Blog Page 22

ถึงคราวอวสาน หนังสือหนังออเตอร์?

ลำพังสถานการณ์ปกติเราก็พอเห็นทิศทางที่ไม่น่าวางใจนักของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะนิตยสารหนัง ที่หลายหัวยังพยายามประคับประคองเพื่อความอยู่รอดอย่างถึงที่สุด จนกระทั่งเกิดโรคระบาดโควิด-19 เสมือนเป็นการเหยียบคันเร่งให้จุดจบมาถึงเร็วขึ้น และที่สะเทือนวงการคือจุดเปลี่ยนของนิตยสารหนังออเตอร์ หรือหนังสือหนังสายแข็งที่เต็มไปด้วยบทวิเคราะห์เชิงลึกอย่าง Film Comment ของอเมริกา และ Cahiers du Cinéma ของฝรั่งเศส

Film Comment เป็นนิตยสารรายสองเดือน จะวางแผงฉบับเดือนพ.ค.-มิ.ย. นี้เป็นฉบับสุดท้าย ส่วน Cahiers du Cinéma ได้นายทุนใหม่มาโอบอุ้ม แต่จำเป็นต้องรีแบรนด์ใหม่ทั้งหมด …เพราะเช่นนี้เองที่ทำให้เหล่านักวิจารณ์หนังร่วมอาชีพคาดเดาว่า “จุดจบของนิตยสารหนังออเตอร์มาถึงแล้ว”

Film Comment ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1962 โดย Film at Lincoln Center ซึ่งเป็นสโมสรเพื่อหนังอิสระและหนังต่างประเทศ แต่พอเจอโรคระบาดเลยต้องเลิกจ้างพนักงานไปครึ่งหนึ่ง และโละพนักงานพาร์ตไทม์ทั้งหมด ด้วยเหตุผลไม่ต่างกันนักกับ ‘พระนครฟิลม์’ และ ‘ธนาซีเนเล็กซ์’ ที่เพิ่งหยุดกิจการไปก่อนหน้า นั่นคือในภาวะที่ยังมองไม่เห็นว่าสถานการณ์นี้จะคลี่คลายเมื่อไหร่ และฟื้นฟูได้สมบูรณ์ตอนไหน ทางออกที่ดีที่สุดคือการตัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นทั้งหมด อย่างน้อยก็ยังจะพอประคับประคององค์กรไปได้ เลสลี เคลนเบิร์ก ผู้อำนวยการ Film at Lincoln Center กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องลำบากใจก็จริง แต่การตัดสินใจเช่นนี้ เราก็น่าจะยังอยู่รอดงดงามได้ในวันที่ฟ้าเปิด”

ขณะที่ Cahiers du Cinéma ของฝรั่งเศสมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่านั้น มันเกิดขึ้นเมื่อปี 1951 จากกลุ่มคนรักหนังและนักวิจารณ์จนกระทั่งมันเป็นพื้นที่แจ้งเกิดของเหล่านักเขียน ทั้ง เอริก โรห์แมร์, โคล้ด ชาร์โบ, ฌ็อง ลุก โกดาด์ และ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ ที่ต่อมาพวกเขาไปขับเคลื่อน French New Wave ด้วยสื่อในมือชิ้นนี้ ก่อนที่จะกลายเป็นนักทำหนังสุดยิ่งใหญ่ทั้งคณะ ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำหนังอีกมากมายผ่านบทความต่างๆ จะกล่าวว่า Cahiers du Cinéma เป็นนิตยสารที่สร้างวงการหนังฝรั่งเศสก็คงไม่ผิดนัก ดังนั้นเมื่อมันกำลังจะไปไม่รอด เหล่านักลงทุนในวงการหนังฝรั่งเศสทั้งโปรดิวเซอร์และสตูดิโอจึงช่วยกันโอบอุ้มมันไว้ อย่างน้อยก็สามารถใช้มันเป็นสื่อน้ำดีให้กับวงการได้ และหนึ่งในแผนดังกล่าวคือจับมันแปลงโฉมให้ไฉไลขึ้น

มีแนวโน้มว่าคนทำหนังฝรั่งเศสจะเวียนกันมาเขียนบทความในเล่ม และเต็มไปด้วยบทสัมภาษณ์ เพื่อสนับสนุนหนังที่กำลังจะฉาย ซึ่งนี่คือสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักต่อตัวตนของ Cahiers du Cinéma … ริชาร์ด บรอดี้ จาก The New Yorker บอกว่าปรับให้ตายยังไงก็ไม่ “ชิค” อย่างที่ทีมบริหารใหม่ต้องการแน่นอน เพราะตัวตนของ Cahiers du Cinéma คือความเข้มข้นจริงจัง ส่วน ชาร์ลส บราเมสโก แห่ง Little White Lies ก็บอกว่าจะเปลี่ยนก็ได้แต่นั่นหมายความว่า “Cahiers du Cinéma คนเก่าได้ตายไปแล้ว”

นักเขียนเก่าของ Cahiers du Cinéma ลงนามไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงในทิศทางของทีมบริหารใหม่ โดยเฉพาะการทำลายจุดยืนของมันอย่างการวิจารณ์ที่อยู่เหนือการประชาสัมพันธ์ ซึ่งนั่นเองมิใช่หรือที่ทำให้ Cahiers du Cinéma มีบารมีมาเกือบ 70 ปี

สเตฟาน เดอลอร์เม บรรณาธิการบริหาร Cahiers du Cinéma ในช่วงเปลี่ยนผ่านให้ความเห็นว่า “หลายคนในตอนนี้เห็นว่าการวิจารณ์จะเป็นไพ่ใบสุดท้ายของแผนประชาสัมพันธ์ เรายังยืนยันที่จะสนับสนุน ‘หนังออเตอร์’ และแน่นอนว่ามันจะไม่เฉพาะแค่หนังที่เข้าโรงในขณะนั้นอยู่แล้ว เหล่าผู้กำกับและโปรดิวเซอร์มักมองว่าสื่อมวลชนจะช่วยพวกเขา การให้พื้นที่กับคนทำหนังได้เล่าหรืออธิบายหนังตัวเองเพื่อแก้ต่างหรืออะไรก็ตาม มันเป็นการทำลายวัฒนธรรมการวิจารณ์ …การวิจารณ์ที่ดีมันไม่ควรคาดเดาได้หรือควบคุมได้ มันไม่ใช่สิ่งที่ใครหน้าไหนจะกำกับมันได้ทั้งนั้น”

ความหวังหนังไทยอิสระ ไฉนฝากไว้กับ ‘โก๋แก่’

หลายครั้งที่คนทำหนังไทยหารือกันเพื่อพาวงการก้าวไปข้างหน้า แต่มันมักจะไปได้ไม่ไกลจากที่เป็นอยู่ แล้วมักจบลงด้วยการมองหาผู้สนับสนุนที่ถึงพร้อมทั้งกำลังทรัพย์ทั้งยังมีความรู้และความรักในวงการหนังไทยสักคน มาพามันออกจากวังวนแห่งความสิ้นหวังนี้เสียที

ในเมื่อรัฐไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ บางทีความหวังอาจอยู่ที่ภาคเอกชนสักราย และชื่อของ ‘โก๋แก่’ และ ‘โก๋ฟิล์ม’ จะได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ เพราะเป็นผู้สนับสนุนที่ปรากฏชื่ออยู่ในหนังอิสระและกิจกรรมเกี่ยวกับการดูหนังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังอย่าง ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’, ‘หน่าฮ่าน’, เป็นทัพหลังให้ HAL กับ Documentary Club ค่ายนำเข้าหนังอิสระ, โรงหนัง ‘สกาล่า’ และเพจ Film Club ของเรา… นั่นหมายความว่า ‘โก๋แก่’ และ ‘โก๋ฟิล์ม’ ไม่ได้สนับสนุนการสร้างหนังเพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมไปถึงการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมการดูหนังในมิติอื่นๆ ด้วย

จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ และ กฤษดา รวยเจริญทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด คือสองพี่น้องที่นอกจากจะบริหารถั่วโก๋แก่และผลิตภัณฑ์ในเครือแล้วยังเป็นนักดูหนังตัวยงด้วย ทั้งคู่คือผู้อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนวงการหนังอิสระด้วยเป้าหมายที่ต่างกัน จุมภฏรักในการทำหนัง ส่วนกฤษดารักที่จะเห็นหนังขับเคลื่อนสังคม แต่ทั้งคู่มีความเห็นตรงกันว่า ความเป็นศิลปะของหนังจะสร้างมูลค่าได้มหาศาล นี่จึงคือที่มาของแรงสนับสนุนอย่างที่เห็น

หนังมันถูกจำกัดด้วยค่ายหนังเพียงไม่กี่ค่าย ออกมาก็เป็นหนังตลาดเสียส่วนใหญ่ ถ้ามีใครสักคนหนึ่งที่ทำให้วงการหนังไทยมีความหลากหลาย เราก็ยินดีช่วยเขา อาจจะเป็นเงินไม่มากนักนะครับ แต่มันก็พอจะทำให้คนได้เห็นอะไรใหม่ๆ บ้าง

การเข้ามาในวงการหนังอิสระของโก๋แก่และโก๋ฟิล์มเป็นอย่างไร

กฤษดา : พื้นฐานพี่น้องเราโตมากับหนัง สมัยก่อนร้านบล็อกบัสเตอร์เป็นแหล่งรวมของพี่น้องเราเลยนะ ต่างคนต่างก็จะไปเช่า เลยเกิดปรากฏการณ์เช่นพี่น้องเช่าวิดีโอซ้ำกัน เรียกว่าหนังมันเป็นเรื่องที่พี่น้องเราคุยกันตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ต่างคนต่างก็ชอบหนังคนละแนว พอตอนหลังมาทำงานกัน ก็ต้องเริ่มจากพี่ต้นนี่แหละที่แกจะมีความชอบส่วนตัว อยากเป็นผกก.หนัง ก็ทำหนังอะไรของแกแล้วต่อยอดมาเรื่อยๆ ทำให้รู้จักคนในวงการ ส่วนผมเองก็ไปทำสายกราฟิก ทำไปทำมาก็ได้รู้จักคนในวงการหนังบ้างเหมือนกัน จนทำมาเรื่อยๆ พี่ต้นก็มาทำโก๋ฟิล์ม

จุมภฏ : ของผมอีกมุมนึง ผมชอบศิลปะก็มีวาดรูปบ้างแต่ไม่สนุกเท่ากับหนัง มันมีทั้งภาพและเสียง มีการเล่าเรื่องอยู่ในนั้น และมันมีศิลปะหลายอย่างอยู่ด้วย ทีนี้พอเริ่มทำโก๋ฟิล์มแรกๆ ก็เป็นงานอดิเรกทำหลังเลิกงาน เริ่มต้นก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปในวงการหนังต้องเจอใครดี ซึ่งคนแรกที่ผมได้เจอและชักจูงเข้าไปคือ พี่หมู BIOSCOPE (สุภาพ หริมเทพาธิป) เพราะตอนนั้นเราก็อ่านอยู่ แกก็แนะนำให้ผมรู้จักกับพี่อังเคิล (อดิเรก วัฏลีลา) วันนั้นคุยกันสามคน นั่นคือมีตติ้งแรกในวงการหนังของผมเลย จนถึงตอนนี้จะว่ามันมั่นคงในระดับหนึ่งแล้วก็ได้ เราได้เจอกับคนในวงการอีกหลายคน เลยรู้สึกว่าสำหรับหนังไทย แต่ทำไมเราต้องไปขอทุนต่างประเทศ และหนังมันถูกจำกัดด้วยค่ายหนังเพียงไม่กี่ค่าย ออกมาก็เป็นหนังตลาดเสียส่วนใหญ่ ถ้ามีใครสักคนหนึ่งที่ทำให้วงการหนังไทยมีความหลากหลาย เราก็ยินดีช่วยเขา อาจจะเป็นเงินไม่มากนักนะครับ แต่มันก็พอจะทำให้คนได้เห็นอะไรใหม่ๆ บ้าง

กฤษดา : เมืองไทยมัน undervalued งานศิลปะมากๆ เราไปให้ความสำคัญกับสิ่งอื่น ซึ่งผมอยากจะไฟต์มันด้วย นี่เป็นแรงขับเคลื่อนหนึ่ง ผมมองว่าหนังเป็นเครื่องมือที่ดีมาก มันสามารถพูดถึงเรื่องที่คนไม่เคยเห็น เรื่องที่รัฐเมิน หนังมันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังเพราะศิลปะทุกอย่างมันอยู่ในนั้น สามารถสร้างความจริงเสมือนขึ้นมาได้ สามารถเล่าเรื่องอะไรก็ได้ผ่านหนัง ในแง่หนึ่งศิลปะมันใช้เพื่อสังคมได้ แล้วศิลปะที่ไม่ใช่แค่หนังนะ เพลงหรืออะไรก็ตามมันทำเป็นอุตสาหกรรมได้ ในสังคมที่เจริญแล้วเขาให้ความสำคัญกับศิลปะมาก แล้วศิลปะมันจะสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ คือของทุกอย่างมันมีศิลปะแฝงอยู่ในนั้น เช่น สตีฟ จ๊อบส์ เขาก็มีความเป็นศิลปินอยู่ ลองแยกส่วนผลิตภัณฑ์ของเขาดูจะเห็นว่าค่าเทคโนโลยีมันไม่กี่บาทหรอก แต่ความเป็นศิลปะที่เขาใส่เข้าไปในนั้นมันเป็นตัวสร้างมูลค่า

อย่างผมดู Where to Invade Next เขาไปสำรวจโรงงานดูคาติ ถามว่ามันเป็นศิลปะรึเปล่า มอเตอร์ไซค์เราก็ทำได้ แต่มอเตอร์ไซค์อย่างดูคาติมันมีศิลปะในนั้น เพราะงั้นเราต้องการจะสร้างสภาพนิเวศน์ที่คนจะให้ความสำคัญกับศิลปะ เราอยากให้งานศิลปะมันสร้างมูลค่าได้ สุดท้ายแล้วเราก็จะเป็นประเทศ OEM (ผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้แบรนด์ต่างๆ) คือเราจะเป็น OEM ให้กับทั่วโลกไปแบบนี้เหรอ ทำไมเราไม่เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เองล่ะ

จุมภฏ : อย่างไปอังกฤษ หรือฝรั่งเศส มันจะมีที่ที่โรแมนติก ที่ที่ทำให้เมืองมันน่าอยู่ขึ้น เช่น บางทีเราพาแฟนไปเดินมิวเซียม ไปเดินสวนสาธารณะ มันมีศิลปะในตัวของมัน หรือบางทีมันมีสิ่งก่อสร้างบางแห่งที่เราอยากให้มีในบ้านเราบ้าง

กฤษดา : ผมว่าพ่อแม่สมัยนี้เขาก็เริ่มตระหนักกันนะ อย่างยุคเรานี่สายวิทย์อย่างกับเทพเจ้า สายศิลป์แทบจะไม่มีแดก แต่ตอนนี้มันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ปัญหาคือ ภาครัฐล่ะ เขายังตามทันรึเปล่า เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ เราก็อยากให้ภาครัฐเขามาสนใจด้วย

จุมภฏ : แฟนผมเขาติด Crash Landing on You เมื่อตอนยุค Il Mare หนังเกาหลีกับเราก็ยังไล่ๆ กันอยู่ จนมาดูเรื่องนี้โอ้โหมันไปไกลกว่าเรามากแล้ว แต่เราเองยังอยู่ใน soap opera

กฤษดา : หลายคนก็พูดนะว่าเกาหลีก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งออกวัฒนธรรม มันสามารถสร้างมูลค่าได้ขนาดนั้น และมันก็ทำงานต่อเนื่องกันนะ อย่างวันนี้จีนก็สามารถผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในโลกได้ทุกอย่างแล้ว เหมือนที่มีคำพูดว่าพระเจ้าสร้างโลก แต่ว่าทุกอย่างผลิตในจีน อย่าง Xiaomi กับ Samsung แบรนด์หลังมันจะมีวง BTS มีหนังเกาหลีอะไรพวกนี้แบ็คอัพมันอยู่ จนมีความรู้สึกว่ากูใช้ของมันแล้วคูลกว่า มันทำงานร่วมกันด้วยนะ ไอ้ฮาร์ดแวร์คือโปรดักท์ที่จับต้องได้ กับซอฟต์แวร์หรือสินค้าเชิงวัฒนธรรมมันทำงานควบคู่กัน คือมันสร้างและยกระดับประเทศกันขึ้นมาเลย หรืออย่างญี่ปุ่นนี่เศรษฐกิจเขาเริ่มดาวน์ลงไปแล้วนะ เขาเลยกลับมาดูว่าสิ่งที่น่าจะมากู้เศรษฐกิจเขาคือวัฒนธรรมอนิเมะ วัฒนธรรมคาวาอี้ ไม่งั้นโอลิมปิกเขาคงไม่เอาโงกุนมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ คือเมืองไทยเราควรจะสนับสนุนซอฟท์พาวเวอร์ เห็นความสำคัญของการส่งออกวัฒนธรรม

จุมภฏ : ไทยเราเองจะมีอยู่ยุคนึงที่มันมีการส่งออกวัฒนธรรมอย่าง ‘นางนาก’ ‘ชัตเตอร์’ ช่วงนั้นผมก็ทำงานกับต่างประเทศด้วย พอเราเจอลูกค้าต่างประเทศเขาก็ถามว่ายูดูหนังเรื่องนี้หรือยัง ฮอลลีวูดยังมาซื้อบทของเราไปทำ อันนี้เราส่งออกวัฒนธรรมไปแล้ว ไหนจะเรื่องผี เรื่องความเชื่อ อันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ หรืออย่างหนังพี่เจ้ยที่ได้ปาล์มทองจากเรื่อง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ เขาก็ขายความเป็นวัฒนธรรม

หรืออย่างตอน ‘องค์บาก’ ที่ทำให้ฝรั่งคลั่งมวยไทยและมาร์เชียลอาร์ทกันเยอะมาก แต่ไม่ได้ผลักดันมันต่อเนื่องจริงจัง

กฤษดา : ผมถึงคิดว่าซอฟท์พาวเวอร์เป็นสิ่งที่น่าส่งออก มันเป็นพันธกิจของเราในการที่จะสร้างสังคมที่ให้คุณค่ากับศิลปะ สุดท้ายแล้วมันจะยกระดับได้ทั้งสังคม

เคยคุยกันว่า วงการหนังไทยต่อให้ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐมากแค่ไหน แต่มันคงไม่เป็นรูปธรรมได้เท่าการมีคนที่มีกำลังพร้อมสนับสนุนและมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี

จุมภฏ : จริงๆ จะมีนายทุนกลุ่มนึงที่เขาคุยกันนะ อย่างเช่นมีหนังเรื่องนึงมาขอทุนเขาก็มีการคุยกันเองอยู่ว่าควรลงเงินแค่ไหนดี แต่อาจจะไม่เข้มแข็งอะไรมากมาย

กฤษดา : จริงๆ กับ ‘โก๋แก่’ เราวินวินด้วย เพราะความที่เรามีแบรนด์ ทันทีที่เราไปสนับสนุนหนังแล้วเรามีโปรดักท์ที่จับต้องได้ด้วย เราเองก็ไม่ได้มีเงินมากมายอะไรขนาดนั้นหรอก ถ้ามีนายทุนใหญ่เขาสนใจด้วยก็ดี (หัวเราะ) มันก็จะยิ่งทรงพลัง

จุมภฏ : ผมคิดอีกอย่างนะ ทำโรงหนังกันเองเลย เพื่อให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นมา อาจจะไม่ได้หวังผลประโยชน์หรือหวังผลกำไร

กฤษดา : ความฝันของผมเลยนะ คือซื้อที่กลางใจเมืองสักที่นึงแล้วทำเป็นพื้นที่สาธารณะ ถ้าผมมีเงินระดับหมื่นล้านผมคงทำ ให้คนมาปล่อยของ ให้คนมาใช้ชีวิตกัน อย่างไปต่างประเทศเช่นออสเตรเลีย เราเห็นผังเมืองเขาแล้วรู้สึกว่าคนออกแบบเขาให้เกียรติประชาชน สวนสาธารณะเขาก็จะดีมาก แล้วก็มีสเปซที่ให้คนเดิน ให้คนมาใช้ชีวิตกัน ของเราลองไปพิพิธภัณฑ์เด็กดูสิ สิบชิ้นนี่อาจจะเสียสักสิบเอ็ด (หัวเราะ) ซึ่งรัฐไม่ทำพื้นที่ตรงนี้ไง ถ้าผมรวยกว่านี้คงทำเองไปแล้ว พอเราทำพื้นที่สาธารณะให้ดีมันก็จะต่อยอดกันไป ผมเห็นคนมาเต้นบีบอย มาเต้นคัฟเวอร์ ลูกผมเห็นก็เป็นแรงบันดาลใจต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วพื้นที่สาธารณะตรงนี้เอามาทำนิทรรศการก็ได้ เช่น เรื่องที่รัฐไม่อยากให้คนรู้ เรื่องคนชายขอบ เรื่องประเด็นที่เป็นการเมือง ทั้งที่จริงแล้วการเมืองมันก็อยู่ในทุกที่อยู่แล้ว ปรากฏว่าทุกวันนี้พื้นที่สาธารณะมันถูกควบคุมโดยรัฐ แล้วมันก็ไม่ทำให้เราเห็นอะไร ยกตัวอย่าง Parasite ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่รัฐโคตรจะเจ็บปวดเลยนะ มันฉายภาพสลัมซึ่งมันอิมแพ็คถึงขนาดว่าตอนนี้รัฐบาลเข้าไปปรับปรุงพื้นที่แออัด มันส่งพลังไปขนาดนั้น

ถ้าเราไม่ลุกมาทำอะไรก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เราก็คงต้องอาศัยการทำของเราไปเรื่อยๆ อย่างมุมานะ มันอาจจะยาวนาน คิดว่าวันหนึ่งภาครัฐก็คงจะเห็นมัน เราไม่ได้คาดหวังแต่วันหนึ่งเขาคงจะได้ยินมัน

จริงๆ ต่อให้มีเงินขนาดไหนแต่ลำพังเอกชนก็ไม่สามารถทำได้เพราะมันโยงใยกับสิ่งอื่นที่เป็นเรื่องของโครงสร้างรึเปล่า

จุมภฏ : เมื่อไม่กี่วันก่อนผมได้คุยกับคนที่ทำงานหอภาพยนตร์ ผมก็สงสัยว่าถ้ามันอยู่กลางใจเมืองก็คงจะดีนะ เขาบอกว่าประเด็นคือถ้ามันไปอยู่กลางใจเมืองก็จะมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยว ขณะที่ถ้าไปอยู่ต่างจังหวัดมันจะปลอดภัยกว่า เขาสบายใจที่จะอยู่อย่างนั้น ซึ่งผมว่าน่าจะมีรัฐบาลสักชุดที่จะมองเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้คนเข้าถึงคนง่ายขึ้น

กฤษดา : จริงๆ แล้วรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมที่สุด คือ จอมพล ป. (หัวเราะ)

แล้วคิดว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ที่น่าจะเป็นภารกิจของรัฐจึงมาถึงเรา

กฤษดา : ถ้าเราไม่ลุกมาทำอะไรก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เราก็คงต้องอาศัยการทำของเราไปเรื่อยๆ อย่างมุมานะ มันอาจจะยาวนาน คิดว่าวันหนึ่งภาครัฐก็คงจะเห็นมัน เราไม่ได้คาดหวังแต่วันหนึ่งเขาคงจะได้ยินมัน

รัฐบาลไต้หวันทุ่มเงินช่วยเหลืออุตสาหกรรมวัฒนธรรม

กระทรวงวัฒนธรรมของไต้หวันได้เข้าสู่เฟสที่สองของการเยียวอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเมื่อต้นเดือนเมษาที่ผ่านมา ในเฟสแรกเงินเยียวยาถูกใช้ไปกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน ผู้สมัครกว่า 7 พันรายได้รับการช่วยเหลือ ภายใต้จุดมุ่งหมายที่ว่า “สนับสนุนธุรกิจ ดูแลคนงาน ปกป้องอาชีพอิสระ” ในเฟสที่สองกระทรวงวัฒนธรรมได้เพิ่มเม็ดเงินการช่วยเหลือสูงขึ้นหลายเท่าตัวที่ 5.22 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน

ส่วนแรกเงินจำนวน 1.8 พันล้าน จะถูกใช้เป็นเงินอุดหนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในส่วนของการจ่ายค่าจ้างพนักงาน เงินค่าอุปกรณ์และค่าบริหารในตลอดระยะเวลาสามเดือน แต่ละธุรกิจจะได้รับเงินสูงสุดที่ 2.5 ล้าน ส่วนบุคคลทั่วไปในสายงานวัฒนธรรมจะได้รับเงินสูงสุดอยู่ที่ 6 หมื่นดอลลาร์ไต้หวัน

สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบทางกระทรวงมีนโยบายช่วยเหลือโดยจ่ายเงินเป็นจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ตลอดระยะเวลาสามเดือน โดยมุ่งไปที่สายงานการแสดง หนัง และสื่อสิ่งพิมพ์ โดยสายงานเหล่านี้มีรายได้ที่ลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ในเฟสที่หนึ่งกระทรวงมีนโยบายอีกอย่างคือ การกู้ยืมเงินสำหรับธุรกิจ SME แต่พบว่าการจำกัดขนาดของธุรกิจทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือธุรกิจบางประเภทที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงเช่นกันได้ เช่น โรงหนัง ร้านหนังสือที่มีหลายสาขา และโรงละคร ในเฟสที่สองกระทรวงจึงเพิ่มธุรกิจเหล่านี้เข้าไปในกลุ่มธุรกิจที่สามารถกู้ยืมเงินได้

ส่วนสุดท้ายคือเหล่าอาชีพอิสระ (ฟรีแลนซ์) ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่มีมาตั้งแต่ในเฟสแรก ผู้ทำงานอาชีพอิสระในสายงานวัฒนธรรมจะได้รับเงินชดเชยคนละ 1 หมื่นดอลลาร์ไต้หวันในแต่ละเดือน ในระยะเวลาตลอดสามเดือนเช่นเดัยวกัน

เราจะเห็นได้ถึงความตั้งใจจริงจังในการเยียวยาและการเห็นความคุณค่าของวัฒนธรรมของรัฐบาลไต้หวันอย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่รัฐบาลแต่ยังรวมไปถึงทุกภาคส่วนที่พร้อมใจกันผ่านวิกฤตครั้งนี้ไป ล่าสุดสถานีโทรทัศน์ PTV (สถานีโทรทัศน์สาธารณะไต้หวัน) ได้เปิดแชนแนลออนไลน์ใหม่เพื่อลงการแสดงสดต่างๆ ที่ถูกระงับไปในช่วงเวลานี้ให้คนในประเทศได้ดูกันฟรีๆ ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์กับผู้ชมที่หาอะไรดูอยู่ที่บ้าน ยังเป็นการประชาสัมพันธ์การแสดงสดของหมู่คณะต่างๆ ไปในตัว

การเยียวในเฟสที่สองจะเริ่มต้นขึ้นในเร็ววันนี้ และเป็นที่น่าเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าไต้หวันจะไม่หยุดจนกว่าผู้คนทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างถึงที่สุด

แพนด้า – ศุภามาศ บุญนิล การก้าวข้ามความคาดหวัง กับอนาคตที่ยังไม่รู้

สำหรับคอหนังสั้นระดับนักศึกษาแล้ว อาจจะคุ้นชินกับแนวหนังที่นำเรื่องราวในครอบครัวมาถ่ายทอด เช่นเดียวกับ ‘พญาวัน’ หนังสั้นจบการศึกษาของ แพนด้า – ศุภามาศ บุญนิล อดีตนักศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เล่าเรื่องราวความขัดแย้งในครอบครัว ณ ช่วงเวลาที่ลูกสาวเดินทางกลับบ้านเกิดในช่วงสงกรานต์

ความโดดเด่นของ ‘พญาวัน’ คือการถ่ายทอดความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งเกลียดที่เกิดขึ้นในครอบครัว ผ่านช่วงเวลาเพียงวันเดียวได้อย่างน่าติดตาม จนทำให้หนังชนะเลิศรางวัลช้างเผือก (ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมระดับนักศึกษา) จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 23 ที่ผ่านมา และยังได้เข้าชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม ระดับนักเรียน-นักศึกษาของ ชมรมวิจารณ์บันเทิง ในปีนี้อีกด้วย

การพูดคุยกับศุภามาศในครั้งนี้ นอกเหนือจากเป็นการแนะนำให้รู้จักเธอ ผ่านผลงานอันแสนส่วนตัวเรื่องนี้แล้ว ยังเป็นการถามไถ่ถึงสารทุกข์สุกดิบ กับนักศึกษาจบใหม่สาขาภาพยนตร์ ที่ต้องดิ้นรนในช่วงที่ทุกอย่างหยุดชะงักเช่นนี้

ทำไมถึงเลือกทำประเด็นครอบครัวของตัวเอง

คงเพราะว่านี่เป็นเรื่องที่อยู่ในใจเรามาตลอด และรู้สึกว่าถ้าได้ทำมันออกมาก็คงช่วยให้เราก้าวข้ามมันออกมาได้ส่วนหนึ่ง บวกกับช่วงนั้นมันก็เป็นเรื่องที่กระตุกใจเรามากที่สุด ก็เลยตัดสินใจทำเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว

พอมันต้องเอาเรื่องส่วนตัวมากๆ มาทำ มีกระบวนการในการดัดแปลงมันออกมาให้เป็นหนังอย่างไร

ตอนแรกที่เราออกมาเล่าไอเดียให้อาจารย์ที่ปรึกษาฟัง และมันก็มีการอ้างอิงจากเหตุการณ์จริงๆ ออกมาเล่าเยอะ จนอาจารย์ก็ให้คำปรึกษาว่า ไม่อยากให้เราเอาเรื่องส่วนตัวออกมาเล่าเยอะเกินไป เพราะมันจะไปต่อลำบากในขั้นตอนต่อไป คืออาจารย์กลัวว่าเราจะยึดติดอยู่กับ ‘เรื่องจริง’ ที่เราต้องการเล่า จนไม่สามารถข้ามไปสู่การเล่าประเด็นอื่นๆ ที่ต่อยอดไปจากตรงนี้ได้ ก็เลยเอาทริคจากอาจารย์มาเป็นตัวตั้งว่า เราจะเอาแค่คอนเซ็ปต์ของเรื่องของเรา ที่ว่าด้วยครอบครัวที่เข้ากันไม่ได้เป็นหลัก แล้วนำประสบการณ์ส่วนตัวมาใช้บ้าง ซึ่งในหนังมันก็จะมีทั้งเรื่องของตัวเราเอง เรื่องของที่บ้านบ้าง มาผสมกับเรื่องราวที่แต่งขึ้นมาใหม่

อาจารย์กลัวว่าเราจะยึดติดอยู่กับ ‘เรื่องจริง’ ที่เราต้องการเล่า จนไม่สามารถข้ามไปสู่การเล่าประเด็นอื่นๆ ที่ต่อยอดไปจากตรงนี้ได้ ก็เลยเอาทริคจากอาจารย์มาเป็นตัวตั้งว่า เราจะเอาแค่คอนเซ็ปต์ของเรื่องของเรา ที่ว่าด้วยครอบครัวที่เข้ากันไม่ได้เป็นหลัก แล้วนำประสบการณ์ส่วนตัวมาใช้บ้าง ซึ่งในหนังมันก็จะมีทั้งเรื่องของตัวเราเอง เรื่องของที่บ้านบ้าง มาผสมกับเรื่องราวที่แต่งขึ้นมาใหม่

ในการทำ “พญาวัน” มีหนังอะไรที่ใช้อ้างอิงบ้าง

เรื่องแรกคือ Ladybird (2017, เกรตา เกอร์วิก) ซึ่งหนังก็จะคล้ายกันตรงที่ตัวละครลูกก็เป็นช่วงวัยที่เขากำลังค้นหาตัวเอง และมีความคัดแย้งกับแม่ของตัวเอง

อีกเรื่องคือ It’s Only the End of the World (2016, ซาวิเยร์ โดลอง) ที่เกี่ยวกับลูกชายที่ไม่ได้กลับบ้านมานาน แล้วมันเกิดระยะของความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว แล้วในหนังก็จะมีตัวละครพี่ชายที่ชอบแสดงความรู้สึกออกมาตรงๆ ซึ่งมันขัดกับบรรยากาศของในบ้านอันอึมครึม ที่สมาชิกคนอื่นรู้สึกอะไรแต่ไม่แสดงมันออกมา หนังเรื่องนี้มันทำให้เราเอามาเทียบเคียงกับที่บ้าน ด้วยความเป็นคนเหนือ ที่ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก เวลาทะเลาะกันมันสามารถบานปลายไปได้ไกลมาก ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจนะว่าครอบครัวอื่นเขาเป็นแบบนี้หรือเปล่า แต่หนังเรื่องนี้ของโดลองมันรีเลทกับเรามากๆ

สิ่งที่กังวลในการทำ ‘พญาวัน’ มากที่สุดคืออะไร

คือเรื่องของการแสดง เพราะส่วนตัวเราก็ไม่เคยทำหนังที่มีบทสนทนายาวๆ แบบนี้มาก่อน คือเราจะทำยังไงให้สามารถควบคุมการแสดงไม่ให้ออกมาโอเวอร์แอ็คติ้งจนเกินไป ซึ่งพอเรามาหนังในตอนนี้ ก็มีความรู้สึกว่าการแสดงบางฉากมันก็มีควานล้นจนเกินไปบ้างเหมือนกัน

นักแสดงคนหนึ่งที่เด่นมากๆ ในเรื่องคือ ‘แม่’ (เนตรณัฐฐา พ่วงพิพัฒน์) ซึ่งได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ผ่านมาด้วย อยากให้เล่าว่าทำงานกับนักแสดงอย่างไรบ้าง

อย่างตัวละคร แม่ และ ย่า (แสงจันทร์ ขันแข็ง) เราก็ไปเคสติ้งที่เชียงใหม่เพื่อหาคนที่พูดภาษาเหนือได้มาเล่น ซึ่งตัวนักแสดงที่เล่นเป็นแม่เองเคยมีประสบการณ์การแสดงละครเวทีที่ มช. มาก่อน แล้วในแง่ของการตีความบท ก็มีการแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวในมุมมองของความเป็นแม่ ซึ่งเขาก็มีลูกและไม่ได้อยู่กับลูกตลอดเวลา มันเลยกลายเป็นประสบการณ์ร่วมของตัวนักแสดงเองที่สามารถดึงมาใช้กับตัวละครนี้ได้

ส่วนในแง่การทำงาน ก่อนถ่ายเราก็จะมีการเวิร์คช็อป ซึ่งเราเองเองจะพยายามปูพื้นถึงเรื่องราวที่เป็นปูมหลังของแต่ละตัวละครให้นักแสดงเข้าถึงมากที่สุด จนทำให้นักแสดงสามารถทำออกมาได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราคิดไว้ประมาณหนึ่งเลย

คุณแม่ได้ดูหนังเรื่องนี้หรือยัง

ได้ดูแล้วค่ะ (หัวเราะ) ได้ดูตอนที่ฉายงานธีสิสของมหาวิทยาลัย ส่วนฟีดแบ็กของแม่ก็ดูค่อนข้างชอบนะ แต่เราไม่รู้ว่าเขาได้ตีความหนังของเราไปอย่างไรบ้าง แต่แม่เขาจะพูดถึงเหตุการณ์บางฉากที่มันคล้ายคลึงกับเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ในครอบครัว คือไปในเชิงติดตลกซะมากกว่า เราเองก็ไม่ได้อยากถามอะไรลึกไปกว่านั้น เพราะหนังมันก็คือสิ่งที่เราอยากพูดไปหมดแล้ว และต้องการจะมูฟออนจากมันไป ไม่อยากจะเอาปัญหาเหล่านั้นกลับมาพูดซ้ำอีกแล้ว แต่คิดว่าแม่คงน่าจะชอบหนังนะคะ เพราะมีขอลิงค์มาดูซ้ำตอนหลังด้วย (หัวเราะ)

หลังจากนี้มีอะไรที่อยากทำในฐานะคนทำหนังบ้าง

เราก็ยังอยากจะทำงานด้านเขียนบทและกำกับต่อไปถ้ามันยังมีโอกาส….แต่ก็อย่างที่เห็นกันในสถานการณ์ตอนนี้ ไม่รู้ว่ามันจะคาดหวังได้มากแค่ไหน คือถ้ามีโอกาสในวงการหนังหยิบยืนมาเราก็อยากจะลองทำหมด เพราะเราก็เคยผ่านงานมาหลายด้าน คือทุกตำแหน่งมันทำให้เราได้เรียนรู้งาน แต่ถ้าอยากลองทำที่สุดคงเป็นตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ

ถามถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ในกลุ่มเพื่อนๆ ที่เพิ่งเรียนจบกันมา เป็นอย่างไรกันบ้าง

ก็มีเพื่อนบางส่วนที่ทำงาน WFH (Work From Home) แต่บางส่วนก็ยังต้องเดินทางไปบริษัทอยู่ แต่อีกส่วนหนึ่งที่ทำฟรีแลนซ์ก็ยังว่างงานก็นเป็นส่วนใหญ่ อย่างตัวเราเอง ก่อนหน้าก็เตรียมงานพัฒนาโปรเจกต์ซีรีส์กับทาง Electric Eel Films ที่เราเคยไปฝึกงานด้วย แต่พอสถานการณ์มันเป็นแบบนี้ มันก็เลยต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นขั้นตอนการพัฒนาบทไปเรื่อยๆ ก่อนแทน และยังไม่มีกำหนดว่าจะได้กลับไปทำเมื่อไหร่ ตัวเราเองเลยยังพยายามหาอะไรทำในตอนนี้ เพราะแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายเราก็ยังมีอยู่ ยังต้องจ่ายค่าเช่าบ้านอยู่กับเพื่อน ซึ่งถ้ายังไม่มีวี่แววอาจจะต้องกลับบ้าน ก็คงต้องปรึกษากับเพื่อนและทางบ้านอีกทีหนึ่งค่ะ

“ทำหนังเยียวยาโลก ทำสวนเยียวยาใจ” ศิลปินระดมทุนช่วยกระท่อมสวนหลังสุดท้าย ของ เดเร็ก จาร์แมน

Derek Jarman, Film maker, artist and stage designer at Prospect Cottage in Dungeness CREDIT Photographer Geraint Lewis

ตลอดชีวิตการเป็นศิลปินและคนทำหนัง เดเร็ก จาร์แมนสร้างผลงานเข้มข้นชวนฮือฮาไว้มากมาย แต่ในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนจากโลกนี้ไปด้วยอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับเอดส์ในปี 1994 สิ่งที่ปลอบประโลมใจให้เขาผ่านช่วงวิกฤตไปได้อย่างงดงาม คือ “การทำสวน” ❤️🌳☘️🍁

จาร์แมนเป็นคนทำหนังชาวอังกฤษคนสำคัญของวงการศิลปะอาวองการ์ดในลอนดอนช่วงทศวรรษ 1970-90 เขาสร้างงานโด่งดังหลายเรื่องที่นำเสนอประเด็นโฮโมอีโรติก เช่น Sebastiane (1976), Caravaggio (1986), Edward II (1991), Wittgenstein (1993), หนังวิพากษ์สังคมอย่าง Jubilee (1978), The Last of England (1987) กับยังเคยทำเอ็มวีให้ศิลปินดังๆ อย่าง เดอะสมิธส์, เพ็ตช็อปบอยส์ เป็นต้น

ในปี 1986 เขาพบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี และแม้ทั้งโลกจะกำลังหวาดกลัวไวรัสนี้แบบบ้าคลั่ง จาร์แมนก็ยังตัดสินใจออกมาเปิดเผยอาการและเรียกร้องเพื่อผู้ป่วยอย่างกล้าหาญ ปีเดียวกันนั้นเขาไปเที่ยวชายหาดดันจีเนสส์ในมณฑลเคนต์แล้วพบกระท่อมชาวประมงยุควิกตอเรียหลังนี้เข้า จึงซื้อมันไว้ในราคา 32,000 ปอนด์ แล้วตั้งชื่อมันว่า Prospect Cottage หรือกระท่อมแห่งความหวัง และเปลี่ยนมันให้กลายเป็น “ที่หลบภัย” เพื่อทำงานศิลปะที่เขารัก

เป็นที่แห่งนี้นี่เองที่พลังแห่งการสร้างสรรค์ช่วงสุดท้ายของจาร์แมนพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด เขาทำหนังเรื่อง The Garden ที่นี่ (รูปด้านล่างภาพบน), เขียนหนังสือ Modern Nature ที่นี่, วาดภาพ ทำงานประติมากรรม และเขียนบทกวีมากมายที่นี่ กระทั่งเมื่อเอดส์ทำให้เขาสูญเสียการมองเห็น เขาก็ยังปลงประสบการณ์นั้นเป็นหนังเรื่อง Blue (1993) ซึ่งใช้เสียงบรรยายประกอบกับภาพสีฟ้า สื่อสารถึงความตายที่ใกล้เข้ามาและสีเพียงสีเดียวที่ตาของเขายังเห็นอยู่ (รูปด้านล่างภาพล่าง)

The Garden (รูปบน) และ Blue (รูปล่าง)

อย่างไรก็ตาม ผลงานน่าทึ่งที่สุดที่จาร์แมนสร้างที่นี่แม้ร่างกายจะป่วยไข้ ก็คือการทำสวนที่แสนงดงาม …มันไม่ธรรมดาเพราะแท้จริงแล้วภูมิทัศน์ของดันจีเนสส์นั้นแทบไม่มีอะไรเอื้อ ที่นี่มีทั้งโรงงานนิวเคลียร์, รางรถไฟ และชายหาดที่เต็มไปด้วยกรวด มองไปทางไหนเห็นแต่หิน แทบหาสีดินไม่เจอ …ต้นไม้น้อยสีสันสดใสที่ค่อยๆ ผุดขึ้นท่ามกลางสภาพแห้งแล้ง รวมเข้ากับการจัดวางสิ่งของที่เก็บมาได้จากชายหาดอย่างประณีตบรรจง จึงกลายเป็นงานศิลปะยิ่งใหญ่ชวนอิ่มใจชิ้นสุดท้ายที่เขาฝากไว้ให้แก่โลกใบนี้

จาร์แมนเสียชีวิตในปี 1994 โดยยกกระท่อมให้ คีธ คอลลินส์ พาร์ตเนอร์ของเขา ซึ่งดูแลมันต่อมาจนปี 2008 ที่เขาเสียชีวิตตามไป องค์กรการกุศลของอังกฤษคือ Art Fund จึงประกาศขอระดมทุนจากสาธารณชนเพื่อซื้อไว้ก่อนที่มันจะตกเป็นของเอกชนรายอื่น

แคมเปญนี้มีเพื่อนๆ มากมายของจาร์แมนเข้ามาช่วย โดยเฉพาะ ทิลด้า สวินตัน นักแสดงสาวคู่บุญซึ่งช่วยโปรโมทเต็มที่ ส่งผลให้ระดมได้ถึง 3.6 ล้านเหรียญจากผู้บริจาคกว่า 8,100 ราย ในเวลาแค่ 10 สัปดาห์ (สองคนในนั้นคือ เดวิด ฮ็อคนีย์ ศิลปินชื่อดัง และ แซนดี้ พาวเวลล์ -คอสตูมดีไซเนอร์ที่เริ่มงานอาชีพนี้ครั้งแรกในหนัง Caravaggio – ซึ่งนำชุดที่เธอสวมไปงานออสการ์, งาน Critics Choice Awards และงานบาฟต้า มาล่าลายเซ็นคนดังแล้วประมูลได้เงินมา 2 หมื่นเหรียญ)

หลังจากนี้ Creative Folkestone องค์กรศิลปะของเคนต์จะเป็นผู้เข้ามาดูแล Prospect Cottage พร้อมแผนจะใช้มันเป็นสถานที่ฝึกอบรมและที่พักสำหรับศิลปิน, นักวิชาการ, นักเขียน, คนทำหนัง, คนทำสวน และวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานที่จาร์แมนสนใจ กับยังจะเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวนัดหมายขอเข้าชมได้ด้วย

ส่วนข้าวของสำคัญๆ ที่จาร์แมนเคยเก็บไว้ในกระท่อม (เช่น สมุดโน้ต, สมุดสเก็ตช์ภาพ, ภาพวาด, ภาพถ่าย, รางวัลเชิดชูเกียรติจากบาฟตาที่เขาได้รับในปี 1992, กล้องซูเปอร์ 8 และสมุดจดที่อยู่ซึ่งเขาแปะภาพถ่ายเพื่อนๆ ไว้ จะนำไปจัดแสดงที่ Tate Britain ต่อไป)

ในไดอารี่ เดเร็ก จาร์แมนบันทึกถึงสวนของเขาไว้ว่า “การได้อยู่ท่ามกลางพืชที่ใช้เป็นยา, ลาเวนเดอร์, แดฟโฟดิล, เคลทะเล และผึ้งป่า ช่วยเยียวยาผมได้อย่างวิเศษ”

และ โอลิเวีย แลง นักเขียนที่เคยเขียนถึงสวนแห่งนี้ไว้ กล่าวส่งท้ายว่า “สวนเป็นดังดินแดนไร้กาลเวลา มันสามารถเชื่อมต่อเราไปสู่อนาคต …โดยเฉพาะเมื่อเราไม่รู้ว่าเรายังมีเวลาเหลือในชีวิตอีกมากแค่ไหน การปลูกต้นไม้ด้วยความรู้สึกว่ามันจะออกดอกในฤดูร้อนถัดไปนั้นเป็นการประคับประคองจิตใจที่มีพลังอย่างแท้จริง”

ภาพประกอบ : โดย เฮาเวิร์ด ซูลีย์ ช่างภาพที่รู้จักจาร์แมนตั้งแต่ปี 1991 และกลายเป็นเพื่อนกัน เขาเป็นคนขับรถพาจาร์แมนไปโรงพยาบาลหลายครั้ง และบ่อยครั้งที่ชวนกันไปชายหาดเพื่อเก็บซากของมาแต่งสวน

“เราต้องรอดไปด้วยกัน” วงการหนังญี่ปุ่นสู้เพื่อช่วยเหลือโรงหนังอิสระ

ญี่ปุ่นมีตลาดหนังที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของเอเชีย ในปี 2019 ญี่ปุ่นมีโรงหนังกว่า 3,583 โรง ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ ในขณะที่หนังออกฉายในปีที่แล้วก็พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 689 เรื่อง แต่การเติบโตเหล่านี้ก็ถึงต้องหยุดชะงักลง

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่าน นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศญี่ปุ่น เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเครือข่ายโรงหนังทั้งหมดในญี่ปุ่น

บริษัทที่ใหญ่ที่สุดอย่าง โทโฮ ประกาศปิดโรงหนังของตนทั้งหมด 695 โรง ตั้งแต่วันที่อาเบะประกาศในวันแรกและยาวไปถึงวันที่ 6 พฤษภาคม เหตุผลหนึ่งมาจากยอดคนดูในต้นเดือนเมษายนที่ดิ่งลงเหวอย่างไม่เคยมีมาก่อน ข้อมูลจากเว็บ Box Office อย่าง Eiga ชี้ให้เห็นว่า คนดูลดลงกว่า 90% จากเดือนที่แล้ว

แต่คนที่ได้รับผลกระทบใหญ่กว่าคือ โรงหนังอาร์ตเฮ้าส์อิสระต่างๆ ที่กระจายตัวอย่างมากมายในญี่ปุ่น ทาคาชิ อาไซ ผู้อำนวยการสร้างหนังและหนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงหนัง Uplink ในย่านชิบูย่าบอกว่า เขาต้องปรับตัวโดยการฉายหนังต่างๆ ให้บริการบนสตรีมมิ่งแทน เพราะเขายังคงต้องจ่ายค่าเช่าสถานที่และค่าพนักงานอยู่ นี่เป็นหนึ่งในวิธีการที่โรงหนังอาร์ตเฮ้าส์ทั่วญี่ปุ่นกำลังทำตาม

เหล่าคนทำหนังและผู้รักหนังได้ร่วมกันสร้างแคมเปญรณรงค์ในเว็บไซต์ change.org ภายใต้ชื่อว่า #SaveTheCinema โดยพวกเขาประกาศว่า “หนังจะไม่สมบูรณ์หากไร้ผู้ชม โรงหนังคือตัวเชื่อมระหว่างหนังและผู้ชม พวกเขาคือแนวหน้าสุดของศิลปะหนัง พวกเราต้องการปกป้องพวกเขา” แคมเปญเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้กับเจ้าของโรงหนังและมีคนในวงการหนังเข้ามาสนับสนุนมากมายไม่ว่าจะเป็น ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (Shoplifters, Nobody Knows) และชินยะ ซึกาโมโต (Tetsuo: The Iron Man)

อีกหนึ่งแคมเปญที่เกิดขึ้นคือ การระดมทุนในเว็บไซต์ Motion-gallery.net นำทีมโดยผู้กำกับ โคจิ ฟุคุดะ (Harmonium) และเรียวซุเกะ ฮามากุชิ (Happy Hours, Asako I & II) ผู้คนกว่าหนึ่งหมื่นคนให้ความสนใจในการระดมทุนนี้

”พวกเราแจกจ่ายรายได้จากการขายสินค้านี้ให้กับโรงภาพยนตร์ที่เข้าร่วมอย่างเท่าเทียมกัน”

นอกจากนั้นยังมีแคมเปญ Save Our Local Cinema โดยโรงหนัง 13 โรงในภูมิภาคคันไซ พวกเขาขายเสื้อเพื่อระดมทุนช่วยโรงหนังในท้องถิ่น

แม้ว่าโทโฮจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีมัลติเพล็กซ์ครอบคลุมไปทั่วประเทศ แต่โรงหนังอิสระเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้วงการหนังของญี่ปุ่นรุ่มรวย เหล่าคนทำหนังต่างรับรู้ในจุดนี้ดี เพราะถ้าหากโรงหนังอิสระเหล่านี้ปิดตัวลง คนทำหนังจำนวนมากจะไม่มีพื้นที่ในการฉายหนังของเขา นอกจากในช่องทางออนไลน์หรือหนักที่สุดมันอาจจะไม่ได้รับการฉายใดๆ เลยก็เป็นไปได้

The Breakfast Club ฝันร้ายในความสำเร็จของกลุ่ม Brat Pack

The Breakfast Club ของผกก. จอห์น ฮิวจ์ส เป็นหนังปี 1985 ที่ส่งอิทธิพลต่อหนุ่มสาวในยุคนั้นจนได้รับเลือกจาก National Film Registry เพื่องานอนุรักษ์เพราะมันบันทึกประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสุนทรียะแห่งยุคสมัย และสิ่งหนึ่งที่พอจะยืนยันได้อย่างดีคือหนังเรื่องนี้ได้ก่อกำเนิดกลุ่มนักแสดงที่เรียกกันว่า Brat Pack ซึ่งพวกเขาคงจดจำประสบการณ์ที่ทั้งงดงามและเลวร้ายนี้ไปตลอดกาล

The Breakfast Club เล่าเรื่องของเด็กไฮสคูล 5 คนที่โดนครูปกครองเรียกมาอยู่โรงเรียนร่วมกันในวันเสาร์ เพื่อให้แต่ละคนทบทวนว่าตนทำผิดอะไรถึงต้องมาถูกกักบริเวณในวันที่ควรจะได้หยุดพักผ่อน แล้วส่งเรียงความก่อนถูกปล่อยกลับบ้าน แต่ภายใต้กฎระเบียบเฉพาะกาลที่ไม่เห็นจะเมคเซนส์นี้เลยทำให้พวกเขาต้องหาทางแหกกฎ กลายเป็นหนังวัยรุ่นที่สะท้อนความคับข้องของคนที่ถูกคาดหวังจากรุ่นพ่อแม่…และด้วยท่าทีเช่นนี้มันเลยปลดแอกผู้ชมวัยรุ่นจนเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จที่สุดเรื่องหนึ่ง

Brat Pack หมายถึง 5 นักแสดงหนังเรื่องนี้ที่แจ้งเกิดพร้อมกัน อันประกอบไปด้วย มอลลี ริงก์วัลด์ (เธอดังมาก่อนจาก Sixteen Candles ของฮิวจ์สเช่นกัน), เอมิลิโอ เอสเตเวซ, จัดด์ เนลสัน, แอนโธนี ไมเคิล ฮอล และ อัลลี ชีดี้ …ซึ่งพวกเขายังเทียวมาเจอกันในหนังเรื่องอื่นอยู่บ่อยๆ

นักแสดงในกลุ่ม Brat Pack ยังมี ร็อบ โลว์, แอนดรูว์ แม็กคาร์ธี และ เดมี มัวร์ ทั้งสามคนร่วมงานกับเอสเตเวซ, เนลสัน และชีดี้ ใน St.Elmo’s Fire ของ โจเอล ชูมาเคอร์ ปีเดียวกัน เลยถูกจัดให้เป็นรุ่นแรกของ Brat Pack ด้วย ดังนั้นไม่ว่า 8 นักแสดงจากทั้ง The Breakfast Club กับ St.Elmo’s Fire จะไปอยู่ในหนังวัยรุ่นเรื่องไหน สมาชิก Brat Pack ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงแทบจะกล่าวได้ว่า Brat Pack ถูกใช้เรียกนักแสดงวัยรุ่นยุค 80 เกือบทุกคนในฮอลลีวูด เพราะนิยามของ Brat Pack ดันครอบคลุมไปถึงหนังเรื่องก่อนหน้าด้วย เช่น ทอม ครูส, แมตต์ ดิลลอน และ แพทริก สเวซีย์ ที่ร่วมแสดงกับเอสเตเวซและโลว์ใน The Outsiders (1983)

5 นักแสดงของ The Breakfast Club น่าจะอหังการ์จากความเป็น Brat Pack นี้ไม่น้อย แต่มันกลับตรงกันข้าม เรื่องมันเริ่มมาจากเอสเตเวซชวน เดวิด บลัม แห่ง New York Magazine มาสัมภาษณ์ระหว่างพักกอง St.Elmo’s Fire ที่ร้าน Hard Rock Cafe พร้อมลากโลว์กับเนลสันมานั่งคุยด้วย ภาพที่บลัมเห็นคือมีแฟนคลับมารออยู่หน้าร้านเนืองแน่นเป็นปรากฏการณ์ บลัมเลยพาดหัวตัวโตว่าพวกเขาคือ Hollywood’s Brat Pack บนปกนิตยสาร และกลายเป็นว่าใครต่อใครก็เรียกพวกเขาแบบนั้นเรื่อยมา เอสเตเวซโกรธบลัมมากเพราะรู้สึกเหมือนโดนหักหลัง คิดว่าบทสัมภาษณ์จะพุ่งประเด็นที่การแสดงแต่กลับโยงใยจนทำให้นักแสดงกลุ่มนี้เลี่ยงที่จะร่วมงานกันมาโดยตลอด

ชีดี้บอกว่า “บทความนี้มันทำลายทุกอย่าง เหมือนฉันเป็นได้แค่ส่วนหนึ่งของอะไรก็ไม่รู้ที่ใครคนหนึ่งกำหนดขึ้นมา” ด้านเนลสันบอกว่า “นักแสงชุดนี้ฉลาด ตลก และน่าร่วมงานด้วย ทุกคนใหม่หมด แต่หลังจากบทความตีพิมพ์ออกไป พวกเราก็ไม่กล้ากลับมาร่วมงานกันเท่าไหร่ ที่สำคัญคือไม่กล้าแม้แต่จะมาสังสรรค์กัน ทั้งที่พวกเขาน่าคบมาก” ด้านคนเขียนบทความอย่างบลัมเองก็ไม่คิดว่ามันจะมีอิทธิพลขนาดนี้ จนเขาเผยในเวลาต่อมาว่า “ถ้าย้อนกลับไปได้ ผมคงไม่เขียนมันในเชิงนี้นะ”

เดิมทีฮิวจ์สจะทำ The Breakfast Club เป็นหนังเรื่องแรก แต่ยูนิเวอร์ซัลยังงงอยู่ว่าฮิวจ์สมาไม้ไหน เพราะเครดิตเขาคือคนเขียนบทหนังชุด National Lampoon หนังทะลึ่งบ้าบอเรื่องดังเชียวนะ แต่ไหงเปิดมาโปรเจกต์แรกถึงได้อยู่ในสถานที่เดียวทั้งเรื่อง หนังรักก็ไม่ใช่ อารมณ์ขันก็ไม่มี ดาราก็โนเนม จะเอามุมไหนมาทำเงิน ฮิวจ์สเลยไปทำ Sixteen Candles ก่อน ซึ่งทุนไม่ได้เยอะเหมือนกัน ดาราใหม่กิ๊งเหมือนกัน แต่อย่างน้อยก็เป็นหนังรักแล้วกัน …ผลคือทุกวันนี้มันยังติดอันดับ 49 หนังไฮสคูลที่ดีที่สุดตลอดกาล และทำเงินไปราว 26 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 6.5 ล้านเหรียญฯ แน่นอนว่า The Breakfast Club เลยได้ทำในที่สุด แต่ด้วยทุนแค่ 1 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น!

หนังใช้โลเคชั่นที่ Maine North High School โดยแอบแชร์กันกับ Ferris Bueller’s Day Off หนังเรื่องที่ 3 ของฮิวจ์ส เพื่อลดต้นทุน และผลลัพธ์คือมันทำเงินไปกว่า 50 ล้านเหรียญฯ

เพราะทุนต่ำมากและมีเวลาถ่ายทำจำกัด ฮิวจ์สเลยให้ความสำคัญกับการละลายพฤติกรรมนาน 3 สัปดาห์เต็ม และในช่วงนั้นเองที่เกิดความตึงเครียดขึ้น เมื่อเนลสันที่รับบทจอห์นซึ่งเป็นตัวละครจอมคุกคาม ดันสวมวิญญาณนอกจอ ลามปามไปล้อพ่อของริงก์วัลด์ซึ่งเป็นนักดนตรีตาบอด จนเธอไม่พอใจจริงๆ ทำให้ฮิวจ์สเกือบจะไล่เขาออกจากโปรเจกต์ก่อนเปิดกล้อง แต่เพื่อนๆ ช่วยกันคลี่คลาย “พอพวกเรารวมพลังกันมันเลยทำให้เราเป็นกลุ่มเป็นก้อนกันมากขึ้น” ริงก์วัลด์กล่าว

สิ่งที่หนังคงทนเหนือกาลเวลาคือการที่มันสะท้อนจิตวิญญาณของหนุ่มสาวได้ทุกยุคสมัย ซึ่งเครดิตส่วนหนึ่งต้องมอบให้นักแสดง Brat Pack ชุดนี้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างตัวละครจนแทบจะกำหนดธีมหนังเลยทีเดียว

เริ่มจากสองสาว ริงก์วัลด์กับชีดี้ที่ช่วยกันเจรจากับฮิวจ์สเพราะความไม่สบายใจในบทหนัง เดิมทีจะต้องมีตัวละครโค้ชสอนว่ายน้ำสาวที่ฮิวจ์สใส่ฉากโชว์นมตามกระแสหนังวัยรุ่นทะลึ่งยุคนั้น แต่สองสาวมองว่ามันไม่จำเป็นกับเรื่องเลยขอต่อรองให้ตัดฉากดังกล่าวออก ไปๆ มาๆ ฮิวจ์สยกตัวละครนี้ทิ้งทั้งยวงแล้วแทนที่ด้วยภารโรงชายรุ่นใหญ่แทน

อย่างไรก็ดีเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งริงก์วัลด์และชีดี้ก็ยังรู้สึกไม่สบายใจกับบางฉากในหนังอยู่ดี โดยเฉพาะเมื่อทั้งคู่มีลูกสาวแล้ว ริงก์วัลด์ยังรู้สึกไม่ค่อยดีนักกับฉากที่จอห์นของเนลสันรุกล้ำเข้าไปใต้กระโปรง ส่วนชีดี้ไม่ชอบบทสรุปของตัวละครอัลลิสันของเธอ ซึ่งตัวละครนี้เป็นคนขวางโลก ผมเผ้ารุงรังสวมใส่เสื้อผ้าหม่นมืด แต่สุดท้ายเธอก็ค้นพบทางใหม่เมื่อแคลร์ (ริงก์วัลด์) จับเธอแต่งตัว แต่งหน้า ทำผม ให้เป็น ‘หญิง’ มากขึ้น ซึ่งเธอบอกว่า “ตอนนี้ฉันมีลูกสาวที่ภูมิใจในความเป็น queer เลยยังค้างคากับบทสรุปของตัวละครนี้ ถึงมันจะเป็นหนังที่ฉันรักมากแต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้สมบูรณ์แบบไปทั้งหมด”

และฉากสำคัญที่ได้รับคำชมอย่างเอกฉันท์คือฉากที่ทุกตัวละครขึ้นไปนั่งคุยกันบนชั้นสองของห้องสมุด แล้วเปิดอกเล่าความอัดอั้นของการเป็นวัยรุ่น ฉากนี้ฮิวจ์สบอกนักแสดงแค่ว่าให้ทุกคน ‘ด้นสด’ ในหัวข้อเรื่องการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวของวัยรุ่น ซึ่งนี่เลยกลายเป็นฉากฟาดผู้ชมเข้าอย่างจัง- และเป็นไอเดียให้ฮิวจ์สเปิดหนังด้วยคำพูดของ เดวิด โบวี่ ซึ่งมาจากชีดี้นั่นเอง

“และเหล่าเด็กๆ ที่คุณรังเกียจ
ทั้งที่พวกเขาพยายามเปลี่ยนโลกของเขา
ให้มีภูมิต้านทานต่อความเห็นของคุณ
พวกเขาตระหนักว่า
พวกเขาจะต้องเจอกับอะไร”

– เดวิด โบวี่

The Breakfast Club มีให้ดูใน Netflix

รู้จักอนิเมะแนว Isakei (ตอน 3) : 5 เรื่องน่าสนใจที่หาดูได้ใน Netflix

(อ่านตอน 1 ทำไมใครๆ ก็อยากไปต่างโลก? : รู้จัก “Isekai” แนวอนิเมะที่ฮิตที่สุดในรอบทศวรรษ และตอน 2 5 สูตรสำเร็จยอดนิยมแห่งทศวรรษ)

1) Re : Zero รีเซ็ตชีวิต ฝ่าวิกฤตต่างโลก

ซึบารุ เด็กหนุ่มธรรมดาที่เพิ่งซื้อของออกมาจากร้านสะดวกซื้อ แต่อยู่ดีๆ ก็ย้ายมาโลกอื่นโดยไม่รู้ตัว ระหว่างเดินในต่างโลกอย่างงงๆ เขาโดนกลุ่มโจรเล่นงานจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากสาวปริศนาชื่อ เอมิเลีย เพื่อทดแทนบุญคุณ ซึบารุจึงช่วยเธอตามหาของที่ถูกขโมยไป ทว่าเมื่อทั้งคู่ตามไปถึงต้นตอและกำลังจะได้ของคืน จู่ๆ พวกเขาทั้งคู่ก็ถูกฆ่าตายโดยนักฆ่าปริศนา

ทันทีที่ตาย ซึบารุก็พบว่าตัวเขาได้กลับไปในช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุ ตอนแรก เขาไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งโดนฆ่าตายที่จุดเดิมอีกครั้ง ซึบารุจึงมั่นใจว่าเขาติดอยู่ในลูปเวลาที่ “ถ้าตายเมื่อไหร่ จะย้อนเวลากลับไปยังช่วงก่อนตาย” ซึบารุจึงตัดสินใจว่าจะต้องเอาชนะความตายและช่วยหญิงสาวผู้มีพระคุณให้ได้ ไม่ว่าจะต้องวนลูปอีกกี่รอบก็ตาม

จุดเด่นของ Re : Zero คือ การนำพลอตแนวไทม์ลูปเหมือนหนัง Groundhog day, Edge of tomorrow และ Happy Death Day มาใช้กับแนว Isekai ขณะเดียวกันการดำเนินเรื่องก็มีกลิ่นอายแบบ Thriller และ Horror จากการที่ซึบารุไม่รู้ว่าตัวเองจะตายเมื่อไหร่ และการตายแต่ละครั้งก็ชวนสยดสยอง ความสนุกของอนิเมะเรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าพระเอกจะโชว์เทพหรือจะพิชิตใจสาวเมื่อไหร่ แต่เป็นการลุ้นว่าตัวเอกผู้ไม่มีพลังอะไรเลยจะหาทางไขปริศนาหรือเอาตัวรอดจากลูปนรกนี้ไปได้อย่างไร ซึ่งการที่ตัวเอกอย่างซึบารุนั้นอ่อนแอและตายง่ายมาก แถมยังไม่ฉลาดด้วย จึงทำให้ภารกิจของเขาน่าเอาใจช่วยกว่าหลายๆ เรื่องที่ตัวเอกเก่งเทพเหลือเกิน

2) That Time I Got Reincarnated as a Slime เกิดใหม่ทั้งทีก็กลายเป็นสไลม์ไปซะแล้ว

มิคามิ เป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆ ซึ่งซวยโดนคนร้ายแทงตายกลางถนน และได้ไปเกิดใหม่ในโลกแฟนตาซีต่างมิติ แต่เขาไม่ได้เกิดเป็นคนหรือผู้กล้า ทว่าไปเกิดเป็น “สไลม์” มอนสเตอร์ก้อนเมือกที่กระจอกที่สุดในบรรดาเกม RPG ทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม มิคามิไม่ใช่สไลม์ธรรมดา เขามีพลังที่สุดโกงในการกลืนกลินทุกอย่างแล้วนำมาแปรรูปเป็นไอเทมหรือเพิ่มความสามารถให้ตัวเอง เจ้าสไลม์ตัวน้อยได้กลืนกินมังกรในตำนานที่ถูกผู้กล้าจองจำ แล้วออกเผชิญโลกกว้างด้วยชื่อใหม่ว่า “ริมูรุ” ระหว่างเดินทางเขาก็เข้าไปปกป้องเหล่ามอนสเตอร์ที่โดนรังแกจนมอนสเตอร์เหล่านั้นยกให้เขาเป็นผู้นำ ริมูรุจึงเกิดความคิดจะสร้างประเทศของตนขึ้นมาเพื่อให้ทุกเผ่าพันธุ์อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แต่ก็ไม่วายต้องเข้าไปยุ่งพัวพันกับเหล่ามนุษย์และมอนสเตอร์ที่ไม่เป็นมิตร

จุดน่าสนใจของ That Time I Got Reincarnated as a Slime อยู่ตรงที่แม้จะเป็น Isekai ตามสูตรเป๊ะๆ คือตัวเอกเก่งเทพมีสาวๆ ห้อมล้อม แต่มันเป็น Isekai ที่ค่อนข้างน่ารัก อบอุ่น ฟีลกู๊ด ดูสบาย ทำให้เราเห็นชีวิตจิตใจของแต่ละเผ่าพันธุ์ซึ่งกลับต้องมาทำร้ายเข่นฆ่ากันเพราะความแตกต่าง ริมูรุจึงเป็นคนเข้าไปแก้ไขความขัดแย้งให้แต่ละฝ่ายเข้าใจกัน (แม้บางครั้งก็ต้องใช้กำลัง) สิ่งที่น่าชื่นชมของเรื่องนี้จึงอยู่ที่แนวคิดว่า เราจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขท่ามกลางความแตกต่างได้หรือไม่

3) The Rising of the Shield Hero ผู้กล้าโล่ผงาด

ผู้กล้าโล่ผงาดเป็นเรื่องราวของ นาโอฟุมิ เด็กมหา’ลัยติดเกมที่ถูกอัญเชิญจากต่างโลกให้ไปเป็นผู้กล้า เพื่อหยุดยั้ง “คลื่น” มอนสเตอร์ที่จะจู่โจมทำลายโลกดังกล่าว แต่แทนที่จะมีเกียรติ เขากลับโดนดูถูกเพราะดูไร้ประโยชน์ที่สุดในบรรดาผู้กล้าที่ถูกอัญเชิญมา และโชคร้ายซ้ำสองเมื่อนาโอฟุมิถูกใส่ร้ายว่าข่มขืนเพื่อนร่วมเดินทางของตน จนโดนคนทั้งอาณาจักรรังเกียจ

นาโอฟุมิซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ มีทางเลือกทางเดียวคือ ต้องทำทุกอย่างตามลำพัง เขานำเงินที่หามาได้ไปซื้อทาส เป็นเด็กสาวครึ่งคนครึ่งสัตว์ชื่อ ราฟทาเลีย ให้มาช่วยเขาสู้กับสัตว์ประหลาดเพื่อจะได้พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นก่อนที่คลื่นมอนสเตอร์จะมาถึง และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานผู้กล้าโล่ที่ผงาดขึ้นจากจุดต่ำสุดจนกลายเป็นผู้กอบกู้โลก

นี่อาจไม่ใช่อนิเมะ Isekai ที่มีคอนเซ็ปต์แปลกแหวกแนวเท่าไหร่ แต่ก็ทำได้ดีตามแนวทางที่มันควรเป็น มีตัวละครที่ลึกแข็งแรงและการเดินเรื่องที่จริงจังกว่าแนว Isekai ทั่วไป เพราะการที่ตัวเอกถูกใส่ร้ายและไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้การมาต่างโลกของเขาเหมือนกับฝันร้าย แถมการที่เป็นผู้กล้าโล่นั้น มีแต่คนดูถูกเพราะโล่ได้แต่ป้องกัน โจมตีไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้นาโอฟุมิเกลียดโลกใบนี้ กลายเป็นตัวเอกที่ทั้งมืดมนและน่าสงสาร ทั้งเรื่องจึงเป็นการต่อสู้ของคนที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม แต่ก็ยังพยายามเรื่อยมาด้วยวิถีของตัวเอง

ถ้าใครชอบอนิเมะเนื้อหาจริงจังเข้มข้น ไม่เน้นโชว์เทพและฮาเรม (แม้จะยังมีสองอย่างนี้ แต่อยู่ในระดับที่รับได้) “ผู้กล้าโล่” ก็เป็นทางเลือกที่สนุกทีเดียว

4) Overlord

ในวันที่ Yggdrasil เกมออนไลน์ชื่อดังกำลังจะปิดตัวลง ชายหนุ่มเกมเมอร์คนหนึ่งที่ผูกพันกับเกมนี้ก็เข้ามาในเกมเพื่อร่วมพิธีอำลา แต่ทันทีที่เซิร์ฟเวอร์ปิดตัวลง เขาก็รู้สึกตัวขึ้นมาในโลกของเกม โดยสวมบทบาทเป็น “โมมอนก้า” ตัวละครที่เขาเล่นนั่นเอง

โมมอนก้าคือจอมปีศาจอันเดดที่เป็นเจ้าของมหาสุสานนาซาริค อันอุดมไปด้วยบริหารปีศาจระดับสูงซึ่งพร้อมจะอุทิศตนตามคำสั่งของโมมอนก้า ชายหนุ่มที่มาเกิดใหม่ในโลกแห่งเกมจึงไม่มีทางเลือกนอกจากรับบทผู้นำของเหล่าปีศาจและอสูรกายนี้ โดยต้องนำทัพปีศาจของเขาไปขยายอาณาเขต ปกครองพื้นที่และกำจัดทุกคนที่ขวางทาง

Overlord สนุกตรงที่ตัวเอกเป็นจอมมารเสียเอง โทนเรื่องจึงมีความโหดและจริงจัง แม้ตัวเอกจะเก่งเว่อร์จนฝ่ายอื่นดูกระจอกไปหมด แต่ก็สนุกในแง่ที่เราต้องรอดูว่าเขาจะจัดการกับปัญหาต่างๆ ยังไง เพราะการใช้กำลังนั้นเป็นเรื่องง่าย แค่กระดิกนิ้วก็ฆ่าได้หมดแล้ว แต่การสร้างความน่าเชื่อถือและบารมีให้อีกฝ่ายเคารพยำเกรงเป็นเรื่องที่ยากกว่า ต้องใช้เล่ห์กลอุบายทั้งไม้อ่อนไม้แข็ง เพราะจุดมุ่งหมายของโมมอนก้าคือการยึดครอง ไม่ใช่ล้างบางทุกเผ่าพันธุ์ และการที่ได้ดูฝั่งตัวร้ายเอาชนะเหล่าฮีโร่ที่อ้างความดีนั้นก็เป็นเรื่องที่สนุกดี

5) No Game No Life

โซระและชิโระ สองพี่น้องผู้ไม่ยอมเข้าสังคม เอาแต่เก็บตัวอยู่ในห้องแล้วเล่นเกมอย่างเดียว พวกเขาเป็นเซียนเกมนิรนามไร้พ่ายจนเป็นตำนานในโลกออนไลน์ อยู่มาวันหนึ่งก็มีคนปริศนาท้าทั้งคู่แข่งหมากรุกออนไลน์ พวกเขาสามารถชนะการแข่งนั้นมาได้และถูกชวนให้ไปยังอีกโลกหนึ่ง ซึ่งตัดสินทุกอย่างด้วยเกม

โลกที่ใช้เกมตัดสินความขัดแย้งเช่นนี้ คือโลกในอุดมคติของทั้งสอง (พวกเขาปฏิเสธโลกความจริงที่ไม่มีกติกาชัดเจนแน่นอนแบบในเกม) โลกนี้มีผู้ท้าและผู้ถูกท้า โดยผู้ถูกท้าสามารถเลือกได้ว่าจะแข่งเกมอะไรในกติกาแบบไหน ใครชนะจะได้สิ่งที่ตกลงกันไว้และคนแพ้ก็ต้องสูญเสียสิ่งที่เดิมพัน โซระกับชิโระนั้นต้องการแข่งเกมให้ชนะทุกคนทุกเผ่าพันธุ์ เพื่อจะได้มีโอกาสไปท้าแข่งกับพระเจ้า

ความสนุกของ No Game No Life ก็ไม่พ้นการต่อสู้ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่การฟาดดาบหรือร่ายเวทใส่กัน แต่เป็นการแข่งเกมชนิดต่างๆ ที่ต้องใช้ปัญญาชิงไหวพริบ โดยมีตั้งแต่เกมง่ายๆ อย่าง เป่ายิงฉุบ โป๊กเกอร์ ต่อคำ ไปจนถึงวิดีโอเกม VR ใครชอบตัวละครเอกสายใช้สมองสู้น่าจะสนุกกับเรื่องนี้

รู้จักอนิเมะแนว Isakei (ตอน 2) : 5 สูตรสำเร็จยอดนิยมแห่งทศวรรษ

(อ่านตอน 1 : ทำไมใครๆ ก็อยากไปต่างโลก? รู้จัก “Isekai” แนวอนิเมะที่ฮิตที่สุดในรอบทศวรรษ)

1. ตัวเอกต้องเป็นเด็กหนุ่มธรรมดาๆ ไม่ก็ไอ้ห่วย ติดเกม หมกตัว ไม่เข้าสังคมไปเลย ส่วนใหญ่จะมีความไม่พอใจในโลกที่ตัวเองอยู่ ดังนั้นเมื่อไปต่างโลก ตัวเอกจึงมักไม่อยากกลับไปยังโลกเดิมอีก

2. การเดินทางไปต่างโลกมักมาจากเหตุที่ไม่ตั้งใจ เช่น จู่ๆ ก็โดนอัญเชิญ และอีกกรณีคือ ตายในโลกความจริงแล้วถึงมามีชีวิตใหม่ในต่างโลก โดยมากมักจะโดนรถบรรทุกชน จนเกิดเป็นมุกล้อว่าถ้าโดน “ทรัคซัง”(คุณรถบรรทุก) ชน ก็จะสามารถไปต่างโลกได้ ซึ่งการตายแล้วไปเกิดใหม่ในต่างโลกนั้น จะเป็นการเอาร่างก่อนตายและความทรงจำทั้งหมดที่มีในโลกเก่ามาเลย ไม่ใช่เกิดใหม่เป็นทารก

3. โลกต่างมิติที่ตัวเอกมามักจะเป็นโลกแฟนตาซีที่มีพื้นฐานมาจากเกม RPG มีผู้กล้า มีจอมมาร มีเจ้าหญิง มีพ่อมด มีมังกร และเผ่าพันธุ์แปลกๆ ในโลกแฟนตาซีที่เราคุ้นเคย และสถาปัตยกรรมกับระบอบการปกครองก็มักจะอิงจากยุโรปยุคกลาง

4. เมื่อพระเอกมาต่างโลก มักจะมีความสามารถพิเศษหรือไอเทมบางอย่างที่ทำให้เก่งกาจระดับหาที่เปรียบยาก และก็มักจะเก่งเทพโดยไม่ต้องฝึกอะไร (ถ้ามีฝึกก็จะข้ามไป ไม่เล่าช่วงฝึก) จากคนธรรมดาไม่มีค่าอะไรในโลกเก่ากลับกลายเป็นฮีโร่ในโลกใหม่

5. พระเอกจะถูกสาวสวยในเรื่องมารุมชอบ ไม่ว่าจะเป็นสาวเผ่าพันธ์ุไหน จะคน จะเอลฟ์ นางฟ้า หรือแม้แต่อันเดด จะหน้าอกเล็กหน้าอกใหญ่ต่างก็ต้องโดนพระเอกปักธงหมด การมีฮาเรมของพระเอกคือสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับแนว Isekai

สูตรสุดจะซ้ำ แล้วทำไมยังฮิตไม่เลิก?

