Home Article FILM CLUB Year List 2020 (Part 5)

FILM CLUB Year List 2020 (Part 5)

0
FILM CLUB Year List 2020 (Part 5)

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง)

(รายชื่อรอบสาม) | (รายชื่อรอบสี่)

ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่ห้า


คนมองหนัง : คอลัมน์นิสต์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ 

Ema (2020, Pablo Larrain, Chile) 

หนังชิลีที่พูดถึงจินตนาการแบบใหม่ ภราดรภาพแบบใหม่ ครอบครัว/ชุมชน/สังคมแบบใหม่ ได้อย่างสนุกสนานและน่าตื่นเต้น ผ่านการนำพาผู้ชมให้เดินทางไปปะทะเผชิญหน้ากับภูมิปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ และการปั่นป่วน-ทำลายระบบ/ระบอบ ที่แหวกแนวถึงรากถึงโคน ของคนหนุ่มสาวตรงชายขอบสังคม



อภิโชค จันทรเสน : หนึ่งในทีมเขียนบทภาพยนตร์ Homestay และ นศ.ปริญญาโทภาพยนตร์

Terminator 2 : Judgment Day (1991, James Cameron, US) (Drive-In ณ ลอส แองเจลิส)

กลางปี 2020 โรงหนังที่แอลเอปิดหมดเพราะฤทธิ์โควิด เลยมีคนหัวใส จัดฉายหนัง drive-in ทั่วเมือง ทั้งหนังชนโรงและหนังเก่าคลาสสิค ซึ่งหนึ่งในหนังเก่าในตำนานที่เอามาฉายก็คือ Terminator 2: Judgment Day ด้วยความที่ผู้เขียนไม่เคยได้ดูหนังภาคนี้เต็มเรื่อง เคยแต่ดูอย่างขาดๆ วิ่นๆ บนทีวีมานับสิบครั้ง เลยถือโอกาสนี้ดูให้เต็มๆ เรื่อง ประเดิมการดูหนัง drive-in เป็นครั้งแรกในชีวิต

คืนนั้น รถเป็นร้อยคันมาจอดรวมกันในลานจอดของห้างชานเมืองแห่งหนึ่ง หน้าจอกลางแปลงยกสูง ทางผู้จัดเช่าตัวปล่อยสัญญาณวิทยุให้ทุกคนเปิดเสียงจากหนังในรถตัวเอง แล้วหนังก็เริ่มฉายคือ 4DX ก็ 4DX เถอะ การนั่งในรถแล้วเปิดเบสสุดคือระเบิดทีรถสั่นทั้งคัน แล้วคนส่วนใหญ่ที่มาดูก็คือแฟนๆ เดนตายของหนังเรื่องนี้ เวลาซีนสำคัญโผล่มาทุกคนก็จะบีบแตรกันให้แซ่ด ตัวหนังเองคงไม่ต้องอธิบายให้มากความ ในที่สุดผู้เขียนก็เข้าใจว่าทำไมใครๆ ก็ยกให้หนังเรื่องนี้ขึ้นหิ้ง ความบู๊ระเบิดสุดขีดแบบเล่นจริงเจ็บ พลังความแกร่งโคตรพ่อโคตรแม่ของ Linda Hamilton กับความสัมพันธ์พ่อลูกของเฮียอาร์โนลด์กับเอ็ดเวิร์ด เฟอร์ลองคือที่สุดของที่สุดของความเอนเตอร์เทนเพียวๆ แบบยุค 90 (ความพีคอีกขั้นคือการได้ดูหนังเรื่องนี้ในเมืองที่ถ่ายหนังเรื่องนี้เอง ตึกออฟฟิศที่ระเบิดทิ้งกันตอนจบห่างจากที่ฉายหนังไปนิดเดียว)

แต่นอกจากความมันบู๊ระเบิดของมัน อีกอย่างที่ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังของปี 2020 สำหรับผู้เขียน ก็คือความหวังที่เต็มเปี่ยมอยู่ในเรื่อง 

ในปีที่คนดูหนังทุกคนต้องมากระจุกกันอยู่ในรถของตัวเองเพื่อจะได้ดูหนัง ในปีที่เราต้องต่อสู้กับศัตรูสุดโหดที่มองไม่เห็น ฆ่ายังไงก็ไม่ตายราวกับหุ่นเทอร์มิเนเตอร์อย่างโควิด ก็มีหนังเรื่องนี้แหละที่บอกเราว่า แทนที่เราจะนอนรอให้โควิดมาฆ่าเรากันง่ายๆ เราสามารถลุกขึ้นมาเป็นซาร่าห์ คอนเนอร์ แล้วเปลี่ยนโชคชะตา เอาชนะสิ่งนี้ไปด้วยกันได้ถ้าเราร่วมมือกัน



วรรษชล ศิริจันทนันท์ : นักเขียนประจำ Film Club 

Closing Time (2018, Nicole Vögele, Germany/Switzerland)

พูดได้เต็มปากว่าเทศกาลหนังไต้หวันเป็นเทศกาลโปรดอันดับหนึ่งในไทยของเราไปแล้วหลังจากเทศกาลครั้งล่าสุดได้แทรกตัวขึ้นมาระหว่างโควิดระลอกแรกและระลอกสอง ทำให้เราโชคดีได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงใหญ่ และได้มีประสบการณ์การเสพ slow cinema ที่น่าจดจำและทำให้เราทิ้งตัวจมลงไปในหนังได้อีกครั้งหนึ่ง

เราจดจำบรรยากาศเยือกเย็นของไทเปยามค่ำคืนที่เจือไออุ่นจากควันที่ลอยขึ้นมาจากหม้อแกงจืดได้ดี เราจดจำแสงไฟฟุ้งๆ จากไฮเวย์และไฟรถที่ตกกระทบน้ำสกปรกบนพื้นถนนได้ เราจำได้ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผัวและเมียเจ้าของร้านข้าวต้ม ชีวิตประจำวันของเจ้าของกิจการอื่นๆ ในละแวกนั้น ไปจนถึงหมาหงอยที่ถูกเจ้าของปล่อยทิ้งไว้ไม่กลับมา แต่นี่ไม่ใช่การจำลองความเหงาของคนเมืองบนจอภาพยนตร์ แต่คือการจดจ้องความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ที่มากครั้งไม่ได้งดงามตรึงตา จะมีก็แต่ความเย็นชืดของเวลาและการเกิดซ้ำของกิจกรรมเดิม การเร่งเครื่องมอเตอร์ไซค์ออกไปยังพื้นที่แปลกตาในตอนท้ายจึงเป็นดั่งอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ในช่วงชีวิตของคนหนึ่งคน



Keiko Sei : ภัณฑารักษ์ นักกิจกรรม นักเขียนรับเชิญ Film Club

Dead Mission: Remote (2020) by Shinichiro Ueda

ไม่มีหนังเรื่องไหนที่จะสะท้อนความรู้สึกของคนในวงการในช่วงเวลาของการล็อกดาวน์อย่างรวดเร็วได้ดีเท่ากับ หนังจาก Ueda ผู้กำกับภาพยนตร์ One Cut of The Dead ที่หนังทั้งเรื่องสร้างและถูกรับชมผ่าน ZOOM มันทำให้เราทั้งหัวเราะและร้องให้ มันทำให้เราอยากเชื่อมต่อและถูกเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ มากกว่าที่เคย มันทำให้เราได้ตระหนักว่า บางอย่างที่เคยเป็นเรื่องสามัญดาษดื่นอย่างเช่นการต่อต้านตัวเอง ก็อาจจะกลายเป็นความงามได้ มันทำให้เราอยากดูหนังเรื่องอื่นๆ มากขึ้น และทำให้เราปรารถนาที่จะต้อนรับปีใหม่มากกว่าครั้งไหนในชีวิต ลาก่อนปี 2020

* คนทำหนังเรื่องนี้ยังได้มีส่วนร่วมในโปรเจกต์ที่ตั้งใจจะช่วยเหลือโรงภาพยนตร์อิสระขนาดเล็กระหว่างที่มันถูกปิด โดยโปรโมตร่วมกับหนังใน Youtube หนังเรื่องนี้จึงเป็นแนวทางที่ชี้ให้เห็นว่าภาพยนตร์สามารถยืดหยุ่นที่พอที่จะรองรับสื่อต่างๆ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันเพื่อนำไปสู่การร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ซึ่งจะเห็นได้จากโครงการของไทยบางเรื่องเช่น“ Two Soldiers” เราหวังว่าจะได้เห็นโครงการแบบนี้จากประเทศไทยอีกในปีนี้!



Seam-C : cinephile

Of Land and Bread (2019, Ehab Tarabieh, Palestine/Israel)

เป็นหนังที่กระอักกระอ่วนที่สุดของปี ไม่สามารถลืมได้ลง ไม่สามารถดูแบบต่อเนื่องได้เพราะมันหดหู่เกินไป ที่สำคัญมันคือภาพจริงเสียงจริง!

หนังรวบรวมวิดีโอที่ถูกถ่ายโดยกลุ่ม B’Tselem ประหนึ่งนักข่าวพลเมืองของชาวปาเลสไตน์ผู้คอยเก็บภาพการกดขี่ข่มเหง การรุกไล่อย่างโหดร้ายจากทหารและชาวอิสลาเอลในเขต West Bank

ทุกคลิปเรียกได้ว่าไปสุดทุกอัน ไร้ซึ่งมนุษย์ธรรมความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง ไม่เว้นแม้กระทั้งเด็กน้อยตัวเล็กๆ โหดร้ายแบบถ้าใจไม่แข็งจริงอาจทนรับกับมันไม่ได้

พื้นที่บางส่วนของโลกมันโหดร้ายเกินกว่าเราจะจินตนาการได้จริงๆ ขอบคุณที่โลกนี้มีนวัตกรรมการบันทึกภาพ อาวุธชิ้นเล็กของคนตัวเล็กตัวน้อย



ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล : composer ภาพยนตร์ไทย 

Devs (2020, Alex Garland, UK/US) Mini-series

พระเจ้าไม่ได้ทอดลูกเต๋า จริงหรือเปล่าแบบที่ไอน์สไตน์ว่าไว้? น่าจะเป็นคอนเซปต์คร่าวๆ ของซีรี่ส์ไซไฟอันนี้ คือการตั้งคำถามกับแนวคิดแบบ determinism (คือทุกสิ่งถูกวางแผนไว้แล้ว) และเราไม่ได้มี free will จริงๆ, และเป็นอีกเรื่องที่กล่าวถึงการที่มนุษย์อยากเป็นพระเจ้าในอีกมุมมองที่ต่างจาก Ex Machina, โดยที่บริษัทแผนก Devs ในเรื่องได้พยายามสร้างเครื่องที่ไว้ทำนายอดีตไปจนถึงอนาคตได้ในระดับควอนตัม เพื่อพิสูจน์ว่า determinism เป็นจริง

ซีรี่ส์เรื่องนี้เล่าเรื่องในรูปแบบ mysterious thriller เนื่องจากแฟนของนางเอกได้อยู่ๆ ฆ่าตัวตายหลังจากเข้าไปทำงานกับ Devs

ในซีรี่ส์นี้ยังพูดถึงแนวคิดฟิสิกส์ในเรื่องอื่นๆ เช่น Multiverse รวมถึงความเป็นลัทธิของกลุ่มคนที่เชื่อใน Determinism ให้เราชวนตั้งคำถามไปกับการดูพร้อมๆ กันในแบบที่ไม่ประณีประนอมคนดูเหมือนเทเน็ท (ฮา) ในการกำกับสไตล์ Garland เหมือนในสองเรื่องหลังของเขา

ผมชอบงานยุคหลังของ Garland มาก ยิ่งทำก็ยิ่งตั้งคำถามที่ชวนซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ ในแบบที่คนอื่นเขาไม่ทำกันเริ่มจากการเล่นเป็นบทพระเจ้าในสวนอีเดนแบบ Ex Machina, การทำร้าย (และทำลาย) ตัวเองในธรรมชาติมนุษย์แบบ Annihilation, จนมาถึงเรื่องล่าสุดที่เป็นเรื่องมิติความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่สามารถทำนายได้ทั้งหมด, จริงๆ ถ้าพูดถึงแนวคิดอย่างเดียวอาจจะมีคนทำไปแล้วบ้าง แต่พอเป็นงานของ Garland ผมรู้สึกว่าเขาลงไปสำรวจในแนวคิดนั้นได้ลึกกว่าคนอื่นๆ ที่ทำ รวมถึงสไตล์ที่ค่อนข้างเข้ากับตัวหนังเชิงปรัชญาได้เป็นอย่างดีเลยด้วย



ปัณณวิชญ์ เตชะเกรียงไกร : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ แอดมินเพจ ชมรมวิจารณ์บันเทิง

ติดถ้ำ – The Caved Life (2020, พัฒนะ จิรวงศ์, อุรุพงศ์ รักษาสัตย์, โสภาวรรณ บุญนิมิตร, พีรชัย เกิดสินธุ์, ญาณิน พงศ์สุวรรณ)

ภาพยนตร์สารคดี “ติดถ้ำ” (The Caved Life) แม้จะอิงกับเหตุการณ์หมูป่าติดถ้ำหลวง แต่เป็นการนำเสนอ 4 เรื่องราวชีวิต “คนนอกถ้ำหลวง” ด้วยความหมายโดยนัย ตีความ “ติดถ้ำ” เชิงนามธรรม ว่า “ชีวิตมนุษย์ล้วนมีถ้ำโปร่งแสง ถ้ำที่มองไม่เห็น และเรากำลังติดอยู่ในนั้น โดยไม่มีหน่วยกู้ภัยใดๆ ช่วยเหลือ” 

จุดเด่นของภาพยนตร์สารคดี “ติดถ้ำ” (The Caved Life) นอกเหนือจากประเด็น “มนุษย์-ผู้ติดถ้ำโปร่งแสง” ทั้งโดยไม่รู้ตัว, รู้ตัวแต่จำยอม, รู้ตัวและพยายามดิ้นรนออกมา, หรืออาจกำลังเดินเข้าไป เพื่อติดอยู่ในนั้น.. ก็คือ “งานกำกับภาพ” และ “งานลำดับภาพ” 

งานกำกับภาพของสารคดีเรื่องนี้ (ทั้ง 4 ตอน) นอกจากงดงาม ตรึงตาตระการใจ ยังทำหน้าที่มากกว่าแค่แทนสายตาคนดู ให้ “รู้จัก” ผู้คนเหล่านั้น.. ภาพที่ปรากฏบนจอ ดึงดูดคนดูร่วมเป็น “ส่วนหนึ่ง” ในชีวิตพวกเขา.. คนดูจะสัมผัสได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก กระทั่งมุมมองความคิดผ่านภาพที่นำเสนออย่างมีชั้นเชิง..

เฉกเช่นเดียวกับ งานลำดับภาพ ที่เลือกช่วงเหตุการณ์สำคัญๆ ในชีวิตของตัวละคร เรียงร้อยเข้าหากัน เพื่อนำไปสู่การกระตุ้นคนดู ให้สังเกตผู้คนรอบข้างในสังคม ให้เกิดการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่.. ซึ่งสอดคล้องกับเจตนาที่ผู้สร้างหนังเรื่องนี้ต้องการถามคนดู… “คุณคิดว่า สังคมไทย ยัง ‘ติดถ้ำ’ อะไรอยู่บ้าง?”



ลลิตา หาญวงษ์ : นักวิชาการ อ.สอนประวัติศาสตร์ 

A Special Day (Una Giornata Particolare) (1977, Ettore Scola, Italy)

A Special Day หรือ Una Giornata Particolare เป็นผลงานการกำกับของผู้กำกับมากความสามารถชาวอิตาเลียน Ettore Scola แม้จะไม่ได้เป็นที่รู้จักเปรี้ยงปร้างเหมือนผู้กำกับอิตาเลียน เช่น Federico Fellini, Luciano Visconti หรือ Vittorio De Sica แต่ผลงานเรื่อง A Special Day ของ Scola ก็ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ ประเภทภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศดีเด่นในปี 1978 และตัวเขาเองยังเคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 5 ครั้ง 

ฉากของ A Special Day เกิดขึ้นในกรุงโรม ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประทุขึ้นเพียงไม่ถึงปี อิตาลีในยุคนั้นถูกปกครองโดยพรรคฟาสซิสม์แห่งชาติ ของ Benito Mussolini มาตั้งแต่ 1922 และประชาชนถูกล้างสมองให้เชื่อมั่นในพรรคฟาสซิสม์และความเกรียงไกรของอิตาลี ในฐานะชาติที่มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและศีลธรรมอันดี ตัวละครหลักในภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างเป็นบุคคลชายขอบของสังคมอิตาเลียนในยุคนั้น Gabriele (นำแสดงโดย Marcello Mastroianni) เป็นผู้จัดรายการวิทยุฝ่ายซ้ายที่กำลังถูกติดตามตัวโดยรัฐบาล นอกจากเขาจะมีทัศนคติต่อต้านระบอบฟาสซิสม์อย่างรุนแรงแล้ว Gabriele ยังถูกสงสัยว่าเป็นเกย์ 

ภายใต้การปราบปรามผู้มีรสนิยมรักเพศเดียวกันอย่างหนัก Gabriele ไม่สามารถเปิดเผยความลับนี้กับใคร เมื่อเขาย้ายไปอยู่ อพาร์ทเมนต์ใหม่ เขาได้พบกับ Antonietta (แสดงโดย Sophia Loren แม่บ้านลูก 6 ซึ่งมีสามีที่โปรระบอบฟาสซิสม์สุดขั้ว การได้พบ Gabriele ทำให้ Antonietta เริ่มตั้งคำถามกับตนเองทั้งในบทบาทของ “แม่” และ “เมีย” ในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่แบบอิตาลี และตกหลุมรัก Gabriele แบบไม่รู้ตัว ด้าน Gabriele ก็มีความรู้สึกที่ดีกับ Antonietta ในฐานะเพื่อนที่ดี และผู้ที่สร้างรอยยิ้มให้กับเขาในยามที่สังคมอิตาลีกำลังจะดำดิ่งเข้าสู่สงคราม Gabriele ไม่ต้องการมีความรู้สึกผูกมัดกับใครเพราะเขารู้ดีว่าหากเขาถูกจับตัวได้ ตำรวจจะเนรเทศไปอยู่ “confine politico” หรือคุกการเมือง สำหรับผู้มีรสนิยมรักเพศเดียวกัน และผู้ที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ตั้งอยู่ตามหมู่เกาะหลายแห่งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรืออาจถูกสั่งประหารชีวิตก็ได้ 

ความงดงามของ A Special Day มีทั้งมุมมองของผู้กำกับที่ต้องการให้เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในบริเวณอพาร์ทเมนต์ และมีเสียงเพลงปลุกใจฟาสซิสม์คลอตลอดทั้งเรื่อง เพื่อเตือนให้ทั้งตัวเอกและผู้ชมรำลึกถึงความโหดเหี้ยมของฟาสซิสม์ ในขณะเดียวกันความรักและมิตรภาพที่เบ่งบานระหว่างคน 2 คนที่แตกต่างกันสุดขั้วก็เป็นสิ่งที่สวยงาม ที่ในชั่วขณะหนึ่งได้ผลักให้ระบอบฟาสซิสม์และกรอบทางศาสนาเป็นชั้นบรรยากาศจางๆ ที่ไม่สามารถทำลายความเป็นมนุษย์ (humanity/humanness) ไปได้ 

A Special Day ยังมีความวิเศษอยู่ที่เคมีของนักแสดงหลักทั้ง 2 คน ที่ลื่นไหล สร้างอารมณ์ร่วมอย่างรุนแรง ทำให้เราดำดิ่งเข้าไปอยู่ในอิตาลียุคก่อนสงคราม ในยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่ถูกล้างสมองให้เชื่อมั่นในมายาคติที่คล้ายๆ กับ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” หรือ “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” แต่ท้ายที่สุด พรรคฟาสซิสม์อิตาลีก็ล่มสลายลงไปพร้อมๆ กับความสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ของอิตาลีและมวลมนุษยชาติ



Filmsick : นักเขียน กองบรรณาธิการ Film Club 

YiYi (2000, Edward Yang, Taiwan)

ไม่กี่วันก่อนแม่เข้าโรงพยาบาล ผมได้ดู YiYi อีกครั้ง (และเป็นครั้งแรกบนจอใหญ่) หนังว่าด้วยเรื่องของครอบครัวชนชั้นกลางไต้หวันท่ามกลางยุคการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด และปัญหาภายในของตัวละครแต่ละตัวที่ไม่อาจแก้ไขคลายคืนได้นอกจากเรียนรู้ว่ามันจะเกิดขึ้น ดำรงคงอยู่และคลี่คลายไปด้วยเวลาเท่านั้นเอง

พอมาดูซ้ำในเวลาที่เหมาะสมของแต่ละช่วงวัย ตัวละครที่เราผูกพันก็เปลี่ยนตาม คราวนี้ยักย้ายถ่ายเทจาก หยางหยางลูกชายคนเล็กวัยประถมที่เพิ่งเรียนรู้ที่จะตกหลุมรัก ไปสู่ เอ็นเจ คนพ่อในวัยผู้ใหญ่ที่ผ่านเรื่องราวต่างๆ มามาก หากต้องเผชิญหน้ากับการถูกบังคับให้ตีสองหน้ากับมิตรสหายใหม่ที่ตัวเองรู้สึกถูกชะตา และการได้พบรักแรกที่เลยลับอีกครั้ง ดื่มกินช่วงเวลาสั้นๆ ของชีวิตส่วนที่ตอนนั้นไม่ได้เลือก ทำความเข้าอกเข้าใจมัน และอีกครั้งให้มันจบลงอย่างไม่บอกกล่าว 

ไม่นานหลังจากแม่เข้าโรงพยาบาล แม่จากไป บ่อยครั้งในห้วงเวลานั้นผมมักคิดถึงหนังเรื่องนี้และยักย้ายถ่ายเทความผูกพันทางใจจากตัวละครพ่อและหยางหยางมายังแม่และถิงถิง แม่ที่ไม่สามารถรับได้ว่าแม่ของตนกำลังจะตายจนหนีไปเสีย และถิงถิง เด็กสาวัยรุ่นที่ผูกพันกับยายมากที่สุด ในเรื่องเธอเรียนรู้ความเจ็บปวดของรักครั้งแรก และในขณะเดียวกัน เรียนรู้เรื่องสำคัญว่าชีวิตคือการอยู่คนเดียว จมกับความสำนึกผิดว่าเธออาจมีส่วนในการล้มเจ็บและจากไปของยาย คนคนเดียวบนโลกที่มอบความรู้สึกปลอดภัยให้เธออย่างแท้จริง

ในหนังมีฉากเล็กๆ ที่งดงามมากๆ หลังจากผ่านเรื่องรักวุ่นๆ ที่ลงเอยอย่างรวดร้าวและสยดสยอง เด็กสาวเหนื่อยล้าจนเผลอหลับไปตอนกลางวัน และตื่นขึ้นมาพบว่ายายยังอยู่ในห้อง และคอยปลอบประโลมเธอ ก่อนที่จะพบว่าเธอเพียงฝันไปเท่านั้น ความรู้สึกผิดที่ไม่อาจแก้ไข ความอ้างว้างภายในที่ไม่อาจเยียวยา ปรากฏขึ้นเงียบๆ ในฉากเล็กๆ นั้น

แม่จากไปโดยไม่หวนกลับ ผมกลับมาใคร่ครวญถึง YiYi บ่อยครั้ง ราวกับการได้มองเห็นท้ายทอยของตัวเองเป็นครั้งแรก งานศพแม่ผ่านไปท่ามกลางความช่วยเหลืออย่าคาดไม่ถึงของญาติๆ และมิตรสหาย ทั้งทางกายและทางใจ กระนั้นก็ตามความรู้สึกของการเป็นเด็กกำพร้าก็ยังคงอยู่ แม้มิตรสหายและคนที่เรารักจะประคับประคองเราไว้เราก็เรียนรู้ว่าไม่มีสิ่งใดจะเยียวยาเรื่องนี้ได้นอกจากเวลาและตัวเราเอง

ใน YiYi เราได้เห็นว่าครอบครัวในหนังไม่ใช่ครอบครัวใจจืดที่ทำลายกัน พวกเขาเป็นครอบครัวเล็กๆ ที่ผูกพันกัน แต่เมื่อหนังขยายภาพลงไปอย่างละเอียดลออ เราก็ได้เห็นว่าปัญหาของใครก็เป็นเพียงเรื่องภายในของคนคนนั้นที่แม้แต่ครอบครัวก็ไม่อาจสอดมือยุ่งเกี่ยว ถึงที่สุดแต่ละคนก็ต้องรับมือและผ่านมันไปโดยลำพัง ราวกับจะตอกย้ำว่าเราทุกคนล้วนเกิดมาและจากไปเพียงคนเดียว และคุณค่าของครอบครัวไม่ใช่เรื่องของการวุ่นวายกับคนในครอบครัวไม่จบสิ้น หากคือการอยู่ด้วยกันเพื่อให้แต่ละคนได้อยู่คนเดียว ให้แต่ละคนได้รู้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว



สรยศ ประภาพันธ์ : ผู้กำกับภาพยนตร์ 

Dummy (2020, Laurynas Bareiša, Lithuania) shorts 

จากหน้าหนังของหนังที่เล่าซีนประกอบคำสารภาพของคดีข่มขืน กลับกลายเป็นหนังที่เล่าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมของตำรวจในหน่วยงาน รวมถึงการละเมิดและดูถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเพศหญิงในหน่วยงาน



ดาวุธ ศาสนพิทักษ์ : นักเขียนประจำ Film Club 

Lovers Rock (2020, Steve McQueen, UK)

Lovers Rock (2020) ของ Steve McQueen เป็นส่วนหนึ่งของหนังชุด Small Axe (ประกอบไปด้วย 5 ตอนจบในตัว ว่าด้วยชีวิตคนดำในอังกฤษ) หนังเล่าเรื่องสองหนุ่มสาวที่มาพบกันในงานปาร์ตี้เร็กเก้ที่จัดขึ้นในบ้านหลังหนึ่งในลอนดอนยุค 80 หนังไม่ได้มีพล็อตสลับซับซ้อน ไม่ได้พุ่งเข้าชนประเด็นเชื้อชาติและสีผิว แต่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของพวกเขาที่เป็นลูกหลานคนดำโพ้นทะเลจากเกาะเวสต์อินดีส์ ลักษณะบ้านเรือนของพวกเขา อาหารที่พวกเขาทาน เครื่องแต่งกายสีจัดจ้าน สำเนียงและไวยากรณ์ภาษาอังกฤษที่ฟังดูแปลกแปร่งเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา ว่ากันตามตรง หนังเพียงแค่พาคนดูเข้าไปสัมผัสความเป็นไปในห้วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งก็คือในปาร์ตี้อันแสนรื่นเริงนี้ เชื้อเชิญให้เราสนุกสนาน เคลิบเคลิ้มไปกับบทเพลง จังหวะการโยกย้าย และกลิ่นอายความรักที่ลอยฟุ้ง

เราดูเรื่องนี้แล้วนึกถึงหนังปาร์ตี้อีกเรื่องที่เผอิญได้ดูในปีนี้เหมือนกัน คือ Climax (2018) ของ Gaspar Noé ซึ่งเล่าถึงกลุ่มนักเต้นที่จัดปาร์ตี้ฉลองหลังเสร็จสิ้นการซ้อมใหญ่ โดยหารู้ไม่ว่ามีมือปริศนาแอบใส่สารเสพติดลงไปเครื่องดื่มของทุกคน ไม่นานปาร์ตี้จึงกลายเป็นแดนซ์ฟลอร์นรกแตกที่ทุกผู้คนต่างเสียสติจากฤทธิ์ยาและปลดล็อคความรุนแรงออกมาอย่างน่าสยดสยอง

แม้ดูทรงแล้ว Lovers Rock กับ Climax จะดูไม่ได้เข้ากันขนาดนั้น แต่เราชอบที่ทั้งคู่พาคนดูดำดิ่งเข้าสู่ค่ำคืนของการสังสรรค์ ฉายภาพการร่ายรำและจับจังหวะการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ที่สอดประสานไปกับดนตรีและร่างกายของคนที่อยู่ข้างๆ — เรื่องหนึ่งรุนแรง อีกเรื่องรื่นเริง

สำหรับเรา พลังทำลายล้างของ Climax ชวนให้เรานึกถึงสภาวะ ‘ใกล้วันสิ้นโลก’ หรือสภาวะ ‘เหมือนตกนรกทั้งเป็น’ ของ 2020 ได้อย่างน่าขนลุก แต่สำหรับ Lovers Rock นั้น นอกจากการจับจ้องอย่างเป็นธรรมชาติไปตามผู้คนในปาร์ตี้ และความรู้สึกอิ่มเอมอันยากจะอธิบายที่คละคลุ้งอยู่ในหนัง หนังชวนให้เราถวิลหาบรรยากาศการรวมตัวของฝูงชน ความรู้สึกของการได้ไปดูคอนเสิร์ตดีๆ ครั้งหนึ่งท่ามกลางคนจำนวนมากที่ร้องเพลงโปรดได้เหมือนเรา ความอ่อนโยนของสัมผัสและการโยกย้ายอยู่ในอ้อมกอดของใครสักคน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตของพวกเราในปี 2020 ไม่มากก็น้อย 

Lovers Rock จึงเป็นหนังที่เรียบง่าย ทว่าชุบชูหัวใจเหลือเกินในปีแสนทรหดอย่าง 2020



ณัฐวุฒิ นิมิตชัยโกศล : นักเขียนประจำ Film Club

A Family Tour (2018, Ying Liang, Taiwan/Hong Kong/Singapore/Malaysia)

พลอตคือหนังที่สร้างมาจากชีวิตจริงของผู้กำกับ ว่าด้วยผู้กำกับจีนที่ต้องลี้ภัยมาที่ฮ่องกง เพราะทำหนังที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของจีน เธอต้องทิ้งแม่ไว้ที่บ้านเผชิญภัยกับทางรัฐอยู่คนเดียว แล้วมีชีวิตใหม่ มีสามีฮ่องกงและลูกชาย แต่ก็พยายามเจอกับแม่และพามาอยู่ที่ฮ่องกงให้ได้ จนสุดท้ายทั้งหมดสามารถนัดเจอกันได้ที่ไต้หวันผ่านทัวร์ธง และงานเทศกาลหนังที่จะฉายผลงานเก่าของเธอ ทั้งหมดต้องเจอกันโดยที่ไม่ให้ใครรู้ว่าพวกเขาเป็นครอบครัวเดียวกันเพื่อป้องกันภัยอื่น พยายามหาทางออกที่ทุกฝ่ายปลอดภัยและไม่มีปัญหาใดๆ ตามมา

หนังแสดงผลกระทบของการสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐที่ควบคุมด้วยอำนาจ สั่นสะท้านถึงหน้าที่ ความสัมพันธ์ และความปลอดภัย การกระทำทุกอย่างต้องดำเนินด้วยความหวาดระแวง หนังจะมีบรรยากาศของความกลัวปกคลุมอยู่ตลอด ควบคู่ไปกับความเศร้าปนแค้นของตัวผู้กำกับที่กำลังจะทำหนังเรื่องใหม่ ที่จะทำหนังเพื่อบ่งบอก statement ของตัวเอง ถึงแม้อารมณ์ของหนังในนั้นเยือกเย็น และเรียบง่าย แต่สิ่งที่ทำให้มันดูรุนแรงคือสถานการณ์และเหตุการณ์ที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด ทำให้เราเข้าใจความอันตราย การตัดสินใจที่เจ็บปวด และส่งผลต่อสิ่งต่างๆ ในครอบครัวนี้ 

และ “This film is dedicated to our child.”



(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 6)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 7)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 8)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here