(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง) | (รายชื่อรอบสาม)
ในโอกาส Pride Month นี้ Film Club ได้ชักชวนผู้คน ทั้งนักวิจารณ์ คนทำหนัง และคนดูหนังจำนวนหนึ่งมาร่วมกันเลือกภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศของผู้คน โดยแต่ละท่านมีอิสระในการเลือก ภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด ทั้งภาพยนตร์ หนังสั้น หนังทดลอง สารคดี ไปจนถึงมิวสิควิดีโอ โฆษณา หรือแม้แต่ คลิปไวรัล
และนี่คือรายชื่อในรอบที่สี่
สัณห์ชัย โชติรสเศรณี : รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
The Boys in the Band (2020, Joe Mantello, USA/Canada)
มันคือบทละครคลาสสิคเรื่องสำคัญของประวัติศาสตร์เกย์ในอเมริกา (และประเทศไทยด้วย) เราชอบที่จะติดตามการตีความบทละครเรื่องนี้ ผ่านกาลเวลา และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
The Boys in the Band เป็นบทละครเวทีของ Mart Crowley ซึ่งเขาเขียนบทละครเรื่องนี้ ตั้งแต่ในยุคก่อนที่การเรียกร้องสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ จะกลายเป็นกระแสในสังคม
ละครเวที The Boys in the Band ซึ่งแสดงในปี 2511 (1968) จึงกลายเป็นจุดหมายของวงการละครเวที และประวัติศาสตร์ของเกย์ในอเมริกา ที่จะมีละครเวทีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์หลากหลายคน และนำแสดงโดยนักแสดงที่เป็นเกย์ (ในยุคที่ไม่มีหนังอเมริกันเกี่ยวกับเกย์ ถ้าในหนังจะมีตัวละครเกย์ ก็จะเป็นตัวละครที่ต้องแอบ เป็นความลับ เป็นตัวประหลาด ที่ไม่สามารถออกชื่อได้ หรือเป็นตัวสีสัน) ทำให้ความเป็นเกย์ถูกนำเสนอให้สังคมได้เห็น
ความสำเร็จของละครเวที Off-Boardway เรื่องนี้ ทำให้เกิดการสร้างเวอร์ชั่นหนังขึ้นมาฉายในปี 2513 (1970) ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ Stonewall และแนวคิดการเรียกร้องสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนพูดถึง เนื้อหาของหนังที่แทบจะก็อบทุกอย่างมาจากบทละครเวที จึงถูกวิจารณ์ว่าเนื้อหาหนังที่เกี่ยวกับเกย์ที่เกลียดตัวเอง มีปัญหากับการยอมรับตัวเอง จิตซึมเศร้า เหล่านี้ ล้าหลังตกยุคสมัยไปเสียแล้ว
เกือบ 20 ปีต่อมา ปี 2529 (1986) ดร.เสรี วงษ์มณฑา เกย์ชื่อดังในสังคมไทยตอนนั้น ก็แปลงบทละครนี้ เป็น ฉันผู้ชายนะยะ ซึ่งดร.เสรียังคงบทพูด ตัวละครทุกอย่าง และ ตัวเองก็รับบท Harold ใน ฉบับไทย คือ เต้ย ซึ่ง เป็นตัวละครที่มาพร้อมกับคำสั่งสอน แบบเดียวกับบทบาทของ ดร.เสรี ในสังคมไทย การพยายามสร้างบรรทัดฐานความประพฤติของเกย์ที่ควรจะเป็น
ละครเวทีฉันผู้ชายนะยะ ประสบความสำเร็จอย่างสูง (ประกอบกับความสำเร็จของ เพลงสุดท้าย หนังที่พูดถึงโศกนาฎกรรมความรักของคนหลากหลายทางเพศ) จึงมีการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ในปีต่อมา โดยยังคงทุกอย่างรวมไปถึง cast หลักเกือบทั้งหมดไว้เหมือนเดิม
ฉันผู้ชายนะยะ ถูกทำเป็นหนังอีกครั้งปลายยุค 2540s (1990s) ซึ่งเป็นยุคหนังเทเลมูฟวี่ (คือหนังออกแผ่นขายเลย ไม่เข้าโรง) และ ก็เป็นละครเวทีอีกครั้งในปี 2553 (2010) โดย ไม่เวลาจะกี่การดัดแปลง และมีการเปลี่ยนนักแสงไปมา แต่ดร.เสรี ก็ยังคงรับบทเป็น เต้ย ตัวละครที่มาพร้อมกับคำสั่งสอนเช่นเคย พร้อมทั้งความพยายามจะเอาประเด็นร่วมสมัยมาสั่งสอนด้วย (ละครเวทีมีภาค 2 ใส่ประเด็นเรื่อง HIV เข้าไปด้วย)
ฝั่งฮอลลีวู้ดเอง เมื่อปี 2561 (2018) Ryan Murphy โปรดิวเซอร์คนสำคัญของวงการบันเทิงอเมริกา ที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างสรรค์งงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ นำ The Boys in the Band บทละครมาขึ้นเวทีอีกครั้ง หลังจากครบรอบ 50 ปี บนเวที Boardway โดยมาพร้อมกับกลุ่มนักแสดงเกย์ที่มีชื่อเสียง ที่คุ้นหน้าคุ้นตา (ต่างจากนักแสดงชุดเดิม ที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง) อย่าง Matt Bomer (จาก White Collar), Jim Parson (The Big Bang Theory), Zachary Quinto (Star Trek) ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งรายได้และคำวิจารณ์ และนั่นก็ทำให้เกิดเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ใน Netflix ที่จะออกฉายในปี ที่แล้ว 2563 ซึ่งครบรอบ 50 ปี ของเวอร์ชั่นภาพยนตร์ พอดี มันแสดงสถานะของคนหลากหลายทางเพศที่มีที่ทางในวงการบันเทิงในอเมริกามากขึ้นอย่างมาก (ซึ่งใช้เวลา 50 ปี ในการพิสูจน์)
ความที่หนังจงใจยังคงเซ็ตทุกอย่างแบบเดียวกับ 2511 รวมทั้งนักแสดงที่จะต้องมารับบทบาท เหมือนกับเล่นเป็นตัวละครที่ต้นฉบับเคยเล่น สุดท้าย The Boys in the Band ฉบับ 2563 (2020) (และสารคดีสั้นๆ ที่ The Boys in the Band: Something Personal) ก็ทำหน้าที่เป็นบทบันทึกของชีวิตและความคิดของเกย์ ในช่วงก่อน Stonewall และการเชิดชูให้คนรุ่นหลังได้เห็นงานที่เคยสร้างปรากฏการณ์สังคมเมื่อ 50 ปีที่แล้ว รวมทำให้ชื่อ Mart Crowley ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ได้เป็นที่รู้จักอีกครั้ง
ธนพัฒน์ วงษ์วิสิทธิ์ : นักวิจารณ์ แอดมินเพจ Movies Can Talk
Sarazanmai (2019, Kunihiko Ikuhara, Japan) (TV Anime 11 EP)
เสน่ห์ของงานผู้กำกับคุนิฮิโกะ อิคุฮาระ อยู่ที่หน้าฉากเป็นแอนิเมชั่นเด็กวัยรุ่นแอคชั่นวัยใส แต่เนื้อหามีการจิกกัดและแหกขนบรุนแรง หลายชิ้นแทบเป็นแรงบันดาลใจแด่คนทำหนังหรืออนิเมชั่นอีกต่างหากโดยเฉพาะ Sailor Moon และ Revolutionary Girl Utena งานของอิคุฮาระจึงไม่ใช่แค่สิ่งที่เสิร์ฟให้เด็กดูเพียวๆ แต่เราสามารถรับรู้นัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ จิตวิทยา และงานชูความแฟนตาซีแทนการเมืองเรื่องเพศถูกภายใต้รูปลักษณ์อนิเมชั่นตลาดอย่างดิบดี ฉะนั้นอย่าแปลกใจหากอนิเมชั่นของเฮียจะครองใจชาว LGBT ไม่มากก็น้อย
Sarazanma เป็นผลงานล่าสุดของ คุนิฮิโกะ โดยโครงเรื่องจะเล่าถึง เทพกัปปะทำสัญญากับเด็กหนุ่มม.ต้นชายขอบ 3 คน (แต่งหญิง ชอบผู้ชาย และก่ออาชญากรรม) เพื่อพิทักษ์โลกโดยแลกกับจานขอพรอะไรก็ได้เป็นการตอบแทน ฟังดูเหมือนพล็อต ”ชายหนุ่มแปลงเป็นฮีโร่” แต่เนื้อแท้มันคือการนำความเป็นศาสนาชินโตผ่านนิทานปีศาจพื้นบ้านเรื่องกัปปะเรื่องกัปปะ(และนาก) พาสำรวจสังคมญี่ปุ่นในเรื่องความชายขอบของเพศชายในโลกทุนนิยม
สังคมญี่ปุ่น ”รัฐผู้ชาย” ถูกผูกขาดด้วยความเป็น ”ลูกผู้ชาย” และ ”ความแมน” อยู่ในทุกสถานบันตั้งแต่ครอบครัว การศึกษา เศรษฐกิจ ยันการเมือง หากคุณทำหน้าที่ด้านเพศชายไม่สมบูรณ์จะถูกตัดสินในฐานะขายขอบทันที การปลอบโยนก็เป็นเรื่องยากเพราะโดยบรรทัดฐานสังคมญี่ปุ่นเป็นคนเก็บความรู้สึกไว้ข้างใน ประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นเซียนเรื่องการผลิตของทดแทนอารมณ์หรืออำนวยความสะดวกอยู่แล้ว การผูกติดจิตใจคนกับวัตถุจึงเป็นเรื่องง่ายเหมือนขนมหวานเพื่อระบายความกดทับทางสังคมอย่างรูปธรรม
เทพในเรื่อง(ผ่านเจ้าชายกัปปะและนาก)ทำหน้าที่เติมเต็มความแฟนตาซีและแรงปรารถนาเพื่อให้ตัวละครชายรู้สึกมีคุณค่า มีตัวตนในสังคมที่แข็งแรงเรื่องเพศชาย เราชอบฟังก์ชั่นของตัวละครเรื่องนี้มาก ฝั่งพระเอกไม่ได้มีอุดมการณ์ฮีโร่ปราบปีศาจ แต่ต่างทำหน้าที่เพื่อแย่งจานขอพร (ซึ่งไร้ความเป็นฮีโร่มาก) แถมปีศาจแต่ละตนที่ปราบเดิมเป็นอาชญากรขี้แพ้แต่โดนตัวร้ายฆ่าเพื่อเอาแรงปรารถนาในวัตถุมาปั้นเป็นปีศาจ และเมื่อตาย ตัวตนของอาชญากรเหล่านั้นจะถูกลบจากโลกนี้ไปราวกับพวกเขาไม่เคยเกิดบนโลกนี้ ขณะเดียวกันฝั่งนากตัวร้ายมีลักษณะเป็นฝั่งนายทุน ผ่านตัวละครนากในชุดนักวิทยาศาสตร์ มีโรงงานผลิตปีศาจแบบอุตสาหกรรมอยู่ชั้นใต้ดิน (ปีศาจทำหน้าที่ดั่งผลผลิตโดยมีลูกน้องนากเป็นตำรวจชายรักชายทำหน้าที่ฆาตกรรมอาชญากรจับคนมาทำปีศาจ)
ดาวุธ ศาสนพิทักษ์ : นักเขียนประจำ Film Club
The Gay and Wondrous Life of Caleb Gallo (2016, Brian Jordan Alvarez, USA) Series
ค่ำคืนเงียบงันเปลี่ยวเหงา วิดีโอในยูทูบเล่นต่อไปเรื่อยๆ ด้วยฟังก์ชั่นออโต้เพลย์ และด้วยการทำงานอันแสนมหัศจรรย์ของอัลกอริธึ่ม ผมได้มาพบกับเว็บซีรีส์ความยาว 5 ตอน (ตอนละไม่เกิน 20 นาที) เรื่องนี้ มองผ่านๆ มันดูเหมือนวิดีโอสเก็ตช์ตลกโปกฮาทั่วไป แต่ผมกลับค่อยๆ ถูกดึงดูดเข้าไปในความวายป่วงสุดฮาในเรื่องราวชีวิตในแอลเอของเหล่าผองเพื่อนผู้มีความหลากสีสันทางเพศกลุ่มนี้
ซีรีส์ติดตามเคเล็บ กัลโล (ไบรอัน จอร์แดน อัลวาเรซ ที่ไม่ใช่แค่นำแสดง แต่ยังกำกับ เขียนบท และตัดต่อเองด้วย) ที่สำรวจความซับซ้อนของความสัมพันธ์อันแสนยุ่งเหยิงซึ่งเกี่ยวพันทับซ้อนไปกับเพื่อนๆ (ที่ล้วนอยู่ในแวดวงการแสดง) ของเขาเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสเตรทที่เคเล็บแอบปิ๊ง เพื่อนสาวที่แอบชอบหนุ่มสเตรทของเขา กิ๊กทางไกลที่ได้แต่คุยกันผ่านเฟซไทม์ หนุ่มสเตรทอีกคนชื่อ ‘เล็น’ (ที่ไม่ได้ย่อมาจาก ‘เล็นนี’ แต่เป็น ‘เล็นจามิน’) ผู้ประกาศอยากลองเป็นไบ ไปเจอถึงเพื่อนชาวเจ็นเดอร์ฟลูอิดจริตปังผู้มุ่งหมายมาขโมยซีนทุกผู้ทุกนาง!
ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้เศร้าซึ้งชวนประทับใจ ไม่ได้ถึงกับคมคายด้วยประเด็นล้ำนำสมัย ไม่ได้กระทั่งต้องการเรียกร้องอะไรมากไปกว่าความเพลิดเพลินของคนดู การที่มันถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้มีความหลากหลายทางเพศเองก็ไม่ได้ทำให้มันสะท้อน ‘ชีวิตจริง’ ของการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มากไปกว่าหนังหรือซีรีส์เรื่องอื่นแต่อย่างใด (ผมรู้สึกว่ามัน ‘เหนือจริง’ พอๆ กับ ‘สมจริง’ เลยด้วยซ้ำ) แต่มันโดดเด่นด้วยการเล่าเรื่องและเล่นมุกอย่างถูกจังหวะ รวมไปถึงบทที่ลื่นไหลราวกับปล่อยให้นักแสดงด้นสดไปเรื่อย เหนือสิ่งอื่นใด ซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนเสน่ห์ มุกตลก และไหวพริบในการเล่าเรื่องแบบเควียร์ๆ ได้สนุกและน่าจดจำเสียจนอยากนำมาแบ่งปันให้ทุกคนได้ลองไปสัมผัสกัน
วิกานดา พรหมขุนทอง : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
Close-up (1990, Abbas Kiarostami, Iran)
ฉากท้ายๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ติดตรึงเรามาก เป็นฉากที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งและขั้วตรงข้ามทางเพศสภาพ สถานะทางสังคม ความจริง มายา สารคดีและเรื่องเล่า และนำไปสู่สิ่งที่อาจจะเรียกว่า queer intimacy หรือจะเฉพาะเจาะจงไปอีกคือ queer intimacy in the global south? ฉากที่เราพูดถึงคือฉากผู้ชายสองคนซ้อนมอเตอร์ไซต์ ที่ไม่ใช่การนั่งเกร็งจนห่างแต่เลือกที่จะเกาะเอวเพื่อให้นั่งถนัด แวะซื้อเบญจมาศสีชมพู ไปตามถนนในเมืองเตหะราน ประเทศอิหร่าน ในจอทั้งสองเป็นนักแสดงให้กับ Kiarostami แต่การแสดงและภาวะ close-up นี้ หนังบอกว่าเราว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
คนซ้อนท้ายคือ Sabzian ที่เพิ่งจะได้ออกจากศาลจากข้อหาพยายามปลอมเป็นผู้กำกับชื่อดัง Mohsen Makhmalbaf (คนขับ) เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ Sabzian ได้พบกับคุณป้าคนหนึ่งบนรถเมล์ที่ทักเรื่องหนังสือที่เขาอ่าน จนนำไปสู่บทสนทนาเกี่ยวกับภาพยนตร์และบทเรื่อง The Cyclist (1987) ที่เขาถืออยู่ การมีคนถามในสิ่งที่เขาชื่นชอบแต่ไม่มีใครสนใจและภาวะท่วมท้นต่างๆ ที่เรารู้ในศาลทำให้ Sabzian เออออว่าเขาคือผู้เขียนบท และผู้กำกับ — เมื่อคนรักหนังมาเจอกันคุณป้าก็เล่ายาวเรื่องครอบครัวของเธอ ลูกชายสองคนรักศิลปะแม้ว่าจะเรียนจบวิศวะ และยังไม่ได้งานที่ตรงสาย หนังพูดถึงเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองสำหรับชนชั้นล่างที่ก็ส่งผลกระทบไปสู่ครอบครัวที่ฐานะดีด้วย บรรยากาศเหล่านี้ทำให้เราไม่ได้มองว่าคดีของ Sabzian ประหลาดหรือไกลตัว (แม้ว่าคดีจะได้รับการติดตามโดยนักข่าวและตีพิมพ์ใหญ่โตว่าประหลาด จน Kiarostami สนใจพักสิ่งที่ทำอยู่มาตามถ่ายเหตุการณ์นี้) เราเห็น Sabzian ไปรับจ๊อบเรียงเอกสาร และรู้ว่าเขาไม่มีเงินเลี้ยงลูก ภรรยาทิ้งไป และเขาอยู่บ้านแม่ สิ่งที่ดูเหมือนจะช่วยให้เขาเข้าใจสถานภาพทางสังคม ตัวตน และจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ คือ โลกภาพยนตร์ ทั้งซื้อหนังสือมาอ่าน ทั้งไปดูหนัง จนเล่นบทผู้กำกับที่ชื่นชอบให้กับครอบครัวคุณป้าได้อย่างน่าเชื่อถือ นอกจากสุนทรียศาสตร์ในฉากสุดท้ายของหนัง queer intimacy ในที่นี้จึงอาจโยงไปถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างตัวละครทั้งหลายกับภาพยนตร์ด้วย
นอกเหนือจากความรู้สึกตั้งต้นของเราว่าหนังเรื่องนี้มี queer moment ที่ทรงพลัง สิ่งที่ยืนยันความคิดเราให้ลองเขียนออกมาคืองานของ Karl Schoonover และ Rosalind Galt ที่ชื่อว่า Queer Cinema in the World (2016) ในบท Speaking Otherwise. Allegory, Narrative, and Queer Public Space ผู้เขียนกล่าวถึง Taste of Cherry (1997) ว่าเป็น ‘a non- queer film’ ที่ใช้ ‘queer cinematic intimacy’ ผ่านรูปแบบการจัดวางองค์ประกอบ การถ่ายทำภาพยนตร์ที่สร้างกรอบการมองข้ามมิติชาติ การข้ามกรอบชาติพบได้ตั้งแต่บทสนทนานอกจอของนักวิจารณ์กลุ่มหนึ่งว่าการขับ taxi หาชายหนุ่มของตัวละครเอกเรื่องนี้มีความละม้ายการขับหาคู่ จนไปถึงการถกเถียงว่าแท้จริงคือการหาความเห็นอกเห็นใจของเพื่อนมนุษย์ ‘queer bond’ จึงอาจจะเป็นไปได้ทั้งความ specific ของคู่รัก และความห่วงใยในโลกแห่งการแบ่งแยก นอกจากหนังสือวิชาการ Veronica Esposito เขียนบทความลง The Guardian เมื่อปี 2019 ถึงการที่หนังเรื่อง Close-up ทำให้เขารู้สึกถึงภาวะ transgender ของตนเอง เธอกล่าวไว้ได้อย่างงดงามว่าหนังของ Kiarostami หลายเรื่อง เดินทางข้ามเส้นบางๆ ที่แยกคนงานกับผู้กำกับ คนรักกับคนแปลกหน้า ความจริงกับความปลอม หนังเหล่านี้แสดงให้เห็นแก่นแท้ที่แฝงอยู่ เผยให้เห็นตัวตนที่ปกปิดมากกว่าใบหน้าที่เปิดเผย ผู้กำกับบอกเราว่าหากสถานการณ์อำนวยเราจะเห็นตัวตนเหล่านี้ได้เบ่งบานอย่างที่ไม่พบมาก่อน
(ภาพยนตร์ของ Kiarostami หลายเรื่องอยู่ใน Mubi ตอนนี้ และ Asian Film Archive จัด retrospective งาน 34 ชิ้น (thirty-four works—eighteen feature films, four short features and twelve short films) จากเดือนนี้ไปถึงส.ค. ส่วนหนังของ Makhmalbaf หาดูได้ในช่องทางธรรมชาติ ซึ่งก็อาจมองได้ว่าเป็น transnational queer space อย่างหนึ่งเหมือนกัน)
ชลิดา เอื้อบำรุงจิต : ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
Orlando (1992, Sally Potter)
เป็นหนังเบิกเนตรทั้งในเรื่องความเป็นไปได้อย่างไร้ขีดจำกัดในเรื่องเพศและความเป็นไปได้ในการทำหนัง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักเวอจิเนีย วูล์ฟและนักเขียนกลุ่มบลูมสเบอรี่ และที่สำคัญคือทำให้กลายเป็นติ่ง ทิลด้า สวินตัน
ขอสปอยล์เรื่องย่อนิดนึง ทิลด้า สวินตันแสดงเป็นออร์แลนโด เป็นขุนนางหนุ่มในยุคเอลิซาเบธ ก่อนการสิ้นพระชนม์ของควีนเอลิซาเบธที่แสดงโดยเควนติน คริพส์ ควีนยกที่ดินผืนใหญ่พร้อมปราสาท พร้อมบอกกับออร์แลนโดว่า Do not fade. Do not wither. Do not grow old. ซึ่งไม่รู้ว่ามันเป็นพรหรือคำสาป เพราะออร์แลนโดก็มีชีวิตอยู่มาอีกหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบัน ในร่างของผู้ชาย ผู้หญิง ผู้ชายที่เหมือนผู้หญิง หรือผู้หญิงที่เหมือนผู้ชาย เพื่อท้าทายว่าอะไรคือความหมายของคำว่าเพศ
มหัศจรรย์อย่างหนึ่งของหนังซึ่งตอนดูแรกๆ ตกใจคือในบางฉาก จู่ๆ ทิลด้าจะหันมาคุยกับคนดู มันเหมือนเราไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ลูฟ ดูภาพเขียนอยู่เพลินๆ แล้วภาพเขียนก็ดันหันมาพูดกับเรา มันก็จะหลอนๆ หน่อยแบบนั้น
เมื่อก่อนเราก็รู้จักเควนติน คริส์พแบบผิวเผินว่าเป็นนักเขียนที่แต่งหญิงมานาน แต่ล่าสุดได้ไปฟังพอดแคสอันนึงที่มีบทสัมภาษณ์เขาในยุค 70 ฟังแล้วน้ำตารื้นว่าการที่คนเราแค่จะเป็นตัวของเองในสมัยหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง
หนังเรื่องนี้ออกมาในยุคที่ไม่มีใครอธิบายอะไรให้เราเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศมากนัก มหัศจรรย์ที่พอมาคิดตอนนี้ว่า เวอจิเนีย วูล์ฟเขียนเรื่อง Orlando: A Biography ในปี 1928 เขียนจากชีวิตของเพื่อนนักเขียน(หรือกิ๊ก) ของเวอร์จิเนีย วูลฟ ชื่อ วิต้า แซควิลล์-เวสท์ ส่วนแซลลี่ พอตเตอร์ก็ทำออกมาเป็นหนังจนได้เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วถึงจะบ่นว่าหาทุนยากก็ตาม ทิลด้า สวิสตันเคยบอกว่าตอนที่ออกฉายก็เข้าโรงปกติ ถ้าเป็นสมัยนี้คงต้องเป็นหนังอินดี้หรือฉายตามซีเนมาเทค ก็ไม่รู้คนดูตอนนี้จะบ่นว่าหนังมันเร็วไปจนดูไม่รู้เรื่องเพราะย่อเวลา 400 ปีมาไว้แค่ 2 ชั่วโมง หรือที่ ไม่อธิบายว่าตกลงออร์แลนโดเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายกันแน่….อืมมมม
กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ : แพทย์ นักเขียนประจำ Film Club
Beau Travail (1999, Claire Denis)
Beau Travail มาจากภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า good work หรืองานที่ดี ภาพยนตร์ขนาดยาวกำกับโดย Claire Denis ผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศสที่มักเล่าถึงสภาวะหลังอาณานิคมในแอฟริกาตะวันตก ยังรวมไปถึงวัฒนธรรมฝรั่งเศสร่วมสมัย เธอเกิดที่ปารีส แต่ติดตามพ่อของเธอที่เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน และเติบโตที่อาณานิคมฝรั่งเศสอันได้แก่ บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูน โซมาเลีย ไปจนถึงเซเนกัล
Beau Travail ได้รับแรงบันดาลใจบางส่วนจาก Billy Budd (ค.ศ. 1888) นวนิยายที่เขียนไม่เสร็จของ เฮอร์แมน เมลวิลล์ เล่าถึงชีวิตของเหล่าทหารภายในกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศสที่ตั้งรกรากอยู่สาธารณรัฐจิบูตีริมทะเลแดง แหล่งติดต่อค้าขายระหว่างเอเชียกับยุโรปสมัยโบราณ หนังเปรียบเทียบชีวิตของจ่าสิบเอก Galoup (ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลหลังจากมีนายทหาร Sentain เข้ามาประจำการ) กับผลกระทบจากการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส
Galoup หลงรัก Sentain นายทหารหนุ่ม แต่พยายามไม่แสดงออก เก็บงำความรู้สึกนั้นไว้ แล้วขับออกมาในรูปของความเกลียดชัง อิจฉาริษยาในความเก่งกาจของ Sentain ผู้เปรียบเสมือนดาวดวงใหม่ในค่าย ซึ่ง Galoup เคยเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด
ฉากที่ปวดร้าวเศร้าสร้อยเป็นที่น่าจดจำคือเหตุการณ์หลังจากที่ Galoup ลงโทษ Sentain และในที่สุดเขาไม่ได้พบกับนายทหารหนุ่มคนนั้นอีก ความทุกข์ระทมภายในจิตใจของ Galoup ถูกปลดปล่อยออกมาผ่านการร่ายรำในไนท์คลับที่จิบูตีตามจังหวะเพลง The Rhythm of the Night ของวง Corona
ณัฐวุฒิ นิมิตชัยโกศล : นักเขียนประจำ/กองบรรณาธิการ Film Club
