FILM CLUB List : Queer Cinema (Part 5)

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง)

(รายชื่อรอบสาม) | (รายชื่อรอบสี่)

ในโอกาส​ Pride Month นี้ Film Club ได้ชักชวนผู้คน ทั้งนักวิจารณ์ คนทำหนัง และคนดูหนังจำนวนหนึ่งมาร่วมกันเลือกภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศของผู้คน โดยแต่ละท่านมีอิสระในการเลือก ภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด ทั้งภาพยนตร์ หนังสั้น หนังทดลอง สารคดี ไปจนถึงมิวสิควิดีโอ โฆษณา หรือแม้แต่ คลิปไวรัล 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่ห้า รอบสุดท้าย


ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์ : นักแสดง

Je t’aime moi non plus (1976, Serge Gainsbourg, France) 

เหมือนเป็นหนังประกอบเพลงขนาดยาวที่สนองความ pervert และ sex fantasy ของ Serge Gainsbourg ที่ชวนขมวดคิ้วเวลาดูและก็บ่นกับตัวเองเบาๆ ว่า อะไรของมึงวะ

เรื่องราว sexual fantasy แบบ heterosexual ที่หยิบเอาเงื่อนไขแบบ homosexual มาประกอบร่างเป็นเรื่องราวแบบที่เลอะเทอะ, น่าขันปนเศร้า ในทางหนึ่งมันให้ความรู้สึกกับเราว่า สิ่งนี้มัน non-binary 

ภายใต้บรรยากาศที่ sensual อันแปลกประหลาดชวนฝัน หยิบหยอดความลามก การยั่วล้อทางฟิโรโมน และกลิ่นไอความโรแมนติกที่น่าขบขัน มวลลมพัดโกรกผมและใบหน้า (เป็นลักษณะบรรยากาศที่พบได้ในงานเพลงของ Serge Gainsbourg) ในขณะที่หนังเหมือนจะถอดความเป็นเพศออกในดินแดนขอบเขตแห่งความรัก, กระสันความใคร่ ก็ยังคงทิ้งไว้ซึ่งปมขัดแย้งในเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศไว้ ตัวเอกผู้ชายที่เป็นเกย์จะสามารถร่วมเพศกับหญิงสาวกำพร้ารักที่ยินยอมพร้อมใจคนนี้ได้ไหม แม้เขาจะต้องตาเธอจากภายนอกที่ดูเหมือนเด็กผู้ชาย แต่ในทางกายวิภาคก็ยังเป็นผู้หญิงอยู่ดี

หนังเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นส่วนผสมที่แปลกประหลาด สำหรับเรา และยุคสมัยที่มันได้เกิดขึ้นมาเลย

เรารู้มาตลอดว่า Serge เป็น straight, เป็นคนลามกและใช้สัญชาตญาณดิบของตัวเองสูง แต่ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขาได้เคยผลิตผลงานแบบนี้มาก่อน เรากดดูเรื่องนี้เพราะชอบเพลงนี้มาก และอยากจะรู้ว่าเขาจะเล่าเรื่องราวอะไรภายใต้บรรยากาศของเพลงนี้ 

เราพบว่า limit ทางความลามก และความบ้าที่จะท้าทายขนบศีลธรรมของ Serge นั้นแทบจะไม่มี (ถึงชื่อเสียงทางด้านพฤติกรรมชอบทำอะไรข้ามเส้นและความกักขฬะของเขาโดดเด่นมากกว่า) และในขณะเดียวกันที่ตัวเขาเองก็ยังคงเอกลักษณ์ความ sensual และ open-minded บางอย่างที่จะมัดตัวเราให้หนีจากอากาศที่เขาสร้างไม่ได้เลย


วาสุเทพ เกตุเพ็ชร : ผู้กำกับซีรี่ส์ The Gifted Graduation / ผู้เขียนบท มะลิลา, อนธการ

The Way He Looks (2014, Daniel Ribeiro, Brazil)

ในช่วงเวลาที่มีคำถามกันอยู่เนืองๆ ว่าตกลงงานวายต่างๆ มันควรถูกนับหรือควรทำให้เป็น LGBTQ+ Media หรือไม่ แล้วจะให้ไปแคร์การส่งสารผลักดันอะไรใดๆ ให้กับคอมมูนิตี้ได้อย่างไร ในเมื่อความบันเทิงของคนดูเค้าก็แค่อยากเห็นเด็กผู้ชายหน้าตาดีสองคนจูบปากกัน การยกหนังเรื่องนี้เป็นตัวอย่างก็ประหยัดเวลาอธิบายได้ดี


ทิชากร ภูเขาทอง : Trasher Bangkok / ผู้กำกับซีรี่ส์ 3 Will Be Free, Friend Zone, Gay OK Bangkok

Keep the Lights On (2012, Ira Sachs, USA)

