“สายหนัง” คืออะไร (ตอน 1) …ไม่ใช่แค่ไทย อินเดียก็มี!

เคยไหมที่สงสัยว่าทำไมหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ยอมมาฉายในจังหวัดของเราเสียที แล้วพอถามไปที่เจ้าของหนังบ้าง โรงหนังบ้าง คำตอบหนึ่งซึ่งอาจได้ยินบ่อยๆ และสร้างความฉงนมากๆ โดยเฉพาะถ้าเราไม่คุ้นเคยกับอุตสาหกรรมนี้ ก็คือ “สายหนังไม่อยากเอามาฉาย”

ใครหรือคือ “สายหนัง” ที่ว่านั้น?

นิยามสั้น ๆ ก็คงหมายถึง รูปแบบการจัดจำหน่ายหนังประเภทหนึ่งที่ “ผู้จัดจำหน่ายในแต่ละภูมิภาค” มีบทบาทสำคัญในการพาหนังจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายส่วนกลาง ไปสู่ผู้ชมในพื้นที่ที่ตนเองดูแล แต่ก่อนจะไปพูดกันถึงสายหนังของเมืองไทย เรามารู้จักที่มาของ “ระบบสายหนัง” กันก่อนครับ

“สายหนัง” เกิดขึ้นอย่างไร

สายหนังน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก หลังจากหนังเริ่มกลายเป็นธุรกิจสำคัญในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกาซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล โดยก่อนปี 1915 อเมริกามีรูปแบบการจัดจำหน่ายหนังในประเทศ 2 แบบ คือ

1. แบบตระเวนฉาย (Road Show) ผู้สร้างหนังจะติดต่อทำสัญญาโดยตรงกับโรงหนังชั้นนำ แล้วก็ตระเวนนำหนังไปฉายตามโรงที่ตกลงไว้ รายได้คิดจากยอดขายตั๋ว ข้อเสียของวิธีนี้คือยากที่จะนำหนังไปฉายได้ทั่วถึงทุกพื้นที่

2. นั่นจึงนำมาสู่การจัดจำหน่ายอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า สิทธิตามรัฐ (State Rights) ซึ่งเจ้าของหนังจะขายหนังให้พ่อค้าคนกลางตามรัฐต่าง ๆ แล้ว พ่อค้าคนกลางก็นำหนังไปตระเวนฉายในพื้นที่ของตน รายได้ยึดหลัก “ฟุตต่อฟุต” คือ ฟิล์มหนังยาวหนึ่งฟุตมีราคา 10 เซ็นต์ หนังยาวเท่าไหร่คูณเข้าไป เจ้าของหนังก็ได้เงินเท่านั้นจากพ่อค้าคนกลาง ข้อเสียของระบบนี้คือเป็นการขายขาด ไม่ว่าพ่อค้าจะนำหนังไปฉายแล้วได้กำไรเท่าไหร่ เจ้าของหนังก็ไม่มีเอี่ยวอีก ขณะเดียวกันตัวพ่อค้าคนกลางก็ต้องแบกรับความเสี่ยง ขึ้นอยู่ที่ว่าหนังที่ตนลงทุนซื้อมาจะได้รับความนิยมแค่ไหน

เมื่อระบบอุตสาหกรรมหนังมีการจัดการลงตัวขึ้น บริษัทสร้างหนังหลายแห่งเริ่มมีแผนกจัดจำหน่ายซึ่งคอยติดต่อกับโรงเอง ระบบสายหนังทั้งสองแบบข้างต้นก็เสื่อมความนิยมในอเมริกา แต่มันก็ยังมีความจำเป็นในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์กว้างใหญ่ การสัญจรไม่สะดวก

ปัจจุบัน สองประเทศที่ยังมีรูปแบบการจัดจำหน่ายแบบนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย และไทย

เมื่อระบบอุตสาหกรรมหนังมีการจัดการลงตัวขึ้น บริษัทสร้างหนังหลายแห่งเริ่มมีแผนกจัดจำหน่ายซึ่งคอยติดต่อกับโรงเอง ระบบสายหนังทั้งสองแบบข้างต้นก็เสื่อมความนิยมในอเมริกา แต่มันก็ยังมีความจำเป็นในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์กว้างใหญ่ การสัญจรไม่สะดวก ปัจจุบัน สองประเทศที่ยังมีรูปแบบการจัดจำหน่ายแบบนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย และไทย

รู้จัก “สายหนัง” ในอินเดีย

ประเทศอินเดียเริ่มแบ่งภูมิภาคในการจัดจำหน่ายหนังตั้งแต่ปี 1931 หลังจากหนังเสียงเริ่มได้รับความนิยม และธุรกิจเริ่มเติบโต โดยเหตุผลของการแบ่งก็คือ อินเดียมีสภาพภูมิประเทศกว้างใหญ่ ดังนั้นเพื่อให้การจัดจำหน่ายหนังสะดวกคล่องตัว กลุ่มผู้จัดจำหน่ายหลักจึงทำการแบ่งพื้นที่ในการจัดจำหน่ายออกเป็น 6 เขต และต่อมาขยายเป็น 11 เขตครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ประกอบด้วย

1.สายบอมเบย์ (Bombay Circuit) : ครอบคลุมพื้นที่เมืองเขตดาดราและนครฮเวลี รัฐคุชราช รัฐกัว รัฐมหาราษฏระ และรัฐกรณาฏกะ (ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบอมเบย์ และอาณานิคมโปรตุเกส)

2. สายเดลลี( Delhi Circuit) : ครอบคลุมพื้นที่กรุงเดลลี รัฐอุตตราขัณฑ์ และ รัฐอุตตรประเทศ

3.สายนิซาม (Nizam Cicuit) : ครอบคลุมพื้นที่รัฐเตลังคานา และบางส่วนของรัฐมหาราษฏระ และรัฐกร ณาฏกะ

4. สายปันจาบตะวันออก (East Punjab circuit) : ครอบคลุมพื้นที่ของรัฐปันจาบ จัณฑีครห์ รัฐหรยาณา รัฐหิมาจัลประเทศ และรัฐชัมมูและกัศมีร์

5. สายตะวันออก (Eastern circuit) : ครอบคลุมพื้นที่ แคว้นเบงกอลตะวันตก รัฐอรุณาจัลประเทศ รัฐพิหาร รัฐฌารขัณฑ์ แคว้นโอริสสา แคว้นอัสสัมและรัฐตอนเหนือ เกาะนิโคบาร์ ภูฐานและประเทศเนปาล

6. สายซีพี พราร (C.P. Berar circuit) : ครอบคลุมรัฐมหาราษฏระ รัฐมัธยประเทศ (ด้านทิศใต้กับตะวันตก) รัฐฉัตตีสครห์ (ประกอบด้วยพื้นที่ที่เคยเป็นของจังหวัดทางตอนกลาง และเขตพราร)

7. สายอินเดียตอนกลาง (Central India circuit) : ประกอบด้วยบางส่วนของแคว้นมัธยประเทศ

8. สายราชาสถาน (Rajashtan circuit) : ครอบคลุมแคว้นราชาสถานทั้งหมด

9. สายมายซอร์ (Mysore circuit) : ครอบคลุมเมืองบังกาลอร์ และบางส่วนของรัฐกรณาฏกะ

10. สายทมิฬนาฑู (Tamilnadu circuit) : ครอบคลุมรัฐทมิฬนาดูและเกรละ

11. สายอันธร( Andhra circuit) : ครอบคลุมรัฐอันธรประเทศ

จุดเด่นของธุรกิจหนังในอินเดีย

คือ บทบาทของผู้สร้างและผู้จัดจำหน่ายจะแยกกันอย่างชัดเจน (ยกเว้นบริษัทใหญ่จริง ๆ ที่จะทำหน้าที่ควบทั้งผลิตและจัดจำหน่าย) ดังนั้นเมื่อ ผู้สร้างทำหนังเสร็จก็จะมาเสนอแก่ผู้จัดจำหน่าย หรือในทางกลับกันถ้าหนังที่สร้างมีแววดี เช่น มีดาราดัง หรือเนื้อหาขายได้ง่าย ผู้จัดจำหน่ายก็จะเข้าหาผู้สร้าง ส่วนใหญ่ผู้สร้างมักลงเอยด้วยการขายสิทธิ์ให้แก่ผู้จัดจำหน่าย โดยขายขาด หรือไม่ก็ขายแบบมีเงื่อนไขแบ่งผลประโยชน์หลังหนังฉาย

ทีนี้ เมื่อผู้จัดจำหน่ายถือหนังไว้กับตัวแล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อก็คือ จะหาทางจัดจำหน่ายหนังในพื้นที่ 11 สายอย่างไร

ทางเลือกแรกคือ ติดต่อโรงหนังที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศที่ใหญ่อย่างอินเดีย แถมค่าใช้จ่ายยังเพิ่มขึ้นตามจำนวนพื้นที่ที่จะจัดจำหน่าย โดยเฉพาะค่าโฆษณาและประชาสัมพันธ์ที่ผู้จัดจำหน่ายต้องออกเอง ส่วนทางเลือกที่สองคือ ขายสิทธิ์ต่อให้ผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่นแต่ละสาย วิธีนี้นอกจากผู้สร้างจะได้เงินก้อนแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายเพราะงบโฆษณาจะตกเป็นภาระของผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่นไปแทน

สำหรับเงื่อนไขราคา ราคาที่ขายให้แก่ผู้จัดจำหน่ายสายบอมเบย์และสายเดลี จะสูงกว่าสายอื่น เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้พูดภาษาฮินดีเป็นหลัก ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในหนังกระแสหลักของอินเดีย

จากที่กล่าวมา ผู้อ่านคงได้เห็นบทบาทความสำคัญของสายหนังในอินเดียไม่มากก็น้อย สำหรับตอนต่อไป เราจะมาทำความรู้จักกับ “สายหนังไทย” บ้างว่ามีลักษณะอย่างไร เหมือนและแตกต่างจากระบบสายของอินเดียอย่างไร โปรดติดตามนะครับ

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES