The Mudguard and A Lonely Monkey

(2020, วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์)

ในบทความ กำเนิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่าน “จินตกรรมรัฐสยามทางศิลปะ” โดย ชาตรี ประกิตนนทการ เสนอให้เห็นถึงกระบวนการสร้างรัฐ (state formation) ผ่านโครงการระยะยาวของชนชั้นนำสยามในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 25 ที่พยายามสำรวจและรวบรวมข้อมูลศิลปวัตถุ รวมถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์ตามหัวเมืองต่างๆ ทำให้เกิดเครื่องมือของรัฐที่เป็นองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี

ชาตรีเรียกกระบวนการดังกล่าวว่าจินตกรรมรัฐสยามทางศิลปะ ซึ่งกลุ่มสยามหนุ่มที่นำโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพยายามเปลี่ยนแปลงรัฐ (state transformation) จากรัฐจารีตมาสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในยุคสมัยของพระองค์มีการเปลี่ยนผ่านโลกทัศน์ที่มีต่อศิลปวัตถุ หรือวัฒนธรรมกรมอง (visual culture) จากวัตถุศักดิ์สิทธิ์ หรือความจริงเหนือโลก มาเป็นการมองแบบวิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่บน เหตุผลนิยม สัจนิยม หรือมนุษยนิยม ซึ่งชนชั้นนำสยามมองว่าศิลปวัตถุ (และวัตถุศักดิ์สิทธิ์) เหล่านี้กลายมาเป็น “ทุน” ในการสร้างจักรวาลจำลอง ไม่ต่างจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พยายามรวบรวมศิลปะของอาณาจักรโรมันในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการก่อตั้งสมาคมทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับแวดวงประวัติศาสตร์ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะ ถึง 2 สมาคม รวมถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ยังเสนอเค้าโครงหลักการจัดแบ่งยุคสมัยของ “ศิลปะในประเทศไทย” ในพระนิพนธ์เรื่องตำนานพุทธเจดีย์สยาม (พ.ศ. 2469) ซึ่งพระองค์ได้ร่วมมือกับศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการอ่านจารึกอุษาคเนย์ ชาวฝรั่งเศส ในการปรับปรุงการจัดแสดง ทำให้พิพิธภัณฑสถาน ไว้รวบรวมสงวนรักษาโบราณศิลปวัตถุ

งานเขียนประวัติศาสตร์สกุลดำรง-เซเดส์ นี่เองที่มีส่วนสำคัญในการสถาปนาภาพฝันแบบสุขนาฏกรรมของชนชั้นนำสยามที่ว่าอาณาจักรลพบุรีสามารถสืบเนื่องร้อยเรียงไปถึงอาณาจักรอยุธยา และนำไปผูกโยงกับรัฐไทยได้อย่างสมบูรณ์ หรือกล่าวอีกแบบประวัติศาสตร์สกุลดำรง-เซเดส์พยายามทำเขมรให้เป็นลพบุรี (siamization) ด้วยการอ้างว่าเมืองละโว้ หรือลพบุรีเป็นเมืองสำคัญในขณะนั้น แต่แท้จริงแล้ว ศิลปวัตถุแบบ “ลพบุรี” กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ทั้งแถบตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐไทย

นอกจากนี้ยังพบว่าศิลปวัตถุแบบ “ลพบุรี” ที่พบแถบที่ราบสูงโคราช หรือีสานใต้ มีอายุเก่าแก่กว่าที่พบในลพบุรีเสียอีก เอาเข้าใจ ณ ขณะที่กรมพระยาดำรงฯ และยอร์ช เซเดส์เริ่มร่างเค้าโครงประวัติศาสตร์ศิลปะก็ยังไม่ได้มาสำรวจบปราสาทขอมในดินแดนภาคอีสานเสียด้วยซ้ำ

ศิลปะแบบลพบุรีจึงถูกทำให้มีเส้นกั้น (boundary) กับศิลปะเขมร และถือว่าศิลปะลพบุรีเป็นของ “ลอกเลียนแบบ” มาจากศิลปะเขมรที่มีศูนย์กลางในพื้นที่รัฐกัมพูชา หรือเป็นศิลปะผสมระหว่างขอมกับทวารวดี ถึงแม้ว่าพิริยะ ไกรฤกษ์ จะเสนอให้เปลี่ยนชื่อเรียก “ศิลปะลพบุรี” มาเป็น “ศิลปะเขมร” ตามเชื้อชาติ

The Mudguard and a Lonely Monkey สารคดีบันทึกการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อทำภาพยนตร์ขนาดยาว เรื่อง From the Muddy Banks of Chee River ของ วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ แต่ด้วยความไม่สำเร็จในการระดมทุนทำภาพยนตร์ขนาดยาวเขาจึงได้ทำสารคดีบันทึกเบื้องหลัง หนังเริ่มด้วยภาพขาวดำมุมจากด้านในของรถ วิชชานนท์เดินเข้ามาล้างกระจกรถ รถคันนี้เองที่เขาและเพื่อนใช้ในการขับตระเวนไปทั่วจังหวัดขอนแก่นเพื่อสำรวจประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าขนาดเล็กหลังจากกลับมาอยู่ที่ภูมิลำเนา

หลังจากนั้นเขาและเพื่อนไปชมโบราณสถานศิลปะ “ลพบุรี” ได้แก่ กู่แก้วที่ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น และกู่ประภาชัยที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2478 ความน่าสนใจคือมีความวัดกู่ประภาชัยมาสร้างข้างปราสาทขอม มีชาวบ้านเอาพระพุทธรูปไปตั้งไว้ในโบราณสถานเพื่อสัการะ รวมถึงบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกนำน้ำไปประกอบพระราชพิธีในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรถึง 3 ครั้ง และครั้งล่าสุดพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 10 (วิชชานนท์ถ่ายภาพไว้ในช่วงนั้น)

ฉากที่เพื่อนของวิชชานนท์ขึ้นไปยืนบนเนินดินประหนึ่งการกระกาศอำนาจของคนสามัญเหนือซากปรักหักพังของวัฒนธรรมเขมรจึงเป็นฉากที่น่าสนใจ รวมถึงป้ายจากกรมศิลปากรที่บอกว่าถ้าหากจะถ่ายภาพเคลื่อนไหวและถ่ายภาพงานแต่งงานที่โบราณสถานต้องขออนุญาตก่อน จึงชวนให้ตั้งคำถามว่าซากปรักหักพังเหล่านั้นเป็นของใครกันแน่ ผู้ใดเป็นเจ้าของ รัฐไทย รัฐกัมพูชา หรือชาวบ้านในพื้นที่

อย่างไรก็ดี มุรธาภิเษก เป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลักฐานการบรมราชาภิเษกปรากฏในไทย หลักฐานที่เห็นชัดสุดจากศิลาจารึกปากน้ำมูล ซึ่งเป็นของพระเจ้ามเหนทรวรมันกษัตริย์แห่งอาณาจักรเจือนเลอ (เจนละ) สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 12 ซึ่งเมืองสุโขทัยก็รับเอาคติของเขมรเข้ามาใช้โดยเฉพาะสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ รวมไปถึงเมืองอื่นๆ ได้แก่ เพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี และอยุธยา ต่างก็ได้รับอิทธิพลเขมรมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16-17 แล้ว (ผู้นำตระกูลจากสี่เมืองนี้ก็แก่งแย่งกันเป็นใหญ่ สุดท้ายอยุธยามีอำนาจเหนือเมืองต่างๆ คนจีนเรียกแถบนี้ว่า “เสียน” ชาวโปรตุเกสเพี้ยนไปเป็นสยาม)

