The Post: ปกป้องเสรีภาพสื่อ ด้วยการพูดความจริง

(2017, Steven Spielberg)

“วิธีปกป้องเสรีภาพในการตีพิมพ์ข่าว ก็คือการตีพิมพ์ข่าว”

เบน แบรดลีย์ บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ The Washington Post ได้กล่าวไว้ในวันที่คนทำสื่อรอบตัวเขาต่างสงสัยในหน้าที่ของตัวเอง

ในฐานะหนังที่กำกับโดยสตีเวน สปีลเบิร์ก The Post ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างหมดจดในการเล่าถึงวินาทีหยุดโลก ที่หนังสือพิมพ์ The Washington Post ตัดสินใจตีพิมพ์บันทึกลับของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บันทึกนั้นได้เปิดเผยว่าปฏิบัติการในสงครามเวียดนามของสหรัฐนั้นเกิดขึ้นทั้งที่ผู้เกี่ยวข้องรู้อยู่แล้วว่ามันมีข้อผิดพลาด และแม้จะถูกขู่ฟ้อง The Washington Post ก็ตัดสินใจตีพิมพ์มันอยู่ดี

“การตัดสินใจของคุณ (ในยุทธการนั้น) ไม่สมบูรณ์” แคทเธอรีน เกรแฮม เจ้าของและฝ่ายบริหาร The Washington Post กล่าว “คุณเขียนไว้ในรายงานว่าอย่างนั้น” เธอพูดกับโรเบิร์ต แม็คนามารา อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการทหารของสหรัฐฯ ที่เป็นทั้งเพื่อนและคู่ค้าทางธุรกิจของเธอ

ใครๆ ที่อยู่ในอำนาจล้วนไม่อยากถูกมองว่าทำผิดพลาด และประธานาธิบดีนิกสันก็เป็นหนึ่งในนั้น เขายังดึงดันที่จะทำสงครามเวียดนามทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าตัวเองจะแพ้ ทั้งหมดเพียงเพื่อให้อเมริกาไม่แพ้สงครามในสมัยของเขา คนหนุ่มจำนวนมากถูกส่งไปทั้งที่อเมริการู้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไร อาจกล่าวได้ง่ายๆ ว่าพวกเขากำลังจะต้องตายฟรี

“อาจมีคนถามว่าทำไมเรายังดึงดันทั้งทีเรารู้ว่าจะแพ้ สิบเปอร์เซนต์คือเพื่อช่วยชาวเวียดนามใต้ ยี่สิบเปอร์เซนต์คือเพื่อต้านพวกคอมมิวนิสต์ เจ็ดสิบเปอร์เซนต์คือเพื่อหลีกเลี่ยงความอับอายจากความพ่ายแพ้ของอเมริกา”

The Washington Post เป็นเพียงสื่อท้องถิ่นที่ไม่ได้น่าจับตาอะไร พวกเขาช้ากว่า The New York Times เสมอและมีทีท่าว่าจะช้าอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง The New York Times ถูกเซ็นเซอร์และถูกฟ้องจากรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากตีพิมพ์เอกสารลับทางราชการ การจุดชนวนจึงเริ่มขึ้น และ The Washington Post ก็เริ่มคิดว่าพวกเขาต้องทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับข่าวนี้

“ประชาชนของประเทศเสรีต้องพึ่งสื่อเสรีในการหาข้อมูลที่จำเป็น เพื่อให้ทำหน้าที่พลเมืองได้อย่างชาญฉลาด นั่นคือสาเหตุว่าทำไมรัฐธรรมนูญต้องคุ้มครองเหล่าหนังสือพิมพ์ในการแสดงออกได้โดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซง”

ด้วยสายข่าวจากเบน แบ็กดิเคียน นักข่าวคนสำคัญของหนังสือพิมพ์ พวกเขาจึงเข้าถึงเอกสารลับจำนวนกว่าพันแผ่น และต้องเรียงมันด้วยมือเนื่องจากเลขหน้าถูกตัดออกทั้งหมด พวกเขามีเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในการตีพิมพ์ข่าวสำคัญนี้ ในยุคที่เทคโนโลยีการพิมพ์ยังเป็นแบบเรียงด้วยมือและตรวจคำผิดด้วยดินสออยู่เลย