Yuri!!! On Ice (ユーリ!!! on ICE) (2016, Sayo Yamamoto, 2016, Japan) (TV Anime 12 EP)
เราไม่แน่ใจว่าในโลกของอนิเมะแนว BL (Boy’s Love) จะเป็นโลกที่สังคมภายในเรื่องต้อนรับการรักกันของชาย-ชาย มากขนาดไหน เพราะเราไม่ได้ติดตามสักเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้สำหรับเราแล้ว มันไหลลื่น เป็นไปอย่างธรรมชาติ และเป็นสังคมภาพแทนของการเปิดรับความรักของผู้คนในเพศเดียวกันอย่างมาก เมื่อมีตัวละครตะโกนบอกทุกคนในร้านอาหารว่าวิคเตอร์กับยูริหมั้นกันแล้วและจะแต่งงานกันด้วย คนในร้านอาหารก็ปรบมือแสดงความยินดีกับทั้งสองคน แต่ถึงแม้จะไม่เคยได้บอกรักกันตรงๆ แต่เชื่อว่าพอดูแล้วก็จะรู้สึกว่ามันมีการบอกรักกันอยู่เสมอทุกอิริยาบถจริงๆ และมันสามารถละลายความคิดของภาพที่ติดอยู่กับว่ากีฬาฟิกเกอร์สเก็ตเหมาะสำหรับผู้ที่มีสรีระร่างกายหรือนิสัยที่นุ่มนวล อ่อนไหว หรือชื่นชอบในเครื่องแต่งกายที่แพรวพราว เป็นแฟชั่นจ๋าๆ อย่างเดียว อนิเมะแสดงความเป็นไปได้ของผู้คนหลากหลายรูปแบบที่กระโดดเข้ามาในวงการฟิกเกอร์สเก็ต และเราชอบการเปิดโลกของเราแบบนั้นมากๆ
แต่ถ้าตัดเรื่องราวเหล่านั้นออกไป เราจะเห็นเหมือนกับอนิเมะโดยทั่วไป การเติบโตเพื่อให้ได้ความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น การค้นหาตัวเอง และการต่อสู้เพื่อให้ได้รับชัยชนะ ยูริเป็นเพียงนักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตที่แบกความหวังของญี่ปุ่นเพื่อไปแข่งขันระดับโลก แต่กลับพ่ายแพ้อย่างหมดท่า ทำให้เขาหมดไฟและหมดหวัง แต่พอได้เจอวิคเตอร์ที่ยอมมาเป็นโค้ชให้กับเขาโดยที่ตัวเองถึงแม้จะเป็นนักกีฬาระดับโลก คว้าแชมป์ที่ใหญ่ที่สุดมาห้าสมัยซ้อน แต่ก็ยังไม่เคยทำงานในฐานะโค้ชมาก่อน ทั้งคู่จึงได้เดินทางตามหาแรงบันดาลใจผ่านเส้นทางอาชีพของตัวเอง และสนับสนุนความสัมพันธ์ผ่านเส้นทางความรักไปด้วย เรื่องนี้ค่อนข้างได้รับเสียงตอบรับที่ดีสำหรับคนดูอนิเมะเอง และทำให้เริ่มมีคนหันมาสนใจกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตมากขึ้นด้วยตัวเนื้อเรื่องที่น่าติดตาม แถมยังมีตัวละครนักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตจากประเทศไทยอย่าง พิชิต จุฬานนท์อีก (ถึงแม้นามสกุลจะชวนให้นึกถึงคนในตระกูลทหารก็ตาม) เรียกความฮือฮาในช่วงนั้นได้พอสมควร
ความสัมพันธ์ของผู้คนภายในเรื่องก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเรา กลายเป็นว่าฟิกเกอร์สเก็ตสร้างความเป็นไปได้หลายๆ อย่าง และมันสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมกันอยู่เสมอ เพียงแค่หาวิธีการที่เหมาะสมได้กับตัวเองเพียงเท่านั้น ความเป็นไปได้ในการที่เป็น โค้ช-นักกีฬา นั้นก็มีหลากหลายรูปแบบ โค้ชบางคนอาจจะมาจากครอบครัวของตัวเอง หรือมาจากโค้ชมืออาชีพ หรืออย่างวิคเตอร์-ยูริที่มีความเปลี่ยนแปลงจาก โค้ช-นักกีฬา กลายมาเป็นเพื่อน และคนรัก แม้กระทั่งความสัมพันธ์ของเพื่อน ก็ดู healthy เป็นอย่างมาก ไม่มีความขัดแย้งกันอย่างใด ไม่ต้องเจอการตบตีแย่งชิงกันอย่างที่เห็นใน I, Tonya อย่างมากก็ไม่สุงสิงกับใครเพียงเท่านั้น ดูเป็นโลกในอุดมคติที่นอกจากจะเปิดกว้างทั้งความสัมพันธ์ความรักและมิตรภาพ ยังไม่มีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น มีแค่การแข่งขันที่ทุกคนมุ่งหวังจะไปเป็นที่หนึ่งของเวที และพอจบการแข่ง ทุกคนก็พร้อมจะกลับมาเป็นเพื่อนกันได้เสมอ
ปฏิกาล ภาคกาย : บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Salmon Books
Beginners (2010, Mike Mills, USA)
ผมไม่แน่ใจนักว่าหนังเรื่องนี้เข้ากับธีม pride month หรือเปล่า แต่หลังจากลองนึกๆ ถึงหนังหลายเรื่องที่เคยดูแล้ว ‘Beginners’ ก็ยังเป็นหนังที่ผมอยากหยิบมาพูดถึงอยู่ดี
เรื่องราวของ โอลิเวอร์ (Ewan McGregor) ที่การพยายามเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับ แอนนา (Melanie Laurent) ทำให้เขานึกย้อนกลับไปถึงชีวิตช่วงบั้นปลายของ ฮาล (Christopher Plummer) พ่อของเขา ที่นอกจากจะเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว ในช่วงท้ายของชีวิต เขายังมาเผยความจริงกับโอลิเวอร์ด้วยว่า เขาเป็นเกย์
Beginners อาจไม่ใช่หนังที่พูดเรื่องเพศได้หนักแน่นเท่าหนังเรื่องอื่นๆ แต่ด้วยวิธีการเล่าเรื่องของ ไมค์ มิลส์ ที่ค่อยๆ พาเราไปสำรวจเรื่องราวกึ่งจริงกึ่งแต่งจากประสบการณ์ส่วนตนที่มีต่อพ่อของเขา ก็ทำให้เราได้เห็นสถานะของ LGBT ในยุคที่ฮาล (หรือพ่อของมิลส์) เติบโตมา ไม่ว่าจะเป็นการต้องหลบซ่อน การถูกมองว่าเป็นโรค หรือการต้องปกปิดและเลือกที่จะซุกมันเก็บไว้ เพื่อที่ไปจะไปลองใช้ชีวิตตามขนบอย่างที่ควรจะเป็น
สิ่งที่ผมชอบในหนังของไมค์ มิลส์ ไม่ว่าจะจากเรื่องนี้หรือเรื่องไหนๆ ก็คือการเล่าเรื่องที่เรียบง่าย ซึ่งผมไม่ได้หมายถึงเทคนิคการถ่ายทำแต่อย่างใด หากหมายถึงประเด็นที่เขาหยิบยกขึ้นมาเล่า อย่างการที่อยู่ดีๆ พ่อวัย 75 ปีมาเปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ และขอใช้ชีวิตต่อไปกับคู่รักหนุ่ม ฟังเผินๆ มันอาจดูเป็นพล็อตที่มีสีสัน แต่พอมันเป็นเรื่องเล่าของผู้กำกับคนนี้ การดูเรื่องราวของพ่อลูก โอลิเวอร์กับฮาล ก็ทำให้เราเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกแต่อย่างใด เพราะนี่คือชีวิต ความรัก และความสัมพันธ์ ที่ไม่ว่าใคร ไม่ว่าเพศไหน ก็เผชิญกันในความเป็นจริง
ฐิติมน มงคลสวัสดิ์ : เพจ “ผู้ชายคนนั้นจากหนังเรื่องนี้”
Cherry Magic (2020, Yuasa Hiroaki/Kazama Hiroki, Japan) Series
ซีรีส์ที่ดัดแปลงจากมังงะของ อ.โทโยตะ ยู เล่าเรื่องของชายที่เวอร์จินถึงอายุ 30 ปีแล้วดันมีมนต์วิเศษอ่านใจคนรอบข้างขึ้นมา แล้วทำให้รู้ว่าชายหนุ่มสุดหล่อที่ทำงานที่เดียวกันแอบปิ๊งเขาอยู่
ซีรีส์ทำออกมาได้ดีมาก สอดแทรกเรื่องการทำงาน มาตรฐานสังคม และลงลึกระดับความสัมพันธ์ของตัวละครผ่านเรื่องราวที่น่าสนใจ แม้ว่าเรื่องจะเกี่ยวกับทางเพศ (ความซิง) โดยตรง แต่กลับทำออกมาได้น่ารักอบอุ่นโดยพูดถึงระยะห่างในการเข้าถึงจิตใจของอีกฝ่าย รวมถึง consent ได้อย่างน่ารัก ดูแล้วอบอุ่นหัวใจ เยียวยาชีวิต และอยากมีผัวชื่อคุโรซาว่ามากค่ะ!!
ณิชมน มงคลสวัสดิ์ : เพจ “ผู้ชายคนนั้นจากหนังเรื่องนี้”
Given (2020, Hikaru Yamaguchi, Japan)
การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่อง Given สร้างจากมังงะของ นัตซึกิ คิซุ – การ์ตูนบอยส์เลิฟที่ได้รับรางวัล BL AWARD 2021 สาขา Best BL Series นำเสนอความรักวัยรุ่นกับการทำวงดนตรี มิตรภาพ และปัญหาสุขภาพจิต ทั้งเรื่องความซึมเศร้า, toxic relationship และการฆ่าตัวตายได้อย่างมีชั้นเชิง
เนื้อหามีความลึกกว่า BL ทั่วๆ ไป เล่าถึงการค้นหาตัวเอง การแสวงหาการยอมรับ และจุดที่สามารถเป็นตัวเองได้ แสดงภาพวัยรุ่นวัยว้าวุ่นที่ต้องก้าวข้ามผ่านสิ่งต่างๆ ที่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกได้อย่างน่าสนใจ
ภาส พัฒนกำจร : ผู้กำกับซีรี่ส์ The Change Company, The Underclass / นักเขียนประจำ Film Club
Revolutionary Girl Utena (1997, Kunihiko Ikuhara/Chiho Saitô, Japan) (TV Anime 39 EP)
น่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ทำให้วัยเด็กเราเกิด awareness เรื่องความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง คือจากเซเลอร์มูนมันก็ทำให้เราตะหงิดๆ มาบ้างแต่ด้วยความที่ narrative ของคู่หลักมันก็ยังเป็น straight อยู่ดี แต่พอมาเป็นอูเทน่าแล้วเราในตอนเด็กจะงงว่า “อ้าว ไหนล่ะ พระเอกนางเอกแบบปกติทั่วไป” เพราะความสัมพันธ์ของตัวเอกในเรื่องนั้นกลับเป็นหญิงรักหญิง โดยอาศัยล้อกับ narrative นิทานดั้งเดิมว่าเจ้าชายมาช่วยเจ้าหญิง แต่เจ้าชายในเรื่องกลับเป็นอูเทน่าเสียเอง ซึ่งไม่ใช่ว่าจะหยิบเอาความเป็นชายมาสวมทับในตัวอูเทน่า เพราะตัวอนิเมะไม่ได้ทรีตอูเทน่าเป็นทอมบอย ดูยังไงเธอก็เป็นผู้หญิง ถึงจะสร้างความสับสนต่อคนดูวัยเด็กบ้างเนื่องจากการ์ตูนหรืออนิเมะโดยมากมักจะจำลอง norm สังคมที่ simple ที่สุดให้เด็กได้ดู แต่ “สาวน้อยนักปฏิวัติอูเทน่า” นั้นได้ขยายการรับรู้ของเราออกไป เป็นอีกเรื่องที่แนะนำให้กลับมาดูใหม่ในตอนโตมากๆ เพราะมันทั้ง surreal และใช้ symbolic narrative เป็นหลัก คือมันล้ำมากจนไม่อยากจะเชื่อว่าครั้งหนึ่งมันเคยฉายในช่อง 9 การ์ตูน
อาทิชา ตันธนวิกรัย : ผู้กำกับซีรี่ส์ The Shipper, อังคารคลุมโปง ตอน มือที่สาม
Farewell My Concubine (1993, Chen Kaige, China/Hong Kong)
“เราทำร้ายกันเท่าไหร่ก็ไม่เจ็บปวดเท่าสังคมที่ทำร้ายเรา” Farewell My Concubine ของเฉิน ข่ายเกอเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เข้ามาในความทรงจำ เพราะตราตรึงเราจนถึงทุกวันนี้ เพราะนอกจากจะมีทั้งทางความสัมพันธ์รักสามเส้าระหว่างชายที่เป็น queer กับชายแท้ที่รักผู้หญิงโสเภณีแล้ว ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับอิทธิพลของศิลปะ ไปถึงสังคมและรัฐในช่วงสงครามและการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกด้วย
Farewell My Concubine พูดถึงตัวละคร Douzi ลูกชายโสเภณีที่อ้างว้าง เพราะแม่ทิ้งให้อยู่ในคณะงิ้ว เขามีคนที่ยืนเคียงข้างเขาหนึ่งคนมาโดยตลอดนั่นคือ Shitou เพื่อนในคณะงิ้วซึ่งเป็นคณะชายล้วน ความสัมพันธ์ของทั้งสองคนเติบโตขึ้นท่ามกลางการฝึกงิ้วที่สุดทรหด จนกระทั่งทั้งสองได้ขึ้นมาเป็นนักแสดงงิ้วชื่อดังได้สำเร็จ แต่วันหนึ่ง Shitou ก็พบรักกับ Juxian โสเภณีคนหนึ่ง ทำให้ความสัมพันธ์รักสามเส้าได้อุบัติขึ้น อย่างไรก็ดีแม้รักสามเส้าจะเป็นเรื่องใหญ่ของความสัมพันธ์ที่กระทบกับงานและชีวิตของทุกฝ่าย ทว่าก็ไม่ใหญ่เท่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเรื่อง ศิลปะอย่างงิ้วถูกตั้งคำถามเรื่องการรับใช้การเมือง เฉกเช่นเดียวกับนักแสดงที่รักงิ้ว และแน่นอนว่าเมื่อความสัมพันธ์ของคนในเรื่องผิดแผกไปจากสังคมสมัยนั้น สังคมก็สามารถหยิบประเด็นไหนมาค่อนแคะทำลาย หรือเสียบประจานเพื่อบรรลุความมุ่งหมายทางการเมืองก็ได้
ตัวละครทั้งสามถึงแม้จะชิงชังและไม่พอใจกันอยู่ในที แต่ก็ต้องตกอยู่ในคำถามเดียวกันว่าสังคมให้การต้อนรับกับความผิดแผกของตัวตนพวกเขามากเพียงไหน ในบางครั้งแม้ตัวละครจะไม่พอใจกัน แต่ในบางครั้งก็ปลอบประโลมกันเช่นกัน ความสัมพันธ์ที่น่าสนใจที่สุดสำหรับเราเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง queer และเพศหญิง ที่ต้องตกอยู่ในภาวะที่สังคมตั้งคำถามกับความผิดถูกและอำนาจของปิตาธิปไตย ซึ่งฉากที่น่าสะเทือนใจมากที่สุดก็คือ การที่สุดท้ายตัวละครตัวหนึ่งต้องเอาตัวรอดจากสังคม จนต้องละทิ้งความรู้สึกที่แท้จริงของเขาเองซึ่งนั่นเป็นสัญลักษณ์อันชัดเจนมากที่สุดของอิทธิพลของรัฐและสังคมที่เข้ามามีอำนาจเหนืออิสระของตัวตนของเรา Farewell My Concubine ต่อให้เป็นหนังเก่าแต่มันก็ยังมีคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบจนถึงปัจจุบัน และทุกครั้งที่ก้าวเข้าไปดูเราก็จะพบความงดงามและอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ
ฉากจบอันแสนเศร้าของตัวละครยังคงสะเทือนใจผู้คนอยู่เสมอและเช่นเดียวกันมันก็ตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้วเราต้องทำอะไรมากแค่ไหนผู้คนถึงจะพึงพอใจ ตัวเราจะถูกรักและถูกยอมรับไม่ได้จริงใช่ไหม