เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 3 : สหราชอาณาจักร)

อ่านตอน 1 : “เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 1 : เกาหลีใต้)”
อ่านตอน 2 : “เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 2 : ฝรั่งเศส)”

รัฐบาลสหราชอาณาจักรตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาตั้งแต่ปี 1916 หลังจากเล็งเห็นว่า เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงได้กำหนดนโยบายเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 1927 ขณะที่หนังอเมริกันถูกนำเข้ามาจัดจำหน่ายในประเทศจำนวนมากส่งผลทำให้ความนิยมต่อหนังสหราชอาณาจักรลดลง รัฐบาลจึงออกกฎหมายเพื่อจำกัดการนำเข้าหนังอเมริกันภายใต้พระราชบัญญัติภาพยนตร์ปี 1927 (Cinematograph Film Act 1927) และต่อมาในปี  1950 รัฐบาลได้เริ่มต้นการจัดเก็บภาษีตั๋วหนัง โดยเงินส่วนหนึ่งของค่าบัตรเข้าชมแต่ละใบจะถูกหักเข้ากองทุนสนับสนุนการสร้างหนังท้องถิ่น1 https://publications.parliament.uk/pa/ld200910/ldselect/ldcomuni/37/3705.htm

นอกจากนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การดำเนินการของ แผนกดิจิตอล วัฒนธรรม สื่อ และการกีฬา (Department of Digital, Culture, Media and Sports) ยังให้การสนับสนุนองค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมหนังอย่าง สถาบันภาพยนตร์ภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักร (British Film Institute – BFI) ด้วยการนำทุนจาก กองทุนล็อตเตอรีแห่งชาติ (National Lottery Fund) มาให้องค์กรใช้ โดย BFI มีบทบาทหลักในการ…

1. สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาศิลปะทางด้านภาพยนตร์ โทรทัศน์ และภาพเคลื่อนไหว ทั่วสหราชอาณาจักร
2. ส่งเสริมการใช้งานเพื่อประโยชน์ของการเก็บบันทึกชีวิตร่วมสมัยและขนบธรรมเนียม
3. ส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับภาพยนตร์ โทรทัศน์ และภาพเคลื่อนไหวโดยทั่วไป
4. ในแง่ของการสนับสนุนอุตสาหกรรมหนัง BFI ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาโปรเจ็กต์ ทุนในการผลิต ทุนในการจัดจำหน่าย และทุนในการเผยแพร่ภาพยนตร์2 https://www.bfi.org.uk/about-bfi

ในส่วนการเผยแพร่ภาพยนตร์สหราชอาณาจักรสู่ผู้ชมต่างประเทศ หน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้คือ สภาการสหราชอาณาจักร หรือรู้จักกันดีในชื่อ British Council มีบทบาทในการเผยแพร่วัฒนธรรมสหราชอาณาจักรสู่ภายนอกประเทศ โดยแผนกที่ดูแลกิจการภาพยนตร์คือ แผนกภาพยนตร์ (film department) ทำหน้าที่

1. เผยแพร่หนังสหราชอาณาจักรในต่างประเทศ ในรูปแบบของการจัดเทศกาลหนัง รวมถึงสร้างช่องทางในการพบปะระหว่างผู้สร้างหนังสหราชอาณาจักรกับบุคลากรด้านหนังในต่างประเทศ
2. จัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับหนังสหราชอาณาจักรทุกประเภท เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจในทุกภาคส่วนได้เข้าถึงและศึกษา3 https://film.britishcouncil.org


(ตอนต่อไป ติดตามนโยบายการสนับสนุนภาพยนตร์ของเยอรมนี)

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES