Gangubai Kathiawadi : คังคุไบ การเมืองและพลังของโยนีเริงระบำ

(2022, Sanjay Leela Bhansali)

หนังอินเดียที่กลายเป็นกระแสกันทั่วบ้านทั่วเมือง เห็นได้จากการคอสเพลย์เป็นคังคุไบได้รับการตอบรับอย่างแพร่หลายจากคนธรรมดา ผู้มีชื่อเสียงกระทั่งชนชั้นสูง แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ถูกวิจารณ์ว่า เอาจริงๆ แล้วไม่มีใครสนใจสิทธิของ sex worker มากไปกว่าการได้แต่งตัวชุดส่าหรีงามๆ ตามกระแสหรอก

ด้วยความบังเอิญ “หญิงคนชั่ว” นิยายที่เขียนในปี 2480 ของ ก.สุรางคนางค์ มีพล็อตเรื่องตอนแรกคล้ายคลึงกับคังคุไบ จนสงสัยว่า นี่อาจเป็นพล็อตหลักๆ ของผู้หญิงที่กลายไปเป็นโสเภณี

นั่นคือ ตัวเอกของเรื่องถูกผู้ชายที่เป็นคนรักมาหลอกเข้าไปยังเมืองหลวง แต่กรณีคงคา เธอถูกหลอกว่าไปแสดงหนัง ขณะที่รื่น ถูกหลอกว่าจะไปแต่งงานอยู่กับผู้ชาย แน่นอนว่าทั้งคู่ถูกหลอกเอาทรัพย์สมบัติจากที่บ้านไปด้วย และทั้งคู่มาลงท้ายที่ว่า ถูกปล่อยไว้ใน “ซ่อง” ทั้งคู่ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ จากนักเที่ยว นั่นหมายถึงการจุติใหม่ของชีวิตที่ฉีกขาดไปจากเดิม

เส้นทางทั้งคู่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทางแยกของคังคุ กลายเป็นการขึ้นมามีอำนาจในซ่อง แต่รื่นนั้นมิใช่ รื่นอาจจะลุกขึ้นตอบโต้แม่เล้าในยามที่ตนเหลืออด เสียงของรื่นอาจจะทำให้เพื่อนร่วมอาชีพได้คิดถึงการถูกเอาเปรียบ แต่ก็เป็นดังคลื่นกระทบฝั่ง รื่นไม่เลือกที่จะสู้ แต่หนีออกจากซ่องไปเพื่อเอาตัวรอด ในที่สุดตราบาปที่ประทับในอาชีพของเธอก็ไม่ทำให้เธอหลุดพ้นจากวังวนอาชีพโสเภณี ซ้ำร้ายคือ มิได้เป็นโสเภณีที่มีอำนาจต่อรอง เมื่อเธอมีลูก ไม่สามารถจะชะลอความร่วงโรย และบำรุงความงามของเธอให้ยั่งยืนได้ เมื่อเทียบกับคนอื่นที่ยืนระยะได้ดีกว่า ชีวิตของรื่นจึงล่องลอยไปพร้อมกับสายน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ชีวิตของรื่น คือ โศกนาฏกรรม นอกจากรื่นจะเปลี่ยนตัวตนจากสาวบ้านนอกผู้บริสุทธิ์กลายเป็นโสเภณีที่เจนโลก เธอยังเป็นต้นเหตุของความวิบัติชิบหายของครอบครัวของเธอ ณ ตำบลเทพราช ฉะเชิงเทราอีกด้วย 

ส่วนคังคุเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ผู้กุมอำนาจด้วยการต่อรองกับเจ้านายของตัวเอง เรียกร้องวันหยุด เรียกร้องให้ตัวเองและเพื่อนพ้องได้รับสิทธิ์บางอย่าง โดยการเรียนรู้จากซ่องอื่น

เราจะสังเกตเห็น “ความเป็นการเมือง” ที่แฝงอยู่ในทุกอณู โดยเฉพาะการเมืองของประชาธิปไตยแบบตัวแทน การเลือกตั้งนายกเทศมนตรี การเข้ามาหาคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งระดับชาติ การเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี 

บางคนอาจจะเห็นว่า เอาเข้าจริงคังคุไบ เติบโตมาด้วยฐานอำนาจของความเป็นมาเฟีย แต่จะให้ทำเช่นไรกับพื้นที่และสถานภาพที่ไร้อำนาจของนาง ในประเทศที่สิทธิสตรีนั่นถูกครอบงำภายใต้เงาของบุรุษตั้งแต่โครงสร้างครอบครัว ไปจนถึงอำนาจของเหล่าทวยเทพ การดิ้นรนอย่างปากกัดตีนถีบของเธอ จึงเป็นการสะท้อนถึงการใช้อำนาจที่บิดเบี้ยวเพื่อสู้โครงสร้างอำนาจที่กดทับ (ไม่รู้ว่าเธอเจอกับเนห์รู นายกรัฐมนตรีเมื่อไหร่ เพราะเนห์รูนี่เป็นนายกที่ยาวนานมากตั้งแต่ปี 1947-1964 แต่ช่วงเวลานี้ การที่คังคุไบไต่เต้าและเข้าถึงได้อำนาจได้ เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเลย)

หนังเรื่องนี้ทำให้ชาวคาทอลิกผู้เคร่งครัดศีลธรรมกลายเป็นตัวร้าย เธอไม่ได้สู้ด้วยคำพูดหรือสุนทรพจน์อย่างเดียว แต่เธอใช้พลังทางการเมือง และที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับพลังนั้นก็คือ สื่อมวลชนระดับชาติที่นำเรื่องคังคุไบไปขายในตลาด พลังของแม่เล้า และเรื่องราวอันแสน exotic จึงดึงดูดผู้อ่าน ขณะเดียวกันอำนาจต่อรองของเธอก็สูงขึ้น

ความหอมหวานของอำนาจ จึงคุ้มค่ามากเมื่อเทียบการสละชายคนรักไปให้ลูกสาวของเพื่อนคนหนึ่ง คังคุไบจึงไม่ต่างไปจากราชินีที่ใช้การแต่งงานเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่นเดียวกับที่เธอใช้เงินปลดปล่อยหญิงสาวออกจากซ่องเพื่อหวังผลการเลือกตั้ง

พลังของผู้หญิงในเรื่องนี้จึงยิ่งใหญ่ผิดไปกับเรื่อง ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส (Everything Everywhere All At Once) ตรงที่การก้าวเข้าสู่ชีวิตใหม่ ต้องแลกมากับความสัมพันธ์ที่ถูกฉีกขาดจากครอบครัวเดิม ขนาดพ่อของเธอไม่ยอมดื่มน้ำคงคาก่อนตายตามความเชื่อ เพราะมีชื่อของเธออยู่ในนั้น ขณะที่เอเวอลีนในซือเจ๊ฯ แม้จะหนีพ่อไปกับชายหนุ่ม แต่สุดท้ายเธอก็หนีไม่พ้นที่จะต้องกลับมาดูแลพ่อของเธอ ขณะที่คังคุไบ เพียงแค่โทรศัพท์ไปหาแม่ของเธอ ยังไม่ได้รับการเหลียวแล 

คังคุไบที่ยิ่งใหญ่ทางการเมือง จึงต่างไปจากเอเวอร์ลีนที่ไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย แต่ยังมีฟูกที่รองรับเธออยู่ก็คือ ครอบครัว และครอบครัวนั้นก็เป็นครอบครัวที่มีทั้งพ่อ ผัว และลูกสาว เธอดูเหมือนจะเป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์หลักของเรื่อง ในสายตาลูกสาว เอเวอร์ลีน ไม่ต่างอะไรกับ “มนุษย์ป้า” ที่ลูกสาวรู้สึกกระอักกระอ่วนเสมอ เมื่อแม่ต้องมาเจอกับเพื่อนและโลกของเธอ ในสายตาของเตี่ย เอเวอร์ลีนไม่เคยดีพอในฐานะลูกสาวครอบครัวจีน ส่วนผัวของเธอก็ได้แต่เก็บงำความไม่พอใจความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่อย่างเงียบจนคิดถึงการหย่าขาดจากเอเวอร์ลีน ทั้งที่เขาเป็นคนที่พาเธอหนีมา แล้วครอบครัวของเอเวอร์ลีน มันเป็นแหล่งพักพิงทางใจได้จริงหรือ

โลกมัลติเวิร์สต่างๆ นานาของเอเวอร์ลีนอาจเป็นพริบตาของความใฝ่ฝันในชีวิตที่เธอไม่อาจจะเป็นไปได้ ด้วยความบีบคั้นและกดดันของชีวิตครอบครัว และผู้หญิงแกร่งที่ต้องต่อสู้ในโลกทุนนิยมที่กดดัน ทำให้แม้แต่ครอบครัวก็เป็นพื้นที่ที่เธอต้องออกแรงต่อสู้กับมันในรูปแบบต่างๆ ด้วยตัวเธอเอง

ในทางกลับกันแม้ว่า คังคุไบจะไร้ญาติทางสายโลหิต แต่เธอก็มีครอบครัวใหม่ ครอบครัวหญิงนครโสเภณีที่ผูกพันกันด้วยน้ำเงินและน้ำใจที่แทบจะมีแต่เพศหญิงอยู่ในบ้านของเธอ การที่เธอไร้พ่อและแม่ทำให้เธอเติบโตขึ้นมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น เธอเองได้กลายเป็นพ่อแม่ และผู้ปกครองของคนใต้บังคับที่เธออุปถัมภ์ค้ำชูและให้ความช่วยเหลือ

ชัยชนะของคังคุไบ จึงมิใช่เพียงในนามของโสเภณี แต่เป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง เป็นมาเฟียที่สร้างครอบครัวของเธอเองขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่ใช่ครอบครัวทางสายเลือดที่ผูกพันกับเธอมาด้วยศาสนา และชนชั้นวรรณะแบบจารีต ในอีกด้าน คังคุไบเองก็แสวงหาอำนาจและความมั่งคั่งจากครอบครัวและความสัมพันธ์ของเธอ เธอต้องสังเวยชายที่เคยรักให้กับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นของหมู่มิตร โดยเปลี่ยนเขาเป็นเจ้าบ่าวให้กับคนรุ่นลูกของเธอ และแน่นอนว่าความมั่งคั่งอันมาจากการขายเรือนร่างของหญิงสาวลูกๆ ของเธอ คือที่มาของรายได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม การขึ้นมามีอิทธิพลได้ในสังคมอินเดียในช่วงที่สิทธิสตรีในอดีตยังคงจำกัด ก็ถือเป็นเรื่องที่ชวนตื่นเต้นชวนให้เราเข้าไปถกเถียงด้วยไม่น้อย


ดู Gangubai Kathiawadi ได้ที่ Netflix

LATEST REVIEWS