Blog Page 23

Ticket Of No Return เหล้าจ๋า!

หญิงสาว เธองามเหมือนนางในวรรณคดี เหมือน มาดอนนา มีเดีย หรือ เบียทริซ เธอตีตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวมายัง เบอร์ลิน – เทเกล ไม่ได้ตั้งใจจะมาเที่ยวแม้เธอจะเตร่ไปตามที่ต่างๆ พร้อมเครื่องแต่งกายหรูหราอลังการราวกับหลุดมาจากงานแฟชั่นโชว์ แต่เธอมาเพื่อที่จะเมา! เป้าหมายของเธอไม่มีอะไรนอกจากความเมา!

ในแต่ละวัน เธอแต่งกายงดงาม แต่งหน้าทาปาก มุ่งหน้าสู่บาร์เหล้า ดื่มหมดแล้วก็เขวี้ยงแก้วทิ้ง ระหว่างทางไปบาร์ รถแทกซี่ที่คนขับขี้เมาก็บังเอิญไปชนหญิงจรจัดคนหนึ่ง เธอถูกชะตากับหญิงจรจัดคนนี้ และในที่สุดกลายเป็นคู่หูตะลุยบาร์เหล้ากัน ขณะเดียวกัน จากสนามบินไปจนถึงทุกที่ที่เธอไปเธอจะบังเอิญพบแก๊งค์สามป้านักวิทยาศาสตร์ในชุดสีเทาเรียบหรูโก้หร่าน พวกหล่อนน่าจะมาประชุมวิชาการอะไรสักอย่าง อยู่ดีก็ปรากฏนั่งอยู่โต๊ะข้างๆ นั่งรถคันติดกัน หรือเดินผ่านมาเห็น ซุบซิบนินทากันเองโดยยกสถิติมาประณามการดื่มเหล้า หรือไม่ก็หลักฐานทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ และหลักศาสนา

เรื่องมันก็มีเท่านี้เอง มีเท่านี้โดยแท้จริง ไม่มีปูมหลังเจ็บปวดของตัวละคร ไม่มีความขัดแย้งเพื่อจะเรียนรู้ คลี่คลาย และเติบโต ไม่มีฉากผจญภัยไล่ล่า ฉากอีโรติควาบหวิว หรือฉากสนทนาอุดมปัญญา (ตัวละครหลักที่ไม่รู้ชื่อนั้น นางไม่พูดเลยตลอดทั้งเรื่องเสียด้วยซ้ำ)

แล้วมันมีอะไร มันมีเพียงฉากหลังของเมืองเบอร์ลินในปี 1979 หญิงสาวสวยสง่าในชุดแฟชั่นที่เอาจริงๆ คงไม่มีใครกล้าใส่เดินถนน เธอโพสท์ท่า เธอดื่มเหล้า เธอเดินเมา เธอสวย!

หนังจึงเป็นเหมือนภาพเขียน เหมือนฉากหนึ่งในละครเวทีที่คนจะออกมาเมา เหมือนโชว์ในละครสัตว์ เหมือนแฟชั่นโชว์ที่เมืองทั้งเมืองคือรันเวย์ และเหมือนการต่อต้านอย่างเต็มรูปแบบ ต่อต้านอะไร ก็ภาพยนตร์น่ะสิ!

Ulrike Ottinger เป็นผู้กำกับหญิงไม่กี่คนที่ถูกนับอยู่ในคนทำหนังรุ่น New German Cinema กลุ่มคนทำหนังเยอรมันรุ่นใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจาก French New Wave คนดังๆ ก็อย่างเช่น Alexander Kluge, Wim Wenders , Werner Herzog หรือ Reiner Werner Fassbinder

New German Cinema มาพร้อมกับคำประกาศว่าหนังเยอรมันยุคเก่าตายแล้ว พวกเขาท้าทายทำลายภาษาหนังแบบดั้งเดิม ลบล้างโลกก่อนสงคราม สั่นคลอนฐานคิดของผู้คนที่เพิ่งฟื้นตื่นขึ้นมาจากการหลับใหลหลังการจบสิ้นของฮิตเลอร์ สถาปนาภาษา เรื่องเล่า เทคนิคของคนรุ่นใหม่ในขณะนั้น ทั้งความหยิบจับเอาประวัติศาสตร์มาวิพากษ์อย่างคมคายและบ้าบอของ Alexander Kluge ความเวิ้งว้าง การสูญเสียตัวตนและการคลั่งอเมริกาของ Wim Wenders ความพยายามทะลุขีดจำกัดความบ้าบิ่นของมนุษย์อย่าง Werner Herzog และความเปิดเปลือยตนเองในหนังของ Fassbinder

Ottinger ก็เช่นกัน เดินหน้าเข้าหาความผิดเพี้ยน ตัวประหลาด ความเป็นเกย์ (ตัวเธอเป็นเลสเบี้ยน) หนังของเธอคือมหกรรมของการเฉลิมฉลองให้กับตัวประหลาด คนพิการ คนแบบที่ในยุคสมัยหนึ่งคือคนที่จะถูกจับไปขังแบบสวนสัตว์มนุษย์ในคณะละครสัตว์ Ottinger เชิดชูตัวละครเหล่านี้ หนังของเธอคือบรรดาคนชายขอบของชายขอบ แต่งตัวแต่งหน้าบ้าคลั่งโดดเด่นและงดงาม ไม่มีพื้นที่ของนักแสดงสวยหล่อ ทุกคนกลายเป็นตัวประหลาดในหนังของเธอ มีนักวิชาการคนหนึ่งในคำจัดความหนังของเธอว่าเป็น ‘การปฏิเสธหรือล้อเลียนขนบของหนังอาร์ต และการค้นหาหนทางใหม่การสร้างความสุขสมทางสายตา สร้างพื้นที่ยืนอันหลากหลายให้กับผู้ชมที่มักถูกละเลยหรือเบียดขับจากความเป็นภาพยนตร์’

หนังของเธอคือเศษเสี้ยวแตกหักของเรื่องเล่าที่ลดรูปเหลือเพียงฉากยาวๆ ฉากๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นที่จริง แต่เต็มไปด้วยความเหนือจริง ทั้งลีลาท่าทางของนักแสดง เครื่องทรงต่างๆ ที่จัดเต็มเหนือมนุษย์ และตำแหน่งแห่งที่ขององค์ประกอบภาพ

กล่าวให้ง่าย หนังของเธอคือเศษเสี้ยวแตกหักของเรื่องเล่าที่ลดรูปเหลือเพียงฉากยาวๆ ฉากๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นที่จริง แต่เต็มไปด้วยความเหนือจริง ทั้งลีลาท่าทางของนักแสดง (Tabea Blumenschein นักแสดงคู่บุญของเธอ เป็นทั้งนักแสดง และคนออกแบบเครื่องแต่งกายในเรื่อง) เครื่องทรงต่างๆ ที่จัดเต็มเหนือมนุษย์ และตำแหน่งแห่งที่ขององค์ประกอบภาพ ที่ใช้ทั้งไฟสปอตไลท์ การบังกล้อง เคลื่อนกล้องที่วิจิตรพิสดาร กล่าวให้ง่าย การดูหนังของเธอเหมือนการชมภาพเขียนเหนือจริงที่เคลื่อนไหวได้ หรือไม่ก็การไปดูละครสัตว์

Ticket of No Return อาจจะแบ่งตัวเองได้เป็นสามช่วง คือช่วงต้นที่หญิงสาวไร้นามเดินทางมายังเบอร์ลิน ฉากยาวๆว่าด้วยการดื่มอย่างวิลิศมาหราของเจ้าหล่อน ทั้งการเขวี้ยงแก้วลงพื้นหลังดื่มจบ การดื่มจนพังพาบและถูกหิ้วออกมานอกร้าน การลากหญิงจรจัดไปร่วมดื่มอย่างบ้าคลั่ง พาไปที่โรงแรม เพื่อดื่มกันต่อ และการตื่นมาพบว่าถูกถ่ายรูปไปลงข่าวว่า ‘นางรวยขี้เหล้า’ ซึ่งเธอก็ไม่ได้โกรธที่โดนลงข่าวอย่างนั้น แต่เธอโกรธมากๆ ที่รูปออกมาไม่สวย! ราวกับว่านี่คือองก์ของความรื่นรมย์ของการดื่มเหล้า เต็มไปด้วยฉากพิสดารบ้าคลั่งที่อธิบายไปก็เท่านั้น เช่นการที่เธอไปนั่งดื่มเหล้ากับชายแปลกหน้า (รับบทโดย Eddie Constantine พระเอก Alphaville ของ Godard) แล้วปัง! เขาโดนยิงตาย หรือเดินทะลุไปในงานเลี้ยงไส้กรอกกับผักดองเพื่อขโมยเบียร์มากินต่อหน้าแขกหน้าตาเฉย

องก์สองเริ่มขึ้นเมื่อคนแคระชราหญิงแต่ชาย (ตัวละครที่เป็นสเมือนกิมมิคในหนังหลายเรื่องของ Ottinger) ที่เธอเจอตรงนั้นตรงนี้ตลอดเวลาได้เข้ามาเป็นผู้นำทางเธอ เริ่มจากการพบเธอที่นั่งในสวนสาธารณะขณะกล้องตัดซูมเข้ามาในดวงตาของเธออย่างกระโชกโฮกฮาก ในองก์นี้เธอเปลี่ยนจาก นางรวยขี้เหล้าปัจเจกบุคคลไปสู่ผู้หญิงขี้เมาที่จะเป็นใครก็ได้ ตั้งแต่การไปรับบทเลขานุการิณีที่วันๆ เอาแต่ดื่มจนโดนตะเพิดไล่ไปจากที่ทำงาน ไปเป็นนักแสดงละครเวทีคลาสสิคที่เมาขึ้นไปบนเวที หรือไปเข้าแกงค์กับนักแสดงละครสัตว์เดินไต่ลวดบนทุ่งโล่ง ไปเป็นนักร้องที่ร้องเพลงทำ MV ด้วยการยืนบนบันไดวนแล้วร้องเพลงสรรเสริญเบอร์ลินกับเครื่องดนตรีชนิดเดียวคือกลองชุด! หรือไปเป็นที่ปรึกษาทางการตลาดที่พยายามจะทำให้เครื่องดิ่มชนิดใหม่มาทดความสุขที่ไม่เคยมาถึงของผู้คน (นี่เป็นฉากเดียวที่เธอได้สนทนาโดยไม่ขยับปากกับสามป้า) เพราความสุขจับต้องไม่ได้ แต่เครื่องดื่มของเราจับต้องได้!

กล่าวให้ง่าย ในองก์นี้เธอเปลี่ยนจากคนจำเพาะเจาะจงไปเป็นใครก็ตามในสังคม ผู้หญิงใดก็ตามในสังคมที่ดื่มเหล้า เหล้าดูเหมือนจะขัดแย้งกับความเจริญก้าวหน้าของทุนนิยม เพราะการดื่มทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง คนเมาทำอะไรผิดพลาด ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และทำลายชีวิตตัวเองดังที่สามป้าซึ่งเป็นเสมือนศีลธรรมและวิทยาศาสตร์ล่องหนที่มาคอยกำกับ สอดแนม แอบฟัง คอมเมนต์ผู้คนตลอดเวลา ทุนนิยมรังเกียจความเมา (สังคมนิยมก็รังเกียจแหละ แต่ในอีกความหมายหนึ่ง) แต่ทุนนิยมก็ขายความเมาด้วย จุดสูงสุดจึงเป็นการพบกันของป้าและหญิงสาวที่กำลังพูดถึงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่เป็นความสุขที่ซื้อหาได้! เพราะว่าความเอซอติกนั้นห่างไกล แต่เครื่องดื่มนี่อยู่ใกล้นิดเดียว

ในองก์นี้เธอเปลี่ยนจากคนจำเพาะเจาะจงไปเป็นใครก็ตามในสังคม ผู้หญิงใดก็ตามในสังคมที่ดื่มเหล้า เหล้าดูเหมือนจะขัดแย้งกับความเจริญก้าวหน้าของทุนนิยม เพราะการดื่มทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

องก์สุดท้ายหวนคืนสู่ความเมาในฐานะความเมาที่แท้ ในองก์นี้ความเมาได้ขยับเข้าสู่ความไม่รู้สติอีกต่อไป หญิงสาวกลับมาเป็นคนเดิม เธอเมาในเรือเฟอร์รี่ทรงหางวาฬถูกโยนขึ้นมาบนบก แล้วเมาต่อไปเจอหญิงจรจัดที่เมาจนตามชายแปลกหน้าไป แต่เธอก็ยังคงดื่มต่อ ดื่มจนเหมือนวันสิ้นโลก สามป้ายังคงไล่ตามบริภาษเธอไปเรื่อยๆ และเธอยังคง ‘เมาเหมียนหมา’ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวใดๆ

ในช่วงสุดท้ายของหนัง Ottinger ปรากฏกายขึ้นมาเองพร้อมหนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นบทประพันธ์โบราณพรรณนาความงามของการดื่ม หนังสือเล่มนี้ถูกส่งเวียนไปเรื่อยจากตัวเธอเองสู่กระเทยสาวที่โดนถีบลงจากรถ มายังหญิงสาว สาวเฝ้าห้องน้ำสาธารณะ นักเดินทางและเซลแมนขายหนังสือ ทุกคนอ่านคนละนิดละหน่อยพรรณนาความงดงามของการดื่มเหล้า ขณะที่หญิงสาวผู้มุ่งมั่นเมากลิ้งไปตามถนน

ดูเหมือนหนังเชิดชูอิสระในความเมา ท้าทายกรอบคิดศีลธรรมสมราคาหนังในยุคเสรีภาพจากยุค 70’s หนังไม่แยแสคุณค่าความหมายทั้งศีลธรรมและศิลปะ มุ่งตั้งคำถามว่ามนุษย์มีเสรีภาพอยู่จริงหรือเป็นเพียงแค่อุปโลกน์ของโลกเสรีนิยมใหม่ คำถามที่ผู้คนในตอนนี้อาจจะไม่ได้ถามอีกแล้ว เผลอๆ จะย้อนกลับมาถามคนตั้งคำถามในฐานที่ไม่เป็นพลเมืองที่ดีของรัฐ หนังทำให้นึกถึงภาพยนตร์ร่วมยุคที่ตั้งคำถามด้วยจิตวิญญาณแบบ Free Spirit อย่าง Vagabond (สาวเร่ร่อนที่ปฏิเสธขนบมาตรฐานของการมีบ้าน มีงาน มีครอบครัวที่ถูกกำหนดโดยสังคมสมัยใหม่) ของ Agnes Varda หรือ Messidor (สองสาวที่ประกอบอาชญากรรมโดยไม่ได้ตั้งใจแล้วหนีไปเรื่อยๆ โดยไม่ถูกจับ) ของ Alain Tanner มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธคุณค่าของสังคมหรือไม่ แล้วทำไมสังคมจึงบีบบังคับและเบียดขับมนุษย์นอกกรอบที่สังคมวางไว้ให้เป็นคนที่สมควรกำจัดได้ง่ายดายเหลือเกิน ทิ้งให้พวกเขาและเธอเดินโดดเดี่ยวไปบนกระจกที่แตกละเอียดทุกก้าวยางที่เหยียบย่ำลงไป เพียงเพราะเป็นมนุษย์นอกมาตรฐานเท่านั้นเอง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ Ulrike Ottinger ผู้กำกับคนนอกของแท้ได้ตั้งคำถามเอาไว้อย่างบ้าบอคอแตกในทุกมิติ


หมายเหตุ :

Ulrike Ottinger เคยมาฉายหนังทั้งหมดของเธอที่กรุงเทพในเทศกาล World Film Festival of Bangkok ในปี 2005 ครั้งนั้นมีการฉายหนังของเธอทุกเรื่อง แต่ฟิล์มที่ได้มากลับไม่มีซับไตเติ้ล อย่างไรก็ดี ผู้ชมก็สนุกสนานกับหนังของเธอสุดฤทธิ์

7 หนังเกาหลีคลาสสิค คัดสรรโดย บอง จุน โฮ

คงจะไม่เป็นคำพูดที่เกินจริงไปนักถ้าเราจะบอกว่า บอง จุน โฮ เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จที่สุดในปีที่แล้วและ Parasite ยังคงเป็นหนังที่ถูกพูดถึงจนกระทั่งตอนนี้ ตัวหนังถูกอ้างถึงควบคู่ไปกับสถานการณ์มากมายและมันคงจะเป็นหนังคลาสสิคเมื่อเวลาผ่านไป

อีกหนึ่งสิ่งที่ควรกล่าวถึงบองคือเขาเป็นนักดูหนังตัวยง และเมื่อเร็วๆ นี้ Korean Film Archive ได้ลงเพลยลิสต์ใหม่ในชื่อ “หนังโปรดเจ็ดเรื่องของบองจุนโฮ” ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เกิดจากการแนะนำหนังเกาหลีจำนวน 10 เรื่องในงาน Lumiere Film Festival ซึ่งเขาคัดสรรด้วยตัวเอง หนังทั้งหมดดูฟรีพร้อมซับไตเติ้ลอังกฤษ มีบางเรื่องถูกบูรณะแล้ว แต่เรื่องที่ไม่ได้บูรณะก็ยังมีคุณภาพที่ดูได้ ไม่ได้มีอะไรขี้เหร่

อย่างที่เราเคยแนะนำไปในบทความก่อนๆ ในแชนแนลยังมีหนังที่เปิดให้ชมกันฟรีๆ ในจำนวนมหาศาล ซึ่งเราน่าจะมีโอกาสได้แนะนำถึงในโอกาสต่อไปแน่นอน

(เข้าไปดูเพลสลิสต์ได้ในวิดีโอข้างล่าง)


A Short Love Affair (1990, Jang Sun-woo)

คู่สามีภรรยาเดินทางมายังต่างจังหวัดเพื่อหาโอกาสที่ดีกว่าในหน้าที่การงาน ฝ่ายสามีเป็นผู้ชายชอบเอา เขามีอาชีพเป็นช่างเย็บผ้า ส่วนภรรยาเป็นผู้หญิงอารมณ์ร้อนที่ก็ไม่รู้ไปเรียนวิชาต่อสู้มาจากไหนถึงสามารถต่อยตีสามีจนเขากลัวได้ตลอดเวลายามที่เขากลับบ้านดึก เรื่องเกิดขึ้นเมื่อสามีไปพบกับหญิงสาวที่ทำงานอยู่ในโรงงานเดียวกันและแอบคบชู้ ทั้งคู่แอบนัดเจอกันในโรงเพาะชำ แอบนั่งรถไฟสายดึกเพื่อเข้าไปในโรงแรมต่างเมือง เรื่องทั้งหมดดำเนินไปจนกระทั่งฝ่ายภรรยาและสามีของแต่ละฝ่ายรู้ความจริง

หนังเรื่องที่สามของจางซึงอูเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังเปิดยุค 90 ที่เป็นช่วงเวลาเปิดกว้างของวงการหนังเกาหลีเมื่อเทียบการยุค 80 ที่ผ่านมา หนังรักต้องห้ามที่ดูเหมือนจะธรรมดาเรื่องนี้ โดดเด่นด้วยท่าทีการเล่ากึ่งจริงจังกึ่งเสียดสี หนังแสดงให้เห็นสภาพสังคมและเศรษฐกิจในยุค 90 ของเกาหลี เริ่มต้นด้วยเรื่องของชู้รัก ก่อนที่ค่อยๆ ขยับขยายเล่าเรื่องราวของคนที่รายล้อมพวกเขาในท่าทีเข้าอกเข้าใจและมองตัวละครเป็นมนุษย์อย่างงดงาม

ดูหนังเต็มเรื่องที่ : 


Declaration of Idiot (1983, Lee Jang-ho)

“ผมจะไม่อ้างว่าตัวเองได้สร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา ระบบการเผด็จการตอนนั้นต่างหากที่ทำให้มันเกิดขึ้น” ลีจังโฮ ผู้กำกับ

ขอทานผู้หนึ่งพบกับสาวสวยที่เขาคิดว่าเป็นเด็กนักศึกษา เขาติดตามเธอไปกับคนขับรถแท็กซี่ผู้หนึ่ง ก่อนที่จะพบว่าเธอเป็นโสเภณีที่อาศัยอยู่ในสลัมใจกลางโซล เรื่องราวความสัมพันธ์ของคนสามคนได้เริ่มต้นขึ้น

หนังนำเสนอปัญหาเศรษฐกิจของเกาหลีในช่วง 80 ด้วยท่าทีเป็นหนังตลกทดลองผสมกับหนังเงียบ ใช้เสียงประกอบประหนึ่งเหมือนเราอยู่ในวิดีโอเกมส์อาร์เคด กับบทบรรยายของเด็กชายคนหนึ่งที่เล่าเรื่องทั้งหมดราวกับมันเป็นนิทานก่อนนอน มีเรื่องเล่าคือ ก่อนหน้าที่จะสร้างหนังเรื่องนี้ผู้กำกับลีจังโฮ เคยสร้างหนัง Social Realism เต็มสูบมาก่อนสองสามเรื่อง บทหนังเรื่องต่อไปของเขา (ซึ่งก็คือเรื่องนี้) ถูกเซ็นเซอร์โดยรัฐบาล และแม้ว่าเขาจะแก้จนรัฐพอใจแต่ก็พบว่า เขาจำเป็นที่จะต้องแก้ชื่อเรื่อง แก้นู่น แก้นี่สารพัดอย่าง ผู้กำกับหนุ่มโกรธเกรี้ยวต่อระบบและอยากที่จะหยุดทำหนัง เขาใส่ทุกอย่างที่เขาคิดว่ามันเป็นส่วนประกอบของ “หนังชั้นเลว” ลงไป แต่ก็นั่นแหละ Declaration of Idiot กลายเป็นหนังคลาสสิคที่กลายเป็นนิยามของ “Postmodern Korean Cinema” ในเวลาต่อมา

ดูหนังเต็มเรื่องที่ : 


Gagman (1988, Lee Myung-se)

นักแสดงตลกผู้ทำงานในบาร์กระจอกแห่งหนึ่งมีความฝันอยากเป็นผู้กำกับหนัง เขามีเพื่อนสนิทเป็นช่างตัดผมที่เคยสัญญาว่าจะให้เขาเป็นนักแสดงในหนังที่เขาทำ วันหนึ่งเขาพบกับหญิงผู้หนึ่งในโรงหนังโดยบังเอิญก่อนที่จะพบว่าเธอกำลังหาที่หลบซ่อนจากการตามล่าของมาเฟียอยู่ ทั้งสามตัดสินใจร่วมกันสร้างหนังโดยหาเงินทุนด้วยการปล้นธนาคาร! และเรื่องวุ่นวายทั้งหมดก็เริ่มต้นขึ้น

หนังตลกเรื่องนี้ถูกพูดถึงในฐานะ หนึ่งในตัวอย่างของ “New Korean Cinema” ตัวละครถูกนำเสนอเหมือนตัวการ์ตูน แปลกแยกต่อสังคม ผู้ชายที่อ่อนแอและล้มเหลวในการใช้ชีวิต หนังเรื่องนี้นำเสนอความอัดอั้นตันใจของวัยรุ่นในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

ดูหนังเต็มเรื่องที่ : 


Insect Woman (1972, Kim Ki-young)

“รู้ไหมว่ามีแมลงตัวเมียที่กินตัวผู้เข้าไปหลังจากมันร่วมเพศกันเสร็จ เหมือนคนเลย ผู้หญิงก็กินผู้ชายเหมือนกัน นี่แหละสาเหตุที่ผู้ชายอายุขัยสั้นกว่าผู้หญิง!”

เด็กนักเรียนหญิงผู้หนึ่งถูกข่มขืนโดยอาจารย์ชายผู้กำลังมีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เธอเรียกร้องให้เขารับเธอเป็นเมียน้อย คำขอได้รับการยินยอมจากเมียหลวง โดยมีข้อแม้ว่าเธอต้องรักษาอาการกามตายด้านของสามีให้หาย ศึกชิงความเป็นนางพญาแมลงได้เริ่มต้นขึ้น

เราคงไม่สามารถพูดถึงหนังเกาหลีคลาสสิคได้โดยไม่พูดถึงคิมคียัง เจ้าของผลงาน The Housemaid อันลือลั่น ในขณะที่ The Housemaid มีเซนซ์ในการ “บุกรุกและคุกคาม” จากสาวใช้ และฝั่งเจ้านายไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากยอมทำตามเกมของเธอ มาในเรื่องนี้ ตัวละครเมียหลวงกลายเป็นผู้คุมเกมแทนที่จะเป็นผู้ตามแบบเรื่องก่อน เมื่อเวลาผ่านไปเหล่าชนชั้นกลางถูกปลุกสัญชาตญาณดิบ บ้านหรูใจกลางเมืองก็มีสภาพไม่ต่างจากป่าดงดิบไปโดยปริยาย และในขณะเดียวกันตัวหนังก็เริ่มเบนเข็มไปสู่ความเหนือจริงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

บองจุนโฮได้รับแรงบันดาลใจจากคิมคียังอย่างมหาศาลเช่นเดียวกับผู้กำกับเกาหลีใต้หลายคน Insect Woman เป็นเรื่องที่ดีในการจะทำความรู้จักกับปรมาจารย์ภาพยนตร์จากเกาหลีผู้นี้

ดูหนังเต็มเรื่องที่ :


People in the Slum (1982, Bae Chang-ho)

หญิงลูกติดผู้หนึ่งเปิดร้านโชห่วยเล็กๆ ในสลัมกับสามีใหม่ผู้ชอบใช้ความรุนแรง บางครั้งเธอถูกเรียกว่า “ถุงมือดำ” เพราะเธอชอบใส่ถุงมือสีดำที่มือข้างขวาโดยไม่มีใครทราบสาเหตุ ลูกชายที่ไม่รู้ว่าพ่อตัวเองเป็นใครกำลังเติบโตและติดนิสัยชอบขโมยของจนถูกจับได้อยู่บ่อยๆ วันหนึ่งชายคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นและอดีตทั้งหมดก็เริ่มเปิดเผยตัวมันออกมา

สร้างจากนิยายขายดีในตอนนั้นของ อีดงชอล เช่นเดียวกับหนังหลายเรื่องในตอนนั้น บทถูกตีกลับโดยรัฐบาลห้าครั้ง และโดนสั่งให้แก้ไขกว่าหกสิบจุด ไม่ว่าจะเป็นชื่อเรื่อง ท่าทีของตำรวจที่มีต่อผู้คนในสลัม รวมไปถึงฉากตบตีระหว่างสามีกับภรรยาที่รัฐไม่ต้องการให้สามีดึงผมภรรยาระหว่างการต่อสู้!!?? แต่อย่างไรก็ตามผู้กำกับ แบจางโฮ ตัดสินใจไม่แก้ไขตามที่รัฐบาลต้องการ ในจุดที่เขาเห็นว่ามันไม่สมเหตุสมผล เขามุ่งหน้าถ่ายทำเลยโดยไม่รอคำอนุมัติจากรัฐในแบบของเขา ในความยากลำบากและการต่อสู้ตั้งแต่เริ่มไปจนถึงจบ (เขาต้องตัดใหม่กว่าห้าสิบคัทส่งไปให้รัฐดูจนกว่าพวกเขาจะพอใจให้ฉาย) หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง และทำให้แบกลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับเกาหลีที่โด่งดังที่ในยุค 80

ดูหนังเต็มเรื่องที่ : 


Transgression (1974, Kim Ki-young)

ณ วัดบนภูเขาอันห่างไกล เด็กกำพร้าผู้หนึ่งได้รับการช่วยเหลือจากช่วงเวลาอดอยากระหว่างสงครามจนมาบวชเป็นพระฝึกหัดที่วัดแห่งนี้ เมื่อเวลาผ่านไปเขาได้พบกับแม่ชีที่อยู่ในวัดใกล้ๆ และผูกสัมพันธ์กับชีนางหนึ่งที่อายุไล่เลี่ยกัน ในขณะที่เจ้าอาวาสวัดกำลังจะตายจากไปและเหล่าพระกำลังวุ่นวายกับการเลือกว่าใครจะเป็นผู้สืบทอดอารามแห่งนี้ต่อไป

อีกหนึ่งงานจากคิมคียังที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก หนังเล่าเรื่องราวการเติบโตของพระวัยรุ่นผู้หนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างวัย การตื่นรู้เรื่องเพศของเด็กชายผู้หนึ่งที่ถูกกดทับเอาไว้จนระเบิดออกมา หนังเรื่องนี้ค่อนข้างจะผ่าเหล่าผ่ากอจากเรื่องอื่นๆ ของคิมคียังไปซะหน่อย แต่ร่องรอยและลายเซ็นต์ของคิมก็ยังคงอยู่อย่างชัดเจน และหนังที่พูดถึงพุทธศาสนาควบคู่ไปกับเซ็กซ์ก็ไม่ได้มีให้เห็นกันบ่อยๆ ความน่าสนใจอีกอย่างของมันคือ Trangression เป็นหนังที่พูดถึงพุทธศาสนาในเชิงปฎิบัติและหลักคำสอนอย่างจริงจัง มันเต็มไปด้วยข้อถกเถียงและคำถามใหญ่โต เล่าเรื่องด้วยความหนักแน่นและมั่นใจ ซึ่งก็น่าเสียดายที่มันไม่ถูกพูดถึงมากกว่านี้

ดูหนังเต็มเรื่องที่ :


Jagko (1980, Im Kwon-taek)

คล้ายกับในหลายๆ ประเทศในช่วงสงครามเย็น หนังต่อต้านคอมมิวนิสต์เคยเป็นหนังในกระแสหลักของเกาหลีในช่วงนั้น หนังฝ่ายซ้ายถูกจับตามองโดยรัฐบาล ในขณะนั้นผู้กำกับอิมควอนเทคลูกชายของนักเคลื่อนไหวฝั่งเกาหลีเหนือในช่วงสงครามเกาหลี จำเป็นที่จะต้องทำหนังต่อต้านคอมมิวนิสต์เพื่อป้องกันตัวเอง จนกระทั่งยุค 70 สถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายมากยิ่งขึ้น เขากลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่เป็นหัวแรงหลักในการทำหนังที่มองสถานการณ์ในอดีตในมุมมองใหม่ และสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา

Jagko เล่าเรื่องกว่าสามสิบปีของชายสองคนที่อยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองกัน คนหนึ่งเป็นตำรวจของฝั่งเกาหลีใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา อีกฝ่ายเป็นนักต่อสู้ฝั่งคอมมิวนิสต์ เรื่องราวของเขาทั้งสองเกี่ยวข้องกันด้วยสงคราม ตั้งแต่พวกเขายังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ทางการเมือง จนกระทั่งกลายเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ หนังเริ่มเรื่องจากการพบกันของทั้งสองในสถานพักฟื้นสำหรับคนชราที่กำลังจะตายและไร้ญาติมิตร ก่อนที่จะค่อยๆ ย้อนกลับไปเล่าเรื่องในอดีต ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งพยายามหลงเหลือทุกอย่างที่ผ่านพ้นมา อีกคนยังคงมีชีวิตเพื่อล้างแค้นมาตลอดสามสิบปี

หนังได้รับการฉายที่เบอร์ลินในโปรแกรมคลาสสิคเมื่อปี 2019

ดูหนังเต็มเรื่องที่ : 

พระนครรำลึก : หนังฟรีช่อง ‘พระนครฟิลม์’ ที่เราอยากให้ดู

เพราะ ‘พระนครฟิลม์’ ตัดสินใจยุติบทบาทในธุรกิจหนัง เหลือเพียงส่วนแบ่งจากยอดผู้เข้าชมในยูทูบช่อง ‘พระนครฟิลม์’ เป็นรายได้ช่องทางเดียว

ยูทูบช่อง ‘พระนครฟิลม์’ รวบรวมหนังไทยเต็มเรื่องของพระนครฟิลม์, อาร์เอสฟิล์ม, ซีเอ็มฟิล์ม และอีกมากมาย ทำให้ช่องนี้เป็นศูนย์รวมหนังไทยถูกลิขสิทธิ์ที่เปิดให้ดูฟรีแหล่งใหญ่ที่สุดในขณะนี้

แม้ในช่องจะมีหนังตัวทอป อย่างบุปผาราตรีภาคแรกของยุทธเลิศ สิปปภาค หรือหนังยุคต้นของยอร์ช ฤกษ์ชัย พวงเพชร อย่าง แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า หรือ โหดหน้าเหี่ยว ไปจนถึงหนังรักร่วมทุนไทยลาวของศักดิ์ชาย ดีนาน อย่าง สะบายดีหลวงพระบาง แต่ยังมีหนังอีกส่วนหนึ่งที่หลายเรื่องอาจจะเคยได้ยินชื่อบ้าง หลายเรื่องถูกมองข้ามเมื่อครั้งฉายโรง และบางเรื่องก็เป็นหนังวีซีดีที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้ดู

เราจึงรวบรวมหนังส่วนหนึ่งมาให้ตามไปดู ดังนี้


สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์ (ธนิตย์ จิตนุกูล, เสรี พงศ์นิธิ)

เมื่อ พ.ศ.2551 ครั้งที่หนังไทยในสตูดิโอสามารถฝากชีวิตไว้กับตลาดโฮมวิดีโอได้ ก็กำเนิดบริษัทหนังขึ้นมาใหม่ชื่อ ‘หนังสนุก’ มันเป็นการรวมตัวกันบองค่ายหนังไทยเล็กๆ ที่ผนึกกำลังกันอันได้แก่ เอจี เอ็นเตอร์เทนเมนท์, กันตนา, บ็อกออฟฟิศ และ พรีเมียมดิจิตอล พวกเขาผลิตหนังออกมาเรื่องแรกคือ ‘สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์’ เรื่องเดียวแล้วแยกย้ายกันไปเลย

หนังทำรายได้ไปไม่มากจนไม่สมศักดิ์ศรีการผนึกกำลังกันครั้งนั้นเท่าไหร่ แต่นี่เป็นหนังที่เราไม่อยากให้มองข้าม แม้หน้าตาจะคล้ายละครผีเฮฮาก่อนข่าวแต่เนื้อในนั้นแสบสันต์ กระทั่งเราเอากลับมาดูใหม่ตอนนี้ก็พบว่าความตลาดแตกของมันทำให้หนังอยู่เหรือกาลเวลา ส่วนเนื้อหากลับยิ่งเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเหลือเกิน

มันก็คือส่วนผสมของละครพล็อตคุณหญิงแม่ผัวกับลูกสะใภ้ชั้นต่ำที่ไม่คู่ควรกับการมาสืบทอดอำนาจในคฤหาสน์หลังโต บวกกับเรื่องราวของผีสาวผู้รอคอยผัวรักแบบ ‘นางนาก’ และความเกรดบีแบบหนังชุด ‘บ้านผีปอบ’ กลายเป็นการจิกกัดความเป็น ‘ชนชั้น’ ที่แสนเถิดเทิง