The Post ได้ฉายให้เห็นภาพความกดดันที่สื่อต้องแบกรับ เมื่อต้องเลือกระหว่างการเข้าข้างรัฐบาลหรือตกเป็นผู้เสียเปรียบในเกมอำนาจ ที่มีชะตากรรมของประชาชนเป็นเดิมพัน หนังดำเนินไปในช่วงปี 1971 ที่หนังสือพิมพ์ยังคงเป็นสื่อที่มีอิทธิพลมากในการชี้นำทัศนคติของประชาชน และจรรยาบรรณสื่อก็ยังเข้มข้น ความเอาจริงเอาจังของคนทำสื่อในสมัยนั้นทำให้เราอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามถึงสื่อในปัจจุบัน ที่ถูกดิสรัปด้วยอินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมที่ชื่นชอบความเร็ว ประกอบกับการที่ใครจะเป็นสื่อก็ได้ ทำให้ขั้นตอนในการตรวจสอบความจริงถูกลดทอนลงเป็นอันมาก และสื่อบางเจ้าก็ถูกแทรกแซงจากนายทุนหรือแม้กระทั่งรัฐบาลให้นำเสนอข่าวตามที่ผู้มีอำนาจต้องการให้พูด

เราจะได้เห็นการผนึกกำลังของหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น ที่ไม่ยอมแพ้ต่อคำสั่งของผู้มีอำนาจง่ายๆ ดังที่หนังทำให้เห็นว่า The Washington Post และ The New York Times ต่างเป็นคู่แข่งกันเสมอมา แต่เมื่อมาถึงเรื่องที่มีผลต่อความเป็นความตายของประชาชน พวกเขาต่างมีศัตรูร่วมเดียวกัน – ศัตรูร่วมของสื่อ ก็คือการปิดบังความจริง – และเราก็ได้เห็นการก่อกบฏของสื่อเจ้าอื่นๆ อีกมากมายที่ตามรอยทั้งสองหนังสือพิมพ์นี้ไปสืบข่าวเกี่ยวกับสงครามเวียดนามมาเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้

สื่อ (media) คือเครื่องมือหนึ่งของพื้นที่สาธารณะ (public sphere) ซึ่งใช้นำเสนอการถกเถียงประเด็นต่างๆ ในสังคม ในนิยามของเจอร์เกน ฮาร์เบอร์มาส นักปรัชญา พื้นที่สาธารณะคือการรวมตัวกันของปัจเจกเพื่อร่วมกันนิยาม ต่อรองความต้องการของสังคมกับความต้องการของรัฐ1Soules, Marshall. “Jürgen Habermas and the Public Sphere”. Media studies.ca. ในนิยามนี้ สื่อ ในฐานะพื้นที่สาธารณะ จึงมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชน เพื่อถ่วงดุลให้ได้สัดส่วนที่ดีกับรัฐ ฮาร์เบอร์มาสยังได้กล่าวไว้อีกว่า พื้นที่สาธารณะนั้นจำเป็นต้องมี “เครื่องมือบางอย่างสำหรับเผยแพร่ข้อมูลและส่งอิทธิพลต่อผู้รับข้อมูล” สื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างและธำรงไว้ซึ่งพื้นที่สาธารณะ

สื่อเป็นที่รวมกันของข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ไม่เพียงเท่านั้น มันยังส่งอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนในสังคม และนำความเห็นของผู้คนออกสู่สาธารณะเพื่อให้การถกเถียงดำเนินต่อไปจนกลายเป็นนโยบายในที่สุด อาจกล่าวได้ว่าสื่อเสรีมีความจำเป็นต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยเป็นอันมาก เพราะมันช่วยเผยแสดงเสียงเล็กๆ ของปัจเจกให้ออกมายังที่แจ้ง และถูกพัฒนาจนกลายเป็นความคิดที่ขับเคลื่อนผู้คนและยุคสมัย ในสมัยก่อนสื่ออาจมีเพียงหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ แต่ในยุคปัจจุบันที่มีอินเทอร์เน็ต การส่งเสียงของสื่อก็มีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะผู้คนสามารถเห็นได้หลายสิ่งในเวลาเดียวกัน และคนตัวเล็กๆ ก็กลับถูกมองเห็น กลายเป็นสื่อได้ด้วยเช่นกัน

หนึ่งในจรรยาบรรณสื่อที่สำคัญ ก็คือการไม่ปิดบังอำพรางข่าวที่ควรนำเสนอ ซึ่งในกรณีของ The Washington Post หรือสื่อบางเจ้าที่กล้าพูดเรื่องที่เสี่ยงจะขัดใจผู้มีอำนาจในประเทศไทยนั้น ต้องใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมสูงมาก แต่การเสี่ยงเช่นนี้ย่อมได้ผลตอบแทนอย่างงดงามหากชัยชนะเป็นของสื่อ มันคือการยกระดับแบรนด์ของสื่อนั้นให้กลายเป็นกระบอกเสียงหลักที่สังคมวางใจ ดังที่ The Washington Post ได้กลายเป็นสื่อแนวหน้าของอเมริกามาจนถึงทุกวันนี้ ทัดเทียมกับอดีตเจ้าตลาดอย่าง The New York Times ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพ ทั้งสองควรจะร่วมกันเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จในการเปิดโปงรัฐบาลครั้งนี้ ซึ่งเป็นการยกมาตรฐานของวงการให้สูงขึ้นไปอีก เมื่อมองสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะสื่อทางทีวีของไทย ก็ทำให้น่าตั้งคำถามอยู่ไม่น้อย ว่าสื่อได้ทำหน้าที่ “ไม่ปิดบังอำพรางข่าว” ได้สมบูรณ์แล้วหรือยัง โดยเฉพาะในช่วงที่มีกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ เพราะดูเหมือนว่าหน้าที่ในการเปิดเผยความจริงจะกลายเป็นของสื่อที่ไม่เป็นทางการนักบนอินเทอร์เน็ต หรือคลิปวิดีโอจากมือถือของปัจเจกเป็นส่วนใหญ่

จรรยาบรรณของสื่ออีกอย่างหนึ่งคือการนำเสนอข่าวและข้อมูลสำหรับทุกคน ทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องของรัฐบาล สื่อก็ต้องนำเสนอเพื่อไม่ให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนที่มีอำนาจเพียงเท่านั้น ในท้ายเรื่องของหนัง The Post ได้มีการปูไปยังคดีบุกปล้นวอเตอร์เกท ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ที่ The Washington Post เปิดโปง และนำไปสู่การลาออกของประธานาธิบดีนิกสัน และการสิ้นสุดของสงครามเวียดนาม เรียกได้ว่า เมื่อได้ทำเรื่องใหญ่ๆ แล้วครั้งหนึ่ง ก็อดไม่ได้ที่จะทำเรื่องแบบนี้อีกครั้ง และอีกครั้ง จนกว่าประชาชนจะเข้าถึงความจริงจนได้

ชัยชนะของ The Washington Post (รวมถึง The New York Times ซึ่งได้เข้าร่วมการพิจารณาคดีเคียงข้างกัน) จึงเป็นสิ่งพิสูจน์อย่างหนึ่งถึงความแข็งแกร่งของสังคมเสรี ที่ให้ค่าแก่การ “พูด” และ “เปิดเผย” สิ่งที่สังคมควรรู้ ด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม และการยึดมั่นในจรรยาบรรณสื่อ อันที่จริงแล้ว ควรต้องให้เครดิตแก่กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ ด้วย ที่ศาลมีมติโหวต 6 ต่อ 3 ให้หนังสือพิมพ์ทั้งสองหัวกลายเป็นผู้ชนะในคดีที่มีเดิมพันสูง และมีรัฐบาลเป็นผู้ฟ้องเช่นนี้

และข้อความหนึ่งในคำตัดสิน ก็คือ

“บิดาผู้ก่อตั้งของเราได้ให้ความคุ้มครองแก่สื่อเสรีเพื่อให้บรรลุหน้าที่อันสำคัญต่อประชาธิปไตย สื่อจะต้องรับใช้ผู้ถูกปกครอง ไม่ใช่ผู้ปกครอง”

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS