Blog Page 21

เริ่มแผนครองโลก! ผู้สร้าง Parasite คว้า อาริ แอสเตอร์ รีเมคหนังเกาหลี

เราติดตามการรุกตลาดโลกของหนังเกาหลีกันมานาน จนกระทั่งมันเบ่งบานเต็มที่ คว้าออสการ์หนังยอดเยี่ยมปีล่าสุดมาครอง และออสการ์ตัวนั้นก็เริ่มแตกใบใหม่ให้กับวงการหนังเกาหลียุคหลัง Parasite เมื่อค่าย CJ Entertainment ผู้ผลิตหนังออสการ์เรื่องดัง สามารถคว้า อาริ แอสเตอร์ และโปรดิวเซอร์ของเขา ลาร์ส นุดเซน แห่ง Hereditary กับ Midsommar มารีเมคหนังเกาหลีสุดป่วงปี 2003 เรื่อง Save the Green Planet!

Save the Green Planet! ต้นฉบับเป็นของ จางจุนฮวาน ว่าด้วยชายหนุ่มที่ลักพาตัวนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาทรมาน เพราะเชื่อว่าเขาคนนี้คือเอเลี่ยนที่พยายามจะครองโลก ตัวหนังเป็นที่เลื่องลือว่าป่วนประสาทจนแฟนหนังอดตื่นเต้นไม่ได้ที่โปรเจกต์นี้อยู่ในมือของนักทำหนังที่ปั่นคนดูที่สุดแห่งยุคอย่างแอสเตอร์

ก่อนนี้ CJ พยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับวงการหนังนานาชาติมาโดยตลอด แม้แต่ในเมืองไทยกับการควบรวมเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ เป็นค่าย ซีเจเมเจอร์ ที่รีเมคหนังเกาหลีเป็นเวอร์ชั่นไทยมาหลายเรื่องแล้ว อย่าง ‘ดิว ไปด้วยกันนะ’ (รีเมค Bunjee Jumping of Their Own) และ ‘20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น’ (รีเมค Miss Granny) นอกจากไทย CJ ยังเข้าไปควบกิจการกับสตูดิโอหนังในประเทศที่หลากหลายอย่าง อินโดนิเซีย, จีน, ญี่ปุ่น, ตุรกี และอเมริกา ที่พวกเขาหมายมั่นจะเจาะตลาดอันไพศาลให้จงได้ ตั้งแต่เมื่อครั้งร่วมลงทุนใน Snowpiercer ของ บงจุนโฮ

สถานะของ CJ ในตอนนั้นกับตอนนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง กับ Snowpiercer พวกเขาลงทุนก้อนใหญ่ไปก็เพื่ออาศัยช่องทางการกระจายสินค้าระดับนานาชาติจากบารมีฮอลลีวูด (ในตอนนั้นหนังจัดจำหน่ายโดย The Weinstein Company) แต่หลังจากความสำเร็จของ Parasite แล้ว กลายเป็นว่าบารมีของ CJ ก็มีมากพอที่จะจัดการด้วยตัวเอง โดยดึงคนทำหนังอเมริกันที่กำลังมาแรงอย่างแอสเตอร์ช่วยพาหนังเกาหลีตีความใหม่ออกไปในระดับนานาชาติ

มิกี ลี ประธานบริษัท CJ กล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากความสำเร็จของ Parasite คือผู้ชมทั่วโลกตื่นตัวที่จะเข้าหาธีมที่เป็นสากล” ลีเสริม “เราดีใจมากที่ได้ร่วมงานกับแอสเตอร์และทีม ที่จะมาช่วยแปลความพิเศษของต้นฉบับให้เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งฉันเชื่อว่ามันมีความเชื่อมโยงกับโลกในปัจจุบันพอดี”

‘HD – 4K – Dolby Vision’ เพื่อการดูหนังที่บ้านให้สนุกขึ้น กับ กฤษฎา แก้วมณี

เพราะสถานการณ์ปัจจุบันบังคับให้เราต้องดูหนังอยู่บ้านเป็นหลัก ชีวิตนักดูหนังอย่างเราๆ เลยต้องพัวพันกับรหัสลับอย่าง HD, 4K และ Dolby Vision ใครที่สนใจเทคโนโลยีอยู่แล้วอาจรู้จักมันเป็นอย่างดี แต่สำหรับคนที่เพิ่งสังเกตเห็นมันอาจต้องมาเริ่มทำความเข้าใจใหม่เพื่อการดูหนังที่บ้านให้เต็มอิ่มที่สุดบนอุปกรณ์ของตัวเอง เพราะไม่แน่ว่าเราอาจจะต้องอยู่กับมันไปอีกนาน 

ด้วยเหตุนี้เราเลยคุยกับ กฤษฎา แก้วมณี Technical Director แห่ง One Cool Production บริษัทโพสต์โปรดักชั่นทั้งหนังไทยและเทศ รวมไปถึงซีรีส์ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์และสตรีมมิ่ง ผู้ซึ่งต้องคลุกคลีกับปัจจุบันยันอนาคตของเทคโนโลยีภาพยนตร์ก่อนจะกลายเป็นสินค้าให้เราได้เสพไม่ว่าจะผ่านช่องทางไหนก็ตาม และน่าจะเป็นผู้ที่บอกได้ดีที่สุดด้วยว่า เทคโนโลยีเพื่อการดูหนังที่บ้านนั้นจะสามารถทดแทนการดูหนังในโรงได้หรือไม่? เราสรุปมาให้คุณแล้ว 

1) DolbyVision คือระบบภาพที่พัฒนาโดย Dolby เป็น HDR โดยมีคู่แข่งคือ #HDR10 ซึ่งเป็นระบบภาพเหมือนกัน แต่เกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่างสตูดิโอกับโทรทัศน์ยี่ห้อต่างๆ ส่วน #4K คือความละเอียดของภาพ

2) หากหนังเรื่องไหนหรือโทรทัศน์รุ่นใดจะบรรจุหรือรองรับระบบ Dolby Vision ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ Dolby จึงทำให้โทรทัศน์ที่รองรับมีราคาสูงกว่ารุ่น HDR10 ซึ่งใช้ฟรี อย่างไรก็ตาม Dolby Vision จะมาพร้อมโหมดอัจฉริยะ โดยมันจะคำนวณคุณภาพของทีวีให้สัมพันธ์กับคอนเทนต์เพื่อแสดงผลตรงกับความต้องการของคนทำหนังมากที่สุด “เคยได้ยินโหมดอัจฉริยะมั้ย แต่แทนที่มันจะคำนวนล่องลอยอะไรก็ไม่รู้ บางทีเราทำหนังผี เราไม่อยากให้คนเห็นว่าตรงนี้มันมีผีชัดๆ แต่ทีวีอัจฉริยะมันขุดขึ้นมาให้เราเห็นโจ๋งครึ่มเลย ความน่ากลัวมันก็จะผิดไปจากความตั้งใจของคนทำ… Dolby Vision มันก็ยืนอยู่บนหลักการอะไรประมาณนั้นแหละ แต่มันเป็นการคำนวนตามสิ่งที่คนทำหนังเขาตั้งใจว่าอยากให้ออกมาเป็นยังไง แล้วความสามารถตรงนี้มันก็จะผูกอยู่กับความสามารถของจอด้วยว่ามันสามารถมืดสว่างได้แค่ไหน”

3) ดังนั้นไม่จำเป็นว่าจอที่คุณใช้ดูหนังจะต้องเทพมาจากไหน แต่หากหนังเรื่องนั้นๆ มีระบบ Dolby Vision อยู่ มันจะคำนวนเพื่อแสดงผลที่ดีที่สุดบนข้อจำกัดของแต่ละจอเอง

4) Dolby Vision เกิดที่โรงหนังก่อนจะพัฒนาไปอยู่ในโทรทัศน์, สมาร์ทโฟน, แทบเล็ต และคอมพิวเตอร์ วิธีการทำงานคือเมื่อหนังที่มีระบบ Dolby Vision ส่งฉายในโรง Dolby Vision (ซึ่งมักจะมีระบบเสียง Dolby Atmos ด้วย) เครื่องฉายก็จะประมวลข้อมูลเพื่อแสดงผลตรงตามที่ผู้สร้างต้องการโดยอัตโนมัติ เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกโรงทั้งโลก …ในเมืองไทยยังไม่มีโรง Dolby Vision แต่มันแพร่หลายในโทรทัศน์กับสมาร์ทโฟน ด้วยระบบการทำงานแบบเดียวกัน 

5) ด้วยเหตุนี้เลยยังไม่มีหนังไทยเรื่องไหนทำมาสเตอร์ในระบบ Dolby Vision เลยสักเรื่องเดียว แม้ว่าจะเป็นที่ต้องการในตลาดสตรีมมิ่งแค่ไหนก็ตาม

โรงหนังในทุกวันนี้มันรองรับ 4K แต่ใน 100 โรง อาจจะมีสัก 20 โรงที่ไม่รองรับ คนทำเลยไม่กล้าเสี่ยง ส่งหนังไปให้เย็นนี้พรุ่งนี้ฉายแล้วเกิดมันฉายไม่ได้ทำยังไง? พอเป็นแบบนี้ กลายเป็นว่าสตรีมมิ่งได้เปรียบมากเลย เพราะมันสามารถทำเป็น 4K ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องมีความยุ่งยากอะไรเพิ่มเติม จอของใครเป็น 4K ก็จะเห็นเป็น 4K ยิ่งสตรีมมิ่งมันเป็นระบบคอมพิวเตอร์ มันเป็นอะไรก็ได้ มันง่ายกว่าโรงหนังเยอะเลย

6) แล้วหนังไทยทำมาสเตอร์เป็นระบบไหนกัน? “ตอนนี้จะเป็น 2K แล้วก็เป็น SDR หมดเลย ยังไม่มี HDR เสียงก็เป็น 5.1 กับ 7.1 ส่วน 4K มีเทสต์ไปบ้างแล้ว แต่ก็ติดปัญหาที่บางโรงอายุการใช้งานนานแล้ว อาจจะไม่ซัพพอร์ต จริงๆ โรงหนังมันเป็น 4K มาตั้งแต่วันที่มันเกิดเลย แต่ว่าเราทำมันแค่ 2K เพื่อความสะดวก เราสามารถฉาย 4K ได้อยู่แล้ว แต่มันจะเป็น 4K ที่ใช้บิทเรตเดียวกับ 2K หมายความว่าเรามีออพชั่นสองอย่าง คือ เราจะเรนเดอร์เป็น 2K แต่แน่นหรือ 4K แต่หลวม เราเลือกได้”

7) ส่วนสาเหตุที่ผู้สร้างหนังไทยเลือกทำมาสเตอร์แค่ 2K เพราะว่า “โรงหนังในทุกวันนี้มันรองรับ 4K แต่ใน 100 โรง อาจจะมีสัก 20 โรงที่ไม่รองรับ คนทำเลยไม่กล้าเสี่ยง ส่งหนังไปให้เย็นนี้พรุ่งนี้ฉายแล้วเกิดมันฉายไม่ได้ทำยังไง? พอเป็นแบบนี้ กลายเป็นว่าสตรีมมิ่งได้เปรียบมากเลย เพราะมันสามารถทำเป็น 4K ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องมีความยุ่งยากอะไรเพิ่มเติม จอของใครเป็น 4K ก็จะเห็นเป็น 4K ยิ่งสตรีมมิ่งมันเป็นระบบคอมพิวเตอร์ มันเป็นอะไรก็ได้ มันง่ายกว่าโรงหนังเยอะเลย ตอนนี้ก็มีซีรีส์ไทยหลายเรื่องที่ทำเป็น 4K ไป เพราะมันเป็นมาตรฐานไปแล้วสำหรับซีรีส์ที่ต้องส่งนอก”

8) นอกจาก 4K ตอนนี้มีโทรทัศน์บางยี่ห้อเริ่มไปถึงขั้น 8K กันแล้ว หนังสตรีมมิ่งต้องปรับตัวกันอีกหรือไม่? ใครที่กำลังคิดจะซื้อทีวีมาดูหนังควรจัด 8K มาดักเทคโนโลยีเลยหรือเปล่า? กฤษฎาบอกว่า “ไม่ต้อง” หากต้องการอุปกรณ์มาเพื่อดูหนังโดยเฉพาะ มันจะอยู่ที่ความละเอียด 4K ไปอีกยาว ในขณะที่ 8K พัฒนามาเพื่อรองรับกลุ่มบรอดคาซท์มากกว่า เช่น ถ่ายทอดสดฟุตบอล เป็นต้น 

9) สรุปแล้ว เทคโนโลยีเพื่อการดูหนังที่บ้าน สามารถทดแทนการเข้าโรงหนังได้หรือไม่? กฤษฎาบอกว่าทดแทนกันได้แน่นอน แต่ปัจจัยสำคัญมันอยู่นอกเหนือเรื่องเทคโนโลยี 

10) จุดเปลี่ยนที่น่าติดตามคือข่าวโรงหนังเครือยักษ์ของอเมริกาอย่าง AMC แบนหนังจากสตูดิโอยูนิเวอร์ซัล เพราะดันข้ามหัวโรงไปเปิด Trolls World Tour บนสตรีมมิ่งแล้วดันมียอดผู้ชมถล่มทลาย และหากค่ายหนังไม่ง้อโรงน่าจะเกิดการพลิกโฉมครั้งสำคัญ “สมมติฉายได้สามอาทิตย์โดนโรงไล่ออกล่ะ ยังฉายได้ไม่เท่าไหร่เลย ขณะที่สตรีมมิ่งมันอยู่นาน เราจะเห็นบางเรื่องขึ้น top10 ประเทศไทย 3-4 เดือนแล้วก็ยังไม่ตกเลย พอกระแสดีคนก็ยังดูระลอกสอง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่โรงภาพยนตร์ให้ไม่ได้ หลังจากนี้มันจะมีหนังเรื่องไหนอีกมั้ยที่ข้ามโรงไปเลย เทคโนโลยีไม่ต้องไปพูดถึง มันสู้ได้แน่นอน” 

11) กล่าวโดยสรุปคือ กฤษฎามองว่าเทคโนโลยีไม่ใช่ตัวแปรสำคัญที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการดูหนัง แต่หากในอนาคตจะมีหนังที่หลากหลายและยั่วน้ำลายมากพอไปอยู่ในสตรีมมิ่งจนคนดูพร้อมจะลงทุนกับอุปกรณ์ เมื่อนั้นทิศทางก็จะเปลี่ยนไป

3 อนิเมะยุค 80s หาดูยาก แต่ดูฟรีใน iflix!

ท่ามกลางการแข่งขันของสตรีมมิ่ง ผมก็นึกถึง iflix ที่ถือเป็นสตรีมมิ่งเจ้าแรกๆ ที่บุกตลาดในไทย หลังจากเข้าไปดูก็พบว่า iflix ตอนนี้เปลี่ยนจากระบบสมาชิกเท่านั้น กลายเป็นดูฟรีเสียส่วนใหญ่ พอลองเข้าไปดูหมวดอนิเมะก็ต้องตกใจบวกใจหาย เพราะมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเจ้าอื่น แต่ก็มีอนิเมะที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่องด้วยกัน (แทบไม่เชื่อว่าจะมีให้ดู) โดยเฉพาะอนิเมะของค่าย Kadokawa ในช่วง 80s ที่หาดูยาก

ยุค 80s ถือเป็นยุคผลิบานด้านไอเดียเนื่องจากวงการแอนิเมชั่นได้หลุดจากกรอบของโทรทัศน์ที่ผลิตเพื่อเยาวชน จนเกิดงานมาสเตอร์พีซขึ้นมากมายเช่น Nausicaa of the Valley of the Wind (1984, ฮายาโอะ มิยาซากิ), Super Dimension Fortress Macross: Do You Remember Love? (1984, โชจิ คาวาโมริ และ โนโบรุ อิชิกุโระ), Angel’s Egg (1985, มาโมรุ โอชิอิ) รวมถึงงานที่พาอนิเมะดังระดับโลกอย่าง Akira (1988, คัสสิโระ โอโตโมะ) และนอกเหนือจากเรื่องที่ยกตัวอย่างไป ก็ยังมี Hidden Gems อย่าง 3 เรื่องนี้

Manie – Manine

นี่คือหนัง Anthology (มีตอนสั้นๆ หลายตอนมารวมกัน) ปี 1987 แนวไซไฟแฟนตาซี ที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ ทากุ มายามุระ

เรื่องแรก Labyrinth Labyrinthos กำกับโดย รินทาโร่ ผู้กำกับอนิเมะที่มีผลงานเยอะ เช่น Adieu Galaxy Express 999 และ Metropolis …เป็นเรื่องของเด็กหญิงซาจิที่เล่นซ่อนหากับแมวของเธอจนไปเจอกับเส้นทางลับหลังนาฬิกาเรือนใหญ่ที่จะนำเธอไปสู่เขาวงกตสุดพิสดาร ที่มีตัวตลกและสิ่งแปลกประหลาดมากมาย ความโดดเด่นคืองานภาพที่คล้ายอยู่ในความฝันอันหม่นมืดน่ากลัว จนมีการเทียบเคียงกับอีกด้านของ Alice in Wonderland

เรื่องที่สอง Running Man กำกับโดย โยชิอากิ คาวาจิริ ผู้กำกับ Ninja Scroll และได้กำกับ Animatrix ตอน Program ด้วย โดยเป็นเรื่องของนักแข่งรถแห่งอนาคตที่มีความเร็วเกินกว่าที่มนุษย์จะรับได้ ทำให้สุขภาพเขาเริ่มย่ำแย่และเห็นภาพหลอนของรถวิญญาณที่พยายามจะแซงเขา

หนังมีบรรยากาศของไซเบอร์พังค์เต็มเปี่ยม ความสกปรกพังๆ ของโลกอนาคต มีโทนภาพที่จริงจังและหลอกหลอน เห็นถึงความบ้าคลั่งของคนกับเทคโนโลยี

เรื่องสุดท้าย Construction Cancellation Order กำกับโดย คัตสึฮิโระ โอโตโมะ ว่าด้วยประเทศหนึ่งในอเมริกาใต้ที่เกิดการรัฐประหาร ทำให้งานรับเหมาก่อสร้างของบริษัทญี่ปุ่นที่ถูกจ้างโดยรัฐบาลก่อนหน้านั้นต้องถูกยกเลิก ซึโตมุ จึงเป็นตัวแทนจากบริษัทญี่ปุ่นที่ถูกส่งไปหยุดยั้งการก่อสร้างที่ดำเนินโดยเหล่าหุ่นยนต์ แต่หุ่นยนต์ที่เป็นหัวหน้าคนงานกลับไม่เชื่อฟังเขา

สิ่งที่เราเห็นถึงความเป็นโอโตโมะคือฉากวินาศสันตะโร ภาพการทำลายล้าง ซึ่งนอกจากในเรื่องนี้และงานคลาสสิคของเขาอย่าง Akira แล้ว ก็ยังปรากฏในงานถัดๆ มาอย่าง Steam Boy, Memories (ตอน Cannon Fodder) และ Short Peace (ตอน Combustible) ด้ว

ดูได้ที่ iflix (หรือผ่านแอพ iflix บนมือถือ)

The Dagger of Kamui (1985, รินทาโร่)

ดัดแปลงจากนิยายของ เท็ตสึ ยาโนะ – เป็นคนละเรื่องกับ “คามุยยอดนินจา” หรือ Kamui Gaiden ที่เคยสร้างเป็นซีรีส์ (ฉายช่อง 9 เมื่อนานมาแล้ว) และถูกสร้างเป็นหนังคนแสดงในปี 2009 โดยเรื่องนั้นดัดแปลงจากมังงะชื่อเดียวกันและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ The Dagger of Kamui – หนังเล่าเรื่องของ จิโร่ เด็กกำพร้าที่วันหนึ่งแม่บุญธรรมและพี่สาวบุญธรรมถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมแถมยังโดนชาวบ้านหาว่าเป็นฆาตกรและขับไล่เขาจากหมู่บ้าน จิโร่หนีมาเจอ เทนไค พระผู้ชี้นำเขาให้ไปล้างแค้นนินจาฆาตกรตัวจริง ก่อนที่เทนไคจะนำจิโร่ไปฝึกวิถีแห่งนินจาจนเก่งกาจ

หนังมีองค์ประกอบที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่การที่จิโร่มีแม่เป็นชาวไอนุ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองทางตอนเหนือของญี่ปุ่น แล้วการที่มีช่วงหนึ่งจิโร่ไปอาศัยอยู่กับเผ่าอินเดียนแดงซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของอเมริกาเหนือก็เหมือนเป็นการล้อสถานะของกันและกัน เพราะชนพื้นเมืองของทั้งสองประเทศต่างต้องสูญเสียดินแดนและความเป็นอยู่ให้กับผู้รุกราน หรือการเข้ามาของ แซม ตัวละครทาสผิวดำที่นับถือจิโร่ และยังมี ชิโค่ หญิงชาวฝรั่งเศสผู้ถูกอินเดียนแดงเก็บมาเลี้ยงตั้งแต่เด็ก นี่จึงเป็นอนิเมะที่เต็มไปด้วยตัวละคร “คนนอก”

อีกทั้งมีการใส่ฉากหลังของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นช่วงสงครามปฏิวัติเมจิที่ล้มล้างระบอบอำนาจของโชกุนโตกุกาว่า คนญี่ปุ่นเริ่มอยากออกไปโลกกว้างเพื่อเรียนรู้วิทยาการต่างๆ หลังจากที่ถูกอำนาจของโชกุนสั่งปิดประเทศมาหลายร้อยปี จิโร่ได้พบคนในประวัติศาสตร์อย่าง ไซโก ทากาโมริ หนึ่งในผู้นำคณะปฏิวัติจากแคว้นซัตสึมะ หรือกระทั่ง มาร์ค เทวน ที่เป็นนักเขียนอเมริกันชื่อดังก็มีส่วนร่วมในการผจญภัยของจิโร่ด้วย

แต่สิ่งที่โดดเด่นจริงๆของ The Dagger of Kamui คือการออกแบบที่มีการใช้เทคนิคหลากหลายทางภาพยนตร์ รวมถึงเทคนิคที่มีเฉพาะในอนิเมชั่นอย่างความยืดหยุ่น (Elasticity) หรือแม้กระทั่งซาวด์ดีไซน์และความเงียบ การใช้สีโมโนโทนในบางฉาก และฉากแอคชั่นอันสวยงามทั้งที่เต็มไปด้วยความรุนแรง

ดูได้ที่ iflix (หรือผ่านแอพ iflix ในมือถือ)

The Five Star Stories (1989, คาสึโอะ ยามาซากิ)

‘ตำนานเบญจดารา’ ของยามาซากิ ผู้มีผลงานฮิตใน 80s อย่าง Urusei Yatsura หรือ ‘ลามู ทรามวัยต่างดาว’ และ Mezon Ikkoku ‘บ้านพักหรรษา’ โดย The Five Star Stories นั้นดัดแปลงจากมังงะชื่อเดียวกันของ มาโมรุ นากาโนะ

เรื่องของกลุ่มดาวโจ๊กเกอร์ ที่ทำสงครามกันโดยใช้ “มอเตอร์เฮดด์” หุ่นยนต์ขนาดยักษ์ ซึ่งคนขับมอเตอร์เฮดด์นั้นจะต้องเป็นมนุษย์ที่มีความสามารถสูงและจะถูกเรียกว่า “เฮดไลน์เนอร์” การจะบังคับระบบอันซับซ้อนได้จำเป็นต้องมี “ฟาติมา” มนุษย์เทียมร่างเป็นหญิงมาช่วยจัดการระบบปลีกย่อยเพื่อสนับสนุนเฮดไลนเนอร์ เมื่อเหล่าเฮดไลน์เนอร์จากอาณาจักรต่างๆ ได้มารวมตัวกันที่งานเปิดตัวฟาติมา “ลาคิซิส” ผลงานชิ้นเอกของ ดร. บาลันเซ่ โดยงานนี้จะมีการเลือกว่าเฮดไลนเนอร์คนไหนจะได้รับลาคิซิสไปเป็นคู่หู

The Five Star Stories นั้นเป็น Mecha Sci-fi หรือไซไฟที่มีหุ่นยนต์ยักษ์ซึ่งเป็นที่นิยมของวงการอนิเมะ ผู้เขียนมังงะของเรื่องนี้อย่างนากาโนะก็เคยมีส่วนร่วมในการออกแบบคาแรคเตอร์และออกแบบเมคานิคดีไซน์ใน Heavy Metal L-gaim (1984) หลังจากนั้นนากาโนะจึงเริ่มเขียนเรื่อง The Five Star Stories โดยอิงโครงเรื่องจาก Heavy Metal L-gaim ในขณะที่ L-gaim นั้นเล่าฝั่งปฎิวัติที่ต้องการล้มจักรวรรดิแต่ The Five Star Stories เล่าผ่านมุมมองของจักรพรรดิอามาเทราสุ เทพแห่งแสงผู้ปกครองจักรวาล ซึ่งนากาโนะได้แรงบันดาลใจจากมหากาพย์ของอินเดียมาผสมกับตำนานเทพเจ้าของญี่ปุ่น

The Five Star Stories จัดเป็นมังงะที่โด่งดังมากของญี่ปุ่นและยังคงเขียนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะงานดีไซน์ของนากาโนะ ทั้งตัวละคร เสื้อผ้า สถาปัตยกรรม และสิ่งที่เป็นเหมือนไอคอนของเรื่องก็คือดีไซน์ของเหล่ามอเตอร์เฮดด์ที่ทั้งเท่ สง่างาม และน่าเกรงขาม จนว่ากันว่าเป็นงานออกแบบหุ่นยนต์ที่สวยที่สุด

สำหรับตัวอนิเมะ The Five Star Stories นั้นมีความสวยงามตามสไตล์แอนิเมชั่น 80s ซีนหุ่นยนต์ที่ถึงจะมาน้อยแต่ทรงพลัง มีฉากต่อสู้ที่รุนแรงเลือดสาด เป็นเหมือนบทนำไปสู่จักรวาลของ The Five Star Stories ให้ติดตามอ่านฉบับบมังงะต่อไป

ดูได้ที่ iflix (หรือผ่านแอพ iflix ในมือถือ)

Circus of Books

เธอได้มาเรียนรู้ทีหลังว่าตอนเด็กเธอไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพ่อแม่เลย นอกจากเรื่องว่าแม่เป็นคนเข้มงวด เคร่งศาสนา และเป็นผู้นำของบ้านที่มีลูกบ้านเป็นพ่อ ผู้ชายที่ร่าเริงที่สุดในบ้าน ลุงหัวล้านใจดีที่ทุกคนรัก กับพี่ชายและน้องชายที่รักกันดีไม่มีตีกัน แม่พาเธอไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ ขณะที่พ่อยักไหล่ใส่ศาสนา เวลาเพื่อนๆถามว่าพ่อแม่เธอทำอะไรเธอตอบว่า อ๋อที่บ้านเปิดร้านหนังสือ

เวลาไปที่ร้านแม่จะบอกให้เธอห้ามมองตรงนั้นตรงนี้ เดินก้มหน้ารีบมารีบไป เธอไม่รู้อะไรเลยในตอนนั้น จนเมื่อบรรดาเพื่อชาวเกย์สายอาร์ตของเธอถามว่า ร้านที่ว่าชื่ออะไร? และเธอตอบว่า Circus of Books น่ะ แล้วทุกคนก็ร้องกรี๊ด เธอเป็นลูกสาวเจ้าของร้าน Circus of Books เหรอ!

เพราะว่าร้าน Circus of Books คือร้านหนังสือโป๊เกย์ที่อยู้ยั้งยืนยงมาหลายสิบปี ว่ากันว่านี่คือพื้นที่แห่งการหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมเกย์ในฝั่ง L.A. มันคือที่ปลอดภัยสำหรับเกย์ที่จะได้เรียนรู้ว่าเขาไม่ได้อยู่บนโลกตัวคนเดียว ร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่มีเซคชั่นเกย์ชัดเจน มีวรรณกรรมและนิตยสารเกย์ทั้งเมนสตรีมและทำมือ มีห้องสำหรับขายหนังโป๊เกย์ ทั้งหมดนี้บริหารงานโดยสองผัวเมียที่เป็นเสตรท เป็นคนยิวธรรมดาท่าทางใจดีไม่มีพิษสงใดๆคู่หนึ่ง

และนี่คือสารคดีว่าด้วยผัวเมียคู่นี้ ในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนที่จะเลิกกิจการ พิเศษกว่าใครเพื่อนเพราะไม่ได้ทำโดยคนอื่น แต่ทำโดยลูกสาวของพวกเขาเอง มันจึงเป็นทั้งสารคดีที่บันทึกประวัติศาสตร์ปรากฏการณ์ทางสังคม พร้อมๆ กันกับการเป็นสารคดีส่วนบุคคลว่าด้วยเรื่องภายในครอบครัวไปด้วย

แกนหลักของหนังคือการสัมภาษณ์พ่อกับแม่ ตั้งแต่พบกันอย่างไร แต่งงานกันได้อย่างไรและมาเปิดร้านนี้ได้อย่างไร พอย้อนกลับไปมองมันก็ช่างเป็นชีวิตแสนสามัญ แม่เธอเคยเป็นนักข่าวอาชญากรรมในหนังสือพิมพ์ พ่อทำเอฟเฟคต์ในหนังฮอลลีวูด เจอกันในงานปาร์ตี้คนยิว พ่อของเธอป่วยเป็นโรคไต พ่อเลยใช้ความสามารถเชิงช่างคิดเครื่องมือที่ใช้เตือนอันตรายจากการฟอกเลือด โด่งดังจนมีบริษัทไปซื้อลิขสิทธิ์ เงินก้อนนั้นเองถูกนำมาซื้อตึกที่กลายเป็นร้าน Circus of Books ในเวลาต่อมา

จากชีวิตคู่เรียบๆและกิจการง่ายๆ ที่กะว่าจะทำคั่นเวลาเพียงแป๊บเดียว ด้วยความคิดแบบตรงไปตรงมาของผัวเมียคู่หนึ่งที่เชื่อมั่นว่าพวกเขาแค่ทำธุรกิจ สามัญดาษดื่นตรงไปตรงมาเท่ากับธุรกิจอื่นๆ ในประเทศนี้ พวกเขากลายเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือโป๊อย่าง Hustler เป็นคนที่แม้แต่ Larry Flint ยังนับถือ พวกเขาขายหนังโป๊ ถึงขั้นลงทุนทำหนังโป๊ชายชายสำหรับขาย เพราะสำหรับพวกเขามันคือธุรกิจ โดยไม่รู้ตัวพวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์รักร่วมเพศในอเมริกาตั้งแต่ยุคเป็นเกย์คือเป็นบาป ตกงานและมีชีวิตพัพิงนาศ จนถึงยุคฟรีเซ็กซ์ ข้ามผ่านยุคที่คนที่พวกเขารู้จักตายเป็นใบไม้ร่วงจากโรคเอดส์ ข้ามพ้นจนยุคสมัยที่การเป็นเกย์เป็นที่ยอมรับ และทุกคนหาคู่หรือดูหนังโป๊ได้จากที่บ้าน ถึงที่สุดกิจการของพวกเขาก็เป็นสิ่งตกสมัยและถึงเวลาต้องบอกลา

ไม่เพียงแค่นั้น ดูเหมือนการมีอยู่ของพวกเขาในฐานะ ‘กิจการร้านหนังสือ’ กลับสำคัญเกินกว่าตัวมันเอง เพราะในการพัฒนาการของสังคมไมไ่ด้ต้องการเพียงนักสู้ที่ออกไปผลักดันประเด็นใดประเด็นหนึ่งเพื่อการเปลี่ยนแปลงเพียงเท่านั้น เราต้องการพูดได้อย่างเสรี มากพอๆ กับมวลอากาศ บรรยากาศพื้นฐานที่ทำให้การได้พูดนั้นพูดออกมาได้ และนี่คือสิ่งที่คนซึ่งไม่ใช่นักสู้อะไรมากไปกว่าคนขายหนังสือได้มอบไว้ให้

ไม่เพียงแค่นั้น ดูเหมือนการมีอยู่ของพวกเขาในฐานะ ‘กิจการร้านหนังสือ’ กลับสำคัญเกินกว่าตัวมันเอง เพราะในการพัฒนาการของสังคมไมไ่ด้ต้องการเพียงนักสู้ที่ออกไปผลักดันประเด็นใดประเด็นหนึ่งเพื่อการเปลี่ยนแปลงเพียงเท่านั้น เราต้องการพูดได้อย่างเสรี มากพอๆ กับมวลอากาศ บรรยากาศพื้นฐานที่ทำให้การได้พูดนั้นพูดออกมาได้ และนี่คือสิ่งที่คนซึ่งไม่ใช่นักสู้อะไรมากไปกว่าคนขายหนังสือได้มอบไว้ให้

เรื่องสำคัญที่หนังพูดถึงคือการที่ร้านโดนฟ้องเรื่องการขายสื่อลามกอนาจารข้ามรัฐในยุคเรแกน ในยุคที่ผู้คนคลั่งศีลธรรมเรืองอำนาจ ร้านถูกจับโดย DBIและถูกฟ้อง ทนายฝ่ายจำเลยที่เข้าข้งลูกความมากๆ ไม่ยินยอมให้ลูกความของเขายอมรับว่าตัวเองเป็นอาชญากรเพราะเขาไม่ได้เป็น การยืนยันตัวเอง (แม้ลับหลังแม่กับพ่อจะตกลงแล้วว่าถ้าถึงที่สุดแม่จะให้พ่อติดตะรางเพราะแม่สามารถจัดการกับร้านและลูกได้ดีกว่า) กลายเป็นสิ่งสำคัญกว่าการยอมพ่ายแพ้ ตอนแรกพวกเขาคิดว่าแค่ปิดร้านเรื่องก็จบ แต่ทนายบอกว่าห้ามปิด เพราะมันคือการยอมรับ เมื่อยอมรับก็เท่ากับพ่ายแพ้ปล่อยให้สิทธิถูกริบคืนภายใต้กฎหมายแบบอนุรักษษ์นิยม การต่อสู้ยืดยาวไปจนถึงการเปลี่ยนแระธานาธิบดีจากเรแกนไปยังบิลล์ คลินตัน สังคมเปลี่ยนความคิดที่มีต่อสื่อลามก บรรยากาศค่อยๆเปิดกว้างขึ้น ถึงที่สุดนิติบุคคลรับผิดแทนบุคคล และกลายเป็นว่าเสรีภาพในการพูดได้รับการคุ้มครอง จากการทดสอบขีดจำกัดโดยสื่อที่สุดโต่งที่สุดอย่างหนังสือโป๊ เสรีภาพในการพูดไม่ได้มาได้โดยง่ายมันได้มาโดยการต่อสู้ แต่ไม่ใช่จากการต่อสู้ตรงไปตรงมาแต่เพียงอย่างเดียวมันต้องการอากาศสำหรับการหายใจ ต้องการคนอื่นๆร่วมกันยืนยันจากจุดยืนของตนว่าพูดสิ เรื่องนี้พูดได้ การสร้างบรรทัดฐาน การสร้างบรรยากาศคือสิ่งที่คนธรรมดาคู่นี้ทำ

สำหรับพวกเขาซึ่งไม่ได้เป็นแอคติวิสท์ ไม่ได้เป็นเกย์ ไม่ได้เป็นแม้แต่นักสู้ สิ่งสำคัญที่สำคัญจริงๆคือการที่พวกเขาแค่เพียงประกอบธุุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ‘มอบความเมตตาอย่างเป็นกันเอง’ให้กับคนอื่นๆอย่างเสมอภาคไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนผิวสี เป็นเกย์ หรือเป็นใครก็ตาม ทุกคนมาซื้อขายในฐานะปัจเจกชนอย่างเท่าเทียมและการเคารพในจุดนี้สำคัญกว่าการเป็นคนดีไม่ดูหนังโป๊และเอาแค่สอดส่องด้วยการโยนบรรทัดฐานของตนเองไปครอบงำคนอื่นมากมายนัก

แต่หนังน่าสนใจกว่านั้นเมื่อเรื่องเดียวกันเปลี่ยนระนาบจากเรื่องทางสังคมมาสู่เรื่องในครอบครัว ลูกชายคนเล็กของเขาเปิดเผยกับครอบครัวว่าเป็นเกย์ แม่ผู้เป็นเจ้าของร้านในตำนานของชาวเกย์ค้นพบว่า ในฐานะคนเคร่งศาสนาเธอรับเรื่องนี้ได้ยากยิ่ง สำหรับเธอลูกค้าเกย์ ลูกจ้างเกย์เป็นเพียงลูกจ้างและลูกค้า พรมแดนของรักร่วมเพศเป็นสิ่งที่เธอยอมรับได้หากมันถูกขีดเส้นไว้ในฐานการทำธุรกิจ แต่เมื่อความเป็นเกย์ก้่าวเข้ามาสู่พื้นที่ส่วนตัวในครัวเรือนมันเป็นคนละเรื่องกัน นำมาซึ่งประโยคที่เจ็บปวดมากในหนังคือแม่เผลอพูดออกมาว่านี่อาจจะเป็นการลงโทษของพระเจ้าก็ได้ การปฏิบัติต่อคนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ในฐานะธุรกิจเป็นหลักการที่ช่วยยืนยันหลักการของสังคม แต่ในระดับปัจเจกบุคคลมันกลับส่งผลในทางตรงกันข้าม อย่างไรก็ตาม พ่อผู้ไม่เคร่งครัด กลับไม่ได้มีปัญหาใดๆทั้งสิ้นกับการที่ลูกชายจะชอบเพศเดียวกัน ถึงที่สุดไม่ใช่สังคม แต่เป็นศาสนาที่หยั่งรากลึกลงในอคติของผู้คน ไม่ว่าคุณจะเสรีในพื้นที่สาธรณะอย่างไรมันก็ไม่อาจใช้ได้ในพื้นที่ส่วนตัว

ความย้อนแย้งนี้งดงามและรวดร้าว ตัวผู้กำกับก็เปิดเผยตัวตนอย่างรุนแรง เธอร้องให้เมื่อสัมภาษณ์น้องชายตัวเอง ระลึกว่าตลอดเวลาที่่ผ่านมาเธอปล่อยน้องชายของตนไว้ในความโดดเดี่ยวขนาดไหนฉากหนึ่งเธอถามเขาว่าทำไมเธอไม่มาหาพี่มาร่วมกับความเควียร์ของพี่และน้องชายตอบได้อย่างน่าสนใจว่าเพราะพี่เกย์มากเกินไป การต่อสู้ของพี่การขบถของพี่ความเสรีทางเพศผมสีและความเป็นศิลปินเปิดเผย ไม่ใช่ทางเลือกของเกย์ทุกคน ที่มีความเชื่อความคิดความกังวลแตกต่างกัน ถึงที่สุดไม่มีใครช่วยใครได้เช่นเดียวกันไม่มีใครมีสิทธิ์มาตัดสินคนอื่นว่าพวกเขาเป็นหรือไม่เป็นเกย์ หรือแม้แต่เป็นเกย์มากพอหรือยัง

หนังจบลงอย่างหมดจดกับการปิดกิจการซึ่งเป็นไปตามกาลเวลามากกว่าการถูกสังคมบังคับ หนังฉายภาพความพยายามของแม่ในวัยชราที่จะเรียนรู้ความเป็นเกย์ที่แท้จริงเพื่อสนับสนุนลูกชายของตน มันน่าขันตรงที่ในัเกิดขึ้นหลังจากศูนย์การเรียนรู้ความเป็นเกย์ที่ดีที่สุดซึ่งคือร้านของเธอเองปิดตัวลงไปแล้ว

นี่คือสารคดีที่สนุกสนาน ทรงพลังและงดงาม ฉายส่องทั้งภาพกว้างและภาพลึกของเกย์ในอเมริกาได้อย่างน่าตื่นเต้นมากๆ


ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่ Netflix

ที่เยอรมนี… ผนังนี้มีเพื่อ ‘หนัง’

ในขณะนี้ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มีกิจกรรมฉายหนังขึ้นผนังให้ดูฟรี ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า Window Flicks แนวคิดคือการฉายหนังในระหว่างที่ผู้คนไม่สามารถเข้าโรงหนังได้และต้องกักตัวอยู่กับบ้าน พวกเขาสามารถชะโงกออกมาดูหนังจากหน้าต่างห้องตัวเองได้ทันที ซึ่งนี่เป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือโรงหนังอิสระในเยอรมนีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยผู้ชมสามารถส่งอีเมล์ไปที่โครงการให้มาฉายหนังในชุมชนของตัวเองได้ ข้อแม้คือผนังที่หนังจะไปฉายนั้นจะต้องมีห้องที่สามารถดูหนังได้อย่างน้อย 20 ห้องเท่านั้น

Window Flicks เป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนและภาคเอกชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น MetaGrey บริษัทด้านสถาปัตยกรรมและการจัดแสง ผู้รับผิดชอบเรื่องการจัดฉายทั้งหมด, Knalle Popcorn แบรนด์ป๊อปคอร์นท้องถิ่น อาสาบริการป๊อปคอร์นขณะดูหนังให้ทุกห้องฟรี และคนทำหนังส่วนหนึ่งที่ยกหนังให้ไปใช้ฟรีๆ อย่าง วิม เวนเดอร์ส ที่มอบ Wings of Desire โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม

ในขณะเดียวกัน สมาคมผู้สร้างหนังเยอรมัน ได้เรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือเป็นเม็ดเงินและมาตรการเยียวยาที่ชัดเจน จึงเกิดเป็นโครงการระดมทุน To Be Continued เป็นกองทุนสำรองการันตีว่าโรงหนังจะสามารถดำเนินงานต่อได้ทันทีหลังผ่านสถานการณ์โควิดไปแล้ว เป้าหมายคือเงินจำนวน 730,000 ยูโร ซึ่งจะมอบให้โรงหนังอิสระในเยอรมนีทั้งหมด โดยรายได้จากการบริจาคจากโครงการ Window Flicks จะนำไปสมทบกับกองทุน To Be Continued นี้ด้วย

โอลาฟ คาคอฟฟ์ กรรมการผู้จัดการของ MetaGrey เล่าว่า “ไอเดียของเราแค่ไม่อยากให้ผู้คนรู้สึกถูกผูกอยู่กับจอดิจิตอลตลอดเวลา พวกเขาสามารถเปิดหน้าต่างมาดูหนังร่วมกับเพื่อนบ้านได้ด้วย” คาคอฟฟ์เสริม “ผมอยากเห็นภาพการฉายหนังบนผนังพร้อมๆ กันสัก 100 ที่ และไม่ได้มีแค่ฉายหนังอย่างเดียว ยังมีคอนเสิร์ตเล็กๆ ด้วย ซึ่งตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเจรจาเพื่อให้มันเกิดขึ้นได้จริง ผมอยากให้ผู้คนจากพื้นที่ที่ร่ำรวยที่สุดจนถึงพื้นที่ที่ยากจนที่สุดสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมนี้ได้อย่างเท่าเทียม”

* ขณะนี้ MetaGrey กำลังต่อยอดสู่การแสดงงานศิลปะและดนตรีเป็นก้าวต่อไป


ดูภาพสวยๆ เพิ่มเติมได้ที่ Window Flicks

Ema

มันเริ่มต้นด้วยการเต้นในสตูดิโอขนาดใหญ่หรูหรา บนเวทีที่ผู้ชมยืนรายล้อมมีนักเต้นหลายสิบชีวิตกำลังเคลื่อนไหวร่างกายที่ถูกออกแบบมาจากหัวหน้าคณะที่ยืนมองความเป็นไปอย่างเคร่งเครียด เธอยืนอยู่กึ่งกลางเวทีที่มีภาพดวงอาทิตย์บนจอมหึมาเป็นฉากหลัง ดาวฤกษ์ที่กำลังเผาไหม้ตัวเองเหมือนกับเธอ นี่คือหนังที่มีชื่อเธอเป็นชื่อเรื่อง นี่คือหนังเกี่ยวกับเธอและผู้คนที่หมุนวนโคจรอยู่รอบตัวเธอ เธอคือดวงอาทิตย์ดวงนั้น เธอชื่อเอม่า

เอม่าเป็นนักเต้นอยู่ในคณะของแกสตองสามีเธอที่เป็นนักออกแบบท่าเต้น โดยทั้งคู่อายุห่างกันสิบสองปี และพวกเขาไม่สามารถมีลูกได้จึงรับโปโลบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง ในเหตุการณ์หนึ่งที่หนังไม่ได้แสดงภาพให้เราเห็น โปโลจุดไฟเผาบ้านเป็นเหตุให้พี่สาวของเอม่าถูกไฟคลอกใบหน้าไปครึ่งซีก เอม่าและแกสตองตัดสินใจคืนลูกชายกลับสู่สถานรับเลี้ยงเพื่อให้เขาไปอยู่กับครอบครัวใหม่ ท่ามกลางชีวิตแต่งงานที่กำลังจะพังทลาย เอม่ารวมกลุ่มกับสาวๆ ในคณะเต้นเพื่อชิงตัวลูกชายกลับคืนมา โดยเริ่มต้นตีสนิทและมีความสัมพันธ์อย่างลับๆ กับคู่สามีภรรยาที่กำลังรับเลี้ยงโปโลอยู่

นี่เป็นผลงานเรื่องที่แปดจากผู้กำกับชาวชิลี ปาโบล ลาร์ราอิน (Pablo Larraín) เจ้าของผลงานไตรภาคปิโนเชต์ (Tony Manero, Post Mortem, No) และ Jackie ที่เคยเข้าฉายในไทยเมื่อหลายปีก่อน ใน Ema ลาร์ราอินเลือกฉากหลังเป็นเมืองฟาลปาไรโซ (Valparaíso) เป็นครั้งที่สาม (ก่อนหน้านี้คือ Fuga และ Neruda) มันเป็นเมืองท่าในชิลีที่ล้อมรอบไปด้วยหุบเขาและประดับประดาไปด้วยสีสัน

หนังของลาร์ราอินมักจะวนเวียนอยู่กับเรื่องราวของผู้คนที่กำลังฟื้นฟูตนเองหลังจากเรื่องเลวร้ายผ่านพ้นไป ใน Ema ก็เช่นเดียวกัน หนังเปิดเรื่องด้วยซีเควนซ์ที่สลับสับเปลี่ยนระหว่างฉากเต้นกับการเล่าเรื่องราวอย่างคร่าวๆ อดีตและปัจจุบันกระโดดข้ามไปมาอย่างลื่นไหล หลายๆ ฉากในช่วงต้นไม่ได้ถูกเรียงร้อยกันตามตรรกะเวลา แต่มันเชื่อมโยงกันด้วยอารมณ์ของตัวละครอย่างสวยงาม และเมื่อเอม่าได้ตัดสินใจที่จะไปนำตัวโปโลกลับมา หนังก็เลือกเล่าเรื่องอย่างพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เราอาจจะกล่าวได้ว่า หนังถูกเล่าเหมือนกับการเต้นที่นักเต้นไม่หยุดเคลื่อนไหวเลยก็ไม่น่าจะเกินเลยไป

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่านี่คือหนังเกี่ยวกับเอม่าและผู้คนที่รายล้อมตัวเธอ พูดอย่างเจาะจงอีกสักนิด นี่คือหนังที่เกี่ยวกับการตื่นรู้ของผู้หญิงคนหนึ่ง การก้าวออกจากขนบกฎเกณฑ์และอิสรภาพในการตัดสินใจของตน ภาพเปิดของหนังคือภาพไฟสัญญาณจราจรที่ถูกเผาไหม้ ในหลายฉากต่อมาเราเห็นเอม่าใช้เครื่องพ่นไฟทำลายรถยนต์ สองฉากนี้อาจจะหมายถึงการปฎิเสธเส้นทางตามแบบแผนของสังคม นอกจากนั้นแล้วมันเป็นเพียงสองฉากที่เราได้เป็นประจักษ์พยานในการเผาของเธออย่างเป็นรูปธรรม และการตื่นรู้ของเอม่าเชื่อมโยงกับการเผา ดวงอาทิตย์เผาผลาญตนเองและทุกสิ่งรอบข้างฉันใด จิตใจของเอม่าก็เดือดดาลและทำลายล้างคนรอบข้างฉันนั้น

นี่คือหนังที่เกี่ยวกับการตื่นรู้ของผู้หญิงคนหนึ่ง การก้าวออกจากขนบกฎเกณฑ์และอิสรภาพในการตัดสินใจของตน ภาพเปิดของหนังคือภาพไฟสัญญาณจราจรที่ถูกเผาไหม้ ในหลายฉากต่อมาเราเห็นเอม่าใช้เครื่องพ่นไฟทำลายรถยนต์ สองฉากนี้อาจจะหมายถึงการปฎิเสธเส้นทางตามแบบแผนของสังคม นอกจากนั้นแล้วมันเป็นเพียงสองฉากที่เราได้เป็นประจักษ์พยานในการเผาของเธออย่างเป็นรูปธรรม และการตื่นรู้ของเอม่าเชื่อมโยงกับการเผา

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ การเต้นของเอม่า แกสตองไม่ได้เป็นแค่สามีเธอแต่เขายังเป็นคนออกแบบท่าเต้นของเธอ หลายๆ ฉากทั้งการซ้อมและการแสดงจริงเราเห็นการปรากฏตัวของเขาอย่างเด่นชัด เฝ้ามองจากวงนอกและกำหนดให้ทุกสิ่งเป็นไปตามต้องการของตน การปะทะที่สำคัญของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อหนึ่งในนักเต้นพูดออกมาว่า แกสตองควรจะออกไปดูคนเต้นบนถนนจริงๆ แทนที่จะสร้างถนนจำลองที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมา เหล่านักเต้นอยากเต้นแบบที่ทุกคนกำลังเต้นกันอยู่บนท้องถนน ไม่เพียงเท่านั้นหนังยังจงใจเปรียบเทียบการเต้นของเอม่าระหว่างบนเวทีของแกสตองกับการเต้นของเอม่าเองบนถนน แน่นอนเราเห็นว่าเธอมีความสุขมากขนาดไหนในอย่างหลัง

ฉากการเต้นของเอม่าถูกนำเสนอในรูปแบบมิวสิควิดีโอ (เพลงประกอบในฉากนี้มีชื่อว่า Real) เพลงประเภทเรเกตอน (Raggaeton) ถูกนำมาใช้ (ซึ่งลาร์ราอินค้นพบจากการนั่งฟังเพลงฮิตใน Spotify ตามคำแนะนำของคนทำสกอร์) เรเกตอนมีอีกชื่อว่าลาตินฮิปฮอป เกิดขึ้นในเปอโตริโกในยุค 90 ก่อนที่จะกลับมาโด่งดังเมื่อไม่กี่ปีมานี้ และท่าเต้นที่มาพร้อมๆ กับเพลงแนวนี้ถูกเรียกว่า Grinding อธิบายง่ายๆ มันเป็นท่าเต้นที่คู่ชายหญิงจะเต้นคู่กันแบบฝ่ายหนึ่งหันหลังแนบไปกับอีกฝ่ายหนึ่ง ในขณะที่เอม่าและเพื่อนๆ เลือกปลดปล่อยตนเองด้วยเพลงเรเกตอน แกสตองกลับดูถูกเพลงเรเกตอน บอกว่ามันเป็น “ภาพลวงตาของอิสรภาพ“

ในที่นี้คนที่ติดกับอยู่ในความลวงที่สุดอาจจะเป็นแกสตอง เขาเคยกล่าวว่า โปโลเป็น “ลูกชายจริงๆ” ที่เขามอบให้เอม่า แต่ต่อมาเขากลับคำเมื่อโปโลไปอยู่กับครอบครัวใหม่และถามว่า ใครคือโปโล ความจริงสำหรับแกสตองคือความจริงที่เขาเลือกที่สอดคล้องกับสิ่งที่เขายึดมั่นกับโลกเสมือนที่เขาสร้างขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ภาพลวงของอิสรภาพที่เขากล่าวจึงอาจะหมดความน่าเชื่อถือไป มันเป็นเพียงข้ออ้างที่เขาใช้เพื่อทำร้ายเอม่าก็เท่านั้น

อีกสองตัวละครสามีภรรยาที่เป็นเหยื่อเพลิงของเอม่าก็มีสถานะไม่ค่อยต่างจากแกสตอง ฝ่ายสามีเป็นนักดับเพลิง (ที่โดนเพลิงไหม้เสียเอง แถมยังล้มเหลวในการดับ) เขามีภาพฝันในจินตนาการว่าเขาและภรรยาจะร่วมสร้างอะไรบางอย่างด้วยกัน แต่ความจริงและจินตนาการที่ไม่ไปด้วยกันทำให้เขามีชู้และชีวิตแต่งงานอยู่ในจุดเรียบนิ่ง ส่วนฝ่ายภรรยาเป็นทนายรับฟ้องคดีหย่าร้างที่ชีวิตแต่งงานก็ล้มเหลวเสียเอง (เธอทำให้เรานึกถึงมาริแอนน์จาก Scenes from a Marriage ของอิงมาร์ เบิร์กแมน) เธอปฎิเสธความรักจากเอม่า ถึงขนาดบอกว่าเธอและเอม่าไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน ถึงแม้ว่าตลอดทั้งเรื่องเราจะพบว่า เธอและเอม่ามีความสัมพันธ์ที่ดูจริงและเป็นไปได้กว่าคู่อื่นก็ตาม

ตั้งแต่ต้นจนจบเอม่าอาจจะไม่ใช่ตัวละครที่ตัดสินใจได้ถูกต้องที่สุด แต่เราปฎิเสธไม่ได้ว่าอย่างน้อยเธอเป็นคนที่ยอมรับในชะตากรรมของตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรและมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายนั้น การก้าวออกมาจากจุดปลอดภัยอาจจะเป็นเรื่องอันตราย แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่ไม่มีความเจ็บปวด “ลุกไหม้เพื่อเกิดใหม่อีกครั้ง” เธอกล่าว ดังเช่นที่ การเผาของโปโลนำไปสู่การเผาของเอม่า

หนังจบตัวเองด้วยภาพเอม่าเติมน้ำมันใส่แกลลอนที่ปั๊มแห่งหนึ่ง มือเพลิงอาจจะเตรียมเชื้อไฟไว้สำหรับการเผาครั้งถัดไปที่กำลังจะมาถึงในเร็ววันหรืออาจจะส่งต่อเชื้อไปให้ใครสักคน ไม่มีใครรู้


ดู Ema ได้ที่ Mubi

In Comparison

ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 นับเป็นรุ่งอรุณทางความคิดว่าด้วยทัศนานิยม (visualism) ในการสร้างองค์ความรู้อันได้แก่วิทยาศาสตร์และสาขาวิชาต่างๆ เพื่อการทำความเข้าใจสังคม งานศิลปะถูกแยกออกจากงานฝีมือ เพราะถือว่างานช่างเป็นของชนชั้นต่ำที่เน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่าสุนทรียศาสตร์ และนี่ก็มาพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมที่เน้นการแสดงสินค้ากระตุ้นเร้าใจให้คนอยากจับจ่ายใช้สอย

การควบคุมการมองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทการสร้างสถาบันและระเบียบวินัย (discipline) นับตั้งแต่โรงเรียน โรงพยาบาล พิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงองค์กรต่างๆ กฎระเบียบของการควบคุมผัสสะอื่นๆ นอกเหนือไปจากการมองจึงถูกสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้ามกินอาหาร ห้ามสัมผัส ห้ามส่งเสียงดัง การควบคุมผัสสะอื่นๆ (รส กลิ่น เสียง และอื่นๆ) นอกจากการนั่งเงียบเป็นระเบียบในห้องเรียน การอยู่นิ่งๆ เพื่อให้แพทย์ตรวจร่างกาย หรือมารยาทบนโต๊ะประชุมจึงเป็นสิ่งที่ตามมาหลังจากโลกที่ได้ยึดเอาการมองเป็นศูนย์กลาง (occularcentrism)

คอนสแตนซ์ คลาสเซน ได้เสนอไว้ว่าการใช้ดวงตาจับจ้องวัตถุเพื่อหวังจะค้นหาความรู้เชื่อว่ามีอยู่ สามารถย้อนกลับไปได้ถึงในช่วงการล่าอาณานิคม รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ของสังคมที่ไม่ใช่ตะวันตก (non-Western) ว่าป่าเถื่อน มีชนชั้นต่ำกว่า In Comparison (2009) ของ Harun Farocki ได้พาเราสำรวจและจ้องมองที่แม้เราจะใช้สายตาเป็นหลักในการรับรู้ผ่านผัสสะ แต่ Farocki ก็ได้วิพากย์การจ้องมองนั้นได้อย่างน่าสนใจ

เขาเปรียบเทียบภาพของการสร้างอาคารต่างๆ นับตั้งแต่คลินิกรักษา โรงเรียน ตึกสำนักงาน โรงนา และการทดลองทางสถาปัตยกรรมของนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากอังกฤษ ในพื้นที่ต่างๆ ไล่เรียงและตัดสลับไปมาระหว่างประเทศในยุโรปเปรียบเทียบกับอดีตอาณานิคมใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมย้อนกลับไปเมื่อศตวรรษที่ 18-19 ได้แก่ บูร์กินาฟาโซ และอินเดีย โดยภาพทั้งหมดถูกจับจ้องผ่านการผลิตก้อนอิฐที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการก่อร่างและบ่งบอกว่าวิวัฒนาการมนุษย์ได้เข้าสู่สังคมที่เริ่มหยุดนิ่ง (sedentary life) ในช่วงยุคหินใหม่ (Neolithic) ย้อนไปราว 3,500 ปีก่อนคริสตกาล

จุดที่น่าสังเกตใน In Comparison ถึงแม้ว่าทั้งหมดจะเป็นเรื่องราวการก่อร่างสร้าง “สถาบัน” ที่หมายถึงตัวอาคารสถานที่ และมีอีกความหมายก็คือการส่งออกกระบวนการสร้างองค์ความรู้ที่มีศูนย์กลางที่ยุโรปไปที่อาณานิคมจนเกิดเป็น “สถาบัน” แต่การสร้างสถาบันในอดีตประเทศในอาณานิคมกลับยังหลงเหลือสำนึกของความเป็นหมู่คณะและเครือญาติ (kinship) มากกว่าในโลกตะวันตกที่ผู้คนแตกสลายเป็นปัจเจกบุคคล (individualism) เห็นได้จากการก่ออาคารที่สตรีพื้นเมืองจะมาร่วมด้วยช่วยกันโบกดินก่อกำแพงหรือถุบพื้นดินให้แน่นอย่างพร้อมเพรียงด้วยการร้องเพลงไปพร้อมๆกัน

จุดที่น่าสังเกตใน In Comparison ถึงแม้ว่าทั้งหมดจะเป็นเรื่องราวการก่อร่างสร้าง “สถาบัน” ที่หมายถึงตัวอาคารสถานที่ และมีอีกความหมายก็คือการส่งออกกระบวนการสร้างองค์ความรู้ที่มีศูนย์กลางที่ยุโรปไปที่อาณานิคมจนเกิดเป็น “สถาบัน” แต่การสร้างสถาบันในอดีตประเทศในอาณานิคมกลับยังหลงเหลือสำนึกของความเป็นหมู่คณะและเครือญาติ (kinship) มากกว่าในโลกตะวันตกที่ผู้คนแตกสลายเป็นปัจเจกบุคคล (individualism)

ในขณะที่สังตะวันตกหรืออินเดียที่ใช้คอนกรีตในการสร้างอาคารซึ่งเป็นมรดกจากวิทยาการของโลกตะวันตก แรงงานจะถูกแบ่งกันให้ทำหน้าที่ของตนเอง (division of labour) เป็นปัจเจค แต่ก็รอยปริแตกให้เห็น เช่น สตรีอินเดียแอบคุยหัวเราะกันระหว่างทำงาน ซึ่งภาพของมนุษย์ที่มีความไม่สมบูรณ์แบบได้หายไปเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุดที่การผลิตอิฐในยุโรปซึ่งถูกคำนวนออกแบบมาเป็นอย่างดี มีรูโปร่งเพื่อลดการใช้ต้นทุนในการผลิตให้ต่ำที่สุด รูปร่างทางเรขาคณิตที่ถูกคิดคำนวนให้แข็งแรงที่สุด ต่างจากอิฐที่ถูกปั้นขึ้นด้วยมือและแบบไม้ในอินเดียและแอฟริกาที่รูปร่างจะบิดเบี่ยว การใฝ่หาความสมบูรณ์แบบในสังคมตะวันตกนี่เองถูกขับเน้นอย่างชัดเจนด้วยการก่ออิฐด้วยหุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมให้ก่อร่างอาคารตามแบบในคอมพิวเตอร์

อิฐถูกทำให้สมบูรณ์และทำให้ความใหญ่เทอะทะที่ถูกมองว่าสิ้นเปลืองเพรียวบางและประหยัดคุ้มค่า ไม่ต่างจากมนุษย์ในโลกตะวันตกที่ต้องใฝ่หาความสมบูรณ์แบบ แนวความคิดลัทธิจุลนิยม (Minimalism) ดูจะทำให้เห็นภาพได้ดี เมื่อห้องหับถูกออกแบบให้ลดทอนรายละเอียดออกไป เหลือเพียงส่วนที่สำคัญที่สุด บ้านที่ดูไม่มีอะไรจึง “มีอะไร” อย่างมาก เหมือนที่ ธเนศ วงศ์ยานนาวากล่าวว่า “คนที่รวยจริงๆ จะต้องไม่ถืออะไรเลย จะต้องไม่มีอะไรติดตัวเลย” ซึ่งแนวคิดนี้เองก็ได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากช่วงฟื้นฟูศิลปะวิทยาการซึ่งศิลปินจะให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์กายวิภาค สัดส่วน เรขาคณิตที่คำนวนมาแล้วว่าจุดไหนคือจุดรวมสายตาของภาพ แน่นอนว่านี่ก็นำไปสู่แนวความคิดที่เน้นความบริสุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นพุทธแบบเซน หรือคริสตศาสนาที่เน้นการขจัดสิ่งแปลกปลอม สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ หรือลูกผสม (hybridity) ผลผลิตที่สำคัญของแนวคิดนี้ก็คงเป็นความเชื่อเรื่องชาติอารยันของนาซี

In Comparison ยังชี้ให้เห็นถึงผัสสะที่นอกเหนือไปจากการมอง แม้อิฐจะถูกนำไปสร้างเป็นองค์กรสถาบันที่เป็นต้นกำเนิดและผลิตซ้ำวัฒนธรรมการมอง แต่การสร้างอิฐในอดีตอาณานิคม แม้แต่ในอินเดียก็ยังใช้มือเป็นหลัก มือนี่เองเป็นอุปกรณ์ที่ Donna Haraway อธิบายถึงเกมชักมือ (cat’s cradle) ซึ่งนักมนุษยวิทยาอเมริกันในช่วงสงครามเย็น รวมถึงนักมนุษยวิทยาชาวยุโรปได้ไปสร้างองค์ความรู้ในประเทศอาณานิคมช่วงศตวรรษที่ 19-20 เกมชักมือ (string figure) นี่เองมีการเล่นก่อนหน้าชาวยุโรปมาช้านานแล้วและยังมีหลากหลายรูปแบบมากกว่าด้วย เกมนี้จึงทำให้เหล่านักวิชาการได้รู้ถึงความคล้ายและต่าง วัฒนธรรมที่ถ่ายโอนผสมกัน (เชื่อว่าเกมชักมือเข้าไปในยุโรปผ่านการค้าจากเอเชีย) การทักทอประสานกันระหว่างมือและสมอง ถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบของเกมด้ายของคนพื้นเมืองและตะวันตก

เช่นเดียวกันกับการสร้างก้อนอิฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่ถูกมองว่าล้าสมัย การทำอิฐเป็นการประสานกันระหว่างมือและสมอง พร้อมๆกันก็เป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของคนในชุมชน ไปจนถึงการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์และสรรพสิ่ง ทั้งผืนดิน แม่น้ำ หรือแม้แต่เทพเจ้าแห่งธรรมชาติ ผิดกับก้อนอิฐในโลกตะวันตกที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นโดยมนุษย์ประหนึ่งเป็นพระเจ้าเมื่อวิทยาศาสตร์เข้าแทนที่ศาสนาหลังการปฏิรูปศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก้อนอิฐถูกทำให้เป็นผลผลิตของวิชาความรู้ เป็นวัตถุที่ไร้เรื่องราวและตัดขาดจากมนุษย์โดยสมบูรณ์ ก้อนอิฐมีหน้าที่เป็นเพียงชิ้นส่วนหนึ่งของอาคารที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถาบันส่งเสริมและประกาศความยิ่งใหญ่ของมนุษย์

ทั้งนั้นทั้งนี้หุ่นยนต์ในตอนท้ายเรื่อง เสียงการเคลื่อนไหวของแขนจักรกลดังสนั่นบริเวณก่อสร้าง แทนที่เสียงหัวเราะและเสียงกระซิบนินทาของคนงาน แขนกลหยิบก้อนอิฐขึ้นไปแตะกับซีเมนต์พิเศษก่อนจะวางก้อนอิฐเรียงเป็นแถวตามเรขาคณิต ภาพการทำงานของจักรกลก็ตั้งคำถามให้กับเราพอๆ กับการแสดงให้เห้นเรื่องราว (storytelling) ของก้อนอิฐที่ถูกทำให้ไร้ชีวิตและวงศาวิทยา (Genealogy) จักรกลดูมีชีวิตชีวาแม้จะถูกป้อนคำสั่งโดยมนุษย์และเข้ามาแทนที่งานซ้ำซากแบบฟอร์ด (Fordism) จักรกลจึงเป็นผู้ทำงานที่น่าเบื่อหน่ายให้กับเราแทน นั่นจึงทำให้มนุษย์และหุ่นยนต์มีวิวัฒนการร่วมกัน (co-creation)

แม้โลกทุนนิยมหลังทศวรรษที่ 1960-1970 จะเข้าสู่ยุคสมัยแห่งทุนนิยมความรับรู้ (cognitive capitalism) แต่แรงงานคอปกขาวก็ใช่ว่าจะหมดสิ้นไป งานสกปรกที่ไม่มีใครอยากทำก็ยังมีอยู่ พร้อมๆ กับความหมายของแรงงานได้เคลื่อนขยายไปทั่วทั้งสังคม มุ่งเน้นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแห่งความหลากหลาย (economy of variety) และแบ่งแยกชนชั้นแรงงานอย่างไม่มีขีดจำกัด ผ่านเครือข่ายเชื่อมต่อข้อมูลข่าวสาร ความคิดที่ว่าหุ่นยนต์มาแทนที่และงานกำลังจะหมดไปจึงเป็นมายาคติ เพราะชนชั้นแรงงานไม่ได้หายไปไหน และกลับทำให้ถูกเข้มข้นขึ้นและแพร่กระจายในโรงงานสังคม (social factory) นี้

ศิลปะแบบงานฝีมือซึ่งเป็นมรดกของโลกก่อนสมัยใหม่ ถูกกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้งหลังจากถูกเย้ยหยันว่าไม่เป็นศิลปะ เพราะโลกทุนนิยมความรับรู้ปฏิเสธสิ่งที่ผลิตออกมาเยอะๆ ปริมาณมากๆ วัฒนธรรมมวลชน (mass culture) ที่เน้นขายให้คนได้เยอะจึงถูกมองว่าเป็นของคนจน ในทางตรงกันข้ามยิ่งสินค้าแปลกแหวกแนวมากเท่าไหร่ สร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งราคาดีมากเท่านั้น นี่จึงนำไปสู่การนำฟิล์ม 16 มิลลิเมตรกลับมาถ่ายใน In Comparison ซึ่งให้กรอบภาพเหมือนก้อนอิฐ ภาพยนตร์ที่กลับมาถ่ายด้วยฟิล์มก็ยิ่งเป็นที่น่าสนใจ ให้ความรู้สึกย้อนไปถึงอดีต (nostalgia) และเป็นหนังทรงคุณค่าและราคา ภาพยนตร์รวมถึง In Comparison ที่มักจะถูกนำไปเป็นจัดแสดงในแกลอรี่ก็ยิ่งสร้างคุณค่าทางศิลปะมากกว่าจะถูกนำไปฉายทั่วไปตามจอหนังกางแปลงในทุ่งนาให้คนจนดู

แม้ตัวภาพยนตร์จะวิพากย์วัฒนธรรมแห่งการมอง ไม่ว่าจะเป็นคนดูมองภาพยนตร์ เห็นภาพชาวบูร์กินาฟาโซด้วยความรู้สึกดูแคลนและปะปนไปด้วยความตื่นตาตื่นใจ (exotic sensation) หรือจะนั่งดูอย่างวิเคราะห์วิจารณ์สาปส่งจักรวรรดินิยมที่ไม่สิ้นซากไปเสียที แถมยังถูกขับเน้นพลังอำนาจให้แพ่ไพศาลกว่าที่เคยมีมาผ่านทุนนิยมความรับรู้และการกลายเป็นแรงงานอวัตถุ กิจกรรมนั่งดูหน้าจอก็ยังอยู่ในกรงขังของการยึดเอาการมองเป็นศูนย์กลางอยู่หรือไม่ หรือผัสสะอื่นๆ ก็ยังถูกลดทอนพลังลงอยู่หรือไม่

คำถามนี่นำไปสู่ข้อเสนอของ Matthew Fulkerson จากวลีที่ว่า สัมผัสโดยมิได้สัมผัส (Touch Without Touching) คล้ายกับที่ Jacques Derrida เสนอถึง การละเล่นหรือความหลากเลื่อนที่ผลิตหรือสร้างพื้นที่ของการกำลังจะเกิด การกำลังจะเป็น (A becoming space) ซึ่งทำให้เกิดความเป็นไปได้ในลักษณะต่าง ๆ ที่เป็นไปไม่ได้กับการเป็นคู่ตรงกันข้าม เช่น การปรากฏที่ไม่ปรากฏ

แม้ตัวภาพยนตร์จะวิพากย์วัฒนธรรมแห่งการมอง ไม่ว่าจะเป็นคนดูมองภาพยนตร์ เห็นภาพชาวบูร์กินาฟาโซด้วยความรู้สึกดูแคลนและปะปนไปด้วยความตื่นตาตื่นใจ (exotic sensation) หรือจะนั่งดูอย่างวิเคราะห์วิจารณ์สาปส่งจักรวรรดินิยมที่ไม่สิ้นซากไปเสียที แถมยังถูกขับเน้นพลังอำนาจให้แพ่ไพศาลกว่าที่เคยมีมาผ่านทุนนิยมความรับรู้และการกลายเป็นแรงงานอวัตถุ กิจกรรมนั่งดูหน้าจอก็ยังอยู่ในกรงขังของการยึดเอาการมองเป็นศูนย์กลางอยู่หรือไม่ หรือผัสสะอื่นๆ ก็ยังถูกลดทอนพลังลงอยู่หรือไม่

Fulkerson เสนอว่าการสัมผัสเช่น การมองหรือได้ยิน เราก็รับรู้ได้ถึงการมีอยู่และคุณสมบัติของวัตถุถึงแม้เราจะได้ไม่ได้ใช้ร่างกายของเราสัมผัสวัตถุโดยตรง ซึ่งแตกต่างจากผัสสะอื่นๆ ประสบการณ์การสัมผัสต้องการการเชื่อมต่อที่เราคุ้นเคยระหว่างพื้นผิวสัมผัสกับวัตถุในความทรงจำ เช่นเดียวกับที่ กรกฤต อรุณานนท์ชัย ได้อธิบายถึงวิดีโอ No History In A Room Filled With People With Funny Names 5 (2018) ว่าเลเซอร์รวมถึงภาพจากโปรเจคเตอร์ก็สร้างการสัมผัสโดยที่เราไม่ได้อาจจะไม่ได้หรือได้สัมผัสแสงเหล่านั้นจริงๆ นั่นเพราะในทางประสาทวิทยาแล้ว เราจะกล่าวได้หรือไม่ว่าลำแสงก็ตกกระทบและสะท้อนเขาไปสัมผัสกับเซลล์ประสาทที่กระจกตาของเรา

สุดท้ายแล้วการยึดเอาการมองเป็นศูนย์กลาง (occularcentrism) จึงอาจจะมิได้หมายถึงการใช้ตามองจริงๆ (หรืออาจจะใช่ก็ได้) หากแต่หมายถึงกระบวนทัศน์ประหนึ่งว่ามนุษย์กระทำตนเสมือนพระเจ้าสร้างองค์ความรู้เป็นแสงสาดส่องลงบนพื้นที่ที่เคยมืดมิด ในโลกสมัยใหม่ที่มนุษย์เชื่อว่าเวลาดำเนินเป็นเส้นตรงและมีจุดจบของประวัติศาสตร์ เชื่อว่าวันพรุ่งนี้ต้องดีกว่านี้แน่ แต่ความย้อนแย้งคือเราก็ยังต้องการสิ่งที่ผ่านไปแล้ว

จึงอาจกล่าวได้ว่า In Comparison ก็คือการรื้อถอน (deconstruct) โครงสร้างของอาคารสภาวะสมัยใหม่ สำแดงให้เราเห็นถึงสรรพสิ่งกำลังกลายเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะหาย แต่ก็ยังอยู่ เช่น ในขณะที่เรามีซีเมนต์ที่แข็งแรง แต่ต้องการบ้านเก๋ๆ ที่ทำโชว์อิฐเปลือย เรามีเทคโนโลยีที่ถ่ายภาพดิจิตอลได้เสมือนจริง แต่เราก็ต้องการภาพยนตร์ถ่ายด้วยฟิล์ม เรามีหุ่นยนต์แต่เราก็ยังเป็นแรงงาน (ที่เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าเป็น) ทุนนิยมที่ต้องการสิ่งแปลกใหม่เอ็กซคลูซีฟ แต่ก็ยังต้องการอะไรที่ขายทำกำไรให้มวลชนได้มากๆ หรือแม้แต่ระบอบการปกครองที่บอกว่าจะไปข้างหน้า แต่ย้อนกลับไปหาสิ่งเก่าๆ In Comparison จึงเน้นย้ำถึงการรื้อสร้างที่ไม่ต่างอะไรจากการหาจุดศูนย์กลางใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ


ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่ (สมัครสมาชิกก่อน) dafilms
หรือ ดูฟรีแบบบจำกัดเวลา (ตสองสัปดาห์นับจากศุกร์ที่ผ่านมา) ได้ที่ arsenal
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังที่ Harun Farocki


อ้างอิง :
– Matthew Fulkerson. 2012. Touch Without Touching. FEBRUARY 2012, VOLUME 12, NO. 5, PP. 1-15
– อารีรัตน์ ภิราษร. สมหวัง แก้วสุฟอง. 2019. แนวคิดเรื่องความหลากเลื่อนของ ฌากส์ แดร์ริดา. วารสารปณิธาน: วารสารวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา
– ธเนศ วงศ์ยานนาวา. การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมือง: จากสภาวะสมัยหลังใหม่สู่สภาวะสมัยใหม่
– เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. “เราทุกคนคือศิลปิน”: อวัตถุศึกษาว่าด้วยแรงงาน. วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา 33(2): กรกฎาคม – ธันวาคม 2557
– ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ. การจัดแสดงในฐานะพื้นที่ทางการเมือง. วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 1/2558 (มกราคม-มิถุนายน)

Business Update : ค่ายหนังเปิดวอร์! / หายนะบ็อกซ์ออฟฟิศ! / หลังโควิดเราจะทำหนังกันอย่างไร?

กลับมาพบกันอีกครั้งกับการอัพเดทข่าวความเคลื่อนไหวในโลกธุรกิจภาพยนตร์ สัปดาห์นี้ผู้เขียนมีประเด็นที่น่าสนใจสามประเด็นเห็นสมควรนำมารายงาน ได้แก่

หายนะของบ็อกซ์ออฟฟิศทั่วโลก

หลังจากโควิด 19 ระบาดในหลายประเทศอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนมกราคม ทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ต้องออกมาตรการล็อคดาวน์หยุดกิจกรรมทุกประเภทโดยที่หลายฝ่ายไม่ทันตั้งตัว แน่นอนว่า ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มคนจำนวนมากกลายเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งธุรกิจโรงหนังก็รวมอยู่ในนั้นด้วย และผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ยอดรายได้จากการขายตั๋วที่หดตัวอย่างที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อน

เริ่มต้นที่ประเทศจีนซึ่งยอดรวมบ็อกซ์ออฟิศตลอดทั้งปี 2019 มีจำนวน 9.2 พันล้านเหรียญ มาปีนี้สำนักงานภาพยนตร์แห่งชาติ (National Film Administration) ประเมินว่ารายได้รวมจะหายไป 4.2 พันล้านเหรียญ หรือเกือบ 50% เลยทีเดียว

ข้ามมาทางฝั่งยุโรป แม้จะยังไม่มีการประเมินรายได้ตลอดทั้งปี แต่ สำนักวิจัยข้อมูลทางการเงินและการตลาดระดับโลกอย่าง S&P สำรวจบ็อกซ์ออฟฟิศของแต่ละประเทศในยุโรป ตั้งแต่มีนาคม 2019 ถึงมีนาคมปีนี้ (ซึ่งเป็นเดือนที่เกิดการระบาดหนัก) ปรากฏว่า รายได้หนังช่วงไตรมาสแรกลดลงกว่า 29.4 % โดยฝรั่งเศสเสียหายหนักสุด ด้วยตัวเลขที่ลดลงถึง 47.3% ตามมาด้วยสเปน และโปแลนด์ (ลดลง 40.3%และ 36.3% ตามลำดับ ) ขณะที่อิตาลีซึ่งประสบเหตุเป็นประเทศแรกในยุโรปนั้น รายได้บ็อกซ์ออฟฟิศลดลง 27.8%

สำหรับตลาดหนังที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอเมริกา ซึ่งตอนนี้กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชี้อและเสียชีวิตสูงสุดในโลกไปแล้ว ไมเคิล แพทเชอร์ นักวิเคราะห์แห่ง Wedbush กลุ่มบริหารทางการเงินชั้นนำให้ความเห็นว่า ยอดรวมบ็อกซ์ออฟฟิศของอเมริกาปีนี้จะตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี โดยจะเหลือแค่ 6.6 พันล้านเหรียญเท่านั้น (เทียบไม่ได้เลยกับยอดรวมของปี 2019 ที่สูงถึง 11.4 พันล้านเหรียญ) เหตุผลสำคัญนอกจากการปิดตัวของโรงหนังทั้งประเทศแล้ว ยังเป็นเพราะการเลื่อนกำหนดฉายของหนังฟอร์มใหญ่หลายเรื่องด้วย

กล่าวได้ว่าภาพรวมของธุรกิจหนังปีนี้คงหาแสงสว่างเจอยาก การจะพลิกฟื้นได้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าวิกฤตจะคลี่คลายลงเมื่อใด และคนดูมีความพร้อมที่จะกลับเข้าโรงแค่ไหน

อ้างอิง :
China Box Office Likely to Drop More Than $4.2 Billion Due to Coronavirus
COVID-hit France, Spain lead film box office declines in Europe
Movie Industry Facing Lowest Numbers In Over 20 Years Amid COVID-19
THEME Report 2019


เมื่อโรงหนังเปิดวอร์กับสตูดิโอ!

วิกฤตโควิด 19 ทำให้สตูดิโอหลายแห่งเลื่อนหนังออกไปไม่มีกำหนด เช่น ค่ายดิสนีย์กับหนังเรื่อง Mulan ซึ่งเลื่อนจากมีนาคมไปเป็นกรกฎาคม และ A Quiet Place part 2 เลื่อนจากมีนาคมไปกันยายน แต่ค่าย Universal กลับเลือกจะยืนหยัดฉายแอนิเมชั่น Troll World Tour ตามกำหนดเดิม คือเมษายน เพียงแต่เปลี่ยนไปเป็นออนไลน์ด้วยรูปแบบการจัดจำหน่ายที่เรียกว่า PVOD หรือ Premium Video On Demand

หลักการของ PVOD คือ ผู้ชมต้องจ่ายเงินหนึ่งครั้งต่อการชมภายในระยะเวลาที่กำหนด และเมื่อโรงกลับมาเปิดเป็นปกติ ทางค่ายก็จะนำหนังเรื่องนี้กลับมาฉายโรงอีกครั้ง

แน่นอนว่า การตัดสินใจแบบนี้เสี่ยงมาก เพราะ Universal อาจเสียโอกาสที่จะทำเงินก้อนใหญ่จากโรง และที่สำคัญ PVOD มักเกิดขึ้นกับค่ายหนังอิสระมากกว่าค่ายใหญ่ แต่ผลปรากฏว่าเป็นการเดิมพันที่ได้ผล เมื่อ Troll World Tour เปิดตัวเป็นอันดับหนึ่งบทแพล็ตฟอร์มสตรีมิ่งยักษ์ใหญ่ของอเมริกาอย่าง Amazon Prime, Comcast, Apple TV, Vudu, YouTube และ DirecTV Now โดยหลังออกฉายได้ 19 วัน มียอดผู้ชมแล้ว 3-5 ล้านคน!

ความสำเร็จนี้ทำให้ผู้ประกอบการโรงหนังชั้นนำอย่างเครือ AMC ไม่พอใจมาก ถึงกับประกาศจะไม่ฉายหนังค่าย Universal อีกต่อไป (นั่นรวมถึงหนังเรื่อง No Time to Die หรือเจมส์ บอนด์ภาค 25 กับ Fast & Furious 9 ด้วย) และล่าสุด โรงเครือใหญ่อันดับสองอย่าง Regal ก็ออกมาขู่แบนหนังค่าย Universal ร่วมด้วย

แม้สงครามครั้งนี้จะเพิ่งเริ่ม แต่สำหรับ Universal ซึ่งได้รับส่วนแบ่งจากการฉายทางออนไลน์ถึง 80% (ขณะที่ถ้าฉายโรงปกติ ได้ส่วนแบ่งเพียง 50%) คงไม่มองว่าการฉายแบบนี้เป็นแค่การแก้ขัดเท่านั้น สะท้อนจากคำพูดของตัวแทนค่ายต่อปฏิกิริยาเชิงลบของโรง AMC ที่ว่า “เราตั้งใจจะฉายหนังเรื่องต่อ ๆ ไปในโรงและช่องทาง PVOD ด้วยถ้าเราเห็นว่าเข้าท่า อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราจะหาโอกาสพูดคุยกับพันธมิตรผู้ประกอบการโรงหนังของเราก่อน”

อ้างอิง :
Universal vs. AMC Controversy Explained
Here Are All the Movies Delayed Because of the Coronavirus


9 มาตรการการถ่ายทำหนังหลังโควิด

ข่าวนี้เป็นเรื่องของวงการโทรทัศน์ แต่ก็มีรายละเอียดเกี่ยวข้องกับกระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์ยุคหลังโควิด 19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อ 29 เมษายนที่ผ่านมา ซูซาน รอฟเนอร์ และ เบรท พอล ประธาน Warner Bros Television ได้เรียกประชุมทีมงานฝ่ายผลิตซีรีส์ของบริษัท ทั้งโปรดิวเซอร์ ไลน์โปรดิวเซอร์ รวมถึงบริษัทที่รับจ้างผลิต ถึงแนวทางและมาตรการการถ่ายทำ หากต้องกลับมาทำงานต่ออีกครั้ง

แน่นอนว่า แก่นของแนวทางดังกล่าวคือ การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างถ่ายทำ โดยมาตรการสำคัญก็เช่น

1. งดเว้นฉากเลิฟซีน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้นักแสดงใกล้ชิดกันมากเกินไป
2. ฉากต่อสู้ต้องใช้นักแสดงแทน
3. นักเขียนบทไม่จำเป็นต้องไปที่ฉากถ่ายทำ
4. จำกัดการเดินทางระหว่างที่พักกอง โดยให้ทีมงานและนักแสดงพักอยู่แถวสถานที่ถ่ายทำ
5. พยายามลดเวลาการถ่ายทำลง และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด เช่น การวัดอุณหภูมิ
6. หลีกเลี่ยงซีนใหญ่ที่มีตัวประกอบจำนวนมาก โดยให้คนเขียนบทพยายามปรับบท หรือไม่ก็ใช้เทคนิคพิเศษด้านภาพเพิ่มภาพฝูงชนแทน
7. หลีกเลี่ยงปัญหาการถ่ายทำฉากนอกสถานที่ (ซึ่งอาจจะขออนุญาตลำบาก) โดยให้ทีมเขียนบทเขียนเรื่องที่ใช้ฉากสร้างอย่างถาวร หรือฉากที่สร้างขึ้นเพื่อตอนบางตอนโดยเฉพาะ
8. ให้ขนาดของทีมงานสอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะทางสังคม
9. ทุกคนที่อยู่ในฉากถ่ายทำ -ยกเว้นนักแสดงที่ต้องเข้าฉาก- ต้องสวมหน้ากาก ถุงมือ หรือแม้แต่ชุดคลุมป้องกัน และห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาในสถานที่ถ่ายทำเด็ดขาด

แนวทางแต่ละข้อดูแล้วน่าจะสร้างความอึดอัดใจแก่ทีมงานและนักแสดงไม่น้อย แต่คงยังไม่มีทางออกใดดีไปกว่าการอดทนแล้วเฝ้ารอให้วิกฤติคลี่คลายอย่างสมบูรณ์ เมื่อถึงเวลานั้น วิถีการทำงานแบบเดิมก็จะกลับมาอีกครั้ง

อ้างอิง :
Warner Bros. TV Presidents Outline How Coronavirus Could Dramatically Change Production and Content

2 วินาทีเปลี่ยนโลก…เบื้องหลังช็อตมหัศจรรย์ใน Vertigo

Vertigo ของ อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก เป็นหนังที่ได้รับคำวิจารณ์แบบก้ำกึ่งเมื่อตอนเข้าฉายปี 1958 แต่เมื่อเวลาผ่านไป บารมียิ่งจับจนส่องประกายเป็นงานทรงคุณค่าของโลก ถึงขนาดในปี 2012 สถาบัน Sight & Sound ชำระลำดับหนังที่ดีที่สุดตลอดกาลใหม่ แล้วให้ Vertigo ขึ้นอันดับ 1 แทน Citizen Kane ของ ออร์สัน เวลลส์ และหนึ่งในคุณูปการของมันคือการเป็นต้นแบบของช็อตมหัศจรรย์ให้คนทำหนังรุ่นต่อๆ มาประยุกต์ใช้ มันคือ Vertigo Zoom หรือ Dolly Zoom

หนังว่าด้วยอดีตตำรวจที่มีปมกลัวความสูง แต่เขาได้รับการว่าจ้างให้มาคุ้มกันผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมักพาเขาขึ้นไปเผชิญความสูงอยู่เสมอ และด้วยพล็อตแบบนี้ทำให้ฮิตช์ค็อกสร้างสรรค์การนำเสนอรูปแบบใหม่เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกกลัวความสูงนั้นออกมา หนึ่งในนั้นคือ Vertigo Zoom หรือการดอลลีเข้าหาวัตถุแต่ซูมออก หรือดอลลีออกจากวัตถุแต่ซูมเข้า ผลคือวัตถุจะอยู่กับที่แต่สิ่งรายรอบจะเคลื่อนที่แทน

เทคนิคนี้คิดค้นขึ้นโดย เออร์มิน โรเบิร์ตส ผู้ช่วยผู้กำกับภาพ 2 ของ Vertigo ที่หาวิธีมารองรับจินตนาการของฮิตช์ค็อกนี้ ซึ่งได้ไอเดียมาตั้งแต่ตอนทำ Rebecca (1940) แล้ว แต่ตอนนั้นยังคิดไม่ออกว่าจะทำยังไง นี่คือคำสัมภาษณ์ระหว่างฮิตช์ค็อกกับ ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ เมื่อปี 1967 …“เดิมทีผมจะใช้ในฉากที่ โจน ฟอนแทน หมดสติ ผมหาวิธีทำให้เห็นว่าเธอรู้สึกอย่างไรเมื่อทุกอย่างเคลื่อนที่ห่างออกไปก่อนจะล้มลง ไอเดียนี้มันมาตอนไปปาร์ตี้ที่งาน เชลซี อาร์ท บอลล์ ในลอนดอน คืนนั้นผมเมามากจนรู้สึกว่าทุกอย่างรอบตัวมันวิ่งหนีผมออกไป เลยหาวิธีจะใช้มันใน Rebecca แต่ยังไม่รู้จะทำยังไง คือสิ่งที่คุณมองอยู่จะต้องอยู่กับที่แต่จริงๆ มุมมองคุณเคลื่อนที่ในระนาบเดียวกับสิ่งนั้น ผมคิดหาวิธีอยู่ 15 ปี จนมาเจอใน Vertigo”

ฉากนี้สร้างความตื่นตาตื่นใจกับผู้ชมอย่างมาก (แม้มาดูในปัจจุบันมันก็ยังน่าตื่นเต้นอยู่) ซึ่งมันไม่เพียงหวือหวาเท่านั้น แต่มันถูกนำมาใช้อย่างถูกที่ถูกเวลา เมื่อ จอห์น เฟอร์กูสัน (เจมส์ สจวร์ต) ต้องวิ่งขึ้นไปบนยอดหอคอยสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่เพราะกลัวความสูงเขาจึงต้องชะโงกลงมามองบนพื้นล่าง เทคนิค Vertigo Zoom จึงนำมาใช้ทั้งเพื่อให้เห็นความสูงที่เขาวิ่งขึ้นไป และสภาพไม่มั่นคงของตัวละครในคราวเดียวกัน โดยช็อตดังกล่าวนำมาใช้สองครั้ง (ในสองระยะความสูง) ในฉากเดียวกัน โดยใช้เงินไปกับมัน 19,000 เหรียญฯ แต่มีเวลาอยู่บนจอแค่ 2 วินาที

อย่างไรก็ตาม 2 วินาทีตรงนั้นกลับเป็นภาพจำของ Vertigo ที่นำมาใช้ต่อยอดเป็นงานกราฟิกบนโปสเตอร์และไตเติ้ลซีเควนซ์ (ได้รับการบันทึกว่าเป็นหนังเรื่องแรกของโลกที่ใช้ซีจีในไตเติ้ลซีเควนซ์) แต่ที่มากไปกว่านั้นคือมีหนังนับพันที่พัฒนาเทคนิคนี้มาใช้กับหนังตัวเอง จึงนับได้ว่าจินตนาการตอนเมาของฮิตช์ค็อกได้เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล


ดู Vertigo Zoom ได้ที่ Youtube (หนังเต็มลงเน็ตฟลิกซ์ปลายเดือนพ.ค. 63)

ดู Vertigo Zoom ในหนังเรื่องอื่นๆ ได้ที่ Youtube

“เด็กหญิงชุดแดง” เบื้องหลังฉากสุดสะเทือนใจใน Schindler’s List

ในหนังรางวัลออสการ์ปี 1993 ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก -ซึ่งอิงจากเรื่องจริงของ “ออสการ์ ชินด์เลอร์” นักธุรกิจชาวเยอรมันผู้ช่วยชีวิตชาวยิวให้รอดจากเงื้อมมือนาซีได้นับพันคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง- เรื่องนี้ มีฉากหนึ่งที่โดดเด่นจนเชื่อว่าใครได้ดูก็ยากจะลืมลง นั่นคือฉากเด็กหญิงตัวน้อยสวมโค้ตสีแดงเดินอย่างไร้จุดหมายท่ามกลางผู้คน

การปรากฏตัวของ “เด็กหญิงในชุดแดง” ไม่เพียงเป็นจุดสะดุดตาเราเพราะหนังทั้งเรื่องเป็นขาวดำเท่านั้น แต่เธอยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญของหนัง และสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องทั้งหมดด้วย

ในวาระที่ Schindler’s List เข้าฉายให้เราได้ดูกันถึงบ้านทาง Netflix …ฟิล์มคลับจึงขอหยิบเบื้องหลังของตัวละครในตำนานนี้มาเล่ากันอีกหน

การปรากฏตัวของเด็กหญิงชุดแดง

1) Schindler’s List สร้างจากหนังสือ “Schindler’s Ark” ซึ่ง โทมัส คนีลลี เขียนขึ้นด้วยข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวยิวผู้รอดชีวิตหลายคน และในนั้นมีการบรรยายถึง “เด็กหญิงชุดแดง” ไว้ละเอียด

เมื่อมาเป็นหนัง สปีลเบิร์กสนใจอยากทำฉากเด็กหญิงคนนี้เป็นพิเศษ น่าจะด้วย 2 เหตุผลหลักๆ คือ

– ออเดรย์ เฮปเบิร์น นางเอกผู้ยิ่งใหญ่ เคยเล่าให้เขาฟังระหว่างทำหนังเรื่อง Always (1989) ด้วยกันว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เธอเห็นเด็กเล็กๆ ใส่ชุดแดงคนหนึ่งกำลังถูกต้อนขึ้นรถไฟพร้อมคนอื่นๆ และมันเป็นภาพที่เธอไม่เคยลืม ซึ่งสปีลเบิร์กเองฟังแล้วก็ลืมไม่ลงเช่นกัน

– ฉากนี้ยังทำหน้าที่สำคัญมากในแง่ของการเขียนบทด้วย เพราะตอนแรกสปีลเบิร์กจ้าง เคิร์ต ลุดคี (Out of Africa) มาเขียนบทให้ แต่หลังจากพยายามอยู่ 4 ปี ลุดคีก็ถอนตัวด้วยเหตุผลว่า ไม่สามารถจะคิดหาฉากที่อธิบายได้ว่านักธุรกิจจอมฉวยโอกาสอย่างชินด์เลอร์เปลี่ยนใจมาช่วยชาวยิวได้อย่างไร สปีลเบิร์กจึงไปจ้าง สตีเวน เซลเลียน มาแทนและทั้งคู่ก็ช่วยกันคิดฉากเด็กหญิงชุดแดงนี้ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ทั้งในด้านดราม่าและสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ถึง “ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา” ที่ปรากฏขึ้นท่ามกลางความเลวร้าย เมื่อชินด์เลอร์ (ในหนังรับบทโดย เลียม นีสัน) เห็นเธอ จึงทำให้เขาเพิ่งตระหนักฉับพลันว่าแผนการกวาดล้างของนาซีเหี้ยมโหดกว่าที่เขาคิดไว้มาก และเขาไม่สามารถรับรู้มันอย่างนิ่งเฉยได้อีกต่อไป


2) มีคนตีความไว้น่าสนใจด้วยว่า สีแดงยังชวนให้นึกถึง “ธงแดง” ที่ชาวยิวโบกขอความช่วยเหลือจากกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง


3) โอลิเวีย เดโบรวสกา เด็กหญิงวัยสามขวบมารับบทนี้ โดยสปีลเบิร์กขอให้พ่อแม่เธอสัญญาว่าจะไม่เปิดหนังให้ลูกดูเด็ดขาดจนกว่าจะอายุ 18 แต่เดโบรวสกาฝ่าฝืน เธอแอบดูตอนอายุ 11 และตกอยู่ในอาการหวาดผวาต่อมาเป็นเวลานาน แถมยังขมขื่นกับการถูกใครต่อใครมาทักถามเรื่องงานชิ้นนี้ไม่ยอมเลิก เธอโกรธพ่อแม่กับสปีลเบิร์กมากและสาปส่งหนังอยู่หลายปี จนกระทั่งเมื่ออายุเกิน 18 และกลับไปดูมันอีกครั้ง เธอจึงเริ่มยอมรับได้และบอกว่ารู้สึกภูมิใจที่เคยมีส่วนร่วม


4) ในวันเปิดฉายรอบแรก สตรีชาวยิวผู้รอดชีวิตชื่อ “โรมา ลีกอกกา” เป็นหนึ่งในแขกที่ได้รับเชิญไปชม และต้องตัวชาวูบเมื่อถึงฉากเด็กหญิงในชุดแดง เพราะมันทำให้เธอหวนนึกถึงโค้ตสีแดงที่ยายทำให้และเธอสวมใส่ตลอดเวลาที่อยู่ในค่ายกักกันกรากุฟ ห้าปีต่อมาเธอได้เจอสปีลเบิร์กที่เบอร์ลินเมื่อเขาเดินทางไปรับรางวัล เธอจึงเข้าไปบอกเขาว่า เธอนี่แหละน่าจะคือเด็กคนนั้น โดยคนีลลีอาจเคยได้ยินเรื่องของเธอจากผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ จึงนำไปเขียน (ต่อมา ลีกอกกาก็เขียนหนังสือเล่าความทรงจำของตนชื่อ The Girl in the Red Coat: A Memoir)


5) ทว่า ดูเหมือนเด็กชุดแดงในค่ายกักกันจะไม่ได้มีแค่ลีกอกกาคนเดียว เพราะในเว็บไซต์ชีวประวัติ ออสการ์ ชินด์เลอร์ และสารคดีเรื่อง The Trial of Adolf Eichmann ยังมีเรื่องเล่าของ “ดร. มาร์ติน เฟิลดี” ผู้รอดชีวิตจากค่ายเอาช์วิทซ์ว่า ตอนที่เขาถูกต้อนขึ้นรถไฟนั้น เขากับลูกชายถูกแยกไปด้านขวา ส่วนภรรยาถูกแยกตัวไปด้านซ้ายพร้อมลูกสาวซึ่งสวมโค้ตสีแดง ก่อนที่ทหารนาซีจะเปลี่ยนใจสั่งให้ลูกชายเขาไปหาแม่กับน้องแทน ซึ่งทำให้เฟิลดีอกสั่นขวัญหายเพราะไม่รู้ว่าเด็กชายอายุเพียง 12 ปีจะหาครอบครัวท่ามกลางผู้คนนับพันพบได้อย่างไร เขาได้แต่หวังว่าลูกชายจะมองหาชุดสีแดงของน้องได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม เฟิลดีไม่เคยได้รู้ว่าลูกกับแม่ได้พบกันหรือไม่ …เพราะ “นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้เห็นพวกเขา”


6) นอกจากนั้น ในบทความ “The little girl with the red coat – the true story” ยังให้ข้อมูลว่า เด็กหญิงชุดแดงคนนี้น่าจะคือ “กิทเทล ชิลล์” ลูกสาวของคู่สามีภรรยาชาวยิวชื่อ เดวิด กับ เอวา ชิลล์ ซึ่งหนีไปชนบท แต่ฝากลูกไว้กับลุงผู้เป็นแพทย์ประจำค่ายกักกัน

ระหว่างอยู่ในค่าย กิทเทลเป็นที่รู้จักของชาวค่ายในฐานะเด็กหญิงผู้ชอบสวมโค้ตสีแดงและต้องพยายามซ่อนตัวไม่ให้ทหารหาพบ …ทว่าในที่สุดเธอก็หนีไม่พ้น และถูกสังหารในวันที่ 13 มีนาคม ปี 1943 ขณะอายุเพียง 4 ปี

ว่าด้วย ‘สัดส่วนภาพ’ ของหนัง …ทำไมต้องหลากหลาย ทำไมต้องไม่เท่ากัน?

คอมเมนต์หนึ่งต่อ ‘ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ’ ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่เคยเจอคือ “สัดส่วนภาพของหนังเรื่องนี้ช่างใช้พื้นที่จอไม่คุ้มเอาเสียเลย” เพราะหนังใช้สัดส่วน 3:2 มันทำให้พอฉายโรงหรือสมาร์ททีวีแล้วจะมีขอบสีดำพาดอยู่ด้านข้าง ไม่ต่างกันเท่าไหร่กับ Die Tomorrow หนังเรื่องก่อนหน้าของนวพลที่ใช้สัดส่วน 1:1 มันให้ภาพกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส พอฉายแล้วก็ไม่เต็มจอเช่นกัน

นวพลมีเหตุผลของเขา “โดยพื้นฐานแล้วสเกลภาพต่างๆ มันเกิดขึ้นตามเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย เอาจริงก็ตามโมเดลธุรกิจ สมัยก่อนเริ่มมีการฉายแบบ scope (จอกว้าง) ก็เพื่อหนีจากสิ่งที่ทีวีมันให้ไม่ได้ พอมาถึงปัจจุบันมันเลยกลายเป็นตัวเลือกที่มากขึ้น หากยกเรื่องธุรกิจใดๆ ออก ก็หมายความว่าเราจะครอปแบบไหนก็ได้”

ในปัจจุบัน สัดส่วนภาพที่เป็นมาตรฐานโรงหนังส่วนใหญ่คือ 1.85:1 (flat) และ 2.35:1 (scope) หากหนังฉายด้วยสัดส่วนตามนี้มันก็จะเต็มจอพอดี ส่วนจอทีวีที่รองรับระบบ HD ส่วนใหญ่ก็จะมีสัดส่วน 1.78:1 (16:9) ซึ่งใกล้เคียงกับ 1.85:1 หากหนังเรื่องไหนไม่ได้อยู่ในสัดส่วนนี้ก็จะมีแถบดำบน-ล่าง หรือ ซ้าย-ขวา ว่ากันไป แต่ถ้าสัดส่วนนอกเหนือจากนี้มันจะแสดงผลไม่เต็มจอ ซึ่งนั่นไม่ได้มาจากความไม่รู้ของคนทำหนัง แต่มันย่อมเป็นความตั้งใจที่แตกต่างกันไปดังนี้ (บทความนี้จะเน้นที่สัดส่วนประหลาด ซึ่งอาจไม่คุ้นตาผู้ชมเท่าไหร่นัก)

ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ

3:2 – สัดส่วนนี้แทบไม่มีหนังเรื่องไหนใช้เลย แต่มาเจอใน ‘ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ’ เนื่องจากมันเป็นสัดส่วนสากลของภาพนิ่ง และด้วยเหตุนี้จึงทำให้นวพลหันมาทดลองกับมันดูสักตั้ง “มันมาจากตอนไปบล็อกช็อตแล้วสภาพห้องแถวมันจะซอยเป็นห้อง แล้วเมื่อถ่ายภาพนิ่งออกมามันสวยกว่า” นวพลยังบอกด้วยว่าสัดส่วน 3:2 นั้นจะให้ความสำคัญกับวัตถุแนวตั้งสอดคล้องกับสภาพห้องแถวตามความเป็นจริง และมันยังทำให้เราสนใจไปที่ตัวละครด้วย “สัดส่วนนี้มันแทบจะไม่มีอยู่จริง แต่มันเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้วในภาพถ่ายน่ะ”

Mommy

1:1 – มันคือสัดส่วนสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งนวพลก็ใช้ใน Die Tomorrow โดยเขาให้เหตุผลว่ามันจะให้ความรู้สึกคล้ายฟุตข่าวเก่าๆ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็มีทิศทางเช่นนั้น และยังทำให้เรานึกถึงสัดส่วนบนอินสตาแกรมด้วย ส่วนหนังอีกเรื่องที่ใช้สัดส่วนจัตุรัสคือ Mommy ของ ซาเวียร์ โดลอง เขาให้เหตุผลว่า “หลังจากถ่ายเอ็มวีในสัดส่วนนี้ (เพลง Collage Boy ของ Indochine) ก็เริ่มคิดว่าอัตราส่วนนี้ถ่ายทอดอารมณ์และความจริงใจที่ไม่เหมือนใคร สัดส่วนนี้ยังเหมาะอย่างยิ่งสำหรับพอร์เทรต ดังนั้นสายตาเราจะจับจ้องไปที่ตัวละครโดยที่ไม่มีอะไรมาดึงความสนใจไปเสียก่อน” และอีกเหตุผลหนึ่งของโดลองคือมันเป็นสัดส่วนเดียวกับปกซีดี เป็นความสนองนี้ดเล็กๆ ของเขาด้วย

A Ghost Story

4:3 (1.33:1) – สถาบันวิทยาการภาพยนตร์ระบุว่านี่คือสัดส่วนมาตรฐาน เพราะมันคือออริจินัลของหนัง (อีกชื่อหนึ่งคือสัดส่วนอคาเดมี) ในอดีตก็เป็นที่นิยมโดยเฉพาะในช่วงหนังยุค 1930s แต่ต่อมาทีวีก็แสดงค่าในสัดส่วนแบบเดียวกัน หนังจึงหนีไปให้ไกลเพื่อยั่วให้คนมาดูในโรงที่จอภาพขยายมุมมองได้กว้างกว่า แต่ตอนนี้มันกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง และส่วนใหญ่ก็เป็นหนังโชว์ภาพสวยๆ ทั้งสิ้น เช่น Ida (พาเวลล์ พาว์ลิโควสกี้), The Grand Budapest Hotel (เวส แอนเดอร์สัน, ใช้ 3 สัดส่วน แต่อคาเดมีเป็นหลัก), Laurence Anyways (ซาเวียร์ โดลอง), A Ghost Story (เดวิด โลเวอรี), American Honey (อันเดรีย อาร์โนลด์) และ First Reformed (พอล ชเรเดอร์) เป็นต้น

โรเบิร์ต เยโอแมน บอกว่าที่เลือกสัดส่วนอคาเดมีเป็นหลักใน The Grand Budapest Hotel (ภาพเปิดของบทความนี้) เพราะขณะที่สัดส่วนอื่นจะให้ค่ากับความกว้าง สัดส่วนนี้ที่เกือบจะจัตุรัส มันจะให้ความสำคัญกับความสูงมากกว่า ดังนั้นใน The Grand Budapest Hotel งานสร้างจึงโดดเด่นมาก เราจะได้เห็นเพดานมากขึ้นกว่าปกติ

สัดส่วน 4:3 มีคุณสมบัติไม่ต่างกันนักกับหนังจอแคบอื่นๆ ที่จะเน้นตัวละคร ซึ่ง เดวิด โลเวอรี เลือกมาใช้กับ A Ghost Story เพราะมันเป็นโปรเจกต์พักผ่อนที่เขาอยากได้อารมณ์ชวนเพื่อนมาทำหนังหลังบ้านกัน และเมื่อหนังเรื่องนี้ใช้พื้นที่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่เขาเลยเลือกใช้ 4:3 เพราะมันเหมือนตัวละครอยู่ในกล่องใบหนึ่ง

Midsommar

2.00:1 – อีกชื่อหนึ่งคือ Univisium เพราะมันได้รับการผลักดันโดย วิตโตริโอ สโตราโร ผกก.ภาพชาวอิตาเลียน เจ้าของผลงาน Apocalypse Now กับ The Last Emperor เขาคิดไว้เมื่อปี 1998 แนวคิดคือการหาสัดส่วนตรงกลางระหว่าง 2.35:1 กับ 1.85:1 ที่เป็นปัญหาโลกแตกของทั้งโรงและทีวี เลยเป็นสัดส่วนจะกว้างก็ไม่กว้างจะแคบก็ไม่แคบแบบนี้

มันเคยเป็นประเด็นใน Jurassic World เมื่อผกก.ภาพ จอห์น ชวาร์ตซแมน อยากจะถ่ายไดโนเสาร์เป็น 2.35:1 แต่ สตีเวน สปีลเบิร์ก อยากให้ถ่ายเป็น 1.85:1 ตามต้นฉบับ (มันให้ภาพไดโนเสาร์ที่ใหญ่โตกว่า เพราะมีสัดส่วนแนวตั้งที่มากกว่า) เลยกลายเป็นกึ่งกลางแบบนี้แฮปปี้ทุกฝ่าย

แต่ใครจะคิดว่าไอเดียของสตาราโรจะกลายเป็นมาตรฐานเข้าจนได้ เพราะทุกวันนี้หนัง,ซีรีส์ออริจินัลทั้ง Netflix กับ Amazon Prime ฉายด้วยสัดส่วน Univisium เป็นส่วนใหญ่ นอกจากจะเป็นการประนีประนอมแล้วสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่อีกหลายรุ่นยังมาพร้อมหน้าจอสัดส่วนนี้ด้วย ทำให้หนังโรงเริ่มปรับตัวตาม หันมาใช้สัดส่วนนี้กันมากขึ้น เช่น Hereditary, Midsommar, Green Book และ If Beale Street Could Talk เป็นต้น

I Am Not Madam Bovary

อื่นๆ – ในอดีตโรงหนังแข่งกันที่ความกว้างของจอ ทำให้มีหนังหลายเรื่องมาพร้อมสัดส่วนที่กว้างแบบซูเปอร์ โดยเฉพาะในช่วงรุ่งเรืองของหนังเอพิกอย่าง Ben-Hur แต่พอพ้นยุคนั้นมาก็ไม่ค่อยมีหนังเรื่องไหนฉายด้วยความกว้างระดับนั้นอีกเลย จนกระทั่ง The Hateful Eight ซึ่งฉายด้วยสัดส่วน 2.76:1 นั่นหมายความว่าโรงทั่วไปยืดจอจนสุดแล้วยังต้องมีแถบดำพาดเข้าไปอีกจึงจะได้ภาพที่สมบูรณ์ แต่มันจะเต็มอิ่มเมื่อดูในโรงที่ขนาดจอรองรับได้ เช่น โรงหนังที่เกิดมาพร้อมยุครุ่งเรืองของหนังเอพิกทั้งหลายนั่นเอง …และที่แหวกสุดๆ คือ I Am Not Madam Bovary ของ เฝิงเสี่ยวกัง ที่เป็นเฟรมวงกลม มันเกิดจากการที่เขามองว่า landscape ที่แท้จริงของหนังมันไร้ระเบียบ เขาเลยอยากจัดระเบียบเสียใหม่ให้อยู่ภายในกรอบวงกลม โดยแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนในราชวงศ์ซ่ง ซึ่งจะถูกจัดวางอยู่ในวงกลม และบอกความเป็นศิลปะของจีนได้อย่างดี

“New Norm” ของธุรกิจหนังหลังวิกฤติ

นาทีนี้คงไม่มีคำไหนอินเทรนด์เท่ากับคำว่า “New norm” หรือ “New Normal” อีกแล้ว ความหมายแบบตรงตัวของมันก็คือ ความปกติหรือบรรทัดฐานใหม่ ที่จะมาแทนบรรทัดฐานเดิม วิกฤติการณ์โควิด 19 ซึ่งเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ดันคงอยู่อ้อยอิ่งยาวนาน ได้ทำให้พฤติกรรมเดิม ๆ หลายอย่างเปลี่ยนไป และสร้างพฤติกรรมใหม่ที่จะกลายเป็นความคุ้นชินโดยธรรมชาติในเวลาไม่ช้า

ธุรกิจหนังเองก็กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งอาจทำให้รูปแบบเดิมๆ ต้องกลายไปเป็นประวัติศาสตร์ ขณะที่รูปแบบใหม่จะกลายมาเป็นต้นแบบของอนาคต วันนี้ผู้เขียนจึงขอเสนอความเป็นไปได้ของ New Norm ที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจหนังหลังวิกฤติ 19 ว่าน่าจะมีอะไรบ้าง

1. ความคุ้นชินกับคำว่า Virtual หรือภาวะเสมือน :

คำที่โดดเด่นพอ ๆ กับ “Social Distancing” หรือ “Physical distancing” ในช่วงเวลานี้ก็คือคำว่า “Virtual” ทั้งหลาย เช่น Virtual meeting หรือการประชุมทางออนไลน์ผ่านช่องทาง ซูม หรือ ไมโครซอฟท์ทีม

ธุรกิจหนังก็เช่นกัน คำว่า Virtual เข้ามามีบทบาทในฐานะเครื่องมือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหลายอย่าง เช่น

– Virtual Festival
ที่แก้ปัญหาการจัดเทศกาลหนังซึ่งไม่สามารถจัดแบบปกติได้ แต่ก็ยังจำเป็นต้องจัดต่อไป ด้วยการดำเนินการแบบออนไลน์แทน

– Virtual Distribution
หรือการจัดจำหน่ายภาพยนตร์แบบออนไลน์ ที่แม้อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับหนังขนาดเล็ก แต่วิกฤติโควิดได้บีบให้สตูดิโอค่ายใหญ่ต้องลองหันมาจัดจำหน่ายวิธีนี้ดูบ้าง เช่น กรณีของค่าย Universal กับแอนิเมชั่นเรื่อง Troll World Tour เมื่อเดือนเมษายน ซึ่งผลปรากฏว่าหนังขึ้นอันดับหนึ่งในช่องทางสตรีมมิ่งดัง ๆ อย่าง Amazon Prime Comcast Apple TV Vudu Youtube และ Direct TV ทันที่ออกฉาย (ล่าสุดโรงหนังเครือใหญ่ในอเมริกาอย่าง AMC แสดงปฏิกริยาไม่พอใจด้วยการประกาศแบนจะไม่ฉายหนังของค่าย Universalอีก ถ้าโรงได้มีโอกาสกลับมาเปิดอีกครั้ง)

– Virtual Film Market
ซึ่งจะถูกใช้แทนที่ตลาดหนังเมืองคานส์ปลายเดือนมิถุนายนนี้ โดยหลักการคือ การจำลองตลาดซื้อขายหนังมาเป็นแบบออนไลน์ ผู้ซื้อและผู้ขายเจรจากันโดยไม่ต้องบินมาเจอตัวเป็นๆ กันที่เมืองคานส์

ความเคยชินกับรูปแบบของกิจกรรมเสมือน อาจทำให้กิจกรรมเหล่านี้ของธุรกิจหนังค่อย ๆ แปลงสภาพ จากการเป็นทางเลือกแก้ขัดกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ก็ได้ เพราะนอกจากจะสะดวกในการดำเนินการแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงมากด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการจัดการ โดยเฉพาะกับเทศกาลหนังและตลาดหนัง เป็นต้น

2. Window ที่สั้นลงของช่องทางการจัดจำหน่ายต่างๆ :

ปกติระยะเวลาระหว่างช่องทางการจัดจำหน่ายหลักอย่างโรงหนัง กับช่องทางอื่น ๆ (เรียกว่า Window) มักห่างกันค่อนข้างนาน เช่น หนังเข้าฉายโรงไปแล้ว 3 เดือน จึงจะมาออกดีวีดี และ 6-8 เดือนจึงจะมาลงสตรีมมิ่ง (เช่น Netflix)

แต่เพราะวิกฤติโควิด 19 ทำให้ การดูหนังในช่องทางวิดีโอออนดีมานด์แบบสตรีมมิ่งได้รับความนิยมมาก บริษัทจัดจำหน่ายที่อาจจะเคยเกรงใจโรงหนัง เนื่องจากมองว่าเป็นช่องทางที่ควรคู่กับหนังจริงๆ แถมยังเป็นแหล่งรายได้ก้อนใหญ่) ชักเกิดอาการลังเล และอาจหาทางเจรจากับช่องทางหลักทั้งสองช่องทางใหม่ โดยความเป็นไปได้ดูเป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือ การประนีประนอม เรื่องระยะเวลา เช่น หนังเข้าโรงไปไม่ถึงเดือนหรืออาจแค่สัก 1 สัปดาห์ก็ลงสตรีมมิ่ง เป็นต้น

3. รายได้ที่ลดลงอย่างน่าตกใจของโรงหนัง :

สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหลังจากวิกฤติคลี่คลายคือ การจัดระเบียบใหม่ในการดูหนังภายใต้คอนเซ็ปต์ลดความกระจุกตัว ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้โรงหนังต้องมีรายได้ลดลงโดยอัตโนมัติ

ดังนั้นสิ่งที่จะกลายเป็น New Norm อาจมีสองทางที่ต่างกัน คือ หากโรงไม่ลดค่าตั๋วหนังเพื่อดึงดูดใจคนดูให้ยินดีมาเข้าโรง ก็คงเลือกทางตรงกันข้ามคือ เพิ่มค่าตั๋วไปเลยเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป

4. หนังที่จะฉายโรงอาจจำกัดแค่หนังประเภท Event Movie หรือหนังฟอร์มใหญ่ที่ต้องมาดูที่โรงเท่านั้น :

ส่วนหนังกลางและเล็กอาจดึงคนดูกลับไปเข้าโรงได้ยากขึ้น เพราะคนดูจำนวนหนึ่งเริ่มคุ้นชินกับช่องทางดูหนังสตรีมมิ่งขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเวลาแห่งวิกฤติลากยาวมากเท่าใด ความคุ้นชินก็จะกลายเป็นความปกติเร็วขึ้นเท่านั้น

ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ดำเนินล้อไปกับวิกฤติการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ทั้งโรคระบาด สงคราม ภัยพิบัติทั้งหลาย และเหตุการณ์เหล่านั้นก็ส่งผลต่อการก่อกำเนิดโครงสร้างใหม่ๆ เกือบทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ธุรกิจ หรือรสนิยมการเสพของผู้ชม และครั้งนี้ก็เช่นกัน

รวม 8 แหล่ง “หนังออนไลน์” ชั้นดี!

แม้ว่าวิกฤตโควิด 19 จะส่งสัญญาณคลี่คลายบ้างแล้ว แต่กิจกรรมดูหนังตามขนบของผู้คนทั่วโลกยังคงไม่มีความชัดเจนนัก ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่านั่งอยู่กับบ้านแล้วสรรหาภาพยนตร์ดี ๆ จากทั่วโลกมาชมกัน เสมือนหนึ่งกำลังอยู่ในฟิล์มคลับสักแห่งในโลกใบนี้หรือในโรงเทศกาลภาพยนตร์สักที่ ….Film Club จึงขอแนะนำแหล่งฉายหนังชั้นดี พร้อมข้อมูลเบื้องต้น เช่น คาแร็กเตอร์ของผู้จัด ประเภทของหนัง รวมถึง เงื่อนไขว่าเขาฉายให้เราชมฟรีหรือต้องเสียค่าชม

ขอเริ่มต้นที่เทศกาลภาพยนตร์กันก่อน

1. มหกรรมฉายภาพยนตร์ WE ARE ONE: A Global Film Festival

เป็นการผนึกกำลังของ 20 เทศกาลหนังสำคัญทั่วโลก โดยมีโต้โผใหญ่คือ Youtube และเทศกาลหนังไทรเบกา ร่วมด้วยเทศกาลยักษ์ใหญ่อย่างคานส์, เวนิซ, เบอร์ลิน, โตรอนโต, ซันแดนซ์ และนิวยอร์ก เป็นต้น

ระยะเวลา : 29 พฤษภาคม – 7 มิถุนายน 2563
ประเภทของหนังที่จะฉาย : หลากหลายทั้งหนังใหม่ไปจนถึงหนังคลาสสิก
ช่องทาง : ติดตามที่ We Are One
เงื่อนไข : ไม่เก็บค่าเข้าชม แต่จะเปิดให้ผู้ชมร่วมบริจาคให้กับองค์การอนามัยโลกเพื่อต่อสู้กับโควิด 19

2. เทศกาลภาพยนตร์สารคดี IDFA

เทศกาลหนังสารคดีที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของโลก จัดในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ นำเสนอสารคดีหลากหลายประเภทจากทั่วโลก ตัวเทศกาลจะจัดระหว่าง 18-29 พฤศจิกายน 2563 แต่ระหว่างนี้เปิดช่องทางออนไลน์ให้ชมหนังที่เคยผ่านการฉายมาแล้ว

ระยะเวลา : ไม่จำกัด
ช่องทาง : IDFA
เงื่อนไข : ฟรี

3. My French Film Festival เทศกาลหนังฝรั่งเศสแบบออนไลน์

จัดโดยหน่วยงานสนับสนุนและเผยแพร่หนังฝรั่งเศสที่ชื่อ Unifrance โดยจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่สิบแล้ว

ระยะเวลา : วันนี้ – 25 พฤษภาคมนี้
ประเภทของหนัง : หนังฝรั่งเศสทุกประเภท ทั้งหนังสั้นหนังยาว สามารถเลือกประเภทของหนังได้
ช่องทาง : My French Film Festival
เงื่อนไข : ฟรีแต่ต้องลงทะเบียนก่อน

4. เทศกาลหนัง South by South West

เป็นเทศกาลประจำปีของเมืองออสติน รัฐเท็กซัส โดยในงานนอกจากฉายหนังแล้วยังมีการแสดงดนตรี และอินเตอร์แอ็กทีฟมีเดียด้วย ปกติจัดเดือนมีนาคม แต่ด้วยวิกฤตโควิดจึงต้องงดจัดและนำหนังมาฉายทาง Amazon Prime แทน

ระยะเวลา : 27 เมษายน – 6 พฤษภาคม 2563
ประเภทของหนังที่จะฉาย : หนังอินดี้อเมริกันหลากแนว ทั้งหนังเล่าเรื่องและสารคดี
ช่องทาง : Prime Video **แต่ดูได้เฉพาะคนที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น**
เงื่อนไข : ดูฟรี สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิก Amazon Prime หรือไม่เป็นก็ได้


ในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ ซึ่งมีทั้งแบบเก็บค่าชมและชมฟรีนั้น ช่องทางที่น่าสนใจมีอาทิ

1. Le Cinema Club

แพล็ตฟอร์มฉายหนังออนไลน์ที่คัดสรรหนังดีหาชมยากจากผู้กำกับรุ่นใหม่น่าจับตา มาฉายให้ชมกันทุกวันศุกร์ ศุกร์ละหนึ่งเรื่อง
ระยะเวลา : หนังใหม่มาทุกวันศุกร์ และอยู่ให้ชมเรื่องละ 1 สัปดาห์
ช่องทาง : Le Cinema Club
เงื่อนไข : ฟรี

2. The National Film Board of Canada

รวบรวมหนังแคนาดาคุณภาพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีทั้งหนังเล่าเรื่อง หนังสารคดี และแอนิเมชั่น โดยเฉพาะแอนิเมชั่น มีงานของนอร์แมน แม็กลาเรน แอนมิเตอร์ระดับตำนานของแคนาดาเกือบทุกเรื่อง รวมถึง Neighbor (1958) ที่นักศึกษาภาพยนตร์ไทยหลายคนต้องเคยผ่านตามาแล้ว
ระยะเวลา : ไม่จำกัดเวลา
ช่องทาง : NFB
เงื่อนไข : ฟรี แต่ต้องลงทะเบียนก่อน

3. MUBI

ช่องทางสตรีมมิ่งสไตล์เดียวกับ Netflix คือ ต้องสมัครเป็นสมาชิกรายเดือนหรือรายปี หรือไม่ก็ใช้สิทธิ์ชมฟรี 7 วันแรกก่อนตัดสินใจ จุดเด่นของค่ายนี้อยู่ตรงที่นอกจากจะนำเสนอหนังอาร์ตชั้นดีจากทั่วโลกและหนังคลาสสิกที่น่าจดจำแล้ว ยังมีลูกเล่นการจัดโปรแกรมสุดเก๋ โดยหนังใหม่ทุกเรื่องจะมีเวลาให้ชม 30 วันหลังจากเริ่มฉายวันแรก หลังจากนั้นก็จะถูกถอดออกไปแล้วเพิ่มหนังใหม่ขึ้นมาแทน

ช่องทาง : MUBI
เงื่อนไข : เดือนละ 10.99 เหรียญต่อเดือน หรือเหมารายปี 99.88 เหรียญ (แต่ใช้สิทธิดูฟรี 7 วันแรกก่อนตัดสินใจได้) หรือไม่ก็ใช้บริการระบบเช่า คือ จ่ายเป็นครั้งๆ แล้วชมในระยะเวลาที่กำหนด

4. Korean Film Archive on Youtube

จัดทำโดยหอภาพยนตร์แห่งเกาหลีใต้ นำเสนอหนังคลาสสิกเกาหลีหาชมยากมากมาย คุณภาพคมชัด แถมมีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษให้ด้วย (ไม่ทุกเรื่อง) มีงานของผู้กำกับระดับครูอย่าง อิมกวอนเต็ก, แบชางโฮ ชินซางอ๊อก เป็นต้น

ช่องทาง : Korean Film Archive
เงื่อนไข : ฟรี

ขอให้สนุกกันทุกคนนะครับ ^^

“สายหนัง” คืออะไร (ตอน 2) : รู้จัก “สายหนังเมืองไทย”

หลังจากได้รู้จักที่มาของ “สายหนัง” ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก และระบบการแบ่งสายจัดจำหน่ายหนังในอินเดียไปแล้ว (ตอน 1) คราวนี้เราจะมาทำความเข้าใจเรื่องสายหนังของเมืองไทย (อย่างย่อๆ) ดูบ้างครับ

สายหนังเมืองไทย: นิยามและขอบเขต

พรสิทธิ์ พัฒธนานุรักษ์ จากม.สุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายคำว่า “สายหนัง” ไว้ว่า คืกลุ่มนักธุรกิจที่ซื้อสิทธิ์ภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายหลักในกรุงเทพฯ ไปจัดจำหน่ายในภูมิภาคของตนเอง โดยระยะแรกเหตุผลที่จำเป็นต้องพึ่งสายหนังก็เพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ผลิตหนังตระเวนนำฟิล์มไปฉายด้วยตัวเองได้ จึงติดต่อพ่อค้าคนกลางที่มีความชำนาญในภูมิภาคต่าง ๆ นำสำเนาฟิล์มหนังไปตระเวนฉายในพื้นที่

เงื่อนไขการตกลงส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการขายขาด กล่าวคือ หลังจากจ่ายค่าสิทธิ์แก่เจ้าของหนังแล้ว สายก็สามารถนำหนังไปหาผลประโยชน์ต่อได้โดยไม่ต้องแจ้งรายละเอียดการจัดจำหน่ายให้เจ้าของหนังรู้ ซึ่งในช่วงทศวรรษ 2520 – ปลาย 2530 ที่อุตสาหกรรมหนังไทยเฟื่องฟู สายหนังไม่เพียงมีบทบาทในการซื้อสิทธิ์หนังไปฉายในพื้นที่ของตนเท่านั้น แต่ยังถือว่ามีส่วนกำหนดแนวทางของหนังอีกด้วย เพราะสายรู้ว่าหนังแบบใดที่คนในพื้นที่อยากดู คนทำหนังจำนวนหนึ่งที่มีทุนไม่มากนักจึงต้องทำหนังที่จะ “ขายสายได้” เพื่อจะได้มีเงิน (จากการขายให้สายล่วงหน้า) ไปใช้ในการสร้างหนังให้เสร็จสมบูรณ์

แม้ปัจจุบัน ระบบการจัดจำหน่ายหนังในเมืองไทยจะเปลี่ยนไป เพราะผู้สร้างและผู้จัดจำหน่ายสามารถติดต่อประสานกับโรงหนัง (โดยเฉพาะโรงเครือใหญ่ที่ขยายกิจการไปสู่แต่ละภูมิภาคมากกว่าสมัยก่อน) ได้โดยตรง แต่สายสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างจากกรุงเทพฯ กับสายหนังก็ยังคงมีอยู่

สำหรับสายหนังในเมืองไทย เดิมมี 5 สายประกอบด้วย 1. สาย 8 จังหวัด ครอบคลุมภาคกลางรอบกรุงเทพฯ ซึ่งในภายหลังได้มารวมเข้ากับสายเหนือ 2. สายเหนือ 3. สายอีสาน 4. สายตะวันออก และ 5. สายใต้ แต่ละสายมีผู้ประกอบกิจการหลายราย จนกระทั่งถึงยุควิดีโอรุ่งเรืองซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจการโรงหนัง สายหนังจึงทยอยปิดตัวไป โดยรายที่ยังยืนหยัดถึงปัจจุบันได้แก่

1. สายเหนือ : ครอบคลุมจังหวัดทางทิศเหนือตอนบน ตอนล่าง และภาคกลาง ดำเนินกิจการโดยบริษัท ธนาเอนเตอร์เทนเมนท์

2. สายตะวันออก : ครอบคลุมจังหวัดด้านทิศตะวันออก ผู้ประกอบการมีรายเดียวคือ บริษัทเอสเอฟเอนเตอร์เทนเมนท์ หรือสมานฟิล์ม

3. สายอีสาน : ครอบคลุมจังหวัดในเขตอีสานทั้งหมด มีผู้ประกอบการ 3 รายคือ 1. ไฟว์สตาร์เนทเวิร์ค รับสิทธิ์จากค่ายหนังเมเจอร์สตูดิโออย่าง วอร์เนอร์บราเธอร์ส, โซนี่ พิคเจอร์ส และ ดิสนีย์ รวมถึงหนังไทยค่ายใหญ่เช่น ไฟว์สตาร์, จีดีเอช และเอ็มพิคเจอร์ส 2. มูฟวี พาร์ทเนอร์ รับสิทธิ์จากสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชันแนล และโมโนฟิล์ม และ 3. เนวาดา เอนเตอร์เทนเมนท์ รับสิทธิ์ค่ายยูไอพี

4. สายใต้ : ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ มีผู้ประกอบการรายเดียวคือ บริษัทโคลิเซียม เอนเตอร์เทนเมนท์

ความเหมือนและความต่างระหว่างสายหนังไทย – สายหนังอินเดีย

สิ่งที่คล้ายคลึงกันก็คือ

– ผู้จัดจำหน่ายภูมิภาคจะจัดฉายหนังในพื้นที่ของสายตัวเองเท่านั้น ไม่มีการข้ามพื้นที่
– การซื้อขายสิทธิ์ ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขาด (ในบางกรณีของอินเดีย ผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่นอาจต้องแบ่งผลประโยชน์กับผู้จัดจำหน่ายหลักหลังหนังฉายโรงแล้ว หากสัญญาที่ทำมีเงื่อนไขแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนลักษณะการซื้อขายของสายหนังในไทยนั้น มีรูปแบบปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา จากในอดีตที่มีทั้งการซื้อล่วงหน้าก่อนหนังมีกำหนดฉาย ก็ปรับมาเป็นการตกลงซื้อขายกันล่วงหน้าไม่นานนัก ส่วนวิธีการกำหนดราคาในปัจจุบัน มีทั้งการกำหนดตัวเลขตายตัวไปเลยว่าจะซื้อขายเท่าไหร่ (Flat Rate), กำหนดราคาโดยอ้างอิงเปอร์เซ็นต์จากรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศส่วนกลาง และการแบ่งรายได้กับเจ้าของสิทธิ์

ส่วนข้อแตกต่างที่สำคัญได้แก่

– สำหรับสายหนังไทย แต่ละภูมิภาคมีผู้ประกอบการรายเดียว (ยกเว้นสายอีสาน) ดูแลการจัดจำหน่ายทั้งหมดในภูมิภาคนั้นๆ แต่ในอินเดีย แต่ละสายอาจมีมากกว่าหนึ่งราย ซึ่งจะแข่งขันกันด้วยการเสนอผลประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่เจ้าของสิทธิ์เพื่อให้ได้หนังมาจัดจำหน่ายในสายของตน
– สายหนังในอินเดีย ยังมักเป็นผู้ซื้อสิทธิ์หนังต่างประเทศเข้ามาจัดจำหน่ายเองด้วย ขณะที่สายหนังในเมืองไทยยังเพียงซื้อสิทธิ์หนังต่างประเทศต่อจากบริษัทตัวกลางในไทยเท่านั้น

แม้หลายคนอาจมองว่า สายหนังคือสัญลักษณ์ของความล้าหลังของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เนื่องจากปัจจุบันสภาพภูมิประเทศไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเจ้าของหนัง (ในการนำหนังไปฉายให้ผู้ชมต่างภูมิภาคได้ชมกัน) จนต้องพึ่งสายหนังอีกต่อไปแล้ว แต่สำหรับบางประเทศ สายหนังไม่ได้เป็นเพียงช่องทางการการจัดจำหน่ายเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมการจัดจำหน่ายหนังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วย


อ้างอิง :
Film Distribution
– พรสิทธิ์ พัฒธนานุรักษ์. (2562). การบริหารงานสายภาพยนตร์. เอกลารสอนชุดวิชาการบริหารงานสายภาพยนตร์หน่วยที่ 10. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
– ชญานิน ธนะสุขธาวร. (2554). ในงานวิทยานิพนธ์เรื่อง ผลกระทบจากการขยายกิจการโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ ต่อระบบสายหนังในประเทศไทย
– Mittal, Ashok. (1995) Cinema Industry in India. Indus Publishing; Delhi

The Three Disappearances of Soad Hosni

หนังเริ่มต้นด้วยบทสนทนาของหญิงสาวนักแสดงคนหนึ่งกับชายที่อยู่นอกจอ เขาพยายามถามเธอว่าเกิดอะไรขึ้น เธอบอกว่าเธอจำอะไรไม่ได้เลย เขาเร่งเร้า นึกให้ออกสิ เธอมองเห็นอะไร นึกถึงอะไรก็ได้ เธอพยายามนึก เราจึงเริ่มเห็นภาพที่เธอกำลังออกวิ่ง วิ่งออกไปอย่างไร้จุดหมาย มีคนพยายามเรียกชื่อเธอ มากมายหลายนับสิบชื่อต่างวนเข้ามา จนไม่รู้ว่าชื่อไหนคือชื่อที่แท้จริงของเธอกันแน่ ภาพตัดสลับจากหลากหลายเหตุการณ์ บ้างเธอก็ใส่ชุดทะมัดทะแมง บ้างเธอก็แต่งตัวแบบหญิงสาวสวยสะ บ้างก็เป็นภาพขาวดำ บ้างก็เป็นสี ปะปนเหมือนความทรงจำที่ปะติดปะต่อกันอย่างไม่สมบูรณ์ หนังเริ่มขึ้นชื่อนักแสดงนำ Soad Hosni (หรือ Soad Hosny) แท้ที่จริงเธอคือนักแสดงที่รับบทบาทต่างๆ เผชิญเดินทางไปตามหนัง เธอเริ่มจำได้แล้วว่าเธอเป็นใคร และนี่คือจุดเริ่มต้นของหนัง

Soad Hosni นั้นมีตัวตนอยู่จริง ขึ้นชื่อว่าเป็น “ซินเดอเรลล่าแห่งภาพยนตร์อียิปต์” เธอเป็นนักแสดงดาวค้างฟ้าคนสำคัญของภาพยนตร์อียิปต์จากยุค 60-70 ครอบครัวของเธอข้องเกี่ยวกับวงการศิลปะมาโดยตลอด ทั้งคุณพ่อที่ทำอาชีพนักประดิษฐ์อักษร พี่สาวเป็นนักร้อง และพี่ชายเป็นนักแต่งเพลง Soad เริ่มเข้าวงการมายาตั้งแต่อายุ 3 ขวบจากการได้ร้องเพลงในรายการวิทยุสำหรับเด็กชื่อดัง เธอได้แสดงหนังเรื่องแรกเมื่อปี 1959 และหลังจากนั้น ความสวยงาม ความสามารถ และความรักอิสระของเธอก็ครองใจชาวอียิปต์มาโดยตลอด เธอได้รับบทอย่างหลากหลายตั้งแต่หนังคอมเมดี้เบาๆ ที่สร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชม ไปจนถึงหนังที่มีประเด็นหนักหน่วงและอาจจะมีนัยยะทางการเมือง ในช่วงชีวิตของ Soad นั้นเล่นหนังทั้งหมด 82 เรื่อง แต่ต้องออกจากวงการเมื่อปี 1991 เนื่องจากอาการบาดเจ็บร้ายแรงของกระดูกสันหลัง จนส่งผลกับการขยับร่างกายของเธอ

หลังจากนั้นไม่มีใครรับรู้ถึงเรื่องราวของเธออีกเลย จนมาถึงปี 2001 Soad ได้ปรากฏในสื่ออีกครั้ง เธอเสียชีวิตจากการตกจากระเบียงอพาร์ตเมนต์ของเพื่อนเธอในลอนดอน สร้างความเสียใจให้กับแฟนๆเป็นอย่างมาก ส่วนสาเหตุการตายนั้นยังคงเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้ ว่าแท้ที่จริงแล้วเธอฆ่าตัวตาย ฆาตกรรม หรือว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่ด้วยจากหลักฐานและปากคำของคนรอบข้างของเธอ สองเหตุผลแรกนั้นดูมีความเป็นไปได้มากกว่า แต่ถึงแม้เธอจะหายไปจากวงการบันเทิงสิบปี ความนิยมของเธอยังไม่จางหายไปตามกาลเวลา เมื่อร่างของเธอถูกนำกลับมาจัดงานศพที่ไคโร และมีผู้มาเข้าร่วมงานศพนับหมื่นคน

หนังถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน แต่ละส่วนต่างเล่าเรื่องราวส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ คล้ายกับจะเป็นหนังอัตชีวประวัติที่เราสามารถพบเห็นได้ตามทั่วไป ที่หานักแสดงชื่อดังใครสักคนที่มีหน้าตาคล้ายกับบุคคลจริงมารับบทเป็นเขาหรือเธอคนนั้น แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำอย่างนั้น มันคือการร้อยเรื่องราวขึ้นมาใหม่ โดยฟุตเตจจากหนังเรื่องต่างๆ ที่เธอเคยแสดง และตัว Soad ที่รับบทบาทต่างๆ ในหนังแต่ละเรื่อง ถูกร้อยเรียงให้กลายเป็นชีวิตของเธอเอง เธอที่ไม่มีอยู่ในชีวิตจริงกลายเป็นหุ่นเชิดของผู้ทำ ที่ต้องการจะเล่าเรื่องราวของเธออีกที หนังเรื่องนี้กำลังพยายามจะทับทาบเส้นชีวิตของเธอ แม้ไม่แนบเนียนนัก แต่การประกอบเรื่องราวของดาราคนหนึ่งที่จากไปแล้ว และไม่มีวัตถุดิบใดหลงเหลือนอกจากหนังที่ถอดมาจากม้วนเทป VHS นี่อาจจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด โดยไม่ต้องทำการยกย่องเธอมากเกินไปเหมือหนังอัตชีวประวัติอื่น

ส่วนแรกเหมือนเป็นหนังโรแมนติกธรรมดาที่เราคุ้นชิน หญิงสาวคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันเรื่องความรัก มีความรักแบบสวยงาม ครองรักกันด้วยความหอมหวาน ได้เต้นรำไปกับคนรัก หยอกเย้าไปกับเสียงเพลง (มีฉากเต้นหนึ่งที่ทำให้นึกถึง Bande a Part ของ Jean Luc Godard) ภาพลักษณ์ของเธอถูกทำให้กลายเป็นสาวสวยงาม น่ารัก นิสัยดี เป็นที่หมายปองของพระเอกในเรื่อง เพราะเธอเป็นนางเอกที่มีหน้าที่ทำให้พระเอกมีความสุข ส่วนนี้จบลงด้วยการที่เธอได้เข้าสู่วงการมายา ได้เป็นดาราอย่างที่เธอฝันไว้ แต่สิ่งที่บอกเล่าในหนังนั้น เราไม่แน่ใจว่านี่คือสิ่งที่เธอต้องการจะเป็นจริงๆ หรือเป็นสิ่งที่ตัว Soad ในหนังถูกเขียนไว้ว่าให้เป็น จังหวะนั้นเราเริ่มรู้สึกว่าหรือนี่คือความหมายของนักแสดง มีหน้าที่รับบทบาทนั้นๆให้แนบเนียนมากกว่าการได้เป็นตัวของตัวเอง เหมือนกับที่คนทั่วไปไม่ค่อยรับรู้ชีวิตจริงของเธอ แต่มีภาพจำของเธอที่สร้างความสุขให้กับผู้ชมภาพยนตร์มากกว่า

ส่วนที่สองของหนัง เธอเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง ภาพเริ่มเผยให้เห็นว่าบทบาทของเธอกลายเป็นหญิงสาวผู้แสวงหาความรัก เธอออกไปดื่มกินเต้นรำในยามค่ำคืนตามไนท์คลับต่างๆ เพื่อตามหาใครสักคนที่จะมาอยู่คู่กับรักของเธอ เธอถูกเปลี่ยนให้เป็นความงดงามที่ดุจเทพนิยาย เป็นต้นแบบของความงาม ผู้ชายหลายคนต่างต้องการครอบครองเธอในฐานะของผลงานศิลปะ เขาต่างวาดรูปเธอ หรือปั้นเธอจากดินเหนียว แต่เธออาจจะถูกแช่แข็งให้กลายเป็นเพียงแค่นั้น ความงามที่ทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงในอุดมคติของทุกคน เธอมีทั้งความงามและความสามารถ ทั้งเล่นกีฬาเก่ง ทั้งชาญฉลาด สามารถพูดคุยเรื่องยากๆ กับผู้ชายได้อย่างทัดเทียม สิ่งเหล่านั้นทำให้เธอกลายเป็นแค่ผู้หญิงที่เหมาะสมกับผู้ชายหรือพระเอกภายในเรื่องเพียงแค่เท่านั้น

ส่วนสุดท้าย เปลี่ยนบทบาทของตัวเธออีกครั้ง เหมือนที่เธอได้หายลับจากขอบฟ้า แล้วกลับมาในตัวตนใหม่ เธอถูกเปลี่ยนให้เป็นวัตถุแห่งการถูกกระทำจากผู้ชาย เธอทั้งถูกตบตี กักขังหน่วงเหนี่ยว ถูกข่มขืน กลายเป็น sex object ผู้ทำหนังต่างใช้เรือนร่างของเธออย่างคุ้มค่า ถึงแม้จะเป็นยุคที่เธอได้รับบทที่ซีเรียสขึ้น ไม่ได้เป็นแค่สาวสะพรั่งโชว์ความสวยความงาม แต่ต้องแลกกับการเอาเรือนร่างเข้าแลกในรูปแบบใหม่ ตกอยู่ภายใต้หนังที่มีแต่ความมาโชที่ล้วนโชว์ความทะเยอทะยานของผู้ชาย ฟุตเทจส่วนใหญ่จะเป็นหนังที่เกิดขึ้นในยุค 70 เราล้วนเห็นการกระทำเหล่านี้ซ้ำไปซ้ำมาอยู่เรื่อยๆ เป็นวังวนที่ตีตรา Soad ซึ่งกลายเป็นตัวแทนของผู้หญิงว่าชีวิตของพวกเธอจะไม่ได้ไปไกลมากกว่านี้ ความต้องการของเธอจะถูกกักเก็บไว้ภายในตัวเธอเท่านั้น ได้แต่คอยตอบสนองความต้องการของตัวเอก แต่สิ่งเหล่านั้นก็พอเห็นกันได้ในสองส่วนนั้นอยู่แล้ว ภาพในหนังต่างยั่วล้อไปกับชีวิตจริงของเธอ Soad ที่แต่งงานมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง และเธอไม่เคยมีบุตรกับใครสักคน

ทั้งสามส่วนของหนังจบด้วยการที่ลบตัวตนของเธอจากพาร์ตที่แล้วหายไป และประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ กลายเป็นผู้หญิงแบบไหนก็ได้ตามที่ผู้สร้างต้องการ ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนสมัยนั้น ผู้กำกับหนังเรื่องนี้จึงต้องการแก้ความถูกต้องของเธอที่เปรียบเสมือนเป็นแบบอย่างของผู้หญิงอียิปต์ในยุคนั้นขึ้นเสียใหม่ และตีแผ่บทบาทของผู้หญิงในสมัยนั้นที่ถูกกระทำและถูกกดบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อมขนาดไหน

สิ่งที่น่าสนใจคือถึงแม้การทำหนังเรื่องนี้จะทำให้เรารู้จักผลงานของ Soad และชีวิตของเธอมากขึ้น แต่ภาพและบทสนทนาภายในเรื่องนั้นมาจากหนังที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พอมันกลับมาใส่ในเรื่องนี้ บทสนทนาที่เคยเป็นของหนังเรื่องอื่นทำให้มันกลายเป็นนอกเรื่องไป ซึ่งจะชวนให้เราสะดุดอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความที่มันกลายเป็นหนังอัตชีวประวัติแบบไม่สมบูรณ์ กลายเป็นการผลักตัวเราออกจากการรับรู้ ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ใช่ประวัติของ Soad ทั้งหมด แต่เป็นการหยิบชิ้นส่วนต่างๆ จากหนังที่เธอเล่น มาประกอบให้กลายเป็นประวัติของเธอ

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือตัวภาพของหนังเรื่องนี้ถูกอัดมาจากม้วนเทป VHS ทั้งหมด ทำให้เราเห็นบาดแผลของไฟล์ ภาพที่เราเห็นมักจะมีเหมือนแม่เหล็กในเทปถูกทำลาย ข้อมูลหายไป ภาพสั่น อยู่บ่อยครั้ง ตามประสาเทปที่ถูกเก็บไว้นานและไม่ได้รับการรักษา เป็นประวัติศาสตร์ที่ไร้การบันทึกไว้เป็นอย่างดี เหมือนเป็นวัสดุที่ใกล้จะพังและข้อมูลที่พร้อมจะสูญหายได้ตลอดเวลา ซึ่ง Soad เองเป็นผลผลิตที่ตกค้างของยุคเทปอนาล็อก ผลงานของเธอยังไม่ได้ถูกบูรณะใหม่ให้มีขนาดภาพและเสียงที่คมชัด เธอจะกลายเป็นภาพแตก สีซีด มีรอยขีดข่วน สุดท้ายถ้าข้อมูลหนังภายในเทปนั้นสูญหาย เธออาจจะหายไปจนไม่มีหลักฐานให้พูดถึงในคนรุ่นหลัง เหมือนที่หนังบางเรื่องเราเคยได้ยินจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่เราไม่สามารถดูได้เพราะฟิล์มนั้นเสียหายจนไม่สามารถดูได้อีกต่อไป

นี่คือผลงานหนังขนาดยาวเรื่องแรก และเป็นผลงานที่สร้างชื่อที่สุดของ Rania Stephan นักทำหนังและวิดีโออาร์ตติสท์ชาวเลบานอน ที่สนใจงานของ Soad ในตอนที่เป็นนักศึกษาภาพยนตร์ เธอบอกว่า Soad ไม่มีสิ่งที่บันทึกประวัติของเธออย่างเป็นทางการ มีเพียงแค่ข่าวกอสซิปจากแม็กกาซีนที่หากินกับดาราดัง เมื่อเธอตายไปแล้ว เธอจึงออกมาเล่าเรื่องราวของตัวเองไม่ได้ เหมือนชีวิตของ Soad ได้อุทิศให้กับภาพยนตร์ไปแล้ว จนไม่มีชีวิตเป็นของตัวเอง ความรักที่มีต่อ Soad และการอยากทำความรู้จักชีวิตของเธอมากกว่านั้น ทำให้ Rania ทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งเธอให้สัมภาษณ์ว่าที่อียิปต์นั้นไม่มีสถานที่หรือหน่วยงานที่จัดเก็บภาพยนตร์ ถึงแม้ว่าวงการภาพยนตร์อียิปต์เองจะยิ่งใหญ่และเติบโตขนาดไหนก็ตาม และเธอกังวลอยู่เช่นกันถ้ายังไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น ประวัติศาสตร์สำคัญที่ภาพยนตร์สามารถบันทึกได้ เราอาจไม่ได้พบเจอมันอีก และสุดท้ายมันอาจสูญสลายหายไปอย่างน่าเศร้า

หน้าที่สำคัญของหนังอีกหนึ่งอย่างคือการบันทึกเรื่องราวของผู้คนที่มีชีวิตจริง ลงไปในแผ่นฟิล์ม สร้างเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่ผู้ทำไม่อยากให้หายไป หรือมีการถ่ายทอดว่าทำไมเรื่องของเขาหรือเธอควรจะมีผู้คนรับรู้ บ้างจะเป็นคนที่มีความเชื่อมโยงกับผู้ทำ จนต้องทำภาพยนตร์ออกมาเป็นเครื่องสดุดีชีวิต บ้างก็เป็นคนที่เคยได้ยินแค่ชื่อเสียงเรียงนาม การทำหนังก็คือการได้ทำความรู้จักทุกด้านของบุคคลที่เป็นซับเจ็คต์นั้นๆ สำหรับ Soad เธอเป็นดาวค้างฟ้าที่ลึกลับ ไม่มีวัสดุใดที่บันทึกชีวิตส่วนตัวของเธอ และไม่มีอะไรที่แก้ต่างให้กับชีวิตที่แท้จริง นอกจากบทตัวละครในหนังที่ทาบผ่านพอดีกับชีวิตจริง ผู้คนอาจจดจำในเธอในแบบนั้น แต่การทำหนังเรื่องนี้อาจเป็นการแก้ต่างกับภาพลักษณ์ที่เธอเป็นในหนัง ภาพจำที่คนดูอาจจะจำเธอเหมือนในส่วนที่สาม เธออาจถูกจดจำในฐานะผู้ถูกกระทำ พ่ายแพ้ต่ออำนาจความเป็นชาย แต่แท้ที่จริงแล้วมันคือเครื่องมือที่เรียกว่าภาพยนตร์ ที่สามารถสร้างความคิดเหล่านั้นให้กับผู้ชมได้ เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้อาจะเป็นได้ทั้งการเชิดชูความยิ่งใหญ่ของเธอ และการแก้ต่างให้เธอกลายเป็นบุคคลธรรมดาเหมือนกับทุกคนมากขึ้น


รับชมหนังได้ที่ Arsenal

อีร์ฟาน ข่าน พระเอก The Lunchbox เสียชีวิตแล้ว

อีร์ฟาน ข่าน (Irrfan Khan) นักแสดงชาวอินเดียที่เป็นที่รู้จักของคนดูหนังทั่วโลกจาก Slumdog Millionaire และ The Lunch Box เสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็งและอาการติดเชื้อในลำไส้ ขณะอายุได้​ 53​ ปี

อีร์ฟาน ข่านเริ่มต้นอาชีพการแสดงหลังจากย้ายมามุมไบในปี 1984 โดยปรากฏตัวในละครทางโทรทัศน์หลายเรื่อง ปี 1988 เขาได้รับชวนจากผู้กำกับ มิรา แนร์ ให้ไปรับบทสั้น ๆ ใน Salaam Bombay แต่บทของเขาถูกตัดออกในเวอร์ชั่นสุดท้าย

ข่านได้รับบทนำในหนังบอลลีวู้ดครั้งแรกปี 2005 ในภาพยนตร์เรื่อง Rog ปีถัดมาเขาได้ร่วมงานกับแนร์อีกครั้งใน The Namesake และหลังจากนั้นชื่อเสียงของเขาก็เริ่มโด่งดังระดับโลก ด้วยการปรากฏตัวใน The Darjeeling Limited (2007), Slumdog Millionaire (2008), New York, I Love You (2009), The Amazing Spider-Man (2012) และ Life of Pi (2012) เป็นต้น

สำหรับผู้ชมชาวไทย เราน่าจะจดจำและประทับใจเขามากที่สุดจากบทหนุ่มใหญ่ผู้ได้รับปิ่นโตที่ถูกสับเปลี่ยน ซึ่งทำให้เขาได้สานสัมพันธ์กับหญิงสาวคนหนึ่งจนเกิดเป็นมิตรภาพและความรัก ในภาพยนตร์เรื่อง The Lunch Box (2013) นั่นเอง

ข่านตรวจพบมะเร็งเมื่อปี 2018 และเขาแจ้งให้คนใกล้ตัวทราบว่าจะขอไม่ต่อสู้กับโรคนี้แล้ว แม่ของเขาเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันเสาร์ที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา แต่ด้วยอาการทรุดหนักทำให้ข่านไม่สามารถไปร่วมงานของแม่ได้ ทำได้เพียงส่งวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ไปเท่านั้น

Film Club ขอร่วมไว้อาลัยแก่การจากไปของชายผู้เป็นที่รักทั้งในฮอลลีวูดและบอลลีวูดผู้นี้

ตัดหางเสือปล่อยวัด: 6 สิงห์ที่อยากให้คุณดูแทน Tigertail

Tigertail (2020) คือหนัง Netflix Originals ที่เพิ่งออนแอร์ไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน หลายคนพูดถึงและตั้งตารอดูตั้งแต่วันที่โปสเตอร์หนังโผล่ขึ้นมาในหน้าเมนู Latest ทั้งจากโปรไฟล์ว่านี่คือผลงานกำกับหนังยาวเรื่องแรกของ Alan Yang หนึ่งในครีเอเตอร์ของซีรี่ส์ Master of None (2015-ปัจจุบัน, ร่วมกับ Aziz Ansari) ที่สำรวจ ตีแผ่ และยั่วล้อวัฒนธรรมเอเชียนอเมริกันร่วมสมัยจนไปไกลถึงรางวัลเอ็มมี่กับลูกโลกทองคำ แถมภาพในตัวอย่างก็สะกดสายตาเหลือเกิน ด้วยชวนให้นึกถึงความงามจากหนังคลาสสิกเอเชียตะวันออกหลายๆ เรื่องในความทรงจำ

แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นตามโจทย์หลังกระแส The Farewell (2019, Lulu Wang) และ Crazy Rich Asians (2018, Jon M. Chu) ในบริบทอเมริกันที่ความหลากหลายกำลังอยู่ในบทสนทนา การคาดหวังความดีในระดับเดียวกับผลงานปรมาจารย์จากงานโจทย์คงเป็นเรื่องเกินตัว ผมเองก็สังหรณ์เล็กๆ ตอนที่เห็นว่าหนังมีความยาวเพียง 90 นาที สงสัยอยู่หน่อยๆ ว่าเนื้อเรื่องที่หยอดไว้มากมายในตัวอย่างจะได้รับการถ่ายทอดอย่างกินใจได้ในเวลาเพียง 90 นาทีจริงหรือ แต่ก็ตัดสินใจให้โอกาสหนัง ไม่โยนเข้าโหลดอง My List แบบที่ปกติมักจะทำ

โทษของความอยากทันกระแสคือโดนหลอกจนหน้าชา แอบเสียหน้าที่ไม่เชื่อประกายสัญชาตญาณของตัวเอง

พูดได้เต็มปากว่าหนังดราม่าครอบครัวของนักศึกษาหรือนักเรียนมัธยมไทยจำนวนมาก เล่าเรื่องดี เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครหรือตัวเอง และใช้ภาษาภาพยนตร์ได้เก่งกว่าหนังโหนกระแสเรื่องนี้เป็นไหนๆ – จากที่กลัวหนังจะรวบเล่าเร่งรีบจนไม่ทิ้งเวลาให้ความรู้สึกหรือเนื้อเรื่องทำงานกับผู้ชม กลายเป็นว่า Tigertail อาการหนักกว่านั้น หนังแทบไม่มีความรู้สึกนึกคิดใดๆ ต่อเนื้อเรื่องของตัวเองตั้งแต่แรก ฝืดคอจนไม่ควรฝืนยืดเป็นหนังยาว เพราะทุกอย่างแห้งแล้งและขาดความสำคัญจนควรจบใน 15-20 นาที ยิ่งพยายามถมเวลาให้ครบชั่วโมงครึ่งก็ยิ่งเปิดแผลว่าผู้กับาดประสบการณ์และวิสัยทัศน์ในการเล่าเรื่องอย่างร้ายแรง

สำหรับใครที่กำลังเล็งๆ เรื่องนี้อยู่ หรือยังไม่ได้เผลอกดดูไปตั้งแต่วันแรกๆ เหมือนใครแถวนี้ ถ้าคนอ่านอยู่ในอารมณ์อยากดูเรื่องราวชาวเอเชียตะวันออก (ทั้งในและนอกทวีปอเมริกาเหนือ) คนเขียนก็ขอถือวิสาสะแนะนำหนังทดแทนไว้ให้สักชุดหนึ่ง

A Sun (2019, Chung Mong-Hong)

ครอบครัวเอเชียน

Tigertail พยายามเอื้อมมือไปหยิบองค์ประกอบที่ดูมีน้ำหนักมาหลอกขายในตัวอย่าง (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) แต่ขนาดเรื่องหลักที่เป็นจุดขายอย่างความสัมพันธ์ครอบครัวเอเชียน หนังยังล้มเหลวไม่เป็นท่า ยักแย่ยักยันอยู่ระหว่างอดีตอันหอมหวานของตัวละครพ่อที่เล่าผิวผ่านเสียจนไม่รู้สึก กับความสัมพันธ์ห่างเหินต่อไม่ติดกับลูกสาวที่เขียนบทแบบกึ่งสำเร็จรูป แถมใจร้อนจนเส้นยังไม่ทันสุกดี ทั้งที่ก็จำกัดตัวละครจนแทบจะเหลือแค่สองคน ขนาดลองจับเทียบแค่ในบริบทเอเชียนอเมริกันร่วมสมัย หนังตลกซึ้งหวานขวัญใจมหาชนแบบ The Farewell กับ The Big Sick (2018, Kumail Nanjiani) ยังชนะขาดลอย

สองเรื่องนี้คงเป็นที่รู้จักจนไม่ต้องแนะนำเพิ่มแล้ว และเอาเข้าจริงก็ยังนำเสนอดราม่าครอบครัวเอเชียนในแบบที่ฝรั่งคุ้นชินเป็นหลัก เราเลยขอไฮไลต์หนังเอเชียร่วมสมัยที่แอบซ่อนตัวอยู่ใน Netflix อีกเรื่องหนึ่งแทน

A Sun (2019, Chung Mong-Hong) เข้าชิง 11 และชนะ 5 รางวัลม้าทองคำ (Golden Horse Award) รวมภาพยนตร์และผู้กำกับยอดเยี่ยม หนังไต้หวันความยาว 156 นาทีเรื่องนี้ไม่ได้ขายความหวานซึ้ง หรือความศักดิ์สิทธิ์บริสุทธิ์ของครอบครัวในตอนจบ แต่เข้มข้นใจสลายแบบเอาตาย ด้วยชีวิตพลิกผันของตระกูลเฉินที่พ่อเป็นครูสอนขับรถ แม่แต่งหน้าทำผมให้นางโชว์ในบาร์ ลูกคนโตกำลังกวดวิชารอสอบเข้าคณะแพทย์รอบใหม่ แต่ลูกคนเล็กเพิ่งถูกศาลตัดสินให้เข้าคุกเยาวชนด้วยคดีอุกฉกรรจ์

หนังเฉือนลึกถึงเนื้อในของครอบครัวที่ต้องเผชิญหลังจุดพลิกผัน ขยายเส้นเรื่องจากสามชีวิตที่เหลือในบ้านไปถึงผู้เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลา (แฟนวัยมัธยมของน้องชาย คนคุยที่โรงเรียนของพี่ชาย พ่อของเหยื่อคดีที่ตามเรียกร้องเงินชดเชย เพื่อนร่วมคดีของน้องชายที่ติดคุกไปพร้อมกัน) ฉายภาพความรู้สึกภายใน การดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดทั้งชีวิตจิตใจ และการปกป้องตนเองจากแรงสั่นสะเทือนของสถานการณ์ เมื่อปมผูกไว้ด้วยเงื่อนคนละแบบ วิธีคลี่คลายจัดการย่อมต่างกัน บางคนวางทิ้งไว้ทำเป็นไม่แยแสอยู่นานปี แต่บางคนก็โชคร้ายเจอเงื่อนตาย ต้องตัดเชือกทิ้งสถานเดียว

ภาพความสัมพันธ์ที่ละเอียดลึกซึ้งในเรื่องจึงไปไกลกว่าความขัดแย้งระหว่างสมาชิกครอบครัวต่างรุ่นที่ไม่เข้าใจกัน แต่คือความหลากหลายของทัศนคติความเชื่อ และน้ำหนักที่มนุษย์แต่ละคนจะยึดถือไว้เป็นแนวทางชีวิต ไม่ว่าความผูกพันทางสถานะของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ดวงอาทิตย์ (sun) ที่หนังหยิบมาเล่นล้อกับคำว่าลูกชาย (son) ได้แยบยล ส่องแสงถ้วนทั่วถึงทุกคน ไม่ว่าจะในฐานะความร้อนแผดเผาหลอมละลาย หรือแสงแห่งวันใหม่ของชีวิตที่ยังต้องเดินหน้าต่อไปอย่างสะบักสะบอม

A Brighter Summer Day (1991, Edward Yang)

ไต้หวัน – ก๊กมินตั๋ง

เมื่อ Tigertail พยายามใช้ไต้หวันในอดีตเป็นจุดขายแบบวางตัวซีเรียส ช่วงต้นเรื่องหนังเลยมีฉากพระเอกตอนเด็กถูกป้าสั่งให้ไปซ่อนในตู้เมื่อทหารก๊กมินตั๋งถือปืนเข้ามาถึงบ้าน ก่อนปะทะคารมกันเล็กน้อยเรื่องภาษาฮกเกี้ยนกับจีนกลาง (ก๊กมินตั๋งบังคับให้คนไต้หวันพื้นถิ่นพูดหลังถอยร่นมาจากแผ่นดินใหญ่) ทำท่าเหมือนให้น้ำหนักบริบทการเมือง แต่หนังก็โยนทิ้งไปดื้อๆ เพราะไม่กี่ฉากต่อมาเด็กน้อยก็เป็นหนุ่ม พูดจีนกลางป้อสาวพลางครวญเพลง Otis Redding ซะแล้ว

เหมือนแค่อ้างอิงหนังครูเพื่อท้องนาเขียวและแสงสีคืนบาร์ที่ถ่ายฟิล์มเอาสวยมากกว่าเนื้อใน จึงเป็นจังหวะที่ดีที่เราจะได้กลับไปดูว่ารุ่นครูเขาทำกันอย่างไร คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มว่าวงการภาพยนตร์โลกยกย่อง A Brighter Summer Day (1991, Edward Yang) มากแค่ไหน และสองจุดเด่นที่ Tigertail ล้มไม่เป็นท่าก็คือการนำเสนอบริบทของยุคสมัย ทั้งแรงตกกระทบทางการเมืองต่อตัวละครและกระแสวัฒนธรรมอเมริกันที่วาดภาพฝันให้คนรุ่นนั้น

การที่ชื่อภาษาอังกฤษของหนังคือท่อนหนึ่งจาก Are You Lonesome Tonight ของ Elvis Presley ซึ่งเป็นเพลงจำของเรื่อง ย่อมแสดงให้เห็นอิทธิพลของกระแสที่จับใจวัยรุ่นที่กำลังเติบโตใช้ชีวิต ในระดับที่เป็นแรงสะเทือนถึงทัศนคติและไฟฝันของคนในสังคมยุคหนึ่ง เช่นเดียวกับการปราบปรามทางการเมืองอันเข้มงวดแข็งขันของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ที่ทำลายครอบครัวและหลักยึดในชีวิตวัยมัธยมของตัวละครเอกลงอย่างไม่มีชิ้นดี เป็นระลอกคลื่นใหญ่ที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล และนำไปสู่การตัดสินใจดำมืดที่สุดเท่าที่เด็กดีๆ คนหนึ่งจะจมลงไปได้

Eat Drink Man Woman (1994, Ang Lee)

พ่อเสือกับลูกสาว

จากพระเอกที่เคยมีชีวิตชีวาและไฟฝัน (คนดูอาจไม่รู้สึกเพราะหนังแตะแค่ผิวเผิน) เมื่อแก่เป็นตาลุงหลังแต่งเมียที่ไม่ได้รักก็กลายเป็นพ่อเสือ แยกเขี้ยวจนต่อใจไม่ติดกับลูกสาว แต่วิธีเล่าของ Tigertail นั้นสุดแสนสำเร็จรูป ทั้งหมดถูกลดทอนเหลือแค่การเอ็ดลูกตัวเล็กที่ร้องไห้หลังพลาดบนเวทีแสดงเปียโน ความไม่พอใจที่ลูกตอนโตทั้งบ้างานแถมยังมีแฟนที่ดูไม่มั่นคง และฉากดราม่าอารมณ์กลางร้านอาหารที่ขาดจินตนาการเสียเหลือเกิน ทุกอย่างกลายเป็นแค่ภาพจำแบบฉบับของครอบครัวเอเชียที่ดูห่างเหินในด้านปฏิสัมพันธ์เพราะขาดการแสดงออกซึ่งความรัก

เหตุผลหลักที่ Eat Drink Man Woman (1994, Ang Lee) ยังคงเป็นที่จดจำข้ามทศวรรษอาจคือบรรดาฉากทำอาหาร แต่แกนหลักของเรื่องคือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อม่ายกับสามบุตรีที่ยังโสด (รวมถึงผู้ชายที่เข้ามาเกี่ยวพันเป็นตัวเลือกในชีวิต) นำเสนออย่างละเมียดละไมและคมคายผ่านการร่วมมื้ออาหารประจำสัปดาห์ของครอบครัวที่พ่อเป็นคนลงมือรังสรรค์อาหารทุกจานด้วยตัวเองแม้ลิ้นของอดีตพ่อครัวภัตตาคารจะไม่รู้รสอีกแล้ว

ความห่างเหินเก็บคำแบบครอบครัวเอเชียในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ภาพสะท้อนทื่อๆ ตรงๆ ถึงความไม่เข้าใจระหว่างคนต่างรุ่นที่ทิ้งคาอยู่กับที่ เพราะความสัมพันธ์นั้นซับซ้อนและเป็นพลวัต ภายใต้รอยปริแตกบนชั้นผิว หนังค่อยๆ ลอกเผยให้เห็นรายละเอียดความผูกพันระหว่างพ่อลูกพี่น้องแต่ละคน บางคำพูดถูกเก็บซ่อนไว้ด้วยเหตุแห่งความคับข้องใจ แต่บางคำพูดก็ถูกละไว้ในฐานที่แต่ละฝ่ายต่างรู้จัก เข้าใจ และประเมินซึ่งกันและกันจากมุมมองของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อเงื่อนไขแห่งชีวิตและการตัดสินใจของแต่ละคนก็อยู่เหนือการตัดสินถูกผิดด้วยมาตรฐานของใครเพียงลำพัง และขยับคืบหน้าเปลี่ยนแปลงไปทุกครั้งเมื่อถึงสัปดาห์ใหม่

Kim’s Convenience (2016-ปัจจุบัน, Ins Choi และ Kevin White)

ตั้งตัวสร้างชีวิตในแดนไกล

หลังตัดสินใจฉับพลันรับข้อเสนอแต่งเข้าบ้านลูกสาวเจ้าของโรงงาน ทิ้งสาวคนรักไว้ไต้หวัน แล้วบินไปอเมริกา (แบบที่ได้แต่งงว่าทำไมถึงเจาะจงเลือกเจ้าหนุ่มเหลาะแหละนี่เป็นเขย) Tigertail ก็พยายามเล่าว่าพระเอกดิ้นรนกับชีวิตใหม่ที่ต่างจากภาพฝันมากเพียงใด ทั้งห้องพักซอมซ่อสกปรก และต้องกรำงานลูกจ้างจนทิ้งลูกเมียให้ว้าเหว่ แต่ทั้งหมดก็ถูกเร่งเล่าผ่าน montage ข้ามเวลา ทู่ซี้พาเรื่องให้เข้าสู่วัยชราหลังสร้างตัวแบบรีบๆ ราวกับชีวิตระหว่างนั้นไม่มีจุดพลิกผันอะไรอีกเลย

อาจดูไม่เป็นธรรมอยู่สักหน่อยในเรื่องข้อจำกัดของเวลา แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่หัวข้อนี้ต้องแนะนำซีรี่ส์ที่โฟกัสไปยังการสร้างเนื้อสร้างตัวและปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรมใหม่ของคนเอเชีย โดย Kim’s Convenience (2016-ปัจจุบัน, Ins Choi และ Kevin White) ดัดแปลงจากบทละครเวทีของนักเขียนเชื้อสายเกาหลีที่สร้างประวัติศาสตร์ด้านความนิยมกับคำวิจารณ์จนได้ข้ามฟากมาแสดง off-broadway ในนิวยอร์ก และต่อมาถูกสร้างเป็นซิทคอมเรื่องแรกของแคนาดาที่มีตัวเอกเป็นคนเอเชีย และเพิ่งเริ่มออนแอร์ซีซั่นที่ 4 เมื่อต้นปี 2020 นี้เอง

ตัวซีรี่ส์เล่นล้อหรรษากับภาพจำเรื่องเชื้อชาติสีผิว ความสัมพันธ์ และค่านิยมแบบครอบครัวเอเชียของ “อัปป้า” กับ “ออมม่า” ที่เป็นผู้อพยพรุ่นแรก ซึ่งเปิดร้านชำเล็กๆ ของครอบครัวอยู่ในโตรอนโต ผ่านร่มหลักของเนื้อเรื่องว่าด้วยกิจการของร้านที่เกี่ยวพันกับตัวละครและชุมชนรอบข้างที่อัพเดทไปตามประเด็นสังคมร่วมสมัย และความสัมพันธ์ภายในบ้านกับลูกสาววัยมหา’ลัยที่มีทัศนคติชีวิตแบบตะวันตกเต็มตัวที่อึดอัดกับความเจ้าธรรมเนียมของพ่อแม่ และลูกชายที่ห่างเหินไปหลังพ้นโทษจากสถานพินิจเพราะถูกพ่อไล่ออกจากบ้าน

A Time to Live, A Time to Die (1985, Hou Hsiao-Hsien)

ชีวิตที่ยืมมา

ถึงจะอ้างแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงพ่อผู้กำกับ แต่ความใกล้ชิดก็ไม่ได้ช่วย Tigertail จากความล้มเหลว เพราะทั้งชีวิตของเขามีตัวตนอยู่อย่างอ่อนแรงในเรื่องเล่าของลูกชาย ไม่ว่าจะปัจจุบันที่แก่ตัวลงอย่างโดดเดี่ยวเมียขอเลิก หรือความทรงจำถึงแม่ที่ขออยู่ไต้หวันจนตายทั้งที่เขาเลือกอเมริกาเพื่อให้เธอตามมาอยู่สบาย และคนรักเก่าที่จากมา (ใจจริงอยากสปอยล์เหลือเกินว่าหนังทำตัวน่ากลุ้มใจแค่ไหน ตอนที่เขียนให้รักเก่ากลับมาเจอพ่ออีกครั้ง)

เมื่อต้องกล่าวถึงภาพยนตร์ที่บันทึกความเป็นมนุษย์ได้อย่างงดงามเศร้าสร้อย ถ่ายทอดทั้งชีวิตผ่านสายตาและความทรงจำที่ละเอียดลึกซึ้ง ย่อมไม่อาจมอบข้ามหนังไต้หวันนิวเวฟสองเรื่องที่เป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์

A Time to Live, A Time to Die (1985, Hou Hsiao-Hsien) และ A Borrowed Life (1994, Wu Nien-Jen) ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสายตาของลูกหลาน ซึ่งเติบโตมาบันทึกประวัติศาสตร์ของครอบครัวเป็นหนังทั้งสองเรื่องนี้เอง จากชีวิตของคนใกล้ตัวที่เป็นภาพจำมาตั้งแต่เยาว์วัย พวกเขาย้อนมองชีวิตที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อดีตที่ยังตกค้างอยู่ในความทรงจำ การย้ายถิ่นเพื่อลงหลักปักฐานใหม่ และความเจ็บปวดอาลัยอาวรณ์ของคนรุ่นก่อน คว้าจับลมหายใจของผู้คนรอบตัวที่เคยดำเนินไปก่อนถึงจุดสิ้นสุดเปลี่ยนผ่านอันไม่อาจหวนคืน

เป็นทั้งการเฉลิมฉลองสดุดีให้ชีวิตที่เคยดำรงอยู่ และยังคงดำเนินเติบโตต่อไปในชีวิตจิตใจของผู้รับช่วงสืบทอดต่อในบริบทที่ไม่มีวันเหมือนเดิมหลังการจากลา โดยมุ่งมั่นจดจำความเจ็บปวดอันชวนใจสลายที่เคยกัดกินชีวิตของคนรุ่นก่อนหน้า

ปรับตัวก็ยังไม่รอด …โรงหนังทางเลือกสิงคโปร์เปิดระดมทุนต่อชีวิตอีกครั้ง

New Normal หรือ ‘ความปกติใหม่’ เป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างรุนแรงในภาวะที่เราต่างเริ่มปรับตัวกับสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ได้แล้ว และมองหาความปกติใหม่ -หรือสิ่งที่ผิดปกติของโลกก่อนเกิดโรคระบาด แต่จะกลายเป็นสิ่งปกติในชีวิตประจำวันหลังจากนี้- เพื่อปรับตัวเสียแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องอยู่รอดในช่วง lockdown นี้ให้ได้ก่อน…และกลุ่มธุรกิจที่ดูจะน่าเป็นห่วงเหลือเกินคือ ‘โรงหนัง’

มีโรงหนังหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงหนังทางเลือก ปรับตัวเพื่อเข้าสู่ New Normal หลังจากผู้คนเริ่มคุ้นชินกับการดูหนังอยู่บ้านแล้ว อย่าง The Projector โรงหนังทางเลือกแห่งเดียวในสิงคโปร์ ที่กำลังไปได้สวยแต่เมื่อโรงปิดนานครบเดือนแล้วก็พบว่าสิ่งที่ปรับตัวไปและการช่วยเหลือจากภาครัฐยังไม่เพียงพอต่อการอยู่รอด

The Projector รีโนเวทมาจากโรงหนังเก่าขนาดใหญ่ Golden Theatre ด้วยเงินที่มาจากการระดมทุน จนแล้วเสร็จเมื่อปี 2015 ด้วยจุดเด่นนอกเหนือจากโปรแกรมที่คัดสรรมาเฉพาะหนังทางเลือกและอีเวนท์มันๆ โรงยังตกแต่งในบรรยากาศแบบโรงหนังเก่าแตกต่างจากโรงมัลติเพล็กซ์ทั่วไป

เพราะความเป็นแหล่งพึ่งพิงทางวัฒนธรรมของสิงคโปร์นี้เอง ทำให้ตลอดเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา โรงหนังได้สร้างกลุ่มลูกค้าหนาแน่นขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อเดือน ม.ค. 2020 The Projector ทำผลประกอบการดีที่สุดตั้งแต่เปิดกิจการมาเลยทีเดียว จนเมื่อรัฐบาลประกาศปิดโรงหนังตั้งแต่ 28 มี.ค. The Projector ก็หาทางรอดสุดชีวิต

วิธีปรับตัวของ The Projector คือสร้างกิจกรรมต่อเนื่องทางเว็บไซต์ ทำให้พวกเขาที่แม้จะทำงานกันที่บ้านแต่เหมือนจะงานหนักกว่าเดิม เช่น จัดประกวดหนังสั้น Circuit Breaker Short Film Competition ที่เปิดให้คนทั้งโลกดูหนังและโหวตเรื่องที่ชื่นชอบได้ฟรีระหว่างกักตัว, ฉายสารคดี I Dream of Singapore ที่ว่าด้วยชีวิตแรงงานต่างชาติ ควบคู่ด้วยเฟซบุ๊กไลฟ์ กับ Transient Workers Count Too องค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อแรงงานต่างชาติ และ ริปอน โชธุรี ชาวบังคลาเทศที่มาทำงานในสิงคโปร์ ทั้งยังผลิตสินค้าที่ระลึกมาขายด้วย รวมไปถึงพวกเขายังทำคลิปโปรโมทจากเกมนินเทนโดที่กำลังมาแรงในช่วงกักตัวนี้ อย่าง Animal Crossing

สถานการณ์ของ The Projector ขณะนี้อยู่รอดได้จนจบเดือน พ.ค. ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่มันไม่เพียงพอที่จะเยียวยาต่อเนื่องหลังจากนั้น คาเรน ตัน ผู้ก่อตั้งโรงกล่าวว่าลำพังไม่มีโรคระบาดก็อยู่ยากอยู่แล้ว เพราะในประเทศที่เข้มงวดในกฎระเบียบไปหมดอย่างสิงคโปร์ ทำให้หนังที่แตกต่างหลากหลายใน The Projector เป็นสิ่งที่คนดูยังไม่คุ้นเคย พวกเขาจึงจำเป็นต้องระดุมทุนระลอกใหม่เพื่อหล่อเลี้ยงโรงให้เดินต่อหลังจากนั้นได้

The Projector ได้ทุนตั้งต้นจากการระดมผ่าน Indiegogo มา 77,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายของพวกเขาทะยานไปกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน ใครอยากสนับสนุนให้วัฒนธรรมทางเลือกเบ่งบานยิ่งขึ้นในสิงคโปร์ เข้าไปสนับสนุนพวกเขาได้ ที่นี่

โชเน็นไม่เคยตาย! …ขอแนะนำ “Kimetsu No Yaiba ดาบพิฆาตอสูร” มาสเตอร์พีซที่เราไม่อยากให้คุณพลาด

ในวัยเด็กหลายๆ คนโตมากับมังงะและอนิเมะแนว “โชเน็น” (Shounen = เด็กผู้ชาย) เช่น ดราก้อนบอล คนเก่งฟ้าประทาน เซนต์เซย่า นารุโตะ วันพีซ แต่พอโตขึ้น เราจะเริ่มเบื่อการ์ตูนแนวโชเน็นที่เล่นสูตรสำเร็จจ๋าๆ แล้วหันไปอ่านหรือดูแนว “เซย์เน็น” (seinen) ที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้นอย่าง Attack on Titan แทน

แต่บางครั้งก็มีโชเน็นใหม่ๆ ที่สามารถดึงคนดูที่โตขึ้นให้หันกลับมาดูได้ เช่น My Hero Academia และอนิเมะโชเน็นที่ฮิตสุดๆ ระดับปรากฏการณ์ในปีที่แล้วหนีไม่พ้น Kimetsu no Yaiba หรือ “ดาบพิฆาตอสูร”

“ดาบพิฆาตอสูร” ดัดแปลงจากมังงะชื่อเดียวกัน เขียนโดยอาจารย์ โคโยฮารุ โคโตเกะ พิมพ์ทางนิตยสารโชเน็นจัมป์รายสัปดาห์ (ลิขสิทธิ์ภาษาไทยโดย สยามอินเตอร์คอมิกส์) เล่าเรื่องของ “ทันจิโร่” ผู้พบว่าครอบครัวของตนโดนอสูรร้ายฆ่าล้างบาง เหลือเพียง ”เน็ตสึโกะ”น้องสาวที่โดนอสูรทำร้ายและติดเชื้อกลายเป็นอสูรไป เน็ตสึโกะควบคุมตัวเองไม่ได้และพยายามฆ่าทันจิโร่ แต่ก็ได้ “โทมิโอกะ” นักดาบจากองค์กรนักล่าอสูรมาช่วยไว้

โทมิโอกะตั้งใจจะฆ่าเน็ตสึโกะทิ้งเพราะคนที่กลายเป็นอสูรไปแล้วนั้นหมดทางเยียวยา แต่ทันจิโร่ไม่ยอม เอาตัวเองเข้าปกป้องน้องสาวและพยายามเรียกสติของเธอกลับมา ซึ่งก็สำเร็จ จนโทมิโอกะเลิกความคิดที่จะฆ่าเธอ เขาแนะนำให้ทันจิโร่เข้าองค์กรนักล่าอสูรเพื่อปกป้องน้องสาวและตามหาอสูรที่ฆ่าครอบครัวเขาให้เจอเพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เน็ตสึโกะกลับมาเป็นคนอีกครั้ง

จริงๆ แล้ว เนื้อเรื่องของ “ดาบพิฆาตอสูร” ไม่มีอะไรใหม่เลย เดินตามสูตรที่เราเห็นกันมานานเป๊ะๆ แต่สิ่งที่ทำให้มันโดดเด่นจนกลายเป็นงานฮิตสุดๆ เมื่อปีที่แล้ว อยู่ที่ ”ความยอดเยี่ยมของงานโปรดักชั่น” ที่สตูดิโอ Ufotable รังสรรค์ขึ้นมา สตูดิโอนี้ขึ้นชื่อด้านงานภาพที่สวยคมกริบ การเคลื่อนไหวแอนิเมชั่นที่ยอดเยี่ยม และผสมความงามของภาพแบบ 2D กับ 3D ได้อย่างลงตัว (ตัวอย่างงานเด่นๆ ของค่ายนี้ก็คือ ซีรีส์ Fate Zero ที่มีให้รับชมใน Netflix เช่นกัน)

แทบทุกซีนใน “ดาบพิฆาตอสูร” ถูกดีไซน์การเล่ามาอย่างดี ไดเร็กชั่นทุกอย่าง ไม่ว่าจะงานศิลป์ มุมกล้อง ซาวด์ดีไซน์ เพลงประกอบ ล้วนยกระดับให้มันกลายเป็นอนิเมะเกรด A++

แทบทุกซีนใน “ดาบพิฆาตอสูร” ถูกดีไซน์การเล่ามาอย่างดี ไดเร็กชั่นทุกอย่าง ไม่ว่าจะงานศิลป์ มุมกล้อง ซาวด์ดีไซน์ เพลงประกอบ ล้วนยกระดับให้มันกลายเป็นอนิเมะเกรด A++ โดยเฉพาะซีนแอ็กชั่นที่เป็นหัวใจของแนวโชเน็นนั้นมีการใช้ Dynamic Camera Movement ที่รวดเร็วรุนแรงและอิมแพ็กต์ทางความรู้สึก เอฟเฟ็กต์ของท่าดาบในเรื่องที่คล้ายภาพวาดพู่กันก็ยิ่งทำให้งานด้านภาพสวยงามขึ้นไปอีก มีหลายซีนสามารถพาคนดูไปถึงโมเมนต์ที่สุดขีดทางอารมณ์และชวนให้กลับมาดูซีนนี้ซ้ำได้บ่อยๆ จัดว่าเป็นงานกำกับระดับมาสเตอร์พีซของวงการอนิเมะในรอบหลายๆ ปีเลยทีเดียว โดยเฉพาะฉากไคลแม็กซ์ใน EP19 ที่จะเป็นที่ถูกกล่าวขานไปอีกนาน

ในแง่เนื้อเรื่อง ก็มีจุดเด่นตรงมีตัวละครที่แข็งแรง ตัวละครเอกอย่างทันจิโร่ไม่ได้ฆ่าอสูรเพื่อความแค้น เขามีความเห็นอกเห็นใจให้แก่เหล่าอสูรทุกตัวที่เป็นศัตรู ทางด้านฝั่งอสูรเองก็จะมีจุดเล่าว่าช่วงที่เป็นคนก่อนจะเป็นอสูรนั้น ทุกคนล้วนมีอดีตน่าสงสาร ตัวนางเอกอย่างเน็ตสึโกะไม่ใช่น้องสาวที่ต้องคอยให้ทันจิโร่ปกป้องฝ่ายเดียว เธอสามารถช่วยพี่ชายสู้ได้โดยไม่เป็นตัวถ่วง การดำเนินเรื่องก็ไปข้างหน้าเรื่อยๆ ทุกการต่อสู้ส่งผลต่อเรื่องและตัวละคร โทนเรื่องมีความดาร์คและจริงจังชวนให้ติดตาม

สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ลองพิสูจน์ด้วยตัวเองที่ Netflix ครับ และปลายปีจะมีภาคหนังโรงเข้ามาฉายในไทยด้วย ถ้าดูแล้วชอบก็รอไปดูในโรงหนังกันต่อได้เลย

Business Update : คานส์+เวนิซ / โรงหนังไดรฟ์อิน / เวอร์ชวลซีเนม่า

ในรอบสัปดาห์มีความเคลื่อนไหวในธุรกิจภาพยนตร์โลกที่น่าสนใจหลายเหตุการณ์ ไล่เรียงดังนี้

คานส์จับมือเวนิซ : ความเป็นไปได้ที่ติดลบ

แม้ เธียร์รี เฟรโมซ์ ผู้อำนวยการเทศกาลหนังเมืองคานส์จะประกาศว่า ปีนี้เทศกาลต้องเลื่อน (เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสห้ามจัดงานที่มีคนไปชุมนุมกันจนถึงเดือนกรกฎาคม) แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะยกเลิกการจัดไปเลย หรือจะแก้ปัญหาด้วยการจัดแบบ Virtual Festival (เทศกาลออนไลน์) เขาเพียงบอกว่า กำลังแสวงหา “ทางเลือก” เพื่อให้เทศกาลได้จัดต่อไป

และหนึ่งในทางเลือกที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็คือ การไปจัดร่วมกับเทศกาลหนังนานาชาติเวนิซเสียเลย!

“ตอนที่เริ่มวิกฤตใหม่ๆ ผมกับ อัลแบร์โต บาร์เบรา ผู้อำนวยการเทศกาลหนังเวนิซ เคยคุยเรื่องความเป็นไปได้ที่จะทำอะไรร่วมกัน จนถึงตอนนี้เราก็ยังคุยกันอยู่” เฟรโมซ์กล่าวกับนักเขียนของ Variety เมื่อกลางเมษายนที่ผ่านมา โดยไม่ได้อธิบายว่าอัลแบร์โตมีท่าทีอย่างไร จากนั้น 5 วันต่อมา โรแบร์ติ ชิคัทโต ประธานของเวนิซเบียนาเล่ (ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของการจัดเทศกาลหนังเวนิซ) ก็ออกมาแสดงจุดยืนว่า เทศกาลที่เวนิซจะยังคงจัดตามกำหนดต่อไป คือ 2- 12 กันยายน แต่ความร่วมมือกับคานส์ในตอนนี้ยังไม่มีการพูดถึง

“จริง ๆ ทุกอย่างก็เป็นไปได้หมดนั่นแหละ เพียงแต่ผมรู้สึกกระอักกระอ่วนที่เฟรโมซ์มักชอบพูดว่ากำลังดูสถานการณ์ แต่ไม่ยอมชี้ชัดว่าต้องการทำอะไรกันแน่” ชิคัทโตบอก ซึ่งถ้าลองวิเคราะห์ดูแล้ว ดูเหมือนความเป็นไปได้ที่เทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกสองเทศกาลจะมาร่วมมือกันนั้น ไม่เพียงแค่เป็นศูนย์ แต่อาจจะติดลบหลายจุดเลยด้วยซ้ำ

อ้างอิง
Venice Film Festival Going Forward, No Collaboration With Cannes Planned
Cannes Director Talks Solidarity Between Festivals, Fall Bow


แนวโน้มเกิดใหม่ของโรงหนังไดรฟ์อิน

ในช่วงที่วิกฤตโควิดบีบให้โรงหนังตามขนบต้องปิดตัวลง ก็มีผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มเอารูปแบบการฉายนอกขนบแบบ “โรงหนัง Drive In” ( ซึ่งเคยได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 1950) กลับมาลองให้บริการ และปรากฏว่าประสบความสำเร็จในหลายประเทศ ตั้งแต่ เกาหลีใต้ ตามมาด้วยเยอรมนี และล่าสุดคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระจายไปหลายเมือง มีราคาตั๋วตั้งแต่ 7 จนถึง 20 เหรียญ

เหตุผลสำคัญที่ทำให้โรงหนังไดรฟ์อินกลับมาฮิตก็คือ ลักษณะการจัดฉายที่ตอบโจทย์ social distancing ได้ดีที่สุด แม้แต่ แอนดริว คิวโอโม นายกเทศมนตรีนิวยอร์กยังแบะท่าพิจารณาเตรียมอนุญาตให้โรงหนังไดรฟ์อินฉายหนังในช่วงเวลาวิกฤตได้

ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า โรงหนังแบบนี้จะกลายมาเป็นทางเลือกสำคัญหลังวิกฤตหรือไม่ ซึ่งหลายฝ่ายยังมองว่า มันเป็นธุรกิจที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง จนทำให้ในระยะยาวอาจไปไม่รอด เช่น เงื่อนไขของเวลาการฉาย ที่จะทำได้หลังจากพระอาทิตย์ตกไปแล้ว (เท่ากับว่า โอกาสทำเงินมีเพียงไม่กี่รอบเท่านั้นต่อวัน), ถ้าเกิดภัยธรรมชาติที่คาดไม่ถึงอย่างพายุฝน ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจะกำไร และที่สำคัญที่สุดคือ สตูดิโอใหญ่คงไม่อนุญาตให้โรงไดรฟ์อินฉายหนังใหม่แน่นอน เนื่องจาก ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งกับโรงหนังตามขนบ

เท่ากับว่า เมื่อโรงตามขนบกลับมาเปิดเป็นปกติ และหนังฟอร์มใหญ่กลับมาฉายอีกครั้ง โรงไดรฟ์อินก็คงทยอยหายไปโดยอัตโนมัติ

อ้างอิง
Drive-In Theaters May Help Save the Movie Industry
Amid COVID-19, drive-in movies are popping up around the Valley
Drive-in movies are proving popular in a pandemic—just like 70 years ago


Virtual Cinema กลยุทธ์ค่ายหนังช่วยโรงหนัง

วิกฤตโควิด-19 ทำให้โรงหนังทั่วอเมริกาต้องปิดตัวลง ส่งผลให้บุคลากรจำนวนมากต้องตกงานและขาดรายได้ไป มีความพยายามช่วยเหลือหลายรูปแบบทั้งการจัดงานการกุศล ระดมทุนช่วยเหลือ และล่าสุดบริษัทจัดจำหน่ายอินดี้หลายแห่งก็นำไอเดียการจัดจำหน่ายออนไลน์ ที่เรียกว่า Virtual Cinema มาใช้เป็นเครื่องมือระดมทุนบริจาค โดยผู้ชมเองก็มีส่วนร่วมในการบริจาคด้วย

หลักการของไอเดียนี้ คือ บริษัทจัดจำหน่ายอย่าง Neon (ผู้จัดจำหน่าย Parasite, Portrait of the Lady on Fire), บริษัท Kino Lober (Bacurau, Beanpole), บริษัท Greenwich Entertainment (The Book Seller) และบริษัท Magnolia (The Whistlers, Slay the Dragon) เปิดให้ผู้ชมเลือกสตรีมมิ่งหนังหนึ่งเรื่องได้แบบมีระยะเวลากำหนด โดยเมื่อจ่ายเงินไปแล้ว รายได้ส่วนหนึ่งจะเข้าบริษัทจัดจำหน่าย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะแบ่งให้กับโรงหนัง (ที่ผู้ใช้บริการสามารถเลือกได้ว่าจะบริจาคให้โรงไหน)

วิธีนี้นอกจากจะช่วยทำให้ผู้ชมได้รับอรรถรสจากการได้ดูหนังคุณภาพแล้ว ยังได้ช่วยโรงหนังในภาวะยากลำบากอีกด้วย

อ้างอิง
Virtual Cinemas Offer Haven for Cinephiles and Struggling Theaters Alike

‘ความเงียบ’ เสียงสกอร์ของโยฮัน โยฮันส์สัน ในหนังเดอนีส์ วิลล์เนิฟ

หาก คริสโตเฟอร์ โนแลน มีคอมโพสเซอร์ ฮานส์ ซิมเมอร์ เป็นคู่บุญ …ผกก. เดอนีส์ วิลล์เนิฟ ก็มี โยฮัน โยฮันส์สัน เป็นคู่หูเช่นกัน เพราะทั้งคู่ร่วมงานกันมาสามเรื่อง คือ Prisoners, Sicario และ Arrival ก่อนที่โยฮันส์สันจะลาโลกนี้ไปเมื่อปี 2018 โดยก่อนหน้านั้น โยฮันส์สันกล่าวไว้ว่าวิลล์เนิฟเปิดโอกาสให้เขาอยู่กับความเงียบและใช้ประโยชน์จากมันเสมอ

1. คนทำสกอร์มักจะเข้ามาร่วมโปรเจกต์หนังสักเรื่องก็ตอนโพสต์โปรดักชั่นไปแล้ว แต่สำหรับวิลล์เนิฟ เขาจะชวนโยฮันส์สันเข้ามาร่วมโปรเจกต์ตั้งแต่ก้าวแรก ซึ่งนั่นทำให้เขาแฮปปี้ที่ได้ร่วมงานกัน “ผมว่ามันเป็นวิธีที่ดีนะ มันทำให้ผมได้ซึมซับหนังเรื่องนี้มากพอจนสกอร์ของผมเข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอของหนังได้ ผมได้ไปอยู่ในกองถ่าย และช่วงเวลาตรงนั้นแหละที่ทำให้ผมซึมซับบรรยากาศของหนังเพื่อเอามาใช้ในการทำสกอร์ของผม”

2. การทำงานของวิลล์เนิฟกับโยฮันส์สันนั้นทำให้ทั้งคู่เชื่อใจกันและกันเป็นอย่างสูง หลังจากหนังถ่ายทำเสร็จวิลล์เนิฟนำหนังไปตัดต่อโดยไม่ใส่ดนตรีอะไรเลยเพื่อเป็นไกด์ให้คนทำสกอร์อย่างเช่นที่คนทำหนังทั่วไปนิยมทำกัน ซึ่งความว่างเปล่าตรงนั้นเองคือพื้นที่ให้โยฮันส์สันบรรเลงไอเดียได้อย่างอิสระ “พอเขาไม่ชี้นำอะไรเลยมาให้ มันทำให้ผมสร้างสรรค์อะไรก็ได้ลงไป แต่ผมกับเขาทำงานกันมาตั้งแต่ต้นจึงรู้ว่าเขาต้องการอะไร จึงสามารถค่อยๆ ใส่อะไรลงไปทีละนิดละน้อยแล้วให้เขาช่วยดู”

3. ฉากที่ท้าทายการทำงานของโยฮันส์สันที่สุด อยู่ใน Sicario และเป็นฉากแรกที่เขาทำในหนังเรื่องนี้ เป็นตอนที่ตัวละครเข้าไปในฮัวเรซครั้งแรก หนังถ่ายจากมุมมองของเฮลิคอปเตอร์ เห็นรั้วชายแดน ซึ่งระหว่างนั้นเราจะได้ยินเสียงใบพัดไปตลอดทางที่ค่อยๆ เร้าขึ้น โดยโยฮันส์สันสร้างดนตรีมาโอบล้อมเสียงใบพัดนั้นไว้ “เสียงเฮลิคอปเตอร์เป็นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งในฉากนั้น ผมดีใจมากที่ทั้งวิลล์เนิฟและ โจ วอล์คเกอร์ (คนตัดต่อ) ชอบมัน เพราะนี่เป็นคิวแรกที่ผมทำและมันกำหนดทิศทางของสกอร์หนังทั้งเรื่องเลย” ซึ่ง Sicario ทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์ด้วย

4. ใน Arrival โยฮันส์สันตีโจทย์ต่างจากหนังไซไฟในสตูดิโอทั่วไป เขามองว่าหนังที่เกี่ยวกับการสื่อสารเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้เสียงมนุษย์มาเป็นอีกหนึ่งเครื่องดนตรี แต่เหนือสิ่งอื่นใดเขามองว่าสกอร์ที่เหมาะกับหนังที่สุดคือความเงียบ และใช้ดนตรีเมื่อจำเป็นเท่านั้น

5. โยฮันส์สันเป็นคนทำสกอร์ที่ให้ความสำคัญกับ “ซาวด์ดีไซน์” และ “เสียงเงียบ” เขามักเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำซาวด์ดีไซด์ด้วยเสมอ เพื่อนำมาผสมกับเครื่องดนตรี (ดังที่ยกตัวอย่างใน Sicario) และที่ไปขั้นสุดคือเขาผสมซาวด์ดีไซด์เข้ากับความเงียบ (?) สิ่งนี้เกิดขึ้นใน Mother! ของ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ หลังจากโยฮันส์สันทำการบ้านกับมันมาเป็นปี เขาก็เสนออาโรนอฟสกี้ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ควรมีสกอร์ หันมาใช้ประโยชน์จากซาวด์ดีไซด์แทน แล้วมันจะทรงพลังยิ่งขึ้น ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่มีตำแหน่งคนทำสกอร์อยู่ในเครดิต แม้แต่โยฮันส์สัน

“สายหนัง” คืออะไร (ตอน 1) …ไม่ใช่แค่ไทย อินเดียก็มี!

เคยไหมที่สงสัยว่าทำไมหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ยอมมาฉายในจังหวัดของเราเสียที แล้วพอถามไปที่เจ้าของหนังบ้าง โรงหนังบ้าง คำตอบหนึ่งซึ่งอาจได้ยินบ่อยๆ และสร้างความฉงนมากๆ โดยเฉพาะถ้าเราไม่คุ้นเคยกับอุตสาหกรรมนี้ ก็คือ “สายหนังไม่อยากเอามาฉาย”

ใครหรือคือ “สายหนัง” ที่ว่านั้น?

นิยามสั้น ๆ ก็คงหมายถึง รูปแบบการจัดจำหน่ายหนังประเภทหนึ่งที่ “ผู้จัดจำหน่ายในแต่ละภูมิภาค” มีบทบาทสำคัญในการพาหนังจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายส่วนกลาง ไปสู่ผู้ชมในพื้นที่ที่ตนเองดูแล แต่ก่อนจะไปพูดกันถึงสายหนังของเมืองไทย เรามารู้จักที่มาของ “ระบบสายหนัง” กันก่อนครับ

“สายหนัง” เกิดขึ้นอย่างไร

สายหนังน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก หลังจากหนังเริ่มกลายเป็นธุรกิจสำคัญในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกาซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล โดยก่อนปี 1915 อเมริกามีรูปแบบการจัดจำหน่ายหนังในประเทศ 2 แบบ คือ

1. แบบตระเวนฉาย (Road Show) ผู้สร้างหนังจะติดต่อทำสัญญาโดยตรงกับโรงหนังชั้นนำ แล้วก็ตระเวนนำหนังไปฉายตามโรงที่ตกลงไว้ รายได้คิดจากยอดขายตั๋ว ข้อเสียของวิธีนี้คือยากที่จะนำหนังไปฉายได้ทั่วถึงทุกพื้นที่

2. นั่นจึงนำมาสู่การจัดจำหน่ายอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า สิทธิตามรัฐ (State Rights) ซึ่งเจ้าของหนังจะขายหนังให้พ่อค้าคนกลางตามรัฐต่าง ๆ แล้ว พ่อค้าคนกลางก็นำหนังไปตระเวนฉายในพื้นที่ของตน รายได้ยึดหลัก “ฟุตต่อฟุต” คือ ฟิล์มหนังยาวหนึ่งฟุตมีราคา 10 เซ็นต์ หนังยาวเท่าไหร่คูณเข้าไป เจ้าของหนังก็ได้เงินเท่านั้นจากพ่อค้าคนกลาง ข้อเสียของระบบนี้คือเป็นการขายขาด ไม่ว่าพ่อค้าจะนำหนังไปฉายแล้วได้กำไรเท่าไหร่ เจ้าของหนังก็ไม่มีเอี่ยวอีก ขณะเดียวกันตัวพ่อค้าคนกลางก็ต้องแบกรับความเสี่ยง ขึ้นอยู่ที่ว่าหนังที่ตนลงทุนซื้อมาจะได้รับความนิยมแค่ไหน

เมื่อระบบอุตสาหกรรมหนังมีการจัดการลงตัวขึ้น บริษัทสร้างหนังหลายแห่งเริ่มมีแผนกจัดจำหน่ายซึ่งคอยติดต่อกับโรงเอง ระบบสายหนังทั้งสองแบบข้างต้นก็เสื่อมความนิยมในอเมริกา แต่มันก็ยังมีความจำเป็นในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์กว้างใหญ่ การสัญจรไม่สะดวก

ปัจจุบัน สองประเทศที่ยังมีรูปแบบการจัดจำหน่ายแบบนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย และไทย

เมื่อระบบอุตสาหกรรมหนังมีการจัดการลงตัวขึ้น บริษัทสร้างหนังหลายแห่งเริ่มมีแผนกจัดจำหน่ายซึ่งคอยติดต่อกับโรงเอง ระบบสายหนังทั้งสองแบบข้างต้นก็เสื่อมความนิยมในอเมริกา แต่มันก็ยังมีความจำเป็นในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์กว้างใหญ่ การสัญจรไม่สะดวก ปัจจุบัน สองประเทศที่ยังมีรูปแบบการจัดจำหน่ายแบบนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย และไทย

รู้จัก “สายหนัง” ในอินเดีย

ประเทศอินเดียเริ่มแบ่งภูมิภาคในการจัดจำหน่ายหนังตั้งแต่ปี 1931 หลังจากหนังเสียงเริ่มได้รับความนิยม และธุรกิจเริ่มเติบโต โดยเหตุผลของการแบ่งก็คือ อินเดียมีสภาพภูมิประเทศกว้างใหญ่ ดังนั้นเพื่อให้การจัดจำหน่ายหนังสะดวกคล่องตัว กลุ่มผู้จัดจำหน่ายหลักจึงทำการแบ่งพื้นที่ในการจัดจำหน่ายออกเป็น 6 เขต และต่อมาขยายเป็น 11 เขตครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ประกอบด้วย

1.สายบอมเบย์ (Bombay Circuit) : ครอบคลุมพื้นที่เมืองเขตดาดราและนครฮเวลี รัฐคุชราช รัฐกัว รัฐมหาราษฏระ และรัฐกรณาฏกะ (ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบอมเบย์ และอาณานิคมโปรตุเกส)

2. สายเดลลี( Delhi Circuit) : ครอบคลุมพื้นที่กรุงเดลลี รัฐอุตตราขัณฑ์ และ รัฐอุตตรประเทศ

3.สายนิซาม (Nizam Cicuit) : ครอบคลุมพื้นที่รัฐเตลังคานา และบางส่วนของรัฐมหาราษฏระ และรัฐกร ณาฏกะ

4. สายปันจาบตะวันออก (East Punjab circuit) : ครอบคลุมพื้นที่ของรัฐปันจาบ จัณฑีครห์ รัฐหรยาณา รัฐหิมาจัลประเทศ และรัฐชัมมูและกัศมีร์

5. สายตะวันออก (Eastern circuit) : ครอบคลุมพื้นที่ แคว้นเบงกอลตะวันตก รัฐอรุณาจัลประเทศ รัฐพิหาร รัฐฌารขัณฑ์ แคว้นโอริสสา แคว้นอัสสัมและรัฐตอนเหนือ เกาะนิโคบาร์ ภูฐานและประเทศเนปาล

6. สายซีพี พราร (C.P. Berar circuit) : ครอบคลุมรัฐมหาราษฏระ รัฐมัธยประเทศ (ด้านทิศใต้กับตะวันตก) รัฐฉัตตีสครห์ (ประกอบด้วยพื้นที่ที่เคยเป็นของจังหวัดทางตอนกลาง และเขตพราร)

7. สายอินเดียตอนกลาง (Central India circuit) : ประกอบด้วยบางส่วนของแคว้นมัธยประเทศ

8. สายราชาสถาน (Rajashtan circuit) : ครอบคลุมแคว้นราชาสถานทั้งหมด

9. สายมายซอร์ (Mysore circuit) : ครอบคลุมเมืองบังกาลอร์ และบางส่วนของรัฐกรณาฏกะ

10. สายทมิฬนาฑู (Tamilnadu circuit) : ครอบคลุมรัฐทมิฬนาดูและเกรละ

11. สายอันธร( Andhra circuit) : ครอบคลุมรัฐอันธรประเทศ

จุดเด่นของธุรกิจหนังในอินเดีย

คือ บทบาทของผู้สร้างและผู้จัดจำหน่ายจะแยกกันอย่างชัดเจน (ยกเว้นบริษัทใหญ่จริง ๆ ที่จะทำหน้าที่ควบทั้งผลิตและจัดจำหน่าย) ดังนั้นเมื่อ ผู้สร้างทำหนังเสร็จก็จะมาเสนอแก่ผู้จัดจำหน่าย หรือในทางกลับกันถ้าหนังที่สร้างมีแววดี เช่น มีดาราดัง หรือเนื้อหาขายได้ง่าย ผู้จัดจำหน่ายก็จะเข้าหาผู้สร้าง ส่วนใหญ่ผู้สร้างมักลงเอยด้วยการขายสิทธิ์ให้แก่ผู้จัดจำหน่าย โดยขายขาด หรือไม่ก็ขายแบบมีเงื่อนไขแบ่งผลประโยชน์หลังหนังฉาย

ทีนี้ เมื่อผู้จัดจำหน่ายถือหนังไว้กับตัวแล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อก็คือ จะหาทางจัดจำหน่ายหนังในพื้นที่ 11 สายอย่างไร

ทางเลือกแรกคือ ติดต่อโรงหนังที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศที่ใหญ่อย่างอินเดีย แถมค่าใช้จ่ายยังเพิ่มขึ้นตามจำนวนพื้นที่ที่จะจัดจำหน่าย โดยเฉพาะค่าโฆษณาและประชาสัมพันธ์ที่ผู้จัดจำหน่ายต้องออกเอง ส่วนทางเลือกที่สองคือ ขายสิทธิ์ต่อให้ผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่นแต่ละสาย วิธีนี้นอกจากผู้สร้างจะได้เงินก้อนแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายเพราะงบโฆษณาจะตกเป็นภาระของผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่นไปแทน

สำหรับเงื่อนไขราคา ราคาที่ขายให้แก่ผู้จัดจำหน่ายสายบอมเบย์และสายเดลี จะสูงกว่าสายอื่น เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้พูดภาษาฮินดีเป็นหลัก ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในหนังกระแสหลักของอินเดีย

จากที่กล่าวมา ผู้อ่านคงได้เห็นบทบาทความสำคัญของสายหนังในอินเดียไม่มากก็น้อย สำหรับตอนต่อไป เราจะมาทำความรู้จักกับ “สายหนังไทย” บ้างว่ามีลักษณะอย่างไร เหมือนและแตกต่างจากระบบสายของอินเดียอย่างไร โปรดติดตามนะครับ

คริสโตเฟอร์ โนแลน + ฮานส์ ซิมเมอร์ …อะไรทำให้พวกเขากลายเป็นผู้กำกับ + คอมโพสเซอร์คู่บุญ

นับจากผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน มาร่วมงานกับคอมโพสเซอร์ ฮานส์ ซิมเมอร์ ใน Batman Begins หลังจากนั้นหนังทุกเรื่องของโนแลนก็มีซิมเมอร์เป็นคนทำดนตรีประกอบเสมอมา จนแทบจะกล่าวได้ว่า สกอร์ของซิมเมอร์คือลายเซ็นของโนแลน…เอ๊ะ หรือโนแลนคือตัวตนที่แท้ของซิมเมอร์กันแน่?

1. “ผมว่าสิ่งที่คนทำสกอร์จำเป็นต้องมีคือการฟังที่ดี ในที่นี้ไม่ใช่แค่การฟังดนตรี เราต้องฟังเข้าไปถึงสิ่งที่อยู่ในนั้น เรื่องราวที่ห่อหุ้มมันไว้ และรวมไปถึงการรับฟังกัน ซึ่งผมกับโนแลนรับฟังกันเสมอ แน่นอนว่าเราคุยกันถึงหนังที่เป็นสื่อกลางระหว่างเรา แต่สำหรับผมกับเขามันเหมือนทำวงดนตรีร่วมกัน”

2. “เรามักเห็นผู้กำกับและคนทำสกอร์ยืนมองวงออเคสต้าบรรเลงจากด้านบน แต่ผมกับโนแลนเรานั่งอยู่ระนาบเดียวกับนักดนตรี อย่างตอนที่เรากำลังจะบันทึกเสียงสกอร์ Interstella เราเปิดห้องกินข้าวกับนักดนตรีเพื่อเล่าว่าเรากำลังจะทำอะไร สิ่งนี้มันสำคัญตรงที่นักดนตรีจะรู้ว่าแต่ละโน้ตที่พวกเขาจะเล่น มันมีความหมายว่าอย่างไร”

3. “เราใช้เวลาเก้าปีของชีวิตเพื่อทำไตรภาค Batman ร่วมกัน ทุกคนอาจไม่รู้ว่าเก้าปีนั้นเป็นช่วงชีวิตที่สาหัสพอตัว ผมเห็นลูกชายเติบโตในช่วงเวลานั้น มันทำให้ผมกับคริสเข้าใจกันมากขึ้นในทุกมิติ”

สิ่งที่คนทำสกอร์จำเป็นต้องมีคือการฟังที่ดี ในที่นี้ไม่ใช่แค่การฟังดนตรี เราต้องฟังเข้าไปถึงสิ่งที่อยู่ในนั้น เรื่องราวที่ห่อหุ้มมันไว้ และรวมไปถึงการรับฟังกัน ซึ่งผมกับโนแลนรับฟังกันเสมอ

4. ซิมเมอร์เป็นชาวเยอรมันที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษคล่องปรื๋อนัก จริงอยู่ที่เขาก็ได้ร่วมงานกับผู้กำกับมาหลากหลาย แต่ซิมเมอร์บอกว่า ไม่มีใครทำให้เขารู้สึกสบายใจในการสื่อสารได้เท่าโนแลนอีกแล้ว “การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษคือจุดอ่อนของผม มันทำให้ผมเปราะบางทุกครั้ง โนแลนรู้ดี เขาจึงเป็นเหมือนเกราะป้องกันการแตกสลายให้กับผมเสมอ”

5. แม้จะเป็นคู่บุญกับโนแลนแค่ไหน แต่ล่าสุดเมื่อถึงเวลาต้องเลือก ซิมเมอร์เลือกทำสกอร์ให้ Dune ของ เดอนีส์ วิลล์เนิฟ แทนที่จะทำ Tenet ให้โนแลน โดยซิมเมอร์ให้เหตุผลว่า “Dune เป็นหนังสือที่ผมรักมากเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น วิลล์เนิฟเองก็เป็นผู้กำกับอีกคนที่ผมชื่นชม แต่ที่สำคัญคือมันตัดต่อโดย โจ วอล์คเกอร์ ซึ่งเคยร่วมงานกับผมใน 12 Years a Slave และ Widows ด้วยกัน เราทั้งคู่เริ่มทำงานด้วยกันที่ BBC เมื่อปี 1988 มันคือความรู้สึกเป็นครอบครัวเดียวกัน และผมเองก็ไม่เคยดู Dune เวอร์ชั่นก่อนหน้า มันเลยคือความสดใหม่สำหรับผมที่มีแต่ความเชื่อมโยงกับมันจากหนังสืออย่างเดียว…ซึ่งโนแลนเข้าใจ”

Laurence Anyways …สไตล์จัดแค่ไหนก็ไม่ไกลเกินเรื่อง

Laurence Anyways เป็นงานกำกับเรื่องที่ 3 ของเด็กไฟแรง ซาเวียร์ โดลอง ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ชวนกระอักกระอ่วนของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ซึ่งก็ไปกันด้วยดีจนกระทั่งฝ่ายชายมาสารภาพว่าอยากแปลงเพศ หนังเล่าเรื่องในห้วงเวลาสิบปี นับจากกลางยุค 80 ถึง 90 และเพราะงี้เองเลยทำให้หนังมาพร้อมสไตล์สุดจัดจ้าน ตั้งแต่แฟชั่นร่วมยุคกับจริตเก๋ๆ แบบโดลอง

1. จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นระหว่างนั่งรถกลับจากกองถ่าย I Killed My Mother กับผู้ช่วยฝ่ายเสื้อผ้า แล้วเธอเล่าให้ฟังว่าแฟนหนุ่มของเธอมาสารภาพว่าจะแต่งหญิง จากนั้นไอเดียของโดลองก็เตลิดไปไกล กลับมาเขียนโน่นนี่ไปเรื่อยจนได้ 30 หน้า เขาก็นึกขึ้นได้ว่า “เวรกรรม งี้ชั้นจะกลับไปทำ I Killed My Mother ต่อได้ไง” โดลองเลยเขียนแค่ฉากเปิดกับฉากปิดแล้วทิ้งมันไว้เพื่อกลับไปทำหนังที่ต้องทำต่อ

2. โดลองเขียน Laurence Anyways ด้วยแพชชั่นของคนที่โคตรโรแมนติก -เขานิยามตัวเองแบบนั้น- ในโหมดซูเปอร์แฟนหนัง Titanic คนที่เกิดร่วมรุ่นกับเขาคงนึกออกว่าหนังเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อยุคสมัยยังไง โดลองบอกว่า ผกก. เจมส์ คาเมรอน กำลังคุยกับคนทั้งโลกว่าหนังสามารถทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ แต่สุดท้ายศูนย์กลางของมันก็คือชีวิตคน “หนังเรื่องนี้ติดปีกให้ผมโบยบิน สิ่งที่ผมเรียนรู้จากมันคือ หนังเป็นสื่อที่นำเสนอชีวิต แต่ขณะที่เรามีชีวิตเพื่อใช้ชีวิต หนังก็มีเพื่อหลบหนีบางอย่างด้วยในที”

3. Titanic ยังทำให้โดลองเชื่อในความรักที่เป็นไปไม่ได้ด้วย อย่าง I Killed My Mother หนังเรื่องแรกของเขาว่าด้วยความรักระหว่างแม่กับลูกชาย, Heartbeats พูดถึงรักสามเส้า และ Laurence Anyways คือรักที่ถูกกำแพงเพศสภาพกั้นกลาง

“หนังเรื่องนี้ติดปีกให้ผมโบยบิน สิ่งที่ผมเรียนรู้จากมันคือ หนังเป็นสื่อที่นำเสนอชีวิต แต่ขณะที่เรามีชีวิตเพื่อใช้ชีวิต หนังก็มีเพื่อหลบหนีบางอย่างด้วยในที”

4. บางคนคิดว่าสาเหตุที่โดลองกำหนดช่วงเวลาของหนังให้เกิดในยุค 80-90 เพราะเขาอยากจะใส่แฟชั่นจัดจ้านและโชว์โปรดักชั่นย้อนยุค เขาบอกว่าจะบ้าเหรอ แฟชั่นยุคนั้นหายนะจะตาย แต่ที่หยิบช่วงเวลานั้นมาเล่าเพราะบริบททางสังคมยุคนั้นมันทำให้ความรักของลอว์เรนซ์ (พระเอก) กับเฟร็ด (นางเอก) ยิ่งเป็นไปไม่ได้ต่างหาก “ผมเกิดปี 1989 และโตในยุค 90 แต่ผมไม่ได้อยากให้ตัวละครใส่เสื้อผ้าน่าเกลียดๆ ไหล่พองฟูสยดสยองนั่นหรอกนะ แต่บริบททางสังคมและการเมืองในช่วงนั้นมันเหมาะที่จะเล่าเรื่องนี้ มันเป็นช่วงที่สังคมกำลังพัฒนา มอมเมาผู้คนด้วยความหวังที่จะมีชีวิตที่ดี เกิดการทลายกำแพงเบอร์ลินควบคู่ไปกับความระแวดระวังเรื่องโรคเอดส์ที่ทำให้สังคมมีอคติต่อกะเทย สำหรับลอว์เรนซ์มันคือช่วงที่เหมาะสำหรับการเปลี่ยนแปลงของเขา ส่วนผมมันคือความทรงจำที่ผมเติบโตมากับมัน”

5. โดลองยอมรับว่าเขามีความเลื่อนไหลทางเพศ แต่เขาไม่เคยระบุว่าตนเองเป็นเกย์หรือเป็นเพศไหนทั้งสิ้น เช่นกันกับการเล่าเรื่อง ทรานส์เจนเดอร์ใน Laurence Anyways ที่สุดท้ายแล้วมันก็คือหนังรัก “สำหรับผม เพศที่เปลี่ยนแปลงคือการเปรียบเปรยที่ดีที่สุดของความรักระหว่างคนสองคนกับสังคมที่แปลกแยกของพวกเขา”


ดู Laurence Anyways ได้ที่ Mubi

The Mudguard and A Lonely Monkey

ในบทความ กำเนิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่าน “จินตกรรมรัฐสยามทางศิลปะ” โดย ชาตรี ประกิตนนทการ เสนอให้เห็นถึงกระบวนการสร้างรัฐ (state formation) ผ่านโครงการระยะยาวของชนชั้นนำสยามในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 25 ที่พยายามสำรวจและรวบรวมข้อมูลศิลปวัตถุ รวมถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์ตามหัวเมืองต่างๆ ทำให้เกิดเครื่องมือของรัฐที่เป็นองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี

ชาตรีเรียกกระบวนการดังกล่าวว่าจินตกรรมรัฐสยามทางศิลปะ ซึ่งกลุ่มสยามหนุ่มที่นำโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพยายามเปลี่ยนแปลงรัฐ (state transformation) จากรัฐจารีตมาสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในยุคสมัยของพระองค์มีการเปลี่ยนผ่านโลกทัศน์ที่มีต่อศิลปวัตถุ หรือวัฒนธรรมกรมอง (visual culture) จากวัตถุศักดิ์สิทธิ์ หรือความจริงเหนือโลก มาเป็นการมองแบบวิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่บน เหตุผลนิยม สัจนิยม หรือมนุษยนิยม ซึ่งชนชั้นนำสยามมองว่าศิลปวัตถุ (และวัตถุศักดิ์สิทธิ์) เหล่านี้กลายมาเป็น “ทุน” ในการสร้างจักรวาลจำลอง ไม่ต่างจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พยายามรวบรวมศิลปะของอาณาจักรโรมันในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการก่อตั้งสมาคมทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับแวดวงประวัติศาสตร์ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะ ถึง 2 สมาคม รวมถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ยังเสนอเค้าโครงหลักการจัดแบ่งยุคสมัยของ “ศิลปะในประเทศไทย” ในพระนิพนธ์เรื่องตำนานพุทธเจดีย์สยาม (พ.ศ. 2469) ซึ่งพระองค์ได้ร่วมมือกับศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการอ่านจารึกอุษาคเนย์ ชาวฝรั่งเศส ในการปรับปรุงการจัดแสดง ทำให้พิพิธภัณฑสถาน ไว้รวบรวมสงวนรักษาโบราณศิลปวัตถุ

