“เด็กหญิงชุดแดง” เบื้องหลังฉากสุดสะเทือนใจใน Schindler’s List

ในหนังรางวัลออสการ์ปี 1993 ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก -ซึ่งอิงจากเรื่องจริงของ “ออสการ์ ชินด์เลอร์” นักธุรกิจชาวเยอรมันผู้ช่วยชีวิตชาวยิวให้รอดจากเงื้อมมือนาซีได้นับพันคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง- เรื่องนี้ มีฉากหนึ่งที่โดดเด่นจนเชื่อว่าใครได้ดูก็ยากจะลืมลง นั่นคือฉากเด็กหญิงตัวน้อยสวมโค้ตสีแดงเดินอย่างไร้จุดหมายท่ามกลางผู้คน

การปรากฏตัวของ “เด็กหญิงในชุดแดง” ไม่เพียงเป็นจุดสะดุดตาเราเพราะหนังทั้งเรื่องเป็นขาวดำเท่านั้น แต่เธอยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญของหนัง และสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องทั้งหมดด้วย

ในวาระที่ Schindler’s List เข้าฉายให้เราได้ดูกันถึงบ้านทาง Netflix …ฟิล์มคลับจึงขอหยิบเบื้องหลังของตัวละครในตำนานนี้มาเล่ากันอีกหน

การปรากฏตัวของเด็กหญิงชุดแดง

1) Schindler’s List สร้างจากหนังสือ “Schindler’s Ark” ซึ่ง โทมัส คนีลลี เขียนขึ้นด้วยข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวยิวผู้รอดชีวิตหลายคน และในนั้นมีการบรรยายถึง “เด็กหญิงชุดแดง” ไว้ละเอียด

เมื่อมาเป็นหนัง สปีลเบิร์กสนใจอยากทำฉากเด็กหญิงคนนี้เป็นพิเศษ น่าจะด้วย 2 เหตุผลหลักๆ คือ

– ออเดรย์ เฮปเบิร์น นางเอกผู้ยิ่งใหญ่ เคยเล่าให้เขาฟังระหว่างทำหนังเรื่อง Always (1989) ด้วยกันว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เธอเห็นเด็กเล็กๆ ใส่ชุดแดงคนหนึ่งกำลังถูกต้อนขึ้นรถไฟพร้อมคนอื่นๆ และมันเป็นภาพที่เธอไม่เคยลืม ซึ่งสปีลเบิร์กเองฟังแล้วก็ลืมไม่ลงเช่นกัน

– ฉากนี้ยังทำหน้าที่สำคัญมากในแง่ของการเขียนบทด้วย เพราะตอนแรกสปีลเบิร์กจ้าง เคิร์ต ลุดคี (Out of Africa) มาเขียนบทให้ แต่หลังจากพยายามอยู่ 4 ปี ลุดคีก็ถอนตัวด้วยเหตุผลว่า ไม่สามารถจะคิดหาฉากที่อธิบายได้ว่านักธุรกิจจอมฉวยโอกาสอย่างชินด์เลอร์เปลี่ยนใจมาช่วยชาวยิวได้อย่างไร สปีลเบิร์กจึงไปจ้าง สตีเวน เซลเลียน มาแทนและทั้งคู่ก็ช่วยกันคิดฉากเด็กหญิงชุดแดงนี้ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ทั้งในด้านดราม่าและสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ถึง “ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา” ที่ปรากฏขึ้นท่ามกลางความเลวร้าย เมื่อชินด์เลอร์ (ในหนังรับบทโดย เลียม นีสัน) เห็นเธอ จึงทำให้เขาเพิ่งตระหนักฉับพลันว่าแผนการกวาดล้างของนาซีเหี้ยมโหดกว่าที่เขาคิดไว้มาก และเขาไม่สามารถรับรู้มันอย่างนิ่งเฉยได้อีกต่อไป


2) มีคนตีความไว้น่าสนใจด้วยว่า สีแดงยังชวนให้นึกถึง “ธงแดง” ที่ชาวยิวโบกขอความช่วยเหลือจากกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง


3) โอลิเวีย เดโบรวสกา เด็กหญิงวัยสามขวบมารับบทนี้ โดยสปีลเบิร์กขอให้พ่อแม่เธอสัญญาว่าจะไม่เปิดหนังให้ลูกดูเด็ดขาดจนกว่าจะอายุ 18 แต่เดโบรวสกาฝ่าฝืน เธอแอบดูตอนอายุ 11 และตกอยู่ในอาการหวาดผวาต่อมาเป็นเวลานาน แถมยังขมขื่นกับการถูกใครต่อใครมาทักถามเรื่องงานชิ้นนี้ไม่ยอมเลิก เธอโกรธพ่อแม่กับสปีลเบิร์กมากและสาปส่งหนังอยู่หลายปี จนกระทั่งเมื่ออายุเกิน 18 และกลับไปดูมันอีกครั้ง เธอจึงเริ่มยอมรับได้และบอกว่ารู้สึกภูมิใจที่เคยมีส่วนร่วม


4) ในวันเปิดฉายรอบแรก สตรีชาวยิวผู้รอดชีวิตชื่อ “โรมา ลีกอกกา” เป็นหนึ่งในแขกที่ได้รับเชิญไปชม และต้องตัวชาวูบเมื่อถึงฉากเด็กหญิงในชุดแดง เพราะมันทำให้เธอหวนนึกถึงโค้ตสีแดงที่ยายทำให้และเธอสวมใส่ตลอดเวลาที่อยู่ในค่ายกักกันกรากุฟ ห้าปีต่อมาเธอได้เจอสปีลเบิร์กที่เบอร์ลินเมื่อเขาเดินทางไปรับรางวัล เธอจึงเข้าไปบอกเขาว่า เธอนี่แหละน่าจะคือเด็กคนนั้น โดยคนีลลีอาจเคยได้ยินเรื่องของเธอจากผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ จึงนำไปเขียน (ต่อมา ลีกอกกาก็เขียนหนังสือเล่าความทรงจำของตนชื่อ The Girl in the Red Coat: A Memoir)


5) ทว่า ดูเหมือนเด็กชุดแดงในค่ายกักกันจะไม่ได้มีแค่ลีกอกกาคนเดียว เพราะในเว็บไซต์ชีวประวัติ ออสการ์ ชินด์เลอร์ และสารคดีเรื่อง The Trial of Adolf Eichmann ยังมีเรื่องเล่าของ “ดร. มาร์ติน เฟิลดี” ผู้รอดชีวิตจากค่ายเอาช์วิทซ์ว่า ตอนที่เขาถูกต้อนขึ้นรถไฟนั้น เขากับลูกชายถูกแยกไปด้านขวา ส่วนภรรยาถูกแยกตัวไปด้านซ้ายพร้อมลูกสาวซึ่งสวมโค้ตสีแดง ก่อนที่ทหารนาซีจะเปลี่ยนใจสั่งให้ลูกชายเขาไปหาแม่กับน้องแทน ซึ่งทำให้เฟิลดีอกสั่นขวัญหายเพราะไม่รู้ว่าเด็กชายอายุเพียง 12 ปีจะหาครอบครัวท่ามกลางผู้คนนับพันพบได้อย่างไร เขาได้แต่หวังว่าลูกชายจะมองหาชุดสีแดงของน้องได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม เฟิลดีไม่เคยได้รู้ว่าลูกกับแม่ได้พบกันหรือไม่ …เพราะ “นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้เห็นพวกเขา”


6) นอกจากนั้น ในบทความ “The little girl with the red coat – the true story” ยังให้ข้อมูลว่า เด็กหญิงชุดแดงคนนี้น่าจะคือ “กิทเทล ชิลล์” ลูกสาวของคู่สามีภรรยาชาวยิวชื่อ เดวิด กับ เอวา ชิลล์ ซึ่งหนีไปชนบท แต่ฝากลูกไว้กับลุงผู้เป็นแพทย์ประจำค่ายกักกัน

ระหว่างอยู่ในค่าย กิทเทลเป็นที่รู้จักของชาวค่ายในฐานะเด็กหญิงผู้ชอบสวมโค้ตสีแดงและต้องพยายามซ่อนตัวไม่ให้ทหารหาพบ …ทว่าในที่สุดเธอก็หนีไม่พ้น และถูกสังหารในวันที่ 13 มีนาคม ปี 1943 ขณะอายุเพียง 4 ปี

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
อดีตบก. BIOSCOPE และผู้ก่อตั้ง Documentary Club

RELATED ARTICLES