสเซลล์ ที เดวีส์ เป็นบทสดุดีแด่ผู้วายชนม์ เป็นบทบันทึกความทรงจำไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา พร้อมกันนั้นก็เป็นการเฉลิมฉลองและทวงคืนความงดงามของเควียร์ไลฟ์สไตล์…เพื่อยืนกรานว่า pride จักต้องมีชัยเหนือ shame


Filmsick : นักเขียน กองบรรณาธิการ Film Club 

The Ballad of Genesis and Lady Jaye (2011, Marie Losier, UK/US/France/Netherlands/Belgium/Germany)

เธอเคยชื่อเด็กชาย เธอเป็นศิลปิน กวี นักดนตรี และเป็นกึ่งๆ เจ้าลัทธิ เป็นหนึ่งในแนวหน้าผู้บุกเบิกดนตรีทดลอง เธอเป็นที่รู้จักในชื่อ Genesis Breyer P-Orridge เธอ ‘เคย’ เป็นผู้ชาย ส่วนอีกเธอเคยชื่อ Jacqueline Breyer เด็กสาวหนีออกจากบ้านตอนอายุสิบสี่ ตัวเล็กบาง ผิวเผือดผมทอง เธอพบ Genesis ในปี 1993 ในปีเดียวกันนั้น ทั้งสองแต่งงานกันและ Genesis เรียกเธอว่า Lady Jaye ในวันแต่งงาน Lady Jaye สวมชุดเจ้าบ่าวที่เป็นกางเกงหนังและเสื้อกั๊กหนังโดยไม่สวมเสื้ออื่น Genesis แต่งชุดเจ้าสาวผ้าลูกไม้สีขาว พวกเขาเหมือนตัวประหลาดจากดาวเคราะห์อันโพ้นไกลที่ความรักไม่ได้ถูกนิยามเพียงแบบเดียว

จากนั้นทั้งคู่ตระเวนไปด้วยกันในทุกแห่งหน Lady Jaye เป็นเหมือนผู้จัดการวง คอยดูแลคนอื่นๆ ใน Psychic TV ตลอดมา Genesis มักจะอัดเสียงเธอและใส่มันลงในดนตรีทดลองของเขา พวกเขารักกัน เป็นกันและกัน เป็นมากกว่าคู่รัก พวกเขาอยากจะเป็นกันและกันไปตลอดกาล 

คนทั้งคู่ทำโปรเจกต์ร่วมกันในนาม Pandrogeny Project แผนของพวกเขาคือไปศัลยกรรมพลาสติกเพื่อให้ใบหน้าและร่างกายของสองคนคล้ายกันที่สุดที่จะทำได้ Genesis เสริมหน้าอก แต่งตัวเป็นผู้หญิงอย่างจริงจังใบหน้าของทั้งคู่ถูกผ่าตัดให้คล้ายคลึงกัน พวกเขาเป็นมากกว่าเป็นคู่รักกัน พวกเขากลายเป็นกันและกัน เป็นสิ่งที่ชีวิตหนึ่งเดียวที่มาจากคนสองคน ชื่อใหม่ของพวกเขาคือ ‘Breyer P- Orridge’ คนสองคนเป็นคนคนเดียว กลืนกินกันและกัน และเป็นกันและกัน 

และนี่คือสารคดีของคนสองคนที่ต่างก็เชื่อว่า ร่างกายของตนคือ ‘กับดักชื่อ DNA’ คนที่ค้นพบกันและกัน ค้นพบคนอีกคนที่เชื่อว่าพวกเขาไม่ต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งเพียงแบบเดียว แต่พวกเขาคือนานารูปแบบของความเป็นไปได้ บนโลกที่ยังคงเชื่อใน ‘ความเป็นไปไม่ได้’ จนต้องควบคุม ‘ความเป็นไปได้’ แบบอื่นๆ และเรียกมันเป็นความผิดเพี้ยนเบี่ยงเบน

สารคดีไม่ได้เป็นบทสัมภาษณ์ ภาพเกือบทั้งหมดมาจากโฮมวิดีโอที่คนทั้งคู่ถ่ายไว้ ภาพคอนเสิร์ต การเดินเล่นไปด้วยกัน การแต่งตัวด้วยกัน ปาร์ตี้กับมิตรสหาย ทำกับข้าว เล่นดนตรี รื้อค้นข้าวของ หรือไปหาหมอ แต่งตัวเหมือนกันออกไปเที่ยวกัน จูบกันในที่สามธารณะ ในขณะที่เสียงของหนังคือการสนทนากับ Genesis ที่เล่าให้ฟังถึงชีวิตของเขาตอนที่ยังมี Lady Jaye ตัดสลับกับเพลงของพวกเขา หนังเป็นเหมือนการตัดปะเอาสิ่งละอันพันละน้อยร้อยเข้าด้วยกันด้วย cut-up technique อันเป็นเทคนิคที่ Burrough ใช้ในการเขียนงาน เทคนิคที่เขาได้มาจาก จิตรกร กวีและนักเขียนอย่าง Brion Gysin ซึ่ง Genesis ที่ได้รู้จัก Gysin ผ่านทาง Burrough และนับถือ Gysin ในฐานะอาจารย์ 

เทคนิค Cut up คือการเขียนขึ้นย่อหน้าหนึ่ง จากนั้นเอาข้อความมาตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วเรียบเรียงข้อความเหล่านั้นใหม่ให้ได้ความหมายใหม่ หนังสร้างขึ้นจากการหยิบเอาชีวิตของ Genesis และ Lady Jaye ผ่านทางชิ้นเล็กชิ้นน้อยของวิดีโอ และเสียงเล่า เรียบเรียงมันขึ้นใหม่ในความหมายใหม่ ซึ่งก็สอดรับพอดีกับโปรเจกต์ Pandrogeny ของคนทั้งคู่ เพราะมันคือโปรเจกต์ที่คิดขึ้นมาจาก Cut up Technique หากเปลี่ยนจากถ้อยคำและข้อความให้เป็นร่างกายของพวกเขาเอง 

“นี่คือสงครามครั้งสุดท้าย!”

“เราล้วนมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะเป็นใครก็ได้ที่เราอยากจะเป็น ฉันทั้งป่วยไข้และเหนื่อยหน่ายเหลือทนที่จะต้องถูกบอกว่าฉันควรดูเป็นอย่างไร นี่ไม่ใช่ร่างกายของฉัน นี่ไม่ใช่ชื่อฉัน นี่ไม่ใช่ตัวตนของฉัน!! บางคนมีหน้ามาบอกเธอควรจะดูเป็นแบบนี้ บางคนถึงกับกล้าดีมาบอกว่าฉันควรจะเป็นเหมือนคนแบบที่ฉันเคยเป็นก่อนหน้าซึ่งฉันไม่ได้เป็น ฉันขอปฏิเสธ! ที่จะเป็นเหมือนคนนั้น!” *

พวกเขาใช้ Cut up technique ในการประกอบร่างกายของตนขึ้นมาใหม่ เสริมหน้าอก ตัดกราม เสริมริมผีปาก คนสองคนพยายามที่สุดที่จะเดินทางมาบรรจบเป็นคนที่ใกล้กันที่สุด ร่างกายของพวกเขาเป็นทั้งถ้อยแถลงของมนุษย์ชนิดใหม่ ที่วิทยาศาสตร์ได้ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ สภาวะข้ามของมนุษย์แบบ transhuman ที่สร้างตัวตนในเวอร์ชั่นที่ดีกว่า ดีกว่าที่ไม่ได้หมายความแค่ในเชิงวิทยาศาสตร์ว่าสมบูรณ์กว่า หรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอจากการเป็นโรค หากหมายถึงดีกว่าในแง่ของความพึงพอใจที่มากกว่า เป็นอย่างที่ตัวเองอยากจะเป็น 

เราอาจนับการแปลงเพศ การฉีดสเตียรอยด์ไปจนถึงการทำเลสิกได้ในนามของสภาวะข้ามมนุษย์ ทั้งหมดยืนอยู่บนพื้นฐานเดียวกันกับการปรับแต่งร่างกายตนเองของคนคู่นี้ ในโลกที่เชิดชูความเป็นมนุษย์ สภาวะข้ามมนุษย์ที่เลยพ้นไปจากการรักษาโรคยังถูกมองในฐานะความเบี่ยงเบน ความผิดปกติและน่าอาย ความไม่พอใจและการเปลี่ยนตัวเองของ Genesis จึงเป็นแถลงการณ์ที่ท้าทายโดยตัวมันเอง ผ่านทางการข้ามขนบของรักต่างเพศ ที่อาจครอบคลุมแม้แต่ในวิถีของการรักเพศเดียวกันโดยให้สองฝ่ายมีบทบาทชัดเจนแบบหญิงชาย หรือยึดมั่นพันผูกในระบบผัวเดียวเมียเดียว สมาทานศีลธรรมแบบชนชั้นกลางเพื่อให้เป็นไปตามข้อความประเภท “จะเป็นตุ๊ดก็ได้ ขอให้เป็นคนดี” ก็พอ ซึ่งมันอาจไม่ผิดที่คู่รักร่วมเพศจะยึดขนบแบบเดียวกับรักต่างเพศ แต่วิธีคิดเช่นนี้ได้กีดกัน ตัดทอน ขับไสคู่รักร่วมเพศแบบอื่นๆ หรือแม้แต่คู่รักต่างเพศแบบอื่นๆ ให้ออกไปจากปริมณฑลของ status quo ของสังคม

*ข้อความตัวเอียง แปลจากเสียงเล่าของ Genesis ในหนังเรื่องนี้


นภัทร มะลิกุล : นักเขียนประจำ Film Club 

Carol (2015, Todd Haynes, US/UK/Australia)

ความรักที่ดูเป็นไปไม่ได้ของหญิงสาวคนหนึ่งต่อหญิงสาวที่มีอายุมากกว่า ที่สำคัญ เธอคนนั้นมีลูกและสามีแล้ว เป็นหนังที่ทำให้เห็นว่า ความ ‘หลงใหล’ ในรักนั้นมีอานุภาพมากเพียงใด และแสดงเจตจำนงของผู้หญิงที่ต้องการจะปกป้องทั้งชีวิตส่วนตัวและสาธารณะของเธอไปพร้อมๆกัน หนังเรื่องนี้สร้าง narrative ใหม่ของคู่รักเลสเบี้ยน นั่นคือ ความรักของหญิงสาวไม่จำเป็นต้องจบด้วยโศกนาฏกรรมเสมอไป


นัทธมน เปรมสำราญ : นักเขียนในนามปากกา ปอ เปรมสำราญ ผู้กำกับละครเวที 

Spider Lillies (2007, Zero Chou, Taiwan)

จำได้ว่าตอนมัธยมต้น บังเอิญได้ดูเรื่องนี้แบบพากย์ไทย (แน่นอนว่าให้เสียงโดยพันธมิตร) เป็นความรู้สึกประหลาดมากที่เห็นเรื่องนี้ฉายในโทรทัศน์ เพราะเราไม่เคยเห็นความรักรูปแบบนี้มาก่อน เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นความรักของคนเพศเดียวกัน 

Spider Lilies ชื่อไทยคือ “จูบแรก กอดสุดท้าย หัวใจไม่เคยลืม” เป็นภาพยนตร์ไต้หวันจากฝีมือผู้กำกับหญิง Zero Chou ออกฉายเมื่อปี 2007 และได้รางวัล Teddy Award ในหมวดภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับ LGBT จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินในปีเดียวกัน นำแสดงโดย เรนนี่ หยางและอิซาเบลล่า เหลียงที่เป็นดาราวัยรุ่นที่ฮอตที่สุดในยุคนั้น จริงๆ แล้วเป็นหนังที่ดูสนุกแบบแมสมากกว่าจะเป็นหนังอาร์ตเทศกาล

เราจำอะไรเกี่ยวกับหนังไม่ได้มาก ต้องไปหาเรื่องย่ออ่านถึงจะพอระลึกได้ แต่เราจำตัวละครหลักสองตัวได้แม่นเลย นั่นคือสาวที่หารายได้จากการเต้น ถอดวับๆ แวมๆ และพูดคุยกับลูกค้าผ่านเว็บแคมและสาวช่างสัก เราจำได้ว่ารอยสักดอกพลับพลึงในเรื่องสวยมาก (พอกลับมาดูอีกที มันไม่ได้สวยขนาดนั้น แต่ในความทรงจำ มันสวยมาก) มันติดอยู่ในใจมาตลอด และความสัมพันธ์ในเรื่องก็ไม่ได้ถูกกีดกันจากสังคมหรือนำเสนอความรู้สึกผิดของตัวละครที่ชอบเพศเดียวกัน สำหรับเราที่เป็นเด็กมัธยมต้นในโรงเรียนหญิงล้วนเมื่อสิบกว่าปีก่อน ความสัมพันธ์แบบคนรักชอบกันของผู้หญิงสองคนและรอยสักขนาดใหญ่บนเนื้อตัวหญิงสาวคงเป็นอะไรที่เย้ายวนมาก มันบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า เราก็อาจเป็นแบบนี้ได้นะ ผู้หญิงก็เป็นแบบนี้ได้นะ


บดินทร์ เทพรัตน์ : นักเขียนและผู้ก่อตั้งกลุ่มปันยามูฟวี่คลับ

Black Mirror ตอน San Junipero (2016, Owen Harris, UK)

San Junipero เป็นหนึ่งในเอพิโซดของซีรีส์ Black Mirror ซึ่งมีความโดดเด่นและได้รับการพูดถึงอย่างมาก สาเหตุจากเนื้อหาที่มีลักษณะมองโลกในแง่ดี เต็มไปด้วยแง่มุมความเป็นมนุษย์ ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยงและเข้าถึงได้ไม่ยาก (แม้จะอยู่ท่ามกลางฉากหลังและองค์ประกอบต่างๆ ที่แปลกประหลาด) รวมถึงตอนจบแบบ Happy Ending – ซึ่งถือเป็นความแตกต่างเมื่อเทียบกับเอพิโซดอื่นๆ 

หมายเหตุ – Black Mirror เป็นซีรีส์แนวไซไฟแบบจบในตอน ครีเอทโดยชาร์ลี บรู้คเกอร์ มีเนื้อหาสะท้อนถึงความน่ากลัวของเทคโนโลยี โทนเรื่องเป็นแนวทริลเลอร์/ตลกร้าย ปัจจุบันซีรีส์นี้มีทั้งหมด 5 ซีซั่นบวกกับภาพยนตร์เรื่องยาว 1 เรื่อง รับชมได้ทาง Netflix โดย San Junipero เป็นตอนที่ 4 ของซีซั่น 3

จุดเด่นของ San Junipero ยังอยู่ที่ตัวเอกของเรื่องซึ่งเป็นหญิงสาวสองคนที่ตกหลุมรักกัน (รับบทโดยกูกู เอ็มบาธา-รอว์, แมคเคนซี่ เดวิส ซึ่งทั้งคู่ถ่ายทอดบทบาทได้อย่างยอดเยี่ยม มีเสน่ห์ แสดงให้เห็นถึงแง่มุมทั้งแข็งแกร่งและเปราะบางได้อย่างลงตัว) โดยพวกเธอพยายามก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงความลังเลในจิตใจเพื่อให้ได้อยู่ร่วมกัน

สำหรับอุปสรรคความรักของทั้งคู่นั้น นอกเหนือจากกรอบในเรื่องเพศ (ซึ่งสังคมพยายามกีดกัน LGBTQ) แล้ว มันยังเกี่ยวข้องกับกรอบในเรื่องความเป็นมนุษย์ กล่าวคือตัวเอกจำเป็นต้องเลือกระหว่าง 1) ยอมปล่อยให้ร่างกายและจิตดับสูญตามอายุขัย แล้วถูกฝังร่วมกับคนในครอบครัวเดิม หรือ 2) อยู่ร่วมกับคนรักใหม่ในดินแดน San Junipero ซึ่งเป็นโลกหลังความตายในรูปแบบโลกเสมือนซึ่งใช้เทคโนโลยีบรรจุจิตของผู้ล่วงลับเอาไว้ 

ซึ่งนั่นทำให้เอพิโซด San Junipero ถือเป็น Queer Cinema ที่พาผู้ชมไปสำรวจความสัมพันธ์แบบใหม่ๆ ที่ก้าวข้ามมากกว่าเรื่องของเพศคู่ตรงข้าม แต่ยังก้าวข้ามกรอบของร่างกายและความเป็นมนุษย์แบบเดิมๆ ไปสู่ตัวตนแบบใหม่ ซึ่งได้แก่จิตที่ไร้ร่างกายในโลกเสมือน

ถึงแม้ประเด็นและองค์ประกอบต่างๆ ใน San Junipero จะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ชีวิตกับความตาย จิตกับร่างกาย รวมถึงปรัชญาแนวคิด Posthuman ที่ซับซ้อน แต่ถึงที่สุดแล้วหัวใจหลักของ Junipero ก็เรียบง่ายและมีความเป็นมนุษย์สูง นั่นคือ ความพยายามเอาชนะอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ได้อยู่กับคนรัก รวมถึงพยายามสร้างสวรรค์หรือยูโทเปียให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ (จากการใช้เทคโนโลยีล้ำยุค) ดังสะท้อนให้เห็นผ่านชื่อเพลงประกอบหลักอย่าง “Heaven Is A Place On Earth”


มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักเขียนประจำ Film Club

Der Kreis (The Circle) (2014, Stefan Haupt, Switzerland) 

จำได้ว่าสิ่งแรกที่ทำหลังดูเรื่องนี้จบ ก็เริ่มลงมือค้นข้อมูลเกี่ยวกับแม็กกาซีนในตำนาน Der Kreis ที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของหนังซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง docu. กับหนัง feature film เรื่องนี้ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ สาวต่อไปอีกว่าเล่มจริงยังมีเหลือให้สั่งกับเขาบ้างเปล่า และถ้ายังเหลือ ขั้นตอนจัดส่งจะมีการตรวจค้น จะโดนตรวจจับอะไรมั้ย หรือแม้แต่พอส่งถึงบ้าน สภาพจะยังเหมือนเดิมแค่ไหน เพราะขนาดในช่วงเวลาจริง ขนาดจัดส่งให้สมาชิกตามที่อยู่ ขนาดซองยังมีประโยชน์ เผื่อไว้ใช้บังสายตาสังคมได้อีกต่อ

ครั้นเมื่อถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่หนังต้องการนำเสนออันเป็นหัวใจสำคัญ ได้กลายเป็นสิ่งสิ่งเดียวกับสาเหตุที่ทำให้คนจำนวนมากรักหนังอย่าง Dead Poets Society (ที่ตอนนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไป กราฟคะแนนนิยมเริ่มดิ่งลงแล้ว ผิดกับตอนออกฉายใหม่ๆ) ก็คือความสุขของการได้อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ แล้วได้เจอคนที่คอเดียวกัน เขียนกวีนิพนธ์มาผลัดกันอ่านแบบลับๆ กับการค้นพบบ่อน้ำกลางทะเลทรายที่ไม่เคยมีใครรู้ นอกจากคนที่รู้ใจกัน ซึ่งเป็นธุรกิจแบบคู่ขนาน ระหว่างการทำหนังสือกับเปิดผับสำหรับรองรับชายรักชาย จนกระทั่งกลายเป็นสวรรค์ในสองรูปแบบ ระหว่างสรวงสวรรค์บนตัวอักษรควบคู่กับคำเชื้อเชิญว่า ถ้าคุณอยากมีประสบการณ์เหมือนได้ขึ้นวิมาน ก็จงมาเยือน(บาร์ของ)เรา ครั้นเมื่อถึงเวลา ‘สวรรค์’ ทั้งสองรูปแบบก็อำลาสาวกของตนเองไป

Stefan Haupt ทำ Der Kreis ออกมาในรูปแบบที่ก้ำกึ่งระหว่างการเป็นสารคดีกับหนังสร้าง ใช้คนแสดง เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ความเป็น docu. ก็เอาชนะได้อย่างราบคาบ ทีนี้ก็เหลือว่าบนความเป็น docu. น้ำหนักจะเทไปยังส่วนไหนมากกว่า ระหว่างการเป็น biopics ซึ่งมีทั้งรูปแบบสัมภาษณ์ตัวซับเจกต์ พร้อมเอาส่วนที่เป็นประสบการณ์ + ความทรงจำมา re-enact จนเกือบจะกลายเป็นหนัง drama ทั่วไป หรือเป็นการกล่าวคำอาเศียรวาท ต่อยุครุ่งเรืองที่ไม่มีวันหวลคืนของแม็กกาซีน (ที่ไม่เฉพาะแค่ Der Kreis) ซึ่งสร้างความสุขของการได้เฝ้ารอกำหนดวางฉบับล่าสุด 

การปิดตัวของหนังสือ Der Kreis ได้กลายเป็นเหยื่อรุ่นแรกๆ ของภาวะ media disruption (เมื่อการสิ้นสุดของมันได้มีส่วนสร้างแม็กฯ รุ่นใหม่ๆ ได้งอกเงยขึ้นมาเพื่อรองรับการคัมเอาท์ของกลุ่มรักทางเลือกที่ต้องการ ‘การเปิดเผย’ = เห็นหมด จนกลายเป็นการสร้างกระแสในวงที่กว้างขึ้น) และส่วนที่เป็นความงดงามของกลุ่มชาวสีรุ้งในยุโรปได้ถูกนำไปทาบทับไว้ด้วยเรื่องของเสรีภาพซึ่งการต่อสู้ที่ผ่านมาของคนรุ่นบุกเบิกที่ผ่านร้อนผ่านหนาวต้องฝ่าฟันกับกระแสกดทับทางสภาพสังคมมาตลอดศตวรรษที่แล้ว 

ขณะที่ยุคพีคๆ ของตัวแม็กฯ Der Kreis เองก็บังเอิญพ้องรับกับระยะเริ่มต้นของกระแส existentialism ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเตรียมรับแสงเดือนแสงตะวัน แม้ในยุคแรกเริ่มยังต้องเผชิญกับอคติ ที่เกิดในระบบการศึกษา กลายเป็นว่า(ที่มิใช่แค่ตัวแม็กกาซีนเอง ทว่าความรักในเพศเดียวกัน)ได้ถูกผนวกเข้ากับกระแสอัตถภาวะนิยม คนเป็นครูสอนวรรณกรรมอย่าง Ernst Osentag (Matthias Hungerbühler) จึงเหมือนเจอศึกสองด้าน เมื่ออยู่ในโรงเรียน ต้องต้านหลักสูตร พออกนอกรั้ว ก็ยังเจอกระแสสังคม สุดท้ายก็ได้พบ circle เล็กๆ ที่มิใช่แค่ชื่อหนังสือ ทว่าเป็นยูโทเปียที่ต่อเติมการใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมที่(แม้ไม่ถึงกับไร้ ทว่ายัง)ต้องการหัวใจที่เปิดกว้าง พร้อมรับความแตกต่างหลากหลายซึ่ง Ernst เองก็มีส่วนขีบเคลื่อนให้ที่ตรงนั้นน่าเข้าไปมีส่วนร่วม ด้วยการรับจ็อบเป็นแดร็กควีนเอ็นเจอร์เทนเนอร์ไปพร้อมกัน

ลำพังการมีหมาป่าอยู่ท่ามกลางฝูงชนก็ดูเป็นความแปลกแยกพอแล้ว จะเป็นการดีกว่ามั้ย ถ้าบังเอิญเจอหมาป่าตัวอื่นที่หลงฝูงเหมือนๆ กัน ซึ่งก็ใช่ว่าจะบรรเทาความเหงาท่ามกลางฝูงชนลงไปได้ ในเมื่อครูใหญ่ของโรงเรียนเองก็ยังต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไม่แพ้กัน แต่สุดท้ายก็พบเจอส่วนที่หายไป Röbi Rapp (Sven Schelker) เป็นหนุ่มเข้าขั้นสวย ทำอาชีพหลากหลายมาก แต่ก็มีเวลาพอจะเจียดให้แม่ (แสดงโดย Marianne Sagebrecht ศิษย์เก่าจากหนังสาย LGBT ตัวแม่ Bagdad Cafe) และความรักที่ค่อยๆ ต่อเติมร่วมกับ Ernst ซึ่งผ่านวันเวลาและใช้ชีวิตอยู่รอดได้นานกว่าแม็กกาซีน Der Kreis จนทันเห็นวันเวลาที่สังคมเรื่มหันมาเหลียวมอง จนกระทั่งมีส่วนทำให้สังคมสวิสได้รู้จักกับชีวิตที่เดินทางเป็นรูปวงกลมในชีวิตจริง เมื่อมี docu. ชื่อDer Kreis เรื่องนี้จำลองเรื่องราวของสองชีวีออกมาเป็นหนัง

การมีอยู่ของ Der Kreis ถูกมองว่าต้านกระแสสังคมพออยู่แล้ว ในทางกลับกันตัวสังคม(ข้างนอก)เองต่างหากที่โต้กลับการอยู่รอดและ existence ของผับ กิจการเสริมของแม็กกาซีน ..เป็น ‘แหล่งนัดพบเพื่อนใหม่ใจเดียวกัน’ เมื่อเกิดคดีฆาตกรรมซ้อนกันสามราย สายตาสังคมก็เพ่งเล็งไปที่ชุมชนเล็กๆ ที่มีลมหายใจหล่อเลี้ยงด้วยการเป็นกึ่งๆ สมาคมลับ

ไม่เคยอ่านพาร์ตเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ลงในแม็กฯ Der Kreis (ของจริง) แต่เชื่อว่าแนวทางคงไม่ทิ้งคอลัมน์ ‘ชีวิตเศร้าชาวเกย์’ ในหนังสือนีออนไม่มากไม่น้อย และยังมีที่น่ากังขาเพิ่มเข้ามาอีกก็ยังมีเรื่องของเส้นชีวิตของตัวแม็กกาซีน Der Kreis เองที่มีจุดเริ่มต้นในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นอุตมรัฐทางเสรีภาพ ทว่าในอีกด้านก็ยังมีความเป็น ‘รัฐตำรวจ’ ก็ยังไม่เท่ากับปีที่ บก. Felix เริ่มทำหนังสือ 1932 (เทียบเท่า พ.ศ. 2475) และปิดตัวปี 1967 ซึ่งถ้ายังคงออกอย่างต่อเนื่อง ปีนี้ก็จะครบ 89 ซึ่งมีอายุเท่ากับบางอย่างแถวนี้พอดี


จิรัศยา วงษ์สุทิน : ผู้กำกับหนังสั้น วันนั้นของเดือน ซีรีส์ 365 วัน บ้านฉันบ้านเธอ 

Je te mangerais (2009, Sophie Laloy, France)

เรื่องราวของ Marie กับ Emma เพื่อนสาวที่สนิทกันมากๆ ที่อยู่ห้องอพาร์ตเมนต์เดียวกัน แล้ว Emma (แสดงโดย Isild Le Besco จอมโหด) ดันชอบ Marie (Judith Davis) มากกว่าเพื่อน ซึ่ง Marie เนี่ยไม่โอเคนะที่เพื่อนมาชอบ แต่เธอก็ยังรัก Emma ในฐานะเพื่อนมากๆ ถึง Emma จะคลั่งรักเธอแค่ไหน เอะอะขอจูบ เอะอะขอมีอะไรด้วย Marie ก็ทั้งด่า ทั้งย้ายออกแล้ว แต่สุดท้ายก็ย้ายกลับมาอยู่กับ Emma อยู่ดี ช่วงหลังๆ ของหนังเลยดีมากเลยสำหรับเรา เพราะความสัมพันธ์ของ 2 คนนี้มันจะซับซ้อนในเลเวลที่เราไม่เข้าใจอีกต่อไปแล้วว่าความรู้สึกที่ทั้งคู่มีให้กันมันคืออะไรกันแน่ หรือมันอาจไม่มีคำจำกัดความไหนสามารถอธิบายความสัมพันธ์ของหญิงสาวคู่นี้ได้เลยก็ได้ อีกอย่างคือนักแสดงหญิงทั้งคู่แสดงดีมากๆ เลย Judith Davis นี่จะดูสับสนลังเลตลอดเวลา ทั้งรักทั้งเกลียด Isild Le Besco ก็คือคลั่งรักแบบ literally คลั่งอ่ะค่ะ ไม่ใช่สำนวนเปรียบเทียบใดๆ สนุกที่ได้ดูมากๆ


นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ : ศิลปิน

Breakwater (Quebramar) (Cris Lyra, Brazil, 2019)

ทริปของกลุ่มเพื่อนเลสเบี้ยนห้าคน ประกอบไปด้วย Lana Lopes, Raíssa Lopes, Yakini Kalid, Nã Maranhãoc และ Elis Menezes พวกเธอเดินทางจาก São Paulo มุ่งหน้าสู่ชายทะเลที่อยู่ไกลออกไปเพื่อใช้เวลาในช่วงวันปีใหม่ด้วยกัน …นี่คือเส้นเรื่องของหนังสารคดีความยาว 27 นาทีเรื่องนี้

