RETROSPECTIVE : “มอนตี้ไพท่อน” ตลกเพี้ยน เฮี้ยนข้ามศตวรรษ!

ในวงการตลกของโลกตะวันตก มีคำกล่าวขานกันว่า “เดอะบีเทิลส์ทรงอิทธิพลต่อวงการดนตรีฉันใด มอนตี้ไพท่อนก็ทรงอิทธิพลต่อวงการตลกฉันนั้น!”

อาจจะฟังเว่อร์ไปนิด เพราะหนึ่งในคนที่เคยพูดทำนองนี้คือ นีล ไกแมน นักเขียนคนดังซึ่งก็เป็นคนอังกฤษเหมือนทั้งบีเทิลส์และไพท่อน แต่เราก็คงปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของไพท่อนได้ยาก เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่านักแสดงตลกโดยเฉพาะในอังกฤษและอเมริกาได้รับอิทธิพลจากพวกเขามาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแซทเทอร์เดย์ ไนท์ ไลฟ์, ซาชา บารอน โคเฮน, โรแวน แอทกินสัน (มิสเตอร์บีน), เซ็ธ แม็กฟาร์เลน, เทรย์ พาร์กเกอร์ กับ แม็ตต์ สโตน (คู่หูผู้สร้างการ์ตูนเซาท์พาร์ค), ไมค์ มายเออร์ส, แม็ตต์ โกรนนิง (ผู้สร้างการ์ตูนเดอะซิมป์สันส์)

รวมถึง จิม แคร์รี ซึ่งเปรียบไพท่อนเป็น “ซูเปอร์จัสติซลีกแห่งวงการตลก” และ จอห์น โอลิเวอร์ ที่ให้นิยามว่า “พวกเขาคือกลุ่มคนพิลึก เจ้าของมุกตลกที่ไร้ความเคารพสังคมแต่สุดจะอัจฉริยะ จินตนาการสูงลิบลิ่ว และเป็นไอ้โง่งั่งที่สร้างแรงบันดาลใจต่อทั้งคนร่วมรุ่นและรุ่นถัดมาอย่างมหาศาล” (ชม)

สมาชิกก่อตั้งดั้งเดิมของมอนตี้ไพท่อนมี 5 คน ได้แก่ แกรห์ม แชปแมน, จอห์น คลีส, เทอร์รี กิลเลียม, อีริก ไอเดิล, เทอร์รี โจนส์ และ ไมเคิล เพลิน ซึ่งช่วยกันเขียนบท แสดง (บางทีก็แสดงกันคนละหลายๆ บทในเรื่องเดียวกันนั่นแหละ) และมีกิลเลียมคอยทำแอนิเมชั่นด้วยสไตล์สุดแสนจะเป็นเอกลักษณ์ พวกเขาเริ่มโด่งดังจากการเข้าไปทำรายการทีวีชื่อ Monty Python’s Flying Circus ทางช่องบีบีซีตั้งแต่ปี 1969 และประสบความสำเร็จจนได้ทำต่อเนื่องถึง 45 ตอน กับอีก 4 ซีรี่ส์ แล้วกลายเป็นปรากฏการณ์ลุกลามไปสู่การได้เดินสายโชว์, ทำหนัง, ออกอัลบั้ม, ออกหนังสือ, ทำละครเพลง ฯลฯ ซึ่งยังคงมีผู้ติดตามเหนียวแน่นมาจนทุกวันนี้

(จากซ้าย) อีริก ไอเดิล, แกรห์ม แชปแมน, ไมเคิล เพลิน, จอห์น คลีส, เทอร์รี โจนส์ และ เทอร์รี กิลเลียม

ถ้าจะให้สรุปสไตล์มุกตลกของไพท่อนแบบสั้นๆ คงได้ว่า “เซอร์เรียล + แหกกฎ” เพราะมันทั้งเต็มไปด้วยมุกซึ่งเอาเรื่องปกติในชีวิตคนชั้นกลางมาเล่นล้อเลียน เสียดสี ทำให้กลายเป็นเรื่องไม่ปกติ, ก้ำกึ่ง-ข้ามเส้นไปมาระหว่างการเป็นมุกโชว์สติปัญญากับสิ่งที่เรียกว่ามุกควาย และก็ท้าทายรูปแบบของการนำเสนอตามขนบแบบไม่เกรงใจคนดู

ตัวอย่างเช่น การเปิดรายการด้วยการให้ ไมเคิล เพลิน ใส่ชุดโรบินสัน ครูโซ ออกเดินทางทุลักทุเลตรงเข้ามากล้อง เพื่ออ้าปากพูดว่า “มัน….” เหมือนกำลังจะเล่าตำนานสำคัญ แต่แล้วรายการก็ตัดเข้าไตเติลไปเฉยๆ (แถมบางครั้งอีฉากเปิดนี้ก็ลากยาวไปถึงกลางรายการโดยไม่มีสาระอะไรเลย), บางตอนเล่นกันมาถึงครึ่งรายการ ไตเติลปิดก็โผล่เข้ามาเหมือนรายการจบกะทันหัน ตามด้วยโลโก้บีบีซีและเสียง จอห์น คลีส พากย์เลียนแบบผู้ประกาศข่าวของช่อง และมีอยู่หนหนึ่งที่พอไตเติลเปิดรายการจบปุ๊บ ก็ตามด้วยไตเติลปิดรายการทันที, บางตอนจบรายการด้วยการตัดเข้าแอนิเมชั่นที่ไม่เกี่ยวอะไรกับทั้งหมดก่อนหน้านั้นเลย, บางตอนจบโดยที่นักแสดงเดินออกจากฉากไปหน้าตาเฉย และมีตอนหนึ่งที่ตัวละคร “ท่านนายพล” เดินเข้ามาชี้หน้าด่าให้เลิกเล่นตลกได้แล้วเพราะ “มุกพวกแกงี่เง่าเกินไป”!

ความติงต๊อง แหกกฎ และล้มล้างรูปแบบเช่นนี้ปรากฏในงานทุกยุคทุกสมัยของไพท่อน ดังที่ จอห์น คลีส บอกว่า “การต่อต้านอำนาจนิยมคือสิ่งที่ฝังแน่นในตัวตนของเรา”

การที่รายการเฮี้ยนๆ แบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ 51 ปีที่แล้ว แถมเกิดขึ้นในช่องทางการสุดๆ อย่างบีบีซีอีกต่างหาก ย่อมสร้างความช็อคแก่ทั้งคนดูและวงการ (อันนี้ต้องยอมใจบีบีซี) ความดังในช่วงต้นของพวกเขาเป็นระดับคัลต์ ก่อนจะกลายเป็นแมสส์ แล้วพอเป็นแมสส์ก็โดนด่า และต่อมาคนด่าก็โดนแฟนด่าอีกที จนแม้เมื่อเวลาผันผ่านมาเกิน 50 ปี ความแปลกแตกต่าง ชาญฉลาดและบ้าคลั่งไม่แคร์โลกเช่นนี้ก็ยังมีทั้งคนรักคนเกลียด มุกตลกสไตล์ไพท่อนถูกเรียกว่า “Pythonesque” ซึ่งกลายเป็นศัพท์ที่แปลว่า “มุกตลกเหนือจริง”

อย่างไรก็ตาม สมาชิกคนสำคัญอย่าง เทอร์รี โจนส์ ไม่พอใจสิ่งนี้ เขาบอกว่า มอนตี้ไพท่อนตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างแนวทางใหม่อันยากจะจัดหมวดหมู่ได้ การที่แนวทางนั่นดันถูกบัญญัติเป็นศัพท์ขึ้นมาแสดงว่าความตั้งใจของพวกเขาล้มเหลว!

ความติงต๊อง แหกกฎ และล้มล้างรูปแบบเช่นนี้ปรากฏในงานทุกยุคทุกสมัยของไพท่อน ดังที่ จอห์น คลีส บอกว่า “การต่อต้านอำนาจนิยมคือสิ่งที่ฝังแน่นในตัวตนของเรา”

ความเป็นตำนานของไพท่อน ยังยืนยันได้ด้วยสารพัดรางวัลที่พวกเขาได้รับ เช่น บาฟตาสาขา Outstanding British Contribution To Cinema, รางวัล AFI Star Award จากสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน, สามสมาชิกของวงคือ คลีส, ไอเดิล และเพลิน ได้รับโหวตให้ติดอันดับ “สุดยอดแห่งดาราตลกโลกที่พูดภาษาอังดฤษ” เมื่อปี 2005 และผลงานหนังของพวกเขาอย่าง Holy Grail กับ Life of Brian ก็ติดอันดับหนังตลกยอดเยี่ยมที่สุดของโลกแทบทุกครั้งที่มีการโหวตสายนี้กัน

ใครอยากลองเสพงานมอนตี้ไพท่อน คลิกเข้า Netflix ตอนนี้จะเจอขุมคลัง ซึ่งเราขอเลือก 4 เรื่องต่อไปนี้ที่ไม่อยากให้พลาด

Monty Python’s Life of Brian (1979)

เจ้าของตำแหน่ง “หนังอังกฤษที่ฮาที่สุดตลอดกาล” จากการโหวต เล่าชีวประวัติชายหนุ่มดวงซวยนาม “ไบรอันแห่งนาซาเรธ” ที่ดันเกิดวันเดียวกับ “เยซูแห่งนาซาเรธ” แถมยังบ้านอยู่ใกล้กัน เลยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นนักต่อสู้และพระผู้ไถ่บาป (แม้หนังจะบ้าบอสุดๆ แต่ก็โดนแบนในหลายประเทศเมื่อครั้งสร้างเสร็จด้วยข้อหาดูหมิ่นศาสนา)

ดูหนังได้ที่ Netflix

Monty Python and the Holy Grail (1975)

หนังยาวเรื่องแรกของไพท่อน ที่หยิบตำนานกษัตริย์อาร์เทอร์กับเหล่าอัศวินโต๊ะกลมออกผจญภัยตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์มายำจนเละ มันเป็นหนังทำเงินสูงสุดของอังกฤษในปี 1975 และได้รับโหวตจากชาวอังกฤษให้ครองอันดับ 5 ใน “หนังตลกที่สุดตลอดกาล” ของนิตยสาร Total Film เมื่อปี 2000 (เรื่องนี้เคยเข้าฉายในไทย ใช้ชื่อว่า “อัศวินโต๊ะเบี้ยว”)

ดูหนังได้ที่ Netflix

Monty Python’s Personal Best

ชาวคณะคัดสรรตอนโปรดของตัวเอง (ทั้งจากรายการทีวี Flying Circus, รายการ Fliegender Zirkus ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นในเยอรมัน และ Monty Python Live at the Hollywood Bowl) มาคนละ 1 ตอน รวมเป็นมินิซีรี่ส์ 6 ตอนจบชุดนี้ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นทั้งจุดร่วมและความแตกต่างของสมาชิกแต่ละคนอย่างครบครัน

ดูหนังได้ที่ Netflix

Monty Python: Almost the Truth (Lawyers Cut)

เห็นแล้วยอมแพ้ตั้งแต่การเป็นเวอร์ชั่น “Lawyers Cut” 5555 จริงๆ แล้วนี่เป็นซีรี่ส์สารคดีสัมภาษณ์สมาชิกวง (และมีฟุตเตจเก่าของ แกรห์ม แชปแมน ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนตั้งแต่ปี 1989 ด้วย) ว่าด้วยตำนานที่ชาวคณะสร้างไว้ มากมายไปด้วยคลิปที่แฟนๆ ไม่น่าจะเคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน

ดูหนังได้ที่ Netflix

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
อดีตบก. BIOSCOPE และผู้ก่อตั้ง Documentary Club

RELATED ARTICLES