(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง) | (รายชื่อรอบสาม)
ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย
ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง
และนี่คือรายชื่อรอบสี่
โสฬส สุขุม : Producer ศิลปินศิลปาธร
Akira (1988, Katsuhiro Otomo, Japan)
ต้องขอออกตัวก่อนว่า เราไม่ใช่คอหนังแอนิเมชัน แต่อาจจะเป็นได้ว่าหลังภาวะกักตัว จากสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้เราใช้เวลาในการอยู่บ้านส่วนใหญ่ คิดเรื่องชีวิต ที่ผ่านมา และอนาคต ของตัวเองนั้น จึงทำให้การออกจากบ้านไปดูหนัง ในโรงภาพยนตร์ครั้งแรก ซึ่งคือ Akira หนังเอนิเมชั่น พังค์ไซไฟ กำกับโดย คัตสึฮิโระ โอโตโมะ เป็นหนังอีกเรื่องนึงที่ประทับใจมากในปี 2020 นี้
Akira เล่าถึงญี่ปุ่นในโลกอนาคต ในปี 2019 ซึ่งเมืองถูกทำลายจากระเบิดปรมาณู โดยมีองค์กรลับของรัฐบาล จับคนไปทำการทดลอง โดยมีคาเนดะ ตัวเอกของเรื่อง ได้รวบรวมพรรคพวกเพื่อต่อต้านรัฐบาลและพยายามช่วยเพื่อนของเขา ซึ่งถูกทดลอง จนไม่ใช่คนเดิม ที่คาเนดะ รู้จักอีกแล้ว
ด้วยวิชวล ลายเส้น และ วิธีการเล่าเรื่องที่สนุก ประทับใจและ ดราม่า รวมถึง ประเด็นทางสังคมที่หนังพูดถึง หนังจึงพาเราที่กำลังอยู่ในสภาวะกระอักกระอ่วน
ถึงอนาคตของตัวเอง รู้สึกมีความสุขแปลกๆ เศร้า ไร้ความหวังได้เป็นอย่างดี
วาริน นิลศิริสุข : นักวิจารณ์
Memories of Murder (2003, Bong Joon-ho, South Korea)
เคยได้ยินเสียงร่ำลือมายาวนาน และพอได้มาดูจริงกับตาก็ต้องยอมรับในความยอดเยี่ยมสมคำร่ำลือ เช่นเดียวกับผลงานสร้างชื่อในยุคหลังของบงจุนโฮอย่าง Parasite หนังผสมผสานอารมณ์ขัน ประเด็นเสียดสีสังคม (เห็นความไร้ประสิทธิภาพ ขาดแคลนจริยธรรม จรรยาบรรณของหน่วยงานราชการในหนังเรื่องนี้ ซึ่งดำเนินเหตุการณ์ในยุค 80 แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจว่านี่เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนยังคงเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน) ความระทึกขวัญ และการวิพากษ์แก่นแท้ของมนุษย์สีเทาๆ ได้อย่างเจ็บแสบ บาดลึก ฉากจบของหนังจะต้องติดตาและหลอกหลอนคนดูไปอีกนาน เมื่อตัวละครเอกเดินทางกลับมายังจุดเกิดเหตุอีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไปหลายปี แล้วค้นพบว่าฆาตกรที่เขาไล่ล่ามาตลอดนั้นหาใช่ผู้บกพร่องทางสมอง หรือชายหนุ่มหน้าตาหล่อเหลา แต่เป็นเพียงคนธรรมดาทั่วไปนี่แหละ เช่นเดียวกับความชั่วร้ายซึ่งจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน และแม้ว่าคุณจะพยายามทุ่มเทมากเพียงใดกลับไม่มีอะไรสามารถหยุดยั้งมันได้
ภาส พัฒนกำจร : ผู้กำกับ นักเขียนประจำ Film Club
รามเกียรติ์ ตอน นนทกโดนแกล้ง (2020, PASULOL, 27 min) shorts
เห็นคนแชร์กันเยอะเลยกดเข้าไปดู ก็ตกใจว่ามียอดวิวถึง 11 ล้าน ภายใน 3 เดือน พอได้ลองดู ก็เก็ตว่ามันมีทุกอย่างที่จะดังในโซเชี่ยลได้ ทั้งหยิบเอาเรื่องที่คนคุ้นเคยดี (จากการยัดเยียดในวิชาภาษาไทย) มาเล่าใหม่ให้โมเดิร์น เน้นตลกกวนตีนเสียดสี ใช้คำหยาบคายได้เพราะไม่ต้องผ่านเซ็นเซอร์ แทรกอะไรที่เป็นป็อปคัลเจอร์มาเยอะๆ และสะท้อนสังคมไปในตัวซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือฐานแฟนของ Channel PASULOL ซึ่งพอลองไล่ๆ ดูก็พบว่าเรื่องนนทกนั้นน่าจะเป็นงานทีดีที่สุดของเขา
เรื่องของนนทกที่เหมือนเป็น prologue ของรามเกียรติ์นั้นถ้าใครอ่านแล้วคิดตามไปด้วยก็จะเห็นว่ามันการเมืองมากๆ อยู่แล้ว ความชิบหายในเรื่องล้วนเกิดจากความกดขี่และขี้เหยียดของเทพและเทวดา ความชุ่ยของพระอิศวร การอ้างความดีในการปราบอธรรมของพระนารายณ์ ทั้งหมดล้วนสะท้อนไปยังความอยุติธรรมของชนชั้นปกครองทั้งสิ้น (ตอนเกิดเหตุการณ์กราดยิงโคราชก็นึกถึงเรื่องของนนทกเหมือนกัน)
ตัวแอนิเมชันนี้ก็นำประเด็นนี้มาขยี้ได้ชัดเจน เข้ากับสังคมปัจจุบัน ดูเอาบันเทิงได้ (อยู่ที่จริตว่าจะชอบงานแบบนี้ไหม) สาระก็มี คิดว่าที่น่าชมคือตอนจบที่พระนารายณ์บอกว่าไว้เราจะมาสู้กันอย่างแฟร์ๆ ในชาติหน้า ซึ่งถ้ามองเหตุการณ์หลังจากนี้คือการสู้รบกันของพระรามและทศกัณฑ์ในรามเกียรติ์ที่เราคุ้นเคยก็จะรู้ว่ามันไม่เคยแฟร์เลย ในเมื่อสวรรค์เบื้องบนกำหนดชัดไว้แล้วว่าฝ่ายไหนคือธรรมะและฝ่ายไหนคืออธรรม
R.P. Mac : นักเขียนรับเชิญ Film Club
Rewind (2019, Sasha Neulinger, US)
หนึ่งในสารคดีสุดสะเทือนใจ ผู้กำกับรวบรวมความกล้าลุกขึ้นมาทำสารคดีเกี่ยวกับตัวเขาเองที่โดน sexual abuse จากคนในครอบครัวตอนเด็ก เขาต้องนั่งดูเทปโฮมวิดีโอหลายม้วน สัมภาษณ์คนในครอบครัว เผชิญหน้ากับอดีตอีกครั้ง ดูแล้วทั้งโกรธและเศร้า ได้เห็นว่าการเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่บิดเบี้ยวนั้นส่งผลต่อเด็กอย่างไร และผลกระทบนี้แผ่ขยายเป็นวงกว้างได้ตั้งแต่พี่น้องด้วยกันจนลงไปยังรุ่นสู่รุ่น
ชลนที พิมพ์นาม : นักเขียนประจำ Film Club
When the Weather is Fine (2020, Han Ji-Seung, South Korea) TV series
ซีรีส์ว่าด้วย แฮวอน (พัก มิน-ย็อง) ครูสอนเชลโลจากโซล ที่เจอปัญหาส่วนตัวจนตัดสินใจลาพักร้อนไปอาศัยกับน้าสาว ณ ต่างจังหวัดไกลปืนเที่ยง ก่อนได้พบกับ อึนซบ (ซอ คังจุน) ชายหนุ่มเงียบขรึมเจ้าของร้านหนังสือ “ราตรีสวัสดิ์” อดีตเพื่อนร่วมชั้นสมัยมัธยมของเธอ โดนที่แฮวอนไม่รู้ว่าเขานั้นรักเธอข้างเดียวมานานแล้ว
สิ่งที่เราชอบเรื่องนี้เป็นพิเศษ นั่นคือมวลความเศร้ามหาศาลที่คลุมบรรยากาศทั้งเรื่องเอาไว้ ผ่านการเล่าที่เนิบช้ากว่าซีรีส์เกาหลีทั่วไป ตัวละครหลักทั้งหลายในเรื่องต่างต้องเผชิญหน้ากับความผิดพลาดในอดีตที่ไม่สามารถกลับไปแก้อะไรได้อีกแล้ว ดังนั้นเวลาส่วนใหญ่ที่ใช้ในเรื่องมันจึงเหมือนการนั่งดูตัวละครโบยตีตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อที่จะยอมรับความจริงให้ได้ และเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป สุดท้ายสิ่งเดียวที่พอจะเยียวยาความเจ็บปวดได้บ้าง คือความรักและเอื้ออาทรในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนี่ละ
**หาดูแบบถูกลิขสิทธื์ได้ทาง Viu
พัลลภัทร น้อยธิ : จิตแพทย์ / คนดูหนัง / เขียนวิจารณ์ประปราย
The Edge of Democracy (2019, Petra Costa, Brazil)
ในบริบทของการเมืองไทยปี 2020 ที่มีพรรคการเมืองถูกยุบ มีการประท้วง ทำให้เราไม่สามารถมองสารคดีเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องของ “บราซิล” ล้วนๆ ได้เลย มันมีอะไรให้มองย้อนกลับมาที่ประเทศเรามากมาย
ไม่ว่าจะระบบและโครงสร้างทางการเมืองที่อยุติธรรม สองมาตรฐาน การตัดสิทธิริดรอนเสียงของประชาชน การแบ่งขั้วทางสังคม ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศเรา และยิ่งไปกว่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่สองประเทศนี้เหมือนลอกกันมา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดง การชุมนุมเรียกร้องทหารให้ยึดอำนาจ การชุมนุมด้วยความเกลียดชังของกลุ่มคนอนุรักษนิยม
ที่จริงสารคดีไม่เป็นกลางอย่างชัดเจน ผู้กำกับยืนอยู่ฝั่งแนวคิดฝ่ายซ้าย พ่อแม่ก็เคยเป็นแนวร่วมกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหาร เธอพูดชัดเจนว่าผู้นำอย่างลูลาคือความหวัง ดังนั้นสารคดีเรื่องนี้จึงเป็นบทบันทึกทั้งความคิดและอารมณ์ของผู้รักประชาธิปไตยของผู้ที่มีความฝันของผู้ที่ต้องการเห็นสังคมที่ก้าวหน้าและเป็นธรรม ซึ่งสุดท้ายมันคือฝันร้ายที่น่าหดหู่
แต่ประเด็นสำคัญที่คนทำหนังอยากจะสื่อมากที่สุดคืออำนาจในการตัดสินผู้นำควรเป็นของประชาชนไม่ใช่ชนชั้นนำบางกลุ่มบางคน และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าหากจะใช้ข้ออ้างหรือเหตุผลอะไรก็ตามมาใช้กับใครคนใดคนหนึ่งก็ควรใช้ข้ออ้างหรือเหตุผลนั้นกับคนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่กระทำการโดยไร้มาตรฐานเช่นนี้
สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายขวาหรือพวกอภิสิทธิ์ชนไม่เข้าใจว่ามันน่าจะขยะแขยงขนาดไหนที่พวกเขาอ้างกฎหมาย อ้างความถูกต้อง พวกเขาอ้างประหนึ่งเป็นผู้ผูกขาดความถูกต้องนี้แต่เพียงผู้เดียว เพราะในขณะที่พวกเขาจินตนาการล้ำลึกถึงความบิดเบี้ยวและขัดต่อกฎหมายของอีกฝ่ายหนึ่ง เขากลับถอดดวงตาคู่นั้นออกเพื่อมองสิ่งที่ฝ่ายเดียวกันอย่างเรียบเฉย พวกเขาร่ายนิยายความชั่วช้าที่ซ่อนอยู่ในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่กับกลุ่มผลประโยชน์เดียวกัน คำตอบง่ายๆ คือ “ไม่ผิดกฎหมาย” “ไม่สั่งฟ้อง” หรือไม่ก็นิ่งเฉยเสมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น
การที่ได้ดูสารคดีเรื่องนี้ เอาเข้าจริงแล้วมันชวนให้รู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง การที่ได้เห็นความฝันที่พังทลายของประชาธิปไตยในประเทศอื่นมันยิ่งทำให้เสียกำลังใจ แต่ในขณะเดียวกันมันก็สะท้อนว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวในโลก ซึ่งก็นั่นแหละ ตราบใดที่เรายังไม่ได้กลายเป็นนายพล ไม่ได้เป็นมหาเศรษฐี ไม่ได้กลายเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขราชวงศ์ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่มีวันได้เป็นไม่ว่าจะอย่างไหนก็ตาม เราก็ยังต้องเรียกร้องและต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยอยู่ดี ไม่มีทางเลือกน่ะ
สัณห์ชัย โชติรสเศรณี : รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
Ammonite (2020, Francis Lee, UK)
ชอบการที่หนังให้ความสำคัญกับเรื่องอาชีพอย่างมาก ซึ่งช่วยเพิ่มมิติให้หนัง LGBT ที่ส่วนใหญ่มักจะนำเสนอเรื่องความรัก การเปิดเผยตัวตน และการยอมรับจากสังคม ซึ่งหวังว่าคนดูจะได้เห็นและเข้าใจซอกมุมอื่นของตัวละคร LGBT ที่แตกต่างจากที่เคยเห็นทั่วๆ ไป ได้มากขึ้น
กิตติกา บุญมาไชย : cinephile
นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย ปาฐกถาโดย ธงชัย วินิจจะกูล
ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย” ในงานปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เป็นปาฐกถาที่ทรงพลังที่สุดของปีนี้ โดยเฉพาะช่วงท้ายที่กล่าวถึงผู้คนที่ถูกระบอบนิติรัฐอภิสิทธิทำร้าย คุณอาจจะหาอ่านปาฐกถานี้ได้ แต่น้ำเสียงและจังหวะการพูดขอ อ.ธงชัย จะทำให้คุณร้องไห้
วรุต พรชัยประสาทกุล : cinephile
Freak Orlando (1981, Ulrike Ottinger, West Germany)
เราเพิ่งเคยดูหนังของผกก.คนนี้เป็นเรื่องแรกเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว แต่หลังจากนั้นจนถึงสิ้นปี ด้วยความที่เราชอบหนังของเธอมากๆ เราเลยค่อยๆ ไล่ดูหนังของเธอรวมไปทั้งสิ้นแปดเรื่องแล้ว
แน่นอนว่าเราชอบหนังเรื่องนี้ที่สุด ซึ่งเป็นหนังเรื่องที่สองของเธอที่เราเคยดู เราได้ดูหนังเรื่องนี้ที่โรงหนังในนิวยอร์ก (ก่อนล็อคดาวน์แค่ไม่กี่วัน แล้วจนถึงตอนนี้โรงหนังในเมืองนี้ก็ไม่เคยกลับมาเปิดอีกเลย) จำได้ว่าแทบทุกนาทีระหว่างที่ดูเรารู้สึกมีความสุขมากๆ สุขในระดับที่อยากลุกขึ้นมาร้องเล่นเต้นรำเพื่อปลดปล่อยมวลความสุขอันมหาศาลอย่างหฤหรรษ์ มีบางจังหวะที่เราอยากจะตะโกนออกไปดังๆ เลยว่า “Thank God this film exists.” นี่คือหนึ่งในไม่กี่สิ่งที่เรานึกออกว่าโรงหนังเสียเปรียบการดูหนังที่บ้านอย่างไร 55555
หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไรหรือเรื่องคืออะไรเราก็ไม่รู้เหมือนกันนะ ยิ่งตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้โดยที่ยังแทบไม่เคยดูหนังเรื่องอื่นๆ ของผกก.คนนี้มาก่อนด้วย แต่เรารักบรรยากาศที่เหมือนเป็นการเฉลิมฉลองให้กับคนชายขอบและความบกพร่องและความอัปลักษณ์ในสายตาของสังคมและของโลกภาพยนตร์อย่างสุดๆ และรักความบรรเจิดเปิดเปิงด้วยจินตนาการและทะลุทุกขอบเขตในแบบอิสระป่าเถื่อน การเล่นล้อสับเปลี่ยนกับทุกตัวตนอย่างไม่แคร์โลก การจับนักแสดงมาแต่งหน้าทำผมใส่ชุดประหลาดๆ และแอคท่าหรือกระทำใส่กันแรงๆ และฉากเฉิกก็จัดเต็ม หนังมันพิสดารพันลึกมาก แต่ก็ทรงพลังด้วย และมีความดุร้าย แต่ก็มีความงดงาม และในบางตอนเราก็เหมือนจะเข้าใจได้บ้างว่าหนังพยายามจะสื่อสารอะไรบางอย่าง คือมันหายากมากๆ นะที่หนังอะไรแบบนี้จะยังตลกโปกฮาสำหรับเราด้วย หนังยังเป็นเหมือนทั้งการซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ทั้งล้ำยุคสมัยและทั้งเหนือกาลเวลาพร้อมๆ กัน
ประวิทย์ แต่งอักษร : นักวิจารณ์ อ.สอนภาพยนตร์
The Mortal Storm (1940, Frank Borzage, US)
หนังเรื่องหนึ่งที่ได้ดูเมื่อปีที่แล้วและติดค้างอยู่ในความรู้สึกมากๆ เป็นหนังฮอลลีวูดคลาสสิกเรื่อง The Mortal Storm ของแฟรงค์ บอร์เซกี้ (Frank Borzage) สร้างปี 1940 เนื้อหาหลักๆ บอกเล่าเรื่องของสังคมเยอรมันในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสาธารณรัฐไวมาร์ไปสู่ระบอบนาซี
ส่วนที่นึกไม่ถึงก็ตรงที่หนังของบอร์เซกี้ถ่ายทอดให้เห็นพฤติกรรมคลั่งไคล้ท่านผู้นำของบรรดาตัวละครในหนังเรื่องนี้ ตลอดจนสถานการณ์ ‘ไม่รักนะ ระวังติดคุก’ ซึ่งยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกว่ามันละม้ายคล้ายคลึงกับความคลั่งไคล้บางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้อย่างไม่น่าเชื่อ ดูแล้วไม่เพียงแค่เห็นพิษภัยของฮิตเลอร์ และรวมถึงสังคมที่ผู้คนจิตใจคับแคบ
ธนพนธ์ อัคควทัญญู : cinephile กองบรรณาธิการ Film Club
The Man Standing Next (2020, Woo Min-Ho, South Korea)
เกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลา 40 วันก่อนหน้าการลอบสังหารประธานาธิบดีปาร์คที่ดำรงตำแหน่งอยู่นาน 18 ปี (จากการรัฐประหาร) อเมริกาและซีไอเอเกี่ยวข้องอย่างไรกับเกมการเมืองนี้ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่เหล่าประชาชนเกาหลีออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เหตุการณ์จราจลกำลังอยู่ในจุดเดือดปรอทแตกหนังเกาหลีเรื่องนี้เล่าข้อมูลมหาศาล ความเชื่อมโยงจากตัวละครหลายสิบตัว รวมถึงเหตุการณ์สำคัญๆ หนังมีโฟกัสหลักอยู่ที่ตัวละครเอกผู้เป็นคนลั่นไกและตั้งคำถามถึงการลอบสังหารว่า มันเป็นเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลทางส่วนตัวกันแน่ นอกจากนั้นหนังยังเทียบเคียงตัวเองเข้ากับ ‘Othello’ โศกนาฎกรรมคลาสสิคของเชกสเปียร์ ทุกอย่างถูกรวมไว้ในหนังสองชั่วโมงที่สนุกสุดขีดทุกวินาทีตามแบบฉบับหนังทริลเลอร์เกาหลีที่ทำให้เราตื่นตาตื่นใจได้ทุกปี ดูแล้วหนังสือสุดฮิตประจำปีอย่าง ‘ขุนศึก ศักดินาและพญาอินทรี’ ทั้งช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน และเรื่องราวที่ก็น่าจะตื่นเต้นและสนุกไม่แพ้กัน ถ้าการเมืองดีอะไรก็กลายเป็นหนังได้