มาทำความรู้จัก “ระบบโควตา” ของจีนกันเถอะ

เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวว่า บริษัท Huayi Brothers ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์รายใหญ่ของจีน พยายามเรียกร้องให้โปรดิวเซอร์หนังเรื่อง John Wick จ่ายเงิน 2.4 ล้านเหรียญคืน เนื่องจากหนังไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ในจีน แต่โปรดิวเซอร์ปฏิเสธ เนื่องจากมองว่า Huayi Brothers อาจตั้งใจไม่ฉายเองเพราะคิดว่าหนังคงไม่ทำเงิน ก็เลยเลี่ยงบาลีอ้างเรื่องเซ็นเซอร์แทน

ข่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า การจัดจำหน่ายหนังต่างประเทศในจีนนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและค่อนข้างซับซ้อนมาก เพราะ 1) ประเทศจีนมีระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด และ 2) ประเทศจีนมี “ระบบโควตา” สำหรับหนังต่างประเทศที่จำกัดมาก (นับถึงตอนนี้ มีหนังต่างประเทศแค่ 60 เรื่องเท่านั้นที่มีสิทธิได้เข้าฉายในจีนแต่ละปี)

สำหรับประเด็นเรื่องเซ็นเซอร์ คงไม่ต้องอภิปรายกันเยอะ เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่า จีนปกครองด้วยระบบสังคมนิยม (หรือจะเรียกอย่างร่วมสมัยว่า ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์) กฎเกณฑ์ในการตรวจสอบจึงเข้มงวดเป็นพิเศษ แต่ประเด็นเรื่อง “โควตา” เป็นสิ่งที่น่าพูดถึงมากกว่า โดยเฉพาะคำถามที่ว่า ระบบโควตาคืออะไร และทำรัฐบาลจีนถึงต้องสร้างระบบนี้ขึ้นมา ?

ทำไมจีนต้องมีโควตา

เราต้องเริ่มด้วยการย้อนไปในปี 1993 หรือ 15 ปีหลังจาก เติ้งเสี่ยวผิง ประกาศนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมจีนซึ่งเคยหยุดชะงักไปเพราะการปฏิวัติวัฒนธรรม (ปี 1966-1976) จึงกลับมาคึกคัก ก่อนจะสะดุดลงอีกครั้งในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 เพราะหนังที่สร้างออกมานั้นมีแต่หนังเชิดชูอุดมการณ์น่าเบื่อ รายได้ Box office ก็เลยตกต่ำ รัฐบาลจึงเห็นว่าทางเดียวที่จะกระตุ้นยอดรายได้คือ การเปิดให้มีการนำเข้าหนังจากฮอลลีวูดเข้ามาฉายนั่นเอง

หนังฮอลลีวูดเรื่องแรกที่ได้รับเลือกมาฉายคือ The Fugitive ที่นำแสดงโดยแฮริสัน ฟอร์ด แล้วก็ได้ผลจริง ๆ โดยหนังทำรายได้ไปกว่า 3 ล้านเหรียญ แต่แทนที่รัฐบาลจีนจะดีใจ กลับเริ่มกังวลขึ้นมาแทน เพราะกลายเป็นว่าหนังต่างประเทศทำเงินชนะหนังจีนเอง

หนังฮอลลีวูดเรื่องแรกที่ได้รับเลือกมาฉายคือ The Fugitive ที่นำแสดงโดยแฮริสัน ฟอร์ด แล้วก็ได้ผลจริง ๆ โดยหนังทำรายได้ไปกว่า 3 ล้านเหรียญ แต่แทนที่รัฐบาลจีนจะดีใจ กลับเริ่มกังวลขึ้นมาแทน เพราะกลายเป็นว่าหนังต่างประเทศทำเงินชนะหนังจีนเอง

ดังนั้นในปี 1996 รัฐบาลภายใต้การดำเนินการของกระทรวงวิทยุภาพยนตร์และโทรทัศน์ (RFT) จึงออกกฎหมายควบคุมการนำเข้าให้เหลือปีละ 10 เรื่อง โดยในระยะแรกกำหนดเงื่อนไขว่า บริษัทที่จะนำเข้าหนังต่างประเทศได้จะต้องผลิตหนังจีนที่ “มีคุณภาพ” อย่างน้อยหนึ่งเรื่องด้วย และต่อมาก็ได้เปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้มีแค่ 2 บริษัทเท่านั้นที่มีสิทธิ์จัดจำหน่ายหนังต่างประเทศได้ ได้แก่ บริษัท China Film Group และ Huaxia Film Distribution ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้รัฐเป็นเจ้าของ