งานเขียนประวัติศาสตร์สกุลดำรง-เซเดส์ นี่เองที่มีส่วนสำคัญในการสถาปนาภาพฝันแบบสุขนาฏกรรมของชนชั้นนำสยามที่ว่าอาณาจักรลพบุรีสามารถสืบเนื่องร้อยเรียงไปถึงอาณาจักรอยุธยา และนำไปผูกโยงกับรัฐไทยได้อย่างสมบูรณ์ หรือกล่าวอีกแบบประวัติศาสตร์สกุลดำรง-เซเดส์พยายามทำเขมรให้เป็นลพบุรี (siamization) ด้วยการอ้างว่าเมืองละโว้ หรือลพบุรีเป็นเมืองสำคัญในขณะนั้น แต่แท้จริงแล้ว ศิลปวัตถุแบบ “ลพบุรี” กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ทั้งแถบตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐไทย

นอกจากนี้ยังพบว่าศิลปวัตถุแบบ “ลพบุรี” ที่พบแถบที่ราบสูงโคราช หรือีสานใต้ มีอายุเก่าแก่กว่าที่พบในลพบุรีเสียอีก เอาเข้าใจ ณ ขณะที่กรมพระยาดำรงฯ และยอร์ช เซเดส์เริ่มร่างเค้าโครงประวัติศาสตร์ศิลปะก็ยังไม่ได้มาสำรวจบปราสาทขอมในดินแดนภาคอีสานเสียด้วยซ้ำ

ศิลปะแบบลพบุรีจึงถูกทำให้มีเส้นกั้น (boundary) กับศิลปะเขมร และถือว่าศิลปะลพบุรีเป็นของ “ลอกเลียนแบบ” มาจากศิลปะเขมรที่มีศูนย์กลางในพื้นที่รัฐกัมพูชา หรือเป็นศิลปะผสมระหว่างขอมกับทวารวดี ถึงแม้ว่าพิริยะ ไกรฤกษ์ จะเสนอให้เปลี่ยนชื่อเรียก “ศิลปะลพบุรี” มาเป็น “ศิลปะเขมร” ตามเชื้อชาติ

The Mudguard and a Lonely Monkey สารคดีบันทึกการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อทำภาพยนตร์ขนาดยาว เรื่อง From the Muddy Banks of Chee River ของ วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ แต่ด้วยความไม่สำเร็จในการระดมทุนทำภาพยนตร์ขนาดยาวเขาจึงได้ทำสารคดีบันทึกเบื้องหลัง หนังเริ่มด้วยภาพขาวดำมุมจากด้านในของรถ วิชชานนท์เดินเข้ามาล้างกระจกรถ รถคันนี้เองที่เขาและเพื่อนใช้ในการขับตระเวนไปทั่วจังหวัดขอนแก่นเพื่อสำรวจประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าขนาดเล็กหลังจากกลับมาอยู่ที่ภูมิลำเนา

หลังจากนั้นเขาและเพื่อนไปชมโบราณสถานศิลปะ “ลพบุรี” ได้แก่ กู่แก้วที่ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น และกู่ประภาชัยที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2478 ความน่าสนใจคือมีความวัดกู่ประภาชัยมาสร้างข้างปราสาทขอม มีชาวบ้านเอาพระพุทธรูปไปตั้งไว้ในโบราณสถานเพื่อสัการะ รวมถึงบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกนำน้ำไปประกอบพระราชพิธีในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรถึง 3 ครั้ง และครั้งล่าสุดพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 10 (วิชชานนท์ถ่ายภาพไว้ในช่วงนั้น)

ฉากที่เพื่อนของวิชชานนท์ขึ้นไปยืนบนเนินดินประหนึ่งการกระกาศอำนาจของคนสามัญเหนือซากปรักหักพังของวัฒนธรรมเขมรจึงเป็นฉากที่น่าสนใจ รวมถึงป้ายจากกรมศิลปากรที่บอกว่าถ้าหากจะถ่ายภาพเคลื่อนไหวและถ่ายภาพงานแต่งงานที่โบราณสถานต้องขออนุญาตก่อน จึงชวนให้ตั้งคำถามว่าซากปรักหักพังเหล่านั้นเป็นของใครกันแน่ ผู้ใดเป็นเจ้าของ รัฐไทย รัฐกัมพูชา หรือชาวบ้านในพื้นที่

อย่างไรก็ดี มุรธาภิเษก เป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลักฐานการบรมราชาภิเษกปรากฏในไทย หลักฐานที่เห็นชัดสุดจากศิลาจารึกปากน้ำมูล ซึ่งเป็นของพระเจ้ามเหนทรวรมันกษัตริย์แห่งอาณาจักรเจือนเลอ (เจนละ) สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 12 ซึ่งเมืองสุโขทัยก็รับเอาคติของเขมรเข้ามาใช้โดยเฉพาะสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ รวมไปถึงเมืองอื่นๆ ได้แก่ เพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี และอยุธยา ต่างก็ได้รับอิทธิพลเขมรมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16-17 แล้ว (ผู้นำตระกูลจากสี่เมืองนี้ก็แก่งแย่งกันเป็นใหญ่ สุดท้ายอยุธยามีอำนาจเหนือเมืองต่างๆ คนจีนเรียกแถบนี้ว่า “เสียน” ชาวโปรตุเกสเพี้ยนไปเป็นสยาม)

ฉากที่เพื่อนของวิชชานนท์ขึ้นไปยืนบนเนินดินประหนึ่งการกระกาศอำนาจของคนสามัญเหนือซากปรักหักพังของวัฒนธรรมเขมรจึงเป็นฉากที่น่าสนใจ รวมถึงป้ายจากกรมศิลปากรที่บอกว่าถ้าหากจะถ่ายภาพเคลื่อนไหวและถ่ายภาพงานแต่งงานที่โบราณสถานต้องขออนุญาตก่อน จึงชวนให้ตั้งคำถามว่าซากปรักหักพังเหล่านั้นเป็นของใครกันแน่ ผู้ใดเป็นเจ้าของ รัฐไทย รัฐกัมพูชา หรือชาวบ้านในพื้นที่ หลังจากนั้นวิชชานนท์และเพื่อนก็ไปดูพิพิธภัณฑ์ที่รัฐไทยเก็บศิลปวัตถุขอมเอาไว้ในครอบครอง ประกาศว่าพวกเขามีกรรมสิทธิ์ในวัตถุที่เป็นทุนของเขาในการสร้างองค์ความรู้ในตำราประวัติศาสตร์ทางการซึ่งผนวกเอาเขมรเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย

ต่อมาวิชชานนท์และเพื่อนไปร่วมงาน To The Root “หยั่งถึงราก” โดย Chris Beale ช่างภาพชาวอเมริกันผู้เดินทางทั่วภาคอีสาน เพื่อเก็บภาพผ่านเสียงดนตรีหมอลำพื้นบ้าน งานภาพถ่ายที่ถูกนำมาแสดงและกระบวนการสร้างงานคล้ายกับการศึกษาชาติพันธุ์วรรณา (Lean Ethnography) ของนักมนุษยวิทยาชาวอเมริกันที่เข้ามาศึกษาในอีสานช่วงสงครามเย็น Beale ผู้มีภรรยาเป็นหญิงสาวอีสาน เขามีความต้องการศึกษาที่มาของดนตรีหมอลำที่เขาหลงรัก

Beale ทำให้เกิดภาพเช่นเดียวกับ Terry Miller นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอินเดียนาที่มาทำวิทยานิพนธ์ระหว่างปี 2515 – 2516 เขาเขียนหนังสือ Traditional Music of the Lao ซึ่งเสนอว่าหมอลำมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เกิดจากความเชื่อวิญญาณนิยม พุทธศาสนา การอ่านหนังสือผูก (วรรณกรรมพื้นบ้านที่จารึกลงใบลาน) พิธีกรรมเพื่อบำบัดโรคภัยและขอความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร และการร้องเพลงเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว

หมอลำได้เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ทางการเมืองนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18-19 เมื่อสยามขยายอำนาจเข้ามาในดินแดนลาว แม้สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงโปรดแคนเป็นพิเศษ แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสั่งห้ามแสดงหมอลำในที่สาธารณะเนื่องจากเป็นภัยต่อวัฒนธรรมไทยและทรงเชื่อว่าทำให้เกิดภัยแล้ง ต่อมาในปี ค.ศ. 1950-1960 หมอลำได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อให้ชาวอีสานต่อต้านคอมมิวนิสต์

มาถึงปัจจุบันหมอลำได้ผสมผสานเข้ากับดนตรีตะวันตก ทำให้หมอลำพื้นบ้านอย่างการแสดงของหมอลำแบงค์และหมอแคนบัวตอง (ที่วิชชานนท์ได้ถ่ายภาพไว้) ก็ยังเป็นของแปลกสำหรับคนไทยต่างภูมิภาคและชาวต่างชาติ แต่ที่สำคัญคือ หมอลำพื้นบ้านแทบไม่มีที่ทางสำหรับงานพิธีไทยบ้านอีกต่อไป หมอลำพื้นบ้านได้ถูกเอามาไว้จัดแสดงในพื้นที่แสดงและเสพศิลปะของชนชั้นกลาง ฉากที่น่าสนใจคือวิชชานนท์ถ่ายภาพจากมุมสูงของแกลลอรี่ลงมาจับภาพชีวิตชนชั้นล่างที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับหมอลำพื้นบ้านในฐานะความเชื่อวิญญาณนิยมในสังคมเกษตรกรรมแบบเดิมอีกต่อไป แต่หมอลำในปัจจุบันที่ผสานกับดนตรีตะวันตกกลับมีเนื้อหาให้กำลังใจชนชั้นล่างในสังคมทุนนิยม

หมอลำพื้นบ้านแทบไม่มีที่ทางสำหรับงานพิธีไทยบ้านอีกต่อไป หมอลำพื้นบ้านได้ถูกเอามาไว้จัดแสดงในพื้นที่แสดงและเสพศิลปะของชนชั้นกลาง ฉากที่น่าสนใจคือวิชชานนท์ถ่ายภาพจากมุมสูงของแกลลอรี่ลงมาจับภาพชีวิตชนชั้นล่างที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับหมอลำพื้นบ้านในฐานะความเชื่อวิญญาณนิยมในสังคมเกษตรกรรมแบบเดิมอีกต่อไป แต่หมอลำในปัจจุบันที่ผสานกับดนตรีตะวันตกกลับมีเนื้อหาให้กำลังใจชนชั้นล่างในสังคมทุนนิยม

ต่อมาวิชชานนท์ได้ถ่ายภาพกิจกรรมเก็บมะม่วงและขนุน มดที่ไต่เป็นแถวบนต้นไม้ คนไล่ฝูงควายในทุ่งนาแล้งหน้าร้อน และฝูงลูกปลาในน้ำแห้งขอด ประหนึ่งว่าเขาบันทึกซากสังคมอีสานแบบดั้งเดิมที่ยังคงเหลืออยู่ เขาเน้นย้ำถึงแม่น้ำชีที่หล่อเลี้ยงชุมชนของเขาราวกับว่าภาพที่เราเห็นเป็นดอกผลของพระแม่คงคา สังคมอีกสานก่อนที่สยาม จีน (เขาถ่ายโอ่งจีนที่ถูกทิ้งไว้) ชาติตะวันตก (เขาถ่ายบึงสีฐานที่มีต้นหญ้าขึ้นสูงตัดภาพกับตึกรามบ้านช่องที่สร้างมากมายหลังจากถนนมิตรภาพตัดข้ามาที่ขอนแก่นสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) และอินเดียเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่

หลังจากนั้นวิชชานนท์และเกียรติพงษ์ ลงเย (ผู้กำกับ ข้าวแลง, 2017) พาเราไปพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2513 ในช่วงสงครามเย็น หน่วยสำรวจธรณีวิทยาจากสหรัฐอเมริกา ได้เข้าไปสำรวจแหล่งแร่ในพื้นที่เทือกเขาภูเวียง และบังเอิญพบเจอได้ค้นพบซากกระดูกขาหลังท่อนบนด้านซ้ายของไดโนเสาร์ซอริสเชีย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2525 ค้นพบวกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอด ยุคครีเตเชียสตอนต้น และถูกตั้งชื่อ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ นี่จึงเป็นอีกครั้งที่รัฐไทยได้สร้างองค์ความรู้ทับลงไปบนประวัติศาสตร์ของสิ่งอื่นไม่ต่างจากปราสาทขอม

ความน่าสนใจคือภาพจากกล้องวิชชานนท์ใช้สีขาวดำ (เช่นเดียวกับในฉากที่พิพิธภัณฑ์ขอม) ในขณะที่ภาพจากกล้องเกียรติพงษ์เป็นภาพสี จนกระทั่งวิชชานนท์กลับมุมกล้อง (upside down) ภาพจึงออกมาเป็นสี รวมถึงฉากที่ถ่ายใน “สวนไดโนเสาร์” เขาใช้ดนตรีประกอบอีสานไซเคเดลิกร็อกซึ่งสร้างความน่าพรั่นพรึงขณะจับภาพไดโนเสาร์ราวกับว่ามันกำลังมีชีวิตเช่นเดียวกับ Song of the City ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ถัดมาเป็นช่วงโฆษณาน้ำยาล้างบ้องกัญชาที่วิชชานนท์ทำให้เพื่อน เขาสูดกัญชาไปหนึ่งบ้องก่อนจะสร้างงานศิลปะสําแดงพลังอารมณนามธรรม (Abstract Expressionism) ที่ใช้เทคนิคการหยดสีลงบนกระดาษซึ่งศิลปะกลุ่มนี้จะละเลยต่อการควบคุมของจิตสำนึก และวาดโดยภวังค์อัตโนมัติ ความน่าสนใจคือจุดที่เป็นสีเขียวในที่มืด แต่เมื่อสว่างจุดเหล่านั้นกลายเป็นสีเหลืองส้ม รวมถึงภาพศิลปะได้กลายเป็นฉากให้กับหนังบันทึกการแสดงดนตรีอีสานไซเคเดลิกร็อกอีกที และภาพบันทึกการสร้างงานศิลปะก็ถูกฉายบนโทรทัศน์ที่ถูกบันทึกภาพไว้และถูกฉายบนจอของผู้ชม นี่จึงสะท้อนถึงการซ้อนทับของเรื่องเล่าหลายชั้นที่กดทับลงบนคนอีสานที่กำลังเล่นดนตรีอีสานร่วมสมัย ด้วยสีเขียว (ซึ่งอาจหมายถึงกองทัพ)

ในตอนสุดท้ายวิชชานนท์นั่งรถไปกับพี่ของเขาซึ่งเล่าถึง “เกิดมาลุย” ภาพยนตร์ของพันนา ฤทธิไกร ว่าได้มาใช้พื้นที่ในอำเภอเมืองขอนแก่นเป็นฉากหลัง ตัวภาพยนตร์เล่าถึงอีสานในช่วงพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ที่พยายามแก้ไขปัญหายาเสพติดและคอมมิวนิสต์ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบซึ่งใช้ระบบราชการมาครอบทับสังคมด้วยการจัดการเชิงนโยบาย และไม่อาจแก้ปัญหาเศรษฐกิจรวมถึงสร้างความชอบธรรมทางการเมืองได้ ระบอบนี้ไม่ได้ประนีประนอมอำนาจราชการกับเอกชนหรือนักการเมือง แต่เป็นการใช้อำนาจของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ในการสร้างอำนาจครอบงำผ่านแนวคิดราชาชาตินิยม ถึงแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (กชช.) เข้ามาจัดการปัญหาความยากจนในอีสาน (ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้คนอีสานสนับสนุนคอมมิวนิสต์) แต่ก็ขาดความสมดุลไม่สามารถลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนได้

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ได้ทำให้พลเอกเปรมสร้างฐานสนับสนุนภายในกลไกราชการ สมดุลอำนาจระหว่าง ทหาร เทคโนแครต นักการเมือง และนักธุรกิจ จัดสรรอำนาจภายในกองทัพ และมีการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างระบบเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกซึ่งเป็นการประสานงานระหว่างรัฐและเอกชนและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากให้ค่านิยมสังคมไทยไม่เชื่อถือในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

การตกลง Plaza Accord ในปี พ.ศ. 2528 ได้ทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้น มีการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศมาที่ไทย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ นี่ทำให้สถานการทางเศรษฐกิจในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ขยายตัวอย่างมาก ด้วยความร่วมมือของรัฐบาลพลเอกเปรมกับจีน ประกอบกับความขัดแย้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ระหว่างผู้นำพรรคและนักศึกษา พรรคคอมมิวนิสต์จีนเลิกให้การสนับสนุน พคท. นักศึกษาเริ่มออกจากป่าก่อนการออกคำสั่ง 66/2523 นี่จึงนำไปสู่การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย และดึงผู้ที่เคยสนับสนุนสังคมนิยมเข้าสู่ระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์อย่างสมบูรณ์

วิชชานนท์พาเราไปชมนิทรรศการ LOOK ISAN NOW : ลูกอีสานวันนี้ ซึ่งจัดที่ห้องแกลเลอรี ชั้น 1 TCDC ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม–26 กรกฎาคม 2563 เขาบันทึกภาพในช่วงที่ผู้คนเริ่มใส่หน้ากากอนามัยจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ก่อนที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะพังทลายในไม่กี่สัปดาห์ คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นชนชั้นแรงงาน พร้อมๆ กันกับภาพอนาคตของอีสานที่ TCDC ได้ฉายให้เห็นในนิทรรศการผ่านโครงการมากมายเช่น โครงการรถไฟทางคู่ ที่เชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และที่ขำไม่ออกคือเชื่อมไปที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน แหล่งระบาดของเชื้อไวรัส

เขาจับจ้องนิทรรศการที่นำเสนอภาพรถไฟอัจฉริยะจำลองที่กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ขอนแก่น ป้ายนิทรรศการที่มีข้อความราวกับเป็นโฆษณาชวนเชื่อ ได้แก่ “ทุกที่มีโอกาส” “โอกาสในการกระจายสินค้า” “เทศกาลแห่งความม่วน” ซึ่งนำเสนอการประยุกต์ประเพณีผีตาโขนให้เข้ากับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ภาพกลุ่มคนแต่งตัวในชุดผีตาโขนที่ถูกออกแบบให้ร่วมสมัยเต้นระบำอย่างมีความสุข “สร้างเมืองให้เป็นเมืองสร้างสรรค์” “ธุรกิจ vs ชุมชน” การทำโฮมสเตย์ “ความท้าทายของลูกอีสานวันนี้” “ซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งไอเดีย” “เปลี่ยนเพื่ออนาคต” หรือ “บ่มีอีหยังเป็นไปบ่ได้”

ฉากสุดท้ายวิชชานนท์พาเรากลับไปที่โบกี้รถไฟฟ้าแห่งอนาคตจำลองที่จะเชื่อมต่ออีสานกับทุนนิยมโลกผ่านวาทกรรมของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ผู้คนในโลกสมัยใหม่ต้องการอะไรแปลกใหม่ตลอดเวลา รถไฟขบวนนั้นกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น นั่นทำให้ย้อนนึกไปถึงทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยรัฐบาลกษัตริย์อ้างว่าเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งผู้คนและสินค้า และเพื่อประโยชน์ในการปกครองและรักษาพระราชอาณาเขต และอีกเหตุการณ์ที่ผู้เขียนนึกถึงภาพพิธีเปิดใช้ถนนมิตรภาพ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2501 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (เริ่มสร้างสมัยจอมพล ป.) รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือ จากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐ (USOM)

ข้อความต่างๆ ในนิทรรศการกระตุ้นให้เกิดข้อสงสัยในใจผู้เขียนพอๆ กับป้าย “กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวมีอยู่จริง”ที่แยกราชประสงค์ ทุ่งสังหารคนเสื้อแดงในการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ พ.ศ. 2553 ในฉากสุดท้ายของ สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย (In April the Following Year, There Was a Fire) เพราะคำถามที่ตามมาคือ ชีวิตที่ดี คือชีวิตของใคร และป้ายโฆษณาชวนเชื่อที่ TCDC ขอนแก่น ว่า “โอกาส” เหล่านั้น คือโอกาสของใครกันแน่


ท่านที่สนใจชมภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ localpeoplestudio@gmail.com


อ้างอิง
– คริส เบเคอร์. ผาสุก พงษ์ไพจิตร. 2561. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. สำนักพิมพ์มติชน
– ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล. 2563. ประวัติศาสตร์นิพนธ์วิพากษ์ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง กำเนิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิ­ราชย์กับกระฎุมพีราชการ : ทัศนะและข้อสังเกตต่อ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย (ตอน 1). ฟ้าเดียวกัน
– ชาตรี ประกิตนนทการ. 2562. กำเนิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่าน “จินตกรรมรัฐสยามทางศิลปะ”. ฟ้าเดียวกัน
– อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ. 2563. เปรมาธิปไตย: การเมืองไทยระบอบไฮบริด. ILLUMINATIONS EDITION

ดิสนีย์ปลดพนักงานแสนคน แต่ผู้บริหารได้โบนัสเต็ม!

สตูดิโอที่แทบจะกุมอำนาจสูงสุดในฮอลลีวูดอย่างดิสนีย์ กลายเป็นสตูดิโอที่ทำท่าจะล้มดังสนั่นที่สุดในช่วงโควิด-19 เมื่อสตูดิโอประกาศเลิกจ้างพนักงานราว 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานในสวนสนุก ดิสนีย์แลนด์ กับ ดิสนีย์เวิลด์ ส่วนยูนิตอื่นๆ ก็ปรับลดขนาดลงทั้งหมด

ดิสนีย์คาดการณ์ว่าการลดพนักงานราว 50% นี้จะประหยัดต้นทุนได้ 500 ล้านเหรียญฯ ต่อเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายธุรกิจสวนสนุกที่น่าจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปอีกหลายเดือนต่อให้กลับมาเปิดให้บริการได้ก็ตาม เพราะคนน่าจะยังไม่วางใจกับการเที่ยวสวนสนุกนัก

บริษัทยังจ่ายเงินประกันเพื่อเลี้ยงชีพพนักงานต่อเนื่องไปอีกหนึ่งปี ส่วนสองผู้บริหารอย่าง บ๊อบ ไอเกอร์ ประธานบริษัท จะลดเงินเดือนลงราว 3 ล้านเหรียญฯ รวมทั้งปี ขณะที่ บ๊อบ ชาเป็ก ซีอีโอของบริษัทก็ยอมสละรายได้ทั้งปีลงครึ่งหนึ่งของฐานเงินเดือน 2.5 ล้านเหรียญฯ …เหมือนจะแฟร์ดี แต่ที่จริงแล้วมันคือข้อแลกเปลี่ยนเพื่อที่เขาทั้งคู่จะได้โบนัสและผลประกอบการเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างไอเกอร์ได้โบนัส 65.6 ล้านเหรียญฯ เมื่อปี 2018 กับ 47 ล้านเหรียญฯ เมื่อปี 2019 ถ้าเทียบกับเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานดิสนีย์ทั้งหมด เขาก็ได้เงินมากกว่าชาวบ้านถึง 900 เท่า! ส่วนชาเป็กก็จะได้โบนัสไม่น้อยกว่า 300% ของเงินเดือน! โดยรายงานใน The Financial Times ระบุว่าการหยุดจ้างพนักงานทั้งหมดนั้นเป็นหนึ่งในกระบวนการปกป้องผลประโยชน์ราว 1.5 พันล้านเหรียญฯ ของผู้บริหารระดับสูง

เรื่องไปถึงหู อบิเกล ดิสนีย์ หลานสาวของ รอย ดิสนีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งอาณาจักร เธอเลยเกรี้ยวกราดลงบนทวิตเตอร์และเรียกร้องให้ผู้บริหารทบทวนการจัดสรรงบประมาณใหม่ ส่วนหนึ่งในทวิตเตอร์ของเธอบอกว่า “1.5 พันล้าน! นี่สามารถเอามาจ่ายเงินเดือนให้พนักงานฝ่ายปฏิบัติการได้ถึงสามเดือนเลยนะ แต่มันกลับเอาไปแบ่งให้ผู้บริหารที่ก็สะสมผลประโยชน์มาแล้วหลายปี”

ทวิตเตอร์ของอบิเกลเดือดในทันที จนเธอออกมาให้สัมภาษณ์กับ Forbes ว่า “ประเทศเราเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ชนชั้นกลางลงไปกำลังหดหู่กับความอยู่รอดกัน คนรวยที่เป็นคนส่วนน้อยของห่วงโซ่กลับกอบโกยไม่หยุด พวกเขายิ่งร่ำรวยขึ้นด้วยการเอาเงินไปลงทุน ควรจะมีการทบทวนนโยบายใหม่เพื่อลดความเอารัดเอาเปรียบของพวกเขา”

หลังจากดิสนีย์ประกาศโละพนักงานครั้งใหญ่ ทำให้ราคาหุ้นของดิสนีย์ผันผวน กล่าวกันว่าผู้บริหารที่ได้รับผลประโยชน์รวมกว่าพันล้านนั้นก็เอาเงินไปซื้อหุ้นคืน ซึ่งผลักให้ราคาหุ้นดิสนีย์สูงขึ้นด้วย

อบิเกลส่งจดหมายขอหารือกับบอร์ดบริหารดิสนีย์ไปแล้วเรียบร้อย แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับใดๆ กลับมา

เมื่อคนทำหนังใช้วิธีการเล่าเรื่องของตนผ่านช่องทาง “การทำคลิปบนยูทูบ”

ในช่วงกักตัวระหว่างผ่านพ้น covid-19 นั้น เชื่อว่ามันได้ส่งผลกระทบต่อหลายๆ คนต่ออาชีพต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่คนทำหนังที่ต้องหยุดภารกิจทุกอย่าง ไม่สามารถออกไปไหนได้เลย ทั้งทีในหัวเต็มไปด้วยไอเดียของหนังที่ต่างผุดขึ้นมาแต่ไม่สามารถลงมือทำได้จริง

ยังไงก็ดี หลายคนอาจไม่รู้ว่า Youtube นั้นนอกจากจะแหล่งรวบรวมคลิปหลายประเภทต่างๆ แล้ว คนทำหนังบางคนเริ่มต้นสายงานอาชีพหรือเลือกจะเล่าเรื่องของตนผ่านการตีเนียนเปิดช่องยูทูบ ให้นักแสดงเล่นตามบทบาทเป็นเจ้าของช่องนั้นๆ ก่อนจะให้พวกเขาต้องเจอสถานการณ์ต่างๆ ตามผกก.บรีฟมา

และอัพโหลดเป็นคลิปสั้นๆ 6-7 นาที ซึ่งพอคลิปเหล่านี้ได้ไปปะปนกับคลิปอื่นๆ ของระบบยูทูบแล้ว ทำให้คนเริ่มสนใจไปกับเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้สร้างกำหนดมาผ่านการทำคลิปสั้นๆ ลงช่องยูทูบ

อัลบั้มเลยรวบรวม 6 ช่องยูทูบที่ตีเนียนเล่าเรื่องเป็นพล็อตๆผ่านคลิป vlog สั้นๆของตัวละคร และจะต้องเจอกับสถานการณ์สุดระทึก และหวังว่ามันจะเป็นแรงบัลดาลใจให้กับทีมงานที่อยากถ่ายทำหนังมากๆ แต่ไม่รู้จะทำยังไง ก็ถ่ายในบ้านและอัพเป็นคลิปสั้นๆ ลงไปนี่ไปเลย!


Seventybroad

พื้นที่ของ vlogger หนุ่มๆ สาวๆ ทั้งหลายบนยูทูบนั้นมีเยอะแยะไปหมด แล้วแต่ความโด่งดังของแต่ละคนกับการสร้างฐานแฟนคลับด้วยวิธีการต่างๆ หรือสถานการณ์ในชื่อคลิป vlog ของแต่ละคนที่ทำให้ชักจูงดึงดูดให้คนทั่วไปอยากเข้าไปดูว่าในคลิปมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง

แต่คงไม่มี vlogger คนไหนจะบ้าระห่ำถ่ายทำคลิป vlog ของตัวเองได้ประหลาดเช่น การสารภาพผิดหลังจากได้ลงมือฆ่าคนมา!, การพยายามจุดไฟเผาตัวเอง! หรือการเปิดเผยคลิปวินาทีสังหารคนในครอบครัวลงยูทูบ!

เขาคนนั้นคือ จอร์จ เจ้าของช่องยูทูบ seventybroad ที่เริ่มต้นอัพคลิปอะไรประหลาดๆ ออกมา เช่น การถ่าย vlog ของเขาที่ใช้สถานที่ตึกอาคารร้างๆ เจ้าของช่องที่ดูจะสกปรกโสมมและพูดจาอะไรประหลาดๆ ออกมา จนกระทั่งเขาจะค่อยๆ เฉลยตัวเองออกมาว่าตนคือฆาตกรที่ฆ่าคนและหลบหนีตำรวจมาอยู่ในตึกร้าง

แม้ในเวลาต่อมานั้นจอร์จได้ออกมาเฉลยว่าที่เขาทำคลิปประหลาดๆ ทั้งหมดนั้น เป็นแค่โปรเจ็คทดลองการทำ webseries (ซีรี่ส์ออนไลน์) หลังจากโดนตำรวจเรียกไปสอบปากคำเพราะคลิปที่เขาทำนั้นดูสมจริงเกินไป (ก็ไม่แปลก) แต่ดูเหมือนว่าเรื่องราวของเค้าจะไม่จบลงแค่ตรงนี้นะสิ!

จอร์จได้อัพคลิป vlog จริงๆ อัพเดตเรื่องราวส่วนตัวต่างๆ ที่ทำให้คนดูค้นพบว่าชีวิตของไอหมอนี่จริงๆ ก็เฮงซวยมากขึ้น ทั้งโดนมหาวิทลัยไล่ออก! โดนไล่ออกจากหอพักจนไม่มีที่อยู่นอกจากต้องอาศัยกินนอนบนรถยนต์! โดนโจรจี้ปล้นกลางทาง! ทะเลาะกับพ่อเลี้ยงจนถึงขั้นลงไม้ลงมือกัน

ซึ่งไอที่กล่าวๆ มา จอร์จได้อัพคลิปสถานการณ์เหล่านี้ลงยูทูบหมดเลย! ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่น่าเอามาอัพลงในยูทูบเลยด้วย แม้คนดูจะเริ่มจับสังเกตได้ว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตัวเขาอาจจะเป็นอีก layer หนึ่งของตัว webseries ที่เขาเคยพูดมาก่อนหน้านี้ต่างหาก!

ใช่แล้ว! หลังจากนั้นในเวลาหลายเดือนต่อมา จอร์จได้ออกมาทำคลิปขอโทษแฟนคลับที่เข้ามาดูพร้อมบอกว่าไอคลิปทั้งหมดนั้นมันเป็นแค่โปรเจ็ค webseries ของเขาเท่านั้น ไม่มีใครโดนปล้น ไม่ได้ทะเลาะกับพ่อ ไม่ได้โดนไล่ออกจากมหาลัย!

แม้การกระทำของจอร์จในสายตาคนทั่วไปอาจจะมองว่าเขาเป็นเด็กเลี้ยงแกะที่คอยแต่สร้างเรื่องโกหกซ้ำซ้อนจนวันนึงอาจจะไม่มีคนเชื่อที่เขาพูดจริงๆ แต่มองในอีกมุมนึง นี่คือการหักมุมซ้อนหักมุมอีกที และมันก็ถือว่าเป็นโปรเจ็ค webseries ที่เจ๋งมากๆ

น่าเสียดายที่ปัจจุบันช่องได้ลบคลิปอื่่นๆ ไปหมด จนเหลือแค่คลิปขอโทษล่าสุดของเขานี่เอง ฉะนั้นถ้าอยากได้รายละเอียดหรือภาพประกอบที่เรายังเซฟออกมาได้ทันว่ามันบ้าระห่ำขนาดไหน ขอให้อ่านต่อแบบเต็มๆ ได้ที่


Daisy Brown

หลายๆคนใช้ช่องทางบนยูทูบในการอัพโหลดวิดีโอต่างๆด้วยหลายๆเหตุผล ทั้งโชว์การเล่นเกมส์ การแต่งหน้า รีวิวสิ่งของต่างๆ หรือจะถ่าย vlog อัพเดตชีวิตของเจ้าของช่องนั้นๆ แต่บางคนเลือกที่จะใช้ช่องทางดังกล่าวในการทำซีรี่ส์!

ก็คงไม่ต่างจากช่อง daisy brown ที่สร้างความมึนงงให้กับคนดูตั้งแต่ในคลิปแรกของช่องที่นางเปิดตัวสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่ทั้งหมา หรือแมว แต่เป็นอสูรกายนามว่า alan และทำให้มียอดผู้เข้าชมอย่างล้นหลามตกตะลึงไปกับความประหลาดดังกล่าว

แม้หลายๆคนอาจจะมองออกแล้วว่ามันปลอม ไออสูรกายตัวเนี่ยมันก็สร้างมาจากเปเปอร์มาเช่เนี่ยแหละ แต่ความปลอมของมันก็ไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้ช่องดังกล่าวได้หยุดอัพคลิปแต่อย่างใด

กลับกัน daisy brown กลับอัพโหลดคลิปอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราได้เห็นเส้นเรื่องราวหลักๆผ่านวิดีโอคลิปสั้นๆ ได้เห็นการเจริญเติบโตของเจ้าสัตว์เลี้ยงที่ค่อยๆน่ากลัวมากขึ้น หรือแม้แต่ปุ่มกด subtitles ที่ทุกคลิป เจ้าของช่องได้พิมพ์คำบรรยายที่เป็นการซ่อนเส้นเรื่องลับๆลงไปในคำบรรยาย

daisy brown ได้เริ่มสร้างฐานแฟนคลับอย่างมาก ทำให้คนดูรู้สึกอยากติดตามเรื่องราวปลอมๆแบบนี้กันต่อว่าสุดท้ายเรื่องราวจะจบลงยังไงกัน ไออสูรกายตัวเนี่ยมันมีที่มายังไงกันแน่

นี่คือตัวอย่างของช่องยูทูบที่ใช้วิธีการอัพคลิปสั้นๆ ในการเล่าเรื่องราวในแบบของทีวีซีรี่ส์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้งบสูงๆ แต่เป็นซีรี่ส์สยองขวัญทุนต่ำที่ปลอม แต่วิธีการเล่าเรื่องของมันก็ดีมากจริงๆ

ถ้าอยากรู้เรื่องราวแบบเต็มๆของ daisy อ่านต่อได้ที่ :


Alantutorial

ณ ปัจจุบันช่องยูทูบบางคนได้เริ่มทำคลิปแนว how to สอนทำเรื่องรอบตัวต่างๆ มีถึงขั้นสร้างสิ่งของ DIY หรือคลิปแนวสอนทำ life hack เพื่อให้คนที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงได้รับความรู้จากคลิปเหล่านี้

แต่การมาของช่องยูทูบปริศนาช่องนึงที่เจ้าของช่องได้เริ่มทำคลิปแนว how to สอนทำสิ่งของหรือสร้างอะไรต่างๆ แต่กลับเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะจากคนดูเพียงเพราะคลิปแต่ละคลิปที่เขาสอนนั้นมันดูไร้ประโยชน์สุดๆ!

ช่องดังกล่าวมีชื่อว่า alantutorial โดยตัว alan ได้เริ่มทำคลิปสอนสร้างหรือทำอะไรต่างๆ ที่ไม่เหมือนใคร เช่น สอนทำยังไงให้กระดาษเป็นรู? สอนการดูคลิปยูทูบแบบชัดๆ 720p?

แต่ก็คงไม่หนักเท่าด้วยวิธีการสอนของเขาที่แสนดันทุรังสุดๆ ทั้งการที่มือหนึ่งต้องถือกล้อง/มือถือถ่ายวิดีโอไว้ อีกมือหนึ่งต้องลงมือสอนหรือสร้างต่างๆ ซึ่งก็สร้างความลำบากและความทุลักทุเลอย่างสุดๆ แล้ว

อย่างมือหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้สว่านเจาะกระป๋องน้ำ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไม) แน่นอนว่ามันต้องใช้สองมือ แต่ alan เลือกจะใช้มือเดียวถือสว่านเจาะกระป๋องน้ำ แน่นอนว่าแรงดันของที่เจาะดันกระป๋องน้ำกระเด็นไปไกลจนสุดท้ายคลิปก็ตัดจบไปดื้อๆ!

เหมือนคลิปที่ดูจะไร้ประโยชน์แบบนี้จะโดนคนด่า? เปล่าเลย alantutorial กลับสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมที่ได้เข้ามาดูแบบงงๆ ในยูทูบแถมทำให้ช่องของเขาดังยิ่งขึ้นในฐานะช่องแนว parody (ล้อเลียน) ของช่องยูทูบแนว how to อีกที

และด้วยความ parody ของมันก็ยิ่งทำให้คลิปหลังๆ ของ alan เริ่มจะผิดปกติและบ้าบอกว่าเดิมมากๆ เช่น การถ่ายทำคลิปนอกสถานที่ของเค้าที่ถ่ายตั้งแต่บนถนนทางด่วน ในป่า หรือตึกร้าง! มีถึงขั้นที่ตัว alan ถ่ายคลิปอยู่ดีๆ ก็โดนใครที่ไหนไม่รู้ลักพาตัวไป!

หลายคนเริ่มจะจับสังเกตได้ว่าช่อง alantutorial นอกจากจะเป็น parody ของมันแล้ว อาจจะเป็น art project หรือ webseries เหมือนๆ กับ seventybroad, daisy brown ก่อนหน้านี้

ใช่แล้ว! alantutorial คือ art project แรกๆ ของตา Alan Resnick ชายหนุ่มนักทำหนังสั้นและ creator คนสำคัญอีกคนให้กับเครือข่าย adult swim ผลิต content และหนังสั้นแปลกๆ มามากมาย รวมถึง alantutorial ที่เป็น 1 ในโปรเจ็คยูทูบของแก

ถ้าใครอยากจะรับรู้เรื่องราวของ alan ที่ประสบพบเจอมาแบบเต็มๆ อ่านต่อได้ที่ : 


I Am Sophie

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากๆ สำหรับคำว่า “อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ” ที่ยังคงได้ผลอยู่สม่ำเสมอ แม้กระทั่งมันไปทำปฎิกิริยาให้กับช่องยูทูบช่องนึงที่ตอนแรกอัพคลิปแต่ละอย่างมีแต่คนกด dislike กันยับ!

ช่องดังกล่าวมีนามว่า i am sophie ที่เริ่มต้นในฐานะช่องยูทูบของหญิงสาวไฮโซที่มีนามว่า Sophie นางก็เป็นเหมือนเศรษฐีคนอื่นๆ ที่ใช้เงินฟุ่มเฟือยและผลาญตังค์ผ่านสื่อ social media แถมยังเป็นวัยรุ่นสาวที่ไม่มีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง และยังเป็นลูกเศรษฐีจนหลายคนอาจมองว่าเธอเกาะพ่อเธอกิน!

แน่นอนว่านางได้รับกระแสต่อต้าน คนกด dislike พร้อมแห่คอมเมนต์ในเชิงหยาบคาบและด่าทอล้อเลียนเธอต่างๆ เพียงแต่ว่าจู่ๆ รายละเอียดที่หลายๆ คนข้ามไป อาจจะคลิกเข้ามากด dislike อย่างเดียวจนไม่ได้ดูจนจบคลิปก็ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วนั้น

ในเกือบทุกวิดีโอของนางในช่วงกลางๆ หรือท้ายๆ คลิปดันมีเอฟเฟ็คภาพกระตุกปริศนาโผล่มาเป็นระยะๆ หรือมีภาพของหญิงสาวปริศนาโผล่มาแบบงงๆ! และนั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่บางคนได้เห็นแล้วมองว่านี่มันคือ ARG นี่หว่า!

ARG ย่อมาจาก Alternate Reality Games หรือวิธีรูปแบบการเล่นเกมส์อีกแบบนึงที่ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องเล่นเกมส์เลย และคุณคนดูยังสามารถร่วมเล่นเกมที่เขาสร้างได้ เสมือนเป็นดั่งนักสืบบนโลกออนไลน์

เช่น ช่องยูทูบช่องนึงได้ปล่อยคลิปปกติๆ จนมีช่วงนึงของคลิปที่สร้างคำใบ้หรือปล่อยตัวเลขอะไรออกมา หน้าที่ของคนดูนั้นคือการตามสืบหาเบาะแส แก้ไขรหัสของตัวเลขหรือคำใบ้ดังกล่าวเพื่อนำไปสู่เรื่องราวที่ผู้สร้างได้วางแผนกันไว้

จริงๆ วิธีการของ ARG นั้นถูกใช้งานในฐานะของการเป็น viral marketing หรือการโปรโมทสื่อสินค้าอาทิ หนัง วิดีโอเกมส์ หรืออาจจะเป็นเพลงก็ได้ ยกตัวอย่างกรณ๊ของ the blair witch project ที่ลงทุนสร้างสารคดีและทำเว็บไซต์หลอกให้คนหลงเชื่อว่าฟุตเตจในหนังเป็นของจริง จนทำให้คนดูเริ่มอยากดูตัวหนังมากขึ้น!

ส่วนเรื่องราวของ i am sophie นั้น แน่นอนว่าภาพที่เราเห็น สิ่งที่เราสังเกตมันคือรูปแบบการเล่าเรื่องซีรี่ส์ มีสคริป มีบท มีการวางพล็อตไว้ในแต่ละคลิป และคลิปหลังๆ ของช่องก็เริ่มไปไกลและหลุดหลอนมากขึ้นจนลืมลุคไฮโซของ Sophie ไปเลย

อยากรับรู้เรื่องราวเต็มๆ (ซึ่งตอนนี้ยังไม่จบด้วย) อ่านต่อได้ : 


LouisePaxton

บางครั้งวิธีการทำหนังแนว found footage หรือแนวค้นพบฟุตเตจลึกลับที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ The Blair Witch Project, Paranormal Activity นั้นมันก็ไม่ได้มีทุนหรือการถ่ายทำที่ต้องเพิ่งเทคนิคอะไรมากเลย เพียงแต่ต้องทำให้มันสมจริงที่สุด!

นั่นรวมไปถึงช่องยูทูบของ LouisePaxton ช่องยูทูบที่แท้จริงแล้วเป็นโปรเจ็คการทำหนังแนว found footage ของผกก. Andrew Cull ที่อาจจะท้าทายในการทำหนังรูปแบบใหม่ในการทำหนัง found footage บนยูทูบไปเลย ไม่ต้องเสียเวลาหาค่ายหนังด้วย!

เนื้อเรื่องของมันว่าด้วยนศ.สาวคนนึงที่ใช้กล้องตัวเดียวอัดกิจวัตรประจำวันต่างๆ ภายในห้องแฟลตของเธอ จนกระทั่งคืนวันนึงเธอตื่นขึ้นมาอัดวิดีโอแล้วอธิบายถึงสถานการณ์ ณ ตอนนี้ว่าเธออาจจะกำลังจะเผชิญหน้ากับ stalker หนุ่มปริศนาที่แอบย่องเบามาในห้องเธอทุกคืน!

ยิ่งเธอได้อัพโหลดวิดีโอถัดมามากเท่าไหร่ เธอต้องยิ่งเผชิญหน้ากับ stalker คนนี้มากขึ้น คลิปหลังๆ ก็แถบจะจับภาพความเคลื่อนไหวอะไรบางอย่างออกมายังได้เลย แต่ในขณะเดียวกันนั้น ผู้ชมก็เริ่มสังเกตว่า

หรือจริงๆ แล้ว Louise ไม่ได้เผชิญหน้ากับคนโรคจิต แต่อาจจะเป็นผีเจ้าของห้องคนเก่าต่างหาก!

เรื่องราวของเธอจะจบลงยังไง ตามอ่าน :


Ashvlogs

บอกเลยว่าไม่มีอะไรที่ทำให้เราหวาดกลัวและหดหู่ได้เท่ากับเรื่องราวของ Ashvlogs ช่องยูทูบสุดปริศนาที่ตัวผู้เขียนเองยกให้มันเป็นช่องยูทูบที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน เต็มไปด้วย 108 ปริศนาท่ายาก ยิ่งสืบเบาะแสก็ยิ่งดำดิ่งไปกับเรื่องราวสุดน่ากลัวที่รุนแรงมากขึ้น

ต้องบอกก่อนเลยว่าช่องยูทูบ Ashvlogs มันไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด เป็นแค่โปรเจ็คการทำซีรี่ส์ผสมสไตล์แบบ ARG (ที่เคยเล่าก่อนหน้านี้) ให้ผู้ชมสามารถสืบหาเบาะแสแก้รหัสไขคดีต่างๆ เพื่อให้เรื่องคืบหน้าต่อไป

แต่ด้วยแพลตฟอร์มการเล่าเรื่องของช่องดังกล่าวมันสมจริงมากๆ ทั้งเรื่องราวของหญิงสาวสดใสที่ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มฆาตกรที่ไม่เคยมีใครตามสืบมันได้ แถมบางคนยังต้องทำตามที่พวกนั้นสั่งอีก เพราะมันมาจากโลกของ Dark Web!

พอมันเล่นประเด็นเรื่องของ Dark Web แล้ว แน่นอนว่ามันน่ากลัวมากกว่าเดิม แม้ใน Ashvlogs มันจะเฉลยแล้วว่าเป็นแค่เรื่องแต่ง แต่ด้วยวิธีการเล่าที่สมจริงแบบ found footage หรือวิธีการทำงานของกลุ่มคนในเรื่องที่น่ากลัวมากจริงๆ

มีขั้นลักพาตัวคน เอามีดแทงคนบนรถไฟ จุดไฟเผาเหยื่อกันให้เห็นสดๆ หรือลงโทษทรมานเหยื่อที่พวกนั้นได้จับมา และโพสภาพเผยแพร่ลง social media ให้ผู้ชมได้ตามสืบเรื่องราวกันต่อไป

ถ้าใครอยากรู้เรื่องราวแบบเต็มๆ 100 กว่าหน้า อ่านต่อได้ :

บ้านพักคนชราบ้านแอลเอ สวัสดิการน่าอิจฉาของชาวฮอลลีวูด

Courtesy of the Motion Picture and Television Fund
Courtesy of the Motion Picture and Television Fund

หนึ่งในสถานที่เฝ้าระวังโควิด-19 ของอเมริกาขณะนี้คือ Motion Picture & Television Fund’s Country House and Hospital เพราะจนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเป็นสมาชิกของบ้าน 18 คน เจ้าหน้าที่อีก 9 คน และผู้เสียชีวิต 4 ราย ซึ่งได้แก่ จอห์น บรีเออร์ (64 ปี), อัลเลน การ์ฟิลด์ (80 ปี) นักแสดงจาก The Conversation, แอนน์ ซัลลิแวน (90 ปี) แอนิเมเตอร์ The Little Mermaid และล่าสุด อัลเลน ดาวิออ (77 ปี) ผู้กำกับภาพ E.T. แต่ท่ามกลางสถานการณ์อันน่าวิตกนี้ทำให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมบันเทิงฮอลลีวูดกับบุคลากรที่ ‘ไม่ทอดทิ้งกัน’ จนวาระสุดท้ายของชีวิต

Motion Picture & Television Fund’s Country House and Hospital เป็นชุมชนจัดสรรโดยกองทุนหนังและโทรทัศน์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 30 เอเคอร์ย่านชานเมืองของแอลเอ ในนั้นประกอบไปด้วยบ้านพัก โรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ สระว่ายน้ำ ศูนย์กีฬา สตูดิโอถ่ายหนัง และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับเหล่าสมาชิกในอุตสาหกรรมบันเทิงฮอลลีวูดวัยเกษียณที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด

ชุมชนแห่งนี้ได้รับเงินหล่อเลี้ยงจากกองทุนหนังและโทรทัศน์ที่เก็บเงินสมาชิกตามกำลังในทุกปี ขณะเดียวกันก็ยังได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องในวงการอีกมากมาย อาทิ เจฟฟรีย์ แคตเซนเบิร์ก ผู้ก่อตั้งดรีมเวิร์คส คือผู้ก่อตั้งกองทุนคนแรก, เคิร์ก ดักลาส บริจาคเงินก่อตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์, โจดี้ ฟอสเตอร์ กับ ซาบาน เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (ผู้ถือสิทธิ Power Rangers) ก็หุ้นกันก่อตั้งศูนย์สุขภาพ และปัจจุบันยังมี จอร์จ คลูนีย์ นั่งเป็นบอร์ดบริหารด้วย

กองทุนหนังและโทรทัศน์นี้เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1993 แต่ถ้าจะว่ากันตามจริงจุดเริ่มต้นมันเริ่มมาตั้งแต่ปี 1921 แล้ว โดยผู้ริเริ่มคือ แมรี พิกฟอร์ด, ชาร์ลี แชปลิน, ดักลาส แฟร์แบงก์ส และ ดี ดับเบิลยู กริฟฟิธ กับแนวคิดคือ “พวกเราต้องดูแลกันเอง” ด้วยการเก็บค่าสมาชิกจัดตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือคนในวงการหนังทุกคน

คริส ไพน์ คือหนึ่งในนักแสดงที่มีความผูกพันกับชุมชนจัดสรรแห่งนี้ เนื่องจากคุณยายของเขา แอนน์ กวินน์ เจ้าของฉายาราชินีหนังหวีดคนแรกของโลก ใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่ที่นี่ด้วยอาการอัลไซเมอร์ และเขาก็มักจะพาคุณแม่มาเยี่ยมคุณยายเสมอ จนกระทั่งเธอเสียชีวิตเมื่อปี 2003 ซึ่งการได้เข้ามาเยี่ยมบุคคลอันเป็นที่รักนั้นทำให้ไพน์วางแผนไว้แล้วว่า หากมีความจำเป็นเขาจะฝากชีวิตในบั้นปลายไว้ ณ ที่แห่งนี้ “แม่ผมรู้สึกแย่ทุกครั้งที่เห็นคุณยายอาการไม่ดี แต่เวลาเราพาเธอเดินไปตามทางที่ร่มรื่น มีสวนดอกไม้ที่เธอชอบอยู่สองข้างทาง ทำให้คุณยายผมหัวเราะได้ และมันทำให้แม่ผมมีความสุข ซึ่งด้วยพื้นที่ ด้วยความเป็นส่วนตัว ด้วยการดูแลเป็นอย่างดีของเจ้าหน้าที่ มันเป็นสิ่งตอบแทนของคนในวงการหนังที่ควรจะได้รับ”

ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ในการดูแลของ Motion Picture & Television Fund’s Country House and Hospital กว่า 200 คน และนับจากก่อตั้งชุมชนแห่งนี้ขึ้นมา มีสมาชิกทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังจบชีวิตเอาไว้ที่นี่กว่า 200 คนแล้ว

The Border Fence รอบรั้วชายแดน

เทือกเขาตระหง่าน บ้านและโรงนาหลังน้อยกลางผืนหญ้าเขียวขจีที่แผ่ขยายไปสุดสายตา และสะพานทางหลวงที่พาดผ่านทิวทัศน์อันงดงามทั้งหมดนี้…

มองอย่างผาดเผินจากสายตาคนนอก บริเวณช่องเขาที่ซึ่งชายแดนของประเทศออสเตรียกับอิตาลีมาบรรจบกันอย่างช่องเขาเบรนเนอร์ (Brenner Pass) แห่งนี้ดูน่าจะเป็นดินแดนแสนสุขที่ชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่ายเชื่องช้า แต่ในปี 2016 ชื่อของเบรนเนอร์กลับตกเป็นประเด็นข่าวใหญ่โตเมื่อรัฐบาลออสเตรียประกาศจะสร้างรั้วยาว 370 เมตรเพื่อกั้นชายแดน ด้วยเกรงว่าบรรดาผู้ลี้ภัยจะพากันหลังไหลกันเข้ามาจากอิตาลีผ่านทางช่องทางนี้ หนังสารคดีเรื่อง The Border Fence ก็พาเราไปสำรวจข้อพิพาทดังกล่าวท่ามกลางทัศนียภาพหุบเขาอันสวยจับใจ

หนังกำกับโดยคนทำสารคดีชาวออสเตรีย นิโคเลาส์​ กายร์ฮาลเทอร์ (Nikolaus Geyrhalter) เจ้าของผลงานอย่าง Our Daily Bread (2005), Homo Sapiens (2016) และ Earth (2019) งานของกายร์ฮาลเทอร์มักได้รับคำชื่นชมถึงการจัดวางองค์ประกอบภาพอย่างละเอียดลออและการใช้จังหวะภาพอันสงบแน่นิ่งเพื่อกระตุ้นเร้าให้คนดูครุ่นคำนึงถึงประเด็นยากๆ ตั้งแต่เรื่องของอุตสาหกรรมอาหาร ผลกระทบจากวิกฤตนิวเคลียร์ ไปจนถึงคอนเซ็ปต์ร่วมสมัยอย่างมนุษยสมัย (anthropocene) และหลังมนุษยนิยม (posthumanism)

ใน The Border Fence สายตาอันเฉียบคมของกายร์ฮาลเทอร์ไม่เพียงจับจ้องไปที่ภูมิทัศน์บริเวณชายแดนกับเมืองใกล้เคียง แต่ยังรวมถึงชีวิตผู้คนในละแวกนั้นที่ดำเนินไปท่ามกลางความหวาดกลัวระคนสงสารผู้ลี้ภัย และความไม่พอใจที่พวกเขามีต่อแผนการสร้างรั้วกั้นชายแดนของรัฐบาล กายร์ฮาลเทอร์เปิดพื้นที่ให้ความคิดเห็นที่หลากหลายของผู้คนเหล่านี้ที่ล้วน(จะ)ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการมาถึงของผู้ลี้ภัยและรั้วกั้นชายแดน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเจ้าของฟาร์ม คนงานก่อสร้าง คนขับรถส่งนม เจ้าของร้านอาหาร พนักงานเก็บเงินค่าทางด่วน หรือแม้กระทั่งบาทหลวง

หนังสำรวจเค้าลางความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเกิดขึ้นกับชีวิตผู้คนในเบรนเนอร์ตั้งแต่ตอนที่รั้วยังไม่ถูกสร้างและคลื่นของผู้ลี้ภัยยังไม่ถาโถมเข้ามาตามที่คาดการณ์ (ยังพอมีผู้ลี้ภัยผ่านมาและถูกจับตัวไปบ้าง แต่ยังไม่ใช่จำนวนมหาศาลอันเป็นเหตุผลในการสร้างรั้ว)​ บรรดาเจ้าหน้าที่ต้องขานรับกับมาตรการควบคุมชายแดนที่รัดกุมยิ่งขึ้น การจราจรบนทางหลวงที่ติดขัดส่งผลกระทบต่อธุรกิจและคนทำงานที่จำเป็นต้องข้ามชายแดนกลับไปกลับมาตามหน้าที่ นอกจากนี้หนังยังใช้เวลาไปกับการสำรวจความคิดเห็นที่ผู้คนมีต่อผู้ลี้ภัยด้วย

เรามักได้ยินประโยค “ฉันไม่ได้มีปัญหาอะไรกับผู้ลี้ภัยหรอกนะ แต่…” ถูกเอ่ยขึ้นมาในหนัง แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ ‘ปัญหา’ หรือความคิดเห็นจริงๆ ที่พวกเขามีต่อผู้ลี้ภัย หนึ่งในความเห็นหลักๆ คือความกังวลว่าประเทศจะกลายเป็น ‘ชาติผสม’ (mixed nation) นั่นเพราะผู้ลี้ภัยย่อมมาพร้อมกับวัฒนธรรมตามรากเหง้าของตนทำให้ยากต่อการปรับตัวเข้าหาสังคมออสเตรีย (บ่งชี้เป็นนัยว่าผู้ลี้ภัยที่พึงประสงค์จำเป็นต้องทิ้งอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองให้ได้ก่อนเพื่อที่จะผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาติใหม่ได้อย่างแท้จริง)

หากยึดเอาตามความเห็นข้างต้น เขตแดนที่บ่งชี้ความเป็นชาติก็ดูเหมือนจะมาพร้อมกับชุดค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติที่แน่นิ่งตายตัว ไม่เปิดพื้นที่ให้ความแตกต่าง แต่หากเรามองชีวิตประจำวันของพวกเขาจริงๆ แล้ว เราจะพบว่าเขตแดนในชีวิตจริงของพวกเขากลับมีหน้าตาคนละแบบกับเขตแดนเวลาที่พวกเขาต้องคิดเรื่องผู้ลี้ภัยอย่างสิ้นเชิง กายร์ฮาลเทอร์ดูเหมือนจะจงใจให้เราสังเกตเห็นความลักลั่นดังกล่าว ในหลายๆ ฉากเขาปล่อยให้ผู้คนบรรยายประสบการณ์ของการสัญจรข้ามเขตแดนอันแสนง่ายดายของพวกเขา — ชายหนุ่มพาไปดูกำแพงเขตแดนในฟาร์มที่มีบันไดให้ปีนข้ามไปได้ง่ายๆ คนขับรถพากายร์ฮาลเทอร์นั่งรถข้ามชายแดนเพียงแค่ขับวนวงเวียน สองหนุ่มนักปีนเขาโหยหาอดีตที่การข้ามชายแดนไม่ได้ง่ายเหมือนทุกวันนี้เพราะมันเคยเป็นประสบการน่าตื่นเต้นในวัยเด็ก(!) — แต่เส้นแบ่งเขตแดนที่เป็นเหมือนเส้นสมมติที่มองไม่เห็น (หรือเห็นไม่ชัด) นี้กลับมีความชัดเจนขึ้นมาทันทีที่กายร์ฮาลเทอร์โยนคำถามชวนอึดอัดเรื่องผู้ลี้ภัยเข้าไป

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ถูกสัมภาษณ์จะมีความเห็นระแวงไม่ไว้ใจผู้ลี้ภัยตามที่ได้สาธยายไป หลายๆ คนแสดงความเห็นอกเห็นใจด้วยเชื่อว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกลัวคนที่จำใจย้ายถิ่นฐานเพราะหนีสงครามมา และหลายๆ คนก็ยังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของความเป็นยุโรปที่ควรเน้นการเปิดรับ โอบอุ้ม และความสมัครสมานมากกว่าที่จะกีดกันใครออกไป

ในตอนต้นของหนัง เราได้เห็นการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านการสร้างรั้ว เสียงตะโกนอย่างเผ็ดร้อนว่า “หากยุโรปไม่มีอิสรภาพในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอีกต่อไป ยุโรปเองก็คงต้องจบสิ้นด้วย!” นั้นแม้ไม่ได้สะท้อนทัศนคติของคนทุกคนที่หนังไปสัมภาษณ์ แต่กลับบ่งชี้ได้ดีทีเดียวว่าหนังทั้งเรื่องพูดถึงอะไร — มันคือเรื่องของยุโรปในปัจจุบัน และ (หนึ่งใน) สิ่งที่นิยามอัตลักษณ์ของยุโรปอย่าง ‘ชายแดน’ ที่กำลังผันเปลี่ยนไปนั่นเอง

การสร้างรั้วขึ้นมาปิดกั้นชายแดนมีความหมายอย่างไรต่อคนท้องถิ่น นอกเหนือไปจากผลกระทบเรื่องการสัญจรข้ามประเทศอย่างอิสระเสรี การมองและทำความเข้าใจถึงชายแดนที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่หนังให้ความสนใจจริงๆ คืออัตลักษณ์ของพวกเขา — ทั้งในฐานะผู้พำนักอาศัยในละแวกใกล้เคียงที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงระยะประชิด ในฐานะชาวยุโรปผู้มีอุดมการณ์ร่วมมือร่วมใจ และในฐานะชาวไทโรล (Tyrol – ชื่อแคว้นบริเวณนั้นที่ครอบคลุมออสเตรียตะวันตกจรดอิตาลีตอนใต้) ที่ต้องถูกแยกจากกันอีกครั้งด้วยรั้วกั้นชายแดน

นั่นทำให้ต่อให้มีทัศนคติต่อผู้ลี้ภัยที่ไม่สู้ดีนัก ก็ใช่ว่าพวกเขาจะยินดีกับการสร้างรั้ว เมื่อรั้วกั้นชายแดนย่อมเข้ามาจัดกระทำทั้งกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์ที่มีมายาวนานของพื้นที่ ผู้ถูกสัมภาษณ์รายหนึ่งชี้ว่าทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากนโยบายหาเสียงประชานิยมของรัฐบาล ซึ่งประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมการเมืองนั้นย่อมไม่ได้รับการพูดถึงแม้แต่น้อยจากฝั่งผู้มีอำนาจ ความหวาดระแวงผู้ลี้ภัยและความกังวลเรื่องการควบคุมชายแดนจึงดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าจะเป็นปัญหาที่รัฐบาลตั้งใจที่จะลงมือแก้ไขหรือรับมือจริงๆ จังๆ

หากวิกฤตผู้ลี้ภัยเป็นสิ่งที่เข้ามาปรับนิยามและความคมชัดของเส้นแบ่งเขตแดนใหม่ หนังชวนให้เราตั้งคำถามว่า สภาวะทางความคิดและจิตใจแบบใดกันที่ถูกสร้างขึ้นมาและส่งต่อกันไปเรื่อยๆ หากการเดินหน้าตอบรับต่อวิกฤตการณ์นี้ (ทั้งในเชิงการเมืองและในเชิงมนุษยธรรม) เป็นไปบนฐานของความหวาดระแวงและการกีดกัน — ทั้งเจ้าหน้าที่ที่ต้องทนเป็นแขนขาให้กับรัฐบาลในการบังคับใช้กฎเกณฑ์อันเข้มงวดกับผู้ลี้ภัยแม้ใจจริงพวกเขาอาจไม่ได้อยากทำ ไปจนถึงพลเมืองที่หวงแหนสิ่งที่เป็นของตนเองมากเสียจนไม่สามารถหยิบยื่นแม้แต่โอกาสในการเริ่มต้นใหม่ให้กับคนแปลกหน้า

ดังที่ได้กล่าวไว้ว่ากายร์ฮาลเทอร์พาคนดูเคลื่อนผ่านหนังไปอย่างไม่รีบเร่ง และเปิดให้คนดูได้รับฟังความคิดเห็นหลายมุม แต่สารที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคงไม่พ้นการชี้ชวนให้คนดูเห็นว่าเขตแดนนั้นเป็นคอนเซ็ปต์ที่คร่ำครึึและน่าขันเพียงไร และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือความพยายามอันไร้แก่นสารของมนุษย์ในการทำทุกวิถีทางให้เส้นที่ไม่มองไม่เห็นนั้นถูกมองเห็นได้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเส้นเขตแดนพอดีจนเจ้าของต้องวางป้ายในบ้านเพื่อบอกว่าตรงไหนที่เขตแดนพาดผ่าน หรือกระทั่งเจ้ารั้วกั้นชายแดนเบรนเนอร์เจ้าปัญหานี่เอง ที่จนแล้วจนรอดถูกม้วนนอนแอ้งแม้งอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ริมชายแดน เฝ้ารอวันก่อสร้างที่ยังมาไม่ถึง เช่นเดียวกับคลื่นผู้ลี้ภัยลูกใหญ่ก็ไม่ได้ถาโถมเข้ามาที่ช่องเขาเบรนเนอร์ตามที่คาดการณ์ไว้แต่อย่างใด

รับชมหนังได้ที่ https://dafilms.com/film/10959-the-border-fence หรือ https://mubi.com/films/die-bauliche-massnahme

Business Update : นวัตกรรมใหม่ของคานส์ & อัพเดทมาตรการช่วยหนัง

เนื่องจากช่วงเวลานี้มีความเคลื่อนไหวมากมายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ในการรับรู้ของผู้อ่าน คอลัมน์ Film Business จึงขอเพิ่มช่องทางที่ชื่อ Business Update เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขอเชิญติดตาม


ตลาดหนังเมืองคานส์กับนวัตกรรมใหม่ของตลาดภาพยนตร์

ขณะที่เทศกาลเมืองคานส์ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจัดขึ้นเมื่อไร ในส่วนของตลาดภาพยนตร์ หรือ Marche du film ก็ประกาศแล้วว่า พวกเขามีแผนที่จะจัดตลาดหนังออนไลน์ หรือ เรียกว่า Virtual Market ระหว่างวันที่ 22-26 มิถุนายน แทน โดยไม่รอเทศกาลหนังอีกต่อไป สำหรับรูปแบบของตลาดหนังออนไลน์จะประกอบด้วยบูธขายหนังจากหลายบริษัท แต่ละบริษัทสามารถนำเสนอโปรเจกต์หนังไม่ว่าจะอยู่ในสถานะตั้งแต่ยังไม่ได้สร้าง กำลังสร้าง หรือสร้างเสร็จแล้ว แก่ผู้ซื้อที่ลงทะเบียนกับงานไว้แล้ว นอกจากนี้ ใน Virtual Market ยังมีโรงหนังออนไลน์ประมาณ 15 โรงซึ่งจะฉายหนังที่ระบุไว้ในโปรแกรมฉายต่อไป

เฌโรม ไปยารด์ (Jérôme Paillard) ผู้อำนวยการ Marche Du Film กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเปิดตัว Virtual Market เขาได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้ที่อยู่ในธุรกิจภาพยนตร์หลายฝ่าย พบว่ากว่า 80% ให้ความสนใจ โดยมีบริษัทจัดจำหน่ายอิสระขนาดใหญ่ของอเมริกาที่ยืนยันเข้าร่วม อาทิ Lionsgate STX AGC Studio Filmnation และ Solstice เป็นต้น สำหรับค่าเข้าร่วมงาน เริ่มต้นที่ 95 ยูโร (หากสมัครแบบ early bird) และ 195 ยูโร ถ้าเลยวันที่ 29 พฤษภาคมไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในมุมของผู้เขียน สิ่งที่ยังคงเป็นข้อกังขาน่าจะเป็นเรื่องการจัดการ โดยเฉพาะไทม์โซนซึ่งต่างกันในแต่ละประเทศ การไม่มีตลาดซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งการพบปะกัน อาจสร้างปัญหาแก่คู่ค้าที่อยู่คนละทวีป เช่น อเมริกา กับเอเชีย เป็นต้น


อัพเดทมาตรการช่วยอุตสาหกรรมหนังของชาติต่างๆ

ขณะที่วิกฤตการณ์โควิด 19 กำลังเข้าสู่ภาวะคลี่คลายในหลายประเทศ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมหนังกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รัฐบาลและภาคเอกชนของหลายประเทศจึงออกมาตรการช่วยเหลือแบบเร่งด่วน โดยเฉพาะแก่บุคลากรจำนวนมากที่ต้องขาดรายได้ในช่วงนี้ มาดูกันว่ามีประเทศอะไรกันบ้าง

สหรัฐอเมริกา

– ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา เรื่องแนวปฏิบัติของสถานที่ขนาดใหญ่ (Big Venue) หากมาตรการล็อคดาวน์เริ่มผ่อนคลาย โดยกำหนดว่าสถานที่เหล่านี้ ซึ่งรวมถึงโรงหนังด้วย จะเปิดได้ก็ต่อเมื่อดำเนินการตามข้อปฏิบัติสองระยะ ระยะแรก สถานที่ขนาดใหญ่เหล่านี้ต้องดำเนินมาตรการเว้นระยะทางร่างกายอย่างเข้มงวด (strict physical distancing) หากทำได้ โรงหนังก็สามารถเปิดได้ หรือไม่ก็ต้องรอจนถึงระยะที่สอง เมื่อระดับความเข้มข้นลดลงจนเหลือแค่ระดับเว้นระยะแบบพอดี (moderate physical distancing protocal) แม้ว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวยังไม่ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่ก็ทำให้โรงหนังหลายแห่งเริ่มมีความหวังว่าอาจจะกลับมาเปิดได้อีกครั้งในไม่ช้า

– สตีเว่น โซเดอเบิร์ก ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังอาทิ Ocean’s 11 และหนังเกี่ยวกับโรคระบาดซึ่งถูกพูดถึงในช่วงเวลานี้อย่าง Contagion ได้ร่วมกับคณะกรรมการสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์อเมริกา (Director Guild of America) ร่วมกันศึกษาหาแนวทางถึงความเป็นไปได้ที่ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะเริ่มกลับมาทำงานกันอีกครั้ง โดยจะดึงเอานักระบาดวิทยามาช่วยทำการประเมินด้วย เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยเมื่อต้องกลับมาถ่ายทำหนังอีกครั้ง

– สถาบันซันแดนซ์แห่งเทศกาลหนังซันแดนซ์ ได้ตั้งกองทุนฉุกเฉินเร่งด่วนจำนวนหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยเหลือนักทำหนังอิสระ โดยในจำนวนนี้หนึ่งในสามมอบให้แก่ศิลปินที่ทางสถาบันได้คัดเลือก และอีกสองในสามมอบให้แก่นักทำหนังอินดี้อิสระที่ประสบปัญหา ผ่านองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ

– Netflix ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งทรงอิทธิพล ประกาศมอบเงินสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 50 ล้านเหรียญ รวมเป็น 150 ล้านเหรียญ (Netflix ได้บริจาคเงินจำนวน 100 ล้านมาแล้วเมื่อเดือนมีนาคม) เพื่อช่วยบุคลากรสายโปรดักชั่นโปรเจกต์ต่างๆ ของบริษัทที่ต้องหยุดงานตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดเป็นต้นมา นอกจากนี้ Netflix ยังบริจาคเงินให้แก่หน่วยงานทางด้านภาพยนตร์ของประเทศต่างๆ ประเทศละหนึ่งล้านเหรียญ สำหรับนำไปใช้เยียวยาเบื้องต้นแก่บุคลากรในสายภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute) สภาการภาพยนตร์แห่งอิตาลี (Italian Film Commission) และสมาคมผู้อำนวยการสร้างแห่งประเทศอินเดีย (Producers Guild of India) เป็นต้น

ไอร์แลนด์

องค์กรสนับสนุนและส่งเสริมภาพยนตร์ประเทศไอร์แลนด์ หรือ Screen Ireland เผยว่าทางองค์กรได้เตรียมขยายกรอบวงเงินจำนวน 4.25 ล้านยูโร เพื่อให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ของประเทศไอร์แลนด์ อนึ่ง รัฐบาลไอร์แลนด์ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมมาโดยตลอดผ่านองค์กร Screen Ireland แม้สถานการณ์ไวรัสโควิด 19 จะส่งผลให้กิจกรรมทางด้านการผลิตต้องหยุดชะงักก็ตาม

สหราชอาณาจักร

องค์กรและหน่วยงานเพื่อการกุศลต่างๆ ได้มีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ เริ่มที่สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ หรือ British Film Institute ได้ใช้กองทุนสลากกินแบ่งแห่งชาติจำนวนหนึ่งล้านสามแสนปอนด์ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจโรงหนังทั่วประเทศที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากคำสั่งปิดโรงหนังของรัฐบาล โดยผู้ประกอบการโรงหนังสามารถลงทะเบียนขอรับทุนได้ตั้งแต่ตอนนี้ ขณะที่องค์กรการกุศลสำหรับภาพยนตร์และโทรทัศน์ (The Film and TV Charity) ได้กันเงินจำนวนสองล้านห้าแสนปอนด์ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรที่มีอาชีพอิสระจากทั้งภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ ได้ทำการกู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยด้วยจำนวนเงินไม่เกินสองพันปอนด์ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องใช้คืนภายในสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งเงินก้อนนี้จะช่วยประทังชีวิตของเหล่าฟรีแลนซ์ในระหว่างที่รอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลซึ่งจะออกในเดือนมิถุนายนนี้