Business Update : นวัตกรรมใหม่ของคานส์ & อัพเดทมาตรการช่วยหนัง

เนื่องจากช่วงเวลานี้มีความเคลื่อนไหวมากมายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ในการรับรู้ของผู้อ่าน คอลัมน์ Film Business จึงขอเพิ่มช่องทางที่ชื่อ Business Update เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขอเชิญติดตาม


ตลาดหนังเมืองคานส์กับนวัตกรรมใหม่ของตลาดภาพยนตร์

ขณะที่เทศกาลเมืองคานส์ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจัดขึ้นเมื่อไร ในส่วนของตลาดภาพยนตร์ หรือ Marche du film ก็ประกาศแล้วว่า พวกเขามีแผนที่จะจัดตลาดหนังออนไลน์ หรือ เรียกว่า Virtual Market ระหว่างวันที่ 22-26 มิถุนายน แทน โดยไม่รอเทศกาลหนังอีกต่อไป สำหรับรูปแบบของตลาดหนังออนไลน์จะประกอบด้วยบูธขายหนังจากหลายบริษัท แต่ละบริษัทสามารถนำเสนอโปรเจกต์หนังไม่ว่าจะอยู่ในสถานะตั้งแต่ยังไม่ได้สร้าง กำลังสร้าง หรือสร้างเสร็จแล้ว แก่ผู้ซื้อที่ลงทะเบียนกับงานไว้แล้ว นอกจากนี้ ใน Virtual Market ยังมีโรงหนังออนไลน์ประมาณ 15 โรงซึ่งจะฉายหนังที่ระบุไว้ในโปรแกรมฉายต่อไป

เฌโรม ไปยารด์ (Jérôme Paillard) ผู้อำนวยการ Marche Du Film กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเปิดตัว Virtual Market เขาได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้ที่อยู่ในธุรกิจภาพยนตร์หลายฝ่าย พบว่ากว่า 80% ให้ความสนใจ โดยมีบริษัทจัดจำหน่ายอิสระขนาดใหญ่ของอเมริกาที่ยืนยันเข้าร่วม อาทิ Lionsgate STX AGC Studio Filmnation และ Solstice เป็นต้น สำหรับค่าเข้าร่วมงาน เริ่มต้นที่ 95 ยูโร (หากสมัครแบบ early bird) และ 195 ยูโร ถ้าเลยวันที่ 29 พฤษภาคมไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในมุมของผู้เขียน สิ่งที่ยังคงเป็นข้อกังขาน่าจะเป็นเรื่องการจัดการ โดยเฉพาะไทม์โซนซึ่งต่างกันในแต่ละประเทศ การไม่มีตลาดซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งการพบปะกัน อาจสร้างปัญหาแก่คู่ค้าที่อยู่คนละทวีป เช่น อเมริกา กับเอเชีย เป็นต้น


อัพเดทมาตรการช่วยอุตสาหกรรมหนังของชาติต่างๆ

ขณะที่วิกฤตการณ์โควิด 19 กำลังเข้าสู่ภาวะคลี่คลายในหลายประเทศ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมหนังกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รัฐบาลและภาคเอกชนของหลายประเทศจึงออกมาตรการช่วยเหลือแบบเร่งด่วน โดยเฉพาะแก่บุคลากรจำนวนมากที่ต้องขาดรายได้ในช่วงนี้ มาดูกันว่ามีประเทศอะไรกันบ้าง

สหรัฐอเมริกา

– ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา เรื่องแนวปฏิบัติของสถานที่ขนาดใหญ่ (Big Venue) หากมาตรการล็อคดาวน์เริ่มผ่อนคลาย โดยกำหนดว่าสถานที่เหล่านี้ ซึ่งรวมถึงโรงหนังด้วย จะเปิดได้ก็ต่อเมื่อดำเนินการตามข้อปฏิบัติสองระยะ ระยะแรก สถานที่ขนาดใหญ่เหล่านี้ต้องดำเนินมาตรการเว้นระยะทางร่างกายอย่างเข้มงวด (strict physical distancing) หากทำได้ โรงหนังก็สามารถเปิดได้ หรือไม่ก็ต้องรอจนถึงระยะที่สอง เมื่อระดับความเข้มข้นลดลงจนเหลือแค่ระดับเว้นระยะแบบพอดี (moderate physical distancing protocal) แม้ว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวยังไม่ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่ก็ทำให้โรงหนังหลายแห่งเริ่มมีความหวังว่าอาจจะกลับมาเปิดได้อีกครั้งในไม่ช้า

