FILM CLUB Year List 2020 (Part 1)

ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง 

และนี่คือรายชื่อรอบแรก


จิตร โพธิ์แก้ว : cinephile ที่ปรึกษา Film Club 

HAPPY 20TH BIRTHDAY (2020, เคียงดาว บัวประโคน, 21 min) shorts

คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่เราชอบมากที่สุดในปี 2020 หนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงสาวที่ฉลองวันเกิดอายุ 20 ปีของตัวเองด้วยการออกไปล่าฝรั่งหนุ่มหล่อเพื่อจะได้มีเซ็กซ์กัน พอเราได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว เราก็รู้สึกดีใจที่ตัวเองอดทนมีชีวิตอยู่มา 47 ปีจนถึงวันที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ คือมันเป็นหนังไทยแบบที่เราอยากเห็นมานานมากๆ แล้ว แต่ก็ไม่เคยมีคนไทยสร้างมันออกมาให้เราได้ดูในเลยในช่วง 47 ปีที่ผ่านมา นึกว่าการได้ดูหนังเรื่องนี้คือการได้นอนตายตาหลับเสียที 55555 เพราะมีคนทำในสิ่งที่เราปรารถนามานาน 47 ปีให้สำเร็จได้ในที่สุด

สาเหตุที่เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ ก็คือว่า ถ้าหากเราเกิดเป็นหญิงสาวที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนนางเอกหนังเรื่องนี้ เราก็อาจจะตัดสินใจทำทุกอย่างคล้ายนางเอกหนังเรื่องนี้น่ะ (แต่จริงๆ แล้วเราคงไม่รอจนอายุ 20 ปีหรอก 55555) คือนางเอกหนังเรื่องนี้ “ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากเห็นมานานมากแล้วในหนังไทย แต่เราแทบไม่เคยเจอมาก่อน

HAPPY 20TH BIRTHDAY ก็เลยเหมือนเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่เราได้ดูในช่วง 47 ปีที่ผ่านมา ที่นำเสนอ “นางเอก” ที่ตรงกับ “นางเอกในจินตนาการของเรามากที่สุด” หรือตรงกับ “ผู้หญิงในแบบที่เราอยากจะเป็นมากที่สุด” นางเอกหนังเรื่องนี้ “ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ” จริงๆ



ศาสวัต บุญศรี : cinephile อ.สอนภาพยนตร์

How to Disappear (2020, Leonhard Müllner, Robin Klengel, Michael Stumpf With Kathy Tanner, Austria) shorts

หนึ่งใน essay film ที่เล่าเรื่องตรงประเด็นและชวนให้คนดูตั้งคำถามต่อสงครามเป็นยิ่งนัก ผู้กำกับเลือกใช้เกม Battlefield V เป็นเครื่องมือในการสะท้อนภาพ ซึ่งเกมสงครามดังกล่าวก็ absurd ไม่แพ้กัน การเลือกเล่า “ทหารหนีทัพ” ที่ทั้งในเกมและชีวิตจริง พวกเขาคือคนที่ต้องถูกกำจัดให้แดดิ้นไม่ต่างจากศัตรู ผ่านเครื่องมือของกฎกติกาในเกมต่างๆ ล้วนทำให้เราตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของสงครามและทหารว่ายังจำเป็นอีกหรือ



รัชฎ์ภูมิ บุญบัญชาโชค : ผู้กำกับ เขียนบท นักเขียน Film Club

Liberté (2019, Albert Serra, France)

ภาพยนตร์แห่งความเงี่ยน ไม่คิดไม่ฝันว่าจะมาเจอหนังอะไรแบบนี้ เป็น 2 ชั่วโมงที่ทั้งเรื่องมีแต่คนเงี่ยนมองกันไปมาในป่าสุมทุมพุ่มพฤกษในศตวรรษที่ 18 ที่ประดาคนทุกหมู่เหล่าไม่ว่าจะชายหญิงกะเทย ขุนนางชนชั้นสูงนั่งเสลี่ยงและข้าทาสไพร่บริวารที่เป็นคนแบกเสลี่ยง คณิกางามเมืองโสเภณีหรืออิสตรีสูงศักดิ์จากตระกูลเจ้า พวกเขาต่างก็พากันเดินทางมายังป่ากามารมณ์แห่งนี้ที่พออาทิตย์คล้อยลับหายนภาเคลื่อนสู่ราตรี เกมกามหรรษาก็บรรเลง สถานะสังคมของแต่ละผู้แต่ละคนก็ถูกปลดเปลื้องต่างอาภรณ์ คนมั่งมีหรือยากไร้ต่างพากันเดินย่ำย่างไปในป่ามืดใช้แสงจันทร์ต่างไฟส่องพาให้เจอกัน ต่างคนต่างเงี่ยนและเมียงมองกันเองว่าเธอจะมาสลายความเงี่ยนกับฉันไหม ความเหนียม ความตะบิดตะบวยของปัจเจกต่างฉายฉานผ่านอากัปของตัวละครแสนวิกลเหล่านี้ ความกำหนัดที่ปริ่มท้นอยู่ตลอดเวลาก็ทะลักทลายแตกซ่านละเลงนองเต็มพื้นผืนป่ากันก่อนรุ่งสางประดุจหยาดน้ำพิรุณรวยรินลงมาปลูกให้ป่าหนาเต็มผืนเป็นภาพที่สวยงาม ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนทำหนังแบบนี้ออกมา ประทับใจมากๆ



กิตติพล สรัคคานนท์ : นักเขียน บรรณาธิการ เจ้าของร้าน Books and Belonging

Claire Denis: J’ai pas sommeil (1994, Claire Denis, France)

แม้จะเป็นปีแห่งโรคระบาด แต่ก็เป็นช่วงปีที่กลับไปดูหนังในโรงบ่อยมากถึงมากที่สุด J’ai pas sommeil เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่รู้สึกได้ถึงความแตกต่างจากการนั่งดูหน้าจอทีวีเครื่องเล็กๆ รายละเอียดของความเป็นคนและดนตรีของ Denis ต้องถือว่างดงามและทำให้ประสบการณ์ของการเข้าไปสำรวจชีวิตของคนอพยพในมหานครแห่งโลกกลายเป็นที่จดจำมาถึงตอนนี้ 



ณิศวร์ฐิตะ ทองน้อย : นักเขียนประจำ Film Club 

Hillbilly Elegy (2020, Ron Howard, US)

หนังดราม่าครอบครัวและการก้าวผ่านช่วงวัยของเด็กหนุ่มจากชนบทของอเมริกา (คำว่า Hillbilly หมายถึงคนหลังเขา, คนบ้านนอก) รากเหง้าและความสัมพันธ์อันขมขื่นในครอบครัวที่คอยเหนี่ยวรั้งการแสวงหาชีวิตใหม่ ครอบครัวกลายเป็นเบ้าหลอมความเฮงซวยในชีวิตที่คุณอยากกลบฝังมันเอาไว้และหนีไปให้ไกลที่สุด 

หนังเล่าสลับไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบันของตัวละคร ความทรงจำหวานขมในอดีตถูกฉายซ้ำผ่านภาพชีวิตในปัจจุบัน การเติบโตอาจมอบสายตาคู่ใหม่ที่ทำให้เข้าใจความเจ็บปวดมากขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้เจ็บปวดน้อยลง การเยียวยาบาดแผลในใจ ความลับเล็กๆ น้อยๆ ในครอบครัวที่แต่ละคนต่างเก็บงำเอาไว้เพื่อถางทางให้เราเติบโตขึ้น 

แม้หนังจะไม่ได้นำเสนอประเด็นเฟมินิสม์โดยตรง แต่เมื่อดูแล้วก็อดสังเกตไม่ได้ว่าในเส้นทางการแสวงหาและการเติบโตของตัวเอก ล้วนแล้วแต่มี “ผู้หญิง” (ยาย แม่ พี่สาว แฟนสาว) คอยประคับประคองเป็นลมใต้ปีกอยู่ในทุกช่วงชีวิต 



นพธีรา พ่วงเขียว : นักเขียนรับเชิญ Film Club เจ้าของเพจ “คนวิจารณ์หนังไม่เป็น” แอคเคาท์ทวิตเตอร์ “addPALM” 

Spontaneous (2020, Brian Duffield, US)

แม้เรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นที่เริ่มทยอยเสียชีวิตด้วยเหตุผลที่อธิบายไม่ได้อย่าง “ร่างกายตัวระเบิดแตกตาย” จนเลือดสาดจะดูเป็นหนังคัลท์หรือหนังเพื่อความบันเทิง แต่แท้จริงแล้ว spontaneous กลับมีประเด็นและเนื้อหาของความเป็นหนัง coming-of-age ของวัยรุ่นซ่อนอยู่และเล่าผ่านตัวละครต่างๆ ได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ

และผกก. นำพาประเด็นนี้ออกมาเล่าได้อย่างชาญฉลาด โดยมุ่งเน้นหลักๆ ไปที่ตัวละครที่ต้องรับมือกับความสูญเสียและความโศกเศร้า เมื่อเพื่อนๆ ที่พวกเขารู้จักตายอย่างไม่มีการจากลา ไม่มีวันเวลาบอกล่วงหน้า หรือไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดเลยว่าพวกเขาตายเพราะอะไรกันแน่?

ยังไงก็แล้วแต่ spontaneous นับว่าเป็นหนังที่หลอกคนดูได้ดีระดับนึงให้หลงเชื่อว่าเป็นแค่หนังคัลท์สยองขวัญโง่ๆ เพื่อความบันเทิง แต่แท้จริงกลับมีทั้งความโหด ความตลก และความเป็นหนังวัยรุ่นที่ลงตัว โดยเฉพาะครึ่งหลังของหนังที่น่าจะเรียกได้เต็มปากว่าเป็นการพลิกโทนการเล่าเรื่องที่กล้าหาญอย่างสุดๆ



ธีพิสิฐ มหานีรานนท์ : นักเขียน อดีต บก. Bioscope นักเขียนประจำ Film Club 

Cherry Magic (2020, Hiroki Kazama, Japan) TV series

นับเป็นเรื่องน่าประทับใจสำหรับแฟนซีรีส์วายอย่างข้าพเจ้า ที่ในท่ามกลางกระแสธารอันเชี่ยวกรากของการขายความโฉ่งฉ่างร้อนเร่าของตัวละครชาย-ชาย ยังมี Cherry Magic จากญี่ปุ่นที่กลับว่ายทวนน้ำขึ้นมาได้อย่างสง่างาม ด้วยค่าที่มันสามารถถ่ายทอดความรักอันอบอุ่นหัวใจของชายหนุ่มสองคนออกมา โดยไม่จำเป็นต้องมีฉากเซ็กซี่เรียกแขกแต่อย่างใด ผ่านเรื่องราวชีวิตประจำวันกึ่งแฟนตาซีที่ว่าด้วยหนุ่มโสดซิงซื่อใสอย่าง อาดาจิ (เอจิ อาคาโซ) ที่เพิ่งได้รับพลังวิเศษในการ ‘อ่านใจผู้คนผ่านการสัมผัส’ หลังวันเกิดวัยสามสิบของตน และเพิ่งได้รู้ว่า คุโรซาวะ (เคตะ มาจิดะ) หนุ่มหล่อแสนเพอร์เฟ็กต์ของออฟฟิศกำลังแอบชอบเขาอยู่

ซีรีส์ 12 ตอนเรื่องนี้บอกเล่าพัฒนาการความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่อย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยท่าทีเรียบง่าย ขบขัน หรือแม้แต่ชวนให้เขินจิ้นฟินจิกหมอน แต่ก็ยังเต็มไปด้วยความจริงจังจริงใจที่ตัวละครมีต่อรายละเอียดของชีวิต สังคม และผู้คนที่แวดล้อมพวกเขา โดยเป็นการพยายามชี้ให้ผู้ชมเห็นถึง ‘คุณค่า’ ของตัวเองและคนอื่นๆ เพื่อยืนยันว่า ไม่ว่าเราจะเป็นเพศไหนหรือเป็นใคร คนทุกคนก็ล้วนเปล่งประกายในแบบของตัวเองทั้งนั้น

และที่สำคัญ, จงอย่ายอมให้ใคร-หรืออะไร-มาตัดโอกาสหรือตัดสินชีวิตของเราได้ง่ายๆ …โดยเฉพาะจาก ‘อคติ’ ที่เรามีต่อตัวเอง

นี่จึงกลายเป็นซีรีส์วายที่ถ่อมตัว มีหัวจิตหัวใจ และเพิ่มพลังชีวิตให้ผู้ชมได้มากที่สุดในขวบปีที่แสนโหดร้ายต่อมวลมนุษยชาติอย่าง 2020 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป

หมายเหตุ : สามารถรับชม Cherry Magic (ถ้า 30 ยังซิง! จะมีพลังวิเศษ) แบบมีซับไตเติ้ลไทยและถูกลิขสิทธิ์ได้ทาง WeTV นะจ๊ะ



นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ : ผู้กำกับภาพยนตร์ ศิลปิน

Everyday is A Good Day (2018, Tatsushi Ohmori, Japan)

นี่คือ soul ของข้าพเจ้า , การนั่งดูคนหัดชงชาทั้งเรื่องแม่งวัดใจสัด แต่สุดท้ายความช้าของการชงชา ก็ทำให้เราต้องนั่งรอและเห็นอะไรชัดขึ้นหลายอย่าง , ถ้านิ่งได้เมื่อไหร่ เราก็จะเข้าใจชีวิตได้มากขึ้น ไม่มากก็น้อย



 ‘กัลปพฤกษ์’ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ 

The Truffle Hunters (2020, Michael Dweck/Gregory Kershaw, Italy/US/Greece)

เหมือนได้ดูหนังตลกขำขื่นฝืนสังขารของผู้กำกับอำมหิตจิตโหด Ulrich Seidl อย่างไรอย่างนั้น ต่างก็แต่เพียงมันคือหนังสารคดีนักล่าเห็ด truffle ล้ำค่าหายากในอิตาลีที่ไม่ได้มีการจัดฉากหรือจ้างใครมาแสดง! ดูแล้วต้องเชื่อเลยว่าโลกแห่งความเป็นจริงมันสามารถวิปริตผิดแปร่งจนเกินกว่าจะแต่งเขียนออกมาเป็นบทหนัง เมื่อทุกสิ่งทั้งหมดที่เห็นล้วนเป็นเหตุการณ์และผู้คนที่มีตัวตนอยู่จริงๆ!


ณฐพล บุญประกอบ : ผู้กำกับสารคดี

School Town King (2020, วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย)

ไม่มีหนังจากคนทำหนังระดับโลกคนไหนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมได้เท่ากับหนังเกี่ยวกับสังคมเรา และสร้างขึ้นโดยเพื่อนเราเอง



(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 2)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 3)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 4)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 5)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 6)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 7)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 8)

filmclub
กอง Film Club

RELATED ARTICLES