ฉากที่เพื่อนของวิชชานนท์ขึ้นไปยืนบนเนินดินประหนึ่งการกระกาศอำนาจของคนสามัญเหนือซากปรักหักพังของวัฒนธรรมเขมรจึงเป็นฉากที่น่าสนใจ รวมถึงป้ายจากกรมศิลปากรที่บอกว่าถ้าหากจะถ่ายภาพเคลื่อนไหวและถ่ายภาพงานแต่งงานที่โบราณสถานต้องขออนุญาตก่อน จึงชวนให้ตั้งคำถามว่าซากปรักหักพังเหล่านั้นเป็นของใครกันแน่ ผู้ใดเป็นเจ้าของ รัฐไทย รัฐกัมพูชา หรือชาวบ้านในพื้นที่ หลังจากนั้นวิชชานนท์และเพื่อนก็ไปดูพิพิธภัณฑ์ที่รัฐไทยเก็บศิลปวัตถุขอมเอาไว้ในครอบครอง ประกาศว่าพวกเขามีกรรมสิทธิ์ในวัตถุที่เป็นทุนของเขาในการสร้างองค์ความรู้ในตำราประวัติศาสตร์ทางการซึ่งผนวกเอาเขมรเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย

ต่อมาวิชชานนท์และเพื่อนไปร่วมงาน To The Root “หยั่งถึงราก” โดย Chris Beale ช่างภาพชาวอเมริกันผู้เดินทางทั่วภาคอีสาน เพื่อเก็บภาพผ่านเสียงดนตรีหมอลำพื้นบ้าน งานภาพถ่ายที่ถูกนำมาแสดงและกระบวนการสร้างงานคล้ายกับการศึกษาชาติพันธุ์วรรณา (Lean Ethnography) ของนักมนุษยวิทยาชาวอเมริกันที่เข้ามาศึกษาในอีสานช่วงสงครามเย็น Beale ผู้มีภรรยาเป็นหญิงสาวอีสาน เขามีความต้องการศึกษาที่มาของดนตรีหมอลำที่เขาหลงรัก

Beale ทำให้เกิดภาพเช่นเดียวกับ Terry Miller นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอินเดียนาที่มาทำวิทยานิพนธ์ระหว่างปี 2515 – 2516 เขาเขียนหนังสือ Traditional Music of the Lao ซึ่งเสนอว่าหมอลำมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เกิดจากความเชื่อวิญญาณนิยม พุทธศาสนา การอ่านหนังสือผูก (วรรณกรรมพื้นบ้านที่จารึกลงใบลาน) พิธีกรรมเพื่อบำบัดโรคภัยและขอความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร และการร้องเพลงเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว

หมอลำได้เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ทางการเมืองนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18-19 เมื่อสยามขยายอำนาจเข้ามาในดินแดนลาว แม้สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงโปรดแคนเป็นพิเศษ แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสั่งห้ามแสดงหมอลำในที่สาธารณะเนื่องจากเป็นภัยต่อวัฒนธรรมไทยและทรงเชื่อว่าทำให้เกิดภัยแล้ง ต่อมาในปี ค.ศ. 1950-1960 หมอลำได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อให้ชาวอีสานต่อต้านคอมมิวนิสต์

มาถึงปัจจุบันหมอลำได้ผสมผสานเข้ากับดนตรีตะวันตก ทำให้หมอลำพื้นบ้านอย่างการแสดงของหมอลำแบงค์และหมอแคนบัวตอง (ที่วิชชานนท์ได้ถ่ายภาพไว้) ก็ยังเป็นของแปลกสำหรับคนไทยต่างภูมิภาคและชาวต่างชาติ แต่ที่สำคัญคือ หมอลำพื้นบ้านแทบไม่มีที่ทางสำหรับงานพิธีไทยบ้านอีกต่อไป หมอลำพื้นบ้านได้ถูกเอามาไว้จัดแสดงในพื้นที่แสดงและเสพศิลปะของชนชั้นกลาง ฉากที่น่าสนใจคือวิชชานนท์ถ่ายภาพจากมุมสูงของแกลลอรี่ลงมาจับภาพชีวิตชนชั้นล่างที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับหมอลำพื้นบ้านในฐานะความเชื่อวิญญาณนิยมในสังคมเกษตรกรรมแบบเดิมอีกต่อไป แต่หมอลำในปัจจุบันที่ผสานกับดนตรีตะวันตกกลับมีเนื้อหาให้กำลังใจชนชั้นล่างในสังคมทุนนิยม

หมอลำพื้นบ้านแทบไม่มีที่ทางสำหรับงานพิธีไทยบ้านอีกต่อไป หมอลำพื้นบ้านได้ถูกเอามาไว้จัดแสดงในพื้นที่แสดงและเสพศิลปะของชนชั้นกลาง ฉากที่น่าสนใจคือวิชชานนท์ถ่ายภาพจากมุมสูงของแกลลอรี่ลงมาจับภาพชีวิตชนชั้นล่างที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับหมอลำพื้นบ้านในฐานะความเชื่อวิญญาณนิยมในสังคมเกษตรกรรมแบบเดิมอีกต่อไป แต่หมอลำในปัจจุบันที่ผสานกับดนตรีตะวันตกกลับมีเนื้อหาให้กำลังใจชนชั้นล่างในสังคมทุนนิยม

ต่อมาวิชชานนท์ได้ถ่ายภาพกิจกรรมเก็บมะม่วงและขนุน มดที่ไต่เป็นแถวบนต้นไม้ คนไล่ฝูงควายในทุ่งนาแล้งหน้าร้อน และฝูงลูกปลาในน้ำแห้งขอด ประหนึ่งว่าเขาบันทึกซากสังคมอีสานแบบดั้งเดิมที่ยังคงเหลืออยู่ เขาเน้นย้ำถึงแม่น้ำชีที่หล่อเลี้ยงชุมชนของเขาราวกับว่าภาพที่เราเห็นเป็นดอกผลของพระแม่คงคา สังคมอีกสานก่อนที่สยาม จีน (เขาถ่ายโอ่งจีนที่ถูกทิ้งไว้) ชาติตะวันตก (เขาถ่ายบึงสีฐานที่มีต้นหญ้าขึ้นสูงตัดภาพกับตึกรามบ้านช่องที่สร้างมากมายหลังจากถนนมิตรภาพตัดข้ามาที่ขอนแก่นสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) และอินเดียเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่

หลังจากนั้นวิชชานนท์และเกียรติพงษ์ ลงเย (ผู้กำกับ ข้าวแลง, 2017) พาเราไปพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2513 ในช่วงสงครามเย็น หน่วยสำรวจธรณีวิทยาจากสหรัฐอเมริกา ได้เข้าไปสำรวจแหล่งแร่ในพื้นที่เทือกเขาภูเวียง และบังเอิญพบเจอได้ค้นพบซากกระดูกขาหลังท่อนบนด้านซ้ายของไดโนเสาร์ซอริสเชีย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2525 ค้นพบวกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอด ยุคครีเตเชียสตอนต้น และถูกตั้งชื่อ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ นี่จึงเป็นอีกครั้งที่รัฐไทยได้สร้างองค์ความรู้ทับลงไปบนประวัติศาสตร์ของสิ่งอื่นไม่ต่างจากปราสาทขอม

