FILM CLUB Year List 2020 (Part 7)

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง) | (รายชื่อรอบสาม)

(รายชื่อรอบสี่) | (รายชื่อรอบห้า) | (รายชื่อรอบหก)

ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่เจ็ด


ชญานิน เตียงพิทยากร : นักวิจารณ์ นักเขียนประจำ Film Club 

Uski Roti (1969, Mani Kaul, India)

อาจพูดได้ว่าเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่เหล่าซีเนไฟล์สามารถกลับไป revisit, reread, rediscover หนังเก่าได้มากและใกล้เคียงพลังที่แท้จริงของมันได้มากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิตอล (ผ่านการบูรณะฟิล์มหรือ restoration ที่ต่างจากการสะสมประสบการณ์ด้วยวีซีดี/ดีวีดีแผ่นเถื่อน หรือไฟล์แตกพร่าขรุขระในเว็บบิทลับแล) โดยเฉพาะในปีที่หนังใหม่ๆ หนังใหญ่ๆ วิ่งหนีโรคระบาดไปคนละทิศละทาง หนังเก่ากลับมาหาเราทั้งในโรงหนัง ไม่ว่าจะที่ค่ายหนังและโรงหนังหวังให้เป็นอีกหนึ่งตัวชดเชยตลาด หรืออีเวนต์พิเศษทางวัฒนธรรมที่ทำได้ง่ายขึ้นในช่วงไม่กี่ปีหลัง (+ online festivals!) และบรรดา streaming platform ทั้งหลาย – คือเราแทบจะเลิกโหลดหนังคลาสสิกเลื่องชื่อไปแล้วเพราะเดี๋ยวใครสักคนก็คงเอามาฉายแบบชัดๆ ให้ได้ดูกัน 

แน่นอนว่าหนังฮิตหนังดังหรือหนังปรมาจารย์ที่มีชื่อเป็นครูอยู่ในตำราย่อมกลับมาหาเราได้ง่ายกว่า คนฉายนึกถึงและช่วยขายถึงคนรุ่นใหม่ได้เร็วกว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่หนังของ Stanley Kubrick หรือ Wong Kar-Wai จะเรียกคนดูได้เต็มโรง เช่นเดียวกับที่ Agnès Varda, Éric Rohmer, Charlie Chaplin และ Alejandro Jodorowsky กลับมาหาเราแบบโคตรชัดในสตรีมมิ่ง เราได้ดูหนังเก่าที่เคยแค่ได้ยินคำชม เห็นติดลิสต์ชาวบ้านชาวช่อง อ่านบทวิจารณ์ หรือพินิจบทวิเคราะห์เชิงลึก บนจอใหญ่หรือไฟล์ HD เป็นครั้งแรกหลายสิบเรื่องในช่วงไม่กี่ปีหลัง และพบว่าคิดถูกมากๆ ที่ได้เก็บ first encounter หลายๆ ครั้งนี้ไว้ แต่บางทีก็อดค้างคาอยู่ในใจไม่ได้ว่า บางครั้งมันเหมือนเรากำลังหาหลักฐานเพื่อคอนเฟิร์มสิ่งที่คนเขาคอนเฟิร์มกันอยู่แล้ว

ไม่ได้รำคาญใจหรือรู้สึกผิดที่ต้องคอนเฟิร์มหรอก แต่เมื่อได้พบหนังเก่าที่เราไม่เคยได้ยินชื่อ จากครูที่ไม่ค่อยมีจังหวะให้คนใกล้ตัวหรือโลกออนไลน์พูดถึง และทำงานกับความรู้สึกทางภาพยนตร์ของเราได้รุนแรงจริงจัง นั่นแหละคือ ultimate discovery experience

Uski Roti (หรือ Our Daily Bread) คือหนังประเภทที่ถ้าได้ดูแบบฉายฟิล์มในโรงคงล้มลงนอนตายถวายวิญญาณ แสงสีในภาพขาวดำของหนังมันสวยถึงขนาดนั้น เฟรมภาพในหนังเฉียบคมถึงขนาดนั้น การตัดต่อเรียงภาพไร้บทพูดของหนังพิศวงทรงพลังถึงขนาดนั้น ภายใต้เนื้อเรื่องเรียบง่ายว่าด้วยเมียคนขับรถบัสที่ต้องทำโรตีทุกเช้าแล้วเดินเท้าเป็นกิโลๆ เอาไปให้ผัวที่ท่ารถ ซึ่งก็ตามระเบียบบ้านนอกเอเชีย นั่งรอไปเถอะเพราะไม่รู้ราชรถจะมาเทียบท่าวันนี้ตอนกี่โมง – หนังท้าทายระเบียบทื่อตรงของเส้นเวลา คล้ายกับว่าพาเราเข้าไปล่วงถึงห้วงรู้สึกในสภาวะไร้สำนึกของเมียผู้ยึดมั่นในหน้าที่ หน้าที่ที่ยึดเธอไว้กับเส้นเวลาอันเป็นกิจวัตรเฉพาะตัว และกิจวัตรเฉพาะตัวที่ยึดเธอไว้กับความเป็นเมีย ความเป็นหญิง แต่วันนี้ที่เธอไปสาย เส้นเวลาและความยึดโยงทั้งหมดจึงถูกทำลาย สลับเปลี่ยนลำดับและหน้าที่ ภาพเสียงพิศวงทั้งหมดคือโกลาหลแห่งจิตใจ ไม่ว่าเธอจะเริ่มเห็นชัดหรือยังว่าพ้นโรตีในห่อผ้าไปแล้วชีวิตตัวเองจะเป็นอย่างไร แล้วทั้งหมดที่เราเห็นมันเป็นเรื่องจริงหรือ speculation ของเธอที่กำลังตั้งคำถามกับชีวิตบนเส้นเวลาของเธอเอง


[HONORABLE MENTION]

in alphabetical order

– Bleak Night (2010, YOON Sung-Hyun, South Korea)

– Dorian Gray in the Mirror of the Yellow Press (1984, Ulrike Ottinger, West Germany)

The Edge of Democracy (2019, Petra Costa, Brazil)

Ema (2019, Pablo Larraín, Chile)

– episode 2-3 ของ แปลรักฉันด้วยใจเธอ

– Green Ash (2019, Pablo Mazzolo, Argentina) shorts

– He Was Never a She | เขาไม่เคยเป็นเธอ (2020, ณัฐกิตติ์ สุรทิณฑ์) shorts

India Song (1975, Marguerite Duras, France)

– Into the Heart of Darkness | รักแรมทาง (2020, พชรกฤษณ์ โตอิ้ม) shorts

– A Mordida (2019, Pedro Neves Margues, Brazil/Portugal) shorts

– Of Land and Bread (2019, Ehab Tarabieh, Palestine/Israel)

– Peeping Tom (1960, Michael Powell, UK)

– Portrait of a Lady on Fire (2019, Céline Sciamma, France)

– Red Aninsri; Or, Tiptoeing on the Still Trembling Berlin Wall | อนินทรีย์แดง (2020, รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค) shorts

– Red Desert (1964, Michelangelo Antonioni, Italy/France)

– La Religieuse (1966, Jacques Rivette, France)

– Suk Suk (2019, Ray Yeung, Hong Kong)

– Till We Meet Again (1955, Kawashima Yuzo, Japan)

– The Truth (2019, Kore-eda Hirokazu, France/Japan/Switzerland)

ถ้าเธอรักฉันจริง (2020, นราธิป ไชยณรงค์) music video



ปริชาติ หาญตนศิริกุล : นักเขียนรับเชิญ Film Club 

ลุงบุญมีระลึกชาติ (2010, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)

เราเพิ่งมาสนใจดูหนังไทยนอกกระแสจริงจังได้ไม่นาน และเพิ่งดูลุงบุญมีครั้งแรกในโรงหนังอิสระเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