เหมือนเป็น Marriage Story ของคู่รักเกย์ หนังพาเราไปสำรวจความสัมพันธ์ตลอด 10 ปีตั้งแต่ปี 1998 – 2006 ของ Erik ผู้กำกับหนังสารคดีอินดี้ไส้แห้งกับ Paul ทนายความหนุ่มที่เจอกันผ่านทาง Hotline Sex ความสัมพันธ์เริ่มต้นจากการเป็น one night stand สู่การเป็นคู่รักคบๆ เลิกๆ ที่อีกคนถึงแม้จะมีหน้าที่การงานดีแต่ก็ติดยาจนทำให้ชีวิตรักพัง ส่วนอีกคนก็ตามหาฝันลมๆ แล้งๆ ไปเรื่อย หนังไม่ได้จุดพีคหรือเร้าอารมณ์อะไรนอกจากจะพาเราไปดูคนนึงที่พยายามเหลือเกินในการจะพยุงความสัมพันธ์กับอีกคนที่พร้อมจะทำลายตัวเองอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนไปคบใครพยายามมูฟออนไปไหน ก็วนกลับมาพยายามทำให้ความสัมพันธ์มันเวิร์คให้ได้อีก มีฉากที่ชอบมากๆ คือตอนสองคนทะเลาะกัน อีกคนนึงเลยจะไปนอนข้างนอก อีกคนนึงไม่ยอมเพราะบอกว่าเราไม่ควรเข้านอนทั้งที่ยังโกรธกันอยู่ อีกคนก็เลยดึงให้อีกคนไปนอนให้ได้ อีกคนก็รำคาญเลยเออกูไปนอนก็ได้ แล้วตัดมาก็เห็นสองคนนี้มันดีกันแล้วหยอกกันบนเตียงแล้ว เออแล้วมันยังมีฉากเอาๆ กันอยู่แล้วอีกคนแจกทองด้วย มันเป็นอินไซด์คู่รักเกย์ที่เรียลที่สุดแล้ว 


มัทนา จาตุรแสงไพโรจน์ : นักแปล

Farewell Song (2019, Akihiko Shiota, Japan) 

ถ้าคุณรักใครสักคน คุณจะบอกรักเขาอย่างไร

Farewell Song หรือ Sayonara Kuchibiru (ลาก่อน ริมฝีปากคู่นี้) เป็นบทเพลงที่ถูกแต่งขึ้นวันหนึ่งในฤดูร้อนท่ามกลางต้นไม้ที่พลิ้วไหวตามลม วันที่เราได้ยินเสียงเลโอพูดกับฮารุครั้งแรกว่า “เพลงเพราะจัง เล่นต่อเถอะ” จากวันนั้นเพลงนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในสามเพลงที่ตัวละครเอกสองสาวขับร้องตลอดเรื่องตามลำดับเพลงที่เล่นเหมือนเดิมทุกครั้งจนวันสุดท้าย

หนังเริ่มต้นจากการออกเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของวงดูโอ้อินดี้โฟล์ค ‘ฮารุ เลโอ’ ก่อนที่จะแยกวง สมาชิกวงประกอบด้วยสองสาว ฮารุ (รับบทโดย มุกิ คาโดวากิ) และ เลโอ (รับบทโดย นานะ โคะมัตสึ) มีชิมะ (รับบทโดย เรียว นาริตะ) เป็นทั้งผู้จัดการวง เด็กยกของ และมือกีตาร์

หนังเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของหญิงสาวคู่หนึ่งและชายอีกหนึ่งคนในช่วงวัยที่กำลังสร้างตัวตน และค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ การออกเดินทางของทั้งสามในรถจิ๊ปสีดำเริ่มต้นด้วยเสียงทะเลาะโต้เถียงกันระหว่างฮารุกับ เลโอ เพราะต่างฝ่ายก็ฝ่าฝืนกฎที่ตั้งไว้คือห้ามกิน ห้ามสูบบุหรี่ในรถ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครมีท่าทีจะทำตามกฎที่ว่า ในขณะที่ชิมะขอให้ทั้งคู่รักษาสัญญาว่าจะร้องเพลงไปให้ตลอดรอดฝั่งจนวันสุดท้ายของทัวร์การแสดงครั้งนี้

ระหว่างเดินทางไปแสดงยังไลฟ์เฮาส์ในเมืองต่างๆ ที่ไม่ใช่เมืองศูนย์กลางขนาดใหญ่อย่างโตเกียว แต่เป็นเมืองเล็กๆ ที่ดูมีความหมายส่วนตัวสำหรับพวกเขา อย่างที่ตัวละครพูดตอนต้นเรื่องว่า เริ่มต้นทัวร์ที่เมืองฮามะมัตสึเพราะพวกเขาแสดงบนเวทีครั้งแรกที่นี่ ระหว่างทางเราแทบไม่เห็นทิวทัศน์รอบข้าง ส่วนใหญ่กล้องโฟกัสพื้นที่ภายในรถที่ทั้งสามคนใช้เวลาด้วยกัน ในรถมีเสียงทะเลาะกัน หลายครั้งความเงียบเข้าครอบคลุม และบางครั้งกลายเป็นพื้นที่จินตนาการสร้างบทเพลงท่ามกลางความเงียบงันนั้น แล้วเราก็เห็นภาพการแสดงบนเวทีในไลฟ์เฮาส์ และภาพด้านหลังเวทีที่เผยให้เห็นเรื่องราวต่างๆ ของตัวละคร

บทเพลงหรือดนตรี เป็นหัวใจ เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงตัวละครทั้งสามให้มาสร้างพื้นที่ (community) ใหม่ร่วมกัน ฮารุเป็นคนแต่งเพลง เป็นคนที่ชักชวนเลโอให้มาร้องเพลงด้วยกัน สอนให้เล่นกีตาร์ เปิดทางใหม่ในชีวิตให้กับเลโอที่เดิมทำงานไปวันๆ ในโรงงาน เลโอรู้ว่าดนตรีมีความหมายกับฮารุแค่ไหนและพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อฮารุ ส่วนชิมะ อดีตหนุ่มบาร์โฮสต์และอดีตนักดนตรีตระหนักว่าตัวเองอยากทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้างในชีวิตนี้ เพื่อแก้ไขสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาดไปในอดีต

สำหรับฮารุแล้ว บทเพลงที่แต่งขึ้นคงเป็นเสียงบอกความรู้สึกที่แท้จริง เป็นเสียงที่สามารถปลดปล่อยออกมาได้ผ่านบทเพลงเท่านั้น บทเพลงจึงเป็นตัวตนของเธอ ความรักของเธอที่มีต่อผู้หญิงที่เธอรักไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน เธอบอกรักนั้นผ่านบทเพลงที่เธอแต่ง เลโอรับรู้เสียงนั้นด้วยการร้องเพลงไปด้วยกัน ชิมะรับรู้เสียงนั้นด้วยการเล่นดนตรีไปด้วยกัน และในคอนเสิร์ตครั้งสุดท้าย เป็นครั้งแรกที่เราได้ยินเสียงคนดูร้องคลอตามไปด้วย อาจเป็นไปได้ว่าห้วงเวลานั้นทำให้ทั้งสามคนรับรู้ว่าเสียงที่ถูกกดทับอยู่ในใจดังไปถึงผู้คนรอบข้าง รับรู้ว่าการเดินทางของพวกเขามีความหมายต่อตัวเองและคนอื่น การคลี่คลายทางอารมณ์ที่ไม่ใช่ด้วยคำพูดนั้นนำพาทั้งสามไปสู่จุดเริ่มต้นของการเดินทางอีกครั้ง


ชญานิน เตียงพิทยากร : นักวิจารณ์

The Daughters of Fire (2018, Albertina Carri, Argentina)

ตอนที่เราเลือกลงรูปโปสเตอร์เวอร์ชั่นที่ดูถูกต้องกว่าของหนังแล้วผิดมาตรฐานของเฟซบุค (ข้อหา nudity) คือข้อพิสูจน์จริงๆ ว่าหนังเรื่องนี้ก้าวข้ามทุกสิ่งทุกอย่างไปแล้ว – เพราะโปสเตอร์หลักของหนังที่คงโพสต์ได้แน่นอน (และผมเกลียดมาก) คือรูปหอยแมลงภู่เผยอเปลือกที่พยายามดึงดูดสายตาด้วยความแรงแบบเดียวกับหนังของ Lars von Trier… ซึ่ง mislead ให้คนกลับไปติดกับดักของ norm เรื่องเพศแบบเดิม ทั้งที่ตัวหนังหลุดและท้าทาย norm เหล่านั้นได้อย่างหมดจดงดงามที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ก็ว่าได้ คำสำคัญที่หนังใช้อธิบายตัวเอง (หรือคนอื่นช่วยอธิบายให้) ในเรื่องย่อหรือ director’s statement ก็คือ female gaze บ้าง queer gaze บ้าง political porn บ้าง ซึ่งถูกต้องหมดเลย แต่สายตาที่เป็นจุดเด่นของหนัง และเป็นสายตาที่เราอิจฉามากๆ คือสายตาของมนุษย์ที่ embrace ความผิดแปลกของตัวเองได้อย่างเต็มที่ มองเห็นความงามทั้งของตัวเองและของคนอื่นรอบตัวโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ และมันเข้มข้นชัดเจนมากจนสะท้อนออกมาบนจอ

ขั้นแรกสุด มันต่างจากสายตาของผู้ชายที่ชื่นชมเรือนร่างหรือความเป็นเพศหญิง (หรือในทางกลับกัน หรือเควียร์ที่ชื่นชมเรือนร่างและความเป็นเพศเดียวกัน) ขั้นต่อมา มันต่างจากหนังจำนวนมากที่พยายามพูดถึงความงามนอกกรอบอันหลากหลาย หรือพูดเรื่องเพศอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้ง ที่สำหรับกลุ่มหลังมักมาพร้อมความวาบหวามตื่นเต้นกระตุ้นเร้า (เช่น Shortbus) และสำหรับกลุ่มแรกที่อาจยังมีความไม่มั่นใจหรือสั่นกลัว ทั้งต่อตัวเองหรือสิ่งที่ตัวเองกำลังชื่นชมยกย่องหรือเป็นตัวแทนกระบอกเสียง

สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องผิด โดยเฉพาะกลุ่มที่แสดงออกให้เห็นถึงความสั่นกลัวหรือไม่มั่นใจ เพราะการจะ embrace ตัวเองหรือยืนอยู่ให้ได้ในสังคมที่กดให้แปลกแตกต่างต้องอาศัยพลังใจอย่างสูง แต่เมื่อ The Daughters of Fire ทำได้ มันจึงสดชื่นและ empowering อย่างถึงที่สุด และมันทำได้ในฐานะของหนังโป๊ที่ไม่ใช่แค่งานอีโรติกปัญญาชนเรตอาร์หรือ NC-17 ขายเทศกาล แต่เป็นหนังโป๊จริงๆ ที่กิจกรรมทางเพศเกิดขึ้นมากมายในเรื่อง อย่าง explicit ที่สุด

ทุกสัมผัสคือความสวยงามในสายตาของหนังเรื่องนี้ (และหนังทำให้เรารู้สึกตามนั้นได้จริงๆ) ทั้งด้วยมือ ด้วยลิ้น ด้วยปาก ด้วยจมูก ลมหายใจ การสัมผัสตัวเอง สัมผัสคนรัก สัมผัสคนรู้จักผิวเผิน กับทอม กับดี้ กับคนอ้วน กับคนสวย กับคนแต่งตัวข้ามเพศเพื่อความสนุก กับหญิงข้ามเพศชนพื้นเมือง กับคนอีกคนหนึ่ง กับคนอีกหลายคน หรือกับสิ่งของเครื่องช่วยทางเพศ มีทุกอย่างที่เป็นเรื่องฉาวคาวโลกีย์อยู่บนจอ แต่หนังพาเราไปพ้นจากสายตาหื่นกระหายความแปลกต่างทำนองว่า “นี่ไง ดูซะ เลสเบียนอ้วนมีเซ็กซ์กัน” “นี่ไง เซ็กซ์หมู่เลสเบียนที่มีทรานส์ด้วย” “นี่ไง นิ้วกับจู๋ปลอมที่สอดเสียบเข้าไปและน้ำรักที่ทะลักหลั่งออกมา” ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ


เพียงดาว จริยะพันธุ์ : นักแสดง นักจัดการศิลปะ นักกิจกรรม

ปรากฏการณ์ม็อบออนไลน์ #กูจะเป็นเพศอะไรก็เรื่องของกู

ปรากฏการณ์ม็อบออนไลน์ #กูจะเป็นเพศอะไรก็เรื่องของกู จัดโดยกลุ่มนักเรียนเลว เพื่อทวงสัญญาจากกระทรวงศึกษาธิการให้แก้ไขปัญหาการเหยียดเพศในโรงเรียน โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ที่นำเสนอไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ได้แก่ 1. แก้ระเบียบทรงผมให้นักเรียนเลือกไว้ทรงผมตามเพศวิถี 2. แก้ระเบียบชุดนักเรียนให้นักเรียนเลือกสวมใส่ตามที่ตนต้องการ 3. ให้กระทรวงฯ ตรวจสอบและยุติการใช้แบบเรียนที่มีอคติทางเพศ 4. กำชับให้ครูไม่เลือกปฏิบัติกับนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ

กิจกรรมจัดหลากหลายพื้นที่ทั้งหน้ากระทรวงฯ บริเวณลานสนามหญ้า และหน้าทางเข้าอาคาร ในไลฟ์จะไม่เห็นกิจกรรมทุกอัน แต่สามารถติดตามได้ผ่านภาพนิ่งจากสื่อต่างๆ กิจกรรมมีทั้งการแสดงละครที่่ตอบรับทั้ง 4 ข้อเรียกร้อง การเคลื่อนไหวประกอบเพลง This is Me ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเพลงชาติใหม่ของกลุ่มเพศหลากหลาย การจุดพลุหลากสี สาดสีรุ้งที่ตราสัญลักษณ์กระทรวง รวมไปถึงการคลุมธง Pride ที่พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 

ในฐานะนักกิจกรรมคนหนึ่งที่เฝ้าดู เข้าร่วม และร่วมขับเคลื่อนกับหลากหลายขบวนมาโดยตลอด นักเรียนเลวเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่ทำให้เรายิ้มปนทึ่งทุกครั้งที่จัดกิจกรรม บทสนทนาที่พูดอย่างใจปรารถนา เสียงที่แผดจนสุดพลัง วิธีการกดดันคนที่เรามักเรียกว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอย่างแสบสัน หรือแม้แต่ความไม่พอดิบพอดีการของการนำเสนอในบางที ล้วนมาจากความกล้าอันบริสุทธิ์ เพราะผู้ใหญ่อย่างเรามักจะคิดล่วงหน้ากันไปก่อน แล้วเรียกมันว่า ‘plan B’ หรือบางทีก็มาในนาม ‘การประเมินความเสี่ยง’ ม็อบนักเรียนเลวไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ความตรงไปตรงมาที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราโกรธ เราก็บอกว่าเราโกรธได้ไหม เราไม่พอใจ เราก็บอกว่าเราไม่พอใจ ง่ายๆ แบบนั้นเลยได้หรือไม่

“ขอโทษที่พวกเราปล่อยให้มันมาถึงตรงนี้” เป็นคอมเมนต์ที่ปรากฎขึ้นในช่วงที่ไลฟ์อยู่ 

การเฉลิมฉลองในเดือน PRIDE เกิดมาได้เพราะคนหาญกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางมาตรการรับมือกับโควิด การใช้กฎหมายปิดประตูทุกช่องทาง การที่รัฐเพิกเฉยข้อเรียกร้องของประชาชนไปเรื่อยๆ ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ามันบั่นทอนกำลังกายและใจ การปรากฎขึ้นของม็อบออนไลน์ #กูจะเป็นเพศอะไรก็เรื่องของกู ทำให้เราหายใจออกอีกครั้ง เราคงไม่สามารถพูดได้ว่ามันเหมือนยกภูเขาออกจากอก เพราะมันไม่ใช่ แต่มันตอกย้ำว่าเขาไม่ได้กำลังต่อสู้กับเรา ศัตรูของเขาคือกาลเวลา


แก้วตา เกษบึงกาฬ : คนดูหนัง​ / ชมรมวิจารณ์​ศิลปะ​การแสดง​

หัวใจทรนง: The Adventure of Iron Pussy (2003, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ร่วมกับไมเคิล เชาวนาศัย)

Hedwig and the Angry Inch (2001, John Cameron Mitchell)

สำหรับภาพยนตร์ที่พาไปสำรวจความสัมพันธ์ที่หลากหลายของผู้คนซึ่งติดอันดับท็อปในใจก็คือ ‘หัวใจทรนง: The Adventure of Iron Pussy’ และ ‘Hedwig and the Angry Inch’ ภาพยนตร์ 2 สัญชาติ ต่างบริบท แต่ก็มีจุดเชื่อมโยงกันหลายอย่าง ทั้งการเป็นภาพยนตร์เพลง และการมีตัวละครนำแสนแซ่บผู้กำลังค้นหาความรักที่แท้จริง

‘หัวใจทรนง’ พาเราตามติดภารกิจระดับชาติของสายลับสาว ‘พุซซี่’ ที่แฝงตัวไปเป็นสาวใช้ในคฤหาสน์ของเศรษฐินี และไปตกหลุมรักกับลูกชายเจ้าของบ้าน จนต้องเลือกระหว่างหน้าที่กับความรัก ซึ่งพล็อตเรื่องแนวนี้อาจดูธรรมดา แต่ผู้กำกับซึ่งควบตำแหน่งเขียนบทด้วยทั้งคู่ก็ทำออกมาได้อย่างจัดจ้านผ่านการเล่าเรื่องในสไตล์ภาพยนตร์ไทยย้อนยุค ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหน้าผม การพากย์เสียงทั้งเรื่อง การใช้ขนบภาพยนตร์เงียบเมื่อเล่าย้อนอดีต การระเบิดภูเขาเข้าป่า เพลงช้าละมุนที่สื่อถึงความในใจของตัวละคร แต่ยังบันทึกและเสียดสีความเป็นไทยและสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนั้นได้อย่างแสบๆ คันๆ โดยคาแรกเตอร์ของ ‘พุซซี่’ นั้นมีความลื่นไหลทางเพศสูง จากที่เปิดตัวมาเป็นซูเปอร์ฮีโร่สาวนักบู๊คอยปราบเหล่าร้าย ก็กลายร่างมาเป็นชายที่ทำงานในร้านสะดวกซื้อเพื่อหาเลี้ยงชีพ ก่อนจะปลอมตัวมาเป็นสาวรับใช้ผู้เรียบร้อย และได้เรียนรู้ว่าที่จริงแล้วเธอเป็นผู้หญิง! ซึ่งน่าสนใจว่าผู้คนรอบตัวก็ปฏิบัติกับเธอในฐานะผู้หญิง(ที่สวยมากๆ) และสุดท้ายเธอก็ได้พบกับรักแท้ที่เข้าใจและยอมรับเธออย่างแท้จริง

ในขณะที่เส้นทางความรักของ ‘พุซซี่’ ดูจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่สำหรับ ‘เฮดวิก’ ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Hedwig and the Angry Inch’ ซึ่งสร้างมาจากละครมิวสิคัล ก็ดูจะใช้ชีวิตมาอย่างสะบักสะบอมตั้งแต่เกิดจากการต้องอยู่ตรงกลางระหว่างการแบ่งแยกเยอรมนีตะวันออกและตะวันตก ความเป็นหญิงและชาย แม้ว่าจะได้ย้ายมาอยู่ในดินแดนที่เชื่อกันว่าเสรีอย่างอเมริกา แต่เฮดวิกก็ยังรู้สึกว่างเปล่า โดยเฉพาะเมื่อคนรักไม่ยอมรับตัวตนที่แท้จริง ซึ่งตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นได้ว่าเฮดวิกพยายามไขว่คว้าหาความรักจากคนอื่นเพื่อมาเติมเต็มชีวิตตัวเอง จนไปทำร้ายคนอื่นและทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว แต่สุดท้ายเฮดวิกก็ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการยอมรับและรักตัวเองให้ได้ก่อน ไม่ว่าตัวตนเราจะเป็นอย่างไร ชอบแบบไหน เราก็สามารถรู้สึกดีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร โดย ‘Hedwig and the Angry Inch’ ยังนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับเพศได้อย่างน่าสนใจด้วยการให้นักแสดงมารับบทที่ตรงกับเพศวิถีของตัวละคร (นักแสดงหญิงมารับบทเป็นสามีของเฮดวิก) ซึ่งทำให้ผู้ชมได้เห็นตัวตนของเธออย่างแท้จริง


ษาณฑ์ อุตมโชติ : filmmaker, curator, founder of “un.thai.tled”, based in Berlin

The Sea Runs Thru My Veins (2018, Zara Zandieh, Germany, 20m)

ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Imagining Queer Bandung ณ Sinema Transtopia/bi’bak, กรุงเบอร์ลินที่ข้าพเจ้าได้คิวเรต) The Sea Runs Thru My Veins เป็นหนังสั้นทำมือของช่างกล้อง/ผู้กำกับภาพยนตร์เควียร์ เชื้อสายแอฟโฟร-อิหร่าน/เยอรมัน Zara Zandieh ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “Queer Diaspora Berlin” (ถ้าผมจะขอตั้งชื่อคลื่นลูกใหม่ของคนทำหนังในเบอร์ลิน/เยอรมัน) ที่เติบโตขึ้นท่ามกลางของการสนทนาเรื่องประวัติศาสตร์อาณานิคมเยอรมัน ลัทธิการเหยียดสีผิว เหยียดเพศวิถี/สภาพ และความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ทำให้ต่างได้พยายามมองหา “วิธี” แก้ปัญหาทางสังคมเหล่านี้ ผ่านภาษาหนังของตัวเอง ภาษาหนังพวกนี้มักก้าวพ้นไปจาก Identity Politics และการถกเถียงว่า ใครเป็นใคร ใครมาจากไหน ใครมองเห็นตัว (identify) ในเพศสภาพแบบไหน เป็นภาษาหนังที่พยายามเอาชนะภาวะทุนนิยามทางร่างกาย (Commercialization of bodies) และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการ “รวบรวม” (Include) มากกว่าการ “เลือก” (Exclude) 

หนังสั้นเรื่องนี้ได้ “ถักทอ” เรื่องราวของตัวละครสี่ตัว ซึ่งนอกจากมีพื้นหลังทางวัฒนธรรม การเมือง และเพศวิถีต่างกัน (จากละครทรานส์*อาหรับ เติบโตในเยอรมนี, ผู้อพยพชาวอิหร่าน, นักกิจกรรมชาวมาปูเช่ จากชิลี และเฟมินิสต์จากอิสราเอล) ยังมีแนวคิด ปรัชญา และนิยามของคำว่า “ความสุขนอกขนบ” (Queer Joy) ต่างกัน ผ่านฟอร์แมต Essay Film โดยอาศัย Found Footage (ทั้งจากพิพิธภัณฑ์ Home-Movie ฯลฯ) และ Produced Footage (ถ่ายทำเอง) ในหลากหลายฟอร์ม (ทั้ง 8 มิลลิเมตร) ที่เกิดจากเทคนิคการประติดประต่อระหว่างภาพและเสียง (Creative Association) ซึ่งเป็นเทคนิคที่พบได้บ่อยในคนทำหนังที่มีพื้นหลังการย้ายถิ่นฐาน (Diaspora Background)

นี่เป็นหนังสั้นไม่กี่เรื่อง ที่นอกจากจะสะท้อนสภาพกรุงเบอร์ลินในฐานะสังคมผู้อพยพ(Einwanderungsgesellschaft) ก็ยังละเว้นการเปิดเผยเพศวิถี/สภาพของตัวละครผ่านฉากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการเกี้ยวพาราสี และนำแสดงพวกเขาผ่านความสุข ความรู้ ความภูมิใจ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ – “ความสุขนอกขนบ” – มากกว่าเรื่องราวอันเจ็บปวด ที่ส่วนมากถูกนำเสนอในสื่อกระแสหลัก (อาทิ ความรักที่ไม่ถูกเติมเต็ม สังคมที่ไม่เคยยอมรับ) ตามชื่อของหนังสั้นเรื่องนี้ The Sea Runs Thru My Veins คือการถักทอองค์ความรู้ ประวัติศาสตร์ สภาพอันยิ่งใหญ่ดังมหาสมุทร ที่ยังวิ่งผ่านเลือด ร่างกายของตัวละคร “ผู้อพยพ” เหล่านี้ ตราบใดที่พวกเขายังยิ้มได้


Derek Jarman, Filmmaker, artist and stage designer at Prospect Cottage in Dungeness CREDIT Photographer Geraint Lewis

ปราโมทย์ แสงศร : ผู้กำกับหนังสั้น นักแสดง

The Garden (1990, Derek Jarman, UK/Germany/Japan)

งานของ Derek Jarman ส่วนใหญ่จะมีสีแดงแห่งเพลิงของการเผาไหม้แทรกเข้ามาอยู่ตลอดเวลาเหมือนเขาต้องการจะทำลายล้างสิ่งที่ฉุดรั้งเพื่อให้ความเป็นคนและเพศสภาพของเขาได้มีโอกาสเดินไปข้างหน้าแล้วสร้างสิ่งที่เคยถูกทอดทิ้งนั้นขึ้นมาใหม่ 

ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะถ่ายทำติดทะเลแต่ก็ยังมีสิ่งเหล่านั้นอยู่ใน The Garden 

Derek Jarman อยู่ในยุคของนาง Margaret Thatcher ซึ่งขวาจัด และในยุคนั้นยังไม่ยอมรับเพศสภาพที่แตกต่างจากคนทั่วไปมากนัก แต่ตัวเขาเริ่มที่จะแสดเสรีภาพทางสภาวะเพศสภาพมากขึ้น 

Derek Jarman ทำเรื่อง The Garden ในขณะที่เขาทราบแล้วว่า มีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างของตนเอง เขาถ่ายหนังเรื่องนี้ที่บ้านไม้หลังหนึ่งริมทะเล ด้วยฟิล์ม 8 มม. ซึ่งเป็นกล้องที่เขาชื่นชอบและบ้านหลังนี้ก็เคยเป็นของชาวประมงมาก่อน ก่อนที่ Derek จะเข้ามาซื้อไว้ บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ห่างจากโรงผลิตพลังงานนิวเคลียร์ไม่ไกลนัก 

เขาเริ่มสร้างสวนเล็กๆ และเริ่มลงต้นไม้ดอกนานาพันธุ์ โดยบริเวณรอบๆ บ้านของเขาใน The Garden นั้นเกือบจะดูว่าการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ใกล้ทะเลแบบนี้ไม่น่าจะขึ้นหรือเติบโตได้

เหมือน Derek จะสิ้นหวังในโลกของความจริงแต่ในโลกของตัวเขาเองก็ยังมีความหวัง และฝันที่จะทำลายขนบโลกเก่า และเข้าไปอยู่ในโลกใหม่แทน

แต่ไม่วายยังโดนเจ้าหน้าที่รัฐกลั่นแกล้ง 

ส่วนใหญ่หนังของ Derek ไม่สามารถแยกความเป็นส่วนตัว เพศสภาพ ราชาธิปไตย ศาสนา และ การเมืองออกจากกันได้ 

The Garden ก็เช่นกัน ถึงแม้จะเป็นหนังที่ค่อนข้างส่วนตัว แต่ก็สะท้อนประเด็นเหล่านั้นในสิ่งที่เขาคิด

ไม่รู้ว่าควรจะเรียกหนัง Derek ว่าเป็นแนวไหน 

ใน The Garden ตัว Derek เองก็ปรากฏตัวด้วยและภาพในฝันของ Derek เสมือน Tilda Swinton คือตัวตนของเขาอีกหนึ่งคนซ้อนทับเข้าไปในโลกภาพยนตร์  เขาได้ระบายตะโกน ปลดปล่อย สิ่งที่อยู่ในจิตใจของเขาผ่านจากตัวของ Tilda ออกมาสู่โลกความจริง

The Garden ทำให้ผมรู้สึกว่า ความเป็นปัจเจกก็อาจจะเป็นอีกสิ่งที่เราแบกไว้เพื่อสร้างความไม่เท่าเทียม แต่ถ้ามีใครคนหนึ่งสามารถเชื่อมต่อ เชื่อมโยง เข้าใจและรับรู้กับสิ่งที่เป็นส่วนตัวมากมากที่ได้สื่อสารออกมา ถึงแม้จะไม่ทั้งหมดแต่ความเป็นปัจเจกแห่งตัวตนเรานั้นจะซีดจางลงและเริ่มหายไปเพราะเพียงเราลำพังคงไม่พอเพียงที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่ถูกปลูกฝังพร้อมสั่งสอนมายาวนานและหยั่งรากลึก 

ความเป็นปัจเจกไม่มีอยู่จริง 

หลังจากพลังเพลิงแห่งการทำลายล้างได้มอดไหม้ลง พลังจากดอกไม้จะยังคงผลิบานได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง


ทินฉาย มงคลมนต์ ​: ผู้กำกับหนังสั้น

The Fish Child (2009, Lucía Puenzo, Argentina/France/Spain)

หนังของ Lucia Puenzo ผู้กำกับเดียวกับ XXY จากปี 2017 The Fish Child ดัดแปลงจากนิยายเรื่องแรกของตัวผู้กำกับเอง ว่าด้วยเรื่องของเด็กวัยรุ่นผู้หญิงจากครอบครัวมีฐานะที่เป็นคนขาวละตินอเมริกา หลงรักคนใช้สาวชาวปารากวัยในบ้านของเธอเอง ทั้งสองอยากจะหนีไปอยู่ด้วยกันที่ปารากวัย จึงได้วางแผนขโมยของมีค่าจากบ้านตัวเองไปขายเพื่อที่จะได้ไปสร้างชีวิตใหม่ด้วยกัน ทว่ามันกลับไม่เป็นตามแผน และนำไปสู่การเปิดแผลในอดีต

หนังเล่าแบบ non-linear และผสมผสานหลาย genres ปกคลุมด้วยบรรยากาศหลอกหลอนเศร้าสลดของอดีตอันขมขื่น​ สิ่งที่ตัวละครเผชิญอย่างเจ็บปวด ถูกทิ้งไว้เพียงตำนานและเรื่องเล่าของ The Fish Child ซึ่งเป็นความหนักหนาสาหัสเท่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะประสบได้

หนังไม่ได้พูดถึงการถูกยอมรับในเชิงสังคมหรือการต่อสู้ทางชนชนโดยตรง แต่พูดถึงการยอมรับตัวตนอันเปลือยเปล่า แบ่งปันความทุกข์ยาก ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรค และเยียวยาแผลแห่งความทรงจำ


พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู : นักวิชาการอิสระ โปรแกรมเมอร์หอภาพยนตร์

Forbidden Games: The Justin Fashanu Story (2017, Jon Carey/Adam Darke, UK)

Pride Month ปีนี้ มาพร้อมกับฟุตบอลยูโร ซึ่งมีกระแสรณรงค์เรื่องความหลากหลายทางเพศในทัวร์นาเมนต์ให้เห็นบ้างประปราย ทำให้นึกถึง จัสติน ฟาชานู นักฟุตบอลอาชีพคนแรกที่เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ และฆ่าตัวตายเมื่อปี 1998 โดยส่วนตัวแล้ว เคยจดจำถึงกรณีการเสียชีวิตของเขาว่าเป็นเรื่องลึกลับ น่ากลัว เพราะเห็นข่าวตอนตัวเองยังเด็ก และเพิ่งเริ่มติดตามเรื่องฟุตบอลอย่างจริงจังได้ไม่นาน

จนเมื่อได้มาดูสารคดีนี้ทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อราว 3 ปีก่อน จึงทำให้เข้าใจเรื่องราวและปัญหาของฟาชานู เริ่มตั้งแต่ปมในใจอย่างแรกจากการเป็นเด็กผิวดำที่ถูกคนผิวขาวรับมาอุปการะจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า พร้อมกับ จอห์น น้องชาย แม้จะได้รับความรักจากพ่อแม่บุญธรรมอย่างเต็มที่ แต่ในทางหนึ่ง เขาก็รู้สึกแปลกแยกจากสังคม และโหยหาพ่อแม่ที่แท้จริง ต่อมาเมื่อได้กลายเป็นนักฟุตบอลดาวรุ่งระดับท็อปของประเทศ ฟาชานูก็ยิ่งถูกกดดันจากการเป็นนักเตะผิวดำค่าตัว 1 ล้านปอนด์คนแรกในประวัติศาสตร์ จนทำให้ฟอร์มตก ก่อนจะยิ่งแย่ลงเมื่อถูกจับได้ว่าแอบไปเที่ยวบาร์เกย์ 

แม้จะปฏิเสธข่าวเรื่องการเป็นเกย์ แต่ข่าวลือก็ทำให้ฟาชานูถูกกีดกันจากสังคมฟุตบอลโดยปริยาย เขาตกลงจากจุดสูงสุดและตระเวนย้ายทีมไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายจึงยอมรับกับสื่อในปี 1990 ว่ากันว่า เขาต้องการขายข่าวเพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ตนเอง แม้ จอห์น ฟาชานู น้องชายที่โตมาด้วยกัน และเป็นนักเตะชื่อดังเหมือนกัน จะพยายามจ่ายเงินเพื่อให้เขาไม่เปิดเผยตัวเรื่องการเป็นเกย์ เพราะกลัวจะต้องกระทบตัวเองก็ตาม 

การประกาศตัวยิ่งทำให้ชีวิตฟาชานูถูกสื่อละเลงจากการพัวพันกับข่าวฉาวต่างๆ และที่สุดคือการถูกตั้งข้อหาข่มขืนเด็กอายุ 17 ปี ที่อเมริกา ด้วยความกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมจากการเป็นทั้งคนผิวดำและเป็นเกย์ ฟาชานูจึงหนีมาอังกฤษ ก่อนจะตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงที่ประเทศบ้านเกิด

ถ้าเป็นโลกในตอนนี้ การที่นักกีฬาคนหนึ่งออกมาประกาศตัวว่าเป็นเกย์ นั้นถือเป็นชัยชนะที่น่ายกย่องและกล้าหาญ แต่ในกรณีของฟาชานูมันกลับเกิดจากการถูกสังคมบีบให้จนตรอก และเมื่อประกาศตัวแล้ว ชีวิตของเขากลับยิ่งประสบต่อความพ่ายแพ้ แม้จะไม่ใช่สารคดีที่ดีเลิศ แต่ในแง่หนึ่ง Forbidden Games ก็ถือเป็นบทบันทึกอุทาหรณ์ของยุคที่การเหยียดผิวและเหยียดเพศยังไม่ได้กลายเป็นเรื่องต้องห้าม โดยเฉพาะในสังคมฟุตบอล ที่แม้แต่ทุกวันนี้ ก็ยังมีนักฟุตบอลจำนวนน้อยมากที่กล้าประกาศตัวอย่างฟาชานู ในขณะเดียวกัน หนังยังทำให้เราได้มองเห็นถึงความเป็นมนุษย์ในตัวตนอันซับซ้อนของคนคนหนึ่ง มากกว่าแค่การถูกประทับตราว่าเป็นนักฟุตบอลอาชีพคนแรกที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นเกย์และตัดสินใจฆ่าตัวตาย


ธนพนธ์ อัคควทัญญู : cinephile กองบรรณาธิการ Film Club

Muscle (1989, Hisayasu Satô, Japan)

ชายหนุ่มบก. ประจำนิตยสาร Muscle หลงเข้าไปในโรงละครใต้ดินแห่งหนึ่ง เขาพบชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่าเล่นอยู่บนเวที อวดมัดกล้ามและเริงระบำอยู่กลางแสงไฟ ทั้งคู่สบตากัน พบกันและร่วมเพศกัน ไม่นานความสัมพันธ์ของทั้งสองกลายเป็นแบบ BDSM ที่รุนแรงขึ้นทุกครั้งที่ขึ้นเตียงบก. หนุ่มหวาดผวาและตัดแขนของคนรักทิ้ง

หนึ่งปีถัดมาชายหนุ่มออกจากคุก พร่ำบ่นใคร่ครวญอยากดู Salò ของ Pasolini ที่ถูกแบน ดองแขนของอดีตคนรักไว้ในห้องเพื่อสร้างจินตนภาพยามเขาสำเร็จความใคร่ ไม่นานเมื่อเขาไม่สามารถเสร็จสมอารมณ์หมายได้อย่างที่ใจคิด บก. หนุ่มตัดสินใจออกตามหาเจ้าของแขนในขวดโหลที่หายตัวไปเพื่อทำให้ฝันร้ายของเขาครั้งนี้เป็นจริง

ท่ามกลางผลงานหนังพิงค์ฟิล์มกว่า 60 เรื่องของ Hisayasu Satô มีอยู่สามเรื่องที่เล่าความสัมพันธ์ชาย-ชาย คือ Bandage Ecstasy (ดัดแปลงจาก Metamorphosis ของ Kafka), The Fetish และ Muscle ทั้งสามเรื่องหมกมุ่นอยู่กับการสำรวจความสัมพันธ์แปลกประหลาดจากบรรทัดฐานสังคมของกลุ่มตัวละครเอก

Muscle เต็มไปด้วยฉากการร่วมเพศที่ยืดยาวที่บางครั้งสมจริงเหมือนสารคดี บางทีก็เหนือจริงจนคาดเดาอะไรไม่ค่อยได้ และบางครั้งกล้องก็ใกล้ชิดกับตัวละคร เหมือนเรากำลังถ้ำมองชีวิตส่วนตัวของคนสองคนที่เราไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว หนังตั้งคำถามถึงเส้นแบ่งระหว่างความสุขและความเจ็บปวดผ่านฉากการร่วมเพศเหล่านี้ที่เป็นเหมือนการเดินทางของตัวละครเอกสู่การยอมรับความต้องการในใจของตน หนังไม่ได้ตัดสินใครว่าถูกหรือผิด เป็นแค่เรื่องของชีวิตคนสองคนที่มีความปรารถนาที่แตกต่างออกไป และเลือกที่จะอยู่กับมันด้วยกันให้ได้

นี่แหละความรัก

filmclub
กอง Film Club

RELATED ARTICLES