Business Update : คานส์+เวนิซ / โรงหนังไดรฟ์อิน / เวอร์ชวลซีเนม่า

ในรอบสัปดาห์มีความเคลื่อนไหวในธุรกิจภาพยนตร์โลกที่น่าสนใจหลายเหตุการณ์ ไล่เรียงดังนี้

คานส์จับมือเวนิซ : ความเป็นไปได้ที่ติดลบ

แม้ เธียร์รี เฟรโมซ์ ผู้อำนวยการเทศกาลหนังเมืองคานส์จะประกาศว่า ปีนี้เทศกาลต้องเลื่อน (เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสห้ามจัดงานที่มีคนไปชุมนุมกันจนถึงเดือนกรกฎาคม) แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะยกเลิกการจัดไปเลย หรือจะแก้ปัญหาด้วยการจัดแบบ Virtual Festival (เทศกาลออนไลน์) เขาเพียงบอกว่า กำลังแสวงหา “ทางเลือก” เพื่อให้เทศกาลได้จัดต่อไป

และหนึ่งในทางเลือกที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็คือ การไปจัดร่วมกับเทศกาลหนังนานาชาติเวนิซเสียเลย!

“ตอนที่เริ่มวิกฤตใหม่ๆ ผมกับ อัลแบร์โต บาร์เบรา ผู้อำนวยการเทศกาลหนังเวนิซ เคยคุยเรื่องความเป็นไปได้ที่จะทำอะไรร่วมกัน จนถึงตอนนี้เราก็ยังคุยกันอยู่” เฟรโมซ์กล่าวกับนักเขียนของ Variety เมื่อกลางเมษายนที่ผ่านมา โดยไม่ได้อธิบายว่าอัลแบร์โตมีท่าทีอย่างไร จากนั้น 5 วันต่อมา โรแบร์ติ ชิคัทโต ประธานของเวนิซเบียนาเล่ (ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของการจัดเทศกาลหนังเวนิซ) ก็ออกมาแสดงจุดยืนว่า เทศกาลที่เวนิซจะยังคงจัดตามกำหนดต่อไป คือ 2- 12 กันยายน แต่ความร่วมมือกับคานส์ในตอนนี้ยังไม่มีการพูดถึง

“จริง ๆ ทุกอย่างก็เป็นไปได้หมดนั่นแหละ เพียงแต่ผมรู้สึกกระอักกระอ่วนที่เฟรโมซ์มักชอบพูดว่ากำลังดูสถานการณ์ แต่ไม่ยอมชี้ชัดว่าต้องการทำอะไรกันแน่” ชิคัทโตบอก ซึ่งถ้าลองวิเคราะห์ดูแล้ว ดูเหมือนความเป็นไปได้ที่เทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกสองเทศกาลจะมาร่วมมือกันนั้น ไม่เพียงแค่เป็นศูนย์ แต่อาจจะติดลบหลายจุดเลยด้วยซ้ำ

อ้างอิง
Venice Film Festival Going Forward, No Collaboration With Cannes Planned
Cannes Director Talks Solidarity Between Festivals, Fall Bow


แนวโน้มเกิดใหม่ของโรงหนังไดรฟ์อิน

ในช่วงที่วิกฤตโควิดบีบให้โรงหนังตามขนบต้องปิดตัวลง ก็มีผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มเอารูปแบบการฉายนอกขนบแบบ “โรงหนัง Drive In” ( ซึ่งเคยได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 1950) กลับมาลองให้บริการ และปรากฏว่าประสบความสำเร็จในหลายประเทศ ตั้งแต่ เกาหลีใต้ ตามมาด้วยเยอรมนี และล่าสุดคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระจายไปหลายเมือง มีราคาตั๋วตั้งแต่ 7 จนถึง 20 เหรียญ

เหตุผลสำคัญที่ทำให้โรงหนังไดรฟ์อินกลับมาฮิตก็คือ ลักษณะการจัดฉายที่ตอบโจทย์ social distancing ได้ดีที่สุด แม้แต่ แอนดริว คิวโอโม นายกเทศมนตรีนิวยอร์กยังแบะท่าพิจารณาเตรียมอนุญาตให้โรงหนังไดรฟ์อินฉายหนังในช่วงเวลาวิกฤตได้

ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า โรงหนังแบบนี้จะกลายมาเป็นทางเลือกสำคัญหลังวิกฤตหรือไม่ ซึ่งหลายฝ่ายยังมองว่า มันเป็นธุรกิจที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง จนทำให้ในระยะยาวอาจไปไม่รอด เช่น เงื่อนไขของเวลาการฉาย ที่จะทำได้หลังจากพระอาทิตย์ตกไปแล้ว (เท่ากับว่า โอกาสทำเงินมีเพียงไม่กี่รอบเท่านั้นต่อวัน), ถ้าเกิดภัยธรรมชาติที่คาดไม่ถึงอย่างพายุฝน ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจะกำไร และที่สำคัญที่สุดคือ สตูดิโอใหญ่คงไม่อนุญาตให้โรงไดรฟ์อินฉายหนังใหม่แน่นอน เนื่องจาก ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งกับโรงหนังตามขนบ

เท่ากับว่า เมื่อโรงตามขนบกลับมาเปิดเป็นปกติ และหนังฟอร์มใหญ่กลับมาฉายอีกครั้ง โรงไดรฟ์อินก็คงทยอยหายไปโดยอัตโนมัติ

อ้างอิง
Drive-In Theaters May Help Save the Movie Industry
Amid COVID-19, drive-in movies are popping up around the Valley
Drive-in movies are proving popular in a pandemic—just like 70 years ago


Virtual Cinema กลยุทธ์ค่ายหนังช่วยโรงหนัง

วิกฤตโควิด-19 ทำให้โรงหนังทั่วอเมริกาต้องปิดตัวลง ส่งผลให้บุคลากรจำนวนมากต้องตกงานและขาดรายได้ไป มีความพยายามช่วยเหลือหลายรูปแบบทั้งการจัดงานการกุศล ระดมทุนช่วยเหลือ และล่าสุดบริษัทจัดจำหน่ายอินดี้หลายแห่งก็นำไอเดียการจัดจำหน่ายออนไลน์ ที่เรียกว่า Virtual Cinema มาใช้เป็นเครื่องมือระดมทุนบริจาค โดยผู้ชมเองก็มีส่วนร่วมในการบริจาคด้วย

หลักการของไอเดียนี้ คือ บริษัทจัดจำหน่ายอย่าง Neon (ผู้จัดจำหน่าย Parasite, Portrait of the Lady on Fire), บริษัท Kino Lober (Bacurau, Beanpole), บริษัท Greenwich Entertainment (The Book Seller) และบริษัท Magnolia (The Whistlers, Slay the Dragon) เปิดให้ผู้ชมเลือกสตรีมมิ่งหนังหนึ่งเรื่องได้แบบมีระยะเวลากำหนด โดยเมื่อจ่ายเงินไปแล้ว รายได้ส่วนหนึ่งจะเข้าบริษัทจัดจำหน่าย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะแบ่งให้กับโรงหนัง (ที่ผู้ใช้บริการสามารถเลือกได้ว่าจะบริจาคให้โรงไหน)

วิธีนี้นอกจากจะช่วยทำให้ผู้ชมได้รับอรรถรสจากการได้ดูหนังคุณภาพแล้ว ยังได้ช่วยโรงหนังในภาวะยากลำบากอีกด้วย

อ้างอิง
Virtual Cinemas Offer Haven for Cinephiles and Struggling Theaters Alike

Related NEWS

LATEST NEWS