ก่อนหน้าที่จะได้ดู เราได้ยินกิตติศัพท์ของหนังอภิชาติพงศ์ที่ขึ้นชื่อลือชาด้านการดูไม่รู้เรื่องมานานแล้ว ความจริงเราก็ดูไม่ค่อยรู้เรื่องเหมือนกัน 555 เพราะงงๆ กับภาษาอีสานด้วย แต่พอดูจบมันเป็นความรู้สึกบางอย่างที่รู้สึกว่ามันงดงามมาก ทั้งภาพแมกไม้สีเขียวประกอบฉากตลอดเรื่อง การกินข้าวร่วมโต๊ะกับวิญญาณเมียสาวลุงบุญมีและลูกที่หายสาบสูญกลายเป็นลิงผี ถ้ำที่เป็นประกายวิบวับในยามค่ำคืน ฉากเจ้าหญิงหน้าดำกับปลาดุก ฯลฯ มันงดงามจนเราไม่มีข้อสงสัยเลยว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงคว้ารางวัลคานส์มาได้

พอมานั่งนึกๆ ดู… เราก็พบว่าตัวเราเองมีหนังอยู่ไม่น้อยที่ตัวเองดูไม่รู้เรื่องแต่รู้สึกดีที่ได้ดู เช่นบรรดาหนังของโนแลน อย่าง Tenet Inception Momento หรือหนังไทยอย่าง ดาวคะนองของอโนชา แต่เพียงผู้เดียวของคงเดช ฯลฯ มันคล้ายที่พี่จิตรเคยพูดว่า มีหนังสนุกๆ ที่รอให้เราค้นหามันให้เจอ (ถ้าหากเรากล้าเปิดใจให้มัน) – ในวงเล็บนี่พี่จิตรไม่ได้พูดเราเติมเอง 555

แต่หนึ่งในความน่าเศร้าของเราคือทั้งที่เรารู้จักและได้ยินชื่อหนังเรื่องนี้มาเนิ่นนานแต่กว่าเราจะสามารถหาโอกาสดูได้ เวลาก็ผ่านไป 10 ปีแล้ว (เพราะโหลดบิทไม่เป็นด้วย ไม่ค่อยรู้จักร้านเถื่อนที่ขายด้วย) แต่สิ่งที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือแม้เวลาได้ผ่านไป 10 ปีแล้วที่อภิชาติพงศ์สามารถคว้ารางวัลมาให้เมืองไทยได้ แต่พี่เจ้ยกลับรู้สึกว่ารางวัลนี้มันไม่ได้ก้าวหน้าหรือส่งผลอะไรต่ออุตสาหกรรมหนังอิสระเลย คนทำหนังอิสระยังต้องดิ้นรนเหมือนเดิมไม่ต่างจากก่อนที่เขาได้รับรางวัลคานส์ 



เฉลิมชัย หนูอนงค์ : นักศึกษาภาพยนตร์

Fatherland (2020, ปัญญา ชู) shorts

ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถานการณ์บ้านเมืองเรานั้นคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา กระแสการเคลื่อนไหวของเหล่าประชาชนที่เห็นต่าง กลุ่มคนเหล่านี้พยายามนำเสนอซึ่งวิธีการคิดต่อเรื่องหนึ่งหนึ่งในมุมความคิดของแต่ละคนให้สังคมได้รับรู้ทั้งในด้านมุมมองทางการเมือง แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ แนวคิดเรื่องเพศหรือแนวคิดด้านอื่นๆ อีกมากมาย

เหตุการณ์เหล่านี้เองที่ชวนให้หวนคิดถึงอดีตอันขมขื่นในสังคมของเราที่เรียกได้ว่า “เมื่อมีใครเห็นต่างก็มักจะถูกทำลายลงไป” ไม่ว่าจะทางการฆ่าล้างก็ดีหรือไม่ว่าจะถูกเนรเทศและกดทับให้เป็นพวกชังชาติบ้านเมืองต่างๆ นานาตามที่เราได้เห็นในหน้าประวัติศาสตร์ที่ทุกคนไม่อยากจะเอ่ยถึง

ทั้งหมดนี้เองที่ทำให้เรานึกถึงภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘Fatherland’ โดย ปัญญา ชู ภายในภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นนำเสนอเรื่องราวของครอบครัวที่ได้รับโทษจากการเห็นต่างในอดีต โทษนี้คือการต้องสูญเสียพ่อที่เป็นหัวหน้าครอบครัวไปโดยไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเขานั้นหายไปไหน อย่างไรและจะกลับมาได้หรือไม่

การรับโทษครั้งนี้ของผู้เห็นต่างไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบทางตรงทำให้ตัวผู้เห็นต่างผู้นั้นหายไป หากแต่ยังทำให้แสงสว่างที่คอยนำทางของครอบครัวๆ นี้หดหายไปอีกด้วย

ความมืดมิด ไร้หนทาง ทำให้คนในครอบครัวนี้ยังคงติดอยู่ในวังวนแห่งอดีตและไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ รอยแผลที่สลักลงกลางใจของพวกเขาได้ก่อให้เกิดซึ่งความแค้นและระเบิดออกมาในท้ายที่สุด อย่างไรก็ดีสิ่งเดียวที่เขาทำได้ก็มีเพียงอยู่ร่วมกับรอยแผลจากการเห็นต่างนั้นไปชั่วกาล

จากกรณีศึกษาในภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราหนึ่งในผู้ที่ตาสว่างในปี 2020 นั้นได้รับรู้ถึงความทุกข์ทรมาณของผู้เห็นต่างในอดีต การที่ถูกผลักไสไล่ส่งให้กลายเป็นคนชายขอบของสังคมได้อย่างเข้าอกเข้าใจมากขึ้น และแน่นอนเราจะไม่ยอมให้ผู้เห็นต่างต้องรับโทษเหมือนในหน้าประวัติศาสตร์อันขมขื่นอีกต่อไป



กรภัทร์ จีระดิษฐ์ : นักศึกษาภาพยนตร์

La La land (2016, Damien Chazelle, US)

เราไม่แน่ใจว่าบนโลกนี้ยังมีที่ที่สวยงามได้เท่ากับโลกของหนังเรื่องนี้ไหม เป็นหนังเรื่องนึงในไม่กี่เรื่องที่รู้สึกว่าเซ็ตติ้งโลกขึ้นมาแล้วทำให้เราอยากเข้าไปอยู่จนแก่ตาย งานคราฟท์แสดงถึงความทะเยอทะยานถึงขีดสุด ยิ่งดูตอนท้อแท้หรือดูในช่วงนี้รู้สึกว่ามันฮีลเราได้ในระดับนึงเลย เพลงก็เพราะเหลือเกิน ยิ่งเพลง someone in the crowd นี่แม่ง epic มากๆ ที่อินสุดๆคือตัวละครที่มีความฝันในโลกที่มันดูฝันๆ นี่แหละ ยอมรับว่าตอนดูนี่ไม่อยากให้จบเลย เพราะอยากจะตัดขาดกับโลกที่ไร้ชีวิตนี้จริงๆ…



ทวีโชค ผสม : นักศึกษาภาพยนตร์

The Garden of Earthly Delights (2016, Zhou Xiaohu) video art

“บางสิ่งขาดหายเติมเต็มคุณค่าบางอย่าง”

หนังตั้งคำถามต่อสิ่งสามัญธรรมดาหลากหลายสิ่ง ถ้าจะนิยาม “หนังให้เกิดปัญญา” ในปีที่ผ่านมาเราคงนึกถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก หนังให้ประสบการณ์การดูที่ไม่เหมือนเดิมกับประสบการณ์การดูที่ผ่านมา ทำให้เราหยุด นิ่ง และช้าเพื่อมองเห็นถึงความงามหรือคุณค่าบางอย่างกับการมีตัวตนหรือไม่มีตัวตน 

“หลอดมีประโยชน์เพราะมีรู”

เป็นสิ่งที่น่าคิดหากการไม่มีอยู่หรือไม่ได้ดำรงอยู่หรือขาดหายเว้าแหว่งไป สิ่งเหล่านี้ที่ไม่มีอยู่กับสร้างคุณค่าของการมีอยู่เพราะมันไม่มีอยู่เราจึงเห็นว่ามันมีอยู่ เห็นว่ามันมีคุณค่าบางสิ่ง 

หรือตั้งคำถามต่อการตั้งคำถามต่อการตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามต่อสิ่งนอกจอที่หนังพาไป หรือจะเป็นการตั้งคำถามต่อควาเป็นหนังเอง คำถามทั้งหลายนำพามาสู่การตั้งคำถามกับตัวเอง คำตอบมากมายที่พลัดหลงหายไปกลับเผยออกมาเพราะคำถามที่ถูกฉุดให้คิด ถูกนำพามาโดยหนังเรื่องนี้ 

“รักและขอบคุณ”



ไพรัช คุ้มวัน : ผู้กำกับภาพยนตร์ 

The Exorcism of Emily Rose (2005, Scott Derickon, US) 

แปลกใจเหมือนกันที่เพิ่งมาได้ดูตอนช่วงกักตัวปี 2020 เพราะหนังมันน่าสนใจเกินกว่าจะตกสำรวจไปได้

The Exorcism of Emily Rose เป็นแกะดำที่โผล่มาในยุค J-Horror ที่แม้แต่ Hollywood ก็ยังเอาวิธีการแบบหนังสยองขวัญญี่ปุ่นไปใช้ แต่หนังเรื่องนี้เลือกจะเล่าในวิธีการแบบหนังสยองขวัญอเมริกันปกติ เพียงแต่เนื้อหาที่พูดมันค่อนข้างหนักพอสมควร มันมีความเป็นทั้ง ราโชมอน ผสมกับ The Exorcism + หนังสืบสวนสอบสวน กลายๆ ซึ่งเอาจริงๆ ก็ล้ำเกินเวลาช่วงนั้นพอสมควร

จนถึงปี 2020 ท่ามกลางหนังผียุค Post James Wan เช่นพวกตระกูล Conjuring ทั้งหลายและหลังๆ ก็เริ่มมี Modern Horror (พวกหนังแบบ Us, Get Out, The Witch , Hereditary) เข้ามาแย่งชิงพื้นที่บ้างแล้ว แต่เรื่องนี้ (Emily Rose) ก็ยังคงเป็นแกะดำอยู่ ทั้งวิธีเล่าที่ค่อนข้างจะมาก่อนเวลาไปมาก คู่ขัดแย้งในหนังที่น่าสนใจ และที่สำคัญคือประเด็นที่หนังกำลังสื่อสาร

แม้ว่าตัวหนังจะไม่ได้ดีมากขนาดนั้น แต่ก็เป็นหนังที่น่าจดจำอีกเรื่องหนึ่ง และเป็นข้อพิสูจน์ว่าสำหรับหนังสยองขวัญแล้ว มันเป็นพื้นที่สำหรับการพูดถึงสังคม วัฒนธรรม และเป็นสนามรบของไอเดียใหม่ๆ ได้ดีขนาดไหน



สรวิศ ชัยนาม : อ.นักวิชาการ อาจารย์สอนรัฐศาสตร์

Contagion (2011, Steven Soderbergh, US)

Contagion shows that capital is the real but invisible driver of climate change and global pandemics, which are interconnected. In the film, AIMM Alderson corporation deforests an area that acts as a natural buffer zone between human society and a previously isolated ecosystem, enabling the virus to jump from a wild bat into the food system and the working class and then multiplied by world travel. Capitalism is thus the virus. Today, as many people are yearning for a return to normalcy, the film reminds us that the ‘old normal’ is the problem. In short, revolutionary, anti-capitalist politics is the vaccine that we should all be making.”



จิรัศยา วงษ์สุทิน : คนเขียนบท ผู้กำกับซีรีส์ 365 วันบ้านฉันบ้านเธอ 

This is Us (2016-present , Created by Don Fogelman)

รักมาก ดูจบ 4 ซีซั่นไปด้วยความรวดเร็ว (ซีซั่นละ 18 ตอน!!!) สุดมาก นี่คือซีรี่ส์สำหรับเราที่แท้จริง ซีรี่ส์ครอบครัวที่เต็มไปด้วยคนจิตใจดีที่บางครั้งทำนิสัยไม่ดี 555 แล้วมันพูดถึงทุก aspects ของความเป็นครอบครัวจริงๆ เก่งมากๆเลย วันเยียร์ไม่ได้ขี้เล็บเลย แต่ถ้าวันเยียร์ทำซีซั่น 2 คือเออนึกออกว่าเออไม่ต้องพึ่งเรื่องรักเพื่อดึงคนดูได้ว่ะ และชอบที่มันแตะทุกหัวข้อของความเป็นมนุษย์จริงๆ แต่สิ่งที่โดนที่สุดคือ มีตัวละครผู้หญิงอ้วนเป็นตัวหลัก และพูดเรื่องนี้แบบซีเรียสจริงจังในทุกๆแง่มุมของชีวิต โชคดีมากๆ ที่ได้ดูในตอนที่เราก็กำลัง struggle กับความอ้วนเหมือนกัน ชั้นรักเธอ Kate Pearson มันเป็นซีรี่ส์ที่เล่นกับความอยากรู้ของคนดูได้เก่งมากๆ คือมันชอบเล่าอนาคตให้เราอยากรู้แล้วค่อยเฉลยหรือบางทีก็ไม่เฉลย แต่มันทำแล้วเนียนกริบ ดูไม่พยายามจะบิวท์เกิน คือมันดีทุกภาคส่วนจริงๆ กำกับ บท แสดง ตัด ถ่าย เสื้อผ้า และแต่งหน้าเอฟเฟคท์พีคมาก ไม่เคยเจอการแต่งหน้าแก่และเด็กได้เนียนเท่านี้ อยากกราบ และบอกเลยว่า ดูมา 72 ep นี่เบื่อแค่ 1 ep ทำได้ไง นับถือเลย



ณัฐพันธุ์ บุญเลิศ : นักแปล นักแสดง แอดมินเพจ Horror Club.net 

Happy Together (1997, Wong Kar-wai, Hong Gong)

เป็นหนังหว่องเรื่องแรกที่ดู ก่อนหน้านั้นจะ(แสร้ง)ว่ารับรู้งานเขาทางอ้อม ผ่านพวกหนังไทย หนังสั้นนักศึกษาที่ดูเสแสร้ง เพ้อเจ้อ จนยุคนึงงานเขากลายเป็นตัวแทนของความปลอมประดิษฐ์ที่ใครต่อใครเอามาล้อเลียน… แต่นี่แหละ ดูผ่านของเทียม มันจะเทียบเท่าการได้ดูผ่านของของแท้ได้อย่างไร ไม่น่าเชื่อว่าในองค์ประกอบต่างๆ ที่หากทำพลาดไปสักนิดเดียว หนังทั้งเรื่องจะบ้งโดยพลัน แต่หว่องคือปรมาจารย์ที่คลุกเคล้าเอาองค์ประกอบสำรวยสวยเก๋พวกนี้ได้อย่างลงตัว เทสทางดนตรี และการถ่ายภาพที่ผ่านการเลือกสรรอย่างมีรสนิยมจังหวะลำดับตัดต่อที่เหมือนไร้ระเบียบ แต่เสือกแม่นเหมือนจับวาง 

ไม่อยากปิดท้ายด้วยประโยคเชยๆ แบบที่คนทำหนังเกย์ชอบออกตัวกัน เพราะกลัวคนอคติไม่มาดู “นี่ไม่ใช่เรื่องของเกย์ แต่เป็นเรื่องที่เกิดได้กับทุกคน” แต่ไม่ว่าคุณจะซึมซับหนังเรื่องนี้ด้วยมาตรวัดหนังเกย์ หรือตีความถึงเรื่องการเมืองระหว่างจีนกับฮ่องกง Happy Together คือเรื่องของคนแปลกหน้า 2 คน ที่เป็นทั้งคนสนิท และคนแปลกหน้าด้วยกันเองบนแผ่นดินแปลกถิ่นที่ไร้อนาคตระหว่างกัน บนชีวิตที่เคว้งคว้าง ไม่เป็นหวัง แม้กระทั่งปลายทางความฝันริมน้ำตกอีกวาซูที่สัญญาไว้ว่าจะมาดูด้วยกัน ก็ไม่ได้สวยอย่างที่เห็นบนโคมไฟ การที่สุดท้ายต่างฝ่ายต่างปลดปล่อยตัวเองให้ได้รับอิสระภาพโดยแยกขาดจากกัน มันจึงเป็นความสวยงามอันน่าขื่นขม ขอให้เรามีความสุขด้วยกัน แม้วันนี้จะเป็นคนอื่นที่เธอมีความสุขด้วยก็ตาม



ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ : ผู้กำกับภาพยนตร์ 

Alec Soth: a tour of my bookshelf

ชอบซีรีส์ “photographer’s book tour” ของสำนักพิมพ์ MACK มากๆ

ไฮไลต์ คือ Alec Soth พาไปดูคอลเลกชันหนังสือที่เขาสะสมที่มีทั้งหนังสือเด็ก อัลบั้มรูปส่วนตัวและรูปถ่ายที่ได้มาจากตลาดนัด และหนังสือรูปต่างๆ เช่น Nein, Onkel: Snapshots From Another Front 1938–1945, The Face of Madness, White Trash Cooking ทุกอย่างมีที่มาที่ไปและสะท้อนวิธีคิดในงานของ Soth เอง 

ใครสนใจหนังสือภาพถ่ายของสำนักพิมพ์ MACK ลองไปดูได้ที่ร้าน Vacilando Bookshop https://www.instagram.com/vacilandobookshop/



นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ : ผู้กำกับสารคดี, นักข่าวประชาไท

Cinema Paradiso (1988, Giuseppe Tornatore, Italy)

หนังที่ดูในโรงแล้วประทับใจที่สุดของปีนี้ เป็นหนังเรื่องสุดท้ายในตารางก่อนการปิดตัวสกาลา ที่แทนคำบอกลา แทนความรักทั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นของโรงหนังโรงนี้

ในอดีตโรงหนังคือที่ให้ความบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจ และจรรโลงใจไม่กี่ที่ที่คนในชุมชนเข้าถึงได้ โรงหนังจึงเต็มไปด้วยผู้คนที่เข้ามาดูและทำกิจกรรมหลากหลาย เสียงโห่ร้องเมื่อฉากจูบถูกตัด เสียงผิวปากเมื่อถึงฉากสนุกหรือเซ็กซี่ เสียงสะอื้นและผ้าเช็ดหน้าที่ถูกแบ่งกันซับน้ำตาในฉากสะเทือนใจ บางคนตั้งใจดู บางคนหลับ บางคนให้นมลูก บางคนแอบช่วยตัวเองในฉากเซ็กซี่ บางคนแอบมีเซ็กซ์ เด็กแอบสูบบุหรี่ และบนห้องฉายหนังก็แทบเป็นบ้านหลังที่สองของคนฉายหนัง อยู่ กิน คุยเรื่องชีวิตและความรัก จูบกับคนรัก อยู่บนนั้น

โตโต้เป็นเด็กซนและฉลาด หลงใหลในการฉายหนัง ใช้ลูกตื้อจนอัลเฟรโด้สอนให้เขาฉายหนังเป็น ทั้งคู่ไม่ได้เป็นญาติกัน แต่ความรู้สึกแนบแน่นยิ่งกว่าพ่อลูก ชีวิตดำเนินไปท่ามกลางอุบัติเหตุและความเปลี่ยนแปลง

เมื่อโตโต้เดินทางไปโรม เขาไม่เคยหวนกลับมาอีกตามคำบอกสุดท้ายของอัลเฟรโด้ก่อนพวกเขาจากกัน และ 30 ปีต่อมา เมื่ออดีตย้อนกลับมาหาโตโต้อีกครั้ง เขาจึงกลับบ้านเกิด และพบว่าที่นี่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกแล้ว แต่เมื่อเขาเข้าไปใน cinema paradiso ที่รกร้าง เขาแทบได้ยินเสียงโห่ร้องและผิวปากจากโรงหนังร้างแห่งนี้ และของขวัญชิ้นสุดท้ายที่อัลเฟรโด้ทิ้งไว้ให้เขา เหมือนการมอบอดีตอันมีค่าและหอมหวาน ที่ไม่ว่าเขาจะจากไปไกลและนานเท่าไหร่ เมื่อกลับมาเขาก็ยังพบว่าเขาอยู่ที่เดิมและอดีตไม่เคยจากเขาไปไหน

พออกจากโรงหนังมา เราพบหน้าพนักงานทุกคนที่สกาล่า ที่เราได้เห็นจากหนังสารคดี The Scala ของอาทิตย์ อัสสรัตน์ พวกเขากล่าวขอบคุณกับเราด้วยรอยยิ้ม ขอบคุณพวกเขาเช่นกัน ที่ทำให้เรามีที่พักผ่อน สร้างความบันเทิง จรรโลงใจเราตลอดมา



(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 8)

filmclub
กอง Film Club

RELATED ARTICLES