ทางออกของการดึงคนดูกลับเข้าโรงหนังในยุคเปลี่ยนผ่าน

แม้ว่าอุบัติการณ์ของโรคโควิด 19 จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ของทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะการปิดตัวของโรงหนังในหลายประเทศ ขณะที่ความนิยมในช่องทางสตรีมมิ่งเพิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า หรือประวัติศาสตร์ภาพยนตร์กำลังพลิกโฉมครั้งสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิกฤติเริ่มคลี่คลายในหลายประเทศในช่วงปลายเดือนมิถุนายน จนทำให้ผู้ประกอบการโรงหนังได้กลับมาเปิดโรงอีกครั้ง ภายใต้การจำกัดจำนวนที่นั่งตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีอย่างล้นหลามจากผู้ชม

Train to Busan : Peninsula

เริ่มตั้งแต่ประเทศเกาหลีใต้ที่ประเดิมฉายหนังแนวซอมบี้แอ็คชั่นเรื่อง Alive ในปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งขายบัตรเข้าชมในวันแรกสูงถึงสองแสนใบ ก่อนที่จะถูกลบสถิติลงด้วยหนังเรื่อง Train to Busan : Peninsula ซึ่งเข้าฉายสองสัปดาห์ถัดมาและทำรายได้เปิดตัวสูงถึง 2.4 ล้านเหรียญ (จากรายได้ทั้งหมด 28.7 ล้านเหรียญ) ไม่เพียงเท่านั้น Deliver Us From Evil ซึ่งเข้าฉายในต้นเดือนสิงหาคม ทำสถิติยอดขายบัตรตลอดทั้งโปรแกรมสูงสุดเป็นอันดับสองของปี กับยอดขายกว่า 4 ล้านใบจากการฉายเป็นเวลาหนึ่งเดือน อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเกาหลีใต้ก็เผชิญกับวิกฤติระบาดระลอก 2 ของโรคโควิด 19 จนทำให้ยอดผู้ชมลดลงอีกครั้งจนถึงขณะนี้ แต่กระนั้นหลายฝ่ายยังเชื่อว่าถ้าสถานการณ์คลี่คลายอีกครั้ง ผู้ชมจะยังกลับมาเข้าโรงหนังอยู่ดี

The Eight Hundreds

ประเทศถัดมาที่โรงหนังเปิดให้บริการหลังวิกฤติคลี่คลาย ได้แก่ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่โรคโควิด 19 ระบาด หลังจากที่รัฐบาลสั่งปิดโรงหนังทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ จนกลางเดือนกรกฎาคม โรงหนังก็กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวดเรื่องการเว้นระยะห่าง แม้ว่าในระยะแรกคนดูยังไม่กลับเข้าโรงเต็มที่นักเนื่องจากยังไม่มีความมั่นใจ แต่เมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคม สัญญาณแห่งการพลิกฟื้นก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนและรุนแรง เมื่อยอดบ็อกซ์ออฟฟิศเฉพาะของเดือนนี้รวมกันได้ 3.39 พันล้านหยวน หรือ 495.6 ล้านเหรียญ หรือ 14,800 ล้านบาท!! และเมื่อแปลงเป็นจำนวนตั๋วเข้าชม เดือนสิงหาคมแค่เดือนเดียวมีผู้ซื้อบัตรเข้าชมหนังในโรงจำนวน 95 ล้านคน โดยหนังที่ทำรายได้สูงสุดตกเป็นของ The Eight Hundreds ที่ทำรายได้ตลอดการฉาย 1.9 พันล้านหยวน1http://www.china.org.cn/arts/2020-09/05/content_76673549.htm#:~:text=Chinese%20war%20epic%20film%20%22The,the%20Chinese%20market%20this%20year. ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้จีนเตรียมก้าวขึ้นเป็นตลาดหนังที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนสหรัฐอเมริกาในเวลาไม่ช้าจากนี้

Demon Slayer the Movie: Mugen Train

อีกประเทศที่ไม่สามารถไม่กล่าวถึงได้ ก็คือประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าโรงหนังไม่ได้รับคำสั่งให้ปิดการให้บริการตามประกาศภาวะฉุกเฉินที่ประกาศโดยรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะในเดือนเมษายน แต่ความกังวลใจของประชาชนก็ส่งผลให้ยอดการซื้อตั๋วเข้าชมหนังลดลงอย่างฮวบฮาบ นอกจากนี้โรงหนังที่ตั้งอยู่ในเขตโรคระบาดต่างเลือกที่จะปิดตัวเองลงเพื่อความสบายใจของลูกค้า2https://www.japantimes.co.jp/culture/2020/04/16/films/save-japanese-independent-cinemas/ จนกระทั่งเข้าสู่เดือนตุลาคม เริ่มเกิดสัญญาณเชิงบวกขึ้น เมื่อแอนิเมชันเรื่อง Demon Slayer เข้าฉายวงกว้างและทำรายได้เฉพาะสัปดาห์เปิดตัวถึง 44 ล้านเหรียญ และยังคงทำรายได้อย่างต่อเนื่องจนกำลังจะสร้างสถิติหนังทำรายได้สูงสุดตลอดกาลของญี่ปุ่น (จนถึงวันที่ 13 ธันวาคม หนังทำเงินไปทั้งหมด 290 ล้านเหรียญ) จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลถึงกับกล่าวชื่นชมว่า Demon Slayer สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์

เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมของทั้งสามประเทศสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าจะมีความแข็งแรงมั่นคงแม้จะต้องเผชิญความไม่แน่นอนของภาวะการระบาดของโรค และความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบก็ตาม อาจสรุปได้ดังนี้

1) ความแข็งแรงของวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ในโรง จากการสำรวจของสถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักร (BFI) ประจำปี 2020 พบว่าในปี 2019 ประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นติดอันดับประเทศที่ผู้ชมซื้อบัตรเข้าชมหนังในโรงมากที่สุดในโลก 10 อันดับแรก โดยจีนซึ่งอยู่อันดับที่ 1 มีจำนวนผู้ชมหนังในโรงตลอดทั้งปีจำนวน 1,727 ล้านคน คิดเป็นจำนวนผู้ชมเฉลี่ย 143.9 ล้านคนต่อเดือน ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่อันดับที่ 5 ของโลก มีจำนวนผู้ชมในโรงหนังตลอดทั้งปี 228 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนผู้ชมโดยเฉลี่ย 18.9 ล้านคนต่อปี และประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ในอันดับ 8 ของโลก มีจำนวนผู้ชมทั้งปี 195 ล้านคน หรือคิดเป็น 16.2 ล้านคนต่อปี จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าแม้ธุรกิจโรงหนังกำลังเผชิญกับความท้าทายของนวัตกรรมการจัดจำหน่ายหนังแบบใหม่ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของทั้งสามประเทศยังคงเลือกโรงหนังเป็นช่องทางในการเสพหนังเป็นลำดับแรกอยู่

2) ความศรัทธาต่อหนังในประเทศ ข้อสังเกตที่น่าสนใจซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลข้อแรกได้แก่ หนังที่ปลุกกระแสการกลับมาเข้าโรงของแต่ละประเทศ ล้วนแต่เป็นหนังในประเทศ ซึ่งได้โอกาสจากการที่ตลาดปราศจากหนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Alive, Train to Busan และ Deliver Us From Evil จากเกาหลีใต้ เรื่อง The Eight Hundred จากจีน และ Demon Slayer จากญี่ปุ่น สิ่งที่เกิดขึ้นในทั้งสามประเทศแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงของศรัทธาที่มีต่อหนังในประเทศของผู้ชม ซึ่งจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เมื่อธุรกิจภาพยนตร์โลกต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญหลังวิกฤติโควิด 19 คลี่คลาย โดยเฉพาะเมื่อค่ายหนังยักษ์ใหญ่ในฮอลลีวูดอย่างบริษัทวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ประกาศทำลายเส้นแบ่งระหว่างการฉายหนังในโรงกับช่องทางสตรีมมิ่ง อันหมายความว่า ถ้าโรงหนังยังคงพึ่งพารายได้จากหนังฮอลลีวูดเป็นสำคัญ และหนังในประเทศไม่สามารถเรียกศรัทธาจากผู้ชมภายในประเทศได้ โอกาสที่โรงหนังจะประสบกับภาวะยากลำบากในการเอาตัวรอดนั้นมีสูง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวดูจะเกิดขึ้นยากกับทั้งสามประเทศ


หันกลับมามองที่ประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย แม้ว่ากิจกรรมทางภาพยนตร์จะกลับมาเริ่มต้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายน พร้อมกับสถิติตัวเลขผู้ป่วยโควิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนการตอบรับของผู้ชมยังมีอยู่อย่างจำกัดและไม่คงที่ กล่าวคือ หนังที่ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่เป็นหนังต่างประเทศฟอร์มยักษ์ที่มีต้นทุนการสร้างสูง ได้แก่เรื่อง Train to Busan : Peninsula ซึ่งทำรายได้กว่า 50 ล้านบาท เรื่อง Tenet ที่ทำรายได้ประมาณ 60 ล้านบาท เรื่อง Mulan ที่ทำรายได้ประมาณ 64 ล้านบาท (*รายได้เฉพาะใน กทม.) และล่าสุด แอนิเมชันเรื่อง Demon Slayer ที่กำลังสร้างสถิติใหม่ของหนังทำเงินในญี่ปุ่น

อีเรียมซิ่ง

สำหรับหนังไทย หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายให้โรงหนังกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้งในเดือนมิถุนายน มีหนังไทยเข้าฉายจนถึงปัจจุบัน (วันที่ 15 ธันวาคม) จำนวน 22 เรื่อง3https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2563 มีเพียงแค่ 2 เรื่องที่ทำรายได้มากกว่า 50 ล้านบาท คือ อีเรียมซิ่ง และ อ้ายคนหล่อลวง นอกเหนือจากนี้แล้ว หนังส่วนใหญ่ที่เข้าฉายช่วงหลังวิกฤติโควิด 19 คลี่คลาย ล้วนแต่ประสบความล้มเหลวทางด้านรายได้ โดยมีเหตุผลหลักมาจาก สภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคจับจ่ายอย่างที่ตั้งใจได้ ประกอบกับราคาค่าตั๋วหนังที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอัตราค่าครองชีพ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกไม่มากสำหรับการตัดสินใจชมหนังสักเรื่อง ดังนั้นหนังที่มีต้นทุนสูง และเป็นที่รู้จักในวงกว้างจึงกลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ผู้ชมยอมจ่ายเงินซื้อตั๋วเข้าไปชมทันทีที่ออกฉาย ขณะที่หนังขนาดกลางๆ หรือเล็กซึ่งมีจำนวนมากกว่า แทบจะไม่ได้รับความสนใจนอกจากจะเกิดกระแสปากต่อปากขึ้น ซึ่งกว่าที่หนังเหล่านี้จะได้รับความสนใจ ก็แทบไม่เหลือพื้นที่การฉายอีกแล้ว เนื่องจากถูกครอบครองโดยหนังที่มีศักยภาพทางธุรกิจมากกว่า

จากสภาวะเช่นนี้ แม้อาจไม่สามารถกล่าวได้ว่าธุรกิจหนังไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติได้อย่างเต็มปาก เนื่องจากผู้ชมยังคงเข้าโรงหนังเมื่อที่มีเรื่องที่พวกเขารู้สึกว่าคุ้มค่าต่อการเสียเงินเข้าไปชม แต่ตราบใดที่หนังฟอร์มใหญ่โดยเฉพาะภาพยนตร์จากต่างประเทศ หรือหนังไทยที่มีต้นทุนของความนิยมสูง ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในการเรียกผู้ชมเข้าโรง ในระยะยาวจึงน่าเป็นห่วงว่า ในวันที่รูปแบบโครงสร้างการจัดจำหน่ายหนังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเมื่อเส้นแบ่งระหว่างการฉายในโรงหนังและทางช่องทางสตรีมมิ่งหายไป โรงหนังจะยังมีความสำคัญต่อผู้ชมขนาดไหน และที่อาจจะแย่ไปกว่านั้นก็คือ โรงหนังจะอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาอย่างไร

คำถามสำคัญตามมาก็คือ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเช่นนี้ เราควรปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยที่ยังคงรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมภาพยนตร์อย่างการชมหนังในโรงไว้อยู่ ผู้เขียนขอเสนอแนวทางดังต่อไปนี้

เทศกาลภาพยนตร์อิตาลี 2020 (ภาพจากเพจ Facebook: Italian Film Festival Bangkok)

1. การสนับสนุนให้มีกิจกรรมทางด้านภาพยนตร์ (Film Event) มากขึ้น โดยอาจอยู่ในรูปของการจัดเทศกาลหนัง การจัดกิจกรรมประเภทภาพยนตร์สนทนา ซึ่งเน้นการพูดคุยแลกเปลี่ยนเปลี่ยนในช่วงก่อนและหลังการฉายหนัง หรือแม้กระทั่งการจัดกิจกรรมฉายหนังเฉพาะกลุ่ม เช่นกลุ่มผู้ชมวัยเกษียณ และกลุ่มผู้ชมวัยเด็ก จากการสังเกตของผู้เขียน กิจกรรมประเภท film event ค่อนข้างได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมจำนวนหนึ่งในช่วงหลังวิกฤติโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลหนังอิตาเลียนและเทศกาลหนังญี่ปุ่นที่จัดที่โรงหนังเฮ้าส์สามย่านในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน หรือกิจกรรมการฉายภาพยนตร์สนทนาประกอบการฉายหนังคลาสสิกที่จัดที่หอภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จของกิจกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโรงหนังยังคงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสุดในการเผยแพร่ เพียงแต่ว่าสิ่งที่ต้องเพิ่มขึ้นมาคือความหลากหลายของหนัง และความรู้จากบริบทของหนังที่ได้รับชม

2. การตอกย้ำความสำคัญของการชมหนังในโรง ผ่านการรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ เช่นการรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญ “ประสบการณ์ทางด้านภาพยนตร์” (cinematic experience) ซึ่งไม่สามารถหาได้จากที่ใดได้นอกจากโรงหนัง โดยการณรงค์อาจกระทำผ่านสื่อประเภทต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และภาพเคลื่อนไหว โดยมีผู้นำทางสังคมสาขาต่างๆ เป็นผู้ผลักดันเชิญชวน การรณรงค์ควรกระทบควบคู่ไปกับความพยายามของโรงหนังที่จะทดลองรูปแบบการฉายหนังใหม่ๆ เช่นการทดลองการฉายแบบข้ามสื่อ (crossover screening) ที่นอกจากฉายหนังแบบปกติแล้ว โรงอาจลองฉายคอนเทนต์ประเภทอื่นที่นำเอารูปแบบการถ่ายทำหนังไปประยุกต์ใช้ เช่น ซีรีส์ การถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต หรือแม้แต่การถ่ายทอดสดละครเวที การตอกย้ำเรื่องประสบการณ์ทางด้านหนังต่อเนื่อง อาจช่วยสร้างฐานผู้ชมกลุ่มใหม่ ให้ได้สัมผัสกับประสบการณ์เสพคอนเทนต์ที่ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่สื่อใดสื่อหนึ่งต่อไป

3. การเข้ามามีส่วนร่วมของภาครัฐ ด้วยการออกนโยบายแบ่งเบาภาระระหว่างผู้ชมกับโรงหนัง ในลักษณะแบบโครงการคนละครึ่งเหมือนที่กำลังดำเนินอยู่กับภาคธุรกิจอื่น ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับการพิเศษแล้วว่าเห็นผลที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยในเดือนมิถุนายน สภาการภาพยนตร์เกาหลี หรือ KOFIC ได้ออกคูปองส่วนต่างสำหรับซื้อตั๋วเข้าชมหนังให้ผู้บริโภค โดยส่วนต่างนี้มีสัดส่วน 60% ของราคาตั๋วทั้งหมด ผลจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวของสภาการภาพยนตร์เกาหลีส่งผลให้จำนวนผู้ชมที่กลับมาชมหนังในโรงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ4https://www.firstpost.com/entertainment/coronavirus-outbreak-korean-film-council-issues-subsidy-coupons-on-movie-tickets-to-draw-audience-to-theatres-8437431.html และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หนังเรื่อง Alive ทำเงินมหาศาล แม้จะเปิดตัวช่วงหลังวิกฤติโควิดคลี่คลายครั้งแรก5https://www.screendaily.com/features/how-south-koreas-box-office-is-coming-back-from-the-dead/5151252.article และช่วยสร้างความคึกคักให้แก่วงการหนังเกาหลีอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดวิกฤติระบาดระลอกที่สองในช่วงเดือนกันยายน สำหรับประเทศไทย นโยบายแบ่งเบาภาระผู้ชมกับผู้ประกอบการโรงหนังอาจดำเนินในรูปแบบเดียวกับนโยบายคนละครึ่งที่ดำเนินอยู่ เพียงแต่อาจต้องกำหนดเงื่อนไขว่าโรงหนังที่เข้าร่วมโครงการต้องลดเพดานค่าตั๋วหนังลง เช่นไม่เกิน 200 บาท ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้บริโภคมากเกินไป (และรัฐเองจะได้ไม่ต้องจ่ายส่วนต่างที่สูงเกินไป) ส่วนโรงหนัง แม้จะได้รายได้น้อยลง แต่จะได้ความถี่ของผู้ชมที่เพิ่มขึ้นเป็นการทดแทน

นอกเหนือจากข้อเสนอทั้งสามข้อแล้ว สิ่งที่ทุกฝ่ายควรเริ่มต้นทำไปพร้อมๆ กัน คือการสร้างวัฒนธรรมภาพยนตร์อย่างยั่งยืน อันที่จริง วัฒนธรรมภาพยนตร์สำหรับประเทศไทยไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ เพราะได้เริ่มต้นพร้อมกับหลายๆ ประเทศเมื่อประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ได้เริ่มต้นขึ้นโดยมีโรงหนังเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีสื่ออื่นๆ ถูกแนะนำเพิ่มขึ้น วัฒนธรรมภาพยนตร์ก็ค่อยๆ ลดบทบาทลง จนแทบจะกลายเป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายกิจกรรมในชีวิตของคนคนหนึ่ง ในทัศนะของผู้เขียน การสร้างวัฒนธรรมแบบยั่งยืนที่น่าจะเป็นรูปธรรมมากที่สุด ได้แก่การกำหนดให้ภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทุกระดับ เปรียบได้กับวิชาสังคมที่นักเรียนทุกคนควรเรียน โดยเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ไปจนถึงวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ ซึ่งไม่มีห้องเรียนใดที่จะสร้างประสบการเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบที่สุดได้เท่ากับโรงภาพยนตร์

Related NEWS

LATEST NEWS