ตั้งแต่ที่ Sword Art Online จุดกระแสให้อนิเมะแนว Iseakai ก็ผ่านมาเกือบทศวรรษแล้ว แต่กระแสนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะหมด อนิเมะใหม่แต่ละฤดูกาลมักมีแนว Isekai พ่วงมาด้วย 3-5 เรื่องเสมอ

ถึงจะมีสูตรสำเร็จสุดแสนซ้ำซากอย่างที่กล่าวไปแล้ว แต่ในความเหมือนก็ย่อมมีความต่าง อนิเมะแนว Isekai 10 เรื่องจะมีเรื่องที่ดีและโดดเด่นอย่างต่ำ 3 เรื่อง ซึ่งอยู่ที่ว่าไอเดียนั้นน่าสนใจแค่ไหนและเอามาเล่นกับแนว Isekai นี้อย่างไร

ยกตัวอย่าง เช่น
– Konosuba ที่มาในแนวทางล้อสูตรสำเร็จ แล้วเลือกเป็นอนิเมะตลกที่สุดแสนจะกาวและดูสนุกแทน
– Drifters ที่ตัวเอกไม่ใช่เด็กหนุ่มไม่เอาสังคมติดเกม แต่เป็นคนในประวัติศาสตร์อย่าง โนบุนากะ ฮันนิบาล โจน ออฟ อาร์ก ซึ่งหลุดไปในโลกแฟนตาซีต่างมิติแทน
– Knights and Magic ที่ผสมระหว่างอนิเมะแนว Mecha (แนวหุ่นยนต์แบบกันดั้ม) กับแนว Isekai เข้าด้วยกัน
– หรือจะแหวกแนวไปเลยอย่าง Isekai Izakaya “Nobu” ว่าด้วยร้านอาหารแนวอิซากายะของญี่ปุ่นที่ไปตั้งอยู่ในโลกแฟนาตาซีต่างมิติแล้วกลายเป็นอนิเมะแนวอาหารแทน

จะเห็นได้ว่า ต่อให้เป็นแนวที่สร้างกันมาเยอะแค่ไหน แต่ถ้ามีไอเดียคอนเสปต์แข็งแรงก็จะยังมีคนดูอยู่เสมอ

Re : Zero รีเซ็ตชีวิต ฝ่าวิกฤตต่างโลก

แล้วทำไมอนิเมะแนว Isekai ถึงฮิตขนาดนี้?

ถ้าอธิบายง่ายๆ ในเชิงรสนิยมก็คือ คนเสพอนิเมะนั้นมีความอยากจะหลบหนีความเป็นจริงอยู่แล้ว การได้ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างโลกที่พวกเขาสามารถเป็นฮีโร่ได้และมีสาวๆ มารุมชอบย่อมสามารถตอบสนองจินตนาการพวกเขาได้เป็นอย่างดี ตัวเอกของแนว Isekai ส่วนใหญ่จึงมักใกล้เคียงกับคนดูกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นคนธรรมดาๆ ติดเกมและเบื่อสังคม สิ้นหวังกับโลกใบนี้ (ซึ่งเป็นปกติของวัยรุ่นในยุคนี้ ไม่ใช่เฉพาะคนกลุ่มน้อยที่แปลกแยกจากสังคม) และอีกอย่าง ใครๆ ก็ชอบ โลกแฟนตาซีที่มีสัตว์ประหลาดกับเวทมนตร์กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะคนเอเชียหรือคนตะวันตก

แต่ถ้ามองในเชิงปัจจัยที่เป็นตัวแปรว่า ทำไมอนิเมะแนว Isekai ถึงมาฮิตในทศววรรษนี้ทั้งๆ ที่มีการสร้างมานานแล้ว คำตอบก็คือ มันเกิดจากความรุ่งเรืองถึงขีดสุดของอุตสาหกรรมไลท์โนเวลที่ไม่ว่าใครก็เป็นคนแต่งนิยายได้

ย้อนไปสักช่วงต้นปีค.ศ. 2000 การเป็นนักเขียนไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะได้พิมพ์ต้องผ่านการคัดกรองจาก บก.และสำนักพิมพ์ แต่มาถึงยุคนี้มีแพลตฟอร์มออนไลน์ในการเขียนและเผยแพร่นิยายของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งสำนักพิมพ์อีกต่อไป (Sword Art Online ก็เริ่มต้นจากเป็นนิยายทางอินเทอร์เน็ตมาก่อน) และถ้าเรื่องไหนฮิตก็มีโอกาสจะได้รับการตีพิมพ์และได้ทำเป็นอนิเมะในที่สุด (โดยแนว Isekai นี่แหละที่เป็นแนวฮิตที่สุดในการเขียนไลท์โนเวลของมือสมัครเล่น และเป็นตัวเลือกสำหรับให้สตูดิโออนิเมะหยิบมาสร้าง)

หากมองมาที่ไทย ในบรรดาแพลตฟอร์มเขียนนิยายออนไลน์อย่าง Joylada, Read a Write, ธัญวลัย ก็มีวัยรุ่นไทยที่เขียนนิยายแนว Isekai กันไม่น้อย

อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ เทคโนโลยีของเกมออนไลน์นั้นพัฒนาไปมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเกม RPG แนวแฟนตาซีก็เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นเสมอ ซึ่งโลกต่างมิติของแนว Isekai ก็แทบไม่ต่างอะไรจากเกมที่พวกเขาเล่นและคุ้นเคยอย่างดี จึงเอื้อให้เด็กกับวัยรุ่นที่เล่นเกมพลอยหันมาชอบอนิเมะ Isekai ได้อย่างง่ายดาย และยิ่งเทคโนโลยี VR กับ AR พัฒนาขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ความฝันที่จะได้หนีจากสภาพแวดล้อมของตัวเองไปยังต่างโลกนั้น ดูใกล้ความจริงมากขึ้นอีก

ตอนหน้า เราจะแนะนำ อนิเมะแนว Isekai ที่น่าสนใจและสามารถหาดูได้ใน Netflix กันครับ

(อ่านตอน 3 : รู้จักอนิเมะแนว ISAKEI (ตอน 3) : 5 เรื่องน่าสนใจที่หาดูได้ใน NETFLIX)

ทำไมใครๆ ก็อยากไปต่างโลก? : รู้จัก “Isekai” แนวอนิเมะที่ฮิตที่สุดในรอบทศวรรษ (ตอน 1)

คำว่า Isekai (อิ-เซ-ไค) แปลตรงๆ ว่า ต่างโลก (another world) อนิเมะแนว Isekai จึงอธิบายง่ายๆ ได้ว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเอกที่อยู่ในโลกแห่งความจริงแล้วมีเหตุให้ต้องหลุดไปยังโลกต่างมิติและต้องออกผจญภัย ถ้าไม่เพื่อหาทางกลับไปโลกเดิมก็เพื่อเอาตัวรอดใช้ชีวิตในโลกใหม่ให้ได้

โดยโลกที่ตัวเอกหลุดไปนี้ มักเป็นโลกที่อิงจากยุโรปยุคกลางแต่เสริมความแฟนตาซีเข้าไป เช่น มีเวทมนตร์, มีมังกร, มีเผ่าพันธุ์ต่างๆ (ที่เรามักเห็นในนิยายและหนังแฟนตาซีของฝั่งตะวันตก เช่น The Lord of the Rings) แต่ทางฝั่งญี่ปุ่นจะได้แรงบันดาลใจจากสื่อเกม RPG (Role Playing Game) ซึ่งเป็นอีกวัฒนธรรมร่วมสมัยที่แข็งแรงมากๆ ของญี่ปุ่น

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อนิเมะแนวนี้ได้รับความนิยมล้นหลาม จนมีการสร้างขึ้นมาจำนวนมาก มีทั้งคนที่ชอบและคนที่กล่าวหาว่ามันเป็นขยะอนิเมะ …วันนี้เราจึงขอพาไปย้อนดูว่ามันฮิตขึ้นมาได้อย่างไร และมันดีจริง หรือเป็นขยะกันแน่?

หลายคนอ่านนิยามของแนว Isekai แล้วอาจจะบอกว่า เฮ้ย! มันก็มีมานานแล้วไม่ใช่เหรอ …ใช่ครับ อนิเมะพล็อตแนวไปต่างโลกมีมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถูกสร้างติดๆ กันเป็นกระแสจนมีการบัญญัติคำขึ้นมาเป็น Genre (แนว) ใหม่

.หากเรามองย้อนไปยังบรรพบุรุษของ Genre นี้ จะเห็นว่าวรรณกรรมตะวันตกอย่าง Alice in Wonderland (หรือชื่อเต็มๆ คือ Alice’s Adventures in Wonderland) นั้นถือเป็นต้นแบบของพล็อตแนว Isekai ทั้งมวล วรรณกรรมเรื่องนี้แต่งโดย Lewis Carroll ในปี 1865 และนับจากนั้นก็มีอีกหลายเรื่องตามมา เช่น The Wonderful Wizard of OZ (L. Frank Baum, 1900), ซีรีส์ The Chronicles of Narnia (C.S. Lewis, 1950-1956) หรือพูดได้ว่า เรื่องราวแนวเดินทางไปต่างโลกถูกผลิตมาตลอดอยู่แล้ว

สำหรับอนิเมะแนวนี้ เรื่องแรกสุดก็คือ Aura battler Dunbine (ฉายปี 1983 กำกับโดย Yoshiyuki Tomino ผู้ให้กำเนิดกันดั้มนั่นเอง) เล่าเรื่องของ โช หนุ่มนักแข่งมอเตอร์ไซค์วิบากที่จู่ๆ ก็โดนอัญเชิญมายังโลกต่างมิติชื่อ Byston Well ซึ่งมีความคล้ายยุโรปยุคกลาง แต่ที่พิเศษคือมีหุ่นยนต์ยักษ์ขับเคลื่อนด้วยพลังออร่า (หรือที่เรียกในเรื่องว่า Aura battler) ด้วยความที่โชซึ่งมาจากต่างโลกนั้นมีออร่าสูงกว่าคนบนโลกนี้ เขาจึงโดนบังคับให้ขับ Aura battler ชื่อ Dunbine และเข้าร่วมสงครามชิงอำนาจในโลก Byston Well

ต่อมาในยุค 90’s แนวเดินทางไปต่างโลกเริ่มมีมากขึ้น และมีความหลากหลายเฉพาะตัว แต่มีจุดร่วมที่น่าสนใจคือ ตัวเอกมักเป็นตัวละครหญิง เช่น เรื่อง Magic Knight Rayearth (1994), The Vision of Escaflowne (1994), Fushigi Yugi (1995) ส่วนหนึ่งเพราะช่วง 90’s วงการอนิเมะกระแสหลักเริ่มขยายฐานกลุ่มคนดูที่เป็นเด็กและวัยรุ่นผู้หญิงมากขึ้น ไม่ใช่แค่อนิเมะที่สร้างจากการ์ตูนผู้หญิง (Shoujo Manga) เพียงอย่างเดียว (ขณะที่อนิเมะกระแสหลักช่วง 80’s จับกลุ่มเป้าหมายเด็กผู้ชายซะส่วนใหญ่)

พอมายุค 2000 ที่ไลท์โนเวลเริ่มมีอิทธิพล ก็มีการสร้างอนิเมะที่ดัดแปลงจากไลท์โนเวลมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Zero no Tsukaima (2004) ที่ถือว่าเป็นต้นแบบของแนว Isekai ในปัจจุบัน ด้วยเรื่องราวของตัวเอกที่เป็นคนธรรมดาในโลกปกติแล้วมาเป็นฮีโร่ในโลกต่างมิติ และมีหญิงสาวมากมายมาหลงชอบ (หรือเรียกว่า แนวฮาเรม)

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ทำให้เกิดกระแสจริงๆ ก็คือ Sword Art Online (2012) ซึ่งถือเป็นตัวเปิดยุคอนิเมะ Isekai แต่เป็นเรื่องตลกที่ Sword Art Online มักถูกถกเถียงว่าเป็นแนว Isekai จริงๆ หรือ เพราะมันเล่าถึงเหล่าผู้เล่นเกม VR online ที่ถูกกฎบังคับให้ไม่สามารถ Log out กลับมาสู่โลกความจริง วิธีเดียวที่จะออกจากเกมคือต้องมีคนที่จบเกมนี้ลงได้ และาหากตายในเกมก็จะตายในชีวิตจริงด้วย …การไปยัง “ต่างโลก” ในเรื่องนี้จึงเป็นแค่ “โลกจำลองในเกม” ไม่ใช่โลกต่างมิติจริงๆ อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ Sword Art Online ประสบความสำเร็จมาก ทำให้มีการสร้างอนิเมะ Isekai ตามมานับไม่ถ้วนหลังจากนั้น

ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากอะไร? อย่างแรกน่าจะมาจากคอนเส็ปต์ที่แข็งแรง แม้เรื่องการติดอยู่ในโลกเกมแฟนตาซี RPG แล้วต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดจะไม่ใช่สิ่งใหม่เลย (.Hack///Sign ก็เล่าพล็อตแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2002) แต่ Sword Art Online เล่าได้เข้าถึงง่ายและบันเทิงกว่ามาก เข้าถึงผู้ชมได้ทั้งเด็ก วัยรุ่น ทั้งชายและหญิง ตัวละครแม้จะไม่ลึกซึ้งแต่ก็สวยหล่อแถมเก่งสุดๆ, ฉากแอ็กชั่นสุดมัน และเพลงประกอบเพราะติดหู เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้มันฮิตถึงขั้นมีภาคต่อตามมาหลายภาค

นับจากนั้น ก็มีการผลิตอนิเมะแนว Isekai ขึ้นมาเรื่อยๆ โดยพยายามยึดโยงความสำเร็จของ Sword Art Online และมักมีจุดที่คล้ายๆ กันจนดูเป็นสูตรสำเร็จ …ซึ่งจะประกอบด้วยอะไรบ้าง เรามาว่ากันต่อในตอนหน้าครับ


Sword Art Online ตอน 1 ชมฟรีได้ที่ Flixer (โหลดแอพ flixer มาก่อนนะครับ)

(อ่านตอน 2 : รู้จักอนิเมะแนว Isakei (ตอน 2) : 5 สูตรสำเร็จยอดนิยมแห่งทศวรรษ)

เมื่อคนทำหนังช่วยคนทำหนัง คุยกับ Carl Chavez และโครงการ Lockdown Cinema Club

หลังจากการระบาดของ COVID- 19 ที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกต้องชะงักงัน โรงหนังต้องปิด เทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลกเลื่อนไปไม่ก็ยกเลิก และกองถ่ายภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ ต้องยกกองกันอย่างไม่มีกำหนด ทางเลือกหนึ่งที่บรรดาคนฉายหนัง บริษัทจัดจำหน่ายหนัง คนทำเทศกาลเลือกใช้คือการยกหนังมาฉายลงออนไลน์ ทั้งแบบ Live สด เปิดฉายแบบจำกัดเวลาไปจนถึงการออกขาย เพื่อหาช่องทางในการเลี้ยงชีพและพยุงอุตสาหกรรมในภาพรวมให้พอเคลื่อนต่อไปได้

หนึ่งในเทศกาลหนัง หรือช่องทางชมภาพยนตร์ออนไลน์ที่น่าตื่นเต้นคือโครงการ Lockdown Cinema Club จากประเทศฟิลิปปินส์ ที่เป็นการรวบรวมหนังสั้นทั้งจากในฟิลิปปินส์เองไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จากสองฉบับแรก (ตัวรายชื่อหนังตีพิมพ์ ภาพเรื่องย่อ ลิงค์และรหัส คล้ายกับ แคตาลอกของเทศกาล) ที่เป็นรวมหนังสั้นมาถึงฉบับล่าสุดที่เป็นหนังยาว ไปจนถึงโครงการเพิ่มเติมเช่นLive ฉายหนังใน Facebook หรือมีการ Q&A ออนไลน์หรือLive การซ้อมอ่านบท และยังมีชื่อของบิ๊กเนมในแวดวงหนังอิสระฟิลิปปินส์จำนวนมากอยู่ในรายชื่อ ตั้งแต่ Lav Diaz, John Torres, Shireen Seno ไปจนถึง Kiri Dalena

แต่ที่น่าตื่นเต้นกว่ารายชื่อหนังคือการที่โครงการนี้รับบริจาคเงินจากผู้ชม ‘ดูเท่าที่ดูได้ ให้เท่าที่จ่ายไหว’ โดยรายได้จากการบริจาค จะถุกนำไปกระจายต่อให้บรรดาแรงงานรายวันที่ทำงานในกองถ่าย ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ในช่วงนี้ เป็นการเคียงบ่าเคียงไหล่ของคนทำหนังกับคนทำหนัง เพื่อเป็นหนึ่งช่องทางในการร่วมกันฝ่าวิกฤตนี้

ในการณ์นี้ FILM CLUB ได้โอกาสสัมภาษณ์ Carl Chavez คนหนุ่มที่เป็นคนทำหนังและเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้กัน

ดูรายละเอียดของโครงการได้ที่ Facebook Page

Q : อยากให้เล่าถึงที่มาที่ไปของโปรเจคต์นี้ว่ามาจากไหนครับ?

A : ตอนที่มีประกาศการกักกันชุมชนใหม่ๆ ผมก็นึกไอเดียว่าน่าจะมีการแชร์บรรดาหนังสั้นของผู้กำกับหลายๆคน คอนเซปต์ตอนแรกคือ ‘ดูเท่าที่ดูได้ ให้เท่าที่จ่ายไหว’ สำหรับฉบับแรกนั้น ความตั้งใจแรกคือการบริจาคให้กับคนทำงานด่านหน้า, ผู้สูงอายุ และคนจนเมือง จากนั้นผมก็คิดต่อจากความสำเร็จตรงนั้นว่า บางที่เราอาจลองบริจาคให้กับ คนทำงานด้านภาพยนตร์ที่มีค่าแรงน้อย ไม่มีงาน และถูกเลิกจ้าง เพราะเราคงไม่สามารถทำหนังยอดเยี่ยมเหล่านี้ออกมาได้หากปราศจากการทำงานเบื้องหลังของพวกเขา

Q : แล้วโดยรวมตอนนี้สภาพการณ์ของศิลปิน และคนทำงานด้านภาพยนตร์หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นอย่างไรบ้าง?

A : ก็ลำบากมากทีเดียวครับ เนื่องจากศิลปินและคนทำหนังเกือบทั้งหมดเป็นอาชีพฟรีแลนซ์ หลังจากการประกาศกักกันชุมชน ทุกโปรเจคต์ก็เลยถูกระงับ นั่นหมายความว่า งานของเราทั้งหมดก็ถูกยกเลิกไปด้วย

Q : แล้วคุณหาหนังต่างๆ เข้ามาในโปรเจคต์นี้ได้อย่างไร? คนทำหนังให้เปล่ามา หรือคุณต้องจ่าย?

A : ทุกๆ คนสมัครใจร่วมครับ หนังเหล่านี้มาจากทั้งคนทำหนังที่ยังทำงานอยู่ไปจนถึงบรรดานักเรียนหนังที่เชื่อในการเริ่มลงมือทำ

การพูดคุยกับผู้กำกับ คนเขียนบท และนักแสดง จากเรื่อง Patay na si Hesus หนึ่งในหนังที่เปิดให้เช่าเพียง 24 ชม. ใน Vimeo และนำรายได้ทั้งหมดไปบริจาค

Q : จากแถลงการณ์ของโครงการ คุณจะมอบเงินให้กับลูกจ้างรายวันในกองถ่าย อยากให้คุณอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคัดเลือก เพราะว่ามันน่าจะมีแรงงานเหล่านี้เป็นจำนวนมาก แล้วใครจะเป็นคนที่ได้เงินตรงนี้ไป มีวิธีการคัดเลือกอย่างไร?

A : ย้อนกลับไปตอนช่วงกักกันชุมชนใหม่ๆ เราตั้งเป้าหมายแรกไว้ที่ 500 คน แต่ระหว่างการทำข้อมูลของแรงงานเหล่านี้ จำนวนก็เพิ่มไปมากจนเราพบว่าเราลิสท์รายชื่อได้ถึง 1500 คน

เราตั้งกระบวนการของการเสนอชื่อคนที่จะได้รับความช่วยเหลือเอาไว้ โดยให้ คนทำหนัง (โปรดิวเชอร์ ผู้ช่วยผู้กำกับ โปรดักชั่นเมเนเจอร์ ตากล้อง ผู้ออกแบบงานสร้าง คนตัดต่อ และช่างเสียง) ส่งรายชื่อคนที่พวกเขาร่วมงานด้วย เพื่อที่จะมาตรวจสอบว่าพวกเขามีคุณสมบัติที่จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินหรือไม่

ในช่วงแรก เราตัดสินใจว่าผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจะได้รับเงินคนละไม่เกิน 2000 เปโซ ต่อจำนวนวันถ่ายทำ และผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องตอบคำถามส่วนตัวเพิ่มอีกนิดหน่อยกับแจ้งเลขที่บัญชีธนาคาร เราจะได้จัดทำฐานข้อมูลของแรงงานเหล่านี้ และเมื่อรายชื่อของพวกเขาอยู่ในฐานข้อมูล เราก็จะเริ่มจ่ายเงินที่ Lockdown Cinema Club ได้รับบริจาคมา ซึ่งผู้บริจาค และผู้รับการช่วยเหลือสามารถตรวจสอบสถานะของเงินบริจาคทั้งหมดได้ที่ลิงก์นี้เลย

Q : ตอนนี้คุณมาถึงฉบับที่สามแล้ว ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จหรือเปล่า?

A : ก็ถือว่าดีเลยครับ ตอนนี้เราอยู่ในช่วงสุดท้ายแล้ว เรากระจายเงินบริจาคออกไปได้ถึงมือผู้รับเกือบ 70% แล้ว แต่เนื่องจากเรายังไม่รู้แน่ชัดว่าการระบาดนี้จะไปสิ้นสุดเมื่อไร เราจึงกำลังวางแผนขั้นต่อไปและประเมินความต้องการของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฟิลิปปินส์หลังจากการระบาดนี้

หมายเหตุ: หลังการสัมภาษณ์เพียงไม่กี่วัน ก็เกิดเหตุภาพยนตร์บางเรื่องในโปรแกรมได้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้โครงการนี้ต้องชะงักงันลงเป็นการชั่วคราว ท้ายที่สุดนี้เราจึงนำแถลงการณ์ต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ของ Lockdown Cinema มาแนบไว้ในท้ายบทสัมภาษณ์นี้

แถลงการณ์ต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ของ Lockdown Cinema

“พวกเรา Lockdown Cinema Club ขอประณามการละเมิดลิขสิทธิ์ทุกรูปแบบ ซึ่งไม่เพียงแต่จะผิดกฎหมาย แต่ยังขัดกับหัวใจของสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ขณะนี้เราทราบมาว่ามีผู้ค้นพบวิธีในการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และแบ่งปันอย่างผิดกฎหมายแม้ว่าภาพยนตร์เหล่านี้จะเปิดให้ชมฟรีแล้วก็ตาม

จากความตั้งใจของเรา ที่ไม่เพียงต้องการช่วยเหลือ สมาชิกในแวดวงภาพยนตร์ที่มีรายได้น้อยในช่วงเวลาวิกฤตินี้ หากยังรวมถึงการได้มอบความบันเทิงให้กับเหล่าคนรักหนังในช่วงเวลากักกันตัว กลับถูกก่อวินาศกรรมโดยอาชญากรเหล่านี้


เราได้แจ้งถึงปัญหาและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น กลับไปยังผู้สร้างภาพยนตร์ที่ได้บริจาคงานของพวกเขาแก่เราเรียบร้อยแล้ว เรากำลังดำเนินการสอบถามว่าพวกเขายังจะอนุญาตให้ภาพยนตร์เหล่านี้ออนไลน์อยู่ต่อหรือไม่ ดังนั้นจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เราจึงตัดสินใจนำลิงก์ภาพยนตร์ทั้งหมดออก รวมถึงภาพยนตร์ในโปรแกรม 24 Hours Cinema program ที่เราได้คัดเลือกภาพยนตร์จำนวนหนึ่งมาฉายให้ชมฟรีเป็นเวลา 24 ชั่วโมง

เราต้องขออภัยมายังผู้ชมที่กำลังเพลิดเพลินกับภาพยนตร์เหล่านี้ และยังของอภัยไปถึงบรรดาผู้ได้รับความช่วยเหลือทุกท่าน สิ่งนี้ย่อมส่งผลต่อแรงขับในการบริจาคเป็นแน่ แต่ขอให้มันใจว่ามันจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

เรากำลังทบทวนโครงการของเราและหาวิธีที่จะแบ่งปันภาพยนตร์ของเราได้ฟรีในขณะที่ทำให้พวกเขาปลอดภัยจากการละเมิดลิขสิทธิ์และยังคงช่วยเหลือสมาชิกที่อ่อนไหวที่สุดในชุมชนของเราไว้ได้

ขอให้มั่นใจได้เช่นกันว่าเราจะใช้วิธีการทางกฎหมายทั้งหมดเพื่อหยุดผู้คนเหล่านี้ และทำให้แน่ใจว่าผู้ที่แบ่งปันภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายที่มีอยู่”

การดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของคานส์ในปีแห่งภัยพิบัติ

Heading photo credit: wikimedia

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศสแถลงว่า จะขยายการล็อคดาวน์ประเทศไปจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม และหลังจากวันนั้นประชาชนน่าจะออกมาทำกิจกรรมได้บ้าง

แน่นอน คำแถลงดังกล่าวไม่เป็นคุณต่อกิจกรรมและเทศกาลที่ต้องรวมคนจำนวนมาก เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศอย่างชัดเจนว่า เทศกาลต่างๆ จะจัดได้ก็ต่อเมื่อผ่านพ้นกลางเดือนกรกฎาคมไปแล้วเท่านั้น เท่ากับว่าความหวังของผู้จัดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (ซึ่งตั้งใจจะจัดงานในช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อต้นกรกฎาคม) ต้องหมดลง และล่าสุด บ่ายวันที่ 14 เมษายน คณะผู้จัดงานก็แถลงว่า ทางเทศกาลยังยืนยันจัดต่อ โดยจะแสวงหาทางเลือกอื่นต่อไป

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนผู้ที่อยู่ในธุรกิจหนัง (รวมถึงผู้เขียนเอง และนักทำหนังบางรายที่อาจได้รับอีเมลแจ้งให้ทราบว่าหนังได้คัดเลือกเข้าฉายในคานส์) จะทำใจแล้วว่า แนวโน้มในการจัดงานในปีนี้แทบเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะทางเลือกไหนก็ตาม เพราะถ้าเลื่อนไปจนถึงเดือนสิงหาคม ก็ต้องชนกับเทศกาลหนังสำคัญอย่างเวนิซ ประเทศอิตาลี และเทศกาลหนังโตรอนโต หรือถ้าจัดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงก็ช้าเกินไป ครั้นจะเป็นเทศกาลออนไลน์ เธียร์รี เฟรโมซ์ ผู้อำนวยการเทศกาลก็ยืนยันแล้วว่าเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น ระหว่างรอการตัดสินใจอย่างเป็นทางการ ผู้เขียนขอชวนมาร่วมกันตั้งคำถามและหาคำตอบว่า ถ้าไม่มีเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีนี้ จะส่งผลต่อธุรกิจหนังอย่างไรบ้าง แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เรามาทำความรู้จักเทศกาลและตลาดหนังเมืองคานส์กันก่อนว่า ทำไมจึงถูกถือว่าสำคัญที่สุดในโลก

ภาพยนตร์เรื่อง The Hunchback of Notre Dame ปี 1939

จุดกำเนิด – เมื่อเทศกาลหนังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านระบบฟาสซิสม์ :

เทศกาลหนังเมืองคานส์ไม่ได้เป็นเทศกาลหนังที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เพราะยังมีเทศกาลหนังเวนิซที่จัดตั้งแต่ปี 1932 จนกระทั่งอิตาลีเข้าสู่ยุคเผด็จการฟาสซิสม์นำโดย เบนีโต มุสโสลีนี ซึ่งแผ่แนวคิดครอบงำกิจกรรมทางสังคมทุกอย่าง รวมถึงเทศกาลหนังเวนิซด้วย ทำให้คนในวงการไม่พอใจและเกิดแนวคิดในการจัดเทศกาลต่อต้านขึ้น

ด้วยเหตุนี้ เทศกาลเมืองคานส์จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยวางกำหนดไว้ว่าจะมีวันที่ 1-20 กันยายน ปี 1939 และในวันที่ 31 สิงหาคม มีการเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการด้วยการจัดรอบกาล่าของ The Hunchback of Notre Dame ….แต่โชคไม่ดีเลย วันรุ่งขึ้นเยอรมนีบุกโปแลนด์และเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป ส่งผลให้เทศกาลต้องระงับไปไม่ทันได้จัด กระทั่งสงครามสงบจึงกลับมาจัดอีกครั้งในปลายเดือนกันยายนปี 1946 แต่จัดได้แค่ปีเดียวก็ต้องหยุดอีก เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน

จนกระทั่งปี 1951 เทศกาลจึงกลับมาอีกครั้ง คราวนี้เลื่อนมาเป็นเดือนพฤษภาคม และนับจากนั้น เทศกาลหนังที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเหตุให้ต้องหยุดเพียงแค่หนึ่งครั้งคือในปี 1968 เมื่อคนหนุ่มสาวทั่วฝรั่งเศสเรียกร้องการยุติสงครามเวียดนามและความเท่าเทียมจนเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ทั่วฝรั่งเศส และคานส์ก็ได้รับผลกระทบด้วย เมื่อกลุ่มผู้กำกับคลื่นลูกใหม่นำโดย ฌ็อง-ลุก โกดาด์ และ ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ พร้อมกับกลุ่มปัญญาชนได้ปิดล้อมไม่ให้มีการหนัง จนนำไปสู่การยุติเทศกาลโดยปริยาย


Marche Du Film – ตลาดนัดภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อพูดถึงคานส์ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ตลาดหนัง หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า Marche Du Film โดยผู้จัดเทศกาลเริ่มต้นอีเวนท์นี้ครั้งแรกในปี 1959 ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสร้างช่องทางการขายแก่หนังฝรั่งเศส หลังจากนั้นตลาดก็ขยายตัวขึ้น พร้อมๆ กับที่จุดประสงค์ของการจัดก็เปลี่ยนจากการเป็นจุดนัดพบระหว่างผู้สร้างหนังฝรั่งเศสกับผู้จัดจำหน่ายนอกฝรั่งเศส ไปสู่การเป็นจุดนัดพบของคนในอุตสาหกรรมหนังทั่วโลก ปัจจุบัน Marche Du Film มีผู้เข้าร่วมมากกว่าปีละหนึ่งหมื่นคน มีสัญญาซื้อขายที่ถูกเซ็นไม่น้อยกว่าพันฉบับ และมีเงินไหลเวียนในตลาดนับไม่ถ้วน

เหตุผลที่ทำให้ Marche Du Film กลายเป็นตลาดหนังสำคัญของโลก คือ

1) ช่วงเวลาในการจัด เนื่องจากเดือนพฤษภาคมตรงกับฤดูใบไม้ผลิที่อากาศกำลังดี ไม่เย็นไม่ร้อนเกินไป ต่างจากตลาดหนังยุโรป ที่จัดขนานกับเทศกาลเบอร์ลินในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งอยู่ในช่วงหนาวจัด

2) เป็นตลาดที่มีคนในอุตสาหกรรมหนังเข้าร่วมมากที่สุดในโลก ผู้ซื้อและผู้ขายจึงมั่นใจได้ว่า เมื่อไปร่วมจะต้องมีการทำสัญญาซื้อขายหนังเกิดขึ้น ไม่กลับบ้านมือเปล่า

3) มีโอกาสพบหนังหลากหลายตั้งแต่ตั้งโปรเจกต์ใหญ่ราคาแพง ไปจนถึงหนังทางเลือกที่เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มได้

4) มีอีเวนท์สำหรับการโปรโมทหนังมากมาย ตั้งแต่การเปิดตัวหนังที่ยังไม่ได้สร้าง การได้พบปะกับผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ที่จะมาอธิบายโปรเจกต์ที่กำลังจะสร้าง ซึ่งล้วนมีประโยชน์สำหรับผู้ซื้อหนังเป็นอย่างมากในการทำความเข้าใจสินค้าที่จะซื้อ รวมถึงตรวจสอบความน่าเชื่อถือของโปรเจกต์ที่จะสร้างออกมา


จะเกิดอะไรขึ้น หากปีนี้ไม่มีคานส์

เริ่มจากมุมของผู้ขายก่อน แน่นอนว่าสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นเป็นอย่างแรกก็คือ โปรเจกต์ต่างๆ (ไม่ว่าจะสร้างเสร็จแล้วหรือยังไม่สร้าง แต่รอนำมาเปิดตัวแก่ลูกค้าที่คานส์) จะต้องเลื่อนออกไป หรือไม่ก็ต้องหาทางขายช่องทางอื่น เช่น การติดต่อทางอีเมล หรือ zoom ซึ่งในสภาวะเช่นนี้ ผู้ซื้อหลายคนอาจเลือกจะรอจนกว่าได้เห็นพัฒนาการของโปรเจกต์เพิ่มเติม ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทขายคือ บางโปรเจกต์นั้น ผู้ขายจำเป็นต้องปิดดีลกับลูกค้าก่อน เพื่อจะได้นำสัญญาและเงินต้นจำนวน 10-20% ไปค้ำประกันกับธนาคาร หรือนายทุน (จะได้ขอเงินมาสร้างหนังให้เสร็จ) การพลาดโอกาสปิดดีลในคานส์จึงอาจทำให้หลายโปรเจกต์ไม่เกิดขึ้น หรือถ้ามีโอกาสเกิดขึ้น การถ่ายทำก็อาจต้องเลื่อนออกไปอีก

ผลที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ขายลำดับต่อมาคือ บริษัทจัดจำหน่ายหนังบางแห่งอาจต้องปิดกิจการ เนื่องจากวิกฤตการณ์โควิดส่งผลให้ธุรกิจชะลอตัว คานส์จึงเป็นช่องทางเดียวที่พวกเขาจะพอแสวงหารายได้จากการขายหนังที่มีอยู่แล้ว หรือกำลังจะสร้างได้บ้าง การไม่มีคานส์จึงทำให้วิกฤตในบริษัทอาจลากยาวไม่รู้จบ บริษัทที่ฐานทางการเงินไม่แข็งแรงก็ไม่อาจจะฝืนอยู่ต่อได้

ส่วนในมุมของผู้ซื้อ การไม่มีคานส์ในปีนี้อาจส่งผลให้ การแสวงหาหนังใหม่โดยเฉพาะโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่รอการสร้าง เพื่อนำจัดฉายในปลายปีหน้า หรือปีถัดไป เป็นไปได้ยากหรือแทบจะริบหรี่ การจะต้องรอไปจนถึงตลาดใหญ่แห่งต่อไปคือ American Film Market (ซึ่งจัดที่เมืองซานตาโมนิก้า สหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤศจิกายน) อาจจะช้าไป แถมในช่วงเวลานั้นก็ไม่มีหลักประกันด้วยว่าโปรเจกต์เหล่านี้จะยังถูกสร้างหรือไม่ (ตามเหตุผลของมุมผู้ขายข้างต้น)

นอกจากนี้ สำหรับผู้แสวงหาหนังทางเลือกและหนังสายประกวด การที่คานส์ยุติการจัดย่อมส่งผลให้หนังจำนวนหนึ่งต้องเสียจุดขายสำคัญ (คือโลโก้และรางวัลจากคานส์) ไปอย่างน่าเสียดาย

จากที่กล่าวมา ผู้อ่านคงพอเห็นภาพว่าเหตุใดเทศกาลนี้จึงสำคัญต่ออุตสาหกรรมหนังโลก และทำไมผู้จัดงานจึงต้องดิ้นรนผลักดันให้เทศกาลเดินต่อให้ได้ เพราะการปราศจากคานส์ในปีนี้ จะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตัวเทศกาลเองเท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อดุลยภาพของธุรกิจหนังในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้

Eva Doesn’t Sleep

กล่าวกันว่า นี่คือหนึ่งในการทำลายประวัติศาสตร์ภาคประชาชนอย่างอหังการที่สุดของรัฐบาลทหารในอาร์เจนตินา

Eva Doesn’t Sleep เล่าถึงการเดินทางของ ‘ศพ’ เอวา เปรอง อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอาร์เจนติน่าผ่านเรื่องเล่าแยกจากกันต่างหากสามตอน นั่นคือเมื่อนายแพทย์จัดการกับศพของเอวาด้วยการดัด ยืดแขนขาที่เริ่มแข็งเกร็ง ตามด้วยการขนส่งศพของเอบาในกล่องไม้ลึกลับโดยนายพันและนายทหารหนุ่ม สุดท้ายคือการลักพาตัว เปโดร อารัมบูรู หัวหน้าคณะรัฐประหารผู้หวังจะ ‘ทำลาย’ ศพของเอบา

สำหรับชนชั้นแรงงานในอาร์เจนติน่า ชื่อของเอวา เปรอง คือชื่อที่ผูกพันและกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้อย่างเนิ่นนานนับตั้งแต่ปี 1952 เธอคืออดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศภายหลังจากที่ ฆวน เปรอง สามีของเธอชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายสองสมัยซ้อน เอวาซึ่งเติบใหญ่จากการเป็นเด็กผับและดาราดังหน้าตาสะสวยใช้อำนาจและพื้นที่ของเธอในการช่วยเหลือ เยียวยาและผลักดันนโยบายภาคประชาชน จนเธอกลายเป็นที่รักของชาวอาร์เจนติน่าทั่วทุกหมู่เหล่าอย่างที่แทบไม่เห็นว่าจะมีใครหน้าไหนมาแย่งคะแนนความนิยมไปจากเธอได้

น่าเศร้าที่เอวาเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 33 ปีหลังจากชึ้นปราศัยที่ลานพลาซ่า เดอ มาโยที่มีคนมามุงดูเรือนแสนจนเป็นปรากฏการณ์ในเดือนมกราคม กลางปี เธอเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ฆวน เปรอง สามีของเธอจัดพิธีศพอย่างสมเกียรติท่ามกลางความโศกเศร้าของประชาชนที่รู้สึกราวกับว่าจิตวิญญาณบริสุทธิ์และตัวแทนในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของพวกเขานั้นจากไปแล้ว

หนังแบ่งเป็นสามช่วงใหญ่ๆ และตัดสลับระหว่างฟุตเตจที่เอวา เปรองกล่าวปราศรัยในปี 1952 กับเสียงตะโกนก้องเรียกชื่อเธออย่างรักใคร่จากชาวอาร์เจนติน่าจำนวนมหาศาล ก่อนจะตัดสลับมายังการแช่ศพของเธอก่อนนำเข้าโลง นายแพทย์เปโดร (อิมาโนล อาเรียส) ยืนง้ำอยู่เหนือร่างไร้วิญญาณของเอบา ดัดแต่งนิ้วมือที่เริ่มหักงอ ดึงเท้าแข็งทื่อให้อยู่ทรงสวยงาม ภายใต้การจับตามองอย่างสนอกสนใจของแม่บ้านและเด็กหญิงผู้เทิดทูนเอบา

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเอบาเสียชีวิตได้เพียงสามปี ฆวน เปรอง สามีของเธอก็ถูกรัฐบาลทหารทำรัฐประหารภายใต้อำนาจของ เปโดร อารัมบูรู จนต้องระเห็จหนีออกนอกประเทศขณะที่อารัมบูรูเถลิงอำนาจตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดี ตัวอารัมบูรูนั้นขึ้นชื่อเรื่องการดำเนินนโยบายกำจัด ‘ลัทธิเปรอง’ หรือการเคารพบูชาสองสามีภรรยาเปรองมากเสียจนเขาออกคำสั่งให้ขุดเอาศพเอวาขึ้นมาและเอาไปซ่อนไว้ในที่ลับตา เพื่อไม่ให้มีการรำลึกหรือสักการะเอบา เปรองและหวังว่าผู้คนจะลืมเลือนเธอไปได้เอง

นำไปสู่ช่วงที่สองของหนังคือการ ‘ขนย้ายศพ’ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1956 นายพัน (เดอนิส ลาวองต์) รับผิดชอบในการขนส่งร่างของเอบาภายใต้ความช่วยเหลือของนายทหาร (นิโกลัส โกลด์ชิดต์) ก่อนจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความคลุ้มคลั่งซึ่งชวนตื่นตะลึงมากๆ กล้องแช่ทิ้งไว้อยู่ที่การเผชิญหน้ากันระหว่างนายพันชราชาวต่างชาติ (แม้แต่นักแสดงอย่างลาวองต์ก็เป็นนักแสดงชาวฝรั่งเศส) ผู้ผ่านการต่อสู้มาแล้วหลายสังเวียน และนายทหารหนุ่มที่เปลี่ยนคราบเป็นสัตว์ป่าผู้ดุดันภายหลังการแอบ ‘ยลโฉม’ เอวาในโลงเพียงเสี้ยวนาที อันแสดงให้เห็นถึงพลังและอิทธิพลของเธอแม้ในโลกหลังความตายที่บันดาลให้เลือดอาร์เจนติน่าของคนหนุ่มเดือดพล่านและกำจัดความเป็นอื่น (ชาติอื่น)

หลังดำรงตำแหน่งอยู่หลายปี อารัมบูรูถูกลักพาตัวไปจากอพาร์ตเมนต์ในบัวโนส์ไอเรส และพบเป็นศพในสภาพถูกยิงด้วยปืนพก ในหนังนั้น อารัมบูรู (แดเนียล ฟาเนโก) ถูกบังคับให้บอกความจริงว่าเอาร่างของเอวาไปซ่อนไว้ที่ไหน เพื่อจะได้นำเธอกลับมาสู่อาร์เจนติน่าอีกครั้ง อันเป็นความพยายามในการจะนำเอาสัญลักษณ์ของประชาชนหวนกลับมาสู่พื้นที่อีกครั้ง พร้อมกันกับที่กำจัดเอาอำนาจนอกกฎหมายอย่างอารัมบูรูออกไป

Eva Doesn’t Sleep แทบไม่ได้พูดถึงสิ่งที่เอวาทำเมื่อสมัยมีชีวิตเลย ตรงกันข้าม มันเล่าถึงอิทธิพลของเอวาภายหลังการตายของเธอต่างหาก เธอคือจิตใจที่อยู่ในเนื้อตัวของสาวทำความสะอาดและเด็กน้อยที่ดูแลสุสาน อยู่ในความคิดอันคลุ้มคลั่งของนายทหารหนุ่มที่ทำหน้าที่ขนส่งศพนั้น และอยู่ในคณะปฏิวัติแม้ในอีกสามปีต่อมาหลังศพของเธอถูกขโมยหายไป มันจึงเป็นหนังที่น่าสนใจในแง่การเล่าถึงความพยายามจะลบเลือนประวัติศาสตร์ของคณะรัฐประหารและผู้มีอำนาจ ด้วยการล้างอดีตที่ยึดโยงประชาชนเข้าไว้ด้วยกันจนเสมือนว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจริง

น่าเศร้าที่เรายังพบเห็นอะไรแบบนี้ได้ในประเทศไทย -ยุคสมัยนี้นี่เอง

โนบุฮิโกะ โอบายาชิ “เขาวงกตแห่งโลกภาพยนตร์”

เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา โนบุฮิโกะ โอบายาชิเสียชีวิตในวัย 82 ปี ด้วยโรคมะเร็ง หลายๆ คนรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับหนังเรื่อง Hausu (1977) เขาคือหนึ่งในผู้กำกับหนังคนสำคัญของญี่ปุ่น ผู้มีผลงานถี่และต่อเนื่อง เขาไม่เคยหยุดทำหนังแม้ว่าเขาจะต้องต่อสู้กับโรคร้าย และเราเชื่อว่าถ้าคุณได้ดูหนังของเขาคุณจะพบว่าโอบายาชิเป็นผู้กำกับหนังที่ไม่มีใครและจะไม่มีใครเหมือน

โนบุฮิโกะ โอบายาชิเกิดในปี 1938 ที่เมืองโอโนมิชิ จังหวัดฮิโรชิมา เขาเป็นลูกชายคนโตของตระกูลหมอที่สืบทอดกันมาจนถึงพ่อของเขา หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวคาดหวังให้เขาเข้าโรงเรียนแพทย์และเป็นหมอต่อไป แต่ไม่นานโอบายาชิตัดสินใจไม่ฟังเสียงคัดค้านจากพ่อและเลือกเข้าเรียนสาขาศิลปศาสตร์ ซึ่งที่นั่นเองเขาได้เริ่มต้นอาชีพสายหนังและสร้างหนังทดลองจำนวนหนึ่งระหว่างที่เรียน

หลังจากเรียนจบในยุค 70 โอบายาชิเข้าทำงานในสายโฆษณา หนังโฆษณาของเขาได้รับการกล่าวขวัญเป็นอย่างมากในแง่สไตล์ภาพและการทดลอง ตลอดสายอาชีพเขาทำหนังโฆษณากว่าสามพันเรื่อง หลายเรื่องในนั้นเขาได้ร่วมงานกับดาราจากต่างประเทศมากมายไม่ว่าจะเป็น เคิร์ก ดักลาส, ชาลส์ บรอนสัน และแคทเธอรีน เดอเนิฟว์

“ผู้ใหญ่คิดถึงสิ่งที่พวกเขาเข้าใจ ทุกสิ่งทุกอย่างเลยน่าเบื่อ แต่เด็กๆ น่ะตรงกันข้าม พวกเขามักจะมีไอเดียที่เราอธิบายมันไม่ได้เสมอๆ”

สถานการณ์ในยุค 70 ของสตูดิโอใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นเป็นไปด้วยความยากลำบาก หนังประเภท “สนุก” “ย่อยง่าย” “ทำเงินถล่มทลาย” แบบสปีลเบิร์กมีน้อยลง รวมไปถึงการก้าวขึ้นมาของเหล่านักทำหนังสุดโต่งสายนิวเวฟในยุค 60 และพิงค์ ฟิล์มเข้ามาครองความสนใจในหมู่คนดูหนัง

ปีนั้นเป็นปี 1975 บริษัทโทโฮติดต่อโอบายาชิและมีข้อเสนอให้เขาเขียนบทหนังยาวที่คล้ายๆ “Jaws” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเขียน โอบายาชินั่งคุยกับลูกสาวที่ตอนนั้นกำลังอยู่ในวัยประถมของตัวเอง เขาถามเธอว่าอะไรคือความกลัวของเด็กสาว คำตอบที่เขาได้รับก็ยกตัวอย่างเช่น เงาในกระจกหลุดออกทำร้ายคนส่อง, แตงโมที่ชักขึ้นมาจากบ่อน้ำกลายเป็นหัวคนไล่งับหญิงสาว, บ้านที่จะกลืนกินเราเข้าไป หรือเปียโนที่หล่นลงมาทับนิ้วเราจนหลุด! โอบายาชิติดต่อกับเพื่อนนักเขียนอีกคนและเริ่มเขียนบทจากหัวข้อความกลัวของเด็กสาวและร่างแรกของ “Hausu” (House) ก็ปรากฏออกมา

โอบายาชิยื่นบทไปเสนอให้โทโฮ ก่อนที่เขาจะพบว่าไม่มีผู้กำกับคนไหนในสตูดิโอสนใจที่จะกำกับมันโดยเหตุผลที่ว่า หนังเรื่องนี้จะทำลายอาชีพของพวกเขา สองปีผ่านไปเขาเขียนบทจนเสร็จสมบูรณ์ โอบายาชิตัดสินใจที่จะกำกับหนังเรื่องนี้ด้วยตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากแฟนหนังโฆษณาของเขา Hausu ออกจัดจำหน่ายเป็นมังงะ บทถูกทำเป็นนิยาย และละครวิทยุ เพลงประกอบถูกทำและขายก่อนที่หนังจะเริ่มสร้าง ทั้งหมดเพื่อเป็นทุนให้กับหนังเรื่องนี้

Hausu ออกฉายในปี 1977 จัดจำหน่ายโดยโทโฮที่จัดมันให้ฉายควบกับหนังทุนต่ำอีกเรื่อง เพราะบริษัทมองว่าหนังเรื่องนี้ไม่น่าจะมีทางประสบความสำเร็จ แต่ปรากฏว่าพวกเขาคิดผิด Hausu ทำเงินถล่มทลายและถูกพูดถึงอย่างมากในหมู่วัยรุ่น หนังกลายสถานะเป็น cult classics ในเวลาอันไม่นาน และส่งผลให้อาชีพผู้กำกับหนังของโอบายาชิเริ่มต้นขึ้นอย่างงดงามหลังจากนั้น

โอบายาชิกำกับหนังยาวทั้งหมด 25 เรื่อง หลายเรื่องในนั้นเป็นหนังวัยรุ่น เรื่องราวของหญิงสาวผู้ได้รับพลังวิเศษ เรื่องราวของการเติบโตของเด็กผู้ชายขี้แพ้ที่ต้องคอยให้ผู้หญิงปกป้อง ความสัมพันธ์ในวัยเด็กและสงคราม

ในยุค 80 เขามีหนังไตรภาคที่ได้รับการขนานนามว่า ไตรภาคโอโนมิชิ เมืองเกิดของโอบายาชิ ได้แก่ I Are You, You Am Me (1982), The Girl Who Leapt Through Time (1983) และ Lonely Heart (1985) ทั้งสามเรื่องโฟกัสไปที่ตัวเอกสาววัยรุ่นที่ได้รับพลังงานพิเศษในแบบต่างๆ เรื่องราวเหนือธรรมชาติที่เล่าขนานไปกับการเติบโต บ้านเกิดของโอบายาชิกลายเป็นสถานที่มหัศจรรย์ การหวนคืนถิ่นและการผจญภัย เขายังเคยทำหนังท่องเที่ยวเมืองโอโนมิชิให้กับสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ในช่วงนั้น ทั้งหมดทั้งมวลแสดงให้เห็นถึงความรักในเมืองเกิดของเขาได้เป็นอย่างดี

เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในระยะที่สี่ในปี 2016 หมอบอกว่า เขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงไม่กี่เดือน และถึงอย่างไรก็ตามโอบายาชิยังคงมุ่งหน้าทำหนังต่อไป หนังเรื่องก่อนสุดท้ายของเขา Hanagatami ออกฉายในปี 2017 หนังในฝันที่เขาอยากทำมาสี่สิบปี ภาคจบของไตรภาคที่ทำมาสะท้อนเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2011 (อีกสองเรื่องก่อนหน้าคือ Casting Blossoms to the Sky (2011) กับ Seven Weeks (2014)) โอบายาชิเรียกไตรภาคนี้ว่า ไตรภาคสงคราม หนังทั้งสามเรื่องสะท้อนชีวิตวัยเด็กของเขาที่เติบโตมาในช่วงเวลานั้น

Labyrinth of Cinema (2019) เป็นผลงานเรื่องสุดท้ายของเขา ถ่ายทำระหว่างที่เขากำลังต่อสู้กับโรคมะเร็ง โอบายาชิกลับไปเยือนบ้านเกิดของเขาเป็นครั้งสุดท้าย เรื่องราวของชายสามคนที่เดินเข้าในโรงหนังที่เมืองโอโนมิชิและพบว่าพวกเขาย้อนเวลากลับไปยังช่วงเวลาก่อนที่ฮิโรชิม่าจะถูกทำลายล้างด้วยระเบิดนิวเคลียร์ หนังได้รับการฉายที่ Tokyo International Film Festival และ International Film Festival Rotterdam และคงจะมีกำหนดฉายในโรงทั่วไปเร็วๆ นี้ หลังจากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น

“ขั้นตอนในการทำหนังเรื่องหนึ่งมันค่อนข้างยุ่งเหยิงมาก และผมก็ได้สร้างเจ้าปีศาจอลหม่านตนนี้ขึ้นเพื่อมอบให้แก่คนดู มันเป็นปีศาจที่ไม่มีเหตุผลไม่มีคำอธิบาย ผมเรียกมันว่า “ความโกลาหลที่น่าหลงใหล” ผมอยากสื่อสารกับคนดู ผมอยากให้คนดูเข้ามาแล้วพบว่าพวกเขาหลงอยู่ในนั้น เพื่อที่พวกเขาจะได้หาทางออก”

ส่วนสำหรับโอบายาชิแล้วหนังอาจจะคือเขาวงกตขนาดใหญ่ตามที่ เขาวงกตที่เรายินยอมพร้อมใจจะเข้าไปหลงอยู่ในนั้น เราอาจจะพูดได้ว่า ตลอดชีวิตการทำงานโอบายาชิเปลี่ยนรูปแบบของเขาวงกตแห่งนี้ไปเรื่อยๆ จนเราไม่มีทางเดาเส้นทางได้ เขาพาเราย้อนกลับไปตอนเป็นเด็กที่เราตื่นเต้นไปกับทุกสิ่งใหม่ที่ได้พบเจอ โลกของโอบายาชิเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ว่าเรื่องราวจะเศร้าโศกโลกแตกเพียงใด การชมผลงานของเขาคือ ความสุขและหรรษาอย่างแท้จริง


Hausu (1977)

นี่คือผลงานเดบิวท์เข้าสู่วงการภาพยนตร์ของโอบายาชิ หลังจากที่ทำงานเกี่ยวกับโฆษณามานานหลายปี หนังสุดคัลท์ในตำนานที่คนรักหนังหลายๆคนต่างหลงไหล ยกขึ้นหิ้งให้เป็นหนึ่งในประสบการณ์แปลกใหม่ขั้นเทพ ว่าด้วยเด็กสาววัยใสกับเพื่อนอีก 6 คน พากันไปเที่ยวพักร้อนที่บ้านคุณป้าของเธอที่ชนบท แต่พวกเธอไม่รู้เลยว่าคุณป้าและบ้านผีสิงหลังนี้กำลังรอต้อนรับพวกเธอด้วยความตาย

ฟังดูอาจเป็นเพียงแค่หนังสยองขวัญดาดดื่นธรรมดา แต่โอบายาชิได้พลิกทุกองค์ประกอบของหนังสยองขวัญให้พิศดาร แปลกใหม่ ตื่นตาตื่นใจ และคาดเดาไม่ได้ แค่ชื่อเด็กสาวทั้ง 7 อย่าง Gorgeous, Kung Fu, Prof, Melody, Mac, Sweet และ Fantasy ก็เรียกว่าเหนือจินตนาการแล้ว แถมยังมีไอเดียที่เขาได้ปรึกษาลูกสาว จากความคิดที่ว่าหนังสยองขวัญที่น่ากลัวต้องเกิดจากความไม่เข้าใจในตรรกะ จนได้ไอเดียที่ผู้ใหญ่ไม่มีทางคิดได้ เช่น เปียโนที่งับจนนิ้วขาด หัวแตงโมที่ลอยไปมาจนกลายเป็นหัวคน กระจกสะท้อนเงาที่สามารถฆ่าคนได้!?

นอกจากความน่ารักของนักแสดงนำรุ่นสาววัยกระเตาะ 7 คนที่เป็นนางแบบในตอนนั้น ต้องมาสังเวยให้กับความหฤโหด (หรือหฤหรรษ์) ของบ้านปีศาจหลังนี้แล้ว โอบายาชิยังแฝงถึงประเด็น aftershock จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผลพวงของวิญญาณความโกรธแค้นของคุณป้าภายในเรื่องมาจากการที่เธอต้องรอคอยคนรักที่ไม่เคยกลับมาจากสงครามโลกครั้งนั้น จนกลายเป็นวิญญาณที่คอยจ้องเอาทุกชีวิตในบ้านของเธอ


The Aimed School (1981)

ยูกะ สาวมัธยมสุดแข็งแกร่ง เรียนเก่ง กีฬาเลิศ เป็นแม่พระจิตใจงาม แถมยังน่ารักจนเป็นที่หมายปองของหนุ่มๆ เรื่องเกิดขึ้นในวันธรรมดาวันหนึ่งระหว่างที่เธอเดินกลับบ้านกับตาบื้อบ้าเคนโด้คนนึงที่เธอแอบชอบ ยูกะพบว่าตัวเองมีพลังจิต!

เรื่องราวทั้งหมดก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อยูกะต้องเรียนรู้ที่จะใช้พลังที่เธอมีควบคู่ไปกับการเตรียมตัวสอบที่กำลังจะมาถึง พร้อมๆ กันการมาเยือนของนักเรียนใหม่ผู้กุมความลับอดีตของเธอและเหล่าเอเลี่ยนวายร้ายที่กำลังจะมายึดโรงเรียนแห่งนี้ ยูกะจะสามารถพิทักษ์สันติภาพและปกป้องตาบื้อที่เธอหลงรักได้หรือไม่!

หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหลายเรื่องของโอบายาชิที่มีตัวเอกเป็นสาวกายสิทธิ์ที่ได้รับพลังมาอย่างได้คาดฝัน นอกจากนั้นยังเป็นหนังที่เปิดศักราชหนังไอดอลของโอบายาชิ นำแสดงโดย ฮิโรโกะ ยาคุชิมารุ ผู้โด่งดังจาก Sailor Suit and Machine Gun

The Aimed School เป็นหนังแฟนตาซีสุดขั้ว งานภาพของโอบายาชิไม่เคยทำให้เราผิดหวัง เช่นเดียวกับ Hausu จินตนาการที่เขามอบให้เรานั้นประหลาดล้ำสุดขีด จนมันถูกรีเมคหลายต่อหลายรอบ (เช่นเดียวกับหลายๆ งานของโอบายาชิ) หนังเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เราได้เห็นว่าอิทธิพลของโอบายาชิถูกส่งต่อให้กับคนทำงานอนิเมะในยุคนี้มากขนาดไหน


I Are You, You Am Me (1982)

คาสุมิ นักเรียนมัธยมปลายที่ย้ายเข้ามาเรียนอย่างกะทันหัน ดันมาเจอกับ คาสุโอะ เพื่อนสมัยเด็กของเธอที่กำลังแก่นเซี้ยวตามประสาวัยรุ่น จากที่เคยเป็นเพื่อนกันกลายเป็นคู่กัดกันเสียอย่างนั้น แต่แล้วเหมือนฟ้ากลั่นแกล้ง เมื่อทั้งคู่สลับร่างกันหลังจากที่ตกบันไดวัด พวกเขาจะหาทางกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อย่างไร และพวกเขาเรียนรู้อะไรจากการสลับร่างครั้งนี้บ้าง

ถึงจะดูเหมือนหนังโรแมนติค-คอมเมดี้ทั่วไป แต่หนังเรื่องนี้พาเราสำรวจความเป็นเพศของทั้งคู่อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่มุกตลกห่ามๆ ตามประสาหนังวัยรุ่น หนังบอกเล่าถึงความตื่นตระหนกแบบสมจริงของวัยรุ่นผู้ที่กำลังจะเข้าไปสู่โลกที่ทั้งเขาและเธอไม่เคยค้นพบมาก่อน พวกเขารู้ว่านี่ไม่ใช่โลกใบเดิมที่พวกเขาและเธอจะสามารถนึกสนุกกับมันได้อีกต่อไป ทำให้หนังเรื่องนี้พาเราเข้าใจวัยรุ่นมากกว่าที่หน้าหนังจะเป็น

หนังเรื่องนี้ทำให้ซาโตมิ โคบายาชิ (เล่นเป็นพี่สาวของฮิโรชิ อาเบะ ในเรื่อง After the Storm ของโคริเอดะ) ที่เพิ่งแสดงในหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกได้รับรางวัลนักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยมในปีนั้น และถูกรีเมคโดยตัวโอบายาชิเองเมื่อปี 2007 ในชื่อใหม่เรื่อง Switching – Goodbye Me


The Drifting Classroom (1987)

โอบายาชิเป็นผู้กำกับอีกคนหนึ่งที่ได้ทำหนังที่ดัดแปลงจากมังงะและนิยายอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ก็ดัดแปลงจากมังงะสยองขวัญชื่อดังในชื่อเรื่องเดียวกัน จากปรมาจารย์การ์ตูนสยองขวัญ อ.คาซึโอะ อุเมซุ เคยตีพิมพ์ในไทยโดยได้ชื่อ ฝ่ามิตินรก จากสำนักพิมพ์ TKO

หนังว่าด้วยเหตุการณ์ประหลาดโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งถูกย้ายไปอยู่อีกมิติหนึ่ง ซึ่งรอบโรงเรียนไม่มีอะไรเลยนอกจากทะเลทรายอันแห้งแล้งสุดลูกหูลูกตา โชว เด็กชายวัยประถมที่กลับมาจากลอสแองเจลิสเพื่อมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ รวมถึงเพื่อนๆ และคุณครูที่อยู่ในโรงเรียน ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทั้งเสบียงที่ค่อยๆ ร่อยหรอไปเรื่อยๆ สภาพจิตใจของทุกคนที่กำลังหมดหวังจนแทบจะสิ้นสติ แถมยังมีสัตว์ประหลาดที่คอยจ้องจะฆ่าทุกคนอีก โชวกับทุกคนจะเอาชีวิตรอดเพื่อกลับไปหาครอบครัวได้อย่างไร

ตัวโอบายาชิเองได้ดัดแปลงต้นฉบับไปหลายอย่างจนแฟนที่ติดตามมังงะมาก่อนอาจจะไม่ชอบเอาได้ ทั้งการเปลี่ยนเซ็ตติ้งจากโรงเรียนธรรมดาในญี่ปุ่นให้กลายเป็นโรงเรียนนานาชาติ ทำให้ส่วนใหญ่ตัวละครเด็กประถมนั้นมาจากฝั่งตะวันตก บทสนทนาภายในหนังส่วนใหญ่จึงเป็นภาษาอังกฤษ (รวมถึงชื่อเครดิตของทีมงานในหนังเช่นกัน) รวมถึงเปลี่ยนโทนความสยองขวัญและความสติแตกของตัวละคร ให้ผสมผสานไปกับแนวคัมมิ่งออฟเอจ แฟนตาซี คอมเมดี้ ไปจนถึงมิวสิคัลด้วย!?

หนังเรื่องนี้ทำให้เราเห็นสไตล์ของโอบายาชิ ว่าเหมาะกับการดัดแปลงมังงะให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างไร ทั้งการเซ็ตฉากภายในสตูดิโอจึงทำให้ฉากดูมีความสมจริงน้อยกว่า เอฟเฟคท์และการกรีนสกรีนที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับอยู่ในโลกแฟนตาซีคล้ายคลึงกับการ์ตูน และเทคนิคการเปลี่ยนฉากที่แปลกไม่เหมือนใคร

ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้นักแสดงขึ้นชื่อจากอเมริกาอย่าง Troy Donahue มารับบทเป็นคุณครูในโรงเรียน และมีนักแสดงรับเชิญที่น่าสนใจอย่าง อิชิโระ ฮอนดะ ผู้กำกับ Godzilla ต้นฉบับเมื่อปี 1954 และตัว อ. คาซึโอะ อุเมซุเอง (ลองหากันดูนะว่าโผล่ในฉากไหน) และได้โจ ฮิซาอิชิ คอมโพสเซอร์เพลงญี่ปุ่นชื่อดังมาทำเพลงให้ในหนังด้วย


Hanagatami (2017)

ดัดแปลงจากนิยายในชื่อเดียวกันปี 1936 ของ คาซุโอะ ดัน ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ยูกิโอะ มิชิมา หนังเล่าเรื่องเด็กหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่มีชีวิตในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังจะเข้าร่วมสงครามโลก เหล่าวัยรุ่นรู้ตัวว่าพวกเขากำลังจะตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พวกเขาจึงพยายามใช้ช่วงเวลาที่เหลือมีชีวิตอย่างเต็มกำลังหัวใจ

หนังดำเนินเรื่องผ่านการบรรยายของตัวเอกผู้รอดชีวิตจากสงคราม เขาบอกกับเราตั้งแต่เริ่มเรื่องว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องราวของการหวนหาหากเป็นความปรารถนาต่อผู้จากไป ต่อผู้โชคร้ายที่เป็นวัยรุ่นในยุคสงครามผู้ถูกชะตาโหมกระหน่ำสาดซัด เหล่าหนุ่มสาวผู้ไม่เพียงสูญเสียอดีตหากแต่อนาคตก็ไม่มีอยู่ให้ฝันถึง”

Hanagatami แปลว่า กระเช้าดอกไม้ และดอกไม้กลายเป็นสัญลักษณ์หลักของเรื่อง ดอกซากุระที่ร่วงหล่นทั่วไปทั้งเฟรมภาพ ดอกกุหลาบที่กลีบหลุดกลายเป็นหยดเลือด หนังเปิดด้วยบทกวีที่ว่าด้วยการอาวรณ์ถึงเหล่าดอกไม้ที่ถูกตัดยามพวกมันเบ่งบาน ญี่ปุ่นในตอนนั้นก็เป็นเช่นกระเช้าดอกไม้ในสายตาของโอบายาชิ เหล่าหนุ่มสาวถูกสังเวยในสงครามที่ไร้เหตุผล ช่วงเวลาอันโหดร้าย พวกเขาใช้ชีวิตในวันนี้ เพื่อตายในวันพรุ่งนี้

ในโลกของโอบายาชิทุกอย่างเป็นไปได้ หนังเกือบทั้งเรื่องมีฉากหลังเป็นกรีนสกรีน ซึ่งในแง่หนึ่งมันให้ความรู้สึกเหมือนฉากละครที่เป็นภาพวาด ในขณะที่นักแสดงส่วนใหญ่ก็มีอายุเลยตัวละครไปหลายสิบปี แม้ว่าหนังจะบอกเราว่าพวกเขาอายุเพียง 17 เท่านั้น ก็ยิ่งตอกย้ำความเป็นละครของมันเข้าไปอีก สไตล์หนังยังคงสุดโต่ง โลกเสมือนที่บอกเล่าโศกนาฎกรรมแห่งนี้ถูกระบายด้วยสีจัดจ้าน แสงไฟเหนือจริง ตัวหนังกระโดดไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบันอย่างลื่นไหลและเสรี นี่เป็นบทพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งความสร้างสรรค์ของโอบายาชิได้สักนิดเดียว

เมื่อประเทศทะเลาะกัน สะเทือนเลื่อนลั่นไปถึงวงการบันเทิง !

ขณะนี้กระแสที่มาแรงแซงทางโค้งอย่างไม่มีใครปฏิเสธคือ กรณีความขัดแย้งระหว่างแฟนคลับไทยและจีน ของกระแสซีรี่ส์วายเรื่องหนึ่ง ซึ่งเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่ไม่มีใครคิดว่าจะกลายเป็นสาระสำคัญ แต่บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งที่ดึงเอาเรื่องการเมือง การปกครองเข้ามาเกี่ยวข้อง เท่านั้นไม่พอ ยังดึงเอาปาร์ตี้ที่สามอย่างไต้หวันกับฮ่องกงซึ่งไม่พอใจจีนเป็นทุนเดิมเข้ามาร่วมวงด้วย หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจขยายวงไปเป็นข้อพิพาทในระดับที่สูงกว่า เช่น ซีรี่ส์เรื่องดังกล่าวอาจถูกแบนไม่ให้ฉายในจีนเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคงไม่ขยายความความขัดแย้งดังกล่าวไปมากกว่านี้ (ถ้าสนใจความเป็นมาเป็นไปของเหตุการณ์ดังกล่าว ขอแนะนำให้อ่าน poetry of bitch ครับ เขาสรุปลำดับเหตุการณ์ไว้ดีมาก) แต่อยากจะขอกล่าวถึง กรณีความขัดแย้งระดับประเทศ ที่ก่อตัวในระดับมหภาค แต่ส่งผลกระทบต่อระดับจุลภาคซึ่งหมายถึงภาคประชาชนในตอนท้าย (กรณี #nnevvy นั้นตรงกันข้ามคือ เริ่มก่อตัวจากระดับจุลภาค แต่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับมหภาค)

โดยขอนำเสนอความขัดแย้งระหว่างประเทศจีนกับเกาหลีใต้ จากกรณีที่ รัฐบาลเกาหลีใต้ อนุญาตให้รัฐบาลสหรัฐฯ ติดตั้งระบบต่อต้านมิสไซล์เพดานบินสูง (Terminal High Altitude Area Defense – เรียกย่อๆ ว่า THAAD) บนแผ่นดินเกาหลีใต้เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือในปี 2016 แต่โชคไม่ดีที่เกาหลีเหนือตั้งอยู่ติดกับประเทศจีน จึงสร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลจีนเป็นอย่างมาก รัฐบาลจีนได้ประกาศคว่ำบาตรความร่วมมือทุกชนิดกับเกาหลีใต้ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจของเกาหลีใต้ที่ลงทุนในจีนและส่งออกไปยังจีนอย่างรุนแรง

และหนึ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ อุตสาหกรรมทางด้านวัฒนธรรม ที่มีหนังรวมอยู่ด้วย


ย้อนรอยความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมจีน – เกาหลีใต้ :

ความสัมพันธ์นี้เริ่มต้นอย่างอบอุ่นในกลางช่วงทศวรรษที่ 1990 หลังจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี 1992 โดยสื่อด้านวัฒนธรรมจากเกาหลีใต้สื่อแรกที่ได้เข้าไปทักทายประชาชนจีนถึงในบ้านคือ ละครโทรทัศน์

ซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงคือ What is Love? ฉายทางสถานีโทรทัศน์ CCTV ในปี 1997 มีคนดูถึง 150 ล้านคน และได้เรตติงสูงถึง 4.2% นอกจากนั้น วงบอยแบนด์เกิร์ลกรุ๊ปต่างๆ ก็ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ไม่แพ้กัน จนทำให้ในเดือนพฤศจิกายนปี 1999 Beijing Youth Daily หนังสือพิมพ์จีนของรัฐบาล ถึงกับต้องลงบทความวิพากษ์ความคลั่งไคล้วัฒนธรรมเกาหลีในหมู่เยาวชนจีน และเป็นครั้งแรกที่คำว่า Korean wave (หรือ Hallyu ในภาษาเกาหลี) ถูกใช้เพื่อจำกัดความถึงความคลั่งไคล้เช่นนี้

ในระยะแรกรัฐบาลจีนเฝ้ามองความเคลื่อนไหวของคลื่นเกาหลีแบบเงียบๆ แต่เมื่อเห็นว่าเยาวชนจีนเริ่มซึบซับวัฒนธรรมต่างชาติมากเกินไป จึงมอบหมายให้ คณะกรรมการควบคุมวิทยุ ภาพยนตร์และโทรทัศน์ ออกมาตรการจำกัดการแพร่ภาพซีรีส์เกาหลีใต้ในเมืองจีน แต่ดูเหมือนความพยายามจะไม่เป็นผล เพราะความนิยมดังกล่าวก็ยังแพร่ขยายอย่างรวดเร็วและรุนแรง แถมยังส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยของจีนเองด้วย เช่น ซีรีส์ของจีนได้รับอิทธิพลการนำเสนอแบบเกาหลีจนแทบแยกไม่ออก เช่นเดียวกับวงบอยแบนด์เกิร์ลกรุ๊ปที่แทบจะถอดจากพิมพ์เดียวกัน

ในส่วนของหนัง แม้จีนจะใช้ระบบโควตาที่จำกัดให้มีหนังต่างชาติได้ฉายแค่ปีละ 20 เรื่อง (ในช่วงทศวรรษ 2000 – 2010) แต่ในจำนวนนั้นก็มีหนังเกาหลีหลายเรื่อง และส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เช่น The Classics, Late Autumn, 200 Pounds Beauty, The Host ส่วนหนังที่ไม่ได้ฉายโรงหลายเรื่องก็ประสบความสำเร็จในช่องทางการจัดจำหน่ายอื่น เช่น วีซีดี ดีวีดี (ส่วนใหญ่ผิดกฎหมาย) และอินเทอร์เน็ต (ผิดกฎหมายในระยะแรก แต่มาถูกกฎหมายในระยะต่อมา) อาทิ My Sassy Girl; The Good, The Bad, The Weird และ Jeon Woochi: The Taoist Wizard เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ในเชิงธุรกิจวัฒนธรรมดำเนินไปด้วยดีตลอดระยะ 25 ปีตั้งแต่เริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 1992 มีการร่วมลงทุนในสื่อต่างๆ เช่น กรณีอาลีบาบาลงทุนร่วมกับ SM Entertainment ที่มีนักร้องในสังกัดอย่าง BoA, TVXQ, Super Junior, Girls’ Generation, SHINee, f(x), EXO, Red Velvet และ NCT ในปี 2016 หรือกรณีมีทุนจีนลงหุ้นกับ Big Hit Entertainment ที่มีวง BTS เป็นเสาหลัก, Zhejiang Huace Film & TV กลุ่มทุนจากจีน ร่วมลงทุนกับบริษัทเกาหลี Next Entertainment World ผลิตซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จไปทั่วเอเชียเรื่อง Descendant of the Sun ในปี 2016 และสำหรับธุรกิจหนัง กลุ่มทุนอาลีบาบาได้ลงทุนกว่าพันล้านวอนผลิตหนังเกาหลีในปี 2014 ส่วนบริษัท Huace ก็ทุ่มถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อซื้อหุ้นของ Next Entertainment World สำหรับวางแผนผลิตหนังเกาหลีอีกด้วย

แต่แล้ว เส้นทางที่ดูเหมือนจะสวยงามนี้ จู่ๆ ก็ต้องหยุดชะงักเมื่อเกิดกรณีขัดแย้งเรื่องมิสไซล์ ซึ่งแม้ฟังเผินๆ น่าจะเป็นปัญหาแค่ระหว่างเกาหลีเหนือกับใต้เท่านั้น แต่รัฐบาลจีนกังวลว่าระบบเรดาห์ตรวจจับของ THAAD อาจสอดส่องความเคลื่อนไหวภายในประเทศตนได้ จึงทำการประท้วง และเมื่อรัฐบาลเกาหลีใต้ยังยืนกรานให้อเมริกาติดตั้งได้ต่อไป จีนจึงดำเนินมาตรกดดันด้วยการคว่ำบาตรความร่วมมือทุกระดับกับเกาหลีใต้ทันที


ความเสียหายที่เกิดขึ้น :

การคว่ำบาตรส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมวัฒนธรรมทุกประเภท ตั้งแต่เครื่องสำอาง การท่องเที่ยว ไปจนถึงวัฒนธรรม K ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น K Series, K Pop และ K Movie

ในจีนมีการทำโพลสำรวจความรู้สึกของประชาชนกว่า 3 แสนคน ผลคือ 87% เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว ขณะที่ประชาชนชาวเน็ตจำนวนมากก็ประกาศว่า “ไอดอลไม่สำคัญกว่าผลประโยชน์ของชาติ” (No Idol is above national interest!) ศาสตาจารย์ อิงยู โอห์ แห่งภาควิชาสังคมวิทยามหาวิทยาลัยเกาหลีกล่าวว่า ความขัดแย้งนี้อาจทำให้เกาหลีใต้ต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกวัฒนธรรมร่วมสมัยกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญ นอกจากนี้ ทุนจีนที่ลงทุนในสื่อบันเทิงต่างๆ ของเกาหลีใต้อาจสูญเปล่าเพราะไม่สามารถขายในประเทศตัวเองซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าเกาหลีใต้เสียอีกได้

สำหรับหนัง ผลที่เกิดขึ้นคือ หนังหลายเรื่องที่ควรมีโอกาสทำเงินในจีน ก็ต้องหมดโอกาสในทุกช่องทางจัดจำหน่าย เช่น Train to Busan ของ Next Entertainment World (ซึ่งมี Huace บริษัทจีน ถือหุ้นเป็นลำดับสอง) หนังเรื่องนี้ทำเงินในเกาหลีใต้และทั่วโลกไปแล้วกว่า 96 ล้านเหรียญ และถ้าได้ฉายในจีนก็น่าจะเก็บเงินได้อีกไม่ต่ำกว่า 50 ล้าน

อย่างไรก็ตาม วิกฤตนี้ก็กลับส่งผลประโยชน์ต่อผู้จัดจำหน่ายชาติอื่น (ที่ไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปในตลาดจีนได้ก่อนหน้านี้) เช่น หนังญี่ปุ่น ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนจำหน่ายหนังญี่ปุ่นบริษัทหนึ่งที่เมืองคานส์ในปี 2018 และได้รับข้อมูลว่า ตัวแทนจัดจำหน่ายของจีนหลายบริษัทกำลังสนใจหนังโรแมนติกจากญี่ปุ่นเป็นพิเศษ เพราะหนังเกาหลีใต้แนวนี้เคยฮิตในตลาดจีนมาก่อน


เมื่อวิกฤตคลี่คลาย แต่ไม่คลายตัว :

ความขัดแย้งระหว่างจีนและเกาหลีใต้ดำเนินมาจนถึงกลางปี 2019 ก็เริ่มคลี่คลายผ่านการเจรจาแบบทวิภาคี สัญญาบวกที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในเดือนเมษายน เมื่อบริษัท Lotte ได้รับอนุญาตจากจีนให้กลับไปสร้างห้างสรรพสินค้าที่เมืองเซิ่งหยางอีกครั้ง (หลังถูกระงับตั้งแต่ปี 2016) ตามมาด้วยซีรีส์เกาหลี 2 เรื่องที่ได้รับการอนุมัติให้ฉายทางโทรทัศน์ในเดือนตุลาคม และก็มีความเป็นไปได้ว่าหนังออสการ์เรื่อง Parasite อาจมีโอกาสได้ฉายในจีนเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ความสัมพันธ์เต็มรูปแบบจะกลับมาเหมือนเดิมเมื่อใด เนื่องจากจีนเรียกร้องให้เกาหลีใต้ปฏิบัติตามมาตรการสาม “ไม่” ได้แก่ 1. ไม่เพิ่มจำนวนเครื่องยิงขีปนาวุธป้องกัน 2. ไม่ร่วมกับระบบป้องกันขีปนาวุธในภูมิภาคที่นำโดยสหรัฐฯ และ 3.ไม่ร่วมข้อตกลงไตรภาคีกับสหรัฐฯและญี่ปุ่น ขณะที่เกาหลีใต้ภายใต้การบริหารของรัฐบาลสายกลางที่นำโดยประธานาธิบดีมุนแจอิน ก็ดูตอบรับแบบขอไปที เนื่องจากยังต้องเดินตามนโยบายความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกไกลของสหรัฐฯ

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้พลังของวัฒนธรรมจะสลายความแตกต่างของคนสองชาติได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ความขัดแย้งถูกยกระดับขึ้นเป็นการเมืองระหว่างประเทศ การแบ่งเขาแบ่งเราก็จะเกิดขึ้นอยู่ดี และเมื่อนั้น ต่อให้วัฒนธรรมมีพลังเท่าใดก็ไม่ความหมาย


อ้างอิง :

เกี่ยวกับความเป็นมาของคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี
– Turning Out the Lights?: The Impact of THAAD on Hallyu Exports to China
– Hallyu (Korean Wave)

เกี่ยวกับระบบต่อต้านมิสไซล์เพดานบินสูง (Terminal High Altitude Area Defense)
– THAAD on the Korean Peninsula

เกี่ยวกับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างจีนและเกาหลีใต้กรณี THAAD
– Turning Out the Lights?: The Impact of THAAD on Hallyu Exports to China
– Korea still taking Chinese economic hits over US missiles
– Did South Korea’s Three Noes Matter? Not So Much.
– China, South Korea agree to mend ties after THAAD standoff
– Korea still taking Chinese economic hits over US missiles

15 ปี The Squid and the Whale ทำความร้าวฉานให้รื่นรมย์ จากหัวใจลูกชายชื่อ โนอาห์ บอมบาค

กระแสตอบรับที่งดงามของ Marriage Story ทำให้ใครหลายคนเทียบมันกับ The Squid and the Whale หนังปี 2005 ของ โนอาห์ บอมบาค เหมือนกัน เพราะนอกจากจะทำโดยคนคนเดียวกันแล้ว ต่างก็ว่าด้วยการประคับประคองชีวิตและครอบครัวหลังการหย่าร้าง โดยในขณะที่ Marriage Story อ้างอิงจากชีวิตคู่ที่พังไปแล้วของบอมบาคกับ เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ The Squid and the Whale ก็เป็นมุมมองต่อรอยร้าวของพ่อแม่เขาเอง สิ่งที่ผูกโยงหนังสองเรื่องนี้เข้าไว้ด้วยกันคือมันต่างพูดถึงคนเคยรักที่พยายามหนีความจริงของหัวใจตัวเองไม่พ้น

Marriage Story บอมบาคเล่าตอนที่แผลยังสดของคนที่ผ่านประสบการณ์มาแล้ว มันเลย ‘ไม่ตลก’ ขณะที่ The Squid and he Whale เล่าจากมุมมองของลูกชายที่พ่อแม่แยกทาง มันจึงเป็นสายตาที่บริสุทธิ์และตั้งใจที่จะมองมันให้ ‘ตลก’ แต่ในความตลกนั้นก็สมจริงเสียจนคนดูสะเทือนใจตามกัน “ตอนทำหนังเรื่องนี้ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องตลกตลอดนะ แต่พอถึงจุดนึงมันกลับเศร้ากว่าที่คิดเยอะ จริงๆ ไม่ได้พยายามทำให้สุขกับเศร้าเท่ากัน ผมอยากให้มันดำเนินไปพร้อมกันมากกว่า”

ชีวิตจริงของบอมบาค ทั้งพ่อและแม่ของเขาต่างก็เป็นนักเขียนชื่อดัง (พ่อคือ โจนาธาน บอมบาค นักเขียนนิยายเชิงทดลองและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Fiction Collective ส่วนแม่ จอร์เจีย บราวน์ เป็นนักวิจารณ์หนัง) พอมาเป็นหนัง พ่อและแม่ต่างก็เป็นนักเขียนที่เส้นทางและชื่อเสียงกำลังเดินสวนทางกัน และสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การหย่าร้างก็คือพ่อ (เจฟฟ์ แดเนียลส์) รับไม่ได้ที่เห็น แม่ (ลอรา ลินนีย์) กำลังเป็นที่ยอมรับมากกว่าเขา

แน่นอนว่าพ่อแม่ของบอมบาคได้ดูหนัง The Squid and the Whale แล้ว เช่นกันกับที่ เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ ก็ได้ดู Marriage Story ก่อนใคร และกลายเป็นว่าทั้งสามคนที่บอมบาคหยิบมาใช้เป็นโครงสร้างตัวละครต่างพอใจกับหนัง ซึ่งหลักในการเขียนบทของบอมบาคคือการพาชีวิตตัวเองหนีไปจากความเป็นจริงให้ไกลที่สุด “สำหรับผมหนังมันเหมือนเป็นเกราะกำบังทางใจ ผมเขียนบทออกมาจากเรื่องราวที่ส่วนตัวมากๆ ไม่เซ็นเซอร์ตัวเองเลย จากสิ่งละอันพันละน้อยที่รายรอบในชีวิต แต่ผมก็แต่งเรื่องลงไปเยอะเหมือนกัน เพราะถ้าไม่ทำให้มันเป็นเรื่องแต่ง มันก็จะยิ่งไม่สมจริงมากเท่านั้น มันอาจฟังดูแปลกหน่อยนะแต่พ่อแม่ผมที่เป็นนักเขียนเหมือนกันจะเข้าใจ”

ตั้งแต่หนังเรื่องแรก Kicking and Screaming ปี 1995 ที่เล่าเรื่องของกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ที่กำลังตามหาอะไรบางอย่างของชีวิต (ซึ่งเขาทำหนังเรื่องนี้ตอนอายุ 26 ไม่ห่างกันนักกับตัวละครในเรื่อง) มาจนถึง Marriage Story หนังทุกเรื่องของบอมบาคต่างพูดถึงตัวละครปัญญาชนที่กำลังสับสนวุ่นวายกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต แน่ล่ะว่าเขาเกิดในครอบครัวปัญญาชน จนมองว่าคนเหล่านี้มีวิธีจัดการปัญหาของตัวเองช่างซับซ้อน มันเลยทำให้อะไรๆ ที่น่าจะผ่านพ้นไปได้ง่ายกลับยิ่งติดบ่วงยุ่งเหยิงไปกว่าเดิม

แต่เหนือสิ่งอื่นใด บอมบาคมองว่าทุกคนต่างหวาดกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัยด้วยกันทั้งนั้น ยามที่ชีวิตต้องเผชิญหน้ากับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ซึ่งนั่นเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการแสดงภาวะอ่อนไหวของทุกคน “ผมสนใจการเปลี่ยนฉากชีวิตของมนุษย์จากที่ที่พวกเขารู้สึกมั่นใจไปในที่ที่พวกเขาไม่รู้จักมันเลย หนังของผมพูดถึงห้วงเวลานี้ของชีวิตทั้งนั้น มันทำให้หนังไปได้ไกลกว่าบันทึกชีวิตส่วนตัวทั่วไป”

สิ่งที่บอมบาคพยายามพูดอยู่เสมอกับหนังทุกเรื่องที่เขาทำคือมันล้วนมาจากประสบการณ์และความคิดเห็นส่วนตัว แม้มันไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด ทว่าสิ่งที่ทำให้มันเป็นบทกวีแห่งความเจ็บปวดก็คือบรรยากาศรายรอบนั่นต่างหากที่เขาเลือกมันมาใช้เพื่อให้เรื่องแต่งสะท้อนความเป็นจริงได้งดงามมากที่สุด

ใน The Squid and the Whale บอมบาคเลือกไปถ่ายที่บ้านเพื่อน เพื่อเก็บกลิ่นอายชีวิตคู่ที่ซ่อนอยู่ในของแต่งบ้านและบรรยากาศ หรือเสื้อผ้าของ เจฟฟ์ แดเนียลส์ เป็นของพ่อเขาจริงๆ “เรื่องเหล่านี้มันอยู่ในอากาศ บทพูดบางอย่าง การกระทำ และสถานที่ถ่ายทำ ที่ผมบันทึกไว้ในสมุดโน้ตกับความทรงจำของผม อยู่ที่ว่าผมจะหยิบมันมาใช้งานอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด”


ย้อนดูบทบันทึกในชีวิตแต่ละช่วงของบอมบาคผ่านหนังของเขา ดังนี้

ทาง Netflix : Kicking and Screaming, The Squid and the Whale, The Meyerowitz Stories (New and Selected), Marriage Story

ทาง Monomax : Greenberg

From Now On

วันที่ 20 มกราคม 2557 เกิดการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลายจำนวนมากที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย พวกเขาพากันหยุดเรียนและเดินออกมารวมตัวกัน ที่บริเวณหน้าอาคาร พร้อมเป่านกหวีดเพื่อประท้วงขับไล่ นายเฉลิมศักดิ์ ภาระธัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย และอาจารย์บางคน โดยอ้างว่าถูกบังคับไปร่วมรณรงค์เลือกตั้ง จนนำไปสู่กระแสติดแฮชแท็ก #shutdownAYW ในทวิตเตอร์ และมีการแชร์ภาพนักเรียนถือป้าย “บังคับกูมา” กลางงานรณรงค์ด้วย

สาเหตุของการประท้วงเริ่มจากความไม่พอใจที่มีการจัดให้นักเรียนไปรวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่าเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2557 เพื่อไปถือป้ายรณรงค์ขอให้มีการเลือกตั้ง สส.ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และขอให้มีการยุติการใช้ความรุนแรงในสังคม

นักเรียนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมดังกล่าว ผู้ปกครองไม่ได้เต็มใจให้บุตรหลานไปรณรงค์ เนื่องจากมีการแบ่งพวกแบ่งฝ่ายแบ่งสี นักเรียนบางคนให้ความเห็นว่าต้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง สส. จึงอยากให้ผู้บริหารโรงเรียนให้อิสระในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และอย่าบังคับให้นักเรียนทำสิ่งที่ฝืนใจ

วันต่อมา นายเฉลิมศักดิ์ ภาระธัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ได้ทำความเข้าใจกับนักเรียนโดยชี้แจงว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการรณรงค์การเลือกตั้งของศูนย์การเรียนรู้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ 2 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทางโรงเรียนได้ส่งอาจารย์ 2 ท่านไปอบรมเพื่ออบรมและมารณรงค์การเลือกตั้ง โดยไม่หวังผลทางการเมืองว่าเป็นแบบใด และกิจกรรมนี้ได้ทำมาทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.

สองวันถัดมา (วันที่ 23 มกราคม 2557) บริเวณหน้าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย มีกลุ่มเสื้อแดงราว 50 คนเดินทางมาชุมนุมมาให้กำลังใจผู้อำนวยการโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย และไม่พอใจที่นักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยประท้วงผู้อำนวยการโรงเรียน

From Now On (2019) หนังสั้นจบการศึกษาของคัชฑา หิรัญญปรีชา นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าเรื่องคิณ อดีตนักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เขากลับมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับทำหนังสั้นเกี่ยวกับชีวิตนักเรียนโดยเลือกใช้ฉากหลังเป็นโรงเรียนที่เขามีความหลังทั้งความรักและอดีตตัวแทนนักเรียนผู้ต่อต้านผู้อำนวยการโรงเรียน

เอาจริงๆแล้วคิณ เรียนที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยไม่ถึงหนึ่งภาคการศึกษาด้วยซ้ำ เขาย้ายที่เรียนอย่างไม่ทราบสาเหตุ แม้กระทั่งนับดาว หญิงสาวที่ชอบพอกันก็ไม่ทราบว่าเขาจะย้ายที่เรียน หนังเล่าเทียบเคียงกับอดีตของคิณ เขาและเพื่อนๆ เป็นแกนนำสนับสนุนกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ที่กำลังชุมนุม “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ในขณะนั้นเพื่อขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คิณอาจะย้ายที่เรียนเพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนก็เป็นได้

เขากลับมาเจอนับดาว หญิงสาวที่ไม่ได้ติดต่อกันนานกว่า 5 ปี จู่ๆเขาก็ย้ายไปโรงเรียนใหม่โดยไม่ร่ำลา แต่เขาและเธอก็ดูจะกลับมาสานสัมพันธ์กันได้อย่างง่ายดาย หนังเล่าเทียบเคียงกับนักเรียนชายหญิงอีกคู่ดูเหมือนฝ่ายหญิงจะชอบฝ่ายชายบนความสัมพันธ์ฉันเพื่อนแต่คิดเกินเลยและไม่ชัดเจน หนุ่มสาวไร้ชื่อผู้ไขว่คว้าหาเส้นทางชีวิตที่จะเลือกเดินในอนาคต ฝ่ายชายได้เรียนต่อสาขาภาพยนตร์ (ซึ่งอาจเป็นผู้กำกับที่มาทำหนังสั้นที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยก็เป็นได้) ส่วนฝ่ายหญิงยังไม่รู้ว่าเธอจะได้เรียนต่อที่ไหน

หนังยังเล่าคู่ไปกับเรื่องของพิมและหนุ่ม ซึ่งคราวนี้ดูจะเป็นเรื่องของฝ่ายชายที่แอบชอบฝ่ายหญิง หนุ่มไม่ได้ไปเรียนต่อเหมือนเพื่อนๆ เพราะต้องช่วยกิจการร้านชำของแม่และยังต้องรับจ้างทั่วไปเท่าที่แรงจะไหว ส่วนพิม เรียนกราฟิกดีไซน์และไม่สนใจข่าวการเมือง แม้ว่าหนุ่มจะพยายามทายว่าเธอทำงานแบบไหนอยู่ก็ไม่ถูกกับนิยามที่เธอกำหนดไว้ เธอดูเหินห่างจากหนุ่ม แม้ว่าเขาจะทักทายและเป็นมิตรกับเธอ

พิมลางานกลับมาอยุธยาฯ เพื่อมางานศพอาจารย์เชษ เธอบอกกับหนุ่มว่าอาจารย์มาเข้าฝันบอกกับเธอว่าอาจารย์เสียชีวิตแล้ว เธอฝันถึงเหตุการณ์ที่ในอดีตได้ไปร่วมประท้วงไล่ผู้อำนวยการโรงเรียน เช่นเดียวกับหนุ่มที่ก็ไปประท้วงแต่เขาก็บอกว่าตอนนั้นไปก็ไปตามๆกัน ไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าทำไปทำไม

งานศพไร้ญาติของอาจารย์เชษผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและไม่มีครอบครัว เขาถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะถูกใส่ร้ายเรื่องที่เขาเป็นคนพานักเรียนไปรณรงค์การเลือกตั้ง งานศพของเขามีเพียงพวงหรีดสองชิ้นจากศิษย์และคุณครู และไม่มีค่อยมีคนมาร่วมงาน อาจารย์เชษจึงเป็นผู้ที่ไม่มีใครคิดถึง มีเพียงเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงเท่านั้นมาช่วยกันจัดงานศพขึ้น

ในช่วงหนึ่งของหนังมีส่วนที่เป็นสารคดีถ่ายการประท้วงของนักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย พวกเขาแสดงออกด้วยการถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่กลางโรงเรียน ก่อนจะตะโกนขับไล่และเป่านกหวีดใส่ผู้อำนวยการโรงเรียน

ธงชัย วินิจจะกุล เสนอว่า ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5 หรือราชาชาตินิยมของกระฎุมพีไทย เป็นการสร้าง ผลิตซ้ำ กระจายความทรงจำโดยประชาชนด้วยกันเองจนเกิดเป็นตลาดสินค้าเพื่อ Populist King หรือกษัตริย์ประชานิยม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งการแสวงหาทางออกของสังคมในภาวะที่พึ่งระบอบการเมืองปัจจุบันไม่ได้

ราชาชาตินิยมใหม่ (neo-royalism) เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนกระฎุมพีไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรื้อฟื้นความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ท่ามกลางการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งถือเป็นการปลดปล่อยพลังของมหาชนและพลังพระมหากษัตริย์ในสถานะสูงส่งนับจากสวรรคตของรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2453 การปฏิวัติ 14 ตุลาคม เกิดจากกลุ่มกระฎุมพีนักวิชาการต่อต้านระบบทหารซึ่งมองว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นต้นกำเนิดของระบอบเผด็จการทหารและรับเอาทัศนะของฝ่ายกษัตริย์นิยมซึ่งมองว่ากษัตริย์เป็นราชานักประชานักประชาธิปไตย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งของรัชกาลที่ 9) ไปด้วย

ราชาชาตินิยมใหม่ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากทัศนะของฝ่ายกษัตริย์นิยมหรือความทรงจำของเจ้ากรุงเทพฯ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งถูกประกอบเป็นรูปเป็นร่างในช่วงทศวรรษที่ 1910 นี่เอง และส่วนหนึ่งเป็นเพราะประวัติศาสตร์ชาตินิยมหลัง 2475 ก็มิได้ผลักไสความทรงจำแบบเจ้ากรุงเทพฯ ออกไป แต่เป็นเพียงการท้าท้ายรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มุ่งต่อต้านกษัตริย์ที่ครองอำนาจและระบอบการเมืองในขณะนั้นเท่านั้น เช่น กรณี ร.ศ. 112 ซึ่งถูกผู้นำยุคชาตินิยมโฆษณาลงสู่สาธารณชนว่าชาติไทย “เสียดินแดน”

ธงชัย เสนอว่า “คณะราษฎรเห็นความล้มเหลวของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชกาลที่ 6 และ 7 แต่พวกเขาไม่เห็นด้วยซ้ำไปว่ารัชกาลที่ 5 คือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ผู้นำคณะราษฎรแทบทุกคนถือเอาพระปิยมหาราชเป็นแบบอย่างกษัตริย์และผู้นำที่พึงปรารถนา”

ดังนั้นแล้วภาพการบูชารัชกาลที่ 5 ของนักเรียนก่อนจะเป่านกหวีดไล่ผู้อำนาจโรงเรียนผู้ยืนยันในระบอบประชาธิปไตยจึงแสดงให้เห็นถึงว่าหนุ่มสาวเหล่านั้นเป็นผลผลิตของกระฎุมพีที่ติดอยู่ในวงวนของราชาชาตินิยมใหม่ซึ่งเป็นผลมาจากโฆษณาของกระฎุมพี โดยกระฎุมพี เพื่อกระฎุมพีกันเอง และส่วนหนึ่งก็มาจากการไม่ตัดขาดของอุดมการณ์ราชาชาตินิยมเดิมและความทรงจำเจ้ากรุงเทพฯ ที่ถูกสร้างโดยฝ่ายกษัตริย์นิยมแต่ก็ยังถูกเชิดชูโดยผู้ที่นำเข้าแนวคิดประชาธิปไตยรุ่นแรกๆ ของรัฐไทย

จุดน่าสังเกตอีกอย่างคือขบวนการนักเรียนและนักศึกษาหลายๆแห่งทั่วประเทศที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการทหารในปัจจุบันก่อนจะหยุดเคลื่อนไหวไปเพราะการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ก็ยึดเอาคณะราษฎรเป็นต้นแบบ ซึ่งกระแสการกลับมาของการรำลึกคณะราษฎรอาจกล่าวได้ว่ามาพร้อมกับขบวนการเสื้อแดงต่อต้านรัฐประหารนายทักษิณ ชินวัตร เช่น ผู้ชุมนุมเสื้อแดงหลายกลุ่มร่วมจัด “ทวงคืนประชาธิปไตย ตามหาวันชาติไทย” พื่อรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2549

แต่สิ่งที่ขบวนการนักศึกษาเน้นย้ำเช่นเดียวกับคณะราษฎรคือประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบหลัง 2475 ซึ่งไม่ได้ท้าทายราชาชาตินิยมอย่างถึงราก แต่ทำอย่างอย่างดีที่สุดคือเสนอให้ “ชาติ” เป็นจุดหมายของประวัติศาสตร์ซึ่งกษัตริย์ในอดีตก็เชิดชูรับใช้ ปรากฏออกมาเป็นกิจกรรมยืนเคารพธงชาติก่อนการประท้วง (ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าสังเกตการณ์กิจกรรม “ขอนแก่นพอกันทีครั้งที่ 2”) หรือการผลิตคำพูดที่เชิดชูชาติ เช่น ชาติคือประชาชน

แต่สิ่งที่ขบวนการนักศึกษาเน้นย้ำเช่นเดียวกับคณะราษฎรคือประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบหลัง 2475 ซึ่งไม่ได้ท้าทายราชาชาตินิยมอย่างถึงราก แต่ทำอย่างอย่างดีที่สุดคือเสนอให้ “ชาติ” เป็นจุดหมายของประวัติศาสตร์ซึ่งกษัตริย์ในอดีตก็เชิดชูรับใช้ ปรากฏออกมาเป็นกิจกรรมยืนเคารพธงชาติก่อนการประท้วง (ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าสังเกตการณ์กิจกรรม “ขอนแก่นพอกันทีครั้งที่ 2”) หรือการผลิตคำพูดที่เชิดชูชาติ เช่น ชาติคือประชาชน

หลังการล่มสลายของรัฐกษัตริย์ รัฐประชาชาติก็ได้ขึ้นมาเป็นเป้าหมายของกระฎุมพีที่ใช้ในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมือง ชาติได้กลายเป็นสิ่งที่เข้ามาแทนที่กษัตริย์และพระเจ้าในทางศาสนา แต่สำหรับรัฐไทยแล้วก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าชาติคือประชาชนหรือกษัตริย์ แม้ในกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองบางส่วนก็ยังคงยึดเอารัชกาลที่ 9 เป็นต้นแบบ หรือใฝ่ฝันถึงกษัตริย์ประชาธิปไตยแบบรัชกาลที่ 9 หรือชื่นชมกษัตริย์ประเทศอื่นๆ ราวกับว่าฉันต้องการมีกษัตริย์แบบประเทศนั้น เช่น กรณี “ควีนเอลิซาเบธ ที่ 2” ทรงมีพระราชดำรัสพิเศษ ปลุกขวัญชาวอังกฤษ สู้โควิด-19 จึงย้อนไปสู่คำถามเดิมว่าแล้วชาติคือของใคร หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของใคร อยู่ที่รัฐ อยู่ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรืออยู่ที่คนแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม From Now On ได้สำรวจปัจจุบันของอดีตแกนนำนักเรียนที่อาจเข้าได้กับวลีที่ว่า “พี่เลิกสนใจการเมืองแล้ว” หรือ “ชีวิตดีๆ ที่ไม่สนใจการเมืองแล้ว” คิณทิ้งนับดาวไปไม่บอกกล่าวแต่ก็กลับมาสานสัมพันธืได้อย่างง่ายดายราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เช่นเดียวกับชีวิตของเขาที่ไม่ได้รู้สึกผิดหรือเรียนรู้อดีตเท่าไรนัก เขาก็แค่ทำให้คุณครูคนหนึ่งถูกไล่ออกและอาจย้ายโรงเรียนเพื่อหนีความรู้สึกผิด ชีวิตของคิณและนับดาวก็ดำเนินต่อไปอย่างดงาม ต่างคนต่างมีงานทำ มีชีวิตที่ดี มีเงินมาทำหนังสั้นงานศิลปะจรรโลงใจ

แต่สำหรับหนุ่มและพิม ทั้งคู่มีงานทำเช่นกันแต่พวกเขาก็ดูไม่ได้มีความสุขกับชีวิตขนาดนั้น หนุ่มยังต้องการความรักจากพิม เขาก็คือคนที่เข้าร่วมชุมนุมประท้วง แม้เขาจะไม่รู้ว่าการประท้วงจะทำให้ครูเชษจะต้องออกจากงาน ชีวิตหลังจากรัฐประหาร 2557 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าทุกตัวละคร แม้กระทั่งนับดาวที่ไม่ได้สนใจการเมือง ไม่ได้เข้าร่วมประท้วง มีส่วนทำให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม เขาก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปภายใต้โครงสร้างที่ ธงชัย วินิจจะกุล เรียกว่า สังคมอินทรียภาพแบบพุทธ (Buddhist Organic Society)

แต่สำหรับหนุ่มและพิม ทั้งคู่มีงานทำเช่นกันแต่พวกเขาก็ดูไม่ได้มีความสุขกับชีวิตขนาดนั้น หนุ่มยังต้องการความรักจากพิม เขาก็คือคนที่เข้าร่วมชุมนุมประท้วง แม้เขาจะไม่รู้ว่าการประท้วงจะทำให้ครูเชษจะต้องออกจากงาน ชีวิตหลังจากรัฐประหาร 2557 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าทุกตัวละคร แม้กระทั่งนับดาวที่ไม่ได้สนใจการเมือง ไม่ได้เข้าร่วมประท้วง มีส่วนทำให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม เขาก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปภายใต้โครงสร้างที่ ธงชัย วินิจจะกุล เรียกว่า สังคมอินทรียภาพแบบพุทธ (Buddhist Organic Society)

คิณกับนับดาวก็อาจไม่ได้ทุกร้อนอะไร หนุ่มก็ต้องเหนื่อยต่อไปในฐานะชนชั้นแรงงาน แต่พิมอาจเป็นคนที่ได้ใช้เวลาคิดถึงอดีตมากที่สุด แม้ว่าเธอจะบอกว่าวันๆ ทำงานก็เหนื่อยแล้ว กลับห้องก็นอน เธอทบทวนตัวเองผ่านความฝันและคติวิญญาณนิยม อย่างน้อยในฉากสุดท้ายเธอก็ไม่ได้เลือกจะนั่งทิวทัศน์มุมที่รถขับหน้าไป แต่เธอขอหนุ่มว่าจะนั่งหลังกระบะ ราวกับว่าเธอได้มองย้อนไปในอดีต พอๆกับผู้กำกับหนังที่ได้ทำหนังเพื่อรำลึกถึงการกระทำของตัวเอง

แต่คนอย่างครูเชษ คงไม่ต่างจากที่ เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ เสนอว่า อัตลักษณ์ของ “คนเสื้อแดง” มาพร้อมกับความเสี่ยงและการตีตราจากสังคม คนจำนวนมากกลัวว่าตนจะถูกรังควานกลั่นแกล้งหากยอมรับอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นแดง ทั้งนี้เพราะถูกป้ายสีคุณสมบัติบางประการ เช่น ต่อต้านเจ้า ต่อต้านรัฐบาลทหาร ครูเชษจึงเป็นคนที่ไม่มีใครอยากยุ่ง ไม่มีใครอยากจดจำ ไม่มีใครยังรัก แม้กระทั่งในวาระสุดท้าย งานศพของเขาก็มีเพียงพวงหรีดที่ไม่ระบุชื่อเพราะไม่มีใครอย่างเกี่ยวข้องด้วย มีเพียงพิมที่ยังจดจำเขาเพราะวิญญาณครูเชษมาหา และนั่นทำให้เธอได้ทบทวนตัวเอง แต่สำหรับคนอื่นๆ ก็ไม่มีใครอยากจะนึกถึง แม้แต่อยากจะลบลืมไปจากความทรงจำ

แต่คนอย่างครูเชษ คงไม่ต่างจากที่ เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ เสนอว่า อัตลักษณ์ของ “คนเสื้อแดง” มาพร้อมกับความเสี่ยงและการตีตราจากสังคม คนจำนวนมากกลัวว่าตนจะถูกรังควานกลั่นแกล้งหากยอมรับอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นแดง ทั้งนี้เพราะถูกป้ายสีคุณสมบัติบางประการ เช่น ต่อต้านเจ้า ต่อต้านรัฐบาลทหาร ครูเชษจึงเป็นคนที่ไม่มีใครอยากยุ่ง ไม่มีใครอยากจดจำ ไม่มีใครยังรัก แม้กระทั่งในวาระสุดท้าย งานศพของเขาก็มีเพียงพวงหรีดที่ไม่ระบุชื่อเพราะไม่มีใครอย่างเกี่ยวข้องด้วย มีเพียงพิมที่ยังจดจำเขาเพราะวิญญาณครูเชษมาหา และนั่นทำให้เธอได้ทบทวนตัวเอง แต่สำหรับคนอื่นๆ ก็ไม่มีใครอยากจะนึกถึง แม้แต่อยากจะลบลืมไปจากความทรงจำ

นอกจากพิมแล้วก็มีเพียงชาวบ้านที่อาจเป็นกลุ่มชนชั้นล่างที่มีอุดมการณ์เดียวกันกับครูเชษที่คอยดูแลจัดงานศพให้ นั่นเพราะหลังจากคำพูดของทักษิณในวาระครบรอบสองปีเหตุการณ์ราชประสงค์ในปี 2555 ที่บอกว่า “ถึงเวลาที่เขาต้องไปต่อแล้ว” ร่วมกับการกวาดล้างแกนนำเสื้อแดงระดับท้องถิ่นหลังรัฐประหาร 2557 เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ เสนอว่านี่ทำให้ขบวนการเสื้อแดงแตกกระจาย เสื้อแดงรู้สึกว่าถูกทิ้ง “ไม่มีใครผ่านเข้ามาช่วยจัดตั้งขบวนการ ไม่มีความช่วยเหลือใดไปถึงพวกเขา”

งานศพของครูเชษจึงไม่เหลือความทรงจำของเสื้อแดง ไม่เหลือเรื่องราวของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่มีใครจดจำถึงการยืดหยัดในอำนาจอธิปไตยของคนเสื้อแดงอีกต่อไป ทุกคนพยายามลบลืม แม้กระทั่งคนเสื้อแดงเองก็ตาม นักประชาธิปไตยจึงไปอยู่ที่รัชกาลที่ 9 หรือรัชกาลที่ 5 หรือคณะราษฎร ไปอยู่ที่ชนชั้นนำประชานิยมหรือกระฎุมพีนักวิชาการ แต่ประชาธิปไตยไม่เคยเป็นของชนชั้นล่าง เพราะสำหรับชนชั้นกลางแล้ว คนจนก็คือพวก “เห็นแก่เงินไม่กี่บาท”

From Now On (จากนี้เป็นต้นไป) จึงทำให้เราได้ขบคิดถึงปัจจุบันของพลังหนุ่มสาว (แม้การเคลื่อนไหวจะหายไปเพราะเชื้อไวรัส) เสื้อแดง และชนชั้นกลาง ที่เราต่างป็นผลผลิตของสังคมอินทรียภาพแบบพุทธ อดีตที่รัฐและหนุ่มสาวรวมถึงเสื้อแดงเองพยายามจะลบลืมและทำให้สูญหาย (ไม่ว่าจะลบเพราะอับอายในฐานะ “สลิ่ม” หรือลบเพราะเป็นตราบาปในฐานะ “เสื้อแดง”) และอนาคตที่มองไม่เห็นของรัฐไทย


อ้างอิง
Somkid Puttasri. 2020. เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ: เมื่อ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ไม่ได้ก่อให้เกิดผู้นำคนใหม่. The101.world
SAOWANEE T. ALEXANDER. 2020. อัตลักษณ์ในอีสานและการกลับมาของ “คนเสื้อแดง” ในการเลือกตั้งปี 2562 และอนาคตข้างหน้า. Kyotoreview.org
ธงชัย วินิจจะกูล: มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน. 2011. Prachatai.com
ธงชัย วินิจจะกูล. 2559. โฉมหน้าราชาชาตินิยม. ฟ้าเดียวกัน


ดูหนังได้ที่ vimeo

Paris, Texas เดียวดาย ในบทเพลง

นอกจากการกำกับที่ทำให้ Paris, Texas ออกมาเป็นที่ชื่นชอบของคนรักหนังหลายๆ คนทั่วโลกของ วิม เวนเดอร์ส, การแสดงและการปรากฏตัวอันน่าจดจำของ แฮร์รี่ ดีน สแตนตัน และ นาตาชา คินสกี้, การกำกับภาพที่ดูแห้งแล้งและแฝงสีสันของความเหงาของ ร็อบบี้ มึลเลอร์ แล้ว อีกองค์ประกอบหนึ่งโดดเด่นและขับอารมณ์ความเปล่าเปลี่ยวโดดเดี่ยวของหนังออกมาอย่างชัดเจน คือฝีไม้ลายมือการเล่นดนตรีของ Ry Cooder (ไร คูเดอร์) ผู้ทำดนตรีประกอบ หรือสกอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่หลายคนเมื่อได้ดูหนังจบ ต่างชื่นชอบและยกให้เป็นซาวด์แทร็คในดวงใจ รวมไปจนถึง Dave Grohl นักร้องนำของวง Foo Fighters ให้สัมภาษณ์ในหนังสือ Spin ว่านี่คือหนึ่งในอัลบั้มซาวด์แทร็คที่เขาชอบมากที่สุด

ในโลกแห่งดนตรีโดยทั่วไป ไร คูเดอร์อาจไม่ได้เป็นนักดนตรีที่มีคนรู้จักมากนัก แต่ในโลกแห่งมือกีต้าร์ เขาคือสุดยอดผู้เล่นแห่งในการใช้เทคนิคสไลด์กีต้าร์ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ นิตยสาร Rolling Stones ยกให้เขาเป็นอันดับ 8 จาก 100 มือกีต้าร์ที่ฝีมือดีที่สุดตลอดกาล เขาสนใจดนตรีแนวเพลงท้องถิ่นของคนอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นบลูส์, คันทรี่, กอสเปล, โฟล์ค, ร็อค หรือดนตรีท้องถิ่นจากประเทศต่างๆ และนำมาดัดแปลงให้เข้ากับสไตล์การเล่นแบบสไลด์กีต้าร์ของตัวเอง

ความเข้าใจและฝีไม้ลายมือที่เรียกได้ว่าเป็นอัจฉริยะในการเล่นดนตรีหลากหลายประเภท ทำให้เขาได้ร่วมงานนักดนตรีชั้นนำในการอัดเสียงเวอร์ชั่นสตูดิโออัลบั้มมากมาทั้ง Eric Clapton, Captain Beefheart, Van Morrison, Neil Young, The Rolling Stones ก่อนที่จะได้ออกอัลบั้มเดี่ยวของตัวเอง ควบคู่ไปกับการทำซาวด์แทร็คเพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งสกอร์ของเขาที่โด่งดังมากๆ อีกอันหนึ่งของเขาคือเรื่อง Crossroads (1986, Walter Hill) ที่ชาวมือกีต้าร์หลายๆคน มีหนังเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจ

ในการทำงานระหว่างไร คูเดอร์ กับวิม เวนเดอร์ส นั้น เขาให้สัมภาษณ์ว่า “วิมเป็นคนที่ปรับตัวได้ง่ายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมาก สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเราสองคนเข้ากันได้ ผมรู้สึกว่าเราตัดสินใจกับอะไรบางอย่างคล้ายๆกัน ทำให้ผมเชื่อในการตัดสินใจของเขา เราต้องอยู่ใกล้ๆกับคนที่เชื่อใจได้ ไม่งั้นเราจะทำอะไรไมได้เลย เราจะกลัว เราจะนอยด์ แล้วงานมันจะเกิดไม่ได้ ผมเชื่อมากๆว่า ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานจริงๆ” และนั่นคงทำให้เขาได้ร่วมงานกับเวนเดอร์สใน Buena Vista Social Club ในเวลาถัดมา

เทคนิคการสไลด์กีต้าร์ของ ไร คูเดอร์ ยังคงเป็นพระเอกในสกอร์ของหนังเรื่องนี้ แต่ไม่ใช่ในสไตล์เพลงบลูส์ที่เรารับรู้โดยทั่วไป ที่บรรจุอารมณ์ลงไปในบทเพลงอย่างเต็มเปี่ยม สกอร์ใน Paris, Texas นั้นมีความยืดยาด เนิบช้า และเสียงกีต้าร์ที่ดูเหมือนหมดแรง แสดงถึงอารมณ์ที่สั่นคลอนและเคว้งคว้างท่ามกลางความแห้งแล้งนั้นได้ดี เหมือนทำให้เราผู้ฟังรับรู้ถึงความร้อน หยดเหงื่อ เห็นภาพของทะเลทรายแม้ไม่ต้องดูหนัง

อย่างที่เวนเดอร์สได้ให้สัมภาษณ์ถึงช่วงที่ทำสกอร์กันว่า “เมื่อเรากำลังจะอัดเพลงไรจะยืนถือกีต้าร์จ้องหน้าจอที่ฉายหนังอยู่ และเล่นไปพร้อมกับมัน ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังถ่ายภาพนั้นใหม่ และกีต้าร์ก็เปรียบเสมือนกล้องของเขา” เริ่มต้นเพลงแรกในอัลบั้มอย่างเพลง ‘Paris, Texas’ ที่เหมือนเป็นเพลงธีมของหนังที่ทำให้เราเห็นภาพจำในตอนที่แทรวิสเข้ามาในเฟรมหนังครั้งแรก ท่ามกลางทะเลทรายอันแห้งแล้ง และเขาต้องเดินไปอย่างไม่มีจุดหมาย ไม่มีซึ่งจิตวิญญาณของการมีชีวิต และเหมือนคนที่สูญสิ้นทุกอย่างไปหมด

อีกหนึ่งเพลงที่เป็นตัวชูโรงของอัลบั้ม และเป็นอีกหนึ่งโมเมนท์ที่ทุกคนล้วนจดจำได้ในหนังเรื่องนี้ คือฉากที่แทรวิสได้ดูวิดีโอจากม้วนฟิล์ม super 8 เก่า ภาพในอดีตของเขาที่ได้อยู่ร่วมกับเจน ฮันเตอร์ในตอนที่ยังเป็นเด็กเล็ก และครอบครัวของวอลท์ ภาพที่ปกคลุมไปด้วยรอยยิ้มและอดีตอันแสนหวานเหล่านั้น เคล้าคลอไปกับเพลง ‘Canción mixteca’ ที่ร้องโดยตัว แฮร์รี่ ดีน สแตนตัน เองด้วยภาษาเม็กซิกัน ซึ่งต้นฉบับของเพลงนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1912 โดย José López Alavez ศิลปินชาววาฮากา (Oaxaca) ซึ่งในตอนแรกมีเพียงแค่ภาคดนตรีเท่านั้น ภายหลังในปี 1915 จึงมีเวอร์ชั่นที่มาพร้อมเนื้อร้องอีกที

ตัวเพลงอธิบายถึงความรู้สึกโหยหาบ้านที่ได้จากมาเป็นเวลานาน เพลงนี้มีหลากหลายเวอร์ชั่นมาก เพราะนี่คือหนึ่งในบทเพลงอมตะที่อยู่คู่กับชาววาฮากา และชาวเม็กซิโกมานับร้อยปี ซึ่งเวอร์ชั่นของไร คูเดอร์นั้นก็ได้ใช้เทคนิคการสไลด์กีต้าร์ที่เป็นเอกลักษณ์ ผสมผสานไปกับแนวเพลงแบบบลูส์ แต่ฟังดูอบอุ่น และหอมหวาน สิ่งที่น่าตกใจคือเราไม่ได้คาดคิดว่า แฮร์รี่ ดีน สแตนตัน จะมีเสียงร้องที่แข็งแรงและวางนำเสียงหนักเบาได้เข้ากับเพลงอย่างน่าทึ่งขนาดนี้ กลายเป็นเพลงที่มีพลังในแง่บวกมากที่สุดในอัลบั้ม โดยลำพังเพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงที่ยอดเยี่ยมอยู่ในตัวอยู่แล้ว พอประกอบกับภาพในซีนนั้นทำให้เพลงยิ่งเป็นที่น่าจดจำขึ้นไปอีก ภายหลังสแตนตันมีอัลบั้มเดี่ยวเป็นของตัวเองในชื่ออัลบั้ม Partly Fiction อัลบั้มเพลงแนวโฟล์คซึ่งเป็นซาวด์แทร็คประกอบภาพยนตร์สารคดีในชื่อเรื่องเดียวกันเมื่อปี 2012 ในอัลบั้มนั้นมีเพลง Canción mixteca ที่ทำขึ้นมาใหม่ด้วย

อีกหนึ่งเพลงที่เป็นอีกหนึ่งเพลงเด็ดของซาวด์แทร็คอัลบั้มนี้คือ ‘I Knew These People’ ซึ่งมีความยาวทั้งหมด 8.43 นาที เพลงนี้คือการยกโมโนล็อคทั้งซีนที่แทรวิสเล่าเรื่องอดีตระหว่างเขากับเจน ขึ้นต้นด้วยประโยคที่เป็นชื่อเพลงนั้น เล่าไปอย่างเอื่อยๆ แต่ค่อยๆ ขับเน้นอารมณ์มาเรื่อย จากความสัมพันธ์ตั้งแต่เริ่มคบจนจบลงอย่างโศกเศร้า เพื่อให้เธอรู้ตัวว่าฝั่งตรงข้ามที่กำลังพูดอยู่คือเขาเอง ในเพลงนั้นมีการตัดบางประโยคที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง ในช่วงต้นนั้นจะมีแค่เสียงพูดของแทรวิสเพียงอย่างเดียว เวลาที่เราได้กลับมาฟังหลังจากดูหนังอีกรอบ จะทำให้เราอยู่ไปกับตัวเพลง และนึกถึงซีนนั้นในหนังมากขึ้น ก่อนที่เพลงของ ไร คูเดอร์ จะค่อยๆ บรรเลงขึ้นช่วงประมาณนาทีที่ 6 ตัวเพลงจะเหมือนเป็นการดัดแปลงตัวเพลง Canción mixteca และเพิ่มเสียงของเปียโนเข้ามาประกอบ ทำให้มีความนุ่มนวลขึ้น การกลับมาของทำนองเพลงนี้ทำให้เรานึกถึงฉากที่กลับไปดูฟุตเตจ super 8 ตอนนั้นอีกครั้ง และทำให้ซีนนั้นเป็นซีนที่มีพลัง และเป็นที่พูดถึงเมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้

เพลงสุดท้ายในอัลบั้มถือเป็นเพลงที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเพลงที่ทำให้สกอร์อื่นๆ ของหนังเรื่องนี้ขึ้นมา อย่าง ‘Dark Was the Night (Cold Was the Ground)’ ที่เป็นการคัฟเวอร์เพลงบลูส์ชั้นครูของ Blind Willie Nelson ศิลปินเพลงบลูส์-กอสเปลระดับตำนานของอเมริกา ซึ่งคูเดอร์ให้คำนิยามกับเพลงนี้ว่า “เป็นเพลงที่อัดแน่นไปด้วยอารมณ์ และดีเยี่ยมที่สุดในบรรดาเพลงอเมริกันทั้งหมดที่เกิดขึ้นมา” ในเวอร์ชั่นของคูเดอร์นั้น เขาได้ตัดเสียงคร่ำครวญลง ทำให้เพลงช้าลง และอารมณ์ที่เปล่าเปลี่ยว มากกว่าจะเป็นอารมณ์ความเศร้าแบบรวดร้าวเหมือนในต้นฉบับ พอฟังแล้วจะนึกถึงเพลง Paris, Texas ที่มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มจะมีทำนองที่ยึดโยงมาจากเพลงนี้นั่นเอง

เพลงอื่นๆ ในอัลบั้มที่น่าสนใจอย่าง ‘She’s Leaving the Bank’ ที่มีความยาว 6.02 นาที ในช่วงแรกของเพลงยังมีความคล้ายกับเพลงอื่นๆ บ้าง แต่พอเพลงเริ่มเข้าช่วงกลางๆ กลับเปลี่ยนทำนองให้เร็วขึ้น ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการผจญภัย เป็นเพลงที่ฟังได้เพลินๆ ได้อารมณ์การท่องเที่ยว เป็นเพลงที่มีจังหวะปานกลาง แต่นั่นก็ถือว่าเร็วที่สุดในอัลบั้มแล้ว ยิ่งถ้าได้เห็นภาพในหนัง ฉากที่แทรวิส และฮันเตอร์กำลังขับรถตาม ยิ่งรู้สึกลุ้นและตื่นเต้น เอาใจช่วยให้สองพ่อลูกได้เจอเจนอย่างที่พวกเขาต้องการเสียที หรือ ‘No Safety Zone’ ซึ่งปรากฏอยู่ในอีกหนึ่งซีนที่แทรวิสได้เจอกับชายที่ยืนตะโกนอย่างเสียสติและหมดหวังอยู่ที่บนสะพาน เป็นแทร็คที่ให้ความรู้สึกถึงความเศร้าแต่เจือไปด้วยอารมณ์ที่อบอุ่นอยู่กลายๆ ไร คูเดอร์ ได้ลดการใช้การสไลด์กีต้าร์ลง และเปลี่ยนวิธีการเล่นกีต้าร์ไปเป็นโน้ตแบบปกติมากขึ้น

สกอร์หนังเรื่องนี้กลายเป็นอีกผลงานชิ้นเอกของคูเดอร์ที่ทำให้ทั่วโลกได้รู้จักในตัวเขา จนทำให้ได้เข้าชิงในรางวัล BAFTA Awards สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 1985 ถึงในปัจจุบันความยอดเยี่ยมของ Paris, Texas อาจถูกกลบจากหนังคลื่นลูกใหม่ที่ซัดสาดเข้ามาบ้าง แต่หนังที่คลาสสิคที่ยังคงค้างอยู่ในกาลเวลา ก็มักจะถูกขุดพบเจอขึ้นมาได้เสมอ สกอร์ของคูเดอร์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากต้องการนึกถึงซาวด์แทร็คที่มีความโดดเด่นในอารมณ์ความเหงา และให้บรรยากาศที่เห็นภาพความแห้งแล้ง อัลบั้มนี้อาจถูก และเป็นสกอร์ที่สามารถฟังได้เดี่ยวๆ โดยไม่ต้องพึ่งภาพในหนังมาประกอบได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะได้อรรถรสไปอีกแบบหนึ่ง

โลกจะเปลี่ยนโฉมไหม เมื่อโรงหนังใกล้ถึงจุดวิกฤต !

วิกฤตโควิด 19 ได้สร้างผลกระทบไปทั่วทุกภาคของอุตสาหกรรมหนัง ในแง่การผลิต ทุกบริษัทต้องหยุดการถ่ายทำไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนไหน และในส่วนของการจัดจำหน่ายก็ต้องหยุดพักอย่างไม่มีกำหนด เพราะช่องทางหลักอย่างโรงหนังต้องหยุดกิจการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างภาคส่วนต่างๆ ของอุตสาหกรรมแล้ว ดูเหมือนว่า โรงหนังจะมีชะตากรรมน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะในขณะที่ภาคโปรดักชั่นพร้อมจะกลับมาลงมือผลิตงานทันทีที่วิกฤตคลี่คลาย และภาคจัดจำหน่ายก็อาจยังพอมีช่องทางอื่นทดแทน (เช่น ช่องทางออนไลน์ หรือ โทรทัศน์) แต่โรงหนังไม่มีทางเลือกอื่นเลย นอกจากนับวันรอให้วิกฤตหมดไป แล้วคาดหวังว่าผู้ชมจะกลับมาดูหนังเหมือนเดิม

แม้ EDO สำนักวิจัยในอเมริกา จะเผยผลการสำรวจที่สร้างความหวังให้แก่ผู้ประกอบการโรงหนังได้บ้างว่า 70% ของกลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มจะกลับมาดูหนังที่โรงหลังผ่านวิกฤต แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 25% เท่านั้นที่ยืนยันว่าจะกลับมาทันทีที่โรงเปิด ขณะที่กลุ่มตัวอย่างอีก 45 % ระบุว่า ขอรอให้วิกฤตสงบจริงๆ อย่างน้อย 2-3 อาทิตย์ และอีก 11% ขอรอให้วิกฤตจบลง 2-3 เดือนก่อน

หากยึดตามผลโพลนี้ แปลว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายโรงหนังก็จะยังไม่กลับมาคึกคักเต็มที่จนกว่าคนจะมีความมั่นใจจริงๆ ซึ่งวันที่ EDO ทำโพลดังกล่าวคือเดือนมีนาคม แต่คำถามสำคัญคือ ถ้าวิกฤตลากยาวไปเรื่อยๆ ความรู้สึกของผู้คนจะเป็นอย่างไร หากความวิตกกังวลฝังลึกลงไปในจิตใจมากๆ บางทีความต้องการกลับมาดูหนังในโรงอาจต้องลากยาวไปอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วโรงหนังจะเอาตัวรอดอย่างไร?

คำตอบที่ปรากฏตอนนี้อาจดูน่าหดหูสักหน่อย เพราะบทความใน Variety (9 เมษายน) ที่อ้างการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญในวอลล์สตรีทระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่โรงหนังเครือใหญ่อันดับ 1 ของอเมริกาอย่าง AMC จะเข้าสู่ภาวะล้มละลายในเวลาไม่ช้า ! สาเหตุสำคัญมาจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่สูงถึง 155 ล้านเหรียญ แต่ตอนนี้ AMC มีเงินสดอยู่ในมือเพียงแค่ 265 ล้านเหรียญ และมีเครดิตให้ใช้ได้อีก 335 ล้านเหรียญเท่านั้น

แล้วถ้ายักษ์ใหญ่อย่าง AMC ต้องประสบภาวะวิกฤตเช่นนี้ โรงเครืออื่น รวมถึงโรงขนาดเล็กในอเมริกาจะมีสภาพอย่างไร


หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของธุรกิจโรงหนังที่อาจสร้างความสั่นสะเทือนรุนแรงต่ออุตสาหกรรมในภาพรวม ซึ่งในฐานะของผู้ที่อยู่ในธุรกิจหนังและติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมหลังภาวะโควิดมาสักระยะหนึ่ง ผมขอเสนอบทวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ดังต่อไปนี้

1. การเข้ามาซื้อกิจการของสตูดิโอใหญ่ :

ข้อสันนิษฐานนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยหากยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ เพราะตามกฎหมายของอเมริกาที่เรียกว่า กฎหมายต่อต้านการผูกขาด (Anti Trust Law) เจ้าของกิจการขนาดใหญ่ไม่สามารถผูกขาดธุรกิจครบวงจรได้ หมายความว่า สตูดิโอใหญ่อย่างดิสนีย์, ยูไอพี, ฟ็อกซ์ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจทั้งผลิต จัดจำหน่ายและจัดฉายหนังได้ (ซึ่งกรณีดังกล่าวเคยเป็นคดีความมาแล้วในปี 1947 ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ฟ้องร้องบริษัทพาราเมาท์พิกเจอร์ส และสตูดิโออื่นๆ อีก 7 บริษัทข้อหาผูกขาดธุรกิจ และศาลสูงก็ตัดสินให้เหล่าสตูดิโอแพ้ไป)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นิตยสาร The Atlantic ลงบทความ “Trump’s Justice Department Wants to Change the Movie Industry” ระบุว่า กระทรวงยุติธรรมมีแผนจะแก้ไขกฎหมายนี้เนื่องจากเห็นว่าล้าสมัยไม่ทันกับธุรกิจหนังในยุคสตรีมมิ่ง แม้จนถึงตอนนี้แนวคิดดังกล่าวยังไม่ได้ถูกสานต่อจริงจัง และถึงจะถูกผลักดันต่อก็ต้องก่อให้เกิดข้อถกเถียงไม่รู้จบ แต่กับสถานการณ์ที่รัฐบาลไม่สามารถปล่อยให้ธุรกิจขนาดใหญ่ล่มสลายไปได้ (เพราะจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างรุนแรง ทั้งปัญหาการว่างงานและดุลยภาพทางเศรษฐกิจ) บางทีการเปิดประตูให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาดำเนินธุรกิจแทนผู้ประกอบการรายเก่าอาจเป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะทำให้สภาพเศรษกิจที่เป็นอยู่ไม่เสียหายไปมากกว่านี้

ส่วนฝ่ายสตูดิโอ แน่นอนว่าการได้ครอบครองโรงหนัง ซึ่งเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญ จะทำให้พวกเขาได้เปรียบอย่างประเมินค่าไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น และการปิดช่องทางไม่ให้ยักษ์ใหญ่ฝ่ายสตรีมมิ่งได้เฉิดฉายนอกพื้นที่ที่ตนเองถนัด จึงมีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่เหล่าสตูดิโออาจใช้อิทธิพลของตัวเองล็อบบี้ให้ฝ่ายการเมืองเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่อต้านการผูกขาด เหมือนอย่างที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการล็อบบี้ให้ภาครัฐออกกฎหมายต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์


2. การเข้ามาสานต่อกิจการของค่ายสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ :

แน่นอนว่า ถ้าให้ Netflix เจ้าเดียวลุกขึ้นมาซื้อกิจการโรงหนังคงเป็นเรื่องยาก เพราะทุกวันนี้ Netflix เองก็แบกหนี้บานเบอะอยู่แล้ว ความเป็นไปได้อย่างมากคือ การจับมือกับกลุ่มทุนใหญ่ไม่ว่าจะในและนอกประเทศ หรือแม้แต่การจับมือกับคู่แข่งด้านสตรีมมิ่งเช่นกัน อย่าง Amazon, Hulu เพื่อขยายช่องทางใหม่ในการจัดจำหน่าย

ถามว่าช่องทางโรงหนังจะมีประโยชน์อย่างไรกับกลุ่มสตรีมมิ่ง คำตอบก็คือ ในช่วงเวลาที่ต้นทุนการผลิตหนังหรือซีรีส์ ของค่ายสตรีมิ่งต่างๆ มีแนวโน้มสูงขึ้น (Irishman คือตัวอย่างที่ดี กับต้นทุน 140 ล้านเหรียญ) และรายได้จากค่าสมาชิกเริ่มติดเพดานจากการที่ไม่สามารถขยายฐานลูกค้าเข้าไปสู่ประเทศที่มีประชากรจำนวนมหาศาลอย่างจีนและอินเดียได้ โรงหนังก็น่าจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงเพิ่มผลกำไรได้ไม่น้อย ถ้าหนังที่มีศักยภาพทางธุรกิจ เช่น Extraction ที่คริส เฮมส์เวิร์ธ แสดง หรือแม้แต่ The Irishman ได้มีโอกาสฉายโรงในวงกว้าง โอกาสที่จะทำรายได้อย่างน่าประทับใจในบ็อกซ์ออฟฟิศอเมริกาก็น่าจะมีสูง

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่บริษัทสตรีมมิ่งเหล่านี้อาจมองเห็นช่องทางออกดังกล่าว หรืออาจเริ่มคิดว่า น่าจะอาศัยช่วงเวลานี้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และถ้าค่ายยักษ์สตรีมมิ่งลงมาเล่นธุรกิจโรงหนังจริงๆ เราก็อาจได้เห็นโมเดลการจัดจำหน่ายใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น การฉายหนังใหม่พร้อมกันสองช่องทาง (ทั้งโรงและออนไลน์) หรือการได้เห็นซีรีส์ที่เหมาะแก่การจัดฉายในโรงมากขึ้น


แต่ไม่ว่าผู้เล่นรายใดจะเข้ามาสานต่อธุรกิจโรงหนังที่กำลังจะพัง อุตสาหกรรมหนังโดยรวมคงไม่ได้ประโยชน์อะไรในระยะยาว ในกรณีของกลุ่มสตูดิโอนั้น การเข้ามาของพวกเขา จะก่อให้เกิดการผูกขาดที่จะปิดกั้นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการโรงหนังอิสระ และความหลากหลายของหนังจากผู้สร้างนอกกลุ่มสตูดิโอ
ส่วนการเข้ามาของกลุ่มสตรีมมิ่ง แม้ว่าจะสร้างความหวือหวาในรูปแบบวิธีการจำหน่าย แต่ก็น่าจะทำให้รูปแบบการฉายที่เราคุ้นเคยต้องเปลี่ยนไป และต่อไปช่องทางการจัดจำหน่ายหนังอาจเหลือแค่สองคือโรงและสตรีมมิ่งเท่านั้น นอกนั้นตายหมด

เราในฐานะผู้บริโภคได้แต่หวังว่า โมเดลธุรกิจทั้งสองแบบจะไม่เกิดขึ้น และหวังว่าวิกฤตจะคลี่คลายไปโดยเร็ว เพื่อที่โรงหนังที่มีอิสระในตัวเองจะกลับมาทำหน้าที่เดิมอีกครั้ง


เว็บไซต์อ้างอิง

1. AMC Theatres Bankruptcy Likely, Analysts Say

2. Moviegoers Highly Likely To Return To Theaters Upon Reopening, But More Than Half Will Wait A Bit, Study Suggests

3. Trump’s Justice Department Wants to Change the Movie Industry

จาก ‘จิโร่’ ถึง ‘เจ๊ไฝ’ …ทำสารคดียังไงให้ท้องร้อง?

เชื่อว่าทุกคนที่ได้ดู Jiro Dreams of Sushi, ซีรีส์ Chef’s Table และซีรีส์ Street Food คงเกิดแรงบันดาลใจที่จะออกไปหาอะไรกินไม่ต่างกัน ซึ่งสารคดีทั้งสามเรื่องนี้มีผู้กุมบังเหียนคือ ‘เดวิด เกลบ์’

เกลบ์กำกับ Jiro Dreams of Sushi สารคดีปี 2011 ที่ทำเงินในอเมริกาไปถึง 2.5 ล้านเหรียญฯ และนั่นคือจุดเริ่มต้นให้เขาจริงจังกับการทำสารคดีที่ปฏิบัติต่อคนคุมอาหารอย่างเลือดเย็น โดยเขาควบคุมการผลิตทั้ง Chef’s Table และ Street Food สร้างแนวทางการทำงานให้แต่ละกองที่แยกย้ายกันไปดูแลซับเจ็คต์ของตัวเองได้เดินตาม เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกัน

สารคดีอาหารทั้งสามชุดต่างจับจ้องไปที่การทำงานของเชฟจากทุกมุมโลกให้เห็นความวิริยะอุตสาหะในการสร้างนวัตกรรมการทำอาหารด้วยแนวทางของตัวเอง ไม่หยุดพัฒนาความสามารถจนประสบความสำเร็จ ด้วยการนำเสนอภาพอาหารและวิธีการปรุงสุดแสนมหัศจรรย์

เกลบ์ ค้นพบแนวทางของตัวเองตั้งแต่ยังเรียนหนังอยู่ที่ University of Southern California ตอนนั้นเขาคลั่งสารคดี Planet Earth ของ BBC มันเป็นสารคดีสัตว์โลกที่ทีมผลิตบ้าพลังจนเต็มไปด้วยฟุตเตจมหัศจรรย์ กับสารคดีของ เออรอล มอร์ริส “สารคดีทั้งสองชุดนี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือการใช้เทคนิคทางภาพยนตร์ทุกแขนงมาโอบอุ้มเอาไว้ และผมว่ามันน่าจะนำมาใช้กับการเล่าเรื่องอาหารได้”

ไอเดียแรกของเกลบ์คือการทำสารคดีซูชิ โดยเล่าเรื่องผ่านเชฟซูชิหลายคน (ชื่อเดิมของโปรเจกต์คือ Planet Sushi ออกตัวไปแรงๆ เลยว่าต่อยอดมาจากอะไร) แต่พอไปเจอเชฟระดับอาจารย์อย่าง จิโร่ โอโนะ เขาก็เปลี่ยนไปเน้นที่จิโร่เต็มๆ “ผมไม่ได้แค่ค้นพบว่าซูชิที่ดีนั้นเป็นยังไง หรือร้านซูชิของจิโร่นั้นดีกว่าร้านที่ผมเคยไปกินมามากแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญคือคาแร็กเตอร์ของจิโร่นั้นน่าสนใจมาก ผมหลงรักเรื่องราวของเขาผ่านมุมมองจากลูกชายที่อายุ 50 ปีแล้วแต่ยังทำงานให้พ่อ ความคิดผมตอนนั้นคือ ‘นี่แหละเรื่องของชายที่อยู่ในร่มเงาพ่อ ผู้ซึ่งยังแสวงหาความสมบูรณ์แบบไม่รู้จบ’ มันน่าจะเป็นหนังที่ดีเรื่องหนึ่งได้ไม่ยาก”

หลังความสำเร็จของ Jiro Dreams of Sushi เกลบ์แวะไปกำกับหนังสยอง The Lazarus Effect (2012) ซึ่งโดนด่ายับเยิน (เกลบ์บอกไม่เป็นไรเพราะหนังเรื่องแรกผมทำคะแนนใน Rotten Tomatoes ตั้ง 99%) นั่นยิ่งทำให้เขาชัดเจนว่าควรทำอะไร ไอเดียเดิมจากหนังเรื่องแรกต่อขยายมาสู่ซีรีส์ Chef’s Table ซึ่งตามติดเชฟชื่อดังจากทั่วโลกจนนับถึงตอนนี้ก็ 6 ซีซันเข้าไปแล้ว และเก็บเกี่ยวข้อมูลจนได้ Street Food มาอีกชุดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการได้ไปเห็นวัฒนธรรมสตรีทฟู้ดในเอเชีย และจากข้อมูลสถติของเน็ตฟลิกซ์ก็พบว่า คนดู Chef’s Table ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย

เคล็ดลับการปรุงสารคดีให้น่ากินของเกลบ์คือการทำการบ้านกับ Planet Earth ให้มาก ประกอบกับการไล่ดูโฆษณาอาหารทั้งหลายในทีวี เกิดเป็นรูปแบบการทำงานคือเมื่อทีมงานทำการบ้านด้านข้อมูลจนได้คำตอบแล้วว่าซับเจ็คต์จะเป็นเชฟคนไหน พวกเขาจะบุกเข้าไปในครัวแล้วสังเกตการทำอาหาร จนจับทางได้ว่าจังหวะของเชฟแต่ละคนนั้นเป็นอย่างไร (เกลบ์บอกว่ามันไม่ต่างกับการเฝ้าดูพฤติกรรมของสัตว์ป่าจนรู้จังหวะของพวกมัน) และการถ่ายทำก็มาถึง

“เมื่อเราสังเกตการณ์จนรู้จังหวะของเชฟปรุโปร่งแล้ว เราก็จะรู้ว่าเซฟโซนในครัวของเราอยู่ตรงไหน” ในการถ่ายทำแต่ละครั้งจะมีทีมงานคือ ผู้กำกับ, โปรดิวเซอร์, ตากล้อง, คนบันทึกเสียง, ผู้ช่วยกล้อง 1, ผู้ช่วยกล้อง 2, กริป และช่างไฟ บางกองก็อาจจะมีล่ามด้วย “ครัวบางที่ก็ใหญ่พอที่เราจะเข้าไปกันได้หมด แต่บางที่ก็เล็กมาก โฟกัสพูลเลอร์ (คนจับโฟกัสภาพ) ต้องไปอยู่ข้างนอก อุปกรณ์ทุกอย่างต้องไร้สายหมด หาที่ซ่อนกล้องให้แนบเนียน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในครัวเมื่อทุกอย่างดำเนินไปแล้วจะเร่งรีบมาก”

จะเห็นว่าเกลบ์กล่าวถึงโฟกัสพูลเลอร์ก่อนเพราะเขาบอกว่าสำหรับกองถ่ายของเขานั้น ฮีโร่ตัวจริงก็คือทีมผู้ช่วยกล้องนั่นเอง เพราะเกลบ์กำหนดเลยว่าการถ่ายอาหารและการทำอาหารนั้นจะใช้เลนส์ระยะเดียว (Prime Lenses) เท่านั้น นั่นหมายความว่าโฟกัสพูลเลอร์จะต้องปรับโฟกัสได้แม่นยำ ขณะที่ผู้ช่วยกล้อง 2 ก็จะต้องเปลี่ยนเลนส์อย่างว่องไวด้วย “จริงอยู่ที่เลนส์ระยะเดียวมันไม่เอื้อต่อการถ่ายสารคดีหรอกเพราะมันปรับระยะไม่ได้ในทันที แต่สิ่งที่เราต้องการจากมันก็คือความงดงาม ภาพรวมที่ดูไฮเอนด์มากพอสำหรับความเป็นหนังราคาแพงเรื่องนึง”

อย่างไรก็ดี ความหรูหราของงานสร้างนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบที่โอบอุ้มหัวใจของสารคดีที่เขาทำ นั่นคือ ‘ความเป็นมนุษย์’ ซึ่งสำหรับเกลบ์แล้ว นี่ต่างหากที่เป็นหน้าที่หลักของคนทำสารคดีอย่างเขา “ทุกองค์ประกอบที่อยู่ในสารคดีทุกชิ้นของผม มันเกิดขึ้นจากความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างกันของเชฟแต่ละคน นี่คือสิ่งที่ผมซีเรียสมาก” แต่ความต่างของมนุษย์นั้นมาพร้อมกับวัฒนธรรมอาหารและสังคมอันหลากหลายด้วย นั่นคือเหตุผลที่ทำให้สารคดีอาหารของเกลบ์สามารถอยู่ในแพลตฟอร์มสากลและสื่อสารกับคนทั่วโลกได้อย่างไม่ขัดเขิน


ดู Jiro Dreams of Sushi, Chef’s Table และ Street Food ได้ทาง Netflix

ถึงจะหย่ากันมาแล้ว 20 ปี แต่บรูซกับเดมี่ก็กลับมากักตัวหนีไวรัส…ด้วยกัน

ย้อนแย้งยิ่งกว่าเพลงเก็ตสึโนว่าก็เห็นจะได้แก่อดีตสามีภรรยาซูเปอร์สตาร์คู่นี้เนี่ยแหละ!

บรูซ วิลลิส กับ เดมี่ มัวร์ เคยแต่งงานใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน 13 ปี ก่อนจะหย่าร้างแล้วแยกย้ายกันไปมีคู่รักใหม่ แต่ใบหย่าก็ไม่เคยทำลายมิตรภาพระหว่างทั้งสอง และในช่วงแห่งการกักตัวนี้ พวกเขาก็เห็นพ้องกันว่าไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการมากักตัวอย่างพร้อมหน้าในฐานะครอบครัวอีกแล้ว

บรูซ วัย 65 กับ เดมี่ วัย 57 หวนมาใช้เวลาร่วมกับลูกสาวทั้งสาม (รูเมอร์ วัย 31, สเกาต์ วัย 28, ทัลลูลาห์ วัย 23) และแฟนหนุ่มของลูกสาวสองคนมาเกือบหนึ่งเดือนเต็มแล้ว โดยทัลลูลาห์โพสต์รูปพ่อแม่กับลูกๆ ในชุดนอนลายทางสีเขียวลงอินสตาแกรมด้วยความภาคภูมิใจ

View this post on Instagram

chaotic neutral

A post shared by tallulah (@buuski) on

และที่แจ๋วกว่านั้นก็คือ แม้ เอมม่า เฮมิง วิลลิส ภรรยาคนปัจจุบันของบรูซ กับลูกสาวทั้งสองของทั้งคู่ (มาเบลกับเอฟเวอลิน วัย 8 และ 5 ขวบ) จะไม่ได้มาร่วมกิจกรรมการกักตัวแสนประหลาดด้วย แต่เอมม่าก็โผล่มาในคอมเมนต์ใต้รูปของทัลลูลาห์ด้วยข้อความว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่ใส่สีนี้แล้วจะดูดีเหมือนพวกเธอนะ เจ๋งมากเพื่อน” และ “นี่เป็นการรวมตัวของครอบครัวที่งดงามที่สุด คิดถึงพวกเธอทุกคนจ้า”

การเลิกราเป็นเรื่องน่าขมขื่นสำหรับคนมากมาย และแน่นอนว่าสำหรับชาวฮอลลีวูดหลายคู่ แต่แน่ชัดว่าบรูซกับเดมี่เป็นข้อยกเว้น เดมี่เคยเล่าไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำของเธอว่า “อาจฟังดูตลกนะ แต่ฉันภูมิใจในการหย่าของเรามาก ฉันคิดว่าตอนแรกๆ บรูซกลัวว่าฉันจะทำให้ชีวิตเรายากขึ้น กลัวว่าฉันจะระเบิดความโกรธ, จะระบายความทุกข์จากชีวิตคู่ของเรา หรือใช้การหย่าเป็นอาวุธที่ทำให้เขาสูญเสียโอกาสในการได้มาเจอลูกๆ อีก แต่กลายเป็นว่าทั้งฉันและเขาไม่เคยทำอะไรแบบนั้นเลย”

“แน่ล่ะ ในตอนแรกมันไม่ง่ายหรอก แต่เราก็สามารถเคลื่อนย้ายหัวใจแห่งความสัมพันธ์ของเรา หัวใจแห่งการสร้างครอบครัวของเรา ไปสู่สิ่งใหม่ที่ทำให้เรายังสามารถมอบความรักและสร้างบรรยากาศแห่งการเกื้อกูลให้แก่ลูกๆ ของเราต่อไปได้ เรากลับรู้สึกผูกพันและเข้าใจกันมากยิ่งกว่าตอนยังอยู่ด้วยกันเสียอีก”

View this post on Instagram

Family bonding 💚

A post shared by Demi Moore (@demimoore) on

เหตุเกิดจากความเหงา เมื่อ “เขียว” กลายเป็นสีของ “หนังคนเหงา”

ในตอนจบของ Paris, Texas หนังเหงาสวยสดงดงามของ วิม เวนเดอร์ส เราเห็น “เทรวิส” พระเอกขี้เหงายืนอยู่เดียวดายในที่จอดรถว่างเปล่าซึ่งอาบไปด้วยแสงสีเขียวจัด ตาของเขาจ้องมองขึ้นไปยังหน้าต่างห้องพักที่เปิดไฟสว่าง บนนั้นมีเมียกับลูกและความรักความอบอุ่น – สิ่งที่คนอย่างเขาได้แค่ปลีกตัวยืนมองอยู่ห่างๆ เพราะรู้ตัวดีว่าไม่มีวันครอบครองมันได้

แสงสีเขียวจากไฟนีออน เป็นสัญลักษณ์และภาพจำของ “คนเหงาในเมืองใหญ่” ได้อย่างไร และถูกใช้แบบไหนบ้างในหนัง …Film Club ชวนไปสำรวจบางตัวอย่างกัน

ภาพ Nighthawks (1942) ของ เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ เป็นที่พูดกันว่า เป็นภาพแรกๆ ที่นำแสงสีเขียวมาใช้ถ่ายทอดความรู้สึกแปลกแยกของคนเมือง (urban alienation) ได้อย่างเด่นชัด แสงเขียวที่ว่านี้มาจากไฟนีออนอันมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาสู่ความเจริญแบบอุตสาหกรรมในเมืองใหญ่ ในภาพนี้เราเห็นคนสี่คนที่เหมือนอยู่ใกล้ๆ กัน แต่ทุกคนกลับมีท่าทีล่องลอยห่างเหินและไม่มีใครมีปฏิสัมพันธ์กันเลย

นอกจากเป็นจิตรกรดัง ฮอปเปอร์ยังเป็นคอหนังตัวยงด้วย เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเวลาไม่ได้วาดรูป เขาจะไปดูหนังอย่างน้อยสัปดาห์ละเรื่อง งานภาพของเขาได้รับอิทธิพลในการใช้คอนทราสต์แสงเงาชัดๆ มาจากหนังฟิล์มนัวร์ และในทางกลับกัน ภาพที่เขาวาดก็ทรงอิทธิพลต่อคนทำหนังมากมาย แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็คือ วิม เวนเดอร์ส

ด้วยอิทธิพลของฮ็อปเปอร์ สีเขียวกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความแปลกแยกของคนเมืองในหนังหลายเรื่อง เช่น Taxi Driver (1976, มาร์ติน สกอร์เซซี) เมื่อ เทรวิส บิกเคิล คนขับแท็กซี่ผู้เปล่าเปลี่ยวขับรถคู่ใจออกท่องนิวยอร์กยามค่ำคืน เคลื่อนผ่านไฟที่แม้เจิดจ้าทั่วเมืองแต่กลับเต็มไปด้วยความรู้สึกไร้ชีวิตชีวาและว้าเหว่ เน้นภาวะของตัวละครที่ “อยู่ลำพังท่ามกลางผู้คน” ได้เป็นอย่างดี

อารมณ์เหงาๆ นัวร์ๆ แบบเขียวๆ พบได้เช่นกันใน Blade Runner (1982) ซึ่งผู้กำกับ ริดลีย์ สก็อตต์ ให้สัมภาษณ์ว่า มีภาพ Nighthawks เป็นต้นแบบในการสร้างบรรยากาศในหนังด้วย เราจะเห็นภาพแอลเอยุคอนาคตแบบดิสโทเปียที่คลุมด้วยแสงและควันอมเขียวทั่วทั้งเมือง

สีเขียวในความหมายป่วงๆ ยังย้อนกลับไปเจอได้ใน Vertigo (1958) หนังเหงาๆ ของ อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก ซึ่งสีเขียวถูกใช้แทนทั้งความปรารถนาที่ไม่อาจเป็นจริงและความทรงจำที่เลวร้าย โดยเฉพาะฉากตอนท้ายที่พระเอกเผชิญหน้ากับร่างของแฟนสาวผู้ล่วงลับซึ่งตามหลอกหลอนเขามาตลอดทั้งเรื่อง ฉากนี้อาบไปด้วยแสงสีเขียว แล้วสาดย้ำด้วยเสียงสกอร์ของ แบร์นาร์ด แฮร์มานน์ ขับเน้นความผิดเพี้ยนอย่างสุดขั้ว

ข้ามมาดู Amélie หนังฝรั่งเศสปี 2001 ของ ฌ็อง-ปีแอร์ เฌอเนต์ บ้าง เราจะเห็นกรุงปารีสในฐานะเมืองใหญ่แสนเจริญที่ผู้คนกลับมีชีวิตอยู่อย่างสุดเหงา “อาเมลี” นางเอกของเราเป็นเด็กหญิงที่เสียแม่ไปตั้งแต่เด็กและโตมาเป็นสาวเสิร์ฟขี้อายนิสัยพิลึกที่ใฝ่ฝันจะได้ครองคู่กับชายหนุ่มผู้อาจจะรักในความเป็นเธอ

อาเมลีใส่ชุดสีแดงโดดเด่นทั้งเรื่อง ดูสดใสแต่กลับแปลกแยกเสมอจากสภาพแวดล้อมซึ่งมากมายไปด้วยสีเขียว แต่ที่น่าสนใจคือ เขียวใน Amelie ไม่ใช่ทั้งเขียวเย็นชา ขณะที่ก็ไม่ใช่เขียวชุ่มฉ่ำเป็นธรรมชาติ เพราะหนังจงใจใช้ทั้งการกำกับภาพ, การเกรดสี, โปรดักชั่นดีไซน์ และการสร้างตัวละครที่ก้ำกึ่งกับความเพ้อฝัน เพื่อเล่าเรื่องของบรรดาคนแปลกประหลาดในเมืองใหญ่ด้วยท่าทีทั้งเศร้าและร่าเริงไปพร้อมกัน หรือดังที่นักวิจารณ์ Mark Steyn เขียนไว้ว่า “นี่เป็นหนังฟีลกู๊ด ในแง่ที่มันทำให้เรารู้สึกดีต่อสิ่งซึ่งปกติแล้วหนังฝรั่งเศสมักทำให้เรารู้สึกแย่” (https://www.steynonline.com/7045/amelie)

ใน The Shape of Water หนังปี 2017 ของ กีเยอร์โม เดล โตโร ว่าด้วยความรักของหญิงสาวกับสัตว์ประหลาดซึ่งเป็น “คนนอก” ของสังคมด้วยกันทั้งคู่ สีเขียว-แดงก็ถูกใช้อย่างน่าสนใจ เขียวมีความหมายถึง “ความสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกัน” หรือ “ความเป็นธรรมชาติ / เป็นพวกเดียวกัน” (สัตว์ประหลาดพระเอกของเรื่องถูกขังไว้ในห้องสีเขียว, เอลิซ่านางเอกสวมชุดเดียว) ขณะที่สีแดงถูกใช้แทนความรัก ความจริง และความแตกต่าง (เอลิซ่าเปลี่ยนมาสวมชุดสีแดงเมื่อค้นพบความรักแท้ ฯลฯ)

แสงเขียวอมเทาฟ้าในความหมายของโลกที่น่าอึดอัด ไร้ชีวิตชีวา ซึ่งมนุษย์ต้องทนอยู่อย่างไร้ความสุข น่าจะเห็นได้ชัดที่สุดใน The Matrix ซึ่ง บิลล์ โพป ผู้กำกับภาพ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“ในอันจะทำให้เดอะเมทริกซ์ในหนังเรื่องนี้ดูแตกต่างจาก ‘โลกความเป็นจริง’ เราใช้วิธีออกแบบสีของหนังเข้าช่วย โลกความเป็นจริงจะดูเป็นธรรมชาติกว่า อมฟ้ากว่า ดูเหมือนบ้านแม้จะไม่น่าสบาย ขณะที่ในเดอะเมทริกซ์ซึ่งเป็นโลกปลอมที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์นั้นเป็นโลกที่เสื่อมโทรม เราจึงใช้สีเขียวที่ให้ความรู้สึกชืดชา น่าสะอิดสะเอียน”

สีเขียวที่ถูกใช้เพื่อให้เมืองดูเย็นชา น่าเบื่อหน่าย และไม่เป็นมิตรกับมนุษย์ เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏในหนังอีกมากมาย เช่น Naked (1993, ไมค์ ลีห์), In the Mood for Love (2000, หว่องกาไว), The Machinist (2004, แบรด แอนเดอร์สัน) ซึ่งล้วนมีตัวละครหลักที่จมอยู่กับความทุกข์และว้าเหว่

ใน Shame (2011, สตีฟ แม็กควีน) ก็เช่นกัน แบรนดอน เป็นชายหนุ่มที่ใช้ชีวิตตามลำพังในอพาร์ตเมนต์หรูแต่โล่งว่าง แวดล้อมด้วยผนังขาวและแสงเขียวชืดชา ตลอดทั้งเรื่องเราได้เห็นเขาพยายามต่อสู้กับความเปล่าเปลี่ยวนี้ด้วยการหันเข้าหาเซ็กซ์ แต่แล้วมันกลับยิ่งทำให้เขาเหงาและแปลกแยกจากเมืองใหญ่ที่เขาอาศัยอยู่มากขึ้น

“พักกองเถอะ…ขอร้อง!” จากใจคนบันเทิงญี่ปุ่น หลังสิ้น เคน ชิมุระ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้สูญเสียนักแสดงตลกรุ่นใหญ่ เคน ชิมุระ จากโควิด-19 จากวันนั้น อุตสาหกรรมบันเทิงญี่ปุ่นไม่ว่าจะหนังและทีวี ก็ยังไม่หยุดออกกองกันเลย เป็นสาเหตุให้คนในอุตสาหกรรมฯ เริ่มส่งเสียงออกไปสู่สาธารณะว่าขอความปลอดภัยในการทำงานเหมือนอาชีพอื่นบ้างเถอะ

ชิมุระเป็นนักแสดงคนแรกที่ติดโควิด-19 และเสียชีวิต ทำให้คนในอุตสาหกรรมบันเทิงตื่นตัวกันอย่างมาก โดยเริ่มจากนักแสดง คันจิ ฟุรุตะชิ ที่ทวิตว่า “ก็ยังไม่พักกองกันอีกเนอะ” กล่าวคือตั้งแต่มีการระบาดมาจนนักแสดง นักกีฬา และคนดังทยอยติดเชื้อตามกันแล้ว หนัง รายการ ละคร ก็ยังเดินหน้าถ่ายทำกันราวกับเป็นเรื่องปกติ

ทวิตดังกล่าวมีคนรีทวิต 5,000 ครั้ง จนกลายเป็นเปิดประเด็นให้ฟุรุตะชิลากไส้อุตสาหกรรมบันเทิงญี่ปุ่นยาวเหยียด “ไม่มีใครเค้าอยากทำงานในช่วงนี้กันหรอก แต่พวกเราทำอะไรได้ที่ไหนล่ะ คนที่จะสั่งหยุดได้เขานั่งบริหารอยู่เบื้องบนโน่น ไม่ใช่ฝ่ายปฏิบัติการอย่างพวกเรา และเขาจะสั่งหยุดก็ต่อเมื่อมันจะกระทบต่อสภาพทางคล่องทางการเงินแล้วนั่นแหละ”

จากการเสียชีวิตของชิมุระ สู่ทวิตเตอร์ของนักแสดง ทำให้มีชาวทวิตภพเข้ามาร่วมแชร์ความเห็นและข้อมูลกันเป็นจำนวนมาก เช่น ค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับเวลาการทำงาน, สวัสดิการต่างๆ ก็แทบไม่มี จนทุกวันนี้วงการบันเทิงญี่ปุ่นอยู่กันอย่างอึดอัดเต็มที และบางคนก็บอกว่าไม่รู้คิดอะไรกันอยู่เพราะก็แทบจะไปถ่ายหนังนอกสถานที่ไม่ได้แล้วก็ยังดันทุรังถ่ายกันอีก

มีสองข้อเรียกร้องหลักๆ จากทวิตร้อนนี้ ซึ่งพุ่งเป้าไปที่วงการทีวีเป็นอันดับแรก คือ หยุดออกอากาศรายการตอนใหม่ๆ ทั้งหลายแล้วเอารายการเก่ามารีรันเสีย เพื่อนำไปสู่การหยุดผลิตหนัง ละคร และรายการโทรทัศน์ทั้งหมด ซึ่งกลายเป็นว่าเสียงที่ส่งออกมาดังๆ จากคนทำงานมีผลทันที

ช่อง TBS ดำเนินการตามข้อเสนอนั้นทุกอย่างตั้งแต่ 2 เมษายนเป็นต้นมา ส่วนช่อง TV Tokyo ก็สั่งให้พนักงานทำงานที่บ้าน และหยุดงานโปรดักชั่นทั้งหมดไปก่อน NHK ก็หยุดการถ่ายทำละคร 2 เรื่องในทันที …แต่ช่องอื่นๆ ยังคงทำงานต่อไป

ทาเคชิ คิมุระ นักวิเคราะห์วงการโทรทัศน์ตั้งข้อสังเกตว่า “วงการทีวียังแข่งขันกันด้วยเรตติ้งอยู่ ดังนั้นพวกเขายังไม่พร้อมที่จะหยุด ซึ่งนั่นเท่ากับว่าตัวเลขเรตติ้งอาจจะตกไปต่อหน้าต่อตา”

หลังจากชิมุระเสียชีวิต มีนักแสดงอีกสามคนที่ติดโควิด-19 ได้แก่ คาซุโกะ คุโรซาว่า, คันคุโระ คุโดะ และ เรโอะ โคมิยะ อีกทั้งคนเบื้องหลังอีกหลายคน ในขณะที่หนังใหม่ของ โยจิ ยามาดะ เรื่อง God of Cinema ที่มีชิมุระร่วมแสดงก็ต้องเลื่อนการถ่ายทำออกไปแค่สองสัปดาห์

ทาดาชิ โอสึมิ ผู้บริหารค่าย Shochiku ผู้สร้าง God of Cinema ให้เหตุผลที่ขยับคิวถ่ายออกไปไม่กี่วันทั้งที่สถานการณ์โควิดยังไม่ทันได้คลี่คลายดังนี้ “เราเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าหนังถ่ายเสร็จ คุณชิมุระจะมีความสุขมากๆ และเราหวังว่าสถานการณ์นี้จะคลี่คลายโดยเร็ว”

Cinephiles in the time of Corona …คู่มือคอหนังยามยาก (VOL. 3)

ในช่วงเวลาของ ‘การรักษาระยะทางสังคม’ เช่นนี้ เราขอเสนอตัวเลือกของการนอนดูหนังอยู่กับบ้าน สำหรับคนรักหนังทุกท่านที่ต้องเผชิญสภาพ “โรงหนังกลายเป็นสถานที่อันตราย” (*คลิกชื่อเรื่องหรือภาพเพื่อเข้าชม*) :

(อ่าน VOL. 1 ได้ที่นี่ และ VOL. 2 ได้ที่นี่)

The Sacrament (2017, Isora Iwakiri)

Moosic Lab เป็นโครงการที่จับผู้กำกับหนังกับคนทำเพลงมาร่วมมือกันสร้างหนังขึ้นมาและมีเวทีประกวดให้รางวัล โครงการนี้มีมาตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปีล่าสุด และในช่วงเวลาแบบนี้ทางโครงการได้ร่วมมือกับเทศกาลหนังญี่ปุ่นเพื่อคัดเลือกหนังจำนวน 12 เรื่องมาให้ดูออนไลน์กันฟรีๆ! โดยหนังทั้ง 12 เรื่องถูกคัดเลือกจากหนังที่ชนะรางวัลจากปี 2017 และ 2018 มีทั้งหนังสั้นและหนังยาว

หนังเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่แปลกที่สุดในบรรดาหนังทั้งหมด 12 เรื่อง เรื่องของนักเรียนหนังคนหนึ่งที่ยังไม่เคยมีหนังเป็นของตัวเองและใช้เวลาไปกับการถ่ายเบื้องหลังให้กับหนังรุ่นพี่ เขาได้ยินตำนานจากเพื่อนสนิทที่เล่าเรื่อง หญิงสาวลึกลับผู้หนึ่งที่จะปรากฏตัวต่อหน้านักเรียนหนังเพื่อให้เขาผู้นั้นถ่ายทำตัวเองและถ้าหากการถ่ายทำสำเร็จหนังเรื่องนั้นจะกลายเป็นมาสเตอร์พีซ อยู่มาวันนึงระหว่างการออกค่ายนอกสถานที่ เขาก็ได้เจอกับหญิงสาวลึกลับผู้นั้นจริงๆ!

หนังโดดเด่นด้วยบรรยากาศสยองขวัญและความรู้สึกแปลกประหลาดที่ทำให้เราไม่ปลอดภัย ซีนการปรากฏตัวของหญิงสาวน่ากลัวที่โคตรขนลุก ทำให้เราดูหนังทั้งเรื่องหลังจากนั้นด้วยความรู้สึกต้องคำสาป ความรู้สึกที่อันตราย เราเพลิดเพลินไปกับการแอบมองสิ่งที่เราไม่ควรจะมอง แอบจับจ้องสิ่งต้องห้ามไปตลอดทั้งเรื่อง

หนังเริ่มด้วยท่าทีแบบหนังสยองขวัญ Found Footage แล้วค่อยๆ กลายเป็นหนังซ้อนหนัง กลายเป็นหนังเพลง ในช่วงท้ายหนังทิ้งท่าทีในตอนแรกและผันตัวเองกลายเป็นหนังเซอร์เรียลสุดขั้วที่ไม่ต้องมาถามหาเหตุผลอะไรกันอีกต่อไป หนังเรียงร้อยด้วยฟุตเตจในแบบต่างๆ ทั้งฟุตเตจที่อัดเหตุการณ์จริงจากกล้องตัวเอก ฟุตเตจของหนังที่ตัวเอกเป็นผู้กำกับ ฟุตเตจ Vlog จากยูทูป ของตัวละครตัวหนึ่ง รวมไปถึงภาพแอนิเมชั่น และมิวสิควิดีโอ หนังเริ่มต้นด้วยกฎของหนัง Found Footage ทั่วไปก่อนที่จะทำลายกฎนั้นทิ้งอย่างน่าสนใจ

Moonless Dawn (2018, Harika Abe)

หนังสั้นขนาดยาวเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องวัยรุ่นสามคน หนึ่งชายสองหญิง ผู้เชื่อมต่อกันด้วยเสียงเพลงและตึกสูงรูปทรงประหลาดย่านชิบูย่า เด็กหนุ่มเป็นนักแต่งเพลงที่อัพผลงานตัวเองอยู่บ่อยๆ มีพ่อเป็นครูขี้แพ้ หญิงสาวเป็นสาวขายบริการที่ไม่ยอมรับเงินจากลูกค้า โดยเธออ้างว่าเธอทำไปเพราะเธอสนุกที่ทำมัน หญิงสาวคนสุดท้ายเป็นเด็กเก็บตัวที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ไม่ค่อยมีเพื่อนและโดนกดดันจากการศึกษา เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อเด็กหนุ่มตัดสินใจเอาเพลงออกจากแชนแนลของตัวเอง ทำให้หญิงสาวทั้งสองที่เป็นแฟนเพลงตามหาเขา ทั้งสามมาพบกันที่ตึกสูงรูปทรงประหลาดตึกหนึ่ง และมีความสัมพันธ์อย่างแปลกประหลาดบนนั้น

เราสามารถพบเจอหนังวัยรุ่นมีปัญหาได้มากมายจากหนังแดนอาทิตย์อุทัย หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องคนสามคนได้อย่างหนักแน่นและความสัมพันธ์ของพวกเขาเมื่อพวกเขามาเจอกันก็น่าสนใจมากๆ หนังหล่อเลี้ยงตัวเองไปด้วยบรรยากาศกึ่งฝันกึ่งจริง ก่อนที่จะจบตัวมันเองด้วยการหักมุมที่ขอยืนยันความเหวอ และนอกจากนี้เพลงประกอบในเรื่องนี้ยังเพราะมากๆ ด้วย

Inner Loop Couple (2018, Taro Shibano)

ชายหญิงคู่หนึ่งพบกันโดยบังเอิญบนรถไฟเจอาร์ สายยามาโนเตะ เขาและเธอเคยพบกันมาก่อน ตอนสมัยที่เธอยังเป็นไอดอลและมีโชว์เดี่ยว เธอยังจำได้ว่าเขาบอกกับเธอว่า “คงจะเจอเรื่องยากๆ อีกเยอะ แต่อย่าล้มเลิกความตั้งใจนะครับ” ความทรงจำในการพบกันช่วงสั้นๆ ยังคงติดตรึงอยู่ในใจ ทั้งคู่ลงที่สถานีปลายทางโอซากิ มันเป็นเวลาดึกแล้ว รถไฟสายที่วิ่งวนเป็นลูปนี้ต้องหยุดลง ชายหญิงเดินคุยกันถึงชีวิตที่ผ่านมา

หนังสั้นโรแมนติกเรื่องนี้น่ารักเอามากๆ บอกเล่าด้วยเรื่องง่ายๆ ตัวละครชายหญิงเปี่ยมเสน่ห์ และบรรยากาศถนนโตเกียวในยามค่ำคืนที่ก็ช่างน่าไปเดินเล่น เหมาะสำหรับใครที่อยากไปโตเกียวในช่วงนี้ กายหยาบเราอาจจะไปไม่ได้ แต่หนังเรื่องนี้จะพาคุณไปได้แน่นอน

CODEC Festival

เทศกาลหนังทดลองนานาชาติในกรุงเม็กซิโกซิตี้ CODEC International Experimental Film and Video Festival ก็เป็นอีกแห่งที่ขอร่วมวงแชร์หนังให้โลกดูในช่วงสถานการณ์โควิด หนังทั้งหมดคือผลงานที่เลือกจากไลน์อัพของเทศกาลนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปีล่าสุด (2015 ถึง 2019) หนึ่งในนั้นคือหนังสั้นไทย “อนัตตา” (2014, มนศักดิ์ คล่องชัยนันต์) แต่แน่นอนว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของลิสต์คือหนังอเมริกัน เม็กซิกัน กับประเทศละตินอเมริกันอื่นๆ ใกล้เคียง

Cinema Oasis VOD

หลังถอยฉากปิดโรงไปตั้งแต่ก่อนคำสั่งในวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ตอนนี้โรงภาพยนตร์ Cinema Oasis ได้ขยับมาเปิดช่องทาง VOD ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นมีหนังออนไลน์จำหน่ายอยู่ 6 เรื่องซึ่งทั้งหมดคือผลงานกำกับจากเจ้าของโรงของ “อิ๋ง เค” สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ได้แก่ พลเมืองจูหลิง (2008) เซ็นเซอร์ต้องตาย (2014) และ Bangkok Joyride ทั้ง 4 ภาค (2018-2019) ในราคาเรื่องละ 1.99 เหรียญฯ – น่าสนใจว่าต่อไปจะมีผลงานเก่าๆ ของสมานรัชฎ์เรื่องอื่น หรือหนังต่างชาติที่ลับแลหาชมยากสุดขีดแต่เคยเข้าฉายที่โรงนี้ มารวมอยู่ในคอลเลคชั่นนี้ด้วยหรือไม่

Arsenal 3

“สถาบันภาพยนตร์และวิดีโออาร์ต อาร์เซนอล” (Arsenal – institute for Film and Video Art) เป็นองค์กรเก่าแก่ที่ปรับโฉมมาจาก “มิตรสหายของหอภาพยนตร์เยอรมัน” (Friends of the German Film Archive) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1963 ทำงานด้านภาพยนตร์ครบวงจรตั้งแต่มีโรงหนังเป็นของตัวเอง สำนักพิมพ์ที่ทำทั้งหนังสือและดีวีดี จัดจำหน่ายหนังอินดี้ จัดเสวนา เวิร์คช็อป มีบริการต่างๆ ด้านภาพยนตร์รวมถึงเก็บรักษา และยังรับผิดชอบโปรแกรมในสาย Forum กับ Forum Expanded ให้เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินทุกๆ ปีอีกด้วย เมื่อโรงหนังที่เบอร์ลินทั้งสองโรง (Arsenal 1 + 2) ต้องหยุดให้บริการเพราะสถานการณ์โควิด ทางสถาบันฯ เลยเปิดพื้นที่ Arsenal 3 ที่แต่เดิมเป็นช่องทางดูหนังออนไลน์แบบเสียเงินสำหรับสมาชิก ให้ผู้ชมทั่วโลกเข้าไปดูหนังที่ผ่านการคัดสรรของทีมโปรแกรมเมอร์ได้ฟรี (โดยใช้ user name กับ password ที่เตรียมไว้ให้) ซึ่งมีตั้งแต่หนังทดลองสุดโหดดูยาก หนังเฮี้ยนชื่อดัง และหนังลับแลที่เราอาจไม่รู้จักมาก่อน ทั้งหนังร่วมสมัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและหนังคลาสสิก โดยหนังแต่ละโปรแกรมจะมีอายุ 7 วัน เปลี่ยนโปรแกรมทุกเที่ยงคืนของวันศุกร์ – หนังส่วนใหญ่ในโปรแกรมเป็นหนังเยอรมัน หรือเคยผ่านเวทีสาย Forum ที่เบอร์ลินมาแล้ว หลายเรื่องคือหนังที่หลายคนเฝ้ารอ เช่น สารคดีทดลองอเมริกันสุดฮือฮา El Mar La Mar (2017), Ticket of No Return (1979) หนังสุดเฮี้ยนขององค์แม่แห่งวงการหนังเยอรมัน Ulrike Ottinger และหนังซูดานของ Ibrahim Shaddad ผู้กำกับที่อาจเป็นหนึ่งในคนสำคัญของประวัติศาสตร์หนังแอฟริกัน ถ้าประเทศไม่รัฐประหารและปิดโรงหนังยุบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน

Lockdown Cinema Club (Vol 1 / Vol 2 / Vol 3)

Lockdown Cinema Club คือโครงการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือบุคลากรในแวดวงหนังอิสระฟิลิปปินส์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด และเพื่อตอบแทนเงินบริจาค (ที่เปิดรับทั้งจากในและนอกประเทศ) ที่จะต่อชีวิตคนทำหนังในสถานการณ์เปราะบางเช่นนี้ พวกเขามีหนังอาเซียนให้เราดู (ส่วนใหญ่คือหนังฟิลิปปินส์) โดยปัจจุบันได้ออนไลน์แล้วทั้งหมดสามชุดใหญ่ๆ รวมผลงานของผู้กำกับฟิลิปปินส์หน้าใหม่มาแรงที่เราอาจยังไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จัก รุ่นกลางที่กำลังเด็ดดวงสร้างชื่ออย่าง Carlo Francisco Manatad, Dodo Dayao, Gym Lumbera, Kiri Dalena, Giancarlo Abrahan, Jerrold Tarog, Jon Lazam, Jet Leyco, Erik Matti, Shireen Seno หรือ Sheron Dayoc ไปจนถึงบิ๊กเนมทั้ง Lav Diaz, Khavn de la Cruz, Raya Martin และ John Torres (รวมถึงหนังสั้นทดลองสุดเดือด Gaze and Hear ของ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ที่หาชมได้ยากยิ่ง) หลากหลายตั้งแต่หนังตลกห่ามๆ แสบสันต์ ไปจนทดลองท้าทายปั่นประสาท สมกับที่เป็นประเทศซึ่งวัฒนธรรมหนังอิสระเข้มแข็งกระตือรือร้นที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

National Film Institute Hungary

สถาบันภาพยนตร์ฮังการี ซึ่งทำหน้าที่เป็นหอภาพยนตร์แห่งชาติด้วย ได้เผยแพร่หนังคลาสสิกจำนวน 35 เรื่อง กินความประวัติศาสตร์กว้างขวางตั้งแต่ปี 1918 ถึง 1992 เพื่อเป็นวิทยาทานดิจิทัลในช่วงสถานการณ์โควิด โดยแบ่งประเภทหมวดหมู่เป็นหนังที่ดัดแปลงจากวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ในภาพยนตร์ และอนิเมชั่น ทีเด็ดของลิสต์นี้คือหนังของผู้กำกับฮังกาเรียนระดับตำนานในยุครุ่งเรืองที่ผ่านมาแล้วทุกเวทีทั้งคานส์, เวนิซ, เบอร์ลิน, ออสการ์ อย่าง Zoltán Fábri, Károly Makk, István Szabó และ Márta Mészáros

Cabin Fever

Cabin Fever คือหนึ่งในลิสต์รวมหนังชุดแรกๆ ที่ปรากฏในโลกออนไลน์ช่วงสถานการณ์โควิด และไวรัลอย่างรวดเร็วในจังหวะที่หลายประเทศใหญ่ล็อคดาวน์ปิดเมืองไล่เลี่ยกัน ลิสต์นี้รวมหนัง-วิดีโอทดลองเอาไว้มากกว่าร้อยเรื่อง และยังคงอัพเดทเพิ่มเติมเรื่อยๆ ทั้งจากตัวเจ้าของลิสต์ Kate Lain (ที่เริ่มทำเพื่อใช้เป็น watch list สำหรับนักศึกษาในคลาส หลังมหาวิทยาลัยออกคำสั่งให้เรียนออนไลน์) และผู้ติดตามมิตรสหายในแวดวงเดียวกันที่เสนอชื่อเพิ่มเติมให้ – แบ่งประเภทหมวดหมู่ไว้มากกว่าสิบชุด ให้คนดูเลือกผจญภัยได้ตามอารมณ์ความรู้สึกที่ตัวเองต้องการ เพราะหนังส่วนใหญ่จะลับแล ใต้ดิน คนรู้จักน้อย หรืออาจแทบไม่มีข้อมูลให้สืบค้น แต่เมื่อลิสต์นี้เริ่มต้นเพื่อการศึกษาภาพยนตร์ จึงมีผลงานของคนทำหนังระดับปรมาจารย์คลาสสิก Jan Svankmejer, Man Ray, Len Lye, Margaret Tait, Kenneth Anger, Maya Deren, Peter Rose, Bruce Baillie, Marie Menken, Barbara Hammer, Toshio Matsumoto และร่วมสมัยอย่าง James Benning, Mike Hoolboom, Sky Hopinka, Miranda July, Mati Diop, Adam Curtis, Sam Taylor-Wood รวมอยู่ด้วย (ตัวลิสต์โหลดดูได้จากไฟล์ excel และ pdf หรือหน้า Google sheets ที่จะโหลดช้าสักหน่อยเพราะคนเข้าดูพร้อมกันค่อนข้างมาก)

SXSW

South by Southwest เป็นเทศกาลหนังแนวหน้าจาก ออสติน เทกซัส ที่ตีคู่มากับเทศกาลหนัง Sundance ในอเมริกา ตัวเทศกาลจะมีทั้งกรจัดฉายหนัง ควบคู่ไปกับ interactive media เทศกาลดนตรี และการจัดเสวนา ไปยันเดี่ยวไมโครโฟน เป็นหนึ่งในเทศกาลหนังอิสระที่ล้ำที่สุดของโลก ตัวเทศกาลหนังนั้นมีทั้งหนังสั้นหนังยาว ฉายทั้งหนังสารคดีและหนังเล่าเรื่อง ซ้ำยังโด่งดังในฐานะที่เปิดตัวหนังสยองขวัญอิสระ หนังอย่าง TheQuiet Place , Cabin in The Woods ก็เปิดตัวที่นี่

ปีนี้เทศกาลต้องยกเลิกเพราะ COVID -19 ทางเทศกาลจึงเอาหนังยาวทั้งหมดลงออนไลน์ให้ดูฟรีในเวลาจำกัดผ่านทางAmazon Prime ซึ่งแน่นอนว่าดูได้เฉพาะในอเมริกา แต่ถึงกระนั้น หนังสั้นสายประกวดทั้งหมด ทางเทศกาลก็ใจดีปล่อยให้ดูฟรีทั่วโลก

หนังสั้นเทศกาลนี้ไม่ใช่หนังทดลอง แต่เป็นหนังเล่าเรื่องถ่ายเนี้ยบถ่ายสวย แนะนำเป็นพิเศษกับหนังสั้นสาย Midnight ที่เป็นสุนทรสถานความบันเทิงของคนรักหนังสยองขวัญระดับ จิ๋วแต่แจ๋ว

Thai Film Archive

ก่อนหน้านี้เราเคยแนะนำช่อง youtube ของภาพยนตร์เกาหลีใต้ไปแล้ว ต้องบอกว่าหอภาพยนตร์ไทยก็ไม่น้อยหน้า เริ่มมีการอัพโหลดหนังไทยคลาสสิคระดับมรดกของชาติมาให็ได้ชมการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งหนังข่าวสำคัญๆตั้งแต่พระราชกรณียกิจ ไปจนถึงข่าวการนิรโทษกรรม กรณี 6 ตุลา ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นยอด ไล่ไปจนถึงหนังเรื่องจริงๆอย่าง สันติ-วีณา หนังที่เคยได้รับรางวัลระดับนานาชาติ จากงานประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ.2497 หลังจากชึ้นชื่อว่าสูญหาย ก็ถูกค้นพบและถูกนำมารีมาสเตอร์อย่างงดงามและไปฉายใน section Cannes Classic หรือ ยุทธนา – ศิริพร หนังสารคดีจากเยอรมนีที่เดินทางมาถ่ายทำชีวิตของชาวไทยในปี พ.ศ. 2506 เศรษฐีอนาถา (พ.ศ. 2500) หนังตุ๊กตาทองเรื่องแรกของไทย และล่าสุดกับ เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. 2508) หนังเหล่านี้ไม่ได้สำคัญแค่เพื่อการศึกษาหากมันยังสนุกสนานเพลิดเพลินและมีภาษาหนังคนละแบบกับหนังไทยร่วมสมัยที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

Manta Ray (2019, พุฒิพงษ์ อรุณเพ็ง)

กระเบนราหู หนึ่งในหนังไทยที่สำคัญที่สุดทั้งในปรเทศและทั่วโลกในปีที่ผ่านมา เริ่มออกจำหน่าย ดีวีดีและบลูเรย์สวยสดงดงามแล้ว (ทักไปถามซื้อได้ที่เพจของหนัง) แต่ถ้าใครไม่มีเครื่องเล่น หนังก็ลงฉายแบบ on demand ให้ดูกันเป็นที่เรียบร้อยเช่นกัน โดยซื้อหนังได้ในราคา 12US$ (ประมาณ 400 บาท) และจะมีราคาสำหรับเช่าดูตามมาเร็วๆนี้ พิเศษกว่านั้นคือนอกจากจะได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ยังแถมหนังสั้น ชิงช้าสวรรค์ (Ferris Wheel) หนังสั้นที่เล่าแรงงานอพยพชายแดนไทยอย่างน่าทึ่ง จากผู้กำกับคนเดียวกันอีกด้วย

Thin (2006, Lauren Greenfield)

สารคดีตามถ่ายชีวิตของผู้หญิงที่เข้ารับการรักษาในสถานบำบัด The Renfrew Center ในแคลิฟอร์เนีย พวกเธอมีปัญหาการกินผิดปกติ ไม่ว่าจะกินแล้วล้วงคอออกมาทีหลัง คอยคำนวณแคลอรี่ตลอดเวลาเพื่อเลี่ยงการกินของที่ทำให้ตัวเองน้ำหนักขึ้น หรือไม่กินอะไรเลยเพราะกังวลรูปร่างของตัวเอง กลัวคนรอบข้างบอกว่าอ้วน

“ทำไมถึงกังวลมากนักกับสิ่งที่คนอื่นคิด?”
“เพราะฉันใส่ใจมันมาตลอดทั้งชีวิตไง ถึงได้น้ำหนักลดตั้งแต่แรก”

เป้าหมายของสถานบำบัดคือ ‘การเพิ่มน้ำหนัก’ และให้พวกเธอออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังจบการรักษา ดังนั้นนอกจากโภชนาการที่ถูกต้อง จิตวิทยาก็เป็นสิ่งสำคัญ การกินอาหารคือช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของพวกเธอ บางคนเริ่มมีอาการเพราะถูกต่อว่าว่าอ้วน บ้างก็เป็นเพราะความเครียด และอยากควบคุมบางอย่างในชีวิตได้บ้าง

นี่คือสารคดีเรื่องแรกของผู้กำกับลอเรน กรีนฟิลด์ เธอไปที่ The Renfrew Center ครั้งแรกในปี 1997 หลังถูกมอบหมายงานจากนิตยสารไทม์ ต่อมาเธอแวะเวียนไปอีกหลายครั้งเพื่อทำโปรเจกต์ศิลปะของตัวเอง และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงในเรื่องยอมเปิดใจและเชื่อใจให้เธอตามถ่ายจนกลายมาเป็นสารคดีเรื่องนี้ ลอเรนตามถ่ายหญิงสาวในช่วงเวลาส่วนตัว เช่นการแอบสูบบุหรี่ในห้องน้ำ หรือการทำผิดกฎบางอย่าง การประชุมของเจ้าหน้าที่ เซสชันบำบัด การชั่งน้ำหนักประจำวัน ฯลฯ

“Corona” หนังแคนาดาว่าด้วยไวรัส และ “การเหยียด”

ปลายเดือนมกรา มุสตาฟา เคชแวริ ผู้กำกับชาวแคนาดา เห็นพาดหัวข่าวหนึ่งขณะอยู่ในลิฟต์ ณ ตอนนั้นเองเรื่องราวบางอย่างได้ประกอบขึ้นภายในหัวของเขา

“ตอนนั้นมันยังถูกเรียกว่า ไวรัสอู่ฮั่น ผมไม่เคยคิดว่ามันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ถึงขนาดนี้ ผมอยู่ในลิฟต์และเห็นข่าวการทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยวเอเชียจากรอบโลก ความเกลียดชังชาวต่างชาติถูกแพร่กระจายออกไป” เคชแวริกล่าว

เคชแวริอพยพจากเตหะรานมายังแวนคูเวอร์เมื่อ 15 ปีก่อน หนังสั้นเรื่องแรกของเขา “I Ran” ได้รับเลือกให้ฉายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปี 2015 และตัวเขาก็เริ่มเป็นที่รู้จักหลังจากนั้น หนังยาวเรื่องแรกของเคชแวริมีชื่อว่า “Unmasked” เรื่องราวของสาวมุสลิมอพยพที่อยากเป็นนักแสดง ได้รับเสียงชื่นชมและรางวัลมากมาย นอกจากนั้นผลงานของเขายังมีสารคดีและแอนิเมชั่นสั้นอีกหลายเรื่อง เคชแวริบอกว่า หนังยาวเรื่องต่อไปของเขาจะเกี่ยวกับการเหยียดผิวในช่วงโรคระบาด และเรื่องราวทั้งหมดจะเกิดขึ้นในลิฟต์

“Corona” หนังยาว 63 นาที เริ่มต้นขึ้นที่ลิฟต์ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ผู้อยู่อาศัยเริ่มได้ยินข่าวลือเรื่อง โควิด-19 และในขณะนั้นเองหญิงชาวจีนผู้หนึ่งก็เดินเข้ามาลิฟต์ ก่อนที่จะถึงที่หมายลิฟต์หยุดการทำงานลง และความตึงเครียดก็เริ่มต้นขึ้น

“ความกลัวเป็นไวรัสในรูปแบบหนึ่ง ในอนาคตถ้าโคโรน่าซาลง เราก็ยังคงต้องสู้กับการเหยียดผิวอยู่ นี่แหละ คือ สิ่งที่หนังเรื่องนี้พยายามจะพูดถึง”

หนังใช้เวลาถ่ายทำเพียง 3 วันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นลองเทคหนึ่งช็อตด้วยกล้องแฮนด์เฮลด์ หลังจากหนังเสร็จสมบูรณ์ ในตอนแรกเคชแวริหวังว่าจะได้ส่งมันไปตามเทศกาลหนังต่างๆ ทั่วโลก แต่ทุกอย่างก็หยุดชะงักลง เขาจึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนการจัดจำหน่ายของมันให้กลายเป็นรูปแบบสตรีมมิ่งแทน

“ผมหวังว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้ผู้คนเข้าอกใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ผมอยากให้พวกเขาได้กลับมามองตัวเองและการกระทำของตนในช่วงเวลาแบบนี้ได้” ผู้กำกับวัย 33 ปีกล่าว

ในขณะนี้ Corona กำลังอยู่ในขั้นตอนตัดสินใจและวางแผนถึงการฉาย ซึ่งก็คงอีกไม่นานที่เราจะได้ดูกัน

ชมหนังตัวอย่างได้ที่

Douyin ยกระดับจาก TikTok สู่การดูหนังออนไลน์

TikTok ตอนนี้ไม่ได้มีแค่ เจน-นุ่น-โบว์ ช่วงที่หลายคนไม่ได้ออกจากบ้านมันเป็นพื้นที่ให้คนดังและคนธรรมดาได้ทำคลิปตลกๆ จนแอพนี้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง กลายเป็นปรากฏการณ์ไปทั่วโลก และเพราะมันเป็นพื้นที่ที่รวมผู้คนไว้เยอะนี่เอง TikTok เลยยกระดับจากที่แชร์แค่คลิปสั้นๆ ลองลงหนังให้ดูเต็มเรื่องบ้าง!

TikTok เป็นโซเชียลมีเดียที่คล้ายอินสตาแกรมแต่ตลกกว่า หลายคนเล่นลิปซิงก์ เต้นตลกๆ ใส่เอฟเฟ็กต์ฮาๆ พอคลายเครียดไปได้ มันเลยกลับมาเป็นที่นิยมในช่วงกักตัวโควิด-19 บริษัทแม่อย่าง ByteDance เห็นมีเดียของตัวเองเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในช่วงนี้ เลยขยายขอบเขตมาให้บริการสตรีมมิ่งกับเขาด้วย โดยเริ่มต้นในประเทศจีนบ้านเกิด ซึ่งที่นั่นจะรู้จัก TikTok ในนาม Douyin

ในจีน แค่เสิร์ชชื่อหนังใน Douyin ก็จะปรากฏหนังทั้งเรื่องเด้งขึ้นมาให้ชม มีตั้งแต่หนังออสการ์ The Last Emperor, หนังเมืองคานส์ Farewell My Concubine, หนังแอ็กชันจางอี้โหมว The Great Wall และ The Grandmaster ของ หว่องกาไว

จุดเริ่มต้นมันก็มาจากสถานการณ์โควิด-19 ในจีน ซึ่งดันมีช่วงพีคของการแพร่ระบาดตอนตรุษจีนพอดี โรงหนังที่เป็นความหวังของอุตสาหกรรมหนังจีนพากันปิดรับเทศกาลกันหมด ผู้คนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน อย่ากระนั้นเลย ByteDance เลยทุ่มทุนถึง 630 ล้านหยวน (ราว 90.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซื้อสิทธิหนัง Lost in Russia (หนังสานต่อความสำเร็จของ Lost in Thailand และ Lost in Hongkong) ซึ่งเป็นความหวังของสตูดิโอ Huanxi Media มาฉายใน Douyin (TikTok) และแพลตฟอร์มอื่นๆ ของ ByteDance ให้ชมฟรีเป็นที่แรก โดยยังได้หนังและรายการทีวีอื่นๆ ของ Huanxi Media พ่วงมาอีกเพียบ

เพราะเปิดตัวด้วยหนังที่น่าจะทำเงินเรื่องหนึ่งแบบนั้น แน่นอนว่ามันเปี้ยงปร้างจนทำให้ ByteDance ได้ใจ กว้านซื้อหนังจากนานาประเทศมาเพียบ อย่างที่เรายกตัวอย่างในข้างต้น

TikTok ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2016 ในตอนนั้นมันได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น โดยเป็นหนึ่งในอาวุธของจีนในการที่จะตีตลาดเฟซบุ๊กกับอิสตาแกรมของอเมริกา จนมันนับเป็นอำนาจอ่อน (soft power) ชนิดหนึ่งของจีนที่ทรงอานุภาพที่สุด

ในปี 2019 ฐานผู้ใช้ TikTok ทั่วโลกเริ่มคงที่จนมองว่ามันคงจะดันไปได้อีกไม่ไกล กระทั่งเกิดโรคระบาดในต้นปี 2020 คนทั่วโลกกักตัวเองอยู่ในบ้าน และเหล่าคนดังหันมาเล่น TikTok กันมากขึ้น อย่าง เจนนิเฟอร์ โลเปซ, จัสติน บีเบอร์ ล่าสุดมาถึงคลาสออกกำลังกายของ เจน ฟอนด้า ซึ่งคลิปเหล่านั้นถูกดูดไปแชร์เป็นไวรัลต่อในแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ TikTok เลยกลับมาบุกโลกอีกครั้งถึงขนาดว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ใช้มันเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูล

Douyin จะแตกต่างจาก TikTok ตรงที่ Douyin ไม่ได้กำหนดความยาวของคลิป ซึ่งทำให้คอนเทนต์ใน Douyin จะครอบคลุมไปถึงหนัง, ซีรีส์, ไลฟ์สดปาร์ตี้โดยดีเจชื่อดัง และข่าว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นบริการเสริมที่เพิ่งงอกเงยงดงามในช่วงที่ประชาชนอยู่กับบ้านนี้เอง จนมีความเป็นไปได้ว่าหลังพ้นโควิด-19 ไปแล้ว น่าจะเห็นก้าวต่อไปของ TikTok ในตลาดโลกอย่างแน่นอน

อ่านเรื่อง soft power เพิ่มเติมที่นี่

บทบาทของรัฐกับการหนุนหนัง ในฐานะ “Soft Power”

คำว่า “อำนาจอย่างอ่อน” หรือ Soft Power ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกโดยนักวิชาการชื่อ โจเซฟ นาย (Joseph Nye) หมายถึงการใช้อำนาจที่ปราศจากการใช้กำลังบังคับขู่เข็ญของประเทศหนึ่งต่อประเทศหนึ่ง เป็นการใช้อำนาจด้วยการสร้างอิทธิพลต่อความความคิดและทัศนคติของคนในสังคมอื่นให้คล้อยตาม โดยอาศัยองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ

และหากพิจารณาเฉพาะองค์ประกอบทางด้านวัฒนธรรม เครื่องมือที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทรงอิทธิพลมากที่สุดในการสร้างอำนาจอย่างอ่อน ก็คือ ภาพยนตร์ ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ ภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่สร้างอิทธิพลด้านวัฒนธรรมต่อผู้คนทั่วโลก ผ่านเนื้อเรื่อง พฤติกรรมของตัวละคร ตลอดจนวัฒนธรรมย่อยที่เป็นส่วนประกอบของเรื่อง จนทำให้ผู้คนในอีกหลายประเทศเกิดความรู้สึกเชิงบวกต่อวัฒนธรรมอเมริกันโดยไม่รู้ตัว

ไม่แค่ผลประโยชน์ด้านการเมือง ในแง่เศรษฐกิจแล้วอำนาจอ่อนยังนำมาซึ่งรายได้มหาศาลจากการขายสินค้าวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ด้วย (สำหรับหนังนั้น รายได้สำคัญมาจากยอดขายลิขสิทธิ์และผลประโยชน์จากการจัดจำหน่าย) รัฐบาลหลายประเทศจึงเกิดความคิดจะสนับสนุนวัฒนธรรมส่งออก ด้วยการทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อผลักดันให้วัฒนธรรมเหล่านี้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากที่สุด

ปัจจุบัน ประเทศที่มีบทบาทเด่นในการสนับสนุนหนังในฐานะอำนาจอ่อนอย่างเป็นระบบ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และฝรั่งเศส

เกาหลีใต้

บทบาทของรัฐบาลเกาหลีใต้ในการผลักดันหนังนั้นถูกยกมาเป็นกรณีศึกษาในหลายประเทศ (ไทยก็ด้วย) ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ อุตสาหกรรมหนังที่นั่นเคยอยู่ในสภาวะตกต่ำมาก่อน อันเป็นผลจากการการถูกรัฐแทรกแซงอย่างเข้มงวดในช่วงการปกครองของประธานาธิบดี ปาร์คจุงฮี (ระหว่างทศวรรษ 1960 ถึงปลาย 70) แม้รัฐจะพยายามส่งเสริมด้วยวิธีต่างๆ ก็ไม่เป็นผล ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกรมส่งเสริมหนังในปี 1973 หรือ การกำหนดโควตานำเข้าหนังต่างประเทศเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรรมภายใน (ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยเพราะคุณภาพหนังในประเทศเองไม่มีคุณภาพ)

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 1998 รัฐบาลปธนคิมแดจุง มีแผนปลดล็อคการนำเข้าสินค้าวัฒนธรรมจากญี่ปุ่น ซึ่งถูกแบนมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (และเป็นที่นิยมในตลาดมืด) แต่ก็กังวลด้วยว่า ถ้าปล่อยให้สินค้าวัฒนธรรมญี่ปุ่นหลั่งไหลเข้ามาอย่างอิสระก็จะส่งผลเสียหายต่อเกาหลีในระยะยาว จึงเกิดดำริว่าต้องสร้างเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมของเกาหลีให้เข้มแข็งด้วยการทุ่มเทงบประมาณ และกระตุ้นให้ภาคการศึกษาเปิดภาควิชาด้านนี้เพื่อรองรับการเติบโตที่เกิดขึ้น

ผลคือ ไม่นานหลังจากนั้น ปรากฏการณ์ Hallyu หรือ “คลื่น (วัฒนธรรม) เกาหลี” ได้ก่อตัวและแพร่กระจายความนิยมไปในประเทศต่างๆ สำหรับหนังนั้น นอกจากรัฐบาลจะส่งเสริมในรูปของตัวเงินสนับสนุนผ่านสภาการภาพยนตร์ (KOFIC) แล้ว ยังแก้ปัญหาด้านโครงสร้างด้วยการแก้ไขกฎหมายเซ็นเซอร์ที่กดทับกระบวนการสร้างสรรค์ตลอดมา ส่งผลให้นักทำหนังนำเสนอผลงานได้เต็มที่

ความสำเร็จของหนังเรื่อง Shiri (1999) ที่ทำรายได้กว่า 11 ล้านเหรียญจากการฉายในประเทศ และยังถูกขายสิทธิ์ไปในหลายประเทศ (รวมทั้งไทย) ก่อให้เกิดกระแสความนิยมหนังเกาหลีไปทั่วเอเชีย โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนจะขยายสู่พรมแดนใหม่ๆ อีกมากมาย

แม้ในระยะเวลาแรก ความสำเร็จของคลื่นวัฒนธรรมจะถูกยืนยันผ่านยอดรายได้ส่งออกรวมกว่า 650 ล้านเหรียญในปี 2003 (จากแต่เดิมที่แทบไม่มีมูลค่า) แต่รัฐบาลไม่หยุดแค่นั้น ยังคงส่งเสริมผ่านมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลทุกชุดต้องปฏิบัติ ทำให้จนถึงปัจจุบันหนังและสินค้าวัฒนธรรมบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นดนตรี (k pop) หรือซีรีส์ (K dramas) ได้กลายเป็นอำนาจอย่างอ่อน (soft power) ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเกาหลี พิสูจน์ได้จาก การตื่นตัวที่ทั่วโลกมีต่อวัฒนธรรมเกาหลีด้านอื่นๆ เช่น ภาษาและอาหาร เป็นต้น


จีน

แม้อุตสาหกรรมหนังจีนจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ประเทศเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2001 แต่เมื่อได้เห็นความสำเร็จของเกาหลีใต้และอิทธิพลของฮอลลีวูดที่แผ่ขยายไปทั่วโลก รัฐบาลจีนก็ยิ่งตระหนักถึงความสำคัญของอำนาจอย่างอ่อน จึงดำริ “นโยบายออกไปข้างนอก” (going out policy) ขึ้นโดยปธน. เจียงเจ๋อหมิน บรรจุเข้าในแผนห้าปีครั้งที่ 11 และ 12 (ปี 2006- 2015) มีเป้าหมายหลักคือ “ส่งเสริมภาพลักษณ์ของจีนในต่างประเทศ และเสริมสร้าง soft power ด้วยการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนสู่สากล เน้นอเมริกาเหนือและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก”

มาตรการของนโยบายนี้ ประกอบด้วย
1. จัดงานแสดงหนังจีนในต่างประเทศ เช่น สัปดาห์หนังจีน เทศกาลหนังจีน
2. เข้าร่วมเทศกาลหนังสำคัญ
3. กระตุ้นให้มีการจัดจำหน่ายหนังจีนในต่างประเทศ ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งโรง ดีวีดี และอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของรัฐบาลจีนดูเหมือนไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เห็นได้จากจำนวนหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศ แต่กลับล้มเหลวเมื่อไปฉายที่อื่น เช่น Wolf Warrior part 2 ซึ่งทำรายได้ในจีนถึง 874 ล้าน แต่ทำรายได้ในอเมริกาแค่ 2.7 ล้านเหรียญ เมลลิสา เกย์ตัน (2017) แห่ง Harvard Political Review วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดส่งผลให้หนังต้องนำเสนอภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศและถ่ายทอดอุดมการณ์สังคมนิยม ทำให้หนังขาดอรรถรส นอกจากนี้ เนื้อหาที่ขาดความเป็นสากลเพราะผู้สร้างมุ่งเน้นตลาดผู้ชมจีนเป็นหลักก็ทำให้ผู้ชมต่างชาติรู้สึกไม่เชื่อมโยง (ต่างจากหนังเกาหลีที่เนื้อหามีความเป็นสากลกว่า)


ฝรั่งเศส

เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการแผ่อำนาจอ่อนอย่างต่อเนื่อง ทั้งศิลปะ ภาษา อาหาร และวัฒนธรรมบันเทิง โดยหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทสำคัญคือ กระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสาร ซึ่งมอบหมายให้สมาคมฝรั่งเศส (Alliance Francaise) ที่มีสาขาในประเทศต่างๆ ทำหน้าที่เผยแพร่วัฒนธรรมสู่คนท้องถิ่น

กระทรวงนี้ให้ความสำคัญกับหนังเต็มที่ สนับสนุนให้มีการเผยแพร่หนังฝรั่งเศสในรูปของการขายสิทธิ์จัดจำหน่ายในตลาดสำคัญๆ ของโลก เช่น ตลาดหนังเมืองคานส์ ฮ่องกง อเมริกา โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนให้แก่บริษัทจัดจำหน่ายฝรั่งเศส เช่น ค่าเดินทางและค่าเช่าพื้นที่ในการไปขายหนังตามตลาดต่างๆ นอกจากนั้นยังมีทุนคอยสนับสนุนค่าโฆษณาและประชาสัมพันธ์ สำหรับผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศที่ซื้อสิทธิ์หนังฝรั่งเศสไปฉายในประเทศของตนอีกด้วย

ในแง่ของการตอบรับ จากรายงานของ Unifrance (ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนหนังฝรั่งเศสในต่างประเทศ) ระบุว่าในปี 2019 มีผู้ชมนอกประเทศฝรั่งเศสกว่า 2.41 ล้านคนที่ซื้อบัตรเข้าชมหนังฝรั่งเศส คิดเป็นรายได้ 12.9 ล้านยูโร แม้ตัวเลขจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ (เนื่องจากหนังฮอลลีวูดยังครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่อุตสาหกรรมหนังของหลายๆ ประเทศก็แข็งแรงขึ้น) แต่การสนับสนุนหนังก็ยังถือเป็นพันธกิจที่สำคัญสำหรับทุกรัฐบาล


จากกรณีศึกษาของทั้งสามประเทศ ทำให้เห็นว่า การจะผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังและวัฒนธรรมอื่นๆ เป็นเครื่องมือเผยแพร่อำนาจอ่อน (soft power) นั้น จำต้องมีการวางโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ และต้องลดการใช้อำนาจควบคุมของรัฐลง (เช่น การเซ็นเซอร์ หรือการสอดแทรกอุดมการณ์ของชาติอย่างจงใจ) รัฐควรตระหนักว่าบทบาทหน้าที่ของตัวเองคือผู้สนับสนุนและผลักดันให้ผลผลิตทางด้านวัฒนธรรมไปไกลที่สุด ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมที่ต้องสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาดีที่สุด จึงจะร่วมกันประคับประคองอุตสาหกรรมให้ต่อเนื่องยาวนานได้


อ้างอิง

– เกาหลีใต้ :
A Short History of Korean Film
Korean Wave (Hallyu) – The Rise of Korea’s Cultural Economy & Pop Culture
Roll Over, Godzilla: Korea Rules

– จีน :
Film Policy, the Chinese Government and Soft Power
Chinawood: Why the Chinese Movie Industry Faces Challenges in International Markets

– ฝรั่งเศส :
Policy to support French cinema bringing results – Minister
France’s Macron uses culture to assert world’s top ‘soft power’ nationality

ดูฟรี สารคดี “10 ปีกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ”

เราคงไม่ต้องแนะนำอะไรเป็นพิเศษกับฮายาโอะ มิยาซากิเจ้าของผลงานอนิเมะเลื่องชื่อมากมายและผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ ซึ่งในขณะนี้ทาง Netflix ได้ลงอนิเมะขนาดยาวทั้งหมดของมิยาซากิและสตูดิโอจิบลิตั้งแต่เรื่องแรก The Castle of Cagliostro จนถึงเรื่องล่าสุด The Wind Rises นี่เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้รู้จักตัวตนของเขาทั้งจากผลงาน จากวิธีการทำงานและชีวิตส่วนตัว

เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ทาง NHK World Japan หรือสมาคมแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ติดต่อมิยาซากิเพื่อถ่ายทำสารคดีชีวิตของเขา ผู้กำกับตอบตกลงด้วยเงื่อนไขว่า จะต้องมีคนถ่ายสารคดีแค่คนเดียวเท่านั้น ห้ามมีทีมงานคนอื่น คาคุ อารากาวะ ผู้กำกับสารคดีได้รับโอกาสนี้และตามติดชีวิตการทำงานของมิยาซากิตั้งแต่ปี 2006 ไม่ใช่แค่ในช่วงเวลาทำงาน แต่เขายังได้รับอนุญาตให้ถ่ายมิยาซากิในช่วงเวลาส่วนตัวอีกด้วย

ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาเป็นสารคดี 4 ตอน ความยาวเกือบ 4 ชั่วโมง และทาง NHK ก็ได้ลงสารคดีทั้ง 4 ตอนนี้ให้เราได้ชมกันฟรีๆ! ส่วนรายละเอียดคร่าวๆ ของแต่ละตอนมีดังนี้

ตอนที่ 1 : Ponyo is Here

“ผมจะรู้สึกผิด ถ้าไม่ได้ทำหนังตามหัวใจ”
เริ่มในปี 2006 เมื่อมิยาซากิกำลังเริ่มทำอนิเมะเรื่องใหม่ “Ponyo” ช่วงเวลาตามหาแรงบันดาลใจและรวบยอดไอเดียทั้งหมดในสตูดิโอส่วนตัวอันแสนสงบ ในขณะเดียวกันลูกชายของเขาโกโรเพิ่งลงมือทำอนิเมะยาวเรื่องแรกในชีวิต “Tales from Earthsea” เสร็จ ท่ามกลางคำคัดค้านของผู้เป็นพ่อ


ตอนที่ 2 : Drawing What’s Real

“ถ้าทำให้คนดูสนุกได้ ผมก็สมควรที่จะมีตัวตน”
ย้อนกลับไปค้นหาตัวตนของมิยาซากิตั้งแต่ที่เขายังเป็นเด็ก ปมความสัมพันธ์ของเขากับแม่ ในระหว่างที่ Ponyo กำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง การบันทึกช่วงเวลาทำงานในสตูดิโอจิบลิกับพนักงานกว่าร้อยชีวิตที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน


ตอนที่ 3 : Go Ahead – Threaten Me

“อยากทำ ไม่ได้แปลว่า ทำได้”
เดินทางมาถึงต้นปี 2010 ลูกชายของมิยาซากิ โกโรกำลังลงมือเริ่มต้นอนิเมะยาวเรื่องที่สอง “From Up on Poppy Hill” สารคดีพาเราตามติดชีวิตพ่อลูกคู่นี้ ทำให้เราเข้าใจปรัชญาการทำงานของผู้กำกับคู่นี้ เรื่องราวความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชังระหว่างครอบครัว ในขณะเดียวกันมิยาซากิกำลังเริ่มต้นงานใหม่ที่แตกต่างไปจากทุกสิ่งที่เขาเคยทำมา


ตอนที่ 4 : No Cheap Excuse

“คลื่นลมพัดกระหน่ำ เราต้องต่อสู้กับมันเพื่อมีชีวิต”
มิยาซากิกำลังเริ่มต้นสร้าง “The Wind Rises” ช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนที่เขากำลังตั้งคำถามกับตัวเอง อายุที่มากขึ้นและร่างกายที่เสื่อมถอย อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เขายังทำงานต่อไป สารคดีตอนสุดท้ายเล่าขนานไปกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 จุดเริ่มต้นที่ทำให้มิยาซากิสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา


👉 เข้าไปรับชมทั้ง 4 ตอนกันแบบฟรีๆ ได้ที่นี่

* มีซับไตเติ้ลไทยให้บริการ แต่ในตอนนี้มีแค่สองตอนแรกที่ทำเสร็จสมบูรณ์ อาจจะต้องรออีกสักพักหนึ่ง แต่ซับไตเติ้ลอังกฤษลงครบทั้ง 4 ตอนแล้ว

** เปิดให้รับชมตั้งแต่วันนี้ถึงปี 2026

MUBI สุดยอดโมเดลธุรกิจดูหนังออนไลน์ ที่เริ่มต้นในร้านกาแฟ!

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2007 – สองปีหลังการกำเนิดขึ้นของยูทูบ – ขณะ เอเฟ กาคาเรล ซีเนไฟล์ชาวตุรกี นั่งอยู่ในร้านกาแฟที่โตเกียว เขาค้นพบว่าที่นั่นมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สุดในโลก คือ 53 เมกะบิทส์ต่อวินาที เขาคิดว่าความเร็วขนาดนี้สามารถนั่งดูหนังได้เลย แล้ว In the Mood for Love ของ หว่องกาไว ก็เป็นหนังเรื่องแรกที่ปรากฏขึ้นมาในหัว แต่ตอนนั้นมันไม่มีผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง และระหว่างขึ้นเครื่องบินมาลงซานฟรานซิสโก เขาก็ร่างโมเดลธุรกิจดูหนังออนไลน์ กลายเป็น MUBI ที่พึ่งพาของซีเนไฟล์ทั่วโลกในยามนี้

รูปแบบของการดูหนังบน MUBI คือมันจะมีหนังใหม่เข้ามาวันละเรื่อง แต่ละเรื่องจะมีอายุ 30 วัน เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เราเข้าไปใน MUBI เราจะเห็นหนัง 30 เรื่องรอเราอยู่ทุกวัน หมุนเวียนกันไป (ปัจจุบันทาง MUBI เปิด Library มีหนังให้เลือกดูมากกว่า 30 เรื่องแล้ว) โดยวิธีคิดของกาคาเรลคือเขาไม่ต้องการเอาตัวเองไปลงสนามอเมริกาที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว แต่หันมามองตลาดนอกอเมริกาที่เมื่อวัดเป็นจำนวนประชากรมันมากกว่าหลายเท่า “พอคิดแบบนี้มันก็ยากขึ้นเพราะเราไม่ได้มีคนดู 280 ล้านคนเท่าในอเมริกาแน่นอน เมื่อเรามองตลาดอื่นอย่างนอร์เวย์หรือสวีเดนก็จะมาพร้อมตลาดที่ต่างกัน พูดกันคนละภาษา ซึ่งจะมองเป็นข้อจำกัดหรือโอกาสสำหรับเราก็ได้”

MUBI ทดลองตลาดในตุรกีบ้านเกิดกาคาเรลก่อนจะเริ่มเปิดตัวในต่างประเทศที่อังกฤษ และค่อยๆ ขยายไปทั่วโลก จนปัจจุบันมีออฟฟิศอยู่ที่นิวยอร์ค, ลอนดอน, กัวลาลัมเปอร์ และมุมไบ ก่อนจะค่อยๆ เก็บข้อมูลสถิติจากผู้ลงทะเบียน จนพบว่าแต่ละประเทศก็มีวัฒนธรรมการดูหนังไม่เหมือนกัน รสนิยมก็แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่จะแชร์ข้อมูลร่วมกันได้คือโอกาสในการเข้าถึงหนังหาดูยาก

อย่าลืมว่ากาคาเรลคือนักธุรกิจที่รักการดูหนัง เขาจึงเข้าอกเข้าใจความต้องการของนักดูหนังด้วยกันเป็นอย่างดี “ผมเชื่อในการดูหนังในโรงนะ และไม่ได้ต้องการจะให้ MUBI มาแทนที่การดูหนังในโรงแน่นอน แต่คุณจะเข้าใจบทบาทของเราเมื่อคุณไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่อย่างปารีส, โตเกียว หรือลอนดอน แค่คุณออกนอกเขตความเจริญ การเข้าถึงหนังทางเลือกก็จะยากเย็นในทันที”

จากความเป็นซีเนไฟล์ของผู้บริหาร MUBI สิ่งที่ทำให้มันตอบโจทย์นักดูหนังทางเลือกทั่วโลกเลยมาจากความสนุกของกาคาเรลและทีมงานที่ช่วยกันจัดโปรแกรมนี่แหละ “มีหลายปัจจัยมากในการจัดแต่ละโปรแกรมของเรา ทุกวันเราต้องมาหารือกันเพื่อจัดหนังให้สอดรับกับบริบทโลก” ด้วยเหตุนี้ทำให้ MUBI เป็นช่องทางการฉายหนังที่ทันกระแสโลกอยู่เสมอ แม้ว่ามันจะเป็นหนังคลาสสิคจากโลกที่สามหรือหนังที่ฉายควบคู่กันไปกับเทศกาลหนังที่กำลังจัดขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งของโลกในขณะนั้น

โมเดลธุรกิจเพื่ออยู่รอดของ MUBI ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้กาคาเรลและทีมยังบ้าพลังอยู่เสมอคือการขยายขอบเขตการทำงานเกี่ยวโยงกับหนังออกไปอย่างไม่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นการขยับไปซื้อหนังมาฉายโรงในอังกฤษ ไปถึงการทำ The Notebook เว็บหนังออนไลน์ ขณะที่เขาก็ยังสนุกกับการดูหนังฮอลลีวูด เติมเต็มจิตวิญญาณจากหนังอาร์ตยุโรป ตื่นเต้นกับการค้นพบคนทำหนังใหม่ๆ และติดตามความทุกความเป็นไปของโลกใบนี้ครบทุกมิติ

“อนาคตของโลกสตรีมมิ่งเป็นอย่างไร?” คือคำถามที่กาคาเรลต้องตอบอยู่บ่อยๆ ซึ่งดังที่เราเห็นความถึกของการทำงานในทีม MUBI ทั้งจัดโปรแกรมให้สอดรับกับสังคมโลก เขียนบทความเข้มข้นยาวเหยียด และเสาะหาหนังมาจากทุกซอกหลืบโลกไม่ว่ามันจะลับแลแค่ไหนก็ตาม

คำตอบสำหรับพวกเขาจึงชัดเจนเสมอว่า… “อนาคตคือปัจจุบันครับ”

CINEMA NOSTALGIA : EMMANUELLE

Emmanuelle น่าจะเป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่มีการฟอร์ม facility ผู้ประสานงานฝ่ายไทยจนเกิดเป็นระบบ (ยิ่งเป็นในรายของ Emmanuelle ด้วยแล้ว ทุกอย่างเป็นจริงขึ้นได้ก็ด้วยความอนุเคราะห์แบบไม่ออกตัวโดยอัศวินภาพยนตร์) https://www.bangkok101.com/emmanuelles-bangkok/

แล้วหลังจากนั้นกองถ่ายหนังนอกก็จะค่อย ๆ ทยอยยาตราเข้ามาพึ่งโลเคชั่นในไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าเศร้าใจคือ เวลาอ้าง port ผลงาน กลายเป็นว่าตัว Emmanuelle กลับถูกละเลย จนแทบไม่พบในโปรไฟล์ที่ใด ๆ หน่วยงานภาครัฐยิ่งแล้วใหญ่ (ทั้งททท. +กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา) ที่มองไม่เห็นเรื่องนี้เหมือนไม่มีอยู่จริง เพราะเรื่องนี้อย่าว่าแต่ชาวต่างชาติ คนของเราเองแท้ ๆ ยังอยากเดินทางตามรอยโลเคชันที่หนังเคยมาถ่าย ทว่าต่างกันที่ของฝรั่งเป็นเรื่องของพื้นที่ คืออยากมาเห็นของจริง แต่ของไทยกลายเป็นเรื่องเวลาและความรู้สึก ถวิลหาอดีต เพราะขนาดไทม์-ไลน์เดียวกัน เอาแค่ตลาดน้ำวัดไทรอย่างเดียว เชื่อว่ามีการซ้อนทับจักรวาลของหนังไม่ต่ำกว่าสามเรื่องคือ มีทั้ง The Man with the Golden Gun, เรื่องนี้ แล้วก็ ‘หนุมานพบ 5 ไอ้มดแดง’

คำถามต่อมา (ซึ่งไม่ใช่ความมหัศจรรย์ที่พอนางเอกลงเครื่อง แล้วไปโผล่วงเวียนโอเดียน, วกเข้าย่านฝั่งธน ก่อนจะไปจบเอาที่เรือนทรงไทยที่เชียงใหม่ โดยเส้นเรื่องเค้าสมมติว่าที่เห็นมาทั้งหมด เกิดขึ้นใน bangkok ล้วน ๆ) ซึ่งไม่น่าแปลกใจตรงไหน แต่ที่น่าสงสัยกว่า ทำไมไม่จัดเรื่องนี้อยู่ในกลุ่ม LGBT ในเมื่อหนังใส่ฉากหญิงรักหญิงด้วยอัตราส่วนเกินกว่าครึ่งของซีนอีโรติคทั้งเรื่องมารวมกัน ขณะที่ซีนกับผู้ชายแท้ ๆ กลับใส่เข้ามาเหมือนกับไม่อยากให้เห็นซะยังงั้น

ขณะที่ทีมสร้างได้มีส่วนโปรโมตการท่องเที่ยวให้เมืองไทย ถ้าไม่เกินความจริง จะมีหนังอยู่สองเรื่องที่ทำได้ถึงขั้นนี้คือ ทัวร์จีนที่มาตามรอย Lost in Thailand กับทัวร์ยุโรปที่มากับเรื่องนี้ คืออยากมาเห็น ‘ดินแดนแลนด์เอ็มมานูเอล’ ให้เต็มตา ทั้งในแง่ของตัว tourist site กับแหล่งลับที่ไม่ต้องมีรีวิว แต่นักท่องเที่ยวรู้จักดีไม่แพ้กัน

Emmuelle อาจสร้างแรงจูงใจให้ชาวยุโรปอยากมาเที่ยวเมืองไทย ด้วยกลยุทธที่ททท. (ซึ่งในช่วงเวลานั้นยังใช้ชื่อ ‘อสท.’ นะ) เองก็คงอยากทำ เมื่อข้างหนึ่งคุณโปรโมตแหล่งท่องเที่ยว แต่ในทางกลับกัน คุณกลับปฏิบัติต่อคนทัองถิ่นในแง่มุมที่เป็นตรงกันข้าม ก็คือวิธีคิดที่มีต่อคนท้องถิ่นออกมาในแง่เหยียดหยามคือมีทั้งเด็กตื้อขายของคนที่มารุมล้อมเอ็มมานูเอลรอบรถหรู,ขอทานร่างกายไม่สมประกอบ (ซึ่งไม่รู้เหตุผลว่าผัวออกไปทำหยังข้างทาง ทำไมถึงต้องทิ้งเมียไว้กับรถ) คนท้องถิ่นที่ตัวละครในเรื่องจะให้การยอมรับก็คือบ่าวรับใช้, พนักงานทำงานบ้านที่มีกันราวห้าหกคน และมีอยู่สองที่ทำหน้าที่ fan service ทางสายตาจนพาให้หนังรอดจากการถูกจัดประเภทเข้ากลุ่มหนัง LGBT

ด้วยความที่สามีของเอมมานูเอลเป็นนักการทูตซึ่งเปิดช่องให้รับสิทธิถือครองบ้านหรูเชิงดอย สังคมของเอมมานูเอลถึงแวดล้อมไปด้วยชนชั้นที่เท่าเทียมกับเธอซึ่งเอื้อโอกาสให้มีความเหนือกว่าคนในพื้นที่ จนไม่ค่อยมีตัวละครคนเอเชียให้เห็น นอกจากเอ็กซ์ตราที่มีให้เห็นตามสถานบันเทิงซึ่งสุดท้ายก็แทบไม่ต่างอันใดกับที่เห็นเมื่อคราวเริ่มเรื่องซึ่งจบลงด้วยการให้ฌองโดนซ้อม

ฉะนั้นคนที่แวะเวียนเข้ามาใกล้ชิดเอ็มมานูเอล ถึงได้มีชนชั้นเดียวกับเธอซึ่งมีทั้งมารี-อ็องช์ (แสดงโดยคริสทีน บวสซง )เด็กแรกสาววัยเพียงสิบเจ็ด ที่ชี้ทางให้เอ็มมานูเอลรู้จักวิธีแสวงสุขจากปลายนิ้วสัมผัส, มาริอานน์ที่เป็นได้ทั้งด้านตรงข้ามแล้วก็เป็นไอดอลที่เธออยากทำให้ได้และไปให้ถึงซึ่งสุดท้ายก็คือ ‘ด้านมืด’, ขณะที่ตัวละครซึ่งเอ็มมานูเอลให้ความผูกพันเป็นพิเศษกลับเป็น ‘บี’ ซึ่งมีอาชีพเป็นนักโบราณคดีซึ่งเข้ามาพำนักในไทยเพียงช่วงสั้นๆ

ลองหลับตาสมมติเอ็มมานูเอลและตัวละครน้อยใหญ่สลัดผ้าที่สวมออก (ซึ่งของมันแน่อยู่แล้ว เพราะไม่มีใครในเรื่องหวงแหนเสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีอยู่เท่าไหร่ รวมทั้งเสื้อใน) แล้วเปลี่ยนคอสตูมมาเป็นยุคศตวรรษที่สิบเก้าแทน สิ่งที่ได้คือยุคอาณานิคมฝรั่งเศสในอินโดจีน ยกเว้นเสียแต่ว่า พอทุกคนลืมตา สิ่งที่ตัวเองเคยเป็นเจ้าของ พลันหายไปจนหมดสิ้น (พอ ๆ กับเสื้อผ้าที่สวมใส่)

นี่ถ้าเป็นห้าง (ที่เจ้าของคนเดียวมีกิจการถึงสามสาขาในย่านเดียวกัน) ป่านนี้ก็คงเจ๊งไม่เป็นท่าครบทั้งสามสาขา สถานีถัดมา เจ้าของธุรกิจจึงได้เล็งเห็นทำเลใหม่เตรียมเปิดเป็นสาขาที่สี่ (แทนสามสาขาที่ปิดตัวไปตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ) ช่องทางเล็ก ๆ แคบ ๆ ช่องทางเดียวของผู้ประกอบการจึงมีอยู่แค่ความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งมีเปิดโอกาสให้ครอบครองอสังหาฯ ได้ในรูปของบ้านพัก แม้จะด้วยช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ การรุกล้ำและการใช้อำนาจเหนือดินแดนถูกเปลี่ยนมาเป็นเรื่องของกามารมณ์ เอ็มมานูเอลจึงออกตามหาสิ่งที่ตัวเองขาด (ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่ากำลังขาดอะไร) จนกระทั่งค่อย ๆ มาพบคำตอบจากคู่ร่วมเสพย์ที่มีทั้งหญิงทั้งชาย

ห้างที่ว่า (สมมติมีนายห้างเป็นชาวฝรั่งเศส) สูญกิจการในย่านนี้ แถมช่วงที่เข้ามาถ่ายยังหมดโอกาสที่จะเข้าไปถ่ายในสาขาเดิมที่ปิดตัวลง (แถมในช่วงเดียวกัน สองในสามสาขาที่ปิดตัวไปก่อนหน้ายังง่อนแง่น ไม่รู้ว่าจะแตกวันแตกพรุ่ง จนกว่าจะถึงเดือนเมษายน, 1975) เหลือทำเลข้าง ๆ ซึ่งเปรียบได้กับเมืองเปิดที่พร้อมรับมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งเรื่องนี้เค้าไม่เอาเรื่องการเมืองการค้าเข้ามาสมอ้าง นอกจากเงินและกามารมณ์ล้วน ๆ

Emmanulle จึงเกิดขึ้นท่ามกลางภาวะแฟนตาซีที่คนฝรั่งเศสรำลึกถึงวันเก่า ๆ ดี ๆ ของการเคยเป็นเจ้าอาณานิคมในย่านเอเชียอาคเนย์ หรือในทางกลับกัน โอกาสของการที่เคยปล่อยให้ดินแดนสยามทำหน้าที่เป็นกันชนคอยกั้นมหาอำนาจอังกฤษซึ่งมีพม่า (ขณะนั้น) กับมาเลเซีย และจะดีแค่ไหน หากดินแดนสยามจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของตนเอาในศตวรรษที่ยี่สิบ เมื่อไม่มีเรื่องของอาณานิคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนที่จะเข้ามาทดแทน ไม่น่าจะมีอะไรดีไปกว่ากลไกทางการทูต (ถึงอย่างไรเสีย โอกาสสร้างความสัมพันธ์ในยุคเดียวกันกับอีกสามชาติข้างๆบ้านคงทำไม่ได้อยู่แล้ว) เพราะงั้นจึงไม่แปลกที่เอ็มมานูเอล ถึงได้กลัวชาวบ้าน, ฌองถึงได้มีความสุขกับดูการโชว์ลามก ก่อนหน้าจะจบซีเควนซ์ด้วยการไปมีเรื่องชกต่อยกับคนในร้านซึ่งเป็นคนไทย ซึ่งพอกลับถึงบ้านทุกอย่างจะกลับเป็นตรงกันข้าม บ่าวไพร่, คนทำงานบ้านโดยเน้นที่สาว ๆ พร้อมจะปรนนิบัติคลายความเครียด

ย่อมไม่น่าแปลกใจที่ฉากอีโรติค ไม่ว่าจะคู่ของเอ็มมานูเอลหรือข้างของฌอง ที่โปรดัคชันจะออกมาแนวซอฟท์ ไม่มีอะไรให้เห็นถนัด ๆ แต่ถ้าถึงคู่ของชาย-หญิงคนทำงานบ้าน จะออกมาดูหื่นจนเกือบจะดูเป็นการขืนใจ โอกาสของชายฉกรรจ์ที่จะได้เข้ามามีบทบาทกับเขาบ้างในช่วงท้าย ๆ ถึงได้เข้าไปเฉียดใกล้กับการข่มขืนกระทำชำเราหมู่ เท่ากับว่าเซ็กซ์ที่ละเมียดและสุนทรีย์ (อาจรวม ‘แบบมีอารยะ’ ได้อีกอย่าง) สมควรจะอยู่กับชาวยุโรป (ดฉพ.ฝรั่งเศสด้วยกัน) มากกว่า เท่ากับว่าการเดินทางมาเมืองไทย (ที่จำเพาะเจาะจงว่าเป็น bangkok) ของเอ็มมานูเอลจึงมีค่าเทียบเท่าการแสวงหารสรักที่เต็มอิ่มซึ่งนิมิตหมายมาตั้งแต่ยังไม่แตะพื้นดีซะด้วยซ้ำ คือแค่อยู่บนไฟลท์ก็มีชายหนุ่ม (ชาวยุโรป) อาสาปรนนิบัติให้ถึงสองคนติด ๆ ความน่าสนใจอยู่ตรงที่

1. ได้ลองบรรยากาศแบบ pre-exotic กันตั้งแต่ยังไม่ถึงสถานที่จริงด้วยซ้ำ (นี่ถ้าเป็น ‘บินไทย’ ด้วยจะฟินมาก,เพราะตามกม.เค้าถือว่าอยู่บนแผ่นดินสยามเหมือนกัน) แต่ยังไม่สุด เพราะแค่ลำพังที่นั่งผดส.ที่แม้จะหลับกันไปหมดทั้งลำ ก็ยังส่งเสียงได้ไม่เต็มที่ นอกจากจะไปแก้ตัวอีกครั้งในห้องน้ำกับอีกคน

2. ลองคำนึงว่าเป็นไฟลท์ขาเข้า นั่นก็หมายความว่าฝรั่งหนุ่มใหญ่สองคนที่เจอบนเครื่องย่อมมีโอกาส (บ้างไม่มากไม่น้อย) ที่จะได้ย้อนกลับมาเจอกันอีก (อย่างน้อย ๆ ก็ยังเดินป้วนเปี้ยนอยู่ในไทย) หากคนสามคนที่เข้ามาเมืองไทย ด้วยความมุ่งหวังที่ตรงกัน (sexual adventures, quest for sexual utopia) ก่อนจะจบลงด้วย sexual colonialism ยกเว้นเสียจากคนสองคน (ที่เอ็มมานูเอลเจอบนเครื่อง) อาจไม่มีตัวตนอยู่จริง เพราะไหน ๆ ประสบการณ์ครั้งสำคัญในซีนที่ว่าเกิดขึ้นในช่วงความคิดคำนึงของเอ็มมานูเอล โดยถ่ายอดออกมาใน tradition ของการแฟลช-แบ็ค

3.โอกาสของการมีประสบการณ์เซ็กซ์กับคนแปลกหน้าเชื่อว่าเป็นแฟนตาซีของนักเดินทางโดยแท้ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกตั้งข้อหาอนาจารค่อนข้างสูง (โดยเฉพาะจากฝ่ายหญิง ในกรณีที่อีกฝ่ายไม่โอเช)

จากภาคต้นตำรับ (ก่อนจะบานปลายจนเป็นแฟรนไชส์) โดยสถานภาพเอ็มมานูเอลยังคงเป็นแค่ผู้มาเยือน, ผู้สังเกตการณ์ เผลอ ๆ เธอเข้าเมืองไทยด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันเธอก็จะค่อย ๆ ซึมซับเรียนรู้ประสบการณ์จนเชื่อว่าบทเรียนที่เข้ามาจะเพิ่มพูนความช่ำชอง แม้กระนั้นเธอก็ยังคงไม่ดูกลมกลืนไปกับพื้นที่ตามประสาสาวยุโรปทั่วไป ซึ่งฌองเองก็เป็น ที่ฮามากคือท่าสอนไหว้เพราะท่าที่ฌองสอนเองก็ยังต้องให้มีคนอื่นมาสอนมาฝึกกันอีกทอด

เซ็กซ์ในดินแดนกึ่งอาณานิคมตามความหมายของเอ็มมานูเอลจึงมีทั้งเรื่องของการเก็บเกี่ยว (จากผู้อื่น) เท่า ๆ กับที่เธอเองก็เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมากอบโกยไปพร้อม ๆ กัน จนกระทั่งเธอได้พบกับมาริโอ ตามคำชักชวนของมารีอานน์ พอได้เจอตัวเข้า เธอพบว่าภายนอกมาริโอดูไม่ต่างอะไรกับมาเฟียทางกามารมณ์ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ส่วนข้างในของมาริโอกลับล่วงเข้าสู่วัยที่ทำอะไรไม่ไหวแล้ว

ที่เอ็มมานูเอลได้กลายมาเป็นแบรนดิ้งที่สำคัญของความโชกโชนทางอีโรติค ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการทุ่มเทรับประสบการณ์ด้วยตำราเดียวกับเพศชาย คือปล่อยตัวให้อารมณ์ลื่นไหลได้ทั้งกับเพศชายแล้วก็เพศหญิงซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้หนังรอดพ้นการจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่มหนังเพื่อผู้หญิงรักผู้หญิง ที่ต่อให้ลุคทรงผมซอยสั้น, แต่งหน้าเข้มเลียนแบบโครงหน้าผู้ชาย ถึงอย่างไรเอ็มมานูเอลก็ยังคงเป็น Emmanuelle ไม่มีเปลี่ยนแปลง


Cinema Nostalgia เป็นคอลัมน์พิเศษที่เราเชิญ อ.ป๊อx มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ นักวิจารณ์และนักดูหนังรุ่นใหญ่ ที่ถูกเรียกกันเล่น ๆ ว่าเป็น Encyclopedia ของหนังโดยเฉพาะเรื่องที่เกียวกับการเข้าฉายในบ้านเรา ให้มาเล่าถึงภาพยนตร์เข้าไทยในอดีต ภายใต้บริบทที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเข้าฉาย หรือถ่ายทำในประเทศไทย