ความน่าสนใจคือภาพจากกล้องวิชชานนท์ใช้สีขาวดำ (เช่นเดียวกับในฉากที่พิพิธภัณฑ์ขอม) ในขณะที่ภาพจากกล้องเกียรติพงษ์เป็นภาพสี จนกระทั่งวิชชานนท์กลับมุมกล้อง (upside down) ภาพจึงออกมาเป็นสี รวมถึงฉากที่ถ่ายใน “สวนไดโนเสาร์” เขาใช้ดนตรีประกอบอีสานไซเคเดลิกร็อกซึ่งสร้างความน่าพรั่นพรึงขณะจับภาพไดโนเสาร์ราวกับว่ามันกำลังมีชีวิตเช่นเดียวกับ Song of the City ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ถัดมาเป็นช่วงโฆษณาน้ำยาล้างบ้องกัญชาที่วิชชานนท์ทำให้เพื่อน เขาสูดกัญชาไปหนึ่งบ้องก่อนจะสร้างงานศิลปะสําแดงพลังอารมณนามธรรม (Abstract Expressionism) ที่ใช้เทคนิคการหยดสีลงบนกระดาษซึ่งศิลปะกลุ่มนี้จะละเลยต่อการควบคุมของจิตสำนึก และวาดโดยภวังค์อัตโนมัติ ความน่าสนใจคือจุดที่เป็นสีเขียวในที่มืด แต่เมื่อสว่างจุดเหล่านั้นกลายเป็นสีเหลืองส้ม รวมถึงภาพศิลปะได้กลายเป็นฉากให้กับหนังบันทึกการแสดงดนตรีอีสานไซเคเดลิกร็อกอีกที และภาพบันทึกการสร้างงานศิลปะก็ถูกฉายบนโทรทัศน์ที่ถูกบันทึกภาพไว้และถูกฉายบนจอของผู้ชม นี่จึงสะท้อนถึงการซ้อนทับของเรื่องเล่าหลายชั้นที่กดทับลงบนคนอีสานที่กำลังเล่นดนตรีอีสานร่วมสมัย ด้วยสีเขียว (ซึ่งอาจหมายถึงกองทัพ)

ในตอนสุดท้ายวิชชานนท์นั่งรถไปกับพี่ของเขาซึ่งเล่าถึง “เกิดมาลุย” ภาพยนตร์ของพันนา ฤทธิไกร ว่าได้มาใช้พื้นที่ในอำเภอเมืองขอนแก่นเป็นฉากหลัง ตัวภาพยนตร์เล่าถึงอีสานในช่วงพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ที่พยายามแก้ไขปัญหายาเสพติดและคอมมิวนิสต์ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบซึ่งใช้ระบบราชการมาครอบทับสังคมด้วยการจัดการเชิงนโยบาย และไม่อาจแก้ปัญหาเศรษฐกิจรวมถึงสร้างความชอบธรรมทางการเมืองได้ ระบอบนี้ไม่ได้ประนีประนอมอำนาจราชการกับเอกชนหรือนักการเมือง แต่เป็นการใช้อำนาจของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ในการสร้างอำนาจครอบงำผ่านแนวคิดราชาชาตินิยม ถึงแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (กชช.) เข้ามาจัดการปัญหาความยากจนในอีสาน (ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้คนอีสานสนับสนุนคอมมิวนิสต์) แต่ก็ขาดความสมดุลไม่สามารถลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนได้

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ได้ทำให้พลเอกเปรมสร้างฐานสนับสนุนภายในกลไกราชการ สมดุลอำนาจระหว่าง ทหาร เทคโนแครต นักการเมือง และนักธุรกิจ จัดสรรอำนาจภายในกองทัพ และมีการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างระบบเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกซึ่งเป็นการประสานงานระหว่างรัฐและเอกชนและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากให้ค่านิยมสังคมไทยไม่เชื่อถือในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

การตกลง Plaza Accord ในปี พ.ศ. 2528 ได้ทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้น มีการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศมาที่ไทย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ นี่ทำให้สถานการทางเศรษฐกิจในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ขยายตัวอย่างมาก ด้วยความร่วมมือของรัฐบาลพลเอกเปรมกับจีน ประกอบกับความขัดแย้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ระหว่างผู้นำพรรคและนักศึกษา พรรคคอมมิวนิสต์จีนเลิกให้การสนับสนุน พคท. นักศึกษาเริ่มออกจากป่าก่อนการออกคำสั่ง 66/2523 นี่จึงนำไปสู่การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย และดึงผู้ที่เคยสนับสนุนสังคมนิยมเข้าสู่ระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์อย่างสมบูรณ์

วิชชานนท์พาเราไปชมนิทรรศการ LOOK ISAN NOW : ลูกอีสานวันนี้ ซึ่งจัดที่ห้องแกลเลอรี ชั้น 1 TCDC ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม–26 กรกฎาคม 2563 เขาบันทึกภาพในช่วงที่ผู้คนเริ่มใส่หน้ากากอนามัยจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ก่อนที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะพังทลายในไม่กี่สัปดาห์ คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นชนชั้นแรงงาน พร้อมๆ กันกับภาพอนาคตของอีสานที่ TCDC ได้ฉายให้เห็นในนิทรรศการผ่านโครงการมากมายเช่น โครงการรถไฟทางคู่ ที่เชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และที่ขำไม่ออกคือเชื่อมไปที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน แหล่งระบาดของเชื้อไวรัส

เขาจับจ้องนิทรรศการที่นำเสนอภาพรถไฟอัจฉริยะจำลองที่กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ขอนแก่น ป้ายนิทรรศการที่มีข้อความราวกับเป็นโฆษณาชวนเชื่อ ได้แก่ “ทุกที่มีโอกาส” “โอกาสในการกระจายสินค้า” “เทศกาลแห่งความม่วน” ซึ่งนำเสนอการประยุกต์ประเพณีผีตาโขนให้เข้ากับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ภาพกลุ่มคนแต่งตัวในชุดผีตาโขนที่ถูกออกแบบให้ร่วมสมัยเต้นระบำอย่างมีความสุข “สร้างเมืองให้เป็นเมืองสร้างสรรค์” “ธุรกิจ vs ชุมชน” การทำโฮมสเตย์ “ความท้าทายของลูกอีสานวันนี้” “ซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งไอเดีย” “เปลี่ยนเพื่ออนาคต” หรือ “บ่มีอีหยังเป็นไปบ่ได้”

ฉากสุดท้ายวิชชานนท์พาเรากลับไปที่โบกี้รถไฟฟ้าแห่งอนาคตจำลองที่จะเชื่อมต่ออีสานกับทุนนิยมโลกผ่านวาทกรรมของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ผู้คนในโลกสมัยใหม่ต้องการอะไรแปลกใหม่ตลอดเวลา รถไฟขบวนนั้นกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น นั่นทำให้ย้อนนึกไปถึงทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยรัฐบาลกษัตริย์อ้างว่าเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งผู้คนและสินค้า และเพื่อประโยชน์ในการปกครองและรักษาพระราชอาณาเขต และอีกเหตุการณ์ที่ผู้เขียนนึกถึงภาพพิธีเปิดใช้ถนนมิตรภาพ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2501 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (เริ่มสร้างสมัยจอมพล ป.) รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือ จากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐ (USOM)

ข้อความต่างๆ ในนิทรรศการกระตุ้นให้เกิดข้อสงสัยในใจผู้เขียนพอๆ กับป้าย “กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวมีอยู่จริง”ที่แยกราชประสงค์ ทุ่งสังหารคนเสื้อแดงในการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ พ.ศ. 2553 ในฉากสุดท้ายของ สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย (In April the Following Year, There Was a Fire) เพราะคำถามที่ตามมาคือ ชีวิตที่ดี คือชีวิตของใคร และป้ายโฆษณาชวนเชื่อที่ TCDC ขอนแก่น ว่า “โอกาส” เหล่านั้น คือโอกาสของใครกันแน่


ท่านที่สนใจชมภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ localpeoplestudio@gmail.com


อ้างอิง
– คริส เบเคอร์. ผาสุก พงษ์ไพจิตร. 2561. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. สำนักพิมพ์มติชน
– ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล. 2563. ประวัติศาสตร์นิพนธ์วิพากษ์ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง กำเนิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิ­ราชย์กับกระฎุมพีราชการ : ทัศนะและข้อสังเกตต่อ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย (ตอน 1). ฟ้าเดียวกัน
– ชาตรี ประกิตนนทการ. 2562. กำเนิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่าน “จินตกรรมรัฐสยามทางศิลปะ”. ฟ้าเดียวกัน
– อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ. 2563. เปรมาธิปไตย: การเมืองไทยระบอบไฮบริด. ILLUMINATIONS EDITION

กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ
ทำงานด้านสาธารณสุขอยู่แถบอีสานใต้ งานอดิเรกคือเขียนถึงงานศิลปะและภาพยนตร์

LATEST REVIEWS