มีซีนที่สวยมากในช่วงต้นๆ ของหนัง เรามองเห็นพวกเธอนอนเปลือยอกอาบแดดจากมุมสูง เสียงจากนอกเฟรมหนังบอกให้เพื่อนที่นอนอยู่ขยับตัวสองสามครั้ง ซักพัก กล้องโคลสอัพให้เห็นร่างกายแบบไม่เต็มส่วนแต่ก็เต็มตากับรายละเอียดหนังเนื้อ สีผิว ขุมขน และอื่นๆ ถัดมาเราจึงเห็นว่าเจ้าของเสียงเมื่อครู่ เธอกำลัง sketch ภาพเพื่อนๆ ที่กำลังนอนขนานกับแนวเนินทิวเขา ฉากหลังที่โค้งรับรูปลักษณ์ร่างกายของพวกเธอ นี่อาจเป็นถ้อยแถลงของผู้กำกับ Cris Lyra ที่กำลังบอกเราว่า Breakwater นั้นเล่าเรื่องผ่าน place/พื้นที่ สองแบบ หนึ่งคือ place ที่เราเห็นใน landscape รอบๆ ไม่ว่าจะเป็น ทะเล/ชายหาด/โขดหิน/บ้าน เหล่านี้เป็นเหมือนเรือนพักของ “ร่างกาย” ซึ่งเป็น place อีกแบบหนึ่ง ร่างกายในฐานะพื้นที่ห่อหุ้ม ระบุเพศได้ เพียงแต่ภายในคือธรรมชาติและความปรารถนาแบบที่พวกเธอเป็นหรืออยากเป็น 

เราเข้าถึงชีวิตบางส่วนจากการพูดคุยของพวกเธอ เรื่องผมเผ้า สีผิว เพศสภาพ แบบแผนบางอย่างของสังคมต่อความเป็นผู้หญิงที่ชวนกระอักกระอ่วน ประสบการณ์ในการชุมนุมประท้วง ฯลฯ บทสนทนาเหล่านี้แทรกอยู่ในกิจกรรมประจำวัน พวกเธอยังช่วยกันแต่งเพลง ดื่มกินรอบกองไฟ ฉากที่เราชอบมาก คือ ฉากตัดผม ร้องเพลงและเต้นรำในคืนส่งท้ายปีเก่า เราเห็นการโอบอุ้มกันและกันด้วยสิ่งเหล่านี้ มิตรภาพของพวกเธอเปล่งประกายจนรู้สึกได้

ใครเคยตามข่าวสารจากบราซิลหรือเคยดูหนังสารคดี (ที่แจ๋วมาก) เรื่อง Your Turn / Espero Tua (re) Volta (2019, Eliza Capai, Brazil, Documentary, 93 min) คงรู้เรื่องความเคลื่อนไหวของเหล่านักเรียน (Brazilian student movement) ที่ลุกขึ้นประท้วงต่อรัฐ เริ่มจากกรณีขึ้นค่าโดยรถเมล์และรถไฟในปี 2013 ผลสำเร็จของมันของมันนำไปสู่อีกระลอกคลื่นความเคลื่อนไหว Occupation School ในปี 2015 เมื่อผู้ว่าการ São Paulo ประกาศ “ปรับโครงสร้างองค์กร” ที่หมายถึงการปิดโรงเรียนหลายโรงเพื่อยุบรวมกันครั้งใหญ่ นักเรียนจากโรงเรียน Fernao Dias ตัดสินใจเข้ายึดครองโรงเรียนของตน นับจากนั้น โรงเรียนมากกว่า 200 แห่งในเซาเปาโลก็ถูกยึดครอง และกระแสนี้ก็แพร่กระจายไปยังรัฐอื่นๆ ของบราซิล แน่นอนว่าทั้งหมดแลกและเผชิญหน้าความรุนแรงจากฝ่ายตำรวจที่มีทั้งการทุบตี ทำให้อับอาย และใช้อาวุธ 

นับจากปลายปี 2018 บราซิลอยู่ในเงื้อมเงาการปกครองของ Jair Bolsonaro นักการเมืองฝ่ายขวาจากพรรค Social Liberal Party (PSL) เขาชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีแต่ก็เต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาวและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจนได้รับฉายาว่า “Trump และ Duterte แห่งบราซิล” หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษเคยตีพิมพ์บทความที่ระบุว่า “..นาย Bolsonaro เป็นผู้นิยมขวาจัด เขาไม่เหมือนกับ Donald Trump ของสหรัฐฯ แต่เลวร้ายยิ่งกว่า..” Bolsonaro ยังมีชื่อเรื่องเหยียดเชื้อชาติ เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและผู้หญิง นี่ยังไม่นับรวมกับทัศนคติ ความรับผิดชอบ และวิธีการรับมือกรณีการระบาดของโควิด 19 ในช่วงปีที่ผ่านมา และนี่คือโลกของคนบราซิลนอกจอหนัง ที่ที่พวกเธอทั้งห้าต้องใช้ชีวิต

สี่ในห้าคนของกลุ่มเพื่อนใน Breakwater นั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ Occupation School ทุกคนมีความกลัวเป็นแผลใจและเรายังทันเห็นร่องรอยเหล่านี้ในบางโมเมนต์ของหนัง

ถ้า landscape ใน Breakwater เป็นเรือนพักกายใจแบบที่เราเห็นทุกคนผ่อนคลายท่ามกลางกรุ่นไอเสรี นั่นอาจเป็นเพราะมีเพียงที่นี่เท่านั้นที่เป็นที่หมาย นี่คือที่ที่ช่วยบรรเทาบาดแผลชีวิตอย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง พ้นไปจากนี้ก็คือ สำนึกร่วมในการมีอยู่ของพวกเธอที่มีกันและกัน มิตรที่คอยโอบกอดปลอบโยนท่ามกลางเสียงจุดพลุและดอกไม้ไฟในคืนส่งท้ายปีเก่า

..เราดูสามสี่รอบ ชอบ หนังไม่ได้มีบทสนทนาน่าเบื่อ ตรงกันข้าม เราคิดว่าความเป็น poetic ของงานภาพ รวมถึงเสียงดนตรีและเพลงในหนังน่าจะทำงานกับผู้คนได้ดีอยู่


บารมี ขวัญเมือง : Cinephile, นักวิจารณ์

I’m a Pornstar: Gay4Pay (2016, Charlie David, Canada/United States)

สารคดีของผู้กำกับเควียร์สายอินดี้ตัวแม่อย่าง “ชาร์ลี เดวิด” ที่พาไปสำรวจวัฒนธรรมของผู้ชายแท้ (straight guy) หันมาเล่นหนังโป๊เกย์เพื่อเงินในอุตสาหกรรมสื่อลามกของอเมริกา และยังเกริ่นเท้าความไปถึงยุคแรกๆ ที่นักแสดงชายรับบทเกย์นั้น กลายเป็นการกระทำที่น่ายกย่องและกล้าหาญ มีหลายคนอยากจะเป็นฮิธ เล็ดเจอร์ และเจค กิลเลนฮาล ในหนัง Brokeback Mountain หรือทอม แฮงก์ส ใน Philadelphia หรือบางคนก็มีตรรกะชวนสะเทือนใจประเภท “ฉันเคยเล่นเป็นฆาตกรต่อเนื่อง แล้วทำไมจะเล่นเป็นเกย์ไม่ได้?”

การนำเสนอของเดวิดที่นอกจากจะตอบสนองการเป็น queer gaze อันเต็มไปด้วยแรงปรารถนาจะดูและเปิดโอกาสให้เราได้ดูไปด้วย มันก็ควบคู่ไปกับเรื่องจริงที่หลบซ่อนอยู่ในหลืบมุมของสังคม lgbtq+ และส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนเส้นแบ่งระหว่างชาวรักต่างเพศและชาวรักร่วมเพศมาโดยตลอด ซึ่งมันตรงกับความสนใจของเรา ครั้งหนึ่งเราเคยคิดสรุปไปเองว่า “นักแสดงหนังโป๊เกย์ ย่อมต้องเป็นเกย์อยู่แล้ว” แต่เมื่อได้มาดูหนังสารคดีเรื่องนี้ ความเข้าใจที่มีต่อประเด็นดังกล่าวกลับกลายเป็นว่าเราไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย มันคือเรื่องที่ใหม่มากๆ แถมตีกลับไปถึงเรื่องเพศสภาพและก่อให้เกิดเป็นสถานการณ์ที่ดูซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

แต่ในความคิดเห็นส่วนตัว เราก็มองว่าสิ่งที่ไม่สามารถไขว่คว้ามาได้ในชีวิตจริง มันดูเหมือนจะใกล้เข้าไปมากกว่าเดิม ขณะเดียวกันนักแสดงหนังโป๊เกย์ที่เป็นเกย์จริงๆ ก็สารภาพว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้มีเซ็กซ์กับคนที่คุณไม่สามารถเจอได้ที่ไนท์คลับหรือสถานที่สำหรับเกย์โดยเฉพาะ ส่วนทางด้านชายแท้ก็มีความเห็นว่า “ตอนอยู่นอกจอ ผมไม่เคยคบแฟนผู้ชาย หรือมีอะไรกับผู้ชายเลย” ฉะนั้นเซ็กซ์กับผู้ชาย มันคือการทำงานล้วนๆ และเป็นงานที่ easy ในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตามถึงตัวหนังจะไม่ได้ให้คำตอบกับเราตรงๆ แต่สาระสำคัญที่มันทิ้งท้ายเอาไว้คือ อิสระในการได้เป็นตัวของตัวเอง และรสนิยมทางเพศมันคือเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคนอื่น มันเป็นการตัดสินใจที่มีความเป็นไปได้มากมาย ดังนั้นจึงไม่ควรถูกเอาอะไรไปตัดสินแทน เพราะท่ามกลางคนรุ่นใหม่ที่กล้าแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้นและสังคม(ชายแท้)เปิดรับความหลากหลายทางเพศมากกว่าในอดีต หรือตามมาตราของคินซีย์ที่ทำให้ค้นพบว่าโลกใบนี้ก็ยังมีพื้นที่สีเทาขนาดใหญ่อยู่ โลกที่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนและหยิบยกเรื่องเพศไปไว้ในอากาศ


(โปรดติดตามต่อในพาร์ตที่ 4)

(โปรดติดตามต่อในพาร์ตที่ 5)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here