มีอา แฮนเซน-เลิฟ: ความโดดเดี่ยวของการเขียนบทคนเดียว การเข้าใจชีวิตผ่านการทำหนัง และการทำหนังเพื่อเข้าใจชีวิต

เครดิตภาพหัว : Paul Katzenberger จาก Wikimedia

มีอา แฮนเซน-เลิฟ ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส เจ้าของผลงานที่คนดูในไทยคุ้นเคยอย่าง Things to Come (2016 – นำแสดงโดย อิซาเบล อูแปร์ ในบทอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เสียศูนย์เพราะถูกสามีนอกใจ) กลับมาที่คานส์ในปีนี้กับ One Fine Morning (2022 – นำแสดงโดย เลอา เซดูซ์)หนังได้รับผลตอบรับดีเลิศและคว้ารางวัลหนังยุโรปยอดเยี่ยมจากสาย Directors’ Fortnight มาได้ ใกล้เคียงกันกับที่ Bergman Island (2021) หนังชิงปาล์มทองปีก่อนหน้าของเธอเพิ่งเข้าฉายในอังกฤษหลังจากทยอยฉายในประเทศต่างๆ มาก่อน และจะเริ่มสตรีมใน Mubi แบบจำกัดประเทศในวันที่ 22 กรกฎาคม

เราอยากชวนมาทำความรู้จักกันแบบสั้นๆ กับคนทำหนังที่มักจะเล่าเรื่องราวชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้หญิงสมัยใหม่ และที่ทางของผู้หญิงในครอบครัวในฐานะลูกสาว เมีย และแม่ ผ่านมุมมองของเธอเกี่ยวกับพื้นที่ส่วนตัวของคู่รักนักทำหนังใน Bergman Island และการคลี่คลายของชีวิตหญิงสาวใน One Fine Morning

Things to Come (2016)

เกาะเฟอร์เรอร์ของเบิร์กแมน …แต่เป็นภาพสี

ใน Bergman Island คริส (วิคกี ครีพส์) และโทนี (ทิม รอธ) คู่รักนักทำหนังยังรักกันดี มีลูกด้วยกัน ใกล้ชิดสนิทสนมกันในหลายด้าน แต่เมื่อเป็นเรื่องงานสร้างสรรค์ พวกเขาต่างมีระยะห่างและพื้นที่ส่วนตัวที่มิอาจกร้ำกราย ทั้งสองเดินทางไปยังเกาะแห่งหนึ่งด้วยกันเพื่อเก็บตัวเขียนบทหนังเรื่องถัดไป คนหนึ่งเก็บงำไอเดียไว้ในสมุดบันทึกที่ไม่เคยให้อีกฝ่ายดู ส่วนอีกฝ่ายอยากเปิดเผยและแลกเปลี่ยน และแน่นอนว่าคนแรกไม่ใคร่จะฟัง นี่คือหัวใจของหนังที่มีอยู่ตั้งแต่ก่อนแฮนเซน-เลิฟคิดว่าอยากถ่ายหนังเรื่องนี้ที่เกาะเฟอร์เรอร์ ประเทศสวีเดน

แค่ได้ยินว่าคำว่าคู่รักนักเขียนก็เริ่มรู้สึกถึงเค้าลางความหายนะ ไม่เพียงเท่านั้น หากเกาะเฟอร์เรอร์ยังเคยเป็นที่พำนักและสถานที่ถ่ายทำผลงานมาสเตอร์พีซหลายชิ้นของ อิงมาร์ เบิร์กแมน รวมถึง Persona (1966) ให้ความรู้สึกว่า Bergman Island จะเป็นหนังที่หมองหม่นข้นมืด แต่มันอาจไม่เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว

ไอเดียที่จะถ่ายทำที่เกาะนี้เริ่มต้นจากหนังสือสำหรับประมูลข้าวของและอสังหาฯ ของเบิร์กแมน เพราะเขาต้องการขายทุกอย่างเพื่อจะได้แบ่งเงินให้ลูกๆ อย่างเท่าเทียมเมื่อเขาเสียชีวิต ในหนังสือเล่มนั้นมีทั้งภาพวาด โคมไฟ นาฬิกา รถ และบ้านหลายต่อหลายหลัง และแม้หนังทุกเรื่องของเบิร์กแมนที่ถ่ายทำที่เกาะนี้จะดูราวกับฝันร้าย แต่ภาพในหนังสือประมูลนั้นเป็นภาพสีทั้งหมด “เกาะที่ฉันเห็นตอนไปที่นั่นคือเกาะที่มีสีสัน เราสามารถสัมผัสเกาะนี้ด้วยวิธีอื่นได้ มันจะยังเป็นที่ของเบิร์กแมนและเป็นที่ที่บรรยากาศเวิ้งว้างวังเวง แต่มันก็มีทางที่ฉันจะทำให้มันเป็นของฉันได้เช่นกัน” แฮนเซ่น-เลิฟเห็นหนังสือประมูลแล้วนึกได้ว่า เกาะฟอร์เรอร์แบบเป็นภาพสีอาจเหมาะกับไอเดียของหนัง จึงเดินทางไปดูลาดเลาในปี 2014 ก่อนจะกลับไปอีกครั้งแล้วเขียนครึ่งหนึ่งของหนังที่นั่น

Bergman Island (2021)

การเขียนคือหน้าตาของความโดดเดี่ยว

“แน่นอนว่าไอเดียที่จะทำหนังไม่ได้มาจากเกาะนี้ แต่ฉันคิดว่าความรู้สึกถึงแรงดึงดูดของที่นี่มันตรงกับความต้องการทำหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์และการสร้างสรรค์งานศิลปะของฉัน” เธอมีไอเดียเกี่ยวกับคู่รักนักทำหนังมาตั้งแต่หลังทำ Eden (2014) แต่ยังไม่แน่ใจว่ามันจะออกมาทางไหนหรือเรื่องราวจะเกิดขึ้นที่ใด แต่หลังจาก เกรตา เกอร์วิก และ โนอา บอมบาค ที่เพิ่งกลับมาจากเกาะเฟอร์เรอร์เล่าให้เธอฟังว่าทริปนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เธอก็เริ่มปะติดปะต่อทุกอย่างเข้าด้วยกัน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของหนัง

“เมื่อคุณอยู่ในความสัมพันธ์ เมื่อคุณเป็นศิลปินกันทั้งคู่และคุณต่างเขียน คุณต้องยอมรับความจริงว่ามันจะมีบางอย่างที่หนีห่างจากคุณไปเรื่อยๆ บางสิ่งที่คุณไม่อาจเอื้อมคว้า บางสิ่งที่แลกเปลี่ยนให้กันฟังไม่ได้ และนั่นก็เจ็บปวดในหลายทาง”

แฮนเซน-เลิฟคือหนึ่งในคนที่ไม่พร้อมจะแชร์งานที่ยังไม่เสร็จของตัวเองให้ใครฟัง ในขั้นตอนการคิดงาน เธอแชร์ให้แค่คนหรือสองคนฟัง และเมื่อตัดต่อเสร็จ เธอก็ไม่ทำสกรีนเทสต์กับคน 20-30 คนแบบผู้กำกับคนอื่นๆ แต่ฉายกันดูกับคนไม่กี่คนและทีมโปรดิวเซอร์เท่านั้น “มันอาจจะมาจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยของฉันเอง” เธอเล่าต่อว่านั่นก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเขียนบทคนเดียวตลอดมา

“ไม่ใช่เพราะฉันคิดว่าฉันเขียนได้ดีกว่าคนอื่นหรือเพราะคิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์หรืออะไร แต่เพราะจริงๆ แล้วการเขียนมันยากมากสำหรับฉัน แต่ฉันยังคิดว่า การค้นพบบางสิ่งในตอนที่คุณอยู่คนเดียว—ตอนที่คุณเดินทางเข้าไปในตัวเอง—จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากคุณหลงหายเข้าไปท่ามกลางผู้คนตลอดเวลา”

“ฉันคิดว่ามันมีสิ่งที่คุณสามารถเผชิญหน้า พูด หรือแสดงออกได้ก็เพียงแต่เมื่อคุณมองเข้าไปข้างในตัวเอง ยอมรับความเงียบสงัดนั้นและสุ้มเสียงที่ถูกส่งออกมา มันเป็นเรื่องของความเงียบ มันเป็นเรื่องของพระเจ้า มันเป็นเรื่องของความอดทน ฉันคิดว่าการทำหนังสามารถดึงคุณออกมาจากสิ่งเหล่านี้ได้เลยถ้าคุณไม่ระมัดระวัง … เพราะอย่างนี้ฉันถึงมองว่าสุดท้ายเราต่างทำมันคนเดียวและเราต้องเผชิญหน้ากับความจริงนี้ ทางเดียวที่เราจะเป็นอิสระอย่างถึงที่สุดคือเราต้องยอมรับมันและพยายามลืมความคิดเห็นของคนอื่นๆ คุณไม่สามารถมองงานตัวเองจากมุมมองของคนอื่นได้ คุณทำได้แค่มองมันจากมุมมองของตัวเอง”

One Fine Morning (2022)

เมื่อชีวิตและการทำหนังพยักหน้าให้กัน

ซานดรา (เลอา เซดูซ์) แม่เลี้ยงเดี่ยวในปารีสที่ต้องดูแลทั้งลูกสาวตัวน้อยและพ่อวัยชรา (ปาสกาล เกรกกอรี) ศาสตราจารย์ที่เป็นโรคเบนสัน โดยที่เขาอาการย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ระหว่างนั้นเธอก็กลับมาพบกันกับนักจักรวาลเคมี เพื่อนของอดีตสามี (เมลวิล ปูโปด์) ทั้งสองมีใจให้กัน แต่ฝ่ายชายนั้นมีครอบครัวอยู่แล้ว พล็อตที่เหมือนจะธรรมดาทั่วไปของ One Fine Morning พันเกี่ยวกับชีวิตของแฮนเซน-เลิฟในช่วงนั้นที่พ่อของเธอเสียชีวิตจากโควิด-19 ในขณะที่เธอกำลังตั้งท้อง ช่วงเวลาที่ดูเหมือนจุดสิ้นสุดของสิ่งหนึ่งได้มาถึงพร้อมจุดเริ่มต้นของอีกสิ่งหนึ่ง

“ถ้าคุณมองชีวิตเพียงด้านเดียว คุณจะมีเหตุผลมากมายที่จะสิ้นหวัง แต่ถ้าคุณมองไปยังสิ่งอื่นๆ ด้วย คุณจะตระหนักว่าบางทีเราอาจจะต้องขยายกรอบสายตาออกไปกว้างๆ แล้วคุณก็จะเห็นเหตุผลที่จะยังคงมีหวัง และนั่นคือสิ่งที่ฉันพยายามทำ ในตอนที่ทำหนังเรื่องนี้ ฉันไม่ได้รู้สึกว่าฉันกำลังทรยศต่อความจริง แต่ฉันกำลังอยู่ใกล้ความจริงมากที่สุด เพราะชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว … ฉันไม่คิดว่าฉันโกงหรือประดิษฐ์ตอนจบที่สมหวังให้กับเรื่องราวที่ไม่ควรจะจบอย่างนั้น มันกลับกัน ฉันคิดว่าเวลานักเขียนทำหนังเกี่ยวกับเรื่องยากๆ พวกเขาจะขยี้ ขยี้ และขยี้ซ้ำ ราวกับว่าจะรีดเค้นความจริงออกมาได้ แต่สำหรับฉัน การกดปุ่มเดิมซ้ำๆ กลับดูปลอมยิ่งกว่า”

หลังจากหนังพรีเมียร์ที่คานส์เมื่อเดือนพฤษภาคม มันก็ได้รับคำวิจารณ์ที่หมดจดงดงาม ความหมายของชีวิตในมุมมองของตัวละครโรยตัวช้าๆ ผ่านเฟรมภาพในแบบที่แฮนเซน-เลิฟทำมาเสมอ บางสื่อบอกว่านี่คือด้านกลับของ Things to Come เพราะ เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับหญิงวัยกลางคนที่มองไปยังอนาคตของตัวเองหลังจากทุกอย่างล่มสลาย (L’Avenir ชื่อเรื่องภาษาฝรั่งเศสของ Things to Come แปลว่าอนาคต) ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับหญิงสาวที่มองย้อนกลับไปยังอดีตตอนที่ทุกอย่างดูเหมือนจะกำลังล่มสลาย แต่มันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น

“ประเด็นทั้งหมด[ของการทำหนัง]คือการหาทางทำสองอย่างในเวลาเดียวกัน และสองอย่างนี้ก็ค้านกันเองในบางครั้ง อย่างแรกคือการบันทึกชีวิตอย่างซื่อสัตย์และจริงใจที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ ไปให้ถึงความแจ่มแจ้งของชีวิต แต่ในอีกทางหนึ่ง ฉันก็อยากให้หนังช่วยให้ฉันใช้ชีวิตต่อไปได้” เธอกล่าว

“คำถามคือฉันจะทำมันอย่างซื่อสัตย์ที่สุดได้อย่างไร ฉันจะซื่อสัตย์กับประสบการณ์ชีวิตของตัวเองได้อย่างไรโดยที่ไม่กระตุ้นย้ำความสิ้นหวัง”

Related NEWS

LATEST NEWS