– สตีเว่น โซเดอเบิร์ก ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังอาทิ Ocean’s 11 และหนังเกี่ยวกับโรคระบาดซึ่งถูกพูดถึงในช่วงเวลานี้อย่าง Contagion ได้ร่วมกับคณะกรรมการสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์อเมริกา (Director Guild of America) ร่วมกันศึกษาหาแนวทางถึงความเป็นไปได้ที่ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะเริ่มกลับมาทำงานกันอีกครั้ง โดยจะดึงเอานักระบาดวิทยามาช่วยทำการประเมินด้วย เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยเมื่อต้องกลับมาถ่ายทำหนังอีกครั้ง

– สถาบันซันแดนซ์แห่งเทศกาลหนังซันแดนซ์ ได้ตั้งกองทุนฉุกเฉินเร่งด่วนจำนวนหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยเหลือนักทำหนังอิสระ โดยในจำนวนนี้หนึ่งในสามมอบให้แก่ศิลปินที่ทางสถาบันได้คัดเลือก และอีกสองในสามมอบให้แก่นักทำหนังอินดี้อิสระที่ประสบปัญหา ผ่านองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ

– Netflix ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งทรงอิทธิพล ประกาศมอบเงินสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 50 ล้านเหรียญ รวมเป็น 150 ล้านเหรียญ (Netflix ได้บริจาคเงินจำนวน 100 ล้านมาแล้วเมื่อเดือนมีนาคม) เพื่อช่วยบุคลากรสายโปรดักชั่นโปรเจกต์ต่างๆ ของบริษัทที่ต้องหยุดงานตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดเป็นต้นมา นอกจากนี้ Netflix ยังบริจาคเงินให้แก่หน่วยงานทางด้านภาพยนตร์ของประเทศต่างๆ ประเทศละหนึ่งล้านเหรียญ สำหรับนำไปใช้เยียวยาเบื้องต้นแก่บุคลากรในสายภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute) สภาการภาพยนตร์แห่งอิตาลี (Italian Film Commission) และสมาคมผู้อำนวยการสร้างแห่งประเทศอินเดีย (Producers Guild of India) เป็นต้น

ไอร์แลนด์

องค์กรสนับสนุนและส่งเสริมภาพยนตร์ประเทศไอร์แลนด์ หรือ Screen Ireland เผยว่าทางองค์กรได้เตรียมขยายกรอบวงเงินจำนวน 4.25 ล้านยูโร เพื่อให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ของประเทศไอร์แลนด์ อนึ่ง รัฐบาลไอร์แลนด์ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมมาโดยตลอดผ่านองค์กร Screen Ireland แม้สถานการณ์ไวรัสโควิด 19 จะส่งผลให้กิจกรรมทางด้านการผลิตต้องหยุดชะงักก็ตาม

สหราชอาณาจักร

องค์กรและหน่วยงานเพื่อการกุศลต่างๆ ได้มีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ เริ่มที่สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ หรือ British Film Institute ได้ใช้กองทุนสลากกินแบ่งแห่งชาติจำนวนหนึ่งล้านสามแสนปอนด์ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจโรงหนังทั่วประเทศที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากคำสั่งปิดโรงหนังของรัฐบาล โดยผู้ประกอบการโรงหนังสามารถลงทะเบียนขอรับทุนได้ตั้งแต่ตอนนี้ ขณะที่องค์กรการกุศลสำหรับภาพยนตร์และโทรทัศน์ (The Film and TV Charity) ได้กันเงินจำนวนสองล้านห้าแสนปอนด์ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรที่มีอาชีพอิสระจากทั้งภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ ได้ทำการกู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยด้วยจำนวนเงินไม่เกินสองพันปอนด์ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องใช้คืนภายในสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งเงินก้อนนี้จะช่วยประทังชีวิตของเหล่าฟรีแลนซ์ในระหว่างที่รอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลซึ่งจะออกในเดือนมิถุนายนนี้

Related NEWS

LATEST NEWS