ว่าด้วย ‘สัดส่วนภาพ’ ของหนัง …ทำไมต้องหลากหลาย ทำไมต้องไม่เท่ากัน?

คอมเมนต์หนึ่งต่อ ‘ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ’ ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่เคยเจอคือ “สัดส่วนภาพของหนังเรื่องนี้ช่างใช้พื้นที่จอไม่คุ้มเอาเสียเลย” เพราะหนังใช้สัดส่วน 3:2 มันทำให้พอฉายโรงหรือสมาร์ททีวีแล้วจะมีขอบสีดำพาดอยู่ด้านข้าง ไม่ต่างกันเท่าไหร่กับ Die Tomorrow หนังเรื่องก่อนหน้าของนวพลที่ใช้สัดส่วน 1:1 มันให้ภาพกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส พอฉายแล้วก็ไม่เต็มจอเช่นกัน

นวพลมีเหตุผลของเขา “โดยพื้นฐานแล้วสเกลภาพต่างๆ มันเกิดขึ้นตามเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย เอาจริงก็ตามโมเดลธุรกิจ สมัยก่อนเริ่มมีการฉายแบบ scope (จอกว้าง) ก็เพื่อหนีจากสิ่งที่ทีวีมันให้ไม่ได้ พอมาถึงปัจจุบันมันเลยกลายเป็นตัวเลือกที่มากขึ้น หากยกเรื่องธุรกิจใดๆ ออก ก็หมายความว่าเราจะครอปแบบไหนก็ได้”

ในปัจจุบัน สัดส่วนภาพที่เป็นมาตรฐานโรงหนังส่วนใหญ่คือ 1.85:1 (flat) และ 2.35:1 (scope) หากหนังฉายด้วยสัดส่วนตามนี้มันก็จะเต็มจอพอดี ส่วนจอทีวีที่รองรับระบบ HD ส่วนใหญ่ก็จะมีสัดส่วน 1.78:1 (16:9) ซึ่งใกล้เคียงกับ 1.85:1 หากหนังเรื่องไหนไม่ได้อยู่ในสัดส่วนนี้ก็จะมีแถบดำบน-ล่าง หรือ ซ้าย-ขวา ว่ากันไป แต่ถ้าสัดส่วนนอกเหนือจากนี้มันจะแสดงผลไม่เต็มจอ ซึ่งนั่นไม่ได้มาจากความไม่รู้ของคนทำหนัง แต่มันย่อมเป็นความตั้งใจที่แตกต่างกันไปดังนี้ (บทความนี้จะเน้นที่สัดส่วนประหลาด ซึ่งอาจไม่คุ้นตาผู้ชมเท่าไหร่นัก)

ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ

3:2 – สัดส่วนนี้แทบไม่มีหนังเรื่องไหนใช้เลย แต่มาเจอใน ‘ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ’ เนื่องจากมันเป็นสัดส่วนสากลของภาพนิ่ง และด้วยเหตุนี้จึงทำให้นวพลหันมาทดลองกับมันดูสักตั้ง “มันมาจากตอนไปบล็อกช็อตแล้วสภาพห้องแถวมันจะซอยเป็นห้อง แล้วเมื่อถ่ายภาพนิ่งออกมามันสวยกว่า” นวพลยังบอกด้วยว่าสัดส่วน 3:2 นั้นจะให้ความสำคัญกับวัตถุแนวตั้งสอดคล้องกับสภาพห้องแถวตามความเป็นจริง และมันยังทำให้เราสนใจไปที่ตัวละครด้วย “สัดส่วนนี้มันแทบจะไม่มีอยู่จริง แต่มันเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้วในภาพถ่ายน่ะ”

Mommy

1:1 – มันคือสัดส่วนสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งนวพลก็ใช้ใน Die Tomorrow โดยเขาให้เหตุผลว่ามันจะให้ความรู้สึกคล้ายฟุตข่าวเก่าๆ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็มีทิศทางเช่นนั้น และยังทำให้เรานึกถึงสัดส่วนบนอินสตาแกรมด้วย ส่วนหนังอีกเรื่องที่ใช้สัดส่วนจัตุรัสคือ Mommy ของ ซาเวียร์ โดลอง เขาให้เหตุผลว่า “หลังจากถ่ายเอ็มวีในสัดส่วนนี้ (เพลง Collage Boy ของ Indochine) ก็เริ่มคิดว่าอัตราส่วนนี้ถ่ายทอดอารมณ์และความจริงใจที่ไม่เหมือนใคร สัดส่วนนี้ยังเหมาะอย่างยิ่งสำหรับพอร์เทรต ดังนั้นสายตาเราจะจับจ้องไปที่ตัวละครโดยที่ไม่มีอะไรมาดึงความสนใจไปเสียก่อน” และอีกเหตุผลหนึ่งของโดลองคือมันเป็นสัดส่วนเดียวกับปกซีดี เป็นความสนองนี้ดเล็กๆ ของเขาด้วย

A Ghost Story

4:3 (1.33:1) – สถาบันวิทยาการภาพยนตร์ระบุว่านี่คือสัดส่วนมาตรฐาน เพราะมันคือออริจินัลของหนัง (อีกชื่อหนึ่งคือสัดส่วนอคาเดมี) ในอดีตก็เป็นที่นิยมโดยเฉพาะในช่วงหนังยุค 1930s แต่ต่อมาทีวีก็แสดงค่าในสัดส่วนแบบเดียวกัน หนังจึงหนีไปให้ไกลเพื่อยั่วให้คนมาดูในโรงที่จอภาพขยายมุมมองได้กว้างกว่า แต่ตอนนี้มันกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง และส่วนใหญ่ก็เป็นหนังโชว์ภาพสวยๆ ทั้งสิ้น เช่น Ida (พาเวลล์ พาว์ลิโควสกี้), The Grand Budapest Hotel (เวส แอนเดอร์สัน, ใช้ 3 สัดส่วน แต่อคาเดมีเป็นหลัก), Laurence Anyways (ซาเวียร์ โดลอง), A Ghost Story (เดวิด โลเวอรี), American Honey (อันเดรีย อาร์โนลด์) และ First Reformed (พอล ชเรเดอร์) เป็นต้น

โรเบิร์ต เยโอแมน บอกว่าที่เลือกสัดส่วนอคาเดมีเป็นหลักใน The Grand Budapest Hotel (ภาพเปิดของบทความนี้) เพราะขณะที่สัดส่วนอื่นจะให้ค่ากับความกว้าง สัดส่วนนี้ที่เกือบจะจัตุรัส มันจะให้ความสำคัญกับความสูงมากกว่า ดังนั้นใน The Grand Budapest Hotel งานสร้างจึงโดดเด่นมาก เราจะได้เห็นเพดานมากขึ้นกว่าปกติ

สัดส่วน 4:3 มีคุณสมบัติไม่ต่างกันนักกับหนังจอแคบอื่นๆ ที่จะเน้นตัวละคร ซึ่ง เดวิด โลเวอรี เลือกมาใช้กับ A Ghost Story เพราะมันเป็นโปรเจกต์พักผ่อนที่เขาอยากได้อารมณ์ชวนเพื่อนมาทำหนังหลังบ้านกัน และเมื่อหนังเรื่องนี้ใช้พื้นที่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่เขาเลยเลือกใช้ 4:3 เพราะมันเหมือนตัวละครอยู่ในกล่องใบหนึ่ง

Midsommar

2.00:1 – อีกชื่อหนึ่งคือ Univisium เพราะมันได้รับการผลักดันโดย วิตโตริโอ สโตราโร ผกก.ภาพชาวอิตาเลียน เจ้าของผลงาน Apocalypse Now กับ The Last Emperor เขาคิดไว้เมื่อปี 1998 แนวคิดคือการหาสัดส่วนตรงกลางระหว่าง 2.35:1 กับ 1.85:1 ที่เป็นปัญหาโลกแตกของทั้งโรงและทีวี เลยเป็นสัดส่วนจะกว้างก็ไม่กว้างจะแคบก็ไม่แคบแบบนี้

มันเคยเป็นประเด็นใน Jurassic World เมื่อผกก.ภาพ จอห์น ชวาร์ตซแมน อยากจะถ่ายไดโนเสาร์เป็น 2.35:1 แต่ สตีเวน สปีลเบิร์ก อยากให้ถ่ายเป็น 1.85:1 ตามต้นฉบับ (มันให้ภาพไดโนเสาร์ที่ใหญ่โตกว่า เพราะมีสัดส่วนแนวตั้งที่มากกว่า) เลยกลายเป็นกึ่งกลางแบบนี้แฮปปี้ทุกฝ่าย

แต่ใครจะคิดว่าไอเดียของสตาราโรจะกลายเป็นมาตรฐานเข้าจนได้ เพราะทุกวันนี้หนัง,ซีรีส์ออริจินัลทั้ง Netflix กับ Amazon Prime ฉายด้วยสัดส่วน Univisium เป็นส่วนใหญ่ นอกจากจะเป็นการประนีประนอมแล้วสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่อีกหลายรุ่นยังมาพร้อมหน้าจอสัดส่วนนี้ด้วย ทำให้หนังโรงเริ่มปรับตัวตาม หันมาใช้สัดส่วนนี้กันมากขึ้น เช่น Hereditary, Midsommar, Green Book และ If Beale Street Could Talk เป็นต้น

I Am Not Madam Bovary

อื่นๆ – ในอดีตโรงหนังแข่งกันที่ความกว้างของจอ ทำให้มีหนังหลายเรื่องมาพร้อมสัดส่วนที่กว้างแบบซูเปอร์ โดยเฉพาะในช่วงรุ่งเรืองของหนังเอพิกอย่าง Ben-Hur แต่พอพ้นยุคนั้นมาก็ไม่ค่อยมีหนังเรื่องไหนฉายด้วยความกว้างระดับนั้นอีกเลย จนกระทั่ง The Hateful Eight ซึ่งฉายด้วยสัดส่วน 2.76:1 นั่นหมายความว่าโรงทั่วไปยืดจอจนสุดแล้วยังต้องมีแถบดำพาดเข้าไปอีกจึงจะได้ภาพที่สมบูรณ์ แต่มันจะเต็มอิ่มเมื่อดูในโรงที่ขนาดจอรองรับได้ เช่น โรงหนังที่เกิดมาพร้อมยุครุ่งเรืองของหนังเอพิกทั้งหลายนั่นเอง …และที่แหวกสุดๆ คือ I Am Not Madam Bovary ของ เฝิงเสี่ยวกัง ที่เป็นเฟรมวงกลม มันเกิดจากการที่เขามองว่า landscape ที่แท้จริงของหนังมันไร้ระเบียบ เขาเลยอยากจัดระเบียบเสียใหม่ให้อยู่ภายในกรอบวงกลม โดยแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนในราชวงศ์ซ่ง ซึ่งจะถูกจัดวางอยู่ในวงกลม และบอกความเป็นศิลปะของจีนได้อย่างดี

นคร โพธิ์ไพโรจน์
ริจะเบนเส้นทางไปเป็นไลฟ์โค้ชด้านการลดน้ำหนัก แต่เฟลเลยกลับมาเขียนบทความหนังไทยเหมือนเดิม

RELATED ARTICLES