Laurence Anyways …สไตล์จัดแค่ไหนก็ไม่ไกลเกินเรื่อง

Laurence Anyways เป็นงานกำกับเรื่องที่ 3 ของเด็กไฟแรง ซาเวียร์ โดลอง ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ชวนกระอักกระอ่วนของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ซึ่งก็ไปกันด้วยดีจนกระทั่งฝ่ายชายมาสารภาพว่าอยากแปลงเพศ หนังเล่าเรื่องในห้วงเวลาสิบปี นับจากกลางยุค 80 ถึง 90 และเพราะงี้เองเลยทำให้หนังมาพร้อมสไตล์สุดจัดจ้าน ตั้งแต่แฟชั่นร่วมยุคกับจริตเก๋ๆ แบบโดลอง

1. จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นระหว่างนั่งรถกลับจากกองถ่าย I Killed My Mother กับผู้ช่วยฝ่ายเสื้อผ้า แล้วเธอเล่าให้ฟังว่าแฟนหนุ่มของเธอมาสารภาพว่าจะแต่งหญิง จากนั้นไอเดียของโดลองก็เตลิดไปไกล กลับมาเขียนโน่นนี่ไปเรื่อยจนได้ 30 หน้า เขาก็นึกขึ้นได้ว่า “เวรกรรม งี้ชั้นจะกลับไปทำ I Killed My Mother ต่อได้ไง” โดลองเลยเขียนแค่ฉากเปิดกับฉากปิดแล้วทิ้งมันไว้เพื่อกลับไปทำหนังที่ต้องทำต่อ

2. โดลองเขียน Laurence Anyways ด้วยแพชชั่นของคนที่โคตรโรแมนติก -เขานิยามตัวเองแบบนั้น- ในโหมดซูเปอร์แฟนหนัง Titanic คนที่เกิดร่วมรุ่นกับเขาคงนึกออกว่าหนังเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อยุคสมัยยังไง โดลองบอกว่า ผกก. เจมส์ คาเมรอน กำลังคุยกับคนทั้งโลกว่าหนังสามารถทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ แต่สุดท้ายศูนย์กลางของมันก็คือชีวิตคน “หนังเรื่องนี้ติดปีกให้ผมโบยบิน สิ่งที่ผมเรียนรู้จากมันคือ หนังเป็นสื่อที่นำเสนอชีวิต แต่ขณะที่เรามีชีวิตเพื่อใช้ชีวิต หนังก็มีเพื่อหลบหนีบางอย่างด้วยในที”

3. Titanic ยังทำให้โดลองเชื่อในความรักที่เป็นไปไม่ได้ด้วย อย่าง I Killed My Mother หนังเรื่องแรกของเขาว่าด้วยความรักระหว่างแม่กับลูกชาย, Heartbeats พูดถึงรักสามเส้า และ Laurence Anyways คือรักที่ถูกกำแพงเพศสภาพกั้นกลาง

“หนังเรื่องนี้ติดปีกให้ผมโบยบิน สิ่งที่ผมเรียนรู้จากมันคือ หนังเป็นสื่อที่นำเสนอชีวิต แต่ขณะที่เรามีชีวิตเพื่อใช้ชีวิต หนังก็มีเพื่อหลบหนีบางอย่างด้วยในที”

4. บางคนคิดว่าสาเหตุที่โดลองกำหนดช่วงเวลาของหนังให้เกิดในยุค 80-90 เพราะเขาอยากจะใส่แฟชั่นจัดจ้านและโชว์โปรดักชั่นย้อนยุค เขาบอกว่าจะบ้าเหรอ แฟชั่นยุคนั้นหายนะจะตาย แต่ที่หยิบช่วงเวลานั้นมาเล่าเพราะบริบททางสังคมยุคนั้นมันทำให้ความรักของลอว์เรนซ์ (พระเอก) กับเฟร็ด (นางเอก) ยิ่งเป็นไปไม่ได้ต่างหาก “ผมเกิดปี 1989 และโตในยุค 90 แต่ผมไม่ได้อยากให้ตัวละครใส่เสื้อผ้าน่าเกลียดๆ ไหล่พองฟูสยดสยองนั่นหรอกนะ แต่บริบททางสังคมและการเมืองในช่วงนั้นมันเหมาะที่จะเล่าเรื่องนี้ มันเป็นช่วงที่สังคมกำลังพัฒนา มอมเมาผู้คนด้วยความหวังที่จะมีชีวิตที่ดี เกิดการทลายกำแพงเบอร์ลินควบคู่ไปกับความระแวดระวังเรื่องโรคเอดส์ที่ทำให้สังคมมีอคติต่อกะเทย สำหรับลอว์เรนซ์มันคือช่วงที่เหมาะสำหรับการเปลี่ยนแปลงของเขา ส่วนผมมันคือความทรงจำที่ผมเติบโตมากับมัน”

5. โดลองยอมรับว่าเขามีความเลื่อนไหลทางเพศ แต่เขาไม่เคยระบุว่าตนเองเป็นเกย์หรือเป็นเพศไหนทั้งสิ้น เช่นกันกับการเล่าเรื่อง ทรานส์เจนเดอร์ใน Laurence Anyways ที่สุดท้ายแล้วมันก็คือหนังรัก “สำหรับผม เพศที่เปลี่ยนแปลงคือการเปรียบเปรยที่ดีที่สุดของความรักระหว่างคนสองคนกับสังคมที่แปลกแยกของพวกเขา”


ดู Laurence Anyways ได้ที่ Mubi

นคร โพธิ์ไพโรจน์
ริจะเบนเส้นทางไปเป็นไลฟ์โค้ชด้านการลดน้ำหนัก แต่เฟลเลยกลับมาเขียนบทความหนังไทยเหมือนเดิม

RELATED ARTICLES