“New Norm” ของธุรกิจหนังหลังวิกฤติ

นาทีนี้คงไม่มีคำไหนอินเทรนด์เท่ากับคำว่า “New norm” หรือ “New Normal” อีกแล้ว ความหมายแบบตรงตัวของมันก็คือ ความปกติหรือบรรทัดฐานใหม่ ที่จะมาแทนบรรทัดฐานเดิม วิกฤติการณ์โควิด 19 ซึ่งเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ดันคงอยู่อ้อยอิ่งยาวนาน ได้ทำให้พฤติกรรมเดิม ๆ หลายอย่างเปลี่ยนไป และสร้างพฤติกรรมใหม่ที่จะกลายเป็นความคุ้นชินโดยธรรมชาติในเวลาไม่ช้า

ธุรกิจหนังเองก็กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งอาจทำให้รูปแบบเดิมๆ ต้องกลายไปเป็นประวัติศาสตร์ ขณะที่รูปแบบใหม่จะกลายมาเป็นต้นแบบของอนาคต วันนี้ผู้เขียนจึงขอเสนอความเป็นไปได้ของ New Norm ที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจหนังหลังวิกฤติ 19 ว่าน่าจะมีอะไรบ้าง

1. ความคุ้นชินกับคำว่า Virtual หรือภาวะเสมือน :

คำที่โดดเด่นพอ ๆ กับ “Social Distancing” หรือ “Physical distancing” ในช่วงเวลานี้ก็คือคำว่า “Virtual” ทั้งหลาย เช่น Virtual meeting หรือการประชุมทางออนไลน์ผ่านช่องทาง ซูม หรือ ไมโครซอฟท์ทีม

ธุรกิจหนังก็เช่นกัน คำว่า Virtual เข้ามามีบทบาทในฐานะเครื่องมือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหลายอย่าง เช่น

– Virtual Festival
ที่แก้ปัญหาการจัดเทศกาลหนังซึ่งไม่สามารถจัดแบบปกติได้ แต่ก็ยังจำเป็นต้องจัดต่อไป ด้วยการดำเนินการแบบออนไลน์แทน

– Virtual Distribution
หรือการจัดจำหน่ายภาพยนตร์แบบออนไลน์ ที่แม้อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับหนังขนาดเล็ก แต่วิกฤติโควิดได้บีบให้สตูดิโอค่ายใหญ่ต้องลองหันมาจัดจำหน่ายวิธีนี้ดูบ้าง เช่น กรณีของค่าย Universal กับแอนิเมชั่นเรื่อง Troll World Tour เมื่อเดือนเมษายน ซึ่งผลปรากฏว่าหนังขึ้นอันดับหนึ่งในช่องทางสตรีมมิ่งดัง ๆ อย่าง Amazon Prime Comcast Apple TV Vudu Youtube และ Direct TV ทันที่ออกฉาย (ล่าสุดโรงหนังเครือใหญ่ในอเมริกาอย่าง AMC แสดงปฏิกริยาไม่พอใจด้วยการประกาศแบนจะไม่ฉายหนังของค่าย Universalอีก ถ้าโรงได้มีโอกาสกลับมาเปิดอีกครั้ง)

– Virtual Film Market
ซึ่งจะถูกใช้แทนที่ตลาดหนังเมืองคานส์ปลายเดือนมิถุนายนนี้ โดยหลักการคือ การจำลองตลาดซื้อขายหนังมาเป็นแบบออนไลน์ ผู้ซื้อและผู้ขายเจรจากันโดยไม่ต้องบินมาเจอตัวเป็นๆ กันที่เมืองคานส์

ความเคยชินกับรูปแบบของกิจกรรมเสมือน อาจทำให้กิจกรรมเหล่านี้ของธุรกิจหนังค่อย ๆ แปลงสภาพ จากการเป็นทางเลือกแก้ขัดกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ก็ได้ เพราะนอกจากจะสะดวกในการดำเนินการแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงมากด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการจัดการ โดยเฉพาะกับเทศกาลหนังและตลาดหนัง เป็นต้น

2. Window ที่สั้นลงของช่องทางการจัดจำหน่ายต่างๆ :

ปกติระยะเวลาระหว่างช่องทางการจัดจำหน่ายหลักอย่างโรงหนัง กับช่องทางอื่น ๆ (เรียกว่า Window) มักห่างกันค่อนข้างนาน เช่น หนังเข้าฉายโรงไปแล้ว 3 เดือน จึงจะมาออกดีวีดี และ 6-8 เดือนจึงจะมาลงสตรีมมิ่ง (เช่น Netflix)

แต่เพราะวิกฤติโควิด 19 ทำให้ การดูหนังในช่องทางวิดีโอออนดีมานด์แบบสตรีมมิ่งได้รับความนิยมมาก บริษัทจัดจำหน่ายที่อาจจะเคยเกรงใจโรงหนัง เนื่องจากมองว่าเป็นช่องทางที่ควรคู่กับหนังจริงๆ แถมยังเป็นแหล่งรายได้ก้อนใหญ่) ชักเกิดอาการลังเล และอาจหาทางเจรจากับช่องทางหลักทั้งสองช่องทางใหม่ โดยความเป็นไปได้ดูเป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือ การประนีประนอม เรื่องระยะเวลา เช่น หนังเข้าโรงไปไม่ถึงเดือนหรืออาจแค่สัก 1 สัปดาห์ก็ลงสตรีมมิ่ง เป็นต้น

3. รายได้ที่ลดลงอย่างน่าตกใจของโรงหนัง :

สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหลังจากวิกฤติคลี่คลายคือ การจัดระเบียบใหม่ในการดูหนังภายใต้คอนเซ็ปต์ลดความกระจุกตัว ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้โรงหนังต้องมีรายได้ลดลงโดยอัตโนมัติ

ดังนั้นสิ่งที่จะกลายเป็น New Norm อาจมีสองทางที่ต่างกัน คือ หากโรงไม่ลดค่าตั๋วหนังเพื่อดึงดูดใจคนดูให้ยินดีมาเข้าโรง ก็คงเลือกทางตรงกันข้ามคือ เพิ่มค่าตั๋วไปเลยเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป

4. หนังที่จะฉายโรงอาจจำกัดแค่หนังประเภท Event Movie หรือหนังฟอร์มใหญ่ที่ต้องมาดูที่โรงเท่านั้น :

ส่วนหนังกลางและเล็กอาจดึงคนดูกลับไปเข้าโรงได้ยากขึ้น เพราะคนดูจำนวนหนึ่งเริ่มคุ้นชินกับช่องทางดูหนังสตรีมมิ่งขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเวลาแห่งวิกฤติลากยาวมากเท่าใด ความคุ้นชินก็จะกลายเป็นความปกติเร็วขึ้นเท่านั้น

ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ดำเนินล้อไปกับวิกฤติการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ทั้งโรคระบาด สงคราม ภัยพิบัติทั้งหลาย และเหตุการณ์เหล่านั้นก็ส่งผลต่อการก่อกำเนิดโครงสร้างใหม่ๆ เกือบทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ธุรกิจ หรือรสนิยมการเสพของผู้ชม และครั้งนี้ก็เช่นกัน

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES