The Border Fence รอบรั้วชายแดน

(2018, Nikolaus Geyrhalter)

เทือกเขาตระหง่าน บ้านและโรงนาหลังน้อยกลางผืนหญ้าเขียวขจีที่แผ่ขยายไปสุดสายตา และสะพานทางหลวงที่พาดผ่านทิวทัศน์อันงดงามทั้งหมดนี้…

มองอย่างผาดเผินจากสายตาคนนอก บริเวณช่องเขาที่ซึ่งชายแดนของประเทศออสเตรียกับอิตาลีมาบรรจบกันอย่างช่องเขาเบรนเนอร์ (Brenner Pass) แห่งนี้ดูน่าจะเป็นดินแดนแสนสุขที่ชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่ายเชื่องช้า แต่ในปี 2016 ชื่อของเบรนเนอร์กลับตกเป็นประเด็นข่าวใหญ่โตเมื่อรัฐบาลออสเตรียประกาศจะสร้างรั้วยาว 370 เมตรเพื่อกั้นชายแดน ด้วยเกรงว่าบรรดาผู้ลี้ภัยจะพากันหลังไหลกันเข้ามาจากอิตาลีผ่านทางช่องทางนี้ หนังสารคดีเรื่อง The Border Fence ก็พาเราไปสำรวจข้อพิพาทดังกล่าวท่ามกลางทัศนียภาพหุบเขาอันสวยจับใจ

หนังกำกับโดยคนทำสารคดีชาวออสเตรีย นิโคเลาส์​ กายร์ฮาลเทอร์ (Nikolaus Geyrhalter) เจ้าของผลงานอย่าง Our Daily Bread (2005), Homo Sapiens (2016) และ Earth (2019) งานของกายร์ฮาลเทอร์มักได้รับคำชื่นชมถึงการจัดวางองค์ประกอบภาพอย่างละเอียดลออและการใช้จังหวะภาพอันสงบแน่นิ่งเพื่อกระตุ้นเร้าให้คนดูครุ่นคำนึงถึงประเด็นยากๆ ตั้งแต่เรื่องของอุตสาหกรรมอาหาร ผลกระทบจากวิกฤตนิวเคลียร์ ไปจนถึงคอนเซ็ปต์ร่วมสมัยอย่างมนุษยสมัย (anthropocene) และหลังมนุษยนิยม (posthumanism)

ใน The Border Fence สายตาอันเฉียบคมของกายร์ฮาลเทอร์ไม่เพียงจับจ้องไปที่ภูมิทัศน์บริเวณชายแดนกับเมืองใกล้เคียง แต่ยังรวมถึงชีวิตผู้คนในละแวกนั้นที่ดำเนินไปท่ามกลางความหวาดกลัวระคนสงสารผู้ลี้ภัย และความไม่พอใจที่พวกเขามีต่อแผนการสร้างรั้วกั้นชายแดนของรัฐบาล กายร์ฮาลเทอร์เปิดพื้นที่ให้ความคิดเห็นที่หลากหลายของผู้คนเหล่านี้ที่ล้วน(จะ)ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการมาถึงของผู้ลี้ภัยและรั้วกั้นชายแดน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเจ้าของฟาร์ม คนงานก่อสร้าง คนขับรถส่งนม เจ้าของร้านอาหาร พนักงานเก็บเงินค่าทางด่วน หรือแม้กระทั่งบาทหลวง

หนังสำรวจเค้าลางความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเกิดขึ้นกับชีวิตผู้คนในเบรนเนอร์ตั้งแต่ตอนที่รั้วยังไม่ถูกสร้างและคลื่นของผู้ลี้ภัยยังไม่ถาโถมเข้ามาตามที่คาดการณ์ (ยังพอมีผู้ลี้ภัยผ่านมาและถูกจับตัวไปบ้าง แต่ยังไม่ใช่จำนวนมหาศาลอันเป็นเหตุผลในการสร้างรั้ว)​ บรรดาเจ้าหน้าที่ต้องขานรับกับมาตรการควบคุมชายแดนที่รัดกุมยิ่งขึ้น การจราจรบนทางหลวงที่ติดขัดส่งผลกระทบต่อธุรกิจและคนทำงานที่จำเป็นต้องข้ามชายแดนกลับไปกลับมาตามหน้าที่ นอกจากนี้หนังยังใช้เวลาไปกับการสำรวจความคิดเห็นที่ผู้คนมีต่อผู้ลี้ภัยด้วย

เรามักได้ยินประโยค “ฉันไม่ได้มีปัญหาอะไรกับผู้ลี้ภัยหรอกนะ แต่…” ถูกเอ่ยขึ้นมาในหนัง แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ ‘ปัญหา’ หรือความคิดเห็นจริงๆ ที่พวกเขามีต่อผู้ลี้ภัย หนึ่งในความเห็นหลักๆ คือความกังวลว่าประเทศจะกลายเป็น ‘ชาติผสม’ (mixed nation) นั่นเพราะผู้ลี้ภัยย่อมมาพร้อมกับวัฒนธรรมตามรากเหง้าของตนทำให้ยากต่อการปรับตัวเข้าหาสังคมออสเตรีย (บ่งชี้เป็นนัยว่าผู้ลี้ภัยที่พึงประสงค์จำเป็นต้องทิ้งอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองให้ได้ก่อนเพื่อที่จะผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาติใหม่ได้อย่างแท้จริง)

หากยึดเอาตามความเห็นข้างต้น เขตแดนที่บ่งชี้ความเป็นชาติก็ดูเหมือนจะมาพร้อมกับชุดค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติที่แน่นิ่งตายตัว ไม่เปิดพื้นที่ให้ความแตกต่าง แต่หากเรามองชีวิตประจำวันของพวกเขาจริงๆ แล้ว เราจะพบว่าเขตแดนในชีวิตจริงของพวกเขากลับมีหน้าตาคนละแบบกับเขตแดนเวลาที่พวกเขาต้องคิดเรื่องผู้ลี้ภัยอย่างสิ้นเชิง กายร์ฮาลเทอร์ดูเหมือนจะจงใจให้เราสังเกตเห็นความลักลั่นดังกล่าว ในหลายๆ ฉากเขาปล่อยให้ผู้คนบรรยายประสบการณ์ของการสัญจรข้ามเขตแดนอันแสนง่ายดายของพวกเขา — ชายหนุ่มพาไปดูกำแพงเขตแดนในฟาร์มที่มีบันไดให้ปีนข้ามไปได้ง่ายๆ คนขับรถพากายร์ฮาลเทอร์นั่งรถข้ามชายแดนเพียงแค่ขับวนวงเวียน สองหนุ่มนักปีนเขาโหยหาอดีตที่การข้ามชายแดนไม่ได้ง่ายเหมือนทุกวันนี้เพราะมันเคยเป็นประสบการน่าตื่นเต้นในวัยเด็ก(!) — แต่เส้นแบ่งเขตแดนที่เป็นเหมือนเส้นสมมติที่มองไม่เห็น (หรือเห็นไม่ชัด) นี้กลับมีความชัดเจนขึ้นมาทันทีที่กายร์ฮาลเทอร์โยนคำถามชวนอึดอัดเรื่องผู้ลี้ภัยเข้าไป

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ถูกสัมภาษณ์จะมีความเห็นระแวงไม่ไว้ใจผู้ลี้ภัยตามที่ได้สาธยายไป หลายๆ คนแสดงความเห็นอกเห็นใจด้วยเชื่อว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกลัวคนที่จำใจย้ายถิ่นฐานเพราะหนีสงครามมา และหลายๆ คนก็ยังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของความเป็นยุโรปที่ควรเน้นการเปิดรับ โอบอุ้ม และความสมัครสมานมากกว่าที่จะกีดกันใครออกไป

ในตอนต้นของหนัง เราได้เห็นการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านการสร้างรั้ว เสียงตะโกนอย่างเผ็ดร้อนว่า “หากยุโรปไม่มีอิสรภาพในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอีกต่อไป ยุโรปเองก็คงต้องจบสิ้นด้วย!” นั้นแม้ไม่ได้สะท้อนทัศนคติของคนทุกคนที่หนังไปสัมภาษณ์ แต่กลับบ่งชี้ได้ดีทีเดียวว่าหนังทั้งเรื่องพูดถึงอะไร — มันคือเรื่องของยุโรปในปัจจุบัน และ (หนึ่งใน) สิ่งที่นิยามอัตลักษณ์ของยุโรปอย่าง ‘ชายแดน’ ที่กำลังผันเปลี่ยนไปนั่นเอง

การสร้างรั้วขึ้นมาปิดกั้นชายแดนมีความหมายอย่างไรต่อคนท้องถิ่น นอกเหนือไปจากผลกระทบเรื่องการสัญจรข้ามประเทศอย่างอิสระเสรี การมองและทำความเข้าใจถึงชายแดนที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่หนังให้ความสนใจจริงๆ คืออัตลักษณ์ของพวกเขา — ทั้งในฐานะผู้พำนักอาศัยในละแวกใกล้เคียงที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงระยะประชิด ในฐานะชาวยุโรปผู้มีอุดมการณ์ร่วมมือร่วมใจ และในฐานะชาวไทโรล (Tyrol – ชื่อแคว้นบริเวณนั้นที่ครอบคลุมออสเตรียตะวันตกจรดอิตาลีตอนใต้) ที่ต้องถูกแยกจากกันอีกครั้งด้วยรั้วกั้นชายแดน

นั่นทำให้ต่อให้มีทัศนคติต่อผู้ลี้ภัยที่ไม่สู้ดีนัก ก็ใช่ว่าพวกเขาจะยินดีกับการสร้างรั้ว เมื่อรั้วกั้นชายแดนย่อมเข้ามาจัดกระทำทั้งกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์ที่มีมายาวนานของพื้นที่ ผู้ถูกสัมภาษณ์รายหนึ่งชี้ว่าทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากนโยบายหาเสียงประชานิยมของรัฐบาล ซึ่งประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมการเมืองนั้นย่อมไม่ได้รับการพูดถึงแม้แต่น้อยจากฝั่งผู้มีอำนาจ ความหวาดระแวงผู้ลี้ภัยและความกังวลเรื่องการควบคุมชายแดนจึงดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าจะเป็นปัญหาที่รัฐบาลตั้งใจที่จะลงมือแก้ไขหรือรับมือจริงๆ จังๆ

หากวิกฤตผู้ลี้ภัยเป็นสิ่งที่เข้ามาปรับนิยามและความคมชัดของเส้นแบ่งเขตแดนใหม่ หนังชวนให้เราตั้งคำถามว่า สภาวะทางความคิดและจิตใจแบบใดกันที่ถูกสร้างขึ้นมาและส่งต่อกันไปเรื่อยๆ หากการเดินหน้าตอบรับต่อวิกฤตการณ์นี้ (ทั้งในเชิงการเมืองและในเชิงมนุษยธรรม) เป็นไปบนฐานของความหวาดระแวงและการกีดกัน — ทั้งเจ้าหน้าที่ที่ต้องทนเป็นแขนขาให้กับรัฐบาลในการบังคับใช้กฎเกณฑ์อันเข้มงวดกับผู้ลี้ภัยแม้ใจจริงพวกเขาอาจไม่ได้อยากทำ ไปจนถึงพลเมืองที่หวงแหนสิ่งที่เป็นของตนเองมากเสียจนไม่สามารถหยิบยื่นแม้แต่โอกาสในการเริ่มต้นใหม่ให้กับคนแปลกหน้า

ดังที่ได้กล่าวไว้ว่ากายร์ฮาลเทอร์พาคนดูเคลื่อนผ่านหนังไปอย่างไม่รีบเร่ง และเปิดให้คนดูได้รับฟังความคิดเห็นหลายมุม แต่สารที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคงไม่พ้นการชี้ชวนให้คนดูเห็นว่าเขตแดนนั้นเป็นคอนเซ็ปต์ที่คร่ำครึึและน่าขันเพียงไร และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือความพยายามอันไร้แก่นสารของมนุษย์ในการทำทุกวิถีทางให้เส้นที่ไม่มองไม่เห็นนั้นถูกมองเห็นได้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเส้นเขตแดนพอดีจนเจ้าของต้องวางป้ายในบ้านเพื่อบอกว่าตรงไหนที่เขตแดนพาดผ่าน หรือกระทั่งเจ้ารั้วกั้นชายแดนเบรนเนอร์เจ้าปัญหานี่เอง ที่จนแล้วจนรอดถูกม้วนนอนแอ้งแม้งอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ริมชายแดน เฝ้ารอวันก่อสร้างที่ยังมาไม่ถึง เช่นเดียวกับคลื่นผู้ลี้ภัยลูกใหญ่ก็ไม่ได้ถาโถมเข้ามาที่ช่องเขาเบรนเนอร์ตามที่คาดการณ์ไว้แต่อย่างใด

รับชมหนังได้ที่ https://dafilms.com/film/10959-the-border-fence หรือ https://mubi.com/films/die-bauliche-massnahme

ดาวุธ​ ศาสนพิทักษ์
อดีตนักเขียนรับเชิญขาประจำของ BIOSCOPE ปัจจุบันเป็นพนักงานออฟฟิศที่พยายามขีดเขียนบ้างเมื่อมีเวลาและเรี่ยวแรง

LATEST REVIEWS