ภายในคฤหาสน์หลังนี้มีการแบ่งชนชั้นลดหลั่นกันลงมา ตั้งแต่คุณพ่อเจ้าของบ้านที่ป่วยสิ้นฤทธิ์ ไล่มาที่คุณหญิงแม่หนี้ท่วมหัวและจ้องจะขายบ้านใช้หนี้ ขยับมาที่ลูกชายลูกสาว เลื่อนมาที่หัวหน้าคนใช้ คนใช้คนสนิท คนใช้ที่ไม่สนิท แล้วยังมีคนใช้พิการ ดังนั้นการที่ครอบครัวนี้ต้อนรับลูกสะใภ้เข้ามาซึ่งจะทำลายและแทรกซึมไปทุกลำดับขั้นที่ว่ามาจึงเป็นความสั่นคลอนต้องกำจัดกลายเป็นผี และเมื่อถึงตอนนั้นก็กลับพลิกขั้วอำนาจหน้าตาเฉย

หนังขยายของเขตออกไปเมื่อบ้านหลังนี้เปิดรับคนนอกเข้ามา ก็ยิ่งทำให้เห็นความหลากหลายทางชั้นชั้นชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาบังปล่อยเงินกู้ ผู้แทนราษฎร กะหรี่ไฮโซ และอีกมากมาย แต่ไม่ว่าจะสูงศักดิ์หรือต่ำ ต้อยมาจากไหนก็ถูกกวาดมากองอยู่ในกระทะเดียวกันเมื่อพวกเขาเจอผี

สะใภ้ที่ปั่นป่วนระบบโครงสร้างอำนาจ กลับมาถืออำนาจอย่างแท้จริงในรูปของผี ‘สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์’ เลยกลายเป็นหนังที่สลายระบบชนชั้นที่บันเทิงเรื่องหนึ่ง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ต่อให้เรามองข้ามประเด็นที่ว่าทั้งหมดไป นี่ก็นับว่าเป็นงานโชว์ออฟของ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ เลยทีเดียว

– แนะนำโดย NK –

ดูหนังเต็มเรื่อง :


191 ½ มือปราบทราบแล้วป่วน (บุญส่ง นาคภู่)

บุญส่ง นาคภู่ ในปัจจุบันคือคนทำหนังเพื่อชีวิต กล่าวคือทำหนังด้วยต้นทุนแสนต่ำเพื่อบอกเล่าชีวิตคนตัวเล็กๆ ที่อยู่ชายขอบของสังคม หนังเขามักเข้าฉายอย่างเจียมตัว ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงกับหนังตลกเรื่องนี้ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนังของบุญส่งที่เข้าฉายในวงกว้างที่สุด (ทั่วประเทศ) ด้วยลีลาที่เอาใจตลาดสุดขีด มีกลิ่นอายของรายการ ‘คดีเด็ด’ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในปีที่มันออกฉาย (พ.ศ.2546) แต่ยังเป็นหนังที่เล่าเรื่องราวของคนชายขอบสู้ชีวิตภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่โบยตีคนตัวเล็กๆ อยู่เช่นเคย
หนังเดินตามขนบของหนังตลกคู่หูตำรวจแบบ Rush Hour แต่ปรุงแต่งให้คุ้นจริตของผู้ชมชาวไทย ว่าด้วยหมวดสุดหล่อผู้ตงฉินที่กำลังไฟแรงกับจ่าวัยใกล้เกษียณที่แสนกลัวเมียและกำลังหมดไฟ หนังอาศัยความเป็นหนังตลกตีเนียนวิพากษ์วิจารณ์การวงการตำรวจ การที่จ่ารู้เห็นการเปิดบ่อนทั้งคอยเป็นสายให้เมียนักพนันถือเป็นพื้นที่ให้บุญส่งเล่นตลกได้หลายตับ และตีแสกหน้าสังคมข้าราชการไทยสไตล์ได้อย่างแนบเนียน

ความสนุกของหนังเกิดขึ้นจากการที่คู่หูหมวดจ่าตระเวนไปเจอคดีชาวบ้านยิบย่อยเช่นผัวเมียทะเลาะกันยันลักเล็กขโมยน้อย ที่ก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยวิธีไกล่เกลี่ยด้วยบ้านๆ ไม่ได้ยิ่งใหญ่กู้โลกแบบหนังฮอลลีวูดอะไร นั่นทำให้เราได้เห็นความหลากหลายของคนชายขอบในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ แต่หนังให้น้ำหนักอย่างมีนัยยะกับพี่น้องจากแดนอีสาน คนพี่เป็นโจรกระจอกที่มาแสวงโชคในเมืองกรุง คนน้องมีปัญหาด้านพัฒนาการที่มาช่วยพี่ทำภารกิจ เป็นการผูกปมระดับเดียวกับคู่พี่น้องมิจฉาชีพใน Good Time ของพี่น้องซัฟดี้เลยทีเดียว

การที่บุญส่งให้น้ำหนักกับตัวละครพี่น้องคู่นี้แทบจะเทียบเท่ากับคู่หูตำรวจคนละขั้วนั้น เป็นการยืนยันว่าบุญส่งสนใจกับการสำรวจชีวิตที่ดิ้นรนหลังชนฝาของคนเล็กในเมืองใหญ่ที่ถูกกลั่นแกล้งจากโครงสร้างอันเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่ร่ำไป อันเป็นถ้อยความที่เข้าทางคนทำหนังนักสู้อย่างบุญส่งยิ่งนัก แต่เสริมแต่งด้วยจังหวะตลกโป๊งชึ่งอย่างที่เราไม่ได้เห็นในผลงานชิ้นไหนเลยตามประวัติการทำหนังของบุญส่งแน่นอน

– แนะนำโดย NK –

ดูหนังเต็มเรื่อง :


รินลณี ผีถ้วยแก้ว (ฉลวย ศรีรัตนา)

ผลงานการกำกับของ ฉลวย ศรีรัตนา ผู้กำกับที่เพิ่งเสียชีวิตจากปอดติดเชื้อ หลังล้มป่วยด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 4 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 รินลณี ผีถ้วยแก้ว (2004) เล่าเรื่องของปราง (อภิรดี ภวภูตานนท์) ผู้เลือกจะเก็บลูกสาวของตัวเองไว้หลังจากท้องไม่พร้อมกับครูใหญ่ผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงาน หลังจากเธอไปเที่ยวบ้านร้างซึ่งโครงสร้างอาคารคล้ายโรงสี เธอไปเล่นผีถ้วยแก้วกับเพื่อนอีกสามคน รินลณีคือชื่อที่ผีหญิงแก่ตั้งให้กับสูกสาวของเธอ ผีหญิงแก่ที่แฝงอยู่ในร่างของหญิงสาวจนเริ่มออกอาการเมื่อเธออายุได้ 7 ปี ในตอนแรกเหมือนว่าผีหญิงแก่จะเป็นแรงโต้กลับของขบวนการสตรีนิยมที่ต้องการล้างผลาญเพศชายที่เอารัดเอาเปรียบเพศหญิง รวมถึงเป็นขบถต่อสังคมชายเป็นใหญ่ แต่กลายเป็นว่าผีหญิงแก่ออกจะกลายเป็นวิญญาณที่สิงร่างคนหนุ่มสาวเพื่อฆ่าล้างคนหนุ่มสาวอีกที หนังสยองขวัญเล็กๆ เรื่องนี้ที่ดูเหมือนได้แรงบันดาลใจ The Exorcist (1973) Child’s Play (1988) Rosemary’s Baby (1968) และ A Nightmare on Elm Street (1984) ทำให้ตั้งคำถามไปไกลว่าหนังอเมริกันที่ได้แรงบันดาลใจเช่นกันได้แก่ It (2017) Hereditary (2018) และ The Conjuring (2013) ว่าขบวนการโต้กลับฝั่งอนุรักษ์นิยม อุดมการชายเป็นใหญ่ และอำนาจนิยม คณะปฏิวัติคือผีตัวเดิมในร่างใหม่ที่เราเองก็หนีไล่ไม่พ้นหรือไม่

– แนะนำโดย K –

ดูหนังเต็มเรื่อง :


34 24 36 สวยเด็ดอย่าบอกใคร (แก่นศักดิ์ ส. เพลินจิต)

อย่านึกว่าเป็นหนังนักมวยกำกับ เพราะนี่คือหนังวีซีดี (หมายถึงหนังที่ทำเพื่อส่งตรงลงแผ่นโดยไม่ได้เข้าฉายในโรง) ในตำนานของสันติ แต้พานิช คนทำสารคดีอีกคนที่ยังถูกพูดถึงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นี่เป็นหนังที่มีคนพูดถึงว่าเป็นหนังที่น่าตื่นเต้นในช่วงเวลานั้น แต่น้อยคนที่จะเคยดู

เรื่องราวคือเรื่องของแทกซี่ถูกหวย ตรงไปตรงมาตามนั้น ยอดเป็นคนขับแทกซี่ (รับบทโดยยิ่งยง ยอดบัวงาม) ที่อาศัยกับภรรยาสาวสวยอดีตนักร้องคาเฟ่ แสดงโดย อะไรดีบุ๋มก็ว่าดี ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ในแฟลตเล็กๆ ของบรรดาคนจนเมือง ภรรยาของเขาทุบตีด่าว่าเขาทุกวันในความทึ่มทื่อ ตัวเธอเองนั้นแอบชอบหนุ่มหล่อดาราปลายแถวในแฟลตเดียวกันที่มีอาชีพเสริมในการนำเต้นแอโรบิค โดยมีพี่ชายเมียที่เปิร้านขายโทรศัพท์คอยเหยีดหยามเขาตลอดมา วันหนึ่งยอดไปส่งอาซิ่มขายลอตเตอรี่ที่วัดสุดไกล แต่ซิ่มไม่มีเงินให้ เลยให้ลอตเตอรี่มาแทน ตัวเลขน่าเกลียดน่าชัง 342436 ยอดเอามาแปะไว้ขำๆ ตรงประตูรถ ใครขึ้นก็เห็นทั้งเมีย พี่เมีย และนักร้องคาเฟ่สาวลูกค้าประจำ วันหนึ่งเกิดถูลอตเตอรี่เจ้ากรรมขึ้นมา คนทั้งหลายจึงกรูเข้ามา เปลี่ยนยอดจากไอ้แทกซี่กระจอกเป็นคนสำคัญ ขณะที่ยอดกำลังครุ่นคิดถึงชีวิตที่ผ่านมาของตนโดยไม่ได้ใส่ใจเลขหวยรวยเบอร์เลยสักนิด สถาณการณ์ยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อแต่ละคนเคลมว่า เลขนั้นมาจากพวกเขาและจะทำทุกทางเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของลอตเตอรี่

พลอตอาจจะซ้ำซากคุ้นเคย แต่นี่คือหนังที่สอดส่ายสายตาลงไปในชีวิตของคนหาเช้ากินค่ำในกรุงเทพช่วงต้น?ศวรรษ 2000’s ได้อย่างน่าสนใจ การขูดหาเลขหวยตามต้นไม้ การไปติดนักร้องคาเฟ่ การหากินกับศรัทธาของชาวบ้าน ชีวิตยากลำบากของคนแทกซี่ หรือการนินทาในร้านทำผมทำเล็บ การเต้นแอโรบิคบนดาดฟ้า หรือตู้ขายมือถือเลขสวย ภาพฉายของประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกจำที่บางอย่างก็สาบสูญ บางอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หนังคว้าจับบบรรยากาศการดิ้นรนเหล่านั้นเอาไว้ได้ดีเหลือเชื่อ

ยิ่งไปกว่านั้น หนังตัดต่อฉากชีวิตผู้นเหล่านั้นอย่างน่าสนใจโดยฝีมือของ ลี ชาตะเมธีกุล และดนตรีประกอบทำนองแปลกประหลาดแห้งแล้งที่ดูไม่ตั้งใจแต่ช่วยสร้างบรรยากาศพิลึกพิลั่นให้กับหนังโดยฝีมือของ โอ๋ซีเปีย ทำให้นี่อาจจะเป็นหนังที่เล่าเรื่องอย่างกลางๆ แต่น่าจดจำ และน่าจับคู่ฉายกับ เฉิ่ม ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมีอย่างยิ่ง

– แนะนำโดย W –

ดูหนังเต็มเรื่อง :


กลางแปลง (มรกต แก้วธานี)

หนังที่เปรียบเสมือนบทบันทึกลมหายใจสุดท้ายของธุรกิจหนังกลางแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผ่านมุมมองของมรกต หนึ่งในทีมงานรุ่นบุกเบิกของ “พันนา ฤทธิไกร” ที่ร่วมกันสร้างต้นกำเนิดตำนานหนังบู๊แบบโนสลิงโนสตั๊นต์ใน ‘เกิดมาลุย’ (พ.ศ. 2529) และกลายเป็นหนึ่งในทีมงานคนสำคัญของ “เพชรพันนาโปรดักชั่น” ผู้ผลิตหนังแอ็กชันภูธรที่ป้อนผลผลิตสู่สายหนังอีสานมามากมาย ก่อนที่ธุรกิจการทำหนังส่งสายจะล้มหายตายจากไปตามเทรนด์ของผู้ชมและธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ที่เปลี่ยนแปลง

ตัวหนังสอดแทรกไปด้วยการบันทึกวิถีชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยในหน่วยหนัง ตั้งแต่การขนของขึ้นรถ กางจอ การเก็บรักษาฟิล์ม หนึ่งในฉากที่เราชอบมากๆ คือการที่เจ้าของหน่วยหนังเดินไปเงียบๆ ในบ้านพลางดูโปสเตอร์หนังเก่าๆ ที่แปะไว้ตามผนัง มันเศร้าและสิ้นหวังมาก เพราะนี่คือความตายอันเงียบงันของหนังกลางแปลงที่ไม่มีใครอยากรู้หรือสนใจ แต่กระนั้นหนังก็ไม่ได้ทำตัวเป็นสารคดี แต่ยังมีจิตวิญญาณของความเป็น “หนังบู๊ภูธร” ผ่านพล็อตเรื่องความขัดแย้งของหน่วยหนังสองหน่วยที่ไม่ถูกคอกัน และเรื่องราวความรักของหนุ่มนักบู๊ไร้อนาคต ที่แสดงโดย “เดี่ยว ชูพงษ์” ซึ่งแม้ในเรื่องเขาจะมีสถานะเป็นตัวละครสมทบ แต่ในขณะเดียวกัน “เดี่ยว ชูพงษ์” ยังถือเป็นผลผลิตรุ่นท้ายๆ ของทีม “พันนาสตั๊นต์” ในยุคก่อนพันนาจะเสียชีวิต

นั่นทำให้หนังเรื่่องนี้มีสถานะเป็น “จดหมายรัก” ที่ตัวมรกตมีต่อประวัติศาสตร์ส่วนตัวที่เคยผูกพันและเติบโตมา ด้วยท่าทีที่จริงใจแบบที่หาชมได้ยากยิ่งในหนังไทยยุคปัจจุบันนี้

– แนะนำโดย CN –

ดูหนังเต็มเรื่อง :


บ้านผีสิง (มณฑล อารยางกูร)

หนังสร้างโดยดัดแปลงจากคดีดังที่เกิดขึ้นจริงสามคดีที่ต่างกรรมต่างวาระ และทั้งสามคดี คือคดีนายแพทย์ฆาตกรรมอำพรางภรรยา/คู่รักของตน หนังเอามาเล่าใหม่ผ่านเรื่องของชาลินี นักข่าวสาวที่ทำรายการสกูปข่าวเกี่ยวกับคดีหอมฆ่าหั่นศพเมียรายล่าสุด การสืบเรื่องพาเธอกลับไปยังบ้านพักแพทย์ของหมอคนดังกล่าว ก่อนจะสาวย้อนกลับไปว่า หมอทั้งสามมีจุดร่วมกันคือการพักอาศัยในบ้านพักแพทย์แห่งนี้

เธอเองก็มีปัญหาเพราะสามีที่เป็นทนายอยากมีลูก ซ้ำยังคอยหึงหวงเธอกับเพื่อนร่วมงานจนเกินเลย บางอย่างมืดดำในบ้านคืบคลานเข้ามาสั่นคลอนความสัมพันธ์ของเธอกับสามี ยิ่งเธอสืบลึกลงไปสัมภาษณ์หมอที่ยังมีชีวิตอยู่ในคุก เธอยิ่งต้องผเชิญกับภาพหลอนว่าถูกผีของเหยื่อตามหลอก ขณะที่สามีของเธอก็เหมือนจะถูกวิญญาณร้ายอีกชนิดหนึ่งในบ้านเข้าสิง และยิ่งร้ายกาจขึ้นทุกวัน

มณฑล อารายางกูร เป็นหนึ่งในคนทำหนังที่ควรจะได้รับการถูกพูดถึงมากกว่านี้ หนังผีสามเรื่องของเขาอันประกอบด้วย ผีคนเป็น บ้านผีสิง และ รักฉันอย่าคิดถึงฉัน ล้วนล้อเล่นไปกับเหตุการณ์ และประเด็นที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ฉายภาพความไม่มั่นคงของชนชั้นกลางและชนชั้นกลางระดับล่าง ผ่านภาพหลอนของอนาคตที่แสนสุขกับผีแห่งประวัติศาสตร์บาดแผล

บ่านผีสิงอาจจะเป็นหนังผีระดับกลางๆเรื่องหนึ่ง แต่ทันทีที่ช่วงท้ายหนังเริ่มผลักตัวเองเข้าไปสู่ประเด็นที่ไกลกว่าเดิม โดยทำให้เห็นว่าการฆ่าของคนที่ได้มีตำแหน่งแห่งที่ในรัฐ (ในฐานะหมอ) อันที่จริงเป็นเพียงเครื่องมือของอำนาจที่มองไม่เห็นผ่านพื้นที่(บ้านพักแพทย์/ตัวรัฐเอง) ที่ติบโตงอกงามขึ้นจากแผ่นดินที่นองด้วยเลือด ทั้งกบฏมุสลิมในยุคพระนารายณ์ หรือนักโทษที่ถูกใช้ที่นี่เป็นลานประหาร และชาวบ้านที่ล้มตายในสงครามโลก แม้หนังจะไม่ผลักเรื่องนี้ไปจนสุด(แล้ววกกลับมาเรื่องของครอบครัวแทน) แต่การใช่รูปทรของสารคดีมาขยายผล พื้นที่ในฐานะของภูติผี ทำให้หนังมีน้ำหนักมากพอที่จะใคร่ครวญต่อหลังหนังจบลงไม่น้อย

– แนะนำโดย W –

ดูหนังเต็มเรื่อง :


บ้านผีปอบ Reformation (โสภณ นิ่มอนงค์)

หนังเป็นเหมือนภาคต่อกลายๆของภาคเจ็ด ที่ยายปอบหยิบขี่สกูตเตอร์ตกเขาไป ในหนังเรื่องนี้ กาลตัดไปเป็นยี่สิบปีต่อมา กลุ่มนักมานุษยวิทยาเข้ามขุดหาซากปอบหยิบในหมู่บ้าน แล้วก็โดนปอบจกไส้ไปคืนเดียวสามคน ที่เหลือก็ตกค้างอยู่ในหมู่บ้านที่ไม่รู้ว่าใครเป็นปอบ แล้วเอาเข้าจริงยายหยิบยังไม่ตายแต่กำลังรักษาปอบแบบสมุนไพรกับหมอเดช ด้วยการหัดเป็นมังสวิรัติ แม้ยายหยิบจะลักลอบออกมาตอนกลางคืนเสมอก็ตาม ในหมู่บ้านก็กำลังวุ่นวาย เมียผู้ใหญ่กินตับ (ทางพฤตินัย) กับหนุ่มทั้งหมู่บ้าน ผู้ใหญ่กับเถ้าแก่ก็กำลังวางแผนฮุบที่ชาวบ้าน (โดยการใส่ความว่าเป็นปอบ) แถมยังมีไอ้หนุ่มเนิร์ดประจำหมู่บ้าน คนนึงปรดิษฐ์อะไรมั่วซั่ว อีกคนทำสตูดิโอปั้นรูปบ้าบอที่มี เอิ่มมมม ห้องทรมาน

ชนบทในหนังเรื่องนี้คือภาพแทนของชุมชนที่ประกอบไปด้วยความเชื่อไสยศาสตร์ที่ไหลเวียนในทุกอณู การก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีหรือศิลปะ ก็ไม่ไ้ด้มาในฐานะสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับชาวบ้านขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เครื่องมือที่ช่วยเหลือให้ชาวบ้านพ้นจากความยากเข็ญกล่าวให้ถูกต้อง มันมีเพียงลักษณะเดียวคือลักษณะอิหลักอิเหลื่อครึ่งๆ กลางๆ ตามมีตามเกิด เรียกกันเท่ๆว่า ‘ภูมิปัญญาชาวบ้าน’ เราจึงได้เห็นชนบทที่มีคอมพิวเตอร์อยู่ในหลายๆบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกระต๊อบมุงจาก หรือสตูดิโอหลังคาสังกะสี การทำหุ่นโชว์แบบลวกๆตลกๆ หรือการประดิษฐ์รถยนตร์ทำเองแบบโง่ๆ แน่นอนว่ามันถูกทำมาให้ตลก ทำมาให้ขัดเขินผิดที่ผิดทาง ทำมาให้เห็นว่าเป็นสิ่งโง่ๆ แต่มันน่าสนใจว่ามันไม่ได้ทำหน้าที่ในทำนองความผิดที่ผิดทางอย่างโดดเด่นอีกต่อไป มันกลับดำรงคงอยู่แบบที่มันอยู่จริงๆในชุมชน ผิดที่ผิดทางน้อยๆ ถูกนำมาแก้ไขดัดแปลงให้พอใช้ได้ แต่ไม่ค่อยสวยงามตามแบบมืออาชีพ

ยิ่งกว่านั้นตัวร้ายของหนังเรื่องนี้คือ ผู้ใหญ่บ้านที่ต้องการขุดเอาผีปอบมาเป็นจุดขายในการท่องเที่ยว!!!!

ในทางหนึ่งไสยศาสตร์ในหนังคือสิ่งที่อยู่ ‘ข้างใน’ ชุมชน สิ่งที่ชุมชนร่วมกันปกปิด แต่ในหนังเรื่องนี้มันคือสิ่งคุกคาม ทั้งในระดับความลับในชุมชน หากยังทำหน้าที่เป็นภัยคุกคามที่จะดึงคนนอกเข้ามาทำลายชุมชนอีกด้วย หากผีปอบคือภาพแทนของการต่อสู้กับอำนาจรัฐจากส่วนกลางในฐานะไสยศาสตร์ที่มีอำนาจเหนือหมู่บ้าน อำนาจของชาวบ้าน/ความเป็นหญิงที่เหนือกว่าอำนาจรัฐ (ในรูปภัยคุกคามของนักศึกษามาทำค่าย) กลายเป็นว่าอำนาจรัฐเดียวในเรื่อง(ผู้ใหญ่บ้าน)ได้ผนวกรวมกับไสยศาสตร์ และเอาไสยศาสตร์มาเป็นเครื่องมือคุกคามชาวบ้านเสียเอง แล้วชาวบ่้านสู้อย่างไรน่ะหรือ ก็ฝีมือผีอีหยิบน่ะสิ ปอบหยิบ อีกครั้ง ทำหน้าที่ปกป้องหมู่บ้านจากภัยคุกคาม แต่เปลี่ยนเป็นฮีโร่เต็มตัวด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีภูมิปัญญาชาวบ้าน!

ถึงที่สุด การ reformation ของบ้านผีปอบอาจจะเป็นแค่หนังเอาตลกไม่มีอะไร เป็นงานชั้นต่ำ ที่ดำรงคงอยู่เพื่อให้คนหัวสูงเหยียดหยาม แต่โลกไม่ได้มีแค่ high art และความเป็นศิลปะไม่ได้รับใช้มิติเดียว การหยิบไม้บรรทัดวัดหนังอาร์ตมาเหยียดหยามหนังเรื่องนี้จึงอาจจะผิดเสียตั้งแต่หยิบไม้บรรทัดผิดสเกลแล้วก็เป็นได้ ในฐานะหนังปอบภูธร หนังคัลท์ หนังของคนชั้นล่าง หนังตลกไร้่สาระ บ้านผีปอบreformation กลับหลักแหลมคมคายยิ่งไม่ว่าคนทำจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

– แนะนำโดย W –

ดูหนังเต็มเรื่อง :


ทวารยังหวานอยู่ (พรชัย หงษ์รัตนาภรณ์)

Whiplash ต้องแหวกทาง! เมื่อเจอพลังกลองเทวดาปะทะกับวิชากลองพญายม การประลองวิทยายุทธ์ที่สติแตกและคัลท์ที่สุดครั้งหนึ่งในหนังไทย หนังคอมเมดี้-ทริลเลอร์-มิวสิคัล-แอ็กชันที่อัดแน่นด้วยมุกควายพาเสียสติกันแทบทุกนาที (พร้อมกับมุก “บัดซบ” ในตำนาน) ในยุคที่มุกตลกในหนังนั้นเป็นได้หลากหลายกว่าการตบมุกโบ๊ะบ๊ะไปมา ถ้าเปรียบเป็นการทำหนังในยุคสมัยนี้ก็ถือว่าเสี่ยงและบ้าบิ่นอย่างแรง หยอกเอินไปกับประวัติศาสตร์และป๊อบคัลเจอร์ทั้งเก่าใหม่ (ในยุคนั้น) แบบพองาม ประดุจฟอร์เรสต์ กั้มพ์ยุคมิลเลเนียม พร้อมกับการปรากฏตัวของบุคคลระดับตำนาน ไม่ต้องสนต้องแคร์เนื้อเรื่อง เพราะไม่มีทางเดาถูกว่าหนังจะไปลงอีท่าไหน หนังถูกวิจารณ์อย่างถล่มทลายจากการมาก่อนกาล การกลับมาดูอีกครั้งจะพบถึงความกล้าที่อาจไม่เคยได้พบเจอในหนังสมัยนี้

– แนะนำโดย N –

ดูหนังเต็มเรื่อง :


นางตะเคียน (สายยนต์ ศรีสวัสดิ์, 2010)

หนังลับแลฉายเงียบของผู้กำกับ “บ้านผีปอบ” ภาคแรกสุดเรื่องนี้ ไม่ได้มีดีแค่นางเอกชื่อ ยุ้ย-จีรนันท์ มะโนแจ่ม เพราะภายใต้โปรดักชั่นระดับละครบ่ายละครเย็นและมุขตลกที่ตกค้างมาจากสมัยบ้านผีปอบ ที่อาจทำให้คนดูส่วนใหญ่มองข้ามหรือเดียดฉันท์ไปล่วงหน้า เพราะไฟแค้นของผีสาวที่ผูกคอตายใต้ต้นตะเคียนพาเราไปไกลกว่านั้น เธอไม่ได้กลายเป็นผีเฮี้ยนเพียงเพราะความแค้นส่วนตัวหรืออาวรณ์คนรัก หากเป็นผีที่เกิดจากการกดขี่ทางเพศและชนชั้นในสังคมชนบท หลายฉากของหนังน่าทึ่งและกล้าหาญ ทั้งการโฟกัสความบิดเบี้ยวของใบหน้าคนใกล้ตาย การฉายภาพพิธีศพอันยาวนานจนแทบกลายเป็นบทบันทึกทางมานุษยวิทยา (ก่อนจะเฉลยว่าภาพที่ดูเหมือนจริงนี้ ถูกแปดเปื้อนบิดเบือนด้วยเจตนาสกปรกของคนเป็น) ไปจนถึงการที่หลักธรรมคำสอนอันแสนคมคายของพุทธศาสนาก็ไม่อาจลบล้างไฟแค้น แต่ต้องหันกลับไปพึ่งอิทธิปาฏิหาริย์ของไสยศาสตร์เพื่อกำราบวิญญาณร้าย – และการตั้งชื่อหนังที่สะท้อนถึงชื่อเรียกที่ต่อมาคนจะใช้เรียกเมื่อเล่าขานเป็นมุขปาฐะ ก็ชวนให้คิดถึงตำนานเรื่องเล่าแบบไทย ที่หลายครั้งก็คงลดรูปตัดใจความของความแค้นที่ผูกโยงกับสังคมให้เป็นแค่อาถรรพ์กับความน่าสยดสยองสะพรึงกลัว

– แนะนำโดย T –

ดูหนังเต็มเรื่อง :


เมล์นรกหมวยยกล้อ (กิตติกร เลียวศิริกุล, 2007)

หนังเด่นอีกเรื่องในช่วงทศวรรษขึ้นหม้อของ เรียว-กิตติกร (ผกก. อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม, ดรีมทีม, เรา สองสาม คน, คู่กรรม) นำทัพขับรถเมล์ตีนผีด้วยตลกสามสำนัก ซูโม่กิ๊ก, โน้สอุดม, ป๋าเทพ (ตอกตะปูฮาด้วย อิม-อชิตะ สมัยยังไม่เฟี้ยวฟ้าว) ที่เรียงหน้ามาเพื่อให้คนดูหายใจหอบเหนื่อยกันโดยเฉพาะ แต่นอกจากจังหวะมุขและจังหวะตัดที่ได้ผลสุดขีด ตัวหนังยังได้รับเกียรติถูกเอาไปตีความการเมืองกันอย่างสนุกสนานในหมู่ผู้ชมและนักวิจารณ์ ด้วยบรรยากาศการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549 หมาดๆ และตัวละครก็มีทั้งโจรถือปืน คนยึดอำนาจ คนขับรถ คนยุแยงตะแคงรั่วสร้างความขัดแย้ง กับผู้โดยสารที่ถึงคราวซวยมาเจอเขาปล้นกัน – แทนค่าสมการกันสนุกสนาน แม้จะต้องระลึกชาติถึงทศวรรษก่อนกันสักหน่อย เพราะตอนนี้ค่า x ค่า y ของการเมืองไทยก็เปลี่ยนหน้าตาไปเยอะเหลือเกิน แต่ยังไงโครงเรื่องหลักก็ยังเป็นเรื่องเดิมนั่นแหละ

– แนะนำโดย T –

ดูหนังเต็มเรื่อง :


รักภาษาอะไร (ณิชยา บุญศิริพันธ์, 2014)

“รักภาษาอะไร” เกิดขึ้นในฐานะโปรเจกต์ลองตลาดขนาดย่อม ในช่วงที่หนังไทยขนาดกลางถึงเล็กเริ่มเจอปัญหาเรื่องรายได้กับที่ฉายชัดขึ้นเรื่อยๆ หนังเล่าเรื่องความรักแบบจับพลัดจับผลูของช่างสักสาวไทยลุคเฉี่ยวกับแรงงานพม่าในย่านตะวันนา และว่ากันตามตรงก็เป็นหนังที่มีบาดแผลฟกช้ำเต็มตัว ทั้งจากโปรดักชั่นทุนต่ำสุดขีดที่แสดงออกให้เห็นซึ่งหน้า ไปถึงความพะว้าพะวังของผู้กำกับหน้าใหม่ที่พยายามเดินตามสูตร rom-com จนเกร็งมือเกร็งเท้า และยังเอาไม่อยู่มือในหลายๆ ส่วนแม้จะมีวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจ แต่พ้นไปจากแผลทั้งหมดทั้งมวลที่ว่า จุดแข็งที่สุดของหนังคือเสน่ห์ของสองนักแสดงนำ Aung Naing Soe กับ แก้ว-กรวีร์ พิมสุข (ซึ่งต่อมาได้ไปเล่นหนังพม่าเพราะชื่อเสียงของหนังเรื่องนี้) ที่กลายเป็นตัวอย่างชั้นดีที่พิสูจน์ว่าการ cast นักแสดงให้ถูกต้องเหมาะสม ส่งผลดีกับหนังในภาพรวมได้มากมายแค่ไหน ทุกฉากที่หนังโฟกัสคู่พระนางแสดงให้เห็นลมหายใจของมนุษย์ที่กำลังตกหลุมรักเขินอาย และน่าเอาใจช่วยด้วยธรรมชาติต่อหน้ากล้องของทั้งสองคน ในระดับที่หนังรักเนี้ยบๆ หลายเรื่องทำไม่ได้หรือทำพลาด

– แนะนำโดย T –

ดูหนังเต็มเรื่อง :

รำลึก 5 ผลงานของ ธนกร พงษ์สุวรรณ

“ผมรู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานกับผู้กำกับเก่งๆ หลายคน อันที่จริงผมเข้าทำงานในกองถ่าย ‘เกิดอีกทีต้องมีเธอ’ เป็นเรื่องแรก กับพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ตอนนั้นผมทำตำแหน่งรีพอร์ทเตอร์ และหลังจากได้ทำหนังมาอีกหลายเรื่องจึงได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับของพี่เรียว กิตติกร และ อ็อกไซด์ แปง ในเวลาต่อมา ทั้งสองคนนี้ก็เป็นคนเก่งของวงการเลยทีเดียว การทำงานในกองถ่ายดังกล่าวฝึกฝนผมในแง่ของงานผู้ช่วยผู้กำกับซึ่งเป็นงานที่หินมากๆ

“แต่สำหรับในเรื่องอิทธิพลการทำหนัง ทางด้านภาพ ทางด้านการกำกับ ผมไม่รู้ว่าผมได้อิทธิพลจากใครมาหรือเปล่า แต่ผมชื่นชอบในผลงานของผู้กำกับอย่าง เดวิด ฟินเชอร์, หว่องกาไว, ไมเคิล เบย์ และ เป็นเอก รัตนเรือง ครับ”

ธนกร พงษ์สุวรรณ มีผลงานการกำกับหนังเพียง 5 เรื่อง ตลอดช่วงเวลา 18 ปีที่ผ่านมา ทว่าทั้ง 5 เรื่องต่างก็มีความน่าสนใจในตัวเองจนกล่าวได้ว่าเป็นบทบันทึกชิ้นสำคัญของหนังไทยในแต่ละช่วงเวลาได้ทั้งสิ้น

วาระที่ธนกรได้จากเราไปอย่างไม่มีวันกลับ เราจึงขอรวบรวมความน่าสนใจของทั้ง 5 เรื่อง ดังนี้…


Fake โกหก…ทั้งเพ (2546)

ผลงานการกำกับชิ้นแรกของธนกรที่สร้างตัวตนออกมาชัดเจนในทันทีนี้ นอกจากจะเป็นหนังซึ่งทำให้ อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ เปล่าประกายอย่างเต็มที่แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือมันได้บันทึกกรุงเทพฯ ที่สวยงาม เปลี่ยวเหงา แต่เต็มไปด้วยเสน่ห์ออกมา

ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างบทสนทนาระหว่างธนกรกับเมืองใหญ่แห่งนี้ที่เขาเติบโตมากับมัน “ผมเป็นคนกรุงเทพฯ และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ผมอยากจะพูดถึงมันในแบบที่ไม่ได้พูดตรงๆ อยากพูดถึงบรรยากาศในแบบที่มันเป็นและผมรู้สึก …กรุงเทพฯ อาจจะเป็นตัวละครตัวหนึ่งในหนังเรื่องนี้ เป็นตัวละครที่มีอยู่ตลอดทั้งเรื่อง และก็มีบทสนทนาของตัวมันเองในแบบที่เราไม่ต้องเขียนให้” ผลจึงคือหนังที่ถ่ายทอดความรู้สึกของหนุ่มสาวในเมืองใหญ่อย่างเข้าอกเข้าใจ จนเป็นภาพแทนของสังคมคนกรุงต้นยุค 2000 ได้อย่างดี


เอ็กซ์แมน แฟนพันธุ์เอ็กซ์ (2547)

หลังจากคนจดจำลายเซ็นของธนกรได้จากหนังเรื่องแรกแล้ว เขาสานต่อมันด้วยการเล่าเรื่องมนุษย์กรุงเทพฯ อีกครั้ง แต่สำหรับ ‘เอ็กซ์แมนฯ’ มันว่าด้วยผู้คนในโลกมืดที่พัวพันกับธุรกิจคลิปโป๊ ในท่วงท่าของหนังแอ็กชันสืบสวน หนังพาเราไปสำรวจความดำดิ่งของจิตสำนึกมนุษย์ ขณะที่ก็ยังคงถ่ายทอดชีวิตของหนุ่มสาวในเมืองใหญ่ที่โหยหาและเรียกร้องอะไรบางอย่างเช่นเคย

‘เอ็กซ์แมนฯ’ ยังเป็นหนังที่บันทึกวัฒนธรรม “โป๊มั้ยพี่” แผงวีซีดีตลาดมืดที่ไม่เหลือแล้วในปัจจุบัน หากหนังเรื่องนี้ไม่บันทึกไว้ก็คงไม่ปรากฏในหนังเรื่องไหนแล้ว

ดูได้ใน Monomax


โอปปาติก เกิดอมตะ (2550)

อย่างที่เขากล่าวว่า หนึ่งในคนทำหนังที่มีอิทธิพลต่อเขาที่สุดคนหนึ่งคือ ไมเคิล เบย์ และหนังเรื่องนี้น่าจะเข้าใกล้ตัวตนในด้านนั้นของเขาอย่างที่สุด มันเกิดขึ้นจากนช่วงเวลาหนึ่งเขาสนใจในเรื่องพระพุทธศาสนา ทำให้เขาพบกับ ‘โอปปาติก’ ซึ่งหมายถึงภูตผีที่ใช้ชีวิตขนานไปกับมนุษย์ เขาได้หยิบไอเดียนั้นมาดัดแปลงเป็นหนังแอ็กชันแฟนตาซีที่ยึดหลักทางพระพุทธศาสนาวาด้วยการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งนับเป็นความแปลกใหม่ของหนังร่วมยุคเดียวกัน และสิ่งที่ธนกรยังคงทำได้ดีคือการสร้างตัวละครที่มีบุคลิกเฉพาะตัว และน่าจดจำเช่นเคย

ดูได้ใน Monomax


Fireball ท้าชน (2552)

ผลงานอิสระเรื่องแรกของธนกรที่ทำให้เขาขยับมาตรฐานตัวเองขึ้นไปอีกระดับ มันเป็นหนังแอ็กชันว่าด้วยกีฬาเอ็กซ์ตรีมใต้ดินที่พัวพันกับโลกมืด นอกจากมันจะเป็นหนังแอ็กชันที่ดูสนุก (มาก) เรื่องหนึ่งแล้ว มันยังเต็มไปด้วยการออกแบบฉากต่อสู้ที่หวือหวาแปลกใหม่ ฉีกไปจากหนังแอ็กชันไทยยุคหลัง ‘องค์บาก’ อย่างชัดเจน ที่สำคัญหนังเข้าฉายในช่วงที่ปฐมบทความขัดแย้งในสังคมไทยเริ่มก่อตัว สาระที่อยู่ในหนังยังเป็นสิ่งที่น่าถอดรหัสจนเกิดการตีความกันไปไกลในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของการต่อสู้กันเองระหว่างคนตัวเล็กๆ ทว่าทั้งหมดอยู่ภายใต้เงื้อมเงาการชักใยของอิทธิพลมืด


ซิงเกิลเลดี้ เพราะเคยมีแฟน (2558)

หนังเรื่องสุดท้ายของธนกร ที่ธนกรได้กลับมาร่วมงานกับ อั้ม-พัชราภา อีกครั้ง และเป็นครั้งแรกที่เขาได้ทำหนังที่มีท่าทีผ่อนคลาย เป็นหนังโรแมนติกคอมิดีเพียงเรื่องเดียวในประวัติการกำกับ ทั้งนี้มันยังเป็นหนังที่ว่าด้วยความไม่มั่นคงในจิตใจของหนุ่มสาวชาวเมืองอยู่เช่นเคย และธนกรก็ยังคงดึงเสน่ห์และศักยภาพความเป็นซูเปอร์สตาร์ออกมาจากนางเอกคู่บุญของเขาได้อย่างดี

ดูได้ใน TrueID

Eyes Wide Shut หนังฉาวในตำนาน งานทิ้งทวนความบ้าของ สแตนลีย์ คูบริค!

ไม่ว่าใครจะชอบจะชังหรือจะอิหยังวะกับหนังเรื่องนี้ มันก็ยังถูกถือเป็นตำนานเพราะนี่คือ “หนังเรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ สแตนลีย์ คูบริค” (ผู้สร้างผลงานอมตะอย่าง 2001: A Space Odyssey, A Clockwork Orange, The Shining), เป็น “หนังตลาดสตูดิโอใหญ่ที่เต็มไปด้วยฉากเซ็กซ์โจ๋งครึ่ม”, เป็น “หนังที่ทำให้คู่รักซูเปอร์สตาร์ ทอม ครูส กับ นิโคล คิดแมน เตียงหัก” แถมยังครองสถิติ “หนังที่ถ่ายทำต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก” (400 วันรวด) อีกด้วย

ไม่เท่านั้น Eyes Wide Shut ยังเป็นหนังที่เต็มไปด้วยเรื่องบ้าคลั่งหลังกองถ่าย! เป็นหนังซึ่งปิดข่าวลับสุดขีดตลอดการถ่ายทำ ลับชนิดที่แม้แต่ครูสกับคิดแมนก็ยังไม่รู้ว่าอีกฝ่ายแสดงอะไรบ้าง เพราะคูบริคแยกกำกับพวกเขาทีละคนและสั่งห้ามเล่าสู่กันฟังเด็ดขาด ทั้งนี้ก็เพื่อให้สองสามีภรรยาเกิดความหวาดระแวงกันเอง ซึ่งคูบริคเชื่อว่าจะได้ช่วยให้ตัวละครดูสมจริงยิ่งขึ้น! (ในหนัง ครูสรับบทเป็น ด็อกเตอร์ บิลล์ ฮาร์ฟอร์ด ซึ่งหลังจากได้ยินความลับของ อลิซ ภรรยาสุดรักที่แสดงโดยคิดแมน เขาก็เจ็บปวดและพาตัวเองออกไปผจญภัยในพิธีกรรมอื้อฉาวตลอดคืนจนชีวิตคู่พัง)

และขอบอกว่า เกร็ดน่าจดจำข้างต้นเป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น …Film Club ขอจัดอีก 11 ข้อมาฝากข้างล่างนี้ :

1.

สแตนลีย์ คูบริค อยากดัดแปลงนิยาย Traumnovelle ของอาร์ทัวร์ ชนิทซ์เลอร์ นักเขียนชาวออสเตรียเล่มนี้มาตั้งแต่ปี 1960 เล่ากันว่าเขารู้จักมันระหว่างไปรับการบำบัดพร้อม เคิร์ก ดักลาส (หลังทะเลาะกันหนักในกองถ่ายเรื่อง Spartacus) และในเดือนเมษายน 1971 ค่ายวอร์เนอร์บราเธอร์สก็ประกาศว่านี่จะเป็นโปรเจกต์ต่อไปของคูบริค ทว่าจนอีก 28 ปีต่อมาหรือในปี 1999 นั่นแหละหนังจึงได้ทำและออกฉายจริงๆ

(Traumnovelle ยังถูกดัดแปลงเป็นหนังอีก 2 เรื่อง คือ หนังทีวีออสเตรียชื่อเดียวกัน ปี 1969 และหนังอิตาเลียน Ad un passo dall’aurora ปี 1989)

2.

ในยุค 70 คูบริคคิดจะทำ Eyes Wide Shut เป็นหนังตลก (!) แถมยังหมายตาดาราตลกที่กำลังดังอย่าง วู้ดดี้ อัลเลน ไว้เป็นพระเอก (!!) ต่อมาเขาเล็ง สตีฟ มาร์ติน ดาราตลกชื่อดังอีกคน รวมทั้ง แฮร์ริสัน ฟอร์ด ด้วย (ซึ่งเขาชอบมาก ถึงกับเปลี่ยนนามสกุลพระเอกจาก Scheuer ในเรื่องต้นฉบับ มาเป็น “Harford”) กับยังเคยคิดจะยกบทนำให้ อเล็ก บาลด์วิน กับ คิม เบซิงเจอร์ ดาราที่เป็นคู่สามีภรรยากันนอกจอ …เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าโจทย์หลักข้อหนึ่งที่เขายึดไว้ตลอดก็คือ ต้องใช้ดาราดังมาช่วยขาย เพราะตัวหนังเองนั้นขายยากมาก (นี่เป็นกลยุทธ์เดียวกับที่เขาเลือก แจ็ค นิโคลสัน มาแสดงนำใน The Shining ปี 1980)

3.

จริงๆ แล้วก่อนจะตัดสินใจทำ Eyes Wide Shut คูบริคเตรียมตัวดัดแปลงนิยายอีกเรื่องคือ Wartime Lies ของ หลุยส์ เบ็กลี ซึ่งว่าด้วยครอบครัวยิวในโปแลนด์ที่หนีการจับกุมของนาซี โดยตั้งชื่อหนังไว้ว่า Aryan Papers แต่ก่อนเปิดกล้องเขาก็ได้ข่าวว่า สตีเวน สปีลเบิร์ก เริ่มถ่ายหนังยิว-นาซีเรื่อง Schindler’s List (1993) ไปแล้ว คูบริคจึงตัดสินใจล้มโปรเจกต์นั้น

4.

การที่บทพระนางในเวอร์ชั่น 90 ตกเป็นของครูสกับคิดแมน กลายเป็นข่าวเซอร์ไพรส์เพราะทั้งคู่ไม่เคยมีภาพดาร์คๆ ในสายตาคนดูเลย ว่ากันว่า คูบริคเลือกพวกเขาทั้งเพราะความเป็นดาราดังเบอร์ต้น และเพราะทั้งคู่ชื่นชมคูบริคมากๆ ถึงขั้นเคยมาเยี่ยมเขาถึงบ้านในอังกฤษ

ความชื่นชมที่ว่านี้สูงลิ่วถึงขนาดที่ครูสกับคิดแมนยอมเซ็นสัญญามาเล่นแบบ “ปลายเปิด” ซึ่งหมายถึงจะต้องอยู่แสดงไปเรื่อยๆ ห้ามถอนตัวจนกว่าคูบริคจะยอมปล่อยกลับ ไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ตาม! (ส่งผลให้ทั้งคู่ต้องย้ายมาอยู่อังกฤษตลอดการถ่าย นานเสียจนลูกสองคนพูดติดสำเนียงอังกฤษกันไปเลย แถมยังมีข่าวว่าครูสป่วยเป็นแผลอักเสบระหว่างถ่ายทำ แต่ไม่ยอมบอกเพราะไม่อยากขัดขวางการทำงานของคูบริค)

5.

คูบริคเป็นคนที่กลัวการเดินทางมากๆ หนังจึงถ่ายแถวลอนดอนทั้งเรื่อง (ทั้งๆ ที่ฉากหลังในเรื่องคือนิวยอร์ก) เขาถึงขั้นส่งทีมงานไปแมนฮัตตันเพื่อวัดความกว้างจริงๆ ของถนนแล้วกลับมาสร้างฉากกรีนิชวิลเลจขึ้นที่ไพน์วู้ดสตูดิโอส์ทั้งฉากสำหรับถ่ายฉากทอม ครูสเดินรอบเมือง!

อย่างไรก็ตาม ซิดนีย์ พอลแล็ค ผู้กำกับและดารารุ่นใหญ่ที่เล่นบทเด่นในเรื่องด้วย บอกว่าไอ้ที่ฟังดูสิ้นเปลืองนี้ความจริงอาจจะคุ้มค่า เพราะคูบริคสามารถถ่ายในอังกฤษโดยใช้งบแค่นิดเดียวถ้าเทียบกับการต้องถ่ายในอเมริกา “พวกเราอาจใช้งบ 70 ล้านทำหนังที่มีดาราค่าตัว 20 ล้านโดยมีเวลาถ่ายแค่ 16 สัปดาห์ แต่สแตนลีย์ถ่ายได้ถึง 45 สัปดาห์โดยใช้เงินแค่ 65 ล้าน”

6.

ความเป็นเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ของคูบริคทำท่าจะพัฒนามาสู่จุดสุดขีดคลั่งในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น

– ในอันจะเตรียมความพร้อมให้นักแสดง เขาจัดคอร์สจิตวิเคราะห์ให้ครูสกับคิดแมนอย่างเข้มข้น โดยให้ทั้งคู่สารภาพความกลัวความกังวลในชีวิตคู่ออกมาให้หมดเปลือก แถมห้ามนำไปเล่าให้ใครฟังทั้งสิ้น คิดแมนบอกว่ากระบวนนี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “ตัวละคร” กับ “ชีวิตจริง” ของครูสกับเธอเบลอไปหมด

– ตัวอย่างการกำกับที่โหดมากก็คือ ในฉากอลิซจินตนาการว่าตัวเองมีเซ็กซ์กับทหารรูปหล่อ (ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้บิลล์ระแวงจนชีวิตพัง) คูบริคบังคับให้คิดแมนเปลือยร่างแสดงกับนายแบบคนหนึ่งถึง 6 วัน โดยไม่แค่สั่งให้ทำท่าอีโรติกกว่า 50 ท่าเท่านั้น แต่ยังห้ามไม่ให้ครูสมาดูตอนถ่ายและไม่ให้คิดแมนเล่าให้เขาฟังด้วยว่าทำอะไรบ้าง เพื่อให้ตัวละครเกิดความหวาดระแวงกันอย่างสมจริง (และที่เจ็บที่สุดคือ สุดท้ายฉากนี้โผล่ในหนังแค่แวบเดียว)

– คูบริคตรวจตราทุกองค์ประกอบในทุกเฟรม ตั้งแต่พร็อพประกอบฉาก, เฟอร์นิเจอร์, สีผนัง, ฯลฯ โดยเฉพาะ “หน้ากาก” ในฉากพิธีกรรมเซ็กซ์หมู่ ซึ่งลงทุนสั่งมาจากงานคาร์นิวัลของจริงและคูบริคเป็นคนจัดการเองว่าให้ใครใส่อันไหน

– ฉากในห้องบิลเลียดของครูสกับพอลแล็คที่ยาว 13 นาทีครึ่งนั้น ใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์เต็มและถ่ายไปเกือบ 200 เทค ครูสเล่าว่าอาจเพราะคูบริคไม่ชอบที่พอลแล็คโชว์ความเก๋า (เนื่องจากเขาก็เป็นผู้กำกับหนังเหมือนกัน) ด้วยการคิดออกแบบมาเองว่าฉากนี้ควรเดินกันอย่างไร คูบริคเลยบังคับให้พอลแล็คแสดงแบบอื่นๆ เปลี่ยนไปทุกเทคไม่ให้เหมือนที่อุตส่าห์คิดมา T^T

7.

หนังเรื่องนี้ยังเต็มไปด้วยการอ้างอิงถึงหนังอื่นๆ ของคูบริค เช่น

– หน้ากากที่บิลล์สวม ได้แบบมาจากรูปหน้าของ ไรอัน โอนีล พระเอกเรื่อง Barry Lyndon (1975)

– ในฉากหญิงลึกลับเตือนภัยบิลล์ เราจะได้ยินเสียงดนตรีจาก The Shining

– ห้องเก็บศพที่บิลล์เข้าไป อยู่ในตึกปีก c หมายเลข 114 (C, room 114 หรือ CRM-114) ซึ่งเหมือนกับหมายเลขเครื่องถอดรหัสใน Dr. Strangelove or: How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb (1964) และก็เป็นหมายเลขเดียวกับยาที่ตัวเอกของ A Clockwork Orange (1971) ได้รับ

11

8.

สิบปีหลังหนังออกฉาย เพิ่งมีการเปิดเผยว่าเสียงของตัวละครหญิงลึกลับนั้นพากย์โดย เคต แบลนเช็ตต์ เนื่องจาก อาบิเกล กู๊ด ที่รับบทนี้พูดสำเนียงอังกฤษจ๋า แต่คูบริคอยากได้สำเนียงอเมริกัน ครูสกับคิดแมนจึงแนะนำให้ใช้บริการแบลนเช็ตต์ซึ่งอยู่ในอังกฤษช่วงถ่ายทำพอดี (ที่ตลกคือ แบลนเช็ตต์ไม่ได้เป็นคนอเมริกันด้วยซ้ำ เธอเป็นชาวออสเตรเลีย)

9.

ช่วงก่อนเข้าฉาย ลือกันว่านี่เป็น “หนังเรื่องสุดท้ายที่ยังถ่ายไม่เสร็จ” ของคูบริค แต่ต่อมาเชื่อได้ว่าเขาถ่ายเสร็จและตัดต่อพอใจแล้วจึงนำหนังไปส่งให้ค่ายวอร์เนอร์บราเธอร์สเจ้าของเงินดู ก่อนจะเสียชีวิตในอีก 4 วันต่อมา (โดยญาติและทีมงานยืนยันว่าเป็นการหัวใจวายกะทันหัน เพราะระหว่างถ่ายทำเขาไม่ได้ดูป่วยอะไรเลย อย่างไรก็ตาม ต่อมาผู้ช่วยของเขาเปิดเผยว่าคูบริคดูอ่อนล้าและเครียดมากในช่วงท้ายๆ)

10.

หลังคูบริคตาย หนังใช้เวลาทำโพสต์โปรดักชั่นเกือบ 1 ปีเต็มกว่าจะได้ฉาย โดย เฟรเดริก ราฟาเอล คนเขียนบท เปิดเผยว่า ซิดนีย์ พอลแล็ค เป็นคนตัดต่อฉบับสุดท้าย และเหตุที่ฉากเซ็กซ์หมู่มีการเพิ่มซีจีภาพคนบนโฟร์กราวด์ให้มาบดบังก็เพื่อจะได้ลดความโป๊ลง แลกกับการให้หนังได้เรต R แทนที่จะเป็น NC-17 เหตุการณ์นี้เรียกเสียงด่าจากนักวิจารณ์และคนดูทั่วสารทิศว่าเป็นการทำลายงานมาสเตอร์พีซชิ้นสุดท้ายของสุดยอดผู้กำกับ แต่ก็มีอีกหลายแหล่งข่าวโต้ว่า คูบริคเป็นคนเสนอไว้ตั้งแต่ก่อนตายต่างหากล่ะว่าให้เบลอภาพแบบนี้

(หนังเข้าฉายในอเมริกาและหลายๆ ประเทศในแบบเซ็นเซอร์ แต่เข้าในอังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศสแบบไม่เซ็นเซอร์เลย จนปี 2007 วอร์เนอร์ฯ จึงออกดีวีดีพิเศษฉบับไม่เซ็นเซอร์ให้ชาวอเมริกันได้ดูเป็นบุญตาเป็นครั้งแรก)

11.

Eyes Wide Shut กลายเป็นหนังเรื่องแรกของ สแตนลีย์ คูบริค ที่เปิดตัวในอเมริกาด้วยการคว้าอันดับ 1 บนบ็อกซ์ออฟฟิศ และแม้เสียงวิจารณ์จะแตกกระจุยกระจาย มันก็ยังติดลิสต์ “หนึ่งในหนังดีที่สุดของทศวรรษ 1990” หลายสำนัก รวมทั้งลิสต์ของ มาร์ติน สกอร์เซซี และนิตยสาร Cahiers du Cinéma ด้วย

สำหรับทอม ครูส กับนิโคล คิดแมนนั้น ถูกร่ำลือว่าเลิกกันอย่างย่ำแย่ในอีกไม่นานต่อมาก็เพราะหนังเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ อย่างไรก็ตาม คิดแมนยืนยันว่านี่เป็นประสบการณ์การทำงานที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเธอ เพราะคูบริคเป็นทั้งครู และเป็นผู้กระตุ้นให้เธอเปลี่ยนใจไม่เลิกราจากอาชีพนี้ไป ส่วนครูสบอกว่าเขาไม่ชอบการแสดงบทบิลล์เลย “แต่ถ้าผมไม่ทำงานชิ้นนี้ ผมก็คงเสียใจไปตลอดชีวิต”

ไม่ว่าครูสจะชอบงานของตัวเองหรือไม่ แต่มีข่าวด้วยว่า พอล โธมัส แอนเดอร์สัน มาเยี่ยมกองถ่าย Eyes Wide Shut ครั้งหนึ่ง และเมื่อเห็นครูสที่นั่น เขาก็ประทับใจจนเลือกครูสมารับบท “แฟรงค์ ทีเจ แม็กคีย์” ใน Magnolia (1999) – ซึ่งบทหลังนี้ทั้งทำให้ครูสได้เข้าชิงออสการ์ และเป็นบทแรกที่เขาเอาชนะใจนักวิจารณ์ได้สำเร็จอย่างแท้จริง


Eyes Wide Shut เดินทางมาให้เราพิสูจน์ความเฮี้ยนกันถึงบ้านแล้วที่ Netflix

หนังเทศกาล SXSW ลงให้ดูฟรีใน US Amazon Prime

SXSW เป็นเทศกาลหนังที่โดนยกเลิกก่อนจัดงานไปไม่กี่วันเพราะโควิด-19 ระบาด ล่าสุดหนังในเทศกาลทั้งหมดจะลงให้ดูฟรี 10 วัน ทาง Amazon Prime ในอเมริกา แบบไม่ต้องเป็นสมาชิกก็เข้าไปดูได้เลย แถมยังประกาศว่านอกจาก SXSW แล้วก็พร้อมจะรองรับหนังที่ได้รับคัดเลือกจากเทศกาลเล็กๆ อีกมากมายหลังจากนี้ด้วย

เรื่องนี้สำคัญเพราะในปีนี้วงการหนังมีที่ท่าว่าจะชะงักพร้อมกันทั้งกระบวน อันจะส่งผลให้หนังอิสระจำนวนหนึ่งซึ่งยังไม่ได้เผยแพร่เพื่อพิสูจน์ตัวเองตามเทศกาลหนังต่างๆ จะมีโอกาสน้อยนิดในการที่จะเข้าถึงผู้จัดจำหน่ายได้ ซึ่งสำหรับหนังอิสระแล้วเท่ากับเป็นการถอดเครื่องช่วยหายใจให้กับหนังตัวเองทันที

ในช่วงที่ผ่านมามีเทศกาลหนังทั่วโลกจำนวนมากยกเลิกและเลื่อนกำหนดออกไป สองเทศกาลในนั้นคือ SXSW และ Tribeca ซึ่งเป็นเทศกาลใหญ่ในสายอิสระ หนังส่วนใหญ่ที่ได้รับเลือกจะมาจากคนทำหนังที่ยังไม่มีโปรไฟล์มากพอให้ผู้แทนจำหน่ายวิ่งเข้าหา เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงจำต้องอาศัยเทศกาลหนังช่วยแนะนำให้ผู้ชม สื่อมวลชน และผู้จัดจำหน่ายจากทั่วโลกได้รู้จัก

โนอาห์ ฮัตตัน ผกก. Lapsis หนังไซ-ไฟที่เข้าประกวดใน SXSW คือหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบนี้ และหลังจากรู้ว่าเทศกาลปีนี้ยกเลิก เขาเร่งจัดแจงร่อนอีเมล์หาผู้จัดจำหน่ายหลายรายเพื่อแนะนำหนังด้วยตัวเอง “มันเป็นหนังที่อิสระตั้งแต่จิตวิญญาณ ไม่มีบุคลากรที่มีชื่อเสียงพอจะขายได้ มันเลยเป็นการรวมตัวกันของทีมงานที่ทุ่มเทเต็มร้อย” แน่นอนว่าสำหรับคนทำหนังที่เกิดจากการทุ่มเทสุดชีวิตเช่นนี้ การปล่อยให้มันจางหายไปจากสารบบโดยไม่มีใครได้ดูนั้นเจ็บปวดขนาดไหน

การดิ้นรนของฮัตตันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์แตกฮือของคนทำหนังอิสระ อีกหลายโปรเจกต์ต่างก็คิดวิธีพาหนังไปหาผู้จัดจำหน่ายของตัวเองให้เจอ ซึ่งเป็นวิถีที่แตกต่างจากหนังสตูดิโอซึ่งพอโรงหนังปิดอย่างไม่มีกำหนดก็พอจะมีลู่ทางอื่นรองรับไว้ได้บ้างอย่างตลาดสตรีมมิ่ง

เทศกาลหนังเสมือน และ ตลาดหนังเสมือน จึงเป็นสิ่งที่คนทำหนังอิสระเรียกร้องให้เกิดขึ้นทดแทนในช่วงนี้ เพราะมันเป็นท่อน้ำเลี้ยงที่สำคัญของวงการหนังอิสระ “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ Amazon Prime เสนอตัวเข้ามาจัดเทศกาลหนังออนไลน์และเชื่อมต่อโดยตรงจากกลุ่มผู้ชมของเขามาหาคนทำหนังของเรา มันเกิดจากการที่เราพยายามพลิกแพลงวิกฤตท่ามกลางความนิ่งสนิทในวงการหนังขณะนี้ให้มีความเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ๆ” เจเน็ต เปียร์สัน ผู้จัดเทศกาลหนัง SXSW กล่าว

ท่ามกลางบรรยากาศการหนีตายของคนทำหนังทั่วโลกจนเกิดเทศกาลหนังออนไลน์ขึ้นอันเป็นความร่วมมือกันของเทศกาลหนังที่ยิ่งใหญ่และผู้ให้บริการสตรีมมิ่งอันใหญ่ยิ่ง อาจเป็นเพียงหนึ่งวิธีเยียวยาคนทำหนังอิสระเฉพาะหน้ากันไปก่อน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าวิธีดังกล่าวนี้เป็นการได้ผลประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายทั้งคนทำหนัง เทศกาลหนัง ผู้ให้บริการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง…ผู้ชม

หากผลประกอบการดังกล่าวดันออกมาเข้าท่า ไม่แน่ว่ามันอาจเปลี่ยนคุณค่าของเทศกาลหนังไปเลยก็ได้

โรงหนังไดรฟ์อิน ตั๋วเต็มข้ามเดือน

เพราะผู้คนควรรักษาระยะห่างทางสังคม โรงหนังอเมริกาเลยต้องปิด ต่อมา EVO Entertainment จึงเปิดลานจอดรถของโรงตัวเอง แล้วทาสีขาวบนกำแพงโรง เปิดเป็นโรงหนังไดรฟ์อินให้คนจองตั๋วดูฟรี แต่เสิร์ฟของกินจากร้านอาหารของโรงมาเสิร์ฟให้ถึงรถ

EVO ทดลองเปิดให้บริการที่โรงหนังในเมือง เชิร์ตซ รัฐเท็กซัส ก่อนเป็นที่แรก เมื่อ 27 มีนาคมที่ผ่านมา วิธีคือเราต้องไปจองที่จอดรถในระบบก่อน แล้วค่อยขับเข้าไปจอดดูที่ลานจอดรถของโรง ส่วนเสียงก็ส่งผ่านสัญญาณวิทยุเข้าไปในรถของแต่ละคนเลย โดยฉายหนังตลาดจ๋าของค่ายโซนี่ฯ เช่น Spider-Man: Homecomming, Jumanji: Welcome to the Jungle และ Spider-Man: Into the Spider-Verse ผลคือยอดจองเต็มมาถึงต้นเมษายนแล้ว

CEO มิตเชลล์ โรเจอร์ส บอกว่าวิธีนี้ก็พอเป็นทางรอดของโรงหนัง โดยเฉพาะพนักงานที่ระหว่างรักษาระยะห่างทางสังคมก็ยังมีงานและรายได้หล่อเลี้ยงต่อเนื่อง ซึ่งรายได้หลักจะมาจากอาหารที่รถแต่ละคันสั่งไปกินนั่นเอง นอกจากนั้น EVO ไม่ได้ทำแค่โรงหนัง แต่ยังจัดคอนเสิร์ตและอีเวนต์เป็นอีกธุรกิจ การวางระบบฉายและระบบเสียงจึงอยู่ในขอบเขตธุรกิจของเขาอยู่แล้ว

โรเจอร์สบอกว่า “โรงหนังเป็นที่ที่ใช้หลีกหนีความเป็นจริงของมนุษย์ได้ดีที่สุด ผมจึงจัดเตรียมสถานที่เพื่อทำหน้าที่นั้นให้ชุมชนท่ามกลางภาวะที่กดดันแบบนี้ต่อไป”

เกร็ดน่ารู้หลังดู The Platform

(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง เหมาะสำหรับผู้ที่ดูแล้วเท่านั้น)

หนังเล่าเรื่องของ โกเร็ง ชายที่ตื่นมาในคุกแนวดิ่งซึ่งจะมีอาหารป้อนลงมาจากชั้นบน ยิ่งอยู่ลึกลงไปของกินก็ยิ่งเป็นเศษเดนเท่านั้น และวันต่อๆ ไปเขาอาจตื่นขึ้นมาในชั้นไหนก็ได้ หลายคนตีความว่าหนังกำลังพูดเรื่องชนชั้น ซึ่งนั่นเป็นแค่สวนหนึ่งของสิ่งที่ ผกก. กัลเดอร์ กัซเตลู-เออร์รูเตีย ชาวสเปนที่เพิ่งทำหนังเรื่องแรกบอกว่า “จริงๆ แล้วจุดประสงค์หลักคือแสดงให้เห็นว่าคนเราสามารถดีและชั่วได้พอกัน หนังตั้งคำถามว่าคุณจะเป็นอย่างไรถ้าตื่นขึ้นมาแล้วอยู่ชั้น 200 แล้ววันต่อมาอยู่ชั้น 48 หนังพูดถึงขีดจำกัดของความเป็นคน มันอาจง่ายมากที่จะเป็นคนดีตอนอยู่ชั้น 10 ที่มีเหลือกินเหลือใช้ แต่มันยากมากถ้าคุณอยู่ในชั้น 182 ที่ต้องอดยาก”

The Platform ถ่ายทำอยู่ 6 สัปดาห์ อิวาน มัสซากู ผู้รับบทโกเร็งใช้เวลาระหว่างนั้นลดน้ำหนักลงให้ได้ 12 กิโลกรัม ดังนั้นหนังต้องถ่ายเรียงตามลำดับเวลาเพื่อให้น้ำหนักและรูปร่างของโกเร็งต่อเนื่องตามความพังของโกเร็ง

ฉากที่ใช้ถ่ายคำนวนมาเป๊ะระดับมิลลิเมตร และทุดซอกทุกมุมสามารถถอดประกอบได้หมด เพื่อให้ตากล้องเข้าไปอยู่ด้วยได้อย่างอิสระ ซึ่งหนังเรื่องนี้แบกกล้องไว้บนบ่าตากล้องเกือบทั้งเรื่อง

ตอนจบของหนังเรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากว่าหมายความว่าอะไร ในฐานะคนทำหนัง กัซเตลู-เออร์รูเตีย ก็ไม่อยากจะแทรกแซงการตีความของคนดูนัก แต่เขาอธิบายว่าจริงๆ ตอนจบถ่ายมาสองแบบคือแบบที่เห็นในหนังกับแบบที่เด็กไปอยู่ชั้น 1 แต่เขามองว่าจบแบบนี้ดีกว่าเพราะต้องการสร้างพื้นที่ให้คนดูคิดต่อ “ที่จริงมันอาจจะไม่มีชั้นล่างสุดเสียด้วยซ้ำ” เขาว่า

“ในโลกที่เต็มไปด้วยคนจน คนยากที่นำไปสู่สงคราม เข้าไม่ถึงยารักษาโรค …ขยะของคนชั้นบนคือของล้ำค่าสำหรับคนชั้นล่าง”

ดู The Platform ที่ Netflix

“เราจะรอดตายไปด้วยกัน!” : เปิดมาตรการ 5 ประเทศต่อลมหายใจวงการหนัง

พิษร้ายของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของทุกอุตสาหกรรมในโลกนี้ ผู้คนจำนวนมากหากไม่ถูกลดเงินเดือน ก็ต้องพักงานแบบไม่มีรายได้ อุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรงไม่แพ้กันคือ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่บุคลากรทั้งด้านการผลิต จัดจำหน่าย และจัดฉาย กำลังประสบกับภาวะไม่มั่นคงทางด้านอาชีพการงาน หลายองค์กร ต้องหยุดการทำงาน รอให้วิกฤตผ่านพ้นไปแล้วค่อยมาคิดกันอีกทีว่าจะทำอย่างไร ขณะที่อีกหลายบริษัท รวมถึงผู้มีอาชีพรับจ้างอิสระจำนวนไม่น้อยกำลังจะตกงาน

เสียงเรียกร้องถึงภาครัฐเริ่มดังขึ้นในหลายประเทศ บางเสียงถูกรวมเข้ากับความเดือดร้อนของภาคธุรกิจอื่น ในขณะที่บางประเทศที่อุตสาหกรรมหนังมีความสำคัญ เสียงของคนเหล่านี้ก็จะถูกตอบสนองทันทีด้วยมาตรการเร่งด่วนเบื้องต้น โดยประเทศที่มีมาตรการที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้ ประกอบด้วย…

เกาหลีใต้

เกาหลีใต้น่าจะเป็นประเทศแรกที่ดำเนินมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบที่สุด ประกอบด้วย

1) รัฐยกเว้นการจัดเก็บเงินเพื่อกองทุนพัฒนาภาพยนตร์ จากที่ตามปกติผู้ประกอบการโรงหนังจะต้องจ่ายให้รัฐทุกปีในอัตรา 3% ของรายได้ (โดยตลอดสามปีที่ผ่านมา รัฐมีรายได้จากส่วนนี้ 40 ล้านเหรียญ)

2) มอบเงินสนับสนุนค่าการตลาดแก่หนัง 20 เรื่องที่ต้องถูกยกเลิกฉายในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา

3) มอบเงินสนับสนุนให้แก่หนัง 20 เรื่องที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการถ่ายทำและต้องหยุดลงเนื่อจากการระบาดของไวรัส

4) จัดโครงการฝึกทักษะทางอาชีพแก่บุคลกร 400 คนที่ต้องตกงานในช่วงนี้

เนเธอร์แลนด์

มาตรการเร่งด่วนที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่ชื่อ กองทุนภาพยนตร์แห่งเนเธอร์แลนด์ (The Netherland Film Fund) ประกอบด้วย

1) ผ่อนคลายเงื่อนไขและข้อกำหนดสำหรับและกิจกรรมเกี่ยวข้อง เช่น เทศกาลหนัง หรือฟิล์มคลับ ที่ทำเรื่องขอทุนรัฐไว้และต้องส่งงานในช่วงนี้ ก็ผ่อนผันให้เลื่อนวันส่งไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด

2) เพิ่มวงเงินกู้ให้แก่ผู้สร้างหนังที่สำรองจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ไปแล้วแต่ไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ โดยผู้สร้างต้องแสดงค่าใช้จ่ายให้รัฐดู

3) สนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนต่างของขั้นตอนก่อนการถ่ายทำ (pre production) ที่เกิดขึ้นจากการที่ต้องเลื่อน เปลี่ยนแปลง หรือถูกระงับ ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา

สหราชอาณาจักร

แม้ว่ายังไม่มีมาตรการชัดเจนกับคนในอุตสาหกรรม แต่ British Film Institute ซึ่งเป็นองค์กรด้านภาพยนตร์ที่ได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงดิจิตอล วัฒนธรรม สื่อและการกีฬา ของสหราชอาณาจักร ก็ได้ร่วมกับองค์กรการกุศลชื่อ Film + Television ตั้งกองทุนบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน โดยมีเงินบริจาคจาก Netflix หนึ่งล้านปอนด์เป็นทุนประเดิม

กองทุนนี้จะให้การช่วยเหลือระยะสั้นกับบุคลากรที่เป็นทั้งพนักงานประจำและฟรีแลนซ์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิดเป็นลำดับแรก ทั้งในภาคการผลิต จัดจำหน่ายและ ธุรกิจโรงหนัง นอกจากนี้ BFI ยังเป็นศูนย์กลางในการแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาทุกข์ รวมถึงประสานให้บุคลากรเหล่านี้เข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐด้วย

สหรัฐอเมริกา

แม้ภาครัฐจะยังไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือวงการหนังโดยตรง แต่สมาคมวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น

– มูลนิธิ SAG-AFTRA (เป็นองค์กรดูแลผลประโยชน์แก่คนในวงการบันเทิงอเมริกัน ซึ่งรวมถึงนักแสดง นักร้อง ผู้ประกาศข่าว ดีเจ ฯลฯ) ก็ประกาศให้ความช่วยเหลือทางการเงินฉุกเฉินแก่สมาชิกของสมาคม โดยครอบคลุมตั้งแต่ ค่าเช่าบ้านผ่อนบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ และค่าใช้จ่ายทางการแพทย์

– มูลนิธิ Will Rogers Motion Pictures Pioneer Foundation (WRMPP ก่อตั้งปี 1951 เพื่อช่วยเหลือทางการเงินทั้งในด้านสุขภาพ ประกันชีวิตและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานศพ แก่สมาชิกในวงการ) ร่วมกับ สมาคมผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์แห่งชาติ (NATO) จัดสรรกองทุน 2.4 ล้านเหรียญเพื่อช่วยพนักงานโรงหนังที่ขาดรายได้เนื่องจากโรงหนังโดนปิด

– กองทุนเพื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์ (Motion Picture and Television Fund ก่อตั้งโดยดาราและผู้กำกับชั้นนำของฮอลลีวูดคือ ชาร์ลี แชปปลิน, แมรี พิคฟอร์ด, ดักลาส แฟร์แบงค์ และ ดี ดับลิว กริฟฟิธ มีจุดประสงค์เพื่อช่วยคนวงการบันเทิงที่ตกยาก) ประกาศช่วยเหลือด้านการเงินแก่สมาชิกที่ประสบปัญหาเรื่องประกันสุขภาพ หนี้สินกับธนาคาร บัตรเครดิต

– องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อ American Documentary จัดสรรทุน 1 แสนเหรียญเพื่อช่วยคนทำสารคดีอิสระ

ไต้หวัน

ประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ามีระบบป้องกันโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยมแห่งนี้ ก็มีแผนช่วยอุตสาหกรรมหนังเช่นกันโดยกระทรวงวัฒนธรรมออกมาตรการเร่งด่วนชื่อ “มาตรการบรรเทาและฟื้นฟูงานวัฒนธรรมและศิลปะที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (Relief and Revitalization Measures for the Cultural and Arts Sectors Impacted by COVID-19)

หลักใหญ่ใจความคือ ให้เงินช่วยเหลือทุกภาคส่วนในด้านศิลปะวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างคนทำงาน ค่าเช่าอุปกรณ์ ค่าเสียหายจากการที่ต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ และยังเน้นการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากวิบัติภัยด้วย เช่น การฝึกฝนทักษะบุคลากร พัฒนาศักยภาพทางด้านเทคนิค เป็นต้น

ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์มีความหมายอย่างไรในสายตาประเทศเหล่านี้ แม้จนถึงตอนนี้แสวงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของโลกภาพยนตร์จะยังเลือนราง แต่การที่มันถูกให้ความสำคัญจากทั้งรัฐและหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะทำให้คนทำงานที่กำลังยากลำบากรู้สึกมีที่พึ่งพิง และเกิดกำลังใจที่จะสร้างสรรค์ความสุขให้แก่ผู้ชมอีกครั้ง เมื่อทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม

ว่าง 431 นาทีไหม? …War and Peace เวอร์ชั่นรัสเซียคลาสสิก เปิดให้ดูฟรี! แถมเป็น HD! แถมมีซับอังกฤษ!

เราคงเคยได้ยินกิตติศัพท์ความอลังการคลาสสิกสุดขีดของ War and Peace หรือ “สงครามและสันติภาพ” ฉบับหนังรัสเซียที่ เซียร์เกย์ บอนดาร์ชุค ดัดแปลงจากนิยายโด่งดังของ ลีโอ ตอลสตอย กันมาแล้ว แต่จะมีกี่คน หรือกี่โอกาส ที่เราจะได้ดูงานขึ้นหิ้งชิ้นนี้แบบฟรีๆ ในคุณภาพดีกันถึงบ้าน!?

หนังฟอร์มยักษ์เรื่องนี้ -อันว่าด้วยความผันผวนของชีวิต 3 หนุ่มสาวในสังคมรัสเซียช่วงต้นทศวรรษ 1800 โดยมีสงครามและการบุกของกองทัพนโปเลียนเป็นฉากหลัง- แบ่งเป็น 4 ตอน ทยอยออกฉายในรัสเซียเมื่อปี 1966-67 และบัดนี้ Mosfilm ค่ายผู้สร้างได้นำทั้งหมดมาออนไลน์ให้เราคลิกดูแล้ว ตามนี้จ้า :

Part I

Part II

Part III

Part IV

War and Peace กับ 5 เกร็ดน่ารู้
(อ่านก่อนหรือหลังดูก็ได้)

1. ต้องถือว่าหนังเรื่องนี้เป็นผลผลิตแห่งยุคสงครามเย็นอย่างแท้จริง เพราะมันคือการต่อสู้กันระหว่างอเมริกากับรัสเซีย โดยมี “ศิลปะภาพยนตร์” เป็นสมรภูมิ!

เรื่องเริ่มจากปี 1956 เมื่อ คิง วิดอร์ หยิบนิยายเรื่องนี้ของตอลสตอยมาทำเป็นหนังอเมริกันยาว 208 นาที นำแสดงโดยดาราสุดจะป๊อปอย่างออเดรย์ เฮปเบิร์น กับเฮนรี่ ฟอนดา และสร้างโดยนายทุนหนังอิตาเลียนผู้โด่งดัง ดีโน เดอ ลอเรนติส


สามปีต่อมาหนังเข้าฉายในรัสเซียและสร้างความกริ้วแก่ Yekaterina Furtseva รมต.กระทรวงวัฒนธรรมของรัสเซียสุดขีด ถึงขั้นประกาศว่า ชาติของเธอจะต้องทำหนังเรื่องนี้ให้ดีกว่า และยิ่งใหญ่กว่า เพื่อทวงศักดิ์ศรีกลับคืนมาให้จงได้!

2. การควานหาตัวผู้กำกับสำหรับโปรเจกต์ประวัติศาสตร์คือขั้นต่อมา และผู้กำกับหนุ่ม เซียร์เกย์ บอนดาชุค วัย 41 ปี ก็คว้าตำแหน่งไปได้เพราะเข้าใจความต้องการของรัฐบาลครุชชอฟชัดเจนมากกว่าคนทำหนังเบอร์ใหญ่รุ่นพี่ๆ (ที่โตมาในยุคสตาลิน)

บอนดาชุคกระโจนใส่โอกาสนี้ชนิดเอาชีวิตเข้าแลก เขารู้ว่าอนาคตตัวเองฝากไว้กับมัน และรู้ว่าเขาจะต้องทำหนังเรื่องนี้ให้ถูกใจชาวรัสเซียมากที่สุด มันต้องเป็นหนังที่ยิ่งใหญ่ ตื่นตา สะเทือนใจ และสนุกด้วยในเวลาเดียวกัน หรือพูดสั้นๆ ว่า มันต้องชนะเวอร์ชั่นอเมริกันในทุกมิติ และต้องประสบความสำเร็จเท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น!

3. ค่าย Mosfilm เข้ามารับหน้าที่โปรดิวซ์ งานสร้างเริ่มตั้งแต่ปี 1961 และใช้เวลา 5 ปีเต็ม โดยรัฐบาลรัสเซียทุ่มทุนสร้างถึง 8.29 ล้านรูเบิล (เทียบตามอัตราเงินเฟ้อได้ราว 50-60 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในปัจจุบัน) ถือเป็นหนังโซเวียตที่ลงทุนสูงที่สุด และเปิดโอกาสให้บอนดาชุคเนรมิตความยิ่งใหญ่อย่างเต็มไม้เต็มมือ

(ตัวอย่างการใช้งบแบบไม่ต้องคิด คือฉากล่าหมาจิ้งจอกซึ่งบอนดาชุคต้องการใช้หมาบอร์ซอยของแท้เท่านั้นมาเข้าฉาก แต่บอร์ซอยที่ทีมงานหามาได้ 16 ตัวดันเป็นหมาที่สูญเสียสัญชาตญาณการดมกลิ่นไปแล้ว ทว่าแทนที่จะเปลี่ยนแผน บอนดาร์ชุคกลับยืนกรานว่าต้องทำให้ได้ ว่าแล้วเขาก็ไปยืมหมาป่าจากสวนสัตว์มา แล้วก็ยืมหมาที่เชี่ยวชาญการดมกลิ่นจากกระทรวงกลาโหมมา จากนั้นก็ปล่อยหมาป่าเข้าป่า ปล่อยหมาดมกลิ่นตามไป แล้วค่อยปล่อยบอร์ซอยให้วิ่งตามหมาดมกลิ่นไปอีกที ถามว่าเปลืองไหมยุ่งไหม? ก็ใช่ แต่แล้วไง ใครแคร์?)

นอกจากนั้น พิพิธภัณฑ์กว่า 40 แห่งทั่วประเทศยังพร้อมใจกันให้หนังยืมข้าวของมาสร้างภาพศตวรรษที่ 19 อย่างสมจริง ทั้งเฟอร์นิเจอร์, โคมระย้า, ฯลฯ ส่วนกองทัพก็ส่งทหารหลายพันนายและม้ามากมายมาเล่นบทเอ็กซ์ตร้าในฉากสงครามนโปเลียน และในฉากท้าย บอนดาร์ชุคก็ตบท้ายอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการยกกองไปใช้ที่ดินกว้างสุดลูกหูลูกตาเพื่อถ่ายทำฉากกรุงมอสโกถูกเพลิงไหม้ เป็นการสร้างความตื่นตาตื่นใจชนิดสุดบรรยาย ในยุคที่โลกยังไร้ซึ่งซีจี

4. ในแง่การเล่าเรื่อง บอนดาร์ชุคจ้างมือเขียนบทละครชั้นเลิศอย่าง วาซีลี โซลอฟยอฟ มาช่วย เขาตัดแต่งพล็อตย่อยๆ ในนิยายให้กระชับ, วางโครงสร้างเรื่องให้แบ่งออกเป็นตอน (โดยได้แรงบันดาลใจจากสไตล์ของเชคสเปียร์) และขับเน้นอารมณ์ตัวละครไปพร้อมๆ กับฉากสงครามยิ่งใหญ่ ทั้งหมดเพื่อให้หนังเป็นงานบันเทิงดูง่าย ลบภาพความเป็นเรื่องเล่าชั้นสูงที่ชาวบ้านเข้าไม่ถึง

ส่วนในด้านการแสดง ดาราบัลเล่ต์คนดังอย่าง ลุดมีลา ซาเวลเยวา ได้รับเลือกมาสวมบทนาตาชา (นางเอก) ขณะที่ตัวบอนดาร์ชุคนั้นราวกับแรงเหลือ เขายังเลือกตัวเองมารับบท ปีแอร์ ไฮโซผู้อาภัพ หนึ่งในสองพระเอกอีกต่างหาก

5. งานโปรดักชั่นระดับช้าง ภาพกว้างที่แสดงให้เห็นการทุ่มทุนมหาศาลทั้งแรงงานและเม็ดเงิน ดนตรีประกอบที่แสนสะท้านสะเทือน ทั้งหมดนั้นคือความทะเยอทะยานของคนทำหนังที่อาจลงเอยเป็นความล้มเหลวครั้งมโหฬารได้ทุกเมื่อ แต่โชคดีเหลือเกินที่ War and Peace ให้ผลตรงกันข้าม

ความเก่งกาจในการเล่าเรื่องของบอนดาร์ชุค ซึ่งขับเน้นทั้งชีวิตคนและสงครามให้ทำงานกับจิตใจคนดูเต็มที่ ทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนผันในชีวิตมนุษย์ตัวเล็กๆ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกใบใหญ่ที่มิอาจต้านทาน องค์ประกอบทั้งหมดนี้ส่งผลให้หนังสร้างปรากฏการณ์ทันทีที่ออกฉาย ด้วยการทำยอดขายตั๋วถล่มทลายถึง 135 ล้านใบในรัสเซียบ้านเกิด และเดินทางไปทำเงินในหลายประเทศทั่วโลก

นอกจากนั้น War and Peace ยังคว้ารางวัลกรังด์ปรีซ์จาก Moscow International Film Festival และรางวัลออสการ์กับรางวัลลูกโลกทองคำสาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม พร้อมกวาดคำชมในฐานะหนึ่งในหนังคลาสสิกเยี่ยมยอดที่สุดตลอดกาลของโลกมาอย่างงดงาม


หมายเหตุ : ผู้กำกับ เซียร์เกย์ บอนดาร์ชุค มีลูกสาวชื่อ นาตาเลีย บอนดาร์ชุค ซึ่งในเวลาต่อมาเธอคือนางเอกสุดสวยในหนังคลาสสิกเรื่อง Solaris ของ อังเดรย์ ทาร์คอฟสกี้ นั่นเองงงงงง

ใครอยากเรียนพื้นฐานการเขียนบท สร้างโปรเจกต์ การตลาด ทั้งหนัง/สารคดี/ซีรี่ส์/เกม/ละครออนไลน์ มาทางนี้ …ซันแดนซ์ใจดีส่ง 18 มาสเตอร์คลาสส์ให้ฟรีถึงบ้าน!

ปกติแล้ว ทุกๆ เดือนทางเทศกาลหนังซันแดนซ์จะมี “มาสเตอร์คลาสส์” พิเศษจากคนทำหนังสาขาต่างๆ ที่เปิดให้ทุกคนได้เข้าเรียน ใช้เวลาเรียนราว 3 ชั่วโมง และมีหัวข้อที่หลากหลายมากๆ นอกจากนั้นยังมีการเรียนหนังออนไลน์ที่ใช้เวลาเรียนหนึ่งเดือนขึ้นไป รวมทั้งมีบทความเกี่ยวกับการทำหนังให้อ่านกันด้วย

และข่าวดีคือ …ในช่วงสถานการณ์โควิดแบบนี้ ทางซันแดนซ์ก็ใจดีเปิดให้เราเข้าชมมาสเตอร์คลาสส์ทั้ง 18 คลาสส์ ฟรี! โดยการสมัครใช้เพียงอีเมลเท่านั้น!

18 คลาสส์สุดอลังการมีอะไรบ้าง ไปดูกัน (สองคลาสส์แรกเป็นคลาสส์ใหม่ซึ่งจะเปิดให้เรียนในเวลาที่กำหนด ส่วนที่เหลือสามารถเข้าเรียนได้เลย)

  1. การสร้างแบรนด์คอนเทนต์
    โดย Stacy Fuller จาก Refinery29 แฟชั่นไซต์ชื่อดังจากจากอเมริกา (เริ่มเปิดให้เรียน 23 เมษายน)
  2. การสร้าง Soundscape สำหรับหนัง
    โดย Peter Golub คนทำสกอร์ Frozen River, The Great Debaters (เริ่มเปิดให้เรียน 14 พฤษภาคม)
  3. การค้นหาและสร้างเรื่องราวสำหรับการทำหนังสารคดี
    โดย Roger Ross Williams ผู้กำกับ Life Animated และ Music by Prudence
  4. การเขียนบทหนังตลก
    โดย Victoria Strouse ผู้เขียนบท Finding Dory และ Just Like a Woman
  5. การดัดแปลงหนังสั้นเป็นหนังยาว
    (บอกเล่าประสบการณ์จากหนังเรื่อง Thunder Road) โดยผู้กำกับ Jim Cummings
  6. การเขียนบทซีรี่ส์ทีวีแนวตลก
    โดย Jenny Bicks ผู้ร่วมเขียนบท Sex and the City, Seinfeld, Dawson’s Creek
  7. การทำสารคดีจากประสบการณ์การลงพื้นที่จริง
    โดย Jennifer Fox ผู้กำกับ Beirut: The Last Home Movie, The Tale
  8. การเขียนบทหนัง ในหัวข้อการสร้างตัวละครที่ซับซ้อน การสร้างเรื่องและโลกในหนังที่สมจริง
    โดย Meg LeFauve ผู้เขียน Inside Out, Captain Marvel
  9. การเขียนบทซีรีส์
    โดย Glen Mazzara เจ้าของผลงาน The Walking Dead
  10. ขายหนังอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ
    เรียนรู้ทักษะกับ Jackie Miller โค้ชด้านการพูดและการสื่อสาร
  11. การสร้างเสียงของตัวคุณเองเพื่อสร้างความมั่นใจในการนำเสนอ
    โดย Jackie Miller อีกเช่นกัน
  12. สร้างการเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านหนัง
    โดย Jon Shenk และ Bonni Cohen ทีมผู้สร้าง An Inconvenient Truth
  13. อำนวยการสร้างหนัง โดยใช้แนวทางการเป็นผู้ประกอบการ
    โดย Jason Berman รองประธานบริษัท Mandalay Pictures
  14. การสร้างเว็บซีรีส์
    โดย Marv Lemus และ Linda Yvette Chavez ทีมผู้สร้าง Gentefied ซีรีส์ใน Netflix
  15. เวิร์คช็อป การดื่มด่ำไปกับการเขียนบท สร้างแรงบันดาลใจ
    โดย Colleen Werthmann ผู้เขียนบทให้กับโชว์มากมายในทีวีอเมริกา เช่น Oscars, Nightly Show with Larry Wilmore
  16. เกมเล่าเรื่องอย่างไร?
    เรียนรู้ทฎษฎีการสร้างเรื่องเล่าในเกมไปกับ Nick Fortugno เกมดีไซน์เนอร์ชื่อดัง เจ้าของผลงาน Dinner Dash
  17. การเขียนบทละครเวที
    โดย Marsha Norman เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ ผู้เขียนบท The Colour Purple
  18. คู่มือกฎหมายของคนทำหนัง เรียนรู้เรื่องลิขสิทธิ์และการต่อรองกับดิสทริบิวเตอร์
    โดย ทีมนักกฎหมายอเมริกา

ดูรายละเอียดคลาสทั้งหมดได้ ที่นี่

จูบๆ ตบๆ คบๆ เลิกๆ สายสัมพันธ์วงการหนัง & รัฐบาลอเมริกา

ถ้าจะหาให้คำนิยามความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับอุตสาหกรรมหนังในแต่ละประเทศ คงไม่มีคำใดชัดเจนเท่า “ทั้งรักทั้งชัง” (love hate relationship) โดยในแง่ของความรักนั้น มักอยู่ในรูปของการสนับสนุนที่รัฐมีให้แก่วงการ ไม่ว่าจะการให้ทุนหรือนโยบายการส่งเสริมต่างๆ ขณะที่ในแง่ของความชัง ก็มักอยู่ในรูปของการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด

แต่สำหรับสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีอุตสาหกรรมหนังใหญ่ที่สุดในโลก ความสัมพันธ์รักๆ ชังๆ มีความซับซ้อนมากกว่านั้นตามแบบประเทศเสรีประชาธิปไตย กล่าวคือ รัฐจะเข้าแทรกแซงน้อยที่สุด ส่วนอุตสาหกรรมเองก็รวมกลุ่ม ภายใต้ชื่อ สมาคมภาพยนตร์อเมริกา (Motion Picture Association of America – MPAA) มีสมาชิกหลักประกอบด้วยบริษัทสตูดิโอขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์และออกกฎเกณฑ์เพื่อดูแลกันเอง (หนึ่งในผลงานที่สำคัญของหน่วยงานนี้ก็คือ ระบบการจัดเรตติ้งหนังนั่นเอง)

แม้ความสัมพันธ์ของสองภาคส่วนนี้จะดูเหมือนต่างคนต่างอยู่ แต่ก็มีบางครั้งในประวัติศาสตร์ที่อุตสาหกรรมหนังอเมริกันและรัฐบาลมีเหตุให้ต้องตบๆ จูบๆ กันเป็นระยะ ตัวอย่างเหตุการณ์ที่น่าสนใจก็เช่น

กรณี Hays Code

Hays Code คือข้อปฏิบัติและข้อควรระวังสำหรับคนทำหนัง คิดขึ้นมาในปี 1930 โดย วิลเลี่ยม เฮย์ส ผู้อำนวยการสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกา (Motion Picture Producers And Distributions of America – ชื่อเก่าก่อนเปลี่ยนเป็น MPAA) เหตุผลที่เฮย์ต้องออกหลักการควบคุมเนื้อหาก็เพราะในช่วงนั้นหนังได้รับความนิยมมากและมีเนื้อหาหลากหลาย ซึ่งรวมถึงความรุนแรงและฉากล่อแหลม เสียงบ่นของประชาชนเริ่มลอยไปเข้าหูรัฐบาลของประธานาธิบดี เฮอร์เบิร์ท ฮูเวอร์ เข้า รัฐจึงคิดจะตั้งกองเซ็นเซอร์ (National Censorship Board) เฮย์สเห็นว่าหากปล่อยให้รัฐเข้ามายุ่งคงไม่ดีแน่จึงชิงออกกฎเองก่อน ทำให้วงการหนังรอดพ้นจากมือรัฐมาได้อย่างหวุดหวิด

(ต่อมาข้อปฏิบัติของเฮย์ – ซึ่งหลายคนเรียกว่า ระบบเซ็นเซอร์ตัวเองของฮอลลีวูด – ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นระบบการจัดเรตหนังที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน)

กรณีรัฐบาล vs ค่ายพาราเมาท์

ศึกครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อฮอลลีวูดเข้าสู่ยุคทอง (golden age) ในทศวรรษ 1930 บริษัทหลายแห่งแปลงสภาพเป็นโรงงานผลิตความฝันขนาดใหญ่ โดยควบรวมทุกกระบวนการการทำหนัง ตั้งแต่ผลิต จัดจำหน่ายและฉายเอง สตูดิโอยักษ์ใหญ่ต่างมีโรงหนังของตัวเองและกีดกันโรงหนังอิสระ เหล่าผู้ประกอบการโรงหนังอิสระไม่สามารถแข่งขันได้จึงหันไปพึ่งรัฐบาล และรัฐบาลก็ตอบรับด้วยการฟ้องสตูดิโอซะเลย นำโดยบริษัทพาราเมาท์และพวกอีก 7 บริษัทในข้อหาผูกขาดธุรกิจ (anti trust)

การฟ้องร้องเริ่มต้นในปี 1938 และลากยาวไปจนถึง 1948 ซึ่งศาลสูง (supreme court) ตัดสินให้พาราเมาท์เป็นฝ่ายผิดนับแต่นั้นมา บริษัทสตูดิโอก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ได้อีกเลย

กรณีสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อรัฐบาลอเมริกาตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1941 ประธานาธิบดีรูสเวลท์ได้เรียกประชุมบุคลากรทุกภาคส่วนของฮอลลีวูด แล้วโยนคำถามสำคัญว่า “หนังจะช่วยให้เราชนะสงครามได้ไหม” (“Will this picture help win the war?”) และคำตอบของเหล่าชาวฮอลลีวูดรักชาติก็คือ การสร้างหนังปลุกใจออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงสงคราม อาทิ Der Fuehrer’s Face (1942 หนังการ์ตูนล้อเลียนฮิตเลอร์ของวอลท์ ดิสนีย์), Battle of Midway (1942 ของจอห์น ฟอร์ด), The Memphis Belle: A Story of a Flying Fortress (1944 ของวิลเลียม ไวเลอร์)

กรณีบัญชีดำฮอลลีวูด

ในช่วงกลางทศวรรษ 1940 ถึงกลาง 50 รัฐบาลอเมริกันได้สร้างกระแสความเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ไปทั่วประเทศ ส่งผลกดดันให้คนในวงการหนังต้องหันมาตรวจสอบกันเองว่าใครมีแนวโน้มนิยมคอมมิวนิสต์บ้าง เพื่อนำรายชื่อแจ้งต่อทางการ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้คนทำหนังหลายคนต้องตกงาน ถูกสังคมเกลียดชัง โดยสมาคม MPAA ก็ไม่เคยช่วยปกป้อง ถือเป็นตราบาปที่ยังคงตราตึงอยู่ในวงการหนังอเมริกันจนถึงทุกวันนี้

กรณีปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

ถึงคราวที่อุตสาหกรรมหนังต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลบ้าง โดยสมาคม MPAA เริ่มมองเห็นปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค 80 โดยเฉพาะจากความนิยมของสื่อวิดีโอที่เพิ่มขึ้น และศักยภาพของเครื่องเล่นเทปวิดีโอก็สามารถทำสำเนาม้วนเทปผิดกฎหมายได้ แถมเมื่อต้องฟ้องร้องดำเนินกฎหมาย ฝ่ายคนทำหนังก็มักจะแพ้ ทางแก้ของสมาคมภาพยนตร์จึงคือการผลักดันให้การละเมิดลิขสิทธิ์กลายเป็นความผิดทางกฎหมายไปเสียเลย

ว่าแล้ว แจ็ค วาเลนติ ประธานสมาคมยุค 80 ก็ดำเนินการล็อบบี้ฝ่ายการเมืองในรัฐบาลให้ผลักดันกฎหมายต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ และบังคับใช้ไม่เพียงแค่ในประเทศ แต่ยังรวมถึงทั่วโลกอีกด้วย โดยไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกกดดันจากรัฐบาลอเมริกาให้ดำเนินการปราบปรามหนังละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง

5 ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบจะรักก็ไม่ใช่-จะชังก็ไม่เชิงของรัฐบาลและอุตสาหกรรมหนังได้เป็นอย่างดี และความสัมพันธ์แบบนี้จะยังดำเนินต่อไปตราบใดที่หนังยังคงสถานะการเป็น “อำนาจอย่างอ่อน” (soft power) ยังได้รับประโยชน์จากรายได้มหาศาลทั่วโลก และยังสามารถเป็นเครื่องมือของรัฐในการเผยแพร่อุดมการณ์แบบอเมริกันได้ดังที่เป็นอยู่

มาทำความรู้จัก “ระบบโควตา” ของจีนกันเถอะ

เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวว่า บริษัท Huayi Brothers ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์รายใหญ่ของจีน พยายามเรียกร้องให้โปรดิวเซอร์หนังเรื่อง John Wick จ่ายเงิน 2.4 ล้านเหรียญคืน เนื่องจากหนังไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ในจีน แต่โปรดิวเซอร์ปฏิเสธ เนื่องจากมองว่า Huayi Brothers อาจตั้งใจไม่ฉายเองเพราะคิดว่าหนังคงไม่ทำเงิน ก็เลยเลี่ยงบาลีอ้างเรื่องเซ็นเซอร์แทน

ข่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า การจัดจำหน่ายหนังต่างประเทศในจีนนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและค่อนข้างซับซ้อนมาก เพราะ 1) ประเทศจีนมีระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด และ 2) ประเทศจีนมี “ระบบโควตา” สำหรับหนังต่างประเทศที่จำกัดมาก (นับถึงตอนนี้ มีหนังต่างประเทศแค่ 60 เรื่องเท่านั้นที่มีสิทธิได้เข้าฉายในจีนแต่ละปี)

สำหรับประเด็นเรื่องเซ็นเซอร์ คงไม่ต้องอภิปรายกันเยอะ เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่า จีนปกครองด้วยระบบสังคมนิยม (หรือจะเรียกอย่างร่วมสมัยว่า ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์) กฎเกณฑ์ในการตรวจสอบจึงเข้มงวดเป็นพิเศษ แต่ประเด็นเรื่อง “โควตา” เป็นสิ่งที่น่าพูดถึงมากกว่า โดยเฉพาะคำถามที่ว่า ระบบโควตาคืออะไร และทำรัฐบาลจีนถึงต้องสร้างระบบนี้ขึ้นมา ?

ทำไมจีนต้องมีโควตา

เราต้องเริ่มด้วยการย้อนไปในปี 1993 หรือ 15 ปีหลังจาก เติ้งเสี่ยวผิง ประกาศนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมจีนซึ่งเคยหยุดชะงักไปเพราะการปฏิวัติวัฒนธรรม (ปี 1966-1976) จึงกลับมาคึกคัก ก่อนจะสะดุดลงอีกครั้งในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 เพราะหนังที่สร้างออกมานั้นมีแต่หนังเชิดชูอุดมการณ์น่าเบื่อ รายได้ Box office ก็เลยตกต่ำ รัฐบาลจึงเห็นว่าทางเดียวที่จะกระตุ้นยอดรายได้คือ การเปิดให้มีการนำเข้าหนังจากฮอลลีวูดเข้ามาฉายนั่นเอง

หนังฮอลลีวูดเรื่องแรกที่ได้รับเลือกมาฉายคือ The Fugitive ที่นำแสดงโดยแฮริสัน ฟอร์ด แล้วก็ได้ผลจริง ๆ โดยหนังทำรายได้ไปกว่า 3 ล้านเหรียญ แต่แทนที่รัฐบาลจีนจะดีใจ กลับเริ่มกังวลขึ้นมาแทน เพราะกลายเป็นว่าหนังต่างประเทศทำเงินชนะหนังจีนเอง

หนังฮอลลีวูดเรื่องแรกที่ได้รับเลือกมาฉายคือ The Fugitive ที่นำแสดงโดยแฮริสัน ฟอร์ด แล้วก็ได้ผลจริง ๆ โดยหนังทำรายได้ไปกว่า 3 ล้านเหรียญ แต่แทนที่รัฐบาลจีนจะดีใจ กลับเริ่มกังวลขึ้นมาแทน เพราะกลายเป็นว่าหนังต่างประเทศทำเงินชนะหนังจีนเอง

ดังนั้นในปี 1996 รัฐบาลภายใต้การดำเนินการของกระทรวงวิทยุภาพยนตร์และโทรทัศน์ (RFT) จึงออกกฎหมายควบคุมการนำเข้าให้เหลือปีละ 10 เรื่อง โดยในระยะแรกกำหนดเงื่อนไขว่า บริษัทที่จะนำเข้าหนังต่างประเทศได้จะต้องผลิตหนังจีนที่ “มีคุณภาพ” อย่างน้อยหนึ่งเรื่องด้วย และต่อมาก็ได้เปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้มีแค่ 2 บริษัทเท่านั้นที่มีสิทธิ์จัดจำหน่ายหนังต่างประเทศได้ ได้แก่ บริษัท China Film Group และ Huaxia Film Distribution ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้รัฐเป็นเจ้าของ

จุดเปลี่ยนสำคัญของระบบโควตา เกิดขึ้นหลังปี 2001 เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก รัฐบาลถูกบีบให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์หลายอย่างรวมถึงเงื่อนไขในการจัดจำหน่าย โดยเฉพาะ 1) จำนวนโควตานำเข้าที่บริษัทจัดจำหน่ายต่างประเทศโดยเฉพาะฮอลลีวูดมองว่าน้อยเกินไป และ 2) เงื่อนไขแบ่งกำไร (เพราะ China Film Group และ Huaxia Film Distribution เรียกสูงมาก เริ่มจาก 87% ในช่วงเริ่มต้นนำเข้าใหม่ ๆ)

ผลจากการต้องปรับตัวเข้ากับระบบการค้าแบบใหม่ ทำให้จีนต้องยอมผ่อนปรนโควตานำเข้า จาก 10 เรื่องต่อปี มาเป็น 36 เรื่องในปัจุบัน ส่วนเงื่อนไขส่วนแบ่งกำไรก็ปรับจาก 87% ลดมาเป็น 75%

วิธีปรับตัวของค่ายหนังที่มุ่งหวังทำเงินในจีน

แม้รัฐบาลจีนจะเพิ่มจำนวนโควตาแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศอยู่ดี โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ตลาดหนังจีนกำลังพุ่งแรงจนจะขึ้นมาเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนอเมริกาไปแล้ว ดังนั้นหลายบริษัทในโลกจึงต้องหาทางปรับตัวเข้ากับเข้ากับระบบที่เปลี่ยนแปลงยากนี้ด้วยการ

1) สร้างความสัมพันธ์กับสองบริษัทจีนที่ได้รับสิทธิ์จัดจำหน่ายให้มากที่สุด ด้วยความหวังว่าหนังจะได้เข้าไปฉายในตลาดอันใหญ่โตของจีน แต่บริษัทที่จะเข้าถึง China Film Group และ Huaxia Film Distribution ได้ง่ายๆ ก็ต้องใหญ่พอด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกสตูดิโอในฮอลลีวูดนั่นแหละ

2) ส่วนค่ายจัดจำหน่ายที่เข้าไม่ถึง แต่ยังอยากให้หนังตัวเองได้เข้าไปฉายในจีนบ้าง ก็หันมาใช้วิธีขายสิทธิ์หนังผ่าน “บริษัทตัวแทน” ซึ่งมีมากมายในจีน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าหนังเหล่านี้จะผ่านโควตาได้ (เพราะทุกบริษัทมักอ้างว่าตัวเองมีสายสัมพันธ์กับ China Film Group และ Huaxia Film Distribution ทั้งนั้น ทว่าเอาเข้าจริงสองบริษัทใหญ่ดังกล่าวก็อาจไม่เหลียวแลหนังเล็กหนังน้อยเหล่านี้เลยก็ได้)

3) อีกวิธีหนึ่งที่บริษัทในต่างประเทศใช้ เพื่อให้หนังมีโอกาสฉายในจีน ก็คือร่วมลงทุนกับ China Film Group และ Huaxia Film Distribution เสียเลย (เช่น บริษัท Legendary Pictures ของอเมริกา ร่วมลงทุนกับ China Film Group สร้างหนังเรื่อง The Warcraft ออกฉายในปี 2016 ซึ่งที่ตลกคือ หนังเจ๊งในอเมริกา แต่รายได้จากจีนก็ทำให้หนังไม่ขาดทุน แถมได้กำไรอีกต่างหาก)

ระบบโควตานี่จะเป็นสิ่งที่ต้องถกเถียงกันไปอีกเยอะภายใต้ระบบการค้าเสรี อเมริกาคงหาทางกดดันให้จีนยอมผ่อนกฎให้ได้มากที่สุด ขณะที่จีนเองก็รู้ว่า ถ้าเปิดตลาดแบบเสรีเมื่อไหร่ อุตสาหกรรมหนังในประเทศตนได้รับผลกระทบแน่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ตลาดหนังจีนกำลังร้อนแรง (อย่างน้อยก็ก่อนช่วงวิกฤตโควิด) เช่นนี้

แกะรอยข้อมูลโรคระบาดใน Contagion

เมื่อโลกต้องเผชิญกับโควิด-19 ยอดผู้เช่าหนัง Contagion ใน iTunes ได้ทะยานสูงเป็นอันดับ 2 ของปี 2020 นั่นเพราะเหตุการณ์โรคระบาดในหนังปี 2011 ของ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก เรื่องนี้แทบจะเทียบเคียงกับการระบาดของไวรัสโคโรน่าได้เลย โดยไวรัสในหนังมีจุดเริ่มต้นที่ฮ่องกงก่อนจะแพร่ผ่านพาหะอย่าง เบธ (กวิเน็ธ พัลโทรว์) ระบาดต่อไปถึงอเมริกา และภายในเวลาไม่กี่วัน เจ้าเชื้อไวรัสอุบัติใหม่นี้ก็กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาการของโรคดังกล่าวก็แทบไม่ต่างจากโควิด-19 ที่กำลังคุกคามโลกในขณะนี้

หนังเขียนบทโดย สก็อตต์ ซี เบิร์นส และมีที่ปรึกษาเป็น ดร.เอียน ลิปกิน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา, ประสาทวิทยา และพยาธิวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ค ซึ่งเขาคนนี้เองที่ออกมาให้ข้อมูลด้านระบาดวิทยาในช่วงปี 2003 ขณะที่โลกกำลังตื่นกลัวโรคซาร์ส ทำให้โซเดอร์เบิร์กและเบิร์นสชวนมาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับหนังเรื่องใหม่ซึ่ง “จะนำเสนอความเสี่ยงต่อโรคระบาดบนพื้นฐานของความเป็นจริง” และนั่นก็คือ Contagion

สิ่งที่ลิปกินเข้าไปช่วยเบิร์นสนอกจากเรื่องข้อมูลแล้ว เขายังพา เคต วินเสล็ต และ เจนนิเฟอร์ อีห์ลี ไปดูงานในห้องแล็บ ซึ่งรับบทเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยากับนักเทคนิคการแพทย์ตามลำดับ ตามไปออกกองเพื่อดูแลความถูกต้องของเสื้อผ้าหน้าผม องค์ประกอบฉากต่างๆ และช่วยออกแบบโครงสร้างสามมิติของตัวไวรัส MERV-1 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสสมมติ

ในช่วงปี 2003 ขณะที่โลกกำลังตื่นกลัวโรคซาร์ส ทำให้โซเดอร์เบิร์กและเบิร์นสชวนมาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับหนังเรื่องใหม่ซึ่ง “จะนำเสนอความเสี่ยงต่อโรคระบาดบนพื้นฐานของความเป็นจริง”

ลิปกินอธิบายเชื้อ MERV-1 เอาไว้ว่า “มันเป็นเชื้อตระกูล ‘พารามิกโซไวรัส’ ซึ่งจะติดเชื้อที่ปอดและสมอง โดยมีโมเดลอ้างอิงมาจากโรคสมองอักเสบนิปาห์เพราะเราอยากได้โรคที่สามารถสร้างความน่ากลัวผ่านศิลปะภาพยนตร์ได้ดีกว่าแค่การติดต่อทางลมหายใจ” โรคสมองอักเสบนิปาห์เป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีรายงานครั้งแรกเมื่อปี 1999 โดยเป็นเชื้อที่เกิดจากไวรัสในค้างคาวแล้วติดต่อมาสู่หมู และมนุษย์ติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งโดยตรง “เราทำการบ้านเยอะมากเกี่ยวกับโรคสมองอักเสบนิปาห์โดยติดตามการระบาดของมันในบังคลาเทศ ตรวจหาภูมิคุ้มกันและวิธีการรักษาด้วยความหวังว่าจะช่วยป้องกันภาวะสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสนิปาห์ได้บ้าง โอเคมันอาจจะเป็นความประสงค์ส่วนตัวของผม แต่มันก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการที่จะเชื่อมโยงไวรัสกับหมูและค้างคาวซึ่งมันคงน่าสนใจดีเวลานำเสนอ เราลองเลือกเชื้อไวรัสชนิดอื่นมาแล้วแต่นี่เหมาะกับหนังเรื่องนี้ที่สุด”

ในบทบาทของนักระบาดวิทยา ลิปกินมองว่าการให้คำปรึกษานี้เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชีวิต เพราะมันได้สร้างคุณูปการให้กับงานสาธารณสุขไว้มากมาย โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโคโรน่าแล้ว Contagion ยังถูกหยิบยกมาเพื่อการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง “คนกลับมาดูมันใหม่เพราะคนส่วนใหญ่อยากรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป หลักในการรับมือของงานสาธารณสุขเป็นแบบไหน

“เมื่อโรคติดต่อกลายมาเป็นโรคระบาด ความสนใจของผู้คนได้ยกระดับจาก ‘มันเกิดขึ้นได้ยังไง?’ ไปสู่การรับมือกับมันอย่างจริงจัง”

ซึ่งหากมันสามารถทำได้ถึงขั้นนั้น ก็ถือเป็นการบรรลุวัตถุประสงค์ของลิปกินที่พยายามให้ข้อมูลเรื่องโรคระบาดสู่สาธารณะมาโดยตลอด และเมื่อถึงเวลาที่ทุกคนกำลังต้องการข้อมูลอย่างเข้มข้น บทบาทของหนัง Contagion กลับทำหน้าที่ได้มากกว่าแค่ให้ความบันเทิง และนี่คือสิ่งที่อยู่นอกเหนือความตั้งใจของผู้กำกับโซเดอร์เบิร์กอย่างแน่นอน

RETROSPECTIVE : “มอนตี้ไพท่อน” ตลกเพี้ยน เฮี้ยนข้ามศตวรรษ!

ในวงการตลกของโลกตะวันตก มีคำกล่าวขานกันว่า “เดอะบีเทิลส์ทรงอิทธิพลต่อวงการดนตรีฉันใด มอนตี้ไพท่อนก็ทรงอิทธิพลต่อวงการตลกฉันนั้น!”

อาจจะฟังเว่อร์ไปนิด เพราะหนึ่งในคนที่เคยพูดทำนองนี้คือ นีล ไกแมน นักเขียนคนดังซึ่งก็เป็นคนอังกฤษเหมือนทั้งบีเทิลส์และไพท่อน แต่เราก็คงปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของไพท่อนได้ยาก เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่านักแสดงตลกโดยเฉพาะในอังกฤษและอเมริกาได้รับอิทธิพลจากพวกเขามาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแซทเทอร์เดย์ ไนท์ ไลฟ์, ซาชา บารอน โคเฮน, โรแวน แอทกินสัน (มิสเตอร์บีน), เซ็ธ แม็กฟาร์เลน, เทรย์ พาร์กเกอร์ กับ แม็ตต์ สโตน (คู่หูผู้สร้างการ์ตูนเซาท์พาร์ค), ไมค์ มายเออร์ส, แม็ตต์ โกรนนิง (ผู้สร้างการ์ตูนเดอะซิมป์สันส์)

รวมถึง จิม แคร์รี ซึ่งเปรียบไพท่อนเป็น “ซูเปอร์จัสติซลีกแห่งวงการตลก” และ จอห์น โอลิเวอร์ ที่ให้นิยามว่า “พวกเขาคือกลุ่มคนพิลึก เจ้าของมุกตลกที่ไร้ความเคารพสังคมแต่สุดจะอัจฉริยะ จินตนาการสูงลิบลิ่ว และเป็นไอ้โง่งั่งที่สร้างแรงบันดาลใจต่อทั้งคนร่วมรุ่นและรุ่นถัดมาอย่างมหาศาล” (ชม)

สมาชิกก่อตั้งดั้งเดิมของมอนตี้ไพท่อนมี 5 คน ได้แก่ แกรห์ม แชปแมน, จอห์น คลีส, เทอร์รี กิลเลียม, อีริก ไอเดิล, เทอร์รี โจนส์ และ ไมเคิล เพลิน ซึ่งช่วยกันเขียนบท แสดง (บางทีก็แสดงกันคนละหลายๆ บทในเรื่องเดียวกันนั่นแหละ) และมีกิลเลียมคอยทำแอนิเมชั่นด้วยสไตล์สุดแสนจะเป็นเอกลักษณ์ พวกเขาเริ่มโด่งดังจากการเข้าไปทำรายการทีวีชื่อ Monty Python’s Flying Circus ทางช่องบีบีซีตั้งแต่ปี 1969 และประสบความสำเร็จจนได้ทำต่อเนื่องถึง 45 ตอน กับอีก 4 ซีรี่ส์ แล้วกลายเป็นปรากฏการณ์ลุกลามไปสู่การได้เดินสายโชว์, ทำหนัง, ออกอัลบั้ม, ออกหนังสือ, ทำละครเพลง ฯลฯ ซึ่งยังคงมีผู้ติดตามเหนียวแน่นมาจนทุกวันนี้

(จากซ้าย) อีริก ไอเดิล, แกรห์ม แชปแมน, ไมเคิล เพลิน, จอห์น คลีส, เทอร์รี โจนส์ และ เทอร์รี กิลเลียม

ถ้าจะให้สรุปสไตล์มุกตลกของไพท่อนแบบสั้นๆ คงได้ว่า “เซอร์เรียล + แหกกฎ” เพราะมันทั้งเต็มไปด้วยมุกซึ่งเอาเรื่องปกติในชีวิตคนชั้นกลางมาเล่นล้อเลียน เสียดสี ทำให้กลายเป็นเรื่องไม่ปกติ, ก้ำกึ่ง-ข้ามเส้นไปมาระหว่างการเป็นมุกโชว์สติปัญญากับสิ่งที่เรียกว่ามุกควาย และก็ท้าทายรูปแบบของการนำเสนอตามขนบแบบไม่เกรงใจคนดู

ตัวอย่างเช่น การเปิดรายการด้วยการให้ ไมเคิล เพลิน ใส่ชุดโรบินสัน ครูโซ ออกเดินทางทุลักทุเลตรงเข้ามากล้อง เพื่ออ้าปากพูดว่า “มัน….” เหมือนกำลังจะเล่าตำนานสำคัญ แต่แล้วรายการก็ตัดเข้าไตเติลไปเฉยๆ (แถมบางครั้งอีฉากเปิดนี้ก็ลากยาวไปถึงกลางรายการโดยไม่มีสาระอะไรเลย), บางตอนเล่นกันมาถึงครึ่งรายการ ไตเติลปิดก็โผล่เข้ามาเหมือนรายการจบกะทันหัน ตามด้วยโลโก้บีบีซีและเสียง จอห์น คลีส พากย์เลียนแบบผู้ประกาศข่าวของช่อง และมีอยู่หนหนึ่งที่พอไตเติลเปิดรายการจบปุ๊บ ก็ตามด้วยไตเติลปิดรายการทันที, บางตอนจบรายการด้วยการตัดเข้าแอนิเมชั่นที่ไม่เกี่ยวอะไรกับทั้งหมดก่อนหน้านั้นเลย, บางตอนจบโดยที่นักแสดงเดินออกจากฉากไปหน้าตาเฉย และมีตอนหนึ่งที่ตัวละคร “ท่านนายพล” เดินเข้ามาชี้หน้าด่าให้เลิกเล่นตลกได้แล้วเพราะ “มุกพวกแกงี่เง่าเกินไป”!

ความติงต๊อง แหกกฎ และล้มล้างรูปแบบเช่นนี้ปรากฏในงานทุกยุคทุกสมัยของไพท่อน ดังที่ จอห์น คลีส บอกว่า “การต่อต้านอำนาจนิยมคือสิ่งที่ฝังแน่นในตัวตนของเรา”

การที่รายการเฮี้ยนๆ แบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ 51 ปีที่แล้ว แถมเกิดขึ้นในช่องทางการสุดๆ อย่างบีบีซีอีกต่างหาก ย่อมสร้างความช็อคแก่ทั้งคนดูและวงการ (อันนี้ต้องยอมใจบีบีซี) ความดังในช่วงต้นของพวกเขาเป็นระดับคัลต์ ก่อนจะกลายเป็นแมสส์ แล้วพอเป็นแมสส์ก็โดนด่า และต่อมาคนด่าก็โดนแฟนด่าอีกที จนแม้เมื่อเวลาผันผ่านมาเกิน 50 ปี ความแปลกแตกต่าง ชาญฉลาดและบ้าคลั่งไม่แคร์โลกเช่นนี้ก็ยังมีทั้งคนรักคนเกลียด มุกตลกสไตล์ไพท่อนถูกเรียกว่า “Pythonesque” ซึ่งกลายเป็นศัพท์ที่แปลว่า “มุกตลกเหนือจริง”

อย่างไรก็ตาม สมาชิกคนสำคัญอย่าง เทอร์รี โจนส์ ไม่พอใจสิ่งนี้ เขาบอกว่า มอนตี้ไพท่อนตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างแนวทางใหม่อันยากจะจัดหมวดหมู่ได้ การที่แนวทางนั่นดันถูกบัญญัติเป็นศัพท์ขึ้นมาแสดงว่าความตั้งใจของพวกเขาล้มเหลว!

ความติงต๊อง แหกกฎ และล้มล้างรูปแบบเช่นนี้ปรากฏในงานทุกยุคทุกสมัยของไพท่อน ดังที่ จอห์น คลีส บอกว่า “การต่อต้านอำนาจนิยมคือสิ่งที่ฝังแน่นในตัวตนของเรา”

ความเป็นตำนานของไพท่อน ยังยืนยันได้ด้วยสารพัดรางวัลที่พวกเขาได้รับ เช่น บาฟตาสาขา Outstanding British Contribution To Cinema, รางวัล AFI Star Award จากสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน, สามสมาชิกของวงคือ คลีส, ไอเดิล และเพลิน ได้รับโหวตให้ติดอันดับ “สุดยอดแห่งดาราตลกโลกที่พูดภาษาอังดฤษ” เมื่อปี 2005 และผลงานหนังของพวกเขาอย่าง Holy Grail กับ Life of Brian ก็ติดอันดับหนังตลกยอดเยี่ยมที่สุดของโลกแทบทุกครั้งที่มีการโหวตสายนี้กัน

ใครอยากลองเสพงานมอนตี้ไพท่อน คลิกเข้า Netflix ตอนนี้จะเจอขุมคลัง ซึ่งเราขอเลือก 4 เรื่องต่อไปนี้ที่ไม่อยากให้พลาด

Monty Python’s Life of Brian (1979)

เจ้าของตำแหน่ง “หนังอังกฤษที่ฮาที่สุดตลอดกาล” จากการโหวต เล่าชีวประวัติชายหนุ่มดวงซวยนาม “ไบรอันแห่งนาซาเรธ” ที่ดันเกิดวันเดียวกับ “เยซูแห่งนาซาเรธ” แถมยังบ้านอยู่ใกล้กัน เลยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นนักต่อสู้และพระผู้ไถ่บาป (แม้หนังจะบ้าบอสุดๆ แต่ก็โดนแบนในหลายประเทศเมื่อครั้งสร้างเสร็จด้วยข้อหาดูหมิ่นศาสนา)

ดูหนังได้ที่ Netflix

Monty Python and the Holy Grail (1975)

หนังยาวเรื่องแรกของไพท่อน ที่หยิบตำนานกษัตริย์อาร์เทอร์กับเหล่าอัศวินโต๊ะกลมออกผจญภัยตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์มายำจนเละ มันเป็นหนังทำเงินสูงสุดของอังกฤษในปี 1975 และได้รับโหวตจากชาวอังกฤษให้ครองอันดับ 5 ใน “หนังตลกที่สุดตลอดกาล” ของนิตยสาร Total Film เมื่อปี 2000 (เรื่องนี้เคยเข้าฉายในไทย ใช้ชื่อว่า “อัศวินโต๊ะเบี้ยว”)

ดูหนังได้ที่ Netflix

Monty Python’s Personal Best

ชาวคณะคัดสรรตอนโปรดของตัวเอง (ทั้งจากรายการทีวี Flying Circus, รายการ Fliegender Zirkus ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นในเยอรมัน และ Monty Python Live at the Hollywood Bowl) มาคนละ 1 ตอน รวมเป็นมินิซีรี่ส์ 6 ตอนจบชุดนี้ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นทั้งจุดร่วมและความแตกต่างของสมาชิกแต่ละคนอย่างครบครัน

ดูหนังได้ที่ Netflix

Monty Python: Almost the Truth (Lawyers Cut)

เห็นแล้วยอมแพ้ตั้งแต่การเป็นเวอร์ชั่น “Lawyers Cut” 5555 จริงๆ แล้วนี่เป็นซีรี่ส์สารคดีสัมภาษณ์สมาชิกวง (และมีฟุตเตจเก่าของ แกรห์ม แชปแมน ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนตั้งแต่ปี 1989 ด้วย) ว่าด้วยตำนานที่ชาวคณะสร้างไว้ มากมายไปด้วยคลิปที่แฟนๆ ไม่น่าจะเคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน

ดูหนังได้ที่ Netflix

อำลา คริสช์ตอฟ เปนเดเรซกี ผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าของสกอร์สุดหลอนใน The Shining

The Shining, The Exorcist, Shutter Island, Twin Peaks, Black Mirror …ถ้าจะมีอะไรสักอย่างเป็นจุดร่วมทรงพลังของหนังและซีรี่ส์เหล่านี้นอกเหนือไปจากพล็อตชวนสยองแล้วล่ะก็ สิ่งนั้นย่อมคือเสียงสกอร์อันสุดหลอนฝีมือคอมโพสเซอร์ชาวโปแลนด์ผู้ยิ่งใหญ่นาม “คริสช์ตอฟ เปนเดเรซกี” ผู้นี้!

อันที่จริงเปนเดเรซกีไม่ใช่คอมโพสเซอร์เพลงหนัง แต่งานดนตรีที่มีความเป็นนามธรรมและเสียงที่ฟังดูแปลกประหลาดให้ความรู้สึกทั้งหลอนทั้งอลังการ ทำให้มันถูกหยิบไปใช้ในหนังระทึกขวัญสยองขวัญของผู้กำกับชั้นครูมากมาย (นอกจากข้างต้น ยังมีอาทิ Wild at Heart กับ Inland Empire ของเดวิด ลินช์, Children of Men ของ อัลฟองโซ กัวรอง, Fearless ของปีเตอร์ เวียร์ หรือกระทั่งหนังแอ็กชันหายนภัยอย่าง Twister และงานใหม่ๆ อย่าง Demon หนังสยองขวัญโปแลนด์)

และก็เขาคนนี้นี่แหละที่เป็นแรงบันดาลใจใหญ่โตที่สุดของ จอห์นนี กรีนวู้ด มือกีตาร์-คีย์บอร์ดวงเรดิโอเฮดที่หันมาเอาดีกับการทำซาวด์แทร็คหนังของผู้กำกับ พอล โทมัส แอนเดอร์สัน (There Will Be Blood, Phantom Thread, The Master) เล่ากันว่า สหายข้ามรุ่นคู่นี้เจอกันครั้งแรกหลังคอนเสิร์ตครั้งหนึ่ง เมื่อฝ่ายหลังทำตัวเป็นแฟนบอยเข้าไปขอจับมือกับฝ่ายแรก หลังจากนั้นมิตรภาพทางดนตรีก็เบ่งบานด้วยการร่วมกันทำคอนเสิร์ตในปี 2011 ที่ทำให้เปนเดเรซกีหัวใจฟู เพราะมีคนหนุ่มสาวผู้อาจไม่เคยฟังงานของเขามาก่อนเลย เข้ามาชมแน่นออดิทอเรียมถึงกว่า 9 พันคน !

ในโลกดนตรีคลาสสิก เปนเดเรซกีเริ่มสร้างงานมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นเจ้าของซิมโฟนี 8 ชิ้น, โอเปร่า 4 ชิ้น, คอนแชร์โตและคอรัลมากมาย โดยส่วนใหญ่ขึ้นชื่อว่านักดนตรีนำไปเล่นได้ “ยากมาก” (คนที่เคยทำสำเร็จก็เช่น แอนน์-โซฟี มุทเธอร์ นักไวโอลิน และ มาติสลาฟ รอสโตรโปรวิช นักเชลโล ซึ่งเป็นขั้นเทพทั้งคู่) และหลายเพลงต้องอาศัยพลังทั้งในการออกแบบและการคุมวงอย่างมหาศาล เช่น ซิมโฟนีหมายเลข 7 “Seven Gates of Jerusalem” ที่เขาแต่งขึ้นเพื่อฉลองสหัสวรรษที่ 3 ของเยรูซาเลมในปี 1996 ประกอบด้วยออร์เคสตราวงใหญ่, เครื่องเป่าทองเหลืองกับเครื่องเป่าลมไม้, วงประสานเสียง 3 วง, โซโล่ 5 ชิ้น และมีเสียงบรรยายอีกต่างหาก!

“ความมืดมิด หดหู่ และให้ความรู้สึกถึงลางร้าย” คืออารมณ์หลักในงานของเปนเดเรซกี ซึ่งน่าจะเป็นผลจากอดีตแสนเศร้าในชีวิตของเขาเอง เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ผมเกิดและโตในโปแลนด์ วัยเด็กมีแต่สงคราม ลุงกับอาถูกเยอรมันฆ่าตาย บ้านเราตั้งอยู่กลางเมือง หลังบ้านคือค่ายกักกันคนยิว แม้เมื่อสงครามจบไปแล้ว เราก็ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้รัฐบาลหุ่นอีกถึง 45 ปี เป็นยุคสมัยที่การเมืองไม่มีเสรีภาพใดๆ ทั้งนั้น ทุกสิ่งอยู่ใต้บังคับการของมอสโก”

แสงสว่างเริ่มสาดส่องเข้าสู่ชีวิตของเปนเดเรซกีในวัย 20 กว่า เมื่อโปแลนด์อนุญาตให้ประชาชนฟังเพลงจากชาติตะวันตกได้ เป็นครั้งแรกที่เขาได้ยินสรรพเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน โดยเฉพาะดนตรีอิเลกทรอนิกซึ่งมีอิทธิพลต่องานประพันธ์แนวทดลองช่วงแรกๆ ของเขาโดยตรง หลายเพลงที่เขาเขียนตอนนั้นจงใจเล่นกับความไม่สอดประสานของเมโลดี้และสื่อถึงประวัติศาสตร์ของโปแลนด์ที่ถูกต่างชาติครอบงำ ซึ่งความล้ำของงานเหล่านี้แจ้งเกิดให้เขาอย่างรวดเร็วในฐานะศิลปินอาวองการ์ดคนสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เปนเดเรซกีแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ล้ำแท้จริงยิ่งกว่างานเหล่านั้น ก็คือตัวเขาเองนี่แหละ เพราะในเวลาต่อมา เขากลับประกาศเลิกทำเพลงในแนวทางนั่น เพราะพบว่า แทนที่มันจะนำพาศิลปะและสังคมไปสู่สิ่งใหม่ มันกลับส่งผลในทางทำลายมากกว่า เพราะ “การทำงานที่แลดูก้าวหน้า ได้สร้างภาพลวงตาให้เราหลงคิดไปว่าประเทศเรามีเสรีภาพ” นอกจากนั้นเขายังพบว่าการทำดนตรีทดลองได้มาถึงทางตันแล้ว ควรต้องค้นหาแนวทางใหม่เสียที

ตัวอย่างงานที่ยืนยันความเป็นคนคิดสร้างสรรค์ไม่เคยหยุดของเขา คือ The Polish Requiem ซึ่งเริ่มด้วยการเป็นเพลงชื่อ Lacrimosa ที่แต่งขึ้นใช้ในพิธีเปิดรูปปั้นอู่เรือเมืองกดัญสก์ เพื่อยกย่องเหล่านักสู้ที่ถูกรัฐบาลสังหารในการจลาจลปี 1970 ก่อนจะแต่งเพิ่มเป็นเพลง Mass ที่เปิดแสดงวงใหญ่ครั้งแรกในปี 1984, แต่งเพิ่มอีกในปี 1993 และสุดท้ายคือในปี 2005 ที่เพิ่มท่อนสุดท้ายเข้าไปอีกเพื่อใช้ในการเชิดชูเกียรติสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2

คริสช์ตอฟ เปนเดเรซกี จากเราไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะอายุได้ 86 ปี …วันนี้ Film Club จึงขอชวนไปฟังบางผลงานของเขาที่ถูกนำมาใช้หนังโด่งดังกัน :

The Shining

ผู้กำกับสแตนลีย์ คูบริคชอบเปนเดเรซกีมากถึงขั้นโทรไปขอให้ช่วยแต่งเพลงใส่หนังให้ แต่เปนเดเรซกีแนะนำงานที่แต่งไว้แล้วให้แทนคือ The Awakening of Jacob ซึ่งคูบริคก็นำมาใช้ทันที แถมยังเลือกเพิ่มอีก 5 เพลงคือ Utrenja II: Ewangelia, Utrenja II: Kanon Paschy, De Natura Sonoris No. 1, De Natura Sonoris No. 2 และ Polymorphia

ดูเขาคุมวงเอง

ตัดต่อสลับหนัง

ซาวด์แทร็คเต็มเรื่อง

The Exorcist (1973)

หนังสยองคลาสสิกอีกเรื่องที่เลือก Polymorphia มาใช้ และยังใช้งานของเปนเดเรซกีอีก 4 ชิ้นคือ Kanon For Orchestra and Tape, Cello Concerto, String Quartet (1960), The Devils of Loudon

Children of Men

ช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ใช้เพลง Threnody to the Victims of Hiroshima ที่เปนเดเรซกีแต่งในปี 1960 บรรเลงด้วยเสียงเครื่องเสียง 52 ชิ้น อุทิศแด่ผู้เสียชีวิตในฮิโรชิมาจากระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา

และเมื่อเพลงนี้ไปปรากฏในฉากระเบิดนิวเคลียร์สุดจะหลอนใน Twin Peaks: The Return ของ เดวิด ลินช์

Shutter Island

หนังระทึกหลอนจิตเรื่องนี้ของสกอร์เซซีใช้เพลง Symphony No.3 Passacaglia – Allegro Moderato และ Fluorescences

โรงหนังต้องกลับมา… อเมริกาตั้งกองทุนการันตี

มีหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า โดยเฉพาะโรงหนังที่เท่ากับว่าจะไม่มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงเลยในช่วงนี้ เช่นโรงธนาซีเนเพล็กซ์ต้องยุติการดำเนินธุรกิจไปตั้งหลัก แต่ในอเมริกาที่ถือว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นท่อน้ำเลี้ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ได้จัดมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการโรงหนังเอาไว้เรียบร้อย

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีโรงหนังกว่า 5,500 โรงทั่วอเมริกาต้องปิดให้บริการชั่วคราว และยังไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเปิดอีกทีตอนไหน และเมื่อถึงตอนนั้นจะมีผู้ประกอบการรายใดยอมแพ้ระหว่างทางหรือไม่ วุฒิสภาเลยผ่านกองทุน 2 ล้านล้านเหรียญฯ เพื่อเยียวยาธุรกิจที่ไม่มีรายได้ในช่วงโควิด เน้นไปที่ธุรกิจขนาดเล็ก (บรรทัดฐานคือกิจการที่มีลูกจ้างไม่เกิน 500 คน) ซึ่งแน่นอนว่าโรงหนังคือกิจการที่เข้าข่าย – ตามคำนิยามของ NATO – โดย 2 ล้านล้านเหรียญฯ นี้แบ่งเป็นกองทุนกู้ยืม 4.54 แสนล้านเหรียญฯ เพื่อนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost) ระหว่างที่ไม่มีรายได้เข้ามา

แนวคิดของกองทุนเพื่อการันตีให้กิจการโรงหนังและอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ สามารถมั่นใจได้ว่าเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติแล้วจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ “ข้อตกลงนี้ทำให้โรงหนังเชื่อมั่นว่าจะสามารถกลับมาใหม่ในชุมชนเดิมได้อีกครั้ง” สมาคมเจ้าของโรงหนังแห่งชาติกล่าวไว้ในแถลงการณ์

ด้าน NATO บอกว่า “การเยียวยานี้จะทำให้โรงหนังก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยลูกจ้างก็จะได้มีหลักประกันว่ามีงานรอพวกเขาอยู่แน่นอนถ้าโรงหนังกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง”

อย่างไรก็ดีการเยียวยานี้ดันเอื้อสำหรับกิจการรายย่อย เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ครอบคลุมไปถึงโรงหนังเครือใหญ่สุดของอเมริกาอย่าง AMC ที่บริหารงานโดย Wanda Group ของจีน ที่สั่งพักงานพนักงานกว่า 26,000 คน รวมถึง CEO อดัม อารอน เพราะโรงหนังไม่มีรายได้แต่มี fixed cost จึงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงไป

อ้างอิง : NATO Gets Positive News for Theaters in $2.2 Trillion Senate Aid Package

สันติ – วีณา

* บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

สันติ-วีณา ภาพยนตร์ไทยที่สร้างโดย รัตน์ เปสตันยี ออกฉายในปี พ.ศ. 2497 ที่เคยถูกเล่าขานกันว่าเป็นภาพยนตร์ไทยดีที่สุดเรื่องหนึ่งและหายสาบสูญไปอย่างน่าเสียดาย เพราะไม่มีฟิล์มเนกาทีฟหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย จนกระทั่งหอภาพยนตร์ได้ดำเนินโครงการตามหาชิ้นส่วนที่ตกหล่นอยู่ที่ประเทศอังกฤษ รัสเซียและจีน ประกอบร่างของภาพยนตร์นี้ขึ้นอีกครั้ง และได้ถูกฉายในสาย Cannes Classic ของเทศกาลภาพยนตร์คานส์ ครั้งที่ 69 ประจำปี พ.ศ. 2559 ในช่วงที่ไวรัสโควิด 19 ระบาดกระจายไปทั่ว ทางหอภาพยนตร์ได้นำลงให้รับชมได้ทางเว็ปไซต์ยูทูบ ด้วยภาพความละเอียด 720p

สันติ-วีณา เล่าเรื่องชะตากรรมของ สันติ (พูนพันธ์ รังควร) ชายหนุ่มเมืองเพชรบุรี ผู้ตาบอดตั้งแต่วัยเด็กหลังจากที่เขาประสบอุบัติเหตุถูกหินภูเขาหล่นทับ โชคร้ายเพราะนอกจากเขาจะสูญเสียทัศนวิสัย เขายังสูญเสียแม่บังเกิดเกล้าไปด้วย ทำให้แต่นั้นมาเขาต้องอาศัยอยู่กับพ่อและรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระและตัวถ่วงชีวิตของพ่อเสมอมา

วีณา (เรวดี ศิริวิไล) เป็นหญิงสาวที่อยู่บ้านใกล้เคียงกับสันติ ทั้งคู่รักใคร่ชอบพอกัน วีณาเป็นผู้ปกป้องสันติ ชายที่ถูกทำให้หมดสิ้นอำนาจของเพศชายด้วยถูกทำให้ตาบอด เช่นเดียวเก่ง และทหารที่หลับใหลสิ้นฤทธิ์ใน Cemetery of Splendor (2016) อาการตาบอดของเพศชายจึงเป็นสภาวะที่เป็นขั้วตรงข้ามของสังคมชายเป็นใหญ่ แบบในสังคมแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แต่เดิมเป็นการสืบสายเลือดโดยผ่านผู้หญิง (matrilineality)

การทำลายล้างการสืบสายเลือดผ่านผู้หญิงเห็นได้จากาการกระทำของระบบอาณานิคมตะวันตกที่นับสายเลือดผ่านชายเป็นหลัก สังคมที่ฝ่ายชายถือตนว่ามีอารยะและเจริญก้าวหน้า การนับสายเลือดทางพ่อไม่มีความชัดเจนเพราะบอกไม่ได้ว่าน้ำเชื้อเป็นของใคร แต่ลูกที่ออกมาจากหญิงใดย่อมเป็นลูกของเธอ การนับสายเลือดทางฝ่ายหญิงจึงไม่สนใจระบบระเบียบเพราะเธอสามารถร่วมเพศกับใครก็ได้ไม่ต้องสนใจว่าใครจะเป็นพ่อ สังคมฝ่ายชายกลับต้องการเพศหญิงที่บริสุทธิ์เพื่อให้รู้แน่ชัดว่าลูกที่เกิดมาเป็นของฝ่ายชายที่ถือตนเป็นเจ้าของหญิงคนนั้น

อาณานิคมอังกฤษได้ทำให้ศาสนาคริสต์เข้ามามีอิทธิพล การแต่งงานต้องมีอารยะ ผู้หญิงต้องกลายเป็นนางบำเรอ ระบบนับสายเลือดแบบเดิมคือความล้าหลัง ไปจนถึงการนำวิถีชีวิตแบบครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) เข้ามาที่ผู้ชายเป็นใหญ่และผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) ระบบอาณานิคมอังกฤษมีส่วนสำคัญในการทำลายระบบสายเลือดแม่ในอินเดียใต้เพราะมองว่าการร่วมเพศที่มั่วไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อเด็กเช่นนี้เป็นสิ่งสกปรก แต่ในบางรัฐก็ยังคงไว้ซึ่งระบบเดิม เช่นในรัฐ Tamil Nadu ที่เพศหญิงมีสิทธิครอบครองทรัพย์สิน ที่ดิน และการเรียนหนังสือ หรือรัฐเกรละ (Kerela) ที่มีเผ่านายา ระบบการแต่งงานนับสายเลือดผู้หญิงที่สามารถหนีตามกันได้ เลิกกันก็ได้ง่ายๆ ไม่ผูกพันธ์เรื่องหนี้สิน รวมไปถึงภรรยาสามารถมีสามีได้ถึงสองคน

สังคมชาวนาดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดิมก็ให้ความสำคัญกับสายเลือดเพศหญิงพอๆ กับเพศชาย (bilateral) การแต่งงานของชนชั้นต่ำสยามคือการย้ายเข้าไปเป็นแรงงานของครอบครัวฝ่ายหญิง (matrilocal) กฎหมายแบบเจ้าอาณานิคมเห็นว่าการนับสายเลือดฝ่ายชายด้วยการมีนามสกุล ถือตนว่ามีความเจริญมากกว่าได้เข้ามาทำลายสังคมชาวนา จากเดิมผู้หญิงมีความเป็นอิสระ ผู้หญิงต้องกลายเป็นแม่และเมียที่ดี อุทิศตนให้สามี ต้องทำอาหารอร่อยมีเสน่ห์ปลายจวัก

การต่อต้านสังคมนับสายเลือดทางแม่พบได้นอกเหนือไปจากอาณานิคมตะวันตกก็ยังมีในสังคมจีนฮั่น (Han Chinese) ซึ่งนับสายเลือดทางพ่อและรังเกียจสังคมนา (Na) ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในมณฑลยูนนานซึ่งเป็นสังคมที่ไม่ต้องการให้ฝ่ายชายมากำกับดูแล ผู้หญิงจะเลี้ยงดูลูกเอง เพศชายมีหน้าที่ผสมพันธุ์และไม่ได้มีสิทธิมาครอบครองเพศหญิงว่าเป็นของฉัน เหมือน “วีณาของไกร” ทั้งสองฝ่ายสามารถไปร่วมเพศกับคนอื่นได้อีก จีนฮั่นพยายามล้มล้างวัฒนธรรมนาแต่ก็ไม่สำเร็จ

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับอินเดียใต้ ศาสนาคริสต์ได้เข้ามามีความสำคัญในการทำลายวัฒนธรรมผู้หญิงหลายผัว และกำหนดว่าการแต่งงานหลายผัวไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่จะกระทำต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งแต่เดิมผู้หญิงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินและความอิสระทางเพศ มีเครือข่ายของครอบครัวตนเองที่ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าสมาชิกใหม่ไม่ว่าจะเป็นเมียหรือผัว อำนาจของการนับสายเลือดฝ่ายชายดำเนินไปพร้อมกับการสร้างการศึกษาภาคบังคับของรัฐประชาชาติที่ทำให้การแต่งงานเป็นเรื่องพันธสัญญากับพระเจ้าองค์ใหม่คือนั่นคือรัฐประชาชาติ

การแต่งงานระหว่างวีณาและไกร จึงไม่ต่างอะไรจากสันติบวชพระ เพราะต่างฝ่ายต่างให้คำมั่นสัญญากับสิ่งอื่นนอกจากตนเองและคนรัก วีณาผู้สาบานว่าจะอยู่กับไกรเป็นแม่และเมียที่ดี พร้อมกันก็สัญญาว่าจะเป็นสตรีที่ดีของชาติดังธงชาติไทยที่เอามาปักที่รั้วทางเข้าพิธีวิวาห์วีณาและไกร ส่วนสันติก็ทำตามที่หลวงตาสั่งไว้และดำรงตนในศาสนจักรของพระพุทธเจ้า สำนึกของการเคารพสยบยอมอยู่ภายใต้กลไกของอำนาจรัฐหรือสิ่งที่เรียกได้ว่าหลุดลอยออกจากสังคมเช่นนี้พบได้ในสังคมที่มีรัฐปกครอง (society with state)

การแต่งงานระหว่างวีณาและไกร จึงไม่ต่างอะไรจากสันติบวชพระ เพราะต่างฝ่ายต่างให้คำมั่นสัญญากับสิ่งอื่นนอกจากตนเองและคนรัก วีณาผู้สาบานว่าจะอยู่กับไกรเป็นแม่และเมียที่ดี พร้อมกันก็สัญญาว่าจะเป็นสตรีที่ดีของชาติดังธงชาติไทยที่เอามาปักที่รั้วทางเข้าพิธีวิวาห์วีณาและไกร ส่วนสันติก็ทำตามที่หลวงตาสั่งไว้และดำรงตนในศาสนจักรของพระพุทธเจ้า สำนึกของการเคารพสยบยอมอยู่ภายใต้กลไกของอำนาจรัฐหรือสิ่งที่เรียกได้ว่าหลุดลอยออกจากสังคมเช่นนี้พบได้ในสังคมที่มีรัฐปกครอง (society with state)

นั่นเพราะว่าอำนาจของสถาบันครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวและชายเป็นใหญ่ ก็มิได้ต่างอะไรไปจากศาสนาเอกเทวนิยมที่มีศาสดาเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของชีวิต ในทัศนะของ Pierre Clastres แล้ว รัฐทุกรัฐมีเจตจำนงของการรวมศูนย์อำนาจสร้างความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเสรีประชาธิปไตยหรือรัฐกษัตริย์ และแน่นอนว่ารัฐไทยมีความพยายามในการขยับขยายปกครองสังคมผ่านการสร้างแผนที่และการสำรวจหมู่บ้าน ธงชาติไทยที่เราเห็นในหมู่บ้านของสันติวีณาจึงเป็นหลักฐานของการมาถึงของอำนาจรัฐ

รัฐไทยสมัยใหม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมดั้งเดิมแบบชนเผ่าแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายไปมาและไม่หยุดนิ่ง การเคลื่อนที่นี่เองที่เป็นกลไกในการปฏิเสธอำนาจรัฐที่ต้องการฉายแสงลงไปให้ “มองเห็น” ผู้คนที่กำลังเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับการมองเห็นก็ต้องอาศัยแสง การเห็นได้และรับรู้จึงเป็นการตอบข้อสงสัยใครรู้ พลังของสภาวะสมัยใหม่ (modernity) จึงเปรียบเสมือนการฉายแสงลงไปในความมืดมิดเพื่อตอบความสงสัยของมนุษย์และเพื่อความเจริญก้าวหน้า (progress)

สังคมดั้งเดิม (primitive society) จึงถูกมองโดยรัฐว่าเป็นสังคมที่ล้าหลังป่าเถื่อนและมืดบอด รัฐสร้างความชอบธรรมเข้าไปจัดการควบคุมให้พวกเขาอยู่นิ่งด้วยศาสนา จากเดิมที่นับถือวิญญาณและบรรพบุรุษก็ให้มานับถือศาสนาเอกเทวนิยม จากเดิมทำไร่เลื่อนลอยก็ให้ตั้งรกรากเป็นหมู่บ้าน เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ก็เกิดกรอบความคิดว่าประชากรภายใต้รัฐต้องมีความสุขซึ่งเข้าถึงได้ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์และการศึกษา การเรียนหนังสือของเด็กในหมู่บ้านจึงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ สันติที่ตาบอดและวีณาที่เป็นช้างเท้าหน้าให้กับผัวจึงเปรียบประหนึ่งการย้อนกลับไปสังคมดั้งเดิม วีณาที่พาสันติไปเรียนแต่สุดท้ายเขาก็มีความสุขกับการเป่าขลุ่ยให้เพื่อนเริงระบำมากกว่านั่งเรียนในห้องเรียนของคนตาสว่าง (enlightenment) ที่ทำให้เขารู้สึกเป็นคนนอก แถมยังถูกกลั่นแกล้งโดยไกรผู้ถือคติชายเป็นใหญ่

ความตายของแม่สันติเพราะหินหล่นทับจึงเหมือนการตายของสังคมที่สืบทอดเชื้อสายทางแม่ สันติตาบอดหลังจากนั้นก็คือมรดกของสังคมดั้งเดิมที่ชายไม่ได้มีอำนาจมากกว่าไปกว่าผู้หญิงหากแต่ต้องให้ผู้หญิงจูงนำทาง ความเป็นขบถของทั้งคู่จึงหลุดพ้นกฎเกณฑ์ของรัฐ ความสัมพันธ์นอกสมรสเป็นสิ่งที่ยอมรับได้สำหรับเขาทั้งคู่ การหลีกหนีสังคมมีรัฐมุ่งหน้าเข้าป่าจึงไม่ได้ต่างอะไรจากคู่รักท้าทายระบบยุติธรรมใน Bonnie and Clyde (1967) และ Badlands (1973)

สุดท้ายพวกเขาจะต้องพรากจากกัน วีณาต้องไปแต่งงานกับไกร สันติโศกเศร้าเสียใจ เขาทุบขลุ่ยซึ่งอุปมาคล้ายกับองคชาติ ขลุ่ยที่เป็นทดแทนของความเป็นเพศชายนอกเสียจากดวงตาที่มืดบอด ขลุ่ยที่ยั่วยวนวีณา แม้ว่าขลุ่ยตัวเดิมของเขาจะถูกไกรทุบทิ้งซึ่งอาจหมายถึงการทำลายอำนาจเพศชายของสันติ เพราะไกรหมั่นไส้ที่วีณาชอบสันติ วีณาหาขลุ่ยตัวใหม่มาให้และขลุ่ยตัวนั้นเองที่เขาทุบในวัดเขาน้อย ก่อนจะตัดสินใจตายตามแม่ของเขาไป การฆ่าตัวตายของเขาจึงถือเป็นขบถในโลกสังคมชายเป็นใหญ่ที่เขามีควาเป็นชายน้อยกว่าทนอยู่ไม่ไหว

แต่หลังจากที่เขาได้รับพรวิเศษทำให้ตากลับมามองเห็นอีกครั้ง พร้อมกับหลวงตามรณภาพเหมือนกับแม่ของเขา ทำให้เขาได้มรดกที่รับมาจากพระคืออาการตาสว่าง (enlightenment) สิ่งนี้เองที่เรียกในยุคภูมิธรรมหรือยุคแสงสว่างทางปัญญา ซึ่งใช้กรอบคิดของ Rationality ในคริสตศตวรรษที่ 17-18 อันเป็นจุดกำเนิดของสภาวะสมัยใหม่ การสถาปนารัฐประชาชาติ ระบบราชการซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตย และการแยกศาสนาออกจากการเมือง (secularization)

แต่หลังจากที่เขาได้รับพรวิเศษทำให้ตากลับมามองเห็นอีกครั้ง พร้อมกับหลวงตามรณภาพเหมือนกับแม่ของเขา ทำให้เขาได้มรดกที่รับมาจากพระคืออาการตาสว่าง (enlightenment) สิ่งนี้เองที่เรียกในยุคภูมิธรรมหรือยุคแสงสว่างทางปัญญา ซึ่งใช้กรอบคิดของ Rationality ในคริสตศตวรรษที่ 17-18 อันเป็นจุดกำเนิดของสภาวะสมัยใหม่ การสถาปนารัฐประชาชาติ ระบบราชการซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตย และการแยกศาสนาออกจากการเมือง (secularization)

แต่อาการตาสว่างของสันติกลับตรงกันข้าม เขามุ่งหน้าสู่ศาสนา เขายอมรับกฎระเบียบกติกา ยึดมั่นในหลักผัวเดียวเมียเดียวแบบชายเป็นใหญ่ หรือพูดอีกแบบคือเขายอมรับหลักการของเจ้าอาณานิคมที่ปกครองสังคมดั้งเดิม เขายอมรับการสมรสของวีณาและไกร แม้ว่าวีณาจะเข้ามาพูดกับเขาว่ายังรักสันติ เธอกำลังพยายามจะมีสัมพันธ์นอกสมรส แต่สันติก็น้อมรับในความศักดิ์สิทธิ์เพราะถือว่าเธอได้สัญญากับสามีไว้แล้วว่าจะจงรักภักดี เช่นเดียวกับเขาที่จะถวายชีวิตนี้ให้กับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หลังจากสันติตาสว่างจึงเป็นว่าเขายึดหลักของการมีเหตุมีผล แต่ไม่ได้ตัดขาดจากอาณาจักรของพระเจ้า ในทางตรงกันข้าม ทั้งสันติและวีณาต่างก็ร่วมพันธสัญญา (covenant) กับพระพุทธเจ้ากันคนละแบบ สันติบวชและเลือกจะตัดขาดจากเรื่องทางโลกและอารณ์ทางเพศ ส่วนวีณาก็ศรัทธายึดมั่นในสามีและพระพุทธเจ้า เหนือสิ่งอื่นใดทั้งคู่ก็ยังยึดมั่นในอำนาจของรัฐประชาชาติ รัฐและพระพุทธเจ้าต่างเป็นสิ่งที่มีเจตจำนงของตนเอง สายสัมพันธ์ถูกหล่อเลี้ยงด้วยอำนาจที่ยิ่งใหญ่และต่างฝ่ายต่างอยู่ รัฐอยู่เหนือหัวและมีอำนาจบงการเราตามอำเภอใจ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าที่สามารถเสกให้หินหล่นมาทับใครตายก็ได้ แถมยังให้สันติตาสว่างหายจากโรคได้ เขาทำได้เพียงอ้อนวอนร้องขอให้พระพุทธเจ้าบันดาลพรให้ พระพุทธเจ้าจึงเป็นสิ่งที่เหนือมนุษย์จะเอื้อมถึงแต่มนุษย์ก็อยากจะเป็นดั่งพระพุทธเจ้า

สังคมดั้งเดิมไม่มีใครผูกขาดการติดต่อกับโลกแห่งจิตวิญญาณ ดังเช่นพระที่เป็นเสมือนที่พึ่งของชาวพุทธประหนึ่งว่าพระเป็นผู้เชื่อมต่อตนกับพระพุทธเจ้าหรือโลกหลังความตาย ต่างจากหมอผีในสังคมชนเผ่าที่ไม่ได้เป็นศูนย์กลาง (centralized) ของการเชื่อมต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติ หมอผีทำหน้าที่ในเรื่องการรักษาโรคมากกว่า และคนในเผ่ายังสามารถติดต่อกับวิญญาณได้เอง ไม่ต้องมีใครมาเป็นตัวกลางนอกจากนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีบรรพบุรุษ เทพเจ้า หรือตัวแทนกลุ่ม สิ่งเหล่านี้เป็นองคาพายพเดียวกันกับมนุษย์ไม่ได้แยกขาดออกจากกัน ไม่ได้เป็นส่วนเกินของกันและกัน มีความเป็น “เรา” มากกว่าเป็น “ฉัน” นั่นเพราะระบบคิดแบบปัจเจกเป็นผลผลิตของรัฐ

ผู้คนภายใต้รัฐประชาชาติก็มีสิ่งย้อนแย้งเสมอ ความเป็น “เรา” ระหว่างสันติและวีณา จึงไม่อาจถูกแยกได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของคู่รักที่อยู่เหนือพ้นสำนึกของ Rationality แบบยุคภูมิธรรม เป็นเรื่องของเครื่องหมายยัติภังค์ที่คั่นระหว่างสันติและวีณา สายตาที่วีณามองพระสันติในระหว่างตักบาตร ไม่อาจใช่สายตาของฆราวาสที่มองพระสงฆ์ หากแต่เป็นสายตาของคนที่รักกันโดยไม่ต้องมีเหตุผลมารองรับ เช่นเดียวกับพระสันติที่เดินบิณฑบาตรห่างจากขบวนพระพรรษาสูงกว่า ราวกับว่าเขาเคลือบแคลงใจ และไม่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคณะผู้ถวายจิตวิญญาณให้พระพุทธเจ้า ความรักหนุ่มสาวที่ตัดไม่ขาดของทั้งคู่จึงตัดข้ามขนบสถาบันสมรสและผ้าเหลือง นั่นหมายความว่าสำนึกของชุมชนดั้งเดิมที่พร้อมขบถและขัดขืนอำนาจรัฐไม่วันหายไปไหน หนุ่มสาวเอย


อ้างอิง :
– ทวีศักดิ์ เผือกสม. ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล. บทนําเสนอ, สภาวะความเป็นสมัยใหมอันแตกกระจาย: การค้นหาประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมปาตานี
– เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. สงครามไม่ใช่สภาวะธรรมชาติ: สังคมไร้รัฐในความคิดของ PIERRE CLASTRES. 2018
– ธเนศ วงศ์ยานนาวา. On Monotheism ว่าด้วยเอกเทวนิยม เส้นทางของพระผู้เป็นเจ้าของจริง. 2019
– ธเนศ วงศ์ยานนาวา. ครอบครัวจินตกรรม. Illuminations Editions. 2018


ชม “สันติ-วีณา” ได้ที่ Youtube

Cinephiles in the time of Corona …คู่มือคอหนังยามยาก (VOL. 2)

ในช่วงเวลาของ ‘การรักษาระยะทางสังคม’ เช่นนี้ เราขอเสนอตัวเลือกของการนอนดูหนังอยู่กับบ้าน สำหรับคนรักหนังทุกท่านที่ต้องเผชิญสภาพ “โรงหนังกลายเป็นสถานที่อันตราย”

อ่าน VOL. 1 ได้ที่นี่ และ VOL. 3 ได้ที่นี่

(*คลิกชื่อเรื่องหรือภาพเพื่อเข้าชม*) :

Vdrome

Vdrome คือโปรเจกต์พิเศษที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 โดย Mousse – วารสารรายสามเดือน, สำนักพิมพ์ และเอเยนซี่เฉพาะทางด้านศิลปะร่วมสมัยในมิลาน (ขอภาวนาให้ทีมงานรอดปลอดภัยจากไวรัส) – เพื่อโปรโมตผลงานภาพเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงโลกภาพยนตร์กับศิลปะร่วมสมัย ผ่านการคัดเลือกของ curator และนักวิจารณ์ประจำ พร้อมสเตทเมนต์และบทสัมภาษณ์ศิลปินแบบจริงจัง

หนังในเว็บส่วนใหญ่มีเซนส์ใกล้เคียงวิดีโออาร์ต แต่หลายครั้งก็มีงานดังๆ จากคนทำหนังทดลองมีชื่อโผล่มา (แถมนอกจากออนไลน์ ใครว่างก็แวะไปดูที่ฉายประจำของเขาในมิวเซียมศิลปะร่วมสมัยแห่งดีทรอยต์ได้ด้วย) หนังเรื่องหนึ่งๆ ยืนระยะฉายในเว็บประมาณ 2 สัปดาห์, 1 เดือน หรือนานกว่านั้น (ถ้าทีมงานอยู่ในช่วงวันหยุด) ส่วนผู้ชมหน้าใหม่ที่พลาดงานเก่าๆ ก็ลองเข้าไปไล่ดูในหน้า archive แล้วเอาไปเสิร์ชเพิ่มเติมได้

– แนะนำโดย T. –
ไปดูที่ www.vdrome.org

Le Cinéma Club

Le Cinéma Club ก่อตั้งเมื่อปี 2015 โดยกลุ่มซีเนไฟล์ในนิวยอร์กและปารีส (สปอนเซอร์ใหญ่คือ CHANEL) หวังให้เป็นพื้นที่ออนไลน์เพื่อเผยแพร่หนังที่หลากหลายแปลกใหม่ให้ผู้ชมทั่วโลกได้ดูฟรี ส่วนใหญ่เน้นโปรโมตหนังสั้นของคนทำหนังดาวรุ่ง หรือจับกระแสเทรนด์หนังโลกในช่วงนั้นๆ แต่หลายครั้งก็มีหนังยาวระดับเดินสายเทศกาล (เช่นหนังของ เกรตา เกอร์วิก, โจนาส เมคาส) หรือหนังสั้นลับแลของคนทำหนังดังๆ ระดับโลกแวะเวียนมาให้ชม (อาทิ บองจุนโฮ, โอสุ, อัสซายาส, วาร์ดา, อภิชาติพงศ์, ลินน์ แรมเซย์, ยอร์โกส ลันติโมส, อารี แอสเตอร์)

เล่นเว็บนี้เราต้องหูตาไวในการจัดสรรเวลานิดหน่อย เพราะหนังแต่ละเรื่องออนไลน์แค่ 7 วันเท่านั้น (ยกเว้นช่วงวันหยุดของทีมงานที่จะอยู่นานหน่อย) แต่ใครพลาดงานเก่าๆ ก็เข้าไปดูหน้า archive อันใจกว้างได้ เพราะถ้าเรื่องไหนออนไลน์อยู่ใน YouTube, Vimeo หรือแพล็ตฟอร์มอื่นๆ พี่แกลงลิงค์ไว้ให้ตามต่อเลย ไม่ต้องเสิร์ชเอง

– แนะนำโดย T. –

Korean Classic Film Channel

แชนเนลในยูทูบจากหอภาพยนตร์เกาหลีใต้ที่แสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมหนังอย่างเต็มที่ ด้วยการจัดการให้ผู้คนจากทั่วโลกได้เข้าถึงหนังคลาสสิกจากเกาหลีใต้หลายร้อยเรื่อง! แถมทุกเรื่องมีซับไตเติลภาษาอังกฤษ! ถ้าคุณต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เกาหลีใต้ นี่คือโอกาสทองของคุณ

ในตัว playlist ของช่อง มีการแยกตามผู้กำกับหรือรายทศวรรษให้สะดวกต่อการค้นหา บางเรื่องอาจจะหายไปแล้ว แต่จะมีหนังใหม่มาเติมเสมอ และถ้าเข้าไปแล้วงงๆ ไม่รู้จะเริ่มจากไหนก่อนก็ห้ลองเลือกดูหนังของ อิมกวอนเต็ก (Im Kwon-taek) ผู้กำกับคนสำคัญของเกาหลีใต้ หรือ คิมคียอง (Kim Ki-young) คนทำหนังสุดคัลต์ที่บองจุนโฮคลั่งไคล้

ตัวอย่างเช่น Gilsoddeum (1986, Im Kwon-Taek) ที่ได้เข้าเทศกาลหนังเบอร์ลินในปีนั้น หนังได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงปี 1983 เมื่อช่อง KBS จัดรายการที่ช่วยครอบครัวตามหาสมาชิกผู้พลัดพรากกันช่วงสงครามเกาหลีเหนือ-ใต้ โดยตัวหนังเล่าเรื่องของ ฮวายอง ที่แต่งงานและอยู่ในครอบครัวชนชั้นกลางซึ่งมีชีวิตที่ดีมีความสุข แต่ต้องผละจากลูกและสามีเพื่อไปตามหาชายผู้เป็นรักแรกของเธอ และลูกชายของทั้งคู่ที่หายสาบสูญจากสงคราม

หนังพลิกความคาดหวังจากคนดูที่รอคอยความเมโลดราม่าซาบซึ้ง (ในการตามหาสมาชิกครอบครัวที่หายไปให้ได้มาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง) สู่การตั้งคำถามถึงบาดแผลของสงครามที่สร้างความเสียหายให้กับทุกคนว่า เราสามารถกลับไปหาประวัติศาสตร์ที่โหดร้ายเพื่อเชื่อมต่อให้เป็นเหมือนเดิมได้หรือเปล่า และการเชื่อมต่อทุกอย่างที่เคยเกิดเหตุเลวร้ายให้เป็นไปตามปกตินั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่

– แนะนำโดย W./N. –

IDFA

IDFA (International Documentary Film Festival Amsterdam) ก่อตั้งเมื่อปี 1988 และปัจจุบันถือเป็นเทศกาลภาพยนตร์สารคดีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีทั้งเทศกาลความยาวเกิน 10 วันทุกปี และแพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่รวบรวมสารคดีหายากไว้มากมาย

ในช่วงสังคมกักตัวหนีโคโรน่าไวรัส ทางเว็บได้เปิดลิสต์หนังสารคดีในคอลเล็กชั่นให้ดูฟรีเกือบ 300 เรื่อง หลากหลายทั้งประเด็น (ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสังคมการเมือง) และที่มาของหนัง แต่อาจต้องค้นข้อมูลเพิ่มพอสมควรก่อนตัดสินใจเลือกเพราะหนังส่วนใหญ่ค่อนข้างลับแล บางเรื่องอาจดูในไทยไม่ได้ บางเรื่องภาพไม่ HD และบางเรื่องแค่ลิสต์ไว้เพื่อให้คนดูตามไปที่แพล็ตฟอร์มอื่น เช่น iTunes

– แนะนำโดย T. –

HAL ON DEMAND

HAL ค่ายหนังอิสระที่นำเข้าหนังคุณภาพจากหลากหลายประเทศให้ชาวไทยได้ชม กำลังทยอยนำหนังเรื่องต่างๆ ลงใน vimeo on demand เพื่อเข้าถึงชาวออนไลน์มากขึ้น ปัจจุบันมี 2 เรื่อง คือ Birds of Passage หนังแก๊งสเตอร์อาชญากรรมสุดเดือดผสมวัฒนธรรมและชนเผ่าวายูจากโคลอมเบีย ผลงานของ Ciro Guerra ผู้กำกับ Embrace of the Serpent ที่เคยพาเราล่องลอยไปกับการท่องเที่ยวการจิตวิญญาณสุดเมามายมาแล้ว

อีกเรื่องคือ The Square หนังตลกร้ายเสียดสีวงการศิลปะแบบแสบสันจนได้รางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปี 2017

เป็นหนังที่ดีทั้งสองเรื่องแต่กลับไม่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างมากนัก สนนราคาเรี่องละ 1.99 USD หรือประมาณ 65 บาทไทย และรอติดตามต่อไปว่าจะมีหนังเรื่องไหนจากค่ายนี้ที่จะมาลง VOD อีกบ้าง

‘โควิด-19’ 4 วันจอด และผลกระทบรอบด้านของ Present Still Perfect

เชื่อว่า โควิด-19 จะส่งผลกระทบกับคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีหลักประกันอะไรในชีวิต เช่น ลูกจ้างรายวันและคนทำอาชีพอิสระ เพราะนอกจากจะไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหนแล้ว เรื่องราวหลังจากนั้นก็ยังไม่มีอะไรแน่นอนอีกเช่นกัน ไม่ต่างกันกับชะตากรรมของหนังเรื่อง Present Still Perfect ‘แค่นี้…ก็ดีแล้ว 2’ ที่ผู้กำกับ อนุสรณ์ สร้อยสงิม กล่าวกับเราว่า “ตอนนี้ผมก็ยังงงกับอนาคตของหนังและตัวเองอยู่เลยครับ”

Present Still Perfect เข้าฉายเมื่อวันที่ 12 มีนาคม โดยหนังมีเวลาสำหรับการทำเงินแค่ 4 วันแรกที่เข้าฉาย จากนั้นวันที่ 16-17 มีนาคม ผู้ชมเริ่มไม่เข้าโรงหนังจนแทบไม่สร้างรายได้ ในที่สุดภาครัฐก็สั่งปิดโรงหนังใน กทม และปริมณฑลตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคมเป็นต้นมา เท่ากับว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังไทยที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า เพราะมีเวลาฉายแค่ 6 วัน และโอกาสทำรายได้แค่ 4 วันเท่านั้น โดยที่อนุสรณ์ยังไม่รู้ว่าหนังจะมีชะตากรรมอย่างไรต่อไป

รายได้ที่หนังทำไปเฉพาะ กทม, ปริมณฑล และเชียงใหม่ ตลอดโปรแกรมฉายคือประมาณ 2.5 แสนบาท (ภาคแรกทำไปได้ราว 4 แสนบาท ตลอดโปรแกรมจากการฉายแค่ 7 โรง) ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้จากเดิมที่จะมีหนังไทยเข้าฉายพร้อมกันอย่าง ‘Love เลย 101’ ของโปรดิวเซอร์ หม่ำ จ๊กมก ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด …Present Still Perfect จึงกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกเพียงไม่กี่เรื่องที่สดใหม่ในสัปดาห์นั้น อนุสรณ์เล่าว่า “ก่อนจะถึงวันฉายก็มีความคิดเข้ามาแวบหนึ่งว่าจะเลื่อนดีมั้ยเพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะแย่ขนาดไหน และเราก็เป็นหนังเล็กๆ ด้วย งบโปรโมทเราก็มีจำกัดซึ่งถูกใช้ไปหมดแล้ว ถ้าต้องเลื่อนอีกก็ไม่รู้จะเอาเงินตรงไหนมาโปรโมทต่อ ตอนนั้นเรายังมองว่าอาจเป็นบวกกับเราด้วยซ้ำเพราะหนังไทยเรื่องอื่นๆ อย่างหนังพี่หม่ำ และ ‘เกมเมอร์ เกมแม่’ ที่แต่เดิมจะเข้าก่อนหน้าเราอาทิตย์เดียวก็เลื่อนหมด คนก็อาจจะมาดูหนังเรา (หัวเราะ)”

เพราะสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ Present Still Perfect ได้รับการอุ้มชูจากโรงหนังเป็นอย่างดีทั้งจำนวนรอบและโรงฉาย และการที่มันทำเงินได้เท่าที่เป็นอยู่ในระยะเวลาไม่กี่วัน ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ ‘แค่นี้…ก็ดีแล้ว’ สำหรับอนุสรณ์ แต่หนังที่กำลังจะดูมีอนาคตก็ดับวูบ และสถานะของหนังแบบค้างคา จะไปต่อหรือพอแค่นี้? นี่ถือว่าจบโปรแกรมแล้วหรือยัง? ก็นำมาซึ่งความวุ่นวายที่พัวพันจนยังหาทางคลายปมไม่เจอ

สำหรับหนังเล็กๆ อย่างเรา และคนทำหนังอิสระแบบเรา เส้นทางที่ว่ามามันมีผลต่ออนาคตอย่างมาก ทั้งต่อตัวหนังและอาชีพการงาน จนไม่รู้จะต้องทำยังไงต่อดี ไม่รู้จะต้องพึ่งใครแล้ว ตรงนี้รัฐสามารถช่วยอะไรคนทำหนังหน่อยได้มั้ย

“แอบเสียใจอยู่ลึกๆ นะ แต่มันเป็นผลกระทบที่ไม่รู้เราจะโทษใครได้” อนุสรณ์เข้าใจในความพยายามของโรงหนังเป็นอย่างดี แม้โรงหนังเครือหลักทั้งสองจะพยายามให้ความหวังแก่อนุสรณ์ว่าจะนำหนังกลับมาเข้าโรงใหม่อีกครั้งเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าวันนั้นจะมาถึงตอนไหน และจะจัดการอย่างไรกับหนังอีกหลายเรื่องที่รอคอยการกลับมาของโรงหนังด้วยเช่นกัน

“ผมตอบไม่ได้เลยว่าหนังจะได้ฉายต่อมั้ย แล้วเราจะได้เงินคืนมาเมื่อไหร่ เพราะก็ยังไม่รู้ว่าสถานะของหนังเราเป็นอย่างไร” (เจ้าของหนังจะวางบิลรับส่วนแบ่งรายได้เมื่อหนังจบโปรแกรมไปแล้ว-ผู้เขียน) ซึ่งนี่จะส่งผลกระทบต่อเส้นทางที่ตามมาหลังจากนี้ของหนัง อันมีฐานแฟนคลับในต่างประเทศ โดยเฉพาะไต้หวันซึ่งมีหุ้นส่วนอยู่ด้วย

“อันดับแรกคือไต้หวันเขาวางแผนจะเอาหนังเข้าฉาย 3 เม.ย. และมีคิวลงออนไลน์ที่นั่น 20 พ.ค. แต่เรามีข้อตกลงกับโรงหนังในเมืองไทยว่าจะลงออนไลน์หลังออกจากโรงที่ไทย 105 วัน เมื่อสถานะเรายังไม่ชัดเจนมันก็อาจจะส่งผลอื่นๆ ตามมา

“เดิมเรามีคิวไปเทศกาลหนังที่เนเธอร์แลนด์ ก็เลื่อนไปแล้ว และกลุ่มแฟนคลับที่บราซิลขอจัดรอบ meet & greet กับนักแสดงวันที่ 18 เม.ย. ออกค่าเดินทางค่าที่พักให้หมดแล้วก็ต้องยกเลิก รวมถึง Netflix ก็ติดต่อมาเหมือนกัน ถามว่าเราอยากจบดีลกับเขามั้ย ก็อยาก แต่ถ้าเราตัดสินใจเลยเส้นทางที่ว่ามาทั้งหมดก็ต้องจบลงโดยอัตโนมัติ ซึ่งสำหรับหนังเล็กๆ อย่างเรา และคนทำหนังอิสระแบบเรา เส้นทางที่ว่ามามันมีผลต่ออนาคตอย่างมาก ทั้งต่อตัวหนังและอาชีพการงาน จนไม่รู้จะต้องทำยังไงต่อดี ไม่รู้จะต้องพึ่งใครแล้ว ตรงนี้รัฐสามารถช่วยอะไรคนทำหนังหน่อยได้มั้ย”

ไม่ต่างกันนักกับทุกคนที่กำลังเอาตัวเองให้รอดจากวิกฤตโลกระบาดในครั้งนี้ ที่ไม่เฉพาะสุขภาพกายและใจ แต่ยังรวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ยังมองไม่ชัดเช่นกันว่าเมื่อเข้าสู่สภาวะปกติแล้วจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร

“KRABI, 2562” ภาพแทนของภาพแทน

นี่คือการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดกระบี่ในปี 2562 แต่ไม่ได้เกิดกับจังหวัด หากเกิดขึ้นกับคนที่เดินทางไปยังจังหวัดนั้น เศษเสี้ยวของเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ ไหลเลื่อนซ้อนทับ เชื่อมโยง ขัดแย้ง ไหลซึมเข้าหากัน จนอธิบายภาพรวมของสถานที่หนึ่ง การนำเสนอตัวตนของมัน การพยายามเข้าใจตัวตนของมันและความไม่ลงรอยระหว่างตัวสถานที่จริงๆ ความต้องการที่มันอยากจะเป็น

* บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

ชื่อหนังเรื่องนี้ประกอบขึ้นจากคำสองคำซึ่งแสดง ‘สถานที่’ และ ‘เวลา’, กาละและเทศะ, space and time ด้วยความจำเพาะเจาะจงของสองสิ่งนี้ มันทำหน้าที่เป็นบันทึกโดยมากกว่าการเป็นเรื่องสากลกว้างขวาง สถานที่และเวลามักไม่เป็นคำขึ้นต้นก็คำลงท้ายของจดหมายหรือโปสการ์ด ตัวหนังจึงแสดงตัวเองในฐานะบันทึกตั้งแต่เริ่มต้น และในรูปแบบของบันทึกหากไม่ใช่บันทึกชีวิตประจำวันในสถานที่จำเพาะ มันก็ต้องเป็นบันทึกการเดินทาง

ในแง่นี้หนังทั้งเรื่องจึงทำหน้าที่เป็น โน้ต รูปถ่าย จดหมาย โปสการ์ด ไดอารี่ บันทึกเศษเสี้ยวแตกหักของสถานที่สถานที่หนึ่ง ในเวลาที่จำเพาะเจาะจงห้วงเวลาหนึ่ง บันทึกของนักเดินทางที่เดินทางเข้าไปในแดนแปลกถิ่น โดยในครั้งนี้ ‘ในตัวเรื่อง’ คือการเดินทางของหญิงสาวคนหนึ่งที่ ‘อาจจะ’ มาทำงานตามหาโลเคชั่นให้กับกองถ่ายภาพยนตร์ที่ต้องการกระบี่ในแง่มุมที่ยังไม่ป๊อปปูลาร์ และอีกหนึ่งคือ การเดินทางของกองถ่ายภาพยนตร์โฆษณาที่เดินทางมากระบี่เพื่อถ่ายโฆษณา

ในขณะที่โลก ‘นอกตัวเรื่อง’ (ที่มีการกล่าวถึงในตัวเรื่อง) คือ การที่ศิลปินสองคน (อโนชา สุวิชากรพงศ์ และ Ben Rivers) สร้างงานชิ้นนี้ให้เป็นเหมือนส่วนต่อขยายจากชิ้นงานในเทศกาลศิลปะ Thailand Biennale ที่มีการเชิญศิลปินนานาชาติลงไปทำงานศิลปะในจังหวัดกระบี่ เปลี่ยนพื้นที่ทั้งจังหวัดให้เป็นนิทรรศการศิลปะ ซึ่งตามมาด้วยปัญหามากมาย ทั้งการจัดการสื่อสารของจังหวัดกับคนท้องถิ่น การจัดแสดงงานที่อาศัยพื้นที่รัฐจนขลุกขลักไปหมด ไปจนถึงการที่ผู้จัดงานตัดสินใจแบนงานบางชิ้นที่มาจัดแสดงเพราะไม่สามารถจัดการปัญหาความไม่เข้าใจกับท้องถิ่นได้และตัวอย่างหนัง

งานชิ้นนี้ของผู้กำกับทั้งสอง ขยายตัวออกมาจากวิดีโองานเบียนนาเล่ดังกล่าว ระดมทุนผ่านทาง indiegogo เพื่อทำให้มันเป็นหนังยาว โลกนอกหนังโลกในหนังจึงสะท้อนกันเอง และในที่สุด นี่คือการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดกระบี่ในปี 2562 แต่ไม่ได้เกิดกับจังหวัด หากเกิดขึ้นกับคนที่เดินทางไปยังจังหวัดนั้น เศษเสี้ยวของเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ ไหลเลื่อนซ้อนทับ เชื่อมโยง ขัดแย้ง ไหลซึมเข้าหากัน จนอธิบายภาพรวมของสถานที่หนึ่ง การนำเสนอตัวตนของมัน การพยายามเข้าใจตัวตนของมันและความไม่ลงรอยระหว่างตัวสถานที่จริงๆ ความต้องการที่มันอยากจะเป็น สายตาของการมองเห็นสถานที่จากข้างนอกเข้ามา และจินตนาการของสายตาคนนอกผ่าน ทัศนียภาพ ประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล ตำนานโบราณ การท่องเที่ยว และอำนาจรัฐ การยื้อแย่งการเป็นภาพแทนของพลังอำนาจต่างๆ ที่ไหลวนและขับเคลื่อนหนังเรื่องนี้

เราอาจแบ่งหนังออกได้เป็นสามส่วน ส่วนแรกคือ เรื่องของหญิงสาวคนหนึ่งที่เดินทางมายังกระบี่โดยผู้ชมไม่ทราบจุดหมายที่แน่ชัดของเธอ เธออาจจะมาเที่ยวพักผ่อนวันหยุด มาตามหาความทรงจำของครอบครัว หรืออาจจะมาหาโลเคชั่นไว้ถ่ายหนังในฐานะคนทำงานหาสถานที่ เธอพบปะกับสาวไกด์ท้องถิ่นที่ดูเหมือนเข้าไม่ถึงกันและกัน ยิ่งพยายามชวนคุยก็ยิ่งไม่สามารถสื่อสารกันได้ ไกด์สาวพยายามเล่าเรื่องตำนานโบราณให้เธอฟัง แต่เธอดูไม่ใส่ใจ สนใจจะพูดคุยกับเด็กๆ บนรถโดยสารมากกว่า อยู่มาวันหนึ่งเธอไปดูโรงหนังเก่าแล้วหายตัวไป

ส่วนที่สองคือ กองถ่ายโฆษณาที่มีเป้ อารักษ์เป็นพรีเซนเตอร์ในคอนเซปต์แบบมนุษย์ยุคหิน ตามประวัติศาสตร์เมืองกระบี่ที่มีหลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ และโดยไม่ได้ตั้งใจ ดาราหนุ่มก็บังเอิญได้เผชิญหน้ากับมนุษย์หินจริงๆ เข้าครั้งหนึ่ง

ส่วนสุดท้ายเป็น บทสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่สองสามคน ตั้งแต่คุณตาอดีตนักมวย คุณน้าแผนกต้อนรับของโรงแรม และคุณลุงเฝ้าโรงหนังเก่าที่ปิดกิจการ

เรื่องทั้งสามส่วนเชื่อมโยงและไม่เชื่อมโยงกันผ่านการเข้าออกสถานที่อย่างโรงแรม เกาะแก่งต่างๆ และตัวเมือง โดยซ้อนทับในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี ทุกอย่างล้วนเคลื่อนไปอย่างแยกขาดจากกันราวกับว่าแต่ละผู้คนล้วนต่างดำเนินชีวิตในมิติคู่ขนาน ชาวบ้านที่ถูกสัมภาษณ์ในสารคดีค่อยๆ กลายเป็นตัวประกอบในเรื่องเล่า หากความจริงเหลื่อมซ้อนทาบกันไม่สนิทเสมอ ความจริงและเรื่องเล่าต่างถูกคัดเลือก บิดเบือน ขัดถู สร้างขึ้นใหม่ เปลี่ยนความหมายเดิม แล้วไอ้ส่วนที่เหลื่อมซ้อนกันนี้เองคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ภาพแทน’ ขึ้นกับว่าเป็นภาพแทนของสิ่งใด ของงานศิลปะ ของศิลปิน หรือของเมือง

หากเราลองแบ่งเรื่องราวออกใหม่โดยแยกออกจากเรื่องราวในหนัง เราอาจจะพบชั้นบางๆ ของเรื่องราวสามส่วน

ส่วนแรกคือ เศษแตกหักของเรื่องเล่าจากชาวบ้าน ชีวิตของพวกเขาในอดีต ความทรงจำของพวกเขา เรื่องราวที่พวกเขาเจอ จากเรื่องการต่อยมวยไปจรดเรื่องผี เรื่องเล่าที่ไม่ถูกจดจำเกิดขึ้นและดับไปเพียงในวงชีวิตแคบๆของพวกเขา

ส่วนที่สองคือ เรื่องเล่าอย่างเป็นทางการของเมือง ความเป็นทางการซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ชื่อจังหวัดหรือคำขวัญหรือสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ หากยังหมายรวมถึงตำนานโบราณฉบับที่ได้รับการยอมรับ ประวัติศาสตร์ฉบับทางการ เรื่องราวแบบตำนานถ้ำพระนาง ตำนานเขาขนาบน้ำ หรือการมีอยู่ของโลกก่อนประวัติศาสตร์ ของมนุษย์หิน

ในขณะที่เรื่องในส่วนที่สามคือ เรื่องของภาพแทน และภาพแทนนี้เองคือสนามของการช่วงชิงอำนาจเหนือเรื่องเล่า เราเห็นภาพแทนเหล่านี้ได้ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ภาพของมนุษย์ยุคหินที่กลายเป็นประติมากรรมเหนือเสาไฟจราจรกลางเมือง หรือภาพวาดของสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองกระบี่ ภาพเขาขนาบน้ำ เวิ้งอ่าวทะเล ภาพทิวทัศน์ที่พบเห็นไปทั่ว ทั้งภาพเขียนบนกำแพงโรงเรียน บนผนังร้านอาหาร หรือภาพถ่ายนำเที่ยวที่แปะเป็นฉากหลังของบริษัททัวร์ ภาพเขียนเหล่านี้ก็เช่นเดียวกับมนุษย์หิน มันเป็นภาพที่ถูกทำให้เสมือนจริงหากก็เหนือจริง เลือกขับเน้นเฉพาะบางสิ่งที่ต้องการนำเสนอ สิ่งที่กระบี่ควรถูกจดจำ สั่งให้จดจำ จดจำอย่างเป็นทางการ

ภาพแทนเหล่านี้จึงสั่นคลอนอย่างยิ่งเมื่อหญิงสาวเริ่มคุยกับเด็กๆ บนรถโดยสารแล้วเด็กไม่อาจแน่ใจว่าร้านอาหารดังในตัวเมืองชื่อ โกตุง โกซุงหรือโกส้อง อ่าวลึกนั้นลึกแค่ไหน แล้วทะเลอ่าวนางนี่สวยจริงหรือเปล่า ภาพแทนมักเข้มข้นกว่าภาพจริง กำหนดการรับรู้ภาพจริง เช่นเดียวกับการที่หญิงสาวต้องการกระบี่ไม่ใช่ที่อื่น แต่ต้องไม่ใช่กระบี่ป๊อปปูลาร์ที่หนังเรื่องอื่นเคยมาถ่าย ความเข้ากันไม่ได้ของเธอในฐานะนักท่องเที่ยวมากเรื่องกับไกด์สาวจึงเป็นเรื่องของการเข้าใจภาพแทนที่แตกต่างกัน

ในขณะเดียวกัน เมื่อตัวไกด์สาวต้องไปโรงเลี้ยงผึ้ง ความเข้าใจภาพแทนของการเที่ยวโรงเลี้ยงผึ้งก็ถูกลดรูปเหลือเพียงราคาของน้ำผึ้งอันเป็นภาพจริงของคนเลี้ยงผึ้งที่มีต่อการเลี้ยงผึ้ง หาใช่การเที่ยวชมถ่ายรูปแต่อย่างใด

แต่ภาพแทนที่ไกลกว่านั้นไม่ใช่ภาพแทนที่ตัวพื้นที่ ‘กระบี่’ ส่งออกตัวเอง แต่เป็นภาพแทนที่คนนอกซึ่งเสพภาพแทนทางการช่วยกันสร้างภาพแทนอีกชนิดซ้อนทับลงไป เป็นภาพแทนของภาพโฆษณาที่สกัดเอาทุกความจริงออกไปจนหมด เราจึงเห็นหนุ่มหล่อกลายเป็นภาพแทนของมนุษย์หินดึกดำบรรพ์ ยืนถือเครื่องดื่มอยู่บนชายหาดสวยงามที่มีฉากหลังเป็นเกาะกลางทะเล ภาพแทนอันสมบูรณ์แบบที่ถูกสร้างขึ้นอย่างมืออาชีพ สวมทับภาพแทนทางการของจังหวัดและสร้างความจริงเทียมชนิดใหม่ขึ้นมา

มันจึงน่าตื่นเต้นที่มนุษย์หินฉบับภาพแทนจู่ๆ ได้สบตากับมนุษย์ยุคหินจริงๆ ความคลุมเครือเหนือฝันเหนือจริงนี้ยอกย้อนอย่างยิ่งเมื่อมนุษย์ยุคหินในถ้ำก่อไฟปิ้งปลาด้วยมุมภาพแบบเดียวกับ ‘ภาพแทน’ แบบจำลองหุ่นมนุษย์ยุคหินแบบที่เราเห็นในพิพิธภัณฑ์ ราวกับว่าจินตนาการถึงมนุษย์ยุคหินที่แท้จริงนั้นมีจำกัด เราไปได้ไกลเพียงเท่ากับภาพแทนที่ถูกทำเทียมสร้างขึ้นใหม่ การสบตาของมนุษย์ยุคหินกับมนุษย์ยุคหินเทียมจึงเป็นทั้งการปะทะกันของประวัติศาสตร์กับเรื่องแต่ง ภาพจริงกับภาพแทน อดีตกับอนาคต และภาพแทนของภาพแทน

หากภาพแทนนี้ถูกสำรวจตรวจสอบโดยทีมนิติวิทยาศาสตร์ประหลาดที่โผล่มาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย คนสวมชุดมนุษย์อวกาศขุดหาอะไรจากในดินกลางสวนที่เต็มไปด้วยสัตว์ แต่ไม่ใช่สัตว์ หากอีกครั้งเป็นภาพแทนของสัตว์ที่ปั้นขึ้นจากปูน การสอบสวนซากนิ้วส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ลงไปไม่ได้มอบอะไรทางวิทยาศาสตร์กลับมา มันกลับชี้ไปยังภาพเขียนสีในผนังถ้ำแห่งหนึ่ง อีกครั้งภาพกลายเป็นภาพแทนของการเคยมีมนุษย์โบราณอาศัยอยู่ที่นี่จริงๆ ภาพแทนจึงเป็นได้ทั้งร่องรอย หลักฐานและโฆษณาชวนเชื่อ

หากภาพยนตร์/งานศิลปะเองก็เป็นภาพแทนประการหนึ่ง ศิลปินสร้างงานที่สัมพันธ์กับพื้นที่และเวลาด้วยการบลงพื้นที่ไป ‘สำรวจโล’ สักห้วงเวลาหนึ่ง พยายามทำความเข้าใจพื้นที่ ห้วงเวลานั้นๆ จากนั้นสร้างงานขึ้นมา ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ งานนั้นก็เป็นภาพแทนทั้งต่อความคิดของศิลปินเองและต่อพื้นที่และเวลาที่ศิลปินลงไปสัมผัส และยังเป็นภาพแทนที่ยั่วล้อ ตั้งคำถาม ท้าทาย กับภาพแทนที่เป็นทางการอีกชั้นหนึ่ง งานศิลปะจึงเป็นได้ทั้งภาพแทนและเป็นภาพแทนของภาพแทน

“กระบี่, 2562” ที่เป็นชื่อหนัง จึงเป็นภาพแทนของศิลปิน/หญิงสาวคนนั้น เมื่อชาวบ้านได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่า แต่คุณสมบัติของภาพแทนก็คล้ายกับภาพตัดต่อศิลปิน เลือกเอาเฉพาะส่วนที่เขาหรือเธอสนใจ ขยายความ เล่าใหม่ เปลี่ยนสภาพเรื่องดั้งเดิม เราจึงเห็นช่องว่างที่ไม่แนบสนิทประปรายไปตลอดเรื่อง ลุงนักมวยที่เล่าว่าย้ายมาจากที่อื่นกลายเป็นคนที่เกิดที่นี่ หรือลุงโรงหนังที่ตอบรับเรื่องความทรงจำในปี 2524 ของพ่อแม่หญิงสาว หากในเวลาต่อมาให้สัมภาษณ์ว่าว่าโรงหนังเปิดในปี 2523 ความคลาดเคลื่อนของสถานที่และเวลาเป็นเหมือนการทาบเข้ากันไม่สนิทของกระดาษลอกลายที่ลอกลายของพื้ี่นที่และเวลาออกมาสร้างขึ้นใหม่ การหายไปของหญิงสาวทำให้เรื่องเล่าที่ไม่มีเจ้าของอีกต่อไป คนนอกตัดขาดตัวเองออกจากสายตาของสิ่งที่ตนมอง คล้ายประพันธกรล้มตายหลังชิ้นงานสำเร็จ

มองในแง่นี้ นักแสดงที่รับบทไกด์สาวจึงเป็นขั้วตรงข้ามของหญิงสาวในเรื่อง เธอเป็นทั้งนักแสดงที่มา ‘รับบทเป็น’ คนในพื้นที่ ขณะเดียวกันตัวจริงของเธอก็เป็น ‘คนในพื้นที่’ ด้วย เธอจึงมีคุณสมบัติทั้งคนในและคนนอก เธอเป็นผู้ส่งต่อภาพแทนทางการของตำนานพื้นเมือง และเป็นตัวละครของศิลปินด้วย

อย่างไรก็ดี ความคลาดเคลื่อนของภาพแทนที่น่าสนใจคือภาพแทนงาน ‘กำเนิดหอยทากทอง’ ของจุฬญาณนนท์ ที่หนังเล่าถึงไว้บางๆ งานที่เล่นกับตำนานเขาขนาบน้ำ โดยตีความออกมาเป็นหนังเงียบ ในหนังไม่ได้อธิบายงานชิ้นนี้เพียงแต่อ้างถึงในฐานะของงานศิลปะชิ้นที่เกิดความไม่พอใจและนำไปสู่การแบนงานชิ้นนี้ในเทศกาล จึงไม่ใช่ทุกภาพแทนจะเป็นภาพแทนที่รัฐ/พื้นที่/ทางการต้องการ ภาพแทนที่ท้าทายจะถูกทำลายด้วยข้อหาการเป็นภาพแทน (ภาพที่ไม่สอดคล้องกับความจริง) มากเท่ากับการชื่นชมภาพแทน (ภาพที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อ) ความยอกย้อนของภาพแทนจึงมีความเป็นการเมืองอย่างยิ่ง

หากสิ่งที่ทรงอำนาจที่สุดในหนัง ในความเป็น ‘พื้นที่’ กลับคือ สิ่งที่ไม่มีภาพแทน/ไม่มีภาพปรากฏเลยด้วยซ้ำ สิ่งนั้นปรากฏอยู่ในฉากแรกของหนัง นั่นคือเสียงร้องเพลงในยามเช้าของนักเรียน ที่กำลังเข้าแถว และเสียงการซ้อมสวนสนามที่ดังก้องโดยไม่เห็นภาพของทหารในทุกครั้งที่เข้าเมือง

ภาพแทนที่ไม่ปรากฏแต่ทรงอำนาจนี้อยู่ในทุกที่ในโรงเรียน ใน ‘โรงหนัง’ บนถนน ในจิตสำนึก และนั่นทำให้นึกถึงทฤษฎีของคนทำหนังนักต่อต้านชาวญี่ปุ่นอย่าง Masao Adachi ที่เสนอ Landscape Theory ที่เชื่อว่าในทุกๆ ทัศนียภาพ ในทุกๆ ภูมิทัศน์ของที่ใดที่หนึ่ง ล้วนเป็นภาพแทนของอำนาจรัฐที่ลงไปจัดการพื้นที่เหล่านั้น (ตัวอย่างภาพยนตร์ของเขาที่เล่นกับทฤษฎีนี้คือ A.K.A. Serial Killer ซึ่งเป็นการตามถ่าย ‘สถานที่’ ตามเส้นทางการเดินทางของฆาตกรฆ่าต่อเนื่องคนหนึ่ง โดยเสียงคือเสียงจากการรายงานข่าวตามล่าฆาตกรนั่นเอง ภาพของพื้นที่เปล่าๆ กลายเป็นภาพแทนของสิ่งที่กำหนดอำนาจ หรือความไร้อำนาจ สถานะหรือความไร้สถานะของผู้คน)

ภาพของเมืองกระบี่ อย่างเช่นภาพสถาปัตยกรรมบ้านภาคใต้ โรงหนังโบราณ ชายหาดและนักท่องเที่ยว ถ้าที่มืดมิด เกาะแก่งห่างไกล หรือวงเวียนงานศิลป์ไฟสี กลายเป็นภาพที่หากจ้องมองด้วยสายตาบางแบบก็จะพบรูปแบบอำนาจของรัฐเสมอ

สุดท้าย สิ่งที่คืบเคลื่อนไปพร้อมกับพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ต่อต้านความหยุดนิ่งของพื้นที่คือ ‘เวลา’ กระบี่ยังคงเป็นกระบี่ แต่กระบี่, 2523 , 2562 หรือ 2588 เป็นกระบี่คนละแบบเสมอ และดูเหมือนความงามจับใจที่สุดเกี่ยวกับเวลาในหนังคือภาพเล็กๆ ที่ไม่สลักสำคัญใดๆ เมื่อบรรดาชาวบ้านในหนังได้ก้าวออกจากการเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์ และตัวละครในเรื่องเล่า ไปสู่การเป็นผู้คนที่แท้จริง ภาพที่งดงามที่สุดของหนังจึงเป็นภาพของตัวคุณพี่โรงแรม คุณลุงโรงหนังที่ขี่มอเตอร์ไซค์ไปรับลูกหลานหน้าโรงเรียน แวะเที่ยวตลาดนัด หรือดูดชาดำเย็นบนมอเตอร์ไซค์ หรือแม้แต่ไกด์สาวกินขนมจีนแล้วพบกับนักท่องเที่ยว ในฉากนี้ภาพแทนไหลทบกับความจริง กระบี่ยังคงคืบเคลื่อนต่อไปเคลื่อนไหวเงียบเชียบภายใต้ภาพแทนอันนิ่งงันเหล่านั้น

ชม “กระบี่, 2562” ได้ที่

Manto พูดออกมาเถอะ มันเป็นหน้าที่ของคุณ

เมื่อสองปีที่แล้วผมมีโอกาสได้พาทีมงานรายการ Entertainment Now ไปสัมภาษณ์ผกก. นันดิตา ดัส ที่เทศกาลหนังปูซาน เสียดายที่วันนั้นเราไปถึงเทศกาลไม่ทันได้ดู Manto หนังของเธอที่ฉายในเทศกาล แต่เราได้ดู In Defence of Freedom หนังสั้นที่เป็นปฐมบทของ Manto เลยพอจะจับต้นชนปลายได้ว่ามันเป็นหนังเกี่ยวกับ ซาดัส ฮาซัน มันโต นักเขียนชาวอินเดีย-ปากีสถาน ที่ผลงานของเขาท้าทายศีลธรรมทางสังคมโดยเฉพาะในช่วงปลดแอกอินเดียจากอังกฤษ

หลังจากถอดไวร์เลสเมื่อถ่ายรายการเสร็จเราต่างคุยกันนอกรอบด้วยเรื่องสัพเพเหระก่อนที่เธอจะถามว่าเราแฮปปี้มั้ยที่เมืองไทย? ดัสคงสังเกตจากอวัจนภาษาของผมได้เธอเลยแนะนำว่า “ถ้าคุณคับข้องใจอะไรก็พูดออกไปเถอะ มันเป็นหน้าที่ของคุณ”

ผมเพิ่งมาเจอว่า Manto มีให้ดูใน Netflix แล้ว ระหว่างดูก็นึกถึงสิ่งที่ดัสพูดในวันนั้นอยู่ตลอด ผ่านชีวิตของมันโต นักเขียนที่แหวกขนบสุดเคร่งของอินเดียมาเล่าเรื่องค้าประเวณีเด็ก เซ็กซ์ ผู้หญิง และความฉาวอีกมากมาย ขณะที่เขาเองยังมีบทบาทอยู่ในอุตสาหกรรมหนังบอลลีวูดด้วย มันโตจึงเป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งจากคนอ่าน โปรดิวเซอร์ ดารา แต่ความแปลกแยกคือเขาเป็นมุสลิม

ความเป็นมุสลิมของมันโตไม่ใช่เรื่องเล็กในตอนนั้น เพราะหลังอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ก็เกิดการแบ่งแยกดินแดนโดยชาวฮินดูร่วมกันผลักดันมุสลิมไปอยู่ในเขตปากีสถาน ซึ่งแม้มันโตจะเป็นปัญญาชนในอินเดียแค่ไหน แต่สุดท้ายเขาก็ต้องอพยพไปอยู่ในฝั่งปากีสถานตามครอบครัวอยู่ดี ซึ่งแน่นอนว่า ณ สังคมมุสลิมอันเคร่งครัดในนั้น งานเขียนของมันโตไม่ใช่สิ่งที่คนจะรับได้จนเขาถูกดำเนินคดีข้อหาอนาจารในที่สุด แต่เขาก็สู้สุดใจเพราะ “มันเป็นสิ่งที่เขาต้องพูด”

ชีวิตของมันโตกลายเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศสำหรับการทำเป็นหนัง เพราะเขาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งตลอดเวลา ความรุ่งโรจน์ของเขาเกิดขึ้นในช่วงที่สังคมอินเดียเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ความผิดที่ผิดทางในอุตสาหกรรมหนัง มิตรภาพระหว่างคนเบื้องหลังอย่างเขาเองกับดาราดัง ไชอาม ชัดด้า จนกระทั่งย้ายไปเป็นสิ่งแปลกปลอมในปากีสถาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันยืนอยู่บนฐานของการต่อสู้เพื่อได้ “พูด” ในสิ่งที่มันโตคิดว่าสมควรได้รับการชำระจากสังคม

หนังให้น้ำหนักกับความเป็นมนุษย์ผู้อยู่ผิดที่ผิดเวลาของมันโตมากกวา การเป็นคนอื่นในสังคมสุดขอบนั้นยากลำบากแค่ไหน เราจะเห็นมันโตที่เถรตรงในการพูดต่อสาธารณะต้อง “ปลอม” เพื่อเอาตัวรอด และการต้องอยู่ท่ามกลางกับคนเห็นต่างนั้นต้องวางตัวอย่างไร

ข้อมูลที่เราให้ไปข้างต้นเป็นแค่สิ่งที่ควรรู้ไว้เป็นพื้นหลังเท่านั้น อันที่จริงหนังให้น้ำหนักกับความเป็นมนุษย์ผู้อยู่ผิดที่ผิดเวลาของมันโตมากกวา การเป็นคนอื่นในสังคมสุดขอบนั้นยากลำบากแค่ไหน เราจะเห็นมันโตที่เถรตรงในการพูดต่อสาธารณะต้อง “ปลอม” เพื่อเอาตัวรอด และการต้องอยู่ท่ามกลางกับคนเห็นต่างนั้นต้องวางตัวอย่างไร

“คุณลุกขึ้นมาฆ่าผมได้เลยนะ” มันโตพูดกับไชอาม ดาราดังเพื่อนรักที่เป็นฮินดูซึ่งกำลังโกรธแค้นมุสลิม เมื่อรู้ว่าญาติชาวฮินดูของเขากำลังถูกโจมตีจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในปากีสถาน “ใช่ ผมลุกขึ้นมาฆ่าคุณได้เลย” ไชอามตอบ

เชื่อว่าเราต่างคงเคยผ่านประสบการณ์ที่ความเชื่อและอุดมการณ์อันต่างกัน สั่นคลอนมิตรภาพอันยาวนานกันมาแล้วไม่มากก็น้อย ส่วนหนึ่งมันคือบททดสอบการเรียนรู้ความหลากหลายในสังคม แต่อีกด้านหนึ่งมันก็มักเป็นแรงผลักดันสำคัญของใครหลายคนให้ไปสู่ความสุดขั้วทางความคิด

สำหรับมันโตมันทำให้เขาได้ตัดสินใจอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล แต่ที่มากกว่านั้น คือมันสามารถเปลี่ยนโลกได้อีกด้วย

…ทุกการขยับของโลกรอบข้างในชีวิตมันโตไม่ว่าจะก้าวไปข้างหน้าหรือล้าจนถอยหลัง ทว่าในฐานะผู้เล่าเรื่อง ดัสพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าแม้การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย มันก็เป็นผลพวงจากการยืนยันที่มันโตจะ “พูดมันออกมา”


คลิกเพื่อรับชม : In Defence of Freedom และ Manto

“คานส์” เลื่อนเทศกาล แต่เปิดประตูต้อนรับคนไร้บ้านแทน

ถ้าสถานการณ์เป็นดังที่เคยเป็นมา สถานที่หรูหราอย่าง “Palais des Festivals” ในเมืองคานส์จะต้องกำลังเตรียมตัวเป็นที่จัดเทศกาลหนังแสนยิ่งใหญ่ประจำปี แต่บัดนี้ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 เทศกาลหนังเมืองคานส์ 2020 จำต้องเลื่อนไป และ David Lisnard นายกเทศมนตรีเมืองคานส์ก็ตัดสินใจอย่างกล้าหาญ ให้เปิดอาคารหรูฟู่แห่งนี้เป็นที่พักพิงของคนไร้บ้านซึ่งไม่มีบ้านให้กักตัวเหมือนคนอื่นๆ ในช่วงเวลายากลำบากเช่นนี้แทน

ฝรั่งเศสมีคนไร้บ้านอยู่ราว 12,000 คน และตอนนี้เริ่มเข้ามาอยู่ในอาคารปาเล่ฯ คืนละ 50-70 คน โดยตรงทางเข้าจะมีเจ้าหน้าที่สวมหน้ากากคอยวัดอุณหภูมิร่างกายของทุกคนทุกครั้ง ภายในตัวอาคารมีพื้นที่กินอาหาร ห้องอาบน้ำ และห้องสันทนาการสำหรับดูทีวีและเล่นเกม ส่วนพื้นที่นอนจะเป็นห้องเพดานต่ำ ตั้งเตียงสามแถวเหมือนค่ายพักแรม

Cinephiles in the time of Corona …คู่มือคอหนังยามยาก (VOL. 1)

ท่ามกลางความวุ่นวายของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทั่วโลก การเข้าสังคมพบปะผู้คนจู่ๆ อาจกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรค

ในช่วงเวลาของ ‘การรักษาระยะทางสังคม’เช่นนี้ เราขอเสนอตัวเลือกของการนอนดูหนังอยู่กับบ้าน สำหรับคนรักหนังทุกท่านที่ต้องเผชิญสภาพ “โรงหนังกลายเป็นสถานที่อันตราย”

นอกจาก Documentary Club (มิตรสหายของ Film Club) จะเอาหนังสารคดีและหนังยาวลงออนไลน์ผ่านช่องทาง Doc Club On Demand ให้ได้ชมกันแล้วนั้น …ยังมีหนังจากและเวบไซต์น่าสนใจอีกมากมายสำหรับการดูหนังอยู่กับบ้านที่เราทีมงาน Film Club ขอแนะนำ (*คลิกชื่อเรื่องหรือภาพเพื่อเข้าชม*) :

(อ่าน VOL. 2 ได้ที่นี่ และ VOL. 3 ได้ที่นี่)

Nontawat Numbenchapol’s docs

นักทำหนังสารคดีชาวไทยที่คมคายในประเด็น และพาไปสำรวจถึงสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปราะบางแก่การพูดถึง กระตุกให้คนดูได้จดจำและเสาะหาปัญหาตั้งต้นของเหตุการณ์ ทั้งปัญหาชายแดนและการเมือง (การเมืองสีเสื้อในยุคนั้น) ใน “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” (Boundary), ปัญหาสารพิษกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น และคดีที่เรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแต่กลับค่อยๆ เงียบหายไปในความมืด ใน “สายน้ำติดเชื้อ” (By the River ) และปัญหาความขัดแย้งระหว่างพม่าและชาวไทใหญ่ในชายแดนไทย-พม่า ที่กำลังเปลี่ยนผ่านระบอบและการปกครองของทั้งสองประเทศ สั่นคลอนความไม่มั่นคงในการใช้ชีวิตของชาวไทใหญ่ ใน “ดินไร้แดน” (Soil Without Land)

ตอนนี้หนังทั้งหมดของเขา 3 เรื่อง ได้ลงใน vimeo on demand เรียบร้อยแล้ว เชื้อเชิญให้ทุกคนได้ทัศนา สนนราคาที่เรื่องละ 6.00 USD หรือประมาณ 200 บาท แต่พิเศษสุด ตั้งแต่วันนี้ – 31 มีนาคม 2563 เพียงใส่โค้ด “covid” ลดทันที 70% เหลือ 1.8 USD หรือประมาณ 60 บาทเท่านั้น

– แนะนำโดย N. –

Diary of a Country Priest (1951, Robert Bresson)

หนังสร้างมาจากนิยายในชื่อเดียวกัน โดย Georges Bernanos ซึ่งตีพิมพ์ออกมาในปี 1936 เล่าเรื่องพระหนุ่มที่เจ็บป่วยทั้งร่างกายจากอาการปวดจุกบริเวณกระเพาะอาหารทำให้เขาฉันได้แต่ขนมปังและไวน์ และอาการเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณเมื่อเขาถูกทดสอบจากการเผยแพร่ศาสนาในยุคสมัยผู้คนเริ่มถอยห่างจากศาสนจักรพร้อมกับวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ความเชื่องมงายและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระเจ้า แต่วิทยาศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่ก็อาจเป็นอีกลัทธิที่แตกแปลงกายออกจากคริสตศาสนา

แนะนำโดย K.-

Casting Jonbenet (2018, Kitty Green)

สารคดีว่าด้วยคดีฆาตกรรมเด็กหญิงจอนเบเนต์ที่เกิดขึ้นในบ้านของเธอเองในเช้าวันคริสมาสต์ มีทฤษฎีต่างๆ นานา ตั้งแต่ไอ้โรคจิตดอดเข้ามาฆ่าปลอมตัวเป็นซานตาคลอส ไปจนถึงอาจจะเป็นพ่อหรือแม่ที่ทำ แม่เธอเป็นคนดังมาก เป็นพี่เลี้ยงนางงาม แล้วดันลูกสาวประกวดนางงามเด็ก พ่อเป็นนักธุรกิจ ตามประสาครอบครัวสวยแต่เปลือก ข้างในเต็มไปด้วยปัญหา

หนังไม่เล่ารายละเอียดว่าสรุปคดียังไง แต่วิธีการทำหนัง คือแทนที่จะพูดเรื่องคดี สารคดีคือการเปิดแคสต์ติ้งหาตัวละครที่จะรับบท พ่อ แม่ พี่ชาย ตัวเด็กที่ตาย ตำรวจ และ ผู้ต้องหา โดยคนที่แคสต์เป็นคนแถวบ้าน คนที่รู้เรื่องคดี แล้วก็คุยกับทุกคนที่มาแคสต์ ทุกคนก็จะมีกอสสิปในเรื่องคดี การเตรียมตัวรับบททำให้ต้องวิเคราะห์จิตของตัวละคร การพูดไปเรื่อยเดาไปเรื่อยเหมือนการแพร่กระจายของข่าวลือในชุมชนว่าใครฆ่าเด็กซึ่งมันน่ากลัวมากๆ

แต่หนักกว่านั้นคือคนทำตะล่อมให้คนมาแคสต์เล่าเรื่องตัวเอง ที่ซ้อนทับไปมากับคดีด้วย มันเลยกลายเป็นการเปิดเผยตัวตนคนเล่า ความเข้าใจที่มีต่อโลก และการแพร่กระจายของทฤษฎีสมคบคิดตั่งต่างในชุมชน

– แนะนำโดย W.-

Srbenka (Nebojša Slijepčević , 2018)

Doc Alliance เป็นเวบไซต์สตรีมมิ่งในฝันของบรรดาคนรักสารคดีและหนังทดลองจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากฝั่งยุโรปตะวันออก จะมีมากเป็นพิเศษ อาศัยวิธีการสมัครรายเดือน หรือจะซื้อเป็นเรื่องๆ ก็ได้

ถ้าใครสมัครแล้ว หรืออยากลองสมัครแต่ไม่รู้จะดูอะไรเราขอแนะนำ หนังสารคดีที่ว่าด้วยกระบวนการทำละครเวทีในโครเอเชีย หนังเริ่มจากการสัมภาษณ์คนเซอร์เบียที่โดนบูลลี่ในโครเอเชีย (สองประเทศขัดแย้งรุนแรงในสงครามช่วงต้นเก้าศูนย์ส่งผลให้คนเซิร์บโดนเกลียดชัง เหยียดหยามอย่างรุนแรงในโครเอเชียจนถึงปัจจุบัน )

ตัวหนังเกือบทั้งหมดคือการติดตามการซ้อมละครที่สร้างจากเหตุการณ์จริงที่ว่าด้วยคนโครเอเชียบุกเข้าไปในบ้านคนเซอร์เบียแล้วฆ่ายกครัว หนังทั้งเรื่องไม่มีการพูดย้อนถึงเหตุการณ์นั้น แต่เราจะได้เห็นการซักซ้อมของผู้กำกับกับนักแสดง หนังค่อยๆเปิดเผยว่าผู้กำกับพยายามบีบคั้น รีดเค้นนักแสดง กระบวนการซักซ้อม การย้อนกลับไปพิจารณาเหตุการณ์เพื่อตีความตัวละครของนักแสดง กลายเป็นการตีความประวัติศาสตร์บาดแผลโดยไม่ต้องเล่าตรงๆ

– แนะนำโดย W.-

Director Scud Selection

GagaOOLala เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้บริการสตรีมมิ่งหนัง LGBTQ+ รายแรกของเอเชีย มีทั้งหนังสั้น หนังยาว ซีรีส์ สารคดี และ Original content ของตัวเอง หนังส่วนใหญ่มีซับไตเติ้ลไทยและตัวแพลตฟอร์มเองก็อัพเดตหนังใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งในช่วงเวลาแบบนี้ทางแพลตฟอร์มก็มีโปรโมชั่นแถมฟรี 14 วันสำหรับผู้ที่สมัครสมาชิกใหม่ในเดือนแรกด้วย

Scud เคยกล่าวไว้ว่า “ลึงค์มอบชีวิตให้เรา และพวกเราเติบโตมาจากเต้านม ถ้าสองสิ่งนี้เป็นของอนาจาร เราทุกคนก็สกปรกกันหมด” ผู้กำกับฮ่องกงที่สร้างกระแสฮือตั้งแต่เขาทำหนังเรื่องแรก City Without Baseball ในปี 2008 ด้วยลายเซ็นเฉพาะตัวที่หนังทุกเรื่องจะมีผู้ชายหุ่นดีๆ เดินสายพาเหรดประเดประดังเข้ามาจนทำให้คุณต้องเมากล้ามแน่นๆ (และอย่างอื่น) ตายกันไปข้างนึง และตัวเรื่องที่มักจะวนอยู่กับยาเสพติด โรคซึมเศร้า ความปรารถนาในผู้ชายด้วยกัน ไปจนถึงประเด็นศาสนา! หนังหลายเรื่องของเขาได้รับการฉายในไทยและยังคงเป็นที่พูดถึงกันอยู่ในทุกวันนี้ GagaOOLala ได้รวมหนังทุกเรื่องของเขาตั้งแต่เรื่องแรกจนถึงเรื่องล่าสุด (Thirty Years of Adonis) ทั้งหมด 7 เรื่อง โดยมีซับไตเติ้ลไทยครบทุกเรื่อง นี่เป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่อยากเก็บตกหนังของ Scud ที่คุณไม่เคยดู หรืออยากลองเปิดโลกหนังของพี่แกเป็นครั้งแรก

แนะนำโดย F.-

Stateless Things (2011, Kim Kyung-mook)

อีกหนึ่งของดีจาก GagaOOLala เรื่องราวของคนชายขอบสองคน คนแรกเป็นคนงานต่างด้าวจากเกาหลีเหนือผู้มาทำงานในเกาหลีใต้ที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง เขาถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างพร้อมกับปกป้องเพื่อนร่วมงานหญิงที่เป็นคนงานต่างด้าวเหมือนกับเขาจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนอีกคนเป็นเด็กหน้าตาดีที่มีชีวิตด้วยการเป็นเด็กเสี่ย ถูกเลี้ยงดูอยู่ในคอนโดหรูสูงเสียดฟ้าใจกลางเมือง เขากำลังเปลี่ยนเหงาและกลวงโหวง ใช้วันเวลาที่ผ่านไปกับการเขียน หาคนคุยในเน็ต และการเต้น ชายสองคนนัดเจอกันที่คอนโดหรูเพื่อกระทำการอะไรบางอย่าง

หนังเกาหลีเรื่องนี้เข้าชิง Queer Lion ที่ Venice Film Festival ในปี 2011 หนังยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ Kim Kyung-mook และหนังเรื่องที่สองในไตรภาค Things (อีกสองเรื่องคือ Faceless Things และ Futureless Things) หนังดำเนินเรื่องด้วยความใจเย็น เริ่มเล่าเป็นหนังชีวิตรันทดสไตล์ Realism อย่างจริงจังก่อนจะค่อยๆ ผันตัวเองกลายเป็นความเหนือจริงตามระยะเวลาที่ผ่านไป หนังเกย์เกาหลีที่ไม่ธรรมดาเรื่องนี้บอกเล่าสภาวะอารมณ์ที่ทะลักทลายของตัวละครด้วยท่วงทีลีลาที่พิศวงและตัวหนังถูกพูดถึงน้อยจนน่าเสียดาย

– แนะนำโดย F. –

Shyam Benegal’s films

นอกจาก Satyajit Ray แล้ว อีกหนึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ภาษาเบงกาลีคนสำคัญคือ Shyam Benegal เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับหนังในตระกูล middle cinema หรือ paralell cinema กลุ่มการเคลื่อนไหวทางภาพยนตร์จากฟากฝั่งเบงกอลตะวันตก ที่เกิดขึ้นช่วงกลางยุค1950’s โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก Italian Neorealism โดยงานในกลุ่มนี้ แตกต่างไปจากในบอลลีวู้ดที่เรารู้จักโดยสิ้นเชิงทั้งในขณะนี้และขณะนั้น เพราะนี่คือภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องจริงจังทางสังคม ปราศจากความพาฝัน และแน่นอน ไม่มีการใส่เพลงและการเต้นพร่ำเพื่อโดยไม่จำเป็น

ใน Netflix มีหนังของ Shyam Benegal ให้ดูถึงสามเรื่องสามรส แม้จะไม่ใช่งานชิ้นสำคัญสุดๆของเขา แต่ก็ถือว่าเป็นงานครูที่ไม่ควรพลาด

– แนะนำโดย W. –

India Song (Marguerite Duras, 1975)

India Song เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสำหรับผู้แสวงหาความท้าทายทางภาพยนตร์ในระดับสุดขีดขีดสุด ผลงานกำกับของ มาร์เกอร์ริต ดูราส์ นักเขียนนามอุโฆษของฝรั่งเศสที่คนไทยอาจรู้จักมักคุ้นจากงานแปลเรื่อง โรคแห่งความตาย (La Maladie De La Mort) หรือถ้าใครสะสมอายุไว้เยอะหน่อยอาจจะคุ้นหูคุ้นชื่อกับ The Lover หนังอิโรติกสุดวาบวามเรื่องรักร้อนผ่าวของสาวฝรั่งเศสและหนุ่มจีนในแดนอาณานิคมเวียดนาม

ชื่อของดูราส์มักอยู่ในสายงานวรรณกรรมหนังสือเสียมาก ที่ใกล้เคียงกับหนังหน่อยก็เป็นงานดัดแปลง หรืองานที่เธอไปเขียนบทให้กับหนังฝรั่งเศสระดับคลาสสิกของโลกอย่าง Hiroshima Mon Amour (1959) และ Last Year at Marienbad (1961) แต่แท้จริงแล้วนอกจากงานเขียนเธอยังเป็นคนทำหนังคนสำคัญคนหนึ่งเลยทีเดียว และในบรรดาภาพยนตร์ที่เธอกำกับเรื่องที่โด่งดังที่สุดก็คงหนีไม่พ้นบทเพลงอินเดีย India Song เรื่องนี้

แม้หนังจะชื่อว่า India Song แต่เพลงที่เปิดเรื่องไม่ใช่เพลงอินเดีย แต่เป็นเพลงลาว “โอ้ ดอกบัวทอง บานในหนองน้ำไทร” ของสาวขอทานชาวลาวที่เดินเท้าจากสะหวันเขตถึงสถานกงศุลฝรั่งเศสที่กัลกัตตา ช็อตแรกของหนังคือลองเทคอันยาวนานของการดูพระอาทิตย์ตกดินที่ริมแม่น้ำประกอบกับเสียงร่ำไห้ของขอทานสาวชาวลาวที่ร้องไปบ่นไปว่าอยากตาย อยากตายเพราะไม่มีเงินกินข้าว ก่อนที่หนังจะค่อยเลื้อยคลานเข้าสู่สถานกงศุลฝรั่งเศส อันมีตัวละครเป็นหญิงสาวสวยอันเป็นที่หมายปองของหนุ่ม ๆ มากมาย

แต่แม้หนังจะดูเป็นเรื่องรักสวาทในสถานกงศุล ลีลาการเล่าที่พิสดารของดูราส์สร้างมนต์มายาอันแสนประหลาดให้กับหนังทั้งหมด นั่นคือหนังเหมือนมี 2 เลเยอร์ชัดเจน ภาพและเสียง ในทางภาพเราจะเห็นนักแสดงสวมบทบาทตัวละครยืนโพสท่าเหมือนนางแบบนายแบบอยู่ในสถานกงศุลไปเรื่อย ๆ พวกเขาอาจเมียงมองแต่ไม่เอื้อนเอ่ย ยืนพิงอิงนิ่งค้างกับขอบเสาผนังโต๊ะแต่ไม่เขยื้อนเคลื่อนขยับไปสู่กิจกรรมอันใด ในทางภาพเราเห็นนักแสดงโพสนิ่ง ๆ ในทางเสียงเราจะได้ยินเสียงผู้หญิง ผู้ชายหลายคนซุบซิบ “นินทา” ตัวละครบนจอให้เราฟัง เสียงของตัวละครเหล่านี้ เราไม่เห็นที่มา เราไม่เห็นว่าพวกหล่อนเขาเป็นใคร เกี่ยวพันอันใดกับใครบนจอ แต่เสียงพวกนี้เม้าท์ให้คนดูฟังว่าคนบนจอคือใคร ใครชอบใคร ใครหักหลังใคร ใครปรารถนาใคร

ภาพที่ไม่มีกริยา และเสียงที่ไม่มีตัวตน India Song คือภาพของชีวิตที่ไม่มีชีวิต ฉากแห่งเรื่องรักร้อนกรุ่นที่ถูกฉาบด้วยความเย็นเยียบ ฉากหนึ่งของหนังตัวละครจุดธูปไว้ในห้องอันมืดมิด ควันธูปยังขยับเยอะกว่าตัวละครทุกตัวทั้งเรื่อง แต่ความย้อนแย้งของเรื่องราวและวิธีเล่ากับเปิดประตูความเป็นไปได้ของการเล่าเรื่องทางภาพยนตร์ออกไปอย่างไกลและไพศาล สมัยก่อน India Song ถือว่าเป็นหนังหาดู (โคตร) ยากในไทย เป็นนกแต้วแร้วท้องดำของภาพยนตร์โลก คนเคยได้ยินชื่อแต่ไม่ค่อยได้เห็น แต่ตอนนี้งานภาพยนตร์ของดูราส์เป็นที่เข้าถึงได้มากขึ้นแล้ว และตอนนี้หนังแสนพิเศษเรื่องนี้เวียนมาฉายใน Mubi แล้ว ไม่อยากให้พลาดแล้วจะเสียใจไปดูกันได้ก่อนหมดอายุ

– แนะนำโดย R. –

84 Charing Cross Road (David Hugh Jones,1987)

นี่คือหนังที่เหมาะจะดูในช่วง Social Distancing อย่างมาก มันสร้างจากหนังสือของ เฮเลน ฮานฟ์ ที่เขียนจากประสบการณ์ส่วนตัวเธอเอง ฮานฟ์เป็นนักเขียนไต่เต้าชาวแมนฮัตตันผู้หลงใหลหนังสือหายาก ซึ่งมีร้านเดียวที่พอจะจัดสรรให้เธอได้ คือร้าน Mark & Co. ในลอนดอน ซึ่งดูแลโดย แฟรงค์ โดเอล เริ่มจากการที่ฮานฟ์เขียนจดหมายไปพูดคุยถึงรสนิยมที่ยากจะอยู่ได้ในนิวยอร์ก และดูเหมือนจะมีเพียงโดเอลจากลอนดอนเท่านั้นที่พอจะเข้าใจเธอ ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าเริ่มแน่นแฟ้นจนกลายเป็นมิตรภาพอันงดงาม แม้ทั้งคู่จะไม่ได้เจอตัวจริงกันเลยก็ตาม

นี่คือหนังรักที่ทำให้เราเห็นเสน่ห์ของตัวพ่อตัวแม่อย่าง แอนน์ แบนครอฟท์ และ แอนโทนี ฮอฟกินส์ ซึ่งไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นสองคนนี้ในบทที่น่ารักและเป็นมิตรเช่นนี้ ที่สำคัญหากช่วงนี้คุณออกไปไหนไม่ได้ หนังเรื่องนี้จะทำให้เห็นความงดงามของการอยู่คนเดียว

(*หนังออกจาก Netflix วันที่ 31 มี.ค.นี้)

– แนะนำโดย N. –

สามวันสองคืน รัก เลิก เลย
(ฐิติพงศ์ ใช้สติ, สรเทพ เวศวงศ์ษาทิพย์, สำคัญ โชติกสวัสดิ์, 2012)

หนังไทยอันเดอร์เรตแห่งปี 2012 ที่องค์ประกอบมันพร้อมจะถูกมองข้ามในทุกทาง ทั้งการเป็นหนังรักทุนต่ำ และดาราหน้าใหม่ พล็อตก็แสนจะเรียบง่ายว่าด้วยคู่รักที่ต่างก็พยายามดิ้นรนในแนวทางของตัวเอง ฝ่ายชายนั่งๆ นอนๆ อยากเป็นศิลปินไปวันๆ ฝ่ายหญิงทำงานคลีนิกเสริมความงามและเริ่มรู้จักผู้ชายที่มีอนาคตกว่า ทั้งคู่จะวัดกันด้วยทริปภูกระดึงและหวังว่าจะจบความสัมพันธ์กันบนนั้น …แค่นั้นแหละ!

แต่นี่เป็นหนังอีกเรื่องที่พิสูจน์ให้เราเห็นว่า ความจริงใจจะพาหนังเข้าไปนั่งอยู่ในใจผู้ชมได้เสมอ หากเราก้าวข้ามงานสร้างอันกระท่อนกระแท่นตามข้อจำกัดด้านเงินทุน เราจะพบหนังรักแง้นๆ ที่ลำไยจนเราเอาใจช่วย คงเพราะข้อแม้ของตัวละครที่ต้องดิ้นรนแบบไร้แต้มต่อนั่นซื้อใจเราไปโดยไม่รู้ตัว มันอาจจะเป็นหนังรักแสนเจียมตัวที่ซื้อใจคนหาเช้ากินค่ำได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง

– แนะนำโดย N. –

ด่วน! อยู่บ้านก็ไปเทศกาลหนังทดลองได้!

Ann Arbor Film Festival ได้ชื่อว่าเป็นเทศกาลหนังทดลองที่เก่าแก่ที่สุดในอเมริกาเหนือ โดยเทศกาลนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1963 ในแต่ละปีเทศกาลยาวหกวันจากมิชิแกนนี้เต็มนี้ฉายหนังมากกว่าสี่สิบโปรแกรมทั้งหนังสั้นหนังยาว หนังทดลอง สารคดี หนังเล่าเรื่องไปจนถึงงาน performance โดยในแต่ละปีมีหนังที่ส่งมาร่วมเทศกาลจากทั่วโลกกว่าสามพันเรื่อง

แต่เนื่องจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้เทศกาลที่จัดขึ้นในวันที่ 24 -29 มีนาคมนี้ต้องยกเลิกการฉายแบบเก่า แต่ในฐานะเทศกาลหนังทดลอง เทศกาลก็เลยทดลองการทำเทศกาลแบบใหม่สียเลย!

เทศกาล Ann Arbor ทั้งเทศกาลจึงยกมาทำออนไลน์ โดยผู้ชมสามารถดูได้ผ่านLive Stream ของ Vimeo หนังจะฉายตามโปรแกรมที่ถูกกำหนดมาแล้ว โดยจะฉายแค่ครั้งเดียวตามเวลาเหมือนเราไปดูเทศกาลภาพยนตร์จริงๆ เมื่อจบแต่ละโปรแกรมจะมีการ Q&A แบบออนไลน์กับผู้กำกับโดยทีมงาน นอกจากนี้ผู้ชมยังสามารถถามคำถามผู้กำกับผ่านทางช่องcomment ใน live stream ได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เราสามารถโหวต audience awards ในแต่ละโปรแกรมผ่านลิงค์ google form ได้อีกด้วย

เทศกาลเร่ิมไปแล้ว กล่าวได้ว่าวันพรุ่งนี้คือวันสุดท้ายโดยสองโปรแกรมสุดท้ายของเทศกาลจะเป็นโปรแกรมฉายหนังที่ได้รางวัล

และเนื่องจากtime zone ของเราต่างจากอเมริการาวสิบสองชั่วโมง เพราฉะนั้นเทศกาลนี้จึงเริ่มฉายต้อนราวสองทุ่มและไปจบตอนแปดโมงเช้าตามเวลาบ้านเรา กรุณาตรวจสอบเวลาโดยละเอียดอีกครั้ง

ใครยังหาหนังดูไม่ได้ ไม่มีปัญหากับการโต้รุ่ง และต้องการข้ามพรมแดนไปสู่ภาพยนตร์แบบที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน นี่คือโอกาสของคุณ

ไปรับชม และดูรายละเอียดโปรแกรมได้ ที่นี่ เลย

ดูแล้วถูกใจอยากสนับสนุนก็สามารถบริจาคได้ และแน่นอนเราหวังว่าเทศกาลออนไลน์แบบนี้จะเป็นทางที่น่าสนใจในอนาคตสำหรับเทศกาลต่างๆ ทั้งนอกและในประเทศ

Website ทางการของเทศกาล : Ann Arbor Film Festival

“Virtual Theater” ทางสู้ของโรงหนังอิสระ!

รักจะเป็น(โรงหนัง)อินดี้ ชีวิตปกติก็ต้องสู้อยู่แล้ว ยิ่งสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ ยิ่งต้องจับมือกันสู้ยิบตา …ตอนนี้โรงหนังกว่า 5,500 โรงทั่วสหรัฐอเมริกามีอันต้องงดฉายหนังอย่างไม่รู้กำหนด และสมาพันธ์ผู้ประกอบกิจการโรงก็กำลังผลักดันสุดชีวิตให้รัฐบาลออกกฎหมายช่วยเหลือ แต่ในระหว่างนี้ เหล่าโรงอาร์ตเฮ้าส์อิสระทั้งหลายที่นั่นหาได้อยู่เฉยไม่ พวกเขาผนึกกำลังกับค่ายจัดจำหน่ายหนังอิสระแล้วประกาศเปิดตัวโมเดล “โรงหนังเวอร์ช่วล” เป็นอีกหนึ่งหนทางต่อสู้เรียบร้อยแล้ว

โมเดลที่ว่านี้ทำงานอย่างไร? คำตอบง่ายมากๆ : สมมติมีหนังเรื่องหนึ่งซึ่งเคยมีโรงหนังอิสระ 20 โรงลงคิวฉายไว้ แต่ตอนนี้ไม่สามารถฉายตามเดิมได้ ค่ายเจ้าของสิทธิหนังเรื่องนี้ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีเปิดขาย “ตั๋วออนไลน์” บนเว็บไซต์แทน โดยคนดูจะไม่แค่คลิกซื้อตั๋วเหมือนซื้อหนังธรรมดา แต่สามารถเลือกได้ด้วยว่าจะ “ซื้อตั๋วของโรงไหน” ซึ่งแม้สุดท้ายก็จะได้ลิงค์เข้าไปดูหนังบนเว็บไซต์เดียวกันอยู่ดี ทว่าหน้าเว็บฉายหนังก็จะมีโลโก้หรือแบรนด์ของโรงที่ผู้ชมเลือกแปะอยู่ และรายได้ก็จะถูกแบ่งไปให้โรงนั้นด้วย

ลูกเล่นนี้จะว่าไปแล้วก็เหมือนการดูหนังออนไลน์ทั่วไป แต่ต่างกันตรงให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับการดูในโรงขึ้นอีกนิด (นอกจากหน้าเว็บจะมีโลโก้โรงที่ชอบแล้ว ระยะเวลาที่จะดูได้ก็มีจำกัดคล้ายๆ ซื้อตั๋วดูเป็นรอบในโรงจริงๆ) และนัยสำคัญที่แท้จริงก็คือ มันเป็นการเอื้ออาทรแสดงน้ำใจของทั้งค่ายเจ้าของหนังและคนดูที่จะแบ่งปันรายได้ไปช่วยต่อลมหายใจให้โรงหนังอิสระที่รักอีกสักเฮือกนั่นเอง

ตัวอย่างหนังที่กำลังทดลองฉายแบบเวอร์ช่วลเธียเตอร์ :

And Then We Danced : หนังรักเกย์ที่มีคณะเต้นในจอร์เจียเป็นฉากหลัง
Bacurau : หนังบราซิลสุดเฮี้ยนที่เป็นส่วนผสมของทั้งหนังแอ็กชัน สยองขวัญ ไซไฟดิสโทเปีย และหนังตลก
Corpus Christi : หนึ่งในหนังชิงออสการ์หนังต่างประเทศปี 2020 อิงจากเรื่องจริงของนักโทษหนุ่มผู้ปลอมตัวเป็นพระ
Once Were Brothers : สารคดีชีวิตวง “เดอะ แบนด์”
Sorry We Missed You : หนังเดือดดาลสำรวจปัญหาชนชั้นเรื่องล่าสุดของ เคน โลช

เพราะชีวิตคนต้องมาก่อน …ธนา – พระนครฟิลม์ ยุติเพื่อตั้งหลัก

วันที่ชัดเจนที่สุดคือวันถอดหน้ากากอนามัย ไม่ใช่แค่ในประเทศเราประเทศเดียวด้วยนะ ต้องถอดพร้อมกันทั้งโลกเราถึงจะเห็นว่าแนวทางหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ฝนซาฟ้าใหม่ถ้าตั้งหลักได้เราก็อาจจะกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง เพราะความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถเราก็มีกันอยู่แล้ว แต่ความชัดเจนในชีวิตของทุกคนต้องมี

ผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ทำให้เกิดสุญญากาศของวงการหนังไทยและรวมไปถึงวงการหนังโลก โรงหนังปิดยาวนานกว่าเดือน หนังเลื่อนฉายพร้อมเพรียงกัน หนังหลายเรื่องหยุดการผลิตกลางทาง โดยไม่นับว่าหลังเข้าสู่ภาวะปกติแล้วจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูอีกนานแค่ไหน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของวงการหนังไทย เมื่อธุรกิจภาพยนตร์กลุ่มธนาซีเนเพล็กซ์ อันประกอบไปด้วยโรงหนังธนาซีเนเพล็กซ์, ธนาเอ็นเตอร์เทนเมนท์ และพระนครฟิลม์ ตัดสินใจปรับลดพนักงานและยุติการดำเนินธุรกิจภาพยนตร์ลงเป็นที่เรียบร้อย

การตัดสินใจเช่นนี้ของเครือธนาฯ ย่อมส่งสัญญาณว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางธุรกิจภาพยนตร์หลังจากนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากบทบาทสำคัญของธนาฯ นอกจากการเป็นค่ายหนังและโรงหนังท้องถิ่นแล้ว ยังมีสถานะเป็นสายหนังแห่งเดียวในภาคเหนือและภาคกลางอีกด้วย… โอกาสนี้เราจึงต่อสายคุยกับ ธวัชชัย พันธุ์ภักดี ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทในเครือธนาฯ ระหว่างเก็บตัวอยู่ในบ้านท่ามกลางภาวะโรคระบาดในทันที

“ผมอยากใช้คำว่ายุติเพื่อตั้งหลักมากกว่า” ธวัชชัยว่า “พอเกิดเหตุการณ์โควิด-19 มันทำให้การดำเนินธุรกิจของเราหยุดหมดเลยนะ ทีนี้เราก็ต้องมานั่งทบทวนอีกว่ามันจะไปจบเมื่อไหร่ จะใช้เวลาบูรณาการและฟื้นตัวอีกนานแค่ไหน พอเป็นแบบนั้นเราก็ต้องหันมามองที่คนของเราล่ะว่าจะทำอย่างไรกับพวกเขาดี”

ธุรกิจของเครือธนาฯ นอกจากที่เรากล่าวมาทั้งหมดแล้ว ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งเมื่อประเมินผลประกอบการในช่วงที่วงการหนังหยุดชะงักไปก็พบว่า “เราคำนวณดูแล้ว มีแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่มันไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่นัก นอกนั้นไม่มีรายได้เข้ามาเลย โรงหนังและสายการผลิตเราจะทำยังไงกับมันดี”

เมื่อจำเป็นต้องตัดสินใจลดบทบาทของบริษัทในเครือ ธวัชชัยจึงมองว่าเป็นเวลาที่จะต้องลดจำนวนพนักงานลงเกินครึ่ง “จริงๆ มันมีหลายวิธีนะ เช่น ปรับลดเงินเดือนลง 50% ระหว่างที่เรายังดำเนินธุรกิจต่อไม่ได้เพื่อเลี้ยงพนักงานไว้ แต่พนักงานส่วนใหญ่เงินเดือนไม่ได้เยอะอะไรอยู่แล้ว ทั้งพนักงานโรงหนัง เช็คเกอร์ สมมติบางคนได้ 7,500 บาท เราให้เขาเดือนละ 50% ถามว่าเขาอยู่ได้หรือ? แล้วเราจะกั๊กเขาไว้ทำไม ผมดูแลพนักงานเป็นร้อยคนผมต้องนึกถึงชีวิตคนของเราก่อน ดังนั้นการที่ผมตัดสินใจเช่นนี้แล้วจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานถูกต้องทุกอย่าง เอาจริงๆ ก็ร่วมสิบล้านได้ เพื่อที่เขาจะได้รู้ว่าชีวิตจะต้องดำเนินต่ออย่างไร ผมต้องรักษาชีวิตคนเป็นอันดับแรก บางคนอยู่กับเรามาเป็นสิบปี โอเคอาจจะมีดราม่าเกิดขึ้นภายในแต่ผมว่ามันดีกว่า เขามีเงินสำรองไว้ใช้ในช่วงวิกฤตแบบนี้และมีเวลามองหาลู่ทางว่าจะจัดการยังไงกับชีวิตต่อไป

“มันเหมือนเราเลิกเพื่อมาตั้งหลัก เพราะไม่มีใครเข้ามารองรับผลกระทบตรงนี้เราก็ต้องประคับประคองไปก่อน ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร วันที่ชัดเจนที่สุดคือวันถอดหน้ากากอนามัย ไม่ใช่แค่ในประเทศเราประเทศเดียวด้วยนะ ต้องถอดพร้อมกันทั้งโลกเราถึงจะเห็นว่าแนวทางหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ฝนซาฟ้าใหม่ถ้าตั้งหลักได้เราก็อาจจะกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง เพราะความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถเราก็มีกันอยู่แล้ว แต่ความชัดเจนในชีวิตของทุกคนต้องมี”

ณ ตอนนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า โรงหนังธนาซีเนเพล็กซ์ จะยุติการดำเนินธุรกิจเพื่อทบทวนบทบาทใหม่ของตัวเองอีกครั้ง เรามาลองดูธุรกิจหนังส่วนอื่นๆ ที่น่าจะสั่นสะเทือนวงการหนังไทยไม่น้อย อย่าง พระนครฟิลม์ และ สายหนัง ว่าธวัชชัยจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

พระนครฟิลม์

“อันที่จริงเรากำลังจะครบ 20 ปีพอดี ยังคุยกันด้วยความภาคภูมิใจว่าเราพาบริษัทมาถึงขนาดนี้ได้ แต่พอโควิดมามันพาล่มหมดทุกอย่างเลย (หัวเราะ) ปกติเราก็ไม่ได้ใช้คนเยอะ มีฟรีแลนซ์บ้าง ตอนนี้เราเหลือไว้แค่ 1 คนเพื่อดูแลงานที่ตกค้างอยู่ ส่วนคนอื่นที่มีความสามารถด้านต่างๆ ก็มีโยกไปดูแลส่วนของอสังหาฯ บ้าง ซึ่งแชแนลยูทูบยังเป็นช่องทางเดียวที่พอมีรายได้เข้ามาอยู่ของพระนครฯ เราเลยยังสรรหาคอนเทนต์มาลงในเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่คนส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน ยอดผู้ชมและยอดผู้ติดตามก็เยอะขึ้นอย่างชัดเจน เพราะในช่องของเรามีหนังเป็นร้อยเรื่องให้ดูฟรี

“ส่วนโปรเจกต์ที่ค้างคาอยู่ตอนนี้มี ‘หลวงพี่กับอีปอบ’ ซึ่งมันจะเสร็จเป็นก๊อปปี้เอแล้ว แต่เกิดปัญหาคือน้องในทีมที่ทำซีจีเป็นไข้ก็ต้องกักตัว แล็บเขาก็ไล่พนักงานกลับไปทำงานที่บ้าน ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้เขาก็ไม่อยากทำงานกัน เดิมทีวางโปรแกรมเอาไว้เมษายนก็ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด รอให้ทุกอย่างมันเข้าที่ค่อยกลับมาสานต่อให้เสร็จ

“‘บักแตงโม’ ที่จริงเหลืออีกนิดเดียวจะถ่ายทำเสร็จแล้ว แต่ซีนสุดท้ายมันต้องไปถ่ายที่ประเทศเพื่อนบ้าน ปรากฏว่าเขาปิดพรมแดนเราเข้าออกประเทศไม่ได้ ก็ต้องหยุดไปก่อน และอีกโปรเจกต์คือ ‘คุณชายใหญ่’ ของพี่หม่ำ จ๊กมก เราก็คุยกับเขาแล้วว่ารอสถานการณ์มันชัดเจนกว่านี้ค่อยว่ากันใหม่ ซึ่งเขาก็เข้าใจ”

สายหนัง

ในปัจจุบันรูปแบบการฉายหนังในต่างจังหวัดยังคงพึ่งพาการจัดจำหน่ายของสายหนัง แต่ไม่แน่ว่าหลังจากพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว ทุกอย่างอาจไม่เหมือนเดิม เพราะธนาฯ มีเครือข่ายสายหนังแต่เพียงผู้เดียวในภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่ง ณ ตอนนี้ธวัชชัยยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อกลับสู่สภาวะปกติ

“เอาจริงๆ มันอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่ผมก็ไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้ในตอนนี้เพราะเราเอง กับโรงหนังเครืออื่นๆ อย่างเมเจอร์ฯ เอสเอฟฯ ก็ยังคุยกันอยู่ทุกวัน ซึ่งก็ไม่มีความชัดเจนอะไรสักอย่างเพราะอย่างที่บอกว่าไม่รู้มันจะไปจบที่ตรงไหนและใช้เวลาฟื้นฟูอีกนานเท่าไหร่ ถึงตอนนั้นเราอาจจะต้องกลับมาคุยกันอีกรอบ”

ธนาซีเนเพล็กซ์และบริษัทในเครือ นับเป็นผู้ประกอบการธุรกิจด้านภาพยนตร์มาเป็นเวลานาน ผ่านทั้งยุคตกต่ำและรุ่งเรืองมาหลายครั้ง วิกฤตโรคระบาดในปีนี้ที่เกิดขึ้นในวาระครบรอบ 20 ปีพระนครฟิลม์นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของบริษัทและวงการหนังไทยทั้งหมด นี่คือคลื่นระลอกแรกที่กระทบฝั่งหนังไทยจากไวรัสโคโรน่าอันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่น่าติดตาม

ยังสามารถดูหนังเต็มเรื่องและคอนเทนต์สนุกๆ ของพระนครฟิลม์ได้ทาง YouTube Channel : พระนครฟิลม์ Phranakornfilm ยังมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องจ้ะ

ลูกา กัวดานิโน + ริวอิจิ ซากาโมโตะ + สยมภู มุกดีพร้อม!!

แม้จะไม่ใช่หนังยาว แต่ก็ยังน่าตื่นเต้นอยู่ดีเพราะผู้กำกับ Call Me by Your Name / Suspiria และคุณสอง สยมภู ผู้กำกับภาพมือดีชาวไทยมาร่วมงานกันอีกครั้ง แถมคราวนี้มีท่านริวอิจิตามมาทำดนตรีด้วย ภายใต้การโปรดิวซ์ของ ปีแอร์เปาโล พิกชิโอลี ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของวาเลนติโน ผลที่ได้คือ The Staggering Girl หนังสั้นความยาว 37 นาทีที่โชว์ความงดงามของกูตูร์ดีไซน์ของแบรนด์แฟชั่นสุดดังนี้อย่างอลังการ

ใครเคยดู Ryuichi Sakamoto: Coda คงจะจำได้ว่า ซากาโมโตะนิยมทำสกอร์ด้วยการค้นหา “เสียง” ซึ่งสำหรับซาวด์แทร็ค The Staggering Girl ก็เช่นกัน เขาบอกว่า “ผมอยากใช้เสียง ‘สัมผัสของเนื้อผ้าของวาเลนติโน’ ก็เลยขอให้พวกเขาส่งตัวอย่างผ้ามาให้ จากนั้นผมก็ทดลอง ‘เล่น’ กับมันโดยใช้ไมโครโฟนที่เก็บเสียงได้ละเอียดเป็นพิเศษ ผมชอบเสียงที่ได้มามากๆ และชอบการที่มันสามารถดึงเราให้สนใจฟังเสียงรอบตัวที่เรามักเมินไปในเวลาปกติได้”

แม้จะทำเพื่อสนับสนุนแบรนด์ แต่ The Staggering Girl ก็มีพล็อตเก๋ไม่เบา หนังเล่าเรื่องการเผชิญหน้ากันของ โซเฟีย โมเร็ตตี จิตรกรหญิงชื่อดังชาวเยอรมัน-โรมัน กับ ฟรานเชสกา ลูกสาวผู้ป่วยไข้ของเธอ โดยได้ดาราดังอย่าง จูลีแอนน์ มัวร์ มาแสดงนำ / ส่วนกัวดานิโนกับซากาโมโตะก็ยังมีโปรเจกต์จะกลับมาทำด้วยกันต่ออีก คือ Born to Be Murdered หนังยาวซึ่งฝ่ายแรกเป็นโปรดิวเซอร์และฝ่ายหลังรับหน้าที่ทำสกอร์

ฟัง ตัวอย่างสกอร์ The Staggering Girl กัน มันช่างริวอิจิม้ากมาก :

และตัวอย่างหนัง

ส่วนตัวหนังเต็มๆ ไปดูที่ Mubi เลยจ้ะ

https://mubi.com/films/the-staggering-girl