Sound of Metal ผัสสะไร้เสียง

(2019, Darius Marder)

*** บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์ ***

ในบรรดาภาพยนตร์อันน่าตื่นตาตื่นใจของออสการ์ปีล่าสุด Sound of Metal เป็นอีกเรื่องที่ถูกจับตามอง ไม่ใช่เพียงเพราะนักแสดงนำลูกครึ่งปากีสถานบริทิช Riz Ahmed เป็นหนึ่งในตัวเก็งในการชนะรางวัลแสดงนำชาย (ก่อนจะโดนตีตื้นมาโดย Chadwick Boseman และสุดท้ายพ่ายแพ้ให้กับ Sir Anthony Hopkins ไปในที่สุด) แต่เพราะหนังเองก็มีองค์ประกอบที่โดดเด่นจนเป็นที่พูดถึงและเป็นเสมือนตัวละครหนึ่งที่ทำหน้าที่ได้ไม่แพ้นักแสดงนำ สิ่งนั้นก็คือการผสมและตัดต่อเสียงนั่นเอง

Sound of Metal เล่าเรื่องถึงชายหนุ่ม Ruben (Riz Ahmed) มือกลองวงเมทัลผู้ซึ่งใช้ชีวิตบนรถตู้เพื่อทัวร์ดนตรีไปเรื่อยๆ กับแฟนสาว Lou (Olivia Cooke) ที่หนีตามกันมาจากบ้านเกิดที่ฝรั่งเศส ชีวิตทั้งคู่แลดูมีความสุขตามสภาพ และการทัวร์คอนเสิร์ตก็เป็นไปได้ด้วยดี จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อ Ruben ได้เกิดภาวะสูญเสียการได้ยินฉับพลัน (Sudden Sensorineural Hearing Loss – SSNHL) ถึงกระนั้น เขาก็ยังคงดื้อแพ่งไม่หยุดแสดง จนสุดท้ายไปพบแพทย์แล้วพบว่าสูญเสียการได้ยินไปแล้ว หนทางการรักษาคือต้องทำการผ่าตัดประสาทหูเทียมเพื่อให้กลับมาได้ยินใหม่ แต่การผ่าตัดนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ระหว่างในช่วงเวลาชุลมุน ทางแฟนสาวก็ได้ติดต่อกับญาติของเธอ และได้แนะนำสังคมผู้พิการทางได้ยินให้เขาได้รู้จัก ก่อนพระเอกจะย้ายไปและเริ่มเรียนรู้จักถึงการภาษามือ สังคมของผู้คนที่พิการทางการได้ยิน ได้พยายามปล่อยวางในดนตรี สิ่งที่ตนเองรักและยึดถือมาตลอดชีวิต

ข้อเด่นของหนังอยู่ตรงที่มันสามารถแสดงให้เห็นถึงภาวะการสูญเสียการได้ยินออกมาได้สมจริง ซึ่งทำให้เราเชื่อและนำไปสู่บทสรุปหรือประเด็นขัดแย้งอันว่าด้วยการการยอมรับในชะตา ปล่อยวางวิถีชีวิตเดิม เปลี่ยนมาใช้ชีวิตในสังคมผู้พิการทางการได้ยิน เทียบกับการต่อสู้โดยการเอาหาเงินมาผ่าตัดให้กลับมาได้ยินอีกครั้ง

จนสุดท้ายหนังก็มาถึงบทสรุป Ruben เลือกจะผ่าตัดเพื่อต้องการกลับมาใช้ชีวิตกับ Lou ก่อนจะพบในภายหลังว่าเมื่อเขาเลือกผ่าตัด สังคมผู้พิการทางการได้ยินก็ไม่ยอมรับเขาอีกต่อไป Lou เองก็กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านและเลิกเล่นดนตรีเมทัล ความรู้สึกที่เธอมีต่อเขาก็เปลี่ยนไปแล้ว รวมถึงประสาทหูเทียมที่ทำการผ่าตัดไปก็ทำให้เสียงที่เขาได้ยินกลับมากระท่อนกระแท่น ไม่ได้ดีในระดับดีดังใจ

ฉากจบของหนังจึงเหมือนเป็นการสรุปเหตุการณ์ที่ผ่านมา และขมวดปมให้เราได้พิจารณาเพิ่ม ในขณะที่พระเอกถอดชุดประสาทหูเทียมที่อยู่ด้านนอกที่ทำให้เขาได้ยินเสียงแวดล้อมเสียดแก้วหู และนั่งมองสรรพนิ่งรอบข้างด้วยความเงียบสงัด ชวนคิดว่าสุดท้ายแล้วการยึดติดในสิ่งเก่าอาจนำมาแต่ซึ่งความเจ็บปวด ถึงจุดที่เขาควรยอมรับในโชคชะตา และก้าวต่อไปในอนาคตด้วยสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้แล้วหรือยัง

ผู้ชมหลายท่านอาจรู้สึกกระแทกใจในฉากจบที่ทรงพลังนี้ หากแต่ประเด็นมีอยู่ว่า หนังอาจจะไม่ได้แฟร์มากนักในการพูดถึงภาวะการสูญเสียประสาทการได้ยินฉับพลัน ผลของการผ่าตัดประสาทหูเทียม รวมถึงความขัดแย้งระหว่างผู้พิการทางการได้ยินกับความเชื่อของการผ่าตัดดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคดังกล่าวและการรักษาในวงกว้างได้ เป็นที่มาที่ทำให้ผู้เขียนตั้งใจจะมาขยายความในบทความนี้

ภาวะสูญเสียประสาทการได้ยินฉับพลันเกิดขึ้นไม่บ่อย ราว 5 คนในหนึ่งแสนคนต่อปี และส่วนมากเป็นโดยหาสาเหตุไม่ได้ถึง 90% ซึ่ง 30-60% ของผู้ป่วยดังกล่าวสามารถกลับมาการได้ยินดีขึ้นได้เอง บางคนได้ยินเท่าเดิม บางคนดีขึ้นแต่ก็ไม่เท่าเดิม และบางคนสูญเสียการได้ยินถาวรแม้ทำการรักษาแล้วก็ตาม ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่สุดที่อาจส่งผลต่อการรักษาคือเวลาที่มาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ ซึ่งหมายถึงยิ่งมารักษาเร็ว โอกาสที่จะกลับมาได้ยินก็มีมากขึ้น

การรักษาภาวะประสาทหูเสื่อมฉับพลัน ประกอบด้วยการประเมินระดับการสูญเสียการได้ยิน การหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจจะเป็นไปได้ก่อน ซึ่งถ้าไม่พบสาเหตุเฉพาะ สุดท้ายแพทย์ก็จะรักษาด้วยการให้ยาสเตียรอยด์รับประทาน หรืออาจจะเป็นในรูปแบบของการฉีดยาผ่านแก้วหู และนัดมาตรวจการได้ยินเพื่อติดตามผล ซึ่งถ้าในระหว่างนี้อาการหายดี ก็จะสิ้นสุดการรักษา แต่ถ้าอาการได้ยินไม่ดีขึ้น ก็อาจเปลี่ยนมาเป็นการรักษาเพื่อประคับประคองคุณภาพชีวิต โดยการแนะนำให้ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยฟัง หรือผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมถ้ามีข้อบ่งชี้

หลายคนอาจเคยได้ยินแต่สงสัยว่าประสาทหูเทียม (Cochlear implant ต่อจากนี้ผู้เขียนขออนุญาตย่อสั้นๆ ว่า CI) นั้นคืออะไร อธิบายง่ายๆ คือเป็นการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์ที่ช่วยในการได้ยิน อุปกรณ์ดังกล่าวมีสองส่วน ส่วนแรกอยู่ด้านนอกผู้ป่วย ประกอบไปด้วยไมโครโฟนที่คอยเปลี่ยนเสียงผู้ป่วยเป็นสัญญาณไฟฟ้า และเปลี่ยนเป็นคลื่นวิทยุเพื่อส่งเข้าไปยังเครื่องมือภายใน โดยเครื่องมือภายนอกนี้จะวางอยู่บริเวณขมับ สามารถถอดออกและใส่ได้ เชื่อมกับเครื่องมือข้างในด้วยแม่เหล็ก (เช่นเดียวกับที่พระเอกถอดออกเมื่อตอนจบ)

Blausen.com staff (2014). “Medical gallery of Blausen Medical 2014“. WikiJournal of Medicine 1 (2). DOI:10.15347/wjm/2014.010. ISSN 2002-4436.

ส่วนเครื่องมือด้านในจะรับสัญญาณความถี่วิทยุที่ถูกส่งมาผ่านผิวหนังศีรษะเรา เปลี่ยนกลับเป็นสัญญาณไฟฟ้า แล้วส่งไปตามขั้วไฟฟ้าที่จะถูกสอดเข้าไปในอวัยวะรับเสียงในหูชั้นใน เพื่อไปกระตุ้นเส้นประสาทการได้ยิน ซึ่งอุปกรณ์ภายในทั้งหมดนี้ จะต้องมีการผ่าตัดบริเวณกระโหลกศีรษะ รวมถึงโพรงอากาศด้านหลังหูเพื่อฝังอุปกรณ์ไว้ อุปกรณ์ส่วนนี้จะอยู่ใต้แผล ถอดออกเองไม่ได้ยกเว้นต้องกลับมาผ่าตัดเพื่อเอาออกเท่านั้น

อนึ่งการผ่าตัดประสาทหูเทียมนั้นเป็นการผ่าตัดที่ปกติทำโดยแพทย์เฉพาะทางทางด้านโสตวิทยา (Otologist) โดยจะต้องมีการวางแผนร่วมกันกับนักโสตสัมผัส (Audiologist) ที่จะช่วยเหลือในการให้คำแนะนำกายภาพก่อนและหลังผ่าตัดเสร็จ เพื่อให้การได้ยินกลับมาเป็นปกติได้มากที่สุด และเป็นการผ่าตัดที่เสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ค่าประสาทหูเทียมในไทยนั้นราคาประมาณแปดแสนถึงล้านกว่าบาทขึ้นกับคุณสมบัติของเครื่อง (เครื่องสมัยใหม่อาจต่อกับมือถือได้โดยตรง หรือฟัง Bluetooth ได้เป็นต้น) ซึ่งเบิกได้เฉพาะสิทธิข้าราชการประมาณแปดแสนบาท ไม่รวมค่าผ่าตัดและการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงการ maintenance เครื่องต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ประสาทหูเทียมนับว่ามีประโยชน์มากในผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยิน ไม่ว่าจะตั้งแต่กำเนิด หรือมีการสูญเสียการได้ยินในภายหลังจากสาเหตุต่างๆ เช่น อุบัติเหตุทางศีรษะ ประสาทหูเสื่อมตามวัย สูญเสียประสาทการได้ยินโดยฉับพลัน หรือติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมองเป็นต้น ถือเป็นนวัตกรรมที่ทำให้หลายคนกลับมาได้ยินเสียงอีกครั้ง

แน่นอนว่าทันทีที่ภาพยนตร์ออกมา กลุ่ม American Cochlear Alliance (ACI) นำโดยประธานของพันธมิตร Donna Sorkin ผู้ซึ่งพิการทางการได้ยินและปัจจุบันได้ใช้ประสาทหูเทียมด้วยตัวเองอยู่ ก็ได้ออกมาตอบโต้แสดงความกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะตามมาจากที่หนังได้นำเสนอแง่มุมอันไม่เป็นจริง รวมถึงได้มีการจัดรายการวิทยุร่วมกันกับคณาจารย์แพทย์ทางด้านโสตประสาทและการได้ยินจาก New York University, Mayo Clinic, และ University of Minnesota เพื่อนำเสนอถึงความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นหลักๆ อันผู้เขียนรวบรวมเขียนเป็นประเด็นไว้ดังนี้

1) การทำงานในที่เสียงดัง (อาทิเช่นแบบพระเอกในหนังที่เป็นมือกลอง) อาจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “ภาวะประสาทหูเสื่อมจากเสียง” (Noise Induced Hearing Loss – NIHL) ซึ่งมักค่อยเป็นค่อยไป และมักจะสามารถกลับมาเป็นปกติได้ถ้าหยุดสัมผัสต่อเสียงกระตุ้น ไม่ใช่ดับฉับพลันแบบในหนัง เป็นคนละโรคกัน

2) เมื่อพระเอกมาพบเภสัชเพื่อซื้อยา โดยปกติคุณเภสัชจะทราบอยู่แล้วว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางการได้ยิน ต้องส่งตัวต่อเพื่อพบแพทย์เพื่อรีบหาสาเหตุและทำการรักษา ไม่ใช่ส่งพบนักตรวจการได้ยินซึ่งแนะนำการรักษาโดยการผ่าตัดไปเลยไม่ส่งพบแพทย์

3) การผ่าตัด CI จะต้องมีการให้คำปรึกษาวิธีการเตรียมตัวผ่าตัดอย่างละเอียด รวมถึงการลองใช้เครื่องช่วยฟังก่อนอย่างน้อยเป็นระยะเวลาสัปดาห์ ไม่ใช่รวดเร็วแบบในหนัง ซึ่งระหว่างนี้จะมีการพูดคุยถึงแนวโน้มความเป็นไปของโรค และปรับความคาดหวังของผู้ป่วยให้เหมาะสมก่อนจะผ่าตัดอยู่แล้ว

4) การผ่าตัด CI ในสหรัฐอเมริกาสามารถเบิกได้ผ่านกองทุนประกันเกือบทุกกองทุน ไม่จำเป็นต้องขายรถขายบ้านไปจำนำแบบในหนัง (อนึ่งในไทยยังได้แค่สิทธิ์การรักษาข้าราชการที่เบิกค่าเครื่องได้บางส่วนดังที่กล่าวข้างต้น ไม่ครอบคลุมสิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสามสิบบาทรักษาทุกโรค และสิทธิ์ประกันสังคม)

5) แผลผ่าตัดมักจะเล็กกว่าในหนังมาก รวมถึงหลังการผ่าตัดก็ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเดือนในการฟื้นการได้ยิน และมีนักกายภาพการได้ยินหลังจากเปิดเครื่องเช่นกัน ไม่ใช่ได้ยินเลย

6) ทางทีมเสวนาตั้งข้อสังเกตให้ว่าทางทีมผู้จัดทำภาพยนตร์ใช้เวลานานมากและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินมาได้ละเอียดมาก ไม่มีทางที่จะหลุดรายละเอียดเล็กน้อยเหล่านี้ไปได้ รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดที่เป็นปมใหญ่ของหนังด้วย

7) อย่างไรก็ตามทางทีมเสวนาก็ยังชื่นชมที่ Riz Ahmen สามารถแสดงให้เห็นถึงความหงุดหงิดสิ้นหวัง และอารมณ์ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักแสดงออกมาเมื่อสูญเสียการได้ยิน รวมถึงอาการที่เป็นได้สมจริงมาก

สุดท้ายประเด็นที่ทางทีมเสวนาได้คุยถึง ก็คือวัฒนธรรมการพิการทางการได้ยิน (Deaf culture) ที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจพอสมควร ผู้เขียนขออนุญาตอธิบายเพิ่มเติมไว้ตรงนี้

ในขณะที่สังคมปัจจุบันก้าวไปสู่การรักษาเพื่อฟื้นฟูการได้ยิน การใช้เครื่องช่วยฟัง หรือการผ่าตัดประสาทหูเทียม อย่างไรตามยังคงมีชนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่าสมาคมผู้พิการทางการได้ยินแห่งชาติ (The National Association for the Deaf – NAD) ซึ่งมีความเชื่อใน Deaf culture กล่าวคือ ผู้ที่เกิดมาหูหนวก ไม่ได้รู้สึกว่าหูหนวกคือความพิการ แต่เป็นเพียงอัตลักษณ์อย่างหนึ่งเท่านั้น พวกเขาชอบที่เกิดมาแบบนี้ อยากจะหูหนวก และภูมิใจที่เกิดมาหูหนวก รวมไปถึงการกำจัดภาวะนี้ อันได้แก่การทำให้พวกเขากลับมาได้ยินใหม่เป็นความพยายามลบล้างการมีตัวตน (identity) หรือกระทั่งถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ในรูปแบบหนึ่งด้วย

Deaf culture ส่วนมากจึงใช้การสื่อสารโดยผ่านภาษามือ (American Sign Language – ASL) ซึ่งถือเป็นภาษาประจำชนชาติ ในขณะการที่เด็กที่เกิดใหม่แล้วหูหนวก เขียนหรือพยายามอ่านภาษาอังกฤษนั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมชาติ รวมถึงการพยายามทำให้ได้ยินขึ้นมาเป็นการกำจัดสิทธิ์ของความพิการที่พวกเขามีมาตั้งแต่กำเนิดออกไปด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตามกลุ่มชนเหล่านี้ก็มักจะได้รับการโจมตีว่าแม้พวกเขาจะถือว่าการบกพร่องทางการได้ยินนั้นไม่ถือเป็นความพิการ แต่ก็รับการสนับสนุนจากมูลนิธิที่ดูแลกลุ่มชนพิการเป็นจำนวนเงินหลายล้านดอลลาร์ และข้อโต้งแย้งว่า การที่ปัจจุบันนั้นมีการค้นพบ CI แล้วจะทำให้การที่ไม่ยอมรักษา ถือว่าเป็นการเลือกที่จะพิการเพื่อรับผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ หรือไม่

หนึ่งในสิ่งที่ Deaf Culturalist ยืนยันอย่างหนักแน่นเสมออีกหนึ่งเรื่องคือการที่พ่อแม่เด็กไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจในการทำให้บุตรของตนกลับมาได้ยินอีกครั้ง บางคนถึงกับโจมตี CI ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการทารุณกรรมเด็ก (Child Abuse) ซึ่งก็ได้รับการโต้ตอบอย่างเผ็ดร้อนจากกลุ่มบุคลากรทางสาธารณสุขที่กล่าวว่า แนวคิดนี้ขัดแย้งในตัวมันเอง อาทิเช่นการที่ไม่ถือว่าตัวเองพิการแต่รับผลประโยชน์จากความพิการ หรือการบอกว่า CI ใช้งานไม่ได้จริง แต่ก็อ้างว่ามันได้ผลมากจนถือเป็นการล้มล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงอ้างถึงเจตจำนงเสรีและสิทธิส่วนบุคคลเหนือผลประโยชน์สูงสุดของคนไข้ (ความยากลำบากหนึ่งของประเด็นทางศีลธรรมในเรื่องนี้จึงเกี่ยวข้องกับเวลาด้วย เนื่องจากเวลาในการผ่าตัดที่เหมาะสมในเด็กที่เกิดมาพิการ คือก่อนจะได้เรียนรู้ภาษา เพื่อที่จะสื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด การรอให้เด็กโตพอที่จะตัดสินใจเองได้ อาจทำให้ผลลัพธ์การได้ยินแย่ลง รวมถึงบางคนก็ไม่ใช้เครื่องและกลับไปใช้ภาษามืออยู่ดี ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการผ่าตัดแต่แรก)

กลับมาที่เสวนาทางวิทยุที่กล่าวถึง Sound of Metal กล่าวว่า แม้ปัจจุบัน NAD และ Deaf Culture ยังคงมีอยู่ แต่ก็ค่อนข้างเปิดกว้างมากขึ้นกว่าในสมัยเก่าแล้ว ทางทีมแพทย์กล่าวว่าก็เคยพบทั้งคนที่ใช้ CI แล้วก็ภาษามือไปด้วยได้อย่างมีประโยชน์ ดังนั้นพล็อตในหนังอันว่าด้วยการที่ออกจากสังคม Deaf culture มาเพื่อทำ CI และล้มเหลวต้องกลับไปใน Deaf community ในตอนจบ จึงเป็นการเอนเอียงไปทางการสนับสนุน Deaf culture แบบ extreme โดยการลดทอนคุณค่าของการผ่าตัด CI โดยชัดเจน ซึ่งแม้จะเป็นภาพยนตร์ที่อาจต้องมีการเพิ่มเติมหรือลดบางส่วนเพื่อให้ได้อรรถรสในการรับชม ก็อาจส่งผลเสียต่อคนที่ลังเลต่อการรักษาได้

หลังทาง ACI ได้ออกมาโจมตี ทางผู้กำกับ Darius Marder ก็ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ โดยแจ้งว่า

1) หนังไม่ได้มีเจตนาลดทอนคุณค่าของการทำ CI (แต่ก็แซะในบทสัมภาษณ์ต่อมาว่าเสียงที่ออกมาหลังผ่าตัดจริงๆ นั้นแย่กว่าในหนังซะอีกนะ จากการที่เขาสัมภาษณ์มา)

2) หนังไม่สามารถเล่าถึงจุดทุกจุดได้ เนื่องจากมันไม่ใช่สารคดี ดังนั้นสิ่งที่เราไม่เห็นก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่เกิดขึ้น อย่างเช่นอยู่ดีๆ ก็ได้ผ่าตัด ไม่ได้หมายความในบริบทของหนังว่า ไม่มีการปรึกษากับแพทย์มาก่อนหน้านั้น

3) แต่ในส่วนบางส่วนเนื่องจากผู้กำกับได้รับข้อมูลมาตอนที่เขียนบทว่าการผ่าตัดไม่ครอบคลุมในประกัน แต่ต่อมาก็พบว่าเบิกได้ รวมถึงความเห็นเรื่องนี้ก็ขัดกันไปมา มองกลับไปก็ทำให้รู้สึกผิดอยู่เหมือนกัน

4) หนังไม่ได้สนับสนุน Deaf community หากแต่เป็นการนำเสนอถึงการรับมือกับการโศกเศร้าหลังการสูญเสีย ซึ่งน่าจะเป็นหลักการที่ทุกคนเข้าถึงและรู้สึกเข้าใจมันได้ ความเงียบตอนจบจึงไม่ได้เป็นการบอกว่า ถอดเครื่องแล้วดีกว่า แต่เป็นจังหวะชีวิตที่ทุกคนจะหยุดพักสงบนิ่งเพื่อพบกับความสงบภายในตัวท่ามกลางความว้าวุ่นมากกว่า

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน มุมของผู้ผลิตสื่อภาพยนตร์ หรือมุมของคนดูและกลุ่มผู้โดนพาดพิง ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย บทถกเถียงกันเรื่องถึงบทบาทหน้าที่ของหนังในการขับเคลื่อนส่งผลกระทบต่อสังคม เทียบกับการรับชมเพื่อประเด็นเฉพาะของผู้ส่งสาส์นรวมถึงความบันเทิง ก็ยังคงเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีหนังที่พูดถึงประเด็นอ่อนไหว เช่น ศาสนา การเมือง หรือการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งในขณะที่ข้อพิพาทดังกล่าวดูมีแนวโน้มไม่จบลงได้โดยง่าย และมีเหตุผลโต้แย้งที่ฟังขึ้นกันทั้งสองฝ่าย ก็คงขึ้นกับดุลยพินิจและวิจารณญาณของผู้ชมในการประเมินสื่อต่างๆ นั้นด้วยตัวเอง ไม่เพียงแค่หนัง แต่คงเป็นปรากฎการณ์เดียวกับสื่อทุกชนิดทั่วโลก

ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Sound of Metal เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ควรค่าแก่การรับชมอย่างยิ่ง ทั้งมีดีกรีเข้าชิงออสการ์ถึง 6 สาขาในปีที่ผ่านมา ได้แก่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม บทดั้งเดิมยอดเยี่ยม ตัดต่อยอดเยี่ยม และเสียงยอดเยี่ยม ซึ่งทางหนังเองได้ชนะถึงสองสาขาสุดท้ายที่กล่าวมา รวมถึงยังได้รับคำชมเรื่องการตัดต่อผสมเสียงและการแสดงอันเป็นเอกฉันท์จากทั้งทางฝั่งทีมแพทย์และ ACD เองอีกด้วย ปัจจุบัน Sound of Metal มีให้เข้าชมแล้วผ่าน Amazon Prime และสามารถซื้อหรือเช่าเพื่อรับชมได้ผ่าน iTunes Store


แหล่งอ้างอิง

https://cdn.ymaws.com/www.acialliance.org/resource/resmgr/ci2021/doctorradiotranscript.pdf

https://www.nidcd.nih.gov/about/nidcd-director-message/sound-spoken-language

https://www.acialliance.org/page/SoundofMetal

https://www.audiology-worldnews.com/awareness/4114-interview-with-sound-of-metal-director-darius-marder-this-film-doesn-t-have-an-opinion-about-cochlear-implants

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6913847/

Minor, L. B., & Poe, D. S. (2010). Glasscock-shambaugh’s surgery of the ear (6th ed.; A. J. Gulya, Ed.). Shelton, CT: PMPH-.

LATEST REVIEWS