จุดเปลี่ยนสำคัญของระบบโควตา เกิดขึ้นหลังปี 2001 เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก รัฐบาลถูกบีบให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์หลายอย่างรวมถึงเงื่อนไขในการจัดจำหน่าย โดยเฉพาะ 1) จำนวนโควตานำเข้าที่บริษัทจัดจำหน่ายต่างประเทศโดยเฉพาะฮอลลีวูดมองว่าน้อยเกินไป และ 2) เงื่อนไขแบ่งกำไร (เพราะ China Film Group และ Huaxia Film Distribution เรียกสูงมาก เริ่มจาก 87% ในช่วงเริ่มต้นนำเข้าใหม่ ๆ)

ผลจากการต้องปรับตัวเข้ากับระบบการค้าแบบใหม่ ทำให้จีนต้องยอมผ่อนปรนโควตานำเข้า จาก 10 เรื่องต่อปี มาเป็น 36 เรื่องในปัจุบัน ส่วนเงื่อนไขส่วนแบ่งกำไรก็ปรับจาก 87% ลดมาเป็น 75%

วิธีปรับตัวของค่ายหนังที่มุ่งหวังทำเงินในจีน

แม้รัฐบาลจีนจะเพิ่มจำนวนโควตาแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศอยู่ดี โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ตลาดหนังจีนกำลังพุ่งแรงจนจะขึ้นมาเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนอเมริกาไปแล้ว ดังนั้นหลายบริษัทในโลกจึงต้องหาทางปรับตัวเข้ากับเข้ากับระบบที่เปลี่ยนแปลงยากนี้ด้วยการ

1) สร้างความสัมพันธ์กับสองบริษัทจีนที่ได้รับสิทธิ์จัดจำหน่ายให้มากที่สุด ด้วยความหวังว่าหนังจะได้เข้าไปฉายในตลาดอันใหญ่โตของจีน แต่บริษัทที่จะเข้าถึง China Film Group และ Huaxia Film Distribution ได้ง่ายๆ ก็ต้องใหญ่พอด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกสตูดิโอในฮอลลีวูดนั่นแหละ

2) ส่วนค่ายจัดจำหน่ายที่เข้าไม่ถึง แต่ยังอยากให้หนังตัวเองได้เข้าไปฉายในจีนบ้าง ก็หันมาใช้วิธีขายสิทธิ์หนังผ่าน “บริษัทตัวแทน” ซึ่งมีมากมายในจีน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าหนังเหล่านี้จะผ่านโควตาได้ (เพราะทุกบริษัทมักอ้างว่าตัวเองมีสายสัมพันธ์กับ China Film Group และ Huaxia Film Distribution ทั้งนั้น ทว่าเอาเข้าจริงสองบริษัทใหญ่ดังกล่าวก็อาจไม่เหลียวแลหนังเล็กหนังน้อยเหล่านี้เลยก็ได้)

3) อีกวิธีหนึ่งที่บริษัทในต่างประเทศใช้ เพื่อให้หนังมีโอกาสฉายในจีน ก็คือร่วมลงทุนกับ China Film Group และ Huaxia Film Distribution เสียเลย (เช่น บริษัท Legendary Pictures ของอเมริกา ร่วมลงทุนกับ China Film Group สร้างหนังเรื่อง The Warcraft ออกฉายในปี 2016 ซึ่งที่ตลกคือ หนังเจ๊งในอเมริกา แต่รายได้จากจีนก็ทำให้หนังไม่ขาดทุน แถมได้กำไรอีกต่างหาก)

ระบบโควตานี่จะเป็นสิ่งที่ต้องถกเถียงกันไปอีกเยอะภายใต้ระบบการค้าเสรี อเมริกาคงหาทางกดดันให้จีนยอมผ่อนกฎให้ได้มากที่สุด ขณะที่จีนเองก็รู้ว่า ถ้าเปิดตลาดแบบเสรีเมื่อไหร่ อุตสาหกรรมหนังในประเทศตนได้รับผลกระทบแน่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ตลาดหนังจีนกำลังร้อนแรง (อย่างน้อยก็ก่อนช่วงวิกฤตโควิด) เช